Skip to content

การเห็นภัยในวัฏสงสาร

หลวงพ่อสิงห์ทอง ธมฺมวโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

การพูดธรรมะทางด้านศาสนา ถ้าหากเราไม่มีศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส ไม่ได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ไม่รู้แจ้งเห็นชัดในอรรถในธรรม มันก็ไม่เกิดสาระประโยชน์อะไรให้ ฟังก็รำคาญกาย รำคาญใจ เพราะไม่มีรสชาติ เหมือนคนป่วย ถ้าไม่รับอาหาร ถึงอาหารนั้นจะมีอยู่ ความนึกอยาก ความหิว มันไม่มี คือธาตุไม่รับ อาหารจะมีรสชาติเอร็ดอร่อยขนาดไหน ถ้าธาตุไม่รับให้มันก็ไม่เกิดสาระ ใส่ปากเข้าไปมันจะอาเจียน เพราะธาตุไม่รับ 

นี่จิตปุถุชนคนหนาทั่วไปก็ทำนองเดียวกัน ถึงธรรมะนั้นจะยังมีอยู่คงเส้นคงวาตลอดมาก็ตาม แต่พวกเหล่านั้นเป็นเหมือนกันกับคนป่วย ไม่นึกอยากอะไร เพราะธาตุขันธ์มันไม่รับอาหารให้ ให้ฟังก็เบื่อหู เอาไปนึกคิดนิดหน่อยก็เหน็ดเหนื่อย โดยมากฟังแล้วก็ทิ้งไป ไม่ได้เก็บเอาไว้วินิจฉัยว่าผิดถูกชั่วดีอย่างไร ควรประพฤติกาย วาจา ใจ ของตัวอย่างไร จึงจะได้ซึ่งความสงบสุข ความนึกคิดในส่วนเหล่านี้ไม่มี มีแต่สิ่งภายนอกยั่วยุ ให้พวกเราเพลิดเพลินมัวเมาลุ่มหลงเรื่อยไป คิดอย่างนั้น ปรุงอย่างนี้ ฉลาดแหลมคมทางชั่ว ทางเสีย ทางเป็นพิษเป็นภัยแก่จิตใจของตัว แต่โง่เขลา มืดบอดในการที่จะแก้ไข กำจัดขับไล่ความชั่วเสียต่างๆออกจากใจของตัว 

เหตุนั้นพวกเราจึงเวียนว่ายตายเกิดตลอดมา ทั้งๆที่ทุกคนไม่ใช่เกิดมาเพียงชาติเดียวเท่านั้น คงเคยเกิด เคยตาย เคยประสบพบเห็นพระพุทธเจ้า และได้สดับรับฟังธรรมจากพระโอษฐ์ของพระองค์มาเหมือนกัน แต่ความเลื่อมใสศรัทธาที่จะนำมาพิจารณาแก้กิเลสตัณหาของตัว มันไม่มี มันจึงไม่ดีไม่เด่นให้ เลยเรื่องชั่วเรื่องเสียต่างๆเลยติดกายติดใจตลอดมา ฟังธรรมะก็ฟังพอเป็นพิธี ถือว่าเราแก่เฒ่าแล้วไม่เข้าวัดเข้าวา ผู้เล็กเด็กแดงเค้าก็จะติฉินนินทา ต้องเข้าวัดเข้าวากับเขา เขาจะได้ไม่ดูถูกดูหมิ่น ถึงวันพระวันศีล ก็บ่ายหน้าเข้าวัดเข้าวา แต่จะมาพิจารณาอรรถธรรมสังขารของตัวนั้น ไม่ค่อยจะมีโอกาสเวลาให้ เพราะใจมันฟุ้งปรุงไปแต่เรื่องนอก มาอยู่ในวัดในวาก็คิดถึงการถึงงาน ถึงบ้านถึงช่อง ถึงข้าวถึงของ ถึงลูกถึงหลาน 

โอกาสเวลาที่เราได้มาพักผ่อนหย่อนใจ ไม่มีงานอะไรภายนอก ลูกหลานเค้าก็อยู่บ้านอยู่ช่องของเขา ข้าวของก็อยู่ตามเรื่องของข้าวของ เรามีโอกาสที่จะพินิจพิจารณาสังขารว่าร่างกายนี้ แต่ก่อนเก่าเราก็เป็นหนุ่มเป็นสาว หน้าตาเปล่งปลั่ง อยู่ที่ไหนก็น่าดู กำลังวังชาก็แข็งแกร่ง ทำการทำงานอะไรก็คล่องแคล่ว แต่บัดนี้ร่างกายของเราผ่านวัน เดือน ปี มา เค้าไม่ได้เรียกว่าหนุ่มว่าสาวเสียแล้ว เค้าเรียกว่าผู้เฒ่า ผู้แก่ ตัวของตัวเองก็เห็น เป็นพยานว่าสังขารร่างกายนี้ มันไม่จีรังยั่งยืน มันแปรมันปรวนไปตามสภาพของมัน ตลอดถึงกำลังกายที่เคยแข็งแกร่งก็อ่อนเพลียไป ทำอะไรก็ไม่สมใจปรารถนา เรื่องเหล่านี้ถ้าหากเรานำมาพินิจพิจารณา มันก็เกิดธรรมะในจิตในใจ เกิดสลดสังเวช ทำให้จิตวกเข้ามาหาอรรถหาธรรม ไม่มัวเมาเฝ้าคิดไปในเรื่องอื่น จนลืมหลงตัวของตัว 

