หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร
ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เสียงดังเพราะว่าเราภาวนาฟังมันก็จะได้ชัดเจนขึ้น แต่ถ้าคนอยู่ในที่เสียงรบกวนอย่างนั้นน่ะ ก็อาศัยใช้เครื่องขยายเสียงนี่เพราะว่าสถานที่มันไม่สงบนั่นแหละ อย่างสมัยจำพรรษาอยู่ภาคกลางคนมันเยอะ มาทำบุญกันเต็มศาลาแล้วก็พูดกันเกรียวกราว ไม่ค่อยได้ฟังเสียงกัน เค้าก็เลยเอาเครื่องขยายเสียงมาใช้ให้มันดังท่วมเสียงที่คนพูด แต่เราอยู่ในที่ปฎิบัติในที่ภาวนาอย่างนี้ เราก็ไม่ค่อยได้ใช้เสียงดัง
เราอยู่ตามป่า เราอยู่ในธรรมคือป่า ป่านั้นคือเป็นต้นธรรม สถานที่ที่ไหนเป็นป่า ที่นั่นก็เรียกว่าธรรมไปเกิดไปเจริญในที่นั่น แต่ถ้านี้ไหนไม่มีป่า กิเลสโลกมันก็เจริญในที่มันว่างมันไม่มีป่านั่น มันร้อนแล้วมันก็ไม่สงบอย่างนี้ ฉะนั้นป่าเป็นสถานที่สงบสงัดเป็นที่ปฏิบัติธรรม เป็นที่เจริญพระกรรมฐาน อย่างพวกเราทุกท่านทุกองค์ที่เป็นพระสงฆ์สามเณร ที่เราแสวงหาภาวนาหาเที่ยวธุดงค์กันทั่วทุกหนทุกแห่ง ทั้งในที่ราบและบนเขา เราได้ข่าวที่ไหน มีป่าใหญ่ป่าลึก ก็มีความรู้สึกอยากจะไปปฏิบัติไปอาศัยอย่างนี้ ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้ามาแล้วแหละ ไม่ใช่สมัยของพวกเราที่มาเล่าสู่กันฟัง มันมีเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าของเรามา ๒๐๐๐กว่าปีน่ะ ฉะนั้นป่าจึงเป็นธรรม เป็นที่เกิด ที่อยู่ ที่เจริญของธรรม อย่างที่เราเคยได้รู้ประวัติของพระพุทธเจ้า ก็จะมีเรื่องเกี่ยวข้องกับป่า อย่างที่เราว่าประสูติเกิดมาก็ประสูติเกิดในป่าอย่างนี้ แล้วก็เสด็จออกบวชแสวงหาธรรมตรัสรู้ก็ไปอยู่ในป่า แล้วตรัสรู้แล้วก็ยังอาศัยป่าเป็นที่อยู่เพื่อความผาสุขสงบร่มเย็น เสวยบรมสุขอยู่อย่างนี้ และได้ตรัสรู้ก็ได้ตรัสรู้ในป่า และปรินิพพานก็ปรินิพพานในป่าอย่างนี้
เหตุนั้นความที่ศาสนากับป่ามีความเป็นมาและอยู่ได้ ตั้งอยู่ได้ด้วยกันและก็จะเป็นไปในข้างหน้าก็ต้องอาศัยป่านั่นน่ะ เพราะป่าเป็นธรรมเป็นที่สงบเป็นที่ร่มรื่นเยือกเย็นเป็นที่อาศัยอยู่เพื่อปฏิบัติธรรม และไม่ใช่แต่เราด้วย ไม่ใช่แต่คนเราร่างกายคนเรา สัตว์ต่างๆเขาก็อาศัยป่าแล้วเขาก็แสวงหาป่าอย่างนี้ ที่ไหนมีป่า เค้าก็ไปอาศัยอยู่ อาศัยหลบภัย อาศัยกินอยู่ แล้วก็อาศัยความสงบร่มเย็น อาศัยความที่มันมีสิ่งที่เป็นธรรมให้เขาอยู่ได้ ถ้าเกิดไม่มีป่าอย่างนี้ อย่างสัตว์ป่านี่ มันเที่ยวไปในที่โล่งที่แจ้งชุมชนผู้คน มันก็ไม่ปลอดภัยไม่รอดแล้ว เค้าก็จะล่าจะฆ่ามันกิน อย่างนี้ ฉะนั้นป่าเป็นที่เป็นธรรมหรือว่าเป็นที่อยู่ของศีลธรรมด้วยอย่างนี้
ฉะนั้นอย่างว่าที่นี้เนี่ย ที่เราอยู่ที่วัดเราเนี่ย มันเป็นที่สงบสงัดปลอดจากเสียงจากสิ่งกระทบกระเทือนภายนอก มันเป็นที่ที่จะให้เราได้รับความสงบ คือความสงบที่ไม่มีสิ่งกระทบรบกวนภายนอก ไม่มีเสียงที่จะมาทำให้ความสงบนั่นวุ่นวายขึ้นมา เค้าจึงว่าเราทำจิตของเรา ภาวนา ทำความสงบในจิตของเราให้เกิดขึ้น มันก็เกิดความชัดเจนขึ้นอย่างที่ว่าเราไม่ได้ใช้เสียง ไม่ใช้เครื่องขยายอย่างนี้ เราใช้แต่เสียงพูด เสียงลมของเราอย่างนี้ มันก็พอดู พอรับกันได้อย่างนี้ แต่ว่าอย่างเราอยู่กันมากอย่างที่เราอยู่เดี๋ยวนี้ หรือว่าจำนวนมากกว่าปกติ แล้วก็ห่างไกลกันเกิน เสียงมันส่งไปไม่ถึง แต่ถ้าพูดถึงว่าเราอยู่เฉพาะมันก็ใช้คำพูด ใช้ลมของเรานั่น มันก็ได้ยินทั่วหมดชัดเจนหมด ฉะนั้นการที่เราอยู่ร่วมกันมีจำนวนมากอย่างนี้ คือมากคือเรานับจำนวน นับส่วนบุคคล
