Skip to content

เตรียมใจให้ดีในนาทีวิกฤต

หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ณ บัดนี้อาตมาจะได้แสดงธรรมีกถาพรรณหาคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อจะได้เป็นเครื่องประดับสติปัญญาเพิ่มพูนความรู้ ความฉลาดของพุทธบริษัททั้งหลายที่ได้มาประชุมพร้อมกัน 

การแสดงพระธรรมเทศนานั้นถือว่าเป็นธัมมสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม หรือเรียกว่าบุญสำเร็จด้วยการฟังซึ่งธรรม ผู้แสดงก็ได้บุญ ผู้ฟังก็ได้บุญ ทำไมจึงได้บุญ เพราะว่าการฟังนั้นทำให้จิตใจเยือกเย็น การแสดงนั้นต้องตั้งใจให้ดีจึงจะแสดงได้ เพราะฉะนั้นบุญจึงเกิดขึ้นด้วยกันทั้งสองฝ่าย ผู้แสดงก็ได้บุญ ผู้ฟังก็ได้บุญ 

บุญนั้นคืออะไร บุญนั้นคือสิ่งทำให้สำเร็จประโยชน์ สิ่งใดที่อำนวยประโยชน์ให้แก่ตัวของเราชื่อว่าบุญ บุญคือความดีอย่างหนึ่ง อำนวยประโยชน์ในทางดี เมื่อเราต้องการสิ่งใดนั้น ไม่มีบุญ เราก็ไม่ได้ แต่เมื่อเรามีบุญเราก็ได้ คนเราเกิดขึ้นมานี้ แข่งเรี่ยวแข่งแรงพอแข่งได้ แต่จะมาแข่งบุญแข่งวาสนา แข่งกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นผู้ทำบุญไว้มาก ก็ได้สิ่งที่ตนต้องการ หรือเรียกว่าสิ่งที่เป็นเครื่องอำนวยประโยชน์ให้แก่ตัวของเราเป็นส่วนดีนั้นมาก ใครทำบุญไว้น้อยก็ได้รับประโยชน์ อำนวยประโยชน์ได้น้อย 

เมื่อเป็นเช่นนั้นบุญจึงต้องพากันทำให้มาก เพราะการทำให้มากนั้น รวมตัวกันเข้าแล้วสามารถเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ สามารถเป็นเศรษฐีคฤหัสบดีได้ สามารถปรารถนาสิ่งใดก็ได้ อย่างนี้เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็จะต้องเลือก คือเลือกเอาว่าเราจะทำบุญอย่างไร วันนี้เราจะทำอะไร วันต่อไปเราจะทำอะไรเกี่ยวกับบุญ 

บุญนั้นไม่ใช่ว่าเราจะต้องมีเงินแล้วจึงจะทำบุญได้ มีร่างกายกับใจก็ทำบุญได้ อย่างเรารักษาศีลอย่างนี้ ศีลก็ถือว่าเป็นบุญ เรารักษาศีล ๘ อย่างนี้ก็เป็นบุญ ผู้รักษาศีล ๑๐ ๒๒๗ ก็ถือว่าเป็นบุญ เรียกว่าเรากำลังทำบุญ อย่างพระบวชมานับตั้งแต่ ญัตติจตุตถกรรมเสร็จ ท่านก็ได้บุญแล้ว แล้วอยู่ต่อไปกี่ปีก็ได้บุญอีกมาก อย่างท่านทั้งหลายญาติโยมพากันรักษาศีล ๕ วันนี้ก็รักษา เมื่อวันก่อนก็รักษา เมื่อปีก่อนก็รักษา มาถึงวันนี้ก็ยังรักษาอยู่ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นบุญ บุญมาก ศีลนั้นแม้จะมีเล็กน้อย แต่ถ้าทำให้มาก อานิสงส์บุญก็มาก 

ถ้าเราอยู่บ้านเปล่าๆไม่ได้ทำอะไร เรานึกพุทโธคำนึง สองคำ ร้อยคำ พันคำ นั่นก็เรียกว่าบุญ เรียกว่าภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการภาวนา อย่างเรารักษาศีลนี่ ถือว่าเป็นสีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล อย่างเราพากันสวดมนต์ นี่เค้าเรียกว่าภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการภาวนา เราจะทำวัตรเช้า เราจะทำวัตรเย็น หรือเราจะนั่งสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ อย่างที่เราพากันบวชชีประจำปีทุกๆปีนั้น เราก็สวดอิติปิโส สวากขาโต สุปฏิปันโน ทั้งกลางวันกลางคืน นั่นแหละคือตัวบุญ 

