หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
เทศน์งานครบ ๑๐๐ วัน ท่านอาจารย์เฟื่อง
บัดนี้จะได้แสดงพระธรรมเทศนาพรรณนาศาสนาธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาเพิ่มเติมกุศลสัมมาปฏิบัติต่อคณะเจ้าภาพและพุทธศาสนิกชน เนื่องด้วยวันนี้ท่านทั้งหลายได้มีพระเดชพระคุณเป็นประธานได้พร้อมใจกับประกอบกองการกุศลบำเพ็ญบุญตั้งแต่เมื่อวาน คือวันครบ ๑๐๐ วัน นับตามเดิมแต่ท่านอาจารย์เฟื่องท่านได้ถึงแก่มรณภาพไปแล้วนั้น
เมื่อเราท่านทั้งหลายมารำลึกถึงคุณูปการหรือคุณงามความดีที่ได้บำเพ็ญต่อกันมาตามวิสัยของกตัญญูกตเวทิตาชน เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอันล้มหายตายจากไป ก็อดที่จะเป็นห่วงในวิญญาณของท่านผู้ถึงแก่มรณภาพไม่ได้ แต่ความจริงท่านอาจารย์เฟื่องท่านก็เป็นพระเถระ คงแก่เรียน คงแก่การปฏิบัติสมถะวิปัสสนากรรมฐาน เข้าใจว่าท่านก็คงมีกุศลบุญบารมีพอที่จะช่วยตัวเองได้ แต่ถึงกระนั้นในฐานะที่พวกเราเป็นศิษยานุศิษย์ก็อดที่จะนึกถึงคุณูปการของท่านไม่ได้ บางทีเราอาจจะไม่คิดว่าเรามาบำเพ็ญบุญกุศลมาถวายท่าน เพราะเราเข้าใจว่าบุญของท่านมีมากกว่าเราแล้ว เรามาคิดว่าเรามาทำบุญกุศลเพื่อเป็นการบูชาพระคุณท่าน อันนี้จะเหมาะสมดีกว่า
ดังนั้นรวมความได้ว่า ทั้งคณะสงฆ์ซึ่งมีพระเดชพระคุณเป็นประธาน ตลอดทั้งอุบาสกอุบาสิกา แม่ขาวนางชี รวมทั้งผู้แสดงธรรมด้วย เรามาร่วมจิตร่วมใจกันบำเพ็ญกุศล เพื่ออุทิศเป็นดอกไม้บูชาพระคุณของพระอาจารย์ที่ท่านได้ล่วงลับจากเราไปแล้ว สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้พระองค์จะปรินิพพานไปนานแล้วก็ตาม แต่ท่านก็ยังทรงอยู่โดยพระคุณฉันใด พระอาจารย์ของเราแม้ท่านจะสิ้นชีวิตไปแล้ว แต่ก็ยังปรากฏอยู่โดยพระคุณ เพราะเราศิษยานุศิษย์ย่อมได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระคุณท่าน คุณงามความดีได้ฝังแน่นอยู่ในจิตในใจของเราโดยวิสัยของจิตผู้มีความกตัญญูกตเวที ดังนั้น ณ วันนี้ เราทั้งหลายจึงได้พร้อมใจกันมาแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวที มาแสดงออกซึ่งคุณธรรมอันเป็นพื้นฐานแห่งคุณงามความดี เมื่อเรามีกตัญญูกตเวทีซะอย่างย่อมเป็นพื้นฐานให้เกิดคุณธรรมอย่างอื่นๆได้
ที่เรามาปฏิบัติตามโอวาทคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี ปฏิบัติตามโอวาทคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ของเราก็ดี เมื่อเราได้ดิบได้ดีเพราะโอวาทคำสอนของท่านแล้ว เรามารำลึกถึงคุณูปการที่ท่านมีต่อเรา เราผู้เป็นลูกศิษย์กตัญญูกตเวทีย่อมอดที่จะรำลึกถึงคุณูปการของท่านไม่ได้ ตามที่เราท่านทั้งหลายมาร่วมใจกันประกอบกองการกุศลครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าอนุโมนายินดีเป็นอย่างยิ่ง สำหรับคุณงามความดีอื่นๆซึ่งครูบาอาจารย์มีต่อเรา เรามีต่อครูบาอาจารย์ก็ดีจะไม่นำมากล่าวพรรณนาให้ยืดยาว
จะวกไปถึงพูดถึงเรื่องการปฏิบัติสมถะโดยตรง ซึ่งหลักและวิธีการต่างๆ ท่านทั้งหลายก็อยู่ในสำนักที่เป็นสำนักปฏิบัติกรรมฐาน ความรู้ตามตำรับตำราหรือหลักพิธีการต่างๆย่อมเป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัดนี้สำนักนี้ท่านพ่อลีได้วางรากฐานเอาไว้อย่างมั่นคง เพราะฉะนั้นเรื่องหลักและวิชาการต่างๆจึงไม่จำเป็นจะต้องนำมากล่าว แต่ขอทำความเข้าใจกับบรรดาผู้ฟังทั้งหลายว่า หลักของการปฏิบัติกรรมฐานในเบื้องต้นที่สมมุติบัญญัติในคัมภีร์ มีอยู่สองหลัก หลักหนึ่งคือหลักของสมถกรรมฐาน อีกหลักหนึ่งคือหลักของวิปัสสนากรรมฐาน ทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานทั้งสองประการนี้เป็นชื่อของวิธีการ
ในเมื่อพูดถึงเรื่องสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน บางทีเราอาจจะไปยึดวิธีการมากเกินไปจนเป็นเหตุให้มีการถกเถียงกันไม่รู้จักจบจักสิ้น แต่ความจริงคำว่า สมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี เป็นวิธีการปฏิบัติทั้งสองอย่าง วิธีการปฏิบัติทั้งสองอย่างนี้เป็นวิธีการปฏิบัติเพื่อทำจิตให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เพื่อให้มีสติปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในสภาวะตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าก่อนที่จิตจะดำเนินไปสู่ภูมิแห่งวิปัสสนากรรมฐานได้ ต้องอาศัยความสงบจิต
