หลวงปู่หลวง กตปุญโญ
อบรมพระ เณร ชี วัดถ้ำพระสบาย วันที่ ๙ ธ.ค. ๒๕๔๔
….ฉะนั้นเมื่อพระองค์ปรารถนาสร้างบารมีเต็มแล้ว สำเร็จแล้ว เต็มแล้ว มีแต่เมตตาบารมี ในบารมี ๓๐ นี่ ทานบารมี พระพุทธเจ้าสร้างบารมีก็ให้ทานมามาก ให้ทานมาก บางชาติก็ให้ทานเป็นจนหลายหมื่นหลายแสนปี อย่างที่เกิดเป็นเนมิราช ก็ให้ทานอยู่ ๘๔๐๐๐ ปี อย่างนี้เป็นต้น บัดนี้ให้ทาน ๘๔๐๐๐ ปีนั้น บุญยังน้อยอยู่ ยังไม่พอ จำเป็นก็ออกบวช หรือว่าออกเนกขัมมะ เรียกว่าสร้างเนกขัมมะบารมีต่อ สร้างเนกขัมมะบารมีต่อก็ออกบวช ก็ ๘๔๐๐๐ ปี อย่างนี้เป็นต้น
หลายชาติหลายภพ ทำทานมาเป็นลำดับๆ จนสามารถทานได้หมด คือพระองค์ทาน ทานความโลภ ทานความโกรธ ทานความหลง ทานความรัก ทานความห่วง ทานความอาลัย ทานหมด พิมพา ราหุล ปราสาท ราชวัง ทานหมด ไม่มีอะไรซักอย่าง ตลอดที่สุดรูปร่างกาย ทานรูปร่างกายคือพระองค์ตั้งใจว่าใครจะมาขอเอารูปร่างกายนี่ ก็ยกให้ ใครจะมาขอหูก็ยกให้ มาขอตาก็เจาะให้ ให้หมด อย่างนี้จึงว่า ทานหมด ปรมัตถทาน เมื่อทานหมด ปลดทุกข์ได้
ทานนี่แปลว่าให้ ปริจฺจาโค จาคะแปลว่าเสียสละ สูงขึ้นไป จาโค จาคะ ทานหมด ที่มันทุกข์ก็เพราะไม่ทาน เพราะความห่วง ความยึด ความถือ จึงได้ทุกข์ มันทุกข์เพราะไม่ได้ทาน ไม่ได้เสียสละความห่วง
ฉะนั้นการนั่งภาวนาก็อธิษฐานจิต คิดขึ้นว่าขออาราธนาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ขออาราธนาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มีศีล สมาธิ ปัญญาเป็นต้น ขอคุณพระอริยสงฆ์สาวกเจ้า มาประสิทธิประสาทอยู่ในจิตใจของข้าพเจ้า น้อมเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งภายในใจ พึ่งในใจ ไม่ได้พึ่งภายนอก พึ่งในใจ คือมาเห็นว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในใจ มันก็รักษาได้ง่าย ถ้าเห็นว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่นอกไป รักษาบ่ได้
และขออำนาจคุณมารดาบิดา ครูบาอาจารย์จงประสิทธิ์ประสาทพรให้ น้ำใจของพระเจ้า จิตใจของข้าพเจ้าตั้งมั่นเป็นสมาธิ รู้แจ้งแสงสว่าง รู้จักทางอริยมรรค อริยผล นำตนให้พ้นทุกข์ภัยในวัฏสงสารแล้วก็ พุทโธ เม นาโถ ธัมโม เม นาโถ สังโฆ เม นาโถ พุทโธๆๆเรื่อยไป พร้อมกับลมหายใจ สูดลมเข้าลมออก มีพุทโธ
