หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร
ก็จะได้เป็นเวลารอความพร้อมของคณะผู้ที่จะมาร่วมฟังธรรมและมาปฏิบัติธรรมร่วมกันจำนวนมาก แต่เวลาที่เรากำหนดก็ได้เวลาถึงแล้ว ตามที่เรากำหนดและประกาศไปว่าจะใช้เวลาบ่าย ๑ โมง ๑๓ นาฬิกา เป็นเวลาฟังธรรมอบรมกรรมฐานตามที่เราตั้งข้อธรรมะไว้ว่าจะให้แสดงธรรมเรื่องพัฒนาจิต
เรื่องแสดงอุบายแก้จิตของผู้ปฏิบัติธรรม อันนี้คือหัวข้อที่เรายกขึ้น แต่เรื่องธรรมของพระพุทธเจ้าของเราก็เป็นเรื่องพัฒนาจิตใจโดยเฉพาะ คือเป็นธรรมะที่ชำระจิตใจของชาวพุทธบริษัททั้งหลายมา นานตั้ง ๒๕๐๐กว่าปี ตั้งแต่พระพุทธเจ้าของเราได้ปฏิบัติ ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่น ก็เรียกว่าพระองค์ก็พัฒนาจิตใจ ชำระจิตใจด้วยอุบายธรรมะที่เกิดขึ้นจากจิตของพระองค์ที่ได้รับความสงบที่เรานำมาฝึกสอนหรือนำมา หรือเรากำหนดจิตตั้งสติไว้อย่างนี้ เราต้องตั้งสัจจะ ตั้งสติไว้ว่า เราพยายามที่จะให้ธรรมออกก่อนอยู่หน้าเรา ให้กิเลสอยู่หลังเรา มันจะได้ทัน มันจะได้กันอยู่อะไรอย่างนี้
อย่างเราสำหรับชาวบ้านทั่วๆไปก็มีกิเลสอันเดียวกันหมด ไม่ต่างกันน่ะทีนี้ คือตัวที่ชื่อว่ากิเลสคือสิ่งเลวร้ายสิ่งไม่ดี สิ่งปลอมแปลงต่างๆ อย่างที่ท่านให้เอาตัวของเราเป็นหลัก ให้กำหนดตัวของเราดูเป็นหลัก เพราะเป็นที่อยู่ ที่มี ที่เป็นของตัวใครตัวมันทุกคนนั่นน่ะ เราดูก็เป็นสิ่งที่เราปรุงแต่งเราเพิ่มเติม เราเอามาเสริมอะไรต่างๆให้มันเป็นขึ้น แต่ถ้าของเดิมมัน…เราก็มีเฉพาะธรรมแต่งให้แต่ส่วนกิเลส ส่วนสิ่งที่เราปรุงแต่งเพิ่มมากขึ้นนั่นน่ะ มันเป็นส่วนเพิ่มความยุ่งยากความลำบากให้เราอีก
เหตุนั้นท่านจึงสอนให้เราเป็นผู้ที่เอาธรรมะที่ดั้งเดิม คือเอาเฉพาะที่กายที่ทำ ที่มีอยู่ เราไม่หลงสิ่งปรุงแต่ง เราไม่หลงวัตถุสิ่งภายนอกอะไรอย่างนี้ แล้วเราก็รู้ว่าคำสอนพระพุทธเจ้าทั้งหมดนี้ ท่านก็สอนเพื่อพัฒนาจิต เพื่อชำระจิตให้ผ่องใสสะอาดทั้งนั้น แล้วก็เพื่อทำจิตให้สงบร่มเย็น มีความอยู่เย็นเป็นสุขในจิตของเราผู้ปฏิบัติ คือได้รับผล ได้รับความสงบสุขที่เราทุกคนมุ่งปฏิบัติ มุ่งที่จะให้จิตใจเราเป็นไปในธรรม ก็อาศัยอุบายทีนี้ อาศัยการปฏิบัติตามหลักคำสอนพระพุทธเจ้า คือเรา…อุบายคือเป็นอุบายปัญญา ไม่ใช่อุบายตามสัญญาตามที่เราฟังได้อย่างนี้
อย่างที่หลวงพ่ออธิบายนี่ก็ไม่ใช่ปัญญาคือเป็นสัญญาอยู่ แต่เราจำได้แล้วนำไปปฏิบัติในที่ของเราเฉพาะตัวของเรา ในที่ความสงบ ในที่เหมาะสม ท่านบอกว่านั่นคือเป็นการที่จะเปลี่ยนจากสัญญามาเป็นปัญญา คืออาศัยปฏิบัติทีนี้ ต้องเปลี่ยนจากความศึกษา ความทรงจำพระสูตรมาเป็น ป ปลา คือให้เกิดปัญญาขึ้น จะเกิดปัญญาได้
ก็เราเปลี่ยนจากร่างกายของเรานี่แหละ คือให้เรากำหนดเปลี่ยนกำหนดรู้ ที่เราว่าร่างกายของเรา แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ว่าร่างกายของเรา ท่านว่าเป็นรูปสัตว์เป็นรูปบุคคลหรือเวไนยสัตว์ ท่านให้ชื่ออย่างนี้ ทีนี้ถ้าเราเปลี่ยนตาม เราแก้ไขให้จิตเราเห็นไป มันก็เกิดปัญญาขึ้นหละทีนี้ มันจะเห็นว่า เอ๊ะ ตัวเราไปจำ ไม่ใช่ ถ้าเราจะใช้ปัญญาสอบถามก็ได้ เราก็ถามตัวของเรา ถามอวัยวะของเรา แขน ขา หู ตาว่ามันเป็นของเรามั้ย มันจะตอบรับเราเป็นเสียงให้เราได้ยินไม่มี อันนี้ก็คือว่าธรรมะตัดสินให้เรา คือสงบไม่มีเสียงตอบ ถามตา ตาก็ไม่ตอบ ถามหู หูก็ไม่ตอบ ถามทุกส่วนในอวัยวะน่ะ นั่นคือเรามีอุบายที่จะแก้กิเลสหละทีนี้ ที่จะถามกิเลส ให้กิเลสเค้าอาย เค้ากลัวเรา ให้เขาไม่มารบกวนเราเพราะจิตเราเกิดปัญญา เรากันไว้ว่ามันไม่ใช่เรา
