Skip to content

การทำสมาธิในชีวิตประจำวัน

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

เทศน์ ณ หอประชุมโรงพยาลสงฆ์ (21 สิงหาคม 2526)

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ณ โอกาสต่อไปนี้ จะได้นำธรรมะอันเป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรยายพอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของท่านผู้ฟัง ท่านทั้งหลายมีความสนใจในการฟังธรรม นอกจากจะสนใจในการฟังแล้ว ยังสนใจในการทำคือการปฏิบัติด้วย เท่าที่สังเกตในสมัยปัจจุบันนี้ รู้สึกว่ามีผู้ฟังและมีผู้ตั้งใจปฏิบัติธรรมเพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ 

ตามสถิติโดยเฉลี่ยที่วัดป่าสาลวันก็มีผู้ไปศึกษาธรรมไม่น้อยกว่าวันละ ๕๐ คน แต่ละท่านที่ไปศึกษาก็ยังเป็นพวกประเภทที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มวัยสาว ส่วนคนแก่ๆก็มีบ้างประปราย ไม่มีมากเหมือนคนหนุ่มๆสาวๆ และพวกหนุ่มสาวทั้งหลายที่สนใจในการศึกษาและปฏิบัติธรรม ส่วนมากจะเป็นชนชั้นปัญญาชน และผ่านการศึกษาอย่างน้อยระดับอนุปริญญา ตั้งแต่อนุปริญญาจนถึงปริญญาเอก ทีนี้ถ้าพูดถึงตำแหน่งหน้าที่ของท่านเหล่านั้น ก็ตั้งแต่ระดับเสมียนจนกระทั่งถึงข้าราชการชั้นพิเศษเจ้ากรมถึงรัฐมนตรี 

นี่ก็ส่อแสดงว่า ธรรมะกำลังเฟื่องฟู หรือกำลังถูกฟื้นฟูขึ้นมา ทั้งนี้ก็เห็นจะเป็นเพราะว่าประชาชนพุทธบริษัทมีความเข้าใจในคำว่าธรรมะ ใกล้ต่อชีวิตประจำวันมากเข้าทุกทีๆ จนรู้สึกว่าเราอาจจะได้คำตอบเมื่อมีผู้ถามว่า ธรรมะคืออะไร ธรรมะก็คีอชีวิตประจำวัน หรืออีกอย่างหนึ่ง ธรรมะก็คือการงาน การงานก็คือชีวิตประจำวันนั่นเอง คนเราทุกคนนี่เป็นอยู่ด้วยการทำงาน เราจะทำงานทั้งเวลาหลับทั้งเวลาตื่น เวลาตื่นเราทำงานทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความตั้งใจ แต่เวลานอนหลับเราทำงานโดยอัตโนมัติ จิตของเราก็ยังต้องคิด หัวใจก็ยังเต้น ปอดก็ยังสูดลมหายใจ อันนี้คือการทำงาน เพราะฉะนั้นชีวิตก็คือการทำงาน งานก็คือชีวิต และสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นถ้าเราจะมาพูดถึงเรื่องว่า สิ่งเหล่านั้นคือธรรม และมันเป็นธรรมได้อย่างไร 

ในข้อที่ว่าธรรมะก็คือชีวิต ชีวิตก็คือธรรมะ อะไรในทำนองนี้ ที่เรียกว่าธรรมะก็เพราะเหตุว่าทุกสิ่งทุกอย่างนี่ มันเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ และเป็นพื้นฐานที่เป็นเหตุให้เรารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเนี่ยมันมีอยู่ และมีความเปลี่ยนแปลงและแสดงความจริงให้ปรากฏตลอดเวลา แม้แต่ลมหายใจของเรานี่มันก็แสดงความจริงให้ปรากฏอยู่ตลอดเวลา คือการสูดลมออกสูดลมเข้า ตราบใดที่เรายังมีการสูดลมออกลมเข้า ความจริงมันก็ปรากฏคือเราต้องมีชีวิตอยู่ ถ้าเราหยุดหายใจเมื่อไหร่ หยุดสูดลมออกลมเข้าเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็หมายถึงความสิ้นสูญแห่งชีวิต คือตายนั่นเอง เพราะฉะนั้นในคำตอบที่ปัญหาข้อที่ว่า ธรรมะคืออะไร ธรรมะคือชีวิตนี่ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ผิดแน่นอน อีกนัยหนึ่ง การที่เรามาศึกษาธรรมะเนี่ย ที่ว่าศึกษาให้รู้ความจริงของชีวิต เราควรจะได้ทราบคำว่า สภาวะธรรม 

สภาวะธรรมคือสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ในโลกนี้ทั้งหมด หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในจักรวาลนี่ ตั้งแต่อณู​หรือปรมาณู หรือมวลสารที่เกาะกลุ่มกันเป็นก้อนใหญ่โตจนหาประมาณมิได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นคือธรรมะด้านสภาวะธรรม ธรรมะด้านสภาวะธรรมนี่เค้าย่อมมีการปรากฏการณ์แสดงความจริงให้เรารู้อยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเราจะสามารถกำหนดรู้ทันหรือเปล่า เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีปรากฏการณ์เกิดขึ้น ทรงตัวอยู่ แล้วก็สลายตัว อันนี้คือกฏธรรมชาติที่เราจะต้องศึกษาให้รู้ 

ทีนี้ภายในตัวของเราเนี่ย เราก็มีกายกับใจ กายกับใจเนี่ยในเมื่อมีความสัมพันธ์กันอยู่ตราบใด เราก็ยังมีชีวิตอยู่ตราบนั้น เมื่อมีกายมีใจแล้ว เราต้องมีส่วนประกอบคือตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจบางครั้งพระพุทธเจ้าท่านก็ว่า อินทรีย์ ๖ บางทีก็ว่าประตูซึ่งสุดแท้แต่โวหารของพระองค์ท่านจะรับสั่งมาเป็นประการใด ทีนี้ถ้ามุ่งถึงความเป็นใหญ่ ก็เรียกว่าอินทรีย์ ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจเค้าต่างมีความเป็นใหญ่ในหน้าที่ของเค้าแต่ละอย่างๆ จะก้าวก่ายกันไม่ได้ ไม่เหมือนมนุษย์เราธรรมดาๆ ซึ่งบางทีอาจจะก้าวก่ายหน้าที่ของกันและกันได้ ทีนี้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเค้ามีหน้าที่เฉพาะตัว ถ้าไอ้เจ้าหูนี่จะอุตริไปดูแทนตา เชิญเลย ไม่มีทาง ทีนี้ตาจะทำอุตริมาฟังแทนหู ก็ไม่มีทางที่จะทำได้ เพราะอาศัยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงสมมุติบัญญัติว่า อันนี้คืออินทรีย์ คือความเป็นใหญ่เฉพาะตัว 

ในบางครั้งท่านก็กล่าวว่า มันเป็นประตู ประตูในเมื่อสิ่งนั้นเป็นประตู ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจที่เรียกว่าประตูเพราะมีสิ่งผ่านออกผ่านเข้า รูปผ่านเข้ามาทางตา เสียงผ่านเข้าทางหู กลิ่นผ่านเข้าทางจมูก รสผ่านเข้ามาทางลิ้น สัมผัสผ่านเข้ามาทางกาย ธรรมารมณ์ผ่านเข้ามาทางจิตใจ ทีนี้สิ่งทั้งหลายที่ผ่านเข้ามาเนี่ย ถ้าเรากำหนดดูให้มันดีๆแล้ว ที่เรารู้ว่ามันผ่านออกผ่านเข้าอยู่เนี่ย ใครเป็นผู้รู้ ก็จิตใจของเรานั่นเองแหละเป็นผู้รู้ สิ่งที่รู้ทั้งหลายเหล่านั้นก็เป็นสภาวะธรรม กายใจเป็นสภาวะธรรม ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจก็เป็นสภาวะธรรม สิ่งที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ก็เป็นสภาวะธรรม โดยที่สุดแม้ว่าใจผู้รู้ก็เป็นสภาวะธรรมอีก สิ่งที่เป็นสภาวะธรรมนั้นหมายถึงสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ดังที่ปรากฏให้เรารู้เห็นอยู่นี่ เมื่อสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวะธรรม สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ นักปฏิบัติธรรม นักศึกษาธรรม เอาใจมารู้กับสิ่งเหล่านี้ ทำสติกับสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา เราก็ได้ชื่อว่ามีการปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลา 

