Skip to content

อุโบสถศีล

หลวงพ่อชา สุภัทโท

| PDF | YouTube (เริ่มนาทีที่ 28.05)| AnyFlip |

พากันตั้งใจฟัง ให้โอกาสแก่ผู้แสดงธรรมและให้โอกาสแก่จิตใจของเจ้าของเพื่อบรรลุถึงธรรมะ วันนี้เป็นวันปัณรสี คือเป็นวันที่ ๑๕ ค่ำแห่งปักษ์ เป็นวันที่ชาวพุทธเราทั้งหลายมาชุมนุมในศาลาโรงธรรมที่นี่ และพร้อมวันนี้ อาตมามีโอกาสจะมาเยี่ยมเยียนพวกชาวศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย มีพระชาคโรเป็นประธานในสำนักนี้ ได้มาพักอยู่นี้ประมาณสองคืน กลางคืนมาก็เลยอบรมพระ ภิกษุสามเณรพอสมควรตามกำลัง 

วันนี้โยมทุกคนแล้วแต่คนจะตั้งใจทำอุโบสถศีล ธรรมดาทุกๆวันเรารักษาศีล ๘ ประการ เป็นวันอุโบสถศีล วันหนึ่งคืนหนึ่ง อันนั้นเป็นประเพณีที่เราทำมา เป็นระเบียบกฏอันหนึ่งที่ตั้งขึ้นเฉพาะผู้ที่รักษาอุโบสถศีล ดังนั้นวันนี้อาตมาจะพลิกความรู้และความเห็นในวันอุโบสถศีลนี้ วันอุโบสถวันนี้โดยธรรมดาแล้วก็พระประกาศศีล โยมทั้งหลายก็ว่าไปตาม เรียกว่าสมาทานวิรัติ 

การที่เราจะรักษาศีลนั้นมี ๓ ประการ หนึ่ง เราจะขอสมาทานกับพระภิกษุ สมาทานวิรัติอันหนึ่ง สัมปัตตวิรัติอันหนึ่ง เรางดเว้นด้วยตนเอง เรารู้ว่าปาณา อทินนา กาเม มุสา สุรา ตลอดไปถึงอุโบสถศีล เรารู้แล้ว เราก็ละเอง ไม่ต้องไปสมาทานกับใคร อันนี้ก็เป็นศีลประการหนึ่ง ประการที่สามเป็น สมุทเฉทวิรัติ เป็นศีลของพระอริยเจ้า เป็นศีลที่ว่ากำหนดละเลย ตั้งไว้ในใจเด็ดขาดว่าอะไรเราก็จะเลิกมัน อันนี้ละไปเลยเด็ดขาดไม่ต้องสมาทานกับใคร อันนี้เป็นศีลพระอริยเจ้า สมุทเฉท ตัดขาดไป ผู้นี้มีสติคุ้มครองจิตแล้วเสมออยู่ว่าดูอยู่ด้วยตนเองตลอดกาล ตลอดเวลา ศีลมีทางที่เกิดขึ้นได้อย่างนี้ สัมปัตตวิรัติ สมาทานวิรัติ สมุทเฉทวิรัติ สมาทานวิรัติก็คือว่าตามพระไป สัมปัตตวิรัติ งดเว้นด้วยตนเอง ไม่ต้องสมาทานกับใคร คือเรารู้แล้วว่าไอ้สัตว์ที่ไม่ควรฆ่า เราก็ไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ต้องไปถามใคร รู้แล้ว ไม่ต้องทำ สมุทเฉทวิรัติ ขึ้นชื่อว่าบาปน่ะ ฉันเลิกเลย ตลอดชีวิตไปเลย ขึ้นชื่อว่ามันเป็นบาปเป็นกรรมทางกาย ทางวาจาหละฉันก็เลิกแต่วันนี้ เรียบร้อย นี่เรียกว่าสมุทเฉทวิรัติ ตัดขาดไปเลย

