Skip to content

พิจารณากายให้จิตสงบ

หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

| PDF | YouTube | AnyFlip |

เตรียมตัวเหมือนกับเราเคยปฏิบัติมาเป็นประจำทุกวันๆ วันนี้ให้เราทบทวนที่เราได้ปฏิบัติที่ผ่านมาคราวใดครั้งใดหรือวันไหนจิตใจของเราได้รับความสงบ มีสติดี มีปัญญาดี รู้สึกว่ามีความสุข เราพยายามทบทวนที่เราปฏิบัตินั้น ถ้าเราคงระลึกได้ ถ้าเราคงจำได้ แล้วก็เราพยายามตั้งใจ ทำเหมือนกะเราเคยได้ความสงบและได้ความสุขมาแล้ว เรานั่งอย่างนั้นเราวางตัวอย่างนั้น ตั้งสติระลึกอย่างนั้น เราปล่อยวางอารมณ์อย่างนั้น เรากำหนดตรงนั้น เราทำความรู้สึกในจิตใจของเราอย่างนั้น ถ้ายังระลึกไม่ได้ก็พยายามทบทวนไม่ต้องรีบร้อน 

ข้อสำคัญเมื่อเรามีความรู้ตัวแล้ว ชื่อว่าเราก็ไม่ได้ส่งจิตไปข้างนอก อย่างน้อยแต่รู้ตัวของเราหมายถึงกายของเรา รู้กายของเราที่เรานั่งอยู่ในบัดนี้ อุชุกายัง ก็ดูกายของเราก็ตรง นั่งให้ตรง เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาวางบนมือซ้าย ดูกายเรียบร้อยและนั่งตรงเรียบร้อยแล้ว ดูพระพุทธรูปปางสมาธิเป็นตัวอย่าง ดูพระองค์นั่งตั้งตัวตรงทีเดียวไม่เอียงซ้ายเอียงขวาไปข้างหน้าข้างหลัง เพราะการตั้งตัวตรงนั้นมีประโยชน์สำหรับเมื่อจิตของเราปล่อยวางสัญญาอารมณ์ข้างนอก เมื่อจิตละเอียดลงไปแล้วแม้แต่กายของเราเราก็ไม่ได้ยึด เราก็ไม่ได้รักษา ไม่ได้พัวพันเกี่ยวกับกายเลย เพราะฉะนั้นถ้าเราตั้งตรงแล้ว ถึงจิตใจของเราไม่เกี่ยวพันกับกาย  หรือเราปล่อยวางกาย แต่มันก็ตั้งตรง มันทรงตัวอยู่ได้เหมือนกับภาชนะที่มันตั้งตรง มันก็ทรงตัวของมันอยู่ได้ตามปกติธรรมดา ถ้าเราก้มนัก เวลาจิตของเรารวมสงบปล่อยวางอารมณ์หรือสัญญาความสำนึกในกายของเราแล้ว กายของเราก็ก้มลงๆบ้าง เทข้างหลังเอียงไปข้างหลัง มันก็จะล้มหงายหลัง ทีนี้การกำหนดจิตของเราก็สำคัญ ถ้าเราเพ่งไปข้างหลังมากเวลานานไปๆ มันก็จะไปข้างหลังตามที่เราเพ่ง ถ้าเราเพ่งก้มลงต่ำๆ เวลาจิตลงก็คอยต่ำลงๆๆ ถ้าเราเพ่งไปเสมอกลางๆ จิตของเราก็อยู่กลางๆ เพราะเราจะตั้งกำหนดรู้ตัวตรงไหนก็ได้ 

