หลวงพ่อสิงห์ทอง ธมฺมวโร
ทุกคนเคยผ่านตำรับตำรา เคยปฏิบัติศึกษาจากครูจากอาจารย์มาพอสมควร การมาพักวัดโดยเฉพาะฆราวาส ส่วนพระเณรที่อยู่ประจำนั้นก็เป็นอีกอย่าง เรามาพักเพื่อปฏิบัติธรรม ธรรมที่เราเคยได้ยินได้ฟัง จดจำมา นำมาพินิจพิจารณาศึกษา ตั้งหน้าปฏิบัติตามความสามารถของตัวที่จะทำได้ พอเรามาวัดก็จะต้องมาวัดดูจิตใจของตัว อยู่ในบ้านมันคิดปรุงยุ่งเกี่ยวกับเรื่องอะไรต่างๆนานา ธุระหน้าที่มันก็มาก มาวัดเป็นที่สงบสงัด ไม่มีธุระหน้าที่อะไรที่จะทำนอกจากจะกำหนดจิตใจของตัวเอง
การมาพักวัดที่จะเกิดคุณค่าสาระให้ อาศัยตัวของตัวเองเป็นคนฉลาดที่จะปล่อยวางสัญญาอารมณ์อดีตการงานหน้าที่ที่เคยยุ่งเกี่ยว เคยทำทอดทิ้งเอาไว้ ตั้งใจพินิจพิจารณาอรรถธรรม กำหนดธรรมในจิตในใจของตัวเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการมาพัก ให้สมกับว่ามาพัก ไม่ใช่มาปรุงมาคิด มาเกี่ยวมาข้องกับสัญญาอารมณ์ ถ้าเราคิดได้อย่างนั้น เราก็พยายามขับไล่อารมณ์สัญญาที่ยั่วยุใจออกไป ใจของเราก็จะได้ความสุข ความสบาย ได้พักผ่อน นี่คือการมาพักวัด วัดจิตวัดใจของตัวเอง ดูจิตดูใจของตัวเอง ว่าอยู่ในบ้านเป็นอย่างไร อยู่ในวัดเป็นอย่างไร ถ้าไม่เห็นคุณค่าสาระในการมาพัก มันก็หมดศรัทธา เพราะการมาก็ไกล เสียข้าวของเงินทอง เหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิว มาแล้วก็ไม่เกิดสาระประโยชน์อะไรให้ สู่อยู่บ้านของตัวไม่ได้ สะดวกสบาย นี่คือความเห็นของจิตของใจที่ไม่ได้อะไรจากการมาวัด
ถ้ามาแล้ว พยายามขับไล่สัญญาอารมณ์ออกจากใจ ให้จิตใจได้พักอยู่ในวงของอรรถของธรรม จิตใจที่ไม่เคยเห็นเคยเป็นเคยรู้เรื่องความสงบสุขต่างๆทางศาสนา เมื่อเราขับไล่สัญญาอารมณ์ออกไป ตั้งใจกำหนดบทบริกรรมก็ดี ลมหายใจก็ดี หรืออะไรที่เราเคยฝึกหัดปฏิบัติมา ชอบกับจริตนิสัย นำคำบริกรรม นำอารมณ์อันนั้นมาไว้ในใจของตัว ให้ใจของตัวอยู่ ให้ใจของตัวหยุด ให้ใจของตัวพัก เมื่อใจมันหยุด มันอยู่ มันพักลงรวม ได้ความสงบสงัด เห็นชัดว่าจิตของตัว ไม่ได้ฟุ้งปรุงคิดนึกติดข้องกับสัญญาอารมณ์ต่างๆ เห็นความสว่างไสวของจิตเกิดขึ้นจากความสงบ เห็นการปล่อยวางสัญญาอารมณ์ต่างๆ ขาดจากจิตไป ใจเย็น ใจสบาย คุณค่าสาระที่การประพฤติปฏิบัติอยู่ที่ตรงนั้น
ถ้าใครเห็น ใครเป็น มีความสงบเย็นในจิตในใจ คนนั้นก็ได้ชื่อว่าเห็นธรรมะที่มีคุณค่าจากการประพฤติปฏิบัติ ศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใส ความเต็มใจอยากจะประพฤติปฏิบัตินั้นมันมาเอง เพราะทุกคนไม่ชอบทุกข์ ยินดีสุข เมื่อเห็นความสุข ความเย็นในจิตในใจ จึงยินดีพอใจอยากจะประพฤติปฏิบัติเลื่อมใสศรัทธา นี่คือทางของจิต ที่จะเชื่อมั่นในการประพฤติปฏิบัติของตัว
ถ้าไม่เห็น ไม่เป็น เพียงได้ยินได้ฟังเค้าเล่า แต่ตัวของเราเองไม่เคยลิ้มรสของความสงบสงัด ปฏิบัติไปก็ยังไม่เข้าถึงขั้นที่จะเป็น จะเห็น จะรู้อะไร ความเชื่อ ความเลื่อมใสมันก็น้อย หรือบางทีก็ขาดตกออกไป เห็นสิ่งใหม่ สิ่งอื่น เห็นโลกเป็นของดีของวิเศษยิ่งกว่าการประพฤติปฏิบัติจิตใจ เข้าใจว่าความสุขอยู่กับวัตถุ อยู่กับสิ่งของ อยู่กับสิ่งอื่น ไม่ได้เห็นความสุขอยู่ในจิตในใจของตัว
