Skip to content

นิมิตทางภาวนาเป็นของมีประโยชน์

หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก

| PDF | YouTube | AnyFlip |

พากันตั้งใจฟังและก็ตั้งใจภาวนา และตั้งใจหาจิต หาใจของตัวเองแต่ละคนๆ เพราะจิตใจมันเป็นของหายากแต่เป็นของที่มีอยู่ แต่มันก็หาตัวตนไม่ได้ ไม่รู้ว่าตัวมันเป็นตัวยังไง ตัวโตขนาดไหนเล็กขนาดไหน สีดำสีขาวสีแดงก็หาได้รู้ไม่ มันมีเฉพาะแต่ตัวรู้เฉยๆน่ะ มีเฉพาะความรู้เฉยๆ แต่มันมีอยู่ข้างใน ไม่ใช่อยู่ข้างนอก 

ของที่อยู่ข้างในแต่เวลาใช้งาน มันใช้ข้างนอก แต่ตัวจริงแท้เค้าก็อยู่ข้างใน ในไหน ในสกลกายของเรานี่หละ เวลาทำงาน เอาอะไรทำ ก็เอาร่างกายเรานี่หละทำ แต่เขาเป็นผู้บอก เขาเป็นผู้แนะ เขาเป็นผู้รู้จักในเรื่องผิดและถูก เขามันรู้ เขามีหน้าที่รู้ มีหน้าที่ที่จะใช้งานของเราอย่างเดียว แต่งานของเขาคือเขาใช้เรา ไม่ใช่เราใช้เขา เขาใช้เราอยู่ทุกเวลา หรือว่าเวลาทำงานทำการน่ะ เขาหละเป็นผู้ใช้ ถ้าไม่มีเขา เราก็ทำงานไม่ได้ เพราะฉะนั้นของทั้งสองอย่างก็จึงได้อาศัยซึ่งกันและกัน กายก็อาศัยจิต จิตก็อาศัยกาย 

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้หา หาผู้ที่อยู่ข้างใน ผู้ที่เขาเป็นเจ้าของเรา ผู้ที่เขาใช้เรา ผู้ที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย นั่นหละพระองค์ให้หาอันนั้น หาให้เพื่ออะไร เพื่อระงับหาความสงบ เพื่อให้มันเกิดความสงบขึ้น ระงับความวุ่นวาย สิ่งที่มันวุ่นวายอยู่นั้นน่ะ มันออกมาจากข้างในก่อน ถ้าข้างในไม่วุ่นวาย ข้างนอกมันก็ไม่วุ่นวายหรอก มันออกจากเขาหมดนั่นหละ 

นั่นหละพระพุทธเจ้าที่สอนธรรมะเรียกว่าสอนให้รู้ธรรมะ สอนให้รู้ตัวเอง สอนให้เอาชนะตัวเอง สอนให้ช่วยตัวเอง สอนให้ดูตัวเอง ท่านให้สอนเข้าไปดูข้างในนั่นน่ะเพื่อให้มันสงบ ระงับ มีความมั่นคงอยู่ภายใน มั่นคงอยู่ในความสงบ ความสงบนั้นหละชื่อว่าคุณของพระพุทธเจ้า หรือว่าคุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าที่ท่านให้ผล ที่ท่านคุ้มครองป้องปักษ์รักษาน่ะ ท่านคุ้มครองอยู่ข้างใน รักษาอยู่ข้างใน ตัวจริงของท่านก็ได้ใจแก่ใจของเราสงบ ได้แก่ความสงบของใจ นั่นหละตัวพุทธะ ตัวพระพุทธเจ้า ที่เข้ามาประทับหัวใจของเรา 

ดังนั้นหละเมื่อเรามาฟังแล้วก็มีการปฏิบัติคือภาวนาไปด้วย คำว่าภาวนาก็หมายถึงว่าความเจริญ หรือว่าทำให้เกิดให้มีขึ้น ก็ทำให้มันเกิด มันมีขึ้นสิ ทำความเจริญให้เกิดให้มีขึ้น เจริญในความสงบนั่นน่ะ ทำยังไงใจของเราจะมีความสงบ ก่อนที่จะมีความสงบได้ เราก็มากำหนดหัวใจของเรา ก็คือกำหนดตัวรู้นั่นหละ แล้วก็ให้มีความสัมผัสกับส่วนร่างกายของเรา ที่ว่ากายคตาสติ หรือว่า อานาปานสติ ก็ลมนั่นหละ ลมมันก็เป็นกายในส่วนหนึ่งเรียกว่าธาตุลม แล้วก็มากำหนดอานาปานสติ ก็คือเรามากำหนดลม เมื่อเรามากำหนดลมก็เหมือนเรามากำหนดกาย เรียกว่ากายคตาสติ 

