Skip to content

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

หลวงพ่อสิงห์ทอง ธมฺมวโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

พูดธรรมะด้านปฏิบัติ ผู้ฟังด้านปริยัติก็ไม่ได้ศึกษา หลวงตาอยู่ป่าพูดถึงด้านปฏิบัติ คือด้านการรักษาจิตใจของตัว เพราะธรรมะมีอยู่ปริยัติ ก็ออกไปจากปฏิบัติ ธรรมะเบื้องต้นที่พระพุทธเจ้าทรงประพฤติปฏิบัติ มีปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติ แต่สมัยนี้มีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ท่านเรียงเอาไว้ เพราะสมัยก่อนพระองค์ปฏิบัติไปก่อนจนปฏิเวธ คือรู้แจ้งในจิตในใจ จึงมาบัญญัติเป็นปริยัติขึ้น แต่ก็สมัยนั้นปริยัติ ตำรับตำราก็ไม่มี ผ่านมาตั้งหลายร้อยปีถึงค่อยมีตำรับตำราเกิดขึ้นของนักศึกษาแสวงหาธรรมะก็ไปฟังด้วยตนเอง ไม่มีเทปเหมือนสมัยเนี้ย ไปฟังด้วยหู พิจารณาด้วยใจ ท่านฟังไปแล้วก็นำไปใคร่คิดพิจารณาฝึกหัดปฏิบัติใจของตัว ให้ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน เมื่อปฏิบัติไปๆ จิตใจที่ถูกสติปัญญารักษาก็ค่อยละเอียดไป ค่อยละเอียดไป ผลที่สุดก็หมดจากความขัดข้องเศร้าหมองต่างๆ ทางศาสนาถือว่าเป็นพระอรหันต์ คือจิตใจของท่านหมดจดจากกิเลส 

แต่สมัยนี้มีปริยัติคือการศึกษาตำรับตำรามาก่อน ปฏิบัติ ปฏิเวธ การปฏิบัติบางท่านบางคนเคยศึกษาปริยัติมา ก็ไม่เคยมาปฏิบัติด้านจิตใจของตัวเลย จนกระทั่งวันตายหรือจนกระทั่งวันสึก จะเป็นภิกษุก็ดี ไม่มีโอกาสเวลาที่จะปฏิบัติ มีโอกาสแต่ไม่สนใจ ถือว่าได้ปริยัติก็เป็นเรื่องเพียงพอ แต่การเรียนปริยัติ การเข้าใจปริยัติ ถ้าไม่ปฏิบัติ จิตใจมันก็ไม่เกิดเห็นเป็นรู้อะไรในทางแก้ไขให้จิตใจของตัวเยือกเย็นสงบสุข โลภ โกรธ หลงเคยมีอย่างไร ปริยัติไม่สามารถที่จะเข้าไปกำจัดขับไล่เรื่อง โลภ โกรธ หลง ออกไปได้ ถ้าโลภ โกรธ หลงยังมีอยู่ จิตใจยังมัวเมา ติดข้องกับเรื่องของโลก ของกิเลสตัณหา ปฏิเวธมันก็ไม่เกิดขึ้น นี่เรื่องของปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ 

ส่วนผู้ที่ท่านไม่ได้ศึกษาอย่างนั้น ท่านมุ่งออกปฏิบัติถ่ายเดียว ก็ดูครูอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติอย่างไร นอกจากนั้นท่านแนะสอนอย่างไร เราก็จำไปประพฤติปฏิบัติ ไม่ต้องไปจำเอาหมดทุกข้อทุกกระทงที่ท่านแนะสอนไป จำเอาข้อใดข้อหนึ่งซึ่งถูกต้องกับอัธยาศัยของตัว นำไปกำหนด นำไปพินิจพิจารณา นำไปรักษาใจของตัว เหมือนกับยา ถึงจะมีมากขนาดไหน เราไม่จำเป็นที่จะไปซื้อเอาหมด โรคของเราถูกกับยาขนานใดเราก็ซื้อเอาแต่ยาขนานนั้น มารับทานหรือมาฉีดมาทา โรคในกายก็ค่อยหายไป 

นี่ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ทำนองเดียวกัน มีมากเพราะสัตว์มีจำนวนมาก อัธยาศัยใจคอของสัตว์ไม่เหมือนกัน ท่านจึงบัญญัติปริยัติเอาไว้มากมาย เผื่อว่าจะให้เพียงพอกับโรคของสัตว์ ของกิเลสของสัตว์ แต่เราทุกคนถ้าจะไปสนใจจำเอาธรรมะทุกข้อทุกกระทงที่พระพุทธเจ้าสอนเสียก่อน จึงจะลงมือประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่มีวันเวลาที่จะได้ปฏิบัติ บางทีอาจจะตายไปก่อน ไม่รู้ไม่เห็นในอรรถในธรรมได้ 

ทางปฏิบัติ พอครูอาจารย์ท่านแนะสอนไปก็ตั้งใจกำหนดเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นำไปพิจารณาศึกษาปฏิบัติ จิตใจก็ค่อยสงบสงัด จิตใจก็ค่อยเย็นค่อยสบาย นี่หมายถึงผู้ที่นำธรรมะไปรักษาใจ ถ้าคนไม่นำธรรมะไปรักษาใจ ถึงธรรมะจะมีมากมายขนาดไหน ธรรมะก็ไม่เป็นผลเป็นประโยชน์ให้ เหมือนคนไข้ไม่ทานยา ยาจะมีมากขนาดไหน โรคภัยในกายก็ไม่เหือดหายไปได้ ฉะนั้นยาจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับโรค จะแก้ไขโรคให้หายให้สบาย นี่ธรรมะก็ทำนองเดียวกัน พวกเราท่านเป็นโรค คือโรคกิเลสตัณหา และจำเป็นจะต้องนำธรรมะมารักษา 

โรคของคนมันก็มีหลายโรคด้วยกัน ถ้าเป็นโรคตาจะเอายาโรคท้องมารักษามันก็ไม่หาย เป็นโรคท้องจะเอายาใส่ตาหยอดหู หยอดจมูกมาใส่มันก็ไม่หาย โอกาสระยะเวลาจิตใจของพวกเราท่านที่เป็นโรคประเภทใด เราก็ต้องนำธรรมะซึ่งเป็นข้าศึกของโรคชนิดนั้นมาแก้ไข โรคของใจมันมีหลายอย่าง ถ้าโรคเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องโรคอันหนึ่ง โกรธเกิดขึ้นก็เป็นโรคชนิดหนึ่ง หลงเกิดขึ้นก็เป็นโรคชนิดหนึ่ง ราคะตัณหาเกิดขึ้นก็เป็นโรคชนิดหนึ่ง ประมาทมัวเมาเกิดขึ้นก็เป็นโรคชนิดหนึ่ง แต่ละโรค ยาของพระพุทธเจ้า ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีพอที่จะรักษา ถ้าฉลาดนำมาสอนใจของตัว ไม่อย่างนั้นมีแต่ยาแต่ไม่ได้นำมารักษาตัวของตัว ยานั้นก็ไม่เกิดคุณค่าสาระอะไรให้ ยาที่จะเกิดประโยชน์ได้ก็เพราะอาศัยเรานำมารักษา 

ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ถึงจะแบกคัมภีร์ท่วมศีรษะ ล้วนแต่คัมภีร์ธรรมะ แต่ถ้าหากเราไม่มาประพฤติปฏิบัติ คัมภีร์ก็เป็นคัมภีร์อยู่อย่างนั้น โลภ โกรธ หลงภายในจิตในใจก็ไม่มีอะไรตกออกไปได้ ฉะนั้นเราต้องนำมารักษา มาประพฤติปฏิบัติ จิตใจของมนุษย์ทั่วไปซึ่งมาเกิดอยู่ในโลกอันนี้ มันมีกิเลสตัณหาด้วยกันทั้งนั้น แต่ชนิดใดที่จะให้ผลแก่ใจในเวลาเราเป็นอยู่ ตัวของเราเองเป็นผู้รู้ว่าจิตระยะนี้มันคิด มันปรุง มันติด มันข้องกับสิ่งนั้นๆ แล้วจะแก้ไขด้วยวิธีใด ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่แสดงไว้ มีข้อใดที่จะแก้ไขกิเลสของใจ เราที่ติดข้องเราจะต้องสืบสาวอ่านตำรา คือนำยาที่พระพุทธเจ้าบอกสอนมาแก้ไข 

เช่นราคะตัณหาเกิดขึ้น ท่านก็ให้พิจารณาอสุภะอสุภัง คือความไม่สวยไม่งามของกาย จะพิจารณาส่วนใดก็ได้ เพราะเรื่องของกายทุกสิ่งทุกส่วนเป็นของที่ไม่สวยสดงดงาม ถ้าหากเราพิจารณาตามเป็นจริงของมัน แต่อำนาจของกิเลสราคะ มันไม่ได้ถือว่าไม่ได้สวยไม่งาม มันเห็นอะไรเข้าก็ถือส่วนนั้นว่าน่าจูบ น่ากอด เป็นของสวยของงาม ของสะอาด นี่คือเรื่องราคะตัณหา มันปรุงไปในด้านนั้น มันจึงเกิดความกำหนัดยินดีพอใจกัน ถ้าเราพิจารณาในธรรมะคือยาที่จะแก้โรคราคะตัณหา ท่านให้พิจารณาเข้าไปภายใน 

อย่าดูแต่ผิวเผินข้างนอก ดูเข้าไปข้างใน ดูตัวของตัวเองก็ทราบ ดูคนอื่นก็ทราบ เพราะก้อนอันนี้ ร่างกายอันนี้เต็มไปด้วยขี้ ตั้งแต่พื้นเท้าจนตลอดศีรษะ มันมีขี้เต็มตัว ไม่มีอะไรที่จะสวยสดงดงามให้ ไหลออกมาจากที่ไหนก็มีแต่ของสกปรก แสดงว่าก้อนอันนี้ มันเป็นขี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ของดิบของดีอะไร นี่คือการพิจารณาแก้ไขจิตใจของตัวตามเป็นจริง ถ้ามันไม่เห็น ก็พยายามพิจารณาแยกแยะออก ถลกหนังออกเหลือแต่เนื้อ เลือดมันจะไหลเยิ้มออกทั่วทั้งตัว คนที่ไม่มีหนังหุ้มห่อเอาไว้ มันสวยสดงดงามที่ไหน เราเห็นแผลของคนเพียงนิดๆหน่อยๆเท่านั้น เราก็ยังไม่ชอบใจ เพราะในแผลนั้นจะมีหนองมีน้ำเหลืองไหลออกมาให้เราเห็นในตาของเรา ถ้าหากเราถลกหนังออกไปหมดมันจะเป็นอย่างไร คนนั้นๆมันก็ไม่มีอะไรที่จะน่ากำหนัดยินดี มีแต่จะกลัว ไม่ใช่จะชอบจะยินดี ไม่ว่าตัวของตัวหรือคนอื่น ถ้าหากเอาหนังออกหมดมันเป็นอย่างนั้น นี่คือเรื่องพิจารณาถลกหนังออก 

นอกจากนั้นเนื้อที่มันเกาะ มันอาศัยอยู่ในกาย เอาออก แต่ละเส้นแต่ละอันมากองเอาไว้ เนื้อที่มันถือว่ามันสวยมันงาม มันน่ากำหนัดยินดีนั้นมันเป็นอย่างไร ให้เหลือแต่กระดูก แต่เอ็น ที่อยู่ในกาย คนแบบนั้นเราชอบมั้ย ยินดีมั้ย หรือไม่อย่างนั้น จะเอากระดูกออกกองไว้ เนื้อกองไว้ ไส้พุงกองไว้ แต่ละแห่ง แต่ละหน พิจารณาดูว่าคนอยู่ที่ไหน สัตว์อยู่ที่ไหน ทำไมใจมันไปลุ่ม ไปหลง ไปติด ไปข้อง พิจารณาให้ใจมันเห็น มันรู้ตามเป็นจริง เพื่อจะกำจัดขับไล่ความกำหนัดของใจให้ออกไป นี่หมายถึงเมื่อใจมันเกิดราคะตัณหา กำหนัดยินดีในรูป เราจะต้องพิจารณาทำนองนี้ เพื่อจะแก้ไขใจของเรา ไม่ให้ยินดี ไม่ให้เกิดกำหนัด 

นอกจากนั้น ถ้าหากมันลุ่มหลง มันมัวเมา เฝ้าฝันไปต่างๆ ก็ให้พิจารณามรณสติคือความตาย ความตายมันไม่มีขีดมีขั้น ไม่มีวันมีคืน พอหมดลมเมื่อใด ไม่ว่าผู้เล็กเด็กแดงหรือผู้ใหญ่ มันก็ตายเหมือนกัน มันตายไปได้ทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งนักบวช ทั้งฆราวาส ตายกันดาษดื่น เรามานั่งอยู่นี้ ถ้าคิดกันทั่วโลกมันก็ตายไปแล้วนับพันนับหมื่นไม่ได้ เพราะมันตายอยู่ทุกระยะวินาที คนตาย แต่ยังไม่ถึงตัวของเรา เราก็เลยมัวเมา จะมัวเมาไปที่ไหนก็มัวเมาไปเถอะ ความตายมันขับไล่เข้ามาทุกวันทุกเวลา จะมัวเมาเฝ้าคิดไปทำไม เพื่อแก้จิตใจของตัวไม่ให้ประมาท 

