หลวงปู่แบน ธนากโร
เรื่องโลกมันเป็นอย่างนี้หละมันยุ่งมาตลอดกาล พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้ปล่อยวาง ปล่อยวางความคิดในเรื่องได้เรื่องเสีย มาอยู่กับการภาวนาพุทโธๆๆๆๆ ให้แน่วแน่อยู่กับคำบริกรรมพุทโธ อยากพุทโธ พุทโธ แต่ใจมันไปไหนไม่รู้ พุทโธๆ ใจมันไม่อยู่กับพุทโธเลย ในเมื่อพุทโธ พุทโธ ใจไม่อยู่กับพุทโธ พุทโธก็หลง พุทโธก็ลืมไป พุทโธๆๆ ใจต้องอยู่กับพุทโธด้วย ใจต้องแน่วแน่อยู่กับพุทโธ จึงไม่ลืมพุทโธ
ในเมื่อไม่ลืมพุทโธ ก็มีแต่ที่จะแน่วแน่อยู่ในคำบริกรรมพุทโธเพิ่มขึ้นยิ่งขึ้นไป แน่วแน่ อยู่กับคำบริกรรมพุทโธ นี่ ก็เรียกว่าปล่อยวางเรื่องโลกทั้งหลาย คำว่าปล่อยวางก็หมายความว่าไม่เอาใจไปเกี่ยวข้อง ไม่เอาใจไปคิดถึง ไม่เอาใจไปยึด ไม่เอาใจไปรับรู้ ไม่เอาใจไปอยู่กับสิ่งนั้นๆๆ เอาใจไปอยู่กับพุทโธ อยู่กับพุทโธๆๆ อยู่กับคำบริกรรม ในเมื่อใจของเราอยู่กับคำบริกรรม รู้ว่าเรารู้คำบริกรรมอยู่ มีสติไม่หลง มีแต่ที่จะแน่วแน่ยิ่งๆขึ้นไป มีแต่ที่จะแน่วแน่ยิ่งๆขึ้นไป ที่จะหลงคำบริกรรมพุทโธไม่มี
จะว่าคิดถึงเรื่องโลก สรุปออกมาโลกนี่มันยุ่ง ยุ่งตลอดกาลมา ใจของเราไปเกี่ยวข้องกับโลก มันก็ยุ่งแล้ว จึงว่าโลกมันยุ่ง ถอนใจของเรา ไม่ให้ออกไปเกี่ยวข้องกับโลก ให้พ้นจากเรื่องโลกๆเสีย ความวุ่นวายของใจของเราก็ไม่มี หรือความวุ่นวายในใจของเราลดน้อยลงไป ความวุ่นวายไม่มีใครต้องการ ทุกหัวใจต้องการปลอดภัยจากความวุ่นวายทั้งนั้น การบำเพ็ญภาวนาจึงมีความจำเป็นทุกราย ชาวบ้านชาววัด นักบวชฆราวาส ไม่อยู่กับคำบริกรรม ไม่อยู่กับคำภาวนาแล้ว ใจจะล้มลุกคลุกคลานอยู่กับกระแสโลกอย่างนั้นตลอดกาลไป ล้มลุกคลุกคลานอยู่กับเรื่องของโลกอย่างนั้นตลอดกาล ไม่มีโอกาสที่จะพักนั่ง ไม่มีโอกาสที่จะได้ลุกยืน ไม่มีโอกาสที่จะได้หลับได้นอน เรียกว่าล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นตลอดกาลตลอดเวลา
ใจพ้นจากกระแสของโลก ใจนั่งได้ ใจยืนได้ ใจนอนได้ เพราะมีพุทโธเป็นหลัก ท่านจึงว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ในเมื่ออยู่กับพุทโธแล้ว กระแสโลกไม่ฉุดไม่ดึง กระแสโลกไม่ฉุดไม่ลาก พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ก็คือใจของเราอยู่กับคำบริกรรมพุทโธ แล้วก็ให้แน่วแน่อยู่กับบริกรรมพุทโธนั้น ว่าเราได้พุทโธเป็นที่พึ่ง ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ พุทโธก็เป็นธรรม พุทโธก็เป็นธรรมะ ภาวนาพุทโธ พุทโธๆ นั่นหละ เรามีธรรมะเป็นที่พึ่ง เรามีสังโฆเป็นที่พึ่ง เราภาวนาพุทโธ พุทโธๆๆ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง อยู่กับคำว่าพุทโธอันเดียว จึงพากันแน่วแน่ อยู่กับคำบริกรรมพุทโธ ทำให้แน่วแน่ๆๆ ในเมื่อแน่วแน่แล้ว เรื่องอื่นๆก็ไม่มี ถ้าหากไม่แน่วแน่ เรื่องอื่นๆยังมีเจือปนอยู่ในใจ เรื่องอื่นๆยังมากวนใจ เรื่องอื่นๆมาดึงจิตดึงใจของเราไปได้ ให้ไปเกี่ยวข้องกับเขา
ถ้าหากว่าใจของเราแน่วแน่ อยู่กับพุทโธด้วยความตั้งใจ ให้แน่วแน่อยู่อย่างนั้น เรื่องอื่นๆจะมาดัง มาฉุด มาลากใจของเราไปไม่ได้ เพราะเราแน่วแน่อยู่กับพุทโธ เรียกว่าพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ถ้าหากว่าเราแน่วแน่อยู่กับคำบริกรรมพุทโธ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งแก่เราได้จริง ธัมโม สังโฆเป็นที่พึ่งแก่เราได้จริง
