หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก
…ให้หลับตา แล้วก็หายใจ อย่าไปหยุดหายใจ ให้พากันหายใจ หายใจเข้า หายใจออก ให้มันสะดวก อย่าให้มันอึดอัด คือเรานั่งกันอย่างสบายๆ อย่าให้คนอื่นเค้ามาบังคับและเราก็อย่าไปบังคับตัวของตัวเองจนเกินไป แล้วก็ให้รู้จักการสับเปลี่ยนคือเปลี่ยนอิริยาบถ เวลามันเจ็บมันเมื่อยในธาตุในขันธ์ที่เรานั่ง ความชำนิชำนาญของเรามันก็ยังไม่เพียบพร้อมเพราะนานๆเราก็จะมีครั้ง นานๆเราก็จะได้มีงานมาครั้งหนึ่ง
เมื่อเรามา ถึงจะเป็นคนเก่า แต่ก็เหมือนกับคนใหม่เพราะมันทิ้ง ทิ้งช่วงไปนาน พูดกันเสียอย่างง่ายๆ ก็คือว่า ปีหนึ่งก็จะมีซักครั้งหนึ่ง เวลาที่มันเสียไปน่ะมันมาก แล้วเราก็จู่ๆก็จะมาทำ ไอ้ส่วนขันธ์ของเรามันก็ยังไม่ชินเคย ความเจ็บปวดรวดร้าวในสังขารบางคนก็ปวดแข้งปวดขา ปวดหลังปวดเอวปวดไหล่ปวดหัว ก็แล้วแต่ใครจะปวดตรงไหน คือมันได้ในสรรพางค์ร่างกายของเรา แต่เราก็รู้จักการเปลี่ยนแปลงระบบสังขารของตัวเอง อย่างไรที่มันจะสบายเราก็เปลี่ยนสภาพไปตามความสบายของตัวเอง
พอรู้ว่าเรามีความสบายในธาตุในขันธ์ของเราแล้ว ใจของเรามันก็พร้อมที่จะมีความสะดวกสบายขึ้น การนั่งของเรา เราก็จะนั่งได้นาน เพราะเรามีการเปลี่ยนแปลง สำหรับคนที่นั่งอยู่กับพื้น ถ้าคนที่นั่งห้อยแข้งห้อยขา เออ อันนั้นมันสบาย คือเรานั่งอย่างไรมันก็นั่งได้ คือนั่งฟัง จะยืนฟังก็ได้ จะเดินฟังก็ได้ แต่ก็ห้ามนอนอย่างเดียว เพราะนอนฟังน่ะมันกลัวหลับ กลัวมันจะหลับ
แต่นั่งนั่นได้ ยืนนั่นได้ เดินนั่นได้ เรียกว่าเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อทำความสบายให้แก่ตัวเอง เพื่อเป็นการไม่บังคับ เพื่อยังจิตของเราให้เกิดความพอใจ พอใจในการกระทำก่อนสำหรับเบื้องต้น เราจะไปเร่งบังคับที่จะให้มันเป็นไปอย่างที่เรานึก ที่เราคิด หรือเรามีความอยาก คืออยากให้มันเป็น เห็นท่านเป็นอรหันต์ ก็คิดอยากว่าจะเป็นอรหันต์ เห็นท่านว่าเป็นโสดาบัน ก็คิดอยากจะเป็นโสดาบัน เมื่อเรามันยังไม่พร้อม มันก็เป็นไปได้ยาก
แต่ถ้าเราจะเป็นจริงๆ ไอ้เราก็ไม่รับสภาพสิ่งที่เราอยากจะเป็นอีก อย่างจะให้เป็นโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลที่ว่าจะละกิเลส ละสักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลพตปรามาส ก็คือละกิเลส มันก็ไม่รับอีกและมันก็ไม่ยอมละ คือเราก็ไม่ยอมรับสภาพอย่างที่เราอยากได้ แม้แต่อรหันต์ เราก็ถือว่าเป็นของประเสริฐ และเป็นสิ่งที่อันประเสริฐยิ่ง ซึ่งเราปรารถนากันอย่างยิ่ง ในพุทธศาสนาของเรานี้ก็ไปสุดยอดเอาตรงที่พระอรหันต์นั่นเอง แม้แต่เรามากราบ มาไหว้ ก็กราบไหว้ถึงพระอรหันต์นั่นเอง ก็ถือว่าพระอรหันต์นั่นสุดยอด ยอดของเราชาวพุทธ เราก็มีความเลื่อมใสและศรัทธาอย่างยิ่ง เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะให้เราเป็นอรหันต์ ก็คิดว่าจะเป็นยาก
ที่จะเป็นยากก็เพราะอะไร ก็ความห่วงของเรามันสารพัด ไม่ใช่เราจะตัดเอาง่ายๆ เหมือนอย่างคำที่ครูบาอาจารย์ที่ท่านได้แสดงไป แต่ละท่านละองค์ที่เราได้ยินได้ฟังมา ที่ว่า ละ หรือว่า เลิก หรือว่าถอนจากกิเลส จากความห่วง รู้สึกว่ามันเป็นของที่ทำได้ยาก สำหรับเราปุถุชน เพราะถ้าจะเป็นจริงๆ เราก็ไม่ยอมรับ ก็เพราะมันยังมีความเสียดายอยู่ ความเสียดายนี้มันไม่ใช่ของที่จะละได้ง่ายๆ และไม่ใช่ของที่จะตัดได้ง่ายๆ เป็นของที่ลำบากอย่างยิ่ง เหลือวิสัยของมนุษย์ เหมือนอย่างพวกเรานี้แหละ ก็เป็นของที่เหลือวิสัยของพวกเราอยู่ คือไม่สามารถที่จะตัดหรือว่าที่จะละอะไรทั้งหมด เพื่อความเป็นอรหันต์ มันยาก
แต่สำหรับความอยากนั้นน่ะมันอยาก อยากเป็นและก็อยากได้ อยากให้เกิดอยากให้มี มันเป็นเรื่องของความอยาก เพราะถือว่าเป็นความดีสำหรับครูบาอาจารย์ที่ท่านได้บรรลุธรรมมา ท่านก็มาเล่ากล่าวอะไรให้ฟังในเรื่องคุณธรรม เราก็เห็นดีและมีศรัทธาและก็มีความพอใจ แล้วก็เกิดความอยากได้ ก็คิดว่าจะให้มันได้ อยากให้เป็นเหมือนอย่างครูบาอาจารย์ เป็นแต่เพียงความอยากและความนึกเฉยๆ อันนั้นยังเชื่อไม่ได้ อันนี้มันเป็นเรื่องของกิเลส
กิเลสของเรานี่มันเชื่อยาก คือมันเอาแน่นอนอะไรกับมันไม่ได้ แต่ละวัน แต่ละชั่วโมง มันคิดไปได้ร้อยแปดพันประการ ความอยากก็สารพัดน่ะมันจะอยาก เวลามันเดือดร้อนมา ก็สารพัดที่จะต้องทุกข์ แล้วก็คิดจะหนี ก็ไม่รู้ว่าจะหนีทุกข์ก็จะหนีอย่างไร ก็จะไปหนีเอาระยะใกล้ๆ ก็ในขณะที่มันประสบเหตุการณ์บางอย่างอันซึ่งมันเกิดขึ้นเฉพาะหน้า มีเรื่องราวบางอย่างซึ่งมากระทบแล้วก็ทำให้จิตของเรานั้นระทมทุกข์ขึ้นมา ทำให้น้ำมูก น้ำตาไหลออกมา ร้องอกร้องไห้ เสียอกเสียใจ ระยะนั้นหละอยากนะ อยากหนีหละ อยากเป็นอรหันต์ อยากพ้นทุกข์
แต่เราจะไปอยากในระยะใกล้ๆก็คิดว่ามันคงจะเป็นไปได้ยาก ถ้าจะเอาใกล้ๆมันได้อย่างนั้น ก็แสดงว่ามันง่ายเกินไป ไอ้ความง่ายอย่างนี้หละมันไม่ได้สมประสงค์ และมันไม่ได้เหมือนอย่างความคิดของเราซึ่งคิดขึ้นมา มันไม่ใช่เป็นของง่าย มันเป็นเรื่องของกิเลส ก่อนที่เราจะมาบำเพ็ญภาวนากระทำจิตใจของตัวเองให้มีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธินั้น เราจะต้องมาเข้าใจในเรื่องของกิเลสของตัวเองแต่ละคนเสียก่อน ว่าเราทุกคนมันพร้อม กิเลสของเราน่ะมันพร้อมทุกคน เจ้าโลภ เจ้าโกรธ เจ้าหลง เจ้าอวิชชา เจ้าตัณหา เจ้ามานะ เจ้าทิฐิ เจ้ากรรม เจ้าเวร มันพร้อมสมบูรณ์อยู่แล้ว
ทีนี้กิเลสทั้งหลายเหล่านี้หละต่อเมื่อมันดีอยู่ภายในหัวใจของเรา ถ้าเราไม่รับทราบ ไม่รับรู้และก็ไม่รู้เรื่องแห่งกิเลสของตัวเองเสียก่อนเล่า ทีนี้เราจะไปภาวนาอย่างไรได้ ภาวนาก็เอาแต่ธรรมะอย่างเดียว และธรรมะน่ะมันอยู่ที่ไหนหละ และใครหละจัดสรรไว้ให้เรา ว่าเราจะต้องการเอาธรรมะ และมันอยู่ตรงไหนธรรมะ เราก็จะมุ่งเอาแต่ธรรมะ แต่เรื่องของกิเลสน่ะ มันเห็นด้วยหรือเปล่า มันไม่ได้ยอมรับนะ มันไม่ได้ยอมรับสภาพความเป็นศีลและเป็นธรรมอะไร มันมีแต่เรื่องขัด
