Skip to content

วิธีสะสมบุญกุศล

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ต่อนี้ไปพึงพากันตั้งใจ สำรวมใจของตนให้แน่วแน่ การฟังธรรมก็ได้ชื่อว่าเป็นการฝึกกายฝึกใจ กายก็นั่งให้นิ่งๆ ใจก็พยายามมีสติควบคุมให้นิ่งอยู่ภายใน นั่นแหละ มันเป็นการฝึกตนพร้อมกันไปเลย เพราะว่าการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานี่ ก็หมายเอาการปฏิบัติกาย ปฏิบัติวาจา ปฏิบัติใจ ให้สงบระงับจากกิเลสบาปธรรมกรรมอันชั่วต่างๆ เมื่อกิเลสบาปธรรมมันระงับไป บุญกุศลก็ย่อมเกิดขึ้นแทน มันเป็นอย่างนั้น คือเมื่อกิเลสบาปธรรมมันระงับไปจากจิตใจ ใจสงบ ใจรวมลงเป็นหนึ่ง นั่นแหละคือว่ากุศลธรรมมันเกิดขึ้นในใจ ใจจึงค่อยสงบระงับลงไป 

ดังนั้นน่ะ ทุกคนต้องชอบบุญกุศล เพราะบุญกุศลเป็นชื่อของความสุข ผู้ใดมีบุญ ผู้นั้นชื่อว่ามีความสุข ผู้ใดมีบาปผู้นั้นชื่อว่ามีความทุกข์ ต้องให้เข้าใจอย่างนี้ ดังพระพุทธภาษิตที่ทรงตรัสไว้ว่า สุโข ปุญญัสสะ อุจจะโย การสั่งสมบุญนำมาซึ่งความสุขดังนี้ ทุกโข ปาปัสสะ อุจจะโย การสั่งสมบาปนำมาซึ่งความทุกข์ดังนี้ เราถือเอาพุทธภาษิตเนี่ยแหละเป็นสักขีพยาน ยืนยันว่าการทำบาปนี่มันจะนำมาซึ่งความสุขไม่มี มีแต่นำทุกข์มาให้โดยส่วนเดียว การทำบุญกุศลนี่มันจะนำทุกข์มาให้ก็ไม่มี มีแต่นำสุขมาให้โดยส่วนเดียว พระพุทธเจ้าตรัสรู้แจ้งแล้วจึงได้ทรงแสดงเป็นพุทธภาษิตไว้ให้พุทธบริษัททั้งหลายได้น้อมเข้าไปคิดไปตรอง ให้รู้ให้เข้าใจวิธีการสั่งสมบุญกุศล บางคนก็ไม่เชื่อ ไอ้ผู้ไม่เชื่อก็แล้วไป ไม่มีใครว่าอะไร ถ้าผู้เชื่อคำสอนพระพุทธเจ้าอย่างนี้ มันก็สมควรที่จะรู้ จะเข้าใจวิธีสั่งสมบุญกุศล ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจ การสั่งสมบุญกุศลมันก็ไม่เจริญรุ่งเรืองได้ 

เริ่มจากการให้ทานนี่ไปนะ การให้ทานนี้ที่จะมีผลมาก ต้องประกอบไปด้วยองค์ ๓ หนึ่ง ผู้ให้ทานนั้นก็ต้องเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์มาก่อน ไม่ใช่มาสมาทานศีลเอาเมื่อเวลาจะถวายทานเท่านั้น อันนั้นไม่ได้หมายเอาในเรื่องนี้ หมายเอาว่าเป็นผู้มีศีลมาแต่ก่อนโน้น สอง ไทยทานที่แสวงหามาถวายทานนั้น ก็เป็นไทยทานอันบริสุทธิ์ ไม่หลอก ไม่ลวง ไม่ฉ้อ ไม่โกงเอาสมบัติผู้ใดมาให้ทาน และไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทำอาหารมาเลี้ยงพระ เรียกว่าหาเอาของที่ไม่มีโทษนั้นมาทำอาหาร ถวายทานอย่างนี้ สาม ผู้รับทานก็เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีคุณธรรมอันสูงส่ง อันนี้ ชาวพุทธเราก็นิยมนับถือพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าว่าเป็นเนื้อนาบุญ เพราะฉะนั้นเมื่อคิดจะทำบุญกุศลขึ้นมาก็จะนึกถึงพระสงฆ์ ว่าพระในวัดมีกี่องค์ อย่างนี้ แต่ถ้าหากว่า การทำบุญกุศลที่จะได้ผลมากนั้น ก็ต้องรู้จักเลือก อย่างนี้แหละ เว้นเสียแต่เลือก ไม่มีที่จะเลือกแล้ว ก็ทำไป เรายกไทยทานจบศีรษะแล้ว ก็อธิษฐานอุทิศบูชาคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระอริยสงฆ์นั้น โดยมีสมมุติสงฆ์เป็นผู้รับแทน 

