Skip to content

ดับไฟเผาวิญญาณ

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

| PDF | YouTube | AnyFlip |

อ้าวพากันตั้งใจบัดนี้นะ จะพูดธรรมะให้ฟัง เรามาอยู่รวมกันในวัดวาอารามก็จำเป็นต้องพูดธรรมะสู่กันฟัง ให้ธรรมะมันซึมซาบเข้าสู่จิตใจ ผู้ใดมีธรรมะซึมซาบเข้าสู่จิตใจแล้ว ผู้นั้นก็ได้ความสงบความเย็นใจ ผู้ใดไม่มีธรรมะซึมซาบเข้าสู่ใจ กิเลสมันก็เผาเอาเดือดร้อนอยู่ไม่เป็นสุข ร้อนอะไรจะเท่าร้อนกิเลสตัณหา ร้อนกิเลสตัณหานี่มันพาไปสู่ทุกข์ พาไปตกนรก พาเป็นเปรต พาเป็นอสุรกาย พาไปกำเนิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ร้อนแดดนี่เอาร่มมากั้นก็ยังสบายไป ร้อนกิเลสตัณหานี่ถ้าบุคคลมีธรรมะเข้าไปสู่จิตใจแล้ว มันก็เย็นลงได้ 

ธรรมะนี่เหมือนกับน้ำ กิเลสเหมือนกับไฟ ทีนี้ไฟลุกขึ้นมาเราเอาน้ำไปดับลง เช่นอย่างว่าความโกรธเกิดขึ้นมา เราเจริญเมตตาขึ้นมาแทน เมื่อความปรารถนาที่จะให้สัตว์ทั้งหลายเป็นสุขถ้วนหน้าเกิดขึ้นในจิตใจแล้ว ความโกรธมันก็บรรเทาเบาบางลงไปอย่างนี้นะ เพราะฉะนั้นธรรมะนี้มันว่าเหมือนกับน้ำ กิเลสเหมือนกับไฟ ความโลภก็เหมือนกัน เมื่อมันโลภเข้ามาแล้วจิตใจก็ร้อนเพราะมันอยากหลายๆ เมื่อมันอยากได้แล้วไม่ได้สมหวังก็ยิ่งเดือดร้อนใหญ่ นี่เป็นเหตุให้ทำทุจริตไปต่างๆนานา นอกศีลนอกธรรมนอกธรรมนอกวินัยออกไป ก็เพราะความอยากได้อะไรต่ออะไรไม่มีที่สิ้นสุดเนี่ยแหละ ก็พากันเข้าใจ 

แม้เป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนก็เหมือนกัน เมื่อปล่อยให้ความโลภครอบงำจิตใจมากๆแล้ว ความอยากมันก็ท่วมท้นจิตใจทำให้ใจนั้น ให้กายทำให้วาจาพูด ตัวเองหาในสิ่งที่ต้องการปรารถนา เมื่อมันแสวงหาเอาโดยทางสุจริตไม่ได้แล้ว มันก็แสวงหาไปในทางทุจริตเพราะความอยากอันนั้นมันบังคับจิตใจไม่ให้กลัวบาปกลัวกรรมเวรอะไรเลย อย่างนี้แหละฤทธิ์เดชของกิเลสให้พากันเห็นโทษของมัน อย่าไปสะสมให้มันมากเกินขอบเขต 

ผู้ไม่โลภก็หมายความว่ายินดีในสมบัติที่ตนแสวงหามาได้ด้วยความหมั่นความขยัน ได้มากได้น้อยเท่าไรก็ยินดีบริโภคใช้สอยอยู่เท่านั้น แม้คนอื่นจะมีมากกว่าตนก็ไม่ทะเยอทยาน อยากได้ของเขามาเป็นของเรา ห้ามจิตของตนให้ได้ โดยที่เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม เมื่อตนทำความดีมาแต่ก่อนน้อยไป มาชาตินี้มันก็ให้ผลตามน้อย เค้าทำความดีมาแต่ก่อนมาก เช่นเค้าให้ทานมาแต่ก่อนมากกว่าเราอย่างนี้นะ ผลมันมาอำนวยให้ชาตินี้ เค้าก็รวยมั่งมีศรีสุขได้อย่างง่ายดายเพราะผลบุญแต่ก่อนนั้นมันตามมาอำนวยผลให้ 