อย่างที่เรานั่งภาวนาฟังเทศน์อยู่ในขณะปัจจุบันนี้หละ แม้กระทั่งถึงครูบาอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่คือเถระ ท่านก็ได้แสดงและท่านก็ได้พูด ได้กล่าวได้เล่ามาให้พวกเราฟังกันแล้ว แต่ว่าสภาพของจิตเราน่ะ สภาพของกิเลสมันยอมรับหรือไม่ มันเห็นด้วยหรือไม่ ว่าเป็นความจริง และความจริงที่ท่านได้พูดและได้แสดงออกไปนั้น และมันจะยอมทำตามอย่างนั้นได้หรือไม่ กิเลสมันไม่ได้ยอมนะ แต่มันฟังนะ มันฟังได้แต่มันก็ไม่ยอมรับสภาพคือความเป็นจริง เหมือนอย่างที่ท่านแสดงซึ่งความเป็นจริงออกมาให้พวกเราฟัง
แต่บรรดากิเลสน่ะมันขัดข้องอยู่ตลอดมา ทั้งที่เราจะต้องการให้ไปสู่เส้นทางแห่งความสงบ แล้วมันคิดว่าสงบหรือไม่ เราจะประคับประคองให้อยู่กับความเป็นพุทโธ แล้วมันจะอยู่กับพุทโธหรือไม่ แล้วมันก็ขัดกันอยู่ ถ้าเราว่าพุทโธไปคำสองคำ แต่เรื่องอื่นๆมันเข้ามาก็ไม่รู้ว่ากี่คำ มันลบเลือนกันไปหมด มันลบล้างกันไปในตัวเอง นี่มันไม่ยอมรับก็เพราะอะไร เราก็ควรจะรับทราบมันบ้าง นักภาวนาทั้งหลายผู้สนใจในข้อปฏิบัติ มันเรื่องอะไร ก็มันเรื่องของกิเลสนั่นหละ ก็คือกิเลสนั่นน่ะ
ถ้าเรานั่งภาวนาลงไป ถ้าเรามีความสงบบ้างและก็มีบางสิ่งบางอย่างซึ่งมันปรากฏภายในจิตอันที่มันมีความสงบนั้น ที่มันแสดงออกมาให้เราเห็น ซึ่งมันบอกยี่ห้อว่ามีความสงบในตัว สิ่งที่มันแสดงออกมาปรากฏเป็นภาพหรือว่าเป็นนิมิตชั่วประเดี๋ยวประด๋าวหรือว่าได้นานก็ดี สิ่งเหล่านี้แหละมันก็ล้วนแล้วแต่เป็นกิเลส ก็ตัวของกิเลสทั้งนั้นที่มันมาแสดงให้เห็น เพราะอะไร เราจึงไปเห็นกิเลส ก็เรานั่งภาวนาก็หากิเลส ก็เพราะกิเลสมันมีอยู่แล้ว ก็จะมาให้มันเห็นกิเลส แล้วมันจะไปเห็นอะไร แล้วจะไปเห็นธรรมะ อ้าว ธรรมะมันอยู่ตรงไหน แล้วมันเป็นอย่างไรคือธรรมะ ตัวธรรมะมันเป็นอย่างไร เราก็ไม่รู้อีกหละ
แต่ก็มีการกระทำและก็อยากทำ และก็อยากภาวนา ใครก็อยากภาวนา ได้ยินได้ฟังครูบาอาจารย์ท่านมาแสดงชี้แจงบอกในเรื่องธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในข้อปฏิบัติ อ้าว ก็เกิดศรัทธา แล้วก็อยากปฏิบัติ แต่เมื่อปฏิบัติแล้ว อะไรมันจะเกิดขึ้นในการปฏิบัตินั้น และมันจะเป็นไปได้อย่างรวดเร็วเหมือนอย่างครูบาอาจารย์ท่านเทศน์หรือไม่ มันไม่ได้เป็นไปได้ง่ายเหมือนอย่างนั้น คำว่า ละ คิดว่าจะละให้มันไปเลยเถอะ ตัดไปเลย มันไม่ได้ มันไม่เหมือนครั้งพุทธกาล
ถ้าครั้งพุทธกาลนั้น องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อพระองค์ไปแสดงให้แก่ท่านผู้ใดเพียงครั้งเดียวหรือสองครั้งก็ย่อมสำเร็จ ถ้าอย่างต่ำก็โสดาบัน ถ้าอย่างสูงก็เป็นอรหันต์ อย่างพระองค์แสดงให้พระยสะ ครั้งแรกก็เรียกว่าโสดาบัน พอแสดงครั้งที่สอง พระยสะ ก็ได้พิจารณาไปตามกระแสธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดญาณปัญญาขึ้นในขณะนั้น แล้วก็สำเร็จง่ายๆ สำเร็จอยู่ข้างหลังของพระพุทธเจ้าเสียด้วย พอสำเร็จแล้ว พระองค์ก็รับรองในขณะนั้น ก็มีในครั้งพุทธกาลนั้นแหละที่ว่าได้สำเร็จง่าย และได้ฟังแล้ว พอจบธรรมเทศนาแล้ว ก็ได้สำเร็จพระโสดาบันหรือว่าอรหันต์ง่ายๆ โดยไม่ต้องไปปฏิบัติและมานั่งหลับหูหลับตาให้ลำบากเหมือนอย่างพวกเราในสมัยนี้
แม้แต่พระภัททวัคคีย์ทั้ง ๓๐ ก็ไม่ได้เจตนาที่จะไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้าด้วย ก็คือวิ่งตามหาหญิงแพศยากันทั้ง ๓๐ แล้วก็ไปเจอพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไร่ฝ้าย แล้วพระพุทธเจ้าก็ถามว่าพวกท่านหาอะไร และก็ยังไปถามพระพุทธเจ้า บอกว่าไปเห็นหญิงคนหนึ่งมานี่ไหม ก็ยังไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็บอกว่าท่านทั้งหลายน่ะจะหาคนอื่นดีกว่าหาตนหรือ พวกนั้นก็ตอบว่าหาตนดีกว่า ถ้าอย่างนั้นท่านก็จงฟัง เราจะแสดงธรรมให้ฟัง
ภัททวัคคีย์ก็นั่งส่วนที่ควรอยู่ข้างหนึ่ง แต่แขกนั้นก็คงจะนั่งพับเพียบไม่เป็นหรอก ตามดูอัธยาศัยและนิสัยของแขกแล้ว ความเป็นระเบียบหรือว่าความเรียบร้อยนั้นคงไม่มี อาจจะนั่งยกหัวเข่าทั้งสองขึ้น หรือจะนั่งตามสบายๆนั่นหละ เพราะแขกมันเป็นอย่างนั้น แต่มันได้นั่งฟัง มันไม่ได้พูดกันนะ มันฟังตั้งใจฟังนะ เงี่ยหูฟัง ดูรหัสพิจารณาไปตามนิสัยของแขก แต่ท่านทั้งหลายเหล่านั้นมีอุปนิสัยที่จะได้เป็นพระอรหันต์แล้ว พระองค์ก็ทรงแสดงอนุปุพพิกถา ๕ ข้อ จิตใจของท่านทั้งสามสิบนั้นก็แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงอริยสัจทั้ง ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พอจบธรรมเทศนาแล้ว ท่านทั้งสามสิบนั่นน่ะบรรลุมาหมด ตั้งแต่โสดา สกิทาคา อนาคา อรหันตาเรียบร้อย
พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงทราบโดยวิถีจิตของพระองค์ โดยพระญาณของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงทราบโดยพระญาณ สามารถที่จะรู้ได้หมดว่าจิตของคนจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จพระองค์นั้นทราบ เมื่อพระองค์มองด้านจิตใจของท่านทั้ง ๓๐ แล้ว ก็ว่าสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ท่านทั้ง ๓๐ นั้นก็ยอมเป็นลูกศิษย์และหาตนได้พบแล้ว และก็เจอตนของตนเองแล้ว แล้วจะไม่ตามใครอีก
แล้วก็ขอประทานอุปสมบท พระองค์ก็ทรงอุปสมบทให้ทั้ง ๓๐ แต่ไม่รู้เอาผ้าสบงจีวร ผ้าไตรมาจากไหน ไม่รู้ แต่พระองค์ก็ทรงอนุญาตอุปสมบทให้ท่านทั้ง ๓๐ นั้น ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยของเราได้กล่าวไว้ดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด นี่เรียกว่าบวชผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่ได้กล่าวว่าท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อสิ้นทุกข์เถิด ไม่ได้กล่าวเพราะท่านสำเร็จแล้ว ท่านทั้ง ๓๐ ก็เป็นภิกษุโดยสมบูรณ์ เป็นพระโดยสมบูรณ์ แล้วพระองค์ก็ส่งไปประกาศพระศาสนา และคนละที่ละทาง ไม่ให้ไปซ้ำกัน
นั้นหละสมัยครั้งพุทธกาล เรียกว่าได้สำเร็จง่าย แต่เราสมัยนี้ฟังแล้วก็ฟังเล่า ฟังกันอยู่นั่น ฟังจนเบื่อ จะเทศน์ไปมากก็กลัวจะเบื่อเหมือนกัน เพราะมันฟังมาก แต่ว่าจะเอาความสำเร็จนั้นน่ะ ก็ไม่รู้ว่าจะเอาสำเร็จอะไร แล้วความสำเร็จนั้นคืออะไร ถ้าเราจะมาเอาสำเร็จในการที่เราจะมาฟังในปัจจุบัน ถ้าจะได้สำเร็จเป็นอรหันต์จริงๆ ถ้าไม่กลับบ้านเดี๋ยวก็เกิดเดือดร้อนอีกหละ ไอ้ทางบ้านก็จะเดือดร้อนอีกหละ ก็เพราะอะไร ก็เพราะไม่กลับบ้าน เราก็เพียงแต่ว่ามาบวช บวชชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง หรือว่าสองวันกับสองคืน ก็เพื่อมันสำเร็จในขณะนี้หละ ไม่กลับ เดี๋ยวก็เกิดโทษอีก อันนี้มันก็ยาก
