Skip to content

บวชกายบวชใจ

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

เทศน์วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๒๔

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ต่อนี้ไปจะได้บรรยายธรรมะพอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของพุทธบริษัททั้งหลาย บรรดาพวกเราเข้ามาอบรมบำเพ็ญการภาวนาเพื่อชำระสะสางใจของเราให้หมดจดงดงาม ทุกคนที่เข้ามาในวัดอโศฯ หรือพวกที่บวชเป็นชีเป็นขาวบวชพราหมณ์อย่างนี้เป็นต้น การบวชเราอย่าบวชเฉพาะกายอย่างเดียว ต้องบวชใจด้วย การบวชใจนั้นจะทำอย่างไรจึงเรียกว่าบวชใจ ใจของคนเรามันคลุกคลีกับเรื่องโลกต่างๆนานา แล้วก็ทำใจไม่ให้สบายทำใจวุ่นวายเดือดร้อนกระวนกระวายเพราะเราเข้าใจว่าเรื่องของโลกนั้นเป็นสาระแก่นสาร จึงทุ่มเทชีวิตจิตใจเข้าไปอย่างไม่มีการตรึกตรองพินิจพิจารณา ถ้าเปรียบอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนอย่างแมลงเม่าเมื่อได้เห็นเปลวไฟอย่างนั้นแล้ว พากันบินโฉบเข้าไป ผลที่สุดก็ไหม้ลงร่วงอยู่ในกองไฟทั้งหมด ชีวิตของเราก็ย่อมเป็นเช่นนั้น ไม่เป็นสาระแก่นสารตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่าคนเราเกิดขึ้นแล้วก็ต้องมีความตาย มีความแก่มีความเจ็บมีความพลัดพรากจากสิ่งทั้งปวงในโลก 

ทีนี้เมื่อใจของเราเป็นเช่นนั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวายภาระนานาประการเช่นนั้น เราก็ได้มาสดับตรับฟังครูบาอาจารย์เป็นเวลามากๆกันอยู่แล้ว บางทีก็จะลืมไป ไม่ต้องอะไร เอาเพียงแต่แค่ใจของเราทั้งหมดเกิดความกระสับกระส่ายอย่างนั้นให้มาระลึกพุทโธอยู่กับใจเท่านั้นเอง เพียงห้านาที สิบนาที ใจของเราก็เริ่มชุ่มชื่นเย็นขึ้นโดยตามลำดับอย่างนั้น นี่ บั้นต้นของการที่จะทำใจของเราให้สบายอย่างนี้ นี่ถ้าพูดถึงอย่างต่ำแล้วก็ว่าถึงอย่างสูง ไปเทียบแล้วก็เหมือนอย่างมรรค ถ้าบุคคลผู้นั้นรู้จักดำเนินชีวิตให้เป็นไปเช่นนั้น รู้จักปฏิบัติใจของตัว เมื่อมีเวลาความเดือดร้อนเกิดขึ้นอย่างนั้นก็ไม่ได้อะไร ก็เอาใจนั้นมาระลึกพุทโธอยู่อย่างนั้นแล้ว นั่นเองเป็นสิ่งที่จะดับ ดับหัวใจของเราที่วุ่นวายเดือดร้อน แต่ทีนี้เราโดยมากมันละเลยระลึกไม่ได้ ไม่มีสติที่จะเข้ามาระลึกอย่างนั้น ใจก็ไม่ค่อยได้คิดถึงสิ่งเหล่านี้เพื่อจะเป็นเครื่องปราบปรามประหัตถ์ประหารซึ่งกันและกัน ถ้าเปรียบเหมือนอย่างมาร ใจที่คิดวุ่นวายวิตกเดือดร้อนกังวลต่างๆนานานั่นเอง ถ้าเปรียบเหมือนอย่างมารเข้ามาผจญ ผจญใจของเรา ทีนี้เราจะเอาอะไรไปปราบ ก็ต้องเอาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บทใดบทหนึ่งก็ได้ นึกอยู่อย่างนั้นแล้วใจนั้นก็ร่มเย็นเป็นสุข นี่เรียกว่าถึงพระพุทธเจ้า ถ้าบุคคลใดมาระลึกอยู่อย่างนั้นแล้ว ใจนั้นก็เข้าถึงพุทธะ เรียกว่าเป็นผู้รู้ เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้เจริญของบุคคลผู้นั้น 