เมื่อบุคคลมารู้แจ้งอย่างนี้แล้วมันก็บรรเทาความโลภลงได้ ก็ยินดีในปัจจัยที่เจ้าของหามาได้ มีน้อยก็ใช้จ่ายตามน้อย มีมากก็ใช้จ่ายตามมาก ทำได้อย่างนี้มันก็สบายใจดี นี่เรียกว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านะ ทรงสอนให้พุทธบริษัทปฏิบัติธรรมอย่างนี้ น้อมเอาสัปปุริสธรรมเข้าไว้ในใจ คือว่ายินดีตามมีตามได้เนี่ยนะ ท่านเรียกว่า สัปปุริสธรรม น้อมเอาธรรมเหล่านี้เข้ามาในใจ มันก็บรรเทาเสียซึ่งความโลภความทะเยอทยานต่างๆลงได้ ก็ให้พากันเข้าใจ ต้องบำเพ็ญธรรมะอย่างนี้ให้เกิดขึ้นในใจ 

ไม่ว่านักบวชหรือคฤหัสถ์ อันธรรมะนี่ต่างคนต้องปฏิบัติเหมือนกันหมด ไม่ใช่ว่าปฏิบัติแต่นักบวช คฤหัสถ์ไม่จำเป็น ต้องเป็นผู้ครองเรือนต้องแสวงหาอะไรต่ออะไรมากมาย นั่นแหละคฤหัสถ์นั่นแหละยิ่งต้องการมีคุณธรรมเหล่านี้ไว้ในใจ มันจึงไม่เดือดร้อนใจมาก เมื่อเห็นคนอื่นมีมากกว่าตนก็ไม่เดือดร้อน พอนึกถึงวาสนานาบุญของตนกับของเขาเทียบกัน ของเขาสูงกว่าเรา เรานั้นมัวเมาประมาทในชาติก่อนไม่ได้ทำความดีไว้มาก ก็เมื่อความดีมันอำนวยผลให้เท่านี้เราก็ยินดีเท่านี้ไปก่อน แต่ชาตินี้เราพยายามทำความดีให้มากขึ้นไป ให้เต็มความสามารถ พยายามฝึกกายวาจาใจของตนให้ตรงต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ได้ ถ้าฝึกให้ตรงตามคำสอนได้แล้ว บุคคลได้ชื่อว่าไม่ทำบาป ทำแต่บุญกุศลทำแต่ความดีให้สำเร็จเป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น 

ดังนั้นแหละการมีคุณธรรมอยู่ในใจนี่นะ จึงเชื่อว่าเหมือนเรามีสมบัติอันล้ำค่าไว้ในตน ท่านว่าทรัพย์ภายใน ทรัพย์ภายในนี่ตกน้ำก็ไม่ไหล ตกไฟก็ไม่ไหม้ โจรลักเอาไปก็ไม่ได้ ติดสอยห้อยตามบุคคลไปทุกแห่งทุกหน เช่นศีลอย่างนี้นะ ผู้ใดรักษากายวาจาให้บริสุทธิ์ปราศจากโทษที่พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามไว้นั้น  และอย่างนี้มันก็เป็นศีลสมบัติติดตัวไปทุกแห่งทุกหนเลย ป้องกันอบายภูมิทั้ง ๔ ตายแล้วไม่ให้ไปตกนรกเป็นต้น นี่คนมีศีลสมบัติอยู่ในตนนะ มีศรัทธาสมบัติอยู่ในตน เราเชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม ไม่เชื่อปรัมปรา ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว ที่เล่าลือต่างๆนานากันมานั้นซึ่งพิสูจน์ความจริงไม่ได้เลย แต่ก็เชื่อไปอย่างงมงาย อย่างนี้ผู้เป็นบริษัทของพระพุทธเจ้าไม่ควรจะงมงายอย่างนั้น 