แต่พิธีการทำความสงบจิตมีอยู่สองอย่างซึ่งเรียกว่า สมถะอย่างหนึ่ง วิปัสสนาอย่างหนึ่ง การปฏิบัติอันใดซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยการบริกรรมภาวนาหรือเพ่งกสิณ หรือปฏิบัติตามหลักและวิธีการกรรมฐาน ๔๐ ประการตามที่ปรากฏในคัมภีร์ อันนั้นเป็นวิธีการปฏิบัติตามหลักของสมถะ หรือปฏิบัติตามวิธีสมถกรรมฐาน จุดมุ่งก็เพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ เพื่อระงับนิวรณ์ ๕ ประการอันจะบังเกิดขึ้นมากลุ้มรุมจิตใจ ไม่ให้เกิดความสงบหรือเป็นสิ่งที่กีดกันคุณงามความดีไม่ให้เกิดขึ้น และเพื่อให้เกิดมีสติปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในธรรมตามความเป็นจริง
ส่วนวิปัสสนากรรมฐานหรือวิปัสสนาวิธีนั้นเป็นวิธีการปฏิบัติด้วยการใช้ความคิด ผู้ที่ปฏิบัติตามวิธีวิปัสสนาไม่ต้องคอยเวลาให้จิตมันสงบนิ่งเป็นสมาธิก่อน เพียงแต่ว่าเราจะยกเอาธรรมะอันใด เรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ เรื่องอายตนะมาพิจารณาในแง่พระไตรลักษณ์ คือพิจารณาน้อมเข้าไปสู่กฏของพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ใช้ความคิดพิจารณาโดยความตั้งใจ จนการพิจารณาเกิดความคล่องตัว จิตสามารถปฏิวัติตัวไปสู่การพิจารณาเองโดยอัตโนมัติ แล้วสามารถยังจิตให้เกิดมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ขึ้นมาได้
บางทีเมื่อจิตสงบลงไปแล้วก็นิ่ง บางทีสงบลงไปแล้วก็มีความคิด ถ้าจิตสงบนิ่งไม่มีความคิดก็เรียกว่าจิตสงบเป็นสมถะ ถ้าจิตสงบลงไปแล้วมีความคิดพิจารณาค้นคว้าอยู่ไม่หยุด เรียกว่าจิตดำเนินวิปัสสนา ทั้งสองอย่าง ทั้งสองวิธีเท่าที่ได้ทดสอบดูแล้ว หรือได้ศึกษาถามจากครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็ได้อธิบายให้ฟังว่า ในบางครั้งเราตั้งใจจะบริกรรมภาวนาพุทโธ พุทโธ เพียงแต่จะให้จิตสงบนิ่งเป็นสมาธิพอได้ความสบาย แต่บางครั้งทำไปแล้วเมื่อจิตสงบนิ่งลงไป แทนที่มันจะสงบนิ่งอยู่เฉยๆ สงบลงไปแล้วมันก็เกิดความคิด คือการพิจารณาขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ บางครั้งจะตั้งใจจะพิจารณาสิ่งโน้นสิ่งนี้ให้จิตมันเกิดความคิดไม่หยุด แต่เมื่อพิจารณาลงไปแล้วมันเกิดความสงบนิ่งไม่มีความคิด ซึ่งสุดแท้แต่จิตมันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ
เพราะฉะนั้นถ้าเราจะชั่ง เป็นนักสังเกตในการภาวนา ในบางครั้งบางขณะเราภาวนาพุทโธๆ จะให้จิตมันสงบนิ่งพอสบาย แต่เมื่อสงบลงไปแล้วมันไม่นิ่ง มันมีแต่ความคิด บางครั้งพิจารณาสิ่งโน้นสิ่งนี้จะให้จิตมันดำเนินไปสู่การพิจารณา เรียกว่าเดินวิปัสสนากรรมฐาน เสร็จแล้วมันก็ไม่นิ่ง พอสงบลงไปนิดหน่อยมีแต่ความคิดไม่หยุด ซึ่งมันจะมีอย่างนี้อยู่เสมอ เพราะฉะนั้นคำว่าสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี มันเป็นแต่เพียงชื่อวิธีการเท่านั้น ถ้าหากเราท่านทั้งหลายจะเป็นนักปฏิบัติกรรมฐานเพื่อให้ได้ผลอย่างแท้จริง ขอได้โปรดอย่าไปติดวิธีการ ถ้าเราไปติดวิธีการแล้ว เราจะไม่พบจุดจบ และเราจะไม่ยุติในการถกเถียงกันเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติ
บัดนี้จะได้พูดเฉพาะวิธีการทำสมถะ แล้วมันก็กลายเป็นวิปัสสนาไปเองโดยอัตโนมัติ มีแบบอย่างอันหนึ่งซึ่งเคยทดลองมา และเคยถามครูบาอาจารย์มา มีอยู่ครั้งหนึ่งตั้งใจจะไปถามปัญหากับท่านอาจารย์เทสก์ เพราะมีความสงสัยข้องใจอยู่กับปัญหาที่ว่า สมาธิในฌาณ กับสมาธิในอริยมรรคมันต่างกันอย่างไร พอไปถึงแล้วก็ไปกราบท่าน พอกราบเสร็จท่านบอกว่า “เออ ดีแล้ว เจ้าคุณมาก็ดีแล้ว จะพูดอะไรให้ฟัง ผมพูดแล้วไม่มีใครเชื่อผม”
พอเสร็จแล้วท่านก็พูดว่า สมาธิในฌาณมันเป็นสมาธิที่โง่ มันรู้อยู่ในสิ่งๆเดียว ความคิดสติปัญญามันไม่เกิด เมื่อจิตเข้าไปสู่ฌาณมันมีแต่สงบนิ่ง ไม่มีอาการแห่งความรู้เกิดขึ้น เรียกว่าจิตอยู่ในฌาณสมาบัติ แต่สมาธิในอริยมรรคนั้น มันมีความสงบแล้วประกอบด้วยองค์คือมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เช่นเดียวกับสมาธิในฌาณ แต่เมื่อมันมีสงบนิ่งลงไปแล้ว มันมีอาการแห่งความรู้ผุดขึ้นเป็นระยะๆ หรือติดต่อกันเป็นเรื่องยืดยาว แต่จิตมันอยู่ในลักษณะแห่งความสงบ อันนี้เรียกว่าสมาธิในอริยมรรค
