Skip to content

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

| PDF | YouTube | AnyFlip |

วันนี้เป็นวันเข้าพรรษา บรรจบครบรอบมาอีกวาระหนึ่งซึ่งภิกษุสามเณรที่อยู่จำพรรษา นี้ก็ พรุ่งนี้จะได้อธิษฐาน เข้าพรรษาพรุ่งนี้แหละ และพร้อมกันนั้นก็เป็นวันอาสาฬห คือวันพระพุทธเจ้าเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ให้ภิกษุทั้ง ๕ องค์ คือปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ องค์ ฟังเป็นธรรมเทศนากัณฑ์แรก เหตุนั้นพวกเราจึงพากันทำอาสาฬหบูชาระลึกถึงวันนั้นแหละ 

พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เดือน ๖ เพ็ญ คือเดือน ๖ เพ็ญนั่นท่านตรัสรู้ พอมาเข้าพรรษานี้ เดือน ๘ เพ็ญก็พอดีได้สองเดือนพอดี มาถึงวันนั้นพระองค์จึงเทศนาให้ปัญจวัคคีย์ฟัง แท้ที่จริงปัญจวัคคีย์นั้นก็เคยเป็นลูกศิษย์ของพระองค์มาก่อน เมื่อพระองค์ทำทุกรกิริยาอยู่ ปฏิบัติอุปัฏฐากพระสิทธัตถะราชกุมารเมื่อยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทำทุกรกิริยาไม่ใช่หนทางเสียแล้ว จึงได้ปลีกตัวออกไป ทำความเพียรผู้เดียว พวกปัญจวัคคีย์ทั้งหลาย เห็นพระองค์ลดละความเพียร คือทำไม่ถูกหนทาง เช่นพระองค์อดข้าวจนกระทั่งซูบผอม พระองค์เห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นหนทางตรัสรู้ พระองค์กลับคืนมาฉัน พวกปัญจวัคคีย์นั้นเห็นว่ามักมาก จึงหลบหลีกหนีไป พระองค์จึงได้ประกอบความเพียรแต่ผู้เดียว

ได้สำเร็จมรรคผลนิพพานแล้วจึงมาคิดถึงเรื่องผู้ที่จะได้สำเร็จ ผู้ที่จะมาฟังเทศนา ใครหนอจะได้รู้มรรคผลกับเราหนอ ใครจะมาเห็นแจ้งแทงตลอดอย่างเรานี่ได้หนอ ธรรมะนี่เป็นของลึกละเอียดเหลือเกิน พิจารณาไปๆ นึกถึงอาฬารดาบส อุทกดาบส ก็ตายเสียแล้ว ยังเหลือแต่ปัญจวัคคีย์เนี่ยแหละพอจะมีหูตาสว่างพอสมควร พระองค์จึงได้เสด็จป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พอเห็นพระองค์กลับคืนมาอีก ปัญจวัคคีย์ ฤาษีทั้งห้า โน่นมาแล้ว คนมักโลภมากๆมาแล้ว มาก็อย่าเถอะ พวกเราอย่าไปรับต้อนเลย เพียงแต่ปูอาสนะแล้วก็แล้วกัน 

พอพระองค์ไปถึงที่ไหนได้ พากันกุลีกุจอพากันต้อนรับทุกคน เมื่อพระองค์ไปถึงที่ประทับแล้วจึงเทศนาให้ฟัง ทีแรกก็ดื้อด้านไม่ยอมฟัง ในผลที่สุดพระองค์ก็บอก เราตรัสรู้แล้ว เราเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว อันคำนี้เธอเคยได้ยินมั้ย เธอทั้ง ๕ เคยได้ยินมั้ย เราเคยพูดมั้ยแต่ก่อน จึงค่อยสะดุดใจ จึงค่อยน้อมใจฟัง พระองค์เจ้าจึงเทศนาถึงเรื่อง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร นี่แหละเรื่องเป็นมาอย่างนี้ วันนี้แหละ คล้ายกับวันนี้แหละ ที่วันพระองค์จะเทศนา

