Skip to content

ปฎิบัติให้พ้นทุกข์ในชาติปัจจุบัน

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ณ บัดนี้ ถึงเวลานั่งสมาธิภาวนา อย่ามัวคิดฟุ้งซ่านไปที่อื่น ตั้งใจขึ้นมา ตั้งตัว ตั้งกาย ตั้งหมดทุกอย่าง ตั้งแต่ดวงจิตดวงใจขึ้นมา ใจของคนเรากับรูปร่างกาย ให้มันเป็นสามัคคี ทำอะไรให้มันพร้อมอยู่ในใจ เมื่อใจต้องการอย่างไร กายก็ให้เป็นอย่างนั้น ดูพระสาวกเจ้าทั้งหลายในครั้งพุทธกาล ท่านที่บวชเรียนเขียนอ่านเป็นภิกษุภิกษุณี สามเณร สามเณรี ท่านที่เป็นอุบาสก อุบาสิกาสมัยโน้น ท่านมีความหมั่นความขยันไม่ท้อถอย คำว่าพุทโธ หรือพุทธคุณ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน มันเจริญอยู่ในใจ สวดในใจ สวดทั้งนอกทั้งใน ท่านเจริญธรรมกัมมัฎฐาน มีศรัทธาแก่กล้า 

อย่างสมัยพระพุทธเจ้าของเรา เมื่อยังมีชีวิตจิตใจอยู่ ท่านไปเทศน์แสดงธรรมที่เมืองกุรูราช แสดงมหาสติปัฏฐาน มหาสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทธนา จิต ธรรม พระองค์ไปตรัสเทศนาสอนคนเมืองนั้น และเมืองกุรูราชนั้นเป็นเมืองไม่ใหญ่เท่าไหร่ เป็นเมืองยังไม่เจริญเหมือนเมืองใหญ่ต่างๆในสมัยนั้น แต่ศรัทธาญาติโยมเลื่อมใสศรัทธาในมหาสติปัฏฐาน ๔ ตามตำนานญานหลวงปู่มั่นท่านว่า หลวงปู่มั่นในเวลานั้นท่านก็ยังอยู่อินเดียยังเป็นแขกอินเดียอยู่ เป็นคนเมืองกุรูราช แต่เป็นคนชั้นกลาง ได้เห็นพระพุทธเจ้าได้กราบได้ไหว้ ได้เห็นรัศมี ๖ ประการ ได้ฟังธรรมเกิดศรัทธาปสาธะ ความเชื่อความเลื่อมใสอันสูงสุดในเวลานั้น จนได้ตั้งใจว่า จะเอาให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งในอนาคตกาล แต่ก็บำเพ็ญทานรักษาศีลภาวนาพร้อม จนกระทั่งเกิดตายๆ มา ๒๔๐๐ ปี จนมาเกิดอยู่ในประเทศไทย อุบลราชธานี มาชาติปัจจุบัน หรือว่าหลายชาติมาแล้ว ท่านก็ได้บวชในศาสนา เมื่อมาบวชในศาสนาแล้ว ภาวนาจิตใจสงบระงับตั้งมั่นในการภาวนาดีขึ้นโดยลำดับ จึงมาถอน ถอนคำปฏิญาณในใจของตัวเองว่า จะเอาเป็นพระพุทธเจ้านั้นมันกินเวลานาน ได้อยู่แต่ว่านาน จะไปนิพพานในภพนี้ชาตินี้ไม่ได้ ท่านก็เลยหยุด ไม่เอา เมื่อบุญบารมีแก่กล้าเห็นทุกข์เห็นโทษเห็นภัย ในโลก ในวัฏสงสารนั้น ตั้งใจปฏิบัติภาวนา เอาพ้นทุกข์ภัยในโลกปัจจุบันนี่เสีย 