รวมความก็มีสามจุด ลม พุทโธ สติ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พุทโธ สติ กับลม รวมเป็นจุดเดียว ถ้าเอาลมเป็นจุดเดียวได้ มันก็สงบตั้งมั่น เป็นสมาธิได้ เพราะฉะนั้นให้มีเสียงพุทโธ พุทโธสติ พุทโธ ให้เสียงพุทโธๆนั่นน่ะ ดังอยู่ในหูของเรา ถ้าเสียงพุทโธๆดังอยู่ในหู มันก็ไม่หลับ ถ้าเสียงพุทโธหายไป นิวรณ์ครอบงำหลับแล้ว
นี่ว่าถีนมิทธะนิวรณ์ ง่วงเหงาหาวนอน ถีนัง ท้อแท้อ่อนแอ มิทธัง ง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจขี้คร้าน รวมความก็คือว่าสติอ่อนหรือว่าลมอ่อน ลมมันอ่อน พุทโธมันค่อยหาย นิวรณ์ครอบงำ เพราะนิวรณ์มันทำลาย เป็นเครื่องทำลาย เป็นเครื่องกั้นเครื่องทำลายในการสร้างคุณงามความดี กับทั้งทางโลกและทางธรรมพร้อมกันนั่นแหละ เพราะนิวรณ์เนี่ย มันไม่ใช่ว่าจะมาใช้แต่ทางพระพุทธศาสนาอย่างนั้น ไม่ใช่ ทั้งงานทางโลกพร้อมหมด ใช้พร้อมหมด คือเครื่องมือที่จะต่อสู้กิเลสก็คืออิทธิบาท อิทธิบาทเนี่ยเป็นทางที่จะต้องเดิน เป็นทางที่จะนำไปสู่ความเจริญ แก้นิวรณ์น่ะ
อิทธิบาทแปลว่าเดินไปสู่ความเจริญ เดินไปสู่ความพ้นทุกข์พ้นภัย คือฉันทะ ความพอใจ ความพอใจยินดีในการทำสมาธิภาวนา พอใจยินดีในการรักษาศีล พอใจยินดีในการเจริญสมาธิภาวนา เมื่อจิตมีความยินดีพอใจอยู่ มีสติรู้อยู่ตื่นอยู่ ยินดีพอใจคือว่าฉันทะ เครื่องมือในการสร้างคืออิทธิบาท อิทธิบาททั้ง ๔ ชื่อว่า (๑)ฉันทะความพอใจ ยินดีพอใจ และก็มีปลูกศรัทธาความเชื่ออีก เมื่อมีฉันทะความพอใจก็ปลูกศรัทธาความเชื่ออีก เชื่อมั่น เชื่อมั่นว่ามรรคผลนิพพานมีจริง นรกมีจริง สวรรค์มีจริง มรรคผลนิพพาน อริยมรรค อริยผลเป็นของมีจริงจะนำผู้ปฏิบัติให้พ้นทุกข์จริง อันนี้แปลว่าฉันทะความพอใจ มันก็เป็นเครื่องแก้ แก้นิวรณ์นั่นแหละ เช่นว่ากามฉันทะนิวรณ์ ก็ความพอใจ แต่มันพอใจในรูป พอใจในรูปของตัวเรา พอใจในรูปของบุคคลอื่น ยินดีพอใจในรูปเรา หลงอยู่ในรูปเรา ว่าเป็นตนเป็นตัว เป็นเราเป็นเขา ว่าสวยว่างาม ว่าดี อันนี้เพิ่นว่ามันก็อาศัยความพอใจ พอใจกำหนดลง พอใจฉันทะ
(๒) วิริยะ เพียรเพ่งอยู่ในลม กำหนดอยู่ในลม เพ่งอยู่ในลมนั้น ไม่ให้ลืมลม พอใจกำหนดลม ระลึกอยู่ในลมนั้น วิตก นึกอยู่ในลม วิจาร พิจารณาลมเข้าลมออกอยู่นั้น ฉันทะ วิริยะ (๓) จิตตะ จิตจดจ่อ จิตจดจ่ออยู่ในลมนั้นน่ะ ลมเข้าลมออก จดจ่ออยู่ในลมในหน้าอกนั้นน่ะ อย่าไปลืมไปที่อันอื่น อยู่ในหน้าอกหรืออยู่ในสะดือนั่นน่ะ ให้มันรู้อยู่เนี่ย พุทโธรู้อยู่นี่ จิตจดจ่อ พอใจอยู่ในลม