บางคนยังคิดว่าไปบวชชีวัดธรรมมงคล สวดอิติปิโสท่าเดียว อ้าว ก็เราต้องการบุญนี่ ในเมื่อเราสละมาแล้ว กิจการบ้านเรือน เรามาบวชสามวันสามคืน มันก็ต้องสวดทั้งสามวันสามคืน เอาบุญไปให้ได้ ท่านทั้งหลายต่างคนต่างพากันมาบวชแล้ว กลับคืนไปดีอกดีใจ ชื่นอกชื่นใจ เพราะอะไร เพราะว่านับตั้งแต่มาถึงจนกระทั่งกลับ อิติปิโส ตะพึดตะพือเลย เรียกว่าเอาบุญทุกลมหายใจเข้าออก ไม่ต้องให้เสียเวลาแม้แต่น้อยอย่างนี้เป็นต้น หรือว่าเราพากันนั่งอยู่ เค้าก็สวด เราก็ฟัง คนสวดก็ได้บุญ คนฟังก็ได้บุญ 

นี่เรียกว่า ว่ากันถึงเรื่องบุญ วันนี้พูดกันถึงเรื่องบุญ เอากันให้เต็มที่ว่าอะไรมันเป็นบุญกันนัก โยมมาถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระเจ้าพระสงฆ์ก็เป็นบุญ โยมตักบาตรทุกวันๆก็เป็นบุญ โยมรักษาศีล ๕ อยู่ทุกวันๆก็เป็นบุญ โยมบริจาคทาน มีเงินมีทองมีข้าวมีของบริจาคตามศรัทธา ถวายพระมหาเจดีย์บ้าง สร้างวัดวาอารามบ้าง ถวายอาหารบิณฑบาตบ้าง เรียกว่าเป็นบุญทั้งหมด 

ในที่สุดถ้าเรานอนหลับไป นึกพุทโธจนกระทั่งหลับ ก็เรียกว่าหลับด้วยบุญ ตื่นขึ้นมานึกพุทโธอีก อ้าว ก็เรียกว่าตื่นขึ้นมาเอาบุญ ตั้งแต่ยังไม่ต้องล้างหน้าก็ได้บุญแล้ว เวลาจะนอนหลับไป ไม่หลับเฉยๆ หลับบุญไปด้วย เวลาตื่นขึ้นมาก็ไม่ตื่นเฉยๆ ตื่นขึ้นมาเอาบุญอีกด้วย เรียกว่าเอาบุญกันยังขี้ตายังอยู่ในตาแหละ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำได้มากๆอย่างนี้ ก็เรียกว่าบุญมาก เมื่อเวลาไปเกิดในที่ใดที่หนึ่ง บุญเหล่านี้ก็เรียกว่าตามส่ง ตามส่งให้เราได้รับความดี ความสุข ความสบาย 

ความดี ความสุข ความสบายเราก็อยากได้ เวลาเราได้เงินก็อยากจะได้เยอะๆ แต่มันก็ไม่ได้ เพราะว่าบุญแค่นั้น เราทำมาแค่นั้นมันก็ได้แค่นั้น มันจะไปเอามากกว่านั้นมันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราในชาตินี้เรารู้แล้ว ในชาตินี้เราก็ต้องทำ โอกาสใดมีแก่เรา เราต้องทำ 

คนเรามันมีอะไรอยู่อย่างนึงนะ ที่สำคัญที่สุดก็คือการเข้าที่คับขัน เวลาที่เข้าที่คับขัน โยมจะทำยังไง อย่างสมัยที่อาตมาไปเที่ยวธุดงค์ ไปเจองูเข้า เวลาคับขันขึ้นมาทำไง นั่งขัดสมาธินึกแต่ ตายๆ หรือว่านึกพุทโธ เอาบุญซะก่อนจะตาย เรียกว่าเวลาคับขัน ถึงเวลาที่ญาติโยมทั้งหลายเดินทางไป เกิดรถมันจะหกขะเมนเข้า เข้าที่คับขัน เราต้องทำยังไง จับอะไรไว้ก่อน ต้องมีที่จับไว้ก่อน ถ้าหากว่าเวลาคับขันแล้ว เราไม่หาอะไรจับ เราก็แย่ 

สมัยเมื่ออาตมานำพระธาตุไปเชียงใหม่ เพื่อที่จะถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทอดพระเนตรในครั้งแรก ไปทางรถไฟ รถไฟมันคว่ำ แต่มันไม่ถึงคว่ำ มันตะแคงไป มันก็เข้าที่คับขัน แล้วทำยังไง ก็ต้องรีบจับพนักอะไรไว้ก่อน ก่อนหัวมันจะฟาดลงพื้น อย่างนี้เรียกว่าเวลาเข้าที่คับขัน อย่างที่เราพากันอยู่บ้านอย่างนี้ บางทีก็มีสิ่งที่เราจะต้องถึงเวลาคับขันเยอะแยะจนเค้าเรียกว่านาทีวิกฤต เหมือนว่านาทีที่สยดสยอง บางทีรถวิ่งถึบๆขึ้นมา เหยียบไปเลย เราเกือบตายไป ขาขาด แขนขาด เค้าเรียกว่านาทีวิกฤต 

ตัวของคนเรานั้นมีนาทีวิกฤตอยู่นาทีนึง คือนาทีที่จะหมดลมหายใจ ตอนไหนที่ตอนมันจะหมดหายใจ ตอนนั้นน่ะ เรียกว่านาทีวิกฤตสำหรับชีวิตของแต่ละคนๆ ให้พากันเข้าใจเถิดว่า เมื่อถึงนาทีนั้นขึ้นมาเมื่อไร เราจะยึดอะไรไว้ได้ เราจะต้องถามตัวเราว่า ถ้านาทีวิกฤตอันนั้นมาถึงเรา เราจะยึดอะไรไว้ได้ เราจะไปยึดเงินทองข้าวของ เราจะไปยึดภรรยาสามี เราจะไปยึดลูกหลาน ไม่ได้ทั้งสิ้น ถ้าเราไปยึดสิ่งนั้นเมื่อไร เราจะต้องเป็นผู้แพ้ เราไปยึดเงินทอง เราก็ไปเกิดเป็นเปรต เรียกว่าเปรตงูเหลือม หรือว่าไปเกิดเป็นเปรตตะขาบอะไรเหล่านี้ นอนเฝ้าทรัพย์ แล้วมันจะดีอะไร หรือเราคิดถึงลูกถึงหลาน เดี๋ยวก็มาเกิดเป็นจิ้งจกตุ๊กแก ลูกหลานมันไม่รู้ มันก็ไล่ตีเอา อย่างนี้เป็นต้น ก็ไม่ได้ นึกอย่างนั้นไม่ได้ 

เมื่อนาทีวิกฤตมา เราต้องนึกถึงบุญ บุญเราทำอะไรมั่ง เราทำพระมหาเจดีย์นี่ สูงที่สุดในประเทศไทยนี่ที่วัดธรรมมงคลฉันได้ทำ ฉันทำแล้วเท่านั้นเท่านี้ ฉันนึกได้เพราะว่าเจดีย์มันใหญ่มันนึกง่าย ก็เลยนึกได้ คนนั้นก็เลยได้ไปสวรรค์เป็นอย่างนั้น เรียกว่านึกความดีได้ ดีกว่าไปนึกสิ่งที่มันจะต้องเกี่ยวข้องกังวล หรือว่าเรานึกว่าเรารักษาศีล รักษาศีลเมื่อวันพระ เรานึกได้เพียงเท่านี้ เราก็ไปสวรรค์แล้ว หรือเรานึกว่า วัดธรรมมงคลเค้ามีบวชชี ฉันไปบวชตั้ง ๙ ครั้งแน่ะ นึกได้ก็ได้ไปสวรรค์แล้ว อย่างนี้เรียกว่านาทีวิกฤต 

ถ้านาทีวิกฤตนั้นดันไปนึกถึงสิ่งที่ไม่ดีเข้า ไอ้ความดีก็เลยหายไปก่อน เอาไว้ทีหลัง ต้องไปรับกรรมที่ไม่ดีก่อน เมื่อสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ท่านทำบุญถึง ๙ ล้าน ๙ โกฏิ แต่พอเวลาจวนที่ท่านจะถึงแก่สวรรคต ท่านขอเงินจากพระมเหสี ๔๐๐๐ กหาปณะ ว่าฉันจะทำบุญครั้งสุดท้าย พระมเหสีก็เลยบอกว่า ก็เมื่อท่านจะตายแล้ว แล้วทีนี้จะมาเอาเงินฉัน ต่อไปฉันจะเอาที่ไหนใช้ ฉันไม่ให้หรอก เท่านั้นเอง โกรธแล้ว เอามีดมาๆ หั่นคอมัน เลยสิ้นใจสวรรคต ไปเกิดเป็นงู ทีนี้ทางฝ่ายผู้ที่ยังอยู่ เค้าบอกว่าคอยฟังนะ เวลาพระเจ้าอโศกเค้าจะสิ้นลมน่ะ ก่อนที่ท่านจะตายเค้าบอกว่า คอยฟังนะ ฉันไปถึงสวรรค์แล้ว ฉันจะไปตีกลองให้มันดังมาถึงเมืองมนุษย์ ว่างั้น คอยฟังก็แล้วกัน ที่ไหนได้ ไปเกิดเป็นงูซะแล้ว 