เราจึงได้เห็นหลวงปู่มั่นขยันหมั่นเพียร มีความสามารถอาจหาญ การที่ท่านมาเกิดในสมัยนี้ มาพาพระสงฆ์องค์เจ้า ประพฤติปฏิบัติในการปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน ตลอดจนถึงข้อวัตรปฏิบัติต่างๆแต่ก่อนนี้มันเสื่อมไปจนว่าวัดป่าก็ไม่มียังเหลือแต่วัดบ้าน วัดบ้านก็ร่อแร่เต็มที เมื่อหลวงปู่มั่นมาบวชในศาสนาเจริญภาวนา ท่านก็แก้ไขให้มีวัดป่าขึ้น ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็เรียกว่าอยู่ในป่า สร้างวัดป่าขึ้นมา แต่ก่อนนี้ก็มีแบบพระธุดงค์ภาคกลาง เวลาจำพรรษาก็จำพรรษาวัดบ้านธรรมดา ออกพรรษาแล้วดินแห้งก็ออกธุดงค์แบกกลดไหญ่ สะพายย่ามไปภาวนาตามที่ชอบใจ จะไปธุดงค์ก็ไป แต่ก่อนๆมีอย่างนั้น เมื่อหลวงปู่มั่นท่านขยันภาวนา ท่านไม่เอาอย่างนั้น ใกล้จะเข้าพรรษาก็ให้จัดเสนาเสนะ ไม่ต้องเอาหรูหรา เอาพอกันฝนกันแดดกันลม เป็นที่จำพรรษาชั่วระยะเวลาไตรมาสสามเดือน ให้ญาติโยมปลูกกระต๊อบกุฏิน้อยให้อยู่ มีศาลาโรงฉันมุงหญ้ามุงคาก็พอแล้ว 

ทีนั้นเมื่อท่านมาวิวัฒน์พัฒนาการมาได้ สมัยนี้ทางภาคอีสานถ้าไปที่ไหนก็จะมีวัดป่าอย่างว่านี่แหละ แบบง่ายๆ แต่สมัยนี้ก็แบบใหญ่โตแบบอันนั้นมากขึ้นมาแล้ว  ลำบากหน่อย ถ้าออกพรรษาแล้วท่านก็ออกพาเดินจงกรม พาไปธุดงค์ไม่ให้อยู่ ไปหาที่ภาวนาที่ภูเขา ที่ถ้ำที่วิเวก ที่ไหนมีก็ไปเจริญภาวนา ไม่ให้ไปมาก ไปองค์สององค์ เพื่อจะได้ไปปฏิบัติบูชาภาวนาจริงๆ เมื่อขัดข้องอย่างไรก็มาหาท่าน มาหาครูบาอาจารย์ให้แนะนำตักเตือนแก้ไข ในช่วงชีวิตของท่านนี่แหละก็เรียกว่าเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้ ให้ชื่อว่าพระวัดป่าหรือพระกรรมฐาน พระธุดงค์ทั่วไป หรืออย่างเชียงไหม่ แต่ก่อนยังไม่มีพระกรรมฐานพระธุดงค์ก็ขยายไม่ออก พระทางวัดบ้านเขาไม่ยอม ไม่ยอมให้มี กลัวจะไปทำลายลาภสักการะของเขา แต่เมื่อหลวงปู่มั่นและลูกศิษย์หลวงปู่มั่นมามันขยายออกไปได้ มีวัดป่าวัดกรรมฐานมากวัดต่อไป 

เนี่ยแหละอาศัยหลวงปู่มั่นท่านขยัน สมัยท่านยังมีชีวิตจิตใจอยู่ท่านไม่ท้อถอย ภาวนาในป่าในถ้ำในที่วิเวก อีก้อมูเซอที่ไกลๆสูงๆ ภูเขาสูงที่สุดท่านก็ไปอยู่ได้เพราะท่านมีความอดทน ท่านไม่ถือความสุขสะดวกสบาย แม้ภูเขาสูงขนาดไหนเวลาเย็นๆค่ำๆท่านไปสรงน้ำก็จะเอาบั้งไม้ไผ่สะพายลงไป ไม้ลำใหญ่ๆ ไม้หกไม้ซาง นอกจากสรงน้ำแล้วก็เอาน้ำขึ้นมาใช้ในที่พักอาศัย สะพายขึ้นมา ถ้ามีลูกศิษย์ ลูกศิษย์จะช่วย ถ้าไม่มีองค์ท่านก็หมั่นขยันทำได้ คือมีความเพียรความหมั่นความขยันเท่านั้นแหละ มันทำได้ทั้งนั้น คือท่านไม่มุ่งเอาความสะดวกสบาย มุ่งเอาประโยชน์ที่ไหนก็ตามให้มีที่ภาวนาเดินจงกรมปฏิบัติบูชาภาวนาได้เต็มที่เต็มฐาน ท่านเอาการปฏิบัติเป็นหลัก ถ้าหากว่าเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยท่านก็มักสอนว่าไม่ให้นอนมากเกินไปให้เดินจงกรมให้มาก นั่งสมาธิภาวนาและก็เดินจงกรม เดินจงกรมแล้วก็ไหว้พระสวดมนต์นั่งภาวนาสลับเปลี่ยนแปลงไป เพื่อร่างกายจะได้อยู่ดีสบายจะได้ปฏิบัติภาวนาต่อไป อย่างที่เคยได้เล่าว่าท่านเดินจงกรมก่อน ๒ ชั่วโมง ขึ้นไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ ๒ ชั่วโมงก็พอดี ๔ ทุ่ม ๔ ทุ่มท่านก็จำวัด จำก็อยู่ใน ๔ ชั่วโมงเท่านั้นแหละ ตี ๒ ท่านก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรม ๒ ชั่วโมง ไหว้พระ ๒ ชั่วโมง นั่งสมาธิไหว้พระ ๒ ชั่วโมงก็พอดีแจ้งสว่างไปบิณฑบาตรอันนี้นับว่าท่านทำได้ 