โลกทั้งหลาย พวกเราเกิดขึ้นมาแล้วเราต้องเจอะโลก ต้องมาพบโลกตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งเป็นเด็กรุ่นขึ้นมาตามลำดับแล้วก็เริ่มเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมาอย่างนี้ ในวัยเช่นนี้มันเต็มไปด้วยความวุ่นวายของหัวใจคือกิเลสเครื่องเศร้าหมองของใจนั่นเอง มันขัดมันเป็นหัวใจให้วุ่นวายไปในสิ่งต่างๆ เพราะเราไม่มีเครื่องกดไม่มีเครื่องบังคับ ไม่มีเครื่องหักห้ามใจอันนั้น มันก็ต้องปล่อยตามไปอย่างนั้น เราไปเข้าใจว่าเป็นสุข เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เพลิดเพลิน เข้าใจว่าเป็นเครื่องสนุกสนานร่าเริงของโลก คือกำไรชีวิต สมัยนี้เข้าใจเช่นนั้น แต่พระพุทธเจ้าไม่แสดงอย่างนั้น นั่นเองเป็นเหตุแห่งความหายนะ เรียกว่า อิตถีธุตโต นักเลงผู้หญิง อักขาธุตโต นักเลงการพนัน นักเลงสุรา สุราธุตโต อีกอันหนึ่งเรื่องสุรายาเมา สมัยนี้โลกเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เจริญ เป็นสิ่งที่สนุกสนาน แท้ที่จริงทำบั่นทอนให้จิตใจฮึกเหิม จิต…พอได้ดื่มน้ำเมาเช่นนั้นเข้าไปแล้ว เกิดความลืมเนื้อลืมตัว ลืมความใคร่ครวญนึกหน้านึกหลัง บางทีบิดามารดาพ่อแม่นี่ก็สามารถจะฆ่าได้ ไอ้ความลืมตัวนั้นเอง ยอมให้น้ำเมาเข้าไปชุ่มในร่างกายเข้าแล้ว ขาดสติสตัง การพินิจพิจารณาสิ่งใดก็ไม่มี นี่ชีวิตวัยหนุ่ม เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งสำคัญ

ถ้าเรามีคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เข้าไปประจำอยู่ในหัวใจและมีสติกำกับอย่างนั้นแล้ว ความหายนะอันนั้นจะเข้ามาไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสอย่างหนึ่งว่า ลัทธัง ลัทธัง วินาเสติ หายนะทั้งสี่ประการนี้ถ้าบุคคลใดซ่องเสพเข้าไปแล้วก็ต้องนำหายนะคือความฉิบหายมาสู่ตัวนี่เอง ลัทธัง ลัทธัง วินาเสติ ย่อมฉิบหาย พระพุทธเจ้ามาทรงตรัสอย่างนั้น ก็มีเศรษฐีคนหนึ่งในสมัยครั้งพระพุทธกาล สองคนตายายไม่มีบุตร มีเงินคนละ ๘๐ โกฏิ เมื่อลูกไม่มีอย่างนั้นก็ไม่รู้จะเอาเงินทองไปทำอะไร ก็ไปคบมิตร คือเล่นการพนันกินเหล้าเที่ยวซ่องสุมอย่างนั้นจนกระทั่งเงินนั้นหมดเกลี้ยง ต้องเอากะลาคือเรียกว่าเอากระเบื้อง สมัยนั้นพระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าต้องเอากระเบื้องไปขอทาน วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปกับพระอานนท์ไปสิกขาจารวัตรในที่นั้น บังเอิญเหลือบเห็นเข้า ก็หันไปยิ้มกับพระอานนท์ พระอานนท์ก็รู้ว่าคงมีเหตุอันใดเกิดขึ้นก็เลยตรัสถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตถาคตมีเหตุอันใด ท่านก็ทรงแสดงให้ความว่า เศรษฐีสองคนตายายที่มานั่งเอากระเบื้องขอทานอยู่อย่างนี้แต่ก่อนเป็นผู้ที่มีทรัพย์ มีอันจะกิน ถ้าสมัยก่อนได้ฟังธรรมะคำสอนพระพุทธเจ้าแล้ว สองคนตายายนี้สามารถที่จะได้รับคุณธรรมพิเศษ คืออย่างต่ำจะได้อนาคามิตา นี่ ว่าอย่างนั้น ตั้งแต่โสดาขึ้นไป อย่างนี้เป็นต้น นี่ตกมาสมัยนี้คือหายนะเข้าครอบงำตัวของเธอแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะมาประพฤติปฏิบัติทำให้บรรลุขึ้นไปได้ นี่เป็นเช่นนั้น

เพราะฉะนั้นจึงว่าโลกเป็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสารใดๆทั้งหมดในโลก แต่ทีนี้เราเกิดขึ้นมาในโลก มีพ่อแม่ชักจูง มีหัวใจของเราลงเข้าไปอย่างนั้น จึงเป็นเหตุให้เราต้องอยู่พัวพันในโลก ไม่คิดที่จะหนีภัย การหนีภัยในวัฏสงสารก็ต้องมีธรรมะคำสอนพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง ไม่มีทางใดที่จะหลีกเล้นออกไปจากนั้นได้ คนเราถ้ามั่งมีศรีสุขขนาดไหน สนุกร่าเริงด้วยกามขนาดไหนก็ไม่มีวันพอไม่มีวันอิ่ม มีเงินทองขนาดไหนก็ไม่มีวันอิ่มวันพอเหมือนกัน กินข้าวกินปลาก็เหมือนกัน ไม่มีวันอิ่มวันพอ เช้ามาก็กิน กินแล้วก็ถ่าย ถ่ายแล้วก็กินกันอย่างนี้ ไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ เมื่อบุคคลผู้มีปัญญาใคร่ครวญแล้วมาพินิจพิจารณาตัวเรา สิ่งทั้งหลายพระองค์ทรงตรัสว่าเป็นสิ่งที่เราต้องละทิ้ง พลัดพรากจากสิ่งทั้งปวงในโลกเลย แม้แต่กายของเราอันนี้ก็ต้องพลัดพรากทิ้งไว้ ไม่สามารถจะนำไปได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะทำอย่างไร

