หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
ถึงแม้จะอยู่กับพวกเราเป็นเวลานานถึง ๒๐ ปีกว่าตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ มาอยู่จันทบุรี ดูเหมือนปาเข้าไปถึง ๒๒ ปีแล้วนี่นะ รู้สึกว่ายืดยาวพอสมควรที่พวกเราอยู่ด้วยกันมา นี่อาจารย์ท่านอื่นๆที่จรมาให้โอวาทก็มาก มากที่สุด เพราะฉะนั้นการสดับตรับฟังนี่ดูเหมือนจะพอแล้ว มากมายเหลือเกิน เราควรจะตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติกันดีกว่า
เหมือนอย่างทั่วไปที่กำลังตื่นเต้นกันอยู่เวลานี้ เกี่ยวแก่การเทศน์เก่ง เทศน์นาน สี่ชั่วโมง หกชั่วโมง ท่านสามารถสาธยายธรรมะไปได้เรื่อยๆ แล้วสี่ชั่วโมง หกชั่วโมงนะ เราจะนั่งฟังกันได้ถึงนั้นหรือ แล้วในเมื่อท่านเทศน์จบแล้ว เราก็สามารถที่จำได้หมดเชียวหรือ มันมากมายอย่างนั้นจะเอาไหวหรือ แม้แต่วัตถุภายนอก ถ้ามันมากเกินไปแล้วก็ขนไม่หมด ขนไม่หมดนะ มันมากเกินไปนัก มันขนไม่หมด มันมากซะจริงๆเนี่ย เอารถราไปขนก็ไม่หมด มันมากเหลือเกิน
อันนั้นกำลังตื่นเต้น แล้วตื่นเต้นก็อยากจะรู้เหมือนกันว่าผู้ที่ตื่นเต้นได้อะไร ถ้าว่าได้ความรู้ แค่ได้ความรู้ ถ้าเราไม่ปฏิบัติให้ได้ผลแล้ว มันมีประโยชน์อะไร เปรียบเหมือนกับบุคคลเนี้ย แสวงหาเครื่องมือ สมมุติว่าจะเป็นช่างไม้ ก็แสวงหาเครื่องมือให้พอบริบูรณ์ เอาเครื่องมือมาลองใส่หีบไว้ แต่ไม่ก่อประโยชน์อะไรเลยนั้น มันมีประโยชน์อะไรเกิดขึ้น ก็ไม่มีประโยชน์อันใดเลย ผลที่สุดเครื่องมือเหล่านั้นก็จะติดสนิมกร่อน และเสียไปเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์อันใดที่ลงทุนไว้
เพราะฉะนั้นการเทศน์เหมือนกัน ถ้าฟังแล้วซะทุกวี่ทุกวัน ฟังก็จริงๆจังๆก็เบื่อนะ เบื่อ สมัยก่อนอยู่กับครูบาอาจารย์ทางอีสาน วันพระเนี่ยท่านจะอยู่กันตลอดคืนนะ พอเทศน์จบแล้วก็ลงไปเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง สลับกันเทศน์ต่อ เท่าที่ฟังดูแล้วนี่รู้สึกว่า ไม่มีคุณค่าอะไรเลย นอนบ้าง นั่งหลับบ้าง ลงไปเดินจงกรมแล้วก็หลบหนีไปบ้าง มันไม่ไหว บางคนพอได้ยินว่าจะขึ้นธรรมาสน์ หาทางหลบแล้ว มันทนไม่ไหว มันเหนื่อย เพราะท่านเทศน์กันทีละชั่วโมง สองชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์วันเนี่ย ปาเข้าไปสี่ชั่วโมงก็มี เทวดาองค์ใดซึ่งสามารถจะมานั่งฟังได้ มันยาวเกินไป ทุกวันพระ ในพรรษา นอนพรรษาอย่างเดียวกันหมด มองดูญาติโยมที่ชินต่อธรรมะแล้ว เลยกลายเป็นว่านอนฟังธรรมะ ขาดความสัมมาคารวะต่อธรรมะด้วยซ้ำไป เพราะมันมากเกินไป