เหตุนั้นเราจึงระลึกถึงพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกที่พระองค์เจ้าตรัสรู้ การระลึกถึงนี้ถึงหากเราไม่ไปเห็น อย่างเค้าไปอินเดีย เค้าไปเห็นที่พระองค์เจ้าตรัสรู้ ครั้นผู้หากระลึกคิดถึงพระพุทธเจ้าแล้ว คำว่าระลึกคิดถึงนั่นน่ะก็ปรากฏเหมือนกับพระพุทธเจ้ายังเทศนาปรากฏอยู่ในที่นั้น เสียงแว้วๆปรากฏอยู่ในหู เกิดปลื้มปีติ เกิดอิ่มอกอิ่มใจ ปราโมทย์ขึ้นมา ได้ปสาธะศรัทธาเลื่อมใสเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ เราไม่ได้ไป ผู้ที่ไม่ได้ไป ก็ระลึกถึงวันนั้นแหละ ระลึกถึงอย่างนั้นแหละ อย่างวันนี้แหละคล้ายกับวันพระพุทธเจ้าตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร กัณฑ์แรกหละ เราเกิดความพอใจ ปลื้มปีติขึ้น มันก็เป็นบุญกุศลเหมือนกัน มันไม่ต้องเสียเงินเสียทองมาก

คราวนี้จะเทศนาธัมมจักรให้ฟัง เอาย่นย่อ ธรรมเทศนาที่พระองค์จะเทศนานั้น ใจความก็ไม่มีอะไรหรอก อริยสัจ ๔ เนี่ยแหละ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มีสี่อย่างเนี้ยพระองค์ก็เทศนาทั้งหมด แต่ว่าพระองค์เทศนานั่น เทศนาโดยอาการ ๔ เรียกว่าปริวัตร ๓ คืออาการ ๔ นั้นคือ ทุกข์หนึ่ง สมุทัย นิโรธ มรรค อันนี้ ๔ แต่ละอันๆ แต่ละอย่างๆนั้นมีปริวัตร ๓ คือหมายความถึงว่าทุกข์เป็นหนึ่งแล้ว เป็นของควรกำหนด นี่เป็นสอง เราได้กำหนดแล้ว นี่เป็นสาม 

ทุกข์นี่เขากำหนดอย่างไร ทุกคนมีอยู่ในตัวตนทุกคนแล้ว จึงว่าควรกำหนด ถ้าไม่กำหนดก็อย่างพวกเราๆทั้งหลายนี่แหละ ทุกข์ซักเท่าไรๆก็ไม่เห็น ไม่เคยเห็นทุกข์ในตัว เห็น ทุกข์แต่คนอื่น ถึงอาจทุกข์ในตัวก็เจ็บหนักพักใหญ่กระทั่งนอนเสื่อ อยู่กับเสื่อกับหมอนโน่นน่ะ เราค่อยจะเห็นทุกข์ แต่พอหายจากนั้นไปแล้วก็เลยละเลยมันซะ ไม่เห็นเป็นทุกข์ แต่พระองค์เจ้าพิจารณาจึงว่า ควร ท่านว่างั้น คำว่า ควร นี่ ไม่ใช่บังคับ มันเป็นการรำพึง เป็นคำรำพึง คำว่า ควร น่ะ ควรกำหนดด้วยแท้ คือว่าจะให้บังคับให้กำหนดก็ไม่ได้ จะใช้บังคับก็ไม่ได้ ต้องใช้คำว่า ควร คือเห็นด้วยตนเอง จึงเรียกว่าควรกำหนด ทุกข์เป็นของควรกำหนด 