เพราะฉะนั้นไอ้ความคิดของกิเลสนั้นน่ะ เราก็อย่าเพิ่งไปเชื่อมันง่าย ให้รู้จักลีลาของจิต และลีลาของกิเลสบ้าง และรู้จักอุบายของกิเลสบ้าง เค้าเรียกว่ามารยาสาไถ หรือว่าเจ้าเล่ห์ มันสารพัดเล่ห์เหลี่ยมของมัน เราจะประคับประคองให้มันไปในทางที่ดี ประคับประคองให้มันไปในทางความสงบ มีพระพุทธเจ้ามีฐานที่รองรับ มีพระพุทธเจ้าที่จะรองรับหัวใจเราอยู่ แต่มันยอมไปซะเมื่อไหร่ จะให้ไปหาพระพุทธเจ้าและจะเอาพระพุทธเจ้าเข้ามากล่าวเท่านั้นน่ะ มานึกเท่านั้น มันไม่ได้ยอม มันเอาเรื่องอะไรมาคิดก็ไม่รู้ คิดไปไม่เข้าเรื่องเข้าราว
บางทีมันก็คิดนินทาว่ากล่าวคนอื่น หาว่าคนนี้ผิดอย่างนั้น คนนี้ถูกอย่างนี้ ไปหละ เลยกลายเป็นเรื่องของคนอื่นไป แล้วก็ไปเอาผิดของคนอื่น แล้วก็ไปเอาถูกกับคนอื่น ทั้งๆที่ว่าตัวเองน่ะมันผิดอยู่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ยังไปเอาผิดคนอื่น ผิด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์คือผิดอย่างไร ก็ให้อยู่กับพุทโธ ก็ให้อยู่กับพระพุทธเจ้า แต่มันทำไมถึงว่าไปเอาเรื่องอื่นเข้ามาคิด ทำไมถึงไปคิดเรื่องอื่น และไปเพ่งโทษคนอื่น และไอ้เรื่องของตัวเองซึ่งมันเดือดร้อนอยู่ในตัวเองหละ มันทำไมหละถึงไม่รู้ และมันทำไมมันถึงจะไปรู้เรื่องคนอื่น และมันผิดหรือมันถูก
แทนที่มันจะเข้าไปสงบอยู่กับสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งพระองค์นั้นรอคอยเราอยู่แล้ว คือพระองค์นั้นน่ะคอยที่จะไปรองรับเราอยู่ที่หัวใจแล้ว แต่เรานั่นน่ะทำไมหละ เราไม่เข้าไปหาท่าน แล้วดันออกไปข้างนอก ไปเที่ยวอยู่ในกลางทะลงทะเลโน่น ล่องเรือล่องแพอยู่โน่น พุทโธอันที่มีอยู่ในหัวใจของเรานี้ก็ทำไมหละไม่เข้าไป และทำไมไม่ไปหา แล้วดันไปหาอะไรพระพุทธเจ้าอยู่กลางทะเลหรือกลางอากาศ แล้วมันไปทำไม นั่นหละมันผิด
ไอ้ที่มันถูก ก็เราจะต้องมุ่งเข้าไปหาองค์พระสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็คือหัวใจของเรา เราก็ตรงเข้าไปสิ สุปฏิปันโน ก็คือเป็นผู้ปฏิบัติดี ก็เดี๋ยวนี้เราก็ปฏิบัติดีแล้วไม่ใช่หรือ เราเอาคุณของพระอริยสงฆ์มาใช้มิใช่หรือ เอามาปฏิบัติมิใช่หรือ สุปฏิปันโนก็คือการปฏิบัติดี ปฏิบัติอย่างไรหละปฏิบัติดี ก็นั่งขัดสมาธิหละ ขาขวาทับซ้าย แล้วมือขวาทับมือซ้าย แล้วก็ตั้งกายของเราก็ตรง หลับตา อันนี้เราปฏิบัติดีแล้วนะ เป็นสุปฏิปันโน คือไม่ได้ทำบาปทำกรรม ไม่ได้ทำความชั่วอะไรเลย สิ่งที่เราไม่ได้กระทำชั่วในทางกายและทางวาจาของเราก็ไม่ได้พูด และก็ไม่ได้เอะอะโวยวายอะไร เราอยู่ด้วยความเงียบ หรือความสงบภายนอก อันนี้เรียกว่าสุปฏิปันโนในเบื้องต้น
เราปฏิบัติดีตามคุณของพระอริยสงฆ์ หรือตามคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งพระองค์นั้นมอบให้กับพระอริยสงฆ์ทั้งหลายได้แก่สุปฏิปันโน คือเราได้มาปฏิบัติดี นับตั้งแต่เรามีเจตนาจากบ้านมา ที่จะมาขอบวชเป็นพราหมณ์ชีชั่วครั้งชั่วคราว ไอ้เจตนาตัวนั้นก็เรียกว่าเจตนาดี ไอ้ความเจตนาดีนั่นแหละมันก็เป็นสุปฏิฯน่ะ คือการปฏิบัติดีแล้ว และเราก็ได้มาทำกายของเรานั้นยอมรับสภาพความเป็นศีลเป็นธรรม คือเรามายอมรับเอาความเป็นศีลเป็นธรรม คือมารับศีล แล้วก็มาปฏิบัติ และการปฏิบัติอย่างนี้มันก็ถือว่าเป็นสุปฏิปันโน สุปฏิปันโนของพวกเรา
แต่สุปฏิปันโนของพระอริยเจ้าทั้งหลายนั้นน่ะ ท่านได้ปรินิพพานไปแล้ว ท่านไม่ได้มาเกี่ยวข้อง ท่านไม่ได้มายุ่งอะไรกับเรา อันนี้มันเป็นเรื่องของพวกเราที่จะนำเอาสุปฏิปันโนมาเป็นสมบัติของเราชาวพุทธทั้งหลาย ที่เราจะต้องเอามา เอามาปฏิบัติ ก็ต้องปฏิบัติกันอย่างนี้แหละ อย่างที่เราได้พากันปฏิบัตินี่ก็เรียกสุปฏิปันโน คือความปฏิบัติดีในเบื้องต้น
เมื่อเราปฏิบัติดีในเบื้องต้นแล้ว อันดับต่อไป อุชุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโนนี่ก็ตรงเข้าไปสิ ตรงเข้าไปไหนหละ ตรงเข้าไปทรวงอก ตรงเข้าไปหน้าอก ตรงเข้าไปข้างใน อย่าตรงออกนอก นี่เรียกว่าอุชุปฏิปันโน ตรงเข้าไปหาเนี่ย หาพุทโธ พระพุทธเจ้าอยู่ข้างใน! ก็อุชุปฏิปันโนก็ตรงเข้าไปนี่สิ จะไปตรงไปไหนหละ ถ้าตรงไปข้างนอกมันก็ไกลไปสิ ก็นับวันที่จะต้องไกลหละถ้าเราตรงไปข้างนอก เราต้องตรงเข้าไปนี่ ตรงเข้าไปอยู่ข้างในนี่ พระอริยสงฆ์ทั้งหลายน่ะท่านก็คอยเราอยู่ข้างใน
นี่อุชุปฏิปันโน ให้เราตรงเข้าไปนี่ ตั้งแต่ปลายจมูก ตามลำคอแล้วผ่านเข้าไปในทรวงอก ตรงเข้าไป ตรงออกมา ตรงเข้าไป ตรงออกมาให้ตรงอยู่แค่นี้ นี่เรียกว่าอุชุปฏิปันโน คือเป็นผู้ปฏิบัติตรง ตรงเข้าไปหาพระพุทธ ตรงเข้าไปหาพระธรรม ตรงเข้าไปหาพระสงฆ์ ให้ตรงเข้าไปตรงนี้นะ ไม่ใช่ว่าตรงไปที่อื่น
เราจะไปยกให้แต่พระอริยเจ้า เป็นสมบัติของพระอริยเจ้า เป็นสมบัติของพระอรหัตอรหันต์ ก็พระอรหัตอรหันต์ ท่านทั้งหลายเหล่านั้นท่านจะมาเกี่ยวข้องอะไรหละ ท่านไม่ได้มายุ่งเกี่ยว ท่านสำเร็จแล้ว ก็ท่านปรินิพพานไปแล้ว ท่านจะมายุ่งอะไรกับพวกเรา แล้วท่านจะมาห่วงอะไรกับเรา แล้วท่านจะมาหวงอะไรหละ ก็สมบัติอันที่ท่านวางเอาไว้ที่ท่านได้แล้ว ท่านไม่ได้ห่วง ท่านก็ไม่ได้ห่วง และท่านก็ไม่ได้ยึดมั่น และท่านก็ไม่ได้ยึดมั่นว่า “เป็นของๆเรา ท่านทั้งหลายจะเอาไปใช้ไม่ได้” ไม่ได้ว่า
ท่านได้มอบหมายให้พวกเราแล้ว เราจะตรงมั้ย ตรงเข้าไปหาศีล ตรงเข้าไปหาธรรมมั้ย ตรงเข้าไปหาความสงบมั้ย ตรงเข้าไปหาความเป็นสมาธิมั้ย เราก็ควรจะตรงเข้าไปนี้ อย่าตรงออกไปข้างนอก ถ้าใครอยากเห็นพระอริยสงฆเจ้าทั้งหลาย อย่าไปมองไกล ถ้ามองเข้าไปในหัวใจของตัวเองแล้ว นั้นหละเราจะรู้ว่าพระอริยสงฆเจ้า แม้กระทั่งถึงองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ก็จะต้องคอยเราอยู่ตรงนั้น เราก็จะได้เห็นหมด เห็นพระพุทธเจ้าแล้วมันก็ต้องเห็นพระธรรม เมื่อเห็นพระธรรมแล้วมันก็ต้องเห็นพระสงฆ์ เพราะเราตรงเข้าไป
เมื่อเราตรงเข้าไปแล้ว มันก็เป็นญายะ (ญายปฏิปันโน) ญายะมันอยู่ตรงไหนหละ คือความเป็นธรรม อะไรมันจะเป็นธรรม ถ้าไม่ใช่หัวอกหัวใจของเราแล้ว แล้วอะไรจะเป็นธรรม ก็เดี๋ยวนี้มาปฏิบัติน่ะ เพื่ออะไรเป็นธรรม เอาอะไรเป็นธรรม จะเอาดินฟ้าอากาศหรือเป็นธรรม จะเอาวัดหรือเป็นธรรม จะเอาวิหารนี้หรือเป็นธรรม มันไม่ใช่ เราไม่ได้หาอย่างนั้น เราจะไปหาอะไรอย่างนั้นน่ะ เราใช้มันอยู่แล้ว อันนี้มันเป็นของภายนอก
