Skip to content

วิธีทำสมาธิในอิริยาบถทั้งสี่ และอานิสงส์ของสมาธิ

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย

| PDF | YouTube | AnyFlip |

อันนี้ประเสริฐฟังแล้วก็ซาบซึ้ง แหม ดีจริงๆ ดีมาก อันนี้แสดงว่าพวกเรานี่มีอุปนิสัยพอสมควร ถ้าไม่เช่นนั้นพวกเราก็คงจะไม่อธิษฐานอะไรเพื่อเป็นบารมีให้มากมายถึงขนาดนี้ แสดงว่าพวกเรานี่คงเกิดมาเป็นมนุษย์กันหลายชาติ แล้วก็คงเจอศาสนามาแล้วหลายหน ก็คงจะได้สร้างบารมีนี่ติดต่อกันมานาน จึงมีอุปนิสัย จนถึงขนาดกล้าเสียสละ และอธิษฐานละหลายสิ่งหลายอย่าง เพื่อเป็นการป้องกันความชั่ว กำจัดความชั่ว อันนี้เป็นสิ่งประเสริฐที่สุด 

ต่อนี้ไปพวกเราก็จะได้ภาวนากัน แยกย้ายกันไปภาวนา คณะแม่ชี คณะหญิงก็ลงไปข้างล่าง คณะผู้ชายและพระอยู่ข้างบนนี้ ส่วนพระอยู่ข้างบนนี้วันนี้อย่าให้มาก เพราะมีญาติโยมฝ่ายชายเยอะ ตามคุมนี่จะไม่สะดวก อยากจะให้แยกไปที่โบสถ์บ้างชุดนึง แยกไปจุดธัมมวิจัยบ้างชุดนึง ปริมาณมันจะได้น้อยลงนะ

ทีนี้การทำสมาธินี่ บางท่านบางคนก็อาจจะไม่เข้าใจ คือการทำสมาธินี้คุณค่าประโยชน์มากเหลือกัน เฉพาะผู้ที่ทำใหม่ๆตื้นๆ ก็มีคุณค่ามาก วันนี้จะเล่าเฉพาะผู้ทำใหม่ๆตื้นๆให้ฟังว่า คุณค่าอานิสงส์น่ะมียังไงบ้าง 

การบำเพ็ญภาวนาที่เราทำอยู่นี้ พวกเราก็ย่อมทราบดีว่าเบื้องต้น เราเดินจงกรมก็ดี นั่งทำสมาธิก็ดี ยืนทำสมาธิก็ดี นอนทำสมาธิก็ดี ทั้งสี่อิริยาบถนี้ มุ่งหวังเพื่อจะบังคับให้สติและจิตรับรู้อยู่ในจุดที่เราต้องการ เช่นเราเดินจงกรม เราก็สัมผัสการก้าวเหยียบลงที่พื้น ก้าวขาขวาไป”พุท” อย่างที่เราทำอยู่นี้ ขาซ้ายไป “โธ” แต่ไม่ใช่ก้าวช้าจนเกินไปนะ พอดิบพอดี จังหวะการบริกรรมก็ให้พอดิบพอดี แต่ไม่เร็วเกินไป ไม่ช้าเกินไป 

เรายืนตรงมองไปในทิศทางที่เราจะเดินแล้ว เราพนมมือขึ้น นึกในใจพุทโธ ธัมโม สังโฆ ๆๆ ๓ หน ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็ยกมือขึ้น ดึงศีรษะน้อมลง นมัสการพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็วางมือลงไป วางมือห้อยลงไป เอามือขวาวางก่อน มือซ้ายวางทับ แล้วคว่ำมือเข้าไปหาท้อง เอาอย่างนั้นก็แล้วกัน พอยืนตรงดีแล้วก็ก้าวขาขวาออกก่อน เหยียบลงไปที่พื้นก็มีบริกรรมประกอบเลยทันที “พุท” ตามด้วยขาซ้าย เหยียบลงไปที่พื้น ก็มีบริกรรมภาวนาประกอบอีก “โธ” เอาสองจังหวะ ก้าวขาขวาเหยียบไป “พุท” ขาซ้ายเหยียบไป “โธ” ไม่ช้าจนเกินไป ไม่เร็วจนเกินไป พุท โธ พุท โธ ให้สติและจิตรับรู้อยู่ที่สัมผัสที่ก้าวเหยียบลงที่พื้น และบริกรรมภาวนาประกอบด้วย ผูกมัดจิตใจและสติให้รับรู้อยู่ในสัมผัสนั้นๆตลอด 