(๔) วิมังสา ลมเข้ายาวออกยาว ก็รู้ เข้าสั้นออกยาวก็รู้ ออกยาวเข้าสั้นก็รู้ กำหนดลมอย่างใด สบายหรือไม่สบายก็รู้ ทำอย่างใดให้มันสบาย ทำอย่างไรไม่สบายก็ให้รู้อีก เช่นว่ามันท้อแท้อ่อนแอ ง่วงเหงาหาวนอนขี้เกียจขี้คร้านก็ให้รู้อีก อันนี้แปลว่าเครื่องแก้ เพราะว่าในโลกนี้เป็นของแก้กัน แก้กันได้ มีเย็นมีร้อนแก้ มีมืดมีสว่างแก้ มีทุกข์มีสุข สร้างความสุขมันก็เครื่องแก้ แก้กันได้นะ ก็เหมือนเราภายนอก ปวดหัวก็กินยาแก้ปวดได้ ระงับไป ปวดท้องก็กินยาแก้ปวดท้องระงับไป ยาแก้
ยาแก้พุทธศาสนาก็คืออนิจจิง ทุกขัง อนัตตา นี่ยาแก้ นี่เป็นยาแก้โรค ถ้าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่มันก็แก้ได้นะ เห็นไม่เที่ยง เห็นเป็นทุกข์ เห็นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตน เป็นแต่ก้อนสภาวะธาตุ ก้อนธรรม ก้อนดิน ก้อนน้ำ ก้อนไฟ ก้อนลมที่เรามาอาศัยอยู่ชั่วครู่ชั่วคราว ก้อนของปฏิกูล ก้อนขี้
จะพิจารณาก้อนขี้ก็ได้ ตัวเราเป็นก้อนขี้ เป็นของขี้ เป็นก้อนขี้แล้วก็จะว่าหยาบๆก็อาศัยกินขี้ ภาษาอันนั้นเพิ่นว่ากินข้าว ข้าวก็ขี้นั่นแหละ อาหารใหม่ อาหารเก่าเพิ่นว่า ขี้หนุนขี้ ทำให้ร่างกายมันขี้ มันหนุน (หัวเราะ) ขี้หนุนขี้ เพิ่นว่าขี้หนุนขี้ มันหนุน กินเข้าไปมันก็หนุนให้เรามีเนื้อมีหนังมีหนุน เพิ่นว่าขี้หนุนขี้ เป็นของปฏิกูลสูญเปล่า ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา ลมก็ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่ลม เรามาอาศัยลมนี่ต่างหาก
ฉะนั้นเราทุกคนๆเกิดมา เพิ่นว่าบ้านเช่าข้าวซื้อ บ้านก็เช่า ข้าวก็ซื้อ คือรูปเรามาเช่าร่างกายอยู่ชั่วครู่ชั่วคราว ไม่ใช่บ้านเราแต่มาเช่าอาศัยอยู่ชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้นหละ บ้านเช่าข้าวซื้อ ก็เหมือนทุกวันนะไปซื้ออาหารมากิน ซื้อมาเลี้ยงร่างกายเนี่ยน่ะ เช่าบ้านอยู่ เหมือนเราไปสถานที่ต่างๆ ก็ไปเช่าบ้านเค้าอยู่ เช่าบ้านเค้าค้าขาย เช่าบ้านเค้าอยู่ ต้องจ่าย จ่ายค่าเช่า จ่ายค่าเช่าก็คือเอาข้าวมากิน ให้มันกินมันนอน นี่จ่ายค่าเช่า นี่เราทุกคนๆมันเช่าบ้านอยู่ คือร่างกายเปรียบเหมือนบ้าน เปรียบเหมือนบ้านเปรียยเหมือนบ้านเหมือนเรือนอาศัยอยู่
อันนี้บ้านนี้ก็มาจากไหน ได้มาจากพ่อแม่แบ่งให้ พ่อแม่แบ่งสมบัติให้ นั่นก็มาอาศัยชั่วครู่ชั่วคราว แล้วก็บ้านที่เราอาศัยนั้นก็ไม่เที่ยง อาจจะถูกไฟไหม้ได้ ถูกลมพัดพังได้ ถูกไฟไหม้ ถูกลมมาพัดพังไป หรือถูกพระราชามหากษัตริย์นั้นน่ะมายึดถือเอาไป ยึดเอาไปเหมือนในกรุงเทพทุกวันนี้ เขาทำถนนหนทางไปนั่นไปนี่ บ้านเค้ายึดเอาหมด ปฏิกรรม รื้อหมด เค้าก็ให้หน่อยเดียว เนี่ยรูปร่างกายของเรา
