Skip to content

หัวใจพุทธศาสนา

หลวงพ่อชา สุภัทโท

| PDF | YouTube | AnyFlip |

เจริญพรท่านสาธุชนทั้งหลายผู้ตั้งจิตตั้งใจมาบำเพ็ญกุศลในวันนี้ มีท่านผู้การเป็นประธาน ได้นำญาติโยมทั้งหลายมาสถานที่นี้เพื่อบำเพ็ญการกุศล ดังนั้นวันนี้ทางวัดหนองป่าพงและวัดป่านานาชาติมีความสัมพันธ์กันเช่นวันหนองป่าพงวันนี้ ก็พร้อมที่จะทำการมหาปวารณา ทั้งวันนั้นแหละรวมกฐินในวันนั้น และวันนี้ก็ทอดกฐิน พอทอดกฐินแล้วก็อาตมาก็จะรออยู่พอสมควร เพราะท่านผู้การเคยได้นิมนต์มาในสมัยก่อนนั้นก็จำไว้ ถึงแม้ว่ามีธุระอย่างใดก็พยายามมา พอที่จะมาร่วมในสถานที่นี้ ทั้งศิษยานุศิษย์ก็นำมาหลายองค์ ทั้งพระไทยทั้งพระฝรั่ง ปนเปกันมานั่นน่ะ มารวมที่นี่ ก็รู้สึกว่าวันนี้เหนื่อยมากพอสมควร แต่อย่างไรก็ต้องมา เพราะอะไร เพราะรับแขก ตอนเช้ามา ตอนกลางคืนมาก็เป็นเวลานาน เทศน์ตอนเช้ามาก็ฉันจังหันแล้ว ก็นั่งอยู่ที่นั่น แขกก็มาไม่ได้ขาดเหมือนกัน จนกว่าที่ว่าออกจากที่นั่งนั้นแล้ว ก็มาที่นี่ ดังนั้นกำลังคนแก่ มันก็ถอยไปๆ แม้เสียงพูดก็ถอยไป ลมมันก็น้อยๆไป 

ฉะนั้นวันนี้ก็มีกำลังใจเพราะท่านผู้การตั้งใจมาสถานที่นี้ก็ต้องตั้งใจมาปฏิสันถารพอสมควร อย่างนั้นก็พากันตั้งอกตั้งใจ จะเทศน์ให้ฟังแต่น้อย ไม่เอามาก แต่ว่าคงมีลูกศิษย์หลายองค์ โยมเมืองโคราชมีกำลังนั่งมั้ยหละ จะให้พระเทศน์ให้ฟังวันนี้ อาตมาก็เป็นประธานส่วนหนึ่ง จะขึ้นมาพูดกับญาติโยมพอสมควรเท่านั้น เสร็จกิจธุระวัดป่าพงแล้วก็มานี้ คือการทอดกฐิน ปีนี้ทอดกฐินสบายมาก เพราะว่าพาญาติโยมทำบุญกัน ไม่ได้ทำบาป ทำบาปน่ะมันยากกว่านี้ มันยุ่งกว่านี้ ปีนี้ทำบุญแท้ๆ อาหารที่ถวายพระ อุบาสิกาทั้งหลายก็ทำอาหารเจกัน ก็เลยสบายไป แต่คนก็ไม่มากคืนนี้ ดูร่วมจะถึงประมาณซัก ๔๐๐ เห็นจะได้ แต่ก็มีแต่คนมาฟังธรรม ไม่ใช่คนมาเล่น มีคนมาฟังธรรม เงียบสงัดเพราะไม่มีอะไร ไม่มีดนตรี ไม่มีลิเก ละคร ไม่มีอะไรทั้งสิ้นน่ะ เรื่องแรกก็นิมนต์พระนวกะซึ่งมาบวชกับอาตมานี่พรรษานี้จำนวนประมาณเกือบ ๒๐ คน ก็พอดีขอนิมนต์ท่าน ขึ้นแสดงความรู้สึกว่าได้มาบวช ณ วัดหนองป่าพง ต่างคนก็ต่างมานั่น ทุกองค์ให้แสดงความรู้สึก ก็กินเวลาไปซัก ๒ ชั่วโมง นอกจากนั้นก็ร่วมแต่มาฟังธรรมกันทั้งนั้นน่ะ รู้สึกว่าในพรรษานี้ ในปีนี้ การกระทำบุญนั้นเป็นบุญอันซะจริงๆ สบาย 

วันนั้นก็เป็นวันพระ เป็นวันพระธรรมดา ผู้รักษาอุโบสถศีลนั้น ก็ไม่ต้องการข้าวเย็นกันอยู่แล้ว ก็เลยเรียบร้อยไม่มีอะไรจะสกปรกเปรอะเปื้อน ดี เรียบร้อยทุกประการนี้ ฉะนั้นถ้าหากว่าการกระทำบุญนั้นพระพุทธองค์ของเราชอบให้ทำง่ายๆ ไม่ต้องทำยาก มันง่ายอยู่แล้ว ทำง่ายๆ ทำถูกๆ ทำสบายๆ ไม่ต้องเดือดร้อน เมื่อคืนนี้อาตมาก็นำญาติโยมตั้งหลายร้อยมาทำกัน ก็รู้สึกว่าสบาย ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมา การกระทำบุญที่แท้ แล้วก็ภูมิใจ บุญคือความภูมิใจที่เราได้กระทำแล้ว ว่าเหตุการณ์ที่เรากระทำแล้วนั้นน่ะปราศจากความชั่ว ไอ้การลามกทั้งหลายไม่เปรอะเปื้อน แม้ก่อนจะทำมันก็ภูมิใจ เมื่อกำลังกระทำอยู่ก็ภูมิใจ เมื่อเราทำเสร็จไปแล้วก็ภูมิใจ การภูมิใจนี่แหละท่านเรียกว่าเป็นบุญ ที่เราพบปะอยู่เสมอเลย ภูมิใจ นี่การกระทำบุญนั้นคือความภูมิใจ 