เมื่อเป็นอย่างนั้นก็วิ่งเต้นแสวงหาแต่ความสุขภายนอก แต่อารมณ์สัญญาภายนอก หาตั้งแต่ด้านวัตถุมาบำรุงกายเท่านั้น ส่วนใจ ปล่อยปละละเลย เพราะจิตใจของเราท่านไม่เห็น ไม่เป็นความสุขในตัวของตัว ฝึกหัดปฏิบัติจิตใจยังไม่เข้าถึงขั้นความสงบให้ จิตใจจึงสงสัย จิตใจจึงฟุ้งปรุง คิดนึกติดข้องในสิ่งต่างๆ
ถ้าหากฝึกปฏิบัติให้จิตได้พักผ่อน จิตได้เย็น จิตได้สงบ เห็นความสุขภายใน สิ่งต่างๆที่เราเคยข้องติดคิดแวะต่างๆนั้น มันจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวเพราะเหตุใด เพราะสิ่งที่เราเห็นเราเป็นอยู่นี้มันสุข มันสบาย มีคุณค่าสาระสูง ยิ่งกว่าที่เราไปเคยยุ่งเกี่ยว เคยไปติดข้องความสุขข้างนอก ความเชื่อมันเกิดขึ้นอย่างนี้ในการประพฤติปฏิบัติศาสนา ไม่ใช่ว่าเพียงอ่านตำรับตำราหรือฟังมา มันก็จะเชื่อเต็มเม็ดเต็มหน่วยของมัน มันไม่เป็นอย่างนั้น มันต้องเห็นต้องเป็นภายในจิตในใจของตัว
ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ท่านเห็นท่านเป็นอย่างนั้น ท่านจึงตั้งมั่นยอมเสียสละชีวิต อุทิศต่อพระพุทธศาสนา ถึงจะลำบากยากเย็นในการกระทำบำเพ็ญ ในความเป็นอยู่ ท่านก็อุตส่าห์พยายาม ไม่ท้อถอย ไม่ทอดทิ้ง เพราะความเห็นความเป็นที่มันเย็นมันสงบนั้น เราเห็นเพียงครั้งเดียวหนเดียวเท่านั้น มันก็เชื่อถึงใจว่าระยะที่เราทำนั้น มันยังเห็น ยังเป็น ยังรู้ ที่มันไม่เห็น มันเสื่อมไป เสียไปก็เพราะเราทำยังไม่ถึงขีดขั้นของมันอีก ไม่ใช่คนอื่นขโมยเอาไป หยิบยกเอาไป เมื่อเราเป็นเราเห็น ก็ไม่ใช่คนอื่นเค้าขนมาให้ ปัญญาความเกิดกับใจมันจะมี
เมื่อมันมีปัญญาแนะสอนตัวอย่างนั้น การกระทำบำเพ็ญ ความเชื่อมั่นที่เคยเห็นเคยรู้ก็ทำเรื่อยไป แต่อย่าไปใคร่คิดว่าคราวนั้น นั่งอย่างนั้น ทำอย่างนั้น มันเป็น มันเห็น มันรู้ มันสุข มันสบาย มันสงบ มาทำคราวนี้ก็จิตคิดปรุงอยู่แต่ของเก่าที่เคยผ่านมา ไม่ได้ดูแลรักษาจิตใจของตัวในปัจจุบัน มีความอยาก ความคิด ความเกี่ยวข้องอยู่กับอดีต ถ้าเป็นอย่างนั้น การทำมันผิด มันไม่สงบให้ด้านจิตใจ ให้ตั้งหน้าทำไป ไม่ต้องไปอยากเหมือนกันกับเรารับประทาน ถ้าเรารับทานอยู่ ความอิ่มมันจะต้องเกิดขึ้น แต่ไม่ทาน อยากอิ่ม มันก็ไม่มีทางให้ ไม่ทำแต่อยากสำเร็จการงานนั้น มันก็ไม่มีทางเหมือนกัน ไม่เดิน แต่อยากจะถึงจุดหมายปลายทางที่เราต้องการ มันก็ไม่มีทางที่จะถึง
ฉะนั้นความคิดของจิตใจผู้ประพฤติปฏิบัติต้องระวังรักษาสำรวมเอาไว้ อารมณ์ส่วนใดมายุ่งเกี่ยวกับจิตใจ ซึ่งเป็นไปเพื่อทางเสียหาย เป็นไปในภายนอก จะต้องขับไล่ปัดปล่อยมันออกไป ไม่อย่างนั้นจิตใจจะไม่สงบ ไม่เข้าถึงอรรถธรรมที่เราต้องการ มุ่งมั่นอยู่ในปัจจุบัน พิจารณากันให้ถี่ถ้วน จะกำหนดบทบริกรรม ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำจริงจัง จะพิจารณาธาตุขันธ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็พิจารณาจริงจัง จนให้จิตของเราอยู่ในคำบริกรรม อยู่ในการกำหนดนั้นๆ
แต่การกำหนดบทธรรมต่างๆ แล้วแต่อุปนิสัย แล้วแต่ตัวของตัวเองจะชอบแบบไหน เอาอะไรมากำหนด ถ้าเป็นบทของธรรม จิตมันสัมผัส จิตมันเย็น มันรวมให้จากการกระทำนั้น มันไม่ผิด จะมีอยู่ตามตำรับตำรา ครูอาจารย์จะแนะสอนมาก่อนก็ตาม หรือไม่มีตามตำรับตำรา ครูอาจารย์ไม่เคยสอนมาก็ตาม แต่มันถูกกับจริตนิสัยของตัว กำหนดลงไป ใจมันเย็น ใจมันสงบ ก็ชื่อว่าถูกในการกระทำบำเพ็ญ