ทุกข์คืออะไร ตั้งแต่เกิดมา ทุกคนเกิดอยู่ในท้องครรภ์มารดา ก็ทุกข์อยู่แล้ว แต่ว่าไม่รู้จักว่าทุกข์ ก็ลองคิดดูสิ เด็กนอนอยู่ในท้องมารดา มันนอนได้ท่าเดียวกี่เดือนมาแล้ว เจ็ดแปดเดือนมาแล้ว จะไม่ทุกข์ได้ยังไง๊ ถ้าหากพวกเราลองดู ไปนอนอยู่นี้ลองดู มันจะนอนได้หรือ นั้นจึงว่ามันเป็นทุกข์ คลอดออกมาก็เป็นทุกข์ เติบโตมาก็เป็นทุกข์ จนทุกวันนี้ก็เป็นทุกข์ เรานั่งอยู่ก็เป็นทุกข์ นอนอยู่ก็เป็นทุกข์ ยืนก็เป็นทุกข์ เดินก็เป็นทุกข์ จึงว่าเป็นของควรกำหนดโดยแท้ แต่เราไม่คิด ไม่คำนึงถึง จึงค่อยประมาทมัวเมา ทุกข์คือของกำหนดอย่างนี้ แต่ว่าเราละเลยเสีย จึงประมาท 

พระพุทธเจ้าว่าพระองค์ได้ทำมาแล้ว เรียกว่าทุกข์ พระองค์ก็ควรกำหนด  มันเป็นอันหนึ่ง พระองค์ได้กำหนดแล้วคราวนี้ กำหนดแล้วเรียบร้อยแล้ว คือว่ากำหนดแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นทุกข์อย่างนั้น ชัดเจนแจ่มแจ้งทุกเมื่อ เห็นแจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง ถึงแม้จะมีทุกข์เกิดขึ้นมา พระองค์เจ้าก็อยู่ด้วยความพิจารณา อยู่ในปัญญาวิปัสสนาของพระองค์ ใครๆก็ทุกข์ทุกคน ไม่มีใครจะเหลือหลอ ทุกข์อันนี้ของโลกทันเป็นอยู่อย่างนั้น พระองค์จึงว่าเกิดขึ้นมาแล้ว มีแต่ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้นมาแล้ว จนดับไป ทุกข์นั้นดับไป ทุกข์อื่นเกิดขึ้นมาอีก แล้วทุกข์นั้นก็ดับไป มันดับไปด้วยการอันใด คือนั่งมันทุกข์ แล้วคราวนี้ก็เปลี่ยนอิริยาบถ ก็ค่อยเบาบางไปนิดหน่อย อันทุกข์นั่งมันหายดับไป พอยืน ทุกข์นั้นกลับขึ้นมาอีก จะไม่ใช่ทุกข์นั่ง ทุกข์ยืน พอยืนแล้วมันเหนื่อยก็เดินไปอีก ก้าวไปอีก  ทุกข์ยืนนั้นหายไป แล้วก็ทุกข์เดินนั้นกลับมาอีก อย่างนี้แหละ เวียนไปเวียนมาทั้งอิริยาบถทั้ง ๔ อยู่ตลอดเวลา นี่พระองค์ได้กำหนดแล้ว ทุกข์เป็นของกำหนด เราได้กำหนดแล้ว นี่จึงเรียกว่าอาการสาม

สมุทัยแล้วคราวนี้ สมุทัยนั้นคือเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรก็ตามเถอะ มันมีเหตุ มันก็เลยเป็นทุกข์ มีเหตุมีผลทั้งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุมีผลทั้งนั้น ในโลกนี้มีเหตุมีผลด้วยกันทั้งนั้น พระองค์จะตามสืบสวนหาเหตุของทุกข์ คือตัวสมุทัย อย่างเราต้องการอยากได้อยากดี อยากมีอยากเป็น เราก็ขวนขวายหา ขวนขวายหานั้นก็ต้องเดือดร้อนเป็นทุกข์ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง เศร้าโศกเสียใจ เดือดร้อนวุ่นวาย อันนั้นเรียกว่ามันประสบ เรียกว่าเหตุให้เกิดทุกข์คือความอยาก พระองค์เรียกว่าตัณหา ๓ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ไม่นอกเหนือจากสามประการนี้ คนเกิดขึ้นมา เกิดมาอยู่ในกาม เกิดด้วยกาม ติดกาม นอนอยู่ในกาม นั่งอยู่ในกาม คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไม่หนีจากหนีทั้งนั้น ผู้ใดเกิดมาต้องวุ่นอยู่กับของอันนี้แหละ เดือดร้อนอยู่กับของพวกนี้แหละ เรียกว่าตัณหา คือว่ามันข้อง มันติด ไปไม่หลุด ไปไม่พ้น เรียกว่าตัณหา ๓ กามตัณหา 