บุญในเวลานี้ การภูมิใจมีหลายอย่างนะ บางทีไปภูมิใจในสิ่งที่ไม่เข้าเรื่องก็มี เพราะมันหลงไป ความดีใจในสิ่งที่เราไม่รู้นั่นน่ะก็ดีใจ ยกตัวอย่างวันนี้ ญาติโยมเมืองโคราชมาหรือตลอดท่านผู้การเนี่ยแหละ เมื่อขึ้นรถมาแล้วนะ กระเป๋าสตางค์เอาใส่ถุงมาแล้วมันหลุดเสีย ผู้การก็ไม่รู้เลย ก็นึกภูมิใจมาอยู่ ก็นึกว่าสตางค์เรามันอยู่ในนั้น ไอ้ความเป็นจริงมันน่าจะเสียใจแล้ว แต่เมื่อกระเป๋าสตางค์มันหลุดออกไปนั้นน่ะ นี่ก็ภูมิใจเพราะความไม่รู้จัก เมื่อมาถึงวัดนานาชาติแล้ว มาคลำดูกระเป๋า อ้าว ไม่ได้เรื่องซะแล้ว ตกใจวาบเลย นี่ มันน่าจะตกใจแต่เมื่อกระเป๋ามันหลุดจากถุงแล้ว อันนั้นก็ยังภูมิใจ เพราะเราไม่รู้ บางสิ่งบางอย่างที่เราไม่รู้ เรามีความภูมิใจก็มี ภูมิใจเพราะเราไม่รู้จัก เพราะเข้าใจว่าสตางค์เรายังอยู่ เราก็ภูมิใจอยู่ แต่เมื่อมารู้ความจริงมาถึงนี่ กระเป๋าสตางต์หายไป ใจก็ไม่สบายอย่างนั้น นี่คือความภูมิใจที่หลงไป 

การกระทำบุญนี่ก็เหมือนกันฉันนั้น พระองค์ท่านให้มีความภูมิใจ ใจนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ปราชญ์ทั้งหลายท่านจึงสอนว่า หัวใจของพุทธศาสนานั้นไม่มาก มีสองสามข้อเท่านั้นแหละ ท่านสอนว่า การไม่กระทำบาปทั้งปวงด้วยกายวาจาใจนั่นแหละ ถูกต้องแล้ว เอตํ พุทฺธาน สาสนํ อันนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า อันนี้เป็นหัวใจของพระศาสนาแล้ว อันนี้ประการหนึ่ง ประการที่สองนั้น เมื่อทำจิตของเราให้เป็นบุญ เมื่อเป็นกุศลแล้ว อันนั้น เอตํ พุทฺธาน สาสนํ อันนั้นก็เป็นหัวใจของพุทธศาสนาอันหนึ่งแล้ว สจิตฺตปริโยทปนํ การมาทำจิตใจของเราให้ผ่องใสนั้น ก็เป็น เอตํ พุทฺธาน สาสนํ อันนี้ก็เป็นคำสอนของพระ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ทั้งสามประการนี้ไม่มาก สามตัวอักษรเท่านั้นแหละ เราจะจับเข้ามาใส่ใจของเรา ให้มีอยู่ในใจของเราทั้งสามประการนี้ ใจของเราจะเป็นหัวใจของพุทธศาสนา นั่งอยู่มันก็เป็นพุทธศาสนา เดินไปก็เป็นพุทธศาสนา นอนก็เป็นพุทธศาสนาอยู่เสมอแล้ว สามอย่างเท่านี้ 

ฉะนั้นพระพุทธองค์เราต้องการอย่างนี้ จึงเรียกว่าพุทธศาสนา ศาสตร์คือพุทธศาสนานี่เป็นศาสตร์อันยิ่งใหญ่กว่าสิ่งทั้งปวง คือหมายความว่า ไอ้ความรู้ในทางพุทธศาสนานี้ต้องปราศจากความสกปรก งมงาย สะอาด เมื่อทำแล้วก็สบายใจ ทำแล้วก็สบายใจ เสร็จไปแล้วก็สบายใจอยู่ อันนี้ฝังอยู่ในใจของเรานี้ เราจะเห็นได้ว่า เมื่อไรเราละบาปแล้ว นั่นเราเข้าถึงหลักพุทธศาสนา เมื่อละบาปแล้ว ใจเราก็สบาย ไม่มีอะไรวุ่นวาย ไม่มีอะไรอยู่ในใจอันนั้น เป็นจิตใจที่สะอาดผ่องใส อันนั้นท่านว่าเป็นบุญ เป็นกุศลเกิดขึ้นในตรงนั้น เป็นความสงบเกิดในตรงนั้น ก็เพราะหัวใจพุทธศาสนามาซ้อนแทรกเข้าในหัวใจเราอีก ต่อนั้นไป ใจเราก็จะผ่องใสเพราะว่าไม่มีอะไรอยู่ในนี้ มีแต่สิ่งที่ถูกต้องเท่านั้นแหละ ท่านเรียกว่าจิตอันนั้นมันสะอาด ทั้งสามประการนี้มารวมอยู่ที่จิตของมนุษย์แล้ว มนุษย์ผู้นั้นจะเป็นผู้ถึงพุทธศาสนา ไม่เดือดร้อนกระวนกระวาย นั้นก็เรียกเป็นบุญ แล้วก็เป็นกุศลด้วย บุญแปลว่าความภูมิใจ กุศลแปลว่าความฉลาด ฉลาดในการทำบุญ ได้บุญมาก็ภูมิใจด้วยความฉลาด ปราศจากมลทินทั้งหลายนั้น ฉะนั้นบุญก็เป็นประเภทอันหนึ่ง กุศลนี้ก็เป็นประเภทอันหนึ่งเหมือนกัน ฉะนั้นการกระทำบุญนี้ให้ประกอบด้วยปัญญาคือความฉลาด ความฉลาดนั้นเป็นเหตุให้สะอาด ไม่สกปรกเป็นต้น เรียกว่าบุญ เรียกว่ากุศล 