โดยความจริงน่ะ ความที่มีส่วนรู้มากที่สุดก็คือในเฉพาะหน้า ศีรษะของเรา ตาก็เป็นอยู่ทางศีรษะ หูก็ทางศีรษะ จมูกก็อยู่ทางศีรษะ ลิ้นก็อยู่ข้างบนทั้งนั้น นี่เป็นที่ให้เกิดความรู้หลายอย่าง ส่วนกายนั่นน่ะรู้ทั่วไป ตั้งแต่ศีรษะจนถึงพื้นเท้า เรียกว่า กายะวิญญา นี่รับสัมผัสอยู่ทั่วไป ส่วนการรับรู้ รู้ก็อยู่ที่ตาก็อยู่เบื้องบน ได้ยินเสียงก็อยู่ที่หู อยู่เบี้องบน ได้กลิ่นก็อยู่ที่จมูกก็รู้อยู่เบื้องบน ได้ลิ้น ลิ้นได้รสก็อยู่เบื้องบน ประชุมอยู่ตรงนี้มากกว่าที่อื่น แม้เราจะสำรวมตรงนี้ก็ได้ ตั้งกายให้ตรงแล้วก็สำรวม หูจะได้ยินอะไรเวลาที่เราภาวนาก็ผ่านไปๆให้มีสติ ตาเราก็หลับตาแล้ว หูได้ยินอะไรก็ไม่สนใจ ไหนจมูกได้กลิ่นอะไร ก็ไม่สนใจ เราก็พยายามสำรวมตั้งแต่ภายนอก 

เมื่อตรึกตรองดูให้เห็นชัด กายนี้จะสักแต่ว่ากายที่เรานั่งอยู่นี่ เมื่อเราแยกแล้ว จะว่าเป็นสัตว์ก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นอะไรก็ไม่เชิง จะว่าเป็นบุคคลก็เพียงแต่สมมุติ จะว่ากายก็เป็นแต่เพียงสมมติ เมื่อเราผ่าดู หรือเราแยกดู เพ่งดูไปในหนังไปอีก มันก็ไม่มีอะไรที่เป็นสาระแก่นสารและมั่นคง เราดูด้วยใจดีๆเนี่ยแหละ ก็เพราะใจมันชอบนึกให้มันอยู่เฉยๆมันก็อยู่ไม่ได้ เราก็หลอกให้มันเที่ยวดูซักเล็กน้อยก่อน หากใจสงบยาก เราส่องดูซะก่อน เที่ยวชมกายนคร นครเนี่ย…ร่างกายทั้งหมดเนี่ยท่านว่าเป็นอุทยานของพระอารยะ สวนดอกไม้ของท่านเนี่ยสดับเที่ยวชมให้เพลิดเพลินได้อย่างจุใจ ท่านอยู่ในสวนดอกไม้อันนี้แหละ คือกาย ทำไมถึงท่านว่าเป็นสวนดอกไม้ ถ้าเราพิจารณากายในกาย รู้ตามความจริง ยิ่งเห็นชัดเท่าไร จิตยิ่งเบิกบาน จิตยิ่งผ่องใส เห็นกายนี้ไม่สะอาดเท่าไหร่ จิตยิ่งสงบ ยิ่งดี ไม่มัวหมอง 

แต่อันนี้ถ้าหากว่าเราไม่ได้ปฏิบัติ หรือว่าเรายังอาจไม่เข้าใจ หรือว่ายังไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ถ้าเราอยากจะทราบชัดก็พยายามที่จะเอามาพิจารณา เพราะสติของเราก็มีอยู่แล้ว เราสามารถจะระลึกได้อยู่ จิตของเราก็มีอยู่ กายของเราก็มีอยู่ ความรู้ของเราก็มีอยู่ เพียงแต่เรามาประกอบตามหลักที่ท่านกล่าวไว้คือมาปฏิบัติ ท่านให้ส่องดูเราก็ส่องดู นอกจากหนังหุ้มห่อไว้แล้ว เราก็ดูหนังทั่วไป มันห่อ ถ้าไม่มีหนังห่อมันจะเป็นอย่างเราร่างกายของคนเรา เราหยิบยกพิจารณานึก น่าดูมั๊ย มีความสุขมั๊ย มีประโยชน์มั๊ยใครต้องการบ้าง มาเอาหนังออก เมื่อไม่มีหนัง ทำไมจะต้องพิจารณาอย่างนั้น ทำไปจะต้องการรู้อย่างนั้น พระพุทธเจ้าทำไมให้เราไม่ดูเป็นสัตว์เป็นบุคคล คือเป็นของดีของประเสริฐ…