ทีนี้ทั้งสามประการนี้เป็นพื้นฐานของพระนิพพานทั้งนั้น สมาทานวิรัติก็เป็นพื้นฐานของพระนิพพานได้ สัมปัตตวิรัติก็เป็นพื้นฐานของพระนิพพานได้ สมุทเฉทวิรัติก็ไปได้ อันนี้อุบาสก อุบาสิกาเราทั้งหลายบางทีก็ข้องใจ ศีลนี่จะคิดว่าจะไปเรียนกับพระอยู่ทุกเวลา ใครอยากจะได้ศีล ต้องไปอาราธนา มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สหะปัญจะ สีลานิ ยาจามะ คิดว่าอย่างนี้จึงจะได้ศีล จึงจะเป็นศีล นอกจากนี้ไปเราก็ไม่มีพระ ไม่รู้ว่าจะไปรับศีลที่ไหน บางทีก็จนตายเลย จนเพราะความโง่ของเราเอง เรารู้ว่ากินสุรามันบาป เราก็เลิกเอาเท่านั้นเองแหละ ไม่ต้องไปถามใครแล้ว เรารู้แล้ว มันก็ไม่เมาเหมือนกัน มันก็ไม่เมา มันก็ผิดอันศีลบริสุทธิ์อยู่แล้ว ศีลเดิมเป็นอย่างนี้ จะไปสมาทานกับคนอื่นนั้นก็เรียกว่าเรายังไม่รู้จักศีล ท่านก็บอกไป ท่านก็ว่าไปก่อน บอกไป เรียกว่าประกาศศีล ขนาดนั้นก็ยังไม่รู้หละ 

ศีลนี่ถ้าพูดรวมแล้วมันเป็นพื้นฐานของธรรมะ ถ้าไม่มีศีลเนี่ย ธรรมะเกิดขึ้นไม่ได้ เหมือนกับพ่อแม่ไม่มีลูกเกิดขึ้นที่ไหนไม่ได้ ลูกเกิดไม่ได้ ฉะนั้นศีลเนี่ยจึงเป็นพ่อแม่ของธรรมะ ธรรมะเกิดขึ้นได้เพราะคนมีศีล คนรักษาศีล คนบริสุทธิ์ผ่องใสสะอาด ฉะนั้นบรรดาที่คนเราทั้งหลายนั้นจึงพากันสมาทานศีล ไอ้ความเป็นจริงนั่น สมาทานศีลนั่นเมื่อไรก็ได้ เมื่อไรก็ได้ อาตมายังถูกลูกศิษย์ชาวยุโรปถามอยู่ว่า เอ๊ะ ไอ้คนไทยเนี่ย พระไทยเนี่ย ปฏิบัติพุทธศาสนาเนี่ย ทำไมทำไม่เหมือนกัน เข้าพรรษาแล้วก็ปฏิบัติอย่างหนึ่งก็มี ออกพรรษาแล้วก็ปฏิบัติอย่างหนึ่งก็มี ทำไมถึงทำอย่างนั้น ออกพรรษากับเข้าพรรษาทำไปเรื่อยๆไม่ได้เหรอ บางคนคนไทยเข้าพรรษาก็อด ไม่ต้องกินเหล้า นั่น ออกพรรษาไม่ทันไร โอ้ย หาขวดเหล้ามาเรียงกันไป กินจนหัวราน้ำเลย ทำไมคนไทยถึงทำอย่างนั้น 

อาตมาเลยตอบว่า เค้าเป็นบ้า พวกนั้นเค้าเป็นบ้า พวกผีบ้า แต่ก็ดี มันไม่บ้าตลอดกาล มันบ้าชั่วคราว ในพรรษามามันหายบ้า ยังดีอยู่ ออกพรรษาหละเป็นบ้า ดีกว่าคนเป็นบ้าตลอด เข้าพรรษาก็เป็นบ้า ออกพรรษาก็เป็นบ้า ดีกว่าคนฝูงนั้นอยู่ครึ่งนึง ไม่รู้จะตอบยังไงเค้า เค้าว่าออกพรรษาทำไม่ได้…ได้ ทำไมไม่ทำ ออกพรรษาแล้ว ทำไมทำงั้น คือเว้นข้อวัตรปฏิบัติเพื่อคนที่มีโอกาสน้อย โอกาสน้อย ศรัทธาน้อย กำลังไม่พอ ดีกว่าจะไม่ทำ เช่นว่า (ขโมย)ของกันนี่มันบาป ในพรรษามาก็หยุดซะ อย่ามีขโมยเลย ก็ยังดีกว่า ดีกว่ามีขโมยทั้งพรรษา ออกพรรษา มีขโมยอยู่ตลอดกาล นั่นร้ายกว่า ให้เค้าหยุดการขโมยซะในพรรษานั่น ก็ยังดีอยู่ครึ่งนึง คนละ ๕๐% เรียกว่าบรรเทาเท่านั้นน่ะ 

