หลวงพ่อสิงห์ทอง ธมฺมวโร
การฟังธรรมะด้านปฏิบัติ คนที่ยังไม่เคยสดับรับฟังก็อาจจะเข้าใจยากเพราะสิ่งใดที่เราไม่เคยนั้นมันก็ขลุกขลักลำบาก ฉะนั้นการการฟังธรรมะด้านปฏิบัติก็คือการภาวนา กำหนดจิตของตนไปในตัว เพราะจิตของเราเคยปล่อยไปตามอำเภอใจ มันอยากคิดอยากปรุงอะไรก็ปล่อยมันไป การคิดการปรุงของใจทำให้ใจเหนื่อย ทำให้ใจเดือดร้อน เพราะอารมณ์สัญญาที่มาเกี่ยวข้องกับจิตเป็นพิษเป็นภัย ไม่เลือกคัดจัดหาว่าสิ่งใดควรหรือไม่
ทางศาสนาสอนให้รักษาจิตด้วยสติด้วยปัญญาพินิจพิจารณาอารมณ์สัญญาต่างๆ เพื่อระวังจิตของตัวไม่ให้สังคมเกี่ยวข้องกับอารมณ์ที่ชั่ว เมื่อเกิดขึ้นเรามีสติรู้ตัว มีปัญญาพิจารณาว่ามันชั่วมันเสีย ก็ละมันปล่อยมันทิ้งไป ใจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอารมณ์สัญญาส่วนนั้นมันก็มีวันที่จะสะดวกสบายเหมือนกันกับกายของเรา ที่ไม่ดื่มไม่ทานสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย กายมันก็สุขก็สบายได้ แต่สิ่งใดที่เป็นพิษเป็นภัย ดื่มเข้าไปหรือทานเข้าไป ทำกายให้หวั่นไหว ทำกายให้เดือดร้อน สิ่งนั้นเราก็ไม่ดื่มไม่ทานกัน แต่ด้านใจนั้น โดยส่วนใหญ่มองข้าม ไม่ค่อยติดตาม ไม่ค่อยรักษา เหตุนั้นจิตใจของเราจึงเกิดกิเลสตัณหา เกิดมานะทิฐิ เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายไปตามสัญญาอารมณ์ต่างๆ เพราะเราไม่รักษาไม่พิจารณามัน
ฉะนั้นเรื่องการอบรมแนะสอนด้านจิตใจ หน้าที่สำคัญก็คือตัวของตัวเองจะต้องตั้งสติพินิจพิจารณารักษาจิตใจของตัวเอง อารมณ์ชั่วดีที่มีมาเกี่ยวข้อง เราจะต้องเลือกคัดจัดหาว่าอารมณ์อันนี้ เมื่อเราพินิจพิจารณาหรือรักษาไว้ จิตใจของเราจะได้รับความชุ่มชื่นเบิกบาน สงบสุข อารมณ์ส่วนนี้คิดไปเท่าไร จิตใจจะต้องห่อเหี่ยว จิตใจจะต้องเดือดร้อนวุ่นวาย อารมณ์เช่นนั้นเราก็ปัดป่ายให้ตกไป นี่คือการรักษาใจของตัว ถ้าหากไม่รักษาใจของตัวอย่างนั้น ปล่อยให้อารมณ์สัญญาผุดขึ้นหรือผ่านมาอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รักษาว่าจะดีชั่วเสียหายอย่างไร คนนั้นความสุขของใจก็มีน้อย หรือไม่มีความสุขเลย ถึงด้านวัตถุข้าวของจะสมบูรณ์ขนาดไหนแต่ใจเป็นทุกข์เพราะอารมณ์สัญญาของตนไปกังวลเกี่ยวข้องยึดถือในสิ่งที่ไม่ควรยึดถือ จิตใจก็เดือดร้อนวุ่นวาย
คนทั่วไปส่วนใหญ่ที่มีสมบัติพัสถาน ข้าวของเงินทองสมบูรณ์ เคยมาหาพระบ่นว่าเป็นทุกข์ใจอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นทุกข์เพราะวัตถุ คือเป็นทุกข์ใจของตัวเอง ใจไม่สงบ ใจไม่เย็น ใจไม่เห็นอรรถเห็นธรรม ถ้าหากรักษาใจใคร่คิดพินิจพิจารณาว่าอารมณ์สัญญาส่วนใดควรนำมาพิจารณา ส่วนใดควรปัดเป่าออกไป คนนั้นถึงจะไม่มีสมบัติพัสถานวัตถุภายนอก ท่านรักษาของท่านได้ ใจของท่านสงบ ใจของท่านเยือกเย็น ท่านรู้ท่านเห็นอรรถธรรมภายใน ท่านก็มีใจสงบ มีใจสุข มีใจสบาย
ใจจึงเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเราท่านจะควรสงวนรักษา เพราะใจเท่านั้นที่เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าเรื่องของกาย ใจเป็นของไม่ตาย ใจเป็นของวุ่นวายได้ หากเราไม่รักษา ถ้าหากเราปล่อยให้สัญญาอารมณ์มันเข้ามาอยู่ทุกกาลทุกเวลา หรือผุดขึ้นอย่างไรก็ตะครุบเรื่อยไปนั้น มันไม่มีวันมีเวลาที่จะสงบ ไม่มีวันมีเวลาที่จะสุขจะสบายได้ เราเคยติดตามสัญญาอารมณ์ต่างๆ ไม่เคยหักห้าม ไม่เคยรักษา จิตใจของเราก็อยู่ธรรมดา พอโลภก็โลภ พอโกรธพอหลง ก็โกรธก็หลงไป ด้วยอำนาจที่ขาดธรรมะคือสติปัญญา หากเราตั้งใจภาวนารักษาจิตของตัว ไม่ให้อารมณ์ชั่วมาเกี่ยวข้อง อารมณ์ส่วนใดที่เป็นพิษเป็นภัยรีบกำจัดมันออกไป อารมณ์ส่วนใดที่จะทำจิตทำใจให้เยือกเย็นรักษาเอาไว้ กำหนดเอาไว้ เป็นต้นว่าเราบริกรรมพุทโธหรือกำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออกไม่ให้จิตใจฟุ้งปรุงคิดนึกเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ พักจิต หยุดจิตให้คิดปรุงเรื่องนอก จิตจะมีวันสงบ มีวันลงรวม ได้รับความสุขความสบายแปลกอัศจรรย์ เพราะความสุขของใจนั้น หากใครเป็นใครเห็นในตัวของตัวแล้วจะไม่มีวันจืดจาง จะเกิดอัศจรรย์เชื่อมั่นว่าความสุขในโลกนี้ไม่มีอะไรจะประเสริฐวิเศษเท่ากับจิตที่สงบระงับกิเลสตัณหา เราเห็นเราเป็นในตัวของเราแล้ว เราเชื่อเลื่อมใสอยากจะประพฤติจิตใจของตัวให้เห็นให้เป็นอยู่อย่างนั้น