อย่างพระนี่ก็ไม่ได้เรียกบุคคล พระท่านเรียกว่าเป็นองค์อย่างนี้ องค์ก็แปลว่าเป็นองค์หนึ่งเป็นที่หนึ่งอย่างนี้ ถึงว่าองค์ เอก เอกะ อังคะ ก็เป็นองค์หนึ่งอย่างนี้ คือว่าถึงว่าเราจะอยู่มากจำนวนมากอย่างนี้ ก็ให้เราทำความเข้าใจ ทำความเข้าใจเตือนใจเราไว้ว่าคือเรามีองค์เดียว เราอยู่องค์เดียวอย่างนี้ ให้มีความรู้ในใจของเราเอง ไว้เป็นอารมณ์หรือว่าเป็นหลักภาวนา หรือเป็นหลักธรรมประจำกายประจำใจของเราว่าคือมีองค์เดียว เราจะอยู่กับหมู่ หรือจะไปอยู่ก็คือองค์เดียวอย่างนี้ คือทำความรู้ความเข้าใจให้เป็นองค์องค์เดียวอย่างที่คำพูดที่เรียกกันว่า พระเณรกี่องค์อย่างนี้ ก็พูดถึงว่าพระเณรเป็นผู้ไม่เหมือนบุคคล หรือไม่เป็นฆราวาส คือเป็นพระที่บวชมามีองค์ศีลที่ได้สมาทานมา แล้วก็มีองค์สมาธิ ที่พระอุปัชฌาย์ท่านสอน แล้วก็มีองค์ปัญญาขึ้นมาใส่ใจของเราตลอดถึงท่านได้มอบหมายผ้ากาสวพัสตร์ให้นี่
การที่ได้พบได้ชีวิตเกิดมาในศาสนา เราก็เกิดมาด้วยธรรมด้วยวินัย ด้วยกรรมฐานท่านว่า ท่านมอบให้ทุกอย่างนั่นแหละ ที่อุปัชฌาย์มอบให้บวชให้ทุกองค์ แล้วก็ได้เรียกว่าองค์พระองค์เณร คือเป็นองค์เดียว ฉะนั้นถ้าเราปฏิบัติตัว ปฏิบัติต่อจิตเราให้ได้ความเข้าใจในปัญญาเกิดขึ้นในใจของเราอย่างนั้น เราจะอยู่ที่ไหน เราจะไปร่วมในหมู่ในคณะที่ไหน เราก็เป็นผู้ไม่เผลอ ไม่หลง ไม่ลืม ไม่ประมาทนั่นหละ ก็รู้สึกความเป็นอยู่องค์เดียวของเรา คือไม่ไปยุ่งเกี่ยวอย่างนี้ ไม่ไปมีการกระทบองค์อื่นรูปอื่น เพราะว่าเรารู้ว่าเรามีรูปมีตัว อย่างนี้ เป็นองค์อยู่ แล้วเราก็มีจิตเป็นเจ้าของเป็นผู้รู้ แล้วก็มีไตรสิกขาอยู่คือมีศีลที่ได้มาเท่ากัน แล้วก็มีสมาธิ คือการทำจิต การปฏิบัติจิตของเราให้อยู่ในธรรม คือให้อยู่ในความสงบอย่างนี้ หรือว่ามีใจที่มั่นคงต่อสติอารมณ์การรู้กายรู้ใจของตัวเอง ก็เรียกว่าสมาธิ คือมีความมั่นคง ไม่ทำให้อารมณ์ของจิตของเราแตกออกไปภายนอก ให้รวมอยู่เป็นองค์อย่างนี้ เป็นองค์หนึ่งอยู่ตลอด ฉะนั้นถ้าเราทำจิตของเราได้อย่างนี้ เราจะอยู่จะไปอะไรทุกอย่างนี่ เราก็เป็นผู้ที่อยู่ในคุณพระนั่นแหละ อยู่ในข้อปฏิบัติของพระ ท่านว่าอย่างนี้ จะไม่มีการกระทบไม่มีเรื่องเดือดร้อน เป็นผู้ที่มีสติระลึกอยู่ในจิตเสมอ และก็มีสัมปชัญญะคือรู้ตัวอยู่ตลอดนั่นน่ะ รู้ว่าเรามีองค์เรียกว่าเป็นองค์พระ องค์ผู้รู้ องค์ศาสนา มีอยู่ในกายในจิตของเรานั่นแหละ อย่างที่ว่าเวลาเราอยู่องค์เดียวบ้าง อยู่จำนวนมากบ้างเราก็จะได้วัดได้เทียบดู เพื่อเราจะได้รักษาองค์พระ องค์ศีล องค์สมาธิ องค์ปัญญาของเรานั่นแหละ ไม่ให้มันพุ่งไปหรือซ่านไป ออกไปนอกตัวเราอย่างนี้ รักษาความสงบ