ในทางที่ดีแล้ว การสร้างความดีแล้ว ไม่ว่าออกพรรษาแล้ว ไม่ว่าจะเข้าพรรษาแล้ว เราก็จะพยายามสร้างความดีอยู่อย่างนั้น เหมือนกับเรากินข้าวน่ะ ในพรรษามาก็หยุดซะ ไม่ต้องกินมัน เอางั้นดิ ออกพรรษามาถึงกินอย่างนั้นเหรอ มันก็ดีแบบนึง เปลืองข้าวครึ่งนึงถ้าเราทำได้อย่างนั้น การสร้างความดีก็ต้องเป็นอย่างนั้น นี่ก็เลยบัญญัติที่เรียกว่าไอ้คนที่ว่าไม่ได้มาก ให้ได้ซักครึ่งนึงอย่างนี้ คนมันก็ง่ายๆ เอาทางง่ายมันซะ ก็ดีไปอย่างหนึ่ง ก็เหมือนเราภาวนาแหละ ภาวนาทำไงรู้มั้ย นั่งภาวนาได้มั้ย…ได้ ยืนภาวนาได้มั้ย…ได้ นอนภาวนาได้มั้ย…ได้ คนร้อยนึงมันก็นอนภาวนากันหมด ลักษณะการนอนภาวนามันสบายนี่ ยืนจะมีกี่คน มันลำบากนี่ ยังไงก็เป็นสมาธินอนกัน สบายกว่า คนเรามันถึงเกียจตนอย่างนั้น 

อันนี้หละวันพระ ศีลนี่มันจะเป็นพื้นฐาน ถ้าหากออกพรรษาก็ดี เข้าพรรษาก็ดี ถ้าคนเราขาดศีลอยู่เมื่อไหร่นั้น ก็เป็นคนไม่พอคน เป็นคนครึ่งหนึ่ง หรือไม่ถึงครึ่ง เพราะว่าศีลน่ะเป็นคุณสมบัติของมนุษย์ ถ้าหากว่า คนเราปราศจากศีลแม้วันหนึ่ง ก็เป็นคนไม่สมบูรณ์วันหนึ่ง ปราศจากศีลปีหนึ่งก็เป็นคนไม่สมบูรณ์ปีหนึ่ง ถ้าเป็นคนมีศีลบริสุทธิ์ดีแล้ว เป็นคนสมบูรณ์ พอคน มันพอคน ถ้าคนไม่พอคน มันก็คนกึ่งๆกลางๆ คนครึ่งๆกลางๆ ก็คือคนไม่เต็มพื้นของคนนั่นแหละ ไม่เต็มคน เพราะว่าศีลนี่เป็นคุณสมบัติของมนุษย์ อย่างน้อยก็เรียกว่า ถ้าโยมแม่บ้าน พ่อบ้านมีศีลกัน ก็เป็นคนสมบูรณ์ ไม่ต้องทะเลาะกัน ถ้าศีลไม่ค่อยมี เอาเหอะ ไม่วันใดวันหนึ่งต้องทะเลากัน หรืออย่างใดอย่างหนึ่งจนได้หละ เกิดเหตุขึ้นมาเมื่อไหร่นั่นน่ะ ขาดศีลแล้ว คือคนไม่สมบูรณ์ พูดไม่รู้เรื่องกันเลย ผู้หญิงก็พูดไม่รู้เรื่อง ผู้ชายก็พูดไม่รู้เรื่อง ผู้หญิงทะเลาะเบาะแว้งกันไป นั่นคือคนขาดจากศีล 

ดังนั้นศีลนี่จึงเรียกว่า เป็นคุณสมบัติของคน ถ้าคนไม่มีศีลเท่าไหร่เป็นต้น ก็เรียกว่าเป็นคนพร่องจากคน ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นศีลจึงจัดเป็นพ่อเป็นแม่ของธรรมะ ธรรมะที่จะเกิดขึ้นมาได้ ก็เพราะศีลเป็นพ่อเป็นแม่ ธรรมะเศร้าหมอง ศีลก็เศร้าหมอง ศีลเศร้าหมอง ธรรมะก็เศร้าหมอง มันเป็นซะอย่างนี้ ฉะนั้นจึงพูดอยู่สม่ำเสมอว่าให้โยมพากันรักษาศีล ไอ้ตามความเป็นจริงนี่ ศีลนี่ให้มีอยู่ตลอดเวลานั่นหละดีมากที่สุดหละ ให้มีสติอยู่ คุ้มครองตัวอยู่ รักษาตัวอยู่ สังวรอยู่ สำรวมอยู่อย่างนี้ 

