Skip to content

ญาณหยั่งรู้ใจของคนอื่น

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

| PDF | YouTube | AnyFlip |

อย่าส่งใจไปทางอื่น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์มีปรจิตตวิชชาญาณ ทรงรู้วาระจิตของบุคคลอื่น พระองค์มีอาสยานุสยญาณ ทรงรู้อัธยาศัยหรือวาสนาบารมีของบุคคล นัยว่าเมื่อพระองค์พิจารณาเห็นอุปนิสัยแห่งมรรคผลของบุคคลของผู้ที่มาฟัง มานั่งอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์แล้วนั่นน่ะ นั่นแหละพระองค์จึงทรงแสดง อนุปุพพิกถา แล้วก็ทรงแสดงให้คฤหัสถ์ฟัง ไม่ได้ทรงแสดงให้บรรพชิต นี่ก็พึงเข้าใจความมุ่งหมายของอนุปุพพิกถาเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในครั้งนั้น

ครั้งแรกก็ทรงแสดงแก่พระยสกุลบุตรนั้นเองแหละ เพราะว่าพระยสกุลบุตรนี้ท่านเป็นสุขุมาลชาติ เป็นลูกของมหาเศรษฐีในเมืองพาราณสี มีปราสาทอยู่ตั้งสามหลัง ในสามฤดู เหมือนๆกับพระพุทธเจ้า ก็ด้วยอำนาจบุญวาสนาที่ท่านได้บำเพ็ญมาแต่อเนกชาติ มันมาเต็มบริบูรณ์แล้ว จึงบันดาลให้ท่านไม่ยินดีในการเสวยกามสุขสมบัติเหล่านั้นเลย ทรงพิจารณาเห็นกามสุขสมบัตินั้นว่าเป็นของวุ่นวาย มีแต่เรื่องขัดข้อง มีแต่เรื่องวุ่นวาย ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เมื่อมันเกิดความรู้สึกขึ้นในใจอย่างนี้แล้ว ในคืนวันหนึ่งก็จึงได้หาโอกาสหนีออกไปจากปราสาทเหล่านั้น ก็ด้วยอำนาจบุญวาสนาบารมีนั่นแหละ เดินบ่นไป ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ เดินไปแล้วก็บ่นไป พอไปใกล้ที่ประทับของพระศาสดาซึ่งพระองค์ประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั่นแหละ เมื่อพระองค์ได้ทรงฟังเสียงของยสกุลบุตรบ่นมาอย่างนั้น พระองค์เจ้าก็ทรงตรัสตอบว่า ดูก่อนยสกุลบุตร ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ท่านจงมาแล้วจงนั่งลง เราจะแสดงธรรมให้ฟัง เมื่อยสกุลบุตรได้ฟังอย่างนั้นแล้ว ก็ดีอกดีใจมาก ก็ถอดรองเท้า แล้วก็ถอดชฎาที่อยู่บนศีรษะออกไป แล้วก็นั่งกราบพระพุทธองค์ลงไปเรียบร้อย 

เมื่อนั้นพระองค์เจ้าก็ทรงแสดงอนุปุพพิกถา อนุปุพพิกถานั้นมีอยู่ ๕ ข้อ คือหนึ่ง ทานกถา ว่าด้วยเรื่องการให้ การบริจาคทาน สอง สีลกถา ว่าด้วยการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ สาม สัคคกถา ว่าด้วยสวรรค์อันเป็นผลของการให้ทานและรักษาศีลให้บริสุทธิ์นั้น สี่ ทรงแสดง กามาทีนวกถา ว่าด้วยเรื่องโทษของกามคุณ กามคุณนี้จะเป็นกามคุณของมนุษย์ก็ตาม เป็นกามของเทพเจ้าเหล่าเทวาใดๆก็ตาม ล้วนแต่มีโทษทั้งนั้นแหละ และบัดนี้ก็ ห้า เนกขัมมานิสังสกถา ทรงแสดงอานิสงส์แห่งการออกจากกามทั้งหลายดังกล่าวมานั้น สุดท้ายก็ได้ทรงแสดงอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ จบลง ยสกุลบุตรก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นอริยบุคคลในพุทธศาสนา และก็ได้ปฏิญาณตนถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต 