เหตุนั้นความที่เราเป็นพระนี่ ก็เป็นหนึ่งในบริษัท ๔ คือพุทธบริษัท ๔ ก็นับจากพระนี่แหละเป็นบริษัทที่หนึ่ง จึงเรียกว่าบรรพชิตเป็นผู้ที่มีบุญได้มาเกิดมาบวชในศาสนาน่ะ มาอุบัติขึ้นในศาสนาด้วยบุญ ไม่ได้เกิดเหมือนเราเกิดมาเป็นคนที่ว่าไม่ได้เกิดมาคลอดมาอย่างนั้น เราเกิดมาด้วยบุญ อุบัติมาจากอุปัชฌายะ คือผู้ให้เกิด เป็นผู้มีบุญและเป็นผู้มีฌาณมีความรู้ มีญาณ อุปัชฌายะ ไม่เหมือนพ่อแม่ที่เกิดมาจากบ้านให้เรา คนละภูมิกัน คนละชั้นกัน ถึงว่าการได้มาเกิดเป็นพระนี่ ได้มาอุปสมบทอุบัติขึ้นมาด้วยการปฏิบัติ ด้วยกิจของสงฆ์ที่ท่านยกขึ้นมา ท่านใช้สังฆกรรมทำขึ้นมา ใช้สีมาใช้โบสถ์อย่างนี้แล้วก็ก็ใช้สวดญัตติจตุตถกรรม ตามพระธรรมวินัยยกขึ้นมาเป็นพระเป็นสงฆ์อย่างนี้ คือยกขึ้นมาเป็นชั้นสูงหละทีนี้ ยกออกมาจากฆราวาสนั่นแหละ คือว่ามาเกิดในชาติสูงชื่อว่าบรรชิต บรรพตก็แปลว่าภูเขา แปลว่าชาติที่สูง เราต้องสำนึกรู้สึกตัวเราอย่างนั้น อย่างเป็นพระนี่สูง เป็นผู้ที่มีบุญที่ได้เกิดได้ยกขึ้นมาไม่ตกต่ำ อย่างที่เราเกิดในท้องในครรภ์มารดาขึ้นมาสูงอย่างนี้ ความที่ได้มาสูงเพราะบุญ
แล้วเรามาเกิดร่วมตระกูลของพระพุทธเจ้าด้วยอย่างที่เรียกว่าตระกูลศากยะ ตระกูลกษัตริย์ที่พระพุทธเจ้าได้มาอุบัติเกิด แต่นี่เราก็ไม่ได้เกิดตามตระกูลของพระพุทธเจ้าจริงๆ แต่เรามาเกิดในตระกูลพระพุทธศาสนา ท่านจึงบอกแล้วว่า สกฺย ปุตโต สกฺยกุลลา สกฺยมุนี คือเราได้มาเกิดในเป็นบุตรตระกูลพระพุทธเจ้าในตระกูลมุนีท่านผู้รู้ อย่างนี้ก็ถือว่าได้ร่วมตระกูลหละทีนี้ ตระกูลของศากยะ ตระกูลที่เกิดมาของพระพุทธศาสนาเรา เหตุนั้นถ้าเราได้เข้าใจเรื่องที่เกิดที่มา รู้จักที่ของศาสนาอย่างนี้ เรารู้สึกตัวเราขึ้นมาอย่างนี้นะ เราก็เกิดความภาคภูมิใจทีนี้ เกิดความรู้ที่ว่าดีใจในบุญวาสนาที่เราได้มาเกิดด้วยบุญ ไม่ใช่มาด้วยอย่างอื่นทางอื่นหละทีนี้ มาด้วยบุญ ถ้าบุญเราไม่มี ไม่พออย่างนี้ มันก็มาไม่ได้ อย่างคนที่จะมาบวชอย่างนี้ บางคนก็คิดอยาก แต่มันก็ไม่ถึงเวลาจะกินได้อย่างนี้หละสิ มันก็ต้องอดไว้ก่อน ถ้าบุญถึงนี่ คิดอยากแต่ก็มีศาสนาพร้อม รอเราอยู่ เราก็พร้อมที่จะกินได้เลย แต่นี่แต่เราคิดอยากแต่มันยังรับไม่ได้เหมือนคนป่วย มันก็กินไม่ได้ทีนี้ เหมือนอาหารเหมือนข้าวที่ตั้งไว้มีอยู่ มันก็กินไม่ได้ เหตุนั้นเราต้องรู้ว่าการที่ได้มาบวชแต่ละคนนี่ แต่ละองค์นี่ก็มาจากบุญ บุญหนุนบุญส่งให้มาอย่างนี้
แต่เมื่อเราบวชมาแล้วนี่ เราก็ต้องมาปฏิบัติมาสร้างมาเสริมมาเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เหมือนการเกิดของเด็กอย่างนี้ ไม่ใช่ว่ามันเกิดแล้วมันจะอยู่นิ่งๆ มันจะต้องดิ้นรน จะต้องมีการกินการเจริญวัยอย่างนี้แหละ ก็เหมือนเราบวชก็เหมือนกันหละทีนี้ พอเราเกิดขึ้นมา ไม่ใช่ว่าเราจะอยู่นิ่งเฉยสบาย อยู่แบบไม่มีความขยันหมั่นเพียรความอุตสาหะอย่างนี้ก็ไม่ได้ เราจะต้องสร้าง จะต้องปฏิบัติ จะต้องเจริญบุญเพิ่มความดีอย่างนี้แหละ ที่เราจะมีกำลังมีความเติบโตมีสติปัญญามีบารมีแก่กล้าขึ้น ไม่ใช่ว่าเราเกิดขึ้นมาแล้วเรามีเต็มมีพออะไร ก็ต้องมาสร้าง เพราะเราก็รู้ว่าปัจจุบันอย่างนี้ที่เราอยู่ เรารู้ปัจจุบันที่เราอยู่ เราก็ไม่ใช่ว่ามีสิ่งที่ให้เราได้เราเป็นอย่างอดีตเบื้องหลังที่พระพุทธศาสนาเคยเจริญมา
สมัยครั้งพระพุทธเจ้า พระสาวก อันนั้นท่านมีบุญมาก ท่านมีบารมีมาก ท่านมีสติปัญญาเต็มเปี่ยม เราต้องทำความรู้สึกเรา เหตุนั้นเราจะเห็นกันอยู่ทั่วอยู่ เราก็พูดกันว่าทุกสิ่งทุกอย่าง รูปร่าง บุญวาสนา สติปัญญาเราเทียบไม่ได้ เทียบอดีตครั้งก่อน ครั้งพระพุทธเจ้าไม่ได้อย่างนี้ เพราะอะไร ก็เพราะบุญ เพราะความดีที่มีมานั่นแหละ ไม่ได้ เพราะสมัยนั้นท่านสร้างมาเพียงพอสมบูรณ์อย่างนี้ ตลอดถึงท่านเกิดมาในยุคโลก สถานที่ต่างๆนี่มันก็สมบูรณ์ด้วยกันหมดหละทีนี้ มันมาด้วยบุญ กาลเวลามันหมุนเวียนมันกำหนดมาเองอย่างนี้ มาถึงเวลาเรานี่ มันไม่มีแล้ว มันหมดไป มันผ่านไป แต่ให้เราเข้าใจว่าศาสนานั้น หลักของศาสนาจริงๆมันไม่ได้หมดไป ไม่ได้ผ่านไป มันยังมีอยู่ในจิตในความรู้ที่เราได้ทำความดี ทำความสงบเข้าไปมันถึงจะไปพบไปเห็นได้ตรงนั้น