มาตอนนี้มาพูดถึงการปฏิบัติธรรม อยากจะขอตัดเรื่องราววิธีการปฏิบัติธรรม ซึ่งเราเคยได้ยินได้ฟังกันมามากต่อมากแล้ว เช่นบริกรรมภาวนาบ้าง หรือการพิจารณาอะไรที่เกี่ยวกับร่างกายสังขารบ้าง ซึ่งเป็นส่วนภายใน อยากจะตีความหมายแห่งสภาวะธรรมให้มันกว้างๆออกไป เพื่อเราจะได้มีทางปฏิบัติธรรมให้กว้างขวางออกไปยิ่งกว่าที่เราเคยได้ยินได้ฟังมา เข้าใจว่าสิ่งใดที่เราสามารถรู้ด้วยจิต หรือสิ่งใดที่เราสัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กายและใจดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เข้าใจว่าจะเป็นอารมณ์ เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติได้ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็ควรจะเอามาเป็นอารมณ์ปฏิบัติกรรมฐานได้ 

เอ้า ถ้าอย่างสมมุติว่าใครซักท่านหนึ่ง อาจจะดอดถามขึ้นมาว่าข้าพเจ้าเรียนมาทางหมอ มีความรู้ทางแพทย์ จะเอาวิชาทางแพทย์มาเป็นอารมณ์ภาวนากรรมฐานเนี่ย ไม่ต้องเอาพุทโธ ยุบหนอพองหนอ จะใช้ได้ไหม คำตอบก็คือว่าได้ ทำไมจึงต้องได้ เพราะวิชาหมอ วิชาแพทย์ที่เราเรียนมานั่น มันผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ในเมื่อความรู้อันใดที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ กายใจเป็นสภาวะธรรม สิ่งที่กายรู้ใจรู้ สัมผัสรู้ มันก็เป็นสภาวะธรรม มันเป็นสิ่งที่เราจะต้องวิตกเอามาเป็นอารมณ์ปฏิบัติกรรมฐานได้ แม้ว่าใครจะเรียนมาในศาสตร์ไหนอย่างไรก็ตาม จะเป็นวิทยาศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือศาสตร์อะไรก็แล้วแต่ เรานึกวิตกเอาหัวข้อวิชาการที่เราเรียนมานั้น แล้วเอามาเป็นเครื่องพิจารณาของจิต ซึ่งมันเป็นวิชาที่เราเรียนมา รู้มาก่อนแล้ว มันคล่องตัวง่ายดี 

เช่นอย่างเราอาจจะนึกว่าวิชาแพทย์คืออะไร และมีความสำคัญกับชีวิตของเราอย่างไร เวลาเราจะรักษาคนไข้ เราจะรักษาอย่างไร วางแผนไปอย่างไร อะไรในทำนองนี้ ซึ่งเรายกเป็นหัวข้อขึ้นมาตั้งเป็นปัญหาแล้วก็คิด คิดด้วยความมีสติสัมปะชัญญะ คิดจนกระทั่งจิตของเรามันสงบเพราะการคิดอันนั้น จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ เราบริกรรมภาวนาพุทโธๆๆ พุทโธก็ความคิดเหมือนกัน ยุบหนอพองหนอก็ความคิดเหมือนกัน สัมมาอรหังก็ความคิดเหมือนกัน แต่ถ้าเราจะเอาเรื่องความคิดที่เราเรียนมาเนี่ย เอาวิชาที่เราเรียนมาทุกอย่างมาเป็นความคิดเนี่ย มันก็เป็นความคิด ในเมื่อสิ่งนั้นเป็นความคิด สิ่งนั้นก็เป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ทำไมเราจะเอามาเป็นอารมณ์กรรมฐานไม่ได้ 