พอเราเหนื่อยเดิน เราอาจจะยืน เวลายืนถ้าหลับตา มันโยก ก็ลืมตา ทอดสายตา ลงให้พอดี กำหนดลมหายใจเข้าออก มีบริกรรมภาวนา พุทกับโธ หายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ”

ต่อจากนั้นไป เราก็อาจจะนั่งสมาธิอย่างเราทำกัน ก็รู้อยู่แล้ว ก็กำหนดลมหายใจเข้าออกเช่นกัน และนอนทำสมาธิ ก็กำหนดลมหายใจเข้าออกเช่นกัน แต่การทำสมาธิทั้งสี่อิริยาบถนี้ เราอย่าบังคับอะไรทั้งสิ้น คำว่าบังคับยังไง คือไม่บังคับ ไม่แต่ง นี่ไม่ได้หมายถึงจิตนะ หมายถึงกิริยานอกเช่น การหายใจเข้าออก เราอย่าไปแต่งเค้า ให้สั้น ให้ยาว ให้หนัก ให้เบา ไม่แต่ง ปล่อยโดยธรรมชาติ ธรรมดา แต่เราให้จับจุดรับรู้ อยู่ที่เป้าที่เราต้องการกับปลายจมูก แล้วก็มีบริกรรมภาวนาประกอบ พุทโธๆ แต่อุบายวิธีที่สร้างคลื่นธรรมะหรือคลื่นของตปธรรม เพื่อจะประคองสติและจิตให้อยู่ในจุดที่ตั้ง และจุดที่เราตั้งเป็นเป้าหมายไปได้อยู่ตลอด ถ้าเราทำนานๆเข้า นานๆเข้า ชินๆเข้า นานๆเข้า เราจะรู้ในตัวของเราเองว่าการกระทำนั้น เราจะมองเห็นเรื่องสติกับจิต การวิ่งต่ออารมณ์ภายนอกนั้นมันจะน้อยลง ค่อยหมดลงๆ น้อยลง คลื่นหรืออำนาจส่วนสร้างขึ้นมาสมบูรณ์ ประคองสติกับจิตให้รู้อยู่ที่เป้าได้อย่างสมบูรณ์ ดีขึ้นๆๆเป็นลำดับ 

ต่อจากนั้น…(เทปขาดตอน) หลายอย่าง เอาเฉพาะตื้นๆ ผู้ทำตื้นๆนั้น โห! ประเสริฐเหลือประมาณ อันดับแรก เราจะมองเห็นกิริยาการสงบของจิต จะมีลักษณะวูบลงไป อันนี้หมายถึงหลักสมถะหรือภวังคตาจิต วูบลงไปอันดับแรก พอลงไปแล้วเนี่ย เค้าจะยังได้ยินเสียงอยู่ เสียงที่ได้ยินในหู แต่ไม่รำคาญ ไม่มีการรำคาญในเสียง ไม่รำคาญ อารมณ์กลมกล่อมสบาย อิ่มอกอิ่มใจ มันอิ่มมันสุข เหมือนได้ยาทิพย์ชะโลมไปหมดทั้งตัว ซาบซ่านไปหมด โอ้โหย เหลือประมาณจริงๆ นั่งชั่วโมงหนึ่งไม่รู้เรื่อง สองชั่วโมงไม่รู้เรื่อง บางที ถึงสามสี่ชั่วโมง ไม่รู้จักเหนื่อย เพราะมันเสมือนหนึ่งยาทิพย์ชะโลมหมดทั้งตัว มันหนักเย็นมันหนักสบายไปหมด 

แต่ว่ามันไม่พ้นเสียง มีเสียงอะไรดังๆ โป้ง! เข้าไปเนี่ย เค้าออกจะวูบออกมา แต่ประคองอีกก็ค่อยวูบเข้าไปอีก เค้ามักจะเป็นอย่างนั้น แต่จุดนี้มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่คือ ความเมตตาอารีสัตว์ ความสงสารสัตว์ ความเป็นห่วงสัตว์และบุคคลและตัวของเราเอง รู้จักอกเขา รู้จักอกเรา อันนี้เป็นอานิสงส์สำหรับอันดับนี้ 

