Skip to content

ฝึกพลังจิต ฝึกสมาธิ ด้วยตนเอง

หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาหงายทับมือซ้ายวางไว้บนตัก นึกพุทโธในใจ กำหนดใจไว้ที่ใจ ใจของเราอยู่ที่หัวอกเบื้องซ้าย กำหนดใจลงไปที่ตรงนั้น นึกพุทโธลงไปที่ตรงนั้น แต่เมื่อจิตสงบแล้ว จิตรวมแล้ว พุทโธก็ไม่ต้องนึก กำหนดจิตไว้เฉยๆ ให้ธรรมะนี้เข้าทางหูรู้ถึงใจ ธรรมะจะหลั่งไหลเข้าสู่ใจเอง 

เพราะว่าธรรมะนั้นเป็นสิ่งละเอียดอ่อน ใจของเราก็เช่นเดียวกันเป็นสิ่งละเอียดอ่อน เมื่อธรรมะเข้าถึงใจ ใจก็สามารถที่จะรองรับเพราะว่าใจของเรานั้นใหญ่ โลกที่ว่าใหญ่ยิ่ง ก็เรียกว่าวัดผ่าศูนย์กลาง ไม่รู้ว่ากี่หมื่นกี่ล้านกี่แสนไมล์อย่างนี้ ก็ยังไม่ใหญ่เท่าใจของเรา ทำไมใจของเราจึงใหญ่ ถ้าเรามองดูแล้ว ไม่เห็นมันจะใหญ่ตรงไหน ก็เท่าดอกบัวตูมเล็กๆอยู่ในร่างกายของเรานี้ แต่ว่าที่ว่าเล็กๆอยู่ในร่างกายของเรานี้ก็เรียกว่า หทัยวัตถุ ไม่ใช่ใจ มันเป็นหทัยวัตถุ มันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ส่วนใจนั้น ไม่ได้อยู่ที่หทัยวัตถุ ถ้าเราพิจารณาดูแล้ว ใจของเรานี้ ใจของมนุษย์นี่นึกไปแล้วมันจะใหญ่กว่าโลกที่เราอาศัยอยู่นี่หลายเท่าตัว 

เพราะฉะนั้นใจของเราจึงเรียกว่าสามารถรองรับธรรมะของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าเหนือจักรวาล จักรวาลนี้จะมีโลกสักร้อยโลก พันโลก มันก็ยังไม่เท่ากับธรรมะของพระพุทธเจ้า ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นกว้างใหญ่ไพศาล ครอบคลุมหมดทั้งจักรวาล แต่นั่นแหละ แม้จะใหญ่โตเพียงใด ก็จะต้องย่อลงมาอยู่เหลืออันนึงเรียกว่า เอโก ธัมโม หรือธรรมดวงเดียว พระพุทธเจ้าที่จะทรงตรัสรู้นั้น พระองค์ตรัสรู้ก็เพราะพระองค์ได้ย่อลงมาหมดแล้ว ย่อลงมาจนกระทั่งเหลือหนึ่ง 

ถ้ายังไม่ย่อ ไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ ไม่ว่าสิ่งใดทั้งหมด เหมือนกับอาหารอยู่ในนาหรือข้าวอยู่ในฉางในยุ้ง มากมายเหลือเกิน จะต้องค่อยย่อลงมา จากนาหลายร้อยหลายพันไร่มาอยู่หนึ่งฉาง จากหนึ่งฉางมาอยู่หนึ่งกระสอบ จากหนึ่งกระสอบก็มาอยู่หนึ่งหม้อ จากหนึ่งหม้อก็มาอยู่หนึ่งจาน จากหนึ่งจานก็มาอยู่หนึ่งช้อน คราวนี้ถึงจะสำเร็จ สำเร็จเข้าปากของเราได้ นี่ต้องย่อจากหลายร้อยหลายพันไร่ แล้วก็มาอยู่หนึ่งช้อน แล้วก็เข้าไปในปาก คราวนี้ก็เกิดความอิ่ม แล้วใครเล่าที่จะไปทานหรือไปรับประทานนาตั้งพันไร่ หรือจะไปทานข้าวเข้าปากเที่ยวนึงตั้งเป็นฉางยุ้ง หรือว่ากระสอบนึง หรือว่าหม้อนึงก็เอาเข้าไปไม่ได้ แต่ก็จะเข้าได้ก็ต่อเมื่อย่อลงมาเหลือหนึ่งช้อน 

พระพุทธเจ้านั้นพิจารณาถึงรอบขอบจักรวาลทั้งสิ้นกว้างใหญ่ไพศาล พระองค์ก็ได้ทรงย่อลงๆ จนกระทั่งเหลือความเป็นหนึ่ง ถ้าเราคิดถึงอารมณ์ของบุคคล ความนึกคิดของบุคคลนี่ อย่าว่าแต่โลกเลย นอกโลกมันก็คิดไปได้ แต่ในที่สุดนั้นพระพุทธเจ้าพระองค์ได้ทรงย่อลงมาเหลือความเป็นหนึ่ง เมื่อย่อลงมาเหลือความเป็นหนึ่งแล้ว ที่นี้ก็เกิดกระแสเรียกว่าเกิดกระแสอัด กระแสแรง ย่อลงมาเหลือหนึ่งแล้วมันจะแรงขึ้น 

เพราะฉะนั้นพระองค์จึงได้ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ อิทธิปาฏิหาริย์นั้นทรงแสดงได้ทุกอย่างทุกประการไม่ว่าจะเหาะเหินเดินอากาศ หรือไม่ว่าพระองค์จะแสดงอย่างใดๆนั้นก็สามารถแสดงได้ เพราะว่าพระองค์ย่อลงมาเหลือความเป็นหนึ่งนั้น เกิดพลังจิตเป็นอันมาก ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงได้แนะนำสาวกทั่วๆไป ว่าใครอยากได้ของดี ใครอยากได้ความบริสุทธิ์แล้วให้ย่อลงมาเหลือความเป็นหนึ่ง พระองค์ทรงตรัสว่าเมื่อย่อลงมาเหลือความเป็นหนึ่งแล้วมันจะเกิดสิ่งหนึ่งขึ้นมา สิ่งนั้นคือความบริสุทธิ์ 

ความบริสุทธิ์นั้นแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ย่อลงมาเหลือนิดเดียว แต่ว่าคุณภาพนั้นยิ่งกว่าของใหญ่ๆ เราลองเอาก้อนกรวดหรือว่าเราเอาดินทรายเนี่ย เอามากองซักเท่าภูเขามากมาย แล้วก็เอามาเปรียบเพชรซักลูกเท่ามะตูมนี่ เพชรลูกเท่ามะตูมไม่รู้มันกี่หมื่นกี่แสนล้าน แล้วก็ทรายเอามากองๆนั้นน่ะ ใหญ่กว่าเพชรเม็ดลูกมะตูมนั่นตั้งหลายแสนเท่า แต่ราคามันก็ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้รับความบริสุทธิ์ บริสุทธิ์นั้นก็คือความปราศจากมลทิน อย่างที่มีอะไรต่างๆที่เป็นขี้สนิมที่มันเกาะกินอยู่ในเหล็ก หรือขี้สนิมเกาะกินอยู่ในทองเหลือง ขี้สนิมมันก็กินอยู่ตามทั่วๆไปอย่างนี้ ถ้าขัดออกไปแล้วมันจะเกิดความใสสะอาด เค้าเรียกว่าเนื้อบริสุทธิ์ ถ้าเป็นเหล็กเค้าจะเรียกว่าเนื้อเหล็กบริสุทธิ์ หรือว่าถ้าจะเป็นทองเหลืองก็เรียกว่าทองเหลืองบริสุทธิ์ นี่คือความย่อลงไป 

