หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
ในวันพระวันศีล สนใจกันแต่วันเสาร์วันอาทิตย์ เลยหมุนไปตามสากลเขาส่วนมาก ไม่ช่วยกันรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของพระพุทธศาสนาไว้เลย ไอ้เรื่องวันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำนี่ มันมีมาในพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่ล่วงแล้วมา และที่จะมีต่อไปเบื้องหน้าโน่นก็เหมือนกันนะ ไม่ใช่เพิ่งมีแต่พุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าของเรานี้เท่านั้นนะ เพราะฉะนั้นแหละ วัน ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำเนี่ย จึงชื่อว่าเป็นวันอุโบสถโดยแท้จริง ท่านผู้สร้างบารมีทั้งหลาย ท่านก็ถือเอาวัน ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำนี่เป็นวันรักษาอุโบสถศีลของผู้ครองเรือนทั้งหลาย
แม้แต่พระพุทธเจ้าของเรา ตอนที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระมหาชนกน่ะ ไปค้าในสำเภาแตก แล้วก็แหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรทะเล ถึงวันที่ ๗ มองขึ้นท้องฟ้า เห็นพระจันทร์เต็มดวง ก็เลยเข้าใจว่าวันนั้นเป็นวันอุโบสถ วัน๑๕ค่ำ อมน้ำทะเลบ้วนปากล้างปากแล้วก็สมาทานอุโบสถศีลด้วยตนเอง ด้วยอานิสงส์ที่สมาทานอุโบสถศีลนั้น ก็ร้อนถึงเทพธิดาผู้รักษามหาสมุทร เทพธิดานั้นจึงได้เหาะตรวจดูท้องน้ำมหาสมุทรไป ก็จึงไปเห็นพระมหาชนกโพธิสัตว์ลอยคออยู่กลางน้ำมหาสมุทรทะเล ก็จึงได้ซักถามกัน ทดลองความจริงใจว่าท่านจะแหวกว่ายไปทำไม มหาสมุทรกว้างใหญ่ไพศาล มองไม่เห็นฝั่งเลย ถึงจะแหวกว่ายไปยังไงก็ไม่พ้นหรอก ทำไมจึงมาแหวกว่ายอยู่อย่างนี้ มหาชนกโพธิสัตว์ก็ตอบเทวดาว่า ธรรมดาบัณฑิตทั้งหลายก็ต้องทำอย่างนี้แหละ ไม่ควรที่จะปล่อยให้ชีวิตของตนแตกดับไปโดยที่ตนไม่ได้พยายามช่วยตัวเองเลย คนที่หมดหวังในชีวิต โดยไม่ได้พากเพียรพยายามช่วยตนเองเลยนั่น แสดงว่าคนสิ้นคิด คนไม่มีความคิดเลย คนไม่มีความอดทน อันนั้นไม่ใช่วิสัยของนักปราชญ์ เมื่อมหาชนกตอบเทวดาอย่างนั้น เทวดาก็พอใจมาก ก็จึงลงไปอุ้มเอาพระมหาชนกนั้นขึ้นไปวางไว้แท่นบัลลังก์ของกษัตริย์เมืองตักศิลาในครั้งนั้น บุญก็บันดาลให้รถเสี่ยงทายให้วิ่งมาเกยเอา ไปเสวยราชครองเมืองตักศิลาอยู่ครั้งนั้นน่ะ เนื่องจากว่าพระมหากษัตริย์องค์ก่อนนั้นสวรรคตไป
