Skip to content

รูป อนิจจัง

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

| PDF | YouTube | AnyFlip |

การปฏิบัติเรามุ่งเข้ามาประพฤติปฏิบัติธรรมะหรือมุ่งมาเพื่อปฏิบัติอันใด คิดอย่างนี้ในชีวิต นักบวชทุกๆคนไม่ว่านางชี แม่ขาว หรือบวชพราหมณ์ หรือบวชพระก็ดี บวชมาเพื่ออะไร นี่ต้องถามตัวเรา อย่างนี้อย่าว่าขู่ อย่างนี้อย่าว่าดุ เทศน์อย่างนี้เพื่อให้ลุกฉุกดู เข้าใจมั้ย เราต้องคิดอย่างนี้ว่าเราบวชมาเพื่ออะไรชีวิต บวชมากินข้าวชาวบ้านเรอะ หรือบวชมาขอเค้ากิน หรือบวชมาเพื่อหวังร่ำรวย นี่ ต้องคิดอย่างนี้ ถ้าเราบวชอย่างนั้นชีวิตในโลกมันครองด้วยความสบาย ต้องเข้าใจอย่างนั้น ไม่ใช่มาล่อลวงชาวบ้านกิน เพราะฉะนั้นนักบวชจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าบวชกันทุกวันนี้เราก็ต้องการที่จะแสวงธรรมะ เป็นเครื่องประดับใจของเรานี่เป็นจุดสำคัญ อันนี้ 

พระพุทธเจ้าสอนถึงสมาธิ ปัญญา สอนไว้เพื่ออะไร เพื่อขัดเกลากิเลสตัวทิฐิมานะของหัวใจเราที่มันแสนที่จะหมกมุ่นอยู่ในดวงใจของเรานั่นเอง เพื่อจะชำระให้มันหมดไปสิ้นไป เราเข้ามาปฏิบัติมันก็ต้องความประสงค์อันนั้น อย่างเป็นพระเป็นเณรเป็นชีเป็นแม่ขาวอย่างนี้ หรือพวกโยมบวชมาเพื่ออะไร นี่ ปัญหาอันนี้เราต้องค้นฝึกดูในตัวเราหรือเรียกว่าเราเข้ามาเพื่ออะไร หรือมาอยู่เพื่อสบาย อยู่ในโลกก็สบายเหมือนกัน มีลูกมีเมียมีผัว อยู่อย่างอิสระเสรีไม่อยู่ในอำนาจใคร นี่เป็นอย่างนั้น นักบวชต้องมีขอบเขต แล้วบวชแล้ว แต่ว่าไม่มีใครบังคับ พระพุทธเจ้าไม่ได้บังคับใคร เธอจะปฏิบัติก็ได้ ไม่ปฏิบัติก็ได้ อยู่อย่างสบายก็ได้ แต่ทีนี้ถ้าเราคิดถึงความซึ้งอย่างนั้น ชีวิตเราไม่ตายรึ นี่ เราก็ต้องหาเหตุผล แล้วทำไมมรรคผลมันอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าทรงแสดง อย่างแสดงในอนัตตลักขณสูตร แสดงถึงรูป รูปไม่เที่ยง รูปเป็นทุกข์ รูปในที่ใกล้ ที่ไกล รูปในอดีต อนาคต ล้วนแต่แปรปรวนยักย้ายต่างๆนานาประการต่างๆเหล่านี้เป็นต้น นี่แสดงเพื่อใคร อย่างพระสวดมนต์ทุกวันๆเนี้ยก็สวดเพื่อศพรึ เพื่อหวังเงินรึ นั่นการแสดงธรรมอย่างนั้นก็ต้องการให้คนเป็นเนี่ยฟัง ต้องเข้าใจอย่างนั้น ต้องมีโอปนยิโกน้อมเข้ามาสู่เรา 