เมื่อย่อลงไปหนักเข้าๆนี่ ผลประโยชน์ จะกลับกลายเป็นสมาธิ ที่ท่านเรียกว่าขณิกสมาธิ เรียกว่าอุปจารสมาธิ เรียกว่าอัปปนาสมาธิ เขาเรียกกันถึงสมาธิ ก็เรียกว่าบัญญัติที่การแสดงว่า ถึงสมาธินั้นก็ได้บัญญัติขึ้น เรียกว่า ปัญญัตติโย การบัญญัติขึ้น การบัญญัติขึ้นนั้นก็ต้องบัญญัติจากสิ่งหนึ่งที่มันเป็นความเป็นจริง แล้วก็บัญญัติออกมาเพื่อจะพูดกันให้รู้เรื่อง เหมือนอย่างกับรับประทานอาหาร เราก็บัญญัติออกมา แต่มันก็เอาเข้าใส่ปากเท่านั้นแหละ เราก็พูดกันว่ารับประทานอาหาร มันเป็นการบัญญัติ แต่ก็บัญญัติจริงๆ บัญญัติจากข้าวที่กำลังจะเข้าปากเราอย่างนี้ ก็เหมือนกับที่ท่านบัญญัติสมาธิไว้ ว่าสมาธินี้มันเกิดขึ้นมาจากอะไร สมาธิมันเกิดขึ้นมาจากความสงบ ความสงบนั้นไม่มีอารมณ์ มีแต่ความเป็นหนึ่งของจิต เรียกว่าสมาธิ ก็คือบัญญัติสิ่งหนึ่งในจิตของเรา 

สมาธินั้นถึงเราจะบัญญัติเป็นสมาธิหรือเราไม่บัญญัติว่าเป็นสมาธิ จิตมันก็เป็นหนึ่งของมันอยู่อย่างนั้น มันไม่ใช่ว่า มันจะบัญญัติว่ามันจะเป็นอย่างนั้นๆ ก็หาไม่ ความเป็นจริงเป็นอยู่อย่างนั้น คนจะไปบัญญัติว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็บัญญัติกันไป แต่ความเป็นจริงมันมีอยู่สิ่งหนึ่ง อย่างที่ภาษาไทยเราเรียกว่าความสงบ ภาษาบาลีหรือภาษาแขกก็เรียกกันว่า สมาธิ สมาธินี่สุดแล้วแต่ว่าภาษาไหนจะบัญญัติกันขึ้นมา ว่าเป็นอย่างนั้นๆ ที่จริงแล้วสมาธิมันเป็นยังไง มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นเอง เป็นหนึ่ง เป็นความสบาย มันก็เกิดและมีอยู่ อยู่อย่างนั้น เค้าเรียกว่าปรกติ เพราะฉะนั้นเมื่อจิตมันปรกติโดยที่มันไม่มีอารมณ์อื่นๆที่เข้ามาวุ่นวายในจิตใจแล้ว มันก็กลายเป็นจิตปรกติ 

เมื่อจิตปรกติ จิตนั้นมันจะเกิดความสบาย เกิดความละเอียด และความผ่องใส ความอ่อนโยน อะไรต่างๆนั้น สิ่งที่มันเกิดขึ้นกับจิตนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องปรุงแต่ง แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นผลพวงมาจากสมาธิ พอมันเกิดความเป็นหนึ่งขึ้น อันใดนั้น ความละเอียดมันก็เกิดขึ้นตามมาด้วย และความผ่องใสมันก็เกิดขึ้นมาด้วย ความเบาก็เกิดขึ้น ความสบาย มีความอ่อนโยนนุ่มนวลอะไรต่างๆ มันก็เกิดขึ้นในจิตอันนั้น ไอ้สิ่งที่มันเกิดขึ้นนั่นแหละเป็นสิ่งที่ทุกคนเราที่เราต้องการ ที่จะให้เกิดแก่ตัวของเราในการทำสมาธิ เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว เราจะต้องจด เราจะต้องจำ จำว่าเราทำยังไงเราถึงมาตรงนี้ได้ เราทำยังไงเราถึงได้มาถึงจุดนี้ได้ เราทำยังไงเราถึงมาได้เป็นอาการกิริยาอย่างนี้ได้ อันนี้เมื่อจดจำได้แล้ว คนนั้นจะทำได้อย่างสบาย คือสามารถที่จะทำได้อย่างสบายมากในกาลต่อไปข้างหน้า 

ผู้ที่ฝึกสมาธิด้วยกันทำไมจึงบางคนไปเร็ว ทำไมบางคนไปช้า ก็เพราะความสังเกต คือผู้ที่ปฏิบัตินี่มีความสังเกตแตกต่างกัน บางคนนั้นใช้ ชวนะปัญญาของตนเป็นข้อสังเกต บางคนก็สุดแล้วแต่มันจะเป็นไป อันคนที่ว่าสุดแล้วแต่มันจะเป็นไปนั้น ไม่ได้ตั้งข้อสังเกต คนนั้นก็ล่าช้าไป คนที่ตั้งข้อสังเกต และมีความสังเกต มีความสนใจหรือพยายามที่จะพิจารณาต่างๆสิ่งที่มันเกิดขึ้นนั้น คนนั้นก็จะเดินไปเร็ว 

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นท่านได้ตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องสมาธิไว้อย่างนี้ว่า ผู้ที่ทำสมาธิเกิดขึ้นแล้วนั้น ในวันนั้นเขาทำอะไรบ้าง ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแสดงถึงว่า รับประทานอาหารอะไรจึงเป็นสมาธิขึ้นมาอย่างนี้ในวันนั้น หรือวันนั้นได้นั่งเวลาเท่าไร ก็เอาเวลาอันนั้นมา หรือว่าวันนั้นได้นั่งหันหน้าไปทางไหน ก็จัดแจงหันหน้าไปทางนั้น อย่างเนี้ยคือท่านตั้งข้อสังเกต ตั้งข้อสังเกตเพื่อที่จะให้จิตนี้มันเกิดความว่าง่ายสอนง่ายขึ้น หรือเกิดความสงบได้เร็ว เดินทางไปได้เร็วขึ้นอย่างนี้ แต่ทีนี้นั้นท่านตั้งข้อสังเกตอย่างนั้นก็เพียงเพื่อชี้แนว ส่วนว่าเราจะใช้ชวนะปัญญาของเราที่จะตั้งข้อสังเกตอย่างไรนั้น อยู่ที่เราที่จะต้องใช้อีก 