นี่ จะต้องแก้ไขพินิจพิจารณา เราอยู่มาในโลกมาเป็นเวลานานหลายสิบปี เมื่อเข้าวัดฟังธรรมจำศีลอย่างนี้แล้ว ท่านบำเพ็ญ สอนให้บำเพ็ญสมาธิ เจริญกรรมฐานพินิจพิจารณาถึงความเกิดแก่เจ็บตายอันนี้เป็นอารมณ์ของใจ ให้ใจมีสติมีปัญญาเข้ามาพินิจพิจารณาความเกิดแก่เจ็บตายอันนี้เป็นอารมณ์ของใจ อันนี้แหละเป็นเครื่องถอดถอนใจของเรา เมื่อเราอบรมใจของเราให้มีสติมีสมาธิดีขึ้นแล้วอย่างนั้น ก็ต้องเอาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายอันนี้มาพินิจพิจารณา เมื่อมีความเกิดขึ้นจนกระทั่งเป็นเด็ก แล้วกระทั่งเป็นรุ่นขึ้นมา ก็จนกระทั่งเป็นหนุ่มเป็นสาวจนกระทั่งทุกวันนี้ เราค้าขาย ให้ได้คบมิตร สร้างบ้านสร้างเรือน มีเงินมีทองมากมายอย่างนี้ แล้วชีวิตที่เราเป็นมาอย่างนี้มีครอบมีครัวมีปู่ย่าตายายมีลูกมีหลาน เราได้สิ่งใดที่เป็นสาระเป็นแก่นสารในชีวิต นี่ มีอันใดบ้างเป็นสาระในชีวิต ที่เพลิดเพลินในกามก็ดี ในสมบัติทุกชิ้นทุกอันก็ดี สิ่งใดที่เป็นสาระแก่ชีวิต นี่ต้องคิด

ทุกคนเห็นมีแต่คนบ่นว่าทุกข์ ไม่สบายใจ เงินได้มาเมื่อเสียไปมากๆก็เกิดความทุกข์ร้องห่มร้องไห้น้ำหูน้ำตาไหลเปียกแฉะไม่เป็นอันกินอันนอน นี่ ความทุกข์อันนั้นเข้ามาทับถม เพราะอะไร เพราะเราเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นของของเรา นี่ ความวิปโยคโศกเศร้าก็เข้ามาทับหัวใจ เพราะเราไม่มีเครื่องที่จะประหัตถ์ประหาร เมื่อเราใช้ปัญญาพินิจพิจารณาว่าเมื่อเราตายแล้ว สิ่งเหล่านี้เราเอาไปนึก อย่างนี้ใจในขณะที่เกิดความโศกเศร้านั้นหยุดทันที เมื่อมีหัวใจอย่างนี้เข้าไปพิจารณา มีสติปัญญาเข้าไปพิจารณาอย่างนี้แล้วความโศกเศร้าที่เกิดในขณะนั้นดับทันทีเดี๋ยวนั้น ไม่ต้องใครมาสอนเราแล้ว เมื่อเรามีสติอย่างนั้นแล้วมันดับในขณะนั้นเอง

มีผู้หญิงคนหนึ่งเล่าให้อาตมาฟัง เออ น่าฟังน่าคิด สามีเป็นอัมพาต แล้วแกก็ได้พยาบาลประคับประคองอยู่ตลอดเวลา มีบรรดาเพื่อนมิตรสหายมาเยี่ยมเยียนอยู่ตลอดเวลา เค้าก็ทักขึ้นว่า “โอ้ ทำไมคุณช่างไม่โศกไม่เศร้าเลยจริงนะ” แกก็นิ่งๆ แกก็ไม่ว่าอะไร วันหนึ่งอาตมาไป แกก็ถามอาตมาว่า “ท่านอาจารย์คะ มีบรรดาเพื่อนทั้งหลาย คุณไม่สบายแล้วดิฉันก็พยาบาลปฏิบัติอยู่ มีเพื่อนมา มาไต่ถามหลายคนว่าทำไมดิฉันไม่โศกเศร้าน้ำหูน้ำตาไหล ร้องห่มร้องไห้ ดิฉันเอาสามีนั่นเอง เอาคุณนั่นแหละมากำหนดพินิจพิจารณาว่าตัวเราจะต้องเป็นไปอย่างนี้ ใจนั้นมันก็เลยเป็นปกติ ใจนั้นก็เลยได้รับความสบาย มันจะผิดรึ” อาตมาก็บอกว่าไม่ผิดสิ อย่างนี้ดีที่สุด ไม่มีโอกาสอันใดแล้ว อันนี้นี่แหละเรียกว่าปัญญาที่เราพิจารณาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างนั้นให้ตกไปอย่างนั้น ก็เรียกว่าปัญญาอันแท้จริง ทำใจของเราให้เยือกเย็น มีสติสตังประคองใจเราให้เป็นอยู่อย่างนี้เรียกว่าปัญญาแท้