ความจริงเแล้วพระพุทธเจ้าเพื่อไม่ให้เราหลง คำว่าหลงคือไม่รู้จริงนั่นเอง คือรู้หลอก ถ้าเราหลงถูกหลอกแล้ว เราก็ยึดมั่นถือมั่นสำคัญหมาย เราจะทุกข์เมื่อสิ่งเหล่านี้มันเปลี่ยนแปลง เราจะทุกข์เมื่อสิ่งเหล่านี้มันไม่เป็นไปตามที่เราตั้งใจไว้ สิ่งใดที่ไม่สมหวัง สิ่งนั้นแหละทำให้เราทุกข์ ทุกข์หนัก ที่เราทุกข์ทุกวัน เพราะมันไม่สมหวังในสิ่งที่เหล่านี้แหละ ไม่มีอะไรสมหวังซักอย่างเพราะมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เราเกิดมา ได้แล้วก็หมดไป มีแล้วก็หาไม่ ทยอยกันไปตามลำดับๆ ไม่ว่าเขาไม่ว่าเราไม่ว่าใครๆ นี่ถ้าหากว่าเราดูตามความเป็นจริง นี่ พระพุทธเจ้าต้องการให้เรารู้จริงเห็นจริงเรียกว่าธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มั่นคง เพราะความจริงข้อนี้ มันถึงแม้ว่าเราจะไม่ดู มันก็เป็นจริงของมันอยู่ มันก็เป็นไปตามกฏเกณฑ์ธรรมดา 

เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้อย่างนี้จะเป็นประโยชน์อย่างไร ถ้าเราไม่รู้ความจริงจะมีโทษอย่างไร อันนี่สำคัญมาก เรียกว่าเราเห็นคุณเห็นโทษ เรารู้คุณรู้โทษเรียกว่าเรามีปัญญา เราสร้างปัญญาขึ้นในใจ  เมื่อเราเห็นโทษ เราก็ต้องเห็นคุณเป็นคู่กัน หรือเราเห็นคุณ เราก็ต้องเห็นโทษเป็นคู่กัน เรียกแบบนี้ มีตาสองตา มีหูสองหู เห็นสิ่งที่ดีกับสิ่งที่ชั่วเป็นควบคู่กันไป ได้ยินเสียงที่ดีเสียงที่ไม่ดีควบคู่กันไป ถ้าเราไม่หลงในสังขารดี สังขารไม่ดี ๒ อย่างแล้ว เรียกว่าเป็นผู้รอบรู้ในกองสังขาร เรียกว่าปัญญา นี่ เพราะฉะนั้นไม่มีอื่นไกลที่ให้เรารอบรู้กองสังขารนอกจากเราพิจารณาเห็นคุณเห็นโทษ 

ทีนี้โดยปกติแล้วเราทั้งหลาย เรายึดมั่นถือมั่น ตามโลกสมมุตินิยมว่ากายนี้เป็นของเรา ว่าเป็นตัวตนของเราจริงๆ ตามหนังก็ตกแต่งให้สวยให้งาม ให้น่ารักน่าเพลิดเพลินเจริญใจเสียอีก ถ้าเราเห็นแต่น่ารักน่าเพลิดเพลินอย่างเดียว เวลามันทรุดขึ้นมามันไม่น่ารักเลย เวลามันเปลี่ยนแปลงเจ็บป่วยขึ้นมามันไม่น่ารักตลอดไป เวลามีปัญหาอะไรต่างๆ เวลาใจไม่ดีขึ้นมา ทุกข์อย่างไม่มีอะไรดีเลยนะ เมื่อสิ่งเหล่านี้มันเปลี่ยนแปลงเช่นนี้แล้ว พระะพุทธเจ้าจึงสอนถ้าเห็นดีเราก็เอามาพิจารณาเห็นสิ่งที่ไม่ดีบ้าง เห็นเหล่านี้มีคุณก็มีโทษบ้าง เห็นสิ่งใดมีโทษเราก็อย่ามองเห็นแต่โทษอย่างเดียว ต้องมองเห็นคุณในสิ่งนั้นบ้าง สิ่งที่คนเกลียดที่สุด สิ่งนั้นน่ะจะเป็นสิ่งที่เรารักที่สุดเมื่อเรารู้จัก สิ่งที่เรารักที่สุด ถ้าเราหลงนะสิ่งนั้นนะจะเป็นสิ่งที่เราเกลียดที่สุด จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราทุกข์มากที่สุดถ้าเราหลง ถ้าเราไม่รู้ความจริง 