ส่วนใดที่ควรได้ ควรเป็น ควรเห็น ควรรู้ รีบกระทำบำเพ็ญให้เห็น ให้รู้ ให้เข้าใจภายในตัว นี่คือการขับไล่ความมัวเมาประมาทของใจ เพราะที่เราจะมัวเมาไปได้ก็เพราะอาศัยว่าเราคิดว่าเราจะไม่ตายง่าย จะมีโอกาสเวลาอยู่หลายปีกว่าจะล้มหายตายไป โอกาสที่เราจะทำความดีเลยโยนไปข้างหน้า ระยะปัจจุบันทันตาเลยไม่ตั้งหน้าตั้งตาศึกษา ไม่ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ เมื่อคิดอย่างนั้นมันก็เป็นเรื่องประมาทในตัวของตัว 

ท่านจึงให้กำหนดมรณสติคือความตาย อยู่ทุกวี่ทุกวันทุกเวลา คนที่กำหนดมรณสติ คิดว่าเกิดมาแล้วจะต้องตาย ความตายไม่มีเครื่องหมายนายประกันอะไร ไม่ทราบว่าวันใดเวลาใดมันจะมาถึงเรา ระลึกนึกอยู่สม่ำเสมอ ความประมาทเพลิดเพลินมัวเมาต่างๆมันจะหดตัวหายไปจากใจของเรา 

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องแก้ไขใจที่มัวเมาประมาทอย่างนั้น มันจึงเป็นสิ่งที่แก้ไขจิตใจที่ลุ่มหลงต่างๆให้ตกให้หายไป ถ้าฉลาดนำมาประพฤติปฏิบัติ ถึงเราจะไม่ดีวิเศษ ก็ตาม แต่ความสุขความสบายภายในตัวของตัว ก็จะสุขจะสบาย พอเป็นไป ไม่เดือดร้อน ไม่วุ่นวาย เพราะมีธรรมะ ธรรมะเป็นของเย็น ธรรมะเป็นของสะอาด ธรรมะเป็นเครื่องทรงไว้ซึ่งผู้ประพฤติปฏิบัติ ให้ได้รับความสุขความสบาย คนที่ประพฤติปฏิบัติตามธรรมะ ถึงจะอยู่ในสถานที่ใด คนนั้นจะมีความสุขใจ ถึงข้าวของภายนอกจะไม่สมบูรณ์ แต่ทว่าจิตใจสมบูรณ์ด้วยธรรมะ ท่านก็มีความสุข จึงควรรักษาหาธรรมะมาไว้ในใจของตัว 

ไม่ใช่ว่าเราจะมีอายุยืนยงคงอยู่ข้ามโลก เราจะต้องตาย ไม่วันใดก็วันหนึ่งแน่นอน กำหนดลมออกไม่เข้ามันก็ตาย ลมเข้าไม่ออกมันก็ตาย ไม่ว่าหญิงว่าชาย ไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่ ความตายมันพอหมดลมหายใจ เขาก็เรียกความตายเท่านั้น ความตายนี้ไม่มีใครทั่วไปจะยินดีเลื่อมใสในความตาย ไม่ปรารถนา ไม่อยากได้ แต่ก็ไม่มีทางหนี เพราะความตายนี้ มันเกิดมาจากการเกิดของตัว ถ้ามีความเกิดแล้ว ความดับมันเป็นของคู่กัน มันจะต้องดับไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง ฉะนั้นจงกำหนดจิตใจของตนให้รู้ให้เข้าใจ ว่าความตายนี้มันมีประจำ ลมออกก็ได้ชื่อว่ามันตาย ลมเข้าก็ได้ชื่อว่ามันเกิด เพียงลมเข้าลมออกเท่านั้น มานั่งอยู่นี้ ไม่ทราบว่ามันเกิดแล้วกี่ครั้งกี่หน ตายไปแล้วกี่ครั้งกี่หน มันเกิดมันตายอยู่ทุกระยะทุกเวลา แต่สันตติ ความสืบต่อของมันมี มันจึงมีชีวิตเรื่อยมาถึงกระทั่งวันนี้ ไม่อย่างนั้นมันก็ไปกันแล้ว ทุกรายมันเป็นแบบนั้น 

เมื่อมันเป็นแบบนั้น เราจะไปมัวเมาเฝ้าฝัน เราจะไปเพลิดเพลินกับเรื่องอะไร เพราะเกิดมาแล้วก็ตาย ไม่มีอะไรที่จะเป็นสิ่งที่จะลุ่มหลง เพราะตายไปแล้วสิ่งของที่เราหึงหวงหามา เราก็จากมันไป ร่างกายที่เรายึดถือว่าเรา ว่าของเรา มันก็เอาไปไม่ได้ สมบัติของโลกทั่วไป เราจะทอดทิ้งให้โลกไป แต่สิ่งที่ติดตัวไป ทางศาสนา ทางธรรมะท่านถือว่ากรรม คือการกระทำของตัว ดีชั่วที่เราทำลงไปด้วยกาย วาจา ใจนั้น เป็นของของตัว ท่านจึงสอนเอาไว้ว่าเรามีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย กรรมที่เราทำไปเป็นของของตน ไม่มีบุคคลผู้ใด ใครผู้หนึ่งจะแย่งชิงเอาไปได้ เราทำดีไว้ กรรมดีก็จะผลิดอกออกผลให้ เราทำกรรมชั่วไว้ กรรมชั่วก็จะให้ผลแผดเผากายใจของตนให้เป็นทุกข์ 

เมื่อเราทราบว่ากรรมเป็นของของตน กรรมที่ไม่เป็นสิริมงคง กรรมที่เป็นอัปมงคลเป็นอกุศล เป็นทางชั่วทางเสีย เราก็มีทางหักห้ามจิตใจของเราไม่ให้ไปทำไปพูดในสิ่งที่ชั่วที่เสียต่างๆ เมื่อเราไม่ไปทำ ไปพูด ไปแตะไปต้องสิ่งเหล่านั้น กรรมส่วนนั้นมันก็ไม่มาติดข้องในตัวของเรา กรรมดีส่วนใดที่เราควรจะกระทำบำเพ็ญได้ ถึงใจจะไม่ชอบเราก็บังคับบัญชาให้กายวาจาใจของเราทำ พูด คิด ในสิ่งนั้นๆ เพราะกรรมดีจะนำผลมาให้แก่ใจของเรา เมื่อยังท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร กรรมดีจะให้ผลดี คือไปเกิดในสถานที่ดี มีร่างกายสวยสดงดงาม ไม่เป็นคนที่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน มีความสุขทางกาย มีความสุขทางใจ เพราะกรรมดีให้ผล กรรมเป็นของของตนอย่างนั้น ไม่ใช่คนอื่นหามาให้ 