บางคนเข้าใจว่าถ้าไม่ได้สมาทานกับพระแล้ว แล้วก็คงจะไม่ได้ศีลละมั้ง ต้องหาพระจนได้หละ ต้องไปกราบลง หาพระ ไปเรียนกับพระ ให้พระบอก ให้เข้าใจกันใหม่ วันนี้อาตมาไม่ต้องบอกหรอก เทศน์บอกเอา สมาทานวิรัติวันนี้ให้ชาคโรขึ้นมาธรรมาสน์ ก็ว่า นโมตัสสะให้ด้วย โยมก็ว่าไปตามหมดทุกคนเลย เรียกว่าสมาทานวิรัติ อันนั้นก็เป็นศีลอันหนึ่ง แต่ว่าทำไปเรื่อยๆ โยมก็คงไม่เข้าใจ อีกวันหนึ่ง ชาคโรจะขึ้นธรรมาสน์เฉย…ไม่ต้องให้ศีลโยม โยมก็ว่าชาคโรเป็นอะไรน้อวันนี้น้อ โกรธให้โยมมั้งนี่ ทำไมไม่ให้ศีลโยมซะแล้ว เป็นอะไรน้อ ไม่รู้นะ แน่ะ เราคิดว่าถ้าชาคโรไม่บอกศีล เราก็ใจไม่สบาย นึกว่าท่านชาคโรเป็นอะไรก็ไม่รู้ หรือว่าเป็นโรคประสาทก็ไม่รู้นี่ ไม่ค่อยพูดกับโยมเลย นี่คิดทั่วๆไป ถ้าหากว่าวันใดที่ท่านขึ้นมานั่งเฉย เทศน์มาก็แล้วไป วันนี้เราตั้งใจมาแต่บ้าน รู้จักแล้วศีลเราจะต้องรักษา วันหนึ่งคืนหนึ่งก็ได้ หรือหลายๆวันหลายๆคืนก็ได้ สัมปัตตวิรัติ อย่าไปติด พวกเราทั้งหลายอย่าไปติดแบบ อย่าไปติดตำรา อย่าไปหมายถึงครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ให้พูดถึงสิ่งที่ว่ามันเป็นธรรม 

เหมือนกันกับที่ว่าเราเป็นนักเรียน เราไปเรียนหนังสือในโรงเรียน ถ้าเรายังรู้ไม่ได้ เราก็ไปเรียนหนังสือในโรงเรียน อ่านในโรงเรียน เขียนในโรงเรียน สอนในโรงเรียน จนกว่าเราสอบป.๔ อ่านได้แล้ว เขียนได้ ทุกอย่างแล้ว เราก็ออกจากโรงเรียนมา เมื่อเพื่อนเขียนจดหมายมาหาเราที่บ้าน เราก็อ่านที่บ้านเลย ไม่ต้องถือมาอ่านในโรงเรียนหรอก เขาส่งให้เรา อยู่ถนนหนทางเราก็อ่าน ถ้าเรารู้ได้หนังสือ เราก็อ่านตรงไหนก็รู้ว่าเค้าว่าอะไร เค้าทำอะไร ไม่ต้องถือจดหมายวิ่งมาอ่านโรงเรียนหรอก เมื่อจะเขียนจดหมายเป็นต้น ก็เขียนไปเลย อยู่ถนนหนทางนั่นก็เขียนได้ อยู่ในบ้านเราก็เขียนส่งไปได้ เพราะเราเขียนได้แล้ว ไม่จำเป็นจะถือกระดาษปากกามาเขียนอยู่ในโรงเรียน อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น อันนี้เราก็ไม่ต้องไปว่าตามกับพระ เพราะเรารู้ข้อปฏิบัติมาแล้ว ท่านสอนให้เราก็เอา เราก็ฟัง เป็นศีลทั้งนั้น อันนี้เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นตำรับตำราจนเกินไป 

อาตมาเคยไปเมืองลาว ก่อนที่เมืองลาวเป็นอิสระอยู่น่ะ ไปอ่าน ไปเทศน์ให้เค้าฟัง ขึ้นธรรมาสน์อาตมาก็เทศน์เลย ไอ้เค้าก็สงสัย เอ้ พระองค์นี้ทำไมเทศน์ไม่มีปึ้ง หนังสือน่ะ ตำราเค้าเรียกว่าปึ้ง เอ้ บางคนเค้าก็สะกิดกันว่า เอ้ เทศน์กันเหมือนพูดไปเฉยๆเว้ย เค้าไม่ควรจะเชื่อได้ เทศน์ไม่มีหลักฐาน ธรรมดาเค้าต้องยกปึ้งใหญ่ๆ อ่าน เค้าเตรียมใจเค้า เค้าว่าเทศน์มีที่พึ่ง มีหลักฐาน มีปึ้งมีตำรา นี่คือมันติดซะจนเกินไป ติดซะจนเกินไป อะไรที่เราจำได้แล้ว เราเข้าใจแล้ว เราก็พูดไปเลย ก็ยังไม่พอใจ 