พอมันเย็นมันสงบ เหมือนกันกับยา จะมีในตำรับตำรา หรือจะมีในห้างร้านต่างๆ เค้าโฆษณาว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ แต่เรานำมาทานเพื่อแก้ไขโรคภัยภายในกาย มันไม่หายให้ เราแสวงหายาใหม่ จะเป็นสมุนไพรอยู่ในที่ใดก็ตาม เมื่อเรามาทาน โรคภัยของเราที่เคยเบียดเบียนกาย หายไป สบายไป ก็ได้ชื่อว่ายานั้นถูกกับโรคภัยของเรา สามารถที่จะกำจัดโรคภัยให้หายจากกายของเรา เราจะสุข เราจะสบาย ให้ถืออย่างนั้น ไม่ผิด ธรรมของพระพุทธเจ้าก็ทำนองเดียวกัน มีมาก ๘๔๐๐๐ เราจะไปศึกษาเล่าเรียนจดจำเอามาทุกข้อทุกอย่างมาไว้เพื่อจะให้ตัวของตัวรู้ทั่ว เข้าใจถึง ท่องบ่นได้ทุกข้อทุกอย่างที่พระองค์ทรงแนะสอนเอาไว้ มันเป็นไปไม่ได้ ถ้างมอยู่ข้างนอกอย่างนั้น ภายในจะไม่มีวันสงบให้
เราจะกำหนดอะไร จะทำอะไร ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวมากอย่างนั้น มันสงบให้เป็นพอ เหมือนกันกับเราทานอาหาร ร้านขายอาหาร ภัตตาคารต่างๆ เค้าทำไว้ อาหารมีหลายชนิด ไม่ต้องมาซื้อมาทานทุกอย่างไป ทานแต่ที่เราชอบ สิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่านั้น มันก็อิ่ม ยังธาตุขันธ์ของเราให้แข็งแรง ฉันใดธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น คนที่มักมากย่อมยุ่งลำบาก ยิ่งมีอารมณ์เท่าไร คนนั้นก็เป็นเจ้าทุกข์ ถ้าตัดขาดจากอารมณ์ให้น้อยเข้ามาเท่าไร ใจมันก็สุข มันก็สงบ
นี่ธรรมของพระพุทธเจ้า ท่านจึงสอนให้มักน้อย ผู้ภาวนา ผู้ชำระกิเลสต้องมักน้อย ไม่ต้องไปคิดนึกเกี่ยวข้องกับสัญญาอารมณ์ให้มาก ให้มักน้อย ให้สัญญาอารมณ์ของตัว จะกำหนดอะไรตั้งใจกำหนด ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่เกิดสาระประโยชน์ให้ การมักน้อยจึงเป็นเรื่องสำคัญในผู้ประพฤติปฏิบัติ จะไปศึกษาตำรับตำรา เรียนอภิธรรมจบเสียก่อนจึงจะตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ สัญญาที่จำมามันเป็นอนิจจา คือไม่เที่ยง บางทีได้มาแล้วก็หลงไป ตะครุบนั้น ตะครุบนี้ ก็เลยไม่มีวันที่จะจำได้แน่นอน หรือจำได้ก็เป็นธรรมคำสอนของคนอื่น ไม่เห็นไม่เป็นในตัวของเรา มันก็ไม่เกิดประโยชน์ให้
ความจริงธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าถึงจะมากมายก็ตาม ท่านไม่ได้สอนไปที่อื่น สอนกาย สอนวาจา สอนจิตของมนุษย์ เรามีกายมีจิตด้วยกันทุกถ้วนหน้า คนยังไม่ตาย ยังมีกิเลสตัณหา มีมานะทิฐิ ยังมีดีมีชั่ว ทำได้ มีฤทธิ์มีเดช แต่คนตายไปแล้ว หมดเรื่องเหล่านี้เพราะกายไม่มีที่จะทำ ถึงปากมีอยู่ หมดลมหายใจมันก็พูดไม่ได้ ใจมันก็ไม่ได้อยู่ในตัว คิดนึกตรึกตรองอะไรก็ไม่เป็นอีกเหมือนกัน
ฉะนั้นที่เรามีลมหายใจอยู่ จึงควรประพฤติปฏิบัติได้ ไม่ต้องสงสัยว่าอำนาจวาสนา บุญบารมีเรายังอ่อน ยังไม่มี ให้รีบกำหนด รีบกระทำสิ่งที่ควรกำหนด ควรทำ เช่นจะกำหนดลมหายใจก็กำหนดอยู่อย่างนั้น เมื่อใดใจยังระลึกได้ ยังไม่สงบถึงแก่นของมัน เราก็ตั้งใจกำหนดอยู่นั้น จิตเมื่อมันละเอียดลงไป ลมหายใจมันก็ละเอียดตาม ผลที่สุดเมื่อมันสงบถึงที่ของมัน ลมหายใจของพวกเราท่านซึ่งเคยหายอยู่มาเป็นประจำไม่ว่าหลับว่าตื่น แต่เมื่อจิตรวมถึงที่ จะไม่มีลมหายใจ ลมหายใจจะขาดไป คือมันออกไปได้ทุกขุมขน นี่ความละเอียดของจิตเมื่อมันรวมถึงที่ มันเป็นอย่างนั้น แต่อย่าไปสงสัยว่าเราไม่มีลมหายใจ เราตาย ใครมันสงสัย ใครมันรู้อยู่นั้น ก็แสดงว่าเรายังไม่ตาย