แต่ถ้าเรารู้ความจริงแล้ว สิ่งที่เกิดประโยชน์ที่สุดคือจิตไม่ยึดมั่นถือมั่น จิตอยู่ในระหว่างกลางคือเฉยๆได้ไม่หวั่นไหว ท่านเรียกว่าเมื่อโลกธรรมถูกต้องแล้ว จิตของบุคคลไม่หวั่นไหวในสิ่งนั้นๆแล้ว เป็นผู้ไม่เศร้าโศก เป็นผู้ไม่เศร้าใจหรือเสียใจในภายหลัง เป็นผู้ไม่ทุกข์ใจ เป็นผู้เกษมจากความยินดี ปลอดโปร่ง จากความยินดีหรือความพอใจ โลกธรรมมากระทบนั่น ท่านวางไว้ มีลาภก็อย่ายินดีจนเกินไป เพราะลาภนั้นมันเป็นของไม่เที่ยง มันเป็นประเภทอยู่ในภาวะแห่งสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เรียกว่ารูป ถ้าวัตถุก็ รูปัง อนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง มีลาภแล้วก็จะเสื่อมลาภเวลาไม่เที่ยง เต็มเต็งมาแล้วมันก็จะเสื่อม ใครจะมีตลอดไป เป็นไปไม่ได้ ก็มีเท่าที่ชีวิตระยะหนึ่งเท่านั้นแหละ ก็เมื่อร่างกายนี่คร่ำคร่าทรุดโทรมไปตามเหตุการณ์แล้ว ความสุขที่เคยมีอยู่ สิ่งที่เคยมีอยู่ แต่ก่อนเคยอาศัยสะดวกสบายทุกอย่าง เมื่อคร่ำคร่าทรุดโทรมไปแล้ว ช่วยไม่ได้ อาศัยไม่ได้ พึ่งไม่ได้ เพราะฉะนั้นคือเสื่อมแล้วลาภ เคยมียศถาบรรดาศักดิ์ที่เขายกย่องตบแต่งให้ แต่เมื่อกำลังวังชาใช้การใช้งานดีเค้าก็ให้ยศ เวลาคร่ำคร่า ๖๐ ปีขึ้นไปแล้ว เค้าก็ไม่ให้แล้ว มันเสื่อมแล้วยศ หรือประพฤติไม่ดี เค้าไม่ชอบ เค้าก็ถอดออก เค้าเอาออกนั่น สิ่งที่เค้าให้อย่างหนึ่ง มันไม่แน่นอน ท่านว่านี่เรียกว่าโลกธรรม มีลาภแล้วก็มีเสื่อมลาภ มียศแล้วก็เสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา เวลาเค้าสรรเสริญ หากเราดีก็ยังสำคัญความดีนั้น ยึดมั่นถือมั่น ดีอกดีใจ ติดใจในสรรเสริญ เมื่อคนหนึ่งไม่ชอบเกิดนินทาขึ้นมาก็ทุกข์ขึ้นมาอีก เคยมีความสุข สุขเมื่ออาศัยวัตถุ อาศัยอามิสอย่างใดอย่างหนึ่ง เคยได้เคยมีเคยสมประสงค์ขึ้นมา เพราะโรคภัยไข้เจ็บ หรือป่วยไข้ยังไม่เกิดขึ้น เรียกว่ามีความสุขและยินดีหลงใหลในความสุขเหล่านั้น หมกมุ่นฝังตัวในสิ่งนั้นสำคัญ มั่นคงมากนัก 