เรามากำหนดลมหายใจเข้าหายใจออก หายใจเข้าไปนำเอาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าไปด้วย เวลาหายใจออกนำเอาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตามมาด้วย และก็ตามเข้าตามออก คือพุทเข้าไป แล้วก็โทออกมา เราก็กำหนดอยู่เฉพาะอย่างเดียวนั่นน่ะ ให้มันเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับหัวใจของเรา ให้ใจของเรามันเกี่ยวข้องกับสัมพันธ์กับลมก็พุทโธ คือให้เอาอย่างเดียว อย่าเพิ่งไปอยากรู้มาก ไอ้ที่มันรู้มาก มันพาให้เราวุ่นวาย ให้รู้จำกัดดูซิว่ามันจะเป็นยังไง รู้เฉพาะพุทโธ ใจก็พุทโธ แล้วพุทโธกับใจให้ได้เข้ากัน ให้ได้สัมพันธ์กันให้ดี อย่าให้มีอย่างอื่นเข้ามาแทรก 

เรื่องราวอะไรต่างๆซึ่งมันเป็นอดีตมา คือผ่านมาแล้ว ก็ให้แล้วไป ทีนี้อนาคตที่ยังไม่มาถึงก็อย่าไปคำนึงมัน เหมือนกับงานที่เราทำมาแล้วน่ะ คือมันผ่านมาแล้วก็ให้มันแล้วไปก่อน หยุดไว้เพียงแค่นั้น ส่วนที่เราจะทำไว้ข้างหน้า เราก็ชะงักไว้ก่อน เรียกว่าเราพักงาน เราพักงานเราก็อยู่ตรงกลางสิ อดีตเราก็ไม่ต้องไป อนาคตเราก็ไม่ต้องคำนึง เราคำนึงในปัจจุบัน ปัจจุบันก็คือลมเข้าลมออก คือพุทเข้าไป โทออกมา นี่เรียกว่าปัจจุบัน 

เราเอาเฉพาะแค่นี้แหละว่ามันจะมีอะไร และมันจะนำประโยชน์อะไรให้เราบ้าง และประโยชน์อะไรจะเกิดขึ้น เกิดขึ้นในการกระทำอย่างนี้ก็ให้เรากำหนดลองดูสิ กำหนดอะไรหละ กำหนดลมนั่นหละกับหัวใจเราเท่านั้นหละ ดึงใจของเราให้ไปหาลม ดึงลมเข้าไปหาหัวใจ แล้วก็ไปสัมพันธ์กับพระพุทธเจ้าคือพุทโธ และธัมโม เมื่อได้พระพุทธก็ได้พระธรรมนั่นหละ ขั้นแรกเรามายึด มากำหนดพุทโธ เรามาบริกรรมพุทโธ เวลามันสงบไป ความสงบนั่นน่ะเรียกว่าพระธรรม ตั้งมั่นเป็นสมาธิก็เรียกว่าพระธรรม 

ทีนี้อะไรมันจะเกิดขึ้น ความสงบนั้นหละก็เรียกว่าพระธรรม พระธรรมมันเกิดขึ้น ก็เมื่อความสงบตั้งมั่นแล้ว ก็มันมีแต่ความสุขน่ะ ก็ความสุขมันเกิดขึ้น นั่นแหละคุณของพระธรรม ก็ทำคุณของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอันใดก็พระธรรมอันนั้น พระธรรมอันใดก็พระสงฆ์อันนั้น ต่างแต่ชื่อ แต่เนื้อหาน่ะอันเดียวกัน คุณภาพอันเดียวกัน แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น ในความสงบนั้น อานุภาพหรือว่าคุณภาพที่มันจะเกิดขึ้นน่ะ ก็เกิดขึ้นภายในมันจะเกิดขึ้นโดยวิธีไหน แล้วมันจะเกิดขึ้นลักษณะอย่างไร ก็ให้มันมีความสงบลองดูซะก่อนสิ 