ทีนี้เมื่อไปค้นดูตำรา ไปปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระธรรมบท ท่านอธิบายถึงเรื่องของฌาณว่ามีอยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งเรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาณ อารัมมณูปนิชฌาณหมายถึงจิตที่ดำเนินเข้าไปสู่ฌาณในขั้นสมาบัติ โดยที่ผู้ปฏิบัติอาศัยอารมณ์จิตอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นบริกรรมภาวนาหรือเพ่งกสิณเป็นต้น เมื่อบริกรรมภาวนาหรือเพ่งกสิณ จิตไปติดอยู่กับบริกรรมภาวนาหรือดวงกสิณที่เพ่ง แล้วก็เกิดบริกรรมนิมิตขึ้นมา
เมื่อจิตยึดเอาบริกรรมนิมิตนั้นเป็นเครื่องหมาย เป็นเครื่องรู้ จิตบริกรรมภาวนาอยู่เอง โดยที่ผู้ภาวนาไม่ได้ตั้งใจ เช่นจะภาวนาพุทโธๆเป็นต้น ในตอนแรกๆเราตั้งใจภาวนาพุทโธ ตั้งใจนึกพุทโธ ถ้าเราไม่ตั้งใจนึก จิตของเราไม่นึกพุทโธ แต่เมื่อเราตั้งใจนึก จิตของเราจึงนึกพุทโธ แต่หนักๆเข้าเราไม่ได้ตั้งใจแต่จิตของเราจะนึกพุทโธอยู่ไม่หยุด และเราจะมีสติรู้พร้อมอยู่กับขณะจิตที่กำลังนึกพุทโธอยู่นั้น ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าการภาวนาได้วิตก วิจาร เมื่อจิตมีวิตก วิจาร จิตก็มีความสงบ มีความดูดดื่มในภาวนานั้น เกิดปีติ เกิดความสุข และสงบลงเป็นหนึ่งซึ่งเรียกว่าเอกัคคตา
ถ้าหากว่าจิตมีวิตก วิจาร มีปีติ มีความสุข และมีความเป็นหนึ่งอยู่พร้อม เรียกว่าจิตอยู่ในฌาณที่ ๑ ถ้าหากวิตก วิจารหายไป ยังเหลือแต่ปีติและความสุข และความเป็นหนึ่ง จิตอยู่ในฌาณที่ ๒ ปีติหายไป เหลือแต่สุขกับเอกัคคตา จิตอยู่ในฌาณ ๓ เมื่อสุขหายไป จิตยังเหลือแต่เอกัคคตากับอุเบกขา จิตอยู่ในฌาณ ๔ จิตอยู่ในฌาณ ๔ นี้จิตไปเพ่งรู้อยู่ที่อารมณ์อันเดียว ถ้าจิตมีดวงกสิณเป็นเครื่องหมายก็เพ่งรู้อยู่ที่ดวงกสิณ ไม่มีความรู้สึก ไม่มีความนึกคิดอะไรเกิดขึ้นในขณะนั้น จิตแน่นิ่งอยู่กับดวงกสิณนั้น ถ้าหากว่าจิตไม่มีดวงกสิณเป็นเครื่องหมาย จิตรู้อยู่ที่จิต ก็รู้อยู่ที่รู้คือรู้อยู่ในจิต แต่หากไม่มีความรู้สึกอันอื่นเกิดขึ้น แม้แต่ความรู้สึกว่ามีกายก็หายไปหมดสิ้นแล้ว มีแต่จิตที่นิ่งสงบสว่างอยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ความรู้ใดๆไม่เกิดขึ้น เอาแต่แน่นิ่งอยู่ในจุดเดียว จิตเอาจิตเป็นอารมณ์ เอาตัวรู้เป็นอารมณ์ หรือจิตเอาดวงกสิณที่เพ่งอยู่นั้นเป็นอารมณ์ อันนี้เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาณ เป็นฌาณสมาบัติ เป็นฌาณที่ฤาษีชีไพรทั้งหลายเค้าบำเพ็ญกันมา
เมื่อจิตดำเนินมาถึงขั้นฌาณ ๔ ต่อไปก็ก้าวหน้าไปสู่ อากาส วิญญาณ อากิญจัญญายตนะ เนวะสัญญานาสัญญายตนะ เป็นลำดับไป จะไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้เพราะว่า วิสัยหรือภูมิปัญญาของผู้เทศน์ก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น ดังที่กล่าวมานี้เป็นอารัมมณูปนิชฌาณ
ทีนี้ลักษณะ ลักขณูปนิชฌาณ หมายถึงจิตที่มีความสงบลงไปด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นบริกรรมภาวนาก็ตามหรือจิตผ่านการพิจารณาอะไรมาแล้วก็ตาม ถ้าหากว่าจิตดวงนี้ผ่านการพิจารณา จะพิจารณาเรื่องอะไรก็ได้ พิจารณาเรื่องกายคตาสติ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น ในเมื่อผู้ภาวนาตั้งใจพิจารณาไปแล้ว จิตเกิดความสงบ มีความสงบลงไปนิดหน่อย แล้วความรู้สึกที่จะคิดจะพิจารณานั้นได้หายไป แต่จิตยังทำหน้าที่พิจารณาเองโดยอัตโนมัติ หรือบางครั้งตั้งใจพิจารณาเรื่องของกายคตาสติอยู่ แต่เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว จิตไปพิจารณาอารมณ์อื่น ซึ่งทอดทิ้งอารมณ์เดิมที่พิจารณาอยู่นั้นเสีย แล้วก็ไปพิจารณาอารมณ์อื่น เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตก็พิจารณาอยู่ไม่หยุด