เพราะฉะน้ันเวลานี้พวกเราก็ฟังมากเหลือเกิน ในเมื่อฟังมากๆ ไม่รู้จักประมวลมันก็สึกแค่นั้นเอง เราก็ลองประมวลดูซิที่สอนมาทั้งหมดคืออะไรบ้าง ไล่ไปแล้วสรุปผลมันเข้ามาสู่อะไรกันแน่ นอกจากกายกับจิตแล้วมันมีอะไร คำว่านอกจากกายและจิตนั่น กายนั่นมันมีอะไร ธรรมะทั้งหมดประมวลเข้ามาสู่กาย ถ้าจะเล่าถึงความไม่เที่ยง ก็เอาอะไรมาไม่เที่ยง จะเล่าถึงความเป็นทุกข์ จะเอาอะไรมาเป็นทุกข์ เราลองดูซิ เล่าถึงความเป็นอนัตตา เอาอะไรมาเป็นอนัตตา
ส่วนใจนั้นคืออะไร เป็นผู้รับรู้ แล้วจะเกิดความรู้สึกตามเหตุที่กระทบ อันนี้เป็นเรื่องของจิต แล้วก็ใช้ปัญญาตรองเข้าไปแก้ไข คือแก้ไขจิต เพราะฉะนั้นสรุปแล้วก็หมายความว่ามีกายกับจิต ยิ่งจะมามองถึงอายตนะภายนอก ภายใน มันก็มี ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และก็ใจ เราลองดูเองก็ละกัน มองดูให้ดีๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นอายตนะ ๖ ภายใน อายตนะภายนอกหละ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทั้งหลายเหล่านั้นมันหมายความว่ายังไง ก็ใจเราหลงใช่มั้ย แล้วหลงเรื่องอะไร ลองดูซิ มันหลงเรื่องอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเผื่อกายหรือ ลองดูซิ ลองดูให้ดีๆ ตาเห็นรูป ก็ลองมองดูดีๆ ต้องการ/ไม่ต้องการ ต้องการเพื่ออะไร ไม่ต้องการเพราะอะไรจึงไม่ต้องการ สรุปแล้วไม่อยู่ที่กายกับใจเท่านั้นหรือ ลองไล่ดูซิ
หูได้ฟังเสียงเช่นกัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัส แล้วก็ใจมีอารมณ์ เราลองคิดดูก็แล้วกัน อ่านทวนไปดีๆซิ ลองทวนไปทวนมา ทบทวนให้ละเอียดละออซิ ได้ความว่ายังไงกันแน่ มันสรุปเข้ามาแค่นี้ ไม่ไปไหนเลย จะเทศน์ไปไกลแค่ไหนก็มารวมอยู่แค่นี้
สรุปให้ถึงที่สุดแล้ว ทุกอย่างที่ท่านชี้ไปทั้งหมดเนี่ย ตามหลักพระไตรปิฎกลองอ่านดูมากมายเหลือเกิน สรุปแล้วทั้งหมดประมวลแล้วมันเข้ามันเข้ามาจุดเดียว คือทำให้ใจรู้สภาพความเป็นจริงของกาย ทั้งเราและเขา ได้แก่รูปอันนี้เท่านั้นเอง ว่าสภาพความเป็นจริงมันเป็นยังไง ให้จิตยอมรับ จะคิดไปทางไหนจะแพลงไปทางไหนก็แล้วแต่ ประมวลเข้ามาในเวลานี้ เราหลงเรื่องอะไร มองให้ดีๆก็แล้วกัน ก็เพื่อต้องการให้ใจเข้าใจสภาพความเป็นจริงนั้นๆ ไม่ทวนกระแสให้เป็นไปตามสภาพความเป็นจริงของเค้าจริงๆดูซิ เท่านั้นเองหละ มันไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านี้เลย
ถ้าใจของเรายอมรับสภาพความเป็นจริง คือสังขารร่างกายนี่เป็นสภาพ(๑)ไม่เที่ยง แปรปรวน (๒)เป็นทุกข์ (๓)เป็นอนัตตา ให้เราเข้าใจ ๓ อย่างนี้ชัดๆลงมาซิ ให้จิตยอมรับจริงๆ ไม่ใช่รู้เฉพาะประสาทสมอง ให้ใจยอมรับสภาพอันนี้จริงซิ มันจะเป็นไงกันความรู้สึก นี่อยากลองถามผู้ปฏิบัติดู ลองดูซิ ถ้าใจยอมรับสภาพความเป็นจริงอันนี้อย่างถูกต้องแล้ว ความรู้สึกจะเปลี่ยนแปลงไปยังไง
