หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
โอกาสนี้เป็นวาระที่อาตมภาพจะได้แสดงธรรม แสดงธรรมอันเป็นธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายจงกำหนดทำสติรู้ที่จิตของเราเอง แต่ละท่านๆ ให้กำหนดรู้ที่จิตของตนเอง แล้วเมื่อเรากำหนดรู้ที่จิตของเราเอง เราจะรู้ได้ทันทีว่าที่เราตั้งใจจะกำหนดรู้จิตของเราเองได้ ความตั้งใจเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยกายเป็นเครื่องช่วย ดังนั้นในเมื่อกายกับจิตยังมีความสัมพันธ์กันอยู่ตราบใด เราก็สามารถที่จะน้อมจิตน้อมใจนึกถึงโน่นถึงนี่ โดยเจตนา
ธรรมะที่ว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น แบ่งออกได้เป็นสองประเภท ประเภทหนึ่งธรรมะอันเป็นอารมณ์สิ่งรู้ของจิตของพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งระลึกของสติของพระพุทธเจ้า หมายถึงธรรมะที่มีอยู่โดยธรรมชาติซึ่งเราเรียกว่าสภาวะธรรม สภาวะธรรมเรากำหนดหมายเอาอะไร กายกับใจเป็นสภาวะธรรม สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมก็เป็นสภาวะธรรม รวมทั้งวิชาความรู้ที่เราเรียนมาทั้งสายโลกสายธรรม รวมเรียกว่าสภาวะธรรมทั้งนั้น สภาวะธรรมทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่เก่าแก่ดั้งเดิมตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้อุบัติขึ้นในโลก เพราะว่ากายกับใจของคนที่เกิดก่อนนั้นมีก่อนพระพุทธเจ้า วิชาความรู้ในสิ่งต่างๆสถานการณ์แวดล้อมมีก่อนพระพุทธเจ้าเกิด
ดังนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าท่านเกิดมาแล้วท่านก็มารู้ความจริงของสภาวะธรรมคือธรรมชาติทั้งหลายเหล่านั้น ในศาสนาพุทธพระพุทธเจ้าไม่เคยประกาศท้าทายว่า เราได้สร้างสิ่งโน่นสิ่งนี่ขึ้นมาในโลก ฉันเป็นคนสร้างโลก พระพุทธเจ้าไม่เคยกล่าว ฉันเป็นคนสร้างมนุษย์ พระพุทธเจ้าไม่เคยกล่าว ฉันเป็นคนสร้างทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ พระพุทธเจ้าไม่เคยกล่าว ไม่เคยจริงๆ ไม่เหมือนศาสนาอื่น ศาสนาอื่นเค้าจะกล่าวหรือไม่กล่าว เราไม่สนใจ เพราะเวลานี้เราเป็นชาวพุทธสนใจในเรื่องพุทธศาสนา ดังนั้นเรายอมรับว่าพระพุทธเจ้าของเราเนี่ย ท่านไม่ได้สร้างอะไรขึ้นในโลกนี้ แต่หากท่านเป็นผู้สามารถสร้างความเป็นความพระพุทธเจ้าขึ้นในโลกและพระองค์เคยประกาศกล่าวท้าทายว่า เราสามารถรู้ธรรม รู้ธรรมะของจริงก็เรียกว่าสัจธรรม คืออริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่อันนี้พระพุทธเจ้าท่านประกาศจริงๆว่าท่านรู้
แต่ท่านก็รู้ธรรมะที่มันมีอยู่แล้ว ทุกข์จริงๆก็เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วก่อนพระองค์เกิด เหตุให้เกิดทุกข์คือความทะเยอทยานก็มีก่อนแล้ว แต่ทว่าจะยังมีไม่สมบูรณ์ก็คือการดับทุกข์หรือความรู้จริงตามกฏธรรมชาติว่าอะไรเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด อะไรเป็นเหตุให้ทุกข์ดับ อันนี้คนอื่นยังรู้ไม่ชัดเจน แต่พระพุทธเจ้าของเรานั้นพระองค์รู้แจ้งชัดเจน หายสงสัย ไม่ได้สักแต่ว่ารู้ รู้แล้วก็คุยกันได้ รู้แล้วสามารถที่จะหนีทุกข์ ทำจิตทำใจของพระองค์ให้หนีทุกข์หนีร้อน พ้นทุกข์พ้นร้อน ที่เคยเวียนว่ายตายเกิดทนทุกข์ทรมานอยู่ในวัฏสงสารนี้ เพราะพระองค์สามารถสร้างคุณธรรมที่ทำคนให้เป็นพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาในจิตในใจหรือในพระทัยพระองค์ท่าน อันนี้เป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงทราบและทรงรู้
นอกจากจะรู้จริงว่านี่ทุกข์จริงๆ นี่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วยังสามารถรู้ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ เราพากันนับถือพุทธศาสนา เราปฏิญาณตนถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะที่พึ่ง ที่ระลึก หมายความว่าเราจะรับเอาพระองค์เป็นพระบรมศาสดาคือเป็นครูสั่งสอน เวลานี้สมมุติว่าพวกท่านทั้งหลายกำลังเดินเข้ามาสู่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง จะพบว่าไปเข้าโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในเมื่อก้าวเข้าไปสู่สถาบันนั้น ท่านจะต้องดูให้รู้จักระเบียบของสถาบันนั้นๆ เริ่มต้นตั้งแต่เสียค่าธรรมเนียมเข้าเรียน และระเบียบการปฏิบัติภายในโรงเรียน เมื่อท่านเข้าไปสู่สถาบันนั้นท่านจะต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบของสถาบัน ซึ่งสุดแท้แต่สถาบันเค้าจะตั้งขึ้น