ในบางครั้งเราอาจจะนึกว่าจิตของเราเดินผิดทางไป เราจะให้มันหยุดแต่มันไม่ยอมหยุด มันพิจารณาของมันอยู่อย่างนั้น ในเมื่อมีลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น สำนักภาวนาท่านใดพึงเข้าใจเถอะว่า จิตของท่านกำลังได้วิตก วิจาร เกี่ยวกับเรื่องการพิจารณา เมื่อจิตมีการพิจารณาไปเองโดยอัตโนมัติ มีสติรู้พร้อมอยู่กับสิ่งที่พิจารณาในปัจจุบัน ปีติและความสุขย่อมบังเกิดขึ้น แล้วความสงบจิตอันเรียกว่า เอกัคคตา ย่อมบังเกิดขึ้น จิตยังพิจารณาอยู่และพร้อมๆกันนั้น จิตรู้อยู่กับเรื่องพิจารณา ปีติก็บังเกิดขึ้น ความสุขก็บังเกิดขึ้น และความสงบจิตก็บังเกิดขึ้น
แต่ความสงบจิตในขั้นพิจารณานี้ไม่ใช่ว่าจิตสงบจากอารมณ์หรือตัดขาดจากความคิด ความคิดอ่านยังมีอยู่เป็นปกติ แต่จิตอยู่ในลักษณะแห่งการคิดเอง พิจารณาเอง มีสติรู้พร้อมอยู่เอง แล้วก็มีปีติ มีความสุข มีความสงบ คือมีความสงบอยู่กับเรื่องที่กำลังปฏิบัติอยู่ พิจารณาอยู่นั้น อันนี้เรียกว่าจิตได้วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จิตเดินอยู่ในฌาณที่ ๑
ถ้าหากว่าจิตหยุดพิจารณาแล้ว บางครั้งอาจจะถีบตัวขึ้นไปลอยเด่นอยู่เหนือสิ่งใดๆ แล้วก็มองลงมาดู มองเห็นร่างกายตัวเองบ้าง มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างบ้าง อยู่ในแง่แห่งความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางครั้งอาจจะมองเห็นร่างกายของตัวเองนี่นอนตายอยู่แล้วก็ขึ้นอืดเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไปโดยไม่มีอะไรเหลือ แต่จิตดวงนี้ไปสงบนิ่งลอยเด่นสว่างไสวอยู่ แล้วก็ยังมีอารมณ์สิ่งรู้ปรากฏอยู่ตลอดกาล อารมณ์สิ่งรู้นั้นปรากฏขึ้นมา จิตก็เพ่งดูอยู่โดยอัตโนมัติ แต่รู้อยู่เฉยๆ แม้ว่าสิ่งรู้นั้นจะมีอันเปลี่ยนแปลงอย่างไร จิตก็ไม่ไหวติง เช่น มองเห็นความตาย ในเมื่อตายแล้วร่างกายแสดงความเน่าเปื่อย จิตก็รู้อยู่เฉยๆ แม้มองเห็นน้ำ ร่างกายขึ้นอืดเน่าเปื่อยผุพังไป ก็รู้เฉยอยู่ มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างสลายตัวไป แม้แต่โครงกระดูกก็ย่อยยับผุพังไปหมด ไม่มีอะไรเหลือ จิตก็รู้เฉยอยู่ รู้อย่างไม่มีสมมุติบัญญัติ รู้อย่างไม่ทักท้วงอะไร คือรู้ว่าตาย ก็รู้อยู่เฉยๆ พอเห็นร่างกายตาย กายตายแล้ว จิตก็ไม่ว่า มันรู้อยู่เฉยๆ กายเน่าแล้ว จิตมันก็ไม่ว่า มันรู้อยู่เฉยๆ กายสลายตัวไปแล้ว มันก็ไม่ว่า มันรู้อยู่เฉยๆ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างหายไปหมดแล้ว มีแต่ความว่าง มันก็ไม่ว่า หายไปหมดแล้วยังมีแต่ความว่าง
หรือบางทีมันอาจจะมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง มองเห็นกลุ่มควันกลุ่มหมอกอะไรอันละเอียด ซึ่งบางทีถ้าผู้แก่วิทยาศาสตร์หน่อยก็จะใช้นึกว่าอ้อนี่คืออณู ปรมาณูอะไรต่างๆ ตามหลักวิทยาศาสตร์ที่ท่านเรียนมา ซึ่งสุดแท้แต่จิตของท่านผู้ใดจะปฏิวัติไปในทางไหน ในเมื่อจิตเป็นสมาธิอย่างดี จิตเป็นอัตโนมัติ จิตสามารถปฏิวัติตัวไปเองไปสู่ภูมิรู้นั้นๆ ผู้ที่เรียนมาทางคัมภีร์ธรรมะ มันก็วิ่งไปค้นคว้าอยู่ในคัมภีร์ธรรมะ ไปรู้อยู่ในคัมภีร์ธรรมะ ผู้เรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์มันก็ไปรู้ทางวิทยาศาสตร์ เรียนรู้มาศาสตร์ไหนมันก็เอาสิ่งนั้นมาเป็นอารมณ์จิต
ทีนี้ในเมื่อมันเป๋ ออกไปรู้ในสิ่งอื่นนอกจากคัมภีร์ธรรมะ มันจะไม่ผิดทางไปหรือ ขอยืนยันว่าไม่มีทางผิด เพราะสิ่งใดที่เราสามารถรู้ด้วยจิต สิ่งนั้นคือธรรมะ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เป็นธรรมะเรียกว่าอายตนะภายใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ก็เป็นธรรมะ เป็นอายตนะภายนอก มาติดต่อกับตา หู จมูก ลิ้น กายกับใจ รูปเป็นวิสัยของตา เสียงเป็นวิสัยของหู กลิ่นเป็นวิสัยของจมูก รสเป็นวิสัยของลิ้น สัมผัสเป็นวิสัยของกาย ความรู้สึกนึกคิดซึ่งเรียกว่าธรรมารมณ์เป็นวิสัยของจิต สิ่งใดที่สามารถรู้ด้วยจิต สิ่งนั้นคือธรรมารมณ์
วิทยาศาสตร์ที่ท่านเรียนมาก็เป็นธรรมารมณ์ หรือศาสตร์อื่นๆที่ท่านเรียนว่าก็เป็นธรรมารมณ์ เมื่อจิตของท่านไปเอาสิ่งนั้นๆมาพิจารณา มาเป็นอารมณ์สิ่งรู้ เมื่อจิตมีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก แล้วก็รู้อยู่กับสิ่งนั้นๆ นักภาวนาสามารถที่จะรู้ความเปลียนแปลงของสิ่งนั้นๆ คือสิ่งที่เป็นอารมณ์จิตนั้นเอง ในเมื่อรู้ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้น จิตก็รู้พระไตรลักษณ์ ความเปลี่ยนแปลงคืออนิจจัง ความรู้ที่ผุดขึ้นอยู่ในจิตมันทนอยู่ไม่ได้คือทุกขัง ความรู้ที่เกิดขึ้นนั้น มันไม่ดำรงอยู่ตลอดกาล มันไม่เป็นตัวของตัว เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ ดับไป ความเป็นจริงของสภาวะธรรม มันก็มีกันอยู่เพียงแค่นี้