นี่หละพุทธศาสนาของเรานั้น การเรียนหนังสือนั่นเพื่อให้เข้าใจ การอ่านหนังสือเพื่อให้เข้าใจ เมื่อเราเข้าใจแล้ว เราก็ขว้างหนังสือเข้าป่าเลย พูดเลย คุณจะไปไหน…ผมจะไปบ้านผม ไม่ต้องเอาหนังสือมาอ่านว่า “ผมจะไปบ้านผม” เรารู้เราจะไปบ้าน เราไม่ต้องอ่านหนังสือหรอก “ผมจะไปบ้านผม” ไปทำไม..ไปเยี่ยมคนโน้น แล้วก็พูดไปเลย ไม่จำเป็นจะต้องเอาหนังสือไปกางอ่านทั้งนั้นน่ะ ฉิบหายเท่านั้นหละ ทำไง นี่คือมันติดซะจนเกินไปซะ เรารู้ความหมายแล้ว เราก็พูดกันไปเลย นี่ก็เรียกว่า ไอ้ความจำได้หมายรู้เราเนี่ยในใจเราก็พูดไปอันนี้ อันนี้ไม่ติดแบบ ไม่ติดตำรา อันนั้นมันเมืองลาว จะไปอะไร๊ก็ช่างมันเถอะ ต้องถือปึ้งไป เทศน์ตามปึ้ง เทศน์ตามตำรา เทศน์ไป เค้าจึงเชื่อแน่ว่า เค้าแน่ใจว่าเค้าได้ฟังธรรมะ อาศัยปึ้งใหญ่ๆ ไม่รู้ว่าใครเขียนก็ไม่รู้ ไอ้คนที่เขียนน่ะเข้าใจผิดหรือเข้าใจถูกก็ไม่รู้ นั่นเค้าเชื่อกันอย่างนั้น นั่นก็เหมือนกันน่ะ นั่นก็ติดแบบ ติดตำรา ถ้ามีพระท่านไปอธิบายธรรมะให้ฟังโดยพิสดาร โดยปากเปล่านั่นก็ไม่ค่อยเลื่อมใส ว่าเทศน์ไม่มีตำรา เทศน์เอาแต่ความเห็นของตัวไปอย่างนั้น อันนี้มันติดถึงขนาดนั้น 

ไอ้พวกเราทั้งหลายนั่น ซึ่งเป็นนักศึกษาพุทธศาสนาหลายปีมานานแล้ว ไม่ควรที่จะไปติดอยู่อย่างนั้น ดูเหตุผลที่ว่า ไอ้คำที่ท่านพูดขึ้นนั้น วาทะที่ท่านทำนั้น มันมีเหตุผลหรือเปล่าอย่างนี้เป็นต้น ให้เราพิจารณาให้ดี อย่าไปติดแบบติดตำรา ถ้าเราเข้าใจแล้ว ธรรมะมันไม่มีหลาย มันมีอันเดียว มันมีอันเดียว ถ้าเราพูดขึ้นเช่นนี้ มันก็อันเดียว คนอื่นพูดที่ไหนมันก็อันเดียวกันทั้งนั้น เมื่อเรารู้แล้ว มันก็รู้จักธรรมะในตัวมัน ไม่ต้องเลือกแบบ เลือกตำรา ทำตำราขึ้นเพื่ออ่านให้เข้าใจ เพื่อเรียนให้เข้าใจแล้ว ก็พอแล้ว มีแต่หลักการจะปฏิบัติต่อไปเท่านั้น อันนี้เมืองไทยเราเป็นต้น ติดแบบติดตำรามาตลอดทุกวันเนี้ย ติดจนกว่าที่ว่าท่านเทศน์อธิบายปากเปล่าให้ฟัง บางทีลุกไปเลย กลัวมันจะผิดไป 

ในสมัยที่รุ่นหลังอาตมามานั่นน่ะ เทศน์เนี่ยก็ยาก ท่านไม่ให้ค่อยให้เทศน์ เทศน์อริยสัจ ๔ ไม่ได้ เทศน์ ทุกข์ เทศน์สมุทัย นิโรธ มรรค เทศน์ไม่ได้ ไล่เลย พระองค์ใดเทศน์ “เอ้ย นั่นธรรมะพระอริยเจ้า เอามาเทศน์ทำไม มรรคผลนิพพานอย่าเอาไปเทศน์เลย บาป อันนั้นคำเทศน์ของพระอริยเจ้า มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เนี่ย อย่าเอามาพูดเลย ไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องของเราเป็นแต่ผู้ฟัง อย่าเอามาพูด สูงไป” อย่างนี้หละ กักขังกันไว้ที่นี่ ไม่บรรลุธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ เราก็เหมือนกันทุกๆคน อย่าให้เข้าใจอย่างนั้น 