นี่คือความสงบของจิต ความปรุงรวมของจิต มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับสัญญาอารมณ์ต่างๆ ถึงกายจะมีอยู่ ก็ไม่ได้เอาใจมาฝักใฝ่เกี่ยวข้องว่ามันนั่งมันนอนอยู่ท่าไหน มันเป็นอย่างไร เมื่อใจมันรวมอย่างนั้น การนั่งภาวนาจึงไม่ได้มีกาลมีเวลา คือมันไม่ได้กำหนดการว่านานเท่าไหร่ เพราะใจไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับเรื่องข้างนอก ถ้าจิตไม่ถอดถอนขึ้นเมื่อไร จะนั่งไปกี่วันกี่คืนมันก็อยู่ได้ อย่างพระอริยเจ้าท่านเข้านิโรธสมาบัติ นั่ง ๗ วัน ๗ คืน ไม่เห็นถ่ายหนัก ถ่ายเบา ไม่มีหิวมีกระหาย เพราะใจของท่านไม่เกี่ยวกับกาลเวลา ไม่ออกมาสู่เรื่องข้างนอก
จิตของเรารวมธรรมดาก็เหมือนกัน แต่ท่านที่ไม่ได้กล่าวว่าเป็นนิโรธ ก็เพราะว่ามันอยู่ไม่ได้นานอย่างท่าน มันรวมเข้าไปถึงจุดที่ดับเรื่องสัญญาอารมณ์ มันเหมือนกันหมด จะทราบความสุขความสบาย ความปล่อยวางของใจที่เกี่ยวเกาะอาศัยกับธาตุกับขันธ์ มันเป็น มันเห็นจากการกระทำบำเพ็ญสิ่งเหล่านี้ จะไปอ่านตำรับตำรา ไม่มีทางที่จะเห็นจะเป็นให้ ถ้าเราทำด้วยตัวของเราเอง เราจะเห็นความเย็น ความสงบของจิตของใจ
เมื่อจิตมีความสงบ มีสมาธิความหนักแน่นอย่างนั้น พอถอนขึ้นมาจะพิจารณาอะไร เราเคยสงสัยติดข้อง นำมาพินิจพิจารณา มันจะเกิดปัญญาสามารถแก้ไขขับไล่ความสงสัยข้องใจต่างๆ ตกออกไปหมดออกไป ใจจะไม่ข้องไม่ติดในสิ่งที่เราเคยติดเคยข้องมาก่อน นี่ท่านเรียกว่าปัญญา ไม่ใช่สัญญา เรื่องสัญญานั้น คือเราจำมา รู้อยู่ ราคะ ตัณหา อวิชชา อุปาทาน ความกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ต่างๆในสิ่งเหล่านี้ ท่านถือว่าราคะ ในตำรับตำราท่านบอก ท่านกล่าวเอาไว้ แต่เมื่อมันเป็นขึ้นกับใจ เราจะหาตำรับตำรามาอ่าน มันไม่หาย ต้องฝึก ต้องปฏิบัติ
เมื่อจิตสงบสงัด มาพินิจพิจารณาเรื่องมันติดข้องแวะ คิดต่างๆ เกาะเกี่ยวต่างๆ ยึดถือต่างๆ มันเป็นเพราะอะไร รูปนั้นๆ แต่ก่อนเรายังไม่เห็น มันมีมั้ย มันคงมีแต่ไหนแต่ไรมา รูป เสียง กลิ่น รส ไม่เคยขาดจากโลก มันมีมาอยู่ตั้งแต่เรายังไม่เกิด เราเกิดมาแล้ว หรือเราตายไปแล้ว มันก็มีอยู่อย่างนี้ อันนี้เสื่อมไปสลายไป อันใหม่มันเกิดขึ้น เรื่องของรูป เราจะไปติดในรูป ไปเกาะเกี่ยวกับรูป ไปหาความสุขกับรูป เมื่อรูปนั้นมันแปรปรวน เปลี่ยนแปลง หรือแตกสลาย เราจะเสียใจ เพราะไม่ได้ตามความปรารถนาของตัว
ถ้ามีปัญญาจะต้องพิจารณาแก้ไข ให้เข้าใจชัดเจน พิจารณารูปของตัวเท่านั้น มันก็ทั่วถึงกันทั้งอดีตอนาคต หมดทั้งโลก ไม่มีอะไรที่จะเหลือหลอให้สงสัย เพราะรูปของเราเป็นอย่างไร รูปที่เกิดมาในอดีต ที่หมดไปในอดีต ที่จะมีมาในอนาคต หรือรูปที่มีอยู่ในปัจจุบัน เหมือนกันหมด คือมีความเกิดขึ้น แปรปรวน แล้วแตกสลาย หน้าที่ของมันเป็นอย่างนั้น ไม่มีรูปใดที่จะคงทนถาวรคำ้ฟ้า จะต้องเป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาของมัน
แล้วความกำหนัดยินดีลุ่มหลงในรูปซึ่งเกิดราคะตัณหานั้น หมายถึงจิตไปมั่นหมายว่าหญิงว่าชาย ว่าสวยว่างามต่างๆ เมื่อเรามีสมาธิอบรมจิตตั้งมั่น ถอดถอนขึ้นมาพิจารณาทางปัญญา ทางวิปัสสนา เราจะมีปัญญาขับไล่จิตใจที่ไปเกาะติดต่างๆ รูปที่เราไปหลงใหลใฝ่ฝัน เข้าใจว่ามันสวยมันงามนั้น โดยส่วนใหญ่ก็หมายถึงรูปที่เราเห็นเราเป็นอยู่ รูปที่เราไม่เห็นก็ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับจิตใจของเรา รูปที่เราเห็นอยู่นั้นมันมีอะไรกันที่สวยสดงดงาม ต้องพิจารณาตามธรรมชาติของมัน