แต่นี้มีโอกาสเข้ามาวัดมาวา แทนที่จะพินิจพิจารณาสังขารร่างกาย แต่จิตใจไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับธรรมะ อยู่กับธรรมะก็ไม่เกิดอะไรให้ ก็เพราะรูปธรรม นามธรรม ก็คือกายคือใจ เป็นเรื่องธรรมะ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เอาธรรมะมาจากที่ไหนมาสอนกายสอนใจของตัวเอง ครูอาจารย์ท่านไปประพฤติปฏิบัติ ท่านก็พิจารณากายใจซึ่งเป็นบ่อเกิดของอารมณ์สัญญานานาชนิด ท่านรู้ ท่านฉลาด ก็ฉลาดในการละ การบำเพ็ญ เข้าใจชัดเจนตามเป็นจริงในสิ่งชั่วสิ่งดีต่างๆ ไม่ได้มีความรู้ความฉลาดมาจากสถานที่อื่น นี่เป็นเรื่องธรรมะ ผู้ประพฤติปฏิบัติจะต้องดู จะต้องรู้ จะต้องสนใจ ถึงจะเกิดผลประโยชน์ให้ ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรกัน ฟังธรรมะก็เหมือนฟังเสียงนกเสียงหนู เสียงสัตว์มันร้อง พอมันหยุด มันก็หมดความหมาย 

นี่ท่านจะแสดงอะไรให้ฟัง ผิดถูกชั่วดี เราฟังแล้วไม่ได้เก็บทำนำไปประพฤติปฏิบัติ พินิจพิจารณา มันก็เลยไม่เกิดความฉลาดอะไรให้ จิตใจที่เคยโง่เง่าอยู่อย่างไร มันก็โง่เง่าอยู่ต่อไป ไม่เห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นว่าเกิดมาแล้ว หน้าที่เกิดก็เกิดไป หน้าที่กินก็กินไป หน้าที่นอนก็นอนไป ส่วนสังขารร่างกายที่มันหมดไปทุกวี่ทุกวันนั้นไม่ได้คิดมาบวกลบคูณหารกันดู อายุของเราที่ล่วงไป กี่วันกี่เดือนกี่ปีมาแล้ว เราไม่ได้คำนึงคำนวณถึง ถึงคำนึงคำนวณก็คำนวณอยากจะได้อันนั้น อยากจะได้อันนี้ อยากจะทำสิ่งอื่นไป ไม่ได้คำนวณถึงว่า อายุมันหมดไปขนาดนั้น คุณความดีที่เราสะสมมามีอะไรบ้าง จากนี้ไปจะกี่วัน กี่เดือน กี่ปี เราจะเป็นผี เค้าไม่เรียกว่าคน เค้าจะหามไปสู่ป่าช้า สู่เตาเผา หรือสู่หลุมฝังเท่านั้น ได้อะไรกันในการเกิดของตัว ได้พินิจพิจารณาเพื่อศึกษาหาทางในธรรมะ มันไม่ค่อยมี เหตุนั้นมันจึงโง่อยู่ตลอดเวลา ตาเห็น หูได้ยินก็ไม่ได้คิด ได้นึก ได้ฝึกตัวของตัวให้เป็นธรรม นี่เรื่องของพวกเรามันเป็นอย่างนั้น ถึงพระอรหัตอรหันต์จะมาเป็นร้อยเป็นพัน เพราะจิตใจของเราท่านมันมืดบอด มันก็ไม่เห็น นิสัยปุถุชนคนหนาโดยมากมันเป็นทำนองนั้น 

แต่พระพุทธเจ้า หรืออริยเจ้า ท่านก็อาศัยเรื่องเหล่าเนี้ย นำมาพินิจพิจารณา เห็นอะไรก็นำมาสอนกายสอนใจของท่าน เป็นโอปนยิโก อย่างท่านพูดเอาไว้ในตำรับตำรา ที่พระไปอยู่โคนไม้ เห็นใบไม้มันร่วงลงมาจากต้นของมัน ท่านก็นำมาพิจารณาเทียบธาตุขันธ์ แต่ก่อนใบไม้ใบนี้ ที่ยังไม่แก่ ยังไม่เหลือง มันเกิดขึ้นมาอย่างไร แล้วเติบโตมาได้อย่างไร จนกระทั่งมันแก่มันเหลืองมันหล่นนี้ มันมีเวลาระยะอยู่กี่วันกี่เดือน มันจึงเป็นไปแบบนี้ สังขารร่างกายของเราก็ทำนองเดียวกัน เบื้องต้นเกิดขึ้นมาอย่างไร สมัยปัจจุบันเป็นอย่างไร ต่อไปจะเป็นอย่างไร ท่านใคร่คิดให้เป็นอรรถเป็นธรรมสอนใจเพราะรูปทุกอย่างที่เกิดมาได้ มันก็สลายไปได้ ดับสูญไปได้ นี่คือการสอนใจของท่าน ให้วกเข้ามาภายใน สมกับว่าธรรมะเป็นโอปนยิโก คือน้อมเข้ามาสอนใจของตัว 