ฉะนั้นถ้าคือถ้าเราปฏิบัติธรรมเราฟังธรรมตามแนวปฏิบัติ เราได้ความสงบ ได้สมาธิธรรมเป็นขั้นต้น คือเราจำอุบายครูบาอาจารย์ท่านสอนบ่อยๆ ท่านพูดบ่อยๆ ค่อยจำค่อยปฏิบัติไป ไม่ใช่ว่าเราจำในเวลาที่เราฟังธรรมบรรยายมากๆ เวลาบรรยายมากๆเนี่ย มันจำยาก คือไม่ใช่อะไรหรอก เราจะจำทุกคำทุกบทได้ คือสำหรับหลักธรรมปฏิบัติ ท่านไม่ต้องการความยืดยาว ท่านต้องการความรัดกุมกะทัดรัดสั้น เพื่อจะได้จำไม่ยาก คือว่าเราย่นความจำ ย่นสัญญามาให้สั้นๆอย่างนี้ คือให้จำเพียงคำเดียว ของอันเดียว กับของอันมีจำนวนร้อยจำนวนพันอย่างนี้มันก็ต่างกันอย่างนี้มันก็จำง่ายดูง่าย ไอ้ความจำของเราที่มากๆมันก็ยุ่งยากหละทีนี้
อย่างที่เราศึกษามามาก เราเห็นมามาก เราได้ยินมามากอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่ว่าจะมาช่วยให้การปฏิบัติของเราให้ดีให้สงบได้ ที่เราจะดีจะสงบได้ก็เกิดจากการปฏิบัติทั้งหมด เปลี่ยนจากการศึกษา เปลี่ยนจากการใช้สัญญาความจำ เรามาใช้การปฏิบัติเป็นหลักนำ คือเปลี่ยนมาปฏิบัติตัวของเราทุกๆคน คือเรามีเวลาที่จะปฏิบัติ เราได้ทุกคน เวลาไหนก็ได้ อยู่ที่ไหนก็ได้นั้นเป็นเวลาส่วนตัว เราก็เอาไปปฏิบัติ ไปเปลี่ยนให้ใช้อุบายคำสอนพระพุทธเจ้าเนี่ยแหละ คือซึ่งเป็นสัญญาไปนำหน้าก่อน แต่เราปฏิบัติ เราถาม เราทักบ่อยๆ จิตมันก็จะค่อยรู้ค่อยตื่นขึ้นมา
อย่างที่ท่านให้ภาวนา ให้บริกรรมว่าพุทโธสั้นๆ แต่ความหมายของพุทโธก็มีความหมายกว้าง ที่มีคุณที่สูงมาก ท่านบอกว่าคือพุทโธซึ่งเแปลเป็นภาษาไทยเค้าเรียกว่า ผู้รู้ธรรม ผู้รู้ตื่น ผู้รู้เบิกบาน ผู้รู้สงบอะไรอย่างเนี้ย ก็เป็นความหมายความแปลที่เป็นฝ่ายดี เหตุนั้นถึงเราจะนึกคำเดียว แต่ความหมายก็มาก กว้าง คือกว้างที่จิตของเรานั่นแหละที่รู้ รู้การทำของเรา รู้การปฏิบัติธรรม คือการเรื่องน้อมนำอารมณ์มาใส่ใจ เราไม่คิดส่งไปภายนอกอย่างที่เราเคยปล่อยจิต เที่ยวไปไม่มีขอบเขตอย่างนั้น เราไม่ปล่อย คือเราพยายามที่จะกำหนด ที่จะตั้งสติไว้กับร่างกาย รู้สึกตัวอยู่ตลอดอะไรอย่างนี้
ฉะนั้นร่างกายของเราก็เป็นบ้าน เป็นสถานที่ศึกษาหรือเป็นอาคารเรียนของพระพุทธศาสนา อย่างเราที่มีสถานศึกษา มีมหาวิทยาลัยมีอะไรต่างๆเนี่ย อันนั้นมันเป็นโครงสร้างของสถานที่ แต่ส่วนการสร้างการศึกษาทางธรรมก็คืออาศัยร่างกาย คืออาคารหรือโรงของสิ่งก่อสร้างจากกรรมที่นำมาให้เราเกิดเป็นร่างกายนั่น มาเป็นสถานที่ปฏิบัติและศึกษา ถ้าคนไหนเป็นนักศึกษาก็คือใจเป็นผู้อยู่ศึกษาในร่างกาย ตั้งใจศึกษา ตั้งใจเข้ามาอยู่ในโรง คืออยู่ในร่างกายตลอด ก็เหมือนนักศึกษาที่ตั้งใจศึกษาดี ไม่หนีโรงเรียนแล้วก็ไม่ทำความเสียหายให้เกิดขึ้นในโรงเรียน ตั้งใจมาอยู่ไม่ขาด ก็เหมือนกับว่าการปฏิบัติธรรม ก็เป็นการที่เข้าเรียนศึกษาในร่างกายของเราแต่ละคน แล้วโรงเรียนก็มีของใครของมันหละทีนี้ คือมีคนละโรงๆ แล้วก็มีครูคนละคน ละคน คือมีใจอยู่ด้วยอาคารโรงเรียนหลังนี้
ท่านให้มาศึกษามาเรียนที่นี่พระพุทธเจ้าของเรา เราจะกลายเป็นคนรู้คนดีทีเนี้ย เพราะรู้ดียังไง เพราะว่าโรงเรียนหลังนี้มีครูดี มีผู้สอนดี มีผู้ปฏิบัติดี ควบคุมดี ก็มีหลักสติปัฏฐาน ๔ ที่ท่านเอามาสอนเป็นหลักการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา ก็มาเพื่อบำรุงเพื่อใช้เป็นหลักสูตรเพื่อใช้ในการศึกษาในโรง ในร่างกายอันนี้ นี่หละ อย่างที่ว่า กายานุปัสสนา ท่านก็ยกหมายร่างกายเป็นโรงแรก แล้ว เวทนานุปัสสนา คือเรื่องความสุขความทุกข์ที่เกิดจากโรงเรียนของเราเป็นไป หรือเราผู้ที่อาศัยโรงเรียนรับรู้ ว่าร่างกายของเรา โรงเรียนของเราทรุดโทรมยังไง รับผลกระทบแดดลมฝนอย่างไร นี่เรียกว่าเวทนา นอกนั้นจิต (จิตตานุปัสสนา)ก็คือเจ้าของโรงเรียนเป็นผู้อยู่เป็นผู้ดูแล นี่ท่านว่าอย่างนี้ ที่สี่ก็ ธรรมานุปัสสนา ก็เป็นธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหมดหละทีนี้ ในโรงเรียนในร่างกายของเราแต่ละคนนะ