เราจะหาธรรมะคือสิ่งที่ไม่ใช่เป็นวัตถุ ดินก็ไม่ใช่ น้ำก็ไม่ใช่ ลมก็ไม่ใช่ ไฟก็ไม่ใช่ อะไรก็ไม่ใช่ทั้งนั้น เราพากันมาปฏิบัติน่ะ ไม่ใช่ว่าจะเอาลมเป็นธรรม ไม่ใช่ว่าเอาน้ำเป็นธรรม เอาดินเป็นธรรม เอาอากาศเอาอะไรเป็นธรรมะ ถ้าจะมาปฏิบัติให้อย่างนั้นเป็นธรรมะ ก็จะมานั่งให้มันปวดแข้งปวดขาทำไม มานั่งให้มันปวดแข้งปวดขาทำไม มันนั่งให้มันเจ็บหลังเจ็บเอวทำไม แล้วจะมาทรมานตัวให้มันลำบากทำไม ก็จะให้เอาสิ่งนั้นน่ะมาเป็นธรรมะ ถ้าไม่หวังเอาหัวใจตัวเองเป็นธรรมะแล้ว แล้วเราจะมาปฏิบัติกันหรือ
ที่เรามาปฏิบัติอยู่เดี๋ยวนี้ก็คือมุ่งหวังเอาหัวใจของตัวเองนั่นน่ะเป็นธรรมะ มาปรับปรุงจิตของตัวเองนั้นให้มีธรรมะ และให้เกิดขึ้นซึ่งธรรมะ และให้เป็นธรรมะ นั้นมันก็เป็นญายะ ญายะน่ะมันอยู่ตรงไหน มันอยู่ตรงนั้นไม่ใช่หรือ ก็ตรงที่เราต้องการเนี่ย ต้องการธรรมะเนี่ย เพราะธรรมะมันอยู่ตรงนี้ เราจึงตรงเข้าไป เข้าไปก็เข้าไปเพื่อธรรมะ เพื่อหาธรรมะ แล้วธรรมะมันอยู่ตรงไหน
เราก็เข้าใจว่าแต่ “ธรรมะอยู่ที่ใจๆ” ถ้าเราไม่ปรุงจิตและปรุงใจของเราให้เป็นธรรมเสียก่อน แล้วธรรมะอะไรหละจะไปอยู่ในใจได้ มันก็มีแต่กิเลส ที่เรามาปรับปรุงจิตใจของตัวเองนั้นให้มีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิซึ่งเราจะตรงเข้าไปนี้ อันนี้เรียกว่าปรุงจิต ปรุงใจของตัวเองให้เป็นธรรมะ เรียกว่าให้ญายะ ญายะ น่ะมันเกิดขึ้น ญายะมันจะเกิดตรงไหนหละ ถ้าไม่เกิดในหัวใจและถ้าไม่มีในหัวใจแล้วมันจะเป็นญายะที่ไหนหละ และจะไปเป็นธรรมะที่ไหน
ถ้าธรรมะนอกหัวใจหละมันมีความหมายอะไรกับเรา และมันมีความหมายอะไรกับใจ มันไม่ได้มีความหมายนะถ้าธรรมะนอกหัวใจแล้ว ต่อเมื่อเราแตกดับหรือว่าเราตาย และก็ธรรมะอยู่ตรงนั้น หัวใจอยู่ตรงนี้ ก็เมื่อตายแล้วมันจะวิ่งเข้าไปหากันงั้นหรือ มันไม่ได้ใช่อย่างนั้น เค้ามาปรับปรุงหัวใจของเรานี้ให้เป็นศีลและเป็นธรรม และให้มีธรรมะ ให้เป็นญายะขึ้นมาภายในตนเอง
เราจะมาเจริญกรรมฐานบทไหนก็ตาม ข้อไหนก็ตาม ๔๐ ทัศน์ก็ตาม เท่าไรทัศน์ก็ตาม มันก็มุ่งหวังเอาหัวใจของเราน่ะเป็นญายะ เป็นธรรมะ ไม่ใช่ว่าจะเอาหัวใจของเราน่ะไปเป็นกรรมฐาน และกรรมฐานนั่นคืออะไร กรรมฐานนั่นเราจะถือว่าคือพระกรรมฐานนั่นหรือ พระกรรมฐานนั่นหรือเป็นกรรมฐาน มันก็ไม่ใช่อีกหละ กรรมฐานนั่นคือใคร กรรมฐานก็คือพวกเราทั้งหมดนั่นหละ คนทั้งโลกน่ะเป็นกรรมฐาน กรรมฐาน ๕ มันอะไร มันก็เกสา มันก็โลมา มันก็นขา มันก็ทันตา มันก็ตโจ ทีนี้เรามีมั้ยหละ เกสาเราก็มี โลมาเรามีมั้ย ก็มี นขาหละ เล็บเราก็มี ทันตาหละ ฟันเรามีมั้ย ก็มี ตโจ หนังหละ ก็หนังเรามันก็มี
ทีนี้กรรมฐานน่ะนะมันจะไปอยู่กับพระกรรมฐานนั้นหรือ มันไม่ได้ใช่อย่างนั้น กรรมฐานน่ะมันอยู่กับทุกคน คนทุกคนน่ะมันเป็นกรรมฐาน คือมันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกระทำความดี อาศัยกรรมฐานนี่เป็นที่ตั้ง ตั้งแห่งการกระทำงานเพื่อจิตของเราก็จะได้มาทำงานอยู่ในกรรมฐานคือฐานที่ตั้ง เมื่อเราทำได้แล้ว ไม่ใช่ว่าเราจะเอากรรมฐานนี่ไปด้วย จะไปสวรรค์ก็ดี จะไปนิพพานก็ดี ใครหละบอกเอากรรมฐานไป จะหอบหิ้วเอากรรมฐานไป มันไม่ใช่
ท่านให้เอาสิ่งเหล่านี้มาพินิจพิจารณา มาดูว่าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก แล้วพิจารณาให้มันลึกซึ้งเข้าไป อะไรมันเป็นของที่มั่นคง และตลอดถึงความสวยความงาม ความดีความเด่น มาพิจารณาในรูปกรรมฐานนี้แล้ว ไอ้เจ้าของผู้ครองกรรมฐานนั้น มันจะได้เกิดความเบื่อหน่าย เพื่อความเบื่อหน่ายของกรรมฐาน ที่ว่าให้มาพิจารณากายคตาสติ พิจารณาร่างกายของตัวเองเป็นอย่างนั้นๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะเอาร่างกายน่ะไปพระนิพพาน ไปอ้างพระนิพพาน แม้แต่สวรรค์เค้าก็ไม่ได้เอาน่ะ ไม่ว่าแต่นิพพานน่ะ สวรรค์เค้าก็ไม่ยอมรับ ไม่ได้เอาไปทั้งนั้น
แต่ก็หากเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกระทำความดีเพื่อความที่จะเป็นไปแห่งพระนิพพาน ก็คือต้องละกรรมฐานทั้งหมด จะกรรมฐานชนิดใดก็ตาม ละให้หมด มารู้ให้หมด มาเห็นให้หมด และเข้าใจให้หมด กรรมฐานเหล่านี้ตกอยู่ในความเป็นอนิจจัง ทุกขัง เป็นทุกข์ทั้งนั้นเป็นอนัตตา ตลอดถึงความไม่สวยไม่งาม ทั้งที่เป็นของปฏิกูลน่าเกลียด
พิจารณาได้มั้ย พิจารณาว่ากรรมฐานเป็นของน่าเกลียด มันไม่ได้ซักคน มันมีแต่ความสวยความงามกันทั้งนั้น คิดแล้วก็สวยก็งาม เอ้า เกิดความรักความชอบในกรรมฐานนั้นอีก ทีนี้จะไปละกรรมฐานมันก็เลยละไม่ลง ตกลงก็อยู่ในกรรมฐานนั่น กรรมฐานก็พาเกิด พาเป็น พาตาย พาทุกข์ พายากลำบาก มันก็ของเก่านี่หละ มาก็มากรรมฐานของเก่า เผาก็เผากรรมฐานของเก่า ไปก็ไปเอากรรมฐานอันเก่า ก็ไปพิจารณากรรมฐานอันเก่า มันก็ไม่ได้อีกเพราะมันไม่ได้เข้าใจ
ท่านให้ละ พระพุทธเจ้าไม่ให้เอาทั้งนั้น แม้พระองค์ท่านก็ไม่ได้เอาสังขารของพระองค์ไปด้วย พระวรกายของพระองค์ก็ไม่ได้เอาไปด้วย เขาเอาไปถวายพระเพลิง อยู่กรุงกุสินารา ท่านก็ทิ้งเอาไว้นั้นน่ะ จะเอาไปไหนก็เอาไปเถอะ ทำยังก็ทำไปเถอะ ข้าไม่ได้ห่วงแล้ว พระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ไม่ได้เอาอะไรไปด้วย ท่านทิ้งหมดและท่านวางหมด ท่านไม่ได้เอาทั้งนั้น นั้นน่ะกรรมฐานน่ะ
เราอย่าไปยกให้พระกรรมฐาน ตัวของเรา ทั้งหญิง ทั้งชาย ทั้งเฒ่า ทั้งแก่ ทั้งเด็ก ทั้งเล็ก ทั้งหนุ่ม ทั้งสาว พระเล็กเณรน้อย พระเล็กพระแก่อะไร พระกรรมฐานทั้งนั้น แต่เราจะทำกรรมฐานนี่ให้เป็นประโยชน์ยังไง นั้นหละ ญายปฏิปันโน ก็จะเข้าไป ก็เข้าไปตั้งในกรรมฐาน แล้วมันก็จะไปดูกรรมฐานนี่แหละ กรรมฐานข้างในมันมีอะไร มีตับมีไต มีไส้มีพุง มีน้ำเลือดน้ำเหลือง มีอาหารใหม่ อาหารเก่า มีสารพัด นั่น! นี่หละเข้าไปหากรรมฐาน ญายะนี่เข้าไปหากรรมฐาน ก็กรรมฐานนี่ ความเป็นกรรมฐาน ความรู้กรรมฐาน ความเห็นในกรรมฐานนั้นหละเป็นญายะ นั้นหละเป็นธรรมะ
