Skip to content

ตามดูรู้ทันความเคลื่อนไหวของจิต

หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

| PDF | YouTube | AnyFlip |

แต่นี้ต่อไป ถึงเวลาพวกเราท่านทั้งหลาย ทั้งภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา ได้พากันตั้งจิตตั้งใจประพฤติปฏิบัติฝึกหัดตนเอง เพื่อให้เดินตามรอยพระยุคลบาทของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามกำลังสติปัญญาความสามารถของตน ผลก็จะได้รับตามการประพฤติปฏิบัติของตน เหตุฉะนั้นการฝึกฝนอบรมตน พัฒนาตนเอง หรือพัฒนาจิตใจของตนเองนั้น จึงเป็นข้อสำคัญในทางพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเราท่านทั้งหลาย แต่เทศนาแนะนำสั่งสอนให้ฝึกฝนอบรมตน ดูตนเอง ฝึกฝนตนเองไม่ใช่คิดจะฝึกฝนอบรมบุคคลอื่น 

การฟังเทศน์ก็เหมือนกัน ให้ผู้เทศน์นี่เทศน์ให้เฉพาะตน เพื่อจะได้กำหนดจดจำ นำไปประพฤติปฏิบัติ สมกับพวกเราท่านทั้งหลายเป็นนักปฏิบัติที่เขาใส่ชื่อให้ว่านักกรรมฐาน คำว่าฐานก็เป็นที่ตั้ง กรรมะก็แปลว่ากรรม เพื่อหาที่ตั้ง คำว่าหาที่ตั้งให้เป็นหลักเป็นแหล่งให้หนักแน่นมั่นคง ก็คือการฝึกฝนอบรมตนให้เป็นผู้มีคุณงามความดี เพื่อให้มีที่พึ่งของตน ให้มีที่พึ่งของจิตใจของตนนั้นเพื่อให้จิตใจของเรานี้หนักแน่นมั่นคง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน รั่วไหลไปตามกระแสของอารมณ์ทั้งหลาย

เหตุฉะนั้นการที่ฝึกฝนอบรมจิตใจของตน จึงเป็นหน้าที่แก่ทุกท่านทุกองค์ และคณะศรัทธาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย การฝึกฝนอบรมจิตใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากพวกเราไม่ขวนขวาย ไม่ประโยค ไม่พยายาม ไม่ใส่ความพากเพียรพยายามจริงๆแล้ว ผลก็จะไม่ได้ เหตุฉะนั้นหากเรามีความพากเพียรอยู่ ไม่ถือเวลาใดก็ดี เรามีความพากความเพียรพยายามใส่สติปัญญาตรวจตราดูตนเอง มองซ้ายแลขวา ทั้งการยืน เดิน นั่ง นอน ของเรา ให้การคิดขึ้นมาในจิตในใจของพวกเราเพื่อจะให้รู้ในความเคลื่อนไหวไปมาและกิริยาท่าทางต่างๆของตนเอง ก็อาศัยซึ่งการฝึกฝนอบรมสติให้ระลึกได้รวดเร็วและสัมปะชัญญะ ความรู้ตัวให้รวดเร็วเพื่อใช้เท่าทันกับเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวของจิตใจไปตามอารมณ์ต่างๆนั้น 

ข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าหากพวกเรายังไม่มีสติปัญญาทันกับความเคลื่อนไหวของจิตใจของตนแล้ว ก็ต้องติดตาม ตามรู้ตามเห็น ตามความเคลื่อนไหวของจิตใจไปอยู่ ก็เรียกว่ารู้ตามหลังเค้าอยู่ตลอด เหตุฉะนั้นอาการที่เรารู้ตามหลังของจิตใจอยู่ ก็ไม่รู้เท่ารู้ทันซักที แล้วก็ไม่รู้สิ่งที่จิตใจนั้นไปตามอารมณ์นั้นๆได้ ถ้าพวกเราท่านทั้งหลายขวนขวายอยู่แล้ว ก็ไม่ว่าบุคคลใด ภิกษุสามเณรองค์ใด ญาติโยมคนไหนก็สามารถจะเข้าจิตเข้าใจได้ รู้จิตใจของตนเองไปตามอารมณ์ได้ 