นอกเหนือไปจากข้อสังเกตที่จิตจะเป็นสมาธิในขั้นต้นนี้แล้ว ก็ยังมีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง เมื่อเวลาจิตที่มันไม่สงบนี่ มันเป็นเพราะอะไร มันต้องมีต้นเหตุ ต้นเหตุก็คือว่ามันฟุ้งซ่านมันคิดมาก ไอ้ฟุ้งซ่านคิดมากนั้น มันไม่ใช่ต้นเหตุ มันเป็นปลายเหตุไปซะแล้ว ส่วนว่าต้นเหตุที่มันจะทำให้เรานึกคิดในขณะที่เราฟุ้งซ่านนั้น มันมีอีกต้นเหตุของมัน ต้นเหตุของมันนั้นก็คืออุปาทานต่างๆ ที่เราไปยึดเอามาเก็บฝังเอาไว้ในใจของเรานั่น คือเก็บเอาไว้ ไปทะเลาะกับใครมาก็เก็บเอาไว้ หรือว่าไปยินดีสโมสรกับใครมาก็เก็บเอาไว้ หรือเราไปทำงานอะไรมันขลุกขลักขึ้นมาก็เก็บเอาไว้ หรือไปทำงานอะไรมันเรียบร้อยเกิดขึ้นมาก็เก็บเอาไว้ ทีนี้เก็บเอาไว้มากเข้าๆ มันก็เป็นต้นเหตุแห่งการที่จะนำคิดในขณะทำสมาธิ ว่า “เอ…เห็นจะต้องทำอย่างนั้น เห็นจะต้องทำอย่างนี้” คิดไปคิดมาก็เลยฟุ้งซ่านไป 

ทีนี้จะแก้ต้นเหตุอย่างนี้เราจะแก้อย่างไร การแก้ต้นเหตุนี่ เราก็ต้องใช้มีด หรือเรียกว่ามีดดาบ มีดดาบนั้นมันคมมากนะ มันฟันลงไปอย่างนี้ ถ้าหากว่ามีดดาบคมๆนี่ฟันเฉียบลงไป ขาดสองท่อนเลยคนเนี่ย ก็เรียกว่ามีดดาบ อันนี้เป็นการที่เราจะแก้ต้นเหตุ คือแก้ต้นเหตุนั้น มีดดาบในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า มีดดาบที่เค้าเอามาฟันคน แต่ว่ามีดดาบอันนี้คือปัญญา ปัญญานั้นคือส่วนที่เราจะต้องใช้แก้ไขในเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านจึงบอกว่าปัญญานี้มันเป็นเรื่องที่เราจะต้องใช้ตั้งแต่ประถมต้นจนกระทั่งมัธยม มหาวิทยาลัยไปเลย ก็เรียกว่าปัญญา 

ในการที่เราจะใช้กับจิตใจของเรานั้น เราใช้ปัญญาเป็นเครื่องฟัน ให้ขาดไปเลยอุปาทานอันนั้น ทีนี้เมื่อมันไม่ขาดเราจะทำยังไง ก็เพราะดาบเราทื่อ เมื่อดาบทื่อมันก็ฟันไม่ขาด เมื่อมันไม่ขาด จิตมันก็ไม่ยอมลง ทีนี้ทำยังไงถึงให้ดาบนี้มันคมได้ มันก็ไม่ใช่ของยาก เพราะว่าดาบนี้มันลับชั่ววินาทีเดียวมันก็คมแล้ว ไม่ต้องไปนั่งฝนกันเป็นชั่วโมงๆหรอก มันลับเพียงวินาที หรือว่านาทีเดียวมันก็พอแล้วสำหรับดาบคือปัญญา เพราะฉะนั้นใช้ความคิดเพียงความคิดเดียวเท่านั้นว่าร่างกายอันเนี้ย มันก็สักแต่ว่าเป็นวัตถุของโลกอันหนึ่งเท่านั้น ส่วนความนึกคิดกิจการอะไรต่างๆมันก็เป็นวัตถุของโลกเท่านั้น เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่เป็นตัวตนแต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสภาวะธาตุทั้งสิ้น เรียกว่าตัดออกไปเลย อันนี้เรียกว่าลับดาบ 

ถ้าหากว่าเราลับดาบได้ชิบเดียวเท่านั้น อารมณ์มันจะกระจุยไปในทันที เหมือนอย่างที่ว่าพญามารน่ะมาผจญพระพุทธเจ้าอย่างนี้ พญามารน่ะมันมาผจญพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ลับดาบชิบเดียว วินาทีเดียวเท่านั้น พวกมารก็เรียบร้อย แพ้หมด เราก็เช่นเดียวกันน่ะ เราก็ต้องใช้ดาบคือปัญญานี่ฟันมันลงไป ลงไปเลย ดาบของเราคมมั้ย มันไม่คม มันก็ฟุ้งซ่านต่อไป ดาบของเราคมมั้ย คม มันก็สงบต่อไป นี่เป็นอย่างนี้ 

อันนี้เป็นอุบายวิธีเรื่องของการทำจิต มันก็ต้องมีกันหลายๆอย่าง เหมือนกันกับผู้เป็นครูบาอาจารย์นี่จะสอนลูกศิษย์ มันก็จำเป็นจะต้องหาอุบายวิธีต่างๆเช่น พระพุทธเจ้าสอนท่านพระจุฬปันถกนี่ท่านก็บอกว่า ให้เอาผ้าเช็ดหน้านี่มาเช็ดหน้าผากแล้วก็ไปนั่งอยู่เวลาพระอาทิตย์มันขึ้น พระอาทิตย์มันขึ้นส่องมาที่หน้าผาก เหงื่อมันก็ไหล แล้วก็เอาผ้าเช็ดหน้านี่เช็ดที่หน้าผากนั่นแหละ พระจุฬปันถกพิจารณา เอ๋  ผ้านี้ตั้งแต่ทีแรก มันก็ขาวๆดีนะ มาอีกเที่ยวนี้มันก็เลยมีดำมิดหมี และมันดำลงไปๆอย่างเนี้ย ท่านก็เลยปลงตก ท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นี่ก็เรียกว่าอุบายนึง 

หรืออย่างที่ท่านสังกิจจะสามเณร ท่านไปเห็นเค้าดักลูกหน้า ไอ้ลูกหน้านั่นน่ะ ไม้ไผ่เอามาเหลา เหลาแล้วมันก็คด ต้องเอาไปลนไฟ ดัดแล้วก็เอาตาเล็งจนมันก็ตรงได้ ท่านก็พิจารณาตัวของท่านว่า ใจของเรานี่มันก็คด เราก็ต้องเล็งตาเดียวก็คือหลับตาข้างหนึ่ง เหลือตาข้างหนึ่งก็คือทำจิตให้เป็นหนึ่ง เมื่อทำจิตให้เป็นหนึ่งเล็งดูใจอันนี้จนกระทั่งใจอันนี้มันเกิดนิพพิททาญาณขึ้น ท่านสังกิจจะสามเณรก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นี่ท่านก็อุบายของท่านอีกอย่างหนึ่ง 