เมื่อปฏิญาณตนเสร็จแล้วก็ขอบวชกับพระศาสดา พระองค์ก็ทรงเหยียดพระหัตถ์ออกไป ทรงตรัสว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเราตรัสไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นไปจากทุกข์โดยชอบเถิด พอพระองค์เจ้าตรัสเท่านี้จบลง บริขาร ๘ อันเป็นทิพย์ก็เลื่อนลอยมา สวมเอายสกุลบุตรทันที ผมเผ้าหนวดเคราอะไรก็ปลิวไป หายไป บัดนี้ก็เลยได้ชื่อใหม่เพิ่มเติมเข้าไปอีกว่า พระยสกุลบุตร เข้าไปแล้ว นี่วิสัยของผู้มีบุญมาก เป็นอย่างนี้ ในกาลที่ได้เกิดร่วมพระพุทธเจ้าและได้ออกบวชอย่างนี้ ท่านไม่ได้เอาบริขารอะไรติดตัวไปเลย เมื่อมีศรัทธาอยู่ในป่า ก็ขอบวชอยู่ในป่า พระองค์ก็ทรงพระอนุญาตให้บวชเป็นภิกขุได้ด้วยพระวาจาดังกล่าว แล้วบริขารอันเป็นทิพย์ก็เลื่อนลอยมา สวมเอาเลย ไม่ใช่แต่พระยสกุลบุตรเท่านั้น แม้พระสาวกองค์อื่นๆถ้าลงว่าพระศาสดาทรงตรัสเรียกว่า จงเป็นภิกขุมาเถิด เท่านี้ละก็เป็นอันว่าบริขาร ๘ อันเป็นทิพย์ ก็เลื่อนลอยมาทันทีเลย แต่ถ้าพระองค์พิจารณาดูว่าคนผู้นี้ตั้งแต่อดีตชาติหนหลังไม่ได้ให้อัฐบริขารเป็นทานมา อันทานอย่างอื่นนั้นได้ให้อยู่ แต่ไม่ได้ให้อัฐบริขารเป็นทานอย่างนี้น่ะ ผลแห่งทานดังกล่าวนี้ก็จะไม่เกิดขึ้นแก่กุลบุตรผู้นี้ เมื่อพระองค์ทรงทราบอย่างนี้แล้ว ก็ทรงแนะนำให้ไปหาบริขาร ๘ ซะก่อนแล้วจึงมาขอบวชใหม่ เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าพระองค์ได้เหยียดพระหัตถ์ออก เรียกว่าเอหิภิกขุอุปสัมปทาแล้ว เป็นอันว่าผู้นั้นมีบุญแท้ๆ ผู้นั้นได้ให้ทานอัฐบริขารมาแต่ชาติก่อน ผลแห่งทานนั้นก็จะมาปรากฏในปัจจุบันนั้น เช่นอย่างพระยสกุลบุตรดังกล่าวแล้ว 

พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องทานนั้น คือว่า ทรงแสดงถึงเรื่องความเป็นผู้ที่ไม่ให้เห็นแก่ตัว เมื่อหากว่าเป็นคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทองข้าวของอย่างนั้นแล้ว ก็อย่าไปเห็นแต่ความสุขส่วนตัว พึงเฉลี่ยความสุขส่วนตัวนั้นให้แก่คนยากจนข้นแค้นบ้าง อย่างนี้จึงชื่อว่าเป็นความดีของผู้เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลาย เป็นคุณธรรมของผู้เป็นบัณฑิต 

แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงว่า ธรรมดาผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีปัญญา ผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตากรุณา ก็ย่อมไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นและสัตว์อื่น ย่อมสำรวมกาย วาจา ของตนด้วยดี ไม่ให้กระทบกระทั่งบุคคลอื่นและสัตว์อื่น อย่างนี้ เมื่อพระองค์เจ้าแสดงมาถึงบทนี้ก็แสดงว่าเป็นผู้สำรวมในศีลนั่นเองแหละ ความมุ่งหมายให้ผู้ฟังก็ย่อมรู้ได้ ก็ย่อมเป็นผู้มีศรัทธามั่นในศีลลงไป พยายามรักษาเจตนาในใจของตนไว้เสมอ ว่าไม่ให้มีเจตนาคิดเบียดเบียนบุคคลอื่นและสัตว์อื่นเลย 