ฉะนั้นผู้ที่เห็นที่เป็นด้านของจิตของใจ จึงไม่ใคร่คิดติดข้องเรื่องวัตถุต่างๆ จะอยู่สถานที่ใด ท่านอยู่ได้ ถึงจะอดอยากยากจนด้านวัตถุ แต่ความสะดวกในการประพฤติปฏิบัติของท่านมันสะดวกมันสบาย ท่านก็อยู่ได้ อยู่สบาย นี่คือความสุขของใจ เมื่อใจมีความสุข จะนั่งก็เป็นสุข จะเดินก็เป็นสุข จะนอนก็เป็นสุข จะยืนก็เป็นสุข จะอยู่สถานที่ใดก็เป็นสุข คือใจเรามีความสุข ใจมีความสุขก็คือใจที่ไม่มีสัญญาอารมณ์ที่ชั่วเสียต่างๆ ใจมีอารมณ์ของอรรถของธรรม พินิจพิจารณาเพลิดเพลินในความรู้ ความเห็น ความเป็นของใจ ละถอนกิเลสออกไป สิ่งที่เคยข้องติดคิดปรุงต่างๆ มันหมดไปตกไป สะอาดผ่องใส เยือกเย็นภายใน เห็นรู้จากตัวของตัวอยู่ตลอดเวลา จิตอย่างนั้นเป็นจิตที่เยือกเย็น เป็นจิตที่มีความสุข
คนทั่วไปบ่นทุกข์เดือดร้อนเพราะเรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องอันอื่น เรื่องของจิตถ้าหากประพฤติปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมะคือความสงบได้ มันสงบราบคาบทั่วไป คนอื่นจะเดือดร้อนวุ่นวายอย่างไร โลกมันจะเป็นไปอย่างไร นั่นเป็นเรื่องของโลก จิตของเราไม่ได้หวั่นไหว ไม่ได้เอนเอียงไปตามเรื่องของโลก เห็นเป็นธรรมดาของมัน ปัญญาพินิจพิจารณาตัวของตัวเท่านั้น ให้ทราบตามความเป็นจริงของมัน โลกอันนี้ก็ไม่มีอะไรที่จะปกปิดจิตใจของท่าน ทราบเรื่องอดีตที่ผ่านมา ทราบอนาคตที่จะเป็นต่อไป มันเหมือนกันกับปัจจุบัน ถ้าหากจิตไม่สงบ จิตติดข้อง จิตวุ่นวายแล้ว มันไม่มีความสุขความสบายให้ ถ้าจิตสงบเยือกเย็นลงไป ไม่ว่าสมัยใดกาลใด ใจมีความสุข
ทุกคนเกิดมาปรารถนาความสุข แต่จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะถึงความสุขได้ เราไม่เคยพิจารณาเข้ามาภายใน เลยถือหาว่าด้านวัตถุต่างๆนานา ได้มาแล้วมีความสุข สุขจริงชั่วระยะเวลา แต่ก็สุขที่อิงอามิสนั้นมันมีเงาอยู่ในตัว ทุกข์มันซ่อนเร้นอยู่ในนั้น มันไม่สมหวังให้ เพราะวัตถุนั้นๆมันไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของเรา บางทีเราไม่จากเราหนี มันก็จากเราหนี มันเป็นไปอยู่อย่างนี้ ถ้าหากพิจารณาเข้าใจตามเป็นจริง ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมีการแปรปรวนและแตกสลาย ไม่ว่ากายของเราหรือวัตถุภายนอก เข้าใจรู้จริงเห็นจริงอย่างนั้น อดีตที่ผ่านมากี่แสนกี่ล้านปีก็เป็นอยู่อย่างนี้ อนาคตเมื่อเราตายไปมันก็เป็นไปทำนองเดียวกัน มันเป็นไปอยู่อย่างนี้ เรื่องวัตถุ เรื่องของโลก จิตใจที่รู้เท่าเข้าถึงอรรถธรรมอย่างนั้น แจ่มแจ้งภายในใจของตนแล้วมันไม่หวั่นไหว อะไรที่ไปรู้เรื่องเหล่านั้น ความรู้ความเห็นสิ่งเหล่านั้นคืออะไร หวั่นไหว เอนเอียงไปมั้ย เกิดดับมั้ย เข้าใจ นี่คือการประพฤติปฏิบัติธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า
ผู้เข้าถึงธรรมที่พระพุทธเจ้าแนะนำสั่งสอนจึงไม่มีพิษมีภัยสำหรับใจของตัวเอง และสำหรับโลก เขาจะติฉินนินทาว่ากล่าวอย่างไร นั่นเป็นลมปากของเขา เราเยือกเย็นอยู่อย่างไร เราทราบ เค้าจะสรรเสริญเยินยอขนาดไหน ก็เป็นเรื่องของเขาอีกเหมือนกัน จิตใจของเราแฟบลงหรือฟูขึ้นเมื่อถูกอารมณ์สัญญาต่างๆ จะต้องน้อมพินิจพิจารณาดูภายในของตัวอยู่สม่ำเสมอไป นี่คือใจด้านฝึก ถ้าหากฝึกถึงที่สุดหมดจดทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็ทราบ ไม่มีอะไรในโลกที่จะทำจิตทำใจทำความบริสุทธิ์ให้เสื่อมให้เสียไป คนจะนินทาว่ากล่าวทั่วโลก ความบริสุทธิ์นั้น ความจริงนั้นจะเป็นไปเพื่อความเป็นอื่นเป็นไปไม่ได้ ความจริงจะต้องเป็นความจริงอยู่เสมอไป ใครจะสรรเสริญขนาดไหนแต่ใจมันไม่จริงให้ มันก็ปลอมอยู่ตลอดเวลา