พระองค์เจ้าสอนให้เราเชื่อต่อการกระทำของเราเอง แต่ในภาษาบาลีท่านเรียกว่ากรรม ถ้าว่าเรียกเป็นภาษาไทยเราตรงๆก็เรียกว่า การงาน ที่บุคคลจะพึงทำ แต่บุคคลไปจับการงานอันมีโทษลงไป มันก็เป็นบาปอกุศลเหล่านี้นะ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำบาปอกุศล เช่นชาวประมงอย่างนี้นะ ไปจับอาชีพอันนั้นได้อแต่ละวันก็ไปเที่ยวจับแต่สัตว์ สังหารชีวิตของสัตว์ไม่เว้นแต่ละวันอย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีกายกรรมอันเศร้าหมองขุ่นมัวอยู่ได้บาปได้โทษ แล้วเช่นนี้จะไปโทษใครอย่างนี้นะ จะไปโทษผีสางนางไม้ว่ามาทำให้ตนเป็นทุกข์เดือดร้อนอะไรอย่างนี้ มันไม่สาวหาต้นตอของการกระทำของตนเองคนเรา ไปเชื่อแต่สิ่งปรัมปราภายนอกโน้น บางทีตัวไปเบียดเบียนสัตว์นั่นน่ะ ไปทำลายชีวิตสัตว์ไม่รู้ว่ากี่ร้อยกี่พันตัว ยังไม่นึกเลยว่ากรรมนั้นตามสนองตน นั่นแหละ คนเราเข้าใจผิดไป นึกว่าตนทำอย่างนั้นแล้วเบียดเบียนสัตว์ถึงขนาดนั้นแล้วจะไม่มีกรรมชั่วอะไรตามสนอง เกิดไปชาติใดตนก็จะมีความสุขความเจริญไป ถ้าเผื่อว่ากรรมชั่วมันตามสนองให้เป็นทุกข์เดือดร้อนก็เอาแล้วทีนี้ หาที่พึ่งทางใจไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็จึงได้วิ่งหาหมอดูหมอเดาไป จึงได้ให้ญาติพี่น้องไปบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆที่สมมุติกันขึ้น ยกหิ้งยกหอขึ้นไปศาลพระภูมิอะไรอย่างนี้นะ นั่นแหละ คนไม่พิสูจน์ดูการกระทำของตัวเองแล้ว มันก็เป็นเช่นนั้นแหละ ขอให้เข้าใจ 

ถ้าผู้ใดมาพิสูจน์ดูการกระทำของตนแล้ว เมื่อรู้ว่าตนไม่ได้ทำชั่ว เว้นแล้ว ตนเว้นกรรมชั่วทั้งปวงแล้วอย่างนี้นะ มันก็ได้ความอุ่นใจน่ะ เอาหละ กรรมชั่วไม่มีอยู่ในอยู่ในจิตใจของเราแล้ว ไอ้ที่เราลุ่มหลงทำมาแต่ก่อนเราก็อธิษฐานใจละมันแล้ว เราไม่ทำอีกต่อไป ผู้ใดอธิษฐานใจมั่นลงไปอย่างนี้ละก็ ได้ความอุ่นใจ ไม่เดือดร้อนใจเมื่อนึกถึงความตายมาอย่างนี้ เมื่อตนตายแล้วจะไปเสวยทุกข์หรือเสวยสุขหนอ มันไม่ได้รำพึงนะบัดนี้ อย่างนั้นเพราะว่าตั้งแต่มีชีวิตอยู่เนี่ยมันชำระกายวาจาใจของตนให้บริสุทธิ์จากบาปจากโทษ อยู่ได้เห็นชัดด้วยปัญญาตาใจของตนเองอยู่เช่นนี้นะ มันก็พยากรณ์ตัวเองได้เลยว่าตายแล้วเราไม่ไปสู่ทุคติแน่นอน มีสุคติเป็นที่ไป 