เมื่อได้ธรรมะ ได้ความรู้ ปัญญาขึ้นมาแล้ว ไอ้เจ้าของผู้ครองสังขารมารน่ะ มันก็เลยสลัด สละกรรมฐาน เมื่อสละกรรมฐานแล้ว ทิ้งไปแล้ว มันก็เลยเป็นสามีจิปฏิปันโน นั่น มันก็เป็นธรรมสิ ธรรมมันก็เป็นชอบ ทำโดยชอบ หรือว่าความชอบธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ มันก็ชอบหละสิ มันหมดแล้ว มันละหมดแล้ว มันทิ้งหมดแล้ว ทิ้งสังขาร ทิ้งรูป ทิ้งนาม
มันไม่ได้ใช่รูปใช่นามอยู่นั่น เดี๋ยวก็รูป เดี๋ยวก็นาม ก็ว่ากันอยู่นี่ นี่ก็รูป นี่ก็นาม นี่ก็รูปธรรม นี่ก็นามธรรม มันก็ได้แค่ว่า แล้วว่าแล้วมันไปไหนหละ ก็ไม่เห็นใครไปที่ไหน ก็ได้แต่อ้างกันอยู่นั่น อันนั้นก็รูปธรรม อันนี้ก็นามธรรม รูปธรรม นามธรรม ก็ได้แต่ว่ากัน ไอ้กิเลสมันอยู่ในรูปธรรม นามธรรม มันทำไมไม่ดู เจ้าโลภ เจ้าโกรธ เจ้าหลง เจ้าอวิชชามานะทิฐิ ไอ้มันหลงใหลอยู่นั่นมันทำไมไม่ดู แล้วมันทำไม๊ มันจะว่าแต่รูปธรรม นามธรรม
แล้วก็มาว่าแต่คำบริกรรมอยู่นั่นแหละ ว่าแต่ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ว่ายุบหนอพองหนอ สัมมาอรหัง ก็เลยไปอ้างคำบริกรรมกัน เอาคำบริกรรมมาอ้างกันว่าคำบริกรรมอย่างนั้นถูก คำบริกรรมอย่างนั้นผิด เอาหละ ไปเอาผิดเอาถูกกับคำที่นึกและที่ว่า ไอ้หัวใจตัวเองน่ะมันผิดหละ ผิดจากความสงบน่ะ ผิดจากความเป็นสมาธิคือความตั้งใจมั่นในกรรมฐาน ความที่จะตรงเข้าไปหาญายปฏิปันโน ความเป็นธรรม เพื่อจะได้สามีจิปฏิปันโนขึ้นมา แล้วมันไม่ได้ไปคิดไปนึกอะไรเลย เอาแค่คำนึกหรือคำพูดคำบริกรรมเท่านั้นมาอ้างกันว่าผิดหรือถูก ทั้งที่หัวใจของตัวเองหาความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิอะไรไม่มีเลย แล้วก็มาอ้างกันเพียงแค่นั้น
กิเลสน่ะมันหุ้มอยู่แล้ว ปิดบังอยู่แล้ว เลิกถอนออกจากกิเลสไม่ได้ แล้วก็มาสำคัญว่าตัวเองถูก และสำคัญว่าคนอื่นผิด แล้วก็ไปหาเพ่งโทษคนอื่น นั่น มันนอกกรรมฐานไปแล้ว ทั้งที่ตัวเองนั้นหาความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เพื่อจะได้เกิดปัญญาญาณ หรือว่าความรู้อันที่มันจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ที่จิตของเราจะได้เกิดธรรมะ เพื่อจะได้เกิดความรู้เองเห็นเองขึ้นมาน่ะ เค้าเรียกว่าสันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติดีแล้วก็จะต้องรู้เองเห็นเอง ไอ้ธรรมะข้อนี้หละมันไม่มีใครได้ แล้วมันมีแต่พูดกัน พูดกันและก็คิดกันนึกกัน อันนั้นมันได้ แต่จะให้มันเกิดขึ้นจากจิตจากใจตัวเองจริงๆ แล้วก็รู้เองเห็นเองขึ้นมาจริงๆ มันไม่มี มันไม่มีเลย
แม้กระทั่งถึงว่าความสงบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แล้วมันก็ยังหายาก ที่นี้เราจะเอาธรรมะอันที่มันเกิดขึ้นในตัวเองได้ที่ไหน ที่เราได้พากันมาว่าว่าสันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติดีแล้วย่อมรู้เองและเห็นเอง นี่ คำแปลออกมาน่ะ ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าจะให้มาว่าอย่างเดียว และให้มาสวดอย่างเดียว สวดแล้วก็จะแล้วไป แล้วมันรู้เองเห็นเองมั้ย มันก็อย่างเดิม ไอ้สวดน่ะมันสวดได้ แต่สิ่งที่มันจะเกิดจะรู้จะมีขึ้นมาด้วยการภาวนาเราน่ะมันมีอะไรบ้าง
ที่เราเรียกว่าภาวนา ภาวนาน่ะแปลว่าอะไร เราเข้าใจกันไหมหละที่ว่ามาภาวนาๆ แปลกันได้หรือยัง และความหมายเป็นยังไง ภาวนานั้นน่ะแปลว่าทำให้เกิดให้มีขึ้น หรือว่าแปลว่าเจริญ นั่นหละเขาเรียกว่าภาวนา ความเจริญนั้นน่ะยังไม่มี และก็ยังมาทำความเจริญให้เกิดให้มีขึ้น ความสงบยังไม่มี มาทำความสงบให้เกิดให้มีขึ้น สมาธิยังไม่มี มาภาวนานั่นน่ะทำให้เกิดให้มีสมาธิขึ้น ปัญญาไม่มีก็มาทำให้เกิดให้มีขึ้น และก็ให้เจริญขึ้น นั้นหละเค้าเรียกว่าภาวนา แล้วมานั่งหลับตานั่งขัดสมาธิ ก็เจ็บแข้งเจ็บขา ปวดหลังปวดเอวจะเป็นจะตาย ก็ถือว่าตัวเองภาวนา ความหมายก็เลยเอาแค่เจ็บขา ความหมายก็เลยเอาแค่ปวดเอว ความหมายก็เลยแค่เอาง่วงหลับง่วงนอน นั่น มันไม่ใช่เอาความหมายแค่นี้
ความหมายของการภาวนานั้นน่ะ ให้ความเจริญนั้นให้เกิดให้มีขึ้น ยังความเจริญให้เกิดให้มีขึ้น เจริญในมรรค เจริญในผล เจริญในความสงบ เจริญในสมาธิ เจริญในความสุข นั้นหละเค้าเรียกว่าภาวนา มาหานั่งเจ็บแข้งเจ็บขาก็หาว่าภาวนา มันว่าน่ะมันว่าได้ แต่ผลสำหรับที่จะมารองรับของการกระทำนั้นน่ะ มันยังไม่มี มันก็มีหรอก มีแบบเจ็บขาน่ะ กับเมื่อย กับรำคาญ กับง่วงนอน อันนั้นมันมี แต่ความเจริญในจิตในใจและความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิอันเป็นที่รับรองของการภาวนา มันไม่มีน่ะ
ทีนี้เราจะเอาอะไรเป็นสิ่งรับรองของการกระทำของพวกเรา และเราจะเอาอะไรเป็นเครื่องอ้าง ว่าเราได้รับผลอย่างนี้ๆ มันก็ไม่มี มันได้แต่ยกบุญให้กันเท่านั้นหละ ว่ามันเป็นบุญก็ว่าเป็นบุญไปหม๊ด ไม่รู้ว่าอะไรบุญ บุญยังไงก็ไม่รู้ บุญอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เหมาให้กันไปเลย คือมันง่าย มันยกให้กันง่ายๆ แต่ส่วนความเจริญในทางด้านจิตด้านใจอันซึ่งเราภาวนาที่จะให้มันเกิดและมีขึ้นในตัวเอง สงบก็ให้มันสงบจริงๆ สมาธิก็ให้มันสมาธิจริงๆ ให้มันตั้งมั่นจริงๆ
อย่าไปสมมุติว่ามันเป็นชั้นนั้นๆเถอะ ขั้นนั้นขั้นนี้ อย่าไปสมมุติมันเถอะ อะไรก็ปล่อยให้มันลงไปเถอะ มันจะลงไปไหนก็ให้มันลงไปเถอะ เดี๋ยวก็ไปสมมุติว่านี่ขณิกะ อ้าว นี่ อุปจาระบ้าง อันนี้อัปปนาบ้าง ก็ไปเอาอยู่นั่นหละ สมมุติก็ไปอ้างกันอยู่นั่นหละ ไม่รู้ว่ามันเป็นหรือไม่เป็นไม่รู้ อัปปนา หรือว่าอุปจาระ หรือว่าขณิก ไม่รู้ทั้งนั้นหละ มันไปเหมาอยู่นั่นน่ะ วนเวียนอ้างกันอยู่นั้นน่ะ ทั้งๆที่จิตของตัวเองไม่ยอมลง ไม่ยอมสงบ
แล้วก็ไปอ้างขณิกะ แล้วก็ไปอ้างว่าอุปจาระ แล้วก็ไปอ้างว่าอัปปนาบ้าง ก็ถ้ามันเป็นจริงๆมันจะไปอ้างอะไร มันไม่ได้อวดได้อ้างหรอกถ้ามันเป็นจริงๆ โอ๋ มันระวังซะให้ดี มันประคับประคองตัวของมันน่ะดีที่สุด รักษาตัวมันดีที่สุด เพราะมันดีแล้ว มันรักษาความดีในตัวเอง เหมือนเกลือนั่นน่ะรักษาความเค็ม มันไม่อยากที่จะไปอวดไปอ้าง มันไม่อยากที่จะไปติปากให้อะไรหรอกถ้ามันไม่ได้มีใครที่จะมารับรู้ และพูดเข้าไปแล้วถ้ามันไม่รู้เรื่องกัน เค้าจะไปพูดทำไม มันไม่ได้สน มันรู้ของมันคนเดียว มันเห็นของมันคนเดียว มันเข้าใจของมันคนเดียว มันสุขของมันคนเดียวสิ และคนอื่นมันจะมาแย่งได้ยังไงหละ ต่อเมื่อจิตเรามีความสงบสุขเป็นสมาธิแล้ว ใครจะมาแย่ง ใครหละจะมาเอาหัวใจเราไปได้ มันไม่มีทาง มันเป็นเรื่องของเรื่อง เรื่องของเราเฉพาะ