ในทำนองเดียวกันเมื่อเรามาสู่สถาบันแห่งพระพุทธศาสนาและได้ปฏิญาณตน รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นพระบรมครูผู้ที่จะอบรมสั่งสอนเรา เมื่อเรากล่าวคำปฏิญาณถึงท่านว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก ถ้าหากว่าพระองค์นั่งประทับอยู่หน้าเรา พระองค์คงจะรับสั่งถามว่าเธอจะเอาจริงมั้ย ถ้าเราตอบว่าจะเอาจริง หากเอาจริงฉันจะให้ข้อปฏิบัติ ข้อปฏิบัติเพียง ๕ ข้อ ข้อปฏิบัติ ๕ ข้อนั้นคืออะไรพระเจ้าข้า ข้อปฏิบัติ ๕ ข้อนั้นคือศีล ๕ ข้อนั่นเอง ถ้าเราตอบท่านว่าไม่สามารถที่จะรับปฏิบัติได้ พระองค์ก็คงจะบอกว่า เมื่อรับปฏิบัติไม่ได้ก็ช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะอะไร เพราะข้อปฏิบัติอันเป็นจุดเริ่มต้นของบุคคลผู้เข้ามาสู่สถาบันของเราตถาคต จะต้องปฏิบัติตามกฏ ๕ ข้อนี้
เพราะฉะนั้นตามขนบธรรมเนียม เราจะทำบุญกุศลอะไรให้ทาน หรือจะฟังธรรม ฟังพระสวดมนต์ เราก็ต้องปฏิญาณตนต่อพระพุทธเจ้าและก็รับเอาศีล ๕ เป็นหลักปฏิบัติ เพราะมันเป็นกฏเป็นระเบียบ เป็นข้อปฏิบัติที่เราจะต้องพยายามปฏิบัติให้ได้ ในฐานะที่เป็นอุบาสกอุบาสิกา ภิกษุสามเณรในพุทธศาสนา เพราะว่าศีล ๕ ประการนี้มันเป็นจุดกำเนิดแห่งการทำความดี สพฺพปาปสฺส อกรณํ (สัพพะปาปะสะ อะกะระณัง) การไม่ทำบาปทั้งปวง การไม่ทำบาปทั้งปวงก็คือหมายถึงว่า การไม่ประพฤติผิดศีล ๕ ถ้าใครจะไม่ทำบาปทั้งปวง ต้องยึดเอาหลัก ๕ ข้อนี้เป็นหลักปฏิบัติ ทำไม เพราะศีล ๕ ประการนี้เป็นบัญญัติที่อาศัยหลักความจริงโดยธรรมชาติ
ฆ่าสัตว์เป็นบาป ไม่มีใครไปแต่งตั้งหรือสร้างตัวบาปขึ้นมาตัดคนผู้ฆ่าสัตว์ แต่หากมันเป็นกฏความจริงของธรรมชาติมาแต่ดั้งเดิม อทินนาทาน การลักขโมย กาเมสุมิจฉา มุสาวาท สุรา ข้อทั้งหลายเหล่านี้ ใครละเมิดล่วงเกินและปฏิบัติผิดลงไป บาปกันทุกคนไม่เลือกหน้า เพราะมันเป็นบาปโดยกฏของธรรมชาติ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ใครทำลงไปแล้ว จะนึกว่าฉันทำเล่นๆ ฉันไม่ต้องการผล ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเจตนาที่จะทำบาปตามศีล ๕ ข้อนั้น ถ้าหากเป็นเจตนาสมบูรณ์ ในเมื่อทำสำเร็จลงไปด้วยเจตนาคือความตั้งใจ ผลบาปย่อมบังเกิดขึ้นโดยกฏของธรรมชาติ จิตจะบันทึกเอาไว้ จิตใต้สำนึกจะบันทึกเอาผลงานคือการกระทำนั้นไว้โดยอัตโนมัติ
เพราะฉะนั้น เพราะศีล ๕ นี้เป็นกฏเกณฑ์ที่เราจะพึงปฏิบัติเพื่อละเว้นบาปกรรมโดยเจตนาตามกฏของธรรมชาติ อันนี้พูดถึงว่าเจตนาที่จะละความชั่ว หรือการไม่ทำบาปทั้งปวง ถ้าใครสงสัยก็ให้พิจารณาดูศีล ๕ ข้อนี้เท่านั้น ญาติโยม ผู้ที่ยังไม่ได้สมาทานศีล ๘ รับทานข้าวเย็นก็ไม่บาป ฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรี ดูการเล่นเป็นเสี้ยนหนามก็ไม่บาป ประดับตกแต่งด้วยเครื่องของหอม เครื่องย้อม เครื่องทา ก็ไม่บาป ก็ไม่เห็นมีคัมภีร์ใดที่พระพุทธเจ้าท่านว่าบาป แต่ถ้าหากว่าใครได้ตั้งใจสมาทานว่าจะปฏิบัติในข้อดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ปฏิบัติไม่ได้เป็นการโกหกตัวเอง เป็นการเสียสัจจะ ถ้าผู้ทรงเทศน์เป็นการหลอกลวงชาวโลก มันเป็นบาปเพราะการหลอกลวง แต่โดยธรรมชาติถ้าเราไม่มีเจตนาที่จะไปรับเอาศีลนั้นๆมาปฏิบัติ เราอยู่เป็นฆราวาสปฏิบัติศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ดี และทำอย่างอื่นบาปกรรมมันไม่มี รับทานข้าวเย็นก็ไม่บาป หรือละเมิดล่วงเกินตั้งแต่ข้อวิกาลโภชนาจนถึงข้อ ชาตรูป (ชาตรูปรชตปฏิคฺคหณา) ก็ไม่บาปสำหรับคฤหัสถ์โดยทั่วๆไป
ดังนั้นถ้าท่านผู้ใดข้องใจสงสัยว่าที่พระพุทธเจ้าสอนให้ละบาปทั้งปวงนั้นเราจะละกันที่ตรงไหน พึงทำความเข้าใจว่าการละบาปโดยเจตนาหรือความตั้งใจคือศีล ๕ ข้อ ถ้าเราทำความเข้าใจให้ชัดเจนอย่างนี้ เราก็ไม่ต้องไปไขว่คว้าว่าเราจะไปละอะไรที่ไหน เมื่อเรามีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ศีล ๕ ปฏิบัติได้เป็นอุบายบั่นทอน ตัดทอน ผลเพิ่มของบาปกรรม
วันนี้ญาติโยมทุกคนเป็นผู้มีศีล ๕ ตั้งศีล ๕ ขึ้นไป หรือจนกระทั่ง ๒๒๗ ของพระภิกษุสงฆ์สามเณร นับตามเติมแต่เราตั้งเจตนาละเว้นโดยเด็ดขาดแล้ว เป็นการตัดผลเพิ่มของบาปกรรม บาปกรรมที่มีอยู่ แต่มีอยู่เมื่อก่อนนี้จำนวนเท่าไหร่ ก็ยังอยู่เพียงแค่นั้น เพราะเราไม่ได้ทำเพิ่ม สัตว์ก็ไม่ได้ฆ่า อทินนาก็ไม่ได้ลักขโมย กาเมสุมิจฉาจารา ก็ไม่ได้ข่มเหงน้ำใจ มุสาวาท ก็ไม่ได้โกหกหลวงลวง สุราก็ไม่ได้มัวเมาในสิ่งที่จะทำให้เราเสียผู้เสียคน มันก็หมดปัญหา ผลบาปไม่เพิ่ม ถ้าหากเรามีเจตนาตั้งใจจะปฏิบัติต่อเนื่องกันไปจนชั่วชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป บาปมันไม่ได้เพิ่ม มีแต่ความดี มันจะเพิ่มขึ้นๆ ในเมื่อไม่ทำบาป มันก็มีแต่ความดีที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี ทุกปี