แต่โลกทั้งหลายเค้าเข้าใจว่าต้องเอาความโศกความเศร้าอันนั้นเข้าไปประคับประคอง พระพุทธเจ้าไม่สอนอย่างนั้น สอนให้ใช้ปัญญาพินิจพิจารณา ให้โอปนยิโกน้อมวัตถุสิ่งนั้น เมื่อเรากระทบด้วยตาแล้ว ให้โอปนยิโกน้อมเข้ามาพินิจพิจารณา อย่างเห็นวัตถุอะไรก็แล้วแต่ หมาต้ง หมาตาย ใบไม้ร่วง สารพัดที่จะเป็นธรรมะ ใบไม้หล่นอย่างนี้ก็เป็นธรรมะ ถ้าเรามีปัญญาพินิจพิจารณา โอปนยิโกน้อมเข้ามาสู่ตัวเราว่า แม้แต่ใบไม้แต่ก่อนก็สดสวยเขียวชอุ่ม นานเข้าๆก็มีวันที่จะร่วงโรยคือเหลือง เหลืองลงมาลำดับจนกระทั่งเหี่ยวแห้งแล้วก็ร่วงจากต้น เหมือนกันกับชีวิตของเรานั้น ก็มีแต่วันเกิดขึ้นแล้วมาทุกวันนี้มันก็แก่หง่อม ฟันก็หลุด ผมก็หงอก หลังก็โก่ง เจ็บหลังเจ็บเอว เดินเซซ้ายเซขวา เดินไปหน้าแล้วก็มันจะถอยหลัง ดึงมาข้างหลังมันก็จะลงไปข้างหน้าสารพัดที่จะเป็นไปต่างๆนานา เมื่อเราน้อมเข้ามาพินิจพิจารณา ไอ้สภาวะของกายมันย่อมเป็นเช่นนั้น ส่วนใดที่ยังรู้สึกตัวอยู่นั่นเอง นั่นแหละคือตัว ตัวที่จะเป็นธรรม ธรรมที่จะแก้ คือหมายความว่าสังขารตัวนี้เอง ตัวนั้นแหละ ตัวที่รู้ว่า โอ้โฮ มันจะเซ นั่นมันจะล้ม นั่นมันจะร้องไห้ นี่ อย่างนี้ ตัวนั้นแหละ แต่ทีนี้เราจำเป็นจะต้องประคองให้มันมีอยู่เรื่อย พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าสติปัญญา สติคือความรู้ตัว รู้อยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นอย่างบรรดาพุทธบริษัทที่เข้ามาอบรมในที่นี้ เราก็ต้องการจะฝึกสติปัญญา ก็ต้องมาบำเพ็ญสมาธิภาวนา นี่ 

ชีวิตในโลกที่เราเคยสร้างสมทุกชนิดผ่านมาทุกชิ้นทุกอัน บั้นปลายของชีวิตก็คือความสุขของชีวิต ก็คือการภาวนา ทำหัวใจให้สงบบั้นต้น หนึ่งก็ได้อาศัยพุทโธ หรือบทใดบทหนึ่งเป็นที่คุ้นเคยกับใจเราทำให้ใจสบายอย่างนั้น แล้วเราก็เอาสิ่งนั้นเองมาเป็นเครื่องหักห้ามใจของเราให้เกิดความสงบ ต่อสู้กันให้ใจนั้นสงบขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่าเราเป็นนักภาวนา เมื่อหาพิธีพลิกแพลงแก้ไขจนใจนั้นให้สงบลงไปเป็นสมาธิ วางอดีตและอนาคต แม้ปัจจุบันอันเดียวที่นึกพุทโธอยู่ มันก็ต้องวางลงไปเรียกว่าเข้าถึงอุเบกขา ใจนั้นมีพลังเป็นอุเบกขา วางเฉยในอารมณ์อดีตและอนาคต ดับหมดทุกชนิด ใจอยู่มีความรู้อยู่จำเพาะปกติ อยู่ที่จำเพาะหน้าอันเดียวอย่างนั้น เรียกว่าเป็นสมาธิ

เมื่อเป็นเช่นนั้นเราพยายามฝึกอยู่เรื่อยๆ ประคับประคองอยู่เรื่อย พระพุทธเจ้าทรงตรัส หลวงตาก็เทศน์อยู่บ่อยๆซ้ำซากๆ ท่านแสดงว่า ภาวิโต พาหุลีกโต เมื่อกี๊พระก็แสดงเทศน์ถึงบทสวดมนต์เรียกว่า อภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพายายัง สังวัตตะติ ก็เมื่อกี๊ก็แสดง ลงท้ายอย่างเดียวกัน ทำให้มากๆ เจริญให้มากๆแล้วจะเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง จะเป็นไปเพื่อความดับสนิท นี่ เหมือนกัน ภาวิโต พาหุลีกโต ก็เจริญให้มากทำให้มาก จะเป็นไปเพื่อความรู้แจ้ง เป็นไปเพื่อความดับสนิทเหมือนกันอย่างนั้น แต่คาถาบาลีก็ผิดกันนิดหน่อย ใจของเราเมื่อเป็นเช่นนั้นได้รับความสงบอย่างนั้น วันรุ่งขึ้นต่อไปเราก็ต้องพยายามทำให้เกิดอย่างนั้นขึ้น ต้องมีอุตสาหะความพากเพียรพยายาม นี่คือสิ่งสำคัญ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสรู้ก็ต้องมีเรียกว่า มีสัจจะบารมี อธิษฐานบารมี ขันติบารมี ว่าพรรณนาไปต่างๆนานา หลายตั้ง ๓๐ ทัศน์ มีตั้งแต่ทานบารมี ศีลบารมี แสดงว่า วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมี แสดงหมดทั้ง ๓๐ อย่าง เราก็เหมือนกันถ้าเราจะนั่งอย่างนี้ เราก็จำเป็นจะต้องมีสัจจะ ในขณะที่ข้าพเจ้านั่งฟังเทศน์อย่างนี้ ถ้าผู้แสดงธรรมไม่จบ ข้าพเจ้าจะไม่ออก นั่งขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบอยู่ก็จะไม่พลิกอย่างนั้น สู้กันกับเวทนาจะเกิดขึ้นอย่างไร ข้าพเจ้าก็จะไม่ถอนออก ด้วยอำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จงมาเป็นสักขีพยาน นี่เรียกว่าสัจจะบารมีเพื่อบังคับใจเราที่มันเจ้าเล่ห์เจ้ากลเจ้ามารยาสาไถ พอเจ็บหน่อยก็พลิก อย่างนี้ คือเอาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มาบังคับกายใจของเรานั้นไม่ให้ดิ้นรนกวัดแกว่ง แล้วก็ไม่ให้ร่างกายพลิกแพลงแก้ไข ก็จะได้ดูเวทนาในขณะนี้ยังเป็นอย่างนี้ พอเวลาจะตายมันไม่ยิ่งไปมากกว่านี้รึ นี่ เราจะได้ทดลองพินิจพิจารณาให้รู้ขึ้น 

