Skip to content

ค้นหาความสงบ ๑

หลวงพ่อชา สุภัทโท

| PDF | YouTube | AnyFlip |

โอกาสต่อไปนี้ ญาติโยมทั้งหลายจงพากันตั้งใจฟังโอวาสต่อไป จงตั้งอยู่ในความสงบทุกๆท่านเพราะว่าวันนี้เป็นธรรมเทศนาที่ถ่ายทอดออกจากพระองค์หนึ่งไปหาพระองค์หนึ่ง เพราะเกี่ยวแก่การภาษา วันนี้อาตมาได้รับนิมนต์จากคุณแจ็ค ซึ่งเป็นลูกศิษย์เก่าให้มาช่วยอบรมซึ่งธรรมะในที่นี้ด้วย ซึ่งอาตมาที่มาเห็นประชาชนทั้งหลาย ต้องการประพฤติปฏิบัติธรรมะเป็นส่วนมากอยู่ในสถานที่นี้ ก็มีความอิ่มอกอิ่มใจด้วย เพราะว่าในเวลาปัจจุบันนี้ พวกชาวนักปฏิบัติทั้งหลาย หรือชาวมนุษย์ทั้งหลายนั้นพึงมีความเดือดร้อนกระวนกระวาย หาความสงบได้ยาก การระงับซึ่งความวุ่นวายทั้งหลายเหล่านี้นั้น นอกจากความสงบไม่มี ซึ่งแจ็คได้เป็นประธานจัดสถานที่ขึ้น ให้มีความสงบระงับเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่สมควรมากที่สุด 

อย่างเราทั้งหลายจะรู้ได้ง่ายๆว่าวันนี้ซึ่งมีการพูดน้อย หรือมีการไม่พูดนั้น ก็เห็นประโยชน์แล้วว่ามันเป็นอย่างไร มันมีความสงบอย่างไรมั้ย อย่างนี้เราควรจะรู้กันแล้วว่านี่คือความสงบอันหนึ่ง สิ่งที่ให้ทำความสงบนั้นคือธรรมะ ธรรมะคือสภาวะที่ถูกต้องทั้งหมด มีสิ่งที่ถูกต้องนั้นเรียกว่าธรรมะ ธรรมะนี้ไม่มีของใครเป็นเจ้าของ ธรรมะนี้คือความจริง ที่ตั้งอยู่ในโลก เมื่อตั้งโลกมาเมื่อไร สภาวะธรรมทั้งหลายก็ตั้งอยู่อย่างนี้ เหมือนประหนึ่งว่าน้ำในพื้นดิน ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายซึ่งขุดดินลงไปเห็นน้ำ ไม่ใช่ว่าไอ้คนๆนั้นได้แต่?น้ำ น้ำมีอยู่แล้วแต่นาน เราเพียงที่จะว่าขุดบ่อลงไปให้เห็นน้ำเท่านั้น น้ำเป็นสภาพเดิมมีอยู่อย่างนั้น 

ธรรมะนี่ก็เหมือนกันอย่างนั้น ก่อนจะประพฤติธรรมะท่านให้สมาทานซึ่งศีลอย่างพุทธบริษัทได้สมาทานกันวันนี้ เรียกว่าศีล ๘ ประการนั้น เพราะว่าการปฏิบัติธรรมอย่างยอดมันมี ๓ ประการคือ ศีลหนึ่ง สมาธิหนึ่ง ปัญญาหนึ่ง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ที่เราจะมีเครื่องอุปกรณ์รักษาทั้งหลายเหล่านี้ เราทุกคนนั่งอยู่ในที่นี่มีแล้ว มีกายหนึ่ง มีวาจาหนึ่ง มีใจหนึ่ง พร้อมแล้ว สมควรที่จะต้องปฏิบัติธรรมะได้แล้ว ศีลดังกล่าวมานี้มี ๘ ประการนั้น ก็เพียงว่าเป็นข้อห้ามเท่านั้น ยังไม่เป็นศีล เป็นข้อห้าม คล้ายๆกับว่ากฏหมายอันหนึ่งที่ตั้งขึ้นห้าม เป็นกฏหมายเท่านั้น เมื่อมนุษย์เราทั้งหลายนั้นมาประพฤติตาม ปฏิบัติตามข้อห้ามอันนั้น มันก็เกิดเป็นศีลขึ้นมาทุกคน 

การปฏิบัติรวมยอดมีสองประการ หนึ่ง เรียกว่าศีลธรรม สอง เรียกว่าธรรมะล้วน คือการปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์อันแท้จริง มีแล้วใช่มั้ยทุกคน เอากายมาทุกคนมั้ย เอาใจมามั้ย เอาวาจามามั้ย มีพร้อมมั้ย หรือเอาไว้บ้านก็มี หรือเอามาทางนี้หมด ตรวจดูแล้วรู้หละ นี้มีแล้ว เราไม่บกพร่องโดยประการอะไรเลย มีเครื่องอุปกรณ์ทุกอย่าง เราทั้งหลายนั้น มีความเป็นทุกข์เพราะใจขาดอาหาร ขาดอาหารทางใจ ใจเราขาดอาหารที่ดี แต่ว่าอาหารร่างกายของเรามันพอสมควรแล้วทุกคน เหลืออาหารทางใจ คืออาหารทางจิต ที่มาปฏิบัตินี้เราพร้อมที่จะให้อาหารทางจิต ให้จิตเรามันอ้วน อันนี้พูดตามความรู้สึกที่อาตมาได้ก้าวเข้ามาสู่ชาวตะวันตกนี่เป็นอย่างนั้น คือจิตไม่มีอาหาร จิตเรานั้นก็หมายความว่าปล่อยจิตไปตามอารมณ์่ อารมณ์เป็นอย่างไร ก็ปล่อยจิตไปตามอารมณ์อย่างนั้น ผลที่สุดแล้วก็อารมณ์อันนั้นก็ดึงเราไปสู่ความทุกข์ 

เราทั้งหลายไม่มีปัญญา คือมันปราศจากอาหารนั้น เห็นความสุขก็ตะครุบเอา เห็นความทุกข์ก็ไปตะครุบเอา ว่าเห็นสุขเป็นอย่างหนึ่ง เห็นทุกข์มันเป็นอย่างหนึ่ง ไม่รู้จักแก้ไขในส่วนตัวของเรา ใครเคยได้รับความสุขทางใจมั้ย ไอ้ความสุขอยู่นานมั้ย (How about that happiness? Does it stay very long?) นั้น ไอ้ความสุขนั้นมันจริงมั้ย ถ้าความสุขมันจริง ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น อันนี้เราขาดการพิจารณา มิฉะนั้นคุณแจ็คจึงได้ตั้งคณะกรรมฐานขึ้นเนี่ย จะปฏิบัตินั่งให้สงบเพื่อรู้สิ่งทั้งหลายเหล่าเนี้ย ฉะนั้นจึงเป็นเหตุให้เราปฏิบัติธรรมะ อย่างอื่นมีแล้ว พร้อมทุกอย่าง แต่ว่าสิ่งปัญญาที่จะให้รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุให้ทุกข์เกิด รู้จักความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้ไม่มี หรือน้อยเกินไป 