นี่ธรรมะสำหรับผู้ที่มีใจอันเป็นปกติแล้ว ได้ยินสิ่งใดหรือสิ่งใดมากระทบอย่างนี้ มันก็มีโอปนยิโกน้อมเข้ามา สอนตัวเรา ตำหนิตัวเรา ใจเจ้าอย่าเพลิดอย่าเพลินอย่าร่าเริงสนุกสนานร่าเริง จงมาพิจารณาเหตุอันที่เกิดขึ้นอย่างนี้ ที่ในขณะที่รู้ขณะนั้น นี่ สิ่งอันนี้เมื่อเราทำอย่างนั้นแล้ว นี่แหละเป็นทางที่จะกำจัดภัยของใจที่มันเดือดร้อนวุ่นวายให้เบาบางลงไป นี่ ถ้ามองกันให้ซึ้ง และความนึกระลึกไปในสิ่งร่าเริงสนุกสนานอย่างนั้น โลกทั้งหลายเข้าใจว่าเป็นสุข เป็นสิ่งที่สนุกสนานร่าเริง ถ้าพูดกันถึงความซึ้งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกเป็นตัวอย่างอย่างนั้น ท่านแสดงว่าสิ่งเหล่านั้นเต็มไปด้วยไฟ คือความเพลิดเพลินนันทิอันนี้ นั่นเป็นไฟเผาใจเราให้วุ่นวาย ใจไม่เกิดความสงบอย่างนั้น เป็นไปเพื่อความรุ่มร้อนของหัวใจ ใจนั้นไม่เกิดความสงบอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเมื่ออย่างเราฟังเทศน์ฟังธรรมสวดมนต์ทำวัตรอย่างนี้ ก็นั่นเองก็ต้องการเอาธรรมะอันนั้นมาใคร่ครวญมาพินิจพิจารณาให้ใจที่มันดิ้นรนกระวนกระวายให้มันส่างมันซาไป 

อย่างที่ศึกษานักธรรมก็ดี นักธรรมโท นักธรรมเอก ศึกษามหาเปรียญ ป.๙ ป.๑๐ ป.ตั้งอะไรนะ ๑๐๘ พันประการ นี่ก็เหมือนกันต้องการจะรู้จุดที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ชำระใจของตนให้บริสุทธิ์หมดจด นั่นเป็นยอดศาสนาเป็นยอดของธรรมสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ชำระใจให้บริสุทธิ์เท่านั้นเอง นี่ แต่พิธีที่ชำระใจอย่างที่เรากระทำกันนี้ นี่ ทีนี้เราทำไมไม่บริสุทธิ์ซักที เนี่ย เราต้องคิดอย่างนั้น เพราะว่าอย่างนี้จะหาว่าขู่เข็ญอย่างไร ฟังไม่ได้ก็ออกไปเลย! ใครฟังไม่ได้ออกไป ฮึ! หลวงตาหยาบเอาอย่างนี้น้อยๆ การเทศน์ก็ต้องการเพื่อจะให้เป็นคติ บุคคลผู้ฟังผู้นั้นจะได้นำไปคิดพิจารณา เมื่อเห็นว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์กับตนแล้วก็จะได้เอาไปประพฤติปฏิบัติ จะเทศน์โก้ๆเพื่อหวังลาภเพื่อหวังสรรเสริญอย่างนั้น จะเทศน์ไปทำไม นี่ต้องคิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นใจมันจึงไม่ดุ ใจมันไม่อยากเทศน์ ใจมันไม่มีธรรมะเป็นเช่นนั้น การปฏิบัติหัวใจนี่เป็นสิ่งสำคัญ เราไม่หักไม่ฟาดฟันลงไปแล้ว มีแต่ที่มันจะหมกหมมอยู่ตลอดกาลจนกระทั่งตายเปล่า 