ถ้าเราทำให้เกิดชำนิชำนาญสูงขึ้น จนอาการของสติของเราพาจิตวิ่งต่ออารมณ์สัญญาภายนอกมันค่อยๆห่างเข้าๆ การกำหนดของเรามาเนี่ยง่ายหน่อย ดีหน่อย ก็สามารถประคองก็ลึกเข้าไปอีก เข้าไปสู่อันดับแรกนี่ เค้าจะย้อนลงไปวูบลงไปอีกนิดนึง พอวูบลงไปจุดนี้นั้น โอ้โห พ่อพระคุณ! หาประมาณมิได้ มีความสุขเหลือเกิน มีความสบายเหลือเกิน เข้าไปอยู่จุดนี้นั้น สามารถที่จะทำให้เรามองจิตของเราได้ชัดขึ้น สามารถระลึกอะไรได้ดีขึ้น แถมไม่พอ ทำให้เราระลึกชาติหนหลังได้เสียด้วย อันนี้มันจึงประเสริฐ 

ถ้าต่อเข้าไปอันดับที่สาม ก็ลึกเข้าไปอีก สู่อันดับที่สามนั้น ชักจะเกิดมีปัญญารู้เท่าทันอารมณ์ อะไรควร/ไม่ควรนี่เข้าใจจริง การตัดบทนี่เข้าใจ เพราะมันต่ออารมณ์ฌาน พอเข้าไปถึงจุดนี้นั้น สามารถมองเห็นหมู่คณะที่รวมอยู่ เพราะมันมายังไงบ้างเนี่ย ชัดเจนขึ้นมาเราพูดกันแค่สามอันดับนี่ก็เหลือประมาณ แล้วสำหรับฆราวาส ดีที่สุดแล้ว อันนี้นะ ส่วนอานิสงส์อันนี้ 

แต่สำหรับท่านที่ท่านสมมุติเอาไว้ เป็นอย่างนี้ อันดับต้น ท่านเรียกว่า ขณิกะ ขณิกะตามตำราเราไม่พูด เราไม่เอา เราเอาขณิกะจริงๆมาพูด ถ้าขณิกะตามตำรานั้น เค้าว่าเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง วูบวาบๆๆ ไม่จริง ขณิกะที่ถูกต้องนั้น ไม่มีคำว่าวูบวาบๆ นิ่งเงียบลงไป แต่เสียงกระทบยังมีอยู่ ได้ยินเสียงอยู่ ไม่รำคาญ แต่ถ้าเสียงดังๆ โป้ง! ก็จะวูบขึ้นมา นั่นน่ะยังวูบได้อยู่ คนก็เลยมาเขียนตำราขึ้นมาในทางที่ไม่ถูกต้อง วูบวาบๆคือขณิกะ 

อันดับที่สองท่านเรียกว่า อุปจาระ อุปจาระนี้ว่าตามตำราเรียกว่า เฉียดลงๆ มันหมายความว่ายังไง แต่แท้ที่จริงอุปจาระนี้ มันไม่เฉียดลง คือเค้าดิ่งลงไปสู่ฐานลึก เสียงไม่มีเลย เงียบ เสียงไม่มีรบกวน สามารถอ่านจิตของตนเองได้พอสมควร จนสามารถระลึกชาติหนหลังได้ ประเสริฐหาประมาณไม่ได้ 

อันดับที่สามท่านเรียกว่า อัปปนาสมาธิ ตามหลักทางภาคทฤษฎีหรือปริยัตินั้นท่านบอกว่า เงียบนิ่ง ไม่มีคำว่าเงียบนิ่ง เค้าไม่เงียบ เค้าไม่นิ่ง แต่ว่าเสียงภายนอกไม่กระเทือน และอารมณ์ภายนอกเค้าไม่สาว เข้าไปรับรู้อารมณ์ของจิตได้อย่างชัดเจน สามารถคัดเลือกอารมณ์ได้ดี ห้ามจิตได้ดีพอสมควร ชักจะเริ่มมีปัญญาดีขึ้น เกิดขึ้น สามารถอ่านและไล่ตามอันดับของจิตได้พอสมควร จนสามารถมองหมู่คณะที่เกี่ยวข้อง รู้ว่าผู้ใดมีความเกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่เมื่อใดมา ได้ชัดเจนขึ้น 