ท่านผู้ใดต้องการจะตัดกรรม ตัดเวร กรรมเวรที่เราทำไว้ตั้งแต่เมื่อก่อนนั้น เราจะไปทำพิธีตัดด้วยการลดน้ำมนต์พระ หรือไปไหว้วอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือจะไปทำพิธีการอันใดเพื่อตัดกรรมตัดเวรที่เราทำไปแล้วนั้น ไม่มีทาง ถ้าหากว่าตัดเหตุนั้นพอจะมีทางบ้าง เช่นสมมุติว่า เราข้องใจสงสัยว่าเราอาจจะเป็นบาปเป็นกรรม หรือจะมีใครจองกรรมจองเวรเรา คอยพยายามที่จะแก้แค้นเราอยู่ เรานึกได้ ทำบุญกุศล อุทิศส่วนกุศลให้เขา บางทีเขาได้รับส่วนบุญส่วนกุศลจากเราแล้ว เค้าได้มีถึงสุข เค้าอาจจะมีอโหสิกรรมให้เราได้บ้าง ก็พอที่จะตัดได้ แต่เขาไม่ยอมรับอโหสิกรรมก็จนใจเหมือนกัน
แต่ว่ากรรมที่เราทำลงไปด้วยกายด้วยวาจา ซึ่งมีจิตใจเป็นผู้ตั้งใจหรือบังคับบงการโดยเจตนา ทำไปแล้ว ใครตัดไม่ได้ จะตัดได้ก็ต่อเมื่อบำเพ็ญอรหัตตมรรคให้เกิดขึ้น สำเร็จอรหันต์ ทิ้งร่างกายสังขารนี้ไปแล้วไม่กลับมาเกิดอีก นั่นแหละจึงจะตัดกรรมได้เด็ดขาด แต่ว่าวิธีการตัดกรรมที่เรามองเห็นได้ชัดๆ ทั้งตัดกรรมด้วย ทั้งตัดเวรด้วยก็คือยุติ หยุดการทำบาปทำกรรมตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ในเมื่อเราหยุดโดยเด็ดขาดแล้วก็ได้ชื่อว่าเป็นการตัดกรรมตัดเวร
สงสัยมั้ย ทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนให้เรารักษาศีล ๕ มาทำความเข้าใจผลประโยชน์ของการรักษาศีล ๕ ในปัจจุบันนี้ให้มันชัดๆซักหน่อย เราจะไม่ต้องเกิดความท้อแท้ที่จะรักษาศีล ๕ พระพุทธเจ้าพระองค์มีความปรารถนาที่จะป้องกันไม่ให้มนุษย์เกิดมีการฆ่ากัน คนไม่มีศีล ๕ เป็นเหตุให้ฆ่ากัน เราฆ่าเขา เขาต้องพยายามฆ่าเรา เราลักของเขา ขโมยของเขา เขาก็พยายามโต้ตอบเรา เราข่มเหงน้ำใจเขา กาเมสุมิจฉาจาร เค้าพยาบาทเคียดแค้น เค้าก็ฆ่าเอา เราไปโกหกหลอกลวงเค้าให้เค้าเสียทรัพย์สมบัติเกียรติยศชื่อเสียง เค้าโกรธ เค้าก็ฆ่าเอา สุราเมาลงไปแล้วคุมสติไม่อยู่ ประเดี๋ยวพาลพาโลทะเลาะกัน เดี๋ยวก็ได้ฆ่ากัน นี่เรื่องของเรื่องเป็นอย่างนี้ อันนี้เป็นผลประโยชน์ที่เราจะมองเห็นได้ในปัจจุบัน
เมื่อเรามีศีล ๕ เราไม่ฆ่าข่มเหงเบียดเบียนซึ่งกันและกัน มันก็มีแต่ความรัก พระพุทธเจ้าต้องการให้มนุษย์มีความรักกัน และอีกอย่างหนึ่งเพื่อจะให้มนุษย์ทั้งหลายเนี่ย ยึดเอาธรรม ๕ ข้อนี้ เป็นขอบเขตของการใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์โดยความเป็นธรรม
ญาติโยมพากันมารักษาศีลฟังธรรม อะไรพามา ความอยากใช่ไหม อยากได้คุณธรรม อยากได้ดิบได้ดี อยากได้สวรรค์ อยากได้นิพพาน อยากได้บุตร ความอยากตัวนี้คือความโลภ มันคอยกระตุ้นเตือนใจของเราให้เกิดความอยากได้อยากดีอยากมีอยากเป็น กิเลสตัวเป็นเค้ามูลในจิตในใจของเรานี่คือโลภโกรธหลง เชื่อว่าทุกคนได้ฟังเทศน์พระที่ท่านแนะนำให้ละโลภโกรธหลงกันมา และเราเชื่อมั่นว่าเราพยายามที่จะละโลภ โกรธ หลงให้ได้ แต่เสร็จแล้วมันก็ไม่มีทาง มันคล้ายๆกับว่าเป็นภาระจำยอมที่จะอยู่ด้วยกันจนชั่วชีวิต ถ้าหากเราละได้ตามคำแนะนำของพระ โอ มันก็ดีวิเศษนักหนา อาตมาเองก็อยากละเต็มประดา แต่บางครั้งมันก็ยังฟุ้งขึ้นมาอยู่เหมือนกัน ก็แสดงว่ามันยังละไม่ได้
ทีนี้เรามาปรึกษาหารือกันลองดูว่า ในเมื่อกิเลส โลภ โกรธ หลง มันมีอยู่ในใจเราละไม่ได้ เราจะทำอย่างไรต่อไป เอ้า อาตมาก็โลภ ก็โกรธ ก็หลง ญาติโยมก็โลภ ก็โกรธ ก็หลง พากันโลภ โกรธ หลง เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร อันนี้หละนับไม่ถ้วนไม่รู้กี่ภพกี่ชาติกันมาแล้ว แล้วมาปัจจุบันนี้เราก็พยายามที่จะละกิเลสโลภ โกรธ หลงกัน แต่เสร็จแล้วมันก็ยังละไม่ได้ อ้าว ถ้าเราละไม่ได้ เราจะหาประโยชน์จากมัน พอมีทางมั้ย เอาอย่างนี้ดีมั้ย ช่างมันเหอะ มันมีอยู่ในจิตในใจ เอาไว้นั้น แต่ว่าเราพยายามหาทางที่จะใช้มันให้เกิดประโยชน์โดยความเป็นธรรม โลภ โกรธ หลงมีอยู่ เอาไว้ให้มันกระตุ้นเตือนความรู้สึกของเราให้เกิดความทะเยอทยานในความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น คนเราทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการที่จะแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ สุขและอำนาจด้วยกันทั้งนั้น ความอยากความต้องการเหล่านั้น มันก็อาศัยความโลภเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้เราเกิดมีความอยากเป็นเช่นนั้น