บรรดาเราทั้งหลายได้รับการศึกษาดี อย่างชาวโลกเค้าไม่ได้รับการศึกษา ไม่ต้องดูใครอย่างหลวงตาเข้ามาบวชครั้งแรก นี่ ไม่รู้แม้กระทั่งตากับหู หูคู่กับเสียงก็ยังไม่รู้จัก ตาคู่กับรูปก็ไม่รู้จัก บวชเข้ามาอย่างดิบๆ ไม่มีการศึกษาเลยเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นแต่ว่ามาบวชเข้ามาแล้ว มันก็เป็นยังไงก็ไม่รู้ จึงได้อยู่จนป่านนี้ ก็ไม่นึกว่าชีวิตจะเป็นมาอย่างนี้เหมือนกัน ว่าศาสนาทำไมจะมาให้เราอยู่ได้ถึงขนาดนี้ บั้นต้นไม่ได้คิดอย่างนี้เหมือนกัน ทีนี้ แต่เข้ามาจนกระทั่งบั้นปลายของชีวิต มันก็จะเข้าโลงอยู่แล้ว ใกล้ๆเข้าโลงเต็มที ตัวฮอเหาะขึ้นไปแล้ว มันเป็นยังงั้น ยิ่งมาทุกวันนี้ยิ่งมาคิดพิจารณาแล้วยิ่งมีความสังเวชสลดใจว่า แต่ว่ามันก็เป็นสิ่งที่ยาก พูดยาก ฟังยาก เพราะฉะนั้นการเข้าวัดเข้าวาเราก็ต้องหาโอกาส เราก็ต้องหาโอกาสที่จะปลีกตัวเรานี่เพื่อจะหลบหลีกซ่อนเร้นใจของเรานั่นเอง ให้กำจัดนิวรณ์อย่าให้มาอบอวลในใจเรา 

แต่ทีนี้พิธีที่จะทำอย่างนั้นพวกท่านก็ได้รับการศึกษาได้ยินได้ฟังกันมากมาย เรียนมาต่างๆ แต่ทีนี้แต่พูดถึงความจริงอย่างนั้นแล้ว เปรียบเหมือนอย่างหนามที่ตำอยู่ในตีนเรา เข็มมีเต็มหมดแต่ไม่รู้จักหยิบเอาเข็มนั้นมาใช้ เข็มนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์ ตีนนั้นก็ไม่สามารถจะเอาหนามออกได้ นี่ เป็นอย่างนั้น ธรรมะมีอยู่ทั่วไปแต่ว่าเมื่อบุคคลใดมีปัญญา มีสติมาระลึกบทใดบทหนึ่งมากำกับอยู่ในหัวใจของเราอย่างนั้นแล้ว ตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งใจนั้นเกิดความสงบ แน่ะ แล้วอย่างนั้นก็เหมือนกับหนามที่มันออกไปจากขา รู้จักหยิบเข็มจะตื้นลึกขนาดไหน ก็เอามาแทงเข้า มันก็เข็ม…ไอ้หนามอันนั้นมันก็ออกไปจากขาของเรา เราก็ได้รับความสบาย ไม่เสียวไม่เจ็บไม่ปวดอีกเหมือนกัน ใจที่เคยเดือดร้อนวุ่นวายกระสับกระส่าย เมื่อได้ถูกธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้าไปข่มเข้าอย่างนั้นแล้ว ใจนั้นก็เกิดความสงบเยือกเย็นลงไปในขณะนั้น เมื่อเป็นอย่างนั้น เราได้รับความสงบอย่างนั้นแล้ว วันหลังเมื่อมีเหตุอันใดเกิดขึ้นอย่างนั้น เราก็ต้องหาอุบายอันนั้นเอง เอามากำกับ กำกับใจหรือกำหราบหัวใจของเราด้วยอุบายอย่างนั้นเอง นี่มีพิธีแก้อย่างนี้เท่านั้น 