บางทีบางท่านอาจจะสงสัยว่า สิ่งเหล่านั้นไม่มีคำว่าธรรมะเจือปนอยู่เลย แล้วเราจะเอามาเป็นอารมณ์กรรมฐานได้อย่างไร ในสมัยที่อาตมาเป็นสามเณรน้อยเรียนธรรมบทแปลภาษาบาลี ไปแปลพบเรื่องหนึ่งว่า ช่างไม้นั่งถากไม้อยู่ เอาการถากไม้เป็นเป็นอารมณ์กรรมฐาน ปลงปัญญาลงสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้สำเร็จพระอรหันต์เหมือนกัน การถากไม้มีคำว่าธรรมะเจือปนอยู่ด้วยมั้ย 

มีอีกคนหนึ่งนั่งทอหูกอยู่ ก็มาพิจารณาชีวิตของตนเองเปรียบเทียบกับการทอหูก การทอหูกนี่มันหดสั้นเข้าไปเรื่อยฉันใด ชีวิตของเราก็สั้นเข้าไปทุกทีๆ แล้วก็ได้ความสลดสังเวช ได้สำเร็จพระอรหันต์ การทอหูกมีคำว่าธรรมะหรือเปล่า 

มีท่านผู้หนึ่งเดินทางไปเห็นพยับแดด เดือนเมษามันร้อน มองเห็นพยับแดดมันเกิดความระยิบระยับขึ้นมา ก็ไปปลงปัญญาว่า อ้อ พยับแดดนี้ก็เปลี่ยนแปลงอย่างนี้น้อ จิตก็ได้ความสลดสังเวช ได้สำเร็จพระอรหันต์ พยับแดดนี่มีคำว่าธรรมะเจือปนอยู่ด้วยหรือเปล่า 

ที่นำเรื่องต่างๆมาเล่าสู่ท่านทั้งหลายฟังเนี่ย อาตมภาพอยากจะแก้ไขข้อขัองใจบรรดาสังคมนักศึกษาธรรมะทั้งหลาย เช่นอย่างบางทีว่า สมถะกับวิปัสสนามีนัยต่างกันอย่างไร เมื่อตะกี๊นี่ก็ได้ยินคำถามคำตอบในเทป คำว่าสมถะ วิปัสสนา มีความต่างกันอย่างไร ถ้าจะให้คำตอบตรงตามความหมายกันจริงๆ สมถะกับวิปัสสนาต่างกันแต่วิธีการ แต่จุดมุ่งหมายก็คือความสงบ ท่านจะสังเกตดูความเท็จจริงขั้นปฏิบัติผ่านมาก็ได้ ถ้าอยากจะรู้ข้อเท็จจริงที่เราไม่ต้องสงสัยให้สลัดแบบทิ้งเอาไว้เสียก่อน 

การปฏิบัติสมถกรรมฐานตามความเข้าใจทั่วไปคือบริกรรมภาวนาและการเพ่งกสิณ หรือนึกอยู่สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นเพียงสิ่งเดียว หรือนึกถึงลมหายใจ นึกถึงโครงกระดูกเป็นต้น แล้วเป็นการนึกในวงจำกัดเฉพาะสิ่งๆหนึ่ง เช่นอย่างนึกพุทโธๆๆๆ ก็นึกอยู่ที่พุทโธๆ อันนี้เป็นวิธีการปฏิบัติแบบสมถะ 

แต่ถ้าท่านผู้ใดมีความคิดมาก สามารถที่จะคิดมาก วิตกถึงวิชาความรู้ที่เรียนมาอย่างที่เสนอแนะไปเมื่อสักครู่นี่ เช่นอย่างเรียนวิชาวิทยาศาสตร์มา ก็นึกถึงหัวข้อวิทยาศาสตร์ แล้วก็ตั้งคำถามตัวเอง ตอบตัวเองไปเรื่อยว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร ในเมื่อตอบไปได้แล้วก็เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์อย่างไร ตอบไปข้อไหน ก็เพราะอะไรๆๆ ถามตัวเอง ตอบตัวเองเรื่อยไป หรือเราจะนึกน้อมเอาร่างกายของเรามาวิตกขึ้นมาว่า ร่างกายของเรานี่ประกอบด้วยขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วก็มาใช้ความคิดว่า รูปัง รูปไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเกี่ยวกับเรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเรื่อยไป การปฏิบัติแบบใช้ความคิดพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐานหรือปฏิบัติแบบวิปัสสนากรรมฐาน 