ถ้าหากว่าเราใช้ความอยาก หรือความโลภโดยไม่ผิดศีลธรรม โดยไม่ผิดกฏหมาย โดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ในที่สุดตัวเองก็ไม่เดือดร้อนเพราะการใช้ความโลภนั้น เพราะเราใช้อย่างมีขอบเขต ขอบเขตที่จะพึงใช้ให้เกิดประโยชน์โดยความเป็นธรรมก็คือศีล ๕ อีกนั่นแหละ เพราะฉะนั้นเป็นอันได้ใจความว่า กิเลสมีปล่อยให้มันมีไป ในขณะที่เรายังละไม่ได้ แต่เราต้องพยายามดู ดูให้มันรู้ว่าเรามีกิเลสตัวนี้จริงหรือเปล่า โลภ โกรธ หลงยังมีอยู่ในจิตในใจของเราหรือเปล่า ในเมื่อรู้ว่ามี ก็ลองละๆๆดู ลองทำทีจะขับไล่มันลองไปดู ถ้าเห็นว่ามันไล่ไม่ได้ ขับออกไปไม่ได้ ละไม่ได้ ก็ต้องพยายามหาทางใช้มันให้ถูกทาง
กฏเกณฑ์ที่เราจะใช้กิเลสอย่างนี้ไม่ให้เกิดโทษก็คือศีล ๕ นั่นเอง แน่ะ พูดไปพูดมาก็ไม่หนีศีล ๕ อีก ประเดี๋ยวผู้ฟังก็จะมาคิดว่า “พระองค์นี้เอาแต่เรื่องศีล ๕ มาเทศน์ ศีล ๕ น่ะมันเรื่องภูมิต่ำๆ” ประเดี๋ยวจะเข้าใจกันอย่างนั้น ที่พูดเช่นนี้ก็เพราะบางทีญาติโยมก็อาจจะพยายามที่จะละความโลภ ความโกรธ ความหลงอย่างเต็มประดา แต่เสร็จแล้วทำไมยังละไม่ได้ บางทีบางท่านเพื่อนฝูงชวนเข้าวัดเข้าวา ก็บอกว่าฉันยังเข้าไม่ได้ เพราะยังโลภ ยังโกรธ ยังหลง คือคนที่ยังโลภ ยังโกรธ ยังหลงนั่นแหละ ยิ่งเข้าวัดดี ถ้าหมดโลภ โกรธ หลงแล้ว เข้าไปเสียเวลาทำไม๊ เพราะเรายังไม่หมดโลภ โกรธ หลง เราจึงพยายามที่จะเข้าวัด เข้าวัดเพื่อหาหลักธรรม มาเป็นหลักปฏิบัติ เพื่อเป็นการบั่นทอนกำลังของกิเลสโลภ โกรธ หลง ให้น้อยลง
เพราะฉะนั้นผู้ที่ยังมีโลภ มีโกรธ มีหลงอยู่ แต่พยายามใช้โลภ โกรธ หลง ให้เกิดประโยชน์โดยไม่ให้ผิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ได้ปฏิบัติเพื่อบั่นทอนกำลังของกิเลสให้น้อยลง เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันได้ใจความว่า ศีล ๕ เนี่ยนอกจากจะเป็นอุบายตัดทอนผลเพิ่มของบาปกรรม ยังเป็นอุบายบั่นทอนกำลังของกิเลส และเป็นขอบเขตของการใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์โดยความเป็นธรรม
และอีกอย่างหนึ่ง ศีล ๕ นี่จะเป็นคุณธรรมปรับพื้นฐานความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ เคยคิด เคยพิจารณาดูจิตใจตัวเองบ้างมั้ย อาตมาเคยดูตัวเอง เคยพิจารณาดูตัวเอง ในบางครั้งก็รู้สึกว่าตัวเองเนี่ยกลายเป็นสัตว์เดรัจฉาน บางครั้งก็เห็นว่าตัวเองเป็นเปรต บางครั้งก็เห็นว่าตัวเองเป็นเทวดา บางครั้งก็เห็นตัวเองว่าเป็นมนุษย์ อันนี้เพราะอาศัยหลักมาพิจารณาดูว่าขณะใดที่จิตใจของเราเกิดความโหดเหี้ยมเพราะอำนาจแห่งความโกรธ ความโลภ ความหลง แล้วก็คิดแต่จะทำอะไรลงไปโดยไม่ได้คำนึงถึงศีลธรรมและกฏหมายปกครองบ้านเมือง อยากจะทำอะไรก็นึกทำลงไป ถึงแม้ไม่ทำแต่ใจก็นึกอยากจะทำ สิ่งที่นึกอยากจะทำนั้น มันไม่มีศีลมีธรรมในขณะนั้น ในขณะนั้นจึงรู้สึกว่า อ้อ เรานี่แหละ จิตใจของเราบางครั้งมันยังเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่นี่
อันนี้เป็นการพิจารณาตัวเอง เรื่องของอาตมาเองนะ ไม่ได้แกล้งว่าโยม ในบางครั้งจิตใจมันรู้สึกว่ามี หิริ ความละอายบาป มีโอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป แม้แต่คิดจะบาปในที่ลับที่แจ้งมันก็ไม่คิด มันมีคุณธรรมอันนี้อยู่ในใจ ในขณะนั้นก็รู้สึกว่า เออ หิริโอตตัปปะมันเป็นคุณธรรมที่ทำคนให้เป็นเทวดา ก็รู้สึกว่า อ้อ เวลานี้เราเป็นเทวดา
บางทีมันเกิดขี้เกียจขี้คร้านขึ้นมา เวลาไหว้พระสวดมนต์ มันก็ไม่อยากทำ นั่งสมาธิ มันก็ไม่อยากทำ มันไม่เอาไหน ประโยชน์ตนไม่คำนึง ประโยชน์ท่านไม่เหลียวแล ทอดอาลัยตายอยากในชีวิต ในช่วงนั้นก็รู้สึกตัวว่า อ้อ ตอนนี้เรากำลังเป็นเปรต เพราะเปรตแปลว่าผู้ละไปแล้ว
บางทีจิตใจมันก็รู้สึกว่า เออ มีความเมตตา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความรักความสงสารในเพื่อนมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานด้วยกัน ไม่คิดที่จะทำอะไร ในขณะนั้นก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์
อันนี้คือพื้นฐานที่เป็นหลักให้เราพิจารณาตัวเองว่าเราเป็นอะไร เราจะได้รู้ข้อบกพร่องของตัวเอง เราจะได้รู้ข้อบกพร่องของตัวเองแล้วจะได้เพิ่มเติมให้อยู่ในระดับพอดิบพอดี ส่วนไหนขาดก็จะได้เพิ่มขึ้น ส่วนไหนเกินก็จะได้ตัดทอนลงให้พอดี ให้รู้ว่าจิตใจของเรานี่มันมีอะไรเป็นอะไรอยู่ เราจะได้รู้จักจุดสำหรับแก้จิตใจของเรา ถ้าเรามองไม่เห็นตัวของเราเอง เห็นใจของเราเอง เราก็ไม่มีทางแก้