โดยมากพวกเราชาวพุทธทั้งหลายนั้น การทำบุญนั้นก็สักแต่ว่าๆ แต่ไม่เข้าถึงหลักพุทธศาสนา ทำบุญปราศจากความฉลาด ทุกสิ่งสารพัดก็เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นบุญนี้ ไม่มาก แต่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง การละบาปนั่นแหละมากกว่า การละบาปนั่นแหละมากกว่า การละบาปนั่นคือทำสถานที่ให้มันสะอาด คล้ายๆที่เราเรียกว่าเราจะสร้างบ้านซักหลังหนึ่ง สร้างบ้านซักหลังหนึ่งนั่นน่ะ ที่ปลูกบ้านเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นฐานที่แน่นหนาถาวร บ้านนั้นจึงจะยืนยงคงตัวอยู่ได้นาน อันนี้นั่นเป็นฐานอันหนึ่งเหมือนกัน การกระทำบุญทำกุศลของเรานี้เป็นรากฐานคือจิตใจของเรานี้ ทำจิตใจของเรานี้ให้สงบระงับ คือมันปราศจากโทษอะไรทั้งหลายทั้งปวงนั้น แม้จะนั่งอยู่มันก็เป็นบุญ จะนอนอยู่ก็เป็นบุญ จะทำอะไรอยู่มันก็เป็นบุญ ทำให้บุญเกิดขึ้นในใจนั่นเอง บุญไม่ใช่จะเกิดอยู่อย่างอื่น ให้มันเกิดอยู่ที่ใจของเรา เพราะเราเอาเครื่องสกปรกออกแล้ว เอาบาปออกแล้ว เอาความผิดออกเสียแล้วนั่น อยู่ทั้งนั้นแหละ บุญมันจะเกิดที่นั่น เมื่อเราบำเพ็ญบุญเฉยๆ ไม่เอาบาปออกไปซะ มันก็เลยวุ่นวาย สับสนอลเวงหลายอย่างหลายประการ 

อาตมาเคยเห็น โดยมากที่มาทอดผ้าป่ากัน มาแสวงบุญกัน หลายคันรถ แต่มองๆดูแล้วก็จริง มาทำบุญกัน แต่ว่าไม่ค่อยละบาปกัน นี่ มันผิดตรงเนี้ย มันไม่เข้าถึงหลักพุทธศาสนา เมื่อทำไปแล้วมันก็ไม่เกิดประโยชน์ขึ้นในใจ เมื่อไม่มีเกิดประโยชน์ขึ้นในใจ ปัญญามันก็ไม่มี มันก็บกพร่องในการกระทำของพวกเราทั้งหลายนั้น อันนี้ให้เป็นการบ้านของญาติโยมทั้งหลาย ไม่ไกล ไม่มาก เท่านี้มันก็พอ นี่การละบาปเป็นเบื้องต้นก่อน ฉะนั้นเมื่อเราจะทำบุญ เมื่อไรนั้น เช่นวันนี้นะ วันนี้มาทำบุญ ท่านผู้การก็พนมมือขึ้นมา มะยัง ภันเต ติสะระเณ นะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ นี้คืออะไรนะ นี่คือทำเครื่องสกปรกออกจากใจ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่โกหกเหลวไหล ไม่กินสุรา เอาแต่เครื่องสกปรกทั้งนั้นออก มันจะไม่สะอาดแล้วจะอยู่ได้เหรอ มันก็จิตใจมันก็สะอาดเท่านั้นหละ บรรพบุรุษท่านว่าอันนี้ท่านเรียกว่าศีล ไชเข้าไปตรงนั้น ทำให้สะอาดเป็นพื้นซะ เป็นศีล 

เมื่อมันเป็นศีลเนี่ย สมาธิมันก็เกิด คือความสงบระงับอารมณ์ทั้งหลายเนี่ย เพราะปราศจากเครื่องวุ่นวาย เมื่อความสงบเกิดขึ้นแล้วเนี่ย ปัญญามันก็ตามมา เมื่อปัญญามันตามมาแล้วก็รู้เท่าสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นมา ในหลักของพุทธศาสนา ท่านว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งสามประการนี้เป็นหลักเป็นหัวใจ สิ่งที่สำคัญในหลักพุทธศาสนา เมื่อสิ่งทั้ง ๓ ประการนี้เกิดขึ้น เป็นมรรคแล้ว เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ทั้งสามประการนี้แหละ รวมพุทธศาสนา มารวมเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา อันนี้เป็นทางมรรคที่เราจะต้องเดิน เมื่อเราประพฤติปฏิบัติอยู่แบบนี้ ความรู้สึกของเราจะเปลี่ยนแปรไป จะรู้จักว่ามันทุกข์ เห็นทุกข์ รู้เหตุเกิดของทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เท่าเนี้ย ออกทางนี้ 