เราจึงควรสอนใจของตัว ให้ละกรรมที่ชั่ว บำเพ็ญสิ่งกรรมที่ดีเอาไว้ เมื่อเราสอนใจของเราได้อย่างนั้น การทำความดีก็ไม่เป็นของยาก ของลำบากเท่าไร เพราะทำให้แก่ตัวของตัว ไม่ใช่ทำให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ถึงจะลำบากยากเย็น เราก็อดทนพากเพียรพยายามทำในกรรมที่ดี เพราะทำแล้วให้ผลเป็นสุข กรรมที่ชั่ว ถึงมันอยาก มันง่าย มันสบายในการกระทำของตัว แต่ผลลัพธ์ของมันต่อไปเราจะได้รับทุกข์ รับโทษจากความชั่ว 

กรรมชั่วที่เราทำไปนั้น ไม่มีคนใดที่จะมารับกรรมที่เราทำไป ช่วงชิงเอาไปจากเราได้ เมื่อมันยังไม่ให้ผลแก่ตนของตน ก็เห็นว่ากรรมชั่วมีรสหวาน ทำง่ายดื่มสบาย ความคิดในจิตในใจ เมื่อมันให้ผลเมื่อใด มันเป็นทุกข์เป็นโทษ เหมือนยาพิษเคลือบน้ำตาล ข้างนอกมีรสหวานแต่ข้างในเป็นพิษ จิตใจของเราที่ไม่รู้เห็นเข้าใจชัดเจนในเรื่องของกรรมชั่ว เราจึงมัวเมา เราจึงเฝ้าฝันอยากจะทำกรรมชั่วอยู่เรื่อยไป ต่อเมื่อมันให้ทุกข์ให้โทษเมื่อใด เราถึงไปบ่น เมื่อผลของมันเกิดว่าเราไม่ได้ทำชั่วทำเสียอะไร ทำไมมันเป็นแบบนี้ ทุกข์โทษนี้มันมาจากที่ไหน เข้าใจว่าคนอื่นโยนให้ เข้าใจว่ามันมาจากที่อื่น ความจริงมันเกิดขึ้นจากการกระทำของตน ตอนทำมันยังไม่ให้ผล เมื่อมันให้ผลแล้วมันเป็นทุกข์เป็นโทษ จึงควรหลีกควรเว้น สิ่งที่ชั่วที่เสียต่างๆ พยายามสร้างคุณงามความดีเอาไว้ นี่หมายถึงผู้ที่ชอบเวียนว่ายตายเกิดต่อไป 

ถ้าไม่มีกรรมดีเป็นเครื่องสนับสนุน คนนั้นจะได้รับทุกข์โทษ ลำบาก ถ้ามีกรรมดีสนับสนุนถึงจะเกิดจะตายเหมือนเขา แต่ทว่าเรามีความสุขพอสมควร เพราะทุกข์โทษต่างๆที่เราไม่ต้องการ ไม่ค่อยให้ผลแก่ตนของตน เพราะเราไม่ได้สร้างเอาไว้ มีแต่กรรมดีให้ผล โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่ค่อยเบียดเบียน จะทำอะไรก็เป็นไปเพื่อความสมหวังของตัว นี่หมายถึงกรรมดีให้ผล คนที่สมปรารถนา ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเรื่องของกาย คนนั้นก็สบาย เป็นสุข แต่ทว่าหนีจากทุกข์จากตายไปไม่ได้อีกเหมือนกัน ถึงวันถึงเวลามันก็ต้องตายไป แต่ก็สบายหน่อยดีกว่าที่เค้าเกิดมามีอวัยวะไม่สมประกอบ เกิดมามีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ไม่มีความสุขความสบายทางกายของเค้า ท่านจึงสอนพวกเราที่ชอบเป็นนักท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิด ให้สะสมกรรมดีเอาไว้ 

ส่วนผู้ที่มุ่งหวังอยากจะพ้นจากภพชาติคือการเกิดการตายนั้น พระพุทธเจ้าก็สอน เร่งกำหนดพินิจพิจารณา ถือว่าเอาชาติปัจจุบันที่เรายังมีชีวิตเป็นอยู่ให้เป็นปัจฉิมชาติ คือชาติสุดท้าย จะไม่ยอมเกิดยอมตายอีกต่อไป ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ชำระสะสางจิตใจของตน ที่ข้องติดวกวน ตามเรื่องกิเลสตัณหาต่างๆ พิจารณาให้เข้าถึงความเป็นจริงของมัน เพราะใจเท่านั้นเป็นตัวก่อภพก่อชาติ ใจเท่านั้นเป็นผู้ที่จะพ้นจากทุกข์จากโทษ ถ้าประพฤติปฏิบัติถึงขีดสุดของมันจริงจัง ไม่มีอะไรที่จะมาปิดบังว่าภพชาตินั้นจะมีอีกหรือไม่ เพราะใจมันประจักษ์ในตัวของตัว การปฏิบัติจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำจิตใจของพวกเราท่านให้ข้ามพ้นไปจากเรื่องภพชาติได้ 

การเวียนเกิดเวียนตายนั้น เราเคยเกิดเคยตายมานับไม่ถ้วน แต่ทว่าความหลงใหลในจิตในใจ สัญญาอนิจจามันมี มันจำไม่ได้ เช่นเราพูดวันนี้ เคยพูดมาตั้งแต่เช้าจนค่ำ พูดอะไรบ้างเราก็จำไม่ได้ เราเดินกี่ก้าว เราหายใจกี่หน เราก็จำไม่ได้ ทั้งๆที่เราเคยเดินไปเดินมา เคยพูดจา เคยหายใจ เพราะสัญญาอนิจจา ความลุ่มหลงของสัญญามันเป็นอย่างนั้น การเกิดการตายของพวกเราท่านก็ทำนองเดียวกัน เคยเกิดเคยตายมานับภพนับชาติไม่ได้ แต่มันก็จำไม่ได้ว่ามันเคยเกิดเคยตาย แต่มันก็จำไม่ได้ว่ามันเคยเกิดเคยตาย 

บางผู้บางคนบอกว่าเกิดชาติเดียว อยากจะทำอะไรทำไป ไม่มีอะไรที่จะให้ทุกข์ให้โทษ สิ่งใดที่มันสุขมันสบาย มันชอบใจ ทำมันไปเถอะ นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี ดีชั่วไม่มี มันคิดไปอย่างนี้ คนที่คิดไปอย่างนี้ เห็นไปอย่างนี้ เข้าใจไปอย่างนี้ ทางศาสนาถือว่าเป็นมิจฉาทิฐิ คือความเห็นผิด ถ้าเห็นผิดขนาดนั้นมันไปกันใหญ่ ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่สามารถที่จะส่องไปถึงจิตใจของเขา เหมือนกันกับพระอาทิตย์พระจันทร์ ถึงจะมีแสงสว่างไสวจ้าอยู่ขนาดไหน แต่ในถ้ำในเหวที่ลึก ก็ไม่สามารถที่จะส่องแสงไปถึงได้ 