ถ้าหากพวกเราท่านทั้งหลายยังไม่สามารถที่จะติดตามจิตใจของตนเองได้ ก็อย่าไปทำให้มีความวุ่นวายเกิดขึ้น เมื่อเรายืนอยู่ก็ดี เมื่อเรามองดูก็ยังไม่รู้เท่ารู้ทัน ก็ไม่ต้องหวั่นไหว เราเดินไปก็ดี ถ้าเราดูจิตใจของเราอยู่ แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะตามจิตใจให้รู้เท่ารู้ทันได้ ก็ไม่ต้องหวั่นไหวอะไร ให้เรานั่งทำสมาธิอยู่ก็ดี หรือนั่งอยู่ธรรมดา มาน้อมนึกมาพินิจพิจารณาว่าใจของเราอยู่ที่ไหน เราก็ใช้สติปัญญาดูอยู่ ถ้าหากยังไม่รู้ว่าจิตใจของเราอยู่ที่ไหน เราก็เสาะแสวงหาติดตามเพื่อจะให้เรารู้ว่าจิตใจของเรานั้นอยู่กับอะไร คิดอยู่ที่ไหน นิ่งไปอยู่ที่ไหน ถ้าหากยังไม่รู้ก็ต้องขวนขวายอยู่นั่นเอง ก็จะให้รู้ว่าจิตใจคืออะไร ไปอยู่กับอารมณ์ที่ไหน กับสิ่งใด 

เวลานอนก็เหมือนกัน เราควรที่จะกำหนดรู้ดูจิตใจของตนเองอยู่ นอนก็ไม่เป็นไร แต่ดูจิตใจอยู่ว่าจิตใจอยู่ที่ไหน อยู่กับตนกับตัวมั้ย อยู่ในสถานที่เราตั้งไว้มั้ย อันนี้เป็นหน้าที่ของพวกเราจะทำด้วยตนเอง การทำด้วยตนเองก็คือฝึกสติสัมปะชัญญะนั่นเอง ดูจนมันหลับไป เรานอนอยู่ ตื่นขึ้นมาก็รีบดูจิตใจของตนเอง ให้ปลุกตนเองให้ตื่นขึ้น หรือลุกขึ้นนั่งทำสมาธิ เมื่อลุกขึ้นมาได้แล้ว เรียกว่าบุคคลนั้นมีความเพียรอยู่เนืองนิจ ฝึกจิตใจของตนเองอยู่เนืองนิจ 

ถ้าหากเรามีความเพียรอยู่เนืองนิจติดกันเป็นอยู่ตลอดไม่ขาดสายแล้ว ไม่วันใดวันหนึ่งเราก็จะสามารถติดตามจิตใจของเราได้ ไม่เหลือวิสัยแก่บุคคลที่มีความเพียร ความขวนขวายอยู่ กระทำอยู่ บุคคลที่ทำความเพียรอยู่อย่างนี้เอง เรียกว่าบุคคลไม่ประมาท ถ้าหากเราไม่ประมาทแล้วความเพียรก็ย่อมแก่กล้าขึ้นมาได้ แต่หากบุคคลทั้งหลายนั้น ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาก็ตาม ถ้าหากมีความประมาทไม่ได้พิจารณาบ่อยๆ ถ้าไม่พิจารณาบ่อยๆ ก็ควรที่จะพิจารณาถึงมรณานุสติ ให้ระลึกถึงความตายว่าอยู่ใกล้ตน เดี๋ยวก็คนนั้นคนนี้ กายนี้จากพวกเราไป แม้ครูบาอาจารย์ก็ดีบวชอยู่ในพระพุทธศาสนา ท่านก็มรณภาพไปเรื่อยๆอยู่อย่างนั้น เราควรที่จะน้อมเข้ามาดูตนเองด้วย แหม อุบาสก อุบาสิกา และศรัทธาญาติโยมก็เหมือนกัน เดี๋ยวก็คนนั้น เดี๋ยวก็คนนี้ หนีจากพวกเราไปอยู่ตลอด มันก็ปรากฏให้เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่า เกิดขึ้นมานั้นแล้วก็ต้องตายเป็นที่สุด 