เพิ่นว่าบ้านเช่าข้าวซื้อ ซื้ออันหยังให้มันกินให้มันสุขเข้า กินแล้วก็ไหลเข้าไหลออก พิจารณาเรื่อยไป กินแล้วบ่ได้ขี้ก็จะตาย ขี้แล้วบ่ได้กินก็จะตาย เป็นทุกข์ เลยมาทุกข์น้ำขี้แล้วบ่เน่ คนเราทุกข์เพราะขี้แล้วบ่เน่ คืออาหารนั่นน่ะ เค้าว่าคำภาษิตคำงามก็ว่าอาหาร จะว่าคำตลาดก็ขี้นั่นน่ะ ขี้เก่าขี้ใหม่ ขี้ใหม่ หวงกับขี้ใหม่ หวง ขี้ใหม่นี่หวงขนาด มดมาใกล้ก็ฆ่ามัน ใครมาใกล้ก็ฆ่ามัน หวง แต่ว่าเมื่อกินเข้าไปแล้วบ่เน่ มันจะออก ออกก็มาเป็นทุกข์อีก กินก็หวง รักษากว่าจะได้กิน
กินแล้วถ่ายออก ทุกข์อีก ต้องหาที่เก็บ เป็นทุกข์อีก ต้องหาที่เก็บ ถ่ายออกไปต้องมีที่เก็บ ไม่มีที่เก็บปฏิกูล เหม็นอีก เหม็นขึ้นมาแล้ว ก็เหมือนร่างกายของเราถ้าไม่อาบน้ำ เหม็นแล้ว ปฏิกูล ขี้เหงื่อขี้ไคลไหลออกมา เหม็นตลอด หาความสวยความงามบ่มี หาความสุขความสบายบ่มีในร่างกาย มีแต่เรื่องทุกข์ ทุกข์ตั้งแต่เกิดจนตายนั่นน่ะ (หัวเราะ)
ถ้าเรามาพิจารณาภาวนาอย่างนี้ก็ เอ้ย มันก็ได้พุทโธแล้ว พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ละ ผู้ปล่อย ผู้วาง ไ้ด้ธัมโม ธัมโมก็นิพพิททา เบื่อหน่าย ไม่หวงไม่อาลัยแล้ว สมบัติโลกไปๆหละ อันนี้ก็เป็นเครื่องแก้ ส่วนนิวรณ์น่ะเป็นเครื่องก่อทุกข์ เครื่องสร้างทุกข์ สร้างหม้อนฮก (นรก) สร้างความทุกข์ สร้างความเดือดร้อน จะปิดกั้นความดีไม่ให้เกิดขึ้น เช่นกามฉันทะนิวรณ์ หลงใหลอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส หลงอยู่ในรูปเจ้าของก็เป็นทุกข์ หลงรูปคนอื่นก็เป็นทุกข์อีก เป็นทุกข์ เสียงก็เหมือนกัน หลงอยู่ในเสียง ถ้าเสียงดีก็ชอบ เสียงไม่ดีก็โกรธ กลิ่นก็เหมือนกัน กลิ่นดี ชอบ หอม กลิ่นไม่ดีก็เกลียดชังอีก มีแต่เรื่องแสดงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทั้งนั้นน่ะ
ถ้าเห็นอยู่เนี่ยรู้อยู่เนี่ย มันก็เป็นเครื่องตัด เครื่องตัดกามฉันทะนิวรณ์ ว่ากามฉันทะนิวรณ์เปรียบเหมือนเป็นหนี้ เป็นขี้หนี้ เป็นหนี้ เมื่อมันรู้แล้วก็ไม่เอาหละ ปล่อยหนี้ได้ ใช้หนี้หมด คือเสียสละคืนให้หมดปลดหนี้ไป เมื่อความยึดถือไม่มี ความพยาบาทมันก็ไม่มี มันพยาบาทก็ความยึดถือนั่นน่ะ ยึดถือว่าเขาด่าเรา มีถือว่าเขาด่าเรา