เราก็ให้ตั้งใจขึ้นมา มีขา ๒ ขาเหมือนท่าน มีมือ ๒ มือเหมือนท่าน มีตา ๒ ตา มีหู ๒ หู มีจมูก ๒ ป่อง มีกายมีจิตเหมือนๆท่าน ท่านทำได้เราก็ให้ทำได้โดยเฉพาะแล้วต้องการการละกิเลส ความโกรธ ความโลภ ความหลง กิเลสราคะ โทสะ โมหะในจิตใจของเราให้มันเบาไป บางไป หมดไป สิ้นไป ไม่ใช่เพิ่มขึ้น 

ธรรมดาหลวงปู่มั่นสมชื่อ ชื่อก็มั่น มั่นคงเวลาท่านทำอะไรก็มั่นคงหนักแน่น ไม่ท้อถอย มีจิตใจแน่วแน่เด็ดขาด ดูรูปที่ท่านยืนให้เขาถ่าย ถ้ามองแสงตาดูสายตาของท่าน จิตใจแข็ง ไม่ย่อท้อ ไม่กลัว ทีนี้ลูกศิษย์สมัยเนี้ยเมื่อมีชีวิตอยู่อย่างนั้น ไม่ค่อยใครจะไปอยู่ใกล้แหละ ถ้าทำไม่ถูกท่านก็ไล่หนีไล่ไปไม่ให้อยู่ คือท่านต้องการผู้ตั้งใจปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงแต่ว่าอยู่สบายไม่ภาวนาไม่ละกิเลส หลวงปู่มั่นนั้นท่านภาวนาละกิเลส ท่านมีความหมั่นขยัน เดินจงกรมไหว้พระสวดมนต์นั่งกรรมฐานภาวนา มีกิจวัตรใดเกิดขึ้นท่านก็ทำได้ 

อันเราทุกคนที่เกิดมาสุดท้ายภายหลังก็ให้ตั้งอกตั้งใจภาวนา ภาวนาอย่างเดียว นั่งสมาธิภาวนาอย่างเดียวก็ไม่พอ ให้เดินจงกรมบ้าง การเดินจงกรมนั้นเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ นั่งนานๆแล้วยืน ยืนนานๆแล้วก็เดิน เดินกลับไปกลับมาภาวนาพุทโธในใจ ตั้งใจอยู่เสมอไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจกิเลสความโกรธ ความโลภ ความหลง พยายามฝึกฝนจิตใจของตนให้มีความแก่กล้าสามารถในการที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยคำสอนของพระพุทธเจ้า 

ในสมัยเมื่อหลวงปู่มั่นท่านยังอยู่ ความเจริญรุ่งเรืองในทางปฏิบัติบูชาจึงมีมาก เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ลูกศิษย์อยู่ภายหลังก็ไม่ขยันเหมือนท่าน อันนี้เราต้องตั้งใจขึ้นมา มันอยู่ที่ความตั้งใจของผู้ปฏิบัติ เมื่อเรานึกถึงพุทโธ คุณพระพุทธเจ้า ในพุทโธ คุณพระพุทธเจ้านั้นแหละ พระธรรมก็มีอยู่ที่นั่น พระอริยสงฆ์สาวกก็อยู่ที่นั่น คุณครูบาอาจารย์ก็อยู่ที่นั่น พระสงฆ์สาวกองค์พระอรหันตาก็อยู่ที่นั่น พุทโธพระพุทธเจ้านั่นแหละกว่าจะได้ถึงคำว่าพุทโธจะต้องภาวนาปฏิบัติบูชาเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่ว่าปล่อยไปเหมือนตกไปในกระแสน้ำ ให้น้ำไหลไป ไม่ได้ ผู้ภาวนาผู้ปฏิบัติธรรมให้ทวนกระแส ทวนกระแสใจของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ธรรมดาใจกิเลสมัน มันไหลไปสู่ทางต่ำ เหมือนฝนที่ตกลงมาจากฟ้ามาบนภูเขาไหลลงมาเป็นห้วยเล็กน้อย ไปรวมกันเป็นแม่น้ำลำธารใหญ่โตขึ้นไปโดยลำดับ น้ำนั่นก็จะไหลลงไปสู่ทะเลมหาสมุทร ธรรมดาน้ำไหลลงไปสู่ที่ต่ำฉันใด ใจคนเราทุกคนนั้น ถ้าไม่มีการปฏิบัติบูชา ไม่มีภาวนา ไม่มีทาน ไม่มีศีล มีไม่สมาธิ ไม่มีปัญญา จิตใจมันจะไหลไปสู่ทางต่ำเสมอ  คำว่าต่ำเตี้ยก็คือไหลลงไปสู่หากิเลส กิเลสความโกรธมันอยู่ที่ไหนใจมันก็มักจะไปข้องไปแวะอยู่ในกิเลสความโกรธความขัดเคืองนั้น กิเลสความโลภหรือว่าราคะตัณหาเมื่อมันเกิดมีในจิตในใจแล้วมันก็ไหลไปสู่ที่ต่ำ ถ้าใครทำตามอำนาจกิเลสความโกรธก็ดี ความโลภก็ดี ความหลงก็ดี ไม่มีทางที่จะดีขึ้นมาได้ มีแต่จะเสื่อมเสีย จิตใจมันตกต่ำไปไม่สูงขึ้น 

จึงมีการระลึกถึงพระบรมครูศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนับตั้งแต่พระองค์ตั้งปณิธานความหมายมั่นปั้นใจว่าจะบำเพ็ญบารมีให้ได้ ตรัสรู้เป็นพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นในโลก จะบำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนาให้เต็มที่จนให้เต็มเปี่ยมในหลักที่ว่า ๔ อสงไขยแสนมหากัปป์ ตั้งแต่นั้นมาพระองค์ก็ไม่มีความท้อถอยประการใด ไม่ว่าจะมาเกิดเป็นคนทุกข์ไร้อนาถา แม้ยังเป็นสัตว์สิ่งเดียรัจฉานอยู่ก็ตาม เมื่อถืงวันพระวันศีล จะเป็นนกเขา นกกระทา เป็นสัตว์อะไรก็ตาม ท่านก็รักษาศีล รักษาศีล ๕ รักษาศีล ๘ ยิ่งถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์เป็นคนแล้วก็ยิ่งเอาใหญ่ ทานศีลภาวนาท่านบำเพ็ญอยู่ตลอดกาลด้วยอำนาจจิตใจท่านไม่ท้อถอยนั้นเอง แม้จะมาเกิดมาตายบนโลก ๔ อสงไขย แสนมหากัปป์ น้ำพระทัยใจพระพุทธเจ้าก็แข็งแกร่งแล้วกล้าสามารถ ได้ตรัสรู้พระอนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณ ตัดกิเลสขาดสะบั้นหั่นแหลก เป็นพระพุทธเจ้าเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาในโลกแล้วก็ยังมีเมตตาการุณแก่มนุษย์เทวดา อินทร์ พรหมทั้งหลาย ช่วยมนุษย์คนเรา แม้พระองค์ท่านมีชีวิตไม่มาถึงพวกเราทั้งหลาย ท่านก็ยังวางพุทธศาสนาประดิษฐานไว้ห้าพันปี ศาสนาของพระองค์จึงจะหมดจากโลกนี้ 