แต่อีกอย่างหนึ่ง ประการสุดท้าย ศีล ๕ ประการนี้เป็นคุณธรรมที่เป็นมูลฐานให้เกิดการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะการไม่ฆ่า หลักประชาธิปไตยต้องเคารพสิทธิมนุษยชน การไม่ฆ่าก็เคารพชีวิตความเป็นอยู่ การไม่ลักขโมยจี้ปล้นฉ้อโกง ก็เคารพสิทธิความมีสมบัติของคนอื่น การไม่ประพฤติผิดกาเมสุมิจฉาจาร การไม่โกหกหลอกลวง การไม่มัวเมาในสิ่งที่จะทำให้เราเสียผู้เสียคน ก็เป็นการเคารพสิทธิของคนอื่นและตัวเองด้วย ดังนั้นศีล ๕ ประการนี้ ไม่เฉพาะแต่ชาวพุทธเท่านั้นจะมีความเข้าใจถึงประโยชน์ ชางต่างประเทศเค้าก็เข้าใจดี อย่างเช่นองค์การสหประชาชาติประกาศออกมาเป็นหลักปฏิบัติว่าด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน พิจารณาดูแล้วก็คือศีล ๕ เราดีๆนี่เอง
อ้าว บัดนี้พูดถึงเรื่อศีล ๕ นี่เห็นจะพอสมควรแก่กาลเวลา ทีนี้ถ้าหากสมมุติว่าเราจะมายึดเอาแต่ศีล ๕ นี่หละมาเป็นหลักปฏิบัติ ญาติโยมบางคนโดยเฉพาะโยมผู้หญิง เราเป็นผู้หญิงไม่มีโอกาสที่จะบวชเป็นพระเป็นเณร ไม่มีโอกาสที่จะห่มผ้ากาสาวพักตร์ กลัวว่าปฏิบัติแล้วไม่ถึงมรรคผลนิพพาน อย่าไปเข้าใจผิด ได้กล่าวแล้วว่าศีล ๕ เป็นพื้นฐานให้เกิดคุณงามความดี เมื่อเรารักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดี ศีลอื่นๆมันจะเพิ่มขึ้นมาเอง อย่าว่าแต่ศีล ๑๐ ๒๒๗ มันจะเพิ่มขึ้นมาเป็นหมื่นๆศีล ล้านๆศีล เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นปกติดีแล้ว กายก็สงบ วาจาก็สงบ
เพราะปราศจากโทษนั้นๆ เมื่อเราปราศจากโทษนั้นๆก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ใจมีความสงบด้วย ใจสงบเพราะเกิดจากศีลเนี่ย เกิดจากการรักษาศีลให้บริสุทธิ์เนี่ยมันคืออะไร เพราะเราไม่ได้ก่อกรรมทำเข็ญให้ใครเดือดร้อน ความหวาดระแวงว่าใครจะมาประทุษร้ายเราย่อมไม่มี จะหลับก็สบาย จะตื่นก็สบาย จะไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องมีมือปืนคอยคุ้มกัน เพราะเรามีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์ดีแล้ว แล้วมันก็เป็นเหตุให้เกิดมีใจสงบ เรียกว่าใจสงบดีไม่หวาดระแวงต่อพิษภัยต่างๆ มันก็เป็นจุดเริ่มของสมาธิ ศีลอบรมสมาธิ บัดนี้ท่านทั้งหลายมีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ตามขั้นตามภูมิของตนแล้ว เรามาคุยกันเรื่องสมาธิ ลองดูบ้าง เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังบ้าง
ถ้าหากเข้าใจว่าเรื่องของสมาธินี่ เข้าใจว่าท่านทั้งหลายคงได้ยินได้ฟังและฝึกปฏิบัติมาจนคล่องตัวจนชำนิชำนาญ บางท่านอาจจะมีจิตสงบรู้ธรรมเห็นธรรม หรือขจัดกิเลสออกไปจากจิตของตนเองได้มากเป็นกอบเป็นกองแล้ว หลักและวิธีการทำสมาธินั้น เข้าใจว่าท่านได้ฟังและก็ได้รับการอบรมจากครูบาอาจารย์มาแล้ว แต่ขอสรุปสั้นๆว่าวิธีการทำสมาธินั้นคือการทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก อันนี้เป็นหลักกลางๆ
เมื่อเราทำอะไร นึกถึงอะไรให้มีสติสัมปะชัญญะ หลักบริกรรมภาวนาหรือหลักพิจารณาอะไรต่างๆ ซึ่งเราได้ยินได้ฟังกันว่า การปฏิบัติสมาธิคือการปฏิบัติสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เราได้ยินได้ฟังกันมาแล้ว ทีนี้บางท่านฝึกสมาธิหรือสอนสมาธิก็ไปติดวิธีการมากเกินไป คำว่าสมถะ เป็นชื่อของวิธีการ วิปัสสนาเป็นชื่อของวิธีการ แต่การทำสมาธิคือทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก เมื่อเราบริกรรมภาวนาพุทโธก็ดี ยุบหนอพองหนอก็ดี สัมมาอรหังก็ดี สิ่งดังกล่าวนั้นเป็นอารมณ์สิ่งรู้ของจิต ถ้าเรามีสติสำทับเข้าไป สิ่งนั้นก็เป็นที่ตั้งของสติ
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติแบบสมถะก็ทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก เป็นชื่อของวิธีการบริกรรมภาวนาปฏิบัติด้วยวิธีของสมถะ เพ่งกสิณปฏิบัติด้วยวิธีของสมถะ หรือการเจริญอารมณ์สมถกรรมฐาน ๔๐ ประการนั้น ปฏิบัติตามวิธีการของสมถะ แต่ถ้าเรากำหนดจิตพิจารณาโน่นนี่ พิจารณารูปนาม รูปนามๆ อย่างที่ท่านพระคุณเจ้าเทศน์ไปก่อนนั้น เรียกว่าปฏิบัติตามวิธีการของวิปัสสนา ทั้งสองอย่างนี้เป็นอุบายวิธีปฏิบัติ เพื่อทำจิตให้สงบเป็นสมาธิมีปีติ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เพื่อจะให้เกิดสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติอย่าไปติดวิธีการ
