Skip to content

วิธีทำจิตให้มีพลัง ๑

หลวงปู่แบน ธนากโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

มีสมัยหนึ่ง บรรดากษัตริย์ที่เรียกว่าเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า พากันคิดจะบวช ก็พากันไปหาพระพุทธเจ้า และในกลุ่มพระญาตินั้นก็มีช่างกัลบกประจำอยู่ในหมู่กษัตริย์ ตามไปเพื่อที่จะไปบวชด้วย เพราะว่าช่างกัลบกก็มาคิด เจ้านายเรามีความพร้อมสมบูรณ์บริบูรณ์ทุกอย่าง ก็ยังสละได้ ยังทิ้งได้ แล้วสิ่งที่สละ สิ่งที่ทิ้งนั้น เจ้านายมอบให้เรา เราจะพอใจสิ่งที่เจ้านายเราทิ้งหรือ เราจะพอใจสิ่งที่เจ้านายทิ้งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือ 

ในที่สุดก็ไม่เอา ไปบวชด้วย แล้วเวลาไปบวชก็จริงๆ บรรดากษัตริย์ทั้ง๔ ทั้ง๕ นั้น ก็ให้ช่างกัลบกนั้นบวชก่อน รู้สึกว่าจะเป็นผู้ใหญ่กว่าในทางอายุ เพราะบรรดากษัตริย์นั้นก็ยังอยู่ในวัยหนุ่ม ยกย่องให้เป็นผู้อาวุโสบวชก่อน แล้วนายช่างกัลบกนั้นก็เป็นพระเถระท่านหนึ่งหลังจากบวชแล้ว(คือพระอุบาลี) ที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในด้านพระวินัย แต่ในบรรดาพระเถระที่เป็นกษัตริย์ที่บวชเป็นบุญด้วยกันนั้น ไม่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้ายกย่องเป็นเอตทัคคะไปในลักษณะไหน 

จึงว่าสภาพใจจริงๆ ธรรมชาติใจจริงๆ เค้าไม่ได้มีระดับสูงต่ำอย่างที่เราๆโลกสมมุติกัน สภาพจิตใจทุกข์เป็น สุขเป็น ดีใจเป็น เสียใจเป็น เหมือนกันหมด แล้วโดยสภาพธรรมชาติของใจ รักความยุติธรรมทุกราย รักความยุติธรรมด้วยกันทั้งนั้นทุกหัวใจ แต่ใจไม่มีธรรมเป็นเครื่องคุ้มครอง ใจไม่มีธรรมที่จะทำให้ใจมีกำลัง ใจไม่มีความพร้อมที่จะต่อสู้ อำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง ใจไม่มีกำลังที่จะไปต่อสู้ต่อต้านอำนาจของกิเลสตัณหาเค้าชักชวน เค้าฉุดเค้าลากไป ก็ต้องไปในอำนาจของเขา ใจที่มีธรรมอันเกิดด้วยการฝึกอบรมในข้อปฏิบัติ ใจมีธรรม ใจมีพลัง เพราะธรรมทำให้ใจมีกำลัง อำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่สามารถที่จะมาฉุดมาลากให้ไปตามอำนาจของเขาได้ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เค้าไม่สามารถที่จะบังคับให้ไปตามความต้องการของเขา 

ธรรมชาติใจนี่เขารักความยุติธรรม รักความเป็นธรรมด้วยกันทั้งนั้น เราจะสังเกตได้ นักชอบดูลิเกละครหรือภาพยนตร์อะไรก็ช่าง ไม่มีใครซักรายที่ชอบตัวนักเลง ไม่ชอบมีใครซักคน หัวใจของใครซักรายที่ชอบตัวโกง ทั้งๆที่ตัวพระตัวนางนั้นก็ไม่ได้คุ้นเคยเป็นญาติพี่น้องอะไร แต่ทุกคนส่วนมากพอใจและก็รัก สงสาร อันนี้เป็นธรรมชาติธาตุแท้ของหัวใจ เค้ารักความยุติธรรม รักความเป็นธรรมโดยธรรมชาติ แต่ถูกกิเลสกระทำให้มีอคติ ถูกกิเลสมันทำให้ไปได้ทุกอย่างด้วยอำนาจของกิเลส เพราะใจไม่มีกำลังที่จะไปต่อต้านคัดค้านคำบัญชา คำสั่งของเค้า 