ไอ้ปุถุชนเราทั้งหลายในครั้งพุทธกาลก็ดี ในสมัยนี้ก็ดี ต้องออกทางนี้ ออกทางนี้รู้จักทุกข์ ทุกข์นี้นะ ญาติโยมทั้งหลายคงจะเคยพบละมั้งทุกข์เนี้ย เคยพบ วันที่อาตมาก็เห็นญาติโยมผู้ที่สำคัญมาเยี่ยม พอพูดไปมันทุกข์ในใจ ก็เลยนั่งอยู่ต่อหน้า น้ำตามันหยดลง พั่บๆๆ อาตมาก็ไม่รู้ ไม่เห็นเป็นแผล ไม่เห็นเป็นอะไรเลย น้ำตามันไหลออกมา มันไหลมาจากกองทุกข์ มันบีบ บีบเข้ามา อาตมาเคยฟังธรรม นี้น่ะ ไอ้น้ำถ้าน้ำอันนี้มันไม่หมดแล้วมันไม่หมดทุกข์หรอก อยู่ดีๆก็นั่งน้ำตาไหลออกมาอย่างนั้นนะ อาตมาก็สงสัย น้ำนี้มันออกมาจากอะไร มันคงมีอะไรบีบมันออกมา เป็นน้ำตาไหลออกมา อาตมาก็ไม่ได้ถามหรอก แต่ว่าเห็นเหตุผลแล้วว่าน้ำมันอันนี้มันไหลออกมา มันต้องทุกข์หละ มันต้องทุกข์ คนผู้ที่สำคัญไงมันทุกข์ข้างในไง ทุกข์ทางใจ เงินก็มี ลาภก็มี ยศมันก็มี แต่ว่ามันทุกข์ ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร ทุกข์มันต้องอาศัยอะไร มันอาศัยที่ว่าไอ้ความไม่พอใจนั่นเองหละ สิ่งอื่นมากๆมันก็มี แต่ว่ามันไม่พอใจ มันขาดสิ่งที่พอใจของคนนั้น มันเป็นทุกข์เกิดขึ้นมา ก็มาเรียนถามอาตมาว่า อิฉันมันเป็นทุกข์ จะให้อิฉันระงับยังไงได้ โยมรู้ไหมว่าทุกข์นี่มันเป็นยังไงมั้ย มันเกิดมาจากอะไรโยมรู้มั้ย ดู ที่ตามดูนี่อาตมาก็ไม่รู้กับโยมนี่ ก่อนมันจะทุกข์ มันเป็นเพราะอะไร มันเกิดมาจากอะไรมั้ย ให้ดูในจิตเดี๋ยวนี้น่ะ จะเห็นน่ะ โยมจะเห็นของโยมเอง ไม่ต้องไปค้นคว้าอย่างอื่น 

อาตมาก็เลยยกกระโถนขึ้นให้ดู อย่างนี้ว่าสบายไม่หนักนี่ พอยกกระโถนใบนี้ขึ้น มันเริ่มหนักขึ้นมาแล้ว พอเราวางกระโถนใบนี้มันเริ่มหายหนักแล้ว นี่มันเป็นเพราะอะไร ถ้าหากเราไปยกกระโถนขึ้นมันหนัก ก็เพราะเราไปยกกระโถนใบนี้ขึ้นมา มันก็หนัก พูดให้เห็นง่ายๆ เมื่อมันหนัก จะหายหนักด้วยวิธีอะไรเล่า ต้องวางกระโถนใบนี้ลงดูสิ เบาแล้ว เห็นมั้ย นี่มันเบาเพราะอะไร เพราะเราวางกระโถนใบนี้ อาตมาก็จับกระโถนยกขึ้นทีนึง กล่าวให้ฟัง ให้ฟังดังนี้ มันทุกข์อยู่นี่ ไม่ใช่ทุกข์ที่อื่น อย่าไปพูดที่ไหน มันทุกข์ตรงนี้แหละ ให้พิจารณาซะ เทศน์ให้ฟังซักพักหนึ่ง น้ำตาก็เลยหายหยด เลยหันมาพูดกับอาตมาโดยที่เสียงไม่สั่นนะ ถ้าวันหลังน่ะ ถ้าหากว่าคุณนายไม่สบาย มาหาพระเถอะ ค้นหาเหตุมันเองมันได้ซะ เท่านี้หละคนมันมีทุกข์ 

การกระทำบุญทุกวันนี้ การฟังธรรมทุกวันนี้ก็แก้ทุกข์คือแก้ปัญหา ในชีวิตที่เราเกิดมานี้น่ะ มันมีทุกข์ แต่ว่ามันทุกข์เกิดขึ้นมาแล้วคนเรากลัว กลัวมัน พระพุทธองค์ท่านสอนว่า ทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ต้องกลัว ให้รู้มันนี่คือทุกข์ เข้าไปหาทุกข์ คนเราชอบทุกข์ขึ้นมาแล้วกลัวทุกข์ ในครั้งพุทธกาลก็เหมือนกัน คนทุกข์น่ะถึงเข้ามาหาพระ เมื่อมันร้อนจึงเข้าไปในร่ม ถ้าไม่ร้อน ตากแดดตรงนั้นก็ได้ ไปไหนก็ได้ มันมีเหตุอย่างนี้ทุกคน ดังนั้นทุกข์นี้จึงเป็นสัจธรรม ทุกข์นี้เราเคยผ่านกันมาทุกคนๆ ทุกข์นี่มันเคยผ่านมา ทุกคนเคยผ่านมา แต่ไม่รู้จักระงับมัน ไม่รู้ว่ามันเกิดมาจากอะไรต่ออะไรนะ ก็เลยคิดไปๆๆร้องไห้มันทุกข์ ไม่รู้จักทางออกอย่างนี้ อาตมาว่าต้องคลำดู ต้องคลำดู มันต้องมีหนทางที่มันจะแก้ไขมัน เพราะพระพุทธองค์ของเราท่านสอนมา ธรรมะนี่แก้ทุกข์ให้คน แก้ทุกข์ที่เกิดจากหัวใจของมนุษย์แท้ๆ แต่เราไม่รู้จักตัวเราว่าเมื่อมันทุกข์เกิดขึ้นมา เราไม่ตามดูว่าทุกข์เกิดมาจากอะไรอย่างนี้เป็นต้น ก็เลยไม่รู้จักแก้มันอย่างนี้ เท่านั้นความจริงจัดว่าทุกข์นี่เป็นสัจธรรม ทุกขสัจ สมุทัยสัจ มรรคสัจ นิโรธสัจ พระพุทธองค์ก็ออกทางนี้ สาวกทุกองค์ออกทางนี้ ใครๆก็ออกทางนี้ อันนี้เป็นอริยสัจ 