เมื่อโลกพยากรณ์ตัวเองได้เช่นนั้นจึงไม่เดือดร้อน คนน่ะ เมื่อเห็นกายวาจาใจของตนบริสุทธิ์จากบาปจากโทษอยู่อย่างนี้นะ เหมือนอย่างคนเราธรรมดาเนี่ย ไม่ได้ทำผิดกฏหมายอะไรอย่างนี้ เข้าไปหาเจ้านายหาตำรวจทหารก็ไม่ต้องกลัว ไม่กลัวอะไรเลย เพราะว่าไปหาเขา เขาก็ไม่จับ เพราะตนไม่ได้ทำผิดกฏหมายอะไรเลย แต่ถ้าคนไปทำผิดกฏหมายเข้าแล้ว จะเข้าไปหาเจ้าหานาย กลัวแล้ว กลัวเค้าจะจับตนไปฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลติดคุกติดตาราง อันนี้ฉันใดก็เหมือนกันนั่นแหละ คนเราถ้ามีบาปเครื่องเศร้าหมองว่าอย่างนี้ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็มานึกถึงเผื่อว่าตนตายไปไหนจะยังไงหนอ ตนทำบาปมา บาปนี้จะนำตนไปสู่ทุกข์ในนรกอบายภูมิหรือไงน้อ มันวิตกวิจารณ์ไปแล้วนี่ พอวิตกวิจารณ์ไปเท่าใดก็ยิ่งสะดุ้งหวาดกลัวต่อกรรมชั่วเหล่านั้นมันจะตามสนองให้เป็นทุกข์ เนี่ยแหละบุคคลผู้ทำบาปมาแล้วไม่รู้สึกตัวนะ ไม่ตั้งใจละเว้นน่ะ เวลาเจ็บหนักก็มานึกเสียใจในภายหลัง แหม เรานี่มัวแต่ทำบาป อย่างโน้นอย่างนี้ เราคงจะไม่พ้นจากทุกข์ในวัฏฏสงสารนี้แล้ว ให้คิดดูคนเรา เราเป็นชาวพุทธเราก็ต้องเชื่อบุญเชื่อบาปนี่แหละ เป็นอย่างนั้น 

ดังนั้นถ้าผู้ใดแน่นอนแหละทุกคนเกิดมาเมื่อยังไม่รู้คำสอนของพระพุทธเจ้านี่ มันก็ต้องหลงใหลทำบาปบ้าง มากบ้างน้อยบ้าง อย่างนี้ แต่ว่าบาปที่ทำนี้เป็นลหุกรรมเป็นกรรมเบา ไม่หนัก ไม่ใช่อนันตริยกรรม ครุกรรม กรรมหนักได้แก่อนันตริยกรรม เช่นฆ่ามารดาบิดาเป็นต้น ดังที่เคยพูดมา ดังนั้นแลบุคคลที่ทำความดียังไงๆก็พ้นจากผลแห่งกรรมอันหนักนั้นไม่ได้เลย ตายแล้วก็ไปต้องตกอเวจีมหานรกแน่นอน 