เคยมีทุกข์มั้ย เคยมีสุขมั้ย สุขทุกข์อะไรมีราคามากกว่ากัน รู้มั้ย เคยพิจารณามั้ย อืม เข้าใจอย่างนั้น ถ้าสุขมันจริง ถ้าสุขมันเป็นของแน่นอน มันคงไม่แปรปรวนไปเป็นอย่างอื่น ถ้าความทุกข์มันแน่นอน มันก็ไม่แปรปรวนเป็นอย่างอื่น สองอย่างนี่แหละที่พระพุทธเจ้าที่ผู้รู้ทั้งหลายให้รู้จักธรรมะ สิ่งที่เราตั้งใจปฏิบัติอยู่ปัจจุบันนี้ก็เพื่อระงับความสุขความทุกข์ เรียกว่าความสงบ ความสุขนั้นยังไม่ใช่ธรรมะอันแท้จริง ความทุกข์ก็ยังไม่ใช่ธรรมะอันแท้จริง ความสงบนั้น สงบจากสุข สงบจากทุกข์นั้นเอง โยมทั้งหลายถ้ารู้จัก น้ำตาจะไม่ได้ไหลอีกต่อไปแล้ว ถึงความสงบอย่างนั้นคือธรรมะ 

ที่เรานั่ง นั่งกรรมฐานนี้ มันน่าจะสงบนะ ไม่ได้ไปทำอะไรนะ นั่งอยู่เฉยๆ ดูลมหายใจเข้าออกอย่างนั้น มันก็ยังมีความวุ่นวายอยู่ มันเป็นเพราะอะไรนี่ เคยพิจารณามั้ย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เคยพิจารณามั้ย เนี่ย มันเป็นอย่างเนี้ย มันเป็นปัญหาที่พวกเราทั้งหลายจะได้พิจารณา เพราะว่าธรรมะทั้งหมดนั้น มันตกอยู่ในสภาพความจริง ความจริงนั้นมันซ้อนอยู่ในสิ่งที่ไม่จริง ที่เรียกว่าความเที่ยง มันซ้อนอยู่ในที่ว่ามันไม่เที่ยง พวกเราทั้งหลายก็ไม่รู้จักว่าสิ่งทั้งหลายอย่างนี้มันแปรเปลี่ยนไปได้ ก็เลยไปถืออันเดียวว่าให้มันเป็นอย่างนั้น ก็เลยเป็นทุกข์ ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายจึงพิจารณาแล้วยอมรับ ยอมรับความจริง ที่เราไม่ยอมรับความจริงคือไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามความเป็นจริง มันจึงเกิดความวุ่นวาย เกิดทุกข์ขึ้นมา อย่างนั้นถ้าเรารับว่ามันเป็นจริงอย่างนั้น มันก็เห็นความจริงเท่านั้นแหละ มันจะไปที่ไหนหละ 

เปรียบเทียบเมืองไทย ไอ้เมืองไทย ไทยแลนด์น่ะ ที่ฝึกธรรมะมา ถ้าหากว่ามีการเจ็บป่วยหรือมีอายุมากขึ้นมาป่วย พระท่านจะเทศน์ว่าอันนี้มันเป็นอย่างนี้เองของมัน มันมีเกิดแล้วมันมีแก่ แล้วมีเจ็บ มีตายอย่างนี้ คนแก่เมืองไทยจะยกมือขึ้นรับ เพื่อจะรับพิจารณา ดูเหมือนว่าชาวตะวันตกนี่บางคนมาพูดถึงความแก่แล้ว ไม่อยากจะรับฟัง อยากจะให้มันหนุ่มอยู่เรื่อยอย่างนั้น อันนี้ไม่ใช่ดูถูกชาวตะวันตกนะ ชาวตะวันตกก็เป็นพี่เป็นน้องทั้งหมดนั่นแหละ แต่รู้สึกว่าเป็นอย่างนั้นโดยมาก ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็ยังไม่ยอมรับธรรมะ ไม่ยอมรับความจริง คือปกปิดทุกข์ไว้ในตัวของเราอยู่เสมอ จึงไม่มองเห็นทุกข์ จึงออกจากทุกข์ไม่ได้ เพราะไม่มองเห็นทุกข์นั่นเอง 

อันนี้อาตมาขอฝาก ถึงจะไม่พอใจก็ขอฝากไปพิจารณาดู จะเป็นไง จะจริงมั้ย นั่นแหละคือความจริงแล้ว แต่ว่าลักษณะที่เราไม่ยอมรับนั้น ไม่ยอมรับ คนที่ไม่ยอมรับนั่นแหละเรียกว่าคนยอมรับความทุกข์ไว้ในใจของเรา ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ถูกจุดของธรรมะ เสมอว่าเรามี เราคันศีรษะเรา เราเอามือเรามาเกาขาของเราอย่างนี้ มันไม่ถูกจุดมันน่ะ มันก็ไม่หายความรำคาญนั่นแหละ ถ้าเราคันศีรษะ เราก็เกาที่ศีรษะของเราซะ คันที่ขา เราก็แก้ที่ขาเราซะ ไอ้ความลำบากรำคาญก็หายไปเท่านั้น โยมลองดูซิ วันหลังน่ะ ถ้ามันคันที่ศีรษะ ให้มาเกาขาดูว่ามันจะถูกจุดมันมั้ย นี้เป็นหลักธรรมะ หลักธรรมะทุกวันนี้ทำไมเราทุกข์ไม่หาย คือเราเลี้ยงทุกข์ไว้ นึกว่าทุกข์น่ะมันเป็นของดี จะทิ้งไปก็กลัวมันซะ นึกว่ามันเป็นสุขซะ ก็เลี้ยงทุกข์ไว้ ทุกข์มันก็อยู่สบาย เราก็ร้องไห้ไปเรื่อย ไม่สบาย ให้นั่งก็ไม่สบาย ให้นอนก็ไม่สบาย ให้อาหารดีๆก็ไม่สบาย ใจมันเป็นทุกข์อยู่เพราะอะไร ให้อาหารไม่ถูก อาหารไม่พอมัน ไม่ถูกเรื่องมัน คือเกาไม่ถูกจุดคันมันก็ไม่หาย จะไปแก้โดยวัตถุต่างๆไม่ได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ทุกข์ที่มันเกิดขึ้นมาจะไปแก้ด้วยวัตถุไม่ได้ จะให้วัตถุสร้างขึ้นให้มันพอกับใจของคนน่ะ พอไม่ได้ 

นอกจากว่าเรารู้เรื่องของธรรมะ เรื่องอนิจจังของไม่เที่ยง ทุกขัง ความมันเป็นทุกข์ อนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนอย่างนี้ เป็นความจริงเหลือเกิน เป็นสัจธรรม ถ้าเป็นสัจธรรมจริงๆ รู้เรื่องของอนิจจังเช่นนี้แล้ว ถ้าหากว่าใครนับถือคริสต์อยู่ก็เรียกว่าเห็นพระเจ้า ใครนับถือพุทธก็เรียกว่าเห็นพระพุทธ ถ้าใครไม่เห็นอนิจจัง อยู่ในพุทธศาสนาก็ไม่เจอพระพุทธ อยู่ในคริสต์ก็ไม่เห็นพระเจ้า ก็ไอ้พระเจ้ากับพระพุทธเจ้ามันอันเดียวกันทั้งนั้นแหละ ธรรมะอันเดียวกัน ถ้าเห็นอนิจจังก็เห็นความจริงอันเดียวกันทุกคน ไม่แปรเปลี่ยนไปอย่างอื่น 