ภวตัณหา ความอยากเป็น อยากมี อยากอะไรต่างๆ ความอยากนั้นเรียกว่าภวตัณหา วิภวตัณหา ความไม่อยากเป็นก็เดือดร้อนเป็นทุกข์อยู่เหมือนกัน ไม่ใช่อยากเป็นค่อยเดือดร้อน ความไม่อยากเป็นอยากมีมันก็เดือดร้อนอีกเหมือนกัน ไม่พ้นจากนี้ ท่านเรียกว่าสมุทัยเป็นของควรละควรทิ้งเราได้ทิ้งแล้ว สมุทัยเป็นของละได้ ทุกข์ละไม่ได้ ถึงพระองค์เจ้าจะพิจารณาเห็นทุกข์ก็ละไม่ได้ เหมือนกับเราทั้งหลายนี่แหละมันก็มีอยู่อย่างนั้น ติดตัวอยู่อย่างนั้น ถ้าหากว่ามีรูปกายนี้ตราบใด มันก็ต้องมีติดอยู่ตราบนั้น พระองค์เจ้าไม่เป็นทุกข์เพราะเหตุที่เห็นเป็นทุกข์ ที่พระองค์ได้กำหนด(ทุกข์)แล้ว ท่านบอกว่าได้กำหนดแล้ว สมุทัยเป็นของควรละ เราได้ละแล้ว สมุทัยเป็นของควรละหนึ่ง เราได้ละแล้วหนึ่ง สมุทัยหนึ่ง เป็นของควรละ เราได้ละแล้ว เป็นสามเหมือนกัน อย่างความอยาก ลองดู ลองคิดดูก็แล้วกัน เราอยากได้โน่นอยากอันนี้ สละไป เราไม่เอาแล้ว ทิ้งเลย ปล่อยวางเลย สละได้จริงๆ นั่นน่ะสมุทัยเป็นของควรละ เราละแล้ว 

นิโรธเป็นของควรทำให้แจ้ง เราทำให้แจ้งแล้ว คำว่านิโรธนั้นคือความดับทุกข์ เมื่อเราเห็นตัวสมุทัย เราละสมุทัย มันก็เป็นอันว่านิโรธเป็นของควรทำให้แจ้ง เราทำให้แจ้งแล้ว เมื่อละสมุทัยมันก็เป็นนิโรธนั่นเอง

มรรคเป็นของควรเจริญ เราได้เจริญแล้ว มรรคนั้นคือสัมมาทิฐิเป็นตัวแรก สัมมาทิฐิตัวเดียวเท่านั้นแหละ เป็นมรรค ๘ เลย ถ้าความเห็นชอบแล้วนั่น ก็เป็นว่าถูกทั้ง ๘ อย่าง ท่านจึงว่า มรรคทั้ง ๘ มันรวมอันเดียวกัน รวมออกเป็นหนึ่ง ถ้าจิตรวมลงไปเป็นหนึ่งแล้ว มรรค ๘ ตัวเดียวนั่นแหละที่จะทำจิตให้เป็นหนึ่ง เพราะสัมมาทิฐิคือความเห็นชอบ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต รวมกันหมด สัมมาด้วยกันทั้งนั้น อะไรๆหมดรวมในที่เดียว ท่านเรียกว่า ปริวัตร ๓​ อาการ ๑๒ คือมี ๔ แล้วก็แต่ละอันๆนั่นมีปริวัตร ๓ จึงรวมเป็น ๑๒ 

ปริวัตร ๓ อาการ ๑๒ นี้รวมเป็นธรรมในขณะเดียว ธรรมในจิตในขณะเดียวท่านว่าอย่างนั้น ไม่ต้องทำมันทุกข์แล้ว สมุทัย นิโรธ มรรค ไม่ต้องไปทำมัน รวมเห็นในขณะเดียวเลย ยากอยู่กับคนที่เราไม่ได้พิจารณา พูดยากที่จะเข้าใจ ถ้าพูดกันง่ายๆว่า อย่างว่าเราเห็นทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์แล้ว ไอ้ความเห็นทุกข์นั้นน่ะเป็นสัมมาทิฐิแล้วน่ะ เห็นทุกข์นั่นน่ะ เรียกว่าละสมุทัยแล้ว มันเป็นนิโรธ ละสมุทัยมาเป็นนิโรธ คำที่เห็นชอบตัวเดียวนั่นน่ะ เลยเป็นอันเดียวกันหมด จึงว่าทำจิตในขณะเดียวกัน 