เมื่อหากเราพิจารณามรณานุสติอย่างนี้ หากเราตายไป เราจะมีความดีอะไรบ้าง ติดตามจิตตวิญญาณของเราไปสู่ภพใหม่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่พวกเราจะได้พากันพิจารณา ถ้าหากเราไม่มีอะไร ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง ไม่มีที่พึ่งมันก็จะได้รับผลอะไร เดี๋ยวมันจะมีจิตใจวุ่นวาย กระสับกระส่ายไปในทางที่ไม่ดี ทางที่ทุกข์เกิดขึ้น นี่ก็เหมือนบุคคลไม่มีที่พึ่ง เราเปรียบเทียบเหมือนจอกเหมือนแหนก็เหมือนกัน จอกแหนล่องลอยอยู่ตามแม่น้ำ น้ำพัดพาไปทางใดก็ไปตามกระแสน้ำอยู่ตลอด ไม่มีที่อยู่ที่พึ่ง ถ้าไม่มีที่อยู่ที่พึ่งก็ต้องไปเรื่อยๆอยู่ วนเวียนไปเรื่อยๆอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด 

เหตุฉะนั้น จิตใจของพวกเราท่านทั้งหลายก็เหมือนกัน ถ้าหากไม่มีที่พึ่งที่เกาะ ที่ยึดที่เหนื่อย ที่ตั้งแล้ว จิตใจก็ย่อมเลื่อนลอยอยู่ตลอด ไม่มีที่พึ่ง จิตที่ไม่มีที่พึ่งจิตก็ย่อมวุ่นวายและมีความทุกข์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราทุกคนจึงคิดพากันเพื่อหาที่พึ่ง การฝึกฝนอบรมจิตใจให้ได้ที่พึ่ง ให้ได้สงบ ให้มีความสุขนั้น ก็อาศัยซึ่งเราทำความเพียรแต่ละครั้ง ขอให้คิดเหมือนกับเรานี่อยู่คนเดียว อยู่ที่ไหนก็ให้เหมือนอยู่คนเดียวหมด อย่าไปคิดว่ามีเพื่อนมีฝูงอยู่ด้วย เราอยู่กุฏิวิหารศาลาที่ไหน ร่มไม้ที่ใดก็ดี หรือนั่งรถนั่งเรืออยู่ ภาวนาอยู่ที่ไหน ญาติโยมอยู่ที่บ้านที่ช่องก็ดี หรืออยู่ในวัดในวา ที่พักของตนเอง เวลาทำความเพียร ทำให้เหมือนอยู่คนเดียว อย่าให้เหมือนกับหมู่กับฝูง เหมือนอยู่คนเดียวแล้วเราจึงมาดูจิตใจของเราได้ เพื่อให้จิตใจของเราดูอยู่โดดเดี่ยว ให้อยู่โดดเดี่ยว ไม่อยู่ยุ่งกับอารมณ์ทั้งหลาย เมื่อเราทำสมาธิครั้งใด เราไม่ต้องยุ่งกับสิ่งอะไรทั้งนั้น 

ถ้าเราอยากเห็นจิตใจของเรา เรากลั้นลมหายใจลองดูว่า ไม่หายใจซักนิด ลองดู เราจะเห็นความอึดอัดแล้วมองเห็นจิตใจได้ง่ายๆ ว่าจิตใจนั้นเมื่อไม่หายใจ มันกลัวตาย มันก็ต้องแสดงอาการของมัน แล้วก็เอาสติปัญญาของเรามองดูเห็นว่าจิตใจมีความอึดอัดด้วยอย่างนี้ ตั้งอยู่ที่นี้ มันก็จะรู้ทันทีเลย ว่าเราตั้งสติปัญญาดู ก็เห็นจิตใจได้ เรียกว่าเข้ามองเข้าไปเห็นจิตใจ 

เมื่อเห็นจิตใจแล้วเราก็ต้องดู ดูจิตใจของพวกเรานั้น มันจะวิ่งออกไปที่ไหน เราควรที่จะกำหนดไม่ให้ออกจากร่างกายของเรา คือในสถานที่ใดที่หนึ่ง ให้อยู่ที่นั่นเอง หากจิตของเราอยู่ในสถานที่เราตั้งเอาไว้ ตั้งไว้จุดใดจุดหนึ่งแล้ว เราก็จะมองเข้าไปดูจิตใจของเราได้ว่ามันอยู่จริงๆมั้ย หรือมันออกไปภายนอกอยู่ มันตั้งอยู่ในสถานที่เราให้มันคิดอยู่นั่นมั้ย เราควรที่จะเข้าใจด้วยตนเอง เป็นผู้ดู ผู้ดูผู้คอยดูแลอยู่ สอดส่องมองดูอยู่ มันก็จะรู้ได้ รู้จิตใจได้ว่าจิตใจมันอยู่ ถ้าไม่อยู่มันก็รู้ อยู่มันก็รู้เข้าใจ 