นี่เรียกว่าศีล ศีลนี้คือตัด หรือแปลว่าตัดเลย (นาทีที่ 47.10-47.15ท่านเทศน์สำเนียงอีสาน) ที่ว่าศีลก็ได้ ที่ว่าตัดก็ได้ให้มันขาดออกจากความชั่วทั้งหลาย ศีละหรือแปลว่าหิน มันเป็นของหนัก ไม่เป็นของเบา ทิ้งลงน้ำมันก็จมดิ่งลงไป เป็นของหนักแน่น ถ้าเรามีศีลคือเราไม่มีโทษทางกาย ไม่มีโทษทางใจ ไม่มีโทษทางวาจา เราก็พูดได้ถนัดเลย เราพูดได้ถนัดเลย พูดตรงไปตรงมาเลย ไม่กลัว ไม่เกรง เป็นผู้อาจหาญ กล้าพูดกล้าทำในทางที่ถูก ไม่เกรง ไม่หวาด ไม่กลัวใครทั้งนั้นน่ะ นี่หละศีลจึงเป็นผู้องอาจในที่ประชุมชน หรือว่าจะตายก็องอาจ เราไม่ทำความชั่ว เมื่อเราทำแล้ว เราก็ละแล้ว เลิกแล้วก็ไม่มีอะไร ใจเราก็สบาย องอาจรู้จักอันตรายทั้งหลายแล้ว ก็ว่าโทษอะไรเราไม่มี ไม่ทัดทานต่ออันตรายทั้งหลายนี้ 

ฉะนั้นศีลนี้จึงได้เป็นพื้นฐานของธรรมะ เป็นพื้นฐานของสมาธิ เป็นพื้นฐานของปัญญา ถ้าปัญญาเกิดในที่มีศีลก็เรียกว่าเป็นสุปัญญา เกิดในสิ่งที่ไม่มีศีลนั้น ไม่เป็นพื้น ก็เป็นปัญญา แต่เป็นทุปัญญา ปัญญามันสุปัญญา ก็คือปัญญามันดี ทุปัญญาก็ปัญญามันชั่ว ปัญญาในทางพุทธศาสนาคือปัญญาที่ดี มีสมุฏฐานอันเกิดมาจากศีล เกิดจากความบริสุทธิ์เป็นต้น อันนี้หละเป็นบ่อเกิดของบุญกุศลอันหนึ่ง ที่ท่านจัดได้ว่า ไม่กระทำบาปทั้งหลายทั้งปวงนั้น ด้วยกายวาจานั้น ท่านจัดเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา เป็นหลักของพุทธศาสนา เป็นหัวใจพุทธศาสนา นี่ หัวใจพุทธศาสนา

เมื่อหากว่าจิต กาย หรือวาจาของเราไม่มีโทษ ใจเราก็เย็นลง ใจเราก็เย็น เย็นลงก็ทำสมาธิก็เกิดง่าย จิตก็เป็นบุญ จิตก็เป็นกุศล เพราะไม่มีเรื่องราวอะไรต่างๆเป็นพื้น นั่นเรียกว่ามันเป็นไวพจน์ของสมาธิ สมาธิมันก็เกิดขึ้น สมาธิคือความตั้งใจมั่น เมื่อความตั้งใจมั่นมีขึ้น มันก็เป็นไวพจน์ให้เกิดปัญญา ปัญญาคือความรู้แจ้งแทงตลอด อะไรทั้งหลายทั้งปวงนั้น รู้จักเหตุผล รู้จักถูกเป็นถูก รู้จักผิดเป็นผิด อันนี้ก็เหมือนกันที่คนไม่มีปัญญาน่ะ ที่ว่าเทศน์หนังสือที่ไม่มีตำรายกขึ้นมาก็เรียกว่ามันผิด นี่คือหมดปัญญา แต่ว่าปัญญาสาก ไม่ใช่ปัญญามันดี เรียกว่าการประพฤติปฏิบัติของเราทั้งนั้น เรียกว่าศีล สมาธิ เรียกว่าปัญญา อยู่ตรงนี้ 

ฉะนั้นเมื่อเราท่านทั้งหลายรู้แล้ว เมื่อไรจะเป็นวันพระหรือไม่เป็นวันพระก็ตาม หาโอกาสอยู่ในบ้านเรา วันนี้หรือในขณะนี้ ฉันเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ อันนี้เห็นของที่จะควรขโมย ฉันก็ไม่เอาแล้ว เลิก นี่ เป็นศีลขึ้นมาแล้ว นี่สัตว์ควรจะฆ่ามัน ฉันก็ไม่เอาหละวันนี้ เลิกมัน มันก็เป็นศีลอยู่เดี๋ยวนั้น ง่ายๆอย่างนี้ ศีลมันเป็นอย่างนี้ ไอ้สิ่งนี้ไอ้คนที่ขโมย ก็ไม่ขโมยวันนี้ เลิก กินเหล้า สิ่งที่มึนเมามันผิดศีล เอ้า ฉันจะไม่กินแล้วทีนี้ เลิก มันก็เป็นศีลอยู่แล้ว อันนั้นมันเป็นสัมปัตตวิรัติ ที่เราเดินผ่านมา นั่งรถผ่านมา มีแต่ผ่านฝูงศีลมาทั้งนั้นหละ แต่ญาติโยมทั้งหลายไม่รู้จักศีล ก็นึกว่าศีลอยู่ในชาคโร ชาคโรท่านจะมีศีลอะไรให้เรา ท่านก็อยู่ของท่าน 