นี่หละที่ท่านเทศนาถึงเรื่องอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ในปัญจวัคคีย์นั้น มีเนื้อความรวบรวมลงเพียงแค่นี้ เพราะฉะนั้นวันนี้เรามาได้ฟัง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโดยย่อๆ ให้น้อมเข้ามาพิจารณาในตัวของเรานี้ อย่าได้ส่งออกไปหาคนอื่น สิ่งอื่นภายนอกจากตัวของเรา ทุกข์ก็อยู่ในตัวของเรานี้ สมุทัยก็อยู่ในตัวของเรานี้ นิโรธก็อยู่ในตัวของเรานี้ มรรคก็อยู่ในตัวของเรานี้ อยู่ในนี้หละหมดเรื่อง

พระพุทธศาสนาสอนให้เข้ามาในที่นี้ ไม่ได้สอนออกไปนอก สอนออกไปกว้างขวางไปนอกนั้นไม่ใช่พระพุทธศาสนา มันเป็นโลก ครั้นสอนธรรม สอนพุทธศาสนาต้องสอนเข้ามาที่นี่ทั้งหมด อันเมื่อเราเห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว เราเป็นผู้ถึงซึ่งธรรมะคำสอนพระพุทธเจ้าแล้ว พระอัญญาโกณฑัญญะ พระองค์ทรงแสดงว่า รู้แล้ว อัญญาโกณฑัญญะ รู้แล้ว เห็นธรรมแล้ว เห็นคืออะไร ธัมมจักขุง คือว่า ดวงตาเห็นธรรม คือว่าเห็นภายนอกภายใน ภายนอกนั้นเห็นด้วยตาอย่างที่เล่าใหัฟังนี่แหละ ตัวของเราเป็นก้อนทุกข์ เรียกว่าเห็นด้วยตา ถ้าเห็นด้วยตาแล้วก็ทั้งภายในใจก็เห็นชัดด้วยใจ นั่นเรียกว่าเห็นภายนอกภายใน พระอัญญาโกณฑัญญะ ธัมมะจักจุง อุทะปาทิ เกิดขึ้นแล้วความรู้อันนั้น เห็นชัดขึ้นมาด้วยตนเองแล้ว 

แล้วก็ ปัญญาอุทะปาทิ คราวนี้ ปัญญารู้รอบรู้ทั่วหมดทุกสิ่งทุกอย่าง วิชชาอุทะปาทิ รู้แจ้งเห็นจริงทุกประการ อันเดียวกันนั่นแหละ ธัมมะจักขุงก็อันเดียวกันนั่นแหละ ปัญญาก็อันเดียวกัน วิชชาก็อันเดียวกัน อาโลโก ไม่มีเครื่องปกปิดในโลกอันนี้ จะปกปิดอะไรอีก ตัวของเราก็เป็นอย่างนั้น ตัวคนอื่นก็เป็นอย่างนั้น ใครๆทั้งหมดก็เป็นอย่างนั้น มันจะปกปิดที่ไหน มันก็เห็นหมดน่ะสิ จะว่าอาโลโก อุทะปาทิ แต่ว่าไม่มีโลก คือว่ามันเป็นธรรมทั้งหมด เห็นแจ้งประจักษ์ด้วยกันทั้งหมด 