ฉะนั้นวันนี้จึงให้ญาติโยมทั้งหลายทำความสงบดูมั้ย เรื่องที่ทำความสงบนี้ บางแห่งก็สงสัยเหมือนกัน การนั่งหลับตาบางคนก็เคยพูดว่า ฉันไม่ไปแล้วนั่งหลับตา แต่ลืมตาอยู่มันก็ยังไม่เห็นนะ จะไปหลับตามันจะไปเห็นอะไร อย่างนี้ แล้วดูในลึกซึ้งเข้าไปอีกว่า เรานั่งแหละลืมตาอย่างเนี้ย ลืมตาเดี๋ยวนี้ เรามองไปเห็นบ้านเรามั้ย มองเห็นบ้าน สายตาเราถึงมั้ย ถ้าหลับตาแล้วอย่างนี้ เอาจิตเพ่งไปถึงบ้านเราได้มั้ย ดูอย่างนี้ ฉะนั้นท่านจึงให้นั่งสมาธิ ให้มันรวมเข้ามา ให้เป็นกำลังเพื่อให้แก้ปัญหาต่างๆได้ ไอ้ความเป็นจริงแล้ว อาตมาสอนกรรมฐานที่นี่ พูดหลายไปซะหน่อยนึง  ไอ้ความเป็นจริงของไม่มากขนาดนั้น ของนิดเดียวเท่านั้นแหละ ไม่ใช่ของมากอย่างนั้น นี่พูดตามอาการของจิตเท่านั้นแหละ ไอ้เรื่องปฏิบัติให้ที่สงบ ไม่มีอะไรมาก 

อย่างแจ็คว่าไม่ให้พูดอย่างนี้ ก็ดีแล้ว พูดไม่ค่อยพูดกับคนอื่น ก็พูดกับตัวเราน่ะ นั่งก็พูดอยู่อย่างนั้นหละ ถ้ามีปัญหาก็พูดอยู่…อย่างนั้นแหละ พูดกับตัวเรา ถามตัวเราอยู่อย่างนั้นแหละ นี่เรียกว่าผู้ที่มีความสงบ ไม่ใช่ผู้ที่มีความวุ่นวาย เคยพูดมั้ย เคยพูดกับตัวของตัวมั้ย ที่ห้ามไม่ให้พูดกับคนอื่นน่ะ เคยพูดกับตัวของเรามั้ย เคยพิจารณามั้ยเนี่ย นี่คือจุดธรรมะจะเกิดขึ้นตรงนั้น ธรรมะจะเกิดขึ้นตรงนั้น ความจริงจะเกิดขึ้นตรงนั้น ปัญหาจะเกิดขึ้นตรงนั้น ไอ้การแก้ปัญหาจะเกิดขึ้นตรงนั้น ตรงนั้นเป็นที่เกิดของธรรมะ ตรงนั้นเป็นเหตุที่เกิดธรรมะ ไอ้สิ่งที่มันวุ่นอยู่นั่นน่ะ อาการที่เราทำไปด้วยกายของเราก็ดี พูดด้วยวาจาของเราก็ดี เราจะไปอะไรทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำมาแล้วเป็นอดีตนั้น บัดนี้เราจะมานั่งให้มันสงบ มันจะรวมเข้ามา มันมากเหลือเกิน มันมากๆ ไม่รู้มันมาจากไหน เราไม่รู้จักว่ามันมาจากไหน เราไม่ได้เก็บมันมารวมไว้ ก็มันมีสุขเราก็ปล่อยมันไปซะ มันมีทุกข์ก็ปล่อยมันไปซะ มันจะเที่ยวที่ไหนก็ปล่อยมันไปซะ มันไม่รวมกัน ก็รู้ว่ามันไม่มีอะไร ถ้ามานั่งหละบางคน แหม นั่งไม่ค่อยจะได้เลย มันมามากเหลือเกิน คือมันมารวมกันแล้ว มันปิดข้างนอกไว้ มารวมข้างในอย่างนี้ 

บางคนก็รำคาญใจ ตรงนั้นแหละ ตรงธรรมะจะบังเกิดขึ้นมา ความจริงจะเกิดขึ้นตรงนั้น ให้อดทน นั่นแหละท่านเรียกว่าอารมณ์มันเข้ามาทางตา และ หู จมูก ลิ้น กาย จิต มารวมอยู่ที่จิตนี้ นั่นเรียกว่าช่องอารมณ์ อันนั้นแหละมายั่วยวนจิตของเราที่ไม่ให้สงบ ยั่วยวนจิตของเราไม่ให้สงบคืออารมณ์ ที่เรามานั่งอย่างนี้ คือให้รู้จักอารมณ์ อารมณ์นี้ก็สักว่าอารมณ์เท่านั้น มีความสุขขึ้นก็วูบเดียวก็หายไป มีทุกข์เกิดแล้วหายไปเท่านั้น ก็ไม่มีอะไรมากมาย ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ลิ้น ๑ กาย ๑ นี้เรียกว่า มรรค ๘ ประการ ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ลิ้น ๑​ กาย ๑ ใจเป็นผู้ที่เดินมรรค แต่ว่ามรรคอยู่ในตำราไม่อย่างนี้นะ อยู่ในหนังสือ ไม่ใช่อย่างนี้ อันนี้มรรคที่ให้เราเห็นชัดในตัวของเรานี่ ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ลิ้น ๑ กาย ๑ นี่ จิตเป็นคนเดิน นี่ก็คือมรรค อันนี้แจ็คก็พูดไปแล้วแหละ มรรค อาตมาพูด มรรค ที่มานั่งอยู่ตรงเนี้ย มีอยู่เนี่ย น้อมเข้ามาเห็นในตัวของเรานี้ คือ มรรค 

มรรค ท่านแปลว่าทางเดิน หูนี่ก็เป็นทางเดินเข้ามาแห่งเสียงนี่ จมูกนี่ก็เป็นทางเดินเข้ามาแห่งกลิ่น ลิ้นนี่ก็เป็นทางเดินเข้ามาแห่งรสทั้งหลาย โผฏฐัพพะคือร่างกายสำหรับถูกต้อง เป็นทางเดินเข้ามาแห่งโผฏฐัพพะ เดินเข้ามาอย่างนี้ เป็นทางกาย ทางจิตเป็นคนรับ สำหรับที่รู้เรื่องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทั้งหมด มิฉะนั้นแจ็คจึงตั้งข้อปฏิบัติขึ้นมาตรงนี้ ถ้าเน้นทำสมาธิ ให้กำหนดจิต กำหนดจิตอย่างเดียว คือมรรคทั้งหลายมันมารวมอยู่ที่จิตแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย มารวมอยู่ที่จิต เราจึงเอาจิตอันนี้แหละ ฝึกจิตอันนี้ให้อยู่กับลมหายใจ เรียกว่าการทำใจให้เป็นหนึ่ง ถ้าทำเช่นนี้เราจะรู้จักจิตของเรา แล้วก็รู้จักอารมณ์ของเรา แยกออกกันเป็นจิตเป็นอารมณ์ ถ้าแยกไม่ออกแล้วก็เป็นทุกข์ ลำบาก ให้โทษอย่างอื่นเรื่อยๆไป 