แต่ส่วนภายนอกให้มันเป็นไปทีนี้ แต่เราจะให้สมบูรณ์ให้เหมือน มันก็เหมือนไม่ได้หละทีนี้ แต่มันก็มีหลักเหมือนกัน ที่จะให้เราเอามาปฏิบัติ เอามาทำให้เกิดคุณค่าหรือให้ความรู้ในทางธรรมหละมันก็มีอยู่ มันไม่ได้สูญสิ้นไปหมด แต่มันมีส่วนที่ร่อยหรอ คือมันไม่มีของสมบูรณ์เหมือนเดิมอย่างนี้ อันนั้นหละเป็นส่วนหนึ่งที่เราเห็นภายนอก เหตุนั้นการที่เราเป็นบรรพชิตเนี่ยเรียกว่าเป็นชาติที่สูงสุดในพระพุทธศาสนาท่านว่า หรือว่าเป็นสัตว์ที่หนึ่ง หรือว่าเป็นพุทธบริษัทประเภทหนึ่ง หรือว่าภิกษุ ระดับเป็นภิกษุณีเป็นฝ่ายผู้หญิง นอกนั้นก็ยังเป็นอุบาสกฝ่ายฆราวาส อุบาสิกา ผู้ชายผู้หญิงอย่างนี้ ท่านเรียงลำดับไว้อย่างนั้น แต่หลักศาสนาจะยั่งยืนอยู่ได้จะมั่นคงอยู่ได้ก็คืออาศัยพระ อาศัยชาติบรรชิตท่านว่า คือเป็นหลักเป็นผู้นำเป็นตัวอย่างที่จะชักจูงบริษัททั้ง ๓ นั่นให้ตามไปทีนี้ อย่างที่ว่าภิกษุณีอย่างนี้ก็เสื่อมไปแล้ว แต่ส่วนอุบาสกอุบาสิกานี่ก็ยังมีเหมือนเดิม ยังปฏิบัติกันอยู่อย่างนี้แหละ เราก็ได้ร่วมกันอยู่ เราก็อาศัยอุปถัมภ์บำรุงศาสนาคือพระสงฆ์ให้ได้รับความสะดวก นี่หละให้ได้ไม่หิวโหยไม่กังวลไม่เดือดร้อนเรื่องปัจจัย ๔ อันนี้ก็ถือว่ามีหลัก มีเครื่องรองรับ
อย่างอุบาสก อุบาสิกานี่เป็นผู้ยังทรงไว้ เป็นผู้ยังสืบไว้ คือไม่ปล่อยให้พระสงฆ์ลำบากในเรื่องความเป็นอยู่ เรียกว่าเป็นผู้ที่ทรงศาสนาไว้ด้วยกัน แต่ว่าก็อาศัยกันนี่ทีนี้ อาศัยพระ อย่างพระอาศัยเป็นตัวอย่างเป็นผู้ฝึกสอนคือว่าเป็นผู้ที่เตือน อย่างอุบาสก อุบาสิกานี่ ถึงว่าอาศัยเข้าวัด เพราะอุบาสก อุบาสิกานี่มีภาระมาก มีกิจที่จะต้องทำหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเองอย่างนี้นะ จะต้องอยู่ด้วยสมบัติด้วยของตัวเองอย่างนี้ จึงว่ามีภาระมีความกังวลมากแต่ก็อาศัยพระ อาศัยพระศาสนานี่เป็นเครื่องที่จะระงับดับความทุกข์ความเดือดร้อนความกังวลความเศร้าโศกเสียใจโรคภัยไข้เจ็บต่างๆอย่างนี้ มันก็เลยเป็นเครื่องที่อยู่ด้วยกัน หนุนกัน อาศัยกัน อย่างที่ว่าโยมก็หันหน้าเข้าวัด พระก็หันหน้าเข้าบ้าน อย่างเราก็ปฏิบัติกันพระก็มีกิจคิดอยู่แล้วก็มีอารมณ์เป็นประจำหละทีนี้ เมื่อถึงเวลาพระก็ต้องออกจากที่เดินเข้าบ้านไปอาศัยรับบิณฑบาตร นั่นหละท่านว่าไปโปรดสัตว์ ก็คือสัตว์ก็คือคนนั่นแหละ หรือพวกที่ยังอาศัยยังมีชีวิตยังกินยังใช้อยู่ เนี่ยพระก็เหมือนกัน ถึงพระไปโปรดสัตว์ก็คือโปรดตัวเองหละทีนี้ เพราะร่างกายพระก็เป็นสัตว์คือมีความที่ต้องการอาหารปัจจัยเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต ก็เดินสวนทางกัน แล้วโยมก็มุ่งมาวัด ก็มุ่งมาปฏิบัติมาทำบุญ มาพึ่งวัดพึ่งความสงบ พึ่งความร่มเย็นของพระพุทธศาสนา มันเป็นการที่อาศัยสวนทางกันอย่างนี้