เราพากันฟังเทศน์ฟังธรรม มีอะไรบ้างก็เห็น เห็นกับท่านพอลางๆบ้างมั้ย ชัดเจนในใจของเราบ้างมั้ย ให้ส่องเข้ามาภายใน อันเมื่อว่าเห็นในใจของตน รู้แจังในใจของตน อย่างที่อธิบายมานี้ แล้วจงพากันรักษาความสงบ อบรมสมาธิอันนั้นให้แน่นหนา แล้วจงใช้ปัญญาอันนั้นหละ ไม่ใช่ปัญญาอันอื่นหรอก ปัญญาที่เกิดนั่นแหละ เกิดจากอันนั้นหละ อย่าไปเห็นอื่นเลย เห็นเทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม เห็นสวรรค์ เห็นนิพพาน อย่าไปเห็นมันเล้ย ของที่เห็นไม่ใช่ตัวของเรา มาเห็นตัวของเรานี่ อย่างที่อธิบายให้ฟังนี่ชัดเจน ให้รักษาอันนั้นไว้ เนี่ยที่แสดงมาก็สมควรด้วยกาลเวลา ด้วยประการะฉะนี้

(เทศนาต่อหลังจบเทศน์) 

หายาก ที่จะได้มาอย่างนี้ มาพร้อมเพรียง มาฟังเทศน์ฟังธรรม นี่หายาก ไหนๆก็เลยทำความดีแล้วก็จงทำดีต่อไป อุตสาหะวิริยะพากเพียร เอาให้ถึงที่สุดตามความสามารถของเรา จงนั่งภาวนานั้นอีกต่อไป ใครจะภาวนาอะไรก็เอาเถอะ ไม่ว่าหรอก บริกรรมเบื้องต้น จะเอาสัมมาอรหัง หรือว่าจะเอาอานาปานสติ จะเอายุบหนอ พองหนอก็ตามใจ เอาตามชอบใจ คือว่าหัดเบื้องต้นให้มันชำนิชำนาญ ทางไหนก็เอาทางนั้นแหละ เมื่อจิตมันรวมเป็นสมาธิแล้ว มันวางเองหรอก คำบริกรรม 

คำบริกรรมเป็นเพียงเครื่องล่อเครื่องปล่อย เครื่องล่อให้จิตเข้ามาอยู่ในบริกรรมเท่านั้นแหละ ถ้าหากไปยึดเอาคำบริกรรมนั้นถ่ายเดียว ไม่รู้เรื่องของจิต จิตไปอยู่นั่นก็เลยไปเข้าใจว่ามันเป็นจิตนั่นน่ะ ไปนึกแต่บริกรรมอันนั้นอยู่ ไม่แล้วซักที จิตมันก็เลยไม่รวมเป็นสมาธิ 

บางคนนะเข้าใจว่าเมื่อจิตรวมเป็นสมาธิแน่วแน่เต็มที่แล้ว มันวางคำบริกรรมแล้ว เลยหาว่าเสื่อมจากสมาธิ สมาธิถอนแล้ว มันไม่ใช่ ความเป็นจริงจิตมันรวมแล้ว มันวางหมดทุกสิ่งทุกอย่าง แต่คำบริกรรมก็วางทอดธุระกันไป อันนั้นมันเข้าถึงจิตแล้ว ให้กำหนดเอาจิตนั้นจึงจะถูก 

มันมีสามอย่าง อย่างนึงนั้น เมื่อรวมมาอยู่ในคำบริกรรม ไปยึดเอาคำบริกรรมนั้น บางคนเจ็บหัวปวดสมอง อันนั้นก็เลยมันไปยึดเอานั่น ไปยึดอันเดียว บางทีไปยึดเอาคำบริกรรมเอาไว้ที่หัวใจนั่นน่ะ กำหนดเอาที่หัวใจหรือที่ปลายจมูกอยู่ที่นั้นน่ะ ไปกำหนดไว้ที่นั้นแห่งเดียว เมื่อจิตมันรวมไปแล้ว เจ็บหัวใจก็มี เจ็บปลายจมูกก็มี นั่นน่ะไปยึดเอาอันนั้น อย่างนึงนั้น มันรวมลงไปแล้ว มันวางทอดธุระ ปล่อยวางหมดทุกสิ่งทุกอย่าง มันว่าง มันสบาย ให้เอาความว่างอันนั้นเป็นเครื่องอยู่ ให้พิจารณาความว่างนั้นเป็นเครื่องอยู่ ให้อยู่ตลอดเวลา อย่าไปอยากรู้อยากเห็น อย่าไปอยากเห็นโน่นเห็นนี่อะไรต่างๆ เลยจิตถอนอีกหละ ให้เอาความว่างนั้นอยู่ซะก่อน อยู่นานๆ ไม่ใช่อยู่วันสองวันนะ อยู่ตั้งเป็นปี พอเข้าปีสองปีให้เข้าอยู่ตรงนั้นเสียก่อน