ถ้ามันอยู่แล้วมันสงบอย่างไร มันมีความสุขอย่างใดบ้าง หรือมันเบาๆสบาย มันนิ่งสงบอยู่ มันก็น่าที่เราจะรู้ได้ คนอื่นไม่รู้กับเรา เราย่อมรู้ด้วยตนเองได้ ว่าจิตใจของเราสงบอยู่กับอารมณ์อย่างไร และมีความสุขอย่างไรก็เป็นหน้าที่ของตนจะรู้ได้ ไม่มีคนอื่นจะรู้อีกเหมือนกัน เหตุฉะนั้นพระพุทธองค์จึงทรงตรัสไว้ว่า วิญญูชนรู้ด้วยเฉพาะตนเอง เหมือนเราหนาว เรารู้ว่ามันหนาว เราก็รู้ด้วยตนเองว่ามันหนาวอย่างไร มันร้อน เราก็รู้ว่ามันร้อนอย่างไร มันหิว มันกระหาย มันมีความทุกข์ มันก็รู้ด้วยตนเองทั้งนั้น ถ้าจิตของเรามีความสุข มันก็ย่อมรู้เหมือนกันทั้งนั้น มันโดยเฉพาะของตนเอง เมื่อจิตของเรานิ่งเฉยๆมันก็ย่อมรู้ ว่าจิตของเราอยู่เฉยๆ มันก็รู้ด้วยเฉพาะตนเอง มันเป็นสิ่งที่จะทำให้เรารู้ด้วยตนเองนั้น 

เราก็พากันอาศัยซึ่งสติปัญญาเท่านั้น จะสามารถดูจิตใจของเราได้ ให้เข้าถึงเป้าหมายที่เราต้องการว่าดูจิตใจ ถ้าหากเรายังไม่รู้จักการดูจิตใจของตนเองแล้ว มันก็ไม่เข้าใจว่า จิตของเรามันคิดอยู่กับอะไร แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ต้องมีความวุ่นวายอะไร ทำให้จิตใจของเรานั้นมันยังคุมไม่อยู่ตามความมุ่งหมายของพวกเรา เราไปอยู่ที่ไหน เราก็คุมยังไม่ได้ ก็ไม่ต้องวุ่นวาย ค่อยๆใส่ความพากเพียรพยายามอยู่นั่นแหละ 

เราจะตั้งจิตของเราไว้ที่ไหน รวมเอาไว้ที่ไหน แล้วแต่ความสะดวก หรือความสบาย เพราะกรรมฐานทั้งหลายนั้น เราจะเรียกใช้ได้ ใครจะใช้อะไร แต่หากเราใช้ถ้าหากใช้มรณานุสติกรรมฐานนี้ มันเป็นหน้าที่ของจิตใจของบุคคลที่ไม่สงบ จิตใจฟุ้งซ่าน รำคาญไม่หยุดไม่อยู่ไปอยู่ตลอดนั้น เป็นหน้าที่จะระลึกถึงมรณานุสติกรรมฐานนั้น ระลึกถึงความตาย ถ้าคิดว่ามันจะไปที่ไหนมันก็ต้องเท่าเดิม ไอ้ประเทศใดเมืองใดมันก็ตายได้เท่าเดิม ไม่มีปัญหาอะไรสังขารร่างกายอันนี้ ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว จิตมันก็หยุดอยู่ได้ ว่า เอ้อ อยู่ที่ไหนมันก็เหมือนกันหมดในโลกนี้ นี่มันคิดไปทำไม อันนี้มันก็สามารถที่จะจับจิตใจของเราได้ เอาไว้กับข้อธรรมกรรมฐาน 