ดังนั้นเมื่อทุกข์เกิดขึ้นมาเราก็ต้องพิจารณา ให้รู้แยบคายว่าอันนี้สักว่าแต่ทุกข์ ความเป็นจริงนี่ทุกข์มันล้นเหลือ แต่เราไม่รู้เรื่องของมัน ที่เราอยู่กันทุกวันนี้มันทุกข์ทั้งนั้นนะโยม ทุกข์มันเกิดขึ้นมาแล้ว เราก็เรียกว่ามันทุกข์ เมื่อทุกข์มันดับไป เราไปเรียกตรงมันดับว่าสุข เห็นไม่ชัด เห็นเป็นสุข เพราะทุกข์มันดับไปเฉยๆ เมื่อดับแล้วก็เกิดขึ้นมาอีกก็เป็นทุกข์ ทุกข์เกิดมาแล้วก็ดับไปเป็นสุข เราก็ไปตะครุบ ทุกข์ก็ตะครุบ สุขก็ตะครุบ นึกว่ามันคนละอย่างกัน พระท่านสอนว่า มีแต่เรื่องทุกข์มันเกิดมันดับเท่านั้นแหละ อื่นนอกนั้นไม่มี ให้พิจารณาเถอะ ดูแล้วก็ใช่เหมือนกัน ทุกข์เกิดแล้วก็ทุกข์ดับ ถ้ามันเกิดมาแล้วไปสำคัญตรงนั้นว่าเป็นทุกข์ ถ้ามันดับไปแล้วก็สำคัญว่าตรงนั้นน่ะเป็นสุข นี่ ไอ้ความเป็นจริงของเก่ามันทุกข์มันเกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็ตะครุบอยู่อย่างนี้ ตะครุบอยู่อย่างนี้ ตะครุบๆ ตะครุบแต่ทุกข์แหละ แต่ว่ามันไหวตัว บางทีมันคล้ายๆมันสุข บางทีคล้ายๆมันทุกข์อย่างนี้ เราก็ปรารถนาเอาสุข เมื่อปรารถนาเอาสุขแล้ว เมื่อสุขหายไปแล้ว ทุกข์ก็เกิดขึ้นมาอีก 

หลักของพุทธศาสนานั้นท่านให้หมายถึงความสงบ สงบจากความสุขนั้นความทุกข์นั้น นั่นคือความสงบ เราต้องการความสุขนั้นแหละ ความสุขนั่นคือทุกข์อันใดที่เรายังไม่รู้จัก สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี สองอย่างนี้ เราก็เห็นว่าสุขนั้นน่ะ ฉันชอบ ฉันต้องการความสุข ฉันก็ต้องพยายามหาความสุขนั่นน่ะ ก็นึกว่าสุขน่ะไม่มีโทษ ไม่ใช่ สุขนั่นตัวเอกมันนะนั่น นะ ตัวมันเป็นทุกข์แล้วนะนั่น สุขก็ดี ทุกข์ก็ดีน่ะ เหมือนกับงูตัวเดียวกัน ทุกข์ให้เท่ากับหัวงู สุขให้เท่ากับหางงู พอเราไปเห็นงูตัวนี้มันยาว หางมันอยู่ทางนี้ ปากอยู่ทางโน้น เราคิดว่า เออ ทางปากมันเป็นภัยเว้ย ไอ้ทางหางไม่เป็นอะไรหรอก มันไม่มีปากอยู่ตรงนี้ แน่ะ อย่าไปใกล้ปากมันเน่อ มันจะกัดเอา มันจะชกเอา มาจับหางมันดีกว่า แน่ะ เพราะว่าปากอยู่ทางนี้ เรามาจับหาง มันก็หางงู เห็นมั้ย ไอ้ตัวหัวงูมันก็วกมากัด มันก็ทุกข์อีกเหมือนกันอีกแหละ เพราะหัวงูก็อยู่ในงู หางงูก็อยู่ในงูตัวเดียวกันนั้น คือเราไม่รู้อย่างนั้น เราไม่รู้เลยว่า สุขมันก็เป็นอย่างนั้น ทุกข์ก็เป็นอย่างนั้น ความเป็นจริงมันก็อยู่ในงูตัวเดียวกันนั่นเอง เราสร้างทุกข์เกิดขึ้นมาเท่านั้นแหละตรงนั้น 

ดังนั้นพระท่านจึงสอนว่า ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ นอกจากทุกข์มันเกิดแล้ว ทุกข์มันดับ เท่านี้ ไม่มีอะไร เท่านี้ เรื่องที่ว่าเราแสวงหาความสุขนั้น ก็เราคิดว่าสุขน่ะมันดี มันดีมากเกินไป ก็ยิ่งทุกข์เข้าไป เพราะเราไม่รู้จักว่าทุกข์ เมื่อหันเหมาดูธรรมะพระพุทธเจ้า เออ สุขนี้ก็ไม่ใช่ความสงบหวะ สุขทุกข์นี่ดูแล้วมันเหมือนกันทั้งนั้นแหละ อันเดียวกัน แต่เวลานึงหมายถึงว่ามันเป็นสุข เวลานึงมันเป็นทุกข์ ฉะนั้นคนต้องการความสุข สุขมันหายไปเลย ทุกข์ก็เกิดขึ้นมาเท่านั้น มันอันเดียวกันอย่างนั้น ดังนั้นพระพุทธองค์ท่านถึงสอนว่าให้พวกเราทั้งหลายถึงความสงบ สงบนั้น เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมาแล้วก็รู้ว่า เออ อันนี้ไม่ใช่ ปล่อยมันซะ ให้รู้เท่ามันซะ นี่สุขเกิดขึ้นมา นี่ก็เหมือนกันทั้งนั้นแหละ อย่าไปหมายมั่นมันเลย เป็นเรื่องธรรมดาของมันอย่างนั้น เราจะสร้างกรรมอันนี้ขึ้นมาให้มากๆ สร้างขึ้นมาๆ จนกว่าที่มันโต มันสูงขึ้นมา สูงขึ้นมา จนกว่าที่มันพ้นจากสุขหรือทุกข์อันนี้ เรียกว่าความสงบ เมื่อความสงบนั้นพ้นจากสุขแล้ว พ้นจากทุกข์แล้ว นั่นคือหลักของพุทธศาสนาที่แท้จริง 