ฉะนั้นการพิจารณา การศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ควรสนใจฝึกหัดปฏิบัติจิตใจของตน เคยปล่อยปละละเลย เคยติดตามสัญญาอารมณ์มา ความสงบสบายภายในเป็นอย่างไร ทุกคนย่อมทราบดี ว่าไม่มีความสุข ความสบาย ความอัศจรรย์อะไร ความติดข้องของกิเลสตัณหาของใจธรรมดาที่ไม่ได้ฝึกรักษา มนุษย์เราก็ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างอะไรกับสัตว์ทั่วไป สัตว์เค้าก็รู้เค้าก็ฉลาด ถึงไม่ได้ศึกษาในโรงเล่าโรงเรียนเหมือนมนุษย์เราก็ตาม เค้าก็ทำมาหากินตามหน้าที่ของเค้า สร้างรวงสร้าง รังอยู่ตามเรื่องของเค้า ความจดจำมันก็มีทำนองเดียวกันกับมนุษย์ มันมีพอที่จะรักษาตัวของมันได้ สิ่งที่เป็นภัย สิ่งที่เป็นอันตราย มันก็ทราบหลบหลีกปลีกตัว ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่มีพืชพันธุ์อยู่ในโลกต่อมา มันรักษาตัวของมันได้ธรรมดาเหมือนมนุษย์
แต่มนุษย์เราถ้าไม่ฝึกปฏิบัติจิตใจแล้ว ความสุขก็อยู่กับด้านวัตถุ อยู่กับกิเลสต่างๆ ถือว่าสิ่งเหล่านั้นทำให้สุขให้สบายให้เพลิดให้เพลินไปต่างๆนานา แต่คนที่โศกเศร้าเจ่าจุก เกิดทุกข์เดือดร้อน ก็เพราะเรื่องสัญญาอารมณ์ของตัว เพราะกิเลสของตัว ไม่ใช่เรื่องอันอื่นมาเกี่ยวข้อง เพราะความไม่รู้เท่าเข้าถึงจิตของตัว ปล่อยให้จิตใจใหลไปในทางชั่ว ไม่ชำระสะสาง หากทุกคนพิจารณาชำระสะสางด้านจิตใจของตน ไม่กังวลเกี่ยวข้อง รู้เห็นตามเป็นจริงในสิ่งต่างๆ จิตใจนั้นจะปล่อย จะวาง จะละ จะถอนความยึดผิดคิดปรุงนั้นๆ จิตจะสงบ จิตจะเยือกเย็น จิตจะเห็นแจ้งในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็นภายใน ใจจิตนั้นๆจึงเป็นสุข จึงสงบอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะนั่งจะยืนจะเดินจะหลับจะนอน ไม่ว่าจะอยู่จะตาย เพราะจิตนั้นไม่อยู่ในวงสมมุติ จิตบริสุทธิ์ จิตพ้นจากโลก
นี่คือการฝึกการอบรมจิต เห็นอานิสงส์ประจักษ์ชัดเจนจากความรู้ความเป็นของตัว ถึงใครจะไม่เชื่อว่าเรื่องเหล่านี้มันมีมูลความจริงอย่างไร เค้าจะคัดค้านทั่วไป ก็เป็นเรื่องของเขาแต่เราไม่ได้หลงไปตามลมปากของเขา เราทราบ เราเข้าใจอยู่ภายในของเรา พอเราเห็นเราเป็นอย่างนั้น ถ้าหากเขาประพฤติปฏิบัติ เค้าเห็นเค้าเป็น เค้าก็จะเป็นอย่างเดียวกัน ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ล่วงมาตั้ง ๒๕๐๐ กว่าปี กับคนที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ปัจจุบันทันตา เมื่อเข้าถึงธรรมะจะเป็นอันเดียวกัน พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสเอาไว้ว่า ใครเห็นธรรม คนนั้นเห็นเราตถาคต ก็คือเห็นความบริสุทธิ์ ความหลุดจากกิเลสตัณหา พระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร สาวกท่านก็เป็นอย่างนั้น มันหมดความกังวล หมดความก่อกวน หมดทุกข์ทั้งอยู่ทั้งตาย สบาย ด้านของจิตไม่มีอะไรที่จะมาเป็นพิษเป็นภัย
นี่จิตใจของพวกเราที่ลุ่มหลงขัดข้อง มัวเมาเฝ้าฝัน เพราะเราไม่รักษา ไม่พิจารณาตามมูลเหตุต่างๆ ให้จิตของเรารู้เท่าเข้าถึง แล้วปล่อยวางสัญญาอารมณ์นั้นๆ จิตใจของพวกเราท่านจึงยุ่งเหยิงขัดข้องอยู่ตลอดมา ถ้าหากเราปล่อยเอาไว้ ไม่รักษา ก็ไม่มีวันเวลาที่จะหายไปได้ มีแต่จะเพิ่มพูนทวีคูณขึ้น ความทุกข์ของจิตของใจเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ วุ่นวี่วุ่นวาย ทั้งๆที่สิ่งเหล่านั้นเค้าไม่เคยยินดีใฝ่ฝัน เค้าไม่ได้เคยลุ่มหลงไปตามเรื่องของจิต มาพินิจพิจารณาดูให้รู้ตามเป็นจริงแล้ว มันเป็นอย่างนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดมา เค้ามีหน้าที่อย่างไรเค้าก็เป็นไปตามหน้าที่ของเค้า เราจะหึงหวงขนาดไหน มันก็เป็นไปตามเรื่องของมัน บอกไม่ได้ สอนไม่ฟัง เพราะเรื่องอนิจจังคือความไม่เที่ยง มันแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามหน้าที่ของมัน