เมื่อจนกระทั่งเราสามารถตั้งตัวของเราได้ รู้จักพิธีประคองใจอย่างนั้นแล้วรู้จักรักษา เมื่อมีสิ่งใดมากระทบใจเรา เราก็เอาอันใดก็แล้วแต่ที่จะเป็นคติ ก็เอามาน้อมมากำหนดพิจารณา เพ่งพิจารณาอยู่อย่างนั้น หรือว่าอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งใจนั้น อารมณ์อันนั้นดับไป ใจเราอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เมื่ออยู่นานเข้าๆ ใจนั้น ก็อารมณ์นั้นก็ขาดสนิทไปเลย ใจอยู่กับสิ่งอันนั้นอันเดียวอย่างนี้ เมื่อฝึกจนมีความชำนิชำนาญอย่างนั้นแล้วนั่นท่านเรียกว่าเป็นสมาธิ เมื่อสมาธิอย่างนั้น ท่านก็กล่าวโทษอยู่ของสมาธิ ไม่ใช่ยก แน่ะ สมาธิถ้าเมื่อเสวยความสุขมากเข้าแล้ว มันก็ตามมาถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้น นี่ อันนี้เองท่านถึงจัดว่าเป็นนิวรณธรรมที่จะทำลายซึ่งสมาธิ เพราะฉะนั้นเราก็เมื่อรู้อย่างนี้ เราก็อย่าไปเสวยสมาธิมากนัก ก็ต้องเข้าถอนเข้ามาพินิจพิจารณา นี่หลักสำคัญ 

ถ้าบุคคลใดยังไม่มีความเข้าใจ ยังไม่มีความละเอียดรู้จักอุบายแก้ไขอย่างนี้แล้ว การปฏิบัติมันก็เป็นเหตุให้เนิ่นช้า เพราะกุศโลบายอันนี้เป็นเครื่องแก้เป็นเครื่องจะถอดถอนความสบายของใจให้รวดเร็วขึ้น เพราะการค้นคว้าพินิจพิจารณาอันนี้เป็นหลักที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เมื่อมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ปัญญาเป็นแดนแห่งวิมุตติหลุดพ้นจากความเศร้าหมองหรือเรียกว่า อาสวกิเลสของใจ ตัดภพตัดชาติได้ นี่ ต้องอาศัยปัญญา เพราะฉะนั้นท่านแสดงถึงในอนัตตลักขณสูตรว่าถึง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบันต่างๆนานา เป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ผลที่สุดก็ไปลงบาทหทัยคาถา แสดงว่า เอวัง เมตัง ยะถาภูตัง สัมมัปปัญญายะทัฏฐัพพัง พึงรู้ด้วยปัญญาอันตามความเป็นจริงของรูปเหล่านั้น นี่ ให้รู้ตามความเป็นจริง ไม่ให้ไปทำลายรูปเหล่านั้น ให้รู้ตามความเป็นจริง ต้องเข้าใจอย่างนั้น 

รู้อย่างไร นี่ เมื่อเราพินิจพิจารณาอย่างตัวเราอย่างนี้รูปมันก็คือตัวเรา หรือตัวคนอื่นอย่างนี้ เมื่อใจนั้นกำหนดเข้าไปพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงของสังขาร ฟันเราเคยดีมันก็โยกก็คลอนก็เจ็บก็ปวดมีหนองมีเลือดอะไรไหลอยู่มาต่างๆนานา นี่พิจารณาไปอย่างนี้ พิจารณาเนื้อหนังมังสัง มีอวัยวะเปลี่ยนแปลงไปประการต่างๆอย่างนี้ จนเกิดความสังเวชสลดใจ เกิดความเบื่อหน่าย นี่ แล้วธรรมะอันนั้น เกิดความเบื่อหน่ายเกิดที่ไหน ก็เกิดที่ตัวของเรา จิตใจที่เข้าไปพิจารณานั่นเองมันก็เกิดขึ้น มันไม่เกิดที่อื่น ไม่ได้พิจารณามากเข้าๆ พระพุทธเจ้าบอกว่าเมื่อเป็นอย่างนั้นให้รีบทำให้มากๆ ทำให้มากๆลงไป อย่างหลวงตาก็เคยว่า ภาวิโต พาหุลีกโต ทำมากๆพิจารณาอย่างนั้น ย่ำเข้าไปอย่าได้ถอยเมื่อจิตเป็นอย่างนั้นแล้ว นั่นแหละ จะเป็นไปเพื่อทางแห่งความหลุดพ้นของใจที่เคยข้อง เคยติด เคยยินดี เคยสนุกสนานร่าเริงอันนั้นเอง ไม่ได้พิจารณาที่อื่น ค้นเน้นลงไปอย่างนั้น เพ่งพินิจพิจารณาลงไปให้อยู่อย่างนั้น 