เช่นว่าจิตนี่บางครั้ง จิตบางครั้งนี่มันเกิดโทสะขึ้นมา เกิดโทสะขึ้นมา ไม่ใช่จิตที่มันเกิดตัวนั้นขึ้นมา มันมีอารมณ์มากระทบให้จิตหลงเป็นโทสะขึ้นมา เช่นแก้วใบเนี้ย ถ้าใจเราไม่มีโทสะเราก็สบาย ใส่น้ำกินสบายนะ อีกวันหนึ่ง จิตมันจะกระทบซึ่งอารมณ์ ถูกยุแหย่ของอารมณ์ให้จิตโกรธขึ้นมากที่สุด อาจจะเอาถ้วยใบนี้พุ่งไปที่ดินก็ได้ ใส่ไม้แตก อย่างนี้ นี่มันเกิดโทษอย่างหนึ่ง คือไม่รู้เรื่องจิตของเรา แล้วมันเกิดเป็นกิเลสอย่างนั้น ไอ้ความเป็นจริงน่ะ ถ้วยใบนี้น่ะ มันไม่มีอะไร จะเอามันขว้างไป มันแตก มันก็ไม่มีอะไร จะวางไว้ก็ไม่มีอะไร ไอ้ทุกวันๆใช้ถ้วยใบนี้มีประโยชน์ ใจดี ถ้าใจมีกิเลสขึ้นมา เอาถ้วยนี่ขว้างไปทิ้งก็ได้ แตกก็ได้ ใครผิดน่ะ ถ้วยผิดหรือจิตของเรามันผิด ทำไมไม่เป็นอย่างนั้นทุกวัน ถ้าเป็นอย่างนั้นทุกวัน เห็นจะไม่มีถ้วยใส่เนอะ นี่มันแน่นอนยังไงมั้ย คิดว่าจิตที่มันโกรธขึ้นมา มันก็พุ่งขึ้นมา เห็นอันนี้ไม่ชอบใจก็ทิ้งไป เห็นอันนี้ไม่ดี ไอ้ความเป็นจริง อันนี้ไม่มีอะไร มันอยู่อย่างนี้ เพราะความเห็นผิดที่มันเกิดขึ้นนี่เป็นกิเลสทั้งนั้นแหละ จึงทุบแก้วนี่ทิ้งไป ทุบถ้วยนี่ทิ้งไป ไอ้ความเป็นจริง ทำเช่นนั้นมันไม่เป็นประโยชน์ ไอ้ถ้วยใบนี้มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ ขนาดนั้นก็ยังไม่รู้จักตัวของเรานะ ไม่รู้จักตัว ไม่รู้จักแก้ไขของเราทั้งนั้นแหละ ถ้าเป็นเช่นนั้นมันก็ขนเอาถ้วยมาทุบทิ้งหมดเท่านั้นแหละ 

อย่างมาแก้จิตของเจ้าของ โทษอยู่ตรงนี้ ไปให้โทษคนอื่นอย่างนั้น อันนี้เรื่องอาการของจิตมันเป็นอย่างนี้ เราหลงอารมณ์อันนี้ อันนี้วันนี้ฟังให้ดีนะ บางคนจะเข้าใจว่าท่านอาจารย์นี่พูดธรรมะอะไรอย่างนั้น นี่คือตัวธรรมะแท้ๆ ธรรมะๆก็ต้องเป็นอย่างนี้ อะไรที่เป็นธรรมะ อะไรที่ไม่เป็นธรรมะไม่มี อยู่ในนี้มีธรรมะทั้งนั้น โยมนั่งทับก็ธรรมะทั้งนั้นแหละ นอนทับก็ธรรมะทั้งนั้นแหละ ไอ้ความเป็นจริงมันเป็นธรรมะทั้งนั้น ไม่จบธรรมะ ไม่จบ ธรรมะมันมีอยู่ทั่วไป ไม่ใช่ว่าธรรมะมันมีอยู่ในตัวหนังสือ ตัวหนังสือนั่นก็ชี้บอกธรรมะ ไม่ใช่ตัวธรรมะ อาตมาเทศน์วันนี้ก็เทศน์เรื่องธรรมะ ไม่ใช่ตัวธรรมะ ถ้าตัวธรรมะนั่น โยมจะปฏิบัติจะรู้ชัดเองอย่างนั้นขึ้นในจิตของโยมนั่นเอง 

วันนี้พูดธรรมะแล้วก็ วันนี้จะไม่พูดมากต่อนี้ไป ก็จะให้มีความสงสัยอะไรเล็กๆน้อยๆจะให้ถามปัญหา เวลาไม่มาก พูดธรรมะมันจบไม่ได้หรอก พูดกันทั้งวันทั้งคืน มันก็ไปของมันอยู่อย่างนั้น สงสัยหลายนะ พวกชาวตะวันตกนี่สงสัยมากจนเกินไม่หยุด ยิ่งเข้าไปดูนิวยอร์คนะ ปัญหามากเหลือเกิน คนนี่จึงมีปัญหามาก แต่นี่ให้โอกาสแล้ว ก็ยังอยู่อีกหลายวัน ค่อยๆศึกษาไป ยังอยู่หลายวัน ที่มาทำนี้ก็เรียกว่า มาเปลี่ยน มาเปลี่ยนของไม่มีราคาทิ้ง เอาของมีราคาเข้ามาไว้ เขี่ยมันออกไป เขี่ยออก ของไม่ดีในใจ ยังมีอยู่มั้ย ยังเหลืออยู่มั้ย นี่แหละ ที่มีเราก็รู้ ที่มานี่ พยายามเขี่ยนี่ออก อันนี้มันพาวุ่นวายอยู่นี่ เป็นเรื่องราวของที่ไม่ดี มันวุ่นวายในตัวคนทุกๆคนนี่ มาทำเช่นนี้ก็มาเพื่อละความชั่ว ละเครื่องที่มันวุ่นวายออก ไอ้เครื่องวุ่นวายนี่ก็ต้องรู้จักทุกคนละมั้งนี่ ให้ถามเจ้าของเองเถอะ สบายดีมั้ย ไม่ได้พูดแล้ว อะไรมันจะมาเกิดมารู้ว่า ไอ้ที่ควรหรือไม่ควร ดีหรือไม่ดีนั้นรู้จัก จิตของเจ้าของต้องแก้เอาเอง รู้เรื่องแล้วต้องแก้เอาเอง เขี่ยมันออก ค่อยๆเขี่ยออก พยายามเขี่ย ไม่งั้นมันไม่หมดง่ายๆนะ นานนะ มันมาก 

ธรรมะนี่ฟังง่ายนะ แต่ทำยาก ฟังง่าย ทำยาก เป็นอย่างนั้นมั้ย เอ้อ นั่นแหละ เป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนั้น ฟังง่ายๆ แต่จะทำน่ะมันยาก ก็ดูซิท่านยังนั่ง ตาก็ให้หลับแล้ว มือก็วางไว้หมดแล้ว ให้มีลมหายใจอย่างเดียวเท่านี้น่ะ ก็ยังไม่ชอบจะทำเลยนะ ไม่สบาย หรือคิดนู่นคิดนี่ ไม่รู้ว่าจะไปเอาอะไรมาอีกเสียแล้ว มันน่าจะสบายแล้วน่ะ นั่งเฉยๆ ดูลมหายใจออก มันสบาย อาตมาว่ามันหมดเท่านั้นแหละ มันสบายแล้วอันนี้ อันนี้มันยังคิดไปถึงโน่น อันนี้ว่าเอามาใส่ มันวุ่น ของเก่าที่สะสมไว้นานแล้ว มันเกิดขึ้นมาเป็นพญามารนี่ ไม่ใช่อื่นหรอก ก็เขี่ยออกไปหมด ถ้าเขี่ยออกไปหมด ไม่มีอะไรจะเขี่ย เราก็นั่งสบาย เดินสบาย นั่งสบาย นอนสบาย สงบเลย เท่านั้นแหละ ความหมายไม่มีอะไรหรอก เขี่ยของเก่าออก ของใหม่อย่าเพิ่มเข้ามา มันก็หมดเท่านั้นแหละ แต่มันฟังง่าย แต่มันทำยาก 