ดังนั้นเรามาเข้าเรียนเข้าลู่อย่างนี้เนี่ย ใครจะไปอยู่ที่ไหน สถานที่ไม่เกี่ยวข้องก็ต้องเป็นคนดี ต้องเป็นผู้รู้ดีและผู้ปฏิบัติดี ไม่หนี ไม่ทำความเสียหาย เราจะอยู่ในชาติไหน ประเทศไหน ก็รักษาความดีไว้ได้ เพราะว่าทั้งโรง ทั้งครู ทั้งการศึกษา การปฏิบัติ ก็อยู่ด้วยกันครบถ้วน คือไม่บกพร่องทีนี้ แล้วสิ่งที่ดีคือผลดี คือคุณความดีเกิดขึ้น บุญที่เราปรารถนาซึ่งเป็นบารมีหลักธรรมของชาวพุทธเรา ก็เกิดขึ้นในสถานที่เราปฏิบัติที่เราศึกษานี่ หรือว่ามีขึ้น เกิดขึ้นที่นี่หมด เราไม่ต้องไปหาที่อื่น ไปหาวัตถุ เอาไปถวายทาน หาสิ่งที่เป็นของมีมูลค่ามากๆ ไม่ต้อง ท่านบอกว่ามันเกิดมีบุญขึ้นในการปฏิบัติ เกิดขึ้นในตัวของเราเพราะว่าตัวของเราทั้งหมดนี่ มันเป็นมรดก มันเป็นกองทรัพย์อันประเสริฐ ท่านว่าอย่างนี้ ถ้าเราทำให้เกิด ให้มี เราขุดค้นขึ้นมาได้ ก็ไม่อด ไม่อยาก ไม่จน สิ่งดีๆที่มีในตัวของเราที่เราจะทำให้เป็นคุณขึ้นมา อย่างพระพุทธเจ้าของเราก็ทำได้ตรงนี้ คือที่ตัวที่จิตของเรานี่แหละ บารมีต่างๆเกิดขึ้น ทีนี้ความอุดมสมบูรณ์เกิดขึ้น เราก็แก้ความยากจน ความเดือดร้อนได้ทีนี้ เพราะว่าเรามีพอ ไม่บกพร่อง นี่เราปฏิบัติ เราก็สงบขึ้น คือเราไม่หิวอะไรแล้วนี่ จิตมันไม่คิดไปอยากอะไร ไม่อยากไปปรุงหาอะไร เพราะมันมีเหมือนคนมีของมีเงินครบอย่างเนี้ย แล้วเราก็มีความรู้ครบ ศึกษาครบจบชั้น แล้วจะไปเรียนอะไรต่อ ก็พอ ก็ปฏิบัติอย่างเดียวหละทีนี้
แต่สมัยปัจจุบันที่เราอยู่นี่ เรารู้สึกเราเจริญเกินคาดหมาย ถ้าเทียบครั้งสมัยโบราณ หรือครั้งพระพุทธเจ้าของเราอย่างนี้ ก็ไม่ได้ศึกษาก็ไม่ได้ใช้วิชาการมาก แต่ใช้การปฏิบัติมาก เพราะว่าการปฏิบัติมากนี่มันมีคุณค่ากว่า หรือดีกว่าอะไรอย่างนี้ แต่การที่เราเรียนรู้มาก เราใช้หลักวิชาการมาก ไม่มีการปฏิบัติช่วย ผลที่จะเกิดจะได้รับมันไม่มี มันไม่สมบูรณ์แต่ถ้าเรารู้น้อย เรียนน้อย เราปฏิบัติมากนั่นน่ะ ถูกตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเรารู้น้อยแต่เราปฏิบัติความรู้ให้มาก ให้ดีเพิ่มขึ้นหลายเท่าอย่างนี้ ก็มีคุณค่ามากขึ้น อย่างที่ว่าสอนให้เรามีอุบายเฉพาะอุบายเดียวเรื่องเดียว เพื่อแก้ไขกิเลสเฉพาะที่มันมีในใจของเรานั้นน่ะ มันก็ไม่ต้องไปหาอย่างอื่นอีกมากทีนี้ เรามีปัญญาเราก็แก้พวกกิเลส พวกสัญญาที่มันมีมันรบกวนจิตใจเราอยู่นั่นน่ะ ทีนี้มันก็ไม่ต้องถามมากหละทีนี้ มันมีน้อย ฉะนั้นเรื่องปัญญาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเรานำมารักษา มาแก้กิเลสได้เพราะปัญญา เพราะพระองค์สร้างบารมีสร้างปัญญามาแก่กล้าสมบูรณ์แล้ว ทีนี้ปัญญาของท่านก็แหลมคม เรียกว่าแข็งแรง คือไม่กลัวกิเลส สามารถที่จะฝ่าฟันตัดกิเลสได้
แต่ถ้าเราปัญญาเรายังอ่อนอยู่ เราก็ไม่กล้า เพราะว่ากิเลสมันเป็นของหยาบของหนาไม่ใช่ของง่าย ถ้าปัญญาของเราอ่อน เราไม่กล้า เราก็ตัดกิเลสไม่ได้ ฉะนั้นปัญญาจึงมีคุณค่าสำหรับที่จะตัดกิเลสทุกประเภทได้ จากพระพุทธเจ้าของเราก็ตัดด้วยปัญญาอย่างนี้ เพราะว่ากิเลสมันเป็นสัญญา ส่วนปัญญามันเป็นตัวตัด หรือว่ากิเลสมันเป็นตัวโลภ แต่ปัญญามันเป็นตัวธรรมที่จะนำไปใช้ในการปฏิบัติชำระจิตใจ พัฒนาจิตใจน่ะ ก็ต้องมีปัญญา อย่างที่เราพูดกันว่าทั่วๆไป อย่างที่เราหรือคนอื่นเห็นกัน ที่ทำอะไรบางอย่างที่ไม่แสดงออกด้านปัญญาเราก็ว่า โอ้ ทำไมมันโง่ มันไม่มีปัญญาอย่างนี้ เราจะทักจะด่ากัน ขอให้มีปัญญาซักหน่อยก็จะดีขึ้นอย่างเนี้ย เหมือนกับว่า เรารู้ว่าโรคแต่เราไม่รู้ยาอย่างนี้ แต่ถ้าเรารู้ว่าตัวเรามีเชื้อโรค แต่เรารู้ยาที่จะรักษาซักอย่าง เราก็ยังมีทางแก้ นี่เหมือนกัน เรามาปฏิบัติ มาศึกษาพระพุทธศาสนา เอาอุบายปัญญาของพระพุทธเจ้ามาใช้พัฒนาจิตใจของเราก็เหมือนกัน