คำสอนของพระพุทธเจ้าสอนให้บำเพ็ญธรรม สอนให้ปฏิบัติธรรม ก็คือสอนให้ใจมีพลัง ใจมีกำลังนั่นเอง ศรัทธาพลัง ศีลพลัง ทำให้ใจมีกำลังทั้งนั้น ความเพียรก็เป็นพลัง สติก็เป็นพลัง สมาธิก็เป็นพลัง ปัญญาก็เป็นพลัง สติวิริยะ สัทธินทริยัง วิริยินทริยัง สะตินทริยัง สติก็ทำให้ใจมีกำลัง ความพากความเพียรก็ทำให้ใจมีกำลัง สมาธิก็ทำให้ใจมีกำลัง ปัญญาก็ทำให้ใจมีกำลัง การปฏิบัติก็คือสร้างพลังให้เกิดให้มีขึ้นแก่ใจ ไม่อยู่ใต้อำนาจ ไม่อยู่ใต้บังคับบัญชาของความหิว ความกระหายของใจ ไม่อยู่ใต้อำนาจความหิว ความกระหายของกิเลสที่มาบัญชาจิตใจ ใจมีกำลังแล้ว เค้าไม่สามารถที่จะบัญชาได้ตามความประสงค์ของเขา 

ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงเป็นประโยชน์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติด้วยกันทุกคน เหมือนกับคนเกิดมามีความจำเป็นจะต้องรับประทานอาหารทั้งนั้น จะเกิดในตระกูลใดๆสมบูรณ์ ข้าวปลาอาหารมากมาย ต้องรับประทานทั้งนั้น ร่างกายจึงเป็นร่างกายที่สมบูรณ์ มีกำลังวังชา ต้องอาศัยอาหารทั้งนั้น ใจก็เช่นเดียวกัน ใจจะมีกำลัง ใจที่มีกำลังแข็งแรง สามารถที่จะต่อสู้ สามารถที่จะชนะข้าศึกคือตัวกิเลสได้ ใจต้องสมบูรณ์ด้วยพลัง สติ สมาธิ ปัญญา ล้วนแล้วแต่ เป็นพลังของใจทั้งนั้น 

ถ้าหากว่าการบำเพ็ญเพียรพยายามจนกระทั่งสติมีความสมบูรณ์รอบ สมาธิมีความแน่วแน่แข็งแกร่งมั่นคงอยู่ภายในจิตในใจ พูดถึงปัญญาก็รอบคอบรอบรู้ สังขารที่เป็นส่วนภายนอก สังขารที่เป็นส่วนภายในแจ่งแจ้ง เขาจะมาในลักษณะไหน นี่ รู้ทัน รู้ชัด จะหลงตามกลมารยาสาไถของเขาหรือของสังขารไม่มี นี่ในเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ไอ้ตัวหิว ตัวกิเลสมันจะทำให้มาฉุดมาลากเป็นไปไม่ได้ ไม่สามารถที่จะมาดึง มาฉุดมาลาก นี่ ให้ออกนอกลู่นอกทางเข้าป่าเข้าดง ลงโคลนลงตมเป็นไปไม่ได้เด็ดขาด ไม่มีใครซักรายต้องการที่จะเข้าป่าเข้าดง ลุยโคลน ลุยตม ลุยน้ำ ไม่ว่าน้ำโคลน น้ำตมไม่มีใครต้องการ 