ในเมื่อจิตมีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก โดยธรรมชาติของจิตเมื่อเป็นเช่นนั้นย่อมมีความสงบ เมื่อจิตมีความสงบเรียกว่าสมาธิ สมาธิที่ไม่มีสิ่งรู้ จิตรู้อยู่เพียงสิ่งเดียว รู้อยู่ในจุดเดียวเป็นสมาธิในฌาณ ในฌาณสมาบัติ สมาธิที่จิตสงบลงไปแล้วยังมีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึกซึ่งมันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ อารมณ์สิ่งรู้ของจิตนั้นมีอยู่ตลอดกาล จิตก็สักแต่ว่ารู้ รู้แล้วก็ปล่อยวางไป อันนี้เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาณ เป็นฌาณในอริยมรรค เป็นสมาธิในอริยมรรค
ทีนี้นิโรธะคือความดับ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ในเมื่อจิตของเราสามารถกำหนดหมายรู้ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของสภาวะที่เกิดดับภายในจิต ในเมื่อรู้ชัดเจนแล้ว ก็รู้พระไตรลักษณ์ คือรู้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นเอง ถ้าจิตดวงนี้รู้แจ้งเห็นจริงในพระไตรลักษณ์และยอมรับสภาพความเป็นจริงจากที่รู้ ย่อมมีสติสัมปะชัญญะ รู้พร้อมอยู่ที่จิต จิตกลายเป็นตัวปกติ จิตที่เป็นตัวปกติปรากฏเด่นชัดอยู่นั่นคือ สีเล นะ สุคะติง ยันติ เมื่อจิตมีความเป็นปกติและก็มีคติอันดี คือมีทางไปดี เรียกว่าสุคติ สีเล นะ โภคะสัมปะทา ถึงพร้อมด้วยโภคสมบัติก็เพราะศีล โภคสมบัติหมายถึงอริยทรัพย์ ทรัพย์ภายใจ สีเล นะ นิพพุติง ยันติ จะถึงความดับสนิทก็ด้วยอำนาจแห่งศีล เมื่อจิตมีความดับ มีแต่ความเป็นปกติปรากฏเด่นชัดอยู่ นิโรธะคือความดับก็ปรากฏขึ้น
ทีนี้นิโรธะความดับ อย่าพึงเข้าใจว่าจิตไม่มีความคิด มันดับทั้งๆที่จิตมีความคิดอ่านอยู่ ดับทั้งๆที่จิตยังพิจารณาอยู่ คำว่านิโรธะคือความดับนี่ ไม่ใช่ดับอารมณ์ นักปฏิบัติทั้งหลายอย่าพึงเข้าใจผิด ดับความเปลี่ยนแปลงของจิต จิตมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร จิตมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตรงจุดที่ว่าอะไรเกิดขึ้นแล้วจิตยึด พอยึดปั๊บก็เกิดความยินดี เกิดความยินร้าย ในเมื่อจิตเป็นปกติ จิตตั้งเด่นอยู่ จิตย่อมมีศีล จิตย่อมมีสัจจะ คือความจริงใจปรากฏขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตมีสติรู้พร้อมอยู่ที่จิตทุกขณะจิต มันก็เป็น สัมมาปณิธิตัง จิตตัง เป็นจิตที่ตั้งไว้ชอบแล้ว คือตั้งอยู่ในท่ามกลางเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา
เมื่อจิตมีมัชฌิมาปฏิปทา มีตัวปกติเด่นชัดอยู่มันก็คล้ายๆกับว่า หูคอยสดับตรับฟังเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจะเกิดดับภายในจิตนั้น เมื่ออะไรเกิดขึ้นมาปั๊บ จิตก็รู้ อะไรเกิดขึ้นมาปั๊บ รู้ อะไรดับไปก็รู้ อะไรเกิดก็รู้ อะไรดับก็รู้ อะไรเล่าเกิด อะไรเล่าดับ ก็ความคิดนั่นเอง มันเกิดมันดับ แต่ความรู้สึกยินดี ความรู้สึกยินร้าย มันไม่มีปรากฏ ความเกิดดับของอารมณ์อันนั้นมันมีสืบเนื่องกันอยู่ตลอดกาล ไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักสิ้น แต่จิตมันก็ดับความยินดี ดับความยินร้าย เมื่อจิตมองดูความเกิดดับของอารมณ์จิต จิตก็รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทีนี้ถ้าหากว่าจิตเป็นปกติอยู่ตลอดกาล จิตตัวนั้นเป็นตัวปกติ เป็นนิโรธะ ถ้าหากว่าสติอ่อนในช่วงใด ถูกอวิชชาครอบงำเพียงนิดหนึ่ง พอมีสิ่งจะเกิดขึ้นมาปั๊บ จิตยึด ยึดแล้วเกิดความยินดี ความยินดีมีแนวโน้มให้เกิดกามตัณหา พอสิ่งใดเกิดขึ้นมาปั๊บ เกิดความไม่พอใจยินร้ายขึ้นมา ความยินร้ายมีแนวโน้มให้เกิดวิภวตัณหา ถ้าหากว่าไม่ยึดอยู่กับความยินดีและความยินร้าย กลายเป็นภวตัณหา นักภาวนาที่มีสติสัมปะชัญญะ จิตเป็นตัวศีล เป็นตัวปกติ ย่อมสามารถมองดูอารมณ์จิตในแง่แห่งพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้เด่นชัด