เมื่อใจอยู่อย่างนั้นพิจารณามากเข้าๆแล้ว มันก็เกิดความเบื่อความหน่าย คลาย เมื่อเกิดความเบื่อความหน่ายมันก็คลายความกำหนดยินดีในรูปของเราเอง ไม่ต้องคนอื่น เมื่อคลายของเราแล้ว คนอื่นมันก็อีกเรื่องหนึ่ง เหมือนกันอย่างนั้น เมื่อเราเพ่งพินิจพิจารณาลงไปอย่างนั้น เห็นแจ้งชัดลงไปอย่างนั้นแล้ว มันจะอะไร ธรรมะอยู่ที่ไหน มรรคผลธรรมวิเศษอยู่ที่ไหนหละ ครั้งพุทธกาลท่านก็ปฏิบัติกันอย่างนี้เหมือนกัน เวลาฟังเทศน์ บางองค์ได้สำเร็จ นั่นเรียกว่า สุขาปฏิปทา ขิปปภิญญา พวกนั้นท่านมีภูมิปรารถนามากับพระพุทธเจ้า เรามาสุดท้ายภายหลังนี่ บุญวาสนาไม่ได้สั่งสมมากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เท่ากับเป็นพุทธบริษัทที่สืบเนื่องกันมาอย่างนี้ ก็นับว่ายังเป็นโชคอันดี ประเสริฐที่มีครูบาอาจารย์ของเราได้มาพร่ำสอน จนกระทั่งเรามาได้เข้ามาวัดมาวามาประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ แล้วท่านก็ตายไป อยู่หลวงตานี่มันมี ไม่ค่อยมีปัญญา ขี้เกียจ เอาแต่ขี้เกียจอยู่เรื่อย เพราะฉะนั้นการเทศน์ มันจะไปเทศน์ได้ดีอย่างท่านพ่อ(ท่านพ่อลี)ไม่ได้ ผิดกันคนละฟ้ากับดิน หลวงตานี่มันขี้ไก่ ท่านพ่อท่านเป็นทองคำเป็นอย่างนั้น 

เพราะฉะนั้นเรานี่ต้องเน้นลงไป ธรรมะถ้าเมื่อได้มีความจริงที่ใดแล้ว มันต้องปรากฏ เราต้องสละชีวิต ถ้าว่าคิดอย่างนั้น ทำไมข้าไม่รู้ ทำไมข้าขี้เกียจ ทำไมข้ากินและข้านอนมาก คุยมาก สนุกมาก ร่าเริงมาก คุยที่ไหนไปที่นั่น แล้วเกิดประโยชน์อันใด เราต้องคิดติตัวเราเอง เมื่อกลับมาถึงกุฏิ ได้ประโยชน์อะไร นี่ แล้วทำไมเราไม่ภาวนา ต้องติอย่างนี้ เมื่อติอย่างนี้แล้ว ใจมันก็ไม่ฮึกเหิม ใจมันก็ไม่เพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านั้น เมื่อใจไม่ฮึกเหิมแล้วทีนี้จะทำอะไร อ๋อ หน้าที่เราภาวนา ก็ต้องการจะพิจารณาให้มันเบื่อหน่ายจากโลก เบื่อหน่ายที่ไหน เบื่อหน่ายที่ตัวของเราอย่างที่บรรยายเมื่อกี๊นี่เอง เพ่งลงไป พิจารณาลงไป มันยินดีอันใด รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มันอยู่ที่ไหน เรานี่จะเข้าใจว่ารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเป็นสิ่งที่ยั่วยวนเคล้าคลึงใจ ใจของเรานั่นเองเป็นมายาสาไถ ไปยินดีกับสิ่งทั้งปวงสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น 