ถ้าคนสนใจพิจารณาสังขารร่างกายก็ดี พิจารณาสิ่งต่างๆเพื่ออรรถเพื่อธรรมนั้น คนนั้นไม่จน ไปสถานที่ใดไม่จนอรรถจนธรรม จะนั่งอยู่นอนอยู่ ตาดูหูฟัง เป็นอรรถเป็นธรรมทั้งนั้น พอนำสิ่งเหล่านั้นมาใคร่คิดเพื่อแก้ไขจิตใจที่ข้องติด แต่คนที่ไม่ได้สนใจ ไม่ได้ใคร่คิดในเรื่องของอรรถของธรรม จะแบกตำราของธรรมท่วมศีรษะไป กายใจของเขาก็ไม่เป็นธรรมให้ เพราะนั่นตำราของธรรม ไม่ใช่ตัวของธรรม ตัวของธรรมคือกาย คือใจ ที่จะประพฤติปฏิบัติไปตามสิ่งที่ท่านแนะท่านสอนเอาไว้ ผู้ติดผู้ข้อง ผู้เศร้าผู้หมอง ผู้ยึดผู้ถือ ก็คือเรื่องของใจ ถ้าใจไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งต่างๆ มันก็ละไม่ได้ ถอนไม่ออก 

ฉะนั้นจึงควรพินิจพิจารณาชำระใจของตัว ไม่มีโอกาสเวลาที่จะกลับไปเป็นเด็กอีกได้ เมื่ออายุแก่ขนาดนี้แล้ว นึกไปคิดไปถึงอารมณ์เก่าที่ผ่านมาในอดีต ว่าเราเคยสุขเคยทุกข์ เคยเพลิดเพลินอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะอดีตมันผ่านมา อนาคตยังไม่ถึงก็ทำนองเดียวกัน อย่าไปคิดไปปรุงให้มันยุ่งหัวใจ พิจารณาแก้ไขปัจจุบัน มันติดข้องเรื่องอะไร ก็แก้ไขมัน นี่คือเรื่องธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนผู้ประพฤติปฏิบัติ ดูภายใน ดูใจของตัว ถ้าไม่ดูก็ไม่รู้ว่ามันชั่วมันดี ถ้าดูก็รู้ ว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไรก็แก้ไขกันไป ธรรมเป็นสิ่งที่แก้ไขจิตใจให้สะอาด ผู้ที่มีธรรมอยู่ในจิตในใจ อยู่ในตัวของตัว จิตใจสะอาด เมื่อจิตใจสะอาดก็สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆชัดเจน 

จิตใจที่สกปรกโสมมนั้นมันไม่สามารถที่จะมองเห็นเหมือนกันกับน้ำขุ่น จะมีอะไรอยู่ในนั้น เราไม่สามารถที่จะมองเห็นเพราะมันขุ่น ถ้ามันใสแล้ว ตะกอนอยู่ในนั้นก็มองเห็น อะไรตกลงไปนิดๆหน่อยๆก็เห็น นี่เค้าเอาของเน่าของเหม็นไปหมักเอาไว้ มันก็มองเห็นไม่ได้ เพราะน้ำมันขุ่น น้ำใจของพวกเราขุ่นก็ทำนองเดียวกัน ที่มันจะใสได้เพราะอาศัยอะไร น้ำขุ่นนั้นถ้าหากมีปัญญาก็สามารถทำให้ใสได้ ด้วยอุบายวิธีต่างๆ เราจะนำมากรองหลายๆครั้งเข้า น้ำขุ่นนั้นมันก็สามารถใสได้ ไม่อย่างนั้นยิ่งปั่นน้ำขุ่นนั้นมันจะหมดไป พอไอระเหยออกไปเป็นน้ำอีกนั้น มันไม่มีขุ่น มันใสมันสะอาด 

อารมณ์สัญญาในจิตในใจของเราก็ต้องกลั่นต้องกรองดูว่าอะไรมันดีมันชั่ว เพื่อให้มันใสมันสะอาด มันจะรู้ว่าอันนั้นเป็นทุกข์เป็นโทษ อันนี้เป็นผลเป็นประโยชน์ มันจึงจะเกิดขึ้น เห็นขึ้น เป็นขึ้นในจิตในใจ ถ้าหากไม่กลั่นไม่กรอง เห็นว่าเรามีใจก็ใช้กันไป แต่ใจเราชั่วเราเสียอย่างไร ผิดถูกอย่างไร ไม่ได้ใคร่คิด มันก็แก้ผิดไม่ได้ เอาถูกไม่เป็น ทุกข์โทษมันก็เผาตัวเองอยู่ตลอดมา แต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่มันเคยมีอยู่แต่ไหนแต่ไรเข้าไปกระทบสิ่งที่มันชอบ มันก็เกิดความโลภอยากได้ขึ้น พอไปกระทบสิ่งที่มันไม่ชอบ มันก็โกรธขึ้นเพราะความหลงของใจ หากเรากลั่น เรากรองจริงๆจังๆ มันใส มันทราบอันนี้มันอารมณ์ชั่ว อารมณ์เสีย คิดไปก็ไม่เกิดสาระประโยชน์อะไรให้ นอกจากจะทุกข์จิตทุกข์ใจของตัวเอง มันทราบ 