ถ้ามันไม่มีความสงบก็ไม่รู้ว่าจะให้มันเกิดขึ้นได้ยังไง ไม่รู้ว่าอะไรมันจะเกิด ฌาณมันก็เกิดไม่ได้สิ ถ้ามันไม่สงบ ญาณมันก็เกิดไม่ได้ มันก็เลยไม่เห็นอะไร ก็ญาณนั่นน่ะที่พาให้เราเห็น พาให้มันเกิดขึ้นมา ฌาณมันก็ตั้งมั่น เพ่งอยู่ด้วยความเป็นสมาธิ ญาณก็คือความรู้ที่มันจะเกิดขึ้น จะเป็นอตีตังสญาณก็ตาม อนาคตตังสญาณก็ตาม ปัจจุปันนังสญาณก็ตาม ก็ให้มันสงบซะก่อน มันไม่มีความสงบ ก็ธรรมะเหล่านี้ก็ไม่รู้จะเกิดขึ้นได้ยังไง แม้แต่อภิญญาและมโนมยิทธิ อิทธิ ฤทธี จักขุทิพย์ โสตทิพย์ บุพเพนิวาสานุสติญาณอะไรเหล่านี้ ทีนี้ถ้ามันไม่สงบหละ ธรรมเหล่านั้นน่ะจะไปเกิดตรงไหนถ้าใจของเราไม่สงบ ก็เมื่อใจของเรามันสงบ ฌาณมันก็เกิดขึ้น ญาณมันก็เกิดขึ้น และปัญญามันก็เกิดขึ้น จักขุทิพย์มันก็เกิดขึ้น โสตทิพย์มันก็เกิดขึ้น มโนมยิทธิ ฤทธิ์ในทางจิตมันก็เกิดขึ้น ฤทธา ศักดานุภาพ ฤทธิ์ในทางใจ พวกดำดิน บินบน เหาะเหินเดินอากาศ ตามตำราท่านว่า มันก็เนื่องมาจากใจซะก่อนสิ ก็ใจให้สำเร็จเสียก่อนสิ ใจให้สงบก่อนสิ มันก็จึงจะมีฤทธิ์ 

บุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณที่มันจะเกิดขึ้นในเรื่องอดีต เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด เหมือนพระพุทธเจ้าท่านรู้น่ะ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะรู้ได้ก็ ท่านก็ต้องทำความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิเสียก่อน ไม่ใช่ว่าจะอยู่เฉยๆแล้วพระพุทธเจ้าจะรู้ขึ้นมาเอง มันไม่ใช่สิ ท่านก็นั่งภาวนา ก็กำหนดลมเนี่ยหละ อานาปานสติ จิตพระองค์ก็สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ แล้วก็เกิดปัญญาณขึ้นมา เรียกว่าญาณทั้ง ๓​ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวขยักญาณ ก็ญาณทั้ง ๓​เนี่ยหละเกิดขึ้น ยังให้พระพุทธเจ้าได้สำเร็จหรือว่าให้ความสำเร็จ เมื่อสำเร็จแล้วก็จึงได้เป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะญาณทั้ง ๓ นี่ ก็ญาณทั้ง ๓ เกิดขึ้นเพราะอะไร ก็เพราะมานั่งภาวนานี่ 

การนั่งภาวนาน่ะมันดูอะไร หาอะไร การนั่งภาวนาก็หาใจน่ะ แต่ดูใจเท่านั้นน่ะ ก็ตั้งข้อสังเกตสิน่ะ เดี๋ยวนี้มันคิดอะไร มันปรุงอะไร มันแต่งอะไร มันเอาเรื่องอะไรมาคิดมานึก มันเป็นเรื่องอดีตหรือเป็นเรื่องอนาคต หรือว่ามันเรื่องอะไร มันเรื่องเขาหรือเรื่องเรา เรื่องของเราหรือเรื่องของเขา ก็ตั้งข้อสังเกตไปสิน่ะ นำเอาองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าคือพุทโธก็เข้าไปประทับ เข้าไประงับความวุ่นวายของจิต จิตที่มันคิดนั่นน่ะ มันปรุงมันแต่งนั่นน่ะ 

ปัญญาก็ให้รู้เท่าเอาทันบ้างสิ ก็ปัญญาน่ะก็แปลว่าความรู้รอบ เราก็เข้าใจกันอยู่ ปัญญาแปลว่าความรู้รอบ รู้รอบอะไรหละ รู้รอบในกองสังขาร สังขารมันมีทั้งสอง สังขารนอก สังขารใน สังขารนอกก็คือร่างกายของเรา คือตัวตนนี่หละ เนื้อ หนัง กระดูก เส้นเอ็น นี่สังขารนอก หรือนอกจากตัวของเราไปอีกก็เป็นสังขารนอก สังขารในหละ ก็คือความปรุงแต่ง ก็มันแต่งจิตอยู่นั่น เอาเรื่องนั่นมาคิด เอาเรื่องนี่มาปรุง เอาเรื่องนี่มาแต่ง แล้วก็แต่งเรื่องนั่นแล้วก็แต่งเรื่องนี่ แต่งเรื่องของเขา แต่งเรื่องของเรา ไม่รู้ว่ามันแต่งไปทำไม บางอย่างก็นำความทุกข์มาให้ แต่งไปแต่งมาทุกข์ก็เกิด มันก็นำทุกข์มาให้ตัวเอง บางอย่างก็มีความสุข มันก็สุขไปชั่วขณะหนึ่ง บางอย่างก็เฉยๆ แต่มันก็แต่ง 