นี่ธรรมะของพระพุทธเจ้าจะเป็นของละเอียด ของสุขุม ของดี ของประณีตขนาดไหน ก็ไม่สามารถที่จะส่องถึงใจของคนที่มืดบอด คนพาลขนาดนั้นได้ เขาเห็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าเขาเห็นไปแล้วเขาจะไม่ได้เสวยกรรมที่เขาทำไป เขาทำดีทำชั่วอย่างไร เขาก็จะต้องได้เสวยกรรมของเขา ถึงเห็นไปอย่างนั้นว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว ทำไปแล้วแต่ความชั่วมันก็เป็นความชั่วอยู่ตลอดเวลา ความดีก็ทำนองเดียวกัน นี่เพราะมืดมิดปิดบังจิตใจของเขาเอง เหมือนคนตาบอด ถึงแสงสีมีอยู่ทั่วโลก มันก็มองไม่เห็น มันจึงพูดไปทำนองนั้น ถ้ามันเห็น มันก็ไม่พูดไปว่าแสงสีมันมีอยู่ในโลก มันเห็นได้ นี่จิตใจของคนมืดบอดแบบนั้นก็ทำนองเดียวกัน พูดไปได้ แต่จะให้มันเป็นจริงไปตามสิ่งที่เค้าพูด มันเป็นไปไม่ได้ เพราะดีและชั่วมันมีอยู่ ถ้าเราทำลงไปด้วยความดี ความดีก็ให้ผล ถ้าเราทำไปด้วยความชั่ว ความชั่วก็ให้ผล 

คนที่เห็นไปว่าบาปบุญคุณโทษไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี คนที่เห็นไปอย่างนี้ทางศาสนาจึงถือว่าเป็นมิจฉาทิฐิ เป็นความเห็นผิด คนนั้นสามารถที่จะทำชั่วเสียได้อย่างสะดวกสบาย เพราะเห็นว่าตายแล้วสูญ ไม่มีการเกิดอีก จะทำอะไรทำไปได้เป็นกรรมที่หนักยิ่งกว่าอนันตริกรรม คือการฆ่าบิดามารดา ทำสังฆเภทให้สงฆ์แตกกัน หรือทำโลหิตุปบาท ฆ่าพระอรหัตอรหันต์ นี่ท่านถือว่าอนันตริยกรรม คือเป็นกรรมหนัก แต่ยังไม่หนักเท่าคนที่มีมิจฉาทิฐิ ที่ถือว่าดีไม่มี ชั่วไม่มี บาปไม่มี บุญไม่มี คนเหล่านี้ สามารถหนักยิ่งกว่านั้น ยิ่งกว่าอนันตริยกรรมไปอีก ก็ถือว่าเป็นมิจฉาทิฐิ มีความเห็นผิดในจิตในใจ 

มิจฉาทิฐิ คือความเห็นผิด ถ้าเห็นผิดไปมากเท่าไร ก็ทำไปได้ อย่างสะดวกสบายเพราะเห็นว่าทำไปแล้วไม่ได้รับผลอะไร ท่านจึงให้พวกเราวินิจฉัยพินิจพิจารณาเรื่องการกระทำบำเพ็ญ ในกรรมดีชั่วต่างๆ จะพิจารณาปัจจุบันทันตาก็พอจะทราบว่าบุญบาปมันยังมี ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่ใช่ว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป ไม่เหมือนลมปากของคนที่เป็นพาลอย่างนั้น เพราะทำดีนั้น ผู้ที่ทำดีด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจของท่าน ถึงไม่มุ่งหวังอะไรจากใครทั้งหมด มุ่งจะรักษาจิตรักษาใจของตนให้สงบวิเวก ปราศจากทุกข์โทษต่างๆ ท่านไปอยู่ในสถานที่ใดด้วยอำนาจจิตใจของท่านบริสุทธิ์ จิตใจของท่านสะอาด จิตใจของท่านสว่างไสว จิตใจของท่านสงบสุข ไม่มีอะไรที่จะไปปิดบังความดีของท่าน 

คนที่ปรารถนาดียังมี ยังมองเห็น จะอยู่ในสถานที่ลำบากรำคาญกันดารขนาดไหน ก็ยังมีผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาไปหากราบไหว้ เพราะความดีนั้นเหมือนกันกับดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม ถึงไม่เรียกร้องแมลงผู้แมลงผึ้งให้ไปตอม มันก็ไปเอง เพราะแมลงเหล่านี้มันแสวงหาเกสรดอกไม้ มีอยู่สถานที่ใดมันไปพบไปเจอ นี่ท่านที่ทำกรรมดี สร้างกรรมดี ทำความดีเอาไว้ ถึงไม่ปรารถนาเรียกร้องให้ใครมาเลื่อมใสเกี่ยวข้อง แต่อำนาจความดีของท่านก็ให้ผลในปัจจุบัน คือทุกสิ่งทุกอย่างภายนอกท่านก็พอเป็นพอไปโดยที่ไม่ได้แสวงหา ด้วยอำนาจอรรถธรรมภายในใจของท่านส่องแสงไปให้คนเลื่อมใสศรัทธา ยินดีนำสิ่งต่างๆนานามาบูชากับท่าน นี่คือกรรมดีปัจจุบันให้ผล ในคนที่สร้างความดี ทำความดี 

กรรมชั่วก็ทำนองเดียวกัน พวกเราท่านถ้าหากพิจารณาแล้ว มันก็พอทราบได้ คนที่ถูกเค้าฆ่า เค้าตี เค้าจับ เค้ากุมอยู่ในตารางห้องขังต่างๆ ไม่ใช่เค้าทำกรรมดี เค้ามีคุณธรรม เค้าขาดคุณธรรมะ เค้าทำกรรมชั่ว คนเหล่านั้นจึงได้ไปทนทุกข์ทรมานอยู่ในสถานที่ต่างๆ กรรมชั่วให้ผลแก่เขา เราก็ทราบได้ นี่คือเรื่องจะวินิจฉัยให้ใจของเราทราบว่าทำดียังมีผลดีตอบแทน ทำชั่วยังมีผลชั่วตอบแทน ไปไหว้เขาเขาก็ไหว้เราตอบ ไปตีเขา ไปด่าเขา เขาก็ตีเราตอบ ด่าเราตอบ อันนี้มันเป็นธรรมดา ไม่ใช่ว่ามันไม่มีผล มันเห็นผลประจักษ์อยู่ในปัจจุบันนี้ จะว่าดีชั่วไม่มีนั้น มันเป็นไปไม่ได้ ทำดีไม่ได้ดีที่เค้าว่า มันไม่ถูก ทำชั่วได้ดี มันไม่มี 