เมื่อจิตไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งใดๆ เกิดความยินดีเกิดความยินร้าย ย่อมเห็นตัวสมุทัย คือตัวตัณหากำลังจะบังเกิดขึ้นมาเล่นงาน เมื่อจิตเกิดความยินดี เกิดความยินร้ายก็เกิดสุขเกิดทุกข์สลับกันไป เมื่อสติสัมปะชัญญะดีเด่นขึ้น มีพลังงานขึ้นเมื่อไหร่ ผู้ภาวนาสามารถจะมองเห็นทุกขอริยสัจที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ มองเห็นสุขเห็นทุกข์ที่เกิดดับอยู่ภายในจิต ก็จะรู้ได้ทันทีว่านี่คือทุกขอริยสัจที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้
ในเมื่อจิตมารู้จริงเห็นแจ้งอย่างนี้ เมื่อรู้จริงเห็นแจ้งขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็จะรู้ว่านอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ เมื่อจิตมองเห็นสภาวะธรรมที่ละเอียดสุขุมยิ่งขึ้นไป ก็จะมองเห็นเพียงแค่ว่า ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา ก็เป็นอันว่าได้ดวงตาเห็นธรรม ตามนัยแห่งธัมมจักกัปปวัตตนสูตรที่ว่า ท่านอัญญาโกณฑัญญะฟังพระธรรมเทศนาเรื่องธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจบลง ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา มันก็จบกันเพียงแค่นั้น
การรู้ธรรมเห็นธรรมส่วนละเอียดมีแต่ ยํ กิญิจิ สมุทยธมฺมํ เท่านั้น ซึ่งท่านอาจารย์มหาบัวท่านเคยเทศน์ว่า สภาวะธรรมทั้งหลายในเมื่อพิจารณาไปถึงขั้นละเอียดแล้วมันไม่มีอะไร มีแต่ความหยุมหยิมๆๆอยู่เท่านั้น หยุมหยิมๆของท่านอาจารย์มหาบัวนั่นแหละเรียกว่า ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา
ฐีติภูตังของพระอาจารย์ใหญ่มั่น ที่ท่านเทศน์ไว้ในมุตโตทัย มันก็ได้แก่ลักษณะของจิตที่ไปตั้งเด่นเป็นอิสระอยู่ เรียกว่าจิตเป็นเข้าในลักษณะที่เรียกว่า อตฺตทีปา มีตนเป็นเกาะ อตฺตสรณา มีตนเป็นที่พึ่ง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ มีตนเป็นที่พึ่งของตน แม้จิตดวงนี้จะดำรงอยู่ในท่ามกลางแห่งสิ่งแวดล้อมทั้งหลายก็ยังปรากฏเด่นอยู่ไม่ไหวติง มีแต่ความเป็นปกติปรากฏเด่นชัดอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่วนเวียนอยู่รอบๆจิต ซึ่งเป็นไปตามครรลองของสภาวธรรม ที่มันเป็นไปในลักษณะแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปรากฏอยู่ตลอดกาล อันนั้นคือ ภูตัง จิตตั้งเด่นอยู่เป็นอิสระ เป็น ฐีติ สิ่งที่เป็นอารมณ์ของจิตผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไป ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไป ไม่รู้จักหยุดยั้ง อันนั้นเป็น ภูตัง ตามความหมายของ ฐีติภูตัง ของพระอาจารย์มั่น
เพราะฉะนั้นการภาวนานี่ท่านอาจารย์เสาร์ท่านว่า จิตของข้ามันไม่สงบ มีแต่ความคิด ท่านอาจารย์ฝั้นบอกว่า อย่าปล่อยให้จิตมันว่าง ให้จิตมีอารมณ์สิ่งรู้อยู่ตลอดเวลา แล้วก็ให้มีสติรู้อยู่กับสิ่งรู้ในปัจจุบัน การภาวนาด้วยบริกรรมพุทโธก็ดี การภาวนาด้วยการพิจารณาธรรมะอันใดอันหนึ่งเป็นอารมณ์ก็ดี เป็นอุบายวิธีฝึกหัดจิตให้มีความคิด
แต่ในตอนต้นๆ เรามุ่งทำจิตให้มีความสงบนิ่งเป็นสมาธิก่อนได้เป็นดี ในขณะที่ท่านอาจจะนั่งบริกรรมภาวนาอยู่เช่น ภาวนาพุทโธๆๆเป็นต้น ถ้าจิตของท่านอยู่กับพุทโธตลอดไป ปล่อยให้มันอยู่ไป ถ้ามันภาวนาพุทโธๆๆของมันไม่หยุด เราจะให้มันหยุด มันไม่ยอมหยุด ก็ปล่อยให้มันคิดไป พุทโธของมันไปเรื่อย อย่าไปห้ามมัน หน้าที่เป็นแต่เพียงประคองมันไป รู้มันไปเท่านั้น มันจะหยุดให้เป็นเรื่องของจิต ไม่หยุดให้เป็นเรื่องของจิต
แต่ในบางครั้งเราภาวนาพุทโธๆไปซักพักหนึ่ง จิตมันหยุด หยุดนิ่งว่าง บางทีมันไม่ว่าง พอหยุดสิ่งนี้ปั๊บ มันไปคิดสิ่งอื่น ก็ลองปล่อยให้มันคิดไป อย่าเอาแต่ดึงมันกลับมาหาพุทโธเพียงอย่างเดียว เมื่อมันจะอยู่กับพุทโธก็ให้มันอยู่ไป เมื่อมันจะไปคิดสิ่งอื่นหลังจากที่เรานึกพุทโธแล้ว มันปล่อยวางพุทโธก็ให้มันคิดไป เพราะพุทโธก็เป็นความคิด สิ่งที่มันคิดมาเองก็เป็นความคิด เราขณะที่เราภาวนาพุทโธอยู่ เราหาพุทโธมาป้อนให้จิต แล้วก็มีสติควบคุมจิตให้มันนึกอยู่ที่พุทโธ เราทำงานสองอย่างพร้อมกันไป แต่ถ้าหากจิตนึกอย่างอื่นขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องของพุทโธ แต่มันนึกของมันขึ้นมาเอง เราเพียงทำสติตามรู้มันไปเรื่อยๆ แล้วในที่สุดเอาความคิดอันนั้นมาเป็นอารมณ์จิต มีสติรู้อยู่กับสิ่งนั้น