เราจะรู้ได้ทันทีว่า โลกนี้ไม่มีอะไรน่าหลง หลงเบื้องต้นก็หลงเราซะก่อน นอกจากหลงเราก็หลงเขา หลงเพื่อจะนำมาเพื่ออะไร ก็ดูเอาเอง ตลอดดิ้นรนหาทุกสิ่งทุกอย่างมาเพื่ออะไร มองดู หรือจะมองรูปกิเลส โลภ โกรธ หลง เอาแค่นั้นก็แล้วกัน โลภเพราะอะไร สิ่งที่ต้องการอยากได้ทั้งปวงนั้นเพื่ออะไร ก็ไม่ใช่เพื่อกายนี่หรือ
โกรธ ทำไมถึงโกรธ ลองคิดดูให้ดีๆซิ นี่ก็เป็นเรื่องของจิต โกรธ กลัวเค้าจะไม่นิยมเรา เค้าดูถูกเรา กลัวคนอื่นหาว่าเราไม่ดี กลัวจะไม่มีเพื่อนฝูง กลัวคนจะไม่รักไม่นับถือ กลัวเขาจะนำไปนินทาต่อไป อะไรต่างๆทั้งหมดนี่ มันเพื่ออะไรอีก ลองอ่านดูดีๆ มันหนีไปไม่พ้น
หลง คืออะไรหลง ก็มีหลงรักกับหลงชัง ก็แค่นั้นเอง หลงรักกับหลงชัง หลงรักเอามาเพื่ออะไร ชังทำไม ลองดูซิ ถ้าไม่เผื่อเรื่องแค่นี้ นี่ต้นตอมันไปจากนี้ทั้งหมด ต้นตอ เพราะเรายึดว่าเราเป็นเรา อันเนี่ยขึ้นมาก่อน ยึดว่าเราเป็นเรา มันก็โยงใยเข้าไปหาอย่างอื่น ลามปามไปหาอย่างอื่น
สรุปแล้วตัวยืนพื้นจริงก็คือตัวเรานี่เอง คือกายของเราที่เราหึงเราหวง เราดิ้นรนหาทุกสิ่งทุกอย่างมาเพื่อกายของเรา อันนี้ลองคิดดูดีๆเถอะ แล้วก็เรื่องกายเรื่องจิต เนี่ยสองอย่างมันพัวพันกันอยู่ โดยสรุปผลแล้วคืออะไร เพื่อหาวิธีให้ใจยอมรับสภาพความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้มองดูดีๆนะ สิ่งเหล่านี้ สิ่งที่เรากำลังหลงอยู่เหล่านี้ เราเป็นต้นตอ
ตัวต้นตอที่เราดิ้นรนมาทุกสิ่งทุกอย่างมาเพื่อเขา ป้องกันทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไม่มาขัดขวางทั้งสิ่งทั้งปวงที่เราจะนำมาเพื่อเขา อะไรสุดแล้วแต่เถอะ มันโยงใยกันจากตัวนี้ ถ้าเรามาเข้าใจตัวนี้ไม่ใช่เรา เพียงแค่ธาตุประชุมกันอยู่ เขาจะต้องสลายไปวันหนึ่งแน่นอน ตัวของเราจริงๆคือใจจะต้องไปต่อภพ ให้มันชัดออกมาซิ ให้มันชัดออกมาจริงๆ ลองมองให้มันชัดๆซิ
ถ้าเราสามารถรู้กายของเรานี้อย่างถูกต้องตามสภาพความเป็นจริงของเขาแล้ว อะไรมันเป็นสิ่งที่น่าหลงในโลกนี้ ถ้ามันยอมรับอย่างเดียวแล้ว มีแต่สิ่งที่น่าเศร้าสลด มองแต่ละสิ่งแต่ละอย่างเป็นสิ่งที่ไม่น่าหลง เราจะเห็นได้ชัดด้วยตัวของเราเอง อันนี้ อะไรมันหลงหละ ก็ใจนั่นแหละ หลงรักหลงชังก็คือใจนั่นแหละ มันเกิดขึ้น แล้วก็ใจตัวนั้นแหละ มันมายึดว่ากายนี้อีกเป็นของเขา เขาก็ต้องการสิ่งเหล่านั้นมาปรนเปรอนี้ ป้องกันสิ่งขัดขวาง จึงได้มีความโกรธขึ้นมา เขามาทำลายสิ่งนั้นสิ่งนี้ เขาดูถูกเรา กลัวจะไม่มีลาภสักการะ กลัวคนเขาจะว่าเราไม่ดี กลัวจะไม่มีชื่อเสียง กลัวจะไม่มีลาภสักการะ
แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น นั่นเป็นโลกธรรม ๘ นั้น ไอ้ตัวที่มันเล่นละคร ที่กระโดดโลดเต้น ก่อให้เกิดทุกข์วุ่นวายอยู่นั้นคือจิต เนื่องจากมันหลงกายของตัวเองเป็นต้น จึงไปหลงกายผู้อื่น จึงไปหลงสิ่งต่างๆที่จะเอามาบำรุงปรนเปรอส่วนร่างกาย ซึ่งเขายึดว่าเป็นเขาอยู่นี่ อันนี้มันหนีไปไหนไม่พ้น พระไตรปิฎกทั้งกือ อ่านไปเถอะ สรุปแล้วประมวลลงมานี่
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้สอนให้พิจารณาเข้าใจสภาพของง่ายๆ แค่สามอย่าง สภาพของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะไปเอาอะไรมากมาย เอาตัวเนี้ยเป็นหลักยืนพื้น แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ ยัดเยียดเข้ามาให้จิตรับซะ แล้วประสบเขาตาย เหตุการณ์ที่เค้าตาย ก็เอาเรื่องความตายมายัดเยียด เราจะต้องอย่างนี้ ผัวเมียเค้าด่ากัน ถ้าเราไปก่อขึ้นมา ก็ต้องอย่างนี้ เค้าบ่นเพ้อถึงเรื่องลูก ถ้าเราเกิดไปเกี่ยวข้องขึ้นมา มีลูกขึ้นมาก็อย่างเขานี้ มันก็มีแต่ความทุกข์กับทุกข์ ก่อทุกข์ให้กับตัวเองทั้งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเราพยายามยัดเยียดให้จิตของเรารับ
เดินจงกรมภาวนาก็กำหนด สร้างอำนาจส่วนกำลังที่ต้องประคองมัน จนมันอ่อนตัวลงๆ สติกับจิตวิ่งต่อลงสัญญาภายนอกไม่ได้ คุมไว้ ในเมื่อมันมีเหตุเกิดขึ้นก็จับยัดเข้ามาให้มันยอมรับ อยู่อย่างเนี้ยเสมอ วันหนึ่งข้างหน้า เราจะต้องได้ชัยชนะ ถ้าเราทำติดต่อกันอยู่ทุกวันๆ รับรอง
แม้นว่าเราจะลุก นี่อย่าลุกเปล่าๆ ต้องครอบคลุมดูแลการลุกของเราให้เหมาะสมกับความเป็นสมณะ นั่งลง หยิบของ จะลุก จะเหิน จะเดินต้องมอง อย่าไปด้วยความเผลอเรอเผลอตัว อย่าพูดด้วยความเผลอเรอเผลอตัว ให้มีสติครอบคลุม เกิดความชำนิชำนาญในการประคองตัวเอง ต่อไปนั้นมันจะสมบูรณ์ขึ้น สมบูรณ์ขึ้นเป็นมหาสติ เกิดมัคคสมังคีถึงพร้อม
การกำหนดภาวนาก็เช่นกัน เอามันเข้าไปให้มันเกิดความชำนาญ นอนหลับแล้วก็ตื่นมาปุ๊บมันเป็นเอง ไม่ใช่เราต้องไปกำหนดมัน แล้วก็เผลอวิ่งไปโน่น แล้วก็ดึงเข้ามา ไม่ใช่ มันต้องเข้ารวมจุดปุ๊บ เกิดเป็นมัคคสมังคี จับจุด จะลุกมันก็จับจุด เอามาใช้ได้ทุกเมื่อ พอเราเห็นได้อย่างนี้ไม่นาน เดี๋ยวไม่นานเถอะจิตจะยอมรับสภาพความเป็นจริง
เวลานี้ส่วนอำนาจบังคับมันไม่พอ จิตมันไม่ยอมรับ ในเมื่อจิตไม่ยอมรับนั่นแหละมันถึงได้หลงอยู่ ถ้าจิตยอมรับสภาพความเป็นจริงที่ถูกต้องแล้วแน่นอน รับอะไรในสิ่งที่ถูกต้อง สภาพของความไม่เที่ยงก็ถือว่ามันไม่เที่ยง ตั้งแต่ก่อนมันไม่เป็นอย่างนี้ มันมาจากเด็ก แล้วมันก็เอาเข้ามาถึงขนาดนี้ แล้วมันจะก้าวต่อไปหาอะไร…หาป่าช้า ให้มันชัดเจนขึ้นมา