เมื่อมันทราบมันเห็นโทษ มันก็ไม่กล้าที่จะไปคิด ไม่กล้าที่จะไปพูดไปทำ เหมือนกันกับคนทราบว่าอันนี้อสรพิษเห่า จงอาง ไม่ใช่ปลาไหลพอที่จะไปจับคอมันเล่น มันก็ไม่ทราบเพราะถือว่าสิ่งนั้นมันเป็นอสรพิษ เมื่อถูกมันกัดเข้า เราจะต้องเกิดทุกข์เกิดโทษ ไม่ตายก็คางเหลืองไป ไม่เกิดผลเกิดประโยชน์อะไรให้ ไม่กล้าที่จะไปเล่น ไปเกี่ยวข้องกับมัน นอกจากจะสังหารมัน มันมีอยู่นี้ ถ้าหากเราไม่ระวังรักษา เผลอเมื่อใดมันก็จะกัดตัวของเราให้ได้เกิดทุกข์หรือถึงตายได้ พอเจอเข้า หาอาวุธสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาประหัตถ์ประหารมัน ถ้ามีปืนก็เอาปืนยิงเสีย มีพร้ามีขวานมีค้อนก็ตีให้มันตายเสีย เมื่อมันตายไปแล้ว ถึงเขี้ยวถึงฟันมันจะมีอยู่ ตัวของมันยังไม่เน่าเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟก็ตามมันก็ไม่สามารถที่จะมาไล่ขบกัดเรา เพราะมันตาย 

นี่กิเลสตัณหาภายในจิตในใจเรา ถ้าเราเห็นว่ามันก่อทุกข์ก่อโทษให้แก่ตัวของตัวจริงจังก็ทำนองนั้น ไม่กล้าที่จะไปเล่นไปคิด ไปเกี่ยวไปข้องนอกจากจะประหัตถ์ประหารด้วยอุบายปัญญา ศรัทธาความเพียรของตัวเท่านั้น เพราะถือว่าสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ก็ไม่ก่อประโยชน์อะไร นอกจากจะเป็นภัยแก่ตัวของตัว นี่ผู้ที่มีธรรมะ ผู้ที่พิจารณาธรรมะ พิจารณาอย่างนั้น ท่านจึงมีความสุข ความสงบ ทั้งๆที่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ อยู่ในโลกมันมีเหมือนกัน แต่ท่านไม่ลุ่มหลงติดข้องในสิ่งเหล่านั้น เพราะอาศัยจิตใจของท่านสะอาดกลั่นกรองแล้ว สะอาดแล้ว ตามีมันก็ต้องเห็นรูป หูมีมันก็ได้ยินเสียง จมูกมีมันก็ถูกกลิ่นเหมือนกัน แต่ไม่ได้ลุ่มหลงเพลิดเพลินไปในสิ่งเหล่านั้น นี่หมายถึงใจท่านที่สะอาด เห็นสิ่งที่ไม่ดีหรือสิ่งที่ดีตามความจริงของมัน ว่าสิ่งนั้นควรเว้น สิ่งนี้ควรบำเพ็ญ ไม่ได้เห็นสิ่งที่ชั่วเป็นดี สิ่งที่ดีเป็นชั่วแบบพวกเราๆท่านๆ 

พวกเรามันโดยมากเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นเลือดอาบตัวเป็นเครื่องประดับ แบบวินทุกุมาร (มิตตวินทุกะกุมาร) ที่ท่านกล่าวไว้ในธรรมบท เป็นลูกชายของหญิงคนหนึ่งซึ่งมีลูกคนเดียว พ่อก็ดูว่าจะเสียไปตายไป พอใหญ่เป็นหนุ่มมา มารดาก็ทะนุถนอม อาศัยลูกคนเดียวนั่นน่ะจะสืบทายาทมรดก ทุกอย่างก็จะมอบให้เพราะไม่มีใครคนอื่น ทุกสิ่งทุกอย่างเอาใจใส่แนะสอนให้ประพฤติปฏิบัติ ให้ถูกต้องตามครรลองของฆราวาส แต่ลูกคนนั้นไม่ได้คิดว่ามารดาของตัวรักตัว ถึงคิดก็คิดได้อยู่ว่ารัก แต่จิตใจของเขามีแต่อยากจะไปเที่ยวนั้น อยากจะไปเที่ยวนี้ สมบัติที่มีอยู่เค้าไม่ยินดี เค้าอยากจะไปหาสมบัติใหม่ อยากจะไปเห็น อยากจะไปเที่ยวที่อื่น 

ต่อมามีพวกนายสำเภาเค้าจะไปต่างประเทศ สมัยก่อนไม่มีรถยนต์รถไฟ ไม่มีเรือไอเรือหางยาวเหมือนสมัยนี้ มีเรือใบเรือสำเภาออกไปต่างประเทศออกไปค้าขายกัน ชายคนนั้น หนุ่มคนนั้นเห็นเขาไปก็อยากจะไปกับเขา ไปตกลงกับเขา ขอไปกับเขา โดยไม่ได้ปรึกษากับมารดาของตัวว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ไปตกลงกับคนอื่นไว้ แล้วจึงมาพูดกับมารดา มารดาก็ห้าม อย่าไปเลย สมบัติข้าวของของเราก็พอเป็นพอไป พอใช้พอสอย ไม่มีใครที่จะมาแบ่งแย่งเอาของทุกอย่างที่มีอยู่ก็เป็นของลูก แม่ก็เฒ่าแก่แล้ว เมื่อป่วยไข้ได้ทุกข์ก็ไม่ทราบว่าจะพึ่งพาอาศัยใครนอกจากลูกเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งที่อาศัยของแม่ ไม่ต้องไป แกก็ไม่ฟังเสียง ว่าได้ตกลงกับเขาแล้ว อยากจะไปเป็นส่วนใหญ่ ห้ามเท่าไรก็ไม่ฟัง 