ไม่ว่าเรื่องนอกหรือเรื่องในมันเป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นการพิจารณาธรรมะจึงเป็นเรื่องแก้กิเลสตัณหา แก้เรื่องจิตของตัวเอง เรียนธรรมะจึงมีเวลาจบสิ้น คือสิ้นจากความสงสัย สิ้นจากการละ การบำเพ็ญของใจ เมื่อเข้าถึงตัวธรรมะจริงจัง มันไม่มีอะไรที่จะไปเกี่ยวข้องวุ่นวาย กะตัง กะระณียัง เสร็จกิจที่จะต้องบำเพ็ญ เสร็จกิจที่จะต้องละ มันหมดได้ แต่ส่วนเรื่องของโลกไม่มีจบไม่มีสิ้น มีแต่ยืดเยื้อวกวนกันอยู่อย่างนั้น ไม่ว่าหน้าที่การงานอะไร วิชาแขนงไหน มันไม่มีจบ มีแต่ความสงสัยลังเลในใจอยู่เรื่อยๆไป เพราะเรียนออกไปนอก รู้ออกไปนอก ไม่รู้เข้ามาภายใน คือรู้เรื่องของใจตัวเอง
จิตที่ลุ่มหลงในเรื่องต่างๆ ก็เพราะเราไม่มีพินิจพิจารณาถึงหลักของธรรมะ หลักของธรรมะที่จะละโลภ โกรธ หลงได้ ท่านพิจารณาถึงสิ่งเหล่านั้นตามเป็นจริงของมัน เช่นเราโลภอยากได้อันนั้น โลภอยากได้อันนี้ เราคิดว่าอันนั้นได้มาแล้ว มีหน้ามีตา มีชื่อมีเสียง จะให้ความสุขความเยือกเย็นความสะดวกสบายอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ได้มาแล้วก็เป็นหน้าที่จะต้องเก็บรักษา เกิดทุกข์เพราะสิ่งที่ตัวมีอยู่ สิ่งที่เราไม่มี ไม่เคยเกิดทุกข์ให้ สิ่งใดที่ใจไปยึดไปถือ ไปหวงไปแหนเท่าไร สิ่งนั้นยิ่งเป็นทุกข์เป็นภัย สิ่งใดที่ใจไม่ยึดไม่ถือ สิ่งนั้นไม่เป็นภัยอันตรายแก่ใจ
ยกตัวอย่างในร่างกายของเรา เมื่อสิ่งใดที่เราไม่สงวนรักษา เราทอดทิ้งไม่อาลัย สิ่งที่ตกออกไปเป็นน้ำลาย น้ำมูก หรืออุจจาระ ปัสสาวะ เมื่อมันตกออกไปแล้ว เราไม่มีความอาลัยห่วงใยในมัน ใครจะมาทำอะไร มดจะมากัดมากิน หรือคนจะมาเหยียบย่ำทำลาย เราไม่เห็นเสียใจ แต่สิ่งใดที่เราหึงหวง สิ่งนั้นจะทำจิตทำใจของเราให้เกิดทุกข์เกิดโทษ เราหึงหวงเท่าไรก็ยิ่งเกิดเวรเกิดภัย เกิดโทษใหญ่เท่านั้น และการหึงหวงของเรา การจับจองของเราเพราะเราไม่เห็นความจริงของอรรถธรรม เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นเรา เป็นของๆเรา ท่านจึงให้พิจารณาเรื่องอนัตตา คือแยกแยะ พิจารณาสิ่งต่างๆนานานั้น ให้เข้าใจว่าไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของใคร หน้าที่ของมันเป็นอย่างไร มันจะต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้น นี่คือเรื่องการพิจารณาธรรมะ
คนที่จะเกิดกิเลสตัณหาราคะต่างๆ ก็เพราะอำนาจใจใคร่คิดปรุงไปในสมมุติของโลก ว่าสวยอย่างนั้น งามอย่างนี้ ดีอย่างนั้น เลยโลภอยากได้ เลยเกิดราคะตัณหาขึ้น ถ้าหากพิจารณาตามหลักของธรรมะของพระพุทธเจ้า ท่านแก้จิตใจที่ใคร่ติดคิดปรุงต่างๆ อย่างกรรมฐานท่านสอน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง สอนผู้ที่มาบวชในศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุหรือสามเณร ท่านถือว่าท่านให้อาวุธสำหรับสู้รบขบกัดกับจิตใจที่เกิดกิเลสตัณหา ให้พิจารณาสิ่งเหล่านี้ ตามหน้าที่ตามเป็นจริงของมัน เมื่อพิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้ เมื่อมีอยู่ในกาย จะเป็นหญิงก็ตาม เป็นชายก็ตาม ด้วยอาศัยการตบแต่งก็ดูสวยสดงดงาม น่าลุ่มหลง น่าเพลิดเพลิน แต่พิจารณาแยกแยะออกจริงจัง สิ่งเหล่านั้นไม่มีอะไรที่จะน่ายินดีพอใจ
ผมหลุดหล่นออกไปใส่น้ำดื่ม หรือใส่อาหาร คนทั่วไปไม่ยินดีพอใจ เททิ้ง ถ้ามันมากๆ เค้าไม่กล้าที่จะดื่มจะทานกัน เพราะเหตุใด เพราะผมนั้นคนทั่วไปถือว่าเป็นของสกปรก ขนก็เหมือนกัน เล็บก็เหมือนกัน ทานอาหารไปๆ ไปเห็นเล็บคนตกหล่นอยู่นั้น เพียงเล็บสองเล็บเท่านั้น ก็จะเบื่อหน่ายกัน ทั้งๆที่ยังไม่อิ่มก็จะอิ่มขึ้น จะเททิ้งของนั้น
ฟันก็เหมือนกัน อยู่ในปากก็รู้สึกว่ามันน่าดู เพราะการขัดถูกตกแต่ง แต่ว่ามันหลุดหล่นออกมาเป็นอย่างไร ทิ้งลงไปในแก้วน้ำหรือไปทิ้งลงไปในตามอาหารจะเป็นอย่างไร จะทานได้มั้ย อาจเกิดฆ่าตีกันขึ้นเพราะเห็นว่าของเหล่านี้ไม่สมควรที่จะทิ้งไปอย่างนั้น ลงใส่ภาชนะอย่างนั้น ถ้าหิวๆ ยังอยากอยู่ อาจจะเกิดสงครามกันก็ได้ เพราะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นของสกปรก มันเป็นของไม่สมควร คนที่ไปทิ้งกันอย่างนั้นเขาถือกันว่าเป็นคนไม่ดี ไม่ควรที่จะทิ้งไป