ถ้าหากว่าภาวนาพุทโธ แต่หาความแน่วแน่อยู่กับคำบริกรรมไม่มี พระพุทธเจ้าไม่เป็นที่พึ่งได้จริง พระธรรมไม่เป็นที่พึ่งได้จริง พระสงฆ์ไม่เป็นที่พึ่งแก่เราได้ ก็เพราะเราไม่แน่กับพุทธัง ธัมมัง สังฆัง มันไปจดจ่ออยู่กับอะไรต่อมิอะไรก็ไม่รู้ พุทโธๆๆแต่ใจก็ยังอยู่เรื่องอื่น ในเมื่อพุทโธๆใจอยู่เรื่องอื่นประเดี๋ยวประด๋าว พุทโธก็ลืมไป เป็นอย่างนี้ เรียกว่าไม่มีพุทธัง ธัมมัง สังฆัง เป็นสรณะเป็นที่พึ่ง จะพูดซักขนาดไหนก็ช่างเถอะ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ พูดจนคอแตก ใจมันก็วุ่นวายอยู่กับโลกนั่นหละ เพราะใจมันอยู่กับโลก
ไม่ต้องพูด พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ก็ได้ ถ้าหากว่าใจของเราอยู่กับพุทโธๆๆๆ พ้นจากกระแสโลก เรื่องของโลกไม่มาดึงเรา ถ้าใจของเราแน่วแน่ ใจของเราไม่ออกไปเกี่ยวข้อง จึงว่าทำอะไรต้องทำให้มันจริง ถ้าหากว่าทำไม่จริง ไม่ได้ผล ทำเล่นๆไม่ได้ผล ทำให้จริง ทำการบริกรรมพุทโธๆ ผลของการทำจริงได้ผล การบริกรรมพุทโธ บริกรรมไม่จริง ภาวนาไม่จริง ทำยังไงผลก็ไม่ปรากฏ ไม่มีใครต้องการสักคนเรียกว่าภาวนาพุทโธแล้ว ผลของการทำไม่ได้ผล ไม่ปรากฏขึ้น ในเมื่อเราต้องการผลของการกระทำ ทำไม่ได้ผลเราไม่ต้องการ เราก็ให้มีความพยายามทำให้จริง ทำให้จริงๆๆ บริกรรมให้จริง บริกรรมให้ยิ่ง จริงที่สุด อยู่ตรงไหนเอาตรงนั้น จริงที่สุด ถึงอยู่ตรงไหน ถึงจุดตรงไหน เราเอาถึงจุดที่สุดนั้นหละ แล้วผลของการบริกรรมพุทโธของเราจึงจะได้ผล เอ้า พากันภาวนากันต่อไป
ไม่ต้องเอา ไม่ต้องเรียนอะไรมาก เอาพุทโธอย่างเดียว เรียนพุทโธอย่างเดียว ท่องคาถาพุทโธอย่างเดียว อย่างหลวงปู่มั่นท่านเดินจงกรมอยู่ในภูเขา ดูเจ้าเดินหาอะไร เดินไปเดินมาๆ ไม่หยุดไม่หย่อน ท่านตอบว่า ท่านเดินหาพุทโธ เวลาเราเดิน เราก็เดินกับพุทโธ เวลาเรานั่ง เราก็นั่งกับพุทโธ นี่หละจึงเรียกว่าเราก็หาพุทโธก็เหมือนกัน หาพุทโธไปหาที่ไหนไม่เห็นดอก ไปหาในองค์พระพุทธเจ้าก็ไม่เห็น ไปหาในองค์พระอรหันต์ก็ไม่เห็น ต้องหาในเรา เห็นพุทโธที่มีอยู่ในเรา แล้วไปเห็นพุทโธที่มีอยู่ในพระพุทธเจ้า เห็นพุทโธที่มีอยู่ในพระอรหันตสาวก หาพุทโธหาอยู่ที่เรา หาในเรา มีโอกาสที่จะเจอพุทโธได้ แล้วมีโอกาสที่จะเจอพระพุทธเจ้าด้วย มีโอกาสที่จะเจอพระอรหันตสาวกของพระพุทธเจ้าด้วย หาพุทโธในเราน่ะ หาให้มาก จนกระทั่งเจอพุทโธ
เจอพุทโธ เจอด้วยความสงบนะ ไม่ใช่เจอด้วยการเอาใจไปแล่นหา เจอแต่ความสงบของใจ ใจที่จะแล่นหาไม่มี ใจที่จะออกไปมีกระแสแล่นไป มีกระแสส่ายไป ไม่มี ดับหมด มีแต่ใจที่ดับกระแสความแล่นไป การแล่นไปไม่มี แล้วจะเห็นพุทโธในขณะนั้น จึงการเห็นพุทโธต้องเห็นด้วยความสงบของใจ ถ้าหากว่าไม่สงบ คิดอย่างนั้นเป็นพุทโธ อันนั้นเป็นพุทโธ อันนั้นเป็นพุทโธ ไม่มีโอกาสที่จะเห็น ไม่มีโอกาสที่จะเจอ บางทีคิดก็ถูกอยู่ แต่มันก็ไม่รู้ว่าถูก เพราะมันไม่รู้