และก็มีลูกศิษย์ของท่านพระสารีบุตรสอนกรรมฐานให้เท่าไหร่ๆก็ไม่รู้จักที่จะสำเร็จซักที ก็จึงร้อนถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เลยเอาพระภิกษุที่เป็นลูกศิษย์ท่านพระสารีบุตรเอามา แล้วก็เนรมิตสระขึ้นมาสระหนึ่ง แล้วก็เนรมิตผู้หญิงคนนั้นสวยงามมาก เพราะว่าลูกศิษย์ของพระสารีบุตรนั่นในอดีตท่านเป็นช่างทอง ชอบความสวยงาม เพราะฉะนั้นเมื่อลูกศิษย์ของท่านพระสารีบุตรท่านเห็นหญิงสาวที่สวยงาม ก็เกิดความพอใจดีใจนักหนา เมื่อเกิดความพอใจเช่นนั้นแล้ว พระพุทธเจ้าก็อธิษฐานให้ผู้หญิงนั่นแก่ลงทันทีเลย เมื่อแก่ลงไปทันที ท่านก็มาคิดว่า เอ๊ะ เมื่อตะกี๊นี้สวยงามอยู่หยกๆ ไหนมาแก่หง่อม คางก็ยาน ตาก็โบ๋ จมูกก็ยาว แก้มก็ตอบ เนื้อก็ยาน สักไม้เท้า งอขี้ก้อนอยู่ตรงนั้น แล้วในที่สุดนั้นท่านก็อธิษฐานให้ตายลงไปเลย เน่าหมดทั้งสระ ทันใดนั้นลูกศิษย์ท่านพระสารีบุตรก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นี่ก็เป็นอุบายอันหนึ่ง 

มีพระภิกษุองค์หนึ่งที่ทรงพระไตรปิฎก ไปสู่องค์นั้นก็ไปทรงพระไตรปิฎกแต่ไม่สามารถที่จะเข้าใจ เพราะว่าธรรมมันมากเกินไป ไม่รู้จะจับตรงไหน หาที่จับไม่ได้ ในคราวนั้นท่านก็ได้อุบายจากสามเณร สามเณรองค์นึง ท่านก็ไม่ถือทิฐิ แม้ท่านจะจบพระไตรปิฎก ท่านก็ยอมเป็นลูกศิษย์สามเณรอายุเพียง ๗ ขวบเท่านั้นเอง กำลังนั่งซักผ้าอยู่ที่ข้างสระ ก็ไปถามท่านว่าทำยังไง ปฏิบัติถึงจะได้สำเร็จ สามเณรจึงบอกว่า อ้าว ก็มีหัวปลวกอยู่ปลวกนึงยังไงเล่า หัวปลวกนั้นก็มีรูอยู่ ๖ รูปด้วยกัน แล้วก็อุดซะ ๖ รู เหลืออยู่รูนึง แล้วก็ขุดรูเข้าไป ไปเจอเหี้ย แล้วก็ฆ่าเหี้ยตัวนั้นเสียให้ตาย เสร็จ ท่านพระทรงพระไตรปิฎกรูปนั้นท่านก็ได้คิดว่า อ๋อ ให้ปิดทวารทั้ง ๖ นี่เอง แล้วก็ฝึกเข้าไปอยู่รูนึง ก็คือใจ ไอ้ตัวใจนี่มันเป็นตัวเหี้ย คือเป็นตัวอวิชชา ท่านก็สามารถปฏิบัติตัวท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ 

อันนี้มันเป็นเรื่องของอุบายแต่ละองค์ อุบายแต่ละคนที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมา อุบายวิธีเหล่านี้นั้น เป็นอุบายวิธีของการที่เราจะแก้ไขจิตของเรา เราบางทีอาจจะใช้อุบายเดียวไม่ได้ เราก็จะต้องใช้อุบายหลายๆอย่าง เพราะจิตอันที่เราฝึกหัดนี่ เราก็รู้อยู่แล้วว่าเราต้องฝึกหัด เพราะฝึกหัดให้จิตนี้มันก้าวหน้าต่อไปคือให้เจริญเติบโต เหมือนกับเราเลี้ยงเด็กให้เจริญขึ้น เมื่อมันจะนอน เราก็ต้องกล่อมมัน เราต้องหลอกเด็ก บอกว่ายักษ์มาแล้ว เด็กมันกลัว มันก็หลับไป หรือบางทีก็หลอกบอกว่า เด็กเอ้ย ผีมาแล้ว มันก็หลับไป ทั้งๆที่ยักษ์ก็ไม่ได้มา ผีก็ไม่ได้มา จิตใจของคนเรานี้มันก็เหมือนทารกนั่นแหละ เพราะว่าเรายังอ่อนแก่การฝึกหัด มันก็ยังอยู่ในขั้นต่ำ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว มันก็ต้องหลอกบ้าง 

จิตของเรานี้มันต้องมีอุบาย คืออุบายนี่ไม่ใช่หลอกให้เสีย แต่ว่าหลอกให้มันถูกต้อง เราก็บอกว่านี่ตัวเรานี่แก่แล้วใช่มั้ย เรายังคิดว่าตัวเราหนุ่มอยู่รึ นี่แก่แล้ว ตัวของเรานี้ เวลานี้คางตอบแล้วใช่มั้ย เวลานี้เราตายแล้วใช่มั้ย นี่เห็นมั้ยเค้าเอาเราไปเผาอยู่ที่เชิงตะกอนนั่นน่ะ อย่างนี้เค้าเรียกว่าเป็นอุบาย คืออุบายที่จะให้ใจของเราสงบลงไป เค้าเรียกว่าอุบายวิธี เมื่อเราคิดอย่างนั้นได้แล้วนี่ จิตมันก็กลัวสิว่า แหม มันตายจริงๆนะ มันก็สงบลงไป 

เหมือนอย่างกับว่าท่านจุลกาล มัชฌิมกาล และมหากาล ทีนี้ท่านมหากาลเนี่ย ท่านเป็นพ่อค้า ไปบวช ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วก็ไปบวช แล้วท่านก็มีครอบครัวแล้ว ท่านก็บอกว่าเราบวชเมื่อแก่อย่างนี้ ไม่อยากจะไปยุ่งกับใคร ก็อยากจะเรียนกรรมฐานว่าจะทำยังไงถึงจะได้สำเร็จ เมื่อไปไต่ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ใช้ให้ท่านไปที่ป่าช้า 