เวลาความสุขนั้นมันเปลี่ยนแปลงไป ความทุกข์ก็ย่อมเกิดขึ้น มีสลับซับซ้อนเป็นคู่กันอยู่อย่างนี้ เค้าเรียกว่าโลกธรรม มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุขมีทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ในทางที่เป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่มีสิ่งชอบที่ต้องการ เช่นว่า มีลาภ มียศ สรรเสริญ สุขเกิดขึ้น แล้วก็ยังหมกมุ่นหลงใหล ให้รู้เท่า จิตไม่หวั่นไหว ในสิ่งเหล่านั้น หรือเวลาเสื่อมลาภเสื่อมยศนินทาทุกข์ ต้องไม่หวั่นไหว มีสติ มีปัญญา รู้เท่า วางเฉยๆได้ นี่เรียกว่าเมื่อโลกธรรมมาถูกต้องแล้วไม่หวั่นไหว ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะนะ กัมปะติ 

ผุฏฐัสสะโลกะธัม เมื่อโลกธรรมมากระทบถูกต้องในจิตแล้ว เรานั้นไม่หวั่นไหว อโศกังเป็นผู้ไม่เศร้าโศก ไม่มัวหมอง ไม่มีความมัวหมองหรือสิ่งหล่านี้จะทำจิตให้มัวหมอง เหมือนกับธุลีที่ปลิวมาทำให้มัวหมองไม่ได้ แค่หมั่น ย่อมเกษมจากความเศร้าใจ มีจิตผ่องแผ้วหมดจด เพราะเหตุนั้นเราทั้งหลายมาศึกษาให้มีสติรู้เท่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา มีอยู่ทั่วไป เพื่อเราจะไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นสำคัญ ให้จิตของเรามีความเห็นชอบตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่ามีปัญญาเห็นสังขารในส่วนดีส่วนไม่ดีมีคุณค่าเท่ากัน เป็นของจริงอย่างประเสริฐ 

เมื่อเวลาทุกข์เกิดขึ้นก็อย่าเดือดร้อน อย่าเข้าใจว่าทุกข์ไม่มีประโยชน์ ทุกข์มันมีประโยชน์มากทีเดียว ข้อสำคัญให้จิตของเราฉลาดอย่างเดียวเท่านั้นแหละ จะเอาทุกข์นั้นมาเป็นบรรทัดฐาน เป็นครู เป็นอาจารย์ในทางที่ไม่ดีทำให้เราจำ เรารู้ความจริง เพราะเราจะได้ความฉลาด ก็คือทุกข์เนี่ยแหละมาสอน เราได้เข้าประพฤติปฏิบัติฝึกหัดอบรม ทำศีลสมาธิปัญญา ก็เพราะทุกข์ที่มาก่อกวนจิตใจนี่เอง เราจึงต้องการความสงบ เพราะฉะนั้นทุกข์เป็นเหตุให้เกิดความสุขก็ได้ถ้าเรามีสติดี ปัญญาดี เพราะฉะนั้นเวลาทุกข์เกิดขึ้น ผู้นักปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักภาวนาทั้งหลาย เวลาทุกข์เจ็บป่วยเกิดขึ้นในร่างกายนั้น ส่วนหมอก็รักษาไป ส่วนนักปฏิบัตินั้นไม่หวังเอาแต่ให้หายในทางยาโดยส่วนเดียว ผู้ฉลาดจะต้องรักษาใจอย่าให้ใจมันไปหลงสังขารที่มันเปลี่ยนแปลงจากความสุขมาเป็นทุกข์ขึ้นมา เพราะสิ่งเหล่านั้นกับใจไม่ใช่อันเดียวกัน ถ้าเราสามารถรักษาใจนั้นให้ปกติ สอนใจทำไมใจของเราไม่ปกติ ใจมันไม่ได้เป็นอะไร ส่วนไข้มันส่วนร่างกาย ส่วนเจ็บมันก็ส่วนเวทนาขันธ์ มันเป็นคนละขันธ์ ใจก็เป็นวิญญาณขันธ์ มันเป็นคนละกอง เราจะออกจากเวทนา จะรักษาเฉพาะ อิสระเฉพาะใจไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ไม่ได้เลย 