ถ้าจะจำกัดความให้มันเข้าใจอย่างชัดเจนก็คือว่าบริกรรมภาวนาคือปฏิบัติแบบสมถะ การปฏิบัติด้วยการใช้ปัญญาค้นคิดพิจารณาเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อให้เป็นอุบายให้จิตสงบ เป็นการปฏิบัติแบบวิปัสสนา ทั้งสองอย่างนี่แหละ การนึกอยู่สิ่งๆเดียวก็ดี หรือการพิจารณาเป็นเรื่องเป็นราวก็ดี มุ่งสู่จุดแห่งความสงบตั้งมั่นของจิตในแนวแห่งสมาธิ เพราะทั้งสองอย่างนี่ ถ้าปฏิบัติแล้วจะทำให้จิตสงบเหมือนกัน ไม่เชื่อทดลองดูก็ได้ เพราะฉะนั้นข้อแตกต่างกันเนี่ย แตกต่างกันเฉพาะวิธีการ 

แต่ถ้าจะถามว่าการปฏิบัติด้วยบริกรรมภาวนาเนี่ย กับการใช้สติปัญญาพิจารณา เมื่อผลเกิดขึ้นแล้วจะมีนัยแตกต่างกันบ้างมั้ย อันนี้มีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง การบริกรรมภาวนาบางทีก็ไปนิ่งติดแหงกอยู่ที่สมถกรรมฐาน ที่ท่านว่าบริกรรมภาวนานี่ได้แค่สมถกรรมฐาน ถูกต้องตามที่ท่านว่า ส่วนมากจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าหากว่าผู้ที่ใช้สติปัญญาเริ่มต้นพิจารณาเป็นเรื่องเป็นราวไปเลยไม่ต้องบริกรรมภาวนา เมื่อจิตสงบลงทำให้เกิดมีปีติ มีความสุข แล้วก็มีสมาธิอย่างเดียวกันกับบริกรรมภาวนา ผู้ที่ใช้ความคิดนั้นในเมื่อมีสมาธิเกิดขึ้นแล้ว จิตจะเดินวิปัสสนาได้เร็วกว่าผู้ที่บริกรรมภาวนา เพราะฉะนั้นทั้งสองอย่างเนี้ย อย่าข้องใจ ใครจะบริกรรมภาวนาก็ได้ จะใช้สติปัญญาพิจารณาก็ได้ 

แต่ว่าขอเตือนไว้อีกอย่างหนึ่ง อันนี้เป็นประสบการณ์ ออกจะเป็นเรื่องนอกตำราไปซักหน่อยหนึ่ง การปฏิบัติสมาธิต้องพยายามให้สัมพันธ์กับงานและชีวิตประจำวันที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน เช่นอย่างสมมุติว่าท่านขับรถ ท่านภาวนาพุทโธ ในขณะที่ขับรถภาวนาพุทโธ ถ้าจิตมันสงบลงไปแล้วมันไปอยู่กับพุทโธ ไม่สนใจกับการขับรถ ท่านลองหลับตานึกดูซิว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่างน้อยก็ต้องขับรถไปอย่างไม่มีจุดหมายปลายทาง ถ้าร้ายไปหน่อย ถ้ารถสวนมากๆ บางทีอาจชนเกิดอุบัติเหตุ อันนี้ลองพิจารณาดู เป็นประสบการณ์ที่ได้ยินได้ฟัง และเคยได้พบเห็นมาแล้วด้วยตนเอง 

เพราะฉะนั้นการทำสมาธินี่ ถ้าพยายามทำสมาธิ ฝึกสมาธิให้มันมีความสัมพันธ์กับสถานการณ์สิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องของชีวิตประจำวันได้เนี่ยจะดีที่สุด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างก็ได้กล่าวแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นสภาวะธรรม เป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ การปฏิบัติกับสิ่งเหล่านี้ เราทำสติรู้อย่างเดียว ขอบอกว่าไม่มีพิธีรีตองอะไร ทำสติรู้อย่างเดียว เรื่องพิธีรีตองนั้นตัดออกไว้เสียก่อน ถ้าเราจะทำให้เป็นพิธีนั่น เอาไว้ทำตอนเช้าตอนเย็นที่เรามีไหว้พระสวดมนต์ประจำวัน 