ถึงจวนเวลาสำเภาจะออก แม่ห้ามไว้ไม่ยอมฟังเสียงแม่ แม่ก็กอดเอาไว้ ไม่อยากให้ลูกชายของตัวไป ลูกชายซึ่งมีความอยากเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้คิดคำนึงคำนวณหาว่าผิดถูกชั่วดีอย่างไร ก็อาศัยกำลังเรี่ยวแรงของตัวทุบตีแม่ จนแม่ไม่สามารถที่จะกอดเอาไว้ได้ จับไม่อยู่ ก็เลยหนีไป ลงสำเภาไป นี่ในตำรับตำราที่ท่านกล่าวเอาไว้ 

พอไปเดินสำเภาไปเจ็ดวัน ก็คงไกลพอสมควร สำเภาปกติมีลมมันก็พัดไปอย่างนั้น ไปตามทิศตามทาง พวกที่เคยสำเภาเค้ารู้จัก ครั้นไปได้เจ็ดวันเจ็ดคืนแล้ว หยุดนิ่ง ทั้งๆที่มีลมอยู่ ก็ไม่เดินไปที่ไหน โดยหาสาเหตุไม่ได้ว่ามันเป็นมาจากอะไร คนในนั้นก็ไม่ใช่ว่ามีแต่นายสำเภากับเด็กหนุ่มคนนั้น มันมีไปด้วยกันหลายคน เป็นจำนวนสิบๆร้อยๆ นั่งอยู่ในสำเภา แต่ไม่ทราบว่ามันเป็นเหตุอะไร ตั้งใบขึ้นมันก็ไม่ไปให้ ทำอย่างไรมันก็หยุดนิ่งอยู่อย่างนั้น ก็เลยมาปรึกษาปรารภกัน เหตุมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นเพราะอะไรสำเภาของเราจึงไม่ไปที่ไหน ถ้าหากมันเป็นอย่างนี้ก็ไม่มีทาง ต่างคนต่างจะต้องตายด้วยกันทั้งนั้น เพราะอาหารการกินน้ำดื่มอยู่ในนี้ ถ้าสำเภาไม่เคลื่อนที่มันก็มีแต่วันมันจะหมดไป เมื่ออาหารหมด น้ำดื่มหมด ทุกคนก็จะต้องตายกัน ก็ไม่มีอะไรที่จะกินจะดื่ม ชะรอยในสำเภาของเรานี้อาจจะมีกาละกิณีซักคนหนึ่งก็ได้ สำเภาจึงเกิดวิปริตแบบนี้ 

ปรึกษาตกลงกันอย่างนั้น ก็เลยทำสลากคือทำบัตรกาลกิณีขึ้นใบหนึ่ง นอกนั้นก็ธรรมดาๆ แล้วก็ประกาศเห็นพร้อมกันในเรือ ถ้าหากใครถูกบัตรกาลกิณีนี้ จะต้องอยู่กับหมู่คณะไม่ได้ จะต้องหนีไปตามกรรมของตัว คือจะให้ลงจากสำเภาว่ายน้ำไปตามหน้าที่ของเค้า เพราะรักษาส่วนใหญ่ เก็บเอาไว้มันจะตายด้วยกันทั้งหมด เมื่อตกลงพร้อมใจกันอย่างนั้น ก็ทำสลากขึ้นแล้วก็กล่าวคำเชื้อเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆมาเป็นหลักฐานพยาน แล้วก็ให้จับสลากกัน พอจับไปทุกคนแล้วก็ตรวจสลาก ก็ไปถูกกาลกิณีไอ้เจ้าที่ตีมารดา หนุ่มที่ไม่เชื่อฟังคำของแม่ ไปถูกเข้า พอไปถูกเข้าเค้าก็ไล่ ให้กระดานแผ่นหนึ่งเป็นเครื่องอาศัย ไล่ลงไปเกาะกระดานว่ายน้ำ อาศัยกระดานไป 

พอคนนั้นลงจากสำเภาเท่านั้น สำเภาก็เดินไปอย่างสะดวกสบาย นี่เรื่องในธรรมบทท่านกล่าวเอาไว้ แต่อาศัยกรรมของเค้า ไม่ได้ตายจมน้ำ เค้าไปอาศัยแผ่นกระดาน อาศัยคลื่นของน้ำก็เลยไปถึงเกาะแห่งหนึ่ง เกาะนั้นมีเปรตตัวหนึ่งซึ่งเคยฆ่าบิดามารดา ไปตกนรกหมกไหม้หมดเวรกรรมในนรก แต่เศษของกรรมยังมีเลยมาเกิดเป็นเปรตในที่นั้น ในศีรษะของเขามีกงจักรอันใหญ่ผันหมุนอยู่ในศีรษะ เลือดอาบหน้าอาบตา ไหลลงมาทั่วสรรพางค์ร่างกาย เค้าร้องไห้เจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา 