ถ้าหากว่าเรากำหนดทำสติรู้เมื่อไหร่ ความคิดมันหยุด จิตเกิดความว่าง ดูที่ความว่าง เมื่อคิดดูที่ความคิดว่าง ดูที่ความว่าง ไล่กันไปอย่างนี้ จนกระทั่งจิตมันคิดไม่หยุด ก็ตามรู้มันอยู่อย่างนั้น ไม่หยุดอย่างเช่นเดียวกัน บางทีมันคิดไป คิดไป คิดไป ตัวคิดมันก็คิดเรื่อยของมันไป ตัวตามรู้มันก็รู้ของมันเรื่อยไป และพร้อมๆกันนั้น มันก็จะเกิดปีติ เกิดความสุข เกิดลักษณะแห่งความสงบเยือกเย็นในท่ามกลางแห่งความคิด อันนี้เรียกว่าจิตเดินอยู่ในขั้นแห่งปฐมฌาณ คือมันคิดไม่หยุด ความคิดไม่หยุดเป็นวิตก ความรู้พร้อมอยู่เป็นวิจาร ปีติและความสุข ความสงบเกิดขึ้น ก็เป็นปีติ สุข เอกัคคตา ตามองค์ฌาณที่ ๑ บริกรรมภาวนาพุทโธๆ ถ้าจิตบริกรรมภาวนาพุทโธไม่หยุด แล้วก็มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง ก็จิตอยู่ในฌาณที่ ๑ ด้วยบริกรรมภาวนา แต่ถ้าการพิจารณาแล้ว จิตพิจารณาไม่หยุด คิดไม่หยุด แต่เกิดวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จิตก็อยู่ในฌาณที่ ๑ ในขั้นดำเนินการแห่งการพิจารณา เรียกว่าเดินวิปัสสนากรรมฐาน
และอีกอย่างหนึ่งปัญหาที่มีผู้นำไปถามอยู่บ่อยๆ บางท่านบอกว่า พอกำหนดบริกรรมภาวนาลงไปแล้วในตอนต้นๆ จิตสงบเยือกเย็นดี สว่างไสว บางทีก็ตัวหายไปหมด ยังเหลือแต่จิตดวงเดียว ทีนี้ภายหลังมาเมื่อทำบ่อยๆเข้า พอกำหนดจิตพุทโธๆ เพียงสองสามคำจิตก็สงบนิ่ง พอสงบนิ่งนิดนึงก็ถอนขึ้นมา พอถอนขึ้นมาแล้วทีนี้มีแต่ความคิดไม่หยุด จะบังคับให้มันหยุด จะข่มให้มันหยุดมันไม่ยอมหยุด ถ้ายิ่งข่ม ยิ่งบังคับ มันก็ทำให้เกิดปวดศีรษะขึ้นมา มันเสื่อมหรือมันเป็นอย่างไร
อันนี้มีผู้นำไปถามบ่อยๆ อันนั้นจิตของท่านเมื่อผ่านความสงบเป็นสมาธิบ่อยๆเข้า สมาธิเนี่ย ซึ่งมันเกิดจากศีลเป็นหลักประกันความปลอดภัย สมาธิที่มีศีลเป็นเครื่องอบรม เป็นเครื่องประกันความปลอดภัย สมาธิเกิดขึ้นเป็นสัมมาสมาธิ เมื่อจิตเป็นสัมมาสมาธิ ปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาก็คือความคิด ความคิดนั่นแหละคือปัญญา ทีนี้เมื่อปัญญามันเกิดขึ้นแล้วเรามีสติรู้ทัน ก็เป็นปัญญา ถ้ามีสติรู้ไม่ทันก็เป็นความฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นเราจึงมีหลักและวิธีการที่พึงจะปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อจิตสงบนิ่งอยู่ ก็ปล่อยให้นิ่งไป เมื่อจิตเกิดความคิด ปล่อยให้คิดไป แต่ฝึกทำสติตามรู้ อย่าไปเอาแต่ความสงบนิ่งอย่างเดียว
จิตที่สงบแต่ยังมีความคิดนี่ยังมี ถ้าจิตสงบนิ่งไม่มีความคิด เรียกว่าจิตสงบในฌาณ เรียกว่าสมาธิในฌาณ ถ้าจิตสงบนิ่งแล้ว ยังมีความคิดอยู่ไม่หยุด ฟุ้งๆๆขึ้นนมา ซึ่งเรียกว่าธรรมะมันผุดขึ้น อันนี้เรียกว่าสมาธิในอริยมรรค ทีนี้ในเมื่อเป็นเช่นนั้นมันจะสงบได้อย่างไร
จริงอยู่ความคิดมันคิดอยู่ มันไม่สงบ แต่มันจะสงบจากความยินดี สงบความยินร้าย ความคิดที่คิดไม่หยุด ถ้าท่านปล่อยให้มันคิดไป ทำสติตามรู้ หนึ่ง ท่านจะได้สติสัมปะชัญญะ เพราะจิตท่านมีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก ประการที่สอง ความคิดมันจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในจิต ประการที่สาม ความคิดเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ประการที่สี่ ขณะใดจิตของท่านมีสติอ่อน ถูกอวิชชาครอบ มันจะยึด ยึดสิ่งที่คิดนั้นแล้วเกิดความยินดียินร้าย ท่านมีสติท่านจะมองเห็นตัวกิเลส ท่านก็จะมองเห็นได้ว่านี่คือทุกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เมื่อท่านดูเรื่อยไป มีสติปัญญาแก่กล้า ท่านจะรู้ว่า นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่อะไรดับ จิตที่มีสติปัญญาก็กำหนดรู้ทุกข์ตลอดไป