อย่าไปแก้ที่อื่น แก้ที่ตัวเรานี้ ไอ้ความชั่วทั้งหลาย ไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่ที่นี้ ไม่ใช่อยู่ในป่านี่ ไม่อยู่ในทะเล ไม่อยู่บนอากาศ อยู่ที่นี้ ป่านี่มันไม่มาทุกข์กับเราหรอก ทะเลไม่มาทุกข์กับเราหรอก ข้างนอกไม่ได้มาทุกข์กับเรา เรามันปรุงแต่งขึ้นในตัวของเรานี่เอง มันเกิดอยู่ที่นี่ ก็ทำให้มันดับลงตรงนี้แหละ มันเกิดที่นี่ ทุกคนต้องเอาไปภาวนาพิจารณา ปีที่ต่อไป วันที่ต่อไป ทำกรรมฐานให้มันดีขึ้นๆๆ ดีขึ้นมากๆ ดีขึ้น เมื่อมันดีขึ้นมากๆ ก็อยู่เหนือดีเท่านั้นแหละ ก็เลยบวชเท่านั้น ชั่วก็ไม่อยู่มัน ดีอยู่ก็ไม่อยู่ อยู่เหนือดี ทีแรกก็ทำชั่ว ละมันออกไป แต่มันดีมันก็เกิดขึ้นมานะ เมื่อดี ดีขึ้นมา ไม่รู้จะดีกว่าชั่วอีกนะ เป็นทุกข์อยู่นะ ขึ้นข้างบนมันซะ อยู่เหนือดีเหนือชั่วเลย สบาย ใช่มั้ย

ค้นหาความสงบ ๒

ขอโอกาสกับท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ต่อไปนี้คุณแจ็คขอนิมนต์ให้บรรยายธรรมะกับพวกท่านทั้งหลายด้วย ดังนั้นจงตั้งใจฟังด้วยปัญญา โอกาสไม่ค่อยจะมาก หรืออีกประการหนึ่งพวกเราทั้งหลายนั้นก็ได้อบรมมาแล้วพอสมควร วันนี้หรือคราวนี้ก็นึกว่าเป็นโชคดีของอาตมาด้วย ของท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลายด้วยที่ได้มาพบกันในที่นี้ มาพักที่นี่ก็ได้รับอุปการะจากพวกท่านทั้งหลาย ได้ความสบายทุกประการ ดังนั้นอาตมาจึงจะขอมอบคำพูดหรือมอบธรรมะอันเป็นสิ่งที่จำเป็นกับพวกท่านทั้งหลายด้วย 

พวกเราท่านทั้งหลาย เกิดมาเป็นมนุษย์ในโลก ก็เป็นผู้มีความคิดแปลกต่างกับพวกโลกทั้งหลาย แล้วพวกโลกทั้งหลายเค้าอยู่ที่สนุกสุขสบาย แต่เราอยู่ในป่าอย่างนี้ก็เห็นที่มีความหมายอย่างประเสริฐ และเราแสวงหาที่สงบระงับ ตามหน้าที่ของผู้ชอบความสงบระงับ การประพฤติปฏิบัติธรรมะที่เราจะต้องประพฤติปฏิบัติในเวลานี้ ธรรมะสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่ไม่บรรจุธรรมะไม่มี อย่างนั้นธรรมะจึงมีทั่วไปในสกลโลกอันนี้ ที่เป็นรูปก็เป็นธรรมะ ที่เป็นอรูปก็เป็นธรรมะทั้งนั้น แต่ท่านให้แสวงหาธรรมะ หาที่ปฏิบัติธรรมะ หาในที่มันสงบระงับเพื่อทำจิตให้สงบระงับ อยู่ที่ไหนก็ตาม 

พระมุนีท่านตรัสว่าให้รู้จักโทษ ปฏิบัติให้รู้จักโทษ ให้รู้โทษอย่างสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นตามความเป็นจริง ไอ้ความสงบนี้มันก็ดี แต่ว่าถ้าไม่รู้จักความเป็นจริงของมันแล้ว ก็เป็นโทษเหมือนกันนะความสงบนี้ ความสงบนี้มันก็มีโทษของมัน มันให้เราสงบ มันให้อยู่สบายเป็นสุขอย่างนี้ ก็ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเหมือนกัน เมื่อไปพบที่ไม่สงบแล้วก็เกิดความวุ่นวายขึ้นอีก อย่างนั้นจึงสถานที่ภายนอก จึงจัดว่าไม่เป็นสถานที่หมดจดอย่างดีที่หาความสงบ แต่ท่านให้ยึดสถานที่ที่สงบให้เป็นที่ปฏิบัติเท่านั้น แต่ว่าไม่ให้มั่น ให้ยึดแต่ว่าไม่ให้มั่น เพราะว่าสถานที่ปฏิบัติธรรมะที่ถูกต้อง ท่านจึงจัดว่ามันอยู่ที่มรรค คือ สัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้องตามสัจธรรม ก็คือสัมมาทิฐิ สุขท่านก็อยู่ตรงนั้นไม่ได้ ทุกข์ก็อยู่ตรงนั้นไม่ได้ แต่มีสุขเกิดมา ท่านให้ยึด แต่ไม่ให้มั่น มีทุกข์เกิดขึ้นมาท่านก็ให้ยึด แต่ว่าท่านไม่ให้มั่น อันนี้คงเข้าใจ ถ้าติดอยู่ในความสุข ติดอยู่ในความสงบ มันก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยโค ถ้าติดอยู่ในความไม่สงบ มันก็เป็น อัตตกิลมถานุโยโค 

ดังนั้นการปฏิบัตินี้จึงจะต้องให้ปัญญาเกิด ให้รู้จักโดยปัญญา อยู่ด้วยปัญญา ฟังด้วยปัญญา ดูด้วยปัญญา การกระทำทุกอย่างทำด้วยปัญญาทั้งนั้น การปฏิบัติธรรมะ การรู้ธรรมะกับปฏิบัติธรรมะมันมีสองอย่าง มีกายอย่างหนึ่ง มีจิตอย่างหนึ่ง สองประการนี้เท่านั้น ไม่ต้องรู้มากเรียนมากอะไรมากมาย มีกายกับจิตเท่านี้ก็พอ เห็นอะไรทุกอย่าง น้อมเข้ามาเป็นโอปนยิกธรรมให้เห็นเฉพาะกายจิตเจ้าของนี้ อันนี้อาตมาเห็นในเฉพาะในตัวเอง 

ในสมัยหนึ่งเข้าไปอยู่ในป่า สงบ แต่เมื่อออกมาแล้ว มาติดบาตรคน บ้านคน เค้ามาเล่นดนตรีกันอยู่ ไม่สงบ รำคาญ ทำไมถึงรำคาญอย่างนั้น ก็เพราะว่าเสียงดนตรีมากวนเรา มีความเห็นผิดอย่างนี้ อยู่ไปก็ไม่สบายใจ เพราะเข้าใจว่าเสียงดนตรีมากวนเรา อยู่ไปหลายวัน ทุกข์มันเกิดมาไม่หยุด ไม่หนีจากที่นั่น เลยเปลี่ยนความรู้สึกว่า อืม เรานี่มันผิดหรือถูกนี่ คิดใหม่ พิจารณาใหม่ เกิดความรู้สึกขึ้นมา อันนี้ไม่ใช่เขามากวนเรานี่ ดูไปแล้วเราไปกวนเค้า เนี่ย มันหลงขนาดนี้นะ เราไปกวนเค้าก็เข้าใจว่าเค้ามากวนเรา มันผิดแท้ๆอย่างนี้ มันก็เป็นเหตุให้เราไม่สบาย อันนี้ก็เป็นธรรมะนอกคัมภีร์ เป็นตำรานอกคัมภีร์เหมือนกัน ถ้าเราคงจะไปอ่านในคัมภีร์ คงจะไม่รู้หรอก ไม่รู้ว่าอันนี้มันเป็นยังไงกัน อันนี้ไปนั่งอยู่ในป่า เอากายไปนั่ง ทำจิตให้สงบ ปัญญามันเกิดขึ้นมานี่เรียกว่า มันดูในจิตของเจ้าของนั่น เกิดความรู้สึกขึ้นอย่างนี้ มันก็ตัดปัญหานั้นได้ 