ถ้าเราได้ปัญญา เราพัฒนาให้ถึงใจ เราปฏิบัติให้ได้ให้ประจำอย่างเนี้ย เราก็จะเห็น เห็นผลเห็นความสะอาดในจิตของเราเนี่ย เห็นเครื่องหมาย เห็นการเปลี่ยนแปลง เหมือนเรากวาดพื้นที่ที่สกปรกมาก่อนอย่างเนี้ย พอเราเอาไม้กวาดกวาดไปรอยหนึ่ง เราก็เห็นแล้วว่าคือมันสะอาดขึ้น เราเห็นรอย เรากวาดไปครั้งเดียวมันก็เป็นรอยให้เห็น แต่เรากวาดไปหลายๆครั้ง กวาดกว้างๆมันก็เห็นกว้างไปเองนั่นหละทีนี้ เราก็เห็นว่านี่คือธรรมะก็เป็นเครื่องกวาดกิเลส เป็นเครื่องขัดเกลากิเลสอย่างนี้ กิเลสที่เป็นละอองที่มันเป็นผง เป็นของสกปรก ที่มันมากับลม คือลมจิต ลมความคิด อารมณ์ของกิเลสที่มีในจิตนี้ มันพลัดมาตกใส่ ท่านบอกว่ากิเลส สิ่งมัวหมอง สิ่งสกปรก เรามันต้องอาศัยปัญญานี่แหละ เหมือนบ้านเราสกปรก เราก็ต้องอาศัยไม้กวาด ผ้าเช็ดพื้น ถึงเราภาวนาทุกวันก็เพื่อปัดกวาดจิตใจนั้นน่ะ ท่านจึงให้ปฏิบัติเป็นนิจเป็นกิจประจำวันอย่างนี้ คือถ้าเราเว้นไป เราห่างไป มันก็จะสกปรกหนาขึ้น แล้วทุกอย่างที่มีในตัวเราหรือรอบตัวเราก็เหมือนกัน ก็จะได้เห็นกับตาหละว่า เออ ถ้าเราไม่ปฏิบัตินี่ก็จะมีอะไรพลัดตกใส่ ละอองอะไรต่างๆ เหมือนเราอยู่ในกรุงอย่างนี้ก็ยิ่งมาก เพราะว่ามลพิษ แก๊สน้ำมันมันเยอะ แล้วมันทำความสะอาดยากด้วย เพราะมันไม่ใช่ฝุ่นธรรมดา อันนี้เราก็เห็น ถึงอารมณ์จิตที่มันเหนียวแน่นไปกับกิเลสก็เหมือนกัน เราก็จะใช้ปัญญาง่ายๆไม่ได้ ปัญญาที่ไม่แข็งแรงไม่ได้ จะต้องใช้ปัญญาเข้มแข็ง จะต้องฝึกต้องฝนอย่างดี ชุบอย่างดีให้มันแก่กล้าถึงจะเข้าไปนั่นได้ ถ้าไม่ดีก็ไม่ได้ละ
นี่เรียกว่าเรามุ่งเพื่อขัดจิตใจเพื่อที่จะเปลี่ยนความคิดในด้านจิต เพื่ออุบายพัฒนาจิตใจของชาวพุทธเรา เราจะได้คุณพระธรรมที่นำไปปฏิบัติตัวเรา ถึงเราไม่ได้อยู่ปฏิบัติอย่างผู้ที่เสียสละมาบวช แต่เราเป็นชาวบ้าน เราก็มีเวลาพอที่เราจะปฏิบัติได้ เราไม่เอาไปเวลาไปทำกิจอย่างอื่น เวลาประกอบอาชีพก็มีเวลาพอ แต่ส่วนเวลาที่เราจะปฏิบัติธรรมประจำตัวประจำที่ก็มีพอ เราก็น่าจะใช้เวลาปฏิบัติเฉพาะตัวเรานี่แหละ เพื่อเราจะได้กัน กันกิเลส หรือกันเวลาที่เราไปทำเสียหาย เข้ามาสู่ที่สู่ใจของเรานั่นน่ะ อย่างคนที่ถือพุทธจริงๆเนี่ย ก็เราเป็นพุทธที่ถึงใจหรือว่าพุทธที่เข้าถึงหลักปฏิบัติอย่างนี้ เราก็ต้องมีกิจของพุทธตลอด คือรู้ว่าเราไม่หลงไม่ลืมตัว ไม่ขาดสติอย่างนี้ ก็คือหลักของพุทธ ท่านว่า อยู่ที่ไหน อยู่คนเดียวอยู่รวมหมู่อยู่ในชุมชนมากน้อย เราก็พยายามที่จะกำหนด ไม่ให้สติเราสะเทือนหรือว่าเผลอไปกระทบคนอื่นอย่างเนี้ย เราก็ต้องเป็นเรื่องของพุทธหละทีเนี้ย เป็นรู้จากเฉพาะตัว ไม่หลงส่วนรวม
อย่างที่เราเป็นฆราวาสเหมือนกัน ก็รู้เรื่องเฉพาะตัวเฉพาะครอบครัว หน้าที่ของตัวของครอบครัวที่จะปฏิบัติตามแนวของพุทธเราอย่างนี้ ที่ฐานะหรือสถานที่เราจะปฏิบัติได้ แต่ถ้าจะปฏิบัติให้ได้สะดวกหรือเต็มที่ มีธรรมชาติที่สมบูรณ์มันก็ยังไม่ได้ เพราะเราอยู่ในฐานะ อยู่ในสภาพพื้นที่ที่จะต้องปฏิบัติให้มีพื้นฐานของพุทธ ให้เป็นพื้นรองรับอยู่ คือไม่ใช่ว่าเราเป็นพุทธแต่ชื่อ เป็นพุทธแต่ที่อารมณ์ เป็นแต่เพียงเราสวด เราไหว้ เราสวดนั้นท่านบอกว่าเป็นเพียงอารมณ์ เรียกว่าเป็นลม ยังไม่ได้เป็นหลัก ยังไม่ได้เข้มแข็ง ถ้าเราทำการปฏิบัติ เราขัดจิตใจ เราฝึกฝนอบรมต่อสู้กับการปฏิบัติอย่างเนี้ย ไม่ท้อถอยคือว่า เราหมายร่างกายเป็นหลักคือตัวของเราเป็นหลักอย่างเนี้ย บางทีกิเลสมันว่ามา เราก็ต้องเอาปัญญาแก้ ไล่ไปอย่างเนี้ย อย่างที่อธิบายอุบายธรรมะเพื่อพัฒนาจิตใจของพวกเราที่ไม่แตกต่างกัน คือลักษณะของกิเลสก็ไม่แตกต่างกัน ลักษณะของธรรมของปัญญาก็ไม่แตกต่างกัน ถ้าเราไปใช้ให้ถูกที่ เอาไปใช้ให้เต็มที่เต็มส่วนมันก็ได้ผลหละทีนี้ ได้ผลเหมือนกัน
ฉะนั้นลักษณะปัญญาของพระพุทธศาสนาเนี่ยเรียกว่าใช้แก้ ใช้กันกิเลสได้ทุกอย่างทุกด้าน ถ้าท่านเปรียบเทียบ ศัสตราหอกดาบมีดให้เราเห็น ก็เหมือนมีด เหมือนดาบมันมีหลายด้านที่จะทำได้ อย่างมีดปลายแหลมอย่างนี้ แล้วก็มีคม แล้วก็มีสัน แล้วก็มีด้าม ท่านบอกว่า คือใช้ได้ทั้งสี่อย่าง คือด้ามก็ใช้ตำ ท่านบอกว่าคมก็ใช้ฟัน สันก็ใช้ทุบ ปลายก็ใช้แทง มันก็ใช้ประโยชน์ได้รอบด้านหละทีนี้ ถ้าเรามีปัญญาที่เราฝึกฝน ที่เราสร้างขึ้นมาเอง เราชุบขึ้นด้วยการปฏิบัติ ทำด้วยบารมีธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านนำท่านสอน มันเป็นขึ้นมาได้อย่างนี้ เราก็เลยได้ปัญญา ได้เครื่องฝ่าฟันกิเลส เครื่องตัดกิเลส เครื่องชำระกิเลสได้ ท่านบอกเป็นเครื่องหมายที่ว่า จิตของเราก็ต้องรู้อย่างนี้ รู้ว่าต้องทำกับตัวเราอย่างนี้ ถ้าไปทำกับที่อื่นมันก็ไม่ถูกทีนี้ ต้องทำกับร่างกายของเรานั่นแหละ ถ้าไปทำกับคนอื่นมันผิดหละทีนี้เพราะว่ามันไม่ใช่ของเรา ของเราก็คือร่างกายของเรา เราจึงมีที่ที่เราจะปฏิบัติธรรม ที่จะสร้างอุบายปัญญาให้เกิดขึ้นในตัวในใจของเราทุกคน