เมื่อจิตมีสมาธิ มันจะเข้าไปเห็นธรรมชาติของรูปนั้นๆตามเป็นจริงของมัน คือพิจารณาของตัวเองเท่านั้น มันก็ทราบ ที่มันไหลออกมา เยิ้มออกมา ได้อาบน้ำชำระตัวอยู่เรื่อยๆ เพราะเหตุใด พอมันเน่า มันปฏิกูล ผ้าผ่อนท่อนสไบที่นุ่งห่ม เมื่อนุ่งไปไม่ซักฟอก มันเป็นอย่างไร เพียงรูปที่ยังไม่ตาย มันก็ยังแสดงอากัปกิริยา ความบูดเน่าของมันออกมา ถูกเสื้อผ้าให้มีกลิ่นเหม็นสาปเหม็นโขลง เราเคยเห็นที่เห็นมันสวยมันงาม ที่มันสงสัย เราลองถลกหนังออกไปจนหมด เหลือแต่เนื้อ กองเอาหนังไว้ ดูเนื้อในตัวทั่วไป มันน่ากำหนดยินดี น่าจูบน่ากอดมั้ย อาจจะเกิดความสลดสังเวช อาจจะเกิดความกลัวขึ้น เพราะมันไม่น่าดู เอาเนื้อออกไป เหลือแต่เอ็นกระดูก เป็นอย่างไร พิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงของมัน ว่ามันไม่น่าเลื่อมใส น่ายินดี น่าพอใจ น่าหลงใหลติดข้อง เพราะสิ่งเหล่านี้ปฏิกูลทั้งนั้น
หรือจะพิจารณาอวัยวะภายใน ดูตับไตไส้พุงต่างๆ มันเป็นอย่างไร ตับหมู ตับไก่ เห็นแล้วยังอยาก ขายยังมีราคา คนเขาถือว่าเป็นอาหาร แต่ตับไตไส้พุงของคนนี้ เห็นแล้วไม่เป็นอย่างนั้น ไม่มีความอยาก ไม่มีความพอใจ เพราะพวกเราทั่วไปไม่เคยกินสิ่งเหล่านี้ มันจึงกลัวกัน น่าเกลียด ถ้ามันทะลักออกมาข้างนอก เพียงเราเห็นเท่านั้น เราก็ไม่พอใจแล้ว นี่ทำไมเพียงหนังห่อหุ้มอยู่เท่านั้น เราก็หลงกัน เรามีปัญญา หรือหาปัญญาไม่ได้ มันจึงหลงใหลใฝ่ฝันอย่างนี้ มันจะเกิดปัญญาสามารถขับไล่ราคะตัณหา ความยินดีของใจออกไปได้
นี่คือทางปัญญาที่จะพิจารณาเรื่องของรูปที่เราติดข้อง เรายึดถือ ถ้าพิจารณาแยบคายเท่าไร ใจมันเห็นชัดเท่าไน มันจะเบื่อหน่ายเท่านั้น จะพิจารณาลงไปเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มีอยู่ในกาย มันก็พิจารณาได้ สิ่งที่ข้นแข็งต่างๆ เมื่อมันเสื่อม มันสลายลงไป มันก็ไปสู่ธาตุเดิมของมัน ไม่มีอะไรเป็นหญิง เป็นชาย เป็นหนุ่ม เป็นสาว เพียงแต่ดินเท่านั้น เค้าเอาไปเผาเป็นเถ้าเป็นถ่านเป็นอย่างไร ชอบใจมั้ย สวยที่ไหน งามที่ไหน พิจารณาดูให้ถึงใจ นี่เรื่องของการพิจารณาธรรมะเพื่อแก้ไขขับไล่จิตใจที่ยึดถือให้ตกไป
เมื่อเราพิจารณาเรื่องของเราเข้าใจชัดเจนเห็นประจักษ์ เราจะสงสัยอะไรเล่า คนอื่นในอดีตก็ตาม ในปัจจุบันก็ตาม ในอนาคตก็ตาม มันไม่มีสวยงาม มันเป็นอย่างนี้ พูดถึงธาตุก็เป็นอย่างเดียวกัน พูดถึงของปฏิกูลมันก็อย่างเดียวกัน จิตที่โง่เขลา ไม่มีปัญญาสามารถเท่านั้น จึงไปลุ่มหลงยึดถือกัน ถ้าจิตมีปัญญา มีธรรมะจะไม่มีการลุ่มหลงยึดถือในสิ่งเหล่านี้ ถ้ามันยังยึดถืออยู่ ยังลุ่มหลงอยู่ ก็ได้ชื่อว่าเราปฏิบัติยังไม่ถึงธรรมะขั้นละถอน
พระพุทธเจ้า สาวก ท่านก็มีรูปเหมือนกัน มีเสียงเหมือนกันในสมัยนั้น แต่ท่านทำไมไม่ติดข้อง ก็เพราะท่านพินิจพิจารณาของท่านให้เห็นตามเป็นจริง เมื่อเห็นตามเป็นจริง จิตก็จะย่อมยอมจำนน ไม่ยึดมั่นถือมั่น อะไรเป็นอะไรเข้าใจตามเป็นจริง มันก็ละถอนของมัน นี่พวกเราท่านไม่เป็นอย่างนั้น จำได้ ตำรับตำรา โลภ โกรธ หลงเป็นอย่างไร เข้าใจ เคยอ่าน เคยศึกษา แต่เมื่อเกิดมากับตัวของตัว ไม่มีทางที่จะแก้ไขขับไล่ ความอยากได้ ลุ่มหลง มันยังมี เมื่อไม่ถูกจิตพอใจ โกรธมันก็เกิดขึ้น เพราะความหลงของใจ ไม่มีอรรถธรรม ไม่มีสติความระลึกรู้ ไม่มีปัญญาที่จะสืบดูความเป็นจริงของมัน มันเผาเอาจนหน้าตาเป็นยักษ์เป็นมารขึ้น มันเป็นอย่างนั้น ก็ทราบอยู่แล้วว่าสิ่งเหล่านั้นมันไม่ดี แต่มันก็หนีมันไม่ได้ เพราะละมันยังไม่ขาด มันเป็นพิษเป็นภัย มันเผากายเผาใจของคน เรื่องกิเลสตัณหา