นั่นแหละจึงได้มาเห็นเพื่อนมาปฏิบัติ จึงอยากจะขอฝากไว้ อย่าเพิ่งลืมตัวนะ อย่าเพิ่งลืม เคยพลาดมาแล้ว พลาดมา นึกว่าไม่มีอะไรนะ ไม่มีอะไร ให้เหมือนอย่างหนึ่งก็เหมือนไม้สองอัน ไม้อันหนึ่งมันยาวซักฟุตนึง อย่างนี้เป็นต้น ถ้ามีไม้อันเดียว เรามองขึ้น ถึงถามไม่รู้ว่าไม้มันสั้นมันยาว เพราะไม่มีเครื่องวัด ถ้าเอาไม้อันหนึ่งมาวัดเข้าไปอีกสองฟุต จะเห็นว่าไม้เรามันสั้น ถ้าเอามาวัดใหม่ เอาซักครึ่งฟุตมาวัด จะเห็นว่าไม้เราที่เราถืออยู่นี่มันยาว อันนี้ธรรมะนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น เมื่อมีเหตุมากระทบ มันจึงฟุ้งขึ้นมา 

การปฏิบัติหาทางพ้นทุกข์นี้ ทุกวันมีครูมีอาจารย์มาก ทุกวันนี้ มีครูมีอาจารย์มาก แล้วแต่อุบายที่ครูอาจารย์จะสอนไป ถ้าเราไม่รู้ทั่วถึง ก็ลำบากทุกวันนี้ มันเป็นของที่ลำบากเหมือนกัน ไม่รู้จะเอาอะไรต่ออะไร มันเป็นของลำบาก ถ้าเรามีปัญญารู้จักเช่นว่า เค้าเรียนกรรมฐานกันทุกวันนี้ เรียกว่า เรียนวิปัสสนา หรือ สมถะ หรือ วิปัสสนาอย่างนี้เป็นต้น อันนั้นเป็นคำที่สมมุติขึ้นมา ภาษาที่สมมุติขึ้นมา แต่อาตมาเห็นว่ารวมเข้าทั้งสองอย่างนี้ว่าการปฏิบัติธรรมะ เท่านั้นน่ะ ที่เราปฏิบัติธรรมะ มันทำควบกันไปเลย ทำทั้งสองอย่างไปในตัวเลย ทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา เป็นไปในนั้นเลย 

เช่นว่าเราทำจิตให้สงบเนี่ย ทำจิตให้สงบนี้ สงบด้วยจิตที่สงบนี้ สงบด้วยสองประการ สองอย่าง หนึ่ง ที่เรามาอยู่ในป่านี้ ไม่ค่อยได้ยินเสียง ไม่ค่อยได้เห็นรูป จิตมันก็สงบ อย่างหนึ่ง สงบนี้จึงเป็นขั้นที่สงบอันแรก ต่อไปนั้นท่านก็พยายามให้เกิดปัญญา เปลี่ยนซึ่งอารมณ์ทั้งหลายให้รู้ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สามประการนี้ เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา คือเป็นอารมณ์ที่ให้จิตเกิดปัญญา ไม่ใช่อื่น ตรงนี้ไม่ต้องกำหนดอะไรมาก จะยืน เดิน นั่ง นอน ทุกอิริยาบถ เมื่อถูกอารมณ์มาเมื่อไหร่ ให้ระลึกเสมอเมื่อนั้น มีสติอยู่ว่า อันนี้ถ้าเรามีความสุขทางใจ หรือได้อารมณ์ทางจิตเกิดขึ้นก็ดี ก็เรียกว่าอันนี้มันไม่แน่ เมื่อทุกข์เกิดมา ก็เรียกว่ามันไม่แน่ อะไรทุกอย่างเกิดขึ้นมาตรงนั้น บอกว่ามันไม่แน่ทุกขณะไป เท่านี้น่ะ นานๆไปจิตของเรามันจะลุกขึ้นมาเห็นว่า เออ อันนี้มันก็ไม่แน่ อย่างนั้นมันก็ไม่แน่ เป็นของไม่แน่นอนทั้งนั้น เห็นอะไรๆที่เป็นของไม่แน่นอน เป็นของไม่จริงไม่จัง จิตใจเรานี้ก็เลยไม่เอาจริงจังกับมันเท่านั้นแหละ อันนี้มันก็เปลี่ยนอารมณ์ของเราเหมือนกัน 

สมัยก่อนที่เราเห็นว่าอันนี้มันจริง สุขนี่มันจริง ทุกข์นี่มันจริง อะไรที่มันจริงจังทั้งนั้น เราไปเข้าใจจนเกินไปซะ ไปเอาจริงเอาจังกับสิ่งที่ว่ามันไม่จริงไม่จังนั้น บางทีมันเปลี่ยนไป ก็ผิดหวัง เราก็ทุกข์เกิดขึ้นมา เปลี่ยนไปเมื่อไรก็ผิดหวัง เรามาทุกข์เกิดขึ้นมา มันก็เกิดปัญหาอยู่เรื่อย ถ้าเห็นเรื่องของไม่จริงจังในธรรมทั้งหลายแล้ว จิตใจเรามันก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่น ปัญหามันก็หมดไป เมื่อปัญหาหมดไป ก็เรียกว่าไม่มีอะไรแล้ว สงบ ทางปัญญาก็เกิดขึ้น 

ใครเคยมีความทุกข์ทางใจมั้ย ใครมี ใครเห็นทุกข์เกิดขึ้นทางใจมั้ย ใครเคยเห็นมั้ย นี่คือข้อปฏิบัติธรรมที่มันเกิดตรงนั้นแหละ เกิดที่จิตของเรานั้นแหละ เกิดตรงนั้นมันจะดับลงตรงนั้น ฉะนั้นพระองค์จึงให้พิจารณาอยู่ที่จิตของเรา สุขมันก็ไม่ไปเกิดอยู่ภูเขาหรอก ทุกข์ก็ไม่ไปเกิดอยู่ภูเขาหรอก สุขทุกข์มันเกิดที่ใจของเรานั้น ไม่ใช่ที่อื่น นี่ท่านจึงให้รู้จักสมมุติอันนี้ เช่นว่า ไอ้ทุกข์มันจะเกิดขึ้นมานั่นน่ะ หนึ่ง สุขทุกข์เกิด เป็นสุขทุกข์ของธรรมดาอย่างหนึ่ง ทุกข์อันเกิดจากอุปาทานอย่างหนึ่ง ไอ้คนที่ไม่มีทุกข์ไม่มีหรอก แต่ว่ามันมีทุกข์ประจำสังขารเช่นว่าเราป่วยอย่างนี้เป็นต้น นี่ก็มีทุกข์ ถ้าเราคิดไปถูกเรื่องของมัน เรื่องป่วยก็เป็นเรื่องธรรมดาของมันนะ อย่างนี้มันไม่แน่หรอก เช่นนี้ หรืออาการที่เราเจ็บปวด เอาเข็มมาฉีดเข้าไปตรงนี้ ฉีดยานี่ มันก็เจ็บเหมือนกัน เจ็บอะไร เจ็บเฉพาะเอาเข็มมาแทงในหนัง มันก็เจ็บน่ะ สัมผัสมันเจ็บ พระพุทธเจ้าก็เจ็บ พระอรหันต์ก็เจ็บ แต่ว่าเจ็บนั้น เป็นเจ็บธรรมดา ทุกคนจะต้องเจ็บเป็นธรรมดา สัมผัสนี่ว่าให้รู้จัก อันนี้เป็นธรรมดาเหลือเกิน 