เห็นพุทโธต้องเห็นด้วยความสงบของใจ เห็นด้วยสมาธิ เห็นด้วยสติ เห็นด้วยปัญญา จึงว่าเห็นด้วยความสงบของใจ ถ้าหากว่าใจไม่สงบ ไม่เห็นหรอก ใจของเรามีอยู่ทุกคน คำว่าเราเห็นใจ ส่วนมากไม่เห็น ตอบว่าไม่เห็น ที่ไม่เห็นใจก็เพราะใจของเราไม่สงบนั่นเอง ใจของเราเมื่อไหร่ เห็นใจเมื่อนั้น มันมีอะไรตื่น ไม่มีอะไรเป็นพุทโธ มีแต่ใจเท่านั้นเป็นใจที่ตื่น ไม่มีอะไรเป็นพระพุทธเจ้า มีแต่ใจเท่านั้นเป็นพระพุทธเจ้า ไม่มีอะไรเป็นพระอรหันต์ มีแต่ใจเท่านั้นเป็นพระอรหันต์ ไม่มีอะไรที่เป็นพุทโธ มีแต่ใจเท่านั้นเป็นพุทโธ ต้องการรู้พุทโธ เห็นพุทโธ เข้าถึงพุทโธ ภาวนาพุทโธให้มาก
อากาศก็ดี เย็นสบาย ยุงก็ไม่รบกวน แต่ไอ้เจ้ากิเลสมันก็หาอะไรมากวนจนได้ มันเก่งจริงๆนะกิเลสน่ะ สัตว์โลกมีเท่าไร มันหาสิ่งที่มากวนใจสัตว์โลกได้ทุกราย เมืองไทยของเรานี่เท่าไหร่ ๖๐ ๗๐ ล้าน แล้วทั่วโลกเป็นเท่าไร กิเลสมันหาเครื่องกวนใจ กิเลสมันหาเครื่องอยู่ของใจ กิเลสมันหาเครื่องที่จะมาเผาจิตเผาใจโดยทั่วถึงกันหมด ไม่มีที่จะตกหล่นไปซักรายเดียว จึงว่ากิเลสมันเป็นเจ้าโลก หรือว่ามันเป็นศาสดาของโลกก็ไม่ผิด สัตว์โลกในโลกนี่ มันสอนหมด แล้วก็พร้อมพอใจที่จะรับคำอบรม คำสั่งสอนของกิเลส มันสอนให้ทำยังไง มันสอนให้ทำยังไง ไม่มีใครปฏิเสธแข่งขันกัน ที่จะปฏิบัติตามคำสั่งสอนของศาสดากิเลส
เราไม่เก่งไม่ได้นะ เราไม่เก่งนี่ เราคนหนึ่งนี่หละ จะเป็นลูกศิษย์กิเลส ถูกกิเลสมันสอน ถูกกิเลสมันสอน มันชี้นิ้ว แล้วก็ไปตามมัน มันจูงแขนจูงมือจูงจมูก แล้วก็ไปตามมัน ถ้าเราไม่เก่งนี่ เราคนนึงนี่หละผู้หนึ่งทีเดียว จะเป็น กิเลส สรณัง คัจฉามิ ปากว่าพุทธัง สรณัง คัจฉามิ แต่บางทีใจมันเป็น กิเลส สรณัง คัจฉามิ พระพุทธเจ้าสอนให้รักษาศีล บางทีก็ไม่สนใจ กิเลสมันสอนให้หมดศีล โอ้ ถูกใจมากๆ เห็นง่ายๆ จึงว่าต้องเก่ง ไม่เก่งไม่ได้ ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าต้องเก่ง ถ้าหากว่าไม่เก่งนี่ตกหล่น กลายเป็นกิเลส สรณัง คัจฉามิไป ไม่มีใครปรารถนา แต่มันอาจเป็น พุทธัง สรณัง คัจฉามิ พระพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นที่พึ่งของเรา ใครต้องการ
แต่เราไม่เป็น ภาวนาพุทโธ พุทโธๆ เดี๋ยวมันไปโธที่ไหนไม่รู้ ไปโธที่ไหนก็ไม่รู้นั่นน่ะกิเลสมันดึงไป กิเลสไม่ได้บอกมาเป็น ข้าพเจ้าเป็นกิเลส ข้าพเจ้าจะมา ข้าพเจ้าจะมาดึง มันไม่ได้บอกนะ มันหายตัวได้ เวลามันจะมาดึง เราไม่เห็นตัว เห็นหน้าเห็นตามันนะ มันดึงจนไป พุทโธๆๆ เดี๋ยวเดียวเท่านั้นน่ะ ถ้าหากว่าไม่จริงหละ กิเลสมันจูงไปแล้ว จูงไปไหนก็ไม่รู้ จูงไปในของที่เราชอบ จูงไปในสิ่งที่เราไม่ชอบ ไอ้สิ่งที่ชอบไม่ชอบหละมันจูงไปตรงนี้หละ ไม่ชอบมากๆ โกรธมากๆ เกลียดมากๆ ชังมากๆ ทุกข์มากๆ มันยิ่งชอบจูงไป เผามากๆตรงไหนนั่นน่ะ มันจูงไปตรงนั้น
เราจะว่ามันเป็นศาสดา แต่ว่ามันไม่เป็นที่พึ่ง มันมีแต่ที่จะประหัตถ์ประหาร มันมีแต่ที่จะเหยียบย่ำทำลายอย่างเดียว ไม่เหมือนกับพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งได้จริง ร่มเย็นเป็นสุขได้จริง ปลอดภัยได้จริง จึงให้พากันกล้าหาญ พากันอุตสาหะพยายาม สร้างเรานี่ให้เข้าถึงความเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าให้ได้ ชีวิตการเกิดของเรานี่จะเป็นชีวิตที่มีค่า มีค่าแก่เราอย่างมากมายทีเดียว ถ้าหากว่า มายังไงก็ไปอย่างนั้น มันก็ได้แต่มีแต่นกเค้าอยู่นั่นแหละ ข้าวของเงินทองก็ของเราๆ มันไม่ใช่ซักอย่าง สรีระร่างกายมันก็มีแต่จะเน่าจะเปื่อย มีแต่หมูหมามันจะเอาไปกิน