ยึดถือว่าเขาอิจฉาเรา เกิดพยาบาทอาฆาตจองเวร ก็มาจากตัวกามฉันทะนั่นน่ะ ความยึดถือ ความหลงอยู่นั่นน่ะ เพิ่นว่า กามฉันทะนิวรณ์เปรียบเหมือนโลภะคือความโลภ โลภ ไม่อิ่มไม่พอ เหมือนทุกวันเนี้ย มีสอง สมองแตก มีสาม บ้านแตก มีสี่ ดีแตก มีห้า หน้าแตก ตีกันฆ่ากันวุ่นวะวุ่นวาย อันนี้เมื่อรู้แล้วพิจารณามันก็แก้แล้ว แก้กามฉันทะนิวรณ์ แก้ความโลภ โลภะความโลภความหลงอยู่ในสิ่งเนี้ย อันนี้จึงว่าให้สร้างอิทธิบาทขึ้น
อิทธิ อิทธิปาทะ แปลว่าเดินเข้าไปสู่ความสุขความเจริญ เดินไปสู่ความพ้นทุกข์ คืออัฏฐังคิกมัคโค (มรรค ๘) ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางเดิน ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางเดิน เดินไปสู่ความพ้นทุกข์ เดินไปสู่ความพ้นทุกข์พ้นภัย อันนี้เพิ่นว่า ฉันทะความพอใจ บัดนี้เราพอใจอยู่ในรูป พอใจอยู่ในกาม พอใจอยู่ในกาม พอใจอยู่ในกิน พอใจอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ก็พลิกกลับมาเนะ พลิกกลับ เอาความพอใจที่ทางโลกมาเป็นทางธรรม เพิ่นว่ากลับสมุทัยให้เป็นมรรค เข้าใจรึ กลับสมุทัยให้เป็นมรรค คือยินดีพอใจในการให้ทาน ยินดีพอใจในการรักษาศีล ยินดีพอใจในการเจริญกรรมฐานภาวนา เป็นมรรคแล้วเป็นหนทางไปสู่ความพ้นทุกข์ นี่หละฉันทะความพอใจ
วิริยะ ความเพียร เพียรให้ทาน เพียรรักษาศีล เพียรเพ่งดูลมเข้าลมออก พุทโธๆ ให้มั่นคง จดจ่ออยู่หน้าอกเนี่ย จิตตะ จิตตั้งมั่น ตั้งมั่นอยู่ในลมเนี่ยแหละ เอาลมเป็นฐานที่ตั้ง จิตตั้งมั่นอยู่ในลม มั่นอยู่ในลม เพิ่นว่ากรรมฐาน เมื่อมั่นแล้วก็ มันก็ยึดมั่นอยู่ในลม มันก็เป็นสมาธิ เกิดเป็นสมาธิ ตั้งมั่นอยู่ในลมเป็นหนึ่ง ไม่แส่ส่ายไปหาภายนอก ไม่แส่ส่ายไปหาลูกหาผัว ไม่แส่ส่ายไปหาลูกหาเมีย ไม่แส่ส่ายไปหาเกาะวัตถุสิ่งภายนอก
เพราะใจของเราเป็นขอ(ตะขอ)เกาะ ใจของเราปุถุชนคนเราเป็นขอเกาะ ไปเกาะอยู่ทุกอย่างหละ เกาะอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส เกาะอยู่ในวัตถุข้าวของ เกาะอยู่นั่น คาอยู่นั่น ไปไหนบ่ได้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าเพิ่นตัดขอออกไป ทำลายขอ ตัดขอออก เหมือนขอเกาะ เพิ่นว่าอุปาทานเป็นเหมือนขอเกาะ ใจอุปาทานมันเป็นขอเกาะ มันยึดอยู่นั่น คาอยู่นั่น ไปบ่ได้ เพิ่นตัดขอ หรือว่ามาตี ขอน่ะมันซื่อ นึกเป็นของอๆ มันดัดแล้วมันซื่อมันตรง ดัดซื่อตรงแล้วก็ไม่ติดแล้ว ไม่เกาะไม่งอ ดึงไปไหนก็ได้