ถ้าหากว่าเราอธิษฐานใจอย่างนี้ มันก็มีผลมากแหละ เพราะเราอุทิศบูชาพระคุณของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐในโลก เราไม่ได้บูชาท่านผู้อื่นเลย บูชาพระโลกุตรธรรม บูชาพระอริยสงฆ์สาวก นับตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์ นี่เราทำในใจ ทำความเลื่อมใส ในพระคุณทั้งสามนี่อย่างแรงกล้า แล้วก็ถวายทานแด่สมมุติสงฆ์ไปอย่างนี้ ก็ยังนับว่ามีผลมากอยู่ แต่ถ้าหากว่ามีพระสงฆ์ที่ทรงคุณธรรมอันสูงส่ง มีศีล น่าเคารพรักใคร่บูชา อย่างนี้แล้วก็ได้ชื่อว่าเราได้ทำบุญประกอบไปด้วยองค์ ๓ เช่นนี้ท่านว่ามีผลมาก ทำไมพระองค์เจ้าจึงได้ทรงแสดงองคคุณไว้อย่างนี้ ก็เพราะว่า ผู้รับทานคือพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านี่แหละ เป็นคนทุศีลก็มี เป็นคนมีศีลก็มี อย่างนี้นะ เป็นท่านผู้มีศีลอย่างยิ่ง มีสมาธิยิ่งก็มี มีปัญญายิ่งก็มี มันมีพระสงฆ์หลายประเภทอย่างที่กล่าวมาแล้วนั่นแหละ ทีนี้พระสงฆ์ทุศีลนี่หมายถึงพระสงฆ์ปุถุชน ไม่เคารพต่อธรรมวินัย บวชเข้ามาแล้วก็ล่วงธรรม ล่วงวินัย แสวงหาตั้งแต่ลาภแต่ยศ ไม่แสวงหาศีลธรรมอันดีงาม ไอ้อย่างนี้ท่านเรียกว่าพระทุศีล ผู้มีปัญญาทั้งหลายได้พิจารณาเห็นแล้ว ก็ไม่สมควรที่จะบริจาคทานในพระสงฆ์เช่นนั้น 

อันนี้แหละ การทำบุญกุศล บางคนทำมีผลน้อย บางคนทำมีผลมาก นี่มันต่างกันอย่างนี้ เรื่องมันน่ะ มันต่างกันด้วยองคคุณ บางคน ไอ้เจ้าของทานก็เป็นผู้ไม่มีศีลซะ อ้าว ของทานก็บริสุทธิ์ อย่างนี้ก็มี แล้วผู้รับทานก็เป็นผู้มีศีลมีธรรม แต่มันขาดผู้ให้ทานน่ะ เป็นผู้ไม่มีศีลไม่มีธรรม อย่างนี้มันก็ไม่สมบูรณ์ เรียกว่าได้อานิสงส์ไม่มาก เป็นอย่างงั้น บางทีผู้รับทานไม่มีศีลมีธรรมอันบริสุทธิ์ ผู้ให้ทานมีศีลบริสุทธิ์ มีธรรมอันดีงาม ไทยทานก็หามาได้โดยทางบริสุทธิ์ ไอ้เช่นนี้มันก็ได้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะมันบกพร่องผู้รับทานน่ะ ผู้รับทานไม่มีคุณสมบัติอันสูงส่ง อันดีงาม มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นพุทธศาสนิกชน ผู้ยินดีในการบริจาคทานในพุทธศาสนานี้ ก็ให้พากันบำเพ็ญประกอบไปด้วยองค์ ๓ ดังกล่าวมานี้ มันถึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก อย่างนี้บัดนี้นั่นแหละ 

ถ้าพูดถึงความมุ่งหวังในพระพุทธศาสนานี่นะ เมื่อมีทานแล้วต้องมีศีลประกอบด้วย อย่างนี้ ก็จึงเป็นบุญกุศลอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มัวหมองอยู่ด้วยบาปอกุศล ถ้าบุคคลให้ทานไปเฉยๆแล้ว ศีลไม่เจตนารักษาเลย ไอ้อย่างนี้นะก็ทำบาปทำกรรมเข้าไป แล้วบาปมันก็ไปแย่งบุญกุศล ไปทำลายบุญกุศลนั้นให้เสื่อมไป มันเป็นอย่างนั้น เหมือนอย่างคนปลูกพืชลงในดิน แล้วบัดนี้ก็ปล่อยให้หญ้ามันขึ้นท่วมอย่างนี้นะ พืชนั้นก็ย่อมซูบซีดไป ไม่งาม ไม่ผลิดอกออกผลขึ้นได้แหละ อุปมาฉันใดก็อย่างนั้นแหละ ผู้ทำบุญกุศลแล้วก็ไปทำบาปแทรกเข้ามาอย่างนี้นะ บุญกุศลนั้นก็เศร้าหมองไป ซูบซีดไป เหมือนอย่างพืชที่ปลูกลงในดินแล้วมีหญ้าหุ้มนั่นแหละ เป็นเช่นนั้น การไม่ภาวนา ไม่ชำระกิเลสออกจากจิตใจ ก็อุปมาเหมือนบุคคลไม่ดูแลพืชต่างๆที่ปลูกลงในดินแล้ว ไม่ดายหญ้า ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่รดน้ำ เมื่อต้นไม้นั้นมันไม่ได้ดูดน้ำ ไม่ได้ดูดอาหารคือปุ๋ยไปหล่อเลี้ยงลำต้นมัน มันก็ไม่งอกงามขึ้นได้เท่าที่ควรเลย 