หนังก็เหมือนกัน ไม่ว่าหนังหน้า หนังตา หนังแข้ง หนังขา ถ้าถลกออกมา ทิ้งลงไปใส่ภาชนะอาหาร ในถ้วยในจานที่เรากำลังทานกำลังดื่มอยู่ ก็จะเกิดความไม่พอใจขึ้น
นี่คือเราลุ่มหลงด้วยการไม่พินิจพิจารณา ถือว่าสิ่งเหล่านี้มันสวยสดงดงาม ถ้าหากแยกแยะออกตามธรรมดาของมันจริงจัง ให้จิตของเราท่านรู้เห็นอย่างนั้นจริงจัง มันจะเป็นอย่างไร ผมเอาไปทิ้งใส่ที่นอนไว้ เราก็ไม่กล้าที่จะนอนเพราะมันสกปรก ในที่นั่งก็เหมือนกัน ไม่ยินดีพอใจ แต่เหตุใดที่อยู่ในศีรษะจึงถือว่าสวยงาม เพราะเราไม่ได้พิจารณา มันงอกขึ้นจากน้ำเน่าน้ำเหลือง ไม่ใช่มันงอกขึ้นด้วยลำพังของมัน มันเกิดขึ้นสวยงามได้ก็เหมือนกันกับหญ้า ที่มีน้ำมีปุ๋ย มันถึงงอกขึ้นได้ ถ้าหากไม่มีน้ำมีปุ๋ย มันงอกขึ้นไม่ได้ หญ้ามันจะสวยงามขึ้นก็เพราะอาศัยน้ำ อาศัยปุ๋ย อาศัยดิน
ผมของเราก็ทำนองเดียวกัน เล็บ ฟันของเราก็อย่างนั้น ไม่ใช่ว่ามันเป็นของสะอาดสวยงาม ลองดูว่าฟันคนนั้นมันสวยเหลือเกิน เมื่อเค้าถอนออกมา หากมันสวยมันงาม มันมีคุณค่า มีสาระจริงจัง เอาให้เราอม เราจะอมได้มั้ย อมไม่ได้ เพราะมันเป็นของสกปรก ของที่ไม่สมควร เราต้องพิจารณาอย่างนั้น เพื่อจะให้จิตของเราท่านไม่ให้เกิดราคะตัณหา ไม่ให้มั่นหมายว่าเป็นชายเป็นหญิง เป็นหนุ่มเป็นสาว สวยงามอย่างนั้นอย่างนี้
ถ้าหากจิตใจรู้เห็นตามเป็นจริงอย่างนั้น มันปล่อย มันวาง มันไม่ยึดไม่ถือ ไม่กำหนด ไม่ยินดี ไม่เพลิดไม่เพลิน คนไม่มีหนัง จะนั่งจะนอน จะยืนจะเดินอยู่สถานที่ใด มีคนๆใดพอใจชอบใจว่าคนนี้ไม่มีหนัง มีแต่เนื้อ น่าจูบ น่ากอดเอาเหลือเกิน มีมั้ย ไม่มี ไม่มีใครยินดี ยังเป็นแผลนิดหน่อยเท่านั้นเค้าก็ยังไม่พอใจกัน รีบรักษา นี่เรื่องของกายเรามันเป็นอย่างนั้น
ทุกท่านทุกคนมันเป็นเหมือนกัน ในกายนี้มีแต่ของปฏิกูล ไม่ว่าอะไรทั้งหมด ตกหล่นออกมาไม่น่าดูน่าชมทั้งนั้น ทำไมไม่พิจารณากัน ทำไมไปเกิดความกำหนัด ไปเกิดความยินดีชอบใจติดข้อง นี่เป็นเรื่องทุกคนที่จะสอนใจของตน พิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงแล้วจะไม่เพลิดเพลินมัวเมา จิตใจจะไม่เร่าร้อนเพราะกิเลสแผดเผา
กายอันนี้ไม่มีความหมายอะไร ถ้าหากใจรู้เท่าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มันหมดความหมาย ไม่มีหญิง ไม่มีชาย ไม่มีอะไรที่จะเป็นเรื่องที่ใจลุ่มหลง เพราะสิ่งเหล่านี้อาศัยจิตที่ไม่รู้เท่าเข้าถึงความจริงเท่านั้น จึงเกิดความกำหนัดยินดียึดถือกัน ถ้าหากจิตเข้าถึงความจริงแล้ว พิจารณารู้เห็นตามเป็นจริงแล้ว ทุกคนมันเหมือนกัน เราอย่างไรเค้าอย่างนั้น เมื่อรู้เรื่องของตัวทั่วถึงแล้ว ก็รู้เรื่องของโลกทั่วถึงหมด อดีตอนาคตเหมือนกัน
ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ขึ้นชื่อว่าความเกิดแล้ว มันเกิดมาแล้วมันเป็นอย่างไร ก็ทราบ เรื่องของความเกิดให้ทุกข์หรือให้สุข มันก็ทราบ ถ้าไม่เกิดมันก็ไม่เกิดทุกข์เกิดภัยอะไร พอมีแต่จิต ไม่มีเคยมีโรงพยาบาลจิต ว่าไปรักษาจิต รักษาใจ เป็นไข้เป็นหนาวอย่างนั้นอย่างนี้ มีแต่เรื่องของกาย จิตจริงๆถ้าหากไม่มาเกาะเกี่ยวกับเรื่องของกายแล้ว มันไม่เกิดทุกข์ คนไม่เกิดจึงไม่ตาย นี่มันเกิดแล้ว มันมีทุกข์ ทุกข์เพราะความร้อนความหนาว ทุกข์เพราะความหิวความกระหาย ทุกข์เพราะความอยากต่างๆนานา โรคภัยไข้เจ็บก็เพราะอาศัยความเกิด มันจึงมีขึ้น ไม่ว่าโรคอะไรทั้งหมด ถ้าไม่มีกายแล้ว มันไม่มีที่ตั้งที่เกาะ เรื่องของโลก โลกไม่มีในจิต ถ้าหากเรารักษาพิจารณาเรื่องของจิตบริสุทธิ์แล้ว มันเบื่อหน่าย ไม่อยากจะมาเกิดมาตายอีก เพราะเกิดเมื่อไร ก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตายอยู่อย่างนั้น ได้อะไรกันการเกิดของเรา ไม่มีได้อะไร มีแต่หลงใหล ว่าอันนั้นของเรา อันนี้ของเรา เปล่า เค้าไม่ทราบทั้งนั้น เราจะยินดีพอใจกับเค้า เค้าก็ไม่ยินดีกับเรา เราจะจากเค้าไป เค้าก็ไม่เสียใจ เรารักใคร่เขา เขาก็ไม่รักใคร่เรา เรื่องทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าตั้งแต่ของวัตถุที่เราหึงหวงหามา กายของเราก็เป็นทำนองเดียวกัน