เมื่อไปถึงป่าช้าแล้วก็ให้มาดูศพ เพราะเค้าจะให้มาเผาทุกวันๆ วันหนึ่งเค้าก็เอาศพผู้หญิงคนนึงแห่ กำลังเป็นลมตาย อายุได้ ๑๖ ปีนั่นน่ะ มาถึงก็มาเอามานอน แล้วก็เชิญท่านมหากาลมาดู ท่านมหากาลมาดูก็ อ๋อ นี่ร่างกายยังสดใส มีหน้าเป็นอย่างนั้น แขนขาเป็นอย่างนั้น แล้วท่านก็ไปนั่งสมาธิ ต่อจากนั้นไปสัปเหร่อเค้าก็เอาขึ้นไปเชิงตะกอนแล้วก็จุดไฟ ไฟนั้นก็ลาม ไฟไหม้หูไหม้ตา ไหม้แข้งไหม้ขา แล้วก็ไปนิมนต์ท่านมหากาลมาอีก มาถึงก็มาดู อ๋อ เมื่อตะกี้นี้สดใสนี่ เดี๋ยวนี้ทำไมมันดำไปหละ เป็นตอตะโกไปแล้ว ท่านก็กลับไปนั่งสมาธิต่อ แล้วทีนี้สัปเหร่อก็เผาจนกระทั่งเหลือแต่กระดูกหมดแล้ว ทุกส่วนร่างกายหมดแล้ว ท่านก็ไปนิมนต์ให้ท่านพระมหากาลมาดูว่าเหลือแต่กระดูก ท่านมหากาลมาดู เอ๊ะ เมื่อตะกี๊นี้สดใสดีนี่ แล้วก็ดำเป็นตอตะโก แล้วก็เหลือเป็นกระดูก ตัวเราก็เช่นเดียวกัน ท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในเวลาต่อมา 

แต่ละองค์ๆก็มีอุบายแตกต่างกันที่จะทำให้เกิด คือทำให้เกิดขึ้นซึ่งความเป็นพระอรหันต์มันแตกต่างกัน แล้วการที่พระพุทธเจ้าทรงทรมานสาวกนั้น พระองค์ก็ทรงทรมานแตกต่างกันเหมือนกัน เราก็เช่นเดียวกันนั่นแหละ เราเวลาที่จะหาอุบาย เราหาอุบายต่างๆให้มันเยอะๆก็ได้ เมื่อเราหาอุบายแล้วเราก็แก้ไขตัวของเราอย่าให้ไปหยุดยั้งเพียงแค่นั้น เราใช้อุบายต่างๆนานาอย่างนี้แล้วนี่ ความก้าวหน้าของจิตนี้มันก็ไม่หยุดยั้งเช่นเดียวกัน มันก็เจริญขึ้น หมายความว่าเจริญขึ้น เรานี่มันต้องใช้ความสามารถ เพราะความสามารถของเรานี่มันจะมีแค่ไหนน่ะ มันก็ต้องมีแค่นั้น ความสามารถของเรา 

เพราะฉะนั้นเมื่อเราทำสมาธินี่ เราชอบจะสบาย เราก็อยู่กันไปโดยที่เมื่อไรก็อยู่อย่างนั้น เมื่อไรก็อยู่อย่างนั้น มันก็ดีเหมือนกันน่ะแต่ว่าความก้าวหน้ามันก้าวไปไม่ได้ เหมือนกับคนที่เขามีความสามารถ ความสามารถที่จะพลิกแพลง วิปัสสนานั้นเราก็เรียกกันแต่ชื่อว่าวิปัสสนา แต่ความจริงวิปัสสนานั้น มันก็คือความสว่างไสวหรือจิตนั้นมันมีพลังที่ยิ่งใหญ่ เมื่อจิตนั้นมีพลังที่ยิ่งใหญ่แล้ว มองอะไรมันก็เป็นสิ่งที่อนิจจัง สิ่งที่เป็นทุกขัง สิ่งที่เป็นอนัตตาไปหมด เพราะพลังจิต เค้าเรียกว่าวิปัสสนา วิปัสสนานั้นน่ะคือจิตของคนที่น้อมไปเพื่อพิจารณากำจัดกิเลส ก็เรียกว่ามีจิตขั้นสูง เรียกว่าเป็นวิปัสสนา 

แต่วิปัสสนานั้นจำเป็นอยู่เองที่จะต้องผ่านสมถะมามากมายเหลือเกิน กว่าที่จะมาถึงวิปัสสนาได้ ก็เหมือนกับคนที่จะเป็นด๊อกเตอร์อย่างนี้ทางกฏหมายก็ดี ทางเกษตรก็ดี ทางรัฐศาสตร์ก็ดี เค้าก็ต้องผ่านมาเหลือเกินแล้ว ผ่านมาจากโรงเรียนอนุบาล ผ่านชั้นประถม ผ่านชั้นมัธยม ผ่านชั้นมหาวิทยาลัย ไปจนกว่าจะมาถึงด๊อกเตอร์ก็เรียกว่าปริญญาเอกอย่างนี้ ก็ถ้าจะพูดกันไปก็เรียกว่าผ่านมาตั้งแต่อายุ ๓ ขวบครึ่ง อย่างน้อยก็ถึงอายุ ๒๕ ปี ก็หมายความว่าผ่านมาระยะอันยาวนาน ฉันใดก็ฉันนั้น 

การที่เราจะผ่านเข้าไปสู่วิปัสสนานั้น ก็จำเป็นต้องผ่านมาจากนั่งสมาธิเบื้องขวาทับเบื้องซ้าย ขึ้นต้นซะก่อน แล้วก็เลื่อนขึ้นไปถึงชั้นฌาน ถึงชั้นปฐมฌาน ทุติยฌาน เลื่อนขึ้นไปเรื่อยอย่างนี้ ก็เรียกว่าผ่านการที่จิตรวมมาก็นับครั้งไม่ถ้วน จิตรวมมากี่หน จิตรวมมากี่ครั้ง ก็นับครั้งไม่ถ้วนน่ะ ก็เหมือนกับคนที่เรียนมาจากอนุบาลถึงปริญญาอย่างนี้ ก็เรียนมา เรียนมาถึงปริญญาก็จับปากกานี่ก็เรียกว่าหมดไปหลายด้าม ปากกามันก็หมดไปหลายด้าม สมุดก็หมดไปหลายอัน เครื่องแบบก็หมดไปหลายอัน เดินก็หมดไปหลายก้าว กว่าที่มันจะก้าวข้ามไปนั่น ถ้าเราจะนับๆกันไป ก็เหมือนกันกับที่เราทำจิตของเราให้รวม จิตของเราก็รวมไปแล้ว หรือเราทำให้สบาย ก็สบายไปแล้ว แล้วเราก็ทำอีก มันก็รวม รวมไปแล้ว มันก็สบาย มันก็สบายไปแล้ว มันก็เรื่อยมาอย่างนี้แหละ จนกระทั่งจิตอันนี้มันรวมมันก็นับครั้งไม่ถ้วนแล้ว มันก็เข้ามาถึงวิปัสสนาคือมาพิจารณาถึงความเกิดและความดับ 

การที่เราจะดำเนินจิตมาถึงวิปัสสนานั้น เราก็จำเป็นอยู่เองที่ว่าเราจะต้องมีความเฉลียวฉลาดหรือเรียกว่ามีมีด มีดาบ ดาบที่คม ดาบที่คมนั้นก็คือปัญญา ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าดาบที่คมนี่ฟันทีเดียวขาดสองท่อน เมื่อเวลานึกถึงร่างกายนี่ มันจะเห็นกระดูกไปเลย มีพระองค์นึงท่านมาเดินบิณฑบาต บิณฑบาตแล้วท่านเดินวิปัสสนาของท่านมาเรื่อยมา จนกระทั่งมีผู้หญิงคนนึงหนีสามีมา แล้วก็มาเห็นท่าน แล้วก็มายิ้มให้ ท่านมองเข้าไปนี่ ท่านเห็นเป็นกระดูกซะแล้ว ไอ้ยิ้มนั่นท่านไม่เห็น ท่านเห็นแต่กระดูก สามีก็ไล่ติดตามมา แล้วก็มาถามพระองค์นั้นว่า เห็นผู้หญิงเดินไปทางนี้มั้ยท่านพระคุณเจ้า ท่านก็บอกว่า “อาตมาไม่เห็นหรอก แต่เห็นโครงกระดูกมันเดินไปเมื่อกี้” นี่แสดงว่าท่านเจริญวิปัสสนา พอจิตมันมีกำลัง คือจิตมีกำลังแก่กล้า เมื่อจิตมีกำลังแก่กล้าแล้วอย่างนี้ มันมองเห็นอะไร มันก็เป็นวิปัสสนาไปหมดแหละ 

มองเห็นต้นหญ้าก็ใช้ได้ มองเห็นคนก็ใช้ได้ มองเห็นพระอาทิตย์ พระจันทร์ก็ใช้ได้ มองเห็นเงินทองข้าวของก็ใช้ได้ สำหรับจิตที่เป็นวิปัสสนาแล้ว มองเห็นอะไรมันก็เป็นวิปัสสนาไป แต่ว่าวิปัสสนานั้นน่ะก็ไม่ต่างอะไรกันกับที่เราดำเนินสมถะมานั่นแหละ มันก็ต้องใข้เวลา ใช้กาลและใช้เวลา เหมือนกับคนที่เค้าทำปริญญาอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ว่าทำชั่วโมงเดียวเสร็จ ก็ว่ากันไปมากมาย วิทยานิพนธ์ทำไปเยอะแยะ ดีไม่ดีตก ต้องต่อใหม่ อะไรก็ว่ากันไปกว่าจะสำเร็จขึ้นมาได้ ก็เหมือนกันที่พิจารณานั้น สำหรับวิปัสสนานั้นก็เอามาพิจารณาให้เห็น ไม่ต้องพูดอะไรกันมากหละ พูดกันว่าร่างกายอันนี้มันเป็นส่วนสำคัญ เค้าเรียกว่าสื่อสัมพันธ์ หรือเรียกว่าตัวประสานงานที่มีความสำคัญ 

พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงลงไปในร่างกาย หรือเรียกว่า รูปัง รูปังก็คือรูปนั่นแหละ พระพุทธเจ้าก็ รูปัง อนิจจัง รูปัง อนัตตา รูปัง ทุกขัง ก็พระองค์แสดงรูปัง ก็คือรูป เมื่อแสดงรูปลงไปก็เป็นตัววิปัสสนาขึ้นมา ในเมื่อจิตของผู้นั้นถึงขั้น ที่เรียกว่าจิตเข้าขั้น จิตเข้าขั้นนั้นมันเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดมาก เพราะว่าเมื่อเวลาจิตมันเข้าขั้นแล้วนี่ คล้ายๆกันกับว่าเหมือนกับมันจะนำเราไปอย่างนั้น มันเป็นแทบๆจะเป็นเองไปเลย ทีนี้เรามาเปรียบเทียบเหมือนกับคนที่เค้ากำลังเรียนด๊อกเตอร์อย่างนี้ เมื่อเค้าจับปากกาจะเขียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษนี่มันลากไปเลย โดยที่ไม่ทันต้องคิดอะไรมาก จับพับก็พรู๊ดไปเลย คล้ายๆกับว่ามันอยู่ในสมอง มันเต็มที่แล้ว แล้วมันก็เลยเขียนได้อย่างเรียกว่าเร็วปื้ด เหมือนกันกับผู้ที่มีจิตที่ได้ผ่านเรียกว่าวิปัสสนานี่ พอจับขึ้นมานี่มันจะมองเห็นชัดไปเลย จะเป็นกระดูกก็เห็นชัดไปเลย มันเป็นธาตุก็เห็นชัดไปเลย แล้วมันจะเป็นอะไรในร่างกายอันนี้ก็เห็นชัดไปเลย 

ทำไมพระพุทธเจ้าถึงได้ยืนยันลงมาในเพียงร่างกายอันนี้ เพราะร่างกายอันนี้เป็นตัวประสานงาน ถ้าไม่มีร่างกายอันนี้แล้วนี่ อะไรจะมาเป็นเครื่องประสานงานในโลกนี้ หรือจะเอาวิญญาณอย่างเดียว เอาร่างกายนี้ไปเป็นดินซะให้หมดและให้มีแต่วิญญาณ มันก็มองกันไม่เห็น แล้วก็ทำอะไรก็ไม่ได้ ก็เรียกว่าเป็นโรคแห่งวิญญาณไป มันก็ไม่มีอะไรประสานงาน แต่ว่าโลกของเรามีร่างกายมนุษย์นี่เป็นตัวประสานงาน เพราะฉะนั้นคนที่จะเกิดกิเลสขึ้นมานี่ ถ้าไม่มีร่างกายอันนี้มันเกิดกิเลสไม่ได้ ถ้ามีร่างกายนี้ต่างหากเล่า ที่กิเลสหรือเรียกว่าตัณหา อวิชชา กิเลสต่างๆมันจึงเกิดขึ้นก็เพราะมันมีร่างกายอันนี้แหละ 

เพราะฉะนั้นในการที่อุปัชฌายะจะบอกกรรมฐานให้แก่ผู้ที่จะเข้ามาบวชนี้ ท่านจึงบอกให้ถึงตโจ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ หยุดแล้ว ไม่ต้องบอกต่อไปอีกแล้ว เอาแค่ตโจพอ เกสา แปลว่าผม โลมาแปลว่าขน นขาแปลว่าเล็บ ทันตาแปลว่าฟัน ตโจแปลว่าหนัง ทีนี้มันก็มาสำคัญอยู่ที่หนัง เมื่อร่างกายของคนเรานี้มันมีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ มีหนังหุ้มอยู่ เมื่อมีหนัง ต่างคนก็ต่างมองหนัง ในที่สุดก็หลงหนัง นี่ก็เป็นอย่างนั้น 

ทีนี้มันจะไปหลงอะไร นอกจากร่างกายนี้มันจะไปหลงอะไร ก็หลงทรัพย์สิน หลงเงินทอง หลงข้าวหลงของ หลงยศถาบรรดาศักดิ์ อันนั้นมันก็ต้องมีกายซะก่อน ไม่มีกายนี้แล้วจะเอารถยนต์สวยๆนี้ไปให้ใคร หรือว่าจะเอาบ้านสวยๆไปให้ใคร ก็ไม่ได้ ร่างกายนี่เป็นตัวประสานงาน เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีร่างกายนี้ ทุกอย่างก็หมด เรียกว่าไม่มีความหมาย ไม่มีความหมาย! เพราะฉะนั้นกายคือตัวประสานงาน 