นี่แหละการรักษาอุโบสถศีลนี่ จึงได้ชื่อว่าเป็นธรรมเนียมของนักปราชญ์ทั้งหลายตั้งแต่ไหนแต่ไรมา แม้ว่าพระพุทธเจ้าไม่บังเกิดขึ้นในโลก แต่ท่านผู้สร้างบารมีทั้งหลายท่านก็รักษาศีล ๕ ศีลอุโบสถตามกาลเวลาอย่างว่านี่แหละ พอผู้ที่สร้างบารมีทั้งหลายมาระลึกได้ ถึงจะไม่มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น แต่มันก็มีพวกฤาษีดาบสแนะนำสั่งสอนเอา ให้รู้จักข้อวัตรปฏิบัติ
อย่างในตระกูลกษัตริย์ ศากยะราช คือตระกูลพระพุทธเจ้าของเราเนี่ย เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติบังเกิดขึ้น ในตระกูลของพระพุทธเจ้านี่ก็พากันไปนับถือกบิลดาบสนั้นเป็นอาจารย์ ผู้ให้ศีล ๕ หรือ ศีลอุโบสถ ถึงวันอุโบสถมา ท่านก็ไปสมาทานอุโบสถกับกบิลดาบส ได้แก่พระเจ้าสุทโธทนะ กับพระนาางสิริมหามายาเทวี และพระญาติพระวงศ์ผู้ใหญ่ เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติบังเกิดขึ้นใหม่ๆนั้น กบิลดาบสก็เข้าไปในพระราชวัง ไปขอดูพระราชโอรส พระเจ้าสุทโธทนะก็ให้แม่เลี้ยงนางนมเอาอุ้มมาให้พระฤาษีได้ดู พระฤาษีดูบุคลิกลักษณะของพระองค์แล้วก็ได้กราบลงไป พอกราบลงไปแล้วก็ร้องไห้ เมื่อมีผู้ถามว่าทำไมจึงร้องไห้ ร้องไห้เพราะว่าพระราชกุมารนี่เจริญวัยใหญ่โตขึ้นมา แล้วจะได้ออกบวช จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในโลก แต่ข้าพเจ้าจะมีอายุอยู่ไปไม่ทันถึงนั้นเลย ก็จะหมดอายุก่อนแล้ว น่าเสียดาย
อันนี้แหละธรรมดาท่านผู้รู้ทั้งหลายเป็นอย่างนี้แหละ เมื่อท่านรู้จักว่าคนนี้เป็นคนมีบุญ เป็นคนดี ถึงแม้จะเป็นผู้มีอายุมากกว่าตั้งหลายเท่าก็ยอมกราบยอมไหว้ แม้พระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพระบิดาของพระองค์ตอนไปแรกนาขวัญนั่นน่ะ พระองค์ไปนั่งสมาธิอยู่ใต้ต้นหว้านั่น จิตบรรลุถึงปฐมฌาณ จึงเอาพวกเงาไม้หว้านั้นไม่สามารถที่จะส่ายไปตามเวลาบ่ายได้เลย เงาไม้หว้าคงที่ พระเจ้าสุทโธทนะได้เห็นบุญญานุภาพของพระสิทธัตถะราชกุมารอย่างนั้น ก็นั่งคุกเข่าลงกราบพระราชโอรสของตน
นี่แหละลองพิจารณาดู ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ท่านไม่ถือเนื้อถือตัว ถือเอาความดีเป็นที่ตั้ง เมื่อท่านผู้ใดมีคุณสมบัติอันดีงามเหนือกว่าตนอย่างมากมายแล้ว ถึงจะเป็นผู้มีอายุหย่อนกว่าก็ตาม ก็แสดงความเคารพนับถือ เป็นอย่างนั้น อันบุคคลผู้ที่ไม่ถือเอาเหตุผลเป็นประมาณ หรือไม่ถือเอาความดีเป็นหลักอย่างนี้แล้วก็ แม้ว่าผู้นั้นจะมีคุณสมบัติดีวิเศษยังไงก็ตาม ถ้าตนมีอายุมากกว่าแล้ว ก็ไม่ได้แสดงความเอื้อเฟื้อนอบน้อมอะไรต่อเลย กลัวเสียเกียรติ เค้ามีอายุน้อยกว่าตน อย่างนี้แหละคนธรรมดาสามัญทั่วๆไป ไม่ได้ถือเอาความดีเป็นเครื่องเทิดทูน หมายความว่าอย่างนั้น