แม้ว่าท่านผู้ใดอาจจะคิดว่า เราไม่มีเวลาที่จะมานั่งสมาธิ บริกรรมภาวนาพุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอพองหนอ ลองปฏิบัติอย่างนี้ดู ยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นอารมณ์จิต เมื่อเราเดินมีสติรู้ ยืนมีสติรู้ นั่งมีสติรู้ นอนมีสติรู้ รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิด มีสติรู้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์จิต ทำไมจึงว่าเป็นอารมณ์จิต เรายืนได้เพราะจิตสั่ง นั่งได้เพราะจิตสั่ง นอนได้เพราะจิตสั่ง เดินได้เพราะจิตสั่ง รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิดได้เพราะจิตสั่ง เพราะฉะนั้นเรามาฝึกสติสัมปะชัญญะของเราให้รู้อยู่ที่ยืน เดิน นั่ง นอน พูด คิด อันเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน เป็นอารมณ์ปัจจุบัน เป็นปัจจุบันธรรม จิตรู้สิ่งใดสิ่งนั้นเป็นอารมณ์สิ่งรู้ของจิต เมื่อมีสติสำทับเข้าไปสิ่งนั้นเป็นที่ตั้งของสติ นี่ยึดเอากันอย่างนี้ มันจึงจะไม่สับสน
แต่หากว่าท่านผู้ใดมีเวลาพอที่จะไปนั่งสมาธิบริกรรมภาวนาดังที่กล่าวแล้วนั้นก็ทำ ถ้าหากว่าไม่มีเวลาทำ ก็พยายามฝึกสติ ฝึกสติอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าท่านจะสงสัยข้องใจว่า ถ้าจะไม่นั่งสมาธิ เพียงแต่ฝึกสติอยู่กับการยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เท่านั้น จิตจะสงบเป็นสมาธิได้ไหม ขอตอบยืนยันว่าได้ ขอให้ทำจริง
ท่านอาจารย์เสาร์ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของพระธุดงค์กรรมฐานในสายตะวันออกเฉียงเหนือ ท่านบอกว่าเวลานี้จิตข้ามันไม่สงบ มีแต่ความคิด พอถามว่า “จิตเสื่อมหรือเป็นอย่างไรท่านอาจารย์” เอ้า ถ้ามันเอาแต่สงบอย่างเดียว มันก็ไม่ก้าวหน้า เพราะฉะนั้นอย่าลืมนึกถึงหลักที่ว่า
สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส
สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา
ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ
ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิต เพราะฉะนั้นในเมื่อเรามีศีลบริสุทธิ์สะอาดดีแล้ว สมาธิก็คือการฝึกสติ ผู้ที่เคยทำสมาธิภาวนาจิตสงบจนกระทั่งตัวหาย จนรู้สึกว่ามีแต่จิตดวงเดียวใสสว่างอยู่ ในเมื่อจิตถอนออกมาจากสมาธิ หรือทำหนักๆเข้าจิตมันจะไม่เข้าไปสู่ความสงบเช่นนั้น เมื่อสมาธิมีพลังแก่กล้าดีแล้ว ทำให้สติสัมปะชัญญะดีขึ้น แล้วมันจะออกมากำหนดอยู่กับการยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะขยับไปทางไหน สติจะมาทำหน้าที่ เวลาทำงานสติอยู่กับงาน เวลาเดินสติอยู่กับเดิน เวลานั่งสติอยู่กับนั่ง รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิด สติอยู่กับสิ่งนั้นๆอยู่ตลอดเวลา
พอเสร็จแล้วเรามีสติอยู่ตลอดเวลา เราก็มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี บุคคลผู้ที่มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี เค้าจะมีความตั้งใจอยู่เสมอว่า ฉันจะละชั่ว ประพฤติดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ทีนี้ศีลที่เรามีแล้วบริสุทธ์สะอาดดีแล้ว หมดปัญหา ต่อไปทำใจให้มันมีความมั่นคงต่อการกำหนดรู้อารมณ์จิตในปัจจุบันให้มากๆ ยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นอารมณ์ปัจจุบัน เมื่อเรามีสติรู้พร้อมอยู่กับอารมณ์ปัจจุบันนี่ จิตมีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก กำหนดก็รู้กันอยู่ตลอดเวลาย่อมได้พลังงานทางสติ
เมื่อสติมีพลังแก่กล้าขึ้นจะกลายเป็นปัญญา แล้วสามารถที่จะกำหนดหมายรู้การยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะเรามีเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอนี่ ทีนี้ถ้าหากว่าสิ่งใดมันมาขัดใจ เกิดความยินดี เกิดความยินร้าย แล้วก็เกิดความดีใจเสียใจ ความดีใจเสียใจนั้นคือการแสดงออกซึ่งความทุกข์ใจ ทุกข์ใจปรากฏขึ้น ผู้มีสติสัมปะชัญญะมีปัญญาสามารถกำหนดรู้ตัวทุกข์นั้น นี่คือทุกขอริยสัจที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้
ทีนี้ถ้าเราฝึกหัดมีสติสัมปะชัญญะ ทุกข์เกิดขึ้น สุขเกิดขึ้น ทุกข์ดับไป สุขดับไป ทุกข์เกิดขึ้น หรือสุขทุกข์เกิดสลับกันไปอยู่ตลอดเวลา ผู้มีสติปัญญาจะกำหนดรู้ว่า นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ แล้วก็จะเกิดความรู้จริงเห็นแจ้งว่า ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนนฺติ (ยัง กิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ) สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ นั่นจุดสุดยอดของการรู้ธรรมเห็นธรรมอันละเอียดในจิต มีแต่เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับอยู่นั่นแหละ