เพราะฉะนั้นการกระทำใจต้องมีความอดทน มีวิริยะมากมายหลายท่าหลายทาง เหมือนนักมวยขึ้นไปชกบนเวที ต้องมีลูกหมัดซ้ายหมัดขวาหมัดหน้าหมัดหลัง ชกซ้ายชกขวาชกล่างชกบน ชกไปหมด มีทั้งเข่าทั้งศอกลูกเตะลูกถีบ สารพัดต้องมีหมด เหมือนเราก็เหมือนกันก็จำเป็นจะต้องแก้ เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่แก้ยาก หัวใจเรามันเจ้าเล่ห์เจ้ากลเจ้ามารยาสาไถหลอกลวงเราอยู่ตลอดเวลา นั่งนานนักก็กลัวจะตาย นี่ เป็นเช่นนั้น เพราะไอ้เจ้ากิเลสตัวนั้นเองมันเคยหลอกเลยได้ใจเป็นนายใหญ่ของเรา คุมบริวารทั้งหมดในร่างกายอันนี้ให้หลงเล่ห์หลงกลของเค้าอยู่ตลอดเวลา เพราะเราไม่มีสติไม่มีปัญญาคอยต่อสู้กัน เมื่อเรามาฝึกหัดอย่างนี้แล้วเราก็จำเป็นที่ต้องต่อสู้เพราะโอกาสเวลาอย่างนี้ก็ไม่มีเวลาอย่างอื่น เป็นสถานที่บำเพ็ญเพื่อจะชำระใจของเราให้สบายเกิดขึ้น

นักภาวนาโดยมาก เมื่อใจนั้นรวมลงไปแล้วอยู่โดยปกติอย่างนั้น ย่อมชอบเสวยความสงบอย่างนั้น ท่านแสดงว่าเมื่อมีความสุขมากเท่าไหร่ ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอนก็ย่อมจะทับเข้ามา อุทธัจจะ กุกกุจจะ เมื่อถีนมิทธะเกิดขึ้นแล้ว อุทธัจจะกุกกุกจะ ความฟุ้งซ่านก็จะตามมา กามฉันทะ วิจิกิจฉาตามเข้ามา เพราะเมื่อรู้สึกตัวอย่างนั้นแล้วมันเป็นปทังคะ เพียงระงับชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อจิตของเราที่มันเข้าไปสงบอย่างนั้น เราก็เสวยพอเป็นพิธีนิดๆหน่อยๆ พอเป็นเครื่องพักผ่อนของใจ 