ก่อนที่เราจะจับได้ มันจะหยุดนิ่งเสียก่อน ถ้าเรารู้ ถ้ามันหยุดนิ่งแล้วก็เอามาไว้กับข้อธรรมกรรมฐาน ข้อธรรมกรรมฐานเราจะเอาลมหายใจเข้าออกหรือจะเอาอะไร การเราระลึกถึงมรณานุสตินี้ มันไม่มีที่จะเอาตั้งไว้ที่ไหน ระลึกถึงแต่ว่ามันจะตายเท่านั้น เหตุฉะนั้นพระพุทธองค์จึงให้เอาอานาปานสติกรรมฐาน มีลมมันเข้ามันออก จะได้ดูลม เพื่อจะให้จิตของเรามาดูลม มาคิดอยู่กับลม รู้สึกว่าลมเข้าลมออกให้รู้ เพื่อจะให้จิตของเราอยู่กับลมนั้นเอง เพราะที่อื่นมันก็หายาก ที่เราเอามาตั้งไว้ เราจึงได้เอาลม ลมเพราะเป็นของที่เคลื่อนไหวไปมาอยู่ จึงอยากให้รู้ด้วยเป็นผู้มีสติปัญญาว่า เอ้อ รู้อยู่ 

คำว่ารู้ลมน่ะจะเปรียบเทียบเหมือนกับจิตของเรารู้ก็ว่าได้ แต่มันหายใจหายใจออก มันรู้ ถ้ามันรู้เมื่อไหร่ จิตใจมันก็อยู่ที่นั่นแหละ ไม่ไปที่ไหน ถ้ามันเผลอสติมันไปคิดเรื่องอื่น มันก็ทิ้งลมไป เหตุฉะนั้นเราควรจะหายใจให้สบายๆ อย่าไปบังคับ การฝึกฝนอบรมจิตใจอย่าไปบังคับ อยากให้มันอยู่เร็วๆ เดี๋ยวมันจะอึดอัด เดี๋ยวมันจะปวดศีรษะเกิดขึ้น เวียนหัวเกิดขึ้น บางบุคคลยังไม่เข้าใจในการประพฤติปฏิบัติเอาลมหายใจเข้าออก ก็จะบังคับจิตเลยทีเดียว บังคับลมด้วย ให้มันผ่อนลงไปด้วย เร็วๆด้วย เพื่ออยากให้จิตมันสงบเร็วๆ อย่างนี้มันก็เป็นอันตราย นี่ว่ามันจะปวดศีรษะ มันจะเกิดความวุ่นวาย จิตก็ยิ่งฟุ้งซ่านไป ไม่อยู่นั่นเอง 

เหตุฉะนั้นเราต้องค่อยทำ ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยฝึกฝนอบรมจิตใจของคนด้วยเป็นผู้มีสติปัญญาติดตามรู้ตามเห็นอยู่ตลอด เพื่ออยากให้มันอยู่นิ่งบ้าง ถ้าจิตของเรานิ่งอยู่ตามความหวังความปรารถนาของพวกเรา นั่นแหละจึงจะเป็นหน้าที่ของเราจะได้ฝึกจิตใจได้ ว่าอยู่ใต้อำนาจควบคุมของสติปัญญาแล้ว จะไปคิดที่ไหนไม่ให้ไป ให้อยู่ที่เดิม ไม่ต้องคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ไม่ต้องคิดไป ให้อยู่ที่นี้ ให้คิดอยู่ที่นี้ ให้สงบอยู่ที่นี้ ถ้าเราทำได้เสียก่อนจึงจะสามารถว่าตนเองนี้มีการคุ้มครองดูแลควบคุมจิตใจให้อยู่ใต้อำนาจ จะให้คิดอะไร จึงคิด ไม่ให้คิดก็ไม่ต้องคิด ข้อนี้แหละเป็นเรื่องที่สำคัญการฝึกฝนอบรมจิตใจของพวกเรา แต่พวกเราท่านทั้งหลายก็ไม่ต้องคิดวุ่นวายอะไร 