เวลาก็ล่วงไปแล้ว ๒๕๒๖ปีนี้ก็นับว่าเราทุกคนยังเป็นผู้มีโชคดีอยู่ เราเกิดมานี้ภพนี้ชาตินี้ก็ยังได้เข้าสู่พุทธศาสนายังอยู่ในเขตข่ายศาสนาของพระองค์ แล้วเราทุกคนก็จะได้รีบเร่งปฏิบัติบูชาภาวนา สร้างคุณงามความดีต่างๆให้เกิดมีขึ้น เพราะการอยากได้ดีนั้นมันก็มีอยู่ทุกหัวใจ มีอยู่ทุกคน แต่มันจะดีได้ต้องอาศัยปฏิบัติบูชาภาวนา ปฏิบัติบูชาภาวนานี่หมายความว่าลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ ลงมือทำบุญให้ทาน ลงมือรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ขึ้นไป ลงมือท่องมนต์สาธยายคำสอนของพระพุทธเจ้าจนลงมือไหว้พระสวดมนต์ตามกาลเวลาของหมู่คณะ แล้วก็นั่งกรรมฐานภาวนาอย่าไปบ่นว่ามันเจ็บนั่นเจ็บนี่เป็นนั่นเป็นนี่ไม่ต้องว่า ถึงจะไปบ่นให้มันก็ไม่หายเจ็บถ้ามันหน้าที่มันต้องเจ็บ มันก็เจ็บ ธรรมดารูปร่างกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมจะไม่ให้มันเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นไปไม่ได้ หรือว่าเกิดมาแล้วจะเยียวยาพยาบาลไม่ให้มันแตกมันตายก็ไม่ได้อีก ในทางที่ดีที่เหมาะที่สม ชั่วชีวิตของเราที่ยังมีอยู่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่าได้ท้อถอย บำเพ็ญภาวนารักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์ 

อันศีลบริสุทธิ์นั้นจะไปเพ่งเล็งเอาตามสิกขาบทวินัยก็ไม่ค่อยเต็มเท่าไหร่นัก คำว่าศีลบริสุทธิ์ทุกครั้งที่เรานั่งสมาธิภาวนาไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้วเราก็นั่งภาวนาทุกคืนระยะเดี๋ยวนี้ก็ตามระยะต่อไปก็ตาม เวลาชั่วระยะที่เรานั่งภาวนาอยู่ในขณะนั้นหละ ให้ถือว่าศีลของเราบริสุทธิ์ สมาทานศีลในใจ คำว่าศีลบริสุทธ์ เรานั่งบริกรรมภาวนาพุทโธอยู่ในใจ ไม่ได้ฆ่าสัตว์ที่ไหน ไม่ได้ลักขโมยใคร ไม่ได้ประพฤติผิดในกาม ไม่ได้กล่าวมุสาวาท ไม่ได้ดื่มกินสุราเมรัยเป็นต้น  นั่นแหละถือว่าเวลาปัจจุบันนั้น ศีลของเราก็บริสุทธิ์ สมาธิก็ตั้งใจให้มั่นคง ไม่ให้หลงไปกับคน สัตว์วัตถุธาตุทั้งหลาย ตั้งใจภาวนาพุทโธ หรืออุบายใดถูกกับจริตจิตใจของเราก็ให้นึกอุบายนั้น 

เมื่อนึกอุบายอื่นๆมันยังไม่สงบ ก็อย่าลืมอุบายคำว่าความตาย ความตายนั้นเป็นยอดธรรม ถ้าผู้ใดนึกถึงความตายจิตใจยังประมาทอยู่ ยังเข้าใจว่าเราไม่ตาย ไม่ได้ ความตายนั้นไม่มีใครไปแก้ไขได้ ความตายมันไม่ใช่ว่าแก่ชราไปมาไม่ได้แล้วก็ตาย ๙๐ปีกว่า หรือ๑๐๐ปีจึงตาย ไม่ใช่อย่างนั้น มนุษย์คนเราและสัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ความตายไม่มีเวลา นั่งอยู่ดีๆก็ตาย ไปรถไปเรือยิ่งตายเร็ว เมื่อมันเกิดอุบัทวเหตุขึ้นมา ความตายนี่ใกล้ที่สุด ถ้าเราไม่ภาวนาปล่อยปละละเลย มีแต่จิตประมาท ก็คิดเอาเองหมายเอาเองว่าเราไม่ตายง่ายๆ ความจริงแล้วความตายนี่เร็วที่สุด เวลามาถึงเข้าก็แทบจะรู้ไม่ทัน ปุ๊บปั๊ปก็ตายไปเลย 