แล้วทีนี้ก็จำเป็นจะต้องค้นพินิจพิจารณาน้อมเอาอารมณ์ที่เป็นอดีตนั่นเอง ดึงมาเป็นให้เป็นตัวปัจจุบัน อดีตที่เราเคยสุขเคยสนุกเคยร่าเริงเรื่องโลกเรื่องสงสารเรื่องอันใดทั้งหมดก็น้อมเข้ามา เมื่อใจเป็นเป็นสมาธิอยู่อย่างนั้นแล้ว น้อมเข้ามาอย่างนั้น อารมณ์อันนั้นก็ต้องมาเป็นปัจจุบันของจิต เป็นเครื่องให้เราพินิจพิจารณา เหมือนช่างผู้ที่ไปร่อนทองคำ กำลังถือตะแกรงอยู่อย่างนั้นก็โกยดินเข้ามาก็ต้องตาก็ต้องมองอยู่อย่างนั้น เมื่อร่อนทองจนกระทั่งเศษทั้งหลายหลุดไปหมดแล้ว ก็ปรากฏทองเกิดขึ้น เราไม่เอาเศษ เอาเครื่องเหล่านั้น เราต้องการเอาทองคำธรรมชาติ เหมือนกันกับใจเราก็จำเป็นจะต้องน้อมเรื่องโลกเรื่องสงสารเข้ามาพินิจพิจารณาเพื่อทดลอง ใจทำไมจึงดิ้นรนกระวนกระวายกระสับกระส่ายไปอย่างนั้น ก็ต้องเอาสติปัญญาเข้าไปฟาดฟัน เอามาพินิจพิจารณา เมื่อจิตถ้าว่ามันดีอย่างนั้น น้อมสิ่งใดเข้ามามันก็ระคนอยู่อย่างนั้น จิตไม่นึกไปในอดีต ไม่นึกไปอนาคต มีจำเพาะอารมณ์ที่เรานึกเข้ามาเป็นปัจจุบันธรรมค้นอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งมันเหนื่อยนักก็พัก วางอารมณ์อันนั้นก็เข้ามาพักจิตของเราอยู่เป็นสมาธิธรรมดา เมื่อเป็นอย่างนั้นใจในขณะที่วางอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานานก็ไม่มีถีนมิทธะเข้ามาครอบงำ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านก็ไม่มี กามฉันทะก็ดับ ไม่มีเลย นี่เพราะกำลังของสมาธิที่ได้พิจารณาอย่างนั้นแล้ว เมื่อยืนตัวอยู่อย่างนั้น ก็เป็นฌาณอุเบกขาวางเฉยอยู่ในอารมณ์ของตัว ไม่มีอารมณ์ใดมาเกี่ยวข้อง

เมื่อพักพอสมควรก็น้อมสิ่งเหล่านั้นเองมาพินิจพิจารณาอีก เอามาค้นคว้าพิจารณาลงไป สิ่งใดที่เราเคยว่าดี ผมเราเคยว่าสวย แก้มเราเคยว่างาม ตรงใดที่เราว่าสวยว่างามน้อมนำมาพินิจพิจารณา ผมเราว่าสวยเพราะมันดำ มันได้ดัดได้แต่งอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเมื่อมันถึงวัยแล้วแล้วทำไมมันขาวมันร่วงหล่นหลุดลงไป แม้ตกไปในภาชนะที่เรารับประทานอยู่อย่างนี้ ก็เป็นของปฏิกูลโสโครก พิจารณาอย่างนี้ แก้มว่ามันแดงมันสวยมันสวยสดงดงามอย่างใดก็น้อมตัดเข้ามา มาพิจารณาอย่างนี้ ตรงไหนมันตรงไหนมันงาม พอมาแกงมันมานั่นเข้าแล้ว ถ่ายออกมามันเหม็นเน่าไปหมด นี่ พิจารณาอย่างนี้ 

พอพิจารณาอย่างนี้มากเข้าๆๆ ใจนั้นก็เกิดความเบื่อหน่าย เกิดนิพพิพทา ท่านแสดงอย่างนั้น เกิดความเบื่อหน่าย โอ้ สิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยงไม่แน่นอน ยักย้ายถ่ายเทอยู่ตลอดเวลา แม้เราบริโภคไป ของดีๆอย่างนี้ พอรุ่งเช้าถ่ายออกมาก็เหม็น เป็นของปฏิกูลแล้ว เพราะฉะนั้นอาจารย์ท่านจึงสอน เวลาที่ก่อนจะฉันจังหัน อาตมานี่แหละ ท่านอาจารย์กงมาคู่กับท่านอาจารย์นี้สอนให้ไปน้อมเอาข้าวนั้นน่ะเป็นตัวหนอนในส้วม น้อมเข้ามาอยู่ในบาตรของเรา ให้พิจารณาเป็นหนอนอย่างนั้น ใจให้ปลง (เทปขาดตอน) มันจะได้เกิดความฉลาด ดับสนิทคือความรู้แจ้ง รู้สิ่งใดหละ แน่ะ ตรงนี้ปัญหาสำคัญ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าเป็นสันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติเห็นเอง อักขาตะเร ตะถาคะโต ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกผู้สอน พวกท่านทั้งหลายพึงรู้ได้ด้วยตนเองถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เพราะใจตัวที่ออกไปพินิจพิจารณา เมื่อเห็นสิ่งเหล่านั้นเป็นสภาวะความไม่เที่ยงเกิดขึ้น ใจก็วนเข้าไปพินิจพิจารณา อันนั้นมันก็ต้องวางดับลงไป ตัวที่จริงคือตัวที่รู้อยู่ธรรมชาติอย่างนั้นเอง ท่านเรียกว่าสติปัญญา แต่ไม่มีกิริยานึกไปส่ายในอารมณ์อันใด ตั้งอยู่เป็นปกติอย่างนั้นจึงเรียกว่าเป็นสติปัญญา นั่นแหละเรียกว่าพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ของพระพุทธเจ้า 