ถ้าเราระลึกอย่างนี้ เรากำหนดจิตรักษาไว้ ตั้งใจรักษา พอจิตมีสติเกิดความรู้ตัว มันไม่หลงอุปาทานยึดถือเท่านั้น ปล่อยวางได้เท่านั้น ความสุขเกิดขึ้น ทุกข์ดับไป เพราะจิตมีปีติ ปีตินี่เองมันตัดขาดจากทุกข์ ความสุขเกิดขึ้นในใจ จิตมีความวิเวก มันสงบแล้วจากอารมณ์ คือเวทนาอันหยาบ แต่ยังเหลือเวทนาละเอียดคือสุข แต่ก็ยังดีกว่าเวทนาอันหยาบคือทุกข์นั้นเพราะมันไม่ทรมาน นั่น ทุกข์มันก็มีประโยชน์อย่างนี้ถ้าเรารู้จักทำให้เราฉลาด ทำให้เราหาทางออกจากทุกข์ได้ ถ้าไม่มีทุกข์ก็ไม่มีอริยสัจ ก็ไม่มีธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพระองค์ทุกๆพระองค์ก็อาศัยทุกข์นี่เป็นเหตุเตือนไม่ให้ประมาท 

ตัวอย่างเช่นก่อนที่พระองค์จะออกหาวิเวกจะปลงบรรพชา ถือเพศเป็นบรรพชิต พระองค์ไปเที่ยวอุทยาน พระองค์ก็ไปพบเทวทูต คนเกิดมาแล้วก็มีความแก่คร่ำคร่าทรุดโทรม พอเห็นแล้วพระองค์ก็น้อมความแก่ที่ทูตที่เห็นนั้นแหละ ปรากฏนั่น มาถึงตัวพระองค์ พระองค์ก็ระลึกรู้ได้ว่าคนๆนี้ เมื่อก่อนนี่เขาก็เป็นเด็กหนุ่มแน่น กระฉับกระเฉงเหมือนกับคนทั่วๆไป เหมือนกับเราทั้งหลายเนี่ยแหละ เมื่ออยู่นานผ่านวัยมาตลอดมา ร่างกายนี้มันก็ทรุดโทรมคร่ำคร่าไปตามลำดับ แม้ตัวของเราก็จะเป็นอย่างนี้ พอพิจารณาตัวเองจะต้องแก่อย่างนี้ เมื่อแก่แล้วก็จะต้องมีลักษณะทุกอย่างอย่างนี้แหละ สิ่งที่เราไม่ปรารถนา เราไม่ต้องการมันก็เกิดขึ้น ความที่เราสนุกสนานเพลิดเพลินยินดีก็หมดไป ใครพบเห็นก็น่าเวทนา พอไปอีก ไปเห็นคนเจ็บ เจ็บเป็นโรคภัย เจ็บผอมแห้ง ซูบซีดครวญครางเพราะความเจ็บปวด พระองค์ก็สลดสังเวชใจ นี่หนอคนเจ็บเกิดมาก็มีเท่านี้แหละ มีโรคภัยเบียดเบียน มันก็เจ็บอย่างนี้แหละ โรคนี้เกิดขึ้นเวลาไหนกับใครๆก็ได้ ไม่ใช่มีแต่เขา เราก็อาจเป็นได้สักวันหนึ่ง เพราะร่างกายนี้เป็นที่ตั้งของโรค มีสิ่งไหนส่วนใดก็มีโรคทุกแห่ง เกิดขึ้นได้ทุกแห่ง มีตาก็โรคตา มีหูก็โรคหู มีจมูกก็โรคจมูก มีลิ้นก็โรคในลิ้น มีฟันก็โรคในฟัน มีตรงไหนก็โรคออกจากจิตอยู่ทุกๆแห่ง เราพิจารณาเห็นอย่างนี้ 