ไอ้ชายคนนี้ไปเห็นเข้า แทนที่จะเห็นตามเป็นจริงว่าสิ่งนั้นคือกงจักรผัน หรือหมุนศีรษะของเขา สิ่งที่ไหลลงมาตามตัวของเขาคือเลือด เสียงที่เค้าเจ็บเค้าปวดเค้าร้องไห้ ก็เข้าใจว่าเค้าร้องเพลงเพราะเหลือเกิน สิ่งที่เค้าเห็นกงจักรนั้นก็สวยงามเหมือนดอกบัว เลือดที่มันไหลอาบตัวก็ถือว่าเป็นสร้อย เป็นเพชร เป็นพลอย เป็นเครื่องประดับสวยงาม อยากได้ ร้องขอ ไอ้เปรตก็บอกความเชื่อว่าอันนี้ไม่ใช่ของดิบของดีอะไรนะ เป็นกงจักร นี่ก็ไม่ใช่เครื่องประดับ เลือด “อย่ามาโกหกเรา อย่างไรขอให้เราเถอะ เราเข้าใจว่าสิ่งนี้มันเป็นของดิบของดีจริงๆจังๆ เราจึงขอ” คือเปรตมันก็จะหมดกรรมของมันอยู่แล้ว ไอ้คนนี้ก็เลยไปรับกรรมอันนั้น พอตั้งกงจักรใส่หัวให้ ใส่ศีรษะให้ มันก็หมุนลงไป ผันลงไป เลือดก็ไหลอาบเนื้ออาบตัว ทุกข์ยากลำบากร้องไห้อยู่อย่างนั้น 

เพราะเวรกรรมของตัวที่ชั่วเสีย ทำร้ายมารดาของตัว ไม่เชื่อฟัง มารดาที่ห้ามปราม ไม่อยากให้ไปอย่างนั้นอย่างนี้ คือไม่มีคุณงามความดีอะไร มีแต่เอาความอยากของใจ ไม่ฟังเหตุฟังผลคนอื่นเค้าที่ห้ามเอาไว้ ใจอยากไปอย่างไร ชอบอย่างไร ก็เอาแต่ใจของตัวเอง นี่เรื่องวินทุกุมารในธรรมบท ท่านกล่าวเอาไว้ ได้รับทุกข์รับโทษ เพราะไม่เชื่อฟังคำห้ามปรามของมารดา ถ้าหากมาพูดเป็นธรรมาธิษฐาน วกเข้ามาหาพวกเราท่าน หรือตัวของเราเอง มารดาก็คือธรรมะของพระพุทธเจ้า สอนคนให้รู้เหตุผลดีชั่ว ผิดถูกต่างๆ หักห้ามเอาไว้ไม่ให้ทำ ให้พูด ให้คิด สิ่งที่ผิด สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยแก่ตัวของตัว 

แต่พวกเราท่านก็ไม่ยอมเชื่อฟังธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ เชื่อแต่ใจของตัวเอง ใจนึกใจคิดอยากอย่างไร ชอบอย่างไร ก็เอาตามใจของตัวเท่านั้น จะผิดถูกชั่วดี ไม่ได้คำนึงคำนวณ แต่พอเผอิญไปโดนทุกข์โดนโทษเข้า จึงจะวกคิด นี่เราผิดไปแล้ว มันแก้ไขไม่ได้ เพราะมันติดหนับเหมือนปลาที่ติดเบ็ด มันหนีไม่ได้ มันข้องมันติดแล้ว ยิ่งเบ็ดติดลึกถึงหัวพุงของปลาแล้ว ไปเถอะ ไปที่ไหน ไปไม่ได้ จะมีทุกข์มีโทษขนาดไหน ที่เบ็ดมันเกาะปากเกาะพุงของมันอย่างนั้น ผลที่สุดก็ตายทิ้ง ไม่อย่างนั้นเจ้าของเบ็ด พรานเบ็ดเค้ามาเห็นเข้า เค้าเอาไปต้มไปแกงกินเสีย คือไม่ได้คิดคำนึงว่าไอ้นี้อย่างนิดๆหน่อย อันนี้มันมีอะไรภายในหรือไม่ พอเห็นเข้าก็สวบเอากลืนเอา 

นี่จิตใจของพวกเราท่านก็ทำนองเดียวกัน ถือว่าอันนั้นมันอยากมันชอบ แต่มันจะให้ทุกข์ให้โทษแก่ตัวอย่างไรนั้นไม่ได้คิดคืนมาพิจารณาดู เอาแต่ความอยากเป็นหลักเป็นเกณฑ์ พอไปโดนทุกข์โดนโทษเข้าหนัก จึงจะวกคิด เอ๊ะ นี่เราผิด มันแก้ตัวไม่ได้แล้ว มันหลวมตัวแล้ว มันกลืนกินเบ็ดแล้ว มันลำบาก มันจึงควรคิดพินิจพิจารณาให้รอบคอบทุกสิ่งทุกอย่างไป ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นท่านหวังดีแก่สัตว์โลกขนาดไหน คิดอะไรจากเราผู้ประพฤติปฏับัติ จะเอาข้าวของเงินทอง ค่าจ้างรางวัลในการบอกสอน มีมั้ย ไม่มีอะไรที่พระพุทธเจ้าเรียกร้องจากเรา ที่ท่านแนะสอน พระองค์เองก็ปรินิพพานไปแล้ว ไม่ห่วงใยอะไรในโลก แต่ที่ตรัสสอนเอาไว้ก็เพราะสงสารเมตตาสัตว์ ถ้าหากไม่มีคำสอนเอาไว้ ก็ไม่มีทางเดินสำหรับสัตว์ มืดบอดอยู่แล้ว แต่มีคำสอนขนาดนี้ก็ยังไม่เดินตามถนนหนทางให้ มันก็น่าสังเวชสลดใจ 