แต่ก็ต้องไปจนได้ ตรงไหนเป็นโคลน ตรงไหนเป็นตม ตรงไหนสกปรกรกรุงรัง กิเลสมันอาจดึงไปตรงนั้น ในเมื่อเค้าดึงไปตรงไหนก็จำเป็นต้องไป บัญชาไปทางไหน ก็ต้องตามไปบัญชาของเขานั่น เหมือนกับอยู่ในกำมือ สัตว์โลกที่ไม่มีธรรมเป็นพลังในจิตในใจเหมือนกะอยู่ในกำมือของกิเลสตัณหาด้วยกันทั้งหมด แล้วเราๆท่านๆ ก็ไม่มีใครปรารถนาให้เราตกอยู่ในสภาพ อยู่ในกำมือของกิเลสตัณหา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเรียน ที่จะต้องพยายาม ที่จะตะเกียกตะกาย นี่สร้างธรรมให้สมบูรณ์พูลสุข ให้สมบูรณ์แน่นหนามั่นคง อยู่ในจิตในใจของเรานี่ 

นักรบถ้าหากว่าแข็งแกร่งดีแล้ว นี่จะหวั่นวิตกในการต่อสู้กับข้าศึกไม่มี ผู้ที่มีจิตใจแน่นหนามั่นคงด้วยอรรถด้วยธรรมจะหวั่นวิตกกังวลในเรื่องของข้าศึกคือตัวกิเลส ไม่ได้สะทกสะท้านหวั่นไหว จึงต้องตรวจดูเสมอ ตรวจดูกายของเรา ตรวจดูใจของเรา การตรวจดูกายของเรา ตรวจดูใจของเรานี่หละ เป็นการสำรวจ ดูธรรมของเรานี่ ดูข้อปฏิบัติของเรานี่มีความบกพร่องแค่ไหนเพียงไร ถ้าหากว่าเราไม่ตรวจดู มันก็เหมือนกับเรือนชานบ้านช่องของเรานี่ เราไม่เหลียวดูซักที แล้วก็จะเรียบร้อยสะอาดสะอ้านเป็นไปไม่ได้ กายของเราก็ดี ใจของเรานี่ปล่อยปละละเลย จะเข้าถึงความเรียบร้อยสะอาดงดงาม ปราศจากสิ่งที่เป็นอกุศล ปราศจากสิ่งแปลกปลอมจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าหากว่าจะสะอาดสะอ้าน สิ่งแปลกปลอมไม่มี จะต้องมีการตรวจตราอย่างดี ใจของเรานี่หละตรวจดูใจ ใจของเรานี่แหละตรวจดูใจ ใจของเรานี่หละตรวจดูข้อปฏิบัติทางกายวาจาและใจ ตรวจดูเสมอ 

ในขณะที่ตรวจดูนั่นหละ เรามีสติสมบูรณ์ ในขณะที่ตรวจนั่นหละ การกระทำทางกาย ทางวาจา แม้แต่ทางใจของเรา จะคิดไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมเป็นวินัย ในขณะนั้นไม่คิด อันนี้ก็เป็นข้อปฏิบัติที่เราจะต้องมีการสำรวจตรวจอยู่บ่อยๆ ตรวจอยู่เสมอ ในเมื่อเราสำรวจตรวจอยู่เสมอ ความบกพร่องตรงไหนในเมื่อเราเห็นแล้วทั้งทางกาย ทางวาจา และทางจิตใจ เราก็พยายามแก้ไข เราก็พยายามแก้ไข เราก็พยายามแก้ไขเพราะเราเห็นจุดที่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข ถ้าหากว่าเราไม่สำรวจดู นี่ เราก็ยากที่จะเห็นจุดบกพร่อง จุดที่ควรแก้ไขของเราได้ 