ให้เข้าใจว่าศีลมันอยู่ทุกทิศทุกทาง เมื่อเราตั้งใจรักษาขึ้น มันก็เป็นศีลขึ้นเดี๋ยวนี้ เจตนาเป็นศีลขึ้นอยู่เดี๋ยวนี้ มันก็เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ ให้เข้าใจซะอย่างนั้น อย่างนี้เราจะมีปัญญากว้างขวาง ไม่จำเป็นที่เราจะต้องมาไปหาพระ แล้วก็ไปกราบพระ แล้วก็ไปสมาทานศีลกับพระ นี่ผู้รู้แล้วจะต้องง่าย การประพฤติก็ง่ายขึ้น การปฏิบัติมันก็ง่ายขึ้นถ้าเรารู้จักหละ ถ้าเราไม่รู้จักก็ลำบากหลาย ลำบาก ศีลเราจะเอาเมื่อไร เอาเมื่อเรายังไม่ตาย 

อาตมาไปเคยสงสาร เห็นคนฝูงหนึ่ง พ่อตาย เอาใส่ในหีบแล้ว นิมนต์พระให้ไปมาติกา คนเป็นก็อาราธนาศีลขึ้น ลูกชายก็ไปเคาะโลง ปุๆๆ “พ่อ รับศีลเด้อ แม่รับศีลเด้อ” เฮ้ย ไปบอกคนตาย ใครจะมารับศีลอยู่น่ะ คนตาย นี่อย่าไปโง่ถึงขนาดนี้ อย่าไปโง่ถึงขนาดนั้น อย่าไปงมงายถึงขนาดนั้น อย่า คนตายแล้วน่ะ ตายแล้ว คนตายนั่นรับศีลไม่ได้หรอก คนเป็นถึงจะรับศีลได้ ไม่รู้เรื่อง คนตายน่ะมันแล้วไปแล้ว ที่เราทำบุญเพื่อเป็นสนองบุญพ่อและแม่ พ่อแม่คนนี้เลี้ยงเรามา เป็นผู้อุปการะเรา เราเกิดมานึกถึงบุญคุณของท่าน กตัญญูกตเวทีของท่านจึงเกิดการกระทำบุญขึ้นมาและอุทิศส่วนกุศลนี้ถึงพ่อแม่ผู้มีอุปการะเรา 

นี่อันว่าบุคคลหาได้ยาก ผู้อุปการะเรามาแล้ว บางคนก็เฉยซะ จะกตัญญูตอบแทนท่านเวลาใดก็ไม่ อันนี้ผู้ทำแล้วเราก็ทำแทน บุคคลผู้ที่รู้จักบุญคุณอย่างนี้มันหาได้ยาก ท่านจึงเรียกว่าเป็นบุคคลหาได้ยากเท่านั้น อันนี้อย่าไปงมงายถึงขนาดนั้นเลย ทำซะเมื่อเรามีชีวิตนี่ เจตนาหัง มีเจตนานี่ ไอ้คนตายมันหมดเจตนาแล้วหละ ยกคุณพ่อคุณแม่ขึ้น เท่านั้นหละ เป็นตัวอย่างแล้วก็ทำบุญ ไม่จำเป็นต้องไปเคาะโลง “พ่อๆ พระจะให้ศีลแล้ว รับศีลด้วย” มันจะเป็นบ้ากันหมดแล้วนั่น บ้ากันหมดเลย ยังไม่เท่านั้นอีกนะ เรียกไปนิมนต์พระให้ศีลเลย พระก็เป็นบ้าไปด้วยกันเหมือนกัน พระก็ นะโม ตัสสะ ภควะโต ก็เงียบ ไอ้คนเป็นๆไม่ต้องพูดหรอกในเวลานั้น ไม่ใช่ให้ศีลคนเป็น ให้ศีลคนตาย ก็ให้หลวงตาเล่นกับผีนั่นแหละ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ก็เงียบ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ก็เงียบ คนตายไม่รู้เรื่อง พระก็เป็นบ้า ให้ศีลคนตาย เงียบ ปาณา ก็เงียบ อทินนา ก็เงียบ อะไรก็เงียบๆทั้งนั้นแหละ สีเลนะสุขติงยันติ ก็เงียบ เลยเงียบไปเลย คือเข้าใจผิด ประชาชนทั้งหลาย พวกเราเงียบๆซะ ให้พ่อรับศีล พ่อที่ตายอยู่ในหีบนั่น เป็นบ้ากันหมดทั้งเมืองเลย อันนั้นอย่าไปงมงายถึงขนาดนั้น ให้เข้าใจซะอย่างนั้น 