ควรที่นำมาพินิจพิจารณาศึกษาเรื่องธรรมะเพื่อเกิดสติเกิดปัญญา เกิดการละการถอนในสิ่งที่ชั่วที่ผิดต่างๆ อย่าไปเห็นว่าการเกิด การตาย เป็นของดิบของดี ของวิเศษวิโส กิเลสตัณหาความอยากของจิตของใจ อย่าไปถือว่ามันเป็นเรื่องสนุกสนาน มันเป็นเรื่องดิบเรื่องดี เพราะหลงเรื่องเหล่านี้ จึงเกิดทุกข์ร้องไห้เสียใจเดือดร้อนวุ่นวาย ทั้งกายก็ไม่ได้อยู่เป็นสุข เพราะเชื่อเรื่องกิเลสตัณหายั่วยุ เชื่อเรื่องชั่วเรื่องเสียที่ตัวก่อขึ้น คิดขึ้น ไม่ได้เชื่อตามธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจึงได้รับทุกข์รับโทษอย่างนี้ มันไม่ได้คิดพินิจพิจารณา เหมือนคนไข้ไม่รับทานยามันก็ไม่มีวันหาย 

ฉะนั้นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้ จะเป็นสมัยใดกาลใด ธรรมก็เป็นอกาลิโก คือทันกาลทันสมัย จงนำมาพินิจพิจารณาศึกษาปฏิบัติกาย วาจา ใจของตัวให้รู้ ให้เข้าใจว่าชั่วเป็นชั่ว ดีเป็นดี อย่าไปลุ่มไปหลง อย่าไปเชื่อความคิดของตัวโดยถ่ายเดียว ถ้าความคิดที่เป็นพิษเป็นภัย เป็นกิเลสตัณหา มันจะนำทุกข์มาให้ จึงไม่ควรเชื่อเรื่องความคิดของตัวยิ่งกว่าอรรถกว่าธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน พระองค์เห็นประจักษ์ชัดเจนในพระทัยมาแล้ว จึงมาสอนสัตว์ สอนด้วยความเมตตากรุณา สอนด้วยความสงสารรักใคร่สัตว์ ไม่ได้สอนให้สัตว์ฉิบหายล่มจม สอนให้สัตว์เหล่านั้น ดิบดี มีคุณค่า ได้รับความสุขความสงบ 

นี่พวกเราทั้งหลายจะไม่ได้พินิจพิจารณาในจิตในใจของตัว เพื่อเคารพบูชาพระพุทธเจ้าบ้างหรือที่ท่านอุตส่าห์พยายามแนะสอนโดยไม่คิดมูลค่าสาระอะไร ทั้งสอนถูกต้องแน่นอน เรายังจะฝืนคำสอนทำตามกิเลสตัณหาความอยากของตัว ให้เหมือนวินทุกุมารอย่างนั้นหรือ ต้องนำมาพินิจพิจารณาชำระจิตใจที่ชั่วที่เสียต่างๆ ให้สงบให้เย็น ไม่อย่างนั้นการเกิด การตาย มันจะยืดเยื้อเรื่อยไป ไม่ทราบว่าจะไปจบเอาเมื่อไร เพราะไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ตั้งหน้าปฏิบัติ 

ความจริงการปฏิบัติใจมันสั้น มันมีวันที่จะสุขจะสงบ แต่การเชื่อเรื่องกิเลสตัณหา ยาวแสนยาว ไม่ทราบว่าจะจบจะสิ้นเมื่อไร ถ้าเชื่อเรื่องของมันเรื่อยไป ก็ไม่มีวัน เพราะเป็นวัฏจักรวนอยู่อย่างนั้น เดี๋ยวเกิด เดี๋ยวตาย เดี๋ยวดีใจ เสียใจ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวเพลิดเพลิน มันเป็นอยู่อย่างนี้โลกอันนี้ มันไม่มีอะไรที่น่าเลื่อมใส น่าศรัทธา น่าปรารถนา น่าอยู่ สำหรับจิตผู้รู้ ผู้ประพฤติปฏิบัติ ท่านเห็นประจักษ์ชัดเจนอย่างนั้น 