เมื่อพิจารณาความว่างให้เข้าถึงจิตเดิม ของเก่าจิตเดิม ความว่างอันนั้นไม่มีอะไรหรอก อาตมาเคยพูดถึงเรื่องจิตกับใจ มันคนละอย่างกัน จิตอันหนึ่ง ใจอันหนึ่ง แต่ท่านก็พูดว่าเหมือนกันนั่นแหละ จิตอันใดใจอันนั้น ใจอันใดจิตอันนั้น แต่ทำไมจึงเรียกจิตเรียกใจ ทำไมจึงไม่เรียกอันเดียวกัน มันคงมีแตกต่างกันอยู่ อาตมาจะอธิบายให้ฟังถึงเรื่องความแตกต่างของจิตของใจ 

ใจเป็นผู้วางเฉยอยู่ ที่เรียกว่า จิตตัง ปภัสสรัง อาคันตุเก หิกิเลเสหิ  จิตเป็นของเลื่อมใสปภัสสรอยู่ตลอดเวลา บางคนว่าจิตเป็นของเลื่อมใสปภัสสรอยู่ตลอดเวลา ทำไมถึงต้องชำระ มันยังไม่ทันผ่องใสเต็มที่ มันผ่องใสด้วยเพียงจิตเท่านั้น ไม่ใช่ปัญญา ปัญญามันอีกต่างหาก ทำใจให้ผ่องใสต้องใช้ปัญญาด้วยสิ เหมือนกับเพชรนิลจินดาที่เขาเอามาได้ เป็นของใสจริงๆนั่นหละ แต่มันมีเศร้าหมองอยู่ ต่อเมื่อเจียระไนซะให้มันละเอียดลงไป มันจึงค่อยผ่องใสเต็มที่ อันนั้นแหละฉันใดใจก็อย่างนั้นเหมือนกัน ใจนั้นน่ะ ผ่องใสสะอาดอยู่ตลอดเวลา อาคันตุกะกิเลสน่ะคือจิตนั่นเอง ไปเกาะเกี่ยวพัวพัน เอาสิ่งอารมณ์ทั้งปวงหมด เอามามัวหมองของใจ 

เหตุนั้นจึงว่าใจคือของกลาง อย่างที่เราเรียกว่ากลาง ใจมือก็กลาง ใจเท้าก็กลาง ใจอะไร ใจไม้ ใจอะไร ตรงกลางทั้งนั้นแหละ แม้แต่ใจคน หัวใจตรงไหน ชี้เข้ามาท่ามกลางอกก็เรียกว่าใจ คือแสดงถึงเรื่องของกลางนั้นเอง เรียกว่าใจ ว่าใจ ใจไม่ใช่อยู่ที่หัวใจอย่างเดียว อยู่ทั่วไปหมดทั้งร่างกาย ตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้า มันอยู่ทั่วหมด มันไม่อยู่ที่เก่าหรอก มันรู้สึกตรงไหนก็มีใจตรงนั้น เห็นมั้ยใจตรงกลางตัวนี้นะ ไม่เป็นบุญเป็นบาป เป็นของเฉยๆ ไม่มีอดีต อนาคต อยู่เป็นปัจจุบัน ถ้าอยากจะรู้จักใจตัวนี้จริง เราเอากลั้นลมหายใจลองดูก็ได้ กลั้นเดี๋ยวนี้ก็ได้ กลั้นลมซักพักนึงเท่านั้นน่ะ ในขณะนั้นไม่มีอะไร มันเฉย เพียงแต่รู้ว่าเฉย แต่ไม่คิดไม่นึกไม่ปรุงไม่แต่ง (เทปจบ)