แม้กระทั่งถึงความรู้ความเห็นอันซึ่งเราเห็นภายใน ซึ่งมันเป็นของแปลกซึ่งเรียกว่า เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู ที่พระพุทธเจ้าบอกว่าควรเรียกให้มาดู เพราะอะไร เพราะมันเป็นของแปลก มันแปลกและมันไม่มีหรอกในโลก โลกที่เราตาเห็นน่ะมันไม่มีหรอก มันเป็นของแปลกประหลาดซึ่งเราไม่คิดว่ามันจะมีจะเป็นได้ แต่มันมีได้เป็นได้ มันเป็นของแปลกๆ ก็ได้แก่ความดีทั้งหลายซึ่งมันมีในตัวจิต ซึ่งจิตมันมีความดีในตัวเอง มันเป็นของแปลก
นี่แหละ พระพุทธเจ้าเรียกให้มาดู ซึ่งเรียกว่า เอหิปัสสิโก ไม่ใช่ว่าจะเอามาสวดอย่างเดียวนะ ท่านบอกว่าให้เรียกเอามาดู ก็เรียกไหน ก็เรียกหัวใจตัวเองนั้นหละ อุชุปฏิปันโนก็ตรงเข้าไป ญายปฏิปันโนก็เข้าไปหาธรรมนั่นหละ นั่นหละเรียกเข้าไปดู สามีจิปฏิปันโนนั่น เป็นของแปลกหละ เรื่องมรรค เรื่องผล เรื่องอะไรต่ออะไรต่างๆนานาประการ กิเลสของเราทั้งหลายนับตั้งแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง อวิชชา ตัณหา มานะ ทิฐิ พวกกามราคะอะไรต่ออะไรเนี่ย โอ้ย มันแสดงออกให้หมด มันเห็นหมดหละ มันรู้หมดว่ากิเลสอันนี้มันลักษณะอย่างนี้ หน้าตามันเป็นอย่างนี้ ความโลภเป็นอย่างนี้ ความโกรธ ความหลงเป็นอย่างนี้ มันก็จะต้องเข้าไปดูซะก่อนซิ มันก็จะต้องเข้าใจซะก่อนสิ
อยู่ๆก็จะทิ้งมันไปเลยว่ามันกิเลสเป็นยังไงก็ไม่รู้ ก็จะไปทิ้งกิเลส ได้ยินแต่ชื่อว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง เห็นว่ามันทุกข์มันยาก เค้าว่าไม่ดีก็จะทิ้ง มันจะไปทิ้งได้ยังไง มันยอมไหมหละ กิเลสมันไม่ได้ยอมใครนะ อย่าคิดว่ามันยอมเราง่ายๆนะ เหมือนกับพระเทศน์น่ะ มันง่ายนะ ถ้าใจเรากับกิเลสมันไม่ยอมที่จะออกจากกันนะ เชื่อง่ายๆไม่ได้นะ นั้นหละตัวหลงอีกหละ
มันต้องทำความเข้าใจให้มันลึกซึ้ง สุขุมคัมภีรภาพซะก่อนสิ ทำความสงบในจิตในใจของตัวเองให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิซะก่อนสิ กิเลสทั้งหลายที่มันจะมายั่วยวนหรือผลักดันให้มากระทบกระทั่ง จิตมันก็ไม่ได้หวั่นไหว มันไม่ได้หวั่นไหวกับอารมณ์ มันไม่ได้หวั่นไหวกับสิ่งที่มันรู้มันเห็น และสิ่งที่จะมาหลอกลวง
แม้กระทั่งถึงความอยาก ความอะไรที่มันจะมาหลอกลวงทำให้เราอยากอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็ไม่ได้หวั่นไหวตาม แม้กระทั่งถึงความโกรธ ความโมโหโทโส เมื่อจิตมันตั้งมั่น เมื่อมันกระทบกับอารมณ์บางอย่าง ก็เมื่อมันตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วมันสงบแล้ว มันจะแสดงออกมาได้ยังไง เรารู้เท่าเอาทันแล้ว เราสงบระงับมันได้แล้ว มันจะแสดงอะไรออกมาได้อย่างไร มันไม่ได้หวั่นไหวตาม มันจะไปหลงกับรูป กับเสียง กับกลิ่น กับรส ที่มันเห็นด้วยตา และรู้ด้วยหู ที่จะไปรักไปชอบว่ามันสวยมันงาม คิดอยากจะเอามาอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วมันจะไปหลงยังไง
ก็เมื่อมันรู้แล้วมันเพ่งเข้าไปอย่างนี้ มันก็มีแต่พวกกระดูกนั่นน่ะ พวกกรรมฐาน และเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก ถ้ามันเห็นแล้ว เห็นตัวเองยังไง ก็เห็นคนอื่นมันก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะคนอื่นกับเรามันก็อันเดียวกัน เรากับคนอื่นมันก็อันเดียวกัน เห็นเรามันก็เห็นเขา แล้วมันจะไปหลงยังไง มันเห็นในทางจิตกับเห็นในทางตากับความคิดนี่มันผิดกันนะ
ขอให้มันสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิดูเถอะ มันจะเป็นอย่างไร ความรู้อันที่มันจะเกิดขึ้นภายในมันจะเป็นอย่างไร ขอให้มันเป็นมาซะก่อนเถอะ ความรู้และความเห็นมันจะผิดกัน มันเป็นคนละอย่าง มันไม่ได้เหมือนกันหรอก และมันเห็นมันก็ไม่ใช่ว่าเห็นเพื่อเป็นทุกข์ และมันจะไปเดือดร้อนกับสิ่งที่มันได้เห็นได้ยินได้ฟังอะไรมา มันเห็นด้วยความสุข และมันเห็นด้วยความเยือกเย็น เห็นด้วยความสงบ สิ่งเหล่านั้นที่จะมารบกวนจิต เพื่อจะให้จิตของเราหลงใหลใฝ่ฝันไปตามมัน มันไม่ได้ตามแล้ว ก็ตามอะไรหละ มันตั้งมั่นแล้ว จิตมันมั่นแล้ว
เมื่อมันมั่นหละมันจะเป็นอุปจาระหรืออัปปนา ก็เรื่องของมันละเว้ย ก็ให้มันเป็นซะก่อน ว่ามันเป็นอุปจาระหรือว่าเป็นอัปปนา หรือว่ามันจะมั่งคงโดยวิธีไหนก็ตาม มันเป็นไปซะก่อนสิจึงค่อยว่ามันทีหลัง
เอะอะเราไปว่ามันก่อนน่ะ พอมีอะไรมาปุ๊บ “เอ้า! อุปจาระ” เอะอะมาก่อน “เอ้า! ขณิกะ” เอ้า! ถ้าลงไปนะ “เอ้า! เป็นอัปปนา เอ้า! หลงนะ” แล้วกัน ไม่มีทางได้ แล้วไปทักกันก็ทักในทางผิด ทั้งๆที่คนนั้นมันจะไปถูกอยู่แล้ว แล้วก็ไปหาว่าผิดอีก ก็ว่าผิดแล้วมันก็เลิกสิ ไม่ทำอ้ะ อันนี้มันผิด เพราะคนนั้นเค้าว่าผิด จำเป็นก็เลยไม่เอา ก็ไปหาทางอื่นอีกน่ะ หาไปหามามันก็เลยของเก่าอีกนั่นนะ เอาไปมาก็เลยไม่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไร เสียเวลา
นั่น ชีวิตมันก็หมดไป วันคืนมันก็หมดไปอะไรไป เดี๋ยวก็ตายซะ เลยไม่ได้เรื่องอะไร ก็เพราะมันยุ่งกันก็ยุ่งกันอย่างเนี้ยหละ ยุ่งกันในเรื่องการปฏิบัติเนี่ย ยุ่งในเรื่องจิต มันไม่รู้ว่ามันเป็นสมาธิยังไง มันสงบยังไง มันสงบมาแล้วมันจะเป็นยังไง ผลของความสงบเป็นยังไง ผลของสมาธิเป็นยังไง ญาณมันเกิดยังไง ฌานมันเป็นยังไง สมาธิเป็นยังไง มันก็ไม่รู้อีกหละ ก็ได้แต่แค่บอกกันอยู่นั่นน่ะ เอ้า ว่าพุทโธนะ พุทโธเป็นอย่างนั้น พุทโธเป็นอย่างนี้ ไปเรื่อยเปื่อยน่ะ
แล้วความสงบในความเป็นพุทโธน่ะมันเป็นยังไง แล้วว่าพุทโธมันจะสงบอย่างไร ในสงบมีอะไรเกิดขึ้น แล้วมีใครบอกใครเล่า ไม่มี! มีแต่บอกให้ว่าตะพึดตะพือ ว่าแล้วก็ไม่รู้จะว่าไปไหน ไม่รู้มันได้อะไร ก็ได้แต่ว่า แค่ช้างกระพริบหูงูแลบลิ้น แค่นั้นแหละ ก็ปรากฏนิดหน่อย เอ้า กลัวผิด ไม่เอา เอาใหม่ ตั้งอยู่เรื่อยน่ะตั้งต้น อยู่แต่แค่ต้นน่ะ ปลายไม่ถึง ถ้าแบบนี้หละ ทำไปเถอะชาตินี้ทั้งชาติ ไอ้ธรรมะที่ว่าอยู่ในใจๆ ไม่มีทางที่จะต้องเจอ