นี่คือการพิจารณาเข้าถึงของทุกสิ่งมันเป็นอย่างนั้น มันเลยไม่หลงตัวของตัว เมื่อไม่หลงตัวของตัวก็ไม่หลงเรื่องของโลก โลกมันเป็นอย่างไร ปล่อยมันไปตามเรื่องของมัน เห็นตามเป็นจริงทุกสิ่งทุกอันไปแล้ว มันไม่หลง มันสะดวก มันสบาย นี่คือการแก้จิตแก้ใจของตน แต่ที่จะไปเห็นไปเป็นอย่างนั้นไม่ใช่ว่าจะคิดเดาเอาเท่านั้น ต้องอาศัยการกำหนดจิตให้สงบ คือมีสมาธิ ความหนักแน่นของใจ เพียงแต่จะเอาปัญญาไปพิจารณารวบรวมเอาเท่านั้น มันไม่ตกไม่ขาด มันไม่หลุดไม่พ้นเรื่องจิตใจของคน พูดได้เพราะปากเค้ามี จำได้เพราะสัญญาเค้ามี แต่จิตใจของเค้าจริงจังเป็นอย่างไรนั้น มันพอทราบได้ เมื่อมีอะไรมากระทบเข้า จิตใจของเขาถ้าหากรู้เห็นเป็นจริงอย่างไร เค้าพูดออกไปด้วยอรรถด้วยธรรมถึงขั้นที่สุดวิมุตติก็ตาม เมื่อสิ่งต่างๆนานาซึ่งโลกสมมุติมีอยู่มากระทบเข้า หน้าตากิริยาท่าทีของเขา ถ้าหากเขาหมดจดภายในจริงจัง จะมีอะไรแสดงออกให้โลกเค้าเห็น สงบระงับ แต่พูดได้จำได้สอนได้ จิตใจภายในกิเลสตัณหามานะทิฐิยังมีในใจ ไม่เป็นอย่างนั้น พอกระทบกับอะไรเข้าก็แดงขึ้นมา ให้คนอื่นเค้าเห็นเรื่องกิเลสตัณหาว่ายังอยู่ ตัวของเราเองก็รู้ก็เข้าใจว่าจิตมันหงุดหงิด มันไม่พอใจ หรือจิตมันกำหนัดยินดีอย่างนั้นอย่างนี้
ฉะนั้นการปฏิบัติจิตจึงจะต้องกำหนดให้จิตของตัวรวมลงไปสู่ความสงบเสียก่อน เมื่อจิตรวม จิตนิ่งมีกำลัง พอถอนขึ้นมาจากนั้นจะมีกำลังปัญญาพิจารณาอะไร เห็นตามเป็นจริงได้ ละได้ถอนได้ หากจิตไม่มีสมาธิ ไม่มีความสงบ พิจารณาไป มันถอนไม่ได้ คือกำลังไม่พอ
ฉะนั้นศีล สมาธิ ปัญญา จึงเป็นเรื่องศาสนา พุทธศาสนาสอนศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นเบื้องต้นทุกคนมีด้วยอำนาจที่รักษาเอา ไม่ใช่ไปขอจากพระเจ้าพระสงฆ์จะเป็นศีล รักษากาย รักษาวาจา ไม่ให้ไปทำชั่วทำเสียต่างๆ สิ่งที่เป็นทุกข์เป็นโทษไม่ไปทำ ทำกาย ทำวาจา ให้ปกติ ก็ได้ชื่อว่าเป็นศีล สิ่งใดที่ชั่วที่เสียพยายามวิรัติงดเว้น ถ้าทำไป ตัวเองก็ไม่สบายใจ คนอื่นเห็นเค้าก็ตำหนิติเตียน นี่คือทางชั่วทางเสีย ไม่ควรทำ
จิตที่จะรักษาศีล รักษากายรักษาใจได้ ก็อาศัยมีความละอายต่อบาป กลัวต่อบาป ทำลงไปบาปคือความชั่ว บาปคือความเดือดร้อน คนที่ทำชั่วทำเสีย ตัวเองก็เดือดร้อน คนอื่นสัตว์อื่นก็เดือดร้อน คิดถึงอกเขาอกเรา เรารักเราชอบความสุขความสบาย สงวนในชีวิตของเราอย่างไร ก็ไม่ควรไปทำชีวิตของคนอื่นสัตว์อื่น ให้เขาได้รับทุกข์ลำบาก สมบัติพัสถานข้าวของที่เราหามาได้ เราหึงหวงอย่างไร ถ้าเราไปลักไปขโมยของคนอื่น ไปหยิบไปเอาของคนอื่น เค้าก็มีความเสียใจเช่นเดียวกับเรา เมื่อเรารู้เรื่องใจของเรา รักสงวนตัวของเราอย่างไร คนอื่นสัตว์อื่นทั่วไปเค้าก็อย่างนั้น มันก็รักษาได้ ละอายที่จะไปทำ กลัวกรรมที่เราไปทำแล้ว จะเกิดทุกข์เกิดโทษแก่ตัวของตัว นี่คือศีล
ศีลเป็นเรื่องสำคัญข้อต้น มนุษย์เราที่วุ่นวายกังวลเดือดร้อนอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดชาติใด ก็เพราะอาศัยคนที่ทุศีล คนไม่รักษาศีล ถ้าหากทุกคนรักษาศีล เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ไม่ไปทำชั่ว ไม่ฆ่ากัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ลักไม่ขโมยกัน ไม่ประพฤตินอกอกนอกใจกัน ไม่กล่าวคำเท็จหลอกลวง ส่อเสียดยุยงกันต่างๆนานา มันจะเป็นอย่างไรโลกอันนี้ กฏหมายที่มีอยู่ทุกวันนี้ก็ออกไปจากศีลที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเอาไว้ ไม่ใช่ไปจากที่อื่น คนมีศีลอยู่สถานที่ใด โลกก็สงบ ไม่ก่อกวนวุ่นวาย คนไม่มีศีลเพียงคนสองคนอยู่ในสถานที่ใด ก็จะทำให้เป็นพิษเป็นภัยในที่นั้น เหมือนกันกับโรค จะไปเกิดในแข้งในขา ในหูในตาเท่านั้น ส่วนใหญ่ยังดีอยู่ แต่ส่วนที่เป็นโรคมันมี มันก็ทำให้ส่วนใหญ่หวั่นไหวเป็นทุกข์ไปตามกัน คนที่ไม่มีศีลก็ทำนองนั้น ไปอยู่ในสถานที่ใดเป็นภัยอันตรายต่อหมู่ ต่อคณะ ต่อสังคม ต่อประเทศชาติ ฉะนั้นท่านจึงสอนให้พากันรักษา