ทีนี้นักปราชญ์ทั้งหลายนั้นท่านถือเอาความดีเป็นเครื่องเทิดทูนชีวิตจิตใจของตน ท่านเกลียดต่อความชั่ว ขึ้นชื่อว่าความชั่วแล้ว รู้แล้วว่านี้คือความชั่วอย่างนี้แล้วก็ ไม่ปรารถนาจะทำมันเลย หาทางหลีกเลี่ยง อันนี้แหละเรียกว่าเป็นนิสัยของนักปราชญ์ บรรดาพวกเราที่เป็นพุทธศาสนิกชนอย่างนี้แหละ แสดงความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างนี้ ก็สมควรที่จะบำเพ็ญตนเป็นนักปราชญ์ ไม่ควรที่จะแสดงตัวเป็นแต่ปุถุชนอยู่เรื่อยไป นี่เราเป็นสาวก สาวิกาของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงวางพระองค์อย่างไร ทรงแนะนำสั่งสอนให้วางตนอย่างไร เราก็พยายามดัดจริตนิสัยของเราให้ลงสู่ธรรมวินัยคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เต็มความสามารถของตน นี่แหละจึงเรียกว่าเป็นผู้มีความเชื่อเลื่อมใสและเคารพอย่างจริงใจ
ถ้าหากว่าเราไม่น้อมตนลงสู่ธรรมสู่วินัยอย่างว่านี้นะ กิเลสมันก็ไม่เบาบางลงไปได้เลย นั่นแหละ เพราะฉะนั้นเรื่องมานะทิฐิจึงชื่อว่าเป็นที่รวบรวมไว้ซึ่งกิเลสบาปธรรมกิเลสทั้งหลาย ขอให้พากันเข้าใจ ความเป็นผู้อ่อนน้อมต่อธรรมต่อวินัยอันนี้เป็นอุบายกำจัดกิเลสบาปธรรมให้เบาบางออกไปจากจิตใจ เพราะว่าเรื่องศีลธรรมนี้เป็นของอ่อนละเอียดนิ่มนวล สงบเย็น ไม่แข็งกระด้าง ดังนั้นถ้าเราไม่น้อมกาย น้อมวาจา น้อมใจลงไปสู่ธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นั้น มันก็ไม่มีอันใดที่จะมากำจัดกิเลสบาปธรรมออกไปได้
เอ้า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ธรรมดาไม้อ่อนเนี่ย ลมพัดมา มันก็ล้มลงไปไม่ใช่เหรอ บางคนก็อาจจะคิดอย่างนั้นน่ะ อันอย่าไปเปรียบเทียบเอาไม้ เอาธรรมชาตินั้นมาใส่กับธรรมะอันเป็นฝ่ายกุศล มันเข้ากันไม่ได้ คือหมายความว่ากิเลสบาปธรรมทั้งหลายนั่นน่ะ มันก็ใจของเรานั่นแหละเป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อใจสร้างมันขึ้นมาแล้ว กิเลสบาปธรรมเหล่านั้นมันก็ทำใจให้แข็งกระด้างกระเดื่อง นี่ มันเป็นอย่างนั้น ทีนี้เมื่อบุคคลมาเห็นโทษของกิเลสบาปธรรมเหล่านั้นว่ามันจะพาตนให้ทำกรรมอันชั่วหนักเข้าไปเรื่อยๆ จะพานำตนไปสู่ทุกข์ในวัฏสงสารนี้ ไม่รู้จักจบจักสิ้น เมื่อผู้ใดรู้อย่างนั้นแล้ว ก็พยายามน้อมกายวาจาใจของตนลงสู่ธรรมสู่วินัยคำสอนของพระพุทธเจ้านี้ เมื่อใจมันฝักใฝ่หรือมันดูดดื่มในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้าไปแล้วอย่างนี้ มันก็ละทิ้งซึ่งความโลภ ความโกรธ ความหลงอันนั้น ไม่สะสมกิเลสเหล่านั้นให้หนาแน่นขึ้นในจิตใจของตน เป็นอย่างนั้นเรื่องมันน่ะ