ทีนี้บาปกรรมนอกนั้นน่ะ มันเป็นลหุกรรม กรรมเบา กรรมเบานี่เมื่อบุคคลรู้สึกตัวแล้ว เห็นโทษแห่งการทำชั่วอย่างว่านั้นแล้ว อธิษฐานใจละเว้นเลย ต่อนี้ไปข้าพเจ้าจะไม่ทำอีกแล้ว อย่างนี้นะ อธิษฐานใจเสมอๆ ไหว้พระภาวนา อธิษฐานใจเสมอไป บัดนี้เมื่อจิตเราไม่ชอบบาปกรรมเหล่านั้นแล้ว อธิษฐานใจละอยู่ทุกวัน บาปกรรมนั้นก็หมดไปๆเท่านั้นเอง เพราะมันไม่หนักหนา เมื่อบุคคลเห็นโทษของมันเมื่อใดแล้วรู้ตัวแล้ว อธิษฐานใจแล้ว มันก็ดับไป เหมือนอย่างกองไฟเล็กอย่างนี้น่ะ เราเอาน้ำพอประมาณเข้าไปดับมันก็ดับได้ ถ้าไฟมันลุกโพรงกองใหญ่ๆขึ้นมาแล้ว แม้จะเอาน้ำมากเท่าไรไปดับมันก็ยากที่จะดับลงได้ มันเป็นอย่างนั้นน่ะ มันก็ไหม้วัตถุที่มันไหม้อยู่นั้นให้เป็นเถ้าเป็นถ่านลงไป หมดเชื้อเมื่อไรมันจึงดับไปเมื่อนั้นไป อันนี้ฉันใดก็เหมือนกันบุคคลผู้ทำกรรมชั่วอย่างหนักลงไปแล้วแม้จะอธิษฐานละยังไงมันก็ไม่พ้น มันก็ตามให้ผลจนได้อย่างนั้นแหละ มันให้ผลไปทนทุกข์ทรมานไปนานแสนนาน เมื่อมันหมดเหตุแห่งกรรมชั่วนั้นแล้วน่ะ มันถึงพ้นจากทุกข์เหล่านั้นมา นี่มันเป็นอย่างนี้ 

กรรมมันมี ๒ อย่างอย่างนี้ ลหุกรรม (กรรมเบา) ครุกรรม (กรรมหนัก) เมื่อผู้ใดมาพิจารณาเห็นว่าตนไม่ได้ทำครุกรรมคือกรรมหนักเช่นฆ่าพ่อฆ่าแม่เป็นต้น อันนี้เคยพูดบ่อยๆนั่นน่ะ ตนได้ทำแต่กรรมเบา บัดนี้ตนรู้เห็นโทษของกรรมเหล่านั้นแล้ว ถึงจะเบาหรือหนักก็ตาม เห็นโทษ อธิษฐานใจละเว้นลงไป นั่น อย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นผู้มีคุณธรรมอยู่ในใจคือมีเมตตาธรรม กรุณาธรรม โดยเฉพาะเมตตาตนของตนเองนี่นะ ปรารถนาจะให้ตนเป็นสุขก่อนคนอื่นทั้งหมดเลย ถ้าตนไม่เป็นสุขแล้วจะปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข มันไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้ เมื่อตนมีความสุขกายสบายใจ อยู่ด้วยบุญด้วยกุศลด้วยคุณธรรมดังกล่าวมานั่นแหละ แค่นั้นแหละ เราถึงนึกอธิษฐานขอให้สัตว์ทั้งหลายเป็นสุขทั่วหน้ากัน อย่างนั้นก็ไม่เสียหายอะไร มีผลดี ดังนั้นคำว่าเมตตา เราเมตตาตนก่อนอื่นทั้งหมดเลย 