แต่เราไม่เข้าใจ เราไม่ได้คิดว่าอยู่ในตัวของเราอย่างนี้นะ บางทีอ้ะ หรือบางคนก็ต้องนึกไปไกลๆถึงพระพุทธเจ้าโน่น ถึงคนอื่น ไม่ได้นึกเข้ามาหาตัวเองอย่างนี้ แต่พระพุทธเจ้าท่านสอนใส่คนที่เป็นชาวพุทธทุกคนหละทีนี้ สอนเข้าหาตัวหาจิต ให้เอามาคิด มาสร้างปัญญาขึ้น ให้เรามากำหนดขึ้น ให้เรามาใช้ปัญญา ใช้ความสงบ ใช้สติ สร้างขึ้นมาอย่างทุกคนน่ะ ให้มันเกิดขึ้น แต่มันไม่ใช่สร้างง่ายน่ะทีนี้ มันก็จะเห็นความลำบากในการสร้างในการปฏิบัตินี่ ถ้าคนเราไม่ได้ศึกษาดี ไม่ได้รู้จักวิธีอุบายแก้น่ะมันสร้างยาก แต่ถ้าคนไหนที่มีบารมี มีปัญญาพื้นฐานดี มันก็ดูง่ายขึ้น เพราะว่ามันมีบารมีรู้ทีนี้ รู้จักสร้าง รู้จักแก้ รู้จักดัดแปลงอะไรอย่างนี้ เหมือนอย่างเราจะเป็นช่างจะตีมีดใช้เฉพาะตัวเรา ก็ต้องเป็นช่างจะต้องมีอุปกรณ์ครบ แต่ถ้าไม่มีโรง ไม่มีเครื่องอุปกรณ์ไม่มีช่างในตัวก็ทำไม่ได้ นี่พระพุทธเจ้าท่านก็ให้สร้างในตัวเราทุกคนนั่นแหละ อย่างที่ว่าเรามีโรงมีรูปมีอะไรครบ เรามีอาคารเรียนในตัวของเราทุกคน ผู้หญิงผู้ชายอย่างเนี้ย เราไม่ต้องไปเข้าโรงเรียน ไม่ต้องไปหาสถานที่สิ้นเปลือง ไม่ต้องไปใช้เงินจ้างครูสอน มันก็ตัดปัญหา ตัดภาระหมด
แต่ก่อนเนี่ยอย่างสมัยที่โบราณอย่างนี้ ก็ไม่สิ้นเปลือง ไม่ลำบากเรื่องการที่จะฝึกสอน ที่จะแก้ไขความรู้สำหรับคนในชาติเรา ก็สร้างขึ้นมาจากความรู้ด้วยปัญญาจริงๆ ก็ง่ายขึ้น เพราะคนที่มีปัญญา มีบารมีเนี่ย มันจะมองเห็นอะไรทุกอย่างเป็นคุณเป็นประโยชน์ และเป็นสิ่งที่มาประกอบให้ใช้ได้อะไรอย่างเนี้ย ถ้าคนไม่มีปัญญามันก็ทำอะไรไม่ได้น่ะแหละ ท่านว่า ฉะนั้นปัญญาจึงเป็นของมีค่าสำหรับปฏิบัติในพุทธศาสนา และเป็นยอดของพระพุทธศาสนาด้วย ถ้าไม่มีปัญญา ไม่สมบูรณ์ก็ตัดกิเลสไม่ได้ด้วย นี่เรียกว่าสิ่งที่เราจะมาอบรมศึกษามาสร้างปัญญากัน มาพัฒนาจิตใจ ให้ได้ความผ่องใสความสงบอยู่ที่นี่ ให้ได้เรามีความเห็น เห็นความดีที่เราทำเราปฏิบัติในจิตของเรานี้ขึ้น อย่างที่ว่า เราเข้าใจหลักปฏิบัติหรือเข้าใจอุบายที่จะมาแก้จิตของเราแต่ละคนเนี่ย จะทำจิตของเราให้สงบ อาศัยอุบายปัญญาช่วยอย่างเนี้ย เราจะทำสมาธิแบบเอาความสงบ แบบจิตรวมสู่ภวังค์อย่างนี้มันไม่ได้ง่ายๆ เพราะว่าความพร้อม สถานที่ ทุกสิ่งทุกอย่างมันยังไม่เพียงพออะไรอย่างนี้
สมาธิที่เราอาศัยปฏิบัติ อาศัยเป็นกิจการงานประจำตัวของเราเนี่ยแหละ เป็นสิ่งจำเป็นทุกคน เราก็ต้องอาศัยสมาธิ ปัญญาที่อบรมให้เป็นสมาธิเนี่ยแหละ มาใช้เฉพาะตัวหละทีนี้ คือแบบใช้อุบายปัญญาช่วยออกหน้าอย่างที่อธิบายให้ฟัง คือไม่เอาไว้ทางหลัง ต้องเอาปัญญาออกหน้า เวลาเราจะคิดครั้งไหนที่ใดก็ตาม เราก็ต้องตั้งปัญญาไว้ให้มองเห็นอยู่ข้างหน้าเรา เราก็กันกิเลส กันสัญญาหลงๆที่จะมาติดจิตใจของเรานั่นแหละ มันมาไม่ได้ เพราะว่ามันกันอยู่ข้างหน้า มันไปก่อนแล้ว กิเลสที่สิ่งไม่ดีมันอยู่ข้างหลังเรา เราไม่ได้ดู ไม่ได้จดจำหละทีนี้ มันก็ลบเลือนไปท่านว่า มันไม่ได้จะมาติดใจซะแล้ว สิ่งที่มันติดที่มันอยู่ข้างหน้าคือตาเราเห็น อย่างนี้น่ะ มันเป็นกิเลสขึ้นตรงนี้ ตาเห็น หูได้ยิน สิ่งรับรู้ในร่างกายมันจำเอามันรับเอา มันก็เลยมากองอยู่ในใจเราหมด เลยมาเป็นกองกิเลสหละทีนี้