อันนี้เพิ่นว่าแก้นิวรณ์ให้เป็นมรรค เพราะนิวรณ์เป็นเครื่องกั้นทำลายคุณความดี เช่นว่ากามฉันทะนิวรณ์เปรียบเหมือนเราเป็นหนี้ เป็นขี้หนี้ ถีนมิทธะนิวรณ์เปรียบเหมือนคนติดคอกติดตาราง พยาบาทนิวรณ์เปรียบเหมือนคนเป็นไข้ เป็นไข้ได้ป่วยเป็นทุกข์ กุกกุจจะนิวรณ์คือจิตฟุ้งซ่าน ฟุ้งไปนั่นฟุ้งไปนี่ ฟุ้งไปหา จิตฟุ้งไป ผู้ช้ายก็ฟุ้งไปหาผู้หญิง ผู้หญิงก็ฟุ้งไปหาผู้ชายนั่นน่ะ เกาะกันอยู่นี่ ฆ่ากันอยู่นี่เท่านั้นน่ะเรื่องมัน เกาะกันอยู่นี่ ฆ่ากันอยู่นี่ กินกันอยู่เนี่ย ตายกันอยู่เนี่ย สร้างนรกหมกไหม้กันอยู่นี่แล้ว ปลดบ่ได้
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าหัดอยู่นี่หละ หัดปลด หัดละ หัดคา หัดทาน นางพิมพา ทานซะ ไม่เอาแล้ว หนีซะ เพิ่นออกบวชแปลว่าเพิ่นทานแล้ว ทานพิมพา ทานราหุล ทานปราสาท ราชวังออกหมด ปลดหมดเลย บ่มี พ้นทุกข์แล้ว คือคนเรามันทุกข์ก็เพราะบ่ให้ทาน บ่สละ ทานบ่ได้ บ่มีปัญญา ถ้าทานได้ก็ มีความสุขสบาย เหมือนเราได้ทาน ใจมันดี ใจมันสบาย นี่การให้ เพิ่นยังว่าอิทธิบาท
ถีนมิทธะนิวรณ์ กุกกุจจะ นิวรณ์เปรียบเหมือนคนเป็นทาส กุกุจจะแปลว่าจิตฟุ้งซ่านรำคาญ ฟุ้งไม่สงบน่ะ จิตคิดปรุงไปเรื่อย แก่ขึ้นๆก็เป็นโรคประสาท เป็นโรคประสาทเป็นโรคผีบ้า คิดไปอย่างนั้น คิดทางนั้นทางนี้ เลยเป็นทุกข์ หาความสุขบ่ได้
วิจิกิจฉาความลังเลสงสัย พระพุทธเจ้าว่ามรรคผลนิพพานมีจริง สวรรค์มีจริง นรกมีจริง ความดับทุกข์คือศีล สมาธิ ปัญญาเป็นของจริง มันก็ไม่เชื่อ มันไปเชื่อกิเลสเจ้าของ เชื่อแต่กิเลสเจ้าของ ไม่ได้เชื่อ ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้าก็ไปได้ มันเชื่อกิเลส กิเลสน่ะมันชอบอะไร ชอบรูป กิเลสชอบรูป ชอบเสียง ชอบกลิ่น ชอบรส กิเลสมันติดอะไร ติดรูป ติดเสียง ติดรส (หัวเราะ) ติดอยู่ในกามนั่นแหละ หลงอยู่ในกาม กินอยู่ในกาม ทุกข์อยู่นั่นแหละเรื่อยไป วุ่นวะวุ่นวาย
ไอ้นั่นเป็นมหาทาน เสียสละทาน จาโค จาคะ เสียสละ เมื่อทานได้ก็เป็นสุข ทานได้สละได้ก็เป็นสุขสบาย ไม่มี ทานออกแล้ว ไม่มี เมื่อไม่มีมันก็ไม่ทุกข์ มันทุกข์เพราะมันมี แต่ว่าโลกเค้าว่ามี“มี”มันความสุข พระพุทธเจ้าว่า “มี” เป็นทุกข์ ตรงกันข้ามแล พระพุทธเจ้ารู้ว่าความมีเป็นทุกข์ เช่นพระพุทธเจ้ามีปราสาทราชวังก็เป็นทุกข์ มีนางพิมพาก็เป็นทุกข์ มีราหุลก็เป็นทุกข์ มีปราสาทราชวังก็เป็นทุกข์ มีบ้านมีเมืองก็เป็นทุกข์ ต้องดูแลรักษา เขาจะมารบมาฆ่า เป็นทุกข์ตลอด