นี่ให้มันรู้รอบสิ รู้รอบในกองสังขาร สังขารนอก สังขารใน แต่ให้รู้ในสังขารใน ในขณะที่เวลาเราทำ เราเอาสังขารใน ให้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ดูความปรุงแต่งของจิต เรียกว่าสังขาร นี่สังขารในขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็เป็นผู้รู้น่ะ ก็ให้รู้เท่าเอาทันในกองสังขาร อะไรเป็นผู้รู้ก็วิญญาณนั่นหละ แต่ในตัวเขานั่นหละ วิญญาณก็อยู่กับเขา ก็ปัญญาก็อยู่กับวิญญาณนั่น มันไม่ได้ไปอยู่ที่ไหน สัญญาก็อยู่ด้วยกันนั่นแหละ เขาไม่ได้หนีจากกันหรอก มันก็อันเดียวกันนั่นแหละ พอเรารู้อันเดียว พอเราเห็นอันเดียว พอเราระงับอย่างเดียว อย่างอื่นก็พลอยระงับไปด้วย มันก็ระงับไปหมดนั่นหละ ก็เพราะธรรมทั้งหลายก็มารวมตรงนี้ 

เมื่อเรามาได้ตรงนี้มันก็ได้หมด จะได้หมดก็ได้เท่าไหร่ที่ว่าได้หมด ก็ธรรมะมีเท่าไหร่หละ ก็๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็มาได้อยู่ที่ใจอันเดียว พอใจเรามีความสำเร็จในความสงบหรือความสงบบังเกิดขึ้น แล้วก็ยังความสำเร็จให้เกิดขึ้นเหมือนพระอริยเจ้า ก็ได้อันเดียวนั่นหละ ท่านก็สำเร็จอันเดียวนั่นน่ะ ความสำเร็จก็ไปอยู่ที่เดียว ไปอยู่ที่ใจ ถ้าเราได้ความสงบหละ แล้วความรู้รอบหละ ความรอบคอบในกองสังขารหละ ก็เหมือนกับว่าเราได้หมดหละ ก็ได้ในนั้นหละที่ว่าได้ธรรมะ ที่รู้ก็รู้ในนั้น ที่เห็นก็เห็นในนั้น ที่แจ้งก็แจ้งในนั้น ที่มืดมันก็มืดอยู่ตรงนั้น ที่เศร้าหมองก็เศร้าหมองอยู่ตรงนั้น 

นั่นหละให้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ทุกคน สังเกตดูใจเราเท่านั้น อย่าไปมองทางอื่น ดูหัวใจตัวเอง เรื่องของคนอื่นก็ให้มันเป็นเรื่องของเขา เวลาเรานั่ง เราเอาความสงบของเรา คือเราดูตัวของเรา เราจะแพ้หรือจะชนะ มันก็อยู่กับตัวเรา จะไปโทษใครก็ไม่ได้ จะไปว่าใครก็ไม่ได้ จะไปมอบกับใครก็ไม่ได้ มันเป็นตัวของตัวเอง แพ้ก็แพ้อารมณ์ตัวเองนั่นแหละ ถ้าชนะก็ชนะอารมณ์ตัวเอง แพ้ก็แพ้ความคิดตัวเอง ชนะก็ชนะความคิดตัวเองนั่นหละ มันไม่ได้ไปแพ้ไกล ชนะไกลนะ มันอยู่ใกล้ๆนี่ 

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้ดูตัวเอง และให้ช่วยตัวเอง และก็ให้หาตัวเอง และก็ให้ดูตัวเอง ดูความผิดความถูกของตัวเอง จะไปเหมาแต่ความผิดให้คนอื่นแล้วใครจะมารับความผิดจากเราหละ สมมุติว่าเค้ายกความผิดมาให้เรา เราจะยอมรับความผิดจากเขามั้ยหละ เราก็ไม่ยอมรับ เราก็มัวแต่ยกความผิดให้คนอื่นนั่นหละ คือไปคิด ก็คนนั้นผิด คนนี้ถูก อย่างนั้นอย่างนี้ คนนั้นเป็นธรรม คนนี้ไม่เป็นธรรม มันก็ความปรุงความแต่งมันมีอยู่อย่างนั้นหละ ความไม่เป็นธรรมน่ะมันอยู่กับคนอื่นหมด ความเป็นธรรมมันอยู่กับตัวเองหมด นี่มันก็เห็นแก่ตัวอีกหละ แท้ที่จริงมันก็เท่ากันนั่นหละ มันไม่ใช่ว่าใครเกินใครนะ จะมีใครดีกว่าใครก็หาใช่ไม่ มันเท่ากัน ก็มันมีกิเลสเท่ากันนี่ ถึงคราวดี มันก็ดีไปชั่วขณะ ถึงเวลาไม่ดีหละ อะไรมันมาก เราก็เทียบกันบ้าง เพราะฉะนั้นความดีกับไม่ดี มันมีประจำกันทุกคน จะน้อยจะมาก หรือเวลาที่มันจะเกิดขึ้นก็แล้วแต่จังหวะ จังหวะน้อยก็มี จังหวะมากก็มี มันก็มีทุกคน