ทีนี้มันกองเยอะๆเนี่ย กว่าเราจะโกยออกไป กว่าเราจะแยกจะล้างออกไป มันก็เหนื่อย เหมือนอย่างสิ่งสกปรกอยู่ในตัวในเสื้อผ้าของเราแต่ละคน อยู่ในที่นอน ที่ทำงานน่ะ ถ้าเกิดเราปล่อยนานๆซักอาทิตย์ เราไม่กวาด ไม่เช็ด ปล่อยไว้นานๆก็รู้ มันก็หนาขึ้นมาก เรามากวาดก็เหนื่อยมาก แล้วก็เสียเวลามาก แต่ถ้าเรากวาดบ่อยๆเนี่ย มันก็ง่ายแล้วมันก็ไม่เหนื่อย เพราะว่ามันไม่ได้กองกันขึ้น มันกระจายหนีไป อันนี้การปฏิบัติท่านก็เพื่อว่าให้เราทำบ่อยๆ ถึงทำน้อย ก็รักษาได้ แต่ถ้าเราปล่อยทิ้ง ไม่ทำนานๆ นึกได้ค่อยนึกอย่างพุทโธอย่างเนี้ย วันหนึ่งเรานึกครั้งหนึ่ง หรือสองครั้งมั้ย เราลองนึกถามใจเราดูอย่างเนี้ย บางทีเราเป็นชาวบ้าน โอกาสที่จะนึกก็ยากมาก พอเรานึกออกหน้าตั้งแต่ว่าเออ เราจะไปหา ไปเอาทรัพย์ เอาความมี ความร่ำรวย จะไปหาวิธี หาอาชีพที่ดีๆ มันก็คิดไปแต่เรื่องเงินนั่นแหละ มันจะคิดนึกภาวนาพุทโธมันไม่ใช่ง่ายนะเนี่ย มันเป็นวันๆมันก็นึกไม่ได้ มันก็ห่างมาก
ฉะนั้นเราต้องดูว่าการนึกการทำของเรานี่แหละ จิตใจของเรานี่ที่จะเป็นพุทธเป็นศาสนาเนี่ยมันก็ไม่ใช่ง่าย จะต้องอาศัยเวลา อาศัยสติ อาศัยความที่เรามุ่งมั่นที่เราตั้งใจจริงๆอะไรอย่างเนี้ย เราเห็นว่าพระพุทธเจ้าท่านให้ใช้อุบายนี้ เอาหลักปฏิบัตินี้เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา เป็นมัชฌิมาปฏิปทาอยู่ที่ความรู้ที่ความสงบเนี่ยแหละ ความพอนี่แหละ ความไม่บกพร่อง ความไม่หิว เราอิ่ม เราอิ่มอยู่ในกายในใจนี่ อาหารก็อิ่มอยู่ในตัวหมด เพราะว่าเราไปกินอาหาร เราก็เอาเนื้อเอารูปของสัตว์มาทำกิน แต่ในตัวเรามันก็มีอาหารเต็มตัวแล้วมันก็ไม่หิว ฉะนั้นท่านให้มาปฏิบัติตัว รู้เรื่องของตัวเองทั้งหมดได้ ก็เป็นคนสมบูรณ์ไม่ยากจน เป็นคนดี ไม่ต้องรบกวนคนอื่น ไม่ต้องไปแย่งคนอื่น ปล้นคนอื่น เรามีครบทุกอย่าง ฉะนั้นบอกว่า โลกเราจะได้มั่งมีอยู่เย็นเป็นสุข ไม่อดไม่อยาก
อย่างที่ว่าในหลวงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เคยเตือนไพร่ฟ้าประชาราษฎร์มานาน ให้รู้จักปฏิบัติสร้างครอบครัวตัวเองแต่ละคน ให้สร้างเศรษฐกิจพอเพียงจะได้แก้ไขปัญหาความยากจน ท่านก็มองเห็นอยู่ แต่คนหลายๆคนถ้าปฏิบัติตามหละทีนี้ มันก็จะมีผลขึ้นมา คือมันเกิดจากปฏิบัติอย่างเดียว คือทำขึ้นถึงมีน้อย ถ้ามันมีขึ้นก็เพิ่มขึ้นมากขึ้น แล้วเราปฏิบัติมันก็ช่วยประหยัดด้วย อย่างปฏิบัติธรรม กินข้าวมื้อเดียวหนเดียวอย่างเนี้ย มันก็ช่วยประหยัดได้เยอะ แต่ชาวบ้านเนี่ยมันนี่ไม่กำหนดหละทีนี้ อยากเวลาไหนก็กิน บางทีกลางคืนดึกดื่น หิวก็ลุกมากิน มันจะช่วยได้ไง เพราะว่ามันมีแต่เพิ่ม ก็เรียกว่าส่งเสริมความอยาก ป้อนตัณหาให้มันอ้วนอะไรอย่างนี้ มันเป็นทางที่สร้างโรค ถ้าอย่างที่เราจะแก้โรค ลดโรคให้เบาบางเราฝึก แล้วมันก็ดีให้ผลดีทีหลัง คือผลดีที่เราไม่ต้องลำบากไม่ต้องเปลืองไม่ต้องกังวล เวลา ไม่ต้องห่วงว่ากลัวจะเลยเวลาเพล เวลาที่เรากินได้อย่างเนี้ย มันก็ตัดกังวลไปแล้ว คือไม่ห่วงแล้ว แล้วจะไปทำอะไรก็ได้งานดีขึ้นเต็มเวลามากขึ้น แต่ถ้าเราห่วงแต่ตัวแต่ปากแต่กินน่ะ เราก็ทำอะไรไม่ได้เต็มที่ เพราะว่ามันไปเสียเวลากับเรื่องที่เราไปยุ่ง ไปมัวกิน มัวเพลินอะไรอยู่อย่างนี่
นี่เรียกว่าท่านให้แก้ไขในเรื่องกิเลส ในเรื่องตัวของเรา ใช้อุบายปัญญา ใช้อุบายธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านนำมาปฏิบัติ มาได้ตรัสรู้นั่นน่ะ ได้ชำระกิเลสออกไปจากใจของพระองค์จริงๆ ท่านก็สร้างเป็นตัวอย่างให้เราได้ปฏิบัติ เพราะเราถือพุทธ เราถือตามความศรัทธาในหลักคำสอนในหลักพระสูตรนั่นหละ แต่ถ้าเรามาปฏิบัติ เราได้เกิดความศรัทธาในธรรม ในพระปัญญา เรามีความเชื่อมั่น ทีนี้เราเห็นชัดด้วยจิตเรา ว่าพระพุทธเจ้าท่านเห็นอย่างนี้จริงๆ แล้วเป็นเรื่องอย่างนี้มาแต่ครั้งพระพุทธเจ้าของเรา สองพันกว่าปี นั้นก็มีมา นี่เรียกว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ปฏิบัติวัดผลมา และท่านก็รับรองพระพุทธศาสนาเรามาถึงทุกวันนี้แหละ คือส่วนสำหรับทางโลกก็ช่วยให้ชาวโลก ให้บ้านเมืองเราอยู่เย็นเป็นสุข ส่วนทางศาสนาก็ให้ผู้ปฏิบัติ ผู้เสียสละเข้าไปบวช ได้อยู่สงบร่มเย็น ไม่เดือดร้อนกระทบกระเทือนไปถึงกัน