ถ้าหากจะพูดถึงเรื่องของธรรมะ พูดถึงเรื่องเหตุผลจริงจัง แต่คนที่โกงเค้าจริงอย่างนั้นอย่างนี้ร่ำรวยเงินทองข้าวของ นั่นไม่ใช่ความดีนะ ถ้าหากเค้าทำอย่างนั้นเป็นความดี โลกนี้ทำอย่างนั้นด้วยกันไปหมดจะเป็นอย่างไร เค้าร่ำรวยด้วยการโกงกินอย่างนั้น เค้าเองก็ไม่มีความสุข เค้าเองก็ตำหนิเค้า จิตใจของเขาไม่ใช่จิตใจจะเยือกเย็น จิตใจจะสุขจะสบาย เดือดร้อนวุ่นวาย กลัวว่าเค้าจะสืบรู้ว่าเราทำชั่วทำเสียอย่างนั้นอย่างนี้ มีอยู่ในจิตในใจของเขา เดือดร้อนแผดเผาอยู่ตลอดเวลาถ้าทำชั่วลงไป ถึงจะได้วัตถุข้าวของมาก็ไม่มีความสุขความสบายอะไรให้ แต่เขาทำหน้าตาเฉย เหมือนเค้ามีความสุขความสบาย ความจริงแล้วภายในของเขามันร้อน มันวุ่นวาย ไม่มีความสุขความสงบให้ เพราะเค้าทำไปผิดอรรถผิดธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน 

เราอย่าไปมองแต่ด้านวัตถุ ว่ามีมากโกงกินได้ มีความสุขความสบาย เราอย่าไปมองเพียงแค่นั้น มองถึงภายในของเค้า ว่าเขามีความสุขความสบายจริงมั้ย กับคนที่ทำดีไม่มีข้าวมีของมีเงินมีทองตอบแทน แต่ทว่าจิตใจของท่านเยือกเย็นเป็นสุขนั้นเราไม่ค่อยมองเห็นเพราะคุณธรรมภายในเป็นนามธรรม ไม่เหมือนวัตถุ เราจึงมองไม่เห็น เพราะสิ่งเหล่านั้นมันอยู่ลึก มันละเอียด มันไม่เหมือนของหยาบๆภายนอก เราเลยไม่ทราบไม่เห็น แต่ความจริงมันมี 

พระเจ้าพระสงฆ์ผู้ที่ท่านมีอรรถมีธรรมในจิตในใจ ท่านอยู่ในถ้ำในเขา อยู่ในป่าในดงลึกๆ ที่อยู่ที่อาศัยก็กระท่อมห้องหอเล็กๆน้อยๆ ที่นั่งที่นอนก็ไม่หรูหรางามตาอะไร แต่จิตใจของท่านเยือกเย็น จิตใจของท่านเป็นอรรถเป็นธรรม ท่านสบายไม่วุ่นวายกังวลกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถึงไม่มีท่านก็ไม่อยาก เมื่อไม่มีความอยากมันก็ไม่เกิดความทุกข์ ความทุกข์เกิดเพราะความอยาก ท่านจึงสุข ท่านจึงสบายเยือกเย็น แต่เรามองไม่เห็นว่าท่านสุขท่านสบายเพราะเราเคยติด เคยข้อง เคยศึกษา เคยได้เห็นได้ฟังมาว่าคนที่มีข้าวของเงินทองมากมายก่ายกองอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นคนดี เป็นคนมีความสุข ไม่ได้ถือว่าสิ่งเหล่านั้นมันเป็นของภายนอก ถ้าใจไม่สุข ใจไม่สบายแล้ว ข้าวของจะมากมายหลายหลวงขนาดไหน มันก็ไม่มีอะไรที่จะเยือกเย็น ที่จะสุขได้ มีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความเดือดร้อน เพราะใจมันไม่สุข ใจมันไม่สบาย ไม่มีอะไรแต่ใจมันสุข ใจมันสบาย มันสบายได้ มันสงบได้ มันเย็นได้ 

ดูพระพุทธเจ้าตอนเป็นกษัตริย์ก็มีทุกอย่าง แต่ท่านก็ไม่สรรเสริญ ถ้าความสุขส่วนนี้มีความสุขเพียงพอ ถ้าเพียงพอท่านก็ไม่เสด็จภิเนษกรมณ์ แสวงหาธรรมที่พ้นทุกข์ เคยหลายท่านหลายคนในประวัติที่มีความร่ำรวยในทางโลกอย่าง ยศกุลบุตร หรือ พระรัฐบาลก็เป็นเศรษฐีมั่งมีข้าวของทุกอย่าง แต่ก็ไม่สุขไม่สบายให้ เพราะใจมีกิเลสตัณหา มีโลภโกรธหลงเป็นเครื่องแผดเผา ท่านไม่ยินดีไม่เต็มใจในวัตถุข้าวของเหล่านั้น มีแต่อยากจะออกประพฤติปฏิบัติ กำจัดจิตใจที่โลภ โกรธ หลงอยู่ภายในให้หมดไป ให้สิ้นทุกข์ ถ้าหากจิตไม่ยินดี จิตไม่ติดข้อง ไม่ชอบ ไม่พอใจในวัตถุแล้ว วัตถุนั้นมันจะมีมากขนาดไหน มันก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้จิตใจเป็นสุขได้ เพราะจิตไม่หลง ไม่เกี่ยวข้องพิจารณาถี่ถ้วนตามเป็นจริง วัตถุก็เป็นแต่เพียงวัตถุ เราไม่ได้มันมา มันก็เคยมีอยู่ในโลกอันนี้ เราแสวงหามาได้ จะหึงหวงขนาดไหน ได้มาแล้วเราก็หาบหามไปอีกไม่ได้ สมบัติของโลกเป็นเรื่องของโลกอยู่ตลอดมาอย่างนี้ ไม่มีใครหอบหิ้วหาบหามไปได้ 

เข้าใจตามเป็นจริงอย่างนั้น จึงไม่ติดข้อง จึงไม่มัวเมา จึงไม่ลุ่มหลงในวัตถุอันนั้น จิตใจจึงไม่มีความสุขความสบายเพราะวัตถุที่มีอยู่ เรื่องกำจัดจิตใจไล่ความลุ่มหลงกิเลสตัณหาภายในออกไปด้วยปัญญา ศึกษาจิตใจของตนด้วยธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน กำหนดพินิจพิจารณาสิ่งต่างๆให้รู้ทั่วตามเป็นจริงของมัน จิตใจที่เคยว้าวุ่น ติดข้องต่างๆ สงบเย็นลงไป เข้าใจเห็นจริงในสิ่งต่างๆตามเป็นจริงของมัน เพียงจิตสงบเท่านั้น มันก็มีคุณค่าสาระมาก ไม่มีอะไรที่จะสุขจะสบาย จะประเสริฐวิเศษเท่ากับความสงบของจิตของใจ จะมีปราสาทวิมานใหญ่โตขนาดไหน มีข้าวของเงินทองมากมายเท่าไร มันก็ไม่เหมือนความสุขของจิตสงบ 