เมื่อบุคคลได้มาบำเพ็ญทานการกุศล พร้อมด้วยการวิรัติละเว้นจากบาปโทษมลทินต่างๆดังกล่าวมานั้น เช่นนี้แล้วก็ย่อมจะได้รับอานิสงสผล ทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า ในปัจจุบันนี้ก็เป็นผู้มากไปด้วยบริษัทบริวาร มิตรญาติสหาย ไม่มีใครแสดงตนเป็นศัตรูเลย เพราะว่าเป็นผู้มีใจคอกว้างขวาง ไม่ตระหนี่ในสมบัติข้าวของที่ได้มา แบ่งสรรปันส่วนให้คนยากคนจนไป เพราะฉะนั้นมันจึงไม่มีใครคิดอิจฉาเบียดเบียนเลย ก็ย่อมอยู่ด้วยความเป็นผู้ไม่มีเวรไม่มีภัย อันนี้เป็นอานิสงส์ในปัจจุบันซึ่งมองเห็นได้ชัดๆ เมื่อละโลกนี้ไปแล้วก็ย่อมบันเทิงในสวรรค์ ย่อมได้เสวยผลแห่งบุญกุศลที่ทำไว้ในชาตินี้ โดยไม่ต้องไปทำไร่ไถนา ไม่ได้ทำการค้าขายเหมือนอย่างมนุษย์โลกอันนี้ บุญกุศลอันนี้หากเนรมิตสมบัติพัสถานต่างๆให้ตามต้องการ 

เมื่อพระองค์แสดงผลอานิสงส์ผลแห่งทาน ศีล เป็นการฟอกจิตของยสกุลบุตรนั่นแหละ ให้ขาวสะอาด เหมือนกับสบู่หรือว่าผงซักฟอก สำหรับซักฟอกผ้าผ่อนที่มัวหมองด้วยฝุ่นละอองธุลี ให้ผ้านั้นขาวสะอาดดี นี่ฉันใดข้อปฏิบัติคือทาน ศีล และอานิสงส์แห่งทานศีลเหล่านี้ ยสกุลบุตรได้ฟังแล้วก็มีจิตใจแช่มชื่นเบิกบาน คิดว่าตนนั้นเป็นผู้มีบุญแหละ ถึงได้เกิดมาในตระกูลเศรษฐี อย่างนี้แล้วตนก็ไม่ได้เบียดเบียนบุคคลใดและสัตว์จำพวกใดเลย เมื่อมาตรวจดูกาย วาจา ใจของตนอย่างว่านี้แลัว ก็เห็นแต่ความบริสุทธิ์ปราศจากบาปโทษมลทินดังนั้นจึงได้มีจิตใจเบิกบานผ่องใส 

เมื่อพระองค์พิจารณาเห็นว่ายสกุลบุตรมีจิตใจผ่องใสอยู่ด้วยบุญด้วยกุศลด้วยดีแล้ว จึงได้ทรงแสดงธรรมขั้นสูงขึ้นไปกว่านั้น เพื่อให้ผู้ฟังนั้นได้มีความรู้ ความคิด ความเห็น เลื่อนขึ้นขึ้นไป ก็ได้แสดงโทษแห่งกามคุณให้ยสกุลบุตรฟัง โดยทรงยกอุปมัยอุปมามาว่ากามทั้งหลายนั่นเหมือนอย่างร่างของสัตว์ที่ตายแล้ว บรรดาพวกแร้งก็ดี กาก็ดี สุนัขจิ้งจอกก็ดี ยื้อแย่งกันกิน ตัวไหนมีกำลังมากตัวนั้นก็ได้กินมาก ตัวไหนมีกำลังน้อยก็ได้กินน้อย แต่กว่าว่าจะได้กินนั้น ก็ต้องต่อสู้กันอย่างสุดเหวี่ยง แสนทุกข์ แสนยาก แสนลำบาก อันนี้ฉันใดผู้บริโภคกามทั้งหลาย ก็เป็นเช่นกันกับซากศพที่บรรดาสัตว์ทั้งหลายยื้อแย่งกันกินนั้นเอง อันนี้ก็นับว่าเป็นความจริงเหลือเกิน อันนี้ก็ดี ดังที่เราคงรู้คงได้ยินได้ฟังกันมาแหละ ไอ้เรื่องเบียดเบียนกัน ฆ่ากัน ตายอยู่ในโลกอันนี้ มันก็ล้วนแต่แย่งกามคุณกันนี่เอง ไม่ใช่อย่างอื่นใด แล้วกามทั้งหลายเปรียบเหมือนอย่างหอก ดาบ แหลน หลาว คอยแต่จะทิ่มแทงให้เจ็บปวดรวดร้าวทุกขเวทนาอยู่อย่างนั้น 

