Skip to content

สรุปธัมมานุปัสสนา

สมเด็จพระญาณสังวร สกลมหาปริณายก

| PDF | YouTube | AnyFlip |

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงสติปัฏฐานมาโดยลำดับ จับแต่หมวดกาย หมวดเวทนา หมวดจิต มาถึงหมวดธรรมะ อันหมวดธรรมะซึ่งเป็นที่ตั้งของสติพิจารณา พระบรมศาสดาได้ทรงสอนให้กำหนดนิวรณ์ในจิต พร้อมทั้งการละนิวรณ์ อันเป็นฝ่ายอกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นอกุศล จากนั้นก็ได้ทรงสอนให้ตั้งสติกำหนดขันธ์ ๕ กำหนดอายตนะภายในภายนอก กับทั้งสังโยชน์คือความผูกจิตใจอยู่ในอายตนะเหล่านี้

ขันธ์ ๕ และอายตนะภายในภายนอก เป็นหมวดอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆ ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล เป็นวิบากขันธ์ เป็นวิบากอายตนะ ซึ่งบุคคลได้มาจากชนกกรรม กรรมที่ให้เกิดมา และพระพุทธองค์ได้ทรงสอนให้กำหนดพิจารณาขันธ์ ๕ อายตนะภายในภายนอก อันเป็นวิบากขันธ์ วิบากอายตนะ เป็นอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆ และได้ทรงสอนให้กำหนดจับสังโยชน์อันบังเกิดขึ้นในจิต อาศัยอายตนะทั้งสองนั้น และสังโยชน์นี้ก็เป็นฝ่ายอกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นอกุศล

อันแสดงว่า สังโยชน์ซึ่งเป็นอกุศลธรรมนี้อาศัยอายตนะนี้เกิดขึ้น ไม่ใช่อื่น จึงไปตรัสสอนให้มีสติกำหนดตัวสังโยชน์ซึ่งเกิดขึ้นในจิต และกำหนดดับสังโยชน์ที่บังเกิดขึ้นในจิต จากนั้นก็ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดในโพชฌงค์อันเป็นฝ่ายกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นกุศล และแม้โพชฌงค์อันเป็นฝ่ายกุศลธรรมนี้ ก็กล่าวได้ว่าอาศัยอายตนะบังเกิดขึ้นอีกเหมือนกัน และก็กล่าวได้ว่าอาศัยขันธ์ ๕ บังเกิดขึ้นด้วย

และต่อจากนั้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงสัจจะธรรมคืออริยสัจทั้ง ๔ อันเป็นที่ตั้งแห่งญาณคือความหยั่งรู้ ซึ่งผู้ปฏิบัติในสติปัฏฐานเมื่อตั้งสติกำหนดมาโดยลำดับ สติปัฏฐานเลื่อนขึ้นเป็นโพชฌงค์ก็ย่อมจะได้วิชชาหรือญาณคือความหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ อันได้แก่ทุกข์ ทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกขนิโรธความดับทุกข์ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

อันการปฏิบัติธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น ย่อมปฏิบัติได้เป็น อนุปุพพปฏิปทา คือข้อปฏิบัติโดยลำดับ แม้ว่าจะจับปฏิบัติในลมหายใจเข้าลมหายใจออก ทำสติในลมหายใจเข้าลมหายใจออก อันเรียกว่าอานาปานสติ อันนับเข้าในหมวดกาย เมื่อได้สติเป็นสติปัฏฐานขึ้น ก็จะได้สติที่เลื่อนขึ้นมาโดยลำดับเอง คือธรรมปฏิบัติจะเลื่อนชั้นขึ้นไปเอง โดยผู้ปฏิบัติเป็นผู้ประคองสติ แม้ในลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้