ทีนี้เราจะไประงับ จะระงับตรงไหนหละ ก็ระงับตรงนั้นหละ ก็ตรงที่มันเกิดนั่นน่ะ ถ้าเราจะชนะก็ชนะตรงนั้น เราจะทำยังไงจะชนะมันได้ ก็เอาความสงบนั่นหละ ก็ความสงบจะเนื่องมาจากไหน ก็เนื่องมาจากการภาวนา การภาวนาจะทำยังไงหละ ก็มากำหนดใจของเราเท่านั้นหละ แล้วก็มาบริกรรมพุทโธๆๆในใจ ก็มีแค่นั้น นั่นหละชื่อว่าภาวนา ชื่อว่าปฏิบัติธรรม มันก็ไม่ได้ไปทำอย่างอื่นนะ ปฏิบัติธรรมก็เหมือนกับเราทำอยู่เดี๋ยวนี้แหละ นั่งอยู่เดี๋ยวนี้หละ แค่นี้แหละ แค่ปฏิบัติธรรม 

แต่ธรรมะน่ะมันมาก คำสอนมาก แต่เวลามันทำก็ทำแค่นี้หละ ก็เหมือนอย่างเราไปนั่งอยู่บ้าน เราก็นั่งอย่างนี้ ก็นั่งหลับตาซะ กำหนดลมหายใจเข้าออกซะถ้าเรานั่งได้ แต่เมื่อเวลามันสงบหละ มันได้มาก มีอะไรมันก็ได้หมดถ้ามันได้ ถ้ามันไม่ได้ มันยาก ถ้ามันไม่ได้ก็คือมันไม่สงบ ก็ความไม่สงบนั้นหละ มันจึงทำความวุ่นวายให้เรา เราที่มีความวุ่นวายอยู่ก็เพราะความไม่สงบ ตกลงก็เลยความแพ้มันก็อยู่กับตัวเองนั่นน่ะ นี่เรียกว่าแพ้อารมณ์ แพ้ความคิดของตัวเอง ทีนี้พวกญาณมันจะเกิดที่ไหน ฌาณมันจะไปเกิดยังไง ญาณมันจะไปเกิดยังไง อภิญญามันจะไปเกิดยังไง อริยมรรคมันจะเกิดยังไง อริยผลมันจะเกิดยังไง ความหลุดความพ้นมันจะเกิดยังไง แม้แต่ความสงบก็ยังหาไม่ได้ แล้วก็ยังหาความสงบไม่มีในตัวเอง ทีนี้มันจะไปชนะมันได้ยังไง ก็มีแต่แพ้กับแพ้ 

นี่หละเวลาหาใจตัวเองนั้นน่ะ คืออย่าไปหาไกล นั่งอยู่นี่หละ นั่งหามันอยู่นี่หละ ยืนหาก็ได้ เดินหาก็ได้ นอนหาก็ได้ แต่ให้มันเห็นนะ อย่าไปนอนหลับนะ หรือก่อนจะหลับก็ให้มันเห็นซะก่อน คำว่าหาน่ะ ก็จะไปเอาแต่ความหลับ เวลานอนก็มันก็หลับไปซะแล้ว มันก็แล้วไปหละ มันก็มีความสบายในความหลับเท่านั้นหละ แล้วมันก็ฝันไปตามหน้าที่ของมัน ถ้าฝันดีมันก็สบายขึ้นมา สบายใจ ถ้าฝันไม่ดี มันจะเสียเงิน มันก็เรื่องของตัวเอง ฝันไม่ดีก็หาว่าฝันร้าย ว่าตัวเองมีเคราะห์ เคราะห์เข็ญเวรร้าย จะต้องไปทำบุญ เสียเคราะห์สะเดาะลางไป 

ความฝันน่ะจะว่ามันดีก็มันใช่ จะว่ามันร้ายก็ไม่ใช่ แต่มันก็ให้ประโยชน์ ให้ได้ทำบุญอ้ะหนึ่ง นิมิตทางความฝันน่ะ เราจะเข้าว่าดีแต่อย่างเดียวก็ไม่ใช่ แม้แต่เรานอนหลับมันก็ยังทำให้เรากลัวได้ บางคนก็ฝันว่าผีไล่ ฝันว่าเขาไล่ฆ่า ฝันว่าเขาไล่ยิง ฝันว่ากระโดดสูง ฝันว่าลงหลุม อะไรต่ออะไรแล้วแต่หละ ตกใจหละเวลาตื่นขึ้นมา แม้แต่ความฝันของตัวเองมันก็ยังให้ทุกข์เหอะน่า มันก็ยังทำให้กลัวน่ะ มันไม่ใช่ง่ายนะเรื่องจิตนี่น่ะ นี่เรียกว่านิมิตในทางฝัน 