ทีนี้อันนี้ให้เป็นการบ้านของโยมทั้งหลายนี่ ให้เอาไปพิจารณา มันจะจริงหรือเปล่า เพราะธรรมอันนี้พระพุทธองค์ไม่สรรเสริญว่า ผู้ที่เชื่อกับคนอื่นนั่น ท่านไม่สรรเสริญว่าผู้ที่เชื่อกับคนอื่นนั่นท่านไม่สรรเสริญ ท่านสรรเสริญว่าเป็นปัจจตัง เชื่อด้วยปัญญาเกิดขึ้นเฉพาะดวงใจของเราเอง ฉะนั้นท่านจึงให้ว่าเป็นปัจจตัง รู้เฉพาะตัวอย่างนั้น อันนี้ญาติโยมทั้งหลายนี่โดยมากจะมาฟังพระเทศน์ หรือฟังอาตมาเทศน์ บางคนก็คงจะเชื่อหมด แต่อาตมาขอห้าม อย่าไปเชื่อหมด อย่าไม่เชื่อ อย่าเชื่อ อย่าไม่เชื่อ เอามาวางไว้ ให้ปัญญามันเกิดก่อน 

ในสมัยหนึ่งองค์พระสารีบุตร นั่งฟังธรรมพระบรมศาสดาอยู่นั้น ท่านอธิบายไปเรื่อยๆ ถึงพักหนึ่งพอสมควร พระพุทธองค์ตรัสว่า สารีบุตร ท่านเชื่อแล้วหรือเนี่ย พระสารีบุตรตรงไปเลย ผมยังไม่เชื่อพะเจ้าค่า อ้าว สารีบุตร ดีแล้ว นักปราชญ์อย่าเพิ่งเชื่อง่ายๆเลย ใคร่ครวญก่อนจึงเชื่อ เห็นมั้ย แสดงว่าให้เห็นเป็นปัจจตังด้วยตนเองนั่น พระพุทธองค์ให้โอกาส ถ้าหากว่าคนในสมัยนี้ ถ้าว่า ฉันไม่เชื่อ คนอย่างอาจารย์คงจะโกรธนี่น้อ คนอื่น แม่สอนว่า เชื่อแม่มั้ยลูก ไม่เชื่อ แม่คงจะโกรธมั้ย เชื่อพ่อมั้ยลูก ไม่เชื่อ พ่อคงจะโกรธมั้ย อันนี้พระบรมศาสดาท่านตรัสอย่างนิ่มนวลเลย เชื่อแล้วหรือพระสารีบุตร พระสารีบุตรตอบว่าข้าพระองค์ยังไม่เชื่อ ท่านเห็นว่าดีแล้ว พระสารีบุตร นักปราชญ์ไม่ควรเชื่อง่าย ไตร่ตรองด้วยเหตุผลแล้วจึงเชื่อ แน่ะ เป็นอย่างนี้ ท่านต้องการว่าให้เรารู้ใจของเราเอง 

ดังนั้นจึงพากันสอนใจ ให้ระวังใจ สิ่งทั้งหมดในตัวตนของเราเนี่ย ตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี กายก็ดี เป็นอย่างหนึ่ง เป็นบริวารของใจ อย่างนั้นพระพุทธองค์ถึงสอนว่า ใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ระวังนะ ท่านจงระวังใจของท่าน ท่านจงระวังใจของท่าน ท่านจะดีจะชั่วทุกอย่างเพราะใจของท่าน ท่านจงระวังใจ ใจนี้มันเป็นพิษยิ่งกว่างูพิษทั้งหลายเสียแล้ว ถ้าพิษมันหมดไปยิ่งกว่าสิ่งทั้งหลายมันระงับไป อย่างนั้นใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ จะพูดก็มีใจถึงก่อน จะทำก็มีใจถึงก่อน จะเป็นอะไรๆ ก็มีใจถึงก่อนทั้งนั้นน่ะ มิฉะนั้นดวงใจของเรานี่ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า เรื่องพุทธศาสนานี้เป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของจิตใจ เป็นศาสนาเรื่องจิตใจ เป็นศาสนาเรื่องจิตใจ 

อันนี้อาตมาจะเล่าให้ฟัง อาตมามีลูกศิษย์ฝรั่งคนหนึ่ง เค้าเรียนจิตศาสตร์ จบจิตศาสตร์แล้ว ออกมาเมืองไทย มาบวชกับอาตมาอยู่วัดหนองป่าพง เป็นจิตศาสตร์ รู้หละ สอบได้ จบจิตศาสตร์นะ แต่ว่าทุกข์บ่อยๆ หมองูตายเพราะงู จับงูโดนกัดทุกวันๆไม่รู้เลย นี้เรียกว่า เรียนจิตจบจิตศาสตร์ มันจบแต่การภาคเรียน แต่จิตใจนั้นมันไม่ถึง มันไม่จบ มันได้ทุกข์บ่อย มันจบจิตศาสตร์แล้ว มันน่าจะรู้จักจิตเจ้าของสิ อันนี้เป็นต้น จิตมันให้โทษเราบ่อยๆ จนกว่าที่ว่าสึกไปนั่นเองน่ะ นี่ มันจบแบบจิตศาสตร์ตามหลักการวิชาการมันเป็นอย่างนั้น ตัวหนังสือมันเป็นอย่างหนึ่ง ตำรามันเป็นอย่างหนึ่ง ฉะนั้นพระบรมครูท่านจึงสอนว่า การเรียนธรรมก็ดี แต่ว่ามันไม่ยิ่ง การรู้ธรรมก็ดี แต่ว่ามันไม่ยิ่ง การปฏิบัติธรรมก็ดี แต่ว่ามันไม่ยิ่ง การเห็นธรรมก็ดี แต่ว่ามันไม่ยิ่ง ทิ้งหมด อันมันยิ่งเพราะอะไร เพราะเห็นธรรม เพราะเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมแล้ว ก็เลยใจมันเป็นธรรม ธรรมทั้งหลายมารวมอยู่ที่ใจ เป็นเอโก ธัมโม ธรรมมีเท่านี้ อันเดียวเท่านี้ คือรวมใจนั้น 