กามทั้งหลายเปรียบเหมือนอย่างเขียงหั่นชิ้นเนื้อ ธรรมดาเขียงนี่มีแต่สึกหรอขึ้นไป ไม่มีหรอกมันจะงอกขึ้นมาอีก อันนี้ฉันใดก็เหมือนกันแหละ ผู้บริโภคกามทั้งหลายนี่ก็มีตั้งแต่เสื่อมลงไปเลย ทั้งร่างกายก็ทรุดโทรมลงไป ทางจิตใจก็เสื่อมไปจากคุณความดี ผู้มัวเมาในกามคุณนะ เสื่อมไปจากบุญจากกุศล เป็นอย่างนั้น กามทั้งหลายเปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีผล ธรรมดาต้นไม้ที่มีผลนี่ นอกจากพวกนกพวกสัตว์ต่างๆมากินกันแล้ว หมู่มนุษย์ก็ไปตัดไปรานกิ่งก้านของมันลง เพื่อจะเอาผลมันมาบริโภค ก็ต้องถูกรบกวน ต้นไม้ที่มีผลนั่นน่ะ ฉันใดบุคคลผู้ยินดีในกามคุณทั้งหลาย เมื่อได้รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสนั่นมาแล้ว เอ้า ก็มีผู้อยากจะมายื้อแย่งเอาไปอยู่อย่างนั้นแหละ ต้องได้รักษา ต้องได้กังวลห่วงใยกันอยู่นั่นน่ะ มีเงินมีทองข้าวของมาแล้ว ยิ่งมีคนพยายามที่จะมายื้อแย่งเอาไป ถ้ามีเมียสวยๆงามๆยิ่งแล้วใหญ่ ยิ่งเป็นเวร ดีไม่ดี เค้าฆ่าตัวตายซ้ำเลย อันนี้ก็มีอยู่ถมไป 

นี่แหละ เพราะฉะนั้นพระองค์เจ้าจึงได้เปรียบกามคุณไว้เหมือนกันกับต้นไม้ที่มีผล ทรงเปรียบว่ากามทั้งหลายนั่น เปรียบเหมือนหลุมมูตรหลุมคูถ เมื่อบุคคลใดตกลงไปในหลุมมูตรหลมุคูถนั้นแล้ว ก็มีตั้งแต่อัปยศอดสู ได้รับแต่ความไม่สบายใจเลย เพราะว่ามันสกปรกโสมม มีกลิ่นก็เหม็น อะไรต่ออะไรอย่างนี้แหละ ทรงเปรียบกามทั้งหลายเหมือนกับยืมสิ่งของของคนอื่นมา เมื่อถึงเวลาแล้วก็ต้องส่งคืนเขา อันนี้ฉันใดก็อย่างนั้นแหละ บรรดารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสอันเป็นที่น่ารักใคร่พอใจต่างๆ ตนได้มาครอบครอง อยู่ไปๆถึงเวลาแล้ว มันก็ต้องแตกดับทำลายไป ก็เท่ากับว่าเป็นของยืมเขามาใช้ชั่วคราวนั้นเองหละ อันนี้แหละ โทษแห่งกามคุณทั้งหลายที่พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงให้พุทธบริษัททั้งหลายฟังไว้ 

เมื่อยสกุลบุตรได้ฟังโทษแห่งกามคุณนี้แล้ว ก็มีจิตใจเบื่อหน่ายในกามทั้งหลาย เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาเห็นจิตของพระยสกุลบุตรเบื่อหน่ายในกามทั้งหลายอย่างนั้นแล้ว ก็จึงได้ทรงแสดงอานิสงส์แห่งการออกจากกามว่าบุคคลเมื่อหากว่ามีจิตใจไม่ฝักใฝ่ในกามทั้งหลายแล้วก็ย่อมถึงซึ่งความสงบระงับ มีจิตใจเบิกบานผ่องแผ้ว ทั้งมีสติมีปัญญา รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์ รู้จักประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน เมื่อยสกุลบุตรได้ฟังเช่นนั้นแล้ว จิตใจก็คลายจากกามคุณ กามตัณหาทั้งหลายออกไป มีใจสงบระงับเป็นอย่างดี 

ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงแสดงอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ให้ยสกุลบุตรฟัง เมื่อยสกุลบุตรได้ฟังอริยสัจทั้ง ๔ นั้นจบลง จึงได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นอริยบุคคลในพุทธศาสนานี้ ใจความในอริยสัจธรรมทั้ง ๔ นั้น พระองค์ก็ทรงยกทุกข์นี่แหละขึ้นมาแสดงก่อน เพราะว่าทุกข์นี้มันมาปรากฏชัดๆอยู่แล้ว ใครๆก็ย่อมมองเห็นได้ เช่นอย่างทุกข์อันเกิดจากความแก่ ความเจ็บ ความตายอย่างนี้นะ แม้ว่าตนจะยังหนุ่มแน่นอยู่ก็ตาม แต่คนที่เกิดก่อนตัวเองโน่นน่ะ เพิ่นก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตายมาให้เห็นเป็นสักขีพยานอยู่แล้ว แม้ตัวของตัวเองนี้ก็จะเป็นเช่นเดียวกันนั่นแหละ เมื่อหากมีชีวิตยืนยาวนานอยู่ ต่อไปก็ต้องถูกความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้ครอบงำเช่นเดียวกัน 

เมื่อยสกุลบุตรได้ฟังเรื่องของความทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ความปรารถนาสิ่งใดก็ไม่ได้สมหวัง ความได้คบหาสมาคมกับบุคคลที่ไม่เป็นที่น่ารักน่าพอใจต่างๆหมู่นี้ ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งนั้นเลย ก็จึงได้เบื่อหน่ายในสังขารนามรูปอันนี้ นั่นแหละ แล้วเมื่อบุคคลมาพิจารณาเห็นว่า ทุกข์นี้มันเป็นของมีจริง อยู่ในปัจจุบันนี้แหละ มันปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้เลย ไม่ใช่มีอยู่ในอดีตอนาคตอะไร ทุกข์มีอยู่ในปัจจุบัน ดูอัตภาพร่างกายนี้ก็แล้วกัน มันทรุดโทรมไปอยู่เรื่อยไปอยู่อย่างนี้แหละ ในที่สุดมันจะหมุนไปหาความแตกดับเท่านั้น ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร 

ทีนี้พระศาสดาจึงได้ตรัสว่าเมื่อบุคคลมาเห็นทุกข์ เบื่อหน่ายในทุกข์ดังกล่าวมานี้แล้ว ปรารถนาจะพ้นจากทุกข์เหล่านี้นั้น ก็ต้องเป็นผู้มาละตัณหาเสีย ตัณหาหมายถึงความอยาก ความทะเยอะทะยานอยาก ความพอใจในกามคุณทั้งหลายนั่นแหละ ความติด ความผูกพันอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในเครื่องสัมผัสต่างๆหมู่นี้ ก็ล้วนตั้งแต่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ทั้งนั้นเลย เพราะว่าเมื่อมันเกิดพอใจขึ้นแล้ว มันก็ยึดถือเอาไว้ เมื่อมันยึดถือเอาไว้แล้ว มันก็เป็นเหตุให้แสวงหา การแสวงหานั้นบางทีเมื่อแสวงหาโดยทางสุจริตไม่ได้ก็ต้องแสวงหาเอาในทางทุจริต เพราะว่ามันกลายเป็นความโลภไปแล้วบัดนี้นะ เมื่อมันอยากได้มากๆขึ้นไป ก็เลยกลายเป็นความโลภ เร่งเพ่งเล็ง เห็นคนอื่นเค้าร่ำเค้ารวย เค้าได้อะไรมาตามประสงค์อย่างนั้น เอ้า ตนก็ไปวางแผนยื้อแย่งเอามาโดยวิธีใดวิธีหนึ่งเข้าไป อย่างนี้น่ะ มันก็เป็นเหตุให้เกิดบาปอกุศลขึ้นมา บาปอกุศลอันนี้แหละอำนวยผลให้บุคคลผู้กระทำเช่นนั้นน่ะเป็นทุกข์ทั้งปัจจุบันและเบื้องหน้า 