คืออย่างพระนี่ก็เหมือนกัน เราสวนทางเพราะเราก็เป็นฆราวาสมาก่อน เราก็เกิดมาจากบ้าน โตมาจากบ้าน เมื่อเรามาอยู่วัด เราก็ย้ายที่มาอยู่ เมื่อมาอยู่นานมันก็ไม่ได้คุ้นเคย ไม่ได้สนิทกับเรื่องของบ้าน ก็พระไปก็ได้เมตตา ได้ทำประโยชน์ ได้ทั้งธรรมะ ได้ตั้งสติปัญญา เหตุนั้นสมัยครั้งพระพุทธเจ้าท่านก็ไปเรียกว่าไปโปรดสัตว์ ไปโปรดตัวท่าน ไปเจริญธรรมะ ไปได้อุบายต่างๆจากบ้าน บางทีบางองค์อย่างนี้ บิณฑบาตรไป ไปพบไปได้ยินดีผัวเมียเค้าผิดกัน เค้าด่าเค้าอาละวาด ท่านก็ได้อุบายปัญญาวิปัสสนา ท่านก็ได้ธรรมะมาเป็นหลักบรรลุมรรคผลก็มี เพราะว่ามันไม่ค่อยได้เห็นได้เป็นบ่อยๆอย่างนี้หละทีนี้ ท่านเลยเกิดเป็นธรรมะ เกิดเป็นปัญญารุ่งโรจน์ขึ้นมา ทำให้รู้เรื่องกาม เรื่องกิเลส เรื่องความไม่สงบหละทีนี้ ไม่ใช่ว่าถ้าไม่มีอย่างนั้นก็จะไปดูความหลง หลงกิเลส หลงความดัดแปลงปรุงแต่ง หลงรูป หลงสีสันวรรณะของคนอื่นอย่างนี้ เพราะว่าตากิเลสมันเที่ยวไป มันสอดมันส่องมันถ่ายไป มันก็เป็นเรื่องทำให้พระต้องคืนไปบ้านทีนี้ คืนไปอยู่กับกิเลสได้ เพราะมันติด มันหลงมันติดได้ ถ้าไปเห็นเป็นธรรมอย่างนั้นมันก็ไม่ไปหลงไปติดทีนี้ ท่านก็เห็นโทษของกาม เห็นกิเลสในที่ฆราวาสที่บ้านที่โลกเค้าเป็นอยู่ จึงได้เมตตา ได้ธรรมะได้คุณธรรมประโยชน์มากมายหละทีนี้
ถ้าไปปฏิบัติ มันไม่ไปว่าเราอยากได้อาหาร ข้าวของเขาอย่างที่เราอยากเราเคย อยากให้เขาเอาอันนั้นอันนี้ใส่ให้ ท่านไม่ได้สอนให้ไปแบบนั้น ท่านสอนไปแบบนั้นมันก็ไปกับกิเลสทีนี้ กิเลสมันก็เป็นเพื่อนติดไปมองไปคิดไปหละทีนี้ มันก็ไม่สงบหละทีนี้ มันก็ไม่ถูกตามหลักจิตของพระพุทธเจ้าที่ว่าโปรดสัตว์ คือไม่ใช่จะโปรดทั้งเขา คือโปรดเรา ได้ทั้งสองทาง คือไม่ได้มีความเสียหาย แล้วฆราวาส อุบาสก อุบาสิกาเค้าก็มีส่วนได้ทีนี้ เค้าได้บุญ เค้าได้มีความอิ่มใจ มีความดีใจอย่างนี้ที่ได้ให้ชีวิต คือให้ปัจจัยก็คือให้ชีวิตนั่นแหละ เพราะว่าไม่ได้เอาไปเพื่ออย่างอื่น เอาไปเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตไปบำรุงรักษาชีวิตให้เป็นอยู่ได้ แค่นี้เรียกว่าเป็นกิจของบรรพชิตหละทีนี้ เป็นกิจที่หนึ่งของพระพุทธศาสนาด้วย แล้วเป็นกิจเป็นพุทธกิจ เป็นกิจของพระพุทธเจ้าที่ปฏิบัติมาเป็นตัวอย่างของศาสนามาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าทีนี้
การเที่ยวบิณฑบาตร การบิณฑบาตรโปรดสัตว์อะไรอย่างนี้ อย่างที่เราเป็นพระปฏิบัติพระธุดงค์ก็เหมือนกันหละทีนี้ มันเป็นกิจที่หนึ่ง นอกจากว่าเรางด เราไม่ฉันอย่างนั้นน่ะ ถ้าเราฉันก็เป็นกิจที่หนึ่ง เป็นกิจแรกของวันหนึ่งของรุ่งเช้าของทุกวันนั่นแหละ ต้องทำก่อน ฉะนั้นท่านจึงบอกว่าเป็นกิจของพระพุทธเจ้าที่ทำก่อนกิจอื่น เรียกว่าเช้า ตื่นเช้าขึ้นมาก็ ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ คือได้อรุณขึ้นมาอย่างนี้ก็เที่ยวบิณฑบาตรโปรดสัตว์อย่างนี้ แล้วก็พิจารณาถึงเวไนยสัตว์ บุญวาสนาของสัตว์ที่อยู่แต่ละที่ ที่ควรที่จะไปโปรด ท่านจึงบอกว่าเป็นกิจหนึ่งของพระพุทธศาสนา