เหตุนั้นเพิ่นถึงเสียสละ ไม่มีอะไรซักอย่าง ไปนั่งภาวนาอยู่ในป่าคนเดียวไม่เกี่ยวข้องใคร มันสุขสบาย สุขหนอๆๆ เป็นสุคโตแล้วบ่นี่ ก็เลยเป็นสุคโต พระพุทธเจ้าได้สุคโต ไปดี คือไม่ห่วง ไม่อาลัย ไม่ยึดถือ รูปร่างกายพระองค์ก็ไม่ยึด ไม่ถือ มาอยู่มาอาศัยชั่วคราว รู้อยู่ แต่รู้อยู่ ปล่อย อยู่ด้วยความไม่ยึดถือ อาศัยความไม่ยึดถือ ไม่หลง มันก็ไม่ทุกข์ ถ้าอาศัยด้วยความยึดถือ ความหลง ก็เป็นทุกข์
เปรียบเหมือนอยู่ถ้ำพระสบาย เครื่องใช้ไม้สอยไม่ถือว่าเป็นของเรา เป็นของสงฆ์เป็นของกลาง มันก็เลยไม่ทุกข์ แตกก็แตกไป มันของกลาง ไม่ใช่ของเรา มันก็ไม่ทุกข์ ถ้าถือเป็นของเรา โหย ทุกข์แล้วบ่นี่ ภัยมาทุกข์ เกิดโกรธขี้นมาโมโห ตีฆ่ากัน เพราะมายึดถือว่าเป็นของเรา ถ้าไม่ถือว่าเป็นของเรา ก็ไม่ทุกข์ ใจเป็นกลางวางเฉย
อันนี้แปลว่าพิธีแก้นิวรณ์เพิ่นว่า แก้นิวรณ์คือฉันทะความพอใจ วิริยะความเพียร เพียรละบาป เพียรละบาปออกจากใจ เพียรทำคุณงามความดีให้เกิดมีขึ้น เพียรรักษาความดีให้มีขึ้นอยู่ได้ เพียรละกิเลสที่มีอยู่แล้วให้หมดไป เพียรไม่ให้กิเลสข้างนอกเกิดขึ้น นี่คือความพากความเพียร สติปัฏฐานสี่ มีความเพียร มีความหมั่น คือรักษา แต่ไม่ติด ไม่หลง มันก็เลยไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อน มันรู้แล้วมันไม่ทุกข์ ตายก็ตายไป แตกมันแตกไป พอมันรู้เราก็ปล่อยวางได้ ปล่อยวางได้ก็เป็นสุข ถ้าไม่รู้หละเป็นทุกข์
ยกตัวอย่างเรานั่งภาวนาน่ะ แล้วไปยึดถือว่าขา มันก็ปวดขา ไปยึดถือว่าเอว เอวเป็นของเราก็เป็นทุกข์ ปวดเอว ถือว่าขาเป็นของเราก็เป็นทุกข์ ปวดขา ขาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขา เป็นก้อนธาตุ เป็นก้อนดิน เป็นก้อนธาตุของปฏิกูลสูญเปล่า ไม่ยึดไม่ถือ ปล่อยวางสบาย ไม่เจ็บอ้ะ ไม่เดือดร้อน อันนี้เพิ่นว่าแก้นิวรณ์ เครื่องแก้มันน่ะ แก้นิวรณ์ถอนกิเลส เหตุแห่งความทุกข์ให้หมดไปสิ้นไป
อันนี้เป็นอุบายคำสอนของพระพุทธเจ้า เพิ่นแสดงธรรมเทศนา ตรัสธรรมเทศนาไว้ให้แก่พวกเราสาธุชนพุทธบริษัท นำไปประพฤติปฏิบัติ กำจัดกิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลง อวิชชาตัณหาออกจากใจก็เป็นสุขแล้ว สบายเป็นสุคโตแล้ว ไปไหนก็เป็นสุข นอนก็เป็นสุข กินก็เป็นสุข เป็นสุคโตอย่างพระพุทธเจ้า เป็นสุขตลอด แล้วก็ยิ้ม พระพุทธเจ้าไม่ยุ่งนะ ยุ่งไม่มี มีแต่ยิ้ม