นี่ เพราะฉะนั้นแหละ พระศาสดายิ่งทรงสอนให้ละตัณหานั่นแหละ ความอยาก ความดิ้นรนทะเยอะทะยานเกินขอบเขตอันนั้นน่ะมันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ถ้าว่าพูดถึงตัณหาชั้นละเอียดแล้ว เมื่อมาเห็นโทษแห่งรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส อันจัดว่าเป็นกามตัณหานี่แล้ว ก็ไม่ผูกพันอยู่ในรูปเสียงเป็นต้นดังกล่าวมานี่ แต่มันก็ยังมาติดอยู่ในรูปกาย ในขันธ์ ๕ นี้ ยังไม่สามารถจะปลงจะวางขันธ์ ๕ นี้ได้ แต่ถ้าหากว่าหมดอายุสังขารลง ท่านก็ว่าไปเกิดในพรหมโลก เป็นรูปพรหม เพราะเป็นผู้ระงับกามวิตกเสียได้ มีจิตใจสงบอยู่ในฌาณ เพ่งรูปเป็นอารมณ์อยู่ อย่างนี้แหละ อานิสงส์อันนี้พาให้ไปเกิดเป็นพรหมโลก เป็นพรหมที่มีรูป เป็นอย่างนั้น ที่ท่านว่าภวตัณหา 

วิภวตัณหานั่น เมื่อบุคคลภาวนาไป เพ่งรูปนี้อยู่ก็มาเบื่อหน่ายในรูปนี้ แต่เบื่อหน่ายหากไม่มีปัญญาที่จะสอนจิตให้ปล่อยให้วางได้ อาศัยแต่การเพ่งอย่างเดียว เพ่งเพื่อให้รูปนี้มันหายไปจากดวงจิต เมื่อเพ่งนานๆเข้า รูปนี้ก็หายไปจากดวงจิตจริงๆ จิตนี้ปรากฏว่าว่างเลยบัดนี้นะ นั่นแน่ะ ว่าง เมื่อจิตมันว่างอย่างนี้แล้ว ก็ยึดความว่างนั่นเป็นอารมณ์ไปบัดนี้น่ะ ท่านเรียกว่าอรูปฌาณ เนวะสัญญานาสัญญายตนะ อากิญจัญญายตนะ นั่นแหละ หมู่นี้แหละ เป็นอรูปฌาณ เมื่อหมดอายุสังขารลงก็ไปเกิดเป็นพรหมที่ไม่มีรูป ท่านเรียกว่าอรูปพรหม อันหมู่นี้ล้วนแต่เป็นตัณหาทั้งนั้นเลย แต่เป็นตัณหาชั้นละเอียด เพราะฉะนั้นผู้เจริญสมถวิปัสสนาแล้วท่านจะไม่ถือมั่นในสมาธิ ในฌาณเหล่านี้ไว้ จะต้องเจริญวิปัสนา ทำความรู้เท่า ฌาณ รูปฌาณ อรูปฌาณเหล่านี้เสมอ แล้วก็เจริญวิปัสนาเพ่งพิจารณาในอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ดังกล่าวมานั้นแหละ เมื่อเห็นว่าบุคคลมาดับตัณหาทั้งหลายเหล่านี้ได้แล้ว ทุกข์ก็ย่อมดับไปหมด ท่านก็เจริญปัญญาสอนจิตนี่ให้ละตัณหาอันนี้ไปเรื่อยๆ เมื่อตัณหาเหล่านี้ดับ ทุกข์ทางใจมันก็ดับลง เพราะเห็นที่ดับทุกข์ได้ มาดับตรงไหน ดับทุกข์ ดับที่ใจนั่นแหละ เมื่อใจละตัณหาลงไปอย่างสนิทสนมแล้ว ทุกข์ทางใจมันก็ดับลง การดับทุกข์มันไม่ได้ไปดับที่อื่นหรอก ดับที่จิตดวงเดียวนั้นเองน่ะ มันเป็นอย่างนั้น