ท่านจึงให้หาธรรมะ พิจารณาธรรมะ มาชำระซักฟอกจิตใจ เมื่อจิตใจสงบเย็น เกิดปัญญาพิจารณาสิ่งต่างๆ เห็นตามเป็นจริง รูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี ยังมีอยู่ในโลก แต่จิตใจของเราแต่เก่าก่อนเคยเห็น ปรุงคิดติดข้องต่างๆ เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมะ พิจารณาในจิตในใจ เห็นตามเป็นจริง เมื่อประสบพบเข้า ทางตาได้เห็น ทางหูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกสัมผัส มันเป็นอย่างไร มันจะประจักษ์ในใจ ถ้ามันยังมีความกำหนัดขัดข้อง เราก็ไม่นอนใจตายใจ อันนี้เป็นกิเลส อันนี้เป็นตัณหา อันนี้เป็นข้าศึกของอรรถของธรรม จะต้องตั้งหน้าสู้รบขบกัด ปฏิบัติเพื่อเอาชัยชนะ นี่คือการปฏิบัติภาวนา ชำระใจของตัว ไม่อย่างนั้นจะไม่เห็น ไม่เป็นให้ จะอยู่ในที่สงบสงัด มันก็อยู่ได้ แต่จิตใจของเราวุ่นวายด้วยอารมณ์สัญญาต่างๆ หาทางสงบไม่มี เราต้องพินิจพิจารณาชำระใจของตัว
การวิเวกความสงบนั้นพระพุทธเจ้าก็สรรเสริญ จะสงบกายพระองค์ก็สรรเสริญ แล้วพระองค์ก็เคยปฏิบัติมา ทั้งๆที่หมดกิเลสพระองค์ก็ยังทรงประพฤติปฏิบัติอยู่ในสถานที่วิเวก เช่นวัดที่ท่านสร้างขึ้น ไม่ใช่สร้างอยู่ในกลางหมู่บ้าน ในกลางถนนหนทาง กลางเมือง ท่านหาความสงบอยู่เหมือนกัน เพราะที่สงบของกายนั้นหาง่าย เราเข้าป่า ไม่มีรูป เสียง เรื่องราวต่างๆภายนอกมายุ่งเกี่ยว ก็ได้ชื่อว่าเป็นที่วิเวก ที่สงบ แต่จิตของเราสงบนั้น มันต้องอาศัยการพินิจพิจารณา อาศัยการปฏิบัติ เพียงกายสงบ หาง่าย แต่ก็อาศัยความสงบของสถานที่วิเวก ไม่มีรูป เสียง เรื่องราวต่างๆมายุ่งเกี่ยว เราจะกำหนดอะไรก็สะดวกสบาย ไม่วุ่นวายขัดข้อง ท่านจึงว่าเสียง เป็นข้าศึกเป็นหนามสำหรับปฐมฌาณ คือการเข้าสงบของจิต ถ้ามีเสียงมากเท่าไร จิตใจฝึกปฏิบัติใหม่จะให้เข้าได้สงบสบายมันยาก หรือไม่เป็นไปเลย
ฉะนั้นผู้ปฏิบัติท่านจึงหาที่สงบสงัดทางกาย เมื่อที่ภายนอกสงบสงัด การปฏิบัติภายใน ข้างนอกมันไม่มีอะไรมายุ่งเกี่ยวรบกวนแล้ว เรามานี้มาปฏิบัติ ไม่ใช่มาเล่น มาเพลิน มาคิด มาปรุง มายุ่ง มาเกี่ยวกับสัญญาอารมณ์อะไร เราต้องหักห้ามใจของเราอย่าให้ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องโลก ปฏิบัติเพื่อความสงัดของใจ เพื่อความวิเวกของใจ ความวิเวกของใจจะวิเวกได้ ก็ต้องตัดนิวรณ์ออกไป นิวรณ์คืออะไร
กามฉันทะ ความคิดปรุงยุ่งเกี่ยวกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ ซึ่งเป็นทางโลก
พยาบาทก็ความคิดอาฆาต ผูกเวรกับสัตว์กับบุคคลต่างๆที่เขาล่วงเกิน ที่เราไม่พอใจ เขาทำ เขาว่าต่างๆนานา คิดไปมันผ่านมาเป็นเวลายืดยาวแล้วก็ตาม ถ้าหากเอาอารมณ์ส่วนนั้น มาคิดมาปรุง จิตใจของเราโกรธ จิตใจของเราร้อน ไม่สงบ ไม่เย็นให้ ท่านจึงให้ตัดออกไป ปล่อยออกไป วางมัน อย่าถือเอาไว้ อย่ายึดเอาไว้
ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน พอเข้าหาที่สงบสงัด ไม่มีสิ่งมายั่วยุเกี่ยวข้อง มันก็ง่วงนอนอยากพักผ่อน เป็นไปต่างๆนานา เพราะใจที่ไม่ได้คิดปรุง ไม่มีสิ่งที่เกี่ยวข้อง มันไม่อยากเพลิดอยากเพลินอะไร มันก็ง่วงเหงา อยากพักผ่อน อยากหลับอยากนอนไป ถ้าไปดูหนังฟังเพลงต่างๆซึ่งเป็นเครื่องยั่วยุ เรื่องกิเลสตัณหาภายใน ถึงระยะเวลาจะยาวนานมันก็อยู่ได้ เพราะใจมันเพลินอยู่ข้างนอก คนที่ง่วงเหงาหาวนอนในการฝึกธรรมะ ปฏิบัติธรรมะหรือฟังธรรมะ ก็เพราะจิตของเขาไม่มีความอิ่มใจ ไม่มีความพอใจ ไม่เพลิดเพลินในอรรถในธรรม มันจึงง่วงเหงาหาวนอนไปได้ เราจะต้องมีปัญญาแนะสอนตัวของตัว ว่าเรานี้มีอำนาจวาสนา มีบุญบารมี คนอื่นจำนวนหมื่นแสนที่เขาไม่ได้เข้ามาฝึกรักษาปฏิบัติธรรมะ ไม่ได้มาฟังธรรมะอย่างเรา เรานี้มีอำนาจวาสนาแล้ว ทำนี้ถูกแล้วดีแล้ว ควรจะอิ่มใจเต็มใจในการปฏิบัติของตัว ไม่ควรจะปล่อยเวลาให้เป็นหมัน เอาความหลับความนอนมาเป็นใหญ่กว่าธรรมะ เราต้องคิดปรุงแก้ไข ขับไล่ความง่วงเหงาออกไป นี่คือนิวรณ์ที่เกี่ยวข้องกับใจ ทำให้ใจไม่เกิดความวิเวกสงบ
อุทธัจจะ กุกกุจจะ เมื่อจิตไม่สงบ จิตไม่มีความสุข มันก็ฟุ้งปรุงเดือดร้อน ฟุ้งซ่านทางจิตทางใจ คิดอ่านไปอันนั้น คิดอ่านไปอันนี้ซึ่งเป็นพิษเป็นภัย ทำจิตทำใจให้เดือดร้อน เมื่อจิตไม่อยู่ จิตไม่สงบ จิตไม่รวม มันก็เกิดความรำคาญขึ้น ท่านว่าอุทธัจจะ กุกกุจจะคือจิตมันฟุ้งซ่าน กายมันก็รำคาญ จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน มันก็ไม่สุข ไม่สบายให้
วิจิกิจฉา เกิดสงสัยว่าอาภัพอับวาสนา ทำอะไรไม่เป็นไปตามใจหวัง นี่คือความปรุงของใจ ความคิดของใจ ถ้ามันคิดไปปรุงไปแบบนั้น จะอยู่ในสถานที่วิเวกขนาดไหนก็อยู่ได้แต่เพียงกาย ใจไม่วิเวกให้ ต้องขับไล่สิ่งเหล่านี้ออกไป เพื่อใจของเราจะได้สงบเข้าถึงความสุข ปล่อยวางสัญญาอารมณ์ต่างๆ จึงจะเกิดสมาธิ เกิดวิเวก ทางจิตเรียกจิตวิเวกได้ เมื่อจิตวิเวก จิตไม่ยุ่งเกี่ยวเที่ยวปรุงต่างๆ เกิดเป็นเห็นรู้ในตัวของตัว ตัวจะเชื่อว่าความสุขในความวิเวกนี้ สุขอย่างนี้ วิเวโก สุโข วิเวกเป็นสุขหนอ เปล่งออกเพราะมันเห็น มันเย็น มันสงบ นี่คือผู้ประพฤติปฏิบัติจะต้องเป็น เห็น รู้ ในตัวของตัว
เมื่อจิตมีความวิเวก จิตสงบเย็นเห็นรู้ ถอดถอนออกมา จะพิจารณาอะไร มันก็เกิดปัญญา สามารถที่จะแก้ไขความข้องติดคิดปรุงยุ่งเกี่ยวต่างๆ ตกออกไป ขับไล่ราคะ ตัณหา อวิชชา อุปาทาน ให้หมดไปจากใจ จนเป็นอุปธิวิเวก คือสงบกิเลส
ครูอาจารย์หรือพระพุทธเจ้า ท่านทำมาแบบนั้น พวกเราท่าน ถ้าทำ ท่านก็ไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์ ท่านปล่อยให้ อนุญาตให้ ใครต้องการจะทำ จะประพฤติปฏิบัติ ท่านไม่ได้เรียกร้องเอาคุณค่าสาระอะไร ท่านปล่อยให้ ประพฤติปฏิบัติได้ ทุกกาลทุกเวลา เราจะมีความสุข ความเย็น ความเห็น ความรู้ขนาดไหน ดิบดีวิเศษขนาดไหน ท่านไม่ได้เคยคิดคุณค่าสาระว่าได้จากฉันนะ เธอจึงมีความสุขความสบายอย่างนั้น ฉันจะต้องเรียกค่าตอบแทนเท่านั้นเท่านี้ ไม่เคยมี พระพุทธเจ้าพระองค์มีพระกรุณาธิคุณมาก อยากจะให้สัตว์ถ้วนหน้า หมดกิเลสตัณหา หมดทุกข์ทางใจ ท่านจึงมาสอนสัตว์ ไม่ใช่ท่านสอนเพื่อความตอบแทนอะไร ไม่เหมือนคนทั่วไปที่สอนกัน มีความรู้มาก็จะต้องมีรางวัลให้ มีเงินเดือนให้ ฉันจึงจะรักษา ฉันจึงจะสอน