เพราะว่าคนเรานี่นะ ถ้าหากว่าเรามองหาใครซึ่งไม่มีคุณสมบัติเหนือกว่าตนมากมายแล้ว มันไม่ยินดีที่จะนอบน้อมเลย ไม่พอใจที่จะเคารพนับถือเลย นิสัยปัจจัยของมนุษย์เรามันน่ะ เป็นมาแต่ไหนแต่ไร เป็นอย่างนั้น ดังนั้นแหละท่านผู้ที่จะเป็นผู้นำสัตว์โลกทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์น่ะ จึงต้องสร้างบารมีเอามากมาย จนว่าพระบารมีธรรมอันนั้นแก่กล้าเต็มบริบูรณ์ตามพุทธภูมิ ภูมิของพระพุทธเจ้าแล้ว นั่นแหละพระองค์จึงได้ตรัสรู้ เมื่อตรัสรู้แล้วก็ประกอบไปด้วยคุณธรรม ๑๐ ประการน่ะ ซึ่งไม่มีในพระสาวกเลย ที่ท่านเรียกว่าทศพลญาณ พระองค์ทรงไว้ซึ่งพระญาณ ๑๐ อย่าง
พระญาณอันสำคัญที่สุดก็คือพระสัพพัญญุตญาณ แปลว่าญาณที่หยั่งรู้สัพพเญยยธรรมทั้งหลาย สุดท้ายก็เรียกว่ารู้อริยสัจธรรมทั้ง ๔ อันนี้แหละ นับว่าเป็นพระปรีชาญาณอันสำคัญน่ะของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือว่าพระองค์ค้นพบอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ก่อนคนอื่นทั้งหมด แล้วก็ไม่มีใครแนะนำอุบายต่างๆให้พระองค์เลย พระองค์ใช้ความสามารถของพระองค์ พากเพียรพยายามไป ก็ถึงได้รู้แจ้งในอริยสัจธรรมทั้ง ๔ นี้ได้ เหตุนั้นท่านจึงเรียกว่าเป็นอัจฉริยบุคคล แปลว่าบุคคลที่น่าอัศจรรย์มาก อัศจรรย์ความเพียร ความพยายาม ความอดทนของพระองค์นั่นแหละ อัศจรรย์พระปัญญาอันยิ่งเหนือมนุษย์และเทวดาทั้งหลายนั่น
ก็ถึงขนาดนั้นแหละ มนุษย์และเทวดาทั้งหลายผู้มีเกียรติมียศชื่อเสียง เช่นพระราชา มหากษัตริย์ เศรษฐี มหาเศรษฐีพวกเนี้ย ก็จึงได้ยอมเคารพนอบน้อมต่อพระองค์ นอกจากนั้นแล้วก็ได้แก่พวกฤาษีดาบส อะไรที่ถือตัวว่าตนผู้มีฤทธิ์มีเดชอยู่นั่นน่ะ ก็ต้องได้ไปยอมนอบน้อมต่อพระองค์ สำหรับท่านผู้มีบารมีแก่กล้าแล้ว ก็ได้ขอบวชในสำนักของพระองค์ บวชแล้วบำเพ็ญไปไม่นานท่านก็ได้สำเร็จอรหันต์ หมู่นี้ก็ล้วนตั้งแต่ได้ลดทิฐิมานะของตนลงทั้งนั้นแหละ ที่ตนสำคัญว่าตนดีมาแต่ก่อนนั่นน่ะ ลดทิ้งหมดเลย ไม่เอา นั่นแหละ มายอมรับเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านี่ ยกใส่เกล้าเข้าใส่หัว ประพฤติปฏิบัติตามด้วยความไม่ประมาท