แล้วการที่เราบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติมา เช่นอย่างถ้าเป็นทายก ทายิกา ก็ได้ให้ทาน ได้รักษาศีล ได้ฟังธรรม ได้ไหว้พระ นั่งสมาธิภาวนามา จนตลอดถึงมาได้เจริญสมถะวิปัสนาอย่างว่านี้แหละ อันนี้แหละได้ชื่อว่าเป็นแนวทางข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อได้บำเพ็ญกุศลดังกล่าวมานี่ เมื่อรวมกำลังแห่งบุญกุศลต่างๆเหล่านั้นมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวอยู่ภายในจิตใจแล้ว ใจก็มีกำลังเข้มแข็ง สามารถที่จะกำหนดละตัณหาดังกล่าวมานั้นได้ นี่แหละท่านจึงเรียกว่า มรรคคือข้อปฏิบัติ มรรคอันมีองค์ ๘ นั่นแหละ คือเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ทางใจได้จริงๆ แต่ถ้าหากว่ามันดับทุกข์ได้ พร้อมทั้งเหตุทั้งปัจจัยจริงๆแล้ว อย่างนี้มันก็จะเกิดญาณความรู้ขึ้นมา เกิดญาณความรู้ขึ้นว่า กิเลสเหล่านี้ตนได้ละมันขาดไปแล้ว อย่างนี้นะ ก็รู้ชัด เห็นแจ้งด้วย ประจักษ์ด้วยตนเองได้ อย่างนี้แหละ ขึ้นชื่อว่าธรรมของจริงแล้ว ไม่มีใครมารู้ให้ได้ ใครทำ ใครย่อมได้เห็นได้ด้วยตนเอง 

เพราะฉะนั้นแหละ เมื่อพุทธบริษัทได้สดับรับฟังอนุปุพพิกถาที่แสดงให้ฟังมาพอสังเขป โดยลำดับนี้แล้ว ก็พึงพากันพินิจพิจารณา จดจำ แล้วน้อมนำเอาไปประพฤติปฏิบัติตามด้วยความไม่ประมาท ถ้าเมื่อลงมือปฏิบัติตามโดยความไม่ประมาทแล้ว ก็ต้องได้รับอานิสงสผลอย่างแน่นอนทีเดียว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้บรรลุมรรคผลธรรมอันวิเศษในปัจจุบันชาตินี้ ก็จะได้เป็นอุปนิสัย ปัจจัยอย่างแรงกล้า ติดตามตนไป เป็นอย่างนั้น แต่ในสมัยครั้งพระพุทธเจ้านั้น ถ้าหากว่าพระองค์พิจารณาดูคนที่มานั่งอยู่ต่อพระพักตร์ของพระองค์เหล่านั้น ไม่มีอุปนิสัยที่จะได้บรรลุมรรคผลธรรมวิเศษแล้ว พระองค์จะไม่แสดงอนุปุพพิกถา ๕ ประการนี้ในสมาคมนั้นเลย พระองค์จะแสดงธรรมไปอย่างอื่น เป็นการอบรมบ่มอินทรีย์ของผู้ฟังทั้งหลายให้แก่กล้าไปโดยลำดับ เช่นอย่างทรงแสดงเรื่องธรรมสังเวชอย่างนี้แหละ อย่างเช่นควรพิจารณาทุกวันๆว่าเรามีความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้เลย เราจะพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น เราทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ดี ชั่วก็ดี ก็จักได้รับผลของกรรมอันนั้นสืบไป ไอ้การที่พระองค์เจ้าแสดงธรรมสังเวชอย่างนี้ ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายนั่นน่ะได้พิจารณาถึงตัวเองและให้เกิดความสังเวชสลดใจในการที่ตนได้มาอาศัยอยู่ในสังขารอันไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนนี้ เต็มไปด้วยทุกข์ทนทรมานต่างๆ นี่ แล้วเบื่อหน่ายในการที่จะมารัก มาใคร่มาผูกพันกับของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนเหล่านี้ เพราะว่าไปรักใคร่กับสิ่งอันไม่เที่ยงเช่นนั้นน่ะ เมื่อเวลามันแปรปรวนหวั่นไหวไปแตกดับไปก็เป็นทุกข์เป็นโศกเพราะอาลัยมาก ดังนั้นแหละ(เทปจบ)