รโชหรณํ รชํ หรติ จูฬปันถก มหาปันถก สองพี่น้อง บวชในสมัยพระพุทธเจ้า จูฬปันถกเป็นผู้น้อง มหาปันถกเป็นผู้พี่ ผู้พี่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนองค์น้องนั้นไม่ได้เรื่อง สอนยังไงก็ไม่รู้เรื่อง สอนยังไงก็ไม่รู้เรื่อง แล้วก็จำไม่ได้แล้วว่าประวัติแต่ละองค์เป็นยังไงมา ในที่สุดต้องพระพุทธเจ้าให้อุบาย พระพุทธเจ้าให้อุบายก็ให้ผ้าขาวสะอาด เอาไปลูบ ให้ลูบอยู่อย่างนั้น บริกรรม รโชหรณํ รชํ หรติ ลูบอยู่อย่างนั้นๆ ผ้าที่ขาวนั้น ก็กลายเป็นผ้าที่ไม่สะอาดขึ้นมา ผ้าที่ขาวที่สะอาดก็กลายเป็นผ้าที่ไม่ขาวไม่สะอาดขึ้นมา ทั้งๆที่ผ้านั้นก็ขาว ผ้านั้นก็สะอาด แล้วก็ไม่ได้เอาไปเปื้อนสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพียงแต่ลูบอยู่อย่างนั้น ลูบอยู่อย่างนั้น ก็พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ลูบอยู่อย่างนั้น แล้วก็บริกรรมอยู่อย่างนี้ ในที่สุดก็ยอมรับว่าร่างกายอันนี้เป็นของเปื้อน ร่างกายนี้เป็นของสกปรก ผ้าขาวจะขาวสะอาดซักขนาดไหนในเมื่อร่างกายไปถูกต้อง ผ้าขาวนั้นก็กลายเป็นของสกปรกไป เห็นเป็นของสกปรก
จูฬปันถกเป็นผู้ที่มีบารมีที่จะได้รับคำสอนจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในที่สุดก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าให้อุบายไม่นานเลย แต่อุบายนั้นถูกจริตวิสัย อุบายนั้นถูกจริตนิสัยเพราะพระพุทธเจ้าท่านอ่านจริตนิสัยของ แต่ละรายๆ ได้แจ่มแจ้ง ใครควรที่จะดำเนินอุบายอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านทรงรู้ทรงเห็นแล้วก่อนและตามอุบายที่ถูกจริตกับนิสัยนั้น การบำเพ็ญของแต่ละท่านก็ได้รับความสะดวกสบายเพราะถูกจริตนิสัย ในที่สุดก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ไปตามๆกันไป รโชหรณํ รชํ หรติ ร่างกายเป็นของเปื้อน ร่างกายเป็นของสกปรก เหมือนกับฝุ่น ตกอยู่ตรงไหนๆ สถานที่มีฝุ่นเปื้อนสกปรกเท่านั้น ไม่ใช่มีแต่สมัยพระพุทธเจ้าเท่านั้น เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่
คำว่าร่างกายเป็นของสกปรก ร่างกายเปรียบเหมือนฝุ่น ถูกตรงไหน ถูกตรงไหน สัมผัสอะไรๆ ตรงที่ถูกต้องสัมผัสนั้นเปื้อนไปหมด แม้แต่ที่หลับที่นอน ผ้าผ่อนท่อนสไบ เครื่องนุ่มเครื่องห่ม ยุคนี้สมัยนี้ ยุคไหนสมัยไหนก็เหมือนกัน เพราะร่างกายอันเดียวกัน ยุคไหนสมัยไหน ก็สกปรกเหมือนกัน ท่านจึงให้พิจารณาเป็นอารมณ์ ให้เห็นว่าร่างกายนี้ตามความเป็นจริงลงไป เห็นตามความเป็นจริงแล้วก็คือเป็นของสกปรกนั่นเอง เห็นตามความจริงก็เป็นของปฏิกูลนั่นเอง เห็นตามความเป็นจริงก็คือของไม่สวยไม่งามนั่นเอง เห็นตามความเป็นจริงก็คือของทิ้งนั่นเอง