ทำอย่างไรตนถึงจะมีความสุขได้ ทีนี้ก็ตนก็ทำแต่ความดีลงไปเพราะความดีคือบุญกุศลเท่านั้นที่จะอำนวยผลให้เป็นสุขได้ นอกจากบุญกุศลแล้วไม่มีอะไรที่จะมาอำนวยผลให้เป็นสุข เราต้องพิจารณาให้เห็นแจ้งชัดด้วยตนเองอย่างนี้ ลองคิดดูอันใดที่มาอำนวยผลให้เป็นสุขได้ เงินทองหรือ แก้วแหวนหรือ สร้อยหูสร้อยคอหรือ ตุ้มหูหรือ แหวนเพชรหรือ อำนวยผลให้เป็นสุขน่ะ ไม่เลย ไอ้ของประดับทั้งหลายเหล่านี้นะมันจะไม่อำนวยความสุขให้จิตใจ มันยังอำนวยความทุกข์ให้ด้วยซ้ำ กลัวโจรขโมยมันจะมายื้อแย่งเอาไป มันจะมาจี้เอา มันจะมาทุบมาตีเอา นี่ ก็สะดุ้งอยู่เรื่อย ผู้ใดมีเครื่องประดับมีค่าติดตัวอยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่ใช่ว่ามันอำนวยความสุขให้เมื่อไหร่นะ นั่นแหละ ทีนี้เราก็รู้กันแล้วว่าเงินทองข้าวของ มันอำนวยความสุขให้ชั่วคราว แต่ส่วนมากอำนวยความทุกข์ให้ ทุกข์อย่างไรล่ะ ก็ทุกข์ในการแสวงหานั่นแหละ โหย การแสวงหานี่แสนยากแสนลำบาก มนุษย์โลกอันนี้นะ กว่าจะได้เงินทองข้าวของมาแต่ละอย่างๆต้องอาบเหงื่อต่างน้ำไม่ค่อยได้พักได้ผ่อนเท่าไหร่แล้ว นี่ เมื่อเวลาแสวงหาอยู่ก็เป็นทุกข์เดือดร้อน เมื่อได้มาแล้วเป็นทุกข์เพราะการรักษาอย่างนี้นะ ถ้าไม่รักษามันก็หายจริงๆนะ อ้าว เวลาจะพลัดพรากจากมันก็เป็นทุกข์เดือดร้อนแล้ว หรือเวลามันสูญหายไปพลัดพรากจากไป ตนก็เป็นทุกข์เดือดร้อนแล้ว นี่แหละ จึงว่าคิดดูให้รอบคอบซิว่า สิ่งต่างเหล่านี้มันไม่ใช่จะอำนวยความสุขให้เราได้ยั่งยืนสืบต่อไป เป็นสุขสบายไปชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นเอง เมื่อละโลกนี้ไปแล้วก็เอาติดตัวไปไม่ได้เลย เว้นเสียแต่สิ่งใดที่ตนได้ให้ทานฝากฝังไว้ในพุทธศาสนานี้ สมบัติเหล่านั้นแหละก็จะเกิดเป็นบุญเป็นกุศลขึ้น บุญกุศลกระนั้นก็จะเป็นอนุคามี ติดสอยห้อยตามไปทุกแห่งทุกหน 

พร้อมทั้งคุณธรรมเช่นหิริโอตตัปปธรรม ความละอายต่อความชั่ว ความละอายต่อการที่จะต้องกระทำชั่วในที่ลับก็ตามในที่แจ้งก็ตาม เมื่อมีความละอายแก่ใจอยู่มันทำไม่ได้ความชั่วนั้นน่ะ ถ้าขาดความละอายแก่ใจอย่างว่านั้นแล้วมันทำชั่วได้เลย ถ้าทำที่แจ้งไม่ได้ก็ทำที่ลับ มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นแหละให้พึ่งบำเพ็ญคุณธรรมเหล่านี้ให้เกิดมีในใจของเราทุกคน ตั้งความละอายแก่ใจในการกระทำความชั่วไว้ นึกเสียว่าเราเป็นมนุษย์เนี่ย นับว่ามีคุณธรรมอันสูงพอสมควรทีเดียวในโลกนี้นะ มีเกียรติมีศักดิ์ศรีอันสูงส่ง สมควรแล้วหรือที่เราจะไปทำกรรมชั่วที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามไว้นั้นน่ะ ก็ถามตนสอนตนเข้าไปอย่างนี้นะ เมื่อมันระลึกเข้าไปอย่างนี้มันก็มองเห็นตนนั้นมีศักดิ์ศรี มนุสโสแปลว่าผู้มีใจอันสูงอยู่ด้วยคุณธรรมคือเมตตากรุณา นี่ มันเป็นอย่างนั้นนะ ชื่อของมนุสโสนี่นะ บัดนี้เรามีคุณธรรมเหล่านั้นในใจหรือยัง สมกับชื่อแล้วหรือยัง ตรวจดูกายวาจาใจของตนให้ได้ เป็นอย่างนั้น เมื่อเรามีหิริ โอตตัปปธรรมอยู่อย่างว่านั้นแล้ว มันก็ไม่ทำความชั่วแล้วคนเรา หาทางหลีกเลี่ยงจากธรรมอันชั่วช้าลามกต่างๆ 