อันนี้ท่านจึงให้สำรวมกาย สำรวมใจ ในเมื่อมีการสำรวจตรวจอยู่เสมออย่างนี้ความชุ่มชื่น ความเบิกบาน ความปีติก็จะเกิดขึ้น มองตรงไหน โทษก็ไม่มี มองทางกาย มองทางวาจา มองทางใจมีแต่ราบเรียบ มีแต่ราบรื่น มีแต่ความเป็นปกติ โทษคือความบกพร่องมองไม่เห็น เกิดความปีติขึ้นมาเพราะเรามีศีลสมบูรณ์ ความบกพร่องวิปริตผิดไปข้างๆ ผิดไปนอกลู่นอกทางอย่างนี้ ทำให้เกิดปีติขึ้น ปีติอันนี้เป็นเหตุทำให้ใจของเรานี่ใส ใจของเรานั้นเย็น ทำให้ใจของเราพอใจในการที่จะมาสัมผัสเกี่ยวข้องกับใจ ใจของเราก็พอใจในการที่จะสัมผัสในการที่มาเกี่ยวข้องกับใจ 

ถ้าหากว่าใจของเรามีแต่ความไม่สบาย มีแต่ความหดหู่ ปีติเบิกบานไม่มี ใจของเราเกี่ยวข้องกับใจในขณะนั้น ไม่สดชื่น ไม่เบิกบาน เหมือนกับรับประทานอาหารที่ไม่อร่อย มันไม่ดูดดื่มในการรับประทานนั่น รับประทานอาหารที่เอร็ดอร่อยมันดูดดื่ม บางทีอิ่มแล้ว มันก็ยังขอเติมอีกนิดหน่อยนั่น ใจของเราที่มีปีตินี้เป็นฐานที่ตั้งของสมาธิธรรม หรือองค์สมาธิธรรมเริ่มปรากฏขึ้นแล้วอาศัยศีลสมบูรณ์เป็นธรรมเครื่องอบรมสมาธิ 

การปฏิบัติธรรมเหมือนกับการเดินทาง เดินทางไปถึงจุดนั้นจะเดินทางไหน ก็สามารถที่จะไปถึงจุดนั้นได้ ถ้าคนนั้นรู้จักทางหลายทางแล้วก็วิธีการเดินทางไปนั้น จะเดินไปด้วยเท้า หรือว่าจะขี่จักรยาน จักรยานยนต์ หรือว่ารถยนต์ เครื่องบินก็ได้ สามารถไปถึงจุดหมายปลายทางทั้งนั้น คำว่าสมาธิจิต นี่ ใครจะเดินไปทางไหน เดินไปทางไหน ก็สามารถที่จะเดินไปตามเส้นทางที่สะดวกในการดำเนินจิต ในการปฏิบัติของเจ้าของ สะดวกในลักษณะไหน ก็ปฏิบัติตามที่สะดวกนั้น และก็สามารถที่จะเข้าถึงสมาธิจิต สมาธิธรรมได้ จึงว่าวิธีการปฏิบัติถูกทั้งนั้นถ้าหากว่ามีความพยายาม มีความจริงใจในการกระทำเพื่อเข้าถึงความสงบ มีความพยายามพอแล้วต้องสงบได้ทั้งนั้น จะกำหนดพุทโธ ธัมโม สังโฆ คำว่า ตายๆๆ กระดูกๆ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอามาบริกรรมหรือจะอะไรก็ช่าง สามารถที่จะหยั่งเข้าหาความสงบได้ทั้งนั้น อย่าไปคิดว่าอันนั้นถูก อันนั้นไม่ถูก อันนั้นคด อันนั้นโค้ง อันนั้นตรง อย่าไปคิด ถ้าไปคิดอย่างนั้น อันนั้นหละจะเป็นการโค้ง การคด หรือว่าเป็นการบิดเบือนออก ไม่ให้ถึงตรงเป้าจุดหมายเลยทีเดียว 