นี่พระพุทธเจ้าไม่ได้แบบนั้น สอนเพื่อความสุข ความสบายของบุคคลทั่วไป ไม่ได้คิดอะไรเป็นเครื่องตอบแทน พระทัยของท่านบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา สอนเขา เขาประพฤติได้ ก็ไม่ใช่ท่านจะดิบจะดีขึ้น แต่ด้วยพระกรุณาธิคุณในจิตในใจ ถึงลำบากยากเย็น พระองค์ก็ทรงแนะสอนเพื่อจะให้เป็นประโยชน์แก่สัตว์ ไม่ใช่ว่าท่านสอนแล้วจะได้ค่าตอบแทนเท่านั้นเท่านี้ กิเลสที่ท่านเคยละออกไปก็ละได้แล้ว กิเลสใหม่ที่จะเกิดขึ้นไม่มี ท่านก็ทราบแล้ว สอนเขาตลอดวันปรินิพพาน จิตใจของเราจะดีวิเศษอีกนั้นมีมั้ย ท่านก็ทราบในพระทัยของท่าน เพราะสิ่งที่ควรละ ละไปแล้ว สิ่งที่ควรบำเพ็ญ บำเพ็ญพอแล้ว ท่านทราบ
ไม่เหมือนพวกเราท่าน พวกเราท่านมันไม่ทราบ ไม่เห็นอย่างนั้น ทำลงไปก็เพื่อจะละ เพื่ออยากได้ นั่นท่านทำไม่ได้เพื่ออะไร มันผิดกันอยู่ตรงนั้น ฉะนั้นพวกเราท่านที่มาประพฤติปฏิบัติ เพื่อฝึกหัดอบรมใจก็อย่าจะไปตำหนิว่าตัวของตัวชั่วเสีย ตัวของตัวไม่มีอำนาจวาสนา ตัวของตัวอาภัพ พึงพินิจพิจาณาตั้งหน้าปฏิบัติเถอะ เรื่องจิตใจสงบสงัดเป็นอย่างไร เราจะเห็นจะเป็นในจิตในใจของเรา คำสอนพระพุทธเจ้าถึงผ่านมา ๒๕๐๐ กว่าปี มันยังเป็นนิยยานิกธรรม (ธรรมที่นำสัตว์ออกจากทุกข์) อยู่หรือไม่ หรือผู้ประพฤติปฏิบัติเพียงแต่จะเป็นอุปนิสัย ก็ให้มันเข้าใจในการประพฤติปฏิบัติของตัว ธรรมะเป็นอกาลิโกจริงมั้ย ไม่มีกาลมีสมัย ทำเมื่อไร ได้รับคุณค่าตอบแทนเมื่อนั้น จะเข้าใจกัน นี่คือการประพฤติปฏิบัติอรรถธรรม มันเป็นอย่างนั้น
ขอทุกท่านจงหมั่นพินิจพิจารณากำหนดรักษา อย่าไปนำสัญญาอารมณ์มายุ่งเกี่ยวกับจิตกับใจ ถ้าหากสัญญาอารมณ์ที่เคยคิดปรุงยุ่งเกี่ยวนั้น มันเป็นมรรคเป็นผล ทุกคนจะพ้นจากทุกข์ นี่ไม่เป็นอย่างนั้น มีสัญญาอารมณ์ยุ่งเกี่ยวมากเท่าไร ใจยิ่งเป็นทุกข์ ฉะนั้นจงกำจัดปัดเป่าออกไป ให้ใจมันได้พัก ได้สงบ เมื่อใจมันมีสมาธิคือความสงบ ความหนักแน่น ความเชื่อมั่นในตัวของตัวแล้ว จะพิจารณาอะไรมันก็เป็นปัญญา สามารถตัดขาดจากความสงสัย
นี่ทางธรรมะท่านสอนพวกเราอย่างนั้น ไม่ได้สอนไปที่อื่น สอนกาย สอนวาจา สอนจิต เพราะที่เกิดของความชั่วมันเกิดขึ้นจากที่นี้ ที่เกิดของความดีมันก็เกิดขึ้นจากที่นี้ เมื่อหมดชั่ว ประพฤติดีเต็มตัว วิมุตติหรือวิสุทธิธรรมมันไม่ได้เกิดขึ้นจากที่ไหน เกิดขึ้นจากใจของเราอีกเหมือนกัน ฉะนั้นขอทุกท่านจงนำไปพินิจพิจารณาปฏิบัติรักษา เมื่อทุกคนตั้งหน้าประพฤติปฏิบัติ กำหนดอรรถธรรมอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ความสงบสุขที่เราไม่เคยเป็นเห็นรู้มาก่อนก็จะเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้น ความเชื่อ ความเลื่อมใส ความเต็มใจปฏิบัติจะมีขึ้นเป็นธรรมดา ไม่ต้องเรียกหามาจากที่อื่น
การประพฤติปฏิบัติธรรมจำเป็นสำหรับเราทุกคนที่มีกิเลสตัณหา เพราะกิเลสตัณหาเป็นข้าศึกของใจ เป็นโรคภัยที่จะทำให้เดือดร้อนวุ่นวาย ถ้าเราไม่รีบรักษาด้วยการปฏิบัติธรรมะ มันก็ไม่มีทางที่จะสงบสงัดให้ ฉะนั้นจงตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติกัน ความสุข ความสบาย ความเห็น ความเป็น ความสงบ ความเย็นของใจ จะไม่มีอยู่ในตำรับตำรา จะเกิดขึ้นจากการกระทำบำเพ็ญของตน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะประพฤติปฏิบัติได้ ฉะนั้นขอทุกท่านจงตั้งหน้าตั้งตากำหนดรักษา พินิจพิจารณาปฏิบัติ ความสุขความเจริญก็จะเกิดขึ้นในตัวของตัวเอง
การอธิบายธรรมะเห็นว่าพอสมควร เสียเวลา ขอยุติเพียงแค่นี้ เอวัง