สภาพอันนี้มันสะอาดหรือ มันถึงไปหลง ก็ดูมันอีกทีนึง มันก็ไม่สะอาด เราก็ไม่สะอาด เขาก็ไม่สะอาด ควรแล้วหรือจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ อย่างชาวบ้านเค้าเป็น ให้มันชัดเจนเข้าไป มองเข้าไปทุกอย่าง ให้มันเห็นชัดเจนเข้าไป กำหนดเข้าไปให้มันรู้ มันหลงที่หนัง ถกมันออกมา ดูภายในมันเป็นยังไง ลองถามตัวเองดู ลองดู ไล่มันดูอย่างนั้นหละ ยัดเยียดมันอยู่นั้น วันหนึ่งข้างหน้ามันต้องรับแน่นอน ถ้ามันเกิดรับขึ้นมาแล้วคอยดูสิ มันจะหลงอะไร มีแต่ความเศร้าสลด
แม้นว่าไปวันนี้งานแต่งงาน ก็ไปสังเวชเค้าว่า โอ้…ก่อทุกข์นานๆหนอ ก่อทุกข์แล้วหนอ พอลูกเกิดขึ้นมาเจ้าต้องทุกข์ใหญ่ต่อไป เจ้ามีผัวเจ้าก็ต้องเอาใจผัวเจ้า อยู่คนเดียวเจ้าเอาใจเจ้าคนเดียว แต่พอมีผัวขึ้นมาก็ต้องเอาใจผัว พอมีลูกเกิดขึ้นมาจะต้องประคับประคองรักษา ไม่ให้เค้าเสียชีวิต ให้เค้ามีความสุข พอเติบโตขึ้นมาก็ดิ้นรนทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อจะสงเคราะห์เสาะหาก็ตามวัยของเด็ก อยู่ที่วัยมีเครื่องเล่นก็ต้องหาของเล่น มีวัยเรียนก็ต้องหานโยบายวิธีต่างๆให้เด็กได้เล่าเรียน ทั้งหมดมันเป็นไปเพื่อทุกข์ทั้งนั้น สรุปแล้วการประกอบกรรมอันนั้น มันเป็นไปตามธรรมดาของโลก ไม่ได้เป็นไปเพื่อบารมี
เราเป็นสมณะ ดำเนินทุกอย่างมีจิตใจน้อมลงไปดูซี่ มันเป็นบารมีธรรม มันเป็นคุณงามความดี มันเป็นปฏิปทาหนทางกำจัดกิเลสจริงๆ เป็นผลประโยชน์ของเราโดยตรง อันนี้มันแน่นอน เพราะฉะนั้นทุกอย่างนี่เราพยายามหาวิธียัดเยียดให้จิตของเรานี่ยอมจำนนต่อความจริงของโลก ให้มันยอมรับเสีย เราต้องพยายามอยู่เสมอทุกวันๆ
วันหนึ่งข้างหน้าถ้ามันถึงพร้อมจริงๆ ในเมื่อสติของเรานี่เป็นมหาสติ หรืออำนาจส่วนบังคับถ้าพูดให้ถูก เหนือกว่าสติที่นำพาจิตวิ่งต่ออารมณ์สัญญานี้ ก่อให้เกิดความฟุ้งซ่าน สามารถบังคับให้มันจำนนได้ เราผู้ปฏิบัติเองนั้น อำนาจส่วนบังคับมันสูงขึ้นๆ สติกับจิตวิ่งต่ออารมณ์สัญญาจะช้าลงๆ ต่อไปไม่มีโอกาสเลย มีแต่เราจะต้องจับมันทั้งนั้น ให้มันคิดเรื่องนี้ ให้มันคิดเรื่องนี้ เราจะจับมันเอง
ไม่ใช่มันวิ่งไปหาคิดเอง อย่างนั่งกำหนด อ้าว เผลอไปคิดแล้ว อ้าว กำหนดแล้วกำหนดไว้อีก ไม่ใช่อย่างนั้น เราจะบังคับให้คิดมันก็คิด ในเมื่อเราบังคับให้กำหนดก็กำหนด ไปเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเราน้อมนำมาให้มันพิจารณามันก็เกิดความเศร้าสลด