เมื่อศีลเรียบร้อยดีงามแล้ว จิตใจก็ไม่หวั่นไหว คิดไปในทางชั่วทางเสียต่างๆ เลยเกิดมีจิตก็ตั้งมั่น เราจะบริกรรมทำสมาธิก็รวมได้ สะดวกสบาย สมาธิคือความตั้งมั่นของใจ ความรวมของใจ ใครที่ยังไม่เคยเป็นเคยเห็น ได้ยินแต่ชื่อก็พึงทำเอา ไม่ใช่คนอื่นจะมาทำให้ กำหนดใจให้สงบ มาลงมารวมมันเป็นอย่างไร ความฟุ้งปรุงของเรา เคยฟุ้ง เคยปรุงอยู่ตลอดเวลา เมื่อมันรวมลงไปมันเป็นอย่างไร เราก็ทราบ เหมือนอาหารที่เราไม่เคยรับประทาน รสมันเป็นอย่างไร พอไปถึงปากถึงลิ้นของเราเท่านั้น ก็ทราบว่ารสนี้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นี่จิตที่เป็นสมาธิ จิตลงรวมก็ทำนองเดียวกัน มันปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างรวมลงเป็นหนึ่ง ไม่ได้เกี่ยวเกาะกับอารมณ์สัญญาอะไร กายมันก็ไม่มีความหมายอะไร ว่ามันนั่ง มันยืน มันหลับ มันนอน หรือมันอยู่สถานที่ใด ไม่ไปเคยไปคิด ไปปรุง ไปเกาะไปเกี่ยว ถ้ายังเกาะเกี่ยว ฟุ้งปรุงอยู่อย่างนั้นก็คือมันไม่รวม มันไม่สงบ มันสงบจริงจัง มันปล่อยปละละเลยไปหมด สัญญาอารมณ์ทั้งหมด
เมื่อมันเป็นอยู่อย่างนั้น จะนั่งอยู่กี่วันกี่คืนสัญญา เวทนา มันดับไป คือไม่มีความหมายในการในเวลาว่าเรานั่งนานขนาดนั้น นั่งนานขนาดนี้ ไม่ได้มาหมายว่ากายเรามี พอมันรวมเป็นอันเดียวอยู่อย่างนั้น นิ่ง รู้อยู่เท่านั้น มันสุขมันสบายขนาดไหน จะนั่งนานมันก็ไม่ยึดว่ากาลนั้นมันผ่านมานานแล้ว มันไม่ได้ยึด มันเป็น อกาลิโก คือไม่มีกาล ถ้าหากมันไม่ถอนขึ้น จะนั่งนานขนาดไหน มันก็ไม่มีการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิว นี่คือจิตรวม มันเบาหมด มันสบายหมด แต่เราไม่เห็นไม่เป็นก็เกิดสงสัยว่ามันจะเป็นอย่างไร เมื่อสงสัยก็พากันทำ ให้ตัวของตัวเองเห็นเป็น เมื่อเห็นเมื่อเป็นแล้ว ความสงสัยก็ตกไปหายไป
ศาสนามรรคผลจะมีอยู่เมื่อผู้ประพฤติปฏิบัติถูกตามอรรถตามธรรมะ ไม่ใช่ว่าศาสนาล่วงไป พระพุทธเจ้าสาวกหอบหิ้วหาบหามมรรคผลหนี มันยังคงมี ผู้ประพฤติปฏิบัติศาสนาท่านรู้ท่านเห็น ใครจะปฏิเสธขนาดไหนว่าศาสนาหมดมรรคผลไป ท่านก็ไม่หวั่นไหว เชื่อตามลมปาก เพราะท่านเห็นท่านเป็นในการประพฤติปฏิบัติของท่าน ฉะนั้นพวกเราท่านที่อุตส่าห์พยายามเกิดมาเป็นมนุษย์ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็ควรทุกคนจะสนใจรักษาอรรถธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ หากต้องการความสุขความสบายทางใจ ไม่มีอะไรในโลกที่จะสุขจะสบายจะประเสริฐวิเศษเท่ากับจิตของตนที่หมดกิเลสตัณหา พระพุทธเจ้าที่ปล่อยปละละวางราชสมบัติบริษัทบริวารต่างๆ ก็เพราะท่านเห็นท่านเป็นในจิตในใจของท่าน ดีเด่นประเสริฐวิเศษ ท่านละไปได้ ถอนไปได้เรื่องโลกทั้งหลายเค้าติดเค้าข้องกัน ไม่หลงใหลใฝ่ฝันในเรื่องต่างๆที่โลกสมมุติ ท่านเห็นความบริสุทธิ์ของท่านภายใน จิตใจของท่านเบิกบาน พุทธะคือผู้รู้ รู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หลงใหลใฝ่ฝัน แสวงหาอะไร ว่าจะมีความดีวิเศษไปกว่านั้น เพราะใจของท่านถึงวิมุตติ ถึงที่สุด เบิกบานไม่ห่อเหี่ยว ตื่น ไม่หลับไม่หลง
นี่คือพระพุทธเจ้าผู้นำศาสนา นำธรรมะมาสอนโลก ท่านดีท่านวิเศษอย่างนั้น ไม่มีกิเลสตัณหาอะไรที่จะไปก่อกวนจิตใจของท่าน ธรรมะของท่านจึงเป็นเรื่องที่ควรพิสูจน์ได้ ไม่ล้าสมัย ไม่เสียหายไปตามกาลตามเวลา พวกเราท่านพึงพากันหมั่นพินิจพิจารณา อบรมศึกษากำหนดจิตใจของตน ความสุขนั้นมันมีอยู่ภายใน คือมีอยู่ในใจของเรา ถ้าใจของเราสุขแล้ว จะนั่ง จะยืน จะเดิน จะหลับ จะนอนก็สุข สิ่งอื่นจะอดอยากยากจนมันเป็นธรรมดา เรื่องของโลก แต่จิตใจที่รู้เห็นตามเป็นจริงแล้ว ไม่ได้หวั่นไหวไปตามเรื่องเหล่านั้น จิตใจของท่านคงเส้นคงวา ไม่มีอะไรที่จะไปเกี่ยวข้องให้เกิดกิเลสตัณหา เกิดความอยากอีก มีความสงบพอตัว จะเอาอะไรไปเพิ่มอีก เพิ่มไม่ได้ จะเอาอะไรออกไป ไม่มีการบกพร่องเสียหาย คือจิตของท่านบริสุทธิ์ เราอยากเห็นอยากเป็นอย่างนั้น ก็พากันประพฤติปฏิบัติศึกษาพินิจพิจารณา