ทางที่ดีเราต้องรีบทำ รีบปฏิบัติไว้ จะภาวนาบทใดข้อใด สิ่งใดก็ให้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดี๋ยวนี้แหละ จิตยังไม่สงบก็เอาให้มันสงบ จิตยังไม่ตั้งมั่น เอาให้มันตั้งมั่น จิตมันยังไม่แจ่มแจ้งชัดเจนก็เอาให้มันชัดเจน จนกระทั่งจิตใจนั่นแหละเกิดความรู้ความฉลาด ความสามารถอาจหาญตัดบ่วงห่วงอาลัยกิเลสตัณหาใดๆที่เคยยึดมั่นถือมั่นมาก็คลี่คลายออกไป ยังจิตใจให้สงบตั้งมั่นในธรรมปฏิบัติ ทีนี้เมื่อจิตใจสงบระงับตั้งมั่นดีแล้ว ภัยอันตรายใดๆมันเกิดขึ้นมาตามธรรมดา ธรรมชาติ ผู้ภาวนาก็จะต้องรู้เท่าทัน ไม่ให้อำนาจฝ่ายต่ำมาทับถมจิตใจของตน 

จงนึกถึงพระบรมศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราเจริญอยู่ว่าพุทโธๆนั่นแหละคือว่าองค์พระพุทธเจ้าองค์พระพุทธเจ้านั้นไม่มีสะทกสะท้านย่านกลัวต่อภัยอันตรายเพราะว่าจิตของท่านบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสแล้ว ท่านไม่มีความยุ่งยากใดๆในหัวใจของท่านท่านเลิกท่านละท่านปล่อยวางได้หมดแล้ว กิเลสความโกรธก็ไม่มีในจิตของพระพุทธเจ้า กิเลสความโลภความอยากได้อย่างคนเราธรรมดาก็ไม่มี กิเลสความหลง หลงตามคน หลงตามสัตว์ หลงตามวัตถุธาตุทั้งหลายก็ไม่หลง จิตใจของพระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าแจ้งสว่าง กลายมาเป็นรัศมี ๖ ประการ อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์เมื่อมาตรัสรู้ในโลกแล้วมีรัศมีสีสันวรรณะ ๖ อย่าง ข้างละวา ละวาพระองค์เสด็จไปไหนไม่ต้องจุดไฟ ไม่ต้องไฟสายเทียนไขมันสว่างในตัว พระองค์นั่งอยู่บรรทมนอนอยู่ก็ตาม เสด็จไปไหนทั้งหลางคืนกลางวันจะมีรัศมี ๖ ประการตามไป ซึ่งคนทั้งหลายตลอดจนถึงเทวดาอินทร์พรหมได้รู้ได้เห็นก็เข้าใจทีเดียวว่านั่นที่มีรัศมี ๖ ประการนั่นแหละคือพระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบไหว้บูชาได้สนิทใจ 