บางคนเค้าบอกว่าอาจารย์นี่สอนให้พิจารณากายนี่มันราคะจริตแล้ว อาตมาก็ถามว่าคนไหนเล่าที่มันไม่มีราคะจริตน่ะ มนุษย์ไหนน่ะที่มันไม่มีราคะจริต มันไม่มีซักคนหรอก มันก็ราคะจริตด้วยกันทั้งนั้นแหละ มันก็เป็นอย่างนั้น แต่ทีนี้เค้าก็บอกว่า การที่พิจารณากายนั้นน่ะ มันมีแต่คนที่ราคะจริตอย่างเดียว คนที่จริตอื่นๆเค้าไม่ให้พิจารณาหรอก อันนั้นเป็นความเข้าใจผิด พระพุทธเจ้าที่พระองค์บัญญัติให้อุปัชฌายะสอนลูกศิษย์ก่อนที่จะเข้าบวชเนี่ย ให้ว่ากรรมฐานก็คือร่างกายอันนี้ มันไม่มี ร่างกายอันนี้เท่านั้น 

แล้วทีนี้ทำไมไม่สอนบอกว่าถ้าคนจริตโน้น แล้วก็อย่าไปสอนเกสา โลมา นขา นะ มันก็ไม่เห็นมีคำสอนที่บัญญัติไว้ตรงไหน เพราะฉะนั้นร่างกายอันนี้จึงเป็นตัวอริยสัจด้วย แล้วก็เป็นตัวประสานงานอันสำคัญด้วย แล้วก็ติดกันเนี่ย ที่หลงกันอยู่เวลานี้ ไปหลงที่ไหน มันก็หลงร่างกายอันนี้แหละ หลงร่างกายอันนี้แหละคนปากแหว่งก็ยังอวดตัวว่าสวยเลย มีคนปากแหว่งคนนึงอยู่ที่บ้านก็ไม่สู้จะไกลบ้านใหม่สำโรงหรอก แล้วก็เอากระจกมาส่อง ส่องเท่าไหร่ ปากมันก็แหว่งอยู่ตะพืดน่ะ ส่องไปก็ถอยหลังไปๆ ตกเรือนขาหักอีก นอกจากปากแหว่งแล้วขาหักอีกไปด้วย อันนี้เค้าเรียกว่าร่างกายนี้มันเป็นตัวประสานงานจริงๆ คือคนเรานี่หลงน่ะ หลงร่างกายอันนี้ 

เพราะฉะนั้นเมื่อมันอยู่ตรงจุดไหน กิเลสอยู่ตรงจุดไหน เราจะแก้ เราก็ต้องแก้ตรงจุดนั้น เราจะไปแก้ที่อื่นมันแก้ไม่ได้ เหมือนกันกับเราคันอยู่ที่ท้ายทอยนี่ เราไปเกาหัวตาตุ่มตั้งแต่เท้า เกาเท่าไหร่มันจะหายคันยังไง คันตรงไหนมันก็ต้องเกาตรงนั้น หนามที่มันบ่ง มันปักลงไปในเท้าของเราอย่างนี้ ถ้าเราจะเอาหนามออก ก็ต้องบ่งเอาที่หัวหนาม มันถึงจะถูกต้อง เพราะฉะนั้นที่เราพากันปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ถึงขั้นวิปัสสนานะ ถ้าไปทิ้งกายะอันนี้แล้ว หรือเรียกว่า รูปังอันนี้แล้ว มันจะผ่านวิปัสสนาไปได้อย่างไร โดยที่ว่าเราไม่ต้องอธิบายอะไรให้มาก แม้ท่านจะอธิบายอริยสัจ ๔ ว่าทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มันก็ไม่พ้นจากรูปัง คือรูปอันนี้อันเดียว 

เพราะฉะนั้นเมื่อเวลาที่ใครจะดำเนินวิปัสสนานั้น ก็จะต้องดำเนินวิปัสสนาที่กายนี่เห็นจริงแจ้งประจักษ์ มีคนถามว่าถ้าอย่างนั้นสัปเหร่อมันก็สำเร็จหมดน่ะสิ เพราะว่ามันสับผีอยู่ตลอด สัปเหร่อจะไปสำเร็จได้ยังไง ในเมื่อสัปเหร่อสมาธิก็ไม่มี ไม่มีสมาธิ ถึงจะสับก็สับไปงั้น ไม่ได้พิจารณา เมื่อจิตไม่มีพลังพอที่จะเป็นวิปัสสนาได้ สับศพอยู่มันก็ยังไม่ได้ คือมันไม่ได้ ไม่เป็นวิปัสสนาขึ้นมาหรอก เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเข้าใจในตัวของเราของเรื่องของการทำสมาธินั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องพูดอะไรกันมากมายนักหรอก พูดกันว่าทำจิตให้สงบ แล้วเราก็ภาวนาพุทโธไป หรือว่าเราจะดำเนินวิปัสสนาก็พิจารณาดูกายให้มันเกิดนิพพิททาญาณ เราพูดเท่านี้มันก็จบแล้วสำหรับสมาธิ สมถวิปัสสนา 

แต่ต้องพากันเข้าใจอย่างนี้นะว่า คำพูดเพียงเท่านี้มันกินความมหาศาล อย่างเราพูดว่าว่าทำนานี่ เราก็พูดได้สองคำเท่านั้นเอง แต่ว่าต้องมีไถ มีควาย เราก็ต้องมีหัวหมู เราก็ต้องเอามือนี่จับลงไป กดลงไปที่ดิน ให้ดินมันพลิกออกมา เรียกว่าไถนา แล้วยังคราด แล้วยังเอากล้า แล้วยังดำ แล้วยังเกี่ยว แล้วยังเก็บ แล้วยังนวด นี่เค้าเรียกว่าทำนา พูดคำเดียวเท่านั้นนะ แต่ว่าเหลือหลาย หรือเราพูดว่าเราทำบ้าน เราทำบ้านนี่ เราพูด “ทำบ้าน”สองคำเท่านั้น โอ้โห บางทีทำเกือบล้มเกือบตายไม่สำเร็จ เราพูดกันว่าสมถะ แล้วก็วิปัสสนา สมถะก็ วิปัสสนาก็พูดกันเท่านี้ แต่ว่าการกระทำยังอีกมากทีเดียว 