จะร่างกายของใครๆ ก็เหมือนกันหมด ผมหลุดไปเส้นนึงก็ทิ้ง ขนหลุดไปเส้นนึงแล้วก็ทิ้ง เล็บตัดแล้วก็ทิ้ง ฟันหลุดแล้วก็ทิ้ง หนังหลุดออกไปก็ทิ้ง ผมตัดไปก็ทิ้ง ขนโกนไปก็ทิ้ง ฟันกรอไปก็ทิ้ง เล็บหลุดไปทิ้งทั้งนั้น หนังถ้าลอกออกไปก็ทิ้ง ไม่มีตรงไหนไม่เป็นของทิ้ง ไม่มี หายใจออกไปก็ทิ้งๆ น้ำมูกออกไปก็ทิ้ง น้ำลายออกไปก็ทิ้ง อุจจาระ ปัสสาวะก็ทิ้งทั้งนั้น ทั้งๆสิ่งเหล่านี้เป็นร่างกาย ไม่ใช่น้ำมูตรไม่เป็นร่างกาย ไม่ใช่อุจจาระปัสสาวะไม่เป็นร่างกาย เป็นร่างกายทั้งนั้น น้ำเหงื่อน้ำไคลก็เป็นร่างกาย ออกไปแล้วเป็นของทิ้ง ไม่มีซักราย ไม่มีซักครั้ง ออกไปแล้ว เก็บกลับมา เอามาใส่ที่ เอามาคืนเพราะเป็นของเรา ไม่มี! อันนี้เป็นความจริง
การพิจารณาก็เอาความจริงเนี่ยนะ เอามาเป็นอารมณ์ มาศึกษามาวิจัยมาวิจารณ์ เอาความจริงเป็นหลัก ตั้งความจริงเป็นเป้าหมายเอาไว้ ความจริงเป็นอย่างไรๆ แยกแยะให้ชัด สภาพความเป็นจริงของเขานั้น ให้ชัดยิ่งขึ้นไปๆ ในที่สุดก็เป็นของเที่ยงจริงๆ ไม่มีตรงไหนไม่เป็นของทิ้ง ไม่มีของใครไม่เป็นของทิ้งๆ ตรงไหนๆๆ เป็นของทิ้งทั้งนั้น นำ้มูกก็เป็นของทิ้ง น้ำมูตรก็เป็นของทิ้ง น้ำลายก็เป็นของทิ้ง ขี้เหงื่อขี้ไคลก็เป็นของทิ้ง กลิ่นอายเป็นของทิ้ง ไม่หายใจแล้วเป็นของทิ้ง ไม่หายใจแล้วเป็นของฉัน ไม่หายใจแล้วเป็นของข้าพเจ้า ไม่หายใจแล้วเป็นของของข้าพเจ้านะ ไม่มีใครว่า อันนี้จริงมั้ย ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ไม่จริงดอก
ในที่สุดพระพุทธเจ้าเอาความจริงนั้นน่ะ เอามาเป็นธรรมเทศนา ก็เพราะพระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริง ไม่มีอะไรที่จะขัดเกลา ไม่มีอะไรจะทำลายกิเลส มีแต่ความจริงเท่านั้น เพราะความจริงนี่กิเลสมันกลัว อวิชชาก็คือความไม่รู้สัจธรรม ไม่รู้ความจริง เมื่อรู้ความจริงแล้ว เห็นชัดตามความจริงแล้ว ไอ้คำว่าไม่รู้มันก็ไม่มี ผมมันมีความรู้มั้ย ขนมันมีความรู้มั้ย เล็บ ฟันมีความรู้มั้ย หนังมีความรู้มั้ย ฟันมีความรู้มั้ย ท่านจึงว่าศึกษา ผมมีความรู้มั้ย เอาใจถามผมๆ เอาใจของเรานี่ถามลงที่ผมในศีรษะของเรานี่ ผมมีความรู้มั้ย ในที่สุดใจของเรานั่นน่ะเป็นผู้ตอบเองว่าผมไม่มีความรู้ ตัดออกผมก็ไม่รู้ โกนออกผมก็ไม่รู้ ไปทิ้งผมก็ไม่รู้ เอาไปเผาไฟผมก็ไม่รู้ เก็บเอาไว้ผมก็ไม่รู้ จึงว่าผมสักแต่ว่าผม ขนรู้มั้ย ขนก็เหมือนกัน เล็บรู้มั้ย เล็บก็เหมือนกัน ฟันรู้มั้ย ฟันก็เหมือนกัน หนังรู้มั้ย หนังก็เหมือนกัน ใจเท่านั้นเป็นผู้รู้ ไม่มีใจแล้ว อะไรไม่รู้ซักอย่าง ต้นไม้เป็นอย่างไร ร่างกายของคนก็เป็นอย่างนั้น ท่อนไม้ท่อนฟืนเป็นอย่างไร ร่างกายของคนก็เป็นอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นในเมื่อไม่มีใจ
พระพุทธเจ้าเทศนาไม่ได้เอาอะไรมาเทศน์ เอากายและใจนี้ รูปก็กาย เวทนาก็ใจ สัญญาก็ใจ สังขารวิญญาณก็ใจ เรื่องของใจ
รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง
รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน
มันจริงมั้ย รูปมันเกิดแล้วมันตายหรือเปล่า ในเมื่อมันตายแล้วอะไรเป็นตน เวทนามันอะไรเป็นตัวตน ความสุขๆๆๆ หาตัวตนของความสุขก็ไม่มี มันเกิดขึ้นเพราะตาไปเห็นสิ่งที่ชอบใจเท่านั้น ใจไปสัมผัสสิ่งที่ชอบใจเท่านั้น มันก็เกิดความดีใจขึ้นมา ใจมันจะสัมผัสแต่สิ่งที่ชอบใจเหรอ ตาหูจมูกนี่มันจะสัมผัสแต่สิ่งที่ชอบใจเหรอ สิ่งที่ไม่ชอบใจมันก็ติดโลก ในเมื่อสัมผัสสิ่งที่ไม่ชอบใจ ความสุขมันก็หายไป ความดีใจมันก็หายไป ความทุกข์มันก็เข้ามาแทนที่ ความทุกข์มันจะทุกข์อยู่อย่างนี้เหรอ ทุกข์อยู่อย่างนี้เหรอๆๆ ความทุกข์ก็ของไม่เที่ยง ใครไม่เคยทุกข์ไม่มี ความทุกข์ใช่มันจะทุกข์ตลอดกาล เป็นไปไม่ได้ ในเมื่อใจสัมผัสสิ่งที่ทุกข์ มันก็ทุกข์จริงๆ ใจสัมผัสสิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดความสุข ความทุกข์หายไปหมด ทั้งร้องไห้ร้องห่มอะไร ประเดี๋ยวหละหัวเราะแหะๆ นั่น
จึงว่าสุขก็ดี ทุกข์ก็ดีเป็นของไม่เที่ยง เป็นเรื่องของใจ เป็นเรื่องของสังขารทั้งนั้น สังขารก็คือความคิด ความปรุง ความแต่ง ความเคลื่อนไหวของใจ เคลื่อนไหวไปในทางที่ถูกใจก็ว่ามีความสุข เคลื่อนไหวไปเจอสัมผัสสิ่งที่ไม่ถูกใจก็ว่าเป็นทุกข์ แล้วในโลกอันนี้มีทั้งดีทั้งชั่ว มีทั้งสิ่งที่ชอบใจไม่ชอบใจ ความทุกข์จึงมี ความสุขจึงมีได้ทุกขณะ ตามแต่เหตุ ตามสิ่งแวดล้อมสังขารมันจะไปเจออะไร เจออะไร มันก็ไปรับสิ่งที่มันเจอนั่นน่ะเป็นความทุกข์ความสุขขึ้น ท่านจึงว่า เวทนานั้นน่ะเป็นอนัตตา เป็นของไม่เที่ยง สัญญา สังขาร วิญญาณก็เช่นกัน เป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น
จิตเที่ยงมั้ย จิตเป็นผู้ที่รู้เวทนา จิตเป็นผู้ที่สัญญา จิตเป็นผู้ที่สังขาร จิตเป็นผู้ที่รู้วิญญาณ จึงว่าผู้รู้ เวทนา สุขเวทนาเกิดขึ้น ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็รู้ สัญญาความจำ สัญญาที่มันลืมไปหลงไป เราก็รู้ ใจของเราคิดเราก็รู้ ใจของปรุงเราแต่งเราก็รู้ ใจของเรานึกคิดเรื่องอะไร ใจของเราก็รู้ วิญญาณเกิดความรู้อันนั้นๆ เกิดความรู้อะไร ใจของเราก็รู้ จึงว่ารูปเป็นของไม่เที่ยง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง เป็นอนัตตา
อะไรเป็นผู้ที่พ้นจากสภาพความเป็นอนัตตานั้น สันทิฏฐิโก! จะสมมุติว่าผู้รู้ จะสมมุติว่าจิต อันนี้เป็นเรื่องของสมมุติทั้งนั้น จะสมมุติว่าจิตตวิญญาณเป็นเรื่องของสมมุติทั้งนั้น ธรรมชาติของจริงนั้นมีอยู่ ธรรมชาติของจริงนั้นเขาไม่สมมุติว่าเป็นอะไร ท่านจึงว่าสันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติเท่านั้น ปล่อยวางขันธ์ห้าด้วยประการทั้งปวงแล้ว ธรรมชาติผู้รู้อันนี้จะเด่นชัดขึ้นมา เพราะขันธ์ห้าอันนี้มันครอบงำ มันปกปิด จึงสอนให้เปลื้องรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปล่อยวางรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณออกเสีย ธรรมชาติผู้รู้ ธรรมชาติธาตุรู้ที่มีอยู่นี่จะปรากฏให้เห็น อันนี้ไม่ใช่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจะรู้เองเห็นเอง ไม่ใช่จะไปจูงกันให้รู้ให้เห็น จูงคนตาบอด จูงยังไงมันก็ไม่เห็นหรอก