เมื่อสติตั้งเป็นสติปัฏฐาน กายก็จะปรากฏคือตัวลมหายใจเข้าลมหายใจออกเอง เวทนาก็จะปรากฏคือตัวความรู้ในลมหายใจเข้าในลมหายใจออก อันเป็นความรู้เสวย จิตก็จะปรากฏ คือจิตที่มีสติตั้งอยู่ในตัวลมหายใจเข้าลมหายใจออก และในความรู้ รู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกที่เป็นความรู้เสวย ธรรมะก็จะปรากฏ หากเป็นนิวรณ์ซึ่งเป็นอกุศลธรรม นิวรณ์นี้ก็จะปรากฏ และเมื่อสติตั้งกำหนดอยู่นิวรณ์ก็จะดับ

และเมื่อนิวรณ์ดับ ขันธ์ ๕ อันเป็นที่ตั้งของทั้งสติและทั้งนิวรณ์ และทั้งเป็นส่วนประกอบในการปฏิบัติก็จะปรากฏ เป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ รวมเข้าก็เป็นนามรูปดังที่เรียกว่ากายใจ รูปก็เป็นกาย นามก็เป็นใจ กายใจก็จะปรากฏ และอายตนะก็จะปรากฏ อายตนะก็คือตากับรูปที่ประจวบกันอยู่ หูกับเสียงที่ประจวบกันอยู่ จมูกกับกลิ่นที่ประจวบกันอยู่ ลิ้นกับรสที่ประจวบกันอยู่ กายและโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องที่ประจวบกันอยู่ มโนคือใจและธรรมะคือเรื่องราวที่ประจวบกันอยู่ ก็จะปรากฏ

และตัวสังโยชน์ก็จะปรากฏขึ้นแก่ความรู้ ในขณะที่อายตนะภายในอายตนะภายนอกเหล่านี้ประจวบกัน สังโยชน์ที่ปรากฏขึ้นแก่ความรู้นี้ ต่างจากสังโยชน์ที่บังเกิดขึ้นแต่ไม่ปรากฏแก่ความรู้ ผู้ที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ได้สตินั้น เมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกัน ย่อมเกิดสังโยชน์คือความผูกอยู่เสมอ แต่ไม่ปรากฏแก่ความรู้ สังโยชน์จึงครอบงำได้ เมื่อสังโยชน์ครอบงำได้ อายตนะเองก็เป็นสังโยชน์ ขันธ์ ๕ เองหรือนามรูปก็เป็นสังโยชน์ไปหมด ซับซ้อนกัน และก็ปรากฏสืบเนื่องไปเป็นนิวรณ์ได้ทุกข้อ

แต่ผู้ปฏิบัติทำสติปัฏฐานนั้น เมื่อได้สติปัฏฐาน สังโยชน์ย่อมปรากฏแก่ความรู้ว่าสังโยชน์เกิด และเมื่อปรากฏแก่ความรู้สังโยชน์ก็ดับ จึงเห็นเกิดดับของทั้งอายตนะภายในภายนอก กับทั้งของสังโยชน์ เพราะปรากฏแก่สติที่กำหนดอยู่ และเมื่อเป็นดั่งนี้ สติที่กำหนดดูอยู่ดั่งนี้ก็เลื่อนขึ้นเป็นสติสัมโพชฌงค์ เป็นสติที่ประกอบด้วยปัญญา คู่กันไปกับปัญญา

และก็เลื่อนขึ้นเป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิจัยธรรมเลือกเฟ้นธรรม ก็คืออายตนะภายในภายนอกที่ประจวบกันปรากฏ สังโยชน์ที่เกิดขึ้นปรากฏ สังโยชน์ที่ดับไปปรากฏ รู้ว่านี่เป็นอายตนะภายใน ภายนอก นี่เป็นสังโยชน์เกิด นี่เป็นสังโยชน์ดับ ธรรมวิจัยเลือกเฟ้นธรรม ก็คือมองเห็นธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิตนี้เอง รู้จักว่านี่เป็นกุศล นี่เป็นอกุศล นี่เป็นอัพยากตธรรมกลางๆ ตัวอายตนะภายในภายนอกนี่เป็นอัพยากตธรรมกลางๆ สังโยชน์ที่บังเกิดขึ้นเป็นอกุศล สืบไปเป็นนิวรณ์ก็เป็นอกุศล และตัวสติปัฏฐานที่ดูอยู่มองเห็นอยู่เลือกเฟ้นอยู่ นี่เป็นตัวกุศล..กุศลธรรม กุศลธรรมก็ตัดอกุศลธรรม สังโยชน์ก็ดับไป

ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์จึงมองเห็นธรรมทั้งหลายที่บังเกิดขึ้น และที่ดับไปในจิต และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้มีวิริยะสัมโพชฌงค์ซึ่งเป็นตัวความคมกล้าของปัญญาของสติ

ซึ่งตัดอกุศลได้ฉับพลันยิ่งขึ้น และทำให้สติปัญญาคมกล้ายิ่งขึ้น ปรากฏขึ้นเป็นไปเอง จนถึงปัญญาที่คมกล้านี้เป็นเครื่องห้ามมิให้สังโยชน์บังเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องตัด คือว่าสังโยชน์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไม่กล้าโผล่ขึ้นมา ขันธ์ ๕ ก็เป็นไป อายตนะภายในภายนอกก็เป็นไป ไม่ต้องหลับตาหลับหูเป็นต้น ก็คงลืมตาดูอะไร หูได้ยินอะไร แต่ว่าสังโยชน์ไม่เกิด ด้วยกำลังของปัญญาพร้อมทั้งสติที่คมกล้า แปลว่าไม่กล้าโผล่หน้าขึ้นมา ดั่งนี้เป็นลักษณะของวิริยะสัมโพชฌงค์

และเมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็ได้รับการชำระฟอกล้างขัดเกลาให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง จึงได้ความเบิกบานอันเกิดจากความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ปรากฏเป็นสติสัมโพชฌงค์ อันมีลักษณะที่อิ่มใจ เบิกบานใจ ผ่องใสใจ เพราะเหตุว่าบรรดาเครื่องเศร้าหมองตกลงไปจากจิต ไม่ทำให้จิตเศร้าหมอง จิตก็ผ่องใส เบิกบาน อิ่มเอิบ ดูดดื่มอยู่ในธรรมปฏิบัติยิ่งขึ้นไป เป็นปีติสัมโพชฌงค์ และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็เลื่อนขึ้นเป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือสงบ มีสุขทั้งทางใจทั้งทางกาย

สมาธิสัมโพชฌงค์คือตัวสมาธิเองก็ตั้งมั่นแน่วแน่ยิ่งขึ้น ประกอบด้วยความที่จิตสงบบริสุทธิ์ ไม่ฟุ้งซ่านไปไหน ตั้งสงบอยู่ และเมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็เพ่งกำหนดอยู่ในภายใน ไม่ออกไปภายนอก รู้อยู่ในภายใน จิตที่ตั้งสงบอยู่ในภายใน รู้อยู่ในภายในนี้เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นจิตที่วางคือไม่วุ่นวายจับโน่นจับนี่ เป็นจิตที่เฉยคือไม่กำเริบฟุ้งซ่าน สงบอยู่ในภายใน แต่ว่ารู้อยู่เห็นอยู่ รู้อยู่เห็นอยู่ในภายใน รู้อยู่เห็นอยู่ สงบอยู่ บริสุทธิ์ผุดผ่องอันเป็นลักษณะของอุเบกขาสัมโพชฌงค์

ฉะนั้น อุเบกขาคือความที่รู้อยู่ดูอยู่ในภายในนี้ จึงดูรู้อยู่ในตัวสมาธิของจิตเอง ดูรู้อยู่ในความตั้งมั่นของจิต ในสมาธิของจิต จึงดูจึงรู้ทั้งตัวสมาธิคือตัวความตั้งมั่นของจิต ทั้งอารมณ์ของสมาธิ สมาธิตั้งอยู่ในอะไรก็รู้ ตัวสมาธิคือตัวตั้งอยู่ก็รู้ เป็นความที่รวมพลังของความรู้อยู่ในจุดอันเดียว ซึ่งมองเห็นทั้งหมด เหมือนอย่างว่า ตารวมอยู่ในหน้าปัทม์ของนาฬิกา ทุกๆ อย่างที่อยู่ที่หน้าปัทม์ของนาฬิกาก็มองเห็นหมด เข็มนาฬิกาก็มองเห็น ตัวเลขที่เป็นวงสำหรับบอกเวลาก็มองเห็น