ถ้าเป็นฆราวาสนิสัยก็น้อมเอาทานมัยนี่เข้าไปตั้งไว้ในจิตใจของตน ยินดีในการบริจาคทานทุกเมื่อ นั่นแหละ น้อมเอาศีล ๕ ศีลอุโบสถไปใส่ใจไว้ รับปฏิบัติตามโดยความไม่ประมาท อย่างนี้แหละ น้อมเอาสมาธิภาวนานี่เข้าไปไว้ในใจ คือว่าฝึกหัดนั่งสมาธิภาวนาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ สำหรับฆราวาสก็ลองฟังดูซี่ ทาน ศีล ภาวนา ไม่ใช่ว่าภาวนาแต่ภิกษุสามเณรเท่านั้นนะ แม้ผู้ครองเรือนก็ภาวนาเหมือนกัน
แต่คนส่วนมากน่ะไม่ค่อยสนใจเลย สนใจแต่กินๆทานๆไปตามประเพณีเท่านั้นแหละเป็นส่วนมาก แม้แต่ศีลนี่ก็ไม่ค่อยสนใจกันเลย เอาแต่มันจะได้ เอ้า ถ้าเข้าวัดทีนึง ก็สมาทานศีล ๕ เสียครั้งนึง แล้วก็แล้วไป เมื่อออกจากวัดไปแล้ว ศีล ๕ ก็ฝากไว้กับพระ ไม่ได้เอาติดตัวไปในบ้านเลย อย่างนี้มีอยู่ถมไปเป็นอย่างนี้ น่าทุเรศ อันนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้ซาบซึ้งในคุณของศีลด้วยปัญญาของตนเองเลย ไม่ได้มองเห็นว่า ศีลอันนี้เป็นสมบัติอันล้ำค่าสำหรับชีวิตของตนน่ะ ไม่ได้คิดเห็นเลย คนส่วนมากน่ะนึกว่าเป็นประเพณีเฉยๆ รับศีลก็รับไปตามประเพณีเท่านั้นแหละ เมื่อเลิกจากวัดวาอารามไปแล้วก็แล้วไปเลย ก็ยังไปทำความชั่วอยู่เหมือนเดิม อย่างนี้มีอยู่ถมไป เป็นอย่างนั้น
ความจริงน่ะ ศีลน่ะเป็นสมบัติอันล้ำค่าจริงๆอ้ะ เพราะผู้ใดมีศีลแล้ว ผู้นั้นจะเป็นผู้ไม่ทำบาป ผู้ไม่ทำบาปแล้วก็ชีวิตนี่มันก็จะไม่หมุนไปสู่ทุกข์ทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า ละโลกนี้ไปแล้ว ถ้าหากว่ามันจะต้องไปเกิดอีกก็เกิดในสถานที่มีความสุขความเจริญยิ่งๆขึ้นไป เช่นสวรรค์ดั่งที่ตำราท่านกล่าวไว้นั่นแหละ คนทั้งหลายไม่ได้น้อมจิตคิดพิจารณาให้เห็นคุณค่าของศีลว่าเป็นของประเสริฐ จะนำชีวิตของตนให้บรรลุถึงซึ่งความสุขอันยั่งยืนนาน นี่ คนทั้งหลายมาติดแต่ความสุขชั่วคราวอยู่อย่างนั้นแหละ พอมาเกิดมาเป็นคนแล้ว มีอวัยวะร่างกายสมบูรณ์ กินก็ได้ นอนก็หลับ ฟ้อนรำขับร้องดีดสีตีเป่าอะไรก็ได้ อย่างนี้แล้วก็ถือตนมีความสุขสบาย แล้วก็ลืมเสีย ลืมศีลลืมธรรม ลืมบุญลืมบาปไปเลย ตนทำบาปอยู่ก็ไม่รู้ตัว อย่างนี้แหละ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วมันจะไปนำตนให้พ้นทุกข์ได้อย่างไรอ้ะ เกิดไปชาติใดก็จะไปเสวยแต่ทุกข์จากกระทำบาปกรรมอันนั้น ไม่รู้จักละ ไม่รู้จักถอน เลยไม่คิดที่จะละบาปเลยในชีวิตน่ะ คนส่วนมากเป็นอย่างนั้น