พระองค์ก็น้อมมาตัวพระองค์ ตัวพระองค์ก็คงหลีกไม่พ้น ก็ทุกข์เช่นเดียวกัน อยู่สภาพอันเดียวกันเหมือนกับคนๆนั้น ไปอีก ไปเห็นคนตาย พระองค์พิจารณาน้อมถึงพระองค์อีก นี่ คนตายก็ไม่มีลมหายใจ เราก็ลมหายใจจะอยู่ได้นานสักแค่ไหน อยู่ไปๆมันก็จะหมดเช่นเดียวกัน ก็เปื่อยเน่าผุพังไป พระองค์ระลึกไม่สบายในใจ แต่ด้วยปัญญาปรีชาของพระองค์ ระลึกได้ว่าธรรมทั้งหลายย่อมเป็นคู่ เมื่อมืดแล้วย่อมมีเครื่องแก้คือความสว่าง เมื่อมีร้อนแล้วก็ต้องมีเย็นเป็นเครื่องแก้ สุขนั้นเมื่อมีทุกข์แล้วมันก็ต้องมีความสุขเป็นเครื่องแก้ แต่เวลานี้ทางพิษยาสำหรับแก้สิ่งเหล่านี้เรายังไม่มี เราควรแสวงหา เพราะฉะนั้นเราไม่ควรนอนใจ เมื่อมีทุกข์เราต้องหาทางออกจากทุกข์ให้ได้ พอกลับไปถึงพระราชวัง ถึงพระนคร พระองค์ก็เตรียมตัว พอดึกมาก็เตรียมอมาตย์ ฉันนะอมาตย์เตรียมม้าออก ทั้งกลางคืนไม่ขึ้นมานั่นแหละ นั่น 

ส่วนทุกข์ถ้าหากว่าเราทั้งหลายไม่รังเกียจ ตั้งจิตไว้เป็นธรรม หยิบยกมาพินิจพิจารณาแล้ว ก็สามารถสร้างประโยชน์ให้จิตใจของเราได้มีกำลัง ได้มีความสะอาดบริสุทธิ์ ได้มีปัญญาพ้นจากทุกข์ไปได้ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงแสดงความสุขและความทุกข์น่ะมีคุณค่าเสมอกัน ยกระดับไว้เสมอกันเรียกว่าอริยสัจ อริยสัจคือเหตุผลในฝ่ายสุขและฝ่ายทุกข์ ๒ อย่างเท่านั้นเอง เหมือนกับทุกข์กับสมุทัย ๒ อย่างอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องความทุกข์ เมื่อจิตใจฉลาดขึ้นศึกษารู้จากความจริงแล้ว นิโรธกับมรรคเป็นเรื่องของความสุขเป็นเรื่องของความดี เพราะฉะนั้นมันมีอยู่เท่านั้นเรื่องอริยสัจ ก็เรื่องสุขกับทุกข์ที่มีอยู่ในตัวของเรา เพราะฉะนั้นเมื่ออริยสัจของจริงที่มีอยู่พร้อมกับตัวของเรา แต่เรายังอ่านไม่ออกเพราะเราไม่ได้ศึกษา เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้ศึกษาเราจะต้องอ่านออก เราจะต้องรู้แน่นอน เราจะต้องรู้ความจริง 

ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เหนือวิสัยแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงวางไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและปฏิบัติ เพราะเป็นสิ่งที่เหนือวิสัย แต่พระองค์ทรงพิจารณารู้ด้วยญาณปรีชาของพระองค์แล้ว ว่าธรรมะที่พระองค์ทรงตรัสรู้ที่แสดงไว้เหล่านี้ไม่เป็นสิ่งที่เหนือวิสัย ที่มนุษย์ในสมัยปัจจุบันนี่จะรู้ไม่ได้เห็นไม่ได้ มีสติปัญญาพอจะรู้ได้เห็นได้และมนุษย์ก็ไม่ใช่จะมีความสุขจนเหลือเกิน จนมองทุกข์ไม่เห็น หรือมีแต่ทุกข์เหลือเกินจนมองความสุขไม่เห็น แต่มนุษย์ในปัจจุบันนี้มีชีวิตเป็นอยู่ในระหว่างกลางๆ พอสามารถที่จะมองเห็นทุกข์เห็นสุขทั้ง ๒ อย่าง สร้างสติสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นในตนของตนได้ แล้วก็เราทั้งหลายพระองค์ทรงรับรองว่าทุกคนถ้าตั้งใจปฏิบัติจริงแล้วย่อมอ่านออกซึ่งอริยสัจธรรมทั้ง ๔ มีอยู่แล้วในตัวเรา 