ที่ท่านให้รู้จักอีกประการหนึ่งที่มากที่สุดคือ ไอ้ทุกข์ที่มันเกิดมาจากอุปาทาน นั่นเป็นทุกข์ เกิดมาจากกิเลสจริงๆ อุปาทานเหมือนฉีดยา เอาเข็มที่เราไปอาบด้วยยาพิษ เอาเข็มอาบด้วยยาพิษแล้วมาฉีดเข้าไป แหม อันนี้มันเจ็บมันปวดเหนือธรรมดาเหลือเกินนะ เนี่ย ไม่ใช่ธรรมดาแล้ว นี่ สุขเพราะอุปาทาน ทุกข์เพราะมีอุปาทาน เป็นแบบนี้ เหมือนกับที่เอาเข็มไปอาบน้ำยา มาฉีดเข้าไป ปวดเจ็บจนตาย จนให้คนตาย อะไรเราเกลียด มีอุปาทาน ความรู้สึกขึ้นมา สุขทุกข์มีอุปาทาน แม้อย่างน้อยก็ต้องตายทั้งเป็น รู้จักอันนั้นที่มันพิจารณาธรรมที่ตรงไหน ธรรมมันเกิดตรงไหน มันดับตรงไหนเนี่ย อย่าไปดูที่อื่น ดูที่จิตของเรา 

จิตนี้มันเป็นกำลังมากที่สุดนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างนี้ก็เป็นลักษณะทั้งนั้นแหละ ไม่มีอะไรเลย เหมือนกับรถยนต์ รถยนต์ ตารถยนต์มันัมีแสงใหญ่สว่างอย่างนั้น แต่รถยนต์มันเห็นมั้ย หรือคนนั่งอยู่บนรถมันเห็นน่ะ ตัวรถยนต์มันเห็นแสงสว่างหรือเปล่า นี่ก็เหมือนกันน่ะ ไอ้ความเป็นจริง แสงสว่างเกิดจากตารถยนต์ แต่รถยนต์ไม่เห็น เราก็เหมือนกัน น้อมเข้ามาเป็นโอปนยิกธรรม เราอยู่ในสถานที่ที่เราสงบ สงบอยู่ที่นี่ในป่านี้ ในถิ่นนี้ แต่เราก็ต้องการความสงบ บางทีบางคนมาอยู่ที่นี่ มันก็ไม่เห็นความสงบเหมือนกัน เหมือนกับรถยนต์ มีตาแต่ว่ารถยนต์ไม่เห็น คนนั่งอยู่บนรถยนต์นั่นเห็น อย่างนี้เหมือนกัน 

ให้เรารู้จักว่าธรรมทั้งหลายมันเกิดขึ้นที่ไหน ดับที่ตรงไหน อะไรมันเป็นอย่างไร ให้เห็นให้รู้จัก ธรรมะเป็นเรื่องอุบายอย่างนี้ เพราะว่าธรรมะเรามองไม่เห็นชัด ไม่มีอะไร มีเรื่องอุบาย อาตมาจึงชอบพูดธรรมะและพูดเรื่องอุบายให้เห็นอย่างนี้ เช่นว่าเราเห็นโลกนี่วุ่นวาย อันความเป็นจริงนี่ โลกไม่วุ่นวาย เราวุ่นวายเองของเรา ให้น้อมเข้ามาเช่นเห็นต้นไม้ต้นหนึ่ง มันแก่ ใบมันร่วงลงไปนี่ เรามองเห็นก็ รู้จักแล้วว่าเห็นต้นไม้ก็มองเข้ามาเราว่า ปัจจตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อย่างนี้ ต้นไม้มันแก่ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ตัวเราแก่ก็ต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้เห็นธรรมที่เสมอกันแล้ว เห็นข้างนอกก็เห็นข้างใน เห็นข้างในก็เห็นข้างนอก อันนี้ก็เป็นอนุสติเราอย่างหนึ่ง ที่จะปลงสังขารพิจารณาเรื่อยไป 

เมื่อเรารู้จักธรรมะเช่นนี้ก็เหมือนกับคนที่เดินทางไป เดินไปแล้วก็เดินทางกลับมา แล้วก็หยุดอยู่ นี่เป็นลักษณะของคนเดิน คนกลับ เดินไปก็ได้ กลับมาก็ได้ หยุดอยู่ก็ได้ แต่ธรรมะที่พระพุทธเจ้า หรือที่นักปราชญ์ทั้งหลายท่านสอนว่า เมื่อจิตถึงธรรมะอันแท้จริงแล้ว อาการเดินไปก็ไม่มี อาการกลับมาก็ไม่มี อาการหยุดอยู่ก็ไม่มี นี่เข้าใจมั้ยว่าจะอยู่ที่ตรงไหน สิ่งทั้งหลายนี้มันจะปรากฏขึ้นมากับผู้ปฏิบัติ อันนี้เป็นธรรมที่เรียกว่ามันเป็นสัจธรรมที่ตั้งอยู่ ไม่ใช่ของใครทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ของใครทั้งนั้นนะ อันนี้เป็นสัจธรรมอยู่อย่างเนี้ย ไม่ใช่ของใคร ไม่ไปกับใครทั้งนั้น อยู่อย่างนั้นหละ เดินไปก็ไม่ไป ถอยกลับก็ไม่ถอย ยืนหยุดอยู่ก็ไม่หยุดอยู่เหมือนกัน ไม่มี ไม่มีการเดินไป ไม่มีการถอยกลับ ไม่มีการหยุดอยู่ อย่างเนี้ย อันนี้ธรรมที่เป็นปัจจตัง ถ้าผู้ประพฤติปฏิบัติไปถึงที่ตรงนั้นจะไม่สงสัยอะไรทั้งนั้น จบลงที่ตรงนั้นน่ะ 

อย่างนั้นการปฏิบัติเช่นนี้ก็ดีแล้ว แต่ว่าระยะหนึ่งก็ปฏิบัติเป็นชั่วสิบวัน ยี่สิบวัน เดือนหนึ่ง หรือตอนเช้า ตอนเย็นเราได้มานั่งความสงบอย่างนี้ก็ดี แต่ว่ามันยังไม่ยิ่ง ถ้าหากว่าให้มันยิ่ง การสมาธินั้นก็ไม่ใช่การนั่งอย่างเดียว ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นสมาธิ เป็นวงกลมอยู่เรื่อย ให้เรามีสติ พูดถึงด้านจิตใจผู้ประพฤติปฏิบัตินี่เป็นวงกลม มีสติ ไม่ใช่ว่า บางทีก็เข้าใจว่าเรานั่งกรรมฐานนี่ เราเลิกจากการกระทำนี้แล้วก็หมดกรรมฐาน ไม่ใช่อย่างนั้น อย่าให้มันหมดสิ ไม่ใช่ว่าเหมือนกับเราบริโภคข้าวนี่ บริโภคข้าวมันอิ่มแล้ว ออกจากที่นั่ง เดินไปก็ยังอิ่ม นอนมันก็ยังอิ่ม ไปก็ยังอิ่ม มันมีกำลังอยู่อย่างนั้น ให้เราเข้าใจอย่างนั้น พอที่ว่าเราออกจากกรรมฐานนี่ไม่ใช่ว่าเราออก ไม่ใช่ว่าเราหยุด เราจะต้องให้เรามีสติอยู่เรื่อยในจิตของเราอย่างนั้น เราทันหรือเปล่า การกระทบมันก็เป็นอย่างหนึ่ง 