เมื่อใจของบุคคลใดเป็นเช่นนั้นแล้ว ในขณะนั้นเราก็ปลื้มปีติเหลือสิ่งที่จะพรรณนา ในชีวิตเกิดมาในโลกนี้ ได้พบเห็นที่มหัศจรรย์อย่างชีวิตของเราที่แท้จริง คือความสงบลึกซึ้งหาสิ่งใดในโลกที่จะเปรียบในโลกไม่ได้เลย อย่างพวกโยมบางคนอย่างนี้ก็คงต้องประสบ เพราะเราได้พากเพียรเป็นเวลานานๆอย่างนี้ ต้องเอาพยายามเอาให้เจอะ อยู่ไม่ได้อยู่ที่อื่นที่ไกล อยู่ที่ตัวของเรา เมื่อเราพยายามมากเข้าๆ ก็ต้องเป็นวันหนึ่ง เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วใจนั้นระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าหาที่จะประมาณไม่ได้ เราเสวยมีลูกมีหลานมีบ้านมีช่องมีเหย้ามีเรือนมีข้าวมีของมากมายพรรณนา ไม่มีสิ่งใดที่จะมาเทียบกับสิ่งที่ได้รับความสงบของหัวใจอันนั้นได้เลย ทั้งปีติอิ่มเอิบอยู่ตลอดเวลา บางทีเป็นตั้งหลายๆวัน เป็นตั้งสิบๆวันอย่างนี้ หาจะที่จะพรรณนาไม่ได้เลย เพราะใจอันนั้นเข้าถึงจริงๆอย่างนั้น 

นี่นักปฏิบัติทุกคนก็จำเป็นจะต้องมุ่งหวังให้ใจของตัวเข้าไปประสบสิ่งเหล่านั้นให้เกิดขึ้น จุดหมายปลายทางที่เราประพฤติปฏิบัติ เข้ามาทำบุญให้ทานรักษาศีล เจริญภาวนาก็ต้องการอันนี้เป็นจุดสำคัญที่สุด ไม่ใช่บวชเป็นชีเป็นขาวเป็นพระเป็นเณร บวชโก้ๆ บวชว่าฉันได้บวช แน่ะ ไม่ใช่อย่างนั้น การบวชนี่เป็นตระกูลที่สูง เป็นศากยตระกูล เป็นตระกูลที่สูงที่สุดของบรรดาพระ แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินอย่างนี้ก็ยังต้องไหว้ ภิกษุณีร้อยพรรษา เมื่อพระบวชวันนั้นก็จะต้องมากราบ แน่ะ เป็นอย่างนั้น คุณธรรมสูงกว่ากัน เพราะฉะนั้นเมื่อเราบวชแล้วก็ต้องมีความพากความเพียร อุตสาหะบำเพ็ญ สิ่งให้มันเป็นสมาธิ เรานับถือพระพุทธศาสนา เรารักษาศีลอย่างนี้ โกนหัว โกนคิ้ว ห่มผ้าบวชแล้ว เราก็ว่าเราเป็นพระ ศีลเราได้รักษา ๒๒๗ สมาธิ ปัญญา นี่ ต้องให้เกิดขึ้น อย่างไม่เป็น ก็จะให้เกิดสมาธิเกิดขึ้น เมื่อเราบำเพ็ญว่าใจให้อยู่อย่างนั้น พุทโธหรือให้นึกถึงความตายอย่างนั้นแล้ว เอาอยู่อย่างนั้นตั้งชั่วโมงๆ มันก็ต้องลงให้เรา มันหนีไปไม่ได้ ทีนี้ขี้เกียจว่า เมื่อขี้เกียจมันก็ไม่เกิดความสงบ เพราะความขี้เกียจ ขี้มันอันนั้นมันเหม็น เหม็นแล้วมันก็ไม่ได้ขึ้นมา ดีอย่างเดียวเป็นปุ๋ย แน่ะ 

เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีความเพียรอุตสาหะเต็มที่แล้ว บริกรรมอยู่อย่างนั้น พุทโธๆๆ ใครก็ไม่เคยเป็นมาจากท้องพ่อท้องแม่ ก็ต้องมาฝึกเอาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราเมื่อรู้อย่างนั้นเราก็จำเป็นจะต้องพยายาม สิ่งไม่เป็นก็ต้องให้เป็น ให้มันเกิดขึ้น ไม่อย่างนั้นเสียแรงที่มาบวช หมดไปตั้งเป็นหมื่นๆ บางทีหลายๆพันบาทอย่างนี้ สองสามวันสึกซะแล้ว ขาดทุน ฮึ ไม่ได้อะไรเลย ไปแบ่งส่วนบุญให้โยม โยมแบ่งส่วนบุญ ได้อะไร ได้แต่หัวโล้นๆ นี่เป็นอย่างนั้นนะต้องตั้งใจให้มันสงบซักที บวชตั้งสามเดือนสี่เดือน สิ่งที่ใดที่ควรหลีกเร้นต้องหลีกเร้น สิ่งที่ไม่ควรคุยอย่าคุย พยายามกลับไปกระทำความเพียรของเรา ไม่กังวลเรื่องคนอื่น นี่เป็นสิ่งที่ประเสริฐ แล้วก็หันมานั่งภาวนา เดินจงกรมมั่งนั่งภาวนามั่ง หลีกเร้นไปให้มันได้เกิดความสงบ แล้วอันนั้นแหละเราจะได้รู้ถึงคุณพระศาสนาที่ท่านว่าไว้ตามแบบแผนตำรับตำราว่าศีล สมาธิ สมาธิเราก็ได้ความสงบ นี่ใจเป็นสมาธิอย่างนี้ นี่เรียกว่าไม่เสียทีที่ได้บวชเข้ามาในพุทธศาสนา 