ทุกข์กับสมุทัยก็มีอยู่แต่เรายังอ่านไม่ได้เพราะเราไม่ได้เรียนไม่ได้ศึกษา มันภาษามีอยู่แล้ว ผู้ที่ไม่ได้เรียนก็เลยอ่านไม่ได้และก็พูดไม่ได้เพราะพูดไม่รู้เรื่อง ถ้าเราเรียนไปๆแล้วมันก็เป็นภาษาด้วยกัน อ่านรู้เรื่องกัน พูดรู้เรื่องกัน เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายอย่าเพิ่งท้อถอย ขอให้เราทั้งหลายตั้งใจ วันหนึ่งข้างหน้า เราทั้งหลายก็จะได้สติได้ปัญญา สามารถที่อ่านออก อริยสัจธรรมเป็นของสิ่งที่ประเสริฐมีแล้วอยู่ในตัวของเราอย่างแน่นอน ขอให้เราทั้งหลายตั้งใจเราจะมีวันหนึ่ง เราจะต้องพ้นทุกข์ตามพระองค์ ขอให้มีความเพียรและพยายามและความอุตสาหะตั้งใจเป็นทุนในจิตในใจไว้เป็นเดิมพันไว้ จงอย่าเพิ่งมีความท้อถอย ทำไปสร้างไปอบรมไป วันหนึ่งข้างหน้าก็จะเป็นของเรา 

เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายเมื่อความจริงมีอยู่อย่างนี้แล้ว จะพูดถึงทุกข์ เราส่องไปตรงไหน มันก็เห็นอยู่ทุกแห่งตลอดทั่วสรรพางค์ร่างกายของเราก็ล้วนแต่ความเจ็บปวด มีโรคเป็นที่ตั้งเท่านั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่หลอกลวงปราศจากความจริงที่เรารู้ไม่ได้เห็นไม่ได้ด้วยตนเอง เราไม่ต้องเชื่อกรรมใครเพราะมันมีจริงอย่างนี้ ทีนี้ถ้าเรามารู้จริงแล้วมาปล่อยวางสิ่งที่ทุกข์ ทำจิตใจให้สงบ มันก็จะได้รับความสุขจริงอีกแหละ เพราะจะเห็นของจริงในส่วนของความสุข ถ้าเรามาปล่อยวางสิ่งเหล่านี้แล้ว ไม่ยึด เราไม่ใกล้ทุกข์เหมือนกับเราเห็นว่าไฟมันลุกอยู่ตรงนี้ เราไม่ไปเราก็ไม่ร้อนนี่ ถ้ารู้ว่าไฟอันนี้เป็นไฟเราก็ปล่อยวาง ถ้าเราจะใช้ไฟเราก็ใช้ด้วยความระมัดระวังมันก็มีคุณ เราจะใช้ร่างกายใช้ด้วยสติด้วยปัญญา มันก็มีประโยชน์ นั่น ไม่ใช่ว่าไฟก็มีแต่โทษอย่างเดียว ร่างกายนี่ไม่ใช่ว่ามีแต่ทุกข์อย่างเดียว มันก็มีประโยชน์ถ้าเราใช้เป็น พระพุทธเจ้าก็อาศัยขันธ์ อาศัยร่างกายนี้แหละได้ตรัสรู้ธรรม ปฏิบัติธรรม พระองค์ก็สอนบุคคลผู้มีร่างกายมีขันธ์อันนี้แหละ ประพฤติปฏิบัติธรรมต่อไป ถ้าหากผู้ไม่มีร่างกายสามารถปฏิบัติให้พ้นทุกข์ พระองค์เที่ยวไปวางศาสนาไว้ในชั้นอรูปพรหม ชั้นเทวดาในชั้นอื่นไปแล้ว แต่พวกนั้นไม่สมบูรณ์เหมือนกับมนุษย์เรา พระองค์ก็ได้อัตภาพอันนี้ เพราะเหตุนั้นเราได้อัตภาพอันประเสริฐ อัคคัง ฐานัง มนุสเสสุ ได้เกิดเป็นมนุษย์มีจิตใจอันสูงซะมากที่จะอบรมได้ เราไม่ควรท้อถอย ขอให้เราทั้งหลายตั้งใจประพฤติปฏิบัติดังบรรยายมาสมควรแก่กาลเวลา ยุติแต่เพียงเท่านี้