ที่เป็นเช่นนั้นก็ด้วยอำนาจฐานะบารมีของพระองค์ ด้วยอำนาจศีลบารมีของพระองค์ ด้วยบารมี ๑๐ ประการ บารมี ๓๐ ทัศน์ที่พระองค์บำเพ็ญมาครบถ้วนทุกส่วนทุกประการนั่นเอง จิตใจก็ดี กายก็ดี ความทุกข์ความเดือดร้อนต่างๆนาๆในจิตใจเป็นอันว่าไม่มี สบายท่านก็ไม่ไปยึดติดไปถือเอา เมื่อไม่สบายท่านก็ไม่ไปยึดไปถือเอา กิเลสความโกรธโลภหลงท่านสลัดทิ้ง ท่านฆ่ามันทิ้งมันตายไปหมดแล้ว ไม่มีกิเลสความโกรธให้ใคร ไม่มีกิเลสความโลภอยากได้สมบัติพัสถานในโลกนี้ ไม่มีกิเลสความหลง จะหลงอยู่ในรูปในนามในกายในจิตเหมือนคนเราธรรมดาไม่มี น้ำพระทัยใจพระพทธเจ้าจึงชื่อว่าแจ้งสว่าง สาวกทั้งหลายพวกเราทั้งหลายจึงได้น้อมนึกรำลึกเอา พุทธคุณคำว่าพุทโธพระพุทธเจ้ามาผูกจิตผูกใจของเรา น้อมนึกรำลึกอยู่ในตัวในใจของเรา ไม่ว่านั่งก็นึกถึงคุณพระพุทธเจ้าจิตใจก็เย็นสบาย ไม่ทุกข์ไม่ร้อน ยืนไปที่ไหนเดินไปที่ไหนก็ระลึกเอาพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ จิตใจที่เต็มไปด้วยกิเลสความโกรธความโลภความหลง ไม่ให้มีในใจนี้ พุทโธพระพุทธเจ้ามาอยู่ในกายในวาจาในใจของเราได้ทุกเวลา 

ด้วยอำนาจคุณพระพุทธเจ้า คุณพระศรีรัตนตรัยนี้แหละ พุทธบริษัททั้งหลายที่ยังนึกยังเจริญถึงคุณของพระพุทธเจ้าอยู่ ภัยอันตรายต่างๆก็ไม่เกิดมีขึ้น แม้จะเกิดมีขึ้นก็น้อยเบาบางด้วยเตชานุภาพของพระพุทธเจ้า ด้วยเตชานุภาพของพระธรรม ด้วยเตชานุภาพของพระอริยสงฆ์ จิตใจของผู้เจริญอยู่ ก็มีแต่ความสุขมีแต่ความเย็น มีแต่ความสบาย ไปไหนอยู่ไหนก็ไม่มีภัยอันตราย มีแต่ความสุขกายสบายใจ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจประการใด แล้วว่าบำเพ็ญภาวนาปฏิบัติบูชาในจิตใจของตนได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในเพศพันธุ์วรรณะใดๆก็ตามเมื่อจิตใจตั้งได้นึกภาวนาได้ รวมเอาจิตใจของตนได้ อยู่ที่ไหนก็มีความสุขไปที่ไหนก็มีความสุขความสบาย เรื่องเดือดเนื้อร้อนใจย่อมไม่มีเพราะได้ตั้งใจปฏิบัติบูชาภาวนานึกน้อมถึงคุณพระรัตนตรัยอยู่ จิตใจที่เศร้าหมองขุ่นมัวเดือดร้อนวุ่นวายก็จะหายไป จะเป็นจิตใจที่มีความหนาแน่นในธรรมะปฏิบัติ อยู่ที่ไหนไปที่ไหนนั่งนอนยืนเดินอยู่ในที่ใด เมื่อยังไม่หลับก็ภาวนาได้ปฏิบัติบูชาทำความดีได้ตลอดไป เว้นเสียแต่นอนหลับ นอนหลับไปแล้วก็แล้วไป ตื่นขึ้นมารู้สึกตัวรู้สึกใจขึ้นมาก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติบูชาภาวนา รวมจิตรวมใจให้มาสงบตั้งมั่นในธรรมปฏิบัติ ด้วยว่าจิตใจดวงผู้รู้อยู่ เห็นอยู่มีอยู่ในตัวในใจนั้นไม่ได้หลงไม่ได้ลืม วันไหนคืนไหนเวลาใดก็ตามเรียกได้ว่าตั้งอยู่เสมอ เจริญขึ้นมาในจิตใจของผู้ปฏิบัตินั้น 

ที่ท่านว่าภาวนาให้ได้ทุกลมหายใจเข้าออก ลมเข้าไปลมออกมาก็ภาวนาได้อยู่ไม่หลงไม่ลืม หรือว่าเมื่อเราแก่เฒ่าชราถึงขั้นแตกดับจะตายหนีจากโลกนี้ จิตใจที่ภาวนามาจนมีหลักฐานอยู่ในใจในตัวนั้นแหละ จะเป็นที่พึ่งพาอาศัยได้ทั้งในโลกนี้โลกหน้าโลกใดก็ตาม บุญกุศลที่ตนประกอบกระทำอยู่เนืองนิจติดต่อกันไปอันนี้แหละ จะพาให้จิตใจของเราเดินตามถูกไปทางสวรรค์พรหมโลก เทวโลก ไปสู่ทางนิพพาน ไม่มาหลงใหลติดข้องพัวพันอยู่ตามอำนาจกิเลส จึงเป็นข้อวัตรปฏิบัติอันสำคัญยิ่งในทางพุทธศาสนาที่เราทุกคนทุกรูปทุกนามจะต้องตั้งอกตั้งใจปฏิบัติบูชาภาวนา ไม่ให้จิตใจท้อแท้อ่อนแอในดวงใจประการใด 