ทีนี้ในขณะใดจิตมีความสัมพันธ์กับกายอยู่ เค้าก็จะมองเห็นสุขทุกข์คือสุขเวทนา ทุกขเวทนาที่เกิดกับกาย ช่วงใดที่จิตไปกำหนดดูแต่จิตอย่างเดียว ไม่เกี่ยวพันกับร่างกายก็เป็นการกำหนดรู้จิต เรียกว่า จิตตานุปัสสนา ถ้าจิตไปกำหนดรู้ธรรมที่เป็นนิวรณ์หรือกุศลและอกุศล หรือกำหนดรู้ ปีติ สุข เอกัคคตา ซึ่งเกิดขึ้นภายในจิตก็เรียกว่า ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน
ดังนั้นผู้ที่มาบริกรรมภาวนาพุทโธๆๆ หรือทำสติตามรู้อารมณ์จิตของตนก็ดี หรือบริกรรมภาวนาอย่างอื่น พิจารณาอย่างอื่นก็ดี ในเมื่อพิจารณาหนักๆเข้า ก็ได้กล่าวแล้วว่าธรรมชาติของจิต ถ้าจิตมีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก ก็จะเพิ่มพลังงานขึ้นทุกที ในเมื่อเพิ่มพลังงานหนักขึ้นๆ สติสัมปะชัญญะก็ดี จิตก็มีความมั่นคง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างพร้อม จิตก็จะมีการสงบวูบลงไป นิ่ง สว่าง มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งสบาย จกฺขุํ อุทปาทิ (จักขุง อุทะปาทิ) จิตสงบนิ่งสว่างไสว จักษุบังเกิดขึ้นแล้ว ขณะนี้จิตอยู่ในฌาณที่ ๑ ยังมีวิตก วิจาร จิตไหวเกิดความรู้ความคิดอ่านขึ้นมา มีสติกำหนดรู้ ญาณํ อุทปาทิ (ญาณัง อุทะปาทิ) ความคิดความอ่านความรู้ธรรมะที่ผุดขึ้นเรียกว่าอุทานธรรม เป็นปญฺญา อุทปาทิ (ปัญญา อุทะปาทิ) ทีนี้สติสัมปะชัญญะที่รู้พร้อมอยู่โดยอัตโนมัติ อะไรเกิดขึ้นดับไปก็รู้หมด ความรู้แจ้งเห็นจริงเรียกว่า วิชฺชา อุทปาทิ ในเมื่อวิชชา อุทปาทิ บังเกิดขึ้น รู้แจ้งเห็นจริง หายสงสัยข้องใจ จิตตัดกระแสแห่งวิตก วิจาร วิ่งเข้าไปสู่ เอกัคคตา จิตสงบละเอียด กายหายไปหมด ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวลอยเด่นอยู่
ในช่วงนี้จิตมีแต่ รู้ ตื่น เบิกบาน ความรู้นี่ได้ตัดขาดไปหมดแล้ว จิตวิ่งเข้าไปสู่สมาธิขั้นละเอียด ถ้าจะว่าโดยจิตก็เรียกว่า อัปปนาจิต ว่าโดยสมาธิเรียกว่า อัปปนาสมาธิ ว่าโดยฌาณ เรียกว่า อัปปนาฌาณ หรือจะเรียกว่าฌาณที่ ๔ เพราะฉะนั้นการบริกรรมภาวนาก็ดี การพิจารณาอะไรก็ดี ในเมื่อจิตมันตัดข้อสงสัยข้อข้องใจ ปล่อยวางวิตก วิจาร ปีติ สุข แล้ววิ่งไปสู่เอกัคคตา มันก็จะมีสภาวะเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นอันนี้อีกอันหนึ่งท่านทั้งหลายผู้ภาวนานี่ สิ่งที่ควรจะระมัดระวังสำหรับเรื่องความเป็นไปของสมาธิตามขั้นตอนนั้นๆ ท่านทั้งหลายฟังมามากแล้ว จะไม่กล่าวถึง จะขอเตือนสิ่งที่อาจจะทำให้เราเข้าใจผิด ความเข้าใจผิดอันนั้นบางทีก็เป็นพิษเป็นภัย หรือเป็นภัยอย่างร้ายแรง เช่นอย่างในขณะที่เราภาวนาแล้ว จิตของเราสงบนิ่งเป็นสมาธิ มีปีติ มีความสุขสบาย แต่มาภายหลังนี่ จิตมันไม่ค่อยสงบเสียแล้ว จะกำหนดหรือไม่กำหนด มันก็มีสมาธิอ่อนๆอยู่ แต่มันก็มีความรู้ ความคิดผุดออกมาไม่หยุดหย่อย ยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิด มันมีสติอยู่ รู้อยู่ เห็นอยู่ มีอยู่ เป็นอยู่ตลอดเวลา เมื่อก่อนนี้จิตสงบดีจนกระทั่งตัวหาย แต่เวลานี้ไม่ค่อยสงบ แต่ความคิดมันเกิดขึ้นอยู่เรื่อย คิดแล้วก็ทำให้สมองปลอดโปร่ง มีสติสัมปะชัญญะ ยิ่งคิดจิตยิ่งสบาย ยิ่งคิดจิตยิ่งผ่องสบาย ยิ่งคิดยิ่งมีปีติ และความสุข
บางทีอาจจะไปถามใครซักคนหนึ่ง ทำไมหนอ เมื่อก่อนนี้สมาธิจิตสงบสว่างไสวดี แต่เวลานี้มีแต่สงบนิดหน่อย มีแต่ความคิดฟุ้งๆๆขึ้นมา ไปถามคนไม่รู้เรื่อง ประเดี๋ยวว่าเดี๋ยวคุณเป็นโรคประสาทตาย อย่าลืมว่าสมาธิอบรมปัญญา ในเมื่อมีสมาธิแล้ว มีสติสัมปะชัญญะสมบูรณ์แล้ว สมาธิกับตัวสตินั่นแหละมันบันดาลให้เกิดปัญญา ปัญญาก็คือความคิด ความคิดที่มีสติรู้ทันอยู่ทุกขณะจิตเรียกว่าปัญญาในสมาธิ อันนี้ขอทำความเข้าใจไว้ก่อน ถ้าใครเป็นอย่างนี้แล้วอย่าไปสงสัย เพราะฉะนั้นในช่วงแห่งการปฏิบัติเราจึงถือคติ ถือเคล็ดอย่างนี้ ขณะที่บริกรรมภาวนาพุทโธๆๆๆ อยู่ ถ้าจิตทิ้งพุทโธปั๊บ ไปคิดอย่างอื่น ปล่อยให้มันคิดไปเถอะ แต่ให้มีสติตามรู้ไป และในช่วงใดที่จิตมันคิดขึ้นมาเอง คิดอย่างรั้งไม่อยู่ ก็ปล่อยให้มันคิดไป อย่าไปเข้าใจว่าจิตฟุ้งซ่าน
ความสงบของจิตมีอยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งสงบนิ่งโดยไม่มีอะไร อีกอย่างหนึ่งนี่ความคิดมันฟุ้งๆๆขึ้นมาอยู่เสมอ แต่ว่าจิตเป็นกลางโดยเที่ยงธรรม อย่างดีก็ทำให้มีปีติ มีความสุข เพราะความคิดนั้น ในลักษณะอย่างนี้ก็ควรปล่อยให้มันคิดไป อย่าไปห้าม อย่าให้แต่มันหยุดนิ่งอย่างเดียว อันนี้พึงสังเกตไว้อย่างนี้