ถ้านิมิตในทางภาวนาหละ มันอาจจะมีความกลัวแต่เบื้องต้นเท่านั้น ถ้าเสียก็เสียเบื้องต้น คือยังไม่รู้จักเอาเท่านั้น คือจะไปกลัวมันเท่านั้น คนก็กลัวแต่เป็นบ้าเท่านั้น ไม่มีอะไรหรอก นิมิตภาวนาก็กลัวแต่เป็นบ้า ถ้าเรามารู้เท่าเอาทันซะเบื้องต้น มันไม่มีพิษมีภัยอะไร มันมีแต่ความสุขและความสบาย ถึงแม้มันจะเห็นร้ายก็ตาม เห็นดีก็ตาม อะไรก็ตาม แต่ใจนั้นเป็นสุข 

มันจะมาแบบร้ายยังไงก็ตาม มันจะเหยียบแข้งเหยียบคางมาอะไรก็ตาม ตามันจะเท่ากับกระถงกระโถนนี่ก็ตาม มันจะมาแบบไหนก็ตาม แต่ใจน่ะมันมีความสุขแล้ว มันไม่ได้กลัว มันไม่ได้หวั่นไหวกับสิ่งที่มันแสดงมาอย่างนั้น ซึ่งมันเป็นอุคหนิมิตที่ว่านิมิตติดตา มันเป็นนิมิตในทางร้ายมา แต่ใจนั้นมันไปตั้งมั่นแล้ว มันไม่ได้หวั่นไหว แต่เขาก็ทำลายอะไรไม่ได้ แต่เขาทำอะไรไม่ได้ เขาก็มีแต่ยกมืออนุโมทนาสาธุการ เพราะจิตเรามันเป็นธรรมแล้วในเมื่อเรามีความสงบ มันเลยทำอะไรไม่ได้ 

นิมิตภาวนาถึงแม้มันจะร้าย แต่มันก็ไม่ได้เป็นอันตราย แล้วมันก็ไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าลองนิมิตความฝันดูซิน่า ก็ลองฝันดูซิ ฝันไม่ดีซิ มันต้องทำสังฆทาน ก็ต้องเสียผ้าไตรหละ ก็ต้องไปถวายพระจนได้ ก็ถือว่าตัวเองฝันไม่ดี ฝันเห็นเพื่อน เห็นหมู่ เห็นพวกที่ล้มตายไปก่อน เห็นพวกญาติพี่น้องที่ตายไปก่อน หรือเค้ามาแสดงให้เห็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เป็นนิมิตความฝัน พอตื่นขึ้นมาก็นึกแล้ว จำเป็นเราจะต้องทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเขามาทำร้าย มันก็ยิ่งตกอกตกใจเพิ่มเข้าไปอีก 

นี่หละนิมิตความฝัน ถึงมันเป็นของธรรมชาติก็ตาม แต่มันก็ให้โทษ แต่บางคนก็อาจจะใจขาดไปในนั้นน่ะ ที่เราคิดว่านอนตายนั่นน่ะ ถ้ามาพิจารณาดูนะที่ว่านอนตาย มันตายไปเลย ไม่มีใครรู้จัก แต่หมอเค้าก็ว่าหัวใจวายนั่นน่ะ สิ่งที่จะทำให้หัวใจวายน่ะมันคืออะไรเค้าก็ไม่ได้ว่า เค้าก็ว่าไปตามหน้าที่ มันก็ถูกของเขา มันก็อาจจะเป็นได้ แต่เราก็ไม่รู้ว่าเค้าตายเพราะอะไร นี่นิมิตในทางฝันมันก็มีส่วนอยู่นะ แต่เราก็พิจารณาเอา ให้ข้อคิดเฉยๆหรอก ว่ามันเป็นเท็จจริงแค่ไหนก็พิจารณาเอา นี่นิมิตในทางฝัน 

ถ้านิมิตในทางภาวนา ถ้าจะมีโทษก็เฉพาะเบื้องต้นเท่านั้น ถ้าเราเข้าใจหละ ถ้าเราไม่กลัวหละ คือไม่กลัวตายอย่างเดียวเท่านั้นน่ะ ตัดสินว่าตายในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ พอจิตมันลงเท่านั้นหละ วูบลงเท่านั้นหละ เหมือนกับเราจะหลับ พอจิตมันดิ่งลงเท่านั้นหละ ทีนี้มันหายหละ มันไม่กลัวหละ ยึดเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก เป็นที่พึ่ง เราพึ่งพระพุทธ พึ่งพระธรรม พึ่งพระสงฆ์ ตรงนั้นเราไม่กลัวหละ ถ้าไม่กลัวหละ มันก็ไม่มีอะไร มันก็ไม่ได้ไปทำลายอะไร มันก็มีแต่ความสุข มันก็มีแต่ความสบาย มันก็มีแต่ความสงบ เบาตน เบาตัว เบากาย เบาใจ โล่งอกโล่งใจ สมองอะไรมันก็โล่งไปหมด มันก็เลยไม่มีปัญหาอะไรสิ 