ดังนั้นในที่นี้จึงขอเตือนเพื่อนพุทธบริษัททั้งหลาย ขอให้สำนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ให้มาก นึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั้นพระองค์เจ้าตรัสรู้แจ้งแทงตลอดเรื่องบาปบุญคุณโทษจริงๆ ถ้าหากว่าพระองค์ไม่รู้จริงนั้น พระองค์ไม่ได้ทรงแนะนำสั่งสอนพุทธบริษัทเลย เหมือนอย่างเช่นพระองค์เจ้าเสด็จออกบวชทีแรกนั่นแหละ เมื่อยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ไม่ได้สอนคนเลย และก็ไม่ได้ประกาศความตรัสรู้อะไรให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั้นฟังเลย
เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กับเมืองพาราณสีนั่นน่ะ ภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็ยังไปต่อว่าพระองค์ เมื่อพระองค์ประกาศว่าจะแสดงธรรมให้ฟังอย่างนี้ อัญญาโกณฑัญญะก็คัดค้านพระองค์ว่าพระองค์นั้นไม่ได้ตรัสรู้เลย เพราะว่าคลายความเพียร เวียนมาเป็นคนมักมาก ไฉนจะได้ตรัสรู้ อย่างนี้แหละ เมื่อพระองค์เจ้าทรงตักเตือนว่า ไอ้คำพูดเช่นนี้น่ะ เราเคยพูดมารึเปล่าตั้งแต่ที่ล่วงแล้วมา ตั้งแต่เรากับท่านทั้งหลายอยู่ด้วยกันน่ะ เราได้เคยพูดอย่างนี้หรือไม่ ให้ทบทวนดู เมื่อท่านเหล่านั้นทบทวนดู ก็ปรากฏว่าพระองค์ไม่ได้พูดอย่างนั้นซักทีเลย พระองค์ไม่ได้พูดว่าพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว อย่างนี้นะ ไม่มีเลย ดังนั้นแหละ ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั้น จึงได้สำคัญว่าพระองค์เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้วจริงๆ จึงได้แสดงความเคารพกราบไหว้ ยอมตน ที่จะฟังธรรมคำสอนของพระองค์ อย่างเนี้ยน่ะ
ถ้าหากว่าท่านภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั่นน่ะ ไม่ยอมเคารพหรือว่าเชื่อถือถ้อยคำของพระองค์ ที่พระองค์ทรงแสดงว่าพระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วนั้น พระองค์ก็จะไม่แสดงธรรมให้แก่ฤาษีทั้ง ๕ นั้นเลยแหละ เพราะว่าถึงแสดงไปแล้วมันก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งได้เลย เนื่องจากว่าจิตใจแข็งกระด้างกระเดื่อง ไม่เชื่อไม่เคารพ ลองพิจารณาดูซิ ความเคารพนอบน้อม ความเชื่อนี่นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะให้คนเราได้บรรลุถึงกุศลธรรมต่างๆ นับแต่โลกียกุศลไปจนถึงโลกุตตรกุศลนั่นแหละ มันเกิดขึ้นได้ด้วยอาการที่เราเคารพอ่อนน้อมลงไปจริงๆ