ฉะนั้นการที่เรามาเป็นชีวิต เป็นพระ เป็นสงฆ์ เป็นองค์ ถ้าเรารู้จักกิจ รู้จักชีวิตของเรา รู้จักคุณค่าความที่เรามาได้มาเกิดในศากยะตระกูล เราเป็นผู้ที่มาจากตระกูลต่างๆที่ไม่เท่ากัน ที่ได้มาบวชในศาสนาน่ะ มาจากตระกูลต่างๆกัน หลายอาชีพหลายระดับ ถ้าเรามาเกิดในศากยะตระกูลก็เรียกว่าเสมอกันทีนี้ ไม่มีแล้วว่าต่างตระกูล ต่างอาชีพ ไม่มี ต่างเผ่าพันธุ์ไม่มี ก็จะเหมือนกันหมด ก็เหมือนลูกพ่อเดียวตระกูลเดียวอย่างนี้ ส่วนจริตนิสัยที่เราจะมาปฏิบัติหละทีนี้ ก็มาอาศัยดัดด้วยศีลอย่างนี้ เป็นข้อปฏิบัติธุดงควัตร อันนั้นเป็นเครื่องดัดกิเลสเข้าไปอีก แต่ถ้าว่าศีลนี่เป็นส่วนที่เค้าบวชส่วนมีจำนวนมีประเภทมาก แต่ส่วนธุดงควัตรท่านจำกัด ท่านก็กำหนดไว้แต่ ๑๓ ข้อ อันนั้นเป็นศีลที่ละเอียด เป็นการดัดกิเลสที่ คือแต่ละข้อๆมันเป็นการจำกัด เป็นการดัด เป็นความที่รัดกุมเรียกว่าดัดกิเลส
นอกนั้นก็ยังมีเรื่องการฝึกทำสมาธิ ฝึกทำความสงบ ฝึกทำความเข้มแข็งให้จิตใจของเราที่ยังไม่เข้มแข็งทนทาน เราก็มาฝึกมาเพียรมาปฏิบัติกันตรงนี้หละทีนี้ ทำให้มีความมั่นคงขึ้น อย่างที่เราบวชมาอย่างนี่ บางทีเราก็ไม่ได้กำหนดหรือบางทีเราก็คาดไว้ลางๆ แต่ถ้าเรามีสมาธิมันก็มีความมั่นคงมากขึ้น คือมันยืดยาว มันมีกำลังที่มันจะเป็นไป อย่างนั้นเรียกว่าเราไม่ได้เต็มไม่ได้สมบูรณ์อย่างพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าเหมือนเมื่อก่อน แต่เมื่อก่อนนี้จะไม่มี…อย่างสมัยของเรา ของเรานี่ก็มีหลายระดับหละทีนี้ มีกำหนดมากน้อยต่างกัน หรือกำหนดเฉพาะวันเดือนนอกในพรรษาอย่างนี้ แต่ของพระพุทธเจ้าไม่มีอย่างนั้น คือบวชแบบมอบกายถวายชีวิต คือไม่มีจิตที่จะกลับคืนอย่างนี้ มันต่างกันตรงนั้นหละทีนี้ แต่นั่นท่านก็มีแต่ปฏิบัติ มีแต่เดิน คือไม่ถอยกลับไปแล้ว แล้วก็ไม่หยุดอยู่แล้ว ท่านมุ่งเดินที่จะให้ถึงจุดหมายปลายทางอย่างเดียว แต่มาถึงยุคของเรามันไม่เป็นอย่างนั้นทีนี้ มันก็มัวเมา แล้วมันก็หมุนไปทุกทิศทุกทาง มันก็เลื่อนลอยอะไรต่างๆอย่างนี้ แล้วตัวอย่างมันก็ไม่เต็มแบบอะไรอย่างครั้งก่อน มันมีความลดหย่อนอะไรต่างๆนี่
ก็ต้องมาดูที่จิตที่ความรู้ของเราหละทีนี้ เราจะรู้เหตุของความดี บารมีต่างๆนี่ เราจะไปดูรูปร่างภายนอกไม่ได้ เราต้องมาดูจิต ดูความที่เรารู้ ดูกำลังจิต กำลังความสงบมั่นคงของจิต เราถึงจะรู้ เราไม่ใช่ว่าเราจะไปวัดด้วยรูปด้วยภายนอกได้ทีนี้ คือมันเป็นเรื่องจิต เรื่องความรู้ เรื่องความดีต่างๆที่เราสร้างมาที่ไม่ได้เกี่ยวกับรูป แต่เราก็เอารูปสร้างแต่จิตเราเก็บผลมาอย่างนี้นะ เมื่อเรารูปเราสละทิ้งไปอย่างชาติหลังเบื้องหลังนี่ เราจะเอามาใช้ไม่ได้แล้ว เราก็ต้องเอาปัจจุบัน เอาความรู้ความดีที่เรามีอยู่นั่นน่ะ เป็นเครื่องนับในจิตของเราน่ะ มันจะนับได้ทีนี้ แล้วเราพูดถึงสมัย พูดถึงสมมุติที่ล่วงแล้วไปกับปัจจุบัน เราก็จะเอามาวัดกันดูหละทีนี้ เหตุนั้นมันอยู่ที่จิต อยู่ที่ธรรมที่ความรู้ที่เราได้เห็นผล มันอยู่ที่จิตของเราอย่างนั้น
ฉะนั้นอย่างองค์พระ องค์สงฆ์ก็เหมือนกันหละทีนี้ ถ้าเรารู้ตัวอย่างนั้นน่ะ มันก็ไม่ไปทำผิด ทำล่วงเกินสิกขาบทวินัย ไม่ไปทำมารยาทให้ผิดพลาดเสียหายหละทีนี้เพราะว่าหลักธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านี่ท่านสั่งไว้หมดแล้ว ท่านมอบไว้ให้หมด พระพุทธเจ้าไม่ได้เอาไปติดตามพระองค์ไป ท่านมอบไว้คืนให้โลกเราหมดหละทีนี้ แต่ถ้าเรามาปฏิบัติมารักษาไว้มันก็จะอยู่ในเรา เราก็จะได้รับความคุ้มครองป้องกัน ความสงบร่มเย็นอะไรต่างๆอย่างนี้ มันก็จะเป็นผลปัจจุบันอย่างนั้น ถึงว่าปัจจุบันมันจะเปลี่ยนแปลงรูปร่างวัตถุต่างๆอย่างนี้ แต่ถ้าพูดถึงหลักปฏิบัติศีลธรรม ก็ยังคงไว้เหมือนเดิมหมดหละ ท่านไม่ได้ถอดออก ท่านไม่ได้เพิ่มเข้า ก็เรียกว่าคงไว้ แต่ถ้าเราไม่ดูในจิตในความสงบในความรู้ มันก็ไม่รู้หละทีนี้ ถ้าเราดูส่วนภายนอกดูวัตถุดูสิ่งที่เขาเปลี่ยนแปลงไป ก็ลืม ลืมหลักศาสนา ลืมฐานะ ลืมความเป็นพระ หรือลืมองค์พระ มันลืมไป แต่ถ้าเราสำนึกได้ มันจะไม่เสียหายทีนี้ เราจะเกิดความดีใจ ความภูมิใจ เกิดรู้จักสงวนรักษา เพราะว่าเราที่ได้มาเกิดเป็นศากยบุตรก็ไม่ใช่ธรรมดานะทีนี้ ต้องมีบุญเป็นกำลังมาให้เรา อย่างที่ว่าได้มาบวชอย่างนี้ ก็เป็นบุญทำให้ ถ้าไม่ใช่บุญ ไม่ใช่บารมีความดี มีกำลังก็มาไม่ได้
อย่างที่เล่าอธิบายให้ฟัง นี่เรียกว่าเราปฏิบัติเพื่อให้ศาสนา ให้การปฏิบัติของเรานั้นได้รับความสงบ ได้รับผลหรือว่าได้มรรคผล มันก็ได้ไปจากการปฏิบัติและมรรคผล ได้จากการเดิน มรรคแปลว่าทางเดิน เราเดินจิตของเรา เดินด้วยการเดินไกล เดินสูง เราก็ไปตามอย่างนี้ ถ้าเราเดินต่ำ เดินสั้น เดินน้อย ผลมันก็ไปตามนั้น ฉะนั้นเรื่องมรรคผลนั่นมันเป็นของคู่กันอย่างนั้น ถ้าเราไม่เดินมันก็ไม่มี อย่างที่ว่าเราเดินจงกรมอย่างนี้ ถ้าเราไม่เดินมันก็ไม่มีแหละ รอยมันก็ไม่เกิด รอยเท้าไม่มี ถ้าเราจะทำให้มีเราต้องเดิน มันเกิดขึ้นแล้วคือทางมันเกิดขึ้นแล้ว มรรคเกิดขึ้นแล้ว
ถ้าจิตเราอยู่ในความสงบหรือเราเดินมีสติ มีคำบริกรรมอย่างนี้ มีสัมปชัญญะรู้ตัวเราว่าเดิน ว่าก้าวอยู่ อยู่ในภาวนา อยู่ในพุทโธ นั่นมันก็อยู่ในมรรคอยู่ในทางแล้วทีนี้ ผลที่มันได้รับมันก็รับตามส่วนมัน ถ้าจิตเราสงบได้ดี ผลมันก็ดีตามกัน นั้นก็เรียกว่า เราต้องเดิน ต้องทำรอยอย่างนั้นน่ะ ทำทาง ทำให้มีอยู่ ถ้าเราทำอยู่อย่างนั้นมันก็มีหละทีนี้ มันมีให้เราเห็น มีรอย มีเครื่องหมาย ฉะนั้นถ้าเราไม่ทำนี่ มันก็ไม่มีไม่เป็น ไม่ว่าอะไรทุกอย่างนั่นแหละ สิ่งที่เราได้สมบัติต่างๆก็เหมือนกัน มันได้ผลมาจากการทำการปฏิบัติหมดทุกอย่าง ที่เราได้มาหนะ ไม่ใช่ว่ามันเลื่อนลอยมา หรือมันหลงมา อย่างนี้ไม่มี ก็ได้มาจากการปฏิบัติ การทำทุกอย่างนั่นแหละ ถึงว่าทำให้เกิดได้มาได้มีนี่ จึงท่านเรียกทางศาสนาท่านเรียกว่า บารมี ก็มาจากปฏิบัตินั่นแหละมันถึงมี
แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัตินี่ เรานึกเอาอย่างนี้มันก็มี แต่ว่ามันเป็นผลของความดีของบุญที่เราทำ อย่างที่เราว่าสมบัติทิพย์ มันก็มาจากความทุกข์ มาจากการทำ อย่างว่าเทวดา เทวบุตร เทวดาอย่างนี้ เค้ามีสมบัติทิพย์ เค้ามาจากทาน จากศีล จากภาวนา มาจากเค้าทำนั่นแหละ มาจากทุกข์ มันทำขึ้นมา ดีขึ้นมาผลเป็นบุญน่ะมันก็เป็นทิพย์ มันก็เป็นสูงขึ้นมาอย่างนี้ มาจากต่ำ อย่างที่เราเขียนเป็นตัวหนังสือ ทุกข์ ก็อยู่ต่ำ สระอุ ทุกข์ ทุกขะ ทุกขัง แต่ว่าถ้ามันได้ผลสูงขึ้นมา เราก็ลบออก เอาความดีขึ้นมาใส่ก็เป็นทิพย์ เอา พ พาน ขึ้นมาสะกดเข้าไปก็เป็นทิพยะ มันก็เป็นทิพย์ไปทีนี้ มันก็มาจากทุกข์นั่นแหละ นี่การมาของศาสนาก็เหมือนกันทีนี้ การได้มาบวชของความเป็นพระเป็นสงฆ์เป็นบรรพชิตก็เหมือนกัน เราจะได้มาอยู่ในภพในเพศสูงก็มาจากต่ำเหมือนกันหละทีนี้ เหตุนั้นการที่เราปฏิบัติก็เป็นการรักษา เป็นการที่สร้างชีวิตสร้างกำลังให้มันสมบูรณ์เต็มที่