นี่พวกเราท่านมันมืดมันบอด ทั้งๆที่โลกเปิดเผยให้เห็นเด่นชัดอยู่ แต่อำนาจความบอดของตา พระอาทิตย์ พระจันทร์ จะสว่างไสวขนาดไหน มันก็มองไม่เห็นอะไรเพราะมันบอด เมื่อบอดแล้วก็มักอยากจะพูดใหญ่ อวดตัว ไปเหยียบหัวหมา ก็หาเหยียบมานานแล้ว มึงอยู่นี่หรือ แบบนี้แหละคนบอด ไปโดนหลักโดนตอก็เหมือนกัน กูหาโดดหาเตะมึงมานานแล้ว เพิ่งจะเจอมึงเดี๋ยวนี้ มันไปแบบนั้น คนตาบอด ไม่ยอมตัวว่าเราไม่เห็นจึงไปเหยียบมัน ไปโดนมัน แก้ตัวเรื่อยไป คนบอดมันพูดใหญ่ พูดเก่ง ปฏิภาณมาก แต่ก็ใครเล่าเค้าจะเชื่อ ใครเล่าเค้าจะเมตตา ทั้งๆที่ตัวไม่รู้ ตัวไม่เห็น ก็ยังพูดใหญ่ใฝ่สูงอยู่อย่างนั้น มันก็ไม่มีใครที่จะเมตตาสงสารให้ 

นี่เราก็ทำนองเดียวกัน เมื่อเราบอดมองไม่เห็นอะไรก็ยังจะคิดใหญ่ใฝ่สูง ยังจะเชื่อว่าตัวนี้ดีเด่นกว่าพระพุทธเจ้า ความคิดความเห็นของเราก็ถูกต้องกว่าธรรมะที่ท่านตรัสเอาไว้ ถ้าไปเชื่อแบบนี้มันก็ไม่มีทาง เหมือนคนไข้ไม่ฟังเสียงของยา ไม่มีเวลาที่จะหาย ฉะนั้นธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ มันมีมากทั่วโลก ทั่วดินแดง หากเราฉลาดนำมาพินิจพิจารณาสอนใจของเราแล้ว จะเกิดสาระประโยชน์ หากเราเห็นเราได้ยินแต่ไม่ได้สนใจนำมาพิจารณาว่าอะไรดีชั่วผิดถูก มันก็ไม่เกิดอะไรให้ มีแต่มืดบอดเรื่อยไป 

ฉะนั้นขอทุกคนจงนำธรรมะมาศึกษา มาพิจารณาปฏิบัติ อย่าไปเชื่อเรื่องกิเลสตัณหามานะทิฐิของตัวยิ่งกว่าเรื่องของธรรมะ ถ้าหากทุกคนสนใจในธรรมะ ใจที่เคยมืดบอดก็ค่อยจะสว่างไสวขึ้น ใจที่เคยขุ่นมัวก็จะค่อยสะอาดขึ้น ธรรมะเป็นเครื่องชำระซักฟอกกิเลสตัณหา ให้ตกออกจากกาย วาจา ใจ ของตัว ยังทันกาลทันสมัย ไม่มีอะไรที่มันเสื่อมมันเสียไป 

ราคะตัณหาสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็เหมือนกันกับพวกเราปัจจุบัน ท่านปรินิพพานไปแล้ว คนที่มีราคะตัณหา มานะทิฐิ มันก็ยังมีอยู่ สิ่งที่จะปราบสิ่งเหล่านี้คือธรรมะก็ยังมีอยู่ แต่พวกเราไม่สนใจนำมาแก้ไขประพฤติปฏิบัติศึกษา จิตใจของเราจึงเร่าร้อน  จิตใจของเราจึงลุ่มหลงเรื่อยมา ฉะนั้นขอจงนำธรรมะมาศึกษา มาพิจารณา มาประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราทุกคนสนใจในธรรมะ ต่างคนต่างก็จะต้องมีความสุข ความสบาย จิตใจที่เคยมืดบอดลุ่มหลง ก็นับวันที่จะสว่างไสว 

นี่เรื่องธรรมะเป็นเรื่องแก้กิเลสในใจอย่างนั้น จึงควรพวกเราท่านจะนำมาพินิจพิจารณาศึกษา ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ คนที่มีธรรมะเท่านั้นจะเป็นคนอัศจรรย์ เป็นคนมีความสุขเหนือโลกที่เขาข้องติดคิดปรุงกัน คนที่ลุ่มหลงไม่มีธรรมะเท่าใด คนนั้นก็เป็นภัยแก่ตัวของตัวและโลก ธรรมะจึงทันกับกาลกับเวลา เพราะกิเลสตัณหามันยังมีอยู่ ธรรมะจึงมีคุณค่าอยู่ ถ้ากิเลสตัณหามันหมดไป ธรรมะมันก็ไม่มีคุณค่าอะไร เหมือนกับคนไม่ไข้ ยามันก็ไม่จำเป็น คนไม่หิว อาหารมันก็ไม่จำเป็น แต่เมื่อไข้มา หิวมา มันจำเป็นที่จะต้องหายา หาอาหาร นี่พวกเราท่านทั้งที่เป็นไข้ ทั้งที่หิว แต่ไม่หาอาหาร หายา มารักษา เมื่อไรเล่าโรคของเรามันจะหาย ความหิวของเรามันจะหมดไป ให้สอนใจของตัวอย่างนั้น เมื่อทุกท่านได้สดับธรรมคำสอนที่ได้อธิบายมา จงนำไปพินิจพิจารณา ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ ต่อจากนั้นไปก็จะมีสุขกายสุขใจ 

การอธิบายธรรมะเห็นว่าสมควร เสียเวลา ขอยุติเพียงเท่านี้ เอวัง