ยิ่งสูงไปกว่านั้น ได้ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาสังขารร่างกายของเรา เห็นเป็นของปฏิกูลโสโครกไม่สวยไม่งามสกปรก เต็มไปด้วยของปฏิกูล เกิดความสังเวชสลดใจน้ำหูน้ำตาไหลอย่างนี้ ยิ่งมีอานิสงส์แรก สมัยโบราณท่านแสดงว่าเพียงแต่งูแลบลิ้น ช้างกระดิกหู เมื่อทำสมาธิให้จิตลงไปสงบอย่างนั้นตลอด หรือว่าได้อานิสงส์เหลือพรรณนา นี่ เป็นอย่างนั้น เราก็เหมือนกัน เราได้อบรมบ่มนิสัยฝึกหัดจนกระทั่งใจเป็นสมาธิตั้งชั่วโมงหรือสองชั่วโมง บางทีหลายๆวันอย่างนี้ ยิ่งมีความอิ่มเอิ่มปิติ ใจนั้นร่าเริง ใจนั้นชุ่มชื่นอยู่ตลอดวันด้วยความสงบ ไม่คิดกระสับกระส่ายไม่คิดดิ้นรนกระวนกระวายไปในที่ใดเลย นี่ เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นพวกเราทุกคนก็มุ่งมาดปรารถนาอย่างนั้น เพราะฉะนั้นต้องตั้งใจอุตสาหะ เวลานี้เข้ามาหนึ่งเดือนแล้ว เหลือเวลาอีกสองเดือนเท่านั้นเอง 

เจ้าคุณอุบาลีท่านว่า พายแล้วก็พาย ตะวันจะสาย สายบัวจะเน่า แน่ะ ท่านเทศน์ของท่าน หลวงตาจำมา ว่าให้โยมฟัง พายแล้วก็พาย ตะวันจะสาย สายบัวจะเน่า สายบัวคืออะไร เมื่อมันจะตายซี่ มันจะแก่ มันจะป่วย มันจะเจ็บ แล้วมันก็จะตาย ตายๆ อยู่เท่านั้น ตะวันจะสาย สายคือยังไง เมื่อถึงเวลาป่วยเจ็บอย่างนั้นแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะทำ หมดเวลา เพราะเราไม่ได้ฝึกหัด ไม่ได้ฝึกหัดไว้ จะไปบอกพุทโธเวลานั้น เฮ้อ ก็บอกว่า “ข้าเจ็บข้าจะตาย เอาอะไรก็ไม่ได้แล้ว” นั่นเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า พายแล้วก็พาย รีบพายเข้าวัดเข้าวามานั่งสมาธิภาวนา ตะวันจะสาย ร่างกายมันจะเปลี่ยนแปลงยักย้าย สายบัวจะเน่า ก็คือเราเท่านั้นแหละคือจะตาย นอนแอะๆๆแมะอยู่อย่างนั้น ไปไหนไม่ได้ต้องนอนหยอดน้ำหยอดข้าว เมื่อได้ทำใจฝึกหัดเต็มที่อย่างนั้นแล้ว ไม่ต้องเป็นทุกข์ กำหนดดูอยู่กับเวทนาอย่างนั้น สบายที่สุด กำหนดใจของเราที่มีกำลังสติปัญญาบริบูรณ์สมบูรณ์นั้น มองดูเฉยๆ ไม่ต้องทำอันใดทั้งหมด ตั้งสติจดกำหนดดูอย่างนั้น เพลินอยู่เลย ตายเมื่อไหร่ก็ยินดี ไอ้ร่างกายนี้มันทรมานมานานแล้วหลายสิบปี ฮึ! ยินดีไปเถ๊อะเจ้าค่ะ เอ้อ นี่เป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้นการปฏิบัติจุดมุ่งหมายก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทรงตรัสอีกปัญหาหนึ่งว่า สะจิตตะ ปะริโยทะปะนัง เอตัง พุทธานะสาสะนัง บุคคลที่ชำระกายของตนให้ผ่องแผ้วหมดจดผ่องใส อย่างต่ำก็ได้ชั่วครั้งชั่วคราว อย่างกลางก็ได้เป็นเวลาหลายๆเดือนหลายๆปี อย่างสูงสุดจนได้บรรลุถึงโสดา สกิทา อนาคา อรหัต อรหันต์ นี่ สูงสุดจนกระทั่งทำลายอาสวักกิเลสของตนให้สิ้นไป นี่ นั่นเป็นบรมสุข นั่นแหละเป็นผู้ที่เข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า นี่แสดงไว้อย่างนั้น 

นี่เพราะฉะนั้นเมื่อท่านทั้งหลายได้สดับตรับฟังธรรมะที่อาตมาได้บรรยายมา จงน้อมนำไปพินิจพิจารณาตรึกตรองและน้อมสิ่งใดที่เกิดประโยชน์ สิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์ก็จงทิ้งไป สิ่งใดที่จะเกิดประโยชน์กับเราก็น้อมไปพินิจพืจารณาใคร่ครวญตรึกตรอง แล้วก็ลองประพฤติปฏิบัติไปอย่างนั้น คงจะได้ประสบพบความสุขความเจริญงอกงามในศาสนธรรมคำสั่งสอน ดังได้แสดงมาก็สมควรแก่กาลเวลา เอวังก็มีด้วยประการะฉะนี้

https://youtu.be/xkgtmoM0p0o