ขณะใดจิตที่รู้อยู่ภายในจิต จิตดวงนี้รู้ภายใน มันเป็นมรรค แต่ถ้ามันส่งออกไปรู้ข้างนอก มันก็เป็นสมุทัย ขณะใดที่จิตสงบสว่างลงไปแล้ว ไปเห็นภาพนิมิตต่างๆ นั่นมันรู้นอก รู้นอกแล้วมันก็เกิดสมุทัย ไปเกิดความยินดียินร้ายกับสิ่งที่รู้ นอกจากจะยินดียินร้ายแล้วยังไปยึดว่าเป็นของดีวิเศษ เช่นอย่างนักปฏิบัติไปเที่ยวอวดกัน บางทีหลวงพ่อมีคนไปเยี่ยมก็ไปนั่งกำหนดจิตมาตรวจดูภูมิจิตภูมิใจหลวงพ่อ พอลืมตาขึ้น “อืม วันนี้หลวงพ่อจิตใจมัวหมอง มีอะไรมากระทบ” หลวงพ่อก็ทักว่า “เออ คุณเอ้ย คุณจะมาเที่ยวเช็คจิตเช็คใจฉันทำไม๊ ทำไมไม่ดูจิตใจตัวเองว่ามันทุกข์แค่ไหน เป็นหนี้เค้าตั้งสองสามแสน เมื่อไหร่จะหาเงินใช้ให้มันพ้นทุกข์ซะที” ก็เลยไปจี้ถูกจุดเข้า เค้าเลยยอมเป็นศิษย์
นี่คือคน คือความรู้นอก ถ้ารู้นอกแล้วมันไปเที่ยววิจารณ์คนโน้น วิจารณ์คนนี้ ไปตำหนิคนโน้น ไปตำหนิคนนี้ ในที่สุดก็ไปตำหนิลัทธิการปฏิบัติของคนอื่นเขา เมื่อเขาไม่ปฏิบัติเหมือนอย่างเราว่าเขาปฏิบัติผิด ถ้าใครปฏิบัติเหมือนอย่างเราก็จึงเรียกว่าปฏิบัติถูก อารมณ์ของการปฏิบัติกรรมฐานนี่ให้มีแต่ในเฉพาะคัมภีร์เท่านั้น
แม้ว่าใครจะไม่นึกถึงอะไร เป็นแต่เพียงพยายามทำจิตทำใจให้มันรู้อยู่กับการยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ เพียงแค่นี้ก็เป็นการปฏิบัติกรรมฐานแล้ว หรือถ้าใครไม่ทำอย่างนั้น มานั่งหลับตากำหนดดูอารมณ์จิตของตัวเองอยู่ ไม่ต้องนึกคิดอะไร อะไรเกิดขึ้นมารู้ อะไรเกิดขึ้นมารู้ แค่นี้ก็เป็นการปฏิบัติกรรมฐาน ทีนี้บางท่านมานึกว่า การทำสติรู้การยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิด แล้วมันเกิดอารมณ์กรรมฐานขึ้นมา แล้วเป็นการปฏิบัติกรรมฐาน มันจะไม่ง่ายเกินไปหรือ โถ! ใครว่ามันง่าย นั่งบริกรรมภาวนาหลับตาอยู่ยังง่ายกว่า ใครที่สามารถทำสติตามรู้การยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ได้ทุกขณะจิตทุกลมหายใจนี่เป็นดีวิเศษที่สุดเกี่ยวกับการปฏิบัติ
การปฏิบัติประเภทนี้จะไม่เลือกกาล ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่ และไม่เกี่ยงว่าเราไม่มีเวลาปฏิบัติ เป็นการฝึกทำสติตามรู้ รู้สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเกี่ยวกับเรื่องกายเรื่องจิตของเรา ยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ พูด เป็นเรื่องของกาย คิดเป็นเรื่องของจิต กายจะเคลื่อนไหวไปมาอย่างไร จิตจะคิดอะไร มีสติรู้อยู่ทุกอิริยาบถ ตัวสติที่รู้นั่นแหละ ตัวรู้นั่นแหละ ตัวตามรู้นั่นแหละกำหนดดูให้ดี ตัวรู้นั่นแหละตัวพุทโธ พุทโธที่ท่านนึกในใจ ที่บริกรรมภาวนาพุทโธนั่นมันเป็นแต่เพียงคำพูด แต่เมื่อจิตรู้ รู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดีและตามรู้เรื่องของกาย เรื่องของจิตของตัวเองอยู่ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ นั่นแหละคือตัวพุทโธอย่างแท้จริง
เมื่อเรามีสติรู้อยู่กับตัวของเราเอง อยู่กับจิตของเราเอง เราก็รู้ความจริงของกาย รู้ความจริงของจิต และก็รู้ความประพฤติของตัวเองว่าอะไรขาดตกบกพร่อง เราจะได้เพิ่มเติมให้พอดี อะไรมันเกินก็จะได้ตัดทอนลงให้พอดิบพอดี อยู่ในลักษณะแห่งความเป็นกลาง เมื่อเราฝึกจิตกับอิริยาบถดังที่กล่าว สติสัมปะชัญญะดีพร้อม จิตก็มีสติประคับประคองรู้อยู่ที่จิตอยู่ตลอดเวลา เป็นสติวินโย หนักเข้าจิตก็กลายเป็นตัวปกติ กลายเป็นศีล มีศีล มีสัจจ์ มีสุตะ มีปัญญา มีจาคะ (อริยวัฑฒิ ๕) ซึ่งมันจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าต้องทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึกเท่านั้น นั่นเป็นหลักปฏิบัติธรรมโดยตรง
อาตมาได้บรรยายธรรมะเกี่ยวกับการปฏิบัติสมถวิปัสสนากรรมฐาน ว่าถึงธรรมะสิ่งละอันพันละน้อยพอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของท่านผู้ฟัง ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา ในท้ายที่สุดนี้คณะท่านเจ้าภาพบำเพ็ญกองการกุศลเพื่ออุทิศเป็นดอกไม้บูชาพระคุณของพระอาจารย์เฟื่องผู้ถึงแก่มรณภาพไปแล้วโดยวิสัยของจิตผู้กตัญญูกตเวที ด้วยอำนาจแห่งกุศลเจตนาอันดีนี้จงช่วยดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายทุกท่านจงประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมในที่ทุกสถาน ตลอดกาลทุกเมื่อ โดยระยะเทศนามา เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้