ส่วนอานิสงส์ที่สูงลึกไปกว่านั้นอีก เราเลือกภพได้ตามปรารถนา เพราะก่อนเราจะตายนี้ จะมีทุกขเวทนาท่วมท้น และจิตจะต้องระส่ำระสายสำหรับผู้ไม่มีสมาธิ จับอารมณ์อะไรไม่ถูก วุ่นวาย อันนี้มันเป็นหลัก ต่อจากนั้นไป สุดแท้แต่อารมณ์ อารมณ์อะไรเกิดขึ้นมาก็เกาะอารมณ์นั้นเป็นหลัก ถ้าเกิดอารมณ์ไม่ดีขึ้นมา เราก็เฟ้นไม่เป็น ถ้าไม่ได้ทำสมาธิ ก็ย่อมสามารถให้เราไปสู่ทุคติภพกับนรกได้  ถ้าเกิดตอนนั้นระลึกได้ถึงความดี จิตเกาะอยู่ในความดีเช่น ให้ทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนาก็ตาม ในเมื่อเกาะอยู่เช่นนี้นั้น สุคติภพเป็นที่ไป อันนี้ไม่แน่นอน 

แต่สำหรับผู้บำเพ็ญภาวนา แน่นอน คือรู้จักเฟ้นอารมณ์ ฉลาดในการแก้อารมณ์ อารมณ์ที่ไม่ดี ขุ่นมัว หงุดหงิดงุ่นง่านอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ฉลาดในการแก้การแต่ง ฉลาดในการเลือกอารมณ์ ปรับจิตใจของตัวเองเข้าสู่อารมณ์ได้ดี แล้วก็สามารถรู้เท่าถึงเรื่องทุกขเวทนาต่างๆ จนไม่มีความวุ่นวายกังวลในทุกขเวทนาทั้งหลายทั้งปวง สามารถจับจิตของตัวเองได้อยู่เป็นปกติ เฟ้นอารมณ์อยู่เป็นปกติ สามารถเลือกอารมณ์ที่ดีมาหล่อเลี้ยงจิตอยู่ตลอดเวลา อันนี้มีสุคติภพแน่นอน เลือกภพได้ตามปรารถนา อันนี้ดีมากที่สุด 

อันนี้วันนี้เล่าสู่กันฟัง เรื่องคุณค่าอานิสงส์แห่งสมาธิ ว่ามีคุณค่าประโยชน์แค่ไหน ขนาดไหน เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดในโลก อัศจรรย์ที่สุด ขอให้ใครเข้าไปถึงเถอะ ว่านี่เหมือนว่าเล่นนะ ให้เข้าไปถึงเสียก่อนจะรู้ว่าประเสริฐแค่ไหน ให้เราเข้าไปซะก่อน ในเมื่อเราเข้าไปถึงแล้วก็เหมือนพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าทั้งหลายได้คุณธรรมแล้ว ไม่มีถอยหลังแต่องค์เดียว ดื่มด่ำอยู่ในธรรมะอยู่ตลอดชีวิตของทุกท่านทุกคน อันนี้เป็นอย่างนั้น 

ฉะนั้นพวกเราผู้บำเพ็ญก็เช่นกัน ขอให้ดำเนินในทางที่ถูกที่ต้อง แล้วสามารถจะได้ผลของสมาธิที่ถูกที่ต้อง อันนี้วันนี้เล่าสู่กันดังนี้ ขอให้พวกเราตั้งใจกัน ตั้งใจกันจริงๆ อย่าทำเล่น 

อาจารย์เวลาเนี้ยดีใจกับลูกศิษย์อย่างที่สุด ใจเวลาเนี้ยมันอยากจะออก มันเบื่ออะไรชอบกล มันเบื่อเอามากที่สุด เบื่ออย่างที่เรียกว่าทุกวันนี่แทบจะทนไม่ไหว มันเบื่อยังไงก็ไม่รู้ มันเบื่อความเป็นอยู่ มันเบื่อสารพัดทุกอย่าง มองความเป็นอยู่มันเบื่อ แล้วพร้อมทั้งอายุมันมาถึงขนาดนี้แล้ว มันน่าจะไปสงบสติอารมณ์ ไม่น่าจะมาวุ่นวายกับสิ่งอย่างนี้ แต่เวลานี้ก็มองเห็นที่ว่าลูกศิษย์กำลังตั้งอกตั้งใจ แล้วจะทิ้งไปได้ยังไง 