แต่ถ้าเราจะทำในขณะนี้ ขณะนี้ท่านฟังเทศน์ ท่านอาจจะทำสติกับการฟังเทศน์ เอาเสียงเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ถ้าท่านกำหนดจดจ้องฟังอยู่ แม้ว่าท่านจะจำคำพูดไม่ได้ทุกคำ ท่านอาจจะมีความรู้สึกเกิดขึ้นมาว่า เสียงนี้ก็มีสูงๆต่ำๆ มีหนักมีเบา แล้วก็มีสั้นมียาว ประเดี๋ยวท่านก็จะรู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาขึ้นมาด้วยการกำหนดรู้ปัจจุบัน หรือแม้ในที่สุดท่านอาจจะกำหนดรู้ความเป็นอยู่ในปัจจุบันของท่าน ท่านนั่งนานๆแล้วมันปวดหลัง นั่งนานๆแล้วมันเมื่อย นั่งนานๆแล้วมันง่วง ในเมื่อรู้สึกตัวขึ้นมา มีสติแล้ว ท่านอาจจะได้รู้ธรรมขึ้นมาว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เป็นอย่างนี้แหละ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงยักย้ายอยู่ตลอดเวลา 

พอเข้ามาในห้องนี้ในตอนแรกก็เกิดอากาศเย็นเฉียบเพราะฤทธิ์ของแอร์ หนักๆเข้าความอบอ้าวมันเกิดขึ้นจากกลิ่นอายของกันและกัน บางทีอาจจะเกิดความร้อน ทีนี้บางทีพระที่พูดที่เทศน์อยู่นี่ บางทีตอนแรกๆก็จะรู้สึกว่า เออ น่าฟัง ฟังไปฟังมามันเหน็ดเหนื่อยแล้ว อาจจะเกิดรำคาญขึ้นมาก็ได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้คือเหตุการณ์ในปัจจุบันที่มันจะเกิดขึ้น ส่อแสดงให้เรารู้ธรรมะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

เพราะฉะนั้นการที่เราจะทำสมาธิให้มันมีความสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของเรา ที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันเนี่ย ให้มันใกล้ที่สุด อย่าให้มันห่างกัน ในมหาสติปัฏฐานท่านก็ให้กำหนดยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำสติอย่างเดียว ทีนี้ในสิ่งอื่นๆที่เราทำอยู่ เวลาเราต้องการใช้ความคิดเกี่ยวกับงาน เราก็เอาเรื่องงานมาคิด ทำสติคิดให้มันจดจ้องลงให้มันชัดๆ เวลาทำ ทำสติอยู่กับงาน เวลาเขียนหนังสือก็ทำสติอยู่กับสิ่งนั้น ทำอะไรก็ทำสติกับสิ่งนั้น ทำสติลูกเดียว อันนี้คือการปฏิบัติสมาธิเพื่อให้เกิดพลังจิต มีความสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันและงานที่เราทำอยู่ โดยเอาเรื่องของชีวิตประจำวันเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ 

เพราะฉะนั้นจึงใคร่ที่จะขอประมวลหลักการที่จะพึงยึด เป็นแบบฉบับในการปฏิบัติไว้สามอย่าง หนึ่ง บริกรรมภาวนา อย่างที่เราปฏิบัติมาแล้ว อะไรก็ได้ 

สอง การใช้สติปัญญาพิจารณา โดยวิตกเอาความรู้ที่เราเรียนมา หรือถ้าหากว่าใครรู้เรื่องกายเรื่องใจมากๆ เรื่องอภิธรรมมากๆ จะวิตกเอาเรื่องอภิธรรมมาเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติก็ได้ ถ้าท่านผู้ใดไม่คล่องต่อเรื่องของธรรมะ ก็เอาวิชาการที่เราเรียนมา ที่เรารู้มาคล่องๆแล้วนั่น มาเป็นอารมณ์พิจารณาในเบื้องต้น มันจะช่วยให้การพิจารณาของเราคล่องตัวขึ้น อันนี้เป็นขั้นแห่งการพิจารณา จะเอาอะไรมาเป็นอารมณ์ก็ได้ 