ถ้ามีขันติธรรมอยู่ในใจ ความอดทนนี้นับว่าเป็นยอดแห่งอานิสงส์ความดีทั้งหลาย พระพุทธเจ้าแสดงไว้นะ ทำไมจึงว่าเป็นยอด ก็บรรดาความชั่วทั้งหลายที่บุคคลจะเว้นได้ก็เพราะอดทนนี่แหละ เมื่อตนยังเว้นมันไม่ได้โดยเด็ดขาดนะ มันเกิดขึ้นมาในใจเวลาใดอย่างนี้ ถ้าตนไม่อดไม่ทน มันก็ใช้กายทำใช้วาจาพูดไปทันทีเลย พูดความชั่วทำชั่วไปทันทีอย่างนั้น ถ้าผู้ใดมีความอดทนอยู่ในใจเมื่อรู้ว่าความชั่วมันเกิดขึ้นในใจเราก็อดกลั้นไว้ อยู่ในใจนั่นไม่แสดงออกมาทางกายทางวาจา เมื่ออดทนได้ กิเลสมันก็ไม่มีกำลังกล้ามันก็อ่อนกำลังลง เมื่อนั้นให้ใช้ปัญญาพิจารณา เออ เรื่องนี้มันชั่วใครคนหนึ่งหยิบยกเอามาให้ แต่เราไม่รับเอา เราไม่เอา ขึ้นชื่อว่าความชั่วเราเกลียด เพราะมันอำนวยผลให้เป็นทุกข์ เมื่อจิตอดทนได้แล้วอย่างนี้ ยับยั้งจิตได้แล้ว มันก็พิจารณาเห็นโทษแห่งความชั่วเหล่านั้น ถ้าหากว่าบุคคลขาดความอดทนแล้ว มันก็ไปตอบโต้กับคนที่นำความชั่วมาให้ตนนั่นแหละ ไปตอบโต้เอาเลย มันเป็นอย่างนั้น ทีนี้ต่างคนต่างก็เลยกลายเป็นคนชั่วเหมือนกันเลย ไม่มีใครเป็นคนดีเลยทั้งสองฝ่ายนะ นี่ม้นต้องให้เข้าใจ ถ้าผู้ใดนั้นเค้าหยิบยกเอาความชั่วมาให้ เช่นคำด่าคำแช่งคำเสียดสีคำดูถูกดูหมิ่นอะไรต่างๆนานาหมู่นี้นะ เราไม่เอาซะแล้ว เราไม่ยึดถือเอาไว้เลย ก็มันกระทบมาทีไรก็อดกลั้น ไม่ปล่อยให้ใจมันวู่วามไป นั่นแหละ พออดกลั้นได้แล้ว หยุดยั้งอารมณ์หรือกิเลสลงได้แล้วก็กำหนดใจละมัน ไม่ถือมั่นเอาไว้ แล้วก็นึกถึงเมตตากรุณาทำอะไรให้เกิดขึ้นในใจแทน 