ก็มีแต่ว่าเหมาให้กันเท่านั้นหละ ไอ้เหมาน่ะมันได้อยู่ว่า “ธรรมะอยู่ที่ใจ”นะ อะไรก็อยู่ที่ใจนะ มันจะมีธรรมะอยู่แต่ในใจ ใจมันมีแต่ธรรมะอย่างเดียวเมื่อไหร่ ไอ้กิเลสหละมันจะไม่มีเชียวหรือ ทำไมถึงว่าเอาแต่ธรรมะอยู่ที่ใจ และใจนั้นก็เต็มไปด้วยธรรมะ แต่กิเลสน่ะมันเต็มในหัวใจทำไมไม่ว่า แล้วไปยกแต่ธรรมให้มัน แต่กิเลสหละทำไมหละ มันเต็มอยู่แล้ว ไม่อายกิเลสบ้างหรือ ว่าธรรมะอยู่ที่ใจนั่น เอ๋ยยย กิเลสมันหัวเราะ หัวเราะ “เออ ว่าไปเถอะ มันว่า ธรรมะอยู่ที่ใจ แค่นั้น อย่าไปทำนะ ใจของเจ้าน่ะเป็นธรรมะแล้ว มีธรรมะแล้ว อย่าไปทำ” กิเลสมันก็เลยหัวเราะน่ะ ดีแล้ว ไปเหมาให้มันหมด
แท้ที่จริงกิเลสน่ะมันเต็มอยู่ในหัวใจ คือกิเลสมันเต็มที่ใจ มันไม่มีใครว่า เจ้าโลภ เจ้าโกรธ เจ้าหลง เจ้าอวิชชา เจ้าตัณหา เจ้ามานะทิฐิ อะไร มันเต็มอยู่มิใช่หรือ จะไปยกแต่ธรรมะให้มันอย่างเดียว มันก็ได้ใจกิเลส ถ้าเราไม่รู้สิ่งเหล่านี้ซะก่อน เราจะภาวนาไปมันจะได้เรื่องอะไร อะไรมันจะเกิดขึ้นและผลลัพธ์ผลเสีย ผลได้ผลเสียมันจะเป็นยังไง ก็ไม่รู้เรื่องอีกหละ
ภาวนากันตะพึดตะพือ เข้าป่าเข้าดง ภูเขาเหล่ากา เข้าถ้ำเขาเหว ป่าโน่นป่าเนี่ย ไป๊เรื่อย! ตากแดดตากลมไป แต่ว่าอะไรหละมันเป็นผลลัพธ์ และได้อะไรมา ก็ไม่รู้เรื่องอีก ก็ไปยกธรรมะให้อยู่ที่ใจ ทั้งๆที่กิเลสน่ะมันพาไปนะ มันก็ว่าไอ้นั่นอยู่ตรงนั้น เออ มันจะดีอย่างนั้น ก็ไปซะเว้ย ก็พากันไป ไปแล้วก็ โอ้ย มันไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ เอ้า หนีอีกหละ ธรรมะหรือกิเลส มันกิเลส มันก็ไม่รู้อีก เราจะไปยกไม่ได้ ก่อนที่เราจะยก หรือก่อนที่เราจะว่าก็ขอให้พากันพินิจพิจารณาให้แยบคายเสียก่อน ให้ละเอียดลึกซึ้งสุขุมคัมภีรภาพเสียก่อน
อย่าไปเอาคำของพระพุทธเจ้านั่นมาว่า ถ้าพระพุทธเจ้าว่า ไม่ผิด ถ้าพระอรหันตาเจ้าทั้งหลายว่า ไม่ผิด แต่พวกเราว่า ผิดครึ่งหนึ่งถูกครึ่งหนึ่ง หรืออาจจะผิดเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ก็ได้ คิดให้ดีนะ พิจารณากันบ้าง เรื่องของการภาวนา ก็อย่าคิดแต่ว่าไปภาวนาดี ก็เห็นเค้าว่าดีก็จะดีไปหมด ถ้าเวลามันเป็นบ้ามาหละ แล้วมันดีไหมละ ไปภาวนาแทนที่จะได้ดี กลับมาได้บ้าเอามาหาหมู่หาพวก เอาบ้ามาเป็นของฝาก แล้วมันดีหรืออย่างนั้น ทั้งๆที่ของดีของวิเศษ ของที่มีคุณค่าแต่เมื่อไปทำแล้วน่ะ เอาบ้ามามันดีไหมหละ มันอายมั้ย ถ้าของดีทำไมถึงเป็นบ้า
แล้วมันน่าคิด ก็เพราะเรามันไม่เข้าใจนั่นหละ เข้าใจว่าธรรมะมันอยู่ที่ใจอย่างเดียว มันไม่ได้นึกถึงกิเลสว่ามันอยู่ที่ใจ พอว่าธรรมะอยู่ที่ใจ พอเข้าไปเท่านั้นหละ กิเลสมันก็เล่นงานเท่านั้นหละ นี่หรือว่าธรรมะที่ใจ ทำให้เกิดวิปริตขึ้นมาน่ะ บ้าครึ่งดีครึ่ง แน่ะ! มันควรคิดนะ เราจะไปคิดอย่างเดียว การสอนคน หรือการพูดกับคน หรือการพิจารณาธรรมะ ต้องอ่านให้มันรอบคอบ
คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้เถียงหรอก ท่านกล่าวมาน่ะมันดีหมดและถูกหมด แต่ละบทแต่ละคำ แต่ว่าใจของเรานั่นซิ กายของเรานั่นซิ วาจาเราสิ เราจะประคับประคองกาย วาจา จิตของเราให้ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นได้หรือไม่ มันยังไกลอยู่นะ มันได้แค่สังคม ความสังคมมันอยู่ในวงการของศีลธรรม อาศัยว่าความเป็นระเบียบและมีความเกรงกลัวในศีลในธรรมเท่านั้น ในบาปในกรรม แล้วก็พากันอยู่ด้วยความสันติในสังคมเท่านั้น
แต่ว่าสันติในทางจิตนั่นน่ะ จิตตวิเวก มันไม่มี มันมีแต่แค่กายวิเวก และวจีวิเวกคือเดี๋ยวนี้ กายวิเวกมันก็อยู่กันเงียบ วจีวิเวก เงียบ ไม่ได้พูด แต่จิตตวิเวกน่ะสิ มันอยู่ที่ไหนไม่รู้ ไอ้ความวิเวกในทางจิตนะสิมันยาก ก็เพราะเรานั่นหละมันไม่เข้าใจ ความไม่เข้าใจนี่แหละมันจึงเป็นปัญหาในการปฏิบัติธรรม ทำให้เราเนิ่นช้า และทำให้เราได้เสียเวลาที่จะดำเนิน ที่จะให้จิตของเรามันก้าวหน้าเข้าไปสู่ความสุขอันแท้จริง เหมือนกับกำแพงนั่นมาปิดบัง มากีดกั้นกันจิตของเราไม่ให้บรรลุ ก็ความลังเลสงสัยคือความไม่เข้าใจ
นี่หละเรื่องของการภาวนา ถ้าเราไม่เข้าใจเสียก่อนหละ เมื่อมันเป็นมาหละ ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นอีกหละ เมื่อมันสงบก็ไม่รู้ว่ามันสงบอีกหละ ก็หาว่า ไปไม่เข้าเรื่องอีก ก็เลยไม่ทำต่ออีก ก็เมื่อไม่ทำต่อมันก็หายหละสิ ก็เพราะอะไร ก็เพราะไม่รู้ ไอ้ความสงบก็จะให้มันเป็นดีไปเลยทีเดียว ไอ้เรื่องของคนคิดน่ะ จะคิดว่าจะให้มันเป็นอัปปนาสมาธิ ก็จะให้ปัญญาญาณเกิดขึ้นมาทันที และเมื่อมันยังไม่ถึงอย่างนั้นก็เลยไม่รับรองว่ามันผิดหรือถูกอีกหละ
แล้วมันเป็นเล็กๆน้อยๆในเบื้องต้น ขยับไปทีละน้อยๆเนี่ย ทีแรกมันก็สงบไปนิดนึง สองมามันก็สงบไปอีก สามมามันก็สงบ สี่มันก็สงบ ต่อๆๆกันไป มันก็เป็นทีละน้อยๆก่อนสิ น้อยมันไปหามาก ก่อนมันจะถึงที่สุดมันก็ไปเป็นระยะๆเสียก่อน ถ้าเราไม่รับรองกันแล้วหละ คนที่จะกระทำ ที่มันได้ผลขึ้นมาเล็กน้อย ก็เลยไม่รู้จะต่อกันยังไงอีก ไม่รู้เรื่อง ไปๆมาๆก็ เอ้า เลิกๆ แล้วไปทำใหม่ ไปหาอย่างอื่นแล้วก็แล้วกันไป นี่หละมันทำให้เราเสียเวลา
แทนที่จะรู้เองเห็นเอง เกิดขึ้นในตัวเอง เปล่า! มีแต่รู้กับคนอื่น แล้วคอยฟังกับคนอื่น คอยที่จะให้พระมาเทศน์ให้ฟัง คอยแต่จะให้ครูบาอาจารย์มาเทศน์ให้ฟัง แล้วเรามันจะมาเทศน์เอาทำไม เทศน์น่ะมันง่ายซะเมื่อไหร่หละ เอาความดีมาพูดให้คนฟังน่ะมันง่ายหรือ ก็ถ้าเห็นว่ามันง่ายก็ลองดูซิน่า แล้วใครหละเค้าจะมาเทศน์ให้เราฟังบ่อยนัก เราก็จะมาคอยเอาแต่ความรู้จากการได้ยินได้ฟังอย่างเดียว แล้วก็จะเอามาเป็นความรู้ของตัวเองอีกหละ แล้วเกิดมานะทิฐิอีกหละ ทั้งที่ความรู้ที่มันจะเกิดเองเห็นเอง คือเรื่องสันทิฏฐิโกเนี่ย ผู้ปฏิบัติดีแล้วจะรู้เองเห็นเอง เมื่อไหร่หละมันจะเกิดขึ้นจากหัวใจของเราท่านทั้งหลาย แล้วมันจะได้เลิกฟังกันเสียที
ฟังแล้วก็ฟังเล่า ยิ่งครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาก็ โหย โห่กันน่ะ คิดว่ามันจะได้มรรคได้ผลเดี๋ยวนั้นน่ะ ทุ่มเทกัน เสียสละเงินทอง เอ้า ควักกระป๋งกระเป๋ากัน มีอะไรก็ให้กันอย่างที่ว่าไม่เสียดาย มาฟังเพียงเล็กๆน้อยๆก็เหมือนกับว่าตัวเองจะได้เป็นอรหัตอรหันต์ เห่อกันไป แล้วท่านก็พูดให้ฟังเล็กๆน้อยๆเท่านั้นหละ แล้วก็ไม่เห็นว่าได้อะไร ทั้งๆที่มันจะรู้ขึ้นเอง เห็นเอง เกิดขึ้นเองในตัวเอง ไม่มี!