พอครั้งที่สองหละ ครั้งที่สองมันก็ไม่กลัวสิ เพราะมันเคยไปแล้ว มันรู้แล้ว ครั้งที่สามหละ ครั้งที่สามมันก็ยิ่งไม่กลัวหละ ก็มันรู้แล้ว ชำนาญแล้ว มันรู้จัก มันไม่พิษมีภัย ทีนี้มันก็มีแต่ดีกับดี ยิ่งลงไปเท่าไหร่ ยิ่งสงบไปเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น ดีไปหน้าน่ะอันนี้ ไอ้ความสงบที่มันจะเป็นนิมิตในทางภาวนามันมีแต่ดีไปหน้า ไอ้ความฝันนี่ไม่รับรองนะ คืนนี้หละฝันดีหละ แต่พรุ่งนี้หละ คืนต่อไปอีกหละ มันก็ไม่แน่ แต่ว่าดีอย่างที่เราได้ไหว้พระสวดมนต์นะ ถ้าได้ไหว้พระสวดมนต์แล้วก็มีนั่งภาวนาบ้าง ผสมบ้าง เออ อันนี้ก็รู้สึกว่า นิมิตดี ฝันดี ถ้าไม่ฝันก็ไม่ฝันเลย ถ้าฝันมันก็ฝันดี ฝันเป็นมงคล ถ้าเราไม่นั่ง เราก็ไหว้พระเฉยๆก็ได้ แต่เรานั่งภาวนาด้วย ไหว้พระด้วยอันนี้มีคุณค่ามาก เรียกว่าไม่ฝันร้าย ฝันเป็นมงคล ทำให้เราสบายใจ 

นี่ ในเรื่องความฝัน เรื่องนิมิต อย่าคิดว่าจะมีแต่คุณอย่างเดียวนะ มันก็มีทั้งโทษ มันก็มีทั้งคุณน่ะ แต่ว่าจะห้ามมันไม่ได้เท่านั้นน่ะ ใครจะไปห้ามความนอนได้หละ ก็เพราะเรานอน ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น มันต้องนอนสิ ถ้านอนมันก็ต้องหลับ ถ้าหลับแล้วมันต้องฝัน ส่วนคนที่ไม่ฝันมันก็น้อยหรอก แต่โดยมากมันมักจะฝันกัน อาจจะเว้นวันหรือต่อวัน อย่างนี้มันก็ได้และมันก็เป็นไปได้ นี่เรื่องของความฝัน 

ถ้าเรื่องของภาวนา เรื่องของจิต ถ้าเราภาวนาเป็น ถ้าจิตมีความสงบ นิมิตมันเกิดขึ้นมันก็ไม่ได้กลัว แม้แต่เราหลับ ในทางความฝันมันก็เป็นมงคล คือไม่มีอะไรที่จะมาให้ร้าย ไม่มีอะไรที่จะมาทำร้ายภายในจิต 

ในเมื่อจิตที่เขาเป็นธรรมแล้ว มีแต่สิ่งที่เป็นธรรมในตัวเขา มีแต่สิ่งที่เป็นมงคลในตัวเขา ความเป็นอุดมมงคลมันอยู่ตรงนั้น อยู่ความสงบนั้นน่ะ ถึงแม้ว่าเราจะทำความสงบได้ แต่ความสำเร็จของเรามันยังไม่เพียบพร้อม มันก็ไม่เป็นไร ขอให้รู้ว่าคุณภาพของธรรมะ คุณภาพของใจอันที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติซึ่งธรรมะเกิดขึ้นในตัวเอง พอที่ให้เรารู้จักคุณค่าของธรรมะเอาไว้ เราก็จะได้ยึดเอาธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าเอาไว้บ้าง เราก็จะได้รักษาเอาพระพุทธศาสนาเอาไว้บ้าง แล้วเราก็จะได้ทำให้มันเป็นประโยชน์แก่ตัวเองบ้าง พอจะแนะให้คนอื่นผู้ที่มีศรัทธาที่จะเข้าใจกันได้ เราก็ต้องแนะให้ พอเขาทำได้ เขาก็จะทำไปตามกำลังสติปัญญาของเขา ปุญญาบารมีของเขามีมาเพียงแค่ไหน เขาก็ต้องทำไปเพียงแค่นั้น นั้นก็เป็นการเผยแพร่ เป็นการให้ความดีแก่เพื่อนมนุษย์ผู้ที่เกิดมาด้วยกัน เราก็ได้ประสบการณ์ในตัวเอง แล้วก็ต้องการให้เขาประสบการณ์ด้วยเขาบ้าง ก็เลือกบุคคลเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะทั่วไป 