ศีลไม่ใช่เป็นของยาก ศีลก็หมายความว่าไอ้การละความชั่วเท่านั้นหละ ความชั่วจะเกิดขึ้นทางไหน เกิดขึ้นทางกายของเรา ทางวาจาของเรานี่ ทางใจของเรานี่ เท่านี้หละมันจะผิดพลาดเกิดทีนี้ เราไปที่ไหนก็เอาไปด้วย กายก็มาวันนี้ใช่มั้ย ใจก็มาวันนี้ วาจาก็มาวันนี้ โทษมันจะเกิด ก็เกิดขึ้นมางกาย ทางวาจา ใจนี้ นี่คือแหล่งที่จะปฏิบัติ ข้อปฏิบัติมีอยู่แล้ว อย่าไปจนมันเลย ดีมันก็ดีขึ้นตรงนี้ พูดดีก็ดีขึ้นตรงที่ปากเรานี่ พูดไม่ดีก็ไม่ดีขึ้นที่วาจานี้ ทั้งกายทั้งวาจานี้มันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องอดที่จะต้องปฏิบัติ ฉะนั้นเมื่อพูดถึงความเป็นจริงหละ ปฏิบัติง่ายๆ คือข้อปฏิบัติมันง่าย มันยากที่เราจะต้องปฏิบัตินั่นแหละ ให้เข้าใจซะอย่างนั้น ให้เข้าใจธรรมะอย่างนี้เราเอาง่าย ไม่ลำบาก 

วันนี้ก็เหมือนกัน วันนี้ใครจะรักษาอุโบสถศีลก็รักษาสิ รักษาอุโบสถศีล รักษากาย รักษาวาจาของเราเนี่ยให้สงบ มานี่ภาวนา ให้มีสติคุ้มครองเสมอ จะพูดอะไรก็ให้มีสติสตัง พูดในทางที่ดี ที่ชอบ เป็นประโยชน์ตน เป็นประโยชน์คนอื่นเท่านั้น วันนี้เลิกในทางฆราวาส พูดอะไรต่างๆนานาที่เรื่องที่ไม่ดี ไม่ชอบธรรมะ ไม่เอามาพูด อยู่ในความสงบวันนี้ วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ท่านจัดเรียกว่าอยู่อุโบสถ อยู่อุโบสถศีล แต่ว่ามันยากนะ ปากมันเคยพูดมันอยากพูดน่ะ ตามันเคยเห็นมันก็อยากเห็นน่ะ มันดิ้นอยู่นั่นแหละ ไม่ค่อยสบายหละ เย็นๆมาหรืออะไรมามันก็นั่งสมาธิ หรือเงียบในกลางวันมานั่งสมาธิอย่างนี้ก็ได้ อย่าคุยกันไปเรื่องอื่น 

วันนี้แปลว่าทำจิตใจให้มันสงบ รักษาศีล เป็นศีล แล้วก็เป็นสมาธิ แล้วก็เป็นปัญญา ทำไปอย่างนี้ให้มีความหมายอย่างนี้ บางคนไม่รู้จักนะ มาเข้าวัดตั้งแต่เป็นวัดป่ามาจนเป็นวัดบัดเนี้ย อยู่ไปนานๆ อยู่ไปนานๆ นึกว่ามันจะดีขึ้น ไม่ได้นะคน บางทีก็ยิ่งเหลวแหลกไป เหมือนไม้เรานั่นแหละ มันช่วงยาวๆ ก็เอาขึงไปนานๆนึกว่ามันจะทนทาน แหม มันอ่อนโยนๆไปหมด เราอยู่ใกล้ๆเหมือนกันน่ะ นึกว่าเรามาวัด ก็มาแต่วัดนั่นแหละ แต่ความเข้าใจในการรักษาศีลนั้นไม่มี มันก็ลำบาก นี่ ศีลมันอยู่ที่เรา บุญมันอยู่ที่เรา เราสร้างที่กาย วาจา ใจของเรานี่เอง

ที่มา: https://youtu.be/PuJSWjh7hp0 (เริ่มนาทีที่ 28.05)