ประการที่สาม การกำหนดรู้ โดยที่เราตั้งใจกำหนดรู้ลงที่จิต ทำจิตให้ว่างอยู่ชั่วขณะหนึ่ง โดยธรรมดาของจิตเมื่อเราตั้งใจกำหนดลง เราจะเกิดความว่าง ในเมื่อเกิดความว่างขึ้นมาแล้ว เราก็กำหนดดูที่ความว่าง ในเมื่อจิตว่างอยู่ซักพักหนึ่ง ความคิดย่อมเกิดขึ้น เมื่อความคิดเกิดขึ้น ทำสติตามรู้ความคิดนั้น เพียงแต่สักว่ารู้ อย่าไปช่วยมันคิด ความคิดอะไรเกิดขึ้น กำหนดรู้ ความคิดอะไรเกิดขึ้น กำหนดรู้ 

ยกตัวอย่างเช่น คิดถึงสีแดง ก็เพียงแต่ว่ารู้ว่าสีแดง ไม่ต้องไปคิดว่าสีแดงคืออะไร ถ้าหากว่าจิตมันคิดไปโดยอัตโนมัติของมัน เราทำสติตามรู้ทุกระยะ อย่าเผลอ ในทำนองนี้จะเป็นอุบายทำให้จิตของเรารู้เท่าทันอารมณ์ สติตัวนี้จะกลายเป็นมหาสติ ถ้าสติกลายเป็นมหาสติ จะสามารถประคับประคองจิตให้ดำรงอยู่ในสภาพปกติ ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ได้ง่าย เมื่อสติตัวนี้เป็นมหาสติแล้ว เพิ่มพลังขึ้นด้วยการฝึกฝนอบรม กลายเป็นสตินทรีย์ 

เมื่อสติตัวนี้กลายเป็นสตินทรีย์แล้ว พอกระทบอะไรปั๊บ จิตจะค้นคว้าพิจารณาไปเองโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ ทีนี้เมื่อสติตัวนี้กลายเป็นสตินทรีย์ เป็นใหญ่ในอารมณ์ทั้งปวง ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆกับว่า จิตของเราสามารถเหนี่ยวเอาอารมณ์มาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้ หรือเอากิเลสมาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้ เพราะสติตัวนี้เป็นใหญ่ ย่อมมีอำนาจเหนืออารมณ์ และสามารถใช้อารมณ์ให้เกิดประโยชน์ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นสติตัวนี้จะกลายเป็นสติวินโย 

ในเมื่อสติตัวนี้กลายเป็นสติวินโย สมาธิ สติ ปัญญาของผู้ปฏิบัติมีสมรรถภาพดียิ่งขึ้น ท่านผู้นั้นจะไม่มีการหลับ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ตลอด ๒๔ ชั่วโมงจะมีสติสัมปะชัญญะ เป็นสายสัมพันธ์สืบต่อกันตลอดเวลา แม้หลับลงไปแล้ว จะรู้สึกว่าตัวเองนอนไม่หลับ เพราะสติไม่ขาดตอน สติตัวรู้ หรือสติตัวรู้สึกสำนึก หรือสติอันเป็นตัวการซึ่งเป็นสติวินโยเนี่ย มันจะคอยจดจ้องอยู่ที่จิตตลอดเวลา พออะไรเข้ามาปั๊บ มันจะฉก เหมือนกับงูเห่าฉกเหยื่ออย่างนั้น ถ้าสิ่งใดที่มันยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง มันจะยึดเอามาแล้วก็พิจารณาค้นคว้าจนรู้ความจริง ถ้ามันรู้แล้ว พอสัมผัสรู้ปั๊บ มันก็มานิ่ง เวลาเราจะทำงานทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใด สติตัวนี้มันจะคล้ายๆกับว่าเป็นตัวรู้ปรากฏอยู่ท่ามกลางทรวงอก ส่วนที่ส่งกระแสอออกมาทำงาน มันก็ทำงานของมันอยู่ตลอดเวลา 