ฉะนั้นหลักพุทธศาสนานี้ ท่านจึงว่า เป็นไปในแนวที่เรียกว่าจิตใจ เรื่องพุทธศาสนาของเรา ฉะนั้นอาตมาจึงสามารถพูดว่าพุทธศาสตร์นี่ เป็นศาสตร์ที่สูงส่ง เป็นศาสตร์ที่ทำศาสตร์อันอื่นเป็นต้นให้สมบูรณ์โดยลำดับ ทั้งมีความรู้ ทั้งมีความดี ทั้งมีปัญญาเกิดขึ้น ศาสตร์อื่นนั้นโดยมากมีแต่ความรู้ แต่ความดีไม่ค่อยจะมี มันเป็นซะอย่างนั้น ฉะนั้นขอพวกญาติโยมทั้งหลายมาทำบุญกุศลวันนี้ จงให้รู้สึกว่าจิตเป็นเหตุ ระวังจิตของเรา ให้รู้ไว้ว่า บัดนี้โยมจะดีใจน่ะ มันมีใครพาดีใจรู้มั้ย หูหรือตามั้ย ไม่ใช่จิตไปดูสิ วันนี้มันจะโกรธมันจะดุเพราะอะไรมั้ย ตามันดุ หรือหูมันดุมั้ย ดูไปสิ ใจมันไม่ค่อยดีเพราะอะไรตรงนั้น เพราะจิตทั้งนั้นน่ะ สมกับพุทธองค์ท่านว่า ให้สอนจิต เมื่อเราสอนจิตของเรา จิตของเราเป็นไปแล้ว ไอ้ความสุขมันก็ไม่ตามมาสู่เรา ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นบริวารเท่านั้นแหละ จิตนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ 

มิฉะนั้นญาติโยมทั้งหลายมาวันนี้ก็ขอให้จงสังวรณ์ สำรวมระวังจิต จิตนี้มันเป็นโทษอย่างไพศาล จิตนี้มันเป็นประโยชน์อย่างมากมาย ถ้าเราทำถูกต้อง มันเกิดประโยชน์มากเหลือเกิน จิตนี้ก็คงมีทุกคน แต่อันนี้ไม่มีตัวไม่มีตนน่ะ แต่คนรู้จักมั้ยว่าจิตนี้คืออะไรมั้ย ญาติโยมคงจะเอามาทุกคน จิตอันเนี้ย แต่จะถามว่าจิตมันอยู่ตรงไหน คงจะพูดยากเหมือนกันนะ พูดยาก ไม่ต้องมากอ้ะ ใครเป็นคนรับรู้ที่อาตมาเทศน์อยู่เนี่ย ใครเป็นคนรับรู้ คนที่รับรู้คือใคร มันอยู่ตรงไหน นี่ ให้รู้เข้าไปเถอะ จะรู้จริงว่า อันนั้นคือจิตของเราที่รับรู้อันนั้น จะพาเราวิ่งไปวิ่งมา พาเราดีเราชั่ว พาเราดีใจเสียใจก็เพราะอันนี้เอง มิฉะนั้นญาติโยมจงรักษาอันนี้ ให้มันเห็นชัดเข้าไป จึงเรียกว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา นี่ ถ้าเราเข้าใจในเรื่องนี้แล้ว อะไรทุกอย่างมันจะเบาไปหมดทุกอย่างเลย ที่เราทุกวันนี้ ไม่ถึงขนาดนั้น สอนกันแต่เพียงว่าให้มีศีลธรรมเท่านั้นก็ลำบากอยู่แล้ว อย่าเบียดเบียนกันนะ อย่าอิจฉากันนะ เท่านี้ก็ยังไม่ค่อยจะเห็นกัน จะให้เราละเราวางนั้น ก็มันก็ลำบากเหมือนกัน 

เริ่มต้นก็เป็นศีลธรรม ให้เรามีศีลธรรมกัน อย่างเทปอันเนี้ย นาย ก อย่างได้เหลือเกิน แต่ว่ามันเป็นของคนอื่นซะ ก็เลยกลับมา กลัวมันจะเป็นโทษ แค่นี้ก็พอแล้ว ไม่กล้าจะเอาแล้ว ไม่กล้าจะขโมยแล้ว เพราะมันมีเจ้าของ เท่านี้ก็ถมไปแล้ว ศีลธรรมนี่ ไม่ต้องละมันหรอก เอาเทปมาใช้ได้สบายเลย อย่างนี้ตัวอย่างมี อันอื่นก็เหมือนกันอย่างนั้น ให้เห็นขนาดนี้ก็พอ รู้ว่าต้องละ ต้องพยายามอดทน การปฏิบัติตามเรียกว่าปฏิบัติธรรมะ การอดทนคือมันอยากจะทำความชั่วอยู่นั้น แต่เราพยายามสอนใจเราไม่ทำ นี่คือการปฏิบัติ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนกว่าที่ว่าจิตใจมันจะชำนาญ จนมารู้จักผิดจักถูก รู้จักบาปจักบุญ รู้จักคุณจักโทษ 