กายของเราเป็นโรงเรียนอันหนึ่งซึ่งจะควรศึกษาให้รู้ให้เข้าใจความเป็นจริงของมัน หลงตัวของตัวก็หลงโลก ถ้ารู้ตัวของตัวก็รู้ทั่วโลก จึงควรศึกษาพิจารณาภายใน อะไรมันเป็นของจีรังยั่งยืน เป็นของจริงจังแน่นอน โลภขนาดไหน ได้อะไรไปมั้ย ตายไป เห็นเค้าหอบเค้าหามอะไรไป หาบ คนที่กรรมสิทธิ์ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ตายไปแล้วเค้าจะมีกรรมสิทธิ์ ยังหอบหิ้วหาบหามไปได้ โลกอันนี้ก็ไม่มีที่อยู่ที่อาศัย เพราะแผ่นดินอันนี้เคยมีคนเกิดคนตายมานับล้านไม่ได้ พอมีกรรมสิทธิ์มีเจ้าของอยู่ทุกแห่งทุกหนไป เมื่อเค้าตายไป เค้าหอบหิ้วหาบหามไป เราก็ไม่มีที่อยู่ที่อาศัย นี่ไม่เป็นอย่างนั้น จะหลงใหลขนาดไหน มันก็หอบก็หิ้วก็หาบก็หามไปไม่ได้ จะหลงใหลไปทำไม สอนใจของตัวให้รู้ ให้เข้าใจและเห็นจริงอย่างนั้น ไปเพลิดเพลินมัวเมาใฝ่ฝัน ทำจิตให้สงบ ทำจิตให้เยือกเย็น
อย่าไปเห็นสิ่งอื่นว่าเป็นของวิเศษประเสริฐกว่าจิต ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติกำหนดจิตของตัว ศึกษาจิตของตัว สำรวมจิตของตัว คนนั้นแหละจะเข้าถึงความสุขอันแน่นอน ไม่มีความสุขใดในโลกที่จะประเสริฐวิเศษไปกว่า ฉะนั้นเราท่านที่มาบวชในศาสนาก็ดี หรือที่มีโอกาสเวลามาพักภาวนาก็ดี พึงทำจิตทำใจของตนให้สงบระงับ เพราะไม่มีอะไร ใครเป็นรูปเสียงเรื่องราวต่างๆ มันสงบไปหมด ถ้าจิตของเราสงบ จิตของเราไม่สงบเท่านั้นทั้งๆที่อยู่ในที่วิเวกสงบ แต่มันก็คิดปรุงไปอย่างนั้น คิดปรุงไปอย่างนี้ก็เลยไม่มีวันเวลาสงบให้ เดี๋ยวนี้เรามาทำความสงบของใจ การคิดไปเราเคยคิดอยู่แล้ว สถานที่เหมาะนี้ไม่มีรูปเสียงภัยเวรอะไรจะมาก่อกวน ให้ใจฟุ้งคิดติดตามเรื่องต่างๆ ทำไมไม่หักห้ามเอาไว้ ปล่อยให้มันไปเท่าไรมันก็ยิ่งห่างไกลจากความสงบ จากอรรถจากธรรม
กำหนดเอาไว้ เพ่งพินิจพิจารณาให้จิตอยู่ จิตหยุด จิตจะได้รับความสงบ จิตจะได้รับความสบาย นี่การฝึกจิต การภาวนาคือการละอารมณ์สัญญาต่างๆ ซึ่งเป็นทางจะนำไปเพื่อความวุ่นวายเดือดร้อน พากันกำหนด พากันพินิจพิจารณา พากันศึกษา ความรู้มีมากขนาดไหน ถ้าใจไม่รู้เห็นอรรถธรรมตามเป็นจริงแล้ว มันก็แก้ไขกิเลสตัณหาให้ส่งออกไปไม่ได้ ย่อมเกิดทิฐิมานะว่าเรารู้ เราฉลาดอย่างนั้นอย่างนี้ เค้ามาดูหมิ่นนินทาไม่ได้ แต่กิเลสตัณหาของตัวเองเป็นอย่างไร มันตกไปมั้ย ถ้ามันไม่ตกไป ความรู้ของเราก็ปลอม รู้…ทำไมรักษาตัวไม่ได้ โลภยังมี โกรธยังมี หลงยังมี มันรู้อะไร รู้อย่างนั้น รู้แบบนี้สัตว์มันก็รู้ได้ มันไม่มีอะไรสงบสบายให้ ถ้ามันรู้จริง สิ่งเหล่านั้นตกไป ใจมันสงบ ใจมันเยือกเย็น ใจมันสบาย
นี่คือการรู้ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราเองเห็นผลสงบสบายในตน ไม่ต้องให้บุคคลผู้อื่นเอาใบประกาศนียบัตรว่าเราสอบได้ ขั้นโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ แต่ผู้ประพฤติปฏิบัติท่านรู้เองเห็นเอง ใบประกาศนั้น เขียนติดหน้าผากไว้ที่ไหนแต่จิตใจมันไม่เป็นให้ จะได้มาเป็นหอกเป็นหักมันก็ไม่มีอะไรมีคุณค่าสาระให้ สอบได้นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก มหาเปรียญ แต่กิเลสตัณหามันก็เหยียบย่ำทำลายจิตใจของเขา ได้รับความเดือดร้อนวุ่นวาย ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ถ้าหากมันสงบภายใน จิตใจมันรู้เห็นตามเป็นจริง ถึงจะพูดไม่ได้ ไม่มีประกาศนียบัตรอะไร ใจของท่านก็สุข ก็เยือกเย็น ก็สบาย
ขอทุกคนจงนำไปพินิจพิจารณาศึกษาทำจิตทำใจของตนให้สงบระงับ ก็ได้รับความสุขความเจริญ การอธิบายธรรมะเห็นว่าพอสมควร เสียเวลา เอวัง