เมื่อคุณธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในใจแล้ว กิเลสเหล่านั้นมันก็ถอยออกไป นี่แหละจึงว่าเคยพูดอยู่บ่อยๆอยู่ อันกิเลสในจิตใจของคนเรานี้นะ ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะมาระงับได้ มีแต่ศีลแต่ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้านี่แหละ จะมาระงับกิเลสตัณหาในหัวใจคนเราให้ได้นี่นะ เช่นทำใจสงบลงไปได้นี่นะ มันก็ระงับนิวรณ์ทั้ง ๕ ได้ ระงับความรัก ความชัง ความพยาบาทต่างๆ ความง่วงเหงาหาวนอน ความที่จิตฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป ความสงสัยลังเลในบาปคุณโทษอะไรพวกนี้นะ มันก็ระงับลงไปได้ เรื่องสมาธินะมันเป็นอย่างนั้น 

ทีนี้มาเจริญปัญญาเข้าไป ถ้าหากเจริญให้แก่กล้าเข้าไปจริงจังก็สามารถถอนรากเหง้าของกิเลสตัณหาต่างๆออกไปได้เลย มันจะไม่เกิดขึ้นมาอีก แต่ถ้าถอนไม่ได้หมดมันก็ทำให้เบาบางลงไป อันปัญญานี้นะ ลงความได้ว่าเมื่อมาปล่อยวางขันธ์ ๕ ลงไปนี่แล้ว ไม่ยึดถือว่าเราเป็นของๆเราแล้ว มันก็ไม่สร้างกิเลสตัณหาขึ้นมาในใจ มันก็ทำใจให้สงบระงับจากกิเลสตัณหาลงได้ การที่บุคคลจะมาสร้างกิเลสตัณหาให้หนาแน่นขึ้นในใจก็เพราะมายึดถือขันธ์ ๕ นี่แหละเป็นเครื่องดำเนินนะ เมื่อไปสำคัญว่าขันธ์ ๕ เป็นเราเป็นของๆเราแล้วก็ เอาแล้วเราก็สร้างกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดสารพัด สร้างความโลภ สร้างความโกรธ ความหลงขึ้นมา สร้างมานะทิฐิ อิจฉาพยาบาทอะไรต่ออะไรขึ้นในใจอย่างหนาแน่นเลยทีเดียว เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นให้พากันเข้าใจบทสรุปให้ได้ เมื่อเข้าใจแนวทางปฏิบัติอันรวบรัดอย่างว่านี้ เราก็มาภาวนา พยายามปลงขันธ์ ๕ นี้ลง วางขันธ์ ๕ นี้ลง ใช้ปัญญาสอนจิตของตนให้มันเห็นแจ้งในขันธ์ ๕ ตามเป็นจริง แล้วปล่อยวางลง อย่าไปคิดอย่าไปปรุงแต่งอะไรต่อไปอีก อย่างนี้นะ ถ้ามันวางได้จริงจิตมันก็รวมลงเป็นหนึ่ง มันก็รวมลงได้นะ เมื่อจิตมันรวมลงได้มันก็ปลงขันธ์ ๕ ลงไปได้ แม้ปลงไม่เด็ดขาดก็เรียกว่าปลงไปได้ชั่วคราวก็เอาไปก่อน เมื่อเราพยายามเจริญปัญญาสอนจิตให้รู้แจ้งในขันธ์ ๕ นี่ แล้วก็ปรุงก็วางไปเรื่อยๆอย่างนี้ ภาวนาทีใดนะ ให้เข้าใจ ปรุงวางลงไปแล้วจิตใจมันก็เป็นกลางอยู่ ไม่ยินดียินร้ายกับขันธ์ ๕ นี้แล้ว อันนี้แหละเป็นทางพ้นทุกข์พ้นภัยในวัฏฏสงสาร ดังแสดงมาสมควรแก่เวลา ขอยุติลงเพียงเท่านี้