ไปทางสติก็คือมีความสำรวมอยู่เสมอ มีสติเท่านั้นจะเป็นธรรมที่ทำให้ใจของเรามีความสำรวมขึ้นได้ มีแต่สติเท่านั้นที่จะทำให้ใจของเรา หลังจากสำรวมดี สำรวมแน่วแน่แล้ว กลายเป็นสมาธิธรรมก็ได้ มีแต่สติเท่านั้น ในเมื่อศีลสมบูรณ์ สมาธิสมบูรณ์ นี่ ก็ทำให้เกิดปัญญาความรอบรู้แจ่มแจ้งในจุดที่ต้องการรู้ ต้องการเห็น จะวิจัยวิจารณ์ลงไปจุดไหน จุดนั้นจะเปิดเผยสภาพความเป็นจริงให้ได้รู้ได้เห็นทั้งนั้น จึงว่าสติธรรมเป็นธรรมที่มีความจำเป็นแก่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกราย สัมมาสติขาดไม่ได้ การงานภายนอก ทำทางตา ทำทางหู ทำทางจมูก ทำทางกาย ทำทางคำพูด การงานภายนอก การงานภายในนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ต้องเคลื่อนไหว นั่งอยู่เฉยๆ ไม่ต้องเคลื่อนไหว ไม่ต้องพูด ไม่ต้องจาอะไร ถึงจะเดินจงกรม เคลื่อนไหวในการเดิน แต่ก็ไม่ต้องพูด อันนี้เป็นการงานภายใน การงานภายในก็คือการงานภายในใจ 

การงานภายนอกก็คือการงานที่นอกจากใจ แต่ก็ต้องอาศัยใจเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงเป็นการเป็นงาน ถ้าหากว่าไม่มีใจเข้าไปเกี่ยวข้องการงานภายนอกจะเป็นการเป็นงานไม่ได้ เหมือนกับแผ่นดิน น้ำ ลม ไฟ ถ้าหากว่าไม่มีหัวใจ แผ่นดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เป็นอย่างนั้น จะทำให้เกิดประโยชน์ เกิดผลิตผลต้นไม้ ก้อนหินอะไรก็ช่าง ถ้าหากไม่มีหัวใจแล้ว ต้นไม้จะเป็นเรือนชานบ้านช่องไม่ได้ ก้อนหินจะเป็นอิฐ เป็นปูนอะไรขึ้นมาไม่ได้ ต้องมีใจ จึงว่าดิน น้ำ ลม ไฟ เค้าไม่มีส่วนรู้อะไร ต้องอาศัยใจ ใจของเรานี่จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมดูแลให้ดี ถ้าหากว่าควบคุมดูแลไม่ดีหรือไม่มีการควบคุมดูแลนี่ ใจของเราจะเป็นอันตรายแก่เรา ไม่มีอะไรเป็นอันตรายแก่เรา มีแต่ใจของเราที่ไม่มี ไม่ได้รับการอบรมจะเป็นอันตรายแก่เรา ใจของเรานี่แหละเป็นประโยชน์ ใจของเรานี่หละเป็นที่พึ่งแก่เรา 

ในเมื่อใจของเราได้รับการฝึกอบรมดีแล้ว ใจของเราได้รับการฝึกอบรมดีแล้ว ใจของเรานี่จะเป็นหลักจิตหลักใจ จะเป็นหลักที่เรียกว่าการดำเนินของเราจะไม่ผิดพลาด ถ้าหากว่าใจของเราได้รับการฝึกอบรมแล้วนี่ ยากที่จะดำเนินชีวิต หรือดำเนินไปให้ถูกต้องได้ อดที่จะไปซ้ายไปขวา อดที่จะเข้าป่าเข้าดง และอดไปในทางที่จะเป็นภัยเป็นอันตรายไม่ได้ จึงว่าการฝึกอบรมใจด้วยข้อปฏิบัติ การอบรมใจด้วยศีลธรรมจึงมีความจำเป็นแก่ใจทุกราย การบำเพ็ญจิตตภาวนา อย่ามุ่งแต่ให้ใจสงบ อย่าไปพอใจ ให้ใจสงบอย่างเดียว 