นี่วิธีการเผยแพร่มันก็เป็นอย่างนั้น นี่เรื่องของจิต เผยแพร่ในเรื่องของจิต เราพอที่จะให้กันได้เราก็ให้ ทีนี้ในส่วนบาปกรรมน่ะมันก็เกิดขึ้นมา มันก็รู้ของมันเองหรอก ส่วนนี้มันเป็นบาป ส่วนนี้มันเป็นบุญ​ ก็จิตมันสงบ ถ้าไม่เห็นพวกนี้ ถ้าไม่รู้พวกนี้ มันก็จะไปรู้อะไรที่ไหน และมันจะไปเห็นอะไรที่ไหน ถ้าไม่เห็นบาปเห็นบุญ บุญกับบาปมันก็อยู่กับใจ จิตที่เป็นอกุศลก็อยู่ที่ใจ จิตที่เป็นกุศลมันก็อยู่ภายในคือใจ มันก็อันเดียวกัน ถ้ามันสงบไปแล้วมันก็ไปรู้เห็นพวกนี้สิ ถ้าเห็นแล้วมันก็ละสิ ละในส่วนชั่วนั่นหละ แล้วก็มาเอาความดี มาเอาส่วนที่เป็นกุศล 

นั่น! ที่มันเห็นในตนมันเห็นอย่างนั้น อย่าว่ามันไม่มีนะ ก็คือมันเห็นกิเลสนั่นหละ แต่กิเลสนั่นน่ะมันพาให้เป็นอกุศล มันเป็นส่วนกุศล ถ้าเร่งเข้าไป เร่งเข้าไปหละ มันก็ละไปหมดทั้งสองนั่นหละ ละไปส่วนทั้งบุญ ละไปทั้งบาป มันเลยอยู่ตรงกลางทีนี้ เลยความเป็นกลางขึ้น พออยู่ความเป็นกลางได้ นั่นหละ ความยินดียินร้ายมันก็หมด เมื่อความยินดียินร้ายมันก็หมด ถ้าความยินดียินร้ายมันหมด ก็เรียกว่าอยู่ด้วยความเป็นกลาง เค้าเรียกว่ากลางโลกธรรม อิฏฐารมณ์ก็ไม่เข้า อนิฏฐารมณ์ก็ไม่เข้า เลยมันก็อยู่เป็นกลาง นั่นหละเป็นผู้ชนะตน 

ขณะนี้เราก็ยังอยู่ในความแพ้ ก็เรียกว่าแพ้ตนเองโดยไม่รู้ตัวหละ ชนะบ้าง แพ้บ้าง แต่โดยมากก็แพ้นั่นหละ นี่หละทำใจให้มันเป็นกลาง แต่ก็ต้องให้รู้เสียก่อนว่านี่มันเป็นกุศล อันนี้มันเป็นอกุศล อันนี้มันเป็นบาป อันนี้มันเป็นบุญ ต่อไปก็อยู่ตรงกลางสิทีนี้ กลางบาปกลางบุญ บาปก็ไม่เอา บุญก็ไม่เอาหละ ตอนนั้นน่ะตอนจะไปกันจริงๆน่ะ เหมือนพระพุทธเจ้าหรือพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านไม่เอาอะไรซะอย่าง ไปอยู่ตรงกลาง นั่นจึงเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา อยู่ด้วยความเป็นกลาง 

การทำความเป็นกลางนี่มันยาก มันลำบาก ก็เหมือนกับว่าความไม่เป็นธรรมทุกวันนี้ มันวุ่นวายกันอยู่นี่หละ ไม่รู้ว่ามันเป็นกลางตรงไหน ไม่รู้ว่าขอบมันอยู่ตรงไหน ไม่รู้ว่าริมมันอยู่ตรงไหน มันก็วุ่นกันอยู่อย่างนั้นหละ อันนี้โลก ก็ช่างเขาเถอะ ก็ไปว่าเขาไม่ได้ ก็ส่วนมาก เราก็อยู่ไป อยู่ไปจนชั่วอายุเราเท่าที่จะอยู่ได้นั่นหละ แต่ขอให้อยู่ด้วยความสุข ขอให้โอปนยิโก น้อมเอาธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาไว้ในหัวใจของตัวเองบ้าง เอหิปัสสิโก เรียกธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เข้ามาสู่หัวใจตัวเองบ้าง แล้วก็จะได้มีความสุขความเจริญ  สมกับว่าเราชาวพุทธ ลูกพุทธ ลูกของตถาคต ตถาคตก็จะได้มาเป็นที่พึ่ง พระพุทธก็จะได้มาเป็นที่พึ่ง ก็จะได้คุ้มครองรักษาให้เราปราศจากทุกข์โศกโรคภัยแล้วก็เจริญไปด้วยศีลด้วยธรรม ด้วยความสงบสุข ก็ถือว่าเราเป็นผู้ชนะ แต่ชนะตนตามสมควรแก่ฐานะ 

ดังที่บรรยายมาก็สมควรแก่กาวเลา ขอยุติเอาไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้