ถ้าอย่างนี้หละ เมื่อไหร่หละ ชาตินี้ทั้งชาติเชียวเหรอ จะปล่อยให้ชาตินี้มันเสียหายโดยไร้ประโยชน์เชียวหรือ ที่ให้มันรู้เองเห็นเองมาบ้างนี่ก็จะไม่มีบ้างหรือ จะไปคอยให้แต่คนอื่นเหรอมาพูดให้ฟัง จะมาชี้แนะให้ฟัง ทั้งที่มันเป็นของของตัวเองอยู่แล้ว ที่ว่าธรรมะอยู่ในใจแล้ว แล้วทำไมจึงจะให้คนอื่นน่ะเขามาบอกกล่าวเล่าสิบอยู่ตลอดเวลา และเราตั้งเงินเดือนให้ไหมหละ ผู้ที่จะมาสอนนี่มันมีเงินเดือนมั้ย แล้วเราตั้งเงินเดือนให้มั้ย มันก็ไม่มีอีกหละ แล้วใครจะมารับเงินเดือนให้เรา แล้วใครจะมารับสอนให้เรา มันเป็นเรื่องของเราเองที่จะรู้เองเห็นเอง
กิเลสของตัวเองยังจะไม่รู้ตัวเอง แล้วใครจะมารู้กิเลสตัวเองเมื่อมันเกิดความอยากขึ้นน่ะ ตัวเองจะไม่รู้หรือว่ามันอยาก เมื่อมันโกรธขึ้น ตัวเองจะไม่รู้หรือว่ามันโกรธ มันเกลียดคน ตัวเองจะไม่รู้หรือว่ามันเกลียด มันรักคน ตัวเองก็จะไม่รู้หรือว่ามันรักมันชอบ ก็จะไม่รู้ตัวเองมั่งหรือ มันหลงกับรูป กับเสียง กับกลิ่น กับรส ก็ตัวเองมันจะไม่รู้บ้างเหรอ ก็ตัวเองไม่รู้เองเห็นเองอย่างนี้หละจะไปรู้ที่ไหนหละ
จะมารู้อายตนะภายนอก อายตนะภายใน อายตนะภายนอกก็คือรูปเสียงกลิ่นรส อายตนะภายในก็คือ ตา หู จมูก จะมาไล่หลักธรรมอย่างนั้นหรือ ไอ้หลักหัวใจที่มันหลงอยู่นี่ ที่มันเกิดขึ้น ทำไมไม่รู้เองเห็นเอง ถ้าไม่รู้เอง เห็นเอง ใครเล่าเค้าจะมาละให้เรา แล้วใครหละจะมาแก้ให้เรา เรารู้เองนะ เราเห็นเองแล้วก็แก้เราเองนะ เราละเราเอง เราก็ได้เราเองนะ นั่นหละมันได้ธรรมะ คือได้ตรงที่ได้รู้เองเห็นเอง แล้วก็ละ พอละแล้วก็ได้แล้วหละธรรมะ ถ้ายังไม่ละ ก็ธรรมปลอม รู้ก็รู้ปลอมๆ ทั้งที่มันมีอยู่กับตัวเอง ตัวของตัวเองก็ยังไม่รู้ตัวเอง
กรรมฐานก็เรื่องตัวเอง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ มังสัง อาการ ๓๒ ก็สวดกันอยู่นั่น ทุกวันทุกคืน หลักจากทำวัตรไหว้พระเสร็จ เสร็จแล้วก็ว่ากรรมฐาน เกสา โลมา… ครบอาการ ๓๒ ว่ากันอยู่นั่น เมื่อไหร่หละมันจะเลิกว่ากันเสียที เมื่อไหร่มันจะรู้เองเห็นเองเสียที
กิเลสตัวเองนั่นน่ะ เดี๋ยวนี้ภาวนาให้มันดูกิเลสนะ มันคิดอะไร มันปรุงอะไร มันแต่งอะไร มันนึกอะไร มันรักอะไร มันชอบอะไร ดูมัน หาความสงบให้มันสิ มันจะไปตามอะไรกับมันมากมายหละ ตามมาจนพอแล้ว จนนอนไม่หลับไม่ใช่หรือ ใครหละจะมาสอนเราได้ ใครจะมาว่าเราได้ ถ้าตัวของตัวเองไม่สอนตัวเอง ตัวเองไม่ว่าตัวเอง ใครจะไปว่า ใครจะไปสอน มันต้องสอนจิตนะ มันต้องดูจิตนะ มันต้องรู้จิตตัวเองนะ จะละหรือไม่ละก็อย่าเพิ่งไปว่ามันเถอะ ให้รู้ซะก่อนเถอะ
เอะอะก็จะละมันไปเลย จะไปละมันได้ง่ายๆหรือ กิเลสมันสัมพันธ์กันมาเท่าไหร่หละ ตั้งแต่เราก่อเกิดอยู่ที่ไหนหละวิญญาณ แล้วใครสร้าง โรงงานวิญญาณมันอยู่ตรงไหน แล้วมันเกิดที่ไหน แล้วมันมาจากไหน มาอยู่ที่ไหน มันมาแล้วกี่ปีกี่ภพกี่ชาติ แล้วมันอยู่ด้วยกันมาน่ะ กิเลสนั่นน่ะ แล้วจะมาขับมันออกง่ายๆเชียวหรือ จะเอาแค่ว่าพุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือสัมมาอรหัง ยุบหนอพองหนอ ว่าแค่นี้กิเลสมันจะกลัวหรือ มันไม่มีทาง คำว่ากิเลสที่จะไปกลัวน่ะ ไม่มีทางหรอก จิตของเรามันประสานกับกิเลสมาเท่าไหร่ เหมือนน้ำกับสีน่ะมันผสมกันน่ะ ที่เราจะมาคัดลอกและกลั่นกรองออกจากจิตเนี่ย จะกลั่นโดยวิธีไหน และจะกรองโดยวิธีไหน
จะละเอาเลยหรือ ได้ยินท่านบอกว่าให้ละ ก็ละเอาเลยเหรอ แค่ความสงบตั้งมั่นมันไม่มี มันจะไปละอะไรได้ อย่าไปโง่นัก! หัดให้มีปัญญากันบ้าง ปฏิบัติกันมาถึงจะเป็นจะตาย ยังไม่มีปัญญาอะไรเลย เห็นว่าท่านบอกให้ละ ก็จะไปละเอาเลย มันจะไปละได้ง่ายๆเหรอ ถ้าละได้ง่ายๆ ยังจะมานั่งภาวนาปวดแข้งปวดขาทำไม จะเข้าป่าเข้าดงไปทำไม
ถ้าจิตของเราไม่มีความตั้งมั่น หรือว่าสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีหลักฐานมั่นคงแล้ว เพื่อจะต่อต้านกับพวกกิเลสภายในแล้วมันจะไปละได้ยังไง มันจะไปรบกันได้ยังไง คิดว่ามันจะรบง่ายๆหรือ ว่าเราท่องธรรมะได้ ท่องสวดมนต์ได้ อันนั้นก็ได้ อันนี้ก็ได้ คิดว่ากิเลสมันจะกลัวหรือ หืม มันยิ่งชอบ มันไม่มีทางกลัวหรอกกิเลส มันยิ้ม มันหัวเราะ ถ้าจิตของเราไม่มีความสงบตั้งมั่นและเกิดความรู้ขึ้นเองเห็นเอง ไม่มีทางชนะมัน แต่มันเป็นธรรมะก็เป็นอยู่ธรรมะน่ะ ธรรมะก็คือความรู้ในด้านการศึกษามันเป็น แต่ธรรมะที่จะเอาชนะกิเลสเพื่อจะละกิเลส มันเป็นไปไม่ได้
ถ้าขาดจากความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว เราอย่าไปคิดเอาง่ายๆว่ามันจะละได้ และมันจะกลั่นกรองจิตของเรานั้นออกจากกิเลสนั้นมาสดใสสะอาด เหมือนกับน้ำกลิ้งบนในบัว มันเป็นได้ยาก ถ้าไม่สงบเสียก่อน ถ้าไม่มีสมาธิเสียก่อน คือเราจะต้องเข้าไปกลั่นไปกรองกันเสียก่อน ไปพิจารณาถึงโทษถึงคุณอะไรเรื่องของกิเลสเสียก่อน ที่เรียกว่าวิปัสสนาญานๆ ญานปัญญาอันเกิดขึ้นจากจิตที่เรามีสมาธิแล้ว แล้วเราจะได้นำเอามาใคร่ครวญพิจารณา อันนี้เป็นทางอุปกิเลส อันนี้เป็นทางมรรคทางผล นั่นหละเค้าจึงเรียกว่า วิปัสสนา
เอะอะเอามาคิดว่ารูปธรรม นามธรรม ปัญจขันธา รูปขันโธ ก็มาท่องกันน่ะ เอาแล้ว! เป็นวิปัสสนา คิดไป อันนั้นก็รู้ไป อันนี้ก็รู้ไป ไอ้อย่างนี้มันไม่ได้ลำบาก มันไม่อดไม่อยาก แล้วมันทำเอาเมื่อไหร่มันก็ได้ มันไม่ได้มานั่งให้มาเจ็บแข้งเจ็บขาทำไม ไปคิดเอาที่ไหนมันก็ได้ถ้าจะเอาวิปัสสนาแห่งความคิดซึ่งมันเกิดขึ้นโดยลักษณะนั้น มันไม่ได้ยาก มันไม่จำเป็นจะมานั่งหลับหูหลับตา ให้มันอดข้าวอดปลา โอ้ย ไม่กินข้าว คิดเอาเถอะ