พระพุทธเจ้าไม่มีคำว่ายุ่ง มีแต่ยิ้ม ยิ้มแย้มแจ่มใส จนความยุ่งไม่มี เพราะอะไร เพราะกิเลสมันพายุ่ง เมื่อละกิเลสได้แล้ว ยุ่งก็บ่มี บ่ทุกข์ ใจเย็นสบาย ฉะนั้นพระพุทธเจ้าไม่มีคำว่ายุ่ง มีแต่ยิ้ม ยิ้มแย้มแจ่มใส ใจเบิกบาน ผ่องรัศมีส่องงาม พระพุทธเจ้านั้นน่ะไม่มาโห่เฮๆฮาๆเหมือนเราแบบนี้หรอก เฮิกเฮยๆ บ่มี ไม่มี ความเพลิดเพลินหลงใหลไม่มี มีแต่ยิ้ม มีเหตุก็ยิ้มเสีย ไม่มีเหตุก็เฉย มีเหตุก็ยิ้ม ยิ้มพระโอษฐ์ ยิ้มพระโอษฐ์
เหมือนพระอานนท์ติดตามพระพุทธเจ้าไปบิณฑบาตเมืองราชคฤห์ ติดตามบิณฑบาตเมืองราชคฤห์ ไปเห็นหมู นางสุกรภูตา หมู มันมากราบไหว้พระพุทธเจ้า หมูตัวนั้นน่ะ มากราบไหว้พระพุทธเจ้า (หัวเราะ) แล้วมันก็ยิ้ม พระอานนท์ก็ทูลถาม ข้าแต่สมณโคดมบรมนาถศาสดา เพราะเหตุอันใด พระพุทธเจ้าก็ เอ้อ นางคนนี้แต่ก่อนเป็นลูกพระราชามหากษัตริย์ ไปเจริญฌาน ได้ปฐมฌาน ตายแล้วไปอยู่พรหมโลกอยู่หลายร้อยปี พ้นอายุหมดในพรหมโลกแล้วมาเกิดเป็นหมู (หัวเราะ) ชื่อว่านางสุกรภูต มาเกิดเป็นหมูนี่แหละ
นี่การเวียนว่ายตายเกิด ตายจากหมูจะไปเกิดเป็นหมาอีก ตายจากหมาจะไปเกิดเป็นแมวอีก แล้วก็มาเกิดเป็นคนสลับกันไปกันมา เกิดเป็นคนด้วย บำเพ็ญภาวนา เกิดเป็นหมูเป็นหมา ก็อยู่ไปตามกรรม ๑๒ ชาติ อินทรีย์แก่กล้า ก็ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์เข้านิพพานพ้นทุกข์ อันนี้เป็นปฏิปทา ผู้อบรมอินทรีย์บารมี
เหตุนั้นจึงว่าพวกเราโชคดีวาสนาดีแล้ว จงทำความปีติพอใจยินดี สมาทาน ยึดมั่นเอาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยึดมั่นเอาคำสอนพระพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา เอามาปฏิบัติ อามิสบูชาบ้าง ปฏิบัติบูชาบ้าง จนรู้แจ้งเห็นจริง รู้แจ้งเห็นจริง รู้จริงเห็นแจ้ง รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง ความจริงร่างกายของเราเป็นของปฏิกูล เป็นของปฏิกูล อสุภะ อสุภัง เป็นของบ่งาม ของปฏิกูล เป็นก้อนขี้ก็ว่าได้ เพราะไหลมาซึ่งขี้ ขี้หู ขี้ตา ขี้เหงื่อ ขี้ไคล เมื่อมันเห็นแจัง มันก็ปล่อยวางได้ ปล่อยความยึดถือ ความหลงความใหลได้ ใจเป็นกลางไม่รักไม่ชัง รักก็ไม่รัก ชังก็ไม่ชัง ไม่ยึดไม่ถือ ใจเป็นกลางวางเฉย มัชฌิมาปฏิปทา ตถาคโต ก็สบายแล้ว
ฉะนั้นอุบายธรรมะที่เล่าสู่กันฟังวันนี้ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ต่อไปก็นั่งพิจารณากำหนดอ่านดูจากสิบห้านาทีค่อยเลิก