การที่บุคคลสร้างคุณงามความดี การฝึกฝนอบรมจิตใจของตนเองนี้เราไม่เลือกนอกพรรษา ในพรรษา ไม่เลือกกาลเลือกเวลาค่ำคืนดึกดื่น กลางวันก็ดี เราสามารถพากันทำได้ ไม่มีปัญหาอะไร บุคคลที่มีความเชื่อมั่นในการปฏิบัติแล้ว ก็ต้องไม่เลือกกาลเลือกเวลาเพราะธรรมะมันเป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลด้วยเวลา ถ้าบุคคลใดสามารถฝึกฝนอบรมจิตใจของตนเองได้ เวลาไหนเราก็เห็นจิตใจของเราสงบ เห็นความสุขเกิดขึ้นมาเมื่อนั้น เรียกว่ามันไม่มีกาลมีเวลา 

เหตุฉะนั้นการทำความเพียรของพวกเราท่านทั้งหลายก็เหมือนกัน นั่งเจริญเมตตาภาวนาของพวกเรา ก็ไม่ต้องเลือกกาลเลือกเวลาในทุกสมัยปัจจุบันนี้ หรือทุกวันนี้ เราจะเอาเวลาไหน ตอนเช้าหรือตอนเที่ยง ตอนบ่าย ค่ำคืนก็ดี เรามีหน้าที่จะทำได้ทั้งนั้น ไม่มีใครจะบังคับเรา ไม่มีใครจะมาฝึกฝนควบคุมเราตลอด เราควรที่จะควบคุมตนเอง ฝึกฝนอบรมตนเอง เพราะจุดมุ่งหมายของตนเองอยากฝึกฝนอบรมตนเองให้ดี ให้มีจิตสงบ จิตใจหนักแน่นมั่นคง จิตใจไม่วอกแวก ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ก็อยากให้จิตใจมันสงบ ครั้นจิตใจของเราสงบเราจะได้พบความสุขในการประพฤติปฏิบัติของเราด้านฝึกหัดจิตใจ เราจึงจะเห็นชัดว่า เอ จิตใจสงบนี่มีความสุข แต่เมื่อเราทำจิตใจของเรายังไม่สงบ เราก็ยังไม่เห็นความสุขนั้น ว่ามันสุขอย่างไร เพราะเรายังไม่ได้รับรส จิตใจของเรายังไม่สงบเป็นสมาธิให้เห็นความสุขเกิดขึ้นอยู่ในความสงบ 

เมื่อเราฝึกไปๆ จิตใจของเราสงบนั่นแหละ ก็จึงจะรู้เหตุว่าคือการกระทำผลที่ออกมาเป็นความสุขด้วยการประพฤติปฏิบัติได้ ถ้าบุคคลใดสามารถฝึกฝนอบรมจิตใจของตนเองได้ ให้สงบได้รวดเร็วตามความปรารถนาของตนเรียกว่าบุคคลนั้น หรือพระภิกษุสามเณรองค์นั้น สามารถมีสติปัญญาควบคุมจิตใจของตนให้อยู่ใต้อำนาจ อยู่ได้เป็นสมาธิได้สมความปรารถนาของตนเอง อันนั้นแหละจึงเรียกว่าควบคุมจิตใจได้ ดูแลจิตใจได้ และจะได้ดูเข้าไปว่าคิดเรื่องอะไร สิ่งควรคิดหรือไม่ควรคิด เราก็จะได้พิจารณาดู ว่าอะไรไม่ควรคิด เราก็จะไม่ต้องคิดสิ่งนั้นให้มันเสียการเสียเวลาเปล่าประโยชน์ 

อันนี้เป็นเรื่องที่เราจะชำระกิเลสออกจากใจของพวกเรา การฝึกฝนอบรมจิตใจให้สงบเฉยๆเป็นสมาธิอยู่เฉยๆ มันก็ไ้ด้รับความสุข แต่มันยังไม่ได้ละกิเลสเท่านั้น ก็เหมือนเราเอาก้อนหินไปทับหญ้าไว้เฉยๆ ทับไว้แล้วหญ้ามันก็ไม่ขึ้น เมื่อเราเอาก้อนหินออก หญ้ามันก็งอกขึ้นมา เพราะอะไร เพราะรากเหง้าเค้ามูลของหญ้าน่ะมันยังมีอยู่ มันยังไม่ตาย ฉันใดก็ดีเราฝึกฝนอบรมจิตใจของพวกเราท่านทั้งหลายก็เหมือนกัน ให้เราพากันให้อยู่ป่า อยู่เขา อยู่ถ้ำก็ดี อยู่ที่สงบสงัด พากันฝึกหัดอบรมจิตใจของตนให้สงบเป็นสมาธิ จิตก็เลยสงบอยู่เฉยๆ อยู่เฉยๆเท่านั้น ก็ยังมีความสุขอยู่ แต่ว่าเรายังไม่ได้ละกิเลสที่มันนอนเนื่องอยู่ในจิตสันดารของพวกเราอย่างลึกซึ้ง อันนี้ก็ยังดีกว่าบุคคลที่ยังไม่มีจิตสงบ ควรทำจิตใจให้สงบ เมื่อจิตสงบแล้วนั่นเอง เราจะได้ค้นคว้าขวนขวายดู หน้าตาของกิเลสที่อยู่ในจิตใจของเราได้ 