ในเมื่อเป็นเช่นนั้นเราสามารถที่จะเอาพลังแห่งสมาธิไปใช้ในงานทุกประเภทได้ การทำสมาธิอันใด ทำให้ท่านเบื่อต่อโลก ต่อครอบครัว มันยังไม่ถูกต้องหรอก ถ้าทำสมาธิมีสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริงดีแล้ว ต้องสามารถเอาพลังของสมาธิไปสนับสนุนงานการที่เราทำอยู่ได้ นักศึกษาก็ต้องเอาพลังแห่งสมาธิไปสนับสนุนการศึกษา 

เคยให้คำแนะนำแก่นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ว่าวันแต่ละวันๆ เราไปเรียนหนังสือ วันนี้อาจารย์ท่านสอนอะไรมา พอกลับมาถึงที่พักเสร็จธุระแล้ว ให้วิตกถึงวิชาที่เราเรียนมาในวันนั้น มาคิดทบทวนเป็นการทวนความจำ คิดไปคิดมา นึกไปนึกมาอยู่อย่างนั้นด้วยความตั้งใจ ผลปรากฏว่าทำให้นักศึกษาทั้งหลายที่มีความสนใจปฏิบัติอย่างนี้ มีสมาธิแล้วก็สามารถเรียนหนังสือเก่ง สามารถที่จะเอาสมาธิไปสนับสนุนการศึกษา และงานการที่เราทำอยู่ บางท่านถึงกับเอาพลังของสมาธิไปช่วยสร้างเครื่องมือวิทยาศาสตร์ขึ้นมาก็ได้ อันนี้ถ้าหากมีนักศึกษามาฟังอยู่นี่ ลองพิจารณาดู ลองปฏิบัติดู วันหนึ่งไปเรียนอะไรมา วิตกถึงความรู้อันนั้น ค้นคว้าพิจารณาเป็นการทวนความจำ 

ทีนี้อย่างพ่อบ้านแม่เรือนทั้งหลาย ถ้าท่านผู้ใดเกิดมีปัญหาครอบครัว เช่นอย่างพ่อบ้านแม่บ้านไม่ค่อยจะลงรอยกัน มีมติขัดแย้งกันอยู่ ก็ให้พยายามตั้งปัญหาถามตัวเองว่าเรามีความบกพร่องอะไร ยกตัวอย่างเช่นบางครั้งท่านอาจจะเผลอไปเที่ยวดึกดื่น เที่ยงคืนตีหนึ่งตีสองกลับมา แม่บ้านชักโมโห บิดหูเอา ท่านอย่าเพิ่งไปโกรธ ถ้าโดนเค้าบิดหูแล้วท่านอย่าเพิ่งไปโกรธ ให้ตั้งปัญหาถามตัวเองก่อนว่าเราผิดอะไร ถ้าเรามีสติยับยั้งถามตัวเองซักพักหนึ่ง เราจะได้ความรู้ ได้ความรู้สึกว่าเราผิด ผิดเพราะเราไปเที่ยวดึกเกินไป อันนี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งสำหรับการแก้ปัญหาครอบครัวและชีวิตประจำวัน 

การปฏิบัติธรรมนี่ มิใช่ว่าเราต้องการความรู้ความเห็นมาคุยอวดกันให้เสียเวลา เราต้องการธรรมะอันที่สามารถจะมาแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวันได้ สามารถแก้ไขปัญหาหัวใจได้ สามารถแก้ไขปัญหางานการได้ สามารถใช้พลังสมาธิไปสนับสนุนกิจการงานที่เราทำอยู่ได้ทุกประเภท จึงจะชื่อว่าฝึกสมาธิแล้วได้ผลคุ้มค่ากับการเสียเวลา วันนี้ได้กล่าวธรรมะเบ็ดเตล็ดพอเป็นเครื่องเตือนจิตเตือนใจของท่านผู้ฟังทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา 

ในท้ายที่สุดนี้ด้วยอำนาจแห่งความตั้งใจดี ในการที่จะศึกษาธรรมะปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตประจำวัน ขอทุกท่านจงสำเร็จความปรารถนาตามที่ตั้งไว้โดยทั่วกันทุกท่านเทอญ