อันนี้ฉันใดก็อย่างนั้นแหละ ผู้ที่เกียจคร้านในการไหว้พระ นั่งสมาธิภาวนาเช่นนี้ มันก็ทำให้กิเลสคือความโลภ ความโกรธ ความหลงนั่นน่ะ ครอบงำจิตใจ ทำใจให้เศร้าหมองขุ่นมัว บุญกุศลก็เจริญงอกงามไปไม่ได้ เรียกว่าเป็นใจแห้ง ใจเหี่ยว ใจถูกกิเลสครอบงำเอานะ ไม่ชุ่มชื่นเบิกบานอะไรเลย การที่บุคคลมาละกิเลสบาปธรรมออกจากหัวใจไป พร้อมกันกับการปฏิบัติธรรม อันนี้แหละ จึงสามารถที่จะทำใจให้เบิกบานผ่องใสได้ ดังนั้นข้อปฏิบัติในพุทธศาสนานี้น่ะ พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงไว้ ๓ ประการ คือเป็นหมวด ๓…หมวด ๓ นี่หมายความว่าทรงมีพระประสงค์ให้พุทธบริษัทนั้นปฏิบัติให้ครบทั้ง ๓ นี้ มันจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก แล้วจึงกำจัดกิเลสให้เบาบางออกไปจากจิตใจได้ 

ผู้มีศีล ก็ย่อมกำจัดความโกรธ ความพยาบาท ความเบียดเบียนทั้งหลายออกไปจากจิตใจได้ เพราะว่าผู้มีศีลจะไปโกรธอยู่ ไม่ละความโกรธออกไป อย่างนี้แล้วมันจะทนไหวหรือ มันก็ไปฆ่าไปตีผู้อื่น ไปเบียดเบียนผู้อื่นเมื่อมันโกรธมาแล้ว มันเป็นอย่างนั้นเรื่องมันน่ะ ดังนั้นต้องเคารพในศีลเป็นอย่างยิ่งทีเดียว ผู้ปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานี่น่ะ ศีลเนี่ยแหละสำคัญมากทีเดียว เมื่อมีศีลบริสุทธิ์แล้ว จิตใจก็เบิกบานผ่องใส มันก็เป็นฐานที่รองรับเอาบุญเอากุศล เอาคุณพระรัตนตรัยไว้ได้ เหมือนอย่างว่าบุคคลจะปลูกบ้านปลูกเรือนอย่างนี้ มันก็ต้องปรับดินให้ราบเรียบเสียก่อน อย่างนี้ แล้วก็จึงทำหลุมลงไป เอาเสาปักลงไปอย่างนี้นะ อันนี้

ฉันใดก็อย่างนั้นแหละ บุคคลผู้ที่จะทำบุญกุศล คุณพระรัตนตรัยให้ตั้งมั่นอยู่ในจิตใจของตนได้ ก็ตนก็ต้องเป็นผู้ชำระใจนี้ด้วยศีล ทำศีลให้บริสุทธิ์ ไม่ทำบาปด้วยกายวาจาใจ นี่ เมื่อชำระใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสไปแล้วนะ บุญกุศลมันเกิดขึ้นเองแหละ ไม่ต้องอธิษฐานให้เกิดหรอก มันเกิดขึ้นเอง อย่างว่าผู้ที่เว้นจากการเบียดเบียนได้อย่างนี้นะ มันก็ย่อมมีเมตตา กรุณา เอ็นดู สงสารบุคคลอื่นและสัตว์อื่น ไม่ปรารถนาที่จะให้บุคคลอื่นและสัตว์อื่นเป็นทุกข์เดือดร้อนเลย นี่ ไอ้ความเป็นผู้มีจิตเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เบียดเบียนอันนี้แหละเรียกว่าจิตเป็นกุศล กุศลเกิดขึ้นในจิต ให้เข้าใจ ถ้าหากว่าเป็นผู้ไม่เคารพในศีล ไม่มีเมตตาธรรม กรุณาธรรมอย่างนี้น่ะ ใจมันสะสมความโกรธ ความพยาบาทไว้นี่ ใจมันก็เป็นใจดำ แล้วก็ใจร้อน อย่างนี้แล้วย่อมไม่สมควรจะเป็นภาชนะรองรับเอาบุญเอากุศล เอาคุณพระรัตนตรัยไว้ได้ จิตใจที่มัวหมองขุ่นมัวอย่างนั้นนะ ให้เข้าใจ

ทีนี้การภาวนาน่ะจึงชื่อว่าเป็นการชำระจิตใจที่เศร้าหมองขุ่นมัวให้ผ่องใสอย่างนี้นะ เพราะว่าใจนี่มันยึดมั่นเอากิเลสไว้ ไม่ใช่กิเลสมันมาหุ้มห่อเอาโดