Skip to content

สมาธิแก้ความเครียด

หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

นึกพุทโธในใจ กำหนดใจไว้ที่ใจ อย่าให้ใจคิดฟุ้งซ่านไปอื่น ให้กำหนดลงที่ใจของตน เมื่อกำหนดลงที่ใจแล้ว ก็ให้ทำความรู้อยู่ที่ใจ ให้นึกว่าไม่มีร่างกาย ไม่มีตัวมีตน มีแต่ใจเท่านั้น นึกไว้เท่านั้น ในที่สุดถึงที่สุดก็จะเกิดความสงบ 

ความสงบนั้นคือการไม่มีอารมณ์ มีความสุขสบาย มีความเบากายเบาใจ เรียกว่าความสงบ หรือเรียกว่าจิตเป็นสมาธิ จิตที่เป็นสมาธินั้นถือว่าเป็นอานิสงส์ พระพุทธองค์ตรัสว่า มะหัปผะโล มะหานิสังโส มีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่ามีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ เพราะว่าเป็นธรรมะชั้นสูง ผู้ที่จะทำมาถึงขั้นนี้ มาถึงขั้นปฏิบัติสมาธินี้ ก็จะต้องอาศัยการกระทำมามาก หรืออาศัยศรัทธาที่มีความมั่นคงภายในจิตใจ จะต้องมีความเชื่อ หมายถึงว่าความเชื่อที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความเชื่อที่มีความลึกซึ้ง เพราะเหตุว่าการปฏิบัติในทางใจนี้มันเป็นนามธรรม มองไม่เห็น ต้องอาศัยความเชื่อมั่นและความตั้งใจที่แน่วแน่ จึงจะสามารถมาทำสมาธิ มาปฏิบัติของเรื่องสมาธิได้ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนทั้งหลายนั้นพากันเข้าใจผิด คิดว่าผู้ที่เสียสละ หรือผู้ที่สงบแล้วจึงจะมาทำสมาธิ ไม่ใช่อย่างนั้น การที่จะมีการทำสมาธิขึ้นมาได้นั้น ต้องอาศัยความมั่นคงภายในจิตใจและไม่ได้หมายความว่า คนที่มีการมีงานแล้วทำสมาธิไม่ได้ คนที่มีการมีงานหรือมีข้อเกี่ยวข้องมากมายก็ทำได้ เพราะสมาธิเป็นสิ่งที่จะทำให้กิจการงานต่างๆนั้น เกิดความมีระเบียบขึ้น 

ในการที่มีจิตใจไม่เป็นสมาธินั้น ทำอะไรต่างๆมันก็ไม่เกิดความสำเร็จ อย่างที่ผู้คนทั้งหลายพากันทำกันอยู่ทุกวันนี้ ก็ล้วนแล้วแต่เค้ามีสมาธิกัน แต่สมาธิเหล่านั้นเป็นสมาธิเพียงเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่นผู้ที่เขียนหนังสือมีสมาธิ หรือผู้ที่ขับรถมีสมาธิ หรือผู้ที่กำลังปาฐกถามีสมาธิ หรือผู้ที่กำลังเดินที่จะไปจุดใดจุดหนึ่ง มีสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิ คนขับรถก็คว่ำ ถ้าไม่มีสมาธิ เขียนหนังสือก็ไม่เป็นตัว ถ้าไม่มีสมาธิ คนที่ไปปาฐกถาก็ไม่ได้ถ้อยความ เพราะฉะนั้นสมาธินั้นมีอยู่แล้วทุกคน แต่ว่าสมาธิเหล่านั้นเป็นสมาธิที่เกิดตามธรรมชาติ ยังมีสิ่งที่ทำให้เสียสมาธิได้มาก 

ถ้าหากว่าได้มาฝึกหัดหรือมาอบรม ถ้าฝึกหัดอบรมแล้วจะเกิดสมาธิมาอีกชนิดหนึ่งเรียกว่าไม่ใช่สมาธิธรรมชาติ แต่สมาธิที่ได้รับการปรับปรุงขึ้น การปรับปรุงขึ้นนั้นย่อมจะเป็นสมาธิที่ดีกว่าสมาธิธรรมชาตินั้นอีกมาก เหมือนกันกับน้ำที่ไหลลงตามธรรมชาติ มันก็ได้ผลเพียงธรรมชาติ ส่วนผู้ที่มีสติมีปัญญากว่านั้นแก้ไขธรรมชาติ ก็กั้นเป็นเขื่อน ไม่ให้น้ำมันไหลลงไปตามธรรมชาติ มันก็ได้ผลขึ้น เช่นเขื่อนต่างๆ เมื่อกั้นสำเร็จแล้วก็กลับกลายเป็นพลังไฟฟ้า กลับกลายเป็นส่วนที่จะให้เป็นเกษตรกรรม ได้รับผลประโยชน์อีกมากมาย มากกว่าที่จะปล่อยให้น้ำมันไหลไปตามธรรมชาติ ข้อนี้ก็เป็นข้อเปรียบเทียบได้ เหมือนกันกับผู้ที่ได้พากันฝึก คือพากันฝึกสมาธิขึ้น ก็เท่ากันกับเราได้ทำในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ 

การฝึกสมาธิจึงเป็นวิชาการชนิดหนึ่ง หรือเรียกว่าเป็นเทคนิคชนิดหนึ่ง เหมือนกันกับที่เขาใช้เทคนิคในการที่จะสร้างเขื่อนขึ้นมานั้น เขาก็มีเทคนิคและมีความรู้มีวิชาการ ทำจนสำเร็จ ในการสร้างสมาธินี้เช่นเดียวกัน ก็ต้องมีวิชาการเพราะฉะนั้นความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าของเรานั้น พระองค์ตรัสรู้ขึ้นมาจากสมาธิ เมื่อเป็นเช่นนั้นพระองค์จึงมีวิธีการและวิชาการแสดงถึงเรื่องสมาธินั้นไว้มาก เพราะพระองค์ได้ทรงกระทำมาแล้ว และได้ฝึกมาแล้วจนกระทั่งสำเร็จ 

ด้วยเหตุนั้นพระองค์จึงได้ตั้งข้อความสำคัญไว้ข้อหนึ่งว่าสมาธิ ส่วนที่จะทำให้เกิดวิมุตติได้นั้นมี ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงถึงเรื่องสมาธิไว้มาก ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคที่ท่านแสดงนั้นก็เรียกว่า ศีลนิเทศ สมาธินิเทศ และปัญญานิเทศ สมาธิจึงอยู่ในนิเทศหนึ่งหรือสมาธิจึงอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้ามากมาย เพราะฉะนั้นจึงเป็นโชคดีที่เราได้เป็นชาวพุทธ เมื่อพวกเราได้เป็นชาวพุทธ เราก็ได้มีโอกาสที่จะได้ฟัง และได้มีโอกาสที่จะได้ศึกษาถึงเรื่องสมาธิให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของสมาธินี้ได้อย่างกว้างขวาง 

เพราะฉะนั้นการทำสมาธิของชาวพุทธจึงเป็นสิ่งที่ทำกันอยู่ทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธอยู่ที่ใด เป็นประเทศพม่า ประเทศลังกา ประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีน หรือประเทศอื่นใดที่นับถือพุทธศาสนา ก็ล้วนแล้วแต่มีรากฐานของสมาธิทั้งสิ้น และเมื่อเป็นเช่นนั้นชาวพุทธจึงมีโอกาสมากกว่า จึงได้พากันศึกษา และในปัจจุบัน ประเทศไทยเราทุกหนแห่งก็ได้พากันฝึกสมาธิขึ้นพื้นฐานนี้ ได้พากันปฏิบัติสมาธิกันโดยทั่วไป ก็เป็นผลอันดียิ่งที่จะทำให้จิตใจนั้นมีความสามารถ หรือจิตใจนั้นได้รับความพักผ่อน 

เพราะใจของคนเรานี้มีแต่จะใช้การอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่ากลางวัน ไม่ว่ากลางคืน ต่างก็ใช้โดยไม่มีการหยุดยั้ง เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตบางจิตก็ทนไม่ไหว ก็ถึงความขัดข้อง หรือถึงความตึงเครียดของจิต จึงจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องให้มีเวลาพักผ่อน การพักผ่อนนั้นถ้าหากว่าผู้ที่ทำสมาธิให้เกิดเป็นสมาธิได้แล้ว โอกาสที่จะให้จิตนี้เข้าไปพักผ่อนก็พักผ่อนได้อย่างสบาย เมื่อพักผ่อนได้ก็เกิดกำลังวังชา หรือเกิดคลายความตึงเครียด คลายความกดดันต่างๆได้มาก ความตึงเครียดและความกดดันต่างๆนั้นมันก่อปฏิกิริยาให้เกิดความเสียหายได้มากมาย 

บางทีอาศัยความควบคุมจิตใจไม่อยู่ มีความตึงเครียดอย่างมาก ฆ่าตัวตายไปซะก็มาก นอกจากฆ่าตัวตาย ฆ่าคนอื่นให้ตายอีกด้วย นอกเหนือจากนั้นก็ก่อความทะเลาะวิวาท ก่อความอาฆาตจองเวร ก่อความทำผิดพลาดด้วยอาการต่างๆเพราะความตึงเครียดของจิตใจ และถ้าหากเกิดความตึดเครียดไปเรื่อยๆ ความสุขสบายนั้นก็หมดไปด้วย 

แต่อาศัยที่พวกเราฝึกฝนสมาธิกัน แทนที่จะตึงเครียดแบบเดียวกันกับคนอื่นๆ ความตึงเครียดเหล่านั้นมันก็ลดกำลังลง ถึงจะมีก็ไม่ถึงกับทำอันตรายต่างๆ ให้เกิดอันตรายต่างๆ และนอกเหนือจากที่ว่าสมาธิที่จะทำให้เป็นผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานแล้ว สมาธินั้นยังเป็นกำลังต่อไปที่จะสร้างวาสนา สร้างบารมี สร้างความดีจากปัจจุบันชาตินี้ต่อไปอีกปรภพเบื้องหน้า นี่คือผลของสมาธิ 

เพราะฉะนั้นผู้ที่มีสมาธิจึงเป็นผู้ที่ควรแก่การเคารพ ควรแก่การบูชาเพราะเหตุสามารถที่จะตั้งให้เกิดความมีระเบียบขึ้นมาในตัวของตนได้ จะเป็นพระภิกษุ จะเป็นพระสามเณร จะเป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็ดูน่าเลื่อมใส น่าเคารพ น่านับถือ เพราะเหตุว่ามีรัศมี หรือมีความผ่องใส ร่างกายก็ผ่องใส จิตใจเนี่ยกับร่างกายมันเป็นสิ่งสัมพันธ์กัน ถ้าเศร้าหมองแล้ว ร่างกายก็ดูแก่ไปมาก ร่างกายมันก็ดูทรุดโทรม แต่ถ้าหากว่าจิตใจมันผ่องใสแล้ว ร่างกายมันก็ดูหนุ่มแน่นขึ้น แล้วก็รู้สึกว่ากระชุ่มกระชวยมากมาย นี่ก็ใจกับร่างกายเป็นสิ่งที่ต้องประสานกัน เพราะฉะนั้นเมื่อใจผ่องแผ้ว มองดูแล้ว ดูคนแล้ว ก็ดูรู้สึกมีความแช่มชื้น มีเลือดมีฝาด มองแล้วผ่องใส 

เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงมีรัศมี มีรัศมีออกจากพระกายของพระองค์นั้น โดยปกติจะมีรัศมีหนึ่งวา ที่เราทำพระพุทธรูป พระเศียรของพระพุทธรูปนั้นมีปลายแปลมอยู่ข้างบน อย่าไปเข้าใจผิด ที่ปลายแหลมนั้นเขาทำไว้ว่า นั่นแหละคือรัศมีของพระพุทธเจ้า รัศมีอันนี้จะเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีชมพู สีขาว สีน้ำเงิน รวมกันเป็นฉัพพรรณรังสี เรียกว่า สี ๖ ประการ เหมือนกันกับสายรุ้งขึ้นอยู่บนพระเศียรของพระพุทธเจ้า เราจึงได้ทำเปลวเพลิงไว้อยู่บนพระเศียรเพื่อให้เป็นรัศมี แท้ที่จริงแล้วรัศมีในร่างกายของพระพุทธองค์นั้นออกมาหนึ่งวา นี่ก็คือพลังของจิตของพระพุทธองค์นั้น สร้างพลังจิตมาถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์ เพราะฉะนั้นพลังจิตนั้นจึงทำให้พระองค์มีความผ่องใสอยู่ตลอดเวลา ร่างกายของพระองค์นั้นจึงเป็นร่างกายที่มีความกระชุ่มกระชวยผ่องใส มีรัศมีเป็นต้น 

อันนี้พระสาวกต่างๆก็เป็นได้เช่นเดียวกัน แต่ว่าจะเป็นถึงขั้นพระพุทธเจ้านั้นย่อมไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าต้องบำเพ็ญบารมีถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์ พระสาวกต่างๆนั่นก็จะมีร่างกายผ่องใสเท่านั้นแหละ เหมือนกันกับพระอัสสชิ ท่านพระอัสสชินั้นท่านเดินไปพบกับพระอุปติสสะ คือพระสารีบุตร พระสารีบุตรได้มองเห็นร่างกายของพระอัสสชิซึ่งได้ครองจีวรแล้วถือบาตรเดินมา ท่านมองไป ท่านก็ออกอุทานในใจว่า พระภิกษุองค์นี้ทำไมร่างกายถึงผ่องใสนัก ชะรอยจะมีธรรมะเรียกว่าวิมุตติธรรมเป็นแน่แท้ ท่านพระสารีบุตรในตอนนั้นท่านยังไม่ได้บวช ท่านจึงได้เข้าไปกราบท่านพระอัสสชิ เพราะเห็นร่างกายผ่องใส 

อันนี้แหละที่พวกเราท่านทั้งหลายจงพากันเข้าใจเถิดว่า สมาธินั้นคุณประโยชน์มากมายเหลือ เรียกว่ามหาศาลจริงๆ จึงสมควรแก่การที่เราจะได้พากันฝึกฝนให้เกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นมาในใจของเราแล้ว เราเองก็จะรู้ รู้ คือรู้ว่าเป็นอย่างไร มันสบายอย่างไร มันดีอย่างไร มันวิเวกอย่างไร มันซาบซึ้งอย่างไร มันละเอียดอ่อนอย่างไร มันผ่องใสอย่างไร มันนุ่มนวลอย่างไร มันเบาอย่างไร จะเกิดขึ้นแก่ผู้ที่มาฝึกสมาธิทุกคนที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า สันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเองเป็นต้น 

เมื่อเราได้ประสบผลเช่นนี้ เราก็จะมีความภาคภูมิใจ ภาคภูมิใจก็คือเรามีกุศล เรามีวาสนา เรามีบารมีความดีที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นได้จริงๆ ไม่ได้สักแต่ว่าคิด ไม่ได้สักแต่ว่าพูด แต่ว่าเกิดขึ้นมาได้จริงๆ เพราะฉะนั้นเราท่านทั้งหลายจงใช้ความสามารถ ใช้ความมานะ ความพากเพียรเท่าที่ความสามารถเรามีอยู่นั้น เอามาใช้สำหรับการทำสมาธินี่ แล้วชีวิตของเรานี้ก็จะเป็นชีวิตที่มีคุณค่าสูงสุด ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบแล้วซึ่งพระพุทธศาสนา 

แล้วเหตุประการหนึ่งเราท่านทั้งหลาย ร่างกายของเรานี้ที่เราได้มานี่ มันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเพราะมันจะต้องเกิดและดับ เวลาก่อนนั้นเราก็เด็ก มาอีกหน่อยเราก็เป็นหนุ่มเป็นสาว มาอีกหน่อยเราก็เป็นคนมีอายุ มาอีกหน่อยเราก็แก่ลงซะแล้ว รอว่าวันไหนจะตาย วันไหนจะดับจิต เวลาที่ยังไม่ตายก็มีเสียง เวลาตายแล้วก็หมดเสียง คือหมายความว่าหมดชาติ เมื่อถึงเวลานั้นเราจะรู้ได้ว่า จิตที่เราทำสมาธิไว้นั้นมีประโยชน์เพียงใด เพราะว่าเมื่อเวลาที่จิตของเราจะออกจากร่างนั้น สมาธินี้จะรวมประชุมให้ผลประโยชน์แก่เราอย่างเต็มที่ เมื่อร่างกายแตกดับไป แต่ใจของเรานั้นไม่ได้แตกดับไปตามร่างกาย ใจนี้เรียกว่าเป็นอมตะ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นวัตถุของโลก ร่างกายนี้เป็นวัตถุของโลกเท่านั้นเอง เกิดมาก็ดับโลกไป เรียกว่ามนุษย์โลก แต่ใจนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของโลก ไม่ได้ดับไปกับโลก แต่เป็นอมตะ เป็นสิ่งที่ไม่ตาย ร่างกายนี้เป็นสิ่งที่ตาย ส่วนใจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ตาย 

เมื่อใจเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ใจจึงมีคุณค่าสูง ที่เราพากันปฏิบัตินี้ก็ถูกต้องแล้ว ด้วยเหตุนี้เอง ท่านผู้ที่มีความฉลาด มีความเข้าใจในตัวของตัวเอง เราเรียกท่านผู้นั้นว่า เมธีชน หรือเรียกว่าคนผู้ที่มีปัญญา หรือเรียกว่า วิญญูชน ชนผู้ที่มีความรู้สูง ผู้ที่มีความรู้สูง หรือผู้ที่มีปัญญาที่ถูกต้องนั้น ท่านเหล่านั้นได้เป็นผู้ที่เข้าใจหาหนทางที่จะปฏิบัติความดีเหล่านั้น ไม่ว่าจะทุกยากลำบากแค่ไหน ท่านเหล่านั้นท่านก็ยอมกัน แม้ชีวิตจะสิ้นไปด้วยการปฏิบัติ ท่านก็ยอม 

ยกตัวอย่างเช่น ท่านพระโสณะ โสณะนั้นไม่ใช่โสณะองค์ที่มาประกาศศาสนาที่ประเทศไทย แต่เป็นโสณะที่อยู่ในอสีติมหาสาวก ในครั้งพุทธกาลนั้นท่านเดินจงกรม เมื่อเดินจงกรมไปแล้วนั้น เท้าของท่านแตก แล้วท่านก็คลานจงกรม จนกระทั่งหัวเข่าแตก แล้วท่านจึงมานั่งสมาธิปลงอนิจจัง แล้วได้สำเร็จ 

มีอยู่อีกองค์หนึ่ง ท่านไปเดินธุดงค์ไปในป่าดงเสือ เดินจงกรม เดินไปเดินมาท่านก็เท้าแตก เสร็จแล้วท่านก็คลานจงกรม เมื่อคลานจงกรมแล้ว นายพรานนึกว่าอีเก้งจึงได้ฟัดหอกถูกท้องไส้ไหล นายพรานเห็นเช่นน้ันรีบเข้าประคอง จับไส้ยัดเข้าไปแล้วก็เอาใบไม้จุก แล้วก็แบกขึ้นบนบ่า พระท่านก็ไม่โกรธ ท่านบอกว่า แบกอาตมาไปหาอาจารย์นะ ท่านก็แบกพระองค์นั้นไป ท่านก็ทำสมาธิอยู่บนบ่าของนายพราน ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ 

และอีกองค์หนึ่งท่านก็เดินจงกรมในที่แห่งนั้น แต่ก็ถูกเสือตะครุบเอา เสือกัด เมื่อเสือกัดท่านก็ทำสมาธิอยู่ที่ปากเสือ ท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์อยู่ที่ปากเสือ นี่เราก็พอจะคงเข้าใจได้ว่า ทำไมท่านถึงได้เสียสละชีวิตถึงขั้นนั้นในการที่จะแสวงหาวิมุตติธรรม 

อย่างที่สี่องค์ที่ขึ้นไปอยู่บนผาชัน ตัดไม้พะอง เป็นไม้ต่อๆกันขึ้นไป แล้วก็ไปนั่งสมาธิอยู่ที่ผาชัน แล้วก็ใช้เท้าถีบไม้พะองนั้นทิ้ง ก็เป็นอันว่าลงไม่ได้ องค์หนึ่งพอทำสมาธิไปได้หนึ่งวันก็ได้สำเร็จ แล้วก็ไปบิณฑบาตมาเลี้ยงสามองค์ สามองค์ก็บอกว่า ไม่ฉัน ยอมตาย พอถึงอีก ๗ วัน องค์ที่สองก็ได้สำเร็จเป็นพระอนาคา เหาะไปบิณฑบาตเอามาเลี้ยงอีกสององค์ สององค์ก็บอกว่า ไม่ฉัน สององค์ก็ตายสมใจ คือไม่ได้สำเร็จ ก็เลยตายอยู่บนภูเขานั่น อีกองค์หนึ่งได้มาเป็นกุมารกัสสป แล้วปฏิบัติได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ องค์หนึ่งนั่นได้มาเกิดเป็นพระพาหิยะ แล้วปฏิบัติก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในชาติต่อมา 

เราจะเห็นได้ว่า การกระทำนั้นไม่เสียเปล่า ถึงแม้ท่านจะตายอยู่บนยอดเขา แต่ภายหลังท่านก็มาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในชาติต่อมา ด้วยเหตุอย่างนี้พวกเราท่านทั้งหลายที่ได้พากันกระทำนี้ ย่อมจะต้องเป็นนิสัย เป็นปัจจัยให้แก่เราไปทุกภพทุกชาติ ไม่ว่าเราจะไปเกิดในที่ใด สมาธินี่จะติดตนตามตัวเราไปทุกหนแห่ง เมื่อเราทำสมาธิได้มากแล้ว เราก็ไม่ควรที่จะรีรอ หาวิธีการที่จะปฏิบัติให้ก้าวหน้าต่อไป จากสมถกรรมฐานให้เป็นวิปัสสนากรรมฐาน 

ดังที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นเรื่องของสมถะ คือทำความสงบ การทำความสงบนั้นก็อาศัยการกระทำให้มาก เมื่อกระทำให้มากแล้ว ความสงบนั้นมากขึ้น จิตนี้ก็กลายเป็นพลังจิต เมื่อจิตนี้กลายเป็นพลังจิต จิตนี้ก็มีกำลังแก่กล้าตามลำดับ เมื่อจิตมีกำลังแก่กล้าตามลำดับแล้ว ท่านก็ให้เจริญวิปัสสนา 

บางคนนั้นกล่าวว่า เจริญวิปัสสนาล้วน ไม่มีสมาธิ อันนี้เป็นไปไม่ได้ จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องมีสมาธิพอเป็นเบื้องบาท ถ้าไม่มีสมาธิเลย จะบำเพ็ญวิปัสสนาล้วน ก็ไม่ถูกต้อง บางคนนั้นคิดว่าเราบำเพ็ญวิปัสสนาคือเรียนอภิธรรม เรียนอภิธรรมจนกระทั่งรู้จักจิตเท่านั้นดวง เท่านี้ดวง แล้วก็เรียนถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถึงเรียนไปเท่าไหร่ ว่าเป็นวิปัสสนานั้น มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะวิปัสสนาที่จะให้เกิดเป็นวิปัสสนาจริงๆนั้น ต้องเป็นวิปัสสนาที่เกิดขึ้นจากพลังของจิตสมดั่งที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคได้ทรงตรัสไว้ว่า สัมมาสมาธิ 

สัมมาสมาธินั้นคือฌาน ๔ ในมรรค ๘ นั้นมีข้อสำคัญอยู่ข้อหนึ่งในข้อสุดท้ายนั้น เรียกว่า สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธินั้นก็คือฌาน ๔ ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ฌานทั้ง ๔ นั้นเป็นสัมมาสมาธิ เป็นองค์มรรคในจำนวนมรรคทั้ง ๘ ก็เป็นเอาได้ความว่า ถ้าจะพิจารณาถึงอริยสัจ หรือพิจารณาถึงวิปัสสนาแล้ว จะต้องมีสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิ มรรคก็จะขาดไปองค์นึง มรรคนั้นมี ๘ ถ้าขาดสมาธิก็เหลือ ๗ อันนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นการดำเนินวิปัสสนานั้นจะต้องดำเนินไปจากการที่ทำจิตนี้ให้สงบ มีกำลังแก่กล้า 

เมื่อจิตสงบมีกำลังแก่กล้าแล้วจะเกิดกระแสจิต กระแสจิตนั้นก็เหมือนกับกระแสไฟ เราเห็นดวงไฟนั้น บางทีก็สว่างน้อย บางทีก็สว่างมาก ที่สว่างน้อยก็เพราะแรงเทียนน้อย ที่สว่างมากก็เพราะแรงเทียนสูง ข้อนี้เป็นข้อเปรียบเทียบ ผู้ที่มีพลัง มีกำลังจิตแก่กล้า มีกำลังมาก กระแสจิตก็สูง ผู้มีกำลังน้อย กระแสจิตก็ต่ำ 

แต่อย่างไรก็ตาม พระพุทธองค์นั้นทรงตรัสว่า ญาณะ ญาณะคือความหยั่งรู้ การที่จะหยั่งรู้ได้นั้น ที่จะให้เป็นญาณะนั้น จะต้องมีจุดเรียกว่าจุดหนึ่ง จุดหนึ่งนั้นเราจะสังเกตได้ที่ตรงไหน จุดนั้นถ้าบุคคลใดมีกำลังจิตพิจารณารูป คือรูปของเรานี่แหละ จะเป็นรูปร่างกายทุกส่วนอย่างใดก็ตาม ถ้าเราพิจารณาเห็นร่างกายอันนี้ เกิดนิพพิททาญาณความเบื่อหน่ายขึ้นมา นั่นแหละเรียกว่าจุด เรียกว่าจุดที่จะทำให้เกิดญาณะ คือความหยั่งรู้ แล้วก็ญาณะอันนี้ที่เรียกว่าวิปัสสนา 

การที่จะทำจิตให้ไปถึงขั้นนั้นนั่น ก็จำเป็นที่จะต้องไต่เต้าไปจากสมถะคือความสงบ เมื่อไต่เต้าไปจากความสงบนี้ ก็ไปถึงจุดนั้นก็เรียกว่าใกล้ต่อความสำเร็จ ดั่งที่ท่านปัญจวัคคีย์ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ แล้วก็เกิด รูปัสมิงปิ นิพพินทะติ เบื่อหน่ายในรูป การที่เกิดขึ้นเช่นนั้น เรียกว่าญาณะ ได้เกิดขึ้นแก่ท่านปัญจวัคคีย์แล้ว แต่ญาณะอันนี้เองที่นักปฏิบัติทั้งหลายเรียกว่าเจริญวิปัสสนา ทำให้เกิดขึ้นให้ได้ การทำให้เกิดขึ้นให้ได้นั้นต้องอาศัยการซ้ำลงไปที่เก่า เหมือนกันกับคนฟันต้นไม้ การฟันต้นไม้นั้น เราต้องฟันลงไปที่เดียว ไม่ใช่ว่าเราฟันตรงโน้นทีตรงนี้ทีนั้น โค่นต้นไม้ไม่ล้ม การจะโค่นต้นไม้ให้ล้มต้องฟันลงไปที่เดียวฉันใด การที่เราจะทำจิตนี้ให้ถึงญาณะ คือให้ถึงวิปัสสนาที่แท้จริง ต้องย้ำลงไปที่เดียวคือร่างกาย หรือเรียกว่ารูป ที่พระองค์ได้ทรงตรัสยืนยันในมหาสติปัฏฐานว่า 

กาเย กายานุปัสสี วิหะระติ 

อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา 

วิเนยยะ โลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง

มหาสติปัฏฐานนั้นยกกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นอันดับแรก คือให้พิจารณากายใน กายนอก พิจารณากายในก็คือพิจารณาร่างกายของเรา พิจารณากายนอกก็คือพิจารณาร่างกายของคนอื่น การพิจารณาอันนี้ถือว่าเป็นวิปัสสนา แต่ว่าเมื่อเรายังไม่ถึงวิปัสสนา เราจะยกกายอันนี้ขึ้นกำหนดก็ได้ เพราะเป็นเครื่องสอบทาน หรือเรียกว่าเป็นเครื่องที่จะทดสอบว่าจิตอันนี้ถึงวิปัสสนาหรือยัง ถ้าเรามองไปมันก็เท่านั้น มองไปก็เท่านั้น เราก็นึกเอาว่าร่างกายนี้แก่ตายเน่าเปื่อย มันก็เท่านั้น ไม่เกิดความสังเวชสลดใจ ไม่เกิดนิพพิททาญาณ ยังไม่เบื่อหน่าย อันนั้นเรียกว่าญาณะยังไม่เกิดขึ้น วิปัสสนายังไม่เกิดขึ้น 

ถึงไม่วิปัสสนายังไม่เกิดขึ้น มันก็ไม่เสียหายที่ตรงไหน ถ้าเราจะเอาจิตของเราเข้าพิจารณาก็ได้ แต่การพิจารณาที่เราจะทำให้เกิดขึ้นมาได้อย่างแท้จริงนั้น ก็ต้องอาศัยกาลและเวลา เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ความพร้อมก็เกิดขึ้น ถ้าความพร้อมเกิดขึ้นเมื่อไร นิพพิททาญาณก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น ความพร้อมนั้นอะไรเป็นที่ทำให้พร้อม ก็คือพละ เพราะฉะนั้นท่านจึงแสดงถึงว่า ศรัทธาพละ วิริยะพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ พละก็แปลว่ากำลัง ศรัทธาก็มีกำลัง ความเพียรก็มีกำลัง สติก็มีกำลัง สมาธิก็มีกำลัง ปัญญาก็มีกำลัง 

แต่ที่จริงแล้วนั้น สมาธิเป็นตัวประสานงาน เป็นตัวตั้งต้น เมื่อสมาธิมีกำลังแล้ว ส่วนอื่นก็มีกำลังตามไปด้วย เรียกว่ากำลังต้องให้เป็นที่เพียงพอ ที่ท่านแสดงว่า วิริยะพลัง สติพลัง สมาธิพลัง อะไรอย่างนี้ ท่านแสดงถึงว่าผู้ที่ทำสมถะมามากพอแล้ว ก็บังเกิดวิปัสสนาขึ้น เมื่อบังเกิดวิปัสสนาขึ้น ก็เรียกว่าเป็นผู้มีพลัง ถ้าไม่มีพลังก็ไม่เกิดวิปัสสนา 

ทีนี้เมื่อเกิดวิปัสสนาขึ้นมาแล้วอย่างนี้ ท่านบอกว่าเจริญให้มาก กระทำให้มาก การเจริญให้มาก กระทำให้มากดังที่ท่านแสดงไว้ในอนัตตลักขณสูตรว่า 

รูปัส๎มิงปิ นิพพินทะติ เวทะนายะปิ นิพพินทะติ สัญญายะปิ นิพพินทะติ สังขาเรสุปิ นิพพินทะติ วิญญาณัส๎มิงปิ นิพพินทะติ นิพพินทัง วิรัชชะติ 

เบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณแล้ว ก็คลายจากความกำหนัด เมื่อคลายจากความกำหนัดแล้ว ท่านผู้นั้นก็ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ขีณาชาติ ท่านผู้นั้นก็ถือว่าเป็นผู้สิ้นไปจากกิเลส การที่จะเกิดต่อไปอีกก็ไม่มีอีกแล้ว นี่เรียกว่าทำกันถึงที่สุดก็เป็นอย่างนี้ ถึงเรียกว่าพระนิพพาน 

พระนิพพานนั้นเป็นสถานที่ที่อยู่ของผู้หมดกิเลส ไม่มีสิ่งที่จะอามิสต่างๆ หรือว่าความเกิดแก่เจ็บตายหรือว่าทุกข์ต่างๆที่จะเข้ามาเจือปนไม่มีอีกแล้ว การไปถึงพระนิพพานนั้นถือว่าเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์องค์แรก จึงเรียกว่าสัมมาสัมพุทธะ ต่อมาจึงเป็นสาวกะพุทธะ จนกระทั่งถึงพวกเราก็สามารถทำให้ถึงซึ่งพระนิพพานได้เหมือนกัน แต่เมื่อยังไม่ทันถึง เราก็ต้องพยายามกันเรื่อยไป ต่อไปก็นั่งสมาธิกันต่อไปอีก