อาตมาเคยสอนญาติโยมทั้งหลายว่าง่ายๆ แต่ว่ามันยากไปหน่อยหนึ่ง สอนง่าย  สอนยังไงรู้มั้ย ไปที่ไหนเคยได้ยินว่าฉันไม่รู้อะไร ไม่รู้จักอะไร เรียนลำบาก ไม่รู้จักการเล่าเรียน อาตมาบอก ไม่ต้อง โยมเลิกซะ เลิกก็ได้ บอกแต่ว่าเมื่อเราจะภาวนา บริกรรมอย่างนี้ง่ายๆว่าให้มันเห็นด้วยกันว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก่อนเราจะนอนนะ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แล้วกำหนดลมหายใจไปเรื่อยๆนะ รู้จักบ่อเหตุ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จนผู้รู้มารับเอาดีเอาชั่วเข้าไปอยู่ภายในความรู้อันนั้น จนจิตของเราผ่องใส รู้จักดี รู้จักชั่ว เมื่อมันรู้จักชั่ว มันก็วางความชั่ว เมื่อมันรู้จักดี มันก็ประพฤติความดี ถ้ามันชั่วมันไม่ทำแล้ว มันเลิก มันสร้างความดีเดี๋ยวนั้นแหละ จิตของเรารับและรู้จักดีและรู้จักชั่วแล้ว โดยมากญาติโยมเราทำไมไม่ค่อยรู้จักดีรู้จักชั่วนะ บางทีจะชั่วก็ไปทำ ทำไปจนเจ็บใจ จนร้องไห้ ก็ยังไม่รู้ว่ามันชั่วนะ ไม่รู้จักดีจักชั่ว ให้ทำดี รู้จักดีจักชั่ว เมื่อไปบริกรรมอย่างนี้ไปน่ะ เมื่อมันตกไปในกระแสจิตของเจ้าของ มันรู้จักดีจักชั่ว  มันก็รู้จักบาปจักบุญ มันก็เป็นคนสอนง่ายเริ่มขึ้นมาเท่านั้นเองน่ะ ง่ายๆ สอนอย่างนั้น ภาวนาเรื่อยไป มานั่งภาวนาก็ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำมันอยู่ตรงนั้นน่ะ ถ้ามันรู้จักดีรู้จักชั่วแล้ว มันก็ปฏิบัติตาม มันก็สร้างความดีขึ้น ความชั่วมันก็ละไปเองของมันเรื่อยๆอย่างนั้น มันก็ถึงความสงบเท่านั้นเอง 

ให้มันติดอยู่ดี มันติดอยู่ชั่วอยู่อย่างเนี้ย ต่อไปความดีเนี่ยถ้าเรายึดไปนานๆ ยึดไม่วางให้ใครเลย อย่างนี้ฉันถูกคนเดียว คนอื่นผิดหมดอย่างเนี้ยนี่ อาศัยความดีเป็นอยู่ ไอ้ความดีเนี่ย ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่น ไม่วางน่ะ มันก็เกิดชั่วได้เหมือนกัน แน่ะ เกิดชั่วได้เหมือนกัน ตายเพราะความดีนั่นแหละ คือไม่รู้จักใช้ของดี ไม่รู้จักประมาณนั้น เพราะว่าท่านสอนมาให้สร้างความดี ก็ติดดีนั่นแหละ มีความดีมาก็ไม่ปล่อย มีอุปาทานมั่นหมายอยู่ไม่ขาด อันนี้ก็เป็นโทษเหมือนกัน สมที่สุดคือพระพุทธเจ้าท่านให้ปล่อย ให้รู้ดี ให้รู้ชั่ว ถ้ารู้ว่าดีก็ไม่มีโทษ ชั่วก็ไม่มีโทษ เพราะเราปล่อยวางมันทั้งนั้น อย่างนี้เป็นต้น พระพุทธองค์ท่านสอนเข้าไปอย่างนั้น อะไรก็ช่างมันเถอะ 

วันนี้สรุปใจความว่าใจ ใจนี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก มีโทษมาก มีคุณมาก เราจะร้องไห้ก็เพราะใจของเรา เราจะหัวเราะก็เพราะใจของเรา เราจะเสียใจก็เพราะใจของเรา เราจะดีใจก็เพราะใจของเรา ถ้าโยมยังไม่ชัด ดูนะ ถ้ามันโกรธมาน่ะ ดูไปในจิต อืม ใครโกรธ หูมันโกรธ หรือตามันโกรธมั้ย ดูซิโยมจะรู้เหตุมันเกิดมาจากไหนแท้ๆ เอ้อ โยมจะดูนะ เมื่อมันดีใจก็ มันดีมาจากหู หรือมันดีมาจากตา หรือมันดีมาจากใจ ถ้าโยมตามอย่างนี้ สำรวมอย่างนี้ โยมจะรู้จักเหตุมันเกิดมา ถ้ารู้จักเหตุที่มันเกิดมา ก็ไประงับตรงนั้น ตรงที่มันเกิดมานั่น มันก็ระงับตรงนั้น เรียกว่าเราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมถึงจุดมันแล้ว อย่างนี้เป็นต้น 

อะไรทั้งหลายในโลกมันก็จะเปลี่ยนไปเสมออย่างนี้ จะเห็นโลกนี่เป็นโลกะวิทู โลกนี่เป็นโลกะวิทู โลกนี่มีความสม่ำเสมอของมันอยู่อย่างนั้น แต่เราต้องการจะให้มันเป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ เท่านั้นแหละ มันเลยไม่พอใจของเรา พระพุทธเจ้าของเราท่านรู้ เกิดในโลกนี่ ท่านก็เอาโลกไปพิจารณา ท่านเห็นพระนิพพานพ้นทุกข์ ท่านก็เห็นในโลกอันนี้ ท่านจึงจัด โลกะวิทู รู้แจ้งโลก เรามันรู้ไม่แจ้งโลก โลโก มันมีความมืดอยู่อย่างนั้น อันนี้ให้โยมไปพิจารณาดูซิ ให้พิจารณาให้เป็นการบ้านของญาติโยมทั้งหลาย เอ้า วันนี้อาตมาให้ความรู้ให้ความเห็นพอสมควรแล้ว ฉะนั้น อาตมาก็ขอยุติพระสัทธรรมเทศนาไว้เพียงเท่านี้