เหตุฉะนั้นพวกเราท่านทั้งหลาย จุดมุ่งหมายของเรามีความปรารถนาได้มาบวชในบวรพุทธศาสนา ทั้งภิกษุสามเณรก็ดี จุดของเราคืออะไร เราปรารถนาอะไร เราจึงได้มาบวชในพุทธศาสนา เราบวชมาแล้วเรามาศึกษา ศึกษาดูหนังเศษหนังสือตำราก็ดี หรือศึกษาเล่าเรียนก็ดี เมื่อมีวิชาความรู้ขึ้นมาแล้ว เราก็ควรที่จะน้อมความรู้ที่ตนเองได้เรียนมา หรือได้ยินจากครูจากอาจารย์มาต่างๆ ให้เข้ามาประพฤติปฏิบัติตามที่เราได้ศึกษามาและได้ฟังจากครูบาอาจารย์มา ตามกำลังความสามารถของตน แต่บุคคลใดไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย ตั้งใจทำจริงๆ บุคคลนั้นแหละภิกษุสามเณรองค์นั้นแหละจะได้พบหนทางสงบสุขเกิดขึ้น เรียกว่าทำจิตใจให้เป็นสมาธิเกิดขึ้นได้ เพราะมีความขวนขวายอยู่ เพราะเราต้องการอยากพ้นทุกข์จุดมุ่งหมายจริงๆ 

ถ้าเราอยากเฉยๆเราไม่ทำ เราไม่ฝึกฝนอบรมสติปัญญา มาดูหน้าตาของกิเลสก็จะได้ชำระออกจากจิตใจของเรา กิเลสก็คือความโลภะ ความโกรธ ความขุ่นมัวเศร้าหมองของจิตใจ เมื่อมีความขุ่นมัวเศร้าหมองอยู่ในจิตใจก็เรียกว่ากิเลสนั่นเองทำให้เศร้าหมอง ทำให้ขุ่นมัว ทำให้มีความทุกข์ความเดือดร้อน เราก็จะพยายามใช้สติปัญญาหาวิธีถอดถอนกิเลสออกจากดวงใจ 

แท้ที่จริงแล้วหากเราพูดเช่นนี้ มันก็เป็นอีกนัยหนึ่ง ถ้าหากเราพูดว่า การมีสติปัญญาน่าที่จะสอนจิตใจที่ไปหลงผิดกับกิเลสนั้น ก็จะให้มันเห็นโทษของกิเลส ให้ใครเห็นโทษ ก็คือให้จิตใจนั่นเองเห็นโทษ เห็นโทษของกิเลสมันลงโทษให้จิตใจได้ทุกข์ยากลำบากติดตามกิเลสที่มันหลอกลวงไป เมื่อจิตใจยอมรับว่ากิเลสทำให้ตนเองมีความทุกข์ มันก็จะวางของมันเอง ปล่อยวางของมันเองได้ ถ้ามันรู้ เหมือนบุคคลรู้เข้าไปหาคนพาล คนไม่ดีนี่เอง เมื่อเข้าไปหาคนไม่ดีแล้วคนไม่ดีเค้าจะพาทำความชั่ว ทำความไม่ดีต่างๆ ผลออกมาทุกข์มันก็จะติดตามมา หากบุคคลเห็นเช่นนั้น ก็ต้องวางคนพาล ไม่ยุ่งกับคนพาล ไม่เดินตามคนพาล ไม่คบหาสมาคมคนพาล เราก็ต้องถอยหนี เดินหลีกคนพาลไป ไม่ยุ่งไม่เกี่ยวด้วย เรียกว่าคนรู้ รู้โทษของคนพาล ก็ไม่ยุ่งกับคนพาล ก็เลยไม่มีทุกข์เกิดขึ้น 