จึงว่าให้พิจารณาอยู่เสมอ ให้ระลึกถึงอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าท่านถามพระอานนท์วันหนึ่งระลึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง พระอานนท์ก็ตอบว่าร้อยครั้ง บางทีก็กว่านั้น บางทีก็น้อยกว่านั้น ร้อยครั้งก็มากแล้วนะ กว่านั้นยิ่งมาก แต่พระพุทธเจ้าว่าประมาทมาก เราตถาคตระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้า ระลึกทุกขณะจิต รูปไม่ใช่ตน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ใช่ตนอันนี้ชัดอยู่ในจิต เรียกว่าระลึกถึงความตายอยู่ทุกขณะ ระลึกถึงความตาย ผมก็ตาย ขนก็ตาย เล็บก็ตาย ฟันก็ตาย หนังก็ตาย อันนี้ก็ระลึกถึงให้มาก เอาสิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์ เรียกว่าเราอยู่กับการปฏิบัติธรรม เรียกว่าเราอยู่กับการศึกษาธรรม หรือเรียกว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม
ไม่มีอะไรดอกในโลกอันนี้ ที่จะเป็นสมบัติอันที่เป็นสาระแก่นสารของเรา ภายนอกจะเป็นสมบัติแก่นสารได้อย่างไร แม้แต่ร่างกายของเราก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นสาระแก่นสารแล้ว แล้วภายนอกจะเป็นสาระแก่นสารได้อย่างไร ถึงภายนอกเขาจะเป็นสาระแก่นสารแค่ไหนก็ช่าง เราไม่เป็นสาระแก่นสาร จะมีประโยชน์อะไร พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ให้มีธรรมเป็นที่พึ่ง
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็เป็นธรรม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็เป็นธรรม อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเป็นธรรมะ ใจของเราที่ปล่อยวางร่างกายที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปล่อยวางสภาพที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนั้นถึงว่าพระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นธรรม ให้อยู่กับธรรม คือใจของเราที่มีการปล่อยวาง ปล่อยวางรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วก็อยู่กับใจที่ปล่อยวางนั้น เรียกว่าอยู่กับธรรม มีธรรมเป็นที่พึ่ง พิจารณาแล้วก็ปล่อยวางไป พิจารณาแล้วก็ปล่อยวาง มาสงบอยู่กับใจ
พิจารณาอะไร ก็พิจารณาของที่เรามีอยู่ ทำไมเราจึงต้องพิจารณาของที่มีอยู่ ก็เพราะเราหลงของที่เรามีอยู่นี้ หลงว่าเป็นเรา หลงว่าเป็นของเรา หลงว่าเป็นคนเป็นสัตว์ พิจารณาให้มากๆๆ อาศัยการพิจารณาให้มาก ทำให้มากนี่หละ มันก็ค่อยแจ่มแจ้งขึ้นๆ ในที่สุดก็แจ่มแจ้งอย่างสมบูรณ์ขึ้นมา แจ้งชัดตามความเป็นจริง ทั้งรู้ทั้งเห็นเป็นอย่างนี้จริงๆ ปล่อยวางทันที โล่งอก โล่งไปหมด ยังแต่ทำ ยังแต่ใจ ยังแต่ใจสว่างไสว สว่างกระจ่างแจ้งเบิกบาน ให้สงบอยู่กับธรรมคือใจอันนี้ สงบอยู่มันก็ไม่นาน นานหรือไม่นานขึ้นอยู่กับใจของเราที่พิจารณาแจ้งชัดแค่ไหนเพียงไร พิจารณาแจ้งชัดมากนี่ สงบอยู่เป็นวัน เป็นวันทีเดียว ใสสว่างกระจ่างแจ้ง อยู่อย่างนั้น ถ้าหากพิจารณาไม่แจ้งไม่ชัดเท่าที่ควร การปล่อยวางมันก็ใจก็สงบไปประเดี๋ยวประด๋าวเล็กๆน้อยๆ
จึงว่าการพิจารณานี่มีความจำเป็นต้องพิจารณาให้มาก พิจารณามากพอแล้ว ใจก็สงบมาก พิจารณาชัดมากเข้าเท่าไหร่ ใจก็เข้าไปพักมากเท่านั้น ความสงบเป็นผลของการงาน เป็นผลของการพิจารณา จึงให้ใส่ใจในการศึกษา ให้ใส่ใจในการพิจารณา การปฏิบัติธรรมก็คือการศึกษาของจริง การปฏิบัติธรรมก็คือการศึกษาสิ่งมีอยู่ในเรา กายมีอยู่ในเรา ใจมีอยู่ในเรา ศึกษาให้มาก ให้รู้เห็นสิ่งที่มีอยู่ในเรานี้