เพราะฉะนั้นเรื่องของสมถะและวิปัสสนานั้น ไม่จำเป็นต้องมาเถียงกันให้ลำบาก คนก็โสเหล่กันเถียงกันไป บอกว่าของชั้นก็ดีกว่าคนโน้น คนโน้นก็ว่าดีกว่าของคนนี้ ว่าอาจารย์โน้นก็ดีกว่าอาจารย์นี้ อาจารย์นี้ก็ดีกว่าอาจารย์โน้น ให้วุ่นวายไปหมด ที่จริงแล้วนั้นอยู่ที่ตัวบุคคลผู้ปฏิบัติ แล้วก็ดำเนินสมถะและวิปัสสนา ก็มีอยู่เท่านี้ ไม่ว่าอาจารย์ไหนก็ต้องสอนกันแบบนี้ทั้งนั้นหละ เมื่อสอนกันอย่างนี้ อยู่ที่ตัวของเราทำต่างหาก ตัวของเราทำได้ อาจารย์นั่นก็เป็นส่วนนึง พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า อกฺขาตาเร ตถาคโต พระตถาคตเจ้านั้นเพียงแต่บอกเท่านั้นแหละ แต่ว่าการกระทำนั้นมันอยู่ที่เรา 

เราทำอย่างนี้ยังมีอยู่อีกตอนนึงที่ควรจะรู้นั่น เมื่อเราพิจารณากายเห็นแล้วใช่มั้ย แล้วเราก็ย้อนเข้ามาดูผู้เห็น เค้าเรียกว่าตัวผู้รู้ ย้อนมันกลับคืนมาดูสิ ว่าเห็นมั้ย ไม่เห็น เมื่อไม่เห็น เราก็ยังไม่เข้าขั้น เค้าเรียกว่ายังไม่เข้าขั้น วิปัสสนาไม่เข้าขั้น แต่ทีนี้เรามองนี่ เมื่อเวลาเราหลับตามมอง มีกระแสจิตมองเห็น โอ้โห นี่ร่างกายแตกสลายเห็นชัดเจนเลย เกิดนิพพิททาญาณความเบื่อหน่ายเห็นชัดเจน เราก็ทวนกระแสจิตมา เห็นเลย เห็นตัวผู้รู้ ตัวผู้รู้นั้นน่ะมันอยู่ข้างหลัง หรือเรียกว่าต้องทวนกระแสจิต เมื่อทวนกระแสจิตกลับคืนมาถึงที่ตั้งของจิตได้เมื่อไร เมื่อนั้นผู้นั้นก็จะต้องเป็นผู้ถึงต้นหนทาง เค้าเรียกว่าต้นหนทาง 

การถึงกระแสจิตอันนี้นั้นน่ะ การถึง ฐีติภูตัง เค้าเรียกว่า ฐีติภูตัง ที่จะมาถึงกระแสจิตหรือเรียกว่า การที่จะมาถึงที่ตั้งของจิตอันนี้ ผู้นั้นจะต้องมีพลังจิตที่ได้พิจารณาเห็นจริงแจ้งประจักษ์เป็นวิปัสสนามามากเหลือเกินน่ะ ถึงจะทวนกระแสจิตมาถึงที่ตั้งของจิตได้ ผู้ที่ทวนกระแส จิตมาถึงที่ตั้งของจิตนั้นมีอุปมาเหมือนกับคนที่ลืมผ้าอยู่บนศีรษะ ลืมผ้าอยู่บนศีรษะ เที่ยววิ่งหาเกือบตาย ว่าผ้าเราอยู่ที่ไหน แต่พอเอามือคลำที่ศีรษะก็ร้อง อ้อ ตกหนองอ้อ นั่นแหละ ผู้ที่พิจารณาทวนกระแสจิตมาถึงที่ตั้งของจิตได้ ก็เช่นเดียวกัน ร้อง “อ้อ อยู่ที่นี่เองรึ” ถ้ามาถึงที่นี้ได้เมื่อไร ผู้นั้นจะไม่มีการตกต่ำแล้ว ผู้นั้นถึงหนทางแล้ว เรียกว่าถึงหนทาง 

เมื่อถึงหนทาง เมื่อถึงในจุดนี้แล้วนี่ ผู้นั้นจะสิ้นความสงสัย ความสงสัยไม่มีในใจของผู้นั้นอีกต่อไปว่า “เอ๊ะ ที่เราทำสมาธินี่มันใช่หรือเปล่า มันถูกหรือเปล่า มันดีหรือเปล่า มันใช่หนทางหรือเปล่า” ไม่มีในจิตของบุคคลผู้นั้นโดยเด็ดขาด ผู้ที่ทวนกระแสจิตมาถึงที่ตั้งของจิต ตัวของผู้นั้นเป็นอาจารย์ตัวผู้นั้นเองได้ทันที ไม่ต้องคิดว่า “เอ๊ะ ของอาจารย์นี้ผิดหรือถูกหนอ” ไม่ต้องคิดอย่างนั้น ไม่มีในจิตใจโดยเด็ดขาด เรียกว่าตัดสินความสงสัยได้ บุคคลนั้นถือว่าถึงต้นหนทาง 

อันนี้เราพูดกันตามภาษาของสมาธิ เราไม่ได้พูดตามภาษาของปริยัติ แต่เราพูดตามภาษาของสมาธิ เมื่อทำมาถึงที่นี้แล้วนี่ มีอย่างเดียวคือ ภาวิโต พาหุลีกโต คือทำให้มาก เจริญให้มาก เมื่อทำให้มาก เจริญให้มากแล้วนี่ ทีนี้ก็จะถึงหละ ที่สุดถึงที่สุดตรงไหนก็จะเดินไปแล้ว คือไม่มีการถดถอย ถอยหลังไม่ได้ ไม่มีการถอยแล้ว เดินไปข้างหน้าอย่างเดียว นี่เขาเรียกว่าต้นหนทาง ใครจะถึงบ้าง ถ้าใครยังไม่ถึงก็รู้ทางเอาไว้ก่อน ก็ยังดี รู้ทางไว้ว่า นี่เราจะมาทางนี้ นี่เราพูดกันตามภาษาสมาธิ เราไม่ได้พูดตามภาษาปริยัติธรรม ฉะนั้นการทวนกระแสจิตนี้ เพราะฉะนั้นในข้อแรกที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสว่า พระโสดาบัน พระโสดาบันนั้น โสตะก็คือการทวนกระแสนั่นเอง เรียกว่าทวนกระแสมา เมื่อทวนกระแสมาถึงที่ตั้งได้แล้ว ก็เรียกว่าทวนกระแสมาถึงที่ตั้งของจิต ก็เราคิดถึงนางวิสาขาที่ทวนกระแสจิตได้แล้ว หรือว่าเป็นผู้ที่สำเร็จพระโสดาบัน ท่านก็ยังต้องไปแต่งงาน มีลูกตั้งเยอะแยะอย่างนี้ อย่างนางวิสาขานี่ เพราะฉะนั้นการดำเนินจิตนั้น เมื่อเรารู้หนทางแล้วอย่างนี้ โอกาสของเราก็ยังมี ชีวิตของเรามีต่อไปก็ได้กระทำไป เวลาที่มันถึง หรือเวลารู้เข้า เราก็ได้จดจำข้อธรรมะเหล่านี้เอาไว้ เราก็จะมีโอกาส โอกาสก็จะเป็นของเราเมื่อถึงเวลานั้น ต่อไปก็นั่งสมาธิกันต่อไปอีก