น้อมตนลงไปต่อทานอย่างนี้นะ ก็อย่างที่พระพุทธเจ้าแนะนำไว้ นั่นแหละ ก่อนจะให้ทานก็ยกของทานจบศีรษะก่อน นั่นแสดงว่าเราเคารพต่อทาน เราเชื่อว่าทานนี้มีผลดีจริง ผลทานนี้จะอำนวยความสุขให้เราจริง เนี่ยเราจึงได้แสดงความเคารพต่อทานนั้นก่อน จึงได้น้อมเข้าไปถวายผู้รับ นั่นแหละ เราน้อมตนต่อศีลอย่างนี้น่ะ ตอนที่เราจะรักษาศีล เราก็ได้กราบได้ไหว้ ได้อาราธนาศีลเข้าไป นั่นแสดงว่าพอใจที่จะรับเอาศีลนั้นไปปฏิบัติตาม จึงได้กล่าวคำอาราธนาต่อพระ ขอให้พระท่านประกาศศีลให้ ให้ท่านเป็นสักขีพยาน ว่าพวกข้าพเจ้าทั้งหลายจะรักษาศีล ๕ หรือว่ารักษาศีลอุโบสถ อันประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ จะไม่ให้ขาด ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย
นี่แหละ มันเป็นความสัตย์ความจริงนะ เราตั้งความสัตย์ความจริงลง ก็เป็นการแสดงความอ่อนน้อมต่อศีลจริงๆ เมื่อสมาทานแล้วก็สำรวมระวังตนจริงๆ ไม่ให้ศีลมันด่างมันพร้อย อย่างนี้มันก็มีอานิสงส์มากแล้วบัดนี้น่ะ การรักษาศีลนั่นน่ะ เพราะว่าเราต้องน้อมกาย วาจา ใจ ลงต่อศีลจริงๆ ถ้าหากว่าไปใจแข็งกระด้างกระเดื่องเข้าไปแล้ว ซักหน่อยศีลก็ขาดแหละบัดนี้นะ รักษาศีลไว้ไม่ได้เลย เป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นแหละ อันชีวิตของคนเรานี่ ที่มันจะถึงซึ่งความบริสุทธิ์ผุดผ่อง จากกิเลสบาปธรรมได้ ก็เพราะอาศัยการที่เรายึดมั่นอยู่ในข้อปฏิบัติสามประการนี้เอง ถ้าเป็นพระภิกษุสามเณร ก็เป็นผู้มั่นอยู่ใน ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเป็นทายก ทายิกา ก็เป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในทาน ในศีล ในภาวนา โดยความไม่ประมาท ทำความพอใจในข้อปฏิบัติอย่างนี้ อย่างแก่กล้าดีเดียว ไม่ใช่พอใจธรรมดา พอใจอย่างหนักแน่นเลยอ้ะ ในชีวิตของเรานี่จะไม่ละเว้นจากข้อปฏิบัติอันนี้เลย นี่สมาทานมั่นลงไปอย่างนั้นจริงๆ
เมื่อผู้ใดสมาทานมั่นลงไปอย่างนั้นแล้ว ลงมือปฏิบัติไปตามนั้นแล้ว บุญกุศลมันก็เกิดได้ทุกเวลาเลย ในตัวของบุคคลผู้นั้นก็เต็มไปด้วยบุญกุศลน่ะ เมื่อเป็นผู้สั่งสมบุญกุศลใส่ตนอยู่เป็นประจำอยู่อย่างนั้นแล้ว บาปมันก็ไม่มีโอกาสจะแทรกแซงเข้าไปได้เลย นี่นั่นแหละ สาเหตุที่บาปมันจะหมดไปสิ้นไปจากกาย วาจา ใจได้ ก็เพราะว่าบุคคลมาทำความพอใจในบุญกุศลให้มากขึ้นเรื่อยๆ เอ้า ไม่ได้ให้ทาน วัตถุ สิ่งของ ก็สำรวมในศีลให้บริสุทธิ์ ไม่ล่วงศีล อันนั้นมันก็เป็นบุญกุศลส่วนหนึ่งแล้ว เอ้า นอกจากให้สำรวมในศีลแล้วนั้น เราก็มีภาวนา เพราะว่าเรื่องรักษาศีลก็ดี ภาวนาก็ดี ไม่ได้สิ้นเปลืองเงินทองข้าวของอะไรเลย เพียงแต่มาสำรวมกาย วาจา ใจของตนให้มันสงบระงับลงไป จากความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้ให้ได้ เรียกว่าทำให้กิเลสเหล่านี้มันสงบลง แต่มันก็ยังไม่ขาดเด็ดลงไปได้ก่อนหรอก แต่ขอให้มันสงบลงไป ให้มันอ่อนกำลังลง
นี่ เราต้องพยายามภาวนาตัดรอนมัน ให้มันเบาลงไปเรื่อยๆ เช่นอย่างความโลภนี่มันก็พอเบาอยู่บ้าง คนผู้เลื่อมใสในศีลธรรมแล้วซึ่งจะไปคิดอยากจะได้สมบัติผู้อื่นมาเป็นของตนแล้ววางแผนฉ้อโกงหลอกลวงเอาโดยทางทุจริตอย่างนั้น คงไม่มี แต่ว่าเรื่องความโกรธนี่ซี่ ความโกรธเนี่ย ถึงแม้ว่าผู้รักษาศีลฟังธรรมอยู่ มันก็ยังมีอยู่ในใจอยู่นี่ เมื่อใครพูดอะไรไม่สบกับอารมณ์แล้วมันก็หงุดหงิดขึ้นมา นี่มันมีอยู่ เพราะฉะนั้นต้องให้สำรวจตรวจตราดูจิตใจของตนให้มากทีเดียว ต้องสังเกตไปเป็นระยะๆไป ระยะเวลาที่มีอารมณ์ไม่ดีไม่งามกระทบกระทั่งเข้ามาน่ะ ตนมีสติควบคุมจิตได้เพียงไหน ไม่ให้จิตมันหวั่นไหวหรือว่าหงุดหงิดหรือว่าโกรธไปในเรื่องนั้นน่ะ เรื่องไม่พอใจนั่นน่ะ ตนควบคุมจิตใจของตนได้เพียงไหน หรือว่าควบคุมจิตใจไม่อยู่ ถ้าตนสังเกตตนไปเรื่อยๆมันก็รู้ได้
พอรู้ว่าตนยังควบคุมจิตให้ตั้งมั่นต่อเรื่องนี้ยังไม่ได้ จิตยังหวั่นไหวไปอยู่ ตั้งสติสัมปชัญญะให้กระชับเข้าไปกว่านั้น ระมัดระวังจิตใจของตน สำรวมจิตของตนให้แน่วแน่ไปกว่านั้น แล้วใช้อุบายปัญญา สอนจิตใจให้เห็นโทษแห่งความโกรธ ความหงุดหงิดในจิตใจ แม้ไม่แสดงออกทางกายวาจาก็ตาม เพียงแต่แสดงออกทางกิริยาใจ กิริยาของจิตใจนั้นมันก็เป็นชนวนที่จะให้แสดงออกมาทางกาย วาจาได้เหมือนกันแหละ เมื่อมันก่อตั้งกิเลสเหล่านี้ให้มากๆขึ้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อเราประพฤติปฏิบัติเข้มงวดเข้าไปจริงๆแล้วก็ระวังอย่าให้จิตมันหงุดหงิดเลย เมื่อได้กระทบกับอารมณ์ที่ท่านเรียกว่าอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่ชอบใจนั่นน่ะ แล้วก็สะกดจิตไว้ ไม่ให้มันหวั่นไหวไปตามอารมณ์นั้นให้ได้ เมื่อเราสะกดมันไว้บ่อยๆเข้าไปอย่างนี้ มันก็เข้มแข็งขึ้นหละบัดนี้นะ มันก็ไม่เผลอ เมื่ออารมณ์มันเช่นนั้น กระทบกระทั่งต่อไปมันก็รู้สึกเฉยๆไม่ตื่นเต้นอะไรเลย เพราะมันมีกำลังสมาธิ กำลังสติ…(เทปจบ)