เมื่อใช้ปัญญาฟาดฟันพินิจพิจารณาลงไปแล้ว ก็ไม่เห็นสิ่งแปรปรวน สิ่งที่แปรปรวนถ้าพูดกันถึงแบบ ท่านเรียกว่าพิจารณานามธรรม แต่หลวงตามันไม่ค่อยชำนาญ เพราะว่าภาษาเรานี้คล่องกว่า ก็พิจารณาอะไร สติไปเห็นโทษเห็นภัย ก็ไปเห็นโทษผู้ที่พิจารณานี่เอง ไม่ได้เห็นตัวอื่น เห็นตัวเดียวก็ไปค้นว่ารูปสวย ว่ารูปงาม ว่ารูปเที่ยง รูปไม่เที่ยง รูปแปรปรวนต่างๆนานาตัวนี้ เห็นตัวนี้ชัดแจ้ง ชัดลงไปในขณะนั้น ขณะที่พิจารณาอย่างนั้น ตัวที่พิจารณาอย่างนั้นดับทันที สภาวะอันเป็นธรรมชาตินั้นขึ้นยืนตัวอยู่ปัจจุบัน ไม่มีกิริยาไปกิริยามา มีแต่สภาวะความรู้อันเด่นเดี่ยวอยู่อย่างนั้น ไม่มีสิ่งใดที่จะเข้ามาเจือปนหัวใจอย่างนั้น นี่แหละ แล้วจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ จะเรียกว่าธรรมะหรือไม่ธรรมะของผู้ปฏิบัติ เมื่อจะเป็นอย่างนั้นแล้ว เป็นปัจจตัง ผู้ปฏิบัติเห็นเฉพาะตนเองเลย ไม่มีใครต้องมาเป็นสักขีพยานให้ นี่ เป็นอย่างนั้น พวกเราทุกคนที่มุ่งเข้ามาวัดเข้ามาวา มาบวชเป็นนางชี นางขาว บวชเป็นพระเป็นเณรก็จุดประสงค์ก็ต้องการอันนี้ แต่ทีนี้มันมีสิ่งที่ดึงคือความเพลิดเพลินของหัวใจ ไม่ค่อย…เราไม่ค่อยรู้สึกตัว ไม่มีสติ ที่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติก็ต้องมีความเข้มแข็งไม่ย่อหย่อน มีสติตราบใดต้องฟาดฟันลงไปอยู่เสมออย่างนั้นแล้ว เรียกว่ามีความเพียรอยู่ตลอดเวลา ยืนเดินนั่งนอน มีทุกอิริยาบถของใจอย่างนั้นแล้ว นั่นแหละผู้นั้นจะเป็นไปเพื่อความเจริญ นี่แหละเพราะฉะนั้นการแสดงธรรมพอเป็นคติน้อมไปพินิจพิจารณา สิ่งอันใดที่จะเกิดประโยชน์แก่ตนของตน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงแสดงว่า สุสฺสูสํ ละภะเต ปัญญัง ฟังด้วยดีแล้วย่อมได้ปัญญา ปัญญาคือเอาไปกำหนด เอาไปคิด เอาไปตรึกตรอง เอาไปพินิจพิจารณา เอ๊อะ เรานี่เวลานี้เป็นอยู่อย่างไร อย่างที่ท่านแสดงอย่างนี้ นั่นเรียกว่าฟังด้วยปัญญา เราอยู่ในสภาวะที่ท่านติเตียนหรือ เมื่อเป็นอย่างนั้นเราก็ควรแก้ไขตัวเราให้มันดีขึ้น สิ่งที่คลุกคลี สิ่งที่เป็นหายนะ ทำให้เราเสื่อมโทรมลงไปอย่างนั้น เราก็ต้องพยายามแก้ไข นั่นเรียกว่าผู้ฟังด้วยปัญญา เกิดปัญญาเข้าแล้วก็พยายามแก้ไขใจเราไม่ให้ร่าเริงขุ่นมัวสิ่งเหล่านั้นต่างๆนานา นั่นแหละจึงเรียกว่าผู้มีปัญญา เพราะฉะนั้นฟังอย่างนี้จึงเป็นมงคล เพราะฉะนั้นดังที่ได้แสดงมาก็สมควรแก่กาลเวลา ขอเอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้