ถ้าหากว่าพอใจ ก็ให้พอใจในการกระทำให้มาก กระทำให้มากเท่าไหร่ อันนั้นคือความถูกต้อง ถ้าหากไปพอใจแต่ความสงบอย่างเดียว พอใจแต่ความสงบอย่างเดียวเราจะได้สิ่งที่ไม่ชอบใจ เพราะใจของเรานี้จะสงบไปตลอดกาลไปไม่มี มันเหมือนกับการเดินทางอย่างเนี้ย จะเดินไปไม่ให้มีแดด เดินไปไม่ให้มีฝน นี่ มันจะเป็นไปไม่ได้ มันจะต้องเจอแดดมั่ง เจอฝนมั่ง เหมือนกับการลงเรือไปในลำน้ำอย่างนั้นน่ะ จะให้ทะเลมันเรียบอย่างที่เราต้องการ เป็นไปไม่ได้ มันจะต้องมีขึ้นมีลงๆของเขาอย่างนั้น บางทีคลื่นลมก็มากอย่างสูง บางทีคลื่นลมก็น้อย บางทีทะเลก็เรียบ นี่ใจของเราทำเหมือนเรือ คลื่นจะเรียบ เราก็อยู่เหนือน้ำ นี่ คลื่นจะน้อย คลื่นจะใหญ่ เราก็อยู่เหนือคลื่น เหนือน้ำนั้น ไปอยู่แต่พอใจแต่น้ำสงบ น้ำนิ่ง เวลาน้ำไม่นิ่งนั้นน่ะ เราจะต้องโดนคลื่น เราจะต้องโดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงพอใจในการอยู่เหนือน้ำอยู่เสมอ เหนือความสงบ และความไม่สงบมา เราก็อยู่เหนือ เราไม่ติดความสงบ ความไม่สงบเกิดขึ้น เราก็ไม่ไปติด 

ในเมื่อเราไม่ติดแล้วเราจะไปเดือดร้อน ไปเป็นทุกข์เพราะความไม่สงบของใจได้อย่างไร คำว่าสังขารต้องเป็นสังขาร พระพุทธเจ้าท่านไม่แต่งสังขาร ไม่เป็นอย่างนั้น ท่านพระพุทธเจ้าท่านให้รู้สังขาร คำว่าแต่งสังขารก็หมายถึงว่าทะเลไม่ให้มีคลื่น เป็นไปไม่ได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่สามารถที่จะไปแต่งทะเลให้เรียบได้ เพียงแต่ให้รู้ทะเล ให้รู้สังขารเท่านั้น พอใจแต่ความสงบก็จะเจอสิ่งที่ไม่พอใจ สงบ ไม่สงบ ไม่สน ทำให้ยิ่งอยู่เสมอ เราไม่ได้ทำเพื่ออะไร เราทำเพื่อละ ทำเพื่อปล่อยวาง เพื่อสลัดทิ้ง ดีก็ไม่เอา จะเอาทำไม เอาแล้วหนักทั้งนั้น เป็นภาระทั้งนั้น คืนนี้ก็เงียบกันดี พากันนั่งสมาธิต่อไป 

(พูดหลังเทศน์)

ครูบาเราก็ไปแล้วนะ ไปชมแสงสีกันหมดแล้ว วันนี้ได้ชีปะขาวสามองค์ ชีปะขาวนี่ไม่ใช่ของเล่นนะ ชีปะขาวนี่บางทีมีฤทธิ์มากนะ ชีปะขาวบางทีมีฤทธิ์มาก ชีปะขาวที่ใจในการอบรมดีแล้วนี่ มีฤทธิ์ในการที่จะกำจัดกิเลส ชีปะขาวนี่มีใจ ไม่มีธรรมเป็นเครื่องอบรม ชีปะขาวนั้นก็ถูกกิเลสจัดการ 

กองดิน กองน้ำ กองลม กองไฟ กองกันแต่ศีรษะลงไปหาเท้า เท้าขึ้นมาหาศีรษะ อันนี้กองดิน กองน้ำ กองลม กองไฟ ตัดคำว่ากองเราออก นั่นไปเกิดขึ้นมา ก็เปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่เป็นกองอันนี้ขึ้นมา ก็เปลี่ยนของเขามาตามลำดับๆทุกวันและทุกขณะ เปลี่ยนแปลงชัดๆก็เปลี่ยนแปลงในการหายใจเข้า และก็เปลี่ยนแปลงในการหายใจออก มีการปั๊มเข้าปั๊มออกๆ อันนี้ก็เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงเฉพาะการหายใจเข้าหายใจออก ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงทุกขณะ ไม่มีใครไปแต่งเขา เขาเป็นของเขาเอง 