ท่านจึงยินดีในการประพฤติปฏิบัติอรรถธรรมของท่าน เพราะเห็นสมบัติที่เกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัตินั้นเป็นของที่มีคุณค่าสาระมากกว่าสมบัติที่ผู้คนทั้งหลายสะสมแสวงหาลุ่มหลงกันในโลก ท่านเห็นท่านเป็นในจิตของท่าน ไม่ใช่คนอื่นบอกให้เห็น ท่านเห็นจากการกระทำบำเพ็ญของท่าน ท่านจึงเย็นจึงสบาย ไม่วุ่นวายเดือดร้อน นี่คือการประพฤติปฏิบัติทางอรรถทางธรรม มีความสุขความสบาย ความเยือกเย็นภายใน ใครตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติได้ จึงไม่มีอะไรวุ่นวายก่อกวนตัวเอง เมื่อไม่ก่อกวนตัวเอง ตัวเองไม่มีทุกข์ คนอื่นทั่วไปเค้าก็มาให้ทุกข์แก่ท่านไม่ได้เพราะใจของท่านไม่รับทุกข์ ไม่ติดทุกข์ ไม่ก่อทุกข์เผาตัวเอง 

นี่เราไม่อย่างนั้น เราเป็นทุกข์ โลกก็เลยเป็นทุกข์ เพราะใจเป็นทุกข์อย่างเดียวเท่านั้น สิ่งอื่นที่มาเกี่ยวข้องมันก็เป็นทุกข์ไป ใจมีกิเลส ใจมีตัณหาอุปาทานยึดตัวอย่างเดียว ทั่วโลกมันก็ยึดเอา อะไรดีที่ควรยึด มันก็น่ายึด ก็ค่อยยังชั่ว แต่ชั่วที่ไม่น่ายึดมันก็ยังยึดมา จนร้องไห้น้ำตาไหล มันก็ยังยินดีพอใจยึดว่าเป็นของของมัน มันโง่หรือมันฉลาด มันจึงเป็นอย่างนั้น นี่คือจิตใจพวกเราท่านที่ไม่ได้ชำระสะสาง ไม่มีปัญญาทั่วถึงในเรื่องต่างๆของธรรมะ มันยึดไปได้ มันถือไปได้ทั้งดีชั่วผิดถูกต่างๆ 

ฉะนั้นการปฏิบัติจิตใจภายในนั้นเพื่อให้เกิดปัญญารู้ตามเป็นจริงในสิ่งต่างๆ แล้วจะได้ละได้ถอนสิ่งที่มันข้องติดคิดปรุงเหล่านั้นให้ตกออกไปจนตลอดถึงเรื่องของใจตัวเองที่ว่ามันผ่องใส มันเยือกเย็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่มันบางทีก็ยังไปลุ่มไปหลง ไปติดไปข้องในสิ่งที่ตัวไม่ชอบ มันเป็นไปได้ ถ้าหากจิตละเอียดพิจารณาทั่วถึงจริงจัง ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นที่ยังติดข้อง ยังสงสัย เราไม่ควรไว้ใจ จะต้องพิจารณาให้ทั่วถึงในสิ่งเหล่านั้น จนจิตใจที่เคยเกี่ยวข้อง เคยวกวนตามเรื่องต่างๆนั้น รู้ประจักษ์ในตัวเองว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องสมมุติ เป็นเรื่องของโลก สิ่งที่พ้นไปจากอันนี้ มันเกิดขึ้น มันจึงทราบดีว่าเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องของโลกอยู่ในโลก สัญญาเวทนา สังขาร วิญญาณเป็นเรื่องของโลก เราจะต้องใช้เมื่อยังมีชีวิตเป็นอยู่ 

แต่สิ่งที่มารู้เรื่องเหล่านี้มันเป็นอย่างไร เข้าใจอีกว่าอันนี้ไม่มีสมมุติอันใด ไม่มีทางที่จะละ จะบำเพ็ญอีก อยู่ไปกี่หมื่นกี่แสนปี ความดีความชั่วที่จะละจะบำเพ็ญไม่มี คือความบริสุทธิ์ที่เป็นวิมุตติของใจ ทราบ นี่คือมันเกิดขึ้น มันเป็นขึ้นด้วยการกระทำบำเพ็ญ มันรู้เห็นเฉพาะผู้ประพฤติปฏิบัติ เมื่อเป็นอย่างนั้นจึงหมด อกถังกถา คือความสงสัยปัญหาของใจทั่วไป ใครจะสรรเสริญชมเชยขนาดไหน ใจก็ไม่เห่อ ไม่หลง ใครจะนินทาว่ากล่าวขนาดไหน ใจก็ไม่ฝ่อ ไม่เดือดร้อน ความจริงที่บริสุทธิ์นั้นเป็นความบริสุทธิ์ตั้งแต่วันรู้ไปตลอดวันตาย ไม่มีการหายไปที่ไหนอีก

เมื่อมันบริสุทธิ์อย่างนั้น จะไปหาอะไรกันอีก จะไปทำอะไรอีก จะไปชำระที่ไหน จะไปบำเพ็ญให้มันเป็นอย่างไร ท่านทราบ นี่คืออานิสงส์ คือที่สุดของผู้ประพฤติปฏิบัติ จะต้องเห็นต้องเป็นในจิตในใจของท่าน เมื่อไปถึงจุดนั้นก็ไม่มีอะไรที่จะสงสัย ไม่มีอะไรที่จะติดข้องไม่ว่าเรื่องข้าวของภายนอกหรือเรื่องของธาตุของขันธ์ มันหมดสิ้นไปทุกสิ่งทุกอัน ท่านจึงมีความสุขอยู่ตลอดกาล อันนี้แหละที่ท่านเรียกว่า นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง คือความสงบของจิตของใจที่พ้นไปจากสมมุติจากโลก ไม่มีความสุขใดที่จะประเสริฐวิเศษขนาดนั้น เพราะไม่มีวันมีคืน ไม่มีการละการบำเพ็ญ 