อันนี้เวลานี้ปลุกระดมตัวเองอยู่ในเนี้ย เราจะทิ้งเค้าได้หรือ ในเมื่อลูกศิษย์ดีอย่างนี้จะทิ้งได้หรือ ลูกศิษย์พร้อมเหลือเกินนะ ทำให้เราทุกสิ่งทุกอย่าง เราต้องการอะไร ลูกศิษย์พร้อม เราต้องการจะบำเพ็ญกุศล ลูกศิษย์พร้อม ทุกสิ่งทุกอย่าง ลูกศิษย์ไม่เคยปฏิเสธอาจารย์ ไอ้ความดีของลูกศิษย์นี่มันผูกมัดอยู่นี่แหละ มันจูงเหลือเกิน อยากให้อยู่เพื่อต้องการที่จะอุ้มชูให้พวกเราผู้ปฏิบัติทั้งหลายเนี่ยได้ประพฤติปฏิบัติให้เห็นคุณธรรมกันบ้าง อันนี้เป็นสิ่งที่ปรารถนา 

เวลานี้เสียสละแล้ว ตัวเองจะต้องออกเสวยผลโดยลำพังคนเดียวในป่า ไปอาศัยหมู่บ้านเล็กๆ มีถ้ำสวยๆที่ไปเห็นมาแล้ว หลายแห่งเหลือเกิน มีหมู่บ้านพออาศัยภิกขาจาร (การเที่ยวขออาหาร การเที่ยวบิณฑบาต) บิณฑบาตได้พอสมควรยังชีพของอาตมภาพให้เป็นอยู่ได้วันๆ สามารถเจริญสมาธิสมาบัตินี่ ไปได้ดีที่สุด สามารถตัดภพตัดชาตินี่ง่ายที่สุด กิเลสตัวเล็กตัวใหญ่เนี่ย สามารถเข้าไปกำจัดได้หมด คิดว่าคงไม่มีอะไรเหลือวิสัย 

แต่ทุกวันนี้ก็มีอยู่นิดเดียวว่าสิ่งที่ผูกพัน ก็ได้แก่ความดีของลูกศิษย์ ความพยายามของลูกศิษย์ แม้นว่าแม่ขาวนางชีก็เช่นกัน มีความพยายามสูง อุบาสกอุบาสิกาทุกท่านมีความพยายามสูง อาจารย์ถึงได้เสียสละประโยชน์ส่วนตนซึ่งจำแนกเอาเฉพาะส่วนตน มาเพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ถ้าไม่งั้นอาจารย์ก็อดทนไม่ได้ ไป เพราะเบื่อจริงๆ เบื่อความเป็นอยู่ มันสารพัด สุดแท้แต่ปัญหามันจะเกิด มันนับไม่ถ้วน อันนี้มันเป็นอย่างนั้น 

ฉะนั้นขอให้พวกเราตั้งอกตั้งใจ อาจารย์อยู่เพื่ออุ้มชู ก็เอากันจริงๆ เอากันพยายามกันจริงๆพวกเรา ชาตินี้ประเสริฐนัก เมื่อไรเราจะมาเจอศาสนาอย่างนี้ แล้วเมื่อไรเราจะมาเจอความเป็นอยู่ของเราอย่างนี้ซึ่งไม่สู้จะลำบากนัก แล้วเมื่อไรจะมาเจอหมู่คณะผู้ปฏิบัติอย่างนี้ หาอีกได้มั้ยชาติต่อไป หาอีกได้มั้ย เบื้องหลังเราเคยมีแล้วหรือยังอย่างนี้ คิดว่าคงไม่มีนะ คงไม่ถึงขนาดนี้ แต่ปัจจุบันชาตินี้ประเสริฐเหลือเกิน พร้อมทุกอย่าง 

เพราะฉะนั้นขอให้พวกเรารีบตักรีบตวงเถอะ น้ำขึ้นเต็มที่เลยตอนนี้ ให้รีบตักรีบตวงกัน พยายามกัน อันนี้เป็นอย่างนั้นนะ พูดมากมันก็มากนัก คนพูดมันมาก พูดไปก็มันไปเพราะความดีใจ ดีใจกับลูกศิษย์ลูกหา ดีใจกับญาติโยม ดีใจกับคณะแม่ขาวแม่ชี คณะญาติโยมทั้งหลายทั้งปวง ก็อยากจะคุยอะไรต่ออะไร ออกมาตามความรู้สึก อยากจะคุยออกมาให้มันมากๆกว่านี้ แต่เวลาที่เราจะบำเพ็ญนะสิ มันจะไม่พอ เพราะฉะนั้นจึงอยากจะให้เรามีโอกาสจะบำเพ็ญซะเดี๋ยวนี้