และอีกประการหนึ่งส่วนใหญ่คนที่ภาวนาแล้วจิตสงบสว่าง กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก บางทีก็ไปเห็นภาพนิมิตต่างๆ ภาพนิมิตเป็นคนเป็นสัตว์ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ บางทีก็เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมา อืม ดีใจ เพราะพระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้ว พระองค์จะมาโปรดเราแล้วๆ จิตสำนึกมันรายงานออกมาอย่างนั้น บางทีก็เผลอไปน้อมจิตน้อมใจเอาพระพุทธเจ้าเข้ามา บางทีอาจจะนึกว่า อืม ให้พระพุทธเจ้ามาเหยียบบนบ่าเบื้องขวา พอนึกอย่างนั้น จะปรากฏว่าพระพุทธเจ้าก้าวเข้ามาเหยียบบ่าเบื้องขวา แล้วผู้อาราธนาพระพุทธเจ้ามานั่น บ่าขวาจะเอียงเท่เล่ลงไปหนักพระพุทธเจ้า ทีนี้ เอ้า อาราธนาพระพุทธเจ้าเหยียบบ่าเบื้องซ้าย ประเดี๋ยวก็หลังขดลงไป หนักพระพุทธเจ้า ทีนี้เมื่อพระพุทธเจ้าเข้ามาถึงจิตถึงใจแล้ว ทีนี้สภาพจิตที่สงบมีปีติ มีความสุขสบายปลอดโปร่งจะเปลี่ยนทันที เปลี่ยนเป็นอย่างใด เปลี่ยนเป็นเหมือนหนึ่งว่าหัวใจถูกบีบ อึดอัดแน่นไปหมด สมาธิที่ปลอดโปร่งเป็นอิสระแก่ตัวเอง ตกอยู่ในอำนาจที่เข้ามาแทรกสิงนั้น แสดงว่าพระพุทธเจ้าปลอม เราเข้าใจผิดจึงไปน้อมเอาภาพนิมิตเข้ามาในตัว กลายเป็นการทรงวิญญาณ โดยลักษณะอย่างนี้ ชาวพุทธเปลี่ยนศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาอื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ
นี่นักภาวนาทั้งหลายนี่ขอให้ระมัดระวังที่ตรงนี้ เราภาวนาเพื่อจะทำจิตของเราให้สงบเป็นสมาธิ เป็นอิสระแก่ตัว อย่างสมมุติว่าเราภาวนายุบหนอพองหนอๆ พอจิตสงบวูบนิ่ง สว่าง รู้ตื่นเบิกบาน บางทีจิตไปนิ่งรู้ตื่นเบิกบานอยู่เสมอ ไม่มีความรู้สึกนึกคิดอะไรอื่น มีแต่ความสว่าง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในช่วงนี้จิตเป็น อตฺตทีปา มีตนเป็นเกาะ อตฺตสรณา มีตนเป็นที่ระลึก อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน
ถ้าใครภาวนาให้ถึงจุดนี้ จะรู้สึกว่ามีความสบายเบา รู้ตื่น เบิกบาน ปลอดโปร่ง ถ้าหากว่ากายยังมีอยู่ ก็จะมีปีติและความสุขปรากฏขึ้น ถ้ากายหายไปจะยังเหลือแต่ความเป็นกลางของจิต จะว่าสุขก็ไม่ใช่ จะว่าทุกข์ก็ไม่ใช่ มีแต่ความเป็นกลางซึ่งเรียกว่า อุเบกขา กับ เอกัคคตา จุดนี้จิตเป็นตัวของตัวโดยเด็ดขาด ไม่มีอำนาจสิ่งใดจะมาแทรกสิง แต่ในช่วงที่จิตยังไม่เข้าถึงจุดนี้ พอจิตสว่างแล้วกายยังปรากฏอยู่ เราไปหลงน้อมเอาสิ่งอื่นเข้ามาในจิตในใจของเราเนี้ย เสร็จแล้วเราจะกลายเป็นคนทรงเจ้าเข้าผี เพราะฉะนั้นอันนี้ควรระมัดระวังให้ตรงหนัก
เอาละวันนี้ได้บรรยายธรรมะพอเป็นคติเตือนใจของบรรดาท่านทั้งหลาย ขอสรุปลงการปฏิบัติธรรม สำคัญอยู่ที่ทำตนให้เป็นผู้มีศีล ศีล ๕ เป็นพื้นฐานให้เกิดคุณงามความดี เป็นอุบายตัดทอนผลเพิ่มของบาปกรรม เป็นอุบายบั่นทอนกำลังของกิเลส เป็นอุบายป้องกันไม่ให้มนุษย์เกิดมีการฆ่ากัน เป็นคุณธรรมปรับพื้นฐานความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ เป็นคุณธรรมขอบเขตของการใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์โดยความเป็นธรรม
สำหรับการทำสมาธิหลักโดยทั่วไปก็คือทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก จิตรู้อะไรก็ให้มีสติ บริกรรมภาวนาก็ให้มีสติ จะพิจารณาก็ให้มีสติ จิตเกิดปัญญาขึ้นมาก็ให้มีสติ ทีนี้ในขณะใดจิตต้องการจะสงบนิ่งว่างก็ปล่อยให้ว่าง ขณะใดจิตต้องการคิด ปล่อยให้คิด แต่ให้มีสติตามรู้ไป สรุปลงแล้ว แผนของการปฏิบัติสมาธิอยู่ตลอดเวลาโดยไม่เลือกกาลไม่เลือกเวลา ให้ถือเอาการยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นอารมณ์จิต ให้มีสติรู้พร้อมกับสิ่งเหล่านี้ อย่าไปถือว่าทำสมาธิคือนั่งขัดสมาธิหลับตาเพียงอย่างเดียว สมาธิเราต้องทำทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ จะไปเอาเฉพาะเวลานั่งหลับตา มันไม่เพียงพอ เวลามันน้อย ดังนั้นถ้าหากว่าเราฝึกสติให้มันรู้พร้อมอยู่ที่การยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เราจะได้สมาธิ ได้พลังสติสนับสนุนกิจการอันเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน เราสามารถที่จะนำธรรมะไปใช้เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตประจำวันได้ตลอดกาล ในท้ายที่สุดนี้ด้วยอำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยจงดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายมีจิตใจ มีแนวโน้มเข้าไปสู่สภาวะรู้ ตื่น เบิกบาน อันเป็นคุณธรรมที่ทำคนให้เป็นพระพุทธเจ้า
แล้วก็ปรารถนามรรคผลนิพพานก็ให้สำเร็จตามปณิธานความปรารถนาโดยทั่วกันมาทุกท่านเทอญ โดยบรรยายมา ก็สมควรแก่เวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้