เช่นว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย มันจะกระทบอย่างเนี้ย เรียกว่าการกระทบ เช่นว่านกมันร้อง พอเสียงนกมันร้อง กระทบเฉยๆ เมื่อนกมันร้องจบไปแล้ว ความรู้สึกคิดขึ้นในนี้ แหม เสียงนกนี่มันสนุกหวะ นกมันไม่สนุกหวะ หรือคิดขึ้นว่า แหม อยากจะจับนกมันไปเป็นอาหารน่ะ อยากจะจับนกมันไปขายหวะ นี่ นี้เรียกว่ามันเกิดจากตรงนั้น ที่ให้กระทบเฉยๆ ได้ยินเฉยๆไม่มีอะไรเลย ถ้ามีอวิชชาเป็นพื้นน่ะ เมื่อกระทบพุ่ง เออ เสียงนั้น สนุกดี อย่างนี้ รูปนั้นสวย กลิ่นนั้นหอม เราชอบ มันจะเป็นไปทำนองนี้ อันนั้นเรียกว่า เรื่องกระทบแล้วเฉยๆมันอย่างหนึ่ง เมื่อกระทบแล้วมันรู้ ยึดหมายไปตามอาการทั้งหลายเหล่านั้น ไปเก็บสิ่งต่างๆเข้ามารวมในจิตของเรา รู้สึกขึ้น เรียกว่าการกระทบเฉยๆ ถ้าเรารู้จักการกระทบเฉยๆ กระทบเลิกไปก็ไม่มีอะไร การกระทบเรา ติดมีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ปรุงแต่งสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ให้เราโกรธ ให้เราเกลียด ให้เราชอบ ให้เราไม่ชอบ นุงนังกันอยู่ตรงนั้นแหละ อันนี้ถ้าเราตามดูจิตของเราแท้ๆแล้ว จะรู้จัก อะไรมันเป็นอันตราย ไม่เป็นอันตรายต้องรู้จักในจิตของเจ้าของนั้น นี่เรียกว่าการปฏิบัติทางจิต 

ไม่มีอะไรจะพูดมากนะ ให้โยมไปลอง ทดลองดูนะ หรือพ้นทุกข์กันหมดหรือยัง ถ้ายังไม่พ้นทุกข์เอาไปลองดูนะ เรียกว่าไม่ต้องพูดมาก ไม่ต้องอะไรมาก อารมณ์ที่เกิดขึ้นทางหูก็เรียกว่ามันจะชอบหรือว่าไม่ชอบใจ ก็เรียกว่าอันนี้มันไม่แน่ เท่านั้นแหละ ยืนไป ถ้ามันเกิดขึ้นมาเมื่อไรก็ อือ ไม่แน่ สับมันตรงเดียวเท่านี้แหละ แนวปัญญาเกิด ถึงแม้ว่ามันจะมีโกรธ มีเกลียดเท่าไร ขึ้นมาในใจของเรา เราก็ว่า อืม อันนี้ไม่แน่ มันก็ไม่แน่ทั้งนั้นแหละ เดี๋ยวโยมจะเห็นของไม่แน่ขึ้นจริงๆ ก็เห็นของไม่แน่แหละ อะไรที่มันไม่แน่ ของนั้นมันก็หมดราคาแล้วใช่มั้ย ของไม่จริงไม่จังมันก็หมดราคาแล้วมันก็อย่างนั้น เมื่อมันหมดราคาแล้วเช่นนั้น เรารู้จักว่ามันหมดอย่างนั้น มันไม่แน่ทั้งนั้น ถ้ามันเกิดขึ้นมาเมื่อไร เราก็บอก อืม มันไม่แน่ เกิดมา มันก็เท่านั้นแหละ เกิดขึ้นมาก็นึกว่า เท่านั้นแหละ เป็นอย่างนั้นแหละ จิตใจเราจะเป็นอยู่อย่างนี้ จะเห็นชัดว่า ไอ้คำที่ว่ามันไม่แน่นั่นแหละ เรียกว่าธรรมะ ธรรมะนั่นแหละที่เราเห็นธรรมะ เรียกว่าของที่ไม่แน่ มันจะเป็นเหตุไม่ให้เรายึดมั่น หรือถือมั่น แต่ยึดมา แต่ว่าไม่มั่น อย่างนี้ เมื่อเราเห็นธรรมะก็เห็นพระพุทธเจ้า เมื่อเห็นพระพุทธเจ้า ก็เห็นธรรมะ เห็นธรรมะก็เห็นพระพุทธเจ้า อย่างนี้ความรู้อันนี้อยู่อย่างนี้ ตั้งอยู่เสมอในใจอย่างนี้ 

อันนี้ให้โยมเอาไปลองดู ถ้าไม่เชื่อ เอาลองๆดูก่อนก็ได้ ทำไปอย่างนี้ ถ้ามันสมถกรรมฐาน ก็ทำไปอย่างนี้ ทำไปเรื่อยๆไป ไอ้ความรู้สึกเกิดขึ้นมาต่อไปนั้น เราก็พอสมควรแล้วก็ยกให้มันมีปัญญายิ่งขึ้นกว่านั้น ที่บอกว่าที่ว่ามันไม่แน่ ศัพท์นี้เป็นศัพท์ที่สำคัญน่ะ แต่ข้ามไปข้ามมาอย่างนี้ ไม่เห็น คิดว่าธรรมอันนี้มันเป็นอะไรก็ไม่รู้ ไม่ยกขึ้นมาดู ถ้าเรายกดูขึ้นมาเมื่อไร เรามีมั้ย เรามีความสุขเกิดขึ้นดังใจหรือเปล่า เคยมีมั้ย เรามีความทุกข์เกิดขึ้นทางใจหรือเปล่า เรามีความพอใจเกิดขึ้นทางใจหรือว่า เรามีความไม่พอใจเกิดขึ้นทางใจหรือเปล่า อันนี้มันต้องจะเป็นนิจการ ทั้งหลายเหล่านี้ที่มันเกิดมาที่เฉพาะหน้า เรารู้จัก เพราะเรามีสติอยู่ อันนี้มันไม่แน่ นี่ไม่แน่ บอกทุกขณะเลย ลองๆดูเหอะ โยมจะบรรลุธรรมะในการเดินก็ได้ การยืนก็ได้ การนอนก็ได้ ไอ้ความยึดมั่นถือมั่นจะค่อยๆคลี่คลายออกไปเรื่อยๆ จะได้มีปัญญาเกิดขึ้น 

ไปลองดูนะ ไปทดลองดูเถอะ มันจะเป็นยังไง ไปลองดูสิ มีมั้ย ก็มันมีสิ่งที่ทดลองอยู่แล้วว่า ไอ้อารมณ์มันมาสะกิดอยู่ทุกเวลาน่ะ มีแล้วชอบใจมีมั้ย ไม่ชอบใจมีมั้ย นั่นแหละ ถ้าอันนั้นมีอยู่ ที่เรื่องชอบใจ ไม่ชอบใจมีอยู่ก็เป็นเรื่องชอบใจว่าชอบใจเป็นธรรมดาอย่างหนึ่ง ถ้ามันเรื่องธรรมดาแล้ว เป็นเรื่องอุปาทานนั่นน่ะ มันจะไม่ให้เราสบายนะ เหมือนเอายา เหมือนเอาเข็มไปอาบยาพิษมาฉีดเข้าไปน่ะ ทน มันจะเป็นอย่างนั้น อย่างนั้นถ้าเรารู้จักแก้ปัญหาอันนี้ จิตใจเราก็สงบ ต่อนี้ไปเป็นโอกาสที่จะให้ถามปัญหาข้อข้องใจซักหน่อย พอสมควรนะ ถ้าให้อาศัยการพูดมันก็ไม่จบหรอก กระทั่งคืนสองคืนมันก็จบไม่ได้ …เคยมีมั้ยโยม ได้ยินเสียงมันมาแล้วก็รู้สึกว่าเสียงมันมากวนเรา เคยคิดมั้ย เสียงมากวนเราหรือเราไปกวนเสียง (Do they come to bother us or do we go to bother it?) ระวังให้ดีนะ