ท่านจึงว่าสังขาร เขาแต่งเขาเป็นเขาเอง ไม่มีใครไปแต่ง เค้าแต่งของเค้าเอง นี่ เล่าให้รู้ ให้รู้สังขาร สังขารมีการเกิด สังขารมีการดับ เค้าแต่งขึ้นมา แต่งขึ้นมา แต่งขึ้นมา และที่ขึ้นมานั้นก็มีส่วนดับไป แต่งขึ้นมาเท่าไหร่ก็ดับไปเท่านั้นแต่งขึ้นมาเท่าไหร่ก็ดับไปเท่านั้นเพราะของใหม่เข้ามาแทนที่ ของเก่ามันก็ต้องผ่านไป เป็นอย่างนี้มาตลอด ของเรา ของเราเหรอ เราไปสร้าง เราไปแต่งเหรอ เรากินข้าวอยู่ทุกวัน เราหามาป้อนอยู่ทุกวัน แล้วจะว่าไม่ใช่ว่าเราไม่สร้าง เราไม่แต่งยังไง ถ้าหากเค้าไม่สร้าง เค้าไม่แต่งของเขา เราป้อนข้าวเข้าไปนั่น มีประโยชน์อะไรมั้ย อัดเข้าไปบางทีมันไม่เข้าซะ หายใจก็เหมือนกันน่ะ ถ้าเค้าไม่หายใจของเขาน่ะ เราจะหายใจเข้าหายใจออก มันไม่เข้าไม่ออกนะ 

นี่หละสังขาร เค้าเป็นของเค้าเอง ให้รู้เสีย อย่าว่าเป็นเรา ตรงไหนเป็นเรา อ้าว ผมเราสร้างขึ้นเหรอ ใครสร้างผม ใครปลูกผม ขน เล็บ ฟัน หนังเหมือนกัน ใครไปสร้าง มีมั้ย เราไปสร้างเหรอ พระพุทธเจ้าท่านจึงว่ากองสังขาร กองของเกิดดับ พระพุทธเจ้าท่านจึงว่ากองอนิจจัง กองทุกขัง กองอนัตตา กองไตรลักษณ์ กองเกิด กองแก่ กองตาย จึงว่าภาวนา อย่าไปมุ่งแต่ให้ใจสงบ 

ภาวนาแปลว่าทำให้เกิด เกิดขึ้น ความรู้ ความแจ่มแจ้งเกิดขึ้นซึ่งสติ ซึ่งปัญญา แต่ภาวนาก็ต้องมีสมาธิเป็นหลัก ถ้าหากว่าไม่มีสมาธิเป็นหลักหละ ใจจะไม่อยู่กับที่ อยู่กับผมก็ไม่อยู่ อยู่กับขนก็ไม่อยู่ อยู่กับเล็บกับฟันอยู่กับร่างกายกองเกิดกองตาย มันก็ไม่ยอมอยู่ จึงว่าภาวนาต้องอาศัยสมาธิเป็นหลัก ในเมื่อสมาธิเป็นหลักแน่นแล้วนี่ เราจะเกี่ยวข้องตรงไหนเกี่ยวข้องตรงไหน เคลื่อนไปในลักษณะไหน ในกองเกิด กองตายนี้ ล้วนที่จะเป็นประโยชน์ในการเคลื่อนย้าย ในการเคลื่อนไปทั้งนั้น แยบคาย คำว่าแยบคายนี่ เคลื่อนไปทางไหน แยบคายตามที่ใจเคลื่อนไปนั้น การที่เคลื่อนไปเกี่ยวข้องนั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอาหาร เกี่ยวข้องสัมผัสเท่าไรยิ่งทำให้จิตอิ่ม ทำให้เบิกบานชุ่มชื่นมีกำลัง 