จะพูดถึงความสุข ความเยือกเย็นนั้น ถ้าหากเราไม่เห็นไม่เป็น มันก็ไม่ทราบว่ามันเยือกมันเย็น มันสุขมันสบายอย่างไร เหมือนกันกับคนไม่เคยเห็นน้ำแข็ง ไม่เคยจับน้ำแข็ง ว่ามันเย็นอย่างไร จะอธิบายให้เค้าฟังว่ามันเย็นอย่างนั้นอย่างนี้ เค้าก็ไม่ทราบ เพราะเค้าไม่เคยสัมผัส หรือคนที่มีจักษุบอดมาแต่กำเนิด จะอธิบายแสงสีขนาดไหนให้เค้าฟัง เค้าก็ไม่เชื่อเพราะเค้าไม่เห็น นี่ความสุขที่พระพุทธเจ้าหรืออริยเจ้าท่านเป็นท่านรู้ ท่านก็ทราบเฉพาะเรื่องของท่าน จะอธิบายไปก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้คนทั่วไปเห็นรู้ได้ นอกจากเค้าเหล่านั้นจะตั้งหน้าตั้งหน้าประพฤติปฏิบัติตัวของเขาจนไปถึงจุดนั้น เป็นอย่างนั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะสงสัย 

พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปกี่ล้านกี่แสนองค์ ความบริสุทธิ์เป็นอย่างนี้ พระอริยเจ้าที่เป็นอรหัตอรหันต์เหมือนกันหมด ไม่มีองค์ใดที่จะยิ่งจะหย่อนกว่ากัน ความบริสุทธิ์นั้นเหมือนกันหมด ในปัจจุบันหรืออนาคตข้างหน้า มันก็เป็นเหมือนกันหมด ถ้าหากชำระจิตใจเข้าถึงความบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรที่จะผิดแผกแตกต่างกัน ทราบ หายสงสัย ไม่มีอะไรเป็นปัญหาเพราะเราเห็น เราเป็นในตัวของเรา เข้าใจเด่นชัดอย่างนั้น จึงไม่มีอะไรที่จะละจะบำเพ็ญต่อไป 

นี่คือจุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าแนะสอน และความเป็นความเห็นอย่างนั้น พวกเรามีสิทธิ์ที่จะประพฤติปฏิบัติได้ ถ้าไม่มีกิเลสตัณหาอยู่ในจิตในใจ ก็ไม่ทราบว่าธรรมะจะมีคุณค่าสาระอะไร เพราะธรรมะมารักษา มาแก้ไขกิเลสตัณหาเหล่านี้ เพื่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนั้น เหมือนกันกับคนที่มีโรค จำเป็นจะต้องหายามารักษา เพื่อความหายจากโรค ถ้าหากคนไม่มีโรค ยาก็ไม่จำเป็น คนไม่หิวก็ไม่จำเป็นที่จะทานจะดื่ม แต่เมื่อหิวมา มันจำเป็นจะต้องทาน ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่อิ่ม เป็นโรคมาก็จำเป็นที่จะหายามารักษา 

นี่จิตใจของพวกเราท่านมันก็ทำนองเดียวกัน เมื่อไม่มีอะไรเกิดทุกข์เกิดโทษมา ก็ไม่ทราบว่ามันเดือดร้อนวุ่นวาย เมื่อมันเกิดทุกข์เกิดโทษมา จึงทราบว่ามันเดือดร้อนวุ่นวายอย่างนั้นอย่างนี้ จึงแสวงหาธรรมะมาแก้ไข เพราะความเดือดร้อนวุ่นวายมันมีอยู่ที่ใด ความเย็นความสบายมันก็จะมีอยู่ที่นั้นเมื่อดับความเดือดร้อนไปได้ มันจำเป็นสำหรับคนที่มีโรค ยาธรรมะก็จำเป็นสำหรับคนที่มีกิเลส คนหมดกิเลสแล้ว มันก็หมดความหมาย 

ฉะนั้นเราทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา มีสิทธิ์ที่จะปฏิบัติรักษากาย วาจา ใจของตน ชอบเวียนว่ายตายเกิด มีความสุขความสบาย ตามฐานะหน้าที่ก็พึงสะสมกรรมดีเอาไว้ เมื่อตายไปจะไม่ผิดหวัง ชอบความพ้นทุกข์ ไม่ชอบจะมาเวียนว่ายตายเกิด ก่อภพก่อชาติอีก ก็พึงตั้งใจปฏิบัติให้ถึงที่สุดวิมุตติอย่างที่อธิบายมา มันพอไปได้ ไม่เหลือวิสัยถ้าหากตั้งใจจะทำ เว้นเสียแต่เราไม่ตั้งใจอยากจะทำ แต่อยากจะได้ ความดีคนทั่วไปต้องการ อยากดีทั้งนั้น แต่คนทำดีมันหายาก มันสำคัญอยู่ตรงนี้ ไม่ทำดี อยากได้ดี ทำชั่วอยากได้ดีมันเป็นไปไม่ได้ 

รีบพินิจพิจารณา รีบศึกษา รีบตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ โอกาสเวลาที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน รูป เสียง เรื่องราวต่างๆไม่ก่อกวนจิตใจจนเกินไป สถานที่สงบสงัด สิ่งภายนอกไม่ค่อยรบกวน ระวังรักษาจิตใจภายใน อย่าให้ฟุ้งไปสู่เรื่องนอก ชำระจิตใจของตน สัญญาอารมณ์ของตนให้สงบระงับ พินิจพิจารณาหาความสุขของใจให้เห็นให้เป็นขึ้น อย่าไปคิดว่าความสุขมันอยู่กับวัตถุข้าวของต่างๆนานา ความสุขของใจนั้นมันอยู่ในอรรถในธรรมที่เรารู้เราเห็น เราชอบความสุข ปรารถนาความสุข เราต้องแสวงหา เราต้องตั้งหน้ากระทำ 

อารมณ์สัญญาที่มายั่วยุก่อกวนว่ามันเกิดทุกข์ ก็ทราบอยู่แล้วว่าอารมณ์สัญญานั้นๆ มันมาก่อกวนจิตใจให้เกิดทุกข์ อย่าไปเกี่ยวข้อง อย่าไปติดตาม หักห้ามเอาไว้ ถ้าฉลาด ถ้าเข้าใจ พอที่จะรักษาใจของตัวได้ หาความสงบ ความสบาย ความสุขได้ นี่การประพฤติปฏิบัติ เรื่องอรรถธรรมของพระพุทธเจ้า คนอื่นปฏิบัติท่านก็ได้รับอานิสงส์จากการกระทำบำเพ็ญของท่าน เราไม่ปฏิบัติ มันก็ไม่เกิดอานิสงส์อะไร ฉะนั้นทุกท่านที่ตั้งหน้าตั้งตามุ่งหวังในความสุข ความสงบ พึงตั้งหน้าประพฤติปฏิบัติกำหนดจิต กำหนดใจภายในของตน เมื่อทุกคนตั้งหน้าตั้งตารักษา มีสติ มีปัญญาสอนใจก็จะมีความสุขความเจริญ ตามความมุ่งหวังของตน 

การอธิบายธรรมะเห็นว่าพอสมควร เสียเวลา ขอยุติเพียงแค่นี้