ทำไมถึงว่าไปเกิดงูเล่า ก็เพราะว่าโมโหอ่ะ อีตอนที่จะสิ้นลม ขอเงินเข้าไปทำบุญ ๔๐๐๐ ไม่ได้ หนอยแน่ะ แต่ก่อนฉันให้เธอตั้งไม่รู้กี่หมื่นกี่แสน คราวนี้จะขอเธอแค่ ๔๐๐๐ มาทำบุญซักหน่อยไม่ได้ ต้องหั่นคอมันแล้ว โกรธเต็มที่เลยสิ้นลมอย่างเนี้ย ก็ต้องไปเกิดเป็นงู ทีนี้ทางฝ่ายราชโอรส เมื่อพระราชบิดาสวรรคตก็จึงได้เล็งญาณดูว่า เอ๊ พ่อเราไปเกิดที่ไหน พระราชบิดาไปเกิดที่ไหน พิจารณาไป อ้าว แล้วกัน เป็นงูอยู่ที่ถ้ำ แผ่หากินปลาอยู่นั่น เลยต้องไปแนะนำสอนงู บอกว่าให้จำศีลซะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อย่าได้กินสัตว์ตัวเป็นเป็นอันขาด งูนั้นก็เลยจำศีล ๕ แล้วก็สิ้นใจ เที่ยวนี้ก็เลยเกิดเป็นเทวดาเทวบุตรอยู่ในชั้นสวรรค์อย่างนี้ 

เพราะฉะนั้นนาทีวิกฤตหมายถึงว่า เราจะมีหนึ่งนาทีที่เราไม่หายใจ นาทีนั้นเราจะสิ้นใจทันที เค้าเรียกว่านาทีวิกฤต เหมือนอย่างครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ น่ะ ลูกระเบิดมันตกตูมลงมา นาทีวิกฤตวิ่งกันขนาดหนัก ฉวยอะไรไม่ได้ โยมคนนึงต้องตำหมากกินทุกวันๆนี่ เลยฉวยได้แต่ตะบัน สากลืม วิ่งแต่ตะบันไป นั่นหมายความว่าสติขาด บางคนฉวยได้หม้อ ลืมข้าวสารอย่างนี้ เพราะว่าเสียงปืนใหญ่มันมาแล้ว แต่ทีนี้ถ้าหากว่าคนไหนมีสติ เขาก็เอาไปได้หมด ไม่ว่าจะเป็นข้าวสารหม้อหรือว่าสิ่งต่างๆ เก็บเอาไปเพื่อที่ไปเป็นเสบียงได้อย่างนี้ เหมือนกับเรานาทีวิกฤต เราไม่รู้เราจะไปนึกอะไร นึกอะไรเราก็นึกไม่ได้ มันถึงคราวจะสิ้นลมแล้วนึกไม่ได้ อย่างนี้มันน่ากลัว น่ากลัวมาก 

เราท่านทั้งหลายต้องระวัง ต้องมีสติไว้ ต้องเตรียมไว้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เผื่อที่ว่าเมื่อถึงคราวแล้ว เราจะได้แก้ไขตัวของเราทัน เรียกว่านาทีวิกฤตนั้น เราได้แก้ไขแล้ว เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงแนะนำพวกเราไว้ว่า อัตตโน โจทยัตตานัง (อตฺตนา โจทยตฺตานํ) จงเตือนตนด้วยตนเอง พระพุทธเจ้าสอนไว้ให้เราเนี่ยเตือนตัวเราเอง เพราะว่าการเตือนตัวเราเองนั้นเตือนได้ทุกนาทีชั่วโมง คนอื่นเค้าเตือนเรานั้น นานๆเค้าก็จะเตือนเราได้ทีนึง นานๆก็จะได้ฟังเทศน์ทีนึง นานๆเราถึงจะวันพระนึงบ้าง หรือว่าหลายๆวันพระบ้าง อะไรเหล่านี้ แล้วเราก็ลืมบ้าง ได้บ้างเสียบ้าง ส่วนเราเตือนตัวเราเองนั้น เราเตือนได้ทุกวัน เตือนว่าวันนี้ทำบุญอะไร ใส่บาตรหรือ วันนี้ทำบุญอะไร รักษาศีล ๕ หรือวันนี้ทำบุญอะไร ภาวนาพุทโธหรือ วันนี้ทำบุญอะไร บริจาคทานแก่คนยากจนหรือ อย่างนี้เป็นต้น เราก็เตือนเราได้อยู่ตลอด เตือนตัวเราเอง 