แต่บ้านเมืองเราทุกวันนี้ก็รู้กันทั่วประเทศว่ามันมีผลกระทบ คนที่อยู่ในชุมชน อยู่ที่ในเมืองเจริญแล้ว กระทบไปถึงรอบนอกชนบทป่าเขา ครูบาอาจารย์อยู่สงบภาวนาจะต้องไปบวชไปรายงานตัว นี่ไม่ใช่ว่าไม่ใช่มี คือมีเป็นประจำ หลวงพ่ออยู่เชียงใหม่ไปจากกรุงเทพภาคตะวันออก ภาคอีสาน บอกว่าตายแล้วสมัยเนี้ย! หนี้ท่วมหัวจะทำอย่างไร โห มันไม่ใช่เรื่องน้อยๆ คนมาไม่รู้ทั้งประเทศน่ะ อู้ย ไม่ใช่หลวงพ่อเป็นในหลวงเว้ย! หลวงพ่อเป็นพระ ถ้าเป็นในหลวงจะแจกเงินให้พอใช้ทุกคนแล้วก็หมดเรื่อง นี่แหละ มันแสดงผลอยู่จริงๆน่ะ
บางคนบอกว่ามันนอนไม่หลับ ขนาดนั้นแล้ว โห ทุกข์ขนาดไหน นอนไม่หลับเนี่ย ทุกข์ที่สุดหละ ธรรมดาเค้ามีกลางวันกลางคืนให้นอนน่ะ โลก พระอาทิตย์ พระจันทร์ เค้ามีไว้ให้เรานอนให้ทำงาน แต่เราทำเกินโลกเขาหละทีนี้ กลางคืนเค้าให้นอนหลับตัวก็นอนไม่หลับ เพราะมันทุกข์มาก อันนี้เราจะแก้ไขอย่างไร…
ถ้าเรามาใช้พระพุทธศาสนาของเราเนี่ย พระพุทธเจ้าท่านใช้มาถูกต้องเนี่ย เอามาปฏิบัติกันทีนี้ ปัญหาต่างๆเราก็ไม่ต้องไปตามแก้มันหรอก มันสงบลงที่ปัญญาหมดหละทีนี้ ตัวนั้นน่ะ คือปัญหาทั้งหมดนี่รวมปัญหาทั้งโลกนี่นะ มันไม่ได้เกิดมาที่ไหน มันเกิดมาจากตัณหาซึ่งมันมีตัวอักษรคล้ายกัน ความหมายที่ตัวแก้เหมือนกัน แต่ว่ามันเกิดมาจากตัณหาทั้งหมด ถ้าไม่มีตัณหา ปัญหามันเกิดไม่ได้อะไรอย่างเนี้ย ถ้าแก้ตัณหาแล้ว ปัญหาก็จบหมด
อย่างพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้า คือท่านแก้ตัณหาหมด ปัญหาไม่มี มันเกิดไม่ได้เพราะไม่มีที่มาเกิด เพราะมันมีเพราะมันมาเกิดอยู่ มันยังมาเกิดคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้นั่นน่ะตัณหา ทีนี้ปัญหามันก็ขยายไปว่า เอ๊ะ เรื่องนี้คือตัณหาเฉพาะเรื่อง แล้วก็เรื่องนี้แยกออกไปเฉพาะ เหมือนกิ่งไม้ที่มันแตกออก แยกกันกันข้างบนน่ะ มันเยอะ มันมาจากรากจากต้นเดียวนั่นแหละ ท่านบอกว่าอย่างนี้ก็เลยเป็นปัญหารอบด้าน เพราะมันยิ่งปล่อยให้มันสร้างมากๆ มันปิดบังมืดทึบหมดเลย นี่ท่านว่าเรื่องตัณหาที่เราตามแก้ไขกันอยู่ เรามีข้อข้องใจกันอยู่อะไรอย่างนี้
ฉะนั้นถ้าเรามาปฏิบัติธรรมเข้ามาหาหลักตัณหาได้อย่างเนี้ย เกิดความสงบ ทำจิตใจสงบได้น่ะ มันก็จบปัญหาลงที่ใจเราหละทีนี้ มันไม่ไปหาเรื่องแล้วทีนี้ เพราะว่ามันไปหาแล้วมันก็รู้ว่ามันกลับคืนมาข้องใจเรา ใจเราก็พยายามที่จะไม่เกาะแล้วทีนี้ ไม่ให้มันมาแล้ว เราก็ระวัง ก็มีสติจ้องอยู่เสมอ จะไม่ให้มันเผลอ จะต้องรีบปลดทันที หรือว่าเวลาไปถูกเกาะนิดหน่อยเราก็รู้สึก เราก็รีบแก้ตอนที่มันไม่ติดลึก มันยังไม่แน่น มันก็ง่ายขึ้น
นี่แหละเรื่องว่าวันนี้ที่เรากำหนดเวลา แล้วก็หัวข้อธรรมที่จะให้นำบรรยายเรื่องอุบายพัฒนาจิตใจของชาวพุทธเรานั้น ก็เป็นเรื่องที่ได้นำมาอธิบายให้พวกเราได้ฟัง ได้จำ ได้เข้าใจเพื่อเราจะได้คัดเอาอุบายเฉพาะเรา ในเรื่องที่จะใช้ปัญญาที่จะมาแก้ตัวเรา ปฏิบัติตัวเรา เปลี่ยนแปลงตัวเรานั่นน่ะ ให้เกิดปัญญาได้ ปัญญาใหม่เกิดขึ้น เราจะได้แก้ไขปัญหามากมายที่เรายุ่งยากอยู่ทุกวันนี้นะ ที่เราว่ากันอยู่นี่ ไม่รู้ว่าใครก็ใส่ในหลวงเต็มหมดนั่นแหละ ก็นึกในหลวงพระองค์เดียวนั่นแหละ ทั่วประเทศหละ บ้านนอก ไม่รู้จะพึ่งใครแล้วเค้าว่าเงี้ย เค้าบอกว่าแสดงเครื่องหมายรักในหลวงทั้งหมด เพราะในหลวงมีบุญที่เขาจะเคารพรักเพราะอะไร เราต้องคิดว่าจะปฏิบัติ จะเอาให้ในหลวงได้ปกป้องคุ้มครองเรา เราก็ทำบุญอย่างที่เราแสดงออกเนี่ยแหละ นั่นแหละคือเทิดพระเกียรติ ถวายในหลวงด้วยการปฏิบัติอย่างนี้