พระพุทธเจ้าเตือนว่าให้ภาวนาจนกระทั่งได้ทุกลมหายใจเข้าออกมีความสงบระงับ เมื่อความสงบระงับบังเกิดมีขึ้นได้ก็จะต้องเข้าสู่ความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมปฏิบัติ เมื่อจิตใจรู้แจ้งว่ารูปนามนี้ไม่เที่ยงจริงๆ เป็นทุกข์ รูปนามเป็นทุกข์ รูปนามไม่ใช่ตัวตน สังขารทั้งหลายมีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน จิตใจก็จะไม่วุ่นวายรั่วไหลไปอยู่ใต้อำนาจกิเลส สิ่งใดไม่ดีก็เลิกละออกไป สิ่งใดดีมีประโยชน์ไม่มีทุกข์โทษประการใดก็ให้ริเริ่มทำ เรียกว่า ภาเวตัพพธรรม รีบทำให้เกิดให้มีขึ้น อย่าไปมัวรอท่าคนโน้นคนนี้อยู่ ไม่ได้ ใครก็ตามพระพุทธเจ้าสั่งไว้ตรัสไว้สอนไว้แล้วให้เราทุกคน จงรีบเร่งภาวนาทำใจให้สงบตั้งมั่น เมื่อจิตใจสงบตั้งมั่นแล้วก็ให้น้อมนำคำว่าหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มาสอนจิตใจของเรานี้อีกทีหนึ่ง เมื่อใจนี้มารู้จักรู้แจ้ง รู้จริงอยู่ภายในว่าโลกนี้จะไปเกิดที่ไหนก็ตาม มันจะต้องตกอยู่ในความไม่เที่ยงแท้แน่นอน แล้วก็เป็นเรื่องทุกข์ด้วย การมีชีวิตจิตใจอยู่ในโลกถ้าไม่ภาวนาละกิเลส ถ้าตั้งใจภานาละกิเลสให้มันหมดไปสิ้นไป จิตใจมองเห็นกิเลสตัณหามานะทิฐิอยู่ เพียรละกิเลสตัณหามานะทิฐิอันมีอยู่ในตัวในใจนี้แหละ ให้มันหมดไปสิ้นไปจนรู้แจ้งพระนิพพานด้วยตนเอง จิตใจของบุคคลผู้นั้นก็จะเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงาม อยู่ที่ไหนไปที่ไหนก็เจริญ เจริญรุ่งเรืองเกิดความรู้ความฉลาดความสามารถอาจหาญขึ้นมาในจิตใจ จิตใจก็ย่อมผ่องใสสะอาดเรียกว่าใจเย็น ใจสบาย ใจเป็นดวงหนึ่งดวงเดียว เพราะผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ภาวนาพุทโธอยู่ในหัวใจ ไม่ปล่อยปละละเลยให้ใจฟุ้งซ่านรำคาญไปอยู่ใต้อำนาจกิเลสเมื่อจิตใจมีความสงบตั้งมั่นอยู่ในธรรมปฏิบัติ ก็มีความสุขจิตสุขใจ เมื่อมีจิตใจมีความสุข ภายนอกมันก็สุขได้หมด เพราะว่าจิตใจมันเป็นนาย กายเป็นบ่าว ถ้าใจดี กายวาจาจิตมันก็ดีไปหมด ถ้าใจเสีย อะไรๆก็เสียไปหมด ใจที่ไม่เสียก็คือใจที่ภาวนาพุทโธอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ฉะนั้น เมื่อว่าเราทั้งหลายพากันได้ยินได้ฟังแล้ว ก็ให้กำหนดจดจำ นำไปประพฤติปฏิบัติ ก็คงได้รับความสุขความเจริญ เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้