ถ้าเราไม่เตือนตัวเราเอง ถึงนาทีวิกฤต รอให้คนอื่นเค้ามาเตือน มันไม่ทันเตือนหรอก เราก็จะต้องไปทางไหนซะแล้ว มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเรานี้มีความหวังดี คือตนเป็นที่รักของตนแล้วไซร้ เราก็จะต้องรักษาตนให้ดี อตฺตานญฺเจ ปิยํ ชญฺญา อตฺตานํ สุรกฺขิตํ ซึ่งแปลเป็นใจความว่าถ้าตัวเราเป็นที่รักของตัวเราแล้วไซร้ เราก็จะต้องรักษาตัวเราให้ดี การรักษาตัวเราให้ดีนั้นไม่ใช่ว่า เราขึ้นไปปะแป้งแต่งตัวแล้วก็อยู่บนชั้นปราสาท ปิดประตูหน้าต่างนั่งสบายอยู่บนนั้น อย่างนั้นไม่ใช่ว่ารักตัว ไอ้อย่างนั้นไม่ใช่ว่ารักษาตัวให้ดี 

หลักการรักษาตัวให้ดีนั้น ถ้าใครรักตัวแล้วจริงนี่ เราต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา ทานศีลภาวนาให้มีแก่ตัวของเราอยู่ตลอด ไม่ว่าเราจะไปไหน ทำอะไร เราก็ต้องคิดถึงความดีของเราไว้ เพราะว่าการเป็นที่พึ่งนั้น ตัวเราต่างหากที่เป็นที่พึ่งของตัวเราเอง คนอื่นจะมาเป็นที่พึ่งของเราย่อมไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าในขณะนี้เรารู้จักเตือนตัวเราเองนี่ เราจะนั่งสมาธิได้เยอะ ถ้าเราไม่รู้จักเตือนตัวเราเอง ก็คุยกันได้เยอะ สมาธิก็ได้น้อย ถ้าเรารู้จักเตือนตัวเราเอง เราก็คุยไม่เยอะ แต่ว่านั่งสมาธิเยอะอย่างนี้เป็นต้น 

เพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสแล้วว่า 

ทานํเทติ การให้ทาน 

สีลํรกฺขติ การรักษาศีล 

ภาวนํภาเวตฺวา การเจริญภาวนา ทั้งสามประการนี้ 

เอกจฺโจ อันว่าคนบางพวก 

สคฺคํ คจฺฉติ ก็ย่อมจะต้องไปสู่สวรรค์ 

เอกจฺโจ อันว่าคนบางพวก 

โมกฺขํ คจฺฉติ ก็จะต้องไปสู่พระนิพพาน 

นิสฺสํสยํ ติ ข้อนี้ไม่ต้องสงสัย 

ท่านว่าอย่างนั้น คือคนบางพวกจะได้ไปสู่สวรรค์ บางพวกจะได้ไปสู่พระนิพพาน เพราะเหตุคือการให้ทาน รักษาศีล และภาวนา 

เพราะฉะนั้นในพรรษาในการที่พวกเราพากันตั้งอกตั้งใจกระทำกันอยู่นี่ จงพากันใช้ความอดทน จงพากันใช้ความบากบั่นอุตสาหะ จงพากันใช้ความเพียรวิริยะให้ประกอบพร้อมในตัวของเรา เราไม่ต้องไปหวั่นไหวต่อสิ่งอื่น จะเป็นโลกธรรม ๘ โลกธรรม ๑๐ โลกธรรมอะไร ตำหนิติฉินอะไรก็ช่างหัวใคร แต่เราสร้างความดีไปตะพึดตะพือนัง ไอ้คนที่จะมาว่าเรานี่ เราเป็นคนก็จะมาว่าเราเป็นหมา มันก็เป็นหมาไม่ได้ มันก็พูดผิด อย่างนี้เป็นต้น ก็ไม่ต้องไปหวั่นไหวอะไร เราใช้ความอดทน ใช้ความต่อสู้ ปฏิบัติไป ไม่ต้องฟังอะไรทั้งสิ้น เพราะว่าทุกคนต่างคนต่างเป็นที่พึ่งของตนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราท่านทั้งหลายจงพากันคิดให้ดี ว่านาทีวิกฤตที่มันจะเกิดขึ้นกับชีวิต นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องพบมันมาแน่นอน