เนี่ยก็ความรู้สึก เรื่องบุญเป็นเรื่องของจิต มันดล มันแผ่ไปทั่วโลกทั่วประเทศหละ มันไปซึมซาบเข้าจิตใจของผู้มีบุญหละทีนี้ ก็เลยรู้นึกได้ ถึงจะบ้านเมืองมันเดือดร้อนมันไม่นิ่ง แต่ก็มีบุญ มีผู้มีบุญอะไรอย่างเนี้ย ที่จะพึ่งพาอาศัยอย่างนี้ นี่เราก็เหมือนกัน ก็เหมือนกับว่ามันเป็นยุคเป็นสมัยที่จะคัดคนรวมคน เพราะว่าคนเดี๋ยวนี้เราก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น บางทีก็ต้องมีภัยมีอุบัติเหตุ ตายเป็นกลุ่มเป็นก้อนอย่างนี้ก็แสดงให้เราเห็นอยู่ อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ให้เราได้เอามาเทียบกับพระพุทธศาสนาของเรา เมื่อเราได้รู้ได้มีปัญญาอย่างนี้ เราก็แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบัน คือกลับมาหาบุญ หาคุณ หาทำความดีให้เราอย่างที่เราแนะนำมานี้ ถ้าเราปฏิบัติได้ เรามีคุณพระพุทธเจ้าเต็มใจ มีการปฏิบัติธรรมที่มั่นคงทนทาน ไม่ทอดทิ้ง ไม่ท้อถอย ตลอดถึงข้อปฏิบัติคุณพระสงฆ์เราก็รักษาให้ครบถ้วน นี่ เราพยายามที่จะนึกๆในใจเสมอแหละ เราไม่ต้องไปหาสิ่งอื่น ไม่ต้องไปขอวัตถุสิ่งคุ้มกัน แบบนั้นอย่างนี้ ให้มันเป็นเรื่องเสียหายคุณความดีของเรา นี่เรียกว่าตรงต่อพระพุทธเจ้า
นี่หละวันนี้ได้นำธรรมะบรรยาย ซึ่งพวกเราท่านทั้งหลายมาได้รับฟังกันพร้อมหน้ากันทุกคน ซึ่งโอกาสที่เราจะได้มา ได้เห็นได้พบกันอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ของง่ายด้วยเนอะ เพราะเฉพาะหลวงพ่อเองไม่ใช่ว่าเป็นพระที่ได้มากรุงเทพ มาได้รู้เห็นกับใคร ก็ด้วยว่าถึงคราวที่ความเป็นไปของในกรุงในอะไรหลายๆอย่าง ก็พิจารณาแล้วมันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องมาดูว่า มันเป็นอย่างไรอย่างนี้ แต่ถึงดูอยู่ข้างนอกก็เห็นแต่มันไม่ใกล้ ถ้ามันดูใกล้ๆมันก็เต็มที่หละทีนี้ ถ้ารู้อยู่ไกลๆนี่ มันยังห่าง มันยังมีธรรมสิ่งอื่นแทรกซ้อนอยู่ ถ้ามาอยู่กับที่เนี่ย มันเรียกว่ามันเป็นของแท้เลยหละทีนี้ เรียกว่าเต็มตึงเต็มที่ แน่นอึดอัดเต็มที่อะไรอย่างนี้ ก็ได้ยินเสียงบ่น ก็มาดูว่ามันก็เป็นตามที่คนที่ได้รับผลกระทบเหมือนกัน แต่ว่ากรรมก็บันดาลให้เราต้องทนอยู่ที่นี่ ถึงบ่นแล้วก็ยังไม่หอบไม่หนี อะไรอย่างเนี้ย บางคนก็ยังหาที่มาสร้างมาอยู่ ก็เลย เจ็ดสิบกว่าจังหวัดก็เลยมาแน่นกันอยู่นี่ ที่นี่ ฉะนั้นถ้าเราปฏิบัติธรรม เราหาความสงบ หาที่สะดวกสบายก็มีมากมายประเทศไทยเรา ที่จะอยู่กับธรรม อยู่ปฏิบัติ อยู่สะดวกนี้ก็มีเยอะ แต่เราอยู่นี้ก็อยู่ด้วยบุญเหมือนกัน เพราะอยู่ใกล้บุญ คืออยู่ใจวังในหลวง คืออยู่ใกล้ตัวเงินอันนี้ คือทางโลกก็จุดก็มุ่งอยู่ตรงนั้นด้วย
นี่แหละเมื่อพวกเราท่านทั้งหลายได้มาร่วม ได้มาฟัง ได้มา ได้อุบายปัญญาไปปฏิบัติก็นำไปปฏิบัติกัน ไม่ใช่ทดลองนะ ทดลองมันไม่ได้ มันต้องตัดความคิดอย่างเดียว พระพุทธเจ้าทดลองมาก่อนเราแล้ว เราเนี่ยให้ทำตรงเลย ถ้ายังทดลองอยู่มันก็ยังไม่ถูกหละทีนี้ บางคนก็ เอ๊ะ ทดลองปฏิบัติดูว่าก็ยังเอาความสงสัยมาว่า ไม่ได้ คือว่าจะว่าเป็นยาอย่างนี้ พระพุทธเจ้ารับรองมาหมดเป็นยาโดยตรงกับโลก ไม่ต้องทดลองคือต้องปฏิบัติ ถ้าเป็นของทดลองก็ยังไม่ใช่ศรัทธาจริงท่านว่า ศรัทธาจริงๆต้องไม่ต้องทดลอง ต้องทำ ทำโดยเฉพาะตรงๆอย่างนี้แหละ นี่เรียกว่าเราเป็นผู้เชื่อตรง เชื่อจริง เพราะว่าเราเชื่อพระพุทธเจ้าจริงๆว่าทุกสิ่งเนี่ย ความรู้ความเห็นความเป็นเนี่ย พระพุทธเจ้าไม่มีอะไรบกพร่อง แต่เรามีความบกพร่องอยู่ เราก็รู้ว่าต้องรีบทำ ต้องตาม ต้องเร่งอะไรอย่างเนี้ย
นี่เรียกว่าเป็นการเตือนใจ ให้เรานำไปปฏิบัติ เราก็จะมีความสุขความเจริญในธรรม สติปัญญาของเราก็จะเจริญงอกงามขึ้น บุญทั้งหลายที่เราได้เราก็รวมพลังกัน ไปถวายให้ในหลวงของเราด้วย แบ่งมาใช้แก่ตัวของเราด้วย ไม่ต้องให้ในหลวงหมดหรอก เพราะตัวของเรานี่อดอยากอยู่นะ เดี๋ยวยกให้ในหลวงหมดตัวของเราก็หิวกันหละ นี่แหละให้ตั้งใจ ให้ปฏิบัติรักษาไว้อย่างนี้ เราก็เป็นชาวพุทธถ้วนหน้ากันทีนี้ เราก็ดับความร้อนความวุ่นวายกันช่วยกันได้ เราก็มีความสงบร่มเย็น นี่เป็นธรรมะเตือนใจของเราทุกคน ก็พอสมควรแก่กาลเวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้