ในเมื่อเรารู้เห็นสิ่งที่มีอยู่ในเรานี้ เรียกว่าเรารู้ธรรม ไม่ต้องไปเรียนหรอกหนังสือ หนังสือมันชื่อของธรรมทั้งนั้น เป็นสมมุติบัญญัติทั้งนั้น คำว่า ตายๆๆ ไอ้คำว่า ตายๆมันเป็นคำพูดต่างหาก คำว่า เกิดๆ คำว่าเกิดเป็นคำพูด คำว่า แก่ๆ คำว่าแก่เป็นคำพูด ของจริงมันมีอยู่ในเรา ไม่ต้องพูดว่ามันเกิด มันก็เกิด ไม่ต้องพูดว่าแก่ มันก็แก่ ไม่ต้องพูดว่าตาย มันก็ตาย จึงมาพิจารณาในเมื่อเรามีของจริงแล้ว ให้พิจารณาของจริง ในเมื่อเรามีของจริงแล้ว จะไปเรียนสมมุติบัญญัติทำไม เรียนของจริงนี้จึงมีโอกาสจะรู้ของจริงได้ ธรรมมีอยู่ด้วยกันทุกคน ไม่ใช่มีธรรมมีในเฉพาะพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ธรรมมีแต่เพียงแต่พระสาวกเจ้าเท่านั้น ในบรรดาเราๆก็มี
อานาปานสติ ลมหายใจเข้าหายใจออกใครไม่มี ใครไม่มีลมหายใจเข้า ใครไม่มีลมหายใจออก ลมหายใจเข้าหายใจออกมีด้วยกันทุกคน คำว่ากรรมฐาน ๕ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ใครไม่มีผม ใครไม่มีขน ใครไม่มีเล็บ ใครไม่มีฟัน ใครไม่มีหนัง อาการ ๓๒ มีหมดทุกคน อาการ ๓๒ ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมทั้งนั้น ทวัตติงสาฯ (ทวัตติงสาการปาฐะ) มีด้วยกันทุกคน ไม่ได้บกพร่องซักรายที่จะรู้จะเห็นสภาพสิ่งเหล่านี้ มีด้วยกันทั้งนั้น
จึงว่าการศึกษาธรรมไม่ต้องไปศึกษาที่อื่น ทำความสงบให้มากๆ รวมจิตรวมใจเข้ามาอยู่กับเราๆ อย่าให้ส่งแส่ไปข้างนอก รู้ธรรมเห็นธรรมได้อย่างไม่ต้องสงสัย พุทโธเป็นผู้ตื่นๆๆๆๆๆ พุทโธเป็นผู้ตื่น ตื่นอยู่ตรงไหน ผมตื่น ขนตื่น เล็บตื่น ฟันตื่น หนังตื่นเหรอ ร่างกายอันนี้มันตื่นไม่เป็น ตาก็ตื่นไม่เป็น ตาก็หลับไม่เป็น เพราะตาไม่มีความรู้อะไร มีแต่ใจเท่านั้นตื่นเป็น ใจเท่านั้นตื่น ตื่นๆๆ เป็น ใจเท่านั้นตื่นเป็นๆๆ พุทโธคือใจๆๆ เพราะใจเท่านี้ตื่นเป็น
อยู่กับพุทโธอยู่กับใจ อยู่กับพุทโธจิตใจเบิกบาน อยู่กับพุทโธๆๆ เรียกว่าใกล้พุทโธ อยู่กับพุทโธๆๆๆ เรียกว่าเข้าใกล้พระพุทธเจ้า อยู่กับพุทโธๆๆๆ นี่หละจะเข้าถึงธรรม อยู่กับพุทโธๆๆๆ นี่หละจะสามารถจะเข้าถึงความเป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ให้ไปทางนี้ ไปทางอื่นไม่มีทางไปหรอก อยู่กับพุทโธๆๆ สามารถเข้าถึงพระพุทธเจ้า อยู่กับพุทโธๆๆ สามารถเข้าถึงธรรม อยู่กับพุทโธๆๆ สามารถเข้าถึงความเป็นพระสงฆ์ ให้ไปทางนี้ อย่าไปข้างๆคูๆ อย่าไปข้างหน้าข้างหลัง ไม่มีทางไปดอก ไปทางไหนก็ตันๆๆ ไม่มีทางไป
ท่านจึงสอนให้ภาวนาพุทโธ ภาวนาพุทโธ ต้องทำใจของเราให้ตื่น ภาวนาพุทโธเราต้องตื่นด้วย ภาวนาพุทโธ ใจของเราไม่มีสติ (เสียงไม่ชัด) ไม่ปลุกจิตปลุกใจของเราให้ตื่นเหมือนกับพุทโธ พุทโธๆปะเดี๋ยวเดียวก็อ้าปากหวอ หลับแล้ว พุทโธอย่างนั้นใช้ไม่ได้ พุทโธอย่างนั้นเป็นพุทโธหลับ ไม่ใช่พุทโธตื่น จึงให้พากันภาวนาพุทโธ พุทโธๆๆๆ ให้มาก ทำให้มาก เจริญให้มาก เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เป็นไปเพื่อความเห็นจริง เห็นอะไร เห็นพุทโธ รู้อะไร รู้พุทโธ รู้พุทโธนั่นหละมีธรรมเป็นที่พึ่ง พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้ารู้อะไร ก็รู้พุทโธ ไม่ใช่รู้พระไตรปิฏก รู้พุทโธๆๆ รู้จิตที่ตื่น รู้จิตที่เบิกบานนั้น เอ้า ให้พากันภาวนานะต่อไป พากันนั่งภาวนานั่งสมาธิ ตื่นอยู่ๆๆ เบิกบานอยู่