ฉันใดก็ดี พวกเราท่านทั้งหลายฝึกฝนอบรมจิตใจก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจของเรายอมรับว่ากิเลสทำให้มีความทุกข์ยากความลำบาก ความโศกเศร้าโศกาอาดูรแล้ว มันก็จะวางของมันเอง เราไม่คิดว่า วางเสียๆ ไม่ต้องคิดเลยทีเดียว คิดอย่างนั้น มันวางของมันเองเพราะมันยอมรับ เพราะมันรู้ว่ามันมีโทษ มันได้ทุกข์มาด้วยแล้ว มันก็ย่อมวางเอง นี่แหละการหาวิธีชำระกิเลสออกจากจิตใจของพวกเราท่านทั้งหลาย 

ถ้าหากจิตใจสงบแล้ว อยู่ใต้อำนาจการควบคุมดูแลของเราแล้ว เราก็จะได้ดูกัน ดูใจของเราว่ามันเป็นยังไง ใจมันก็เป็นภาษาไทย จิตก็เป็นภาษาของพระพุทธเจ้า เรียกว่าภาษามคธ หรือภาษาบาลี อันนี้เป็นเรื่องที่พวกเราท่านทั้งหลาย ต้องทำความเข้าใจให้รู้ว่าจิตกับใจนั้น ก็ไม่ผิดแผกกันอะไร จิตใจมันก็ต้องเป็นอันเดียว จิตเป็นภาษาบาลี  เป็นภาษาพระพุทธเจ้า ใจก็เป็นภาษาไทยของเรา หากเราจะพูดเรื่องใจเฉยๆก็ไม่ผิดอะไร ถ้าพูดเรื่องจิตมันก็ไม่ผิดอะไร เมื่อหากเราเข้าใจเช่นนี้แล้ว เรารู้ด้วยเป็นผู้มีสติปัญญาแล้ว เราก็จะไม่งงในการประพฤติปฏิบัติของตน ฝึกฝนอบรมจิตใจของตนได้ 

พวกเราท่านทั้งหลายควร ควรอย่ามีความประมาท ให้ยืน เดิน นั่ง อยู่ที่ไหน นอนแห่งหนตำบลใด ประเทศใด เมืองใดก็ตาม ในพรรษา นอกพรรษาก็ตาม อยู่ที่ไหนควรที่จะใช้สติปัญญาดูจิตใจของเราเรื่อยๆอยู่นั่นแหละ เพราะเรายังไม่พ้นทุกข์เราก็ต้องฝึกฝนอบรมจิตใจของตน เพื่อจะให้รู้ให้เข้าใจในหน้าตาของกิเลสทั้งหลาย มามุมไหนเหลี่ยมไหนก็ดี เราก็จะได้แก้ไขปลดเปลื้องออกจากดวงใจของพวกเรา ไม่ให้จิตใจของเราไปพัวพันฟั่นเฝืออยู่ ให้มีความทุกข์กับกิเลสนั้น ก็จะทำให้พวกเรานั้นพากันมีความสุขเกิดขึ้นเรื่อยๆตามความสามารถของตนจะฝึกฝนอบรมจิตใจของตน และชำระจิต กิเลสออกจากจิตใจของตนได้ 

เหตุฉะนั้นก็ขอให้ทุกท่านมีความตั้งจิตตั้งใจ และอุบาสก อุบาสิกาก็ดี เป็นผู้มีสติปัญญาดูจิตใจของเราไปเรื่อยอยู่นั่นแหละ ไม่มีอะไรที่เราจะฝึก ถ้าเราจิตใจของเรามีความสุข เราก็จะเห็นความสุขได้เด่นชัดเจนด้วยตนเอง เรียกว่าวิญญูชนรู้ด้วยเฉพาะตนเอง เหตุฉะนั้นการบรรยายธรรมเรื่องพัฒนาจิตใจของตนเองนั้นก็ขอยุติไว้เพียงแค่นี้ แต่นี้ต่อไปก็ให้ตั้งใจทำความสงบได้สติปัญญาดูจิตต่อไปเรื่อยๆ

https://youtu.be/8tF01CPx6kE