หรือว่าเรื่องเราอาศัยสถานที่สงบ อาศัยป่าเป็นธรรมเป็นเครื่องช่วยให้เราได้ปฏิบัติเข้าถึงความสงบอย่างนี้ ที่ว่าเป็นอาศัยของพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้ามาจนถึงเราทุกวันอย่างนี้ ถ้าเราจะไปอยู่ในที่ชุมชนกลางถนน กลางบ้านเมืองก็ทำได้ แต่มันก็ไม่ดี ไม่สงบ ไม่เหมาะกับการปฏิบัติอย่างนี้ เหตุนั้นก็รู้กัน เหตุนั้นสถานที่นี้ถึงใครมา มันไม่มีสิ่งก่อกวนเพราะมันไกลมันห่าง เราก็รู้เลยว่ามันสงบ
เมื่อความสงบมันละเอียดเข้า เราก็รู้ว่าเสียงข้างนอกอะไรต่างๆนี้ มันก็เกิดความรู้สึกหละทีนี้ ว่ามันไม่ถูกกับความสงบ มันรบกวน มันกระทบกระเทือน อย่างนี้ ความสงบมันก็จะบอกให้เรา มันจะเป็นเครื่องวัดให้เราทีนี้ เหตุนั้นเราต้องฝึกจิตฝึกกายให้ได้รับความสงบหรือที่สงบอย่างนี้ เช่นนั้นท่านจึงบอกว่ากายวิเวก วาจาวิเวก จิตวิเวก จะต้องครบหมดทุกอย่าง คือสงบไปพร้อมกัน คือเรื่องทางกาย เรื่องรูป เรื่องภายนอก มันก็ไม่มีสิ่งวุ่นวายก่อกวน แล้วก็วาจาคือคำพูดที่เป็นเสียง ที่เป็นลมเกิดกระทบกับจิตกับหูก็ไม่มี แล้วจิตของเราก็วิเวก คือไม่มีอารมณ์สัญญาต่างๆเข้าไปก่อกวน มันก็เกิดความวิเวกขึ้นทั้ง ๓ อย่างนี้ มันก็เป็นความสุข ทว่าถ้าพูดถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านก็จะบอกเป็นความบรมสุขขึ้นในจิต มันไม่มีสิ่งที่เป็นข้าศึกเป็นสิ่งก่อกวนหละทีนี้
นี่เราเหมือนกันอย่างที่อยู่ธรรมดาเราไม่มาก แต่ถ้ามีงานมีการนัดกันรวมกันอย่างเราเห็นอย่างนี้ อย่างพระเณรอย่างนี้ ก็ไม่ใช่อยู่ที่นี่ มาจากหลายที่มารวมกัน ต่างครูต่างอาจารย์ต่างสำนักมากอะไร เราจะได้ดูกัน ดูตัวอย่าง ดูแบบที่เราเคยมีครูมีอาจารย์อย่างนี้ เหตุนั้นเราก็ดู และที่ไม่ได้รับการฝึกอบรม ไม่มีครูบาอาจารย์ท่านฝึกสอนอย่างนี้ ก็ต้องให้มาดูตัวอย่างที่ผู้ท่านมีหลักมีมารยาทมีข้อวัตรที่เป็นตัวอย่างดูได้ เพราะว่าเรากระจาย เราอยู่กันหลายที่อย่างนี้ แต่ส่วนหลักธรรมหลักวินัยหลักธุดงควัตรมันไม่แตกต่างกัน แต่ส่วนบุคคลส่วนตัวส่วนองค์ที่ไม่ได้ศึกษาไม่ได้วิชา มันก็ต่างไป เหตุนั้นเราทำความรู้ความเข้าใจหรือปฏิบัติให้มันเข้าทางเส้นเดียวกันได้ มันก็ไม่มากไม่แตกต่างทีนี้
อย่างที่เราว่ามากองค์ ก็ไม่มาก ก็คือเรามีองค์เดียวนั่นแหละ กิจที่เราจะต้องปฏิบัติจะต้องดูก็คือองค์เดียวของเรานั่นแหละ ส่วนองค์อื่นจิตอื่นเค้าก็มีหน้าที่นี่เราก็รู้อย่างนี้ นี่หละเรียกว่าเป็นผู้ที่ไม่หลงไม่ลืมตัว ไม่เผลอไม่ประมาทเรื่องการปฏิบัติ การรักษาจิตของเราหละทีนี้ ก็เป็นผู้ที่เรียกว่าอยู่ในคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อยู่ คือไม่ปล่อยให้ตัวหลงลืมพลั้งเผลอประมาท ไม่มีการที่เรียกว่ากระทบกระเทือนในสถานที่ในหมู่อย่างนี้ ก็เป็นผู้ที่เรียกว่าปฏิบัติดีต่อหลักธรรมวินัย เป็นผู้ที่เรียกว่าเป็นบรรพชิตที่สมบูรณ์ตามแบบพระพุทธเจ้าทีนี้ คือเป็นชาติที่หนึ่ง เป็นชาติที่มีความรู้ มีความเป็นอยู่สูง มีศีลธรรม มีคุณธรรม ไม่ใช่ว่าเราอยู่ทั่วๆไป นี่เรียกว่าเป็นคำเตือนใจ เมื่อเราได้ฟังเข้าใจ นำไปพิจารณาปฏิบัติน้อมเข้ามา รู้จิตของตัวเอง ปฏิบัติร่างกายของตัวเอง ด้วยความที่เรารักความดีความสงบในกายในจิตของเราอย่างนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท ก็จะมีแต่ความร่มเย็นในศาสนา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้