สิ่งเหล่านี้เหมือนกับหิน มีดมันคมเพราะหิน คำว่าสติปัญญา สติปัญญามีความคม มีความแหลมความคมนี่ต้องอาศัยหิน กองเกิด กองแก่ กองตาย ดิน น้ำ ลม ไฟอันนี้หละ คือหินที่จะลับสติลับปัญญา ลับจิตลับใจของเราให้แหลมให้คน เป็นสติเป็นปัญญาขึ้นมา ไม่อย่างนั้นจิตใจของเรานี่ไม่เป็นปัญญา ไม่เป็น มันจะกลายเป็นใจที่ไม่มีคม ใจที่ไม่มีคม กิเลสมันไม่กลัวหรอก แต่ใจที่มีคม กิเลสมันกลัว เพราะมันเคยเจ็บตัวมาแล้ว พระพุทธเจ้าท่านกิเลสมันเคยเจ็บตัวมาแล้ว พระสาวกพระพุทธเจ้ากิเลสมันเคยเจ็บตัวมาแล้ว มันกลัว ถ้าหากว่าใจที่ไม่มีคม กิเลสมันก็เคยเจอมาแล้วเหมือนกัน สบายมาก ลุยเลย ลุยเลย 

เราๆนี่กิเลสมันกลัว หรือกิเลสมันลุย เอ้า! ดูเอา แล้วก็ไม่ต้องบอกใคร เรื่องเหล่านี้ให้รู้เอง ข้างนอกไม่มีอะไร ลมก็เป็นลม ดินก็เป็นดิน อากาศก็เป็นอากาศ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกอันนี้ เขาก็เป็นของเขาอย่างนี้ ไม่ต้องไปกังวลกับเขา ใจของเรา เค้าก็รู้อยู่อย่างนี้ รู้อยู่อย่างนี้ รู้อยู่อย่างนี้ รู้อยู่อย่างนี้ ให้เค้ารู้อยู่อย่างนี้ 

ผม ขน เล็บ ไม่ต้องไปกังวลกับเขา เราจะกังวลไม่กังวล เขาก็เป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เขาก็เสื่อมไป เสื่อมไป ของเขาอยู่อย่างนี้ เรานั้นในเมื่อ เขาเป็นของเขาเอง เราจะไปกังวลทำไม นี่! ท่านจึงให้ปล่อยวาง แม้แต่ใจของเราก็ปล่อยวาง ไม่ต้องไปกังวล เขารู้อย่างนี้เรื่องของเขา เราไม่ได้ไปแต่งเขาให้รู้ มีสติอยู่กับรู้ มีสติอยู่กับจิต มีสติอยู่กับจิต มีสติอยู่กับจิต อย่าไปกังวลอะไร เพราะทุกสิ่งทุกอย่างกังวลมันก็ไม่ได้ผล กังวลๆ มันยิ่งกังวล กังวลมันยิ่งเพิ่มกังวล กังวลมันยิ่งเพิ่มสับสน เราต้องการกังวล เราต้องการสับสนหรือไม่ต้องการ ไม่ต้องการทั้งนั้น 

ในเมื่อไปอย่างนี้หละ ปล่อยมันเลย ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ปล่อยไปตามดิน น้ำ ลม ไฟ ตามธรรมชาติของเขา สังขารก็ปล่อยไปตามธรรมชาติของเขา จิตสังขารก็ปล่อยไปตามธรรมชาติของเรา ใจปล่อยไปตามธรรมชาติของใจ มีสติอันเดียว มีสติอันเดียวอยู่ตรงไหน อยู่กับใจ ไม่มีใจ ไม่มีสติ สติกับจิต สติกับใจให้เป็นอันเดียวกัน ในเมื่อเราไม่กังวลสิ่งอื่น ถ้าหากว่าเรากังวลสิ่งอื่นนี่ มันชอบไปอยู่กับสิ่งอื่นนั้น ละให้หมด! ท่านจึงว่าปล่อยวาง ปรากฏอะไร ละ ปรากฏอะไร ละ ไม่เอา จึงว่าภาวนาละ ภาวนาปล่อยวาง