สรุปแล้วบางทีอาจจะไม่ได้พิจารณา พอมองปั๊บมันเป็นเอง สิ่งที่น่าเศร้าสลดก็สลด มองเห็นสภาพความเป็นจริง จิตก็มีแต่ความเบื่อหน่ายกับความเป็นอยู่ในโลก เบื่อหน่ายสะอิดสะเอียน แม้นว่าจะมาเกิดซักชาตินึง จะต้องมาเผชิญกับความทุกข์และความเป็นอยู่นั้น จะสะอิดสะเอียน และเกลียดกลัวที่สุด มันเป็นอย่างนั้น ถ้าถึงที่สุดเข้าแล้วต้องเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นสรุปแล้ว ไปไหนก็แล้วแต่เถอะมันประมวลเข้ามาอยู่แค่นี้ ถ้าเราจะเรียนรู้ ไม่รู้คัมภีร์จะกี่หลังช้างก็แล้วแต่ ถ้าใจของเรายังไม่เป็นอย่างที่ว่านี่ได้แล้ว โอกาสสำเร็จไม่มี ในเมื่อสำเร็จมันไม่มี ไอ้ที่ท่องมามันก็เปล่าๆ ไม่มีประโยชน์ เหมือนเค้าไปเรียนความรู้มา เรียนมามากมายก่ายกองแต่ไม่ได้ประกอบผลให้เกิดประโยชน์ วิชาความรู้ทั้งหลายเหล่านั้นก็เป็นหมัน ไม่มีความหมายกับวิชาที่เรียนมาทั้งหมด แต่ในเมื่อวิชาที่เรียนมาประกอบให้เกิดประโยชน์สำหรับตัวเองนั้น วิชานั้นไม่เป็นหมัน
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเรียนมาทั้งหมดแล้ว ในเมื่อเราไม่บังคับจิตให้ยอมรับสภาพความเป็นจริงเหล่านี้ ตามหลักแห่งความเป็นจริงคือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ให้เค้ายอมรับจริงๆ ถ้าเค้าไม่ยอมรับจริงๆแล้ว คือไม่ได้ผลอะไรทั้งสิ้น
อันนี้เป็นประตูต้นที่เราจะมุดเข้าสู่คุณธรรมชั้นสูง เป็นประตูที่เราจะต้องแก้ไข ถ้าเราแก้ไขอันนี้ไม่ได้ จิตไม่ยอมรับสภาพอันนี้ได้แล้ว จะมาอวดเก่งว่าตัวเองเข้าถึงโน่นเข้าถึงนี่ อันนั้นมันแค่ปากเท่านั้นเอง รังรองว่าไม่มีความหมายสำหรับคำพูดนั้น ถ้าเราเห็นอันนี้ซะก่อนซึ่งกามภพหยาบๆนี่ก่อน แล้วค่อยจึงจะมุดเข้าสู่ความละเอียดอ่อนต่อไป แล้วเราจะต้องแก้ไขสิ่งนั้นออกไปเป็นลำดับ มันถึงจะได้ผล
เพราะฉะนั้นเนี่ยพวกเราศึกษามาเรียนมาทั้งหมด มันเกินจากนี้ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นขอให้เราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เอาอันเนี้ยเป็นหลัก บุกกันอย่างเนี้ย ไม่ต้องไปเรียนอะไรมาก
อาจารย์อยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระท่านสอนแค่นี้เอง เราก็ลุยของเราอยู่น่าดู จนกว่าจะได้ความมองชัดเจนได้ โอ้โห! หลายปี ทุกวันนี้ก็อยู่ด้วยคุณธรรมน้อยๆที่ตัวเองได้ อิ่มเอิบเหลือเกิน ดีใจเหลือเกิน จึงหานโยบายวิธีแนะนำหมู่คณะให้เข้าไปสู่คุณธรรมได้แค่อาจารย์นี่คงจะถวายชีวิตต่อพระศาสนาแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้พวกเราตั้งอกตั้งใจกันก็แล้วกัน อธิบายสู่ฟังกันแค่นี้ละวันนี้ ก็ขอยุติแค่นี้ครับ