ทุกๆ อย่างในจิตก็ปรากฏอยู่ในความรู้ความเห็นทั้งหมด เมื่อเป็นดั่งนี้ เมื่อน้อมจิตที่ประกอบด้วยอุเบกขาไปเพื่อรู้ในสิ่งที่ปรากฏอยู่ในจิตนั้น จึงย่อมจะเห็นอริยสัจได้ จะเห็นทุกข์ จะเห็นสมุทัย จะเห็นนิโรธ จะเห็นมรรค ก็เพราะว่าเมื่อปฏิบัติได้สติปัฏฐานได้โพชฌงค์มาโดยลำดับ จนถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์ดั่งนี้ ตัวสมาธินั้นเองนอกจากเป็นตัวที่เป็นความตั่งมั่นแน่วแน่ของจิตแล้ว ยังเป็นตัวรวมแห่งที่ตั้งของปัญญาทั้งหมด เมื่อสรุปลงแล้ว ขันธ์ ๕ นามรูป ก็อยู่ในสมาธินี้ เพราะฉะนั้นเมื่อน้อมจิตไปเพื่อรู้ จึงมองเห็นนามรูปอันเป็นตัววิปัสสนาถูก

ทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ก็ย่อมปรากฏขึ้น สภาวะทุกข์ก็ย่อมจะปรากฏ ชาติ ชรา มรณะ ปกิณกะทุกข์ก็ย่อมจะปรากฏ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น และทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ปรากฏขึ้นดั่งนี้ ธรรมดาที่ปรากฏขึ้นอันเป็น ทุกขตา อนิจจตา อนัตตา ก็จะปรากฏขึ้น ตัณหาที่ซ่อนอยู่ก็จะปรากฏขึ้นเป็นตัวทุกขสมุทัย การปฏิบัติมาที่เป็นตัวทุกขนิโรธก็จะปรากฏขึ้น ข้อปฏิบัติที่ปฏิบัติมารวมเข้าเป็นมรรคสัจจะก็จะปรากฏขึ้น

เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงญาณในอริยสัจสืบต่อ และเมื่อเห็นทุกข์ก็คือดวงตาเห็นธรรมดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเห็นทุกข์ดั่งนี้สมุทัยก็จะย่อมดับไปตามกำลังของปัญญา ปรากฏเป็นทุกข์นิโรธความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติมาก็เป็นมรรค

และพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงชี้แจงว่า อะไรคือทุกข์ อะไรคือทุกขสมุทัย อะไรคือทุกขนิโรธ อะไรคือมรรค ทั้งทุกข์ ทั้งทุกขสมุทัย ทั้งทุกขนิโรธนั้น ก็ตรัสแสดงยกเอาอายตนะภายในภายนอกนี้แหละขึ้นเป็นที่ตั้งมาโดยลำดับ ตัวอายตนะภายในภายนอกเองนั้นเป็นตัวทุกขสัจจะ และก็อาศัยอายตนะภายในภายนอกนี่แหละเป็นที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ของสมุทัย สมุทัยก็เกิดขึ้นที่นี่ และเมื่อสมุทัยดับเป็นนิโรธ นิโรธก็บังเกิดขึ้นที่นี่อีกเหมือนกัน ไม่ใช่ที่ไหน ทั้งหมดนี้ก็รวมอยู่ในตัวสมาธิซึ่งประมวลไว้ในจิตนี้เอง ซึ่งอาศัยอุเบกขาคือความเข้าไปเพ่งดูเพ่งให้รู้ให้เห็นอยู่ภายในนี้ ก็จะปรากฏตัวขึ้นมาว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นสมุทัย อะไรเป็นนิโรธ อะไรเป็นมรรค โดยลำดับ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

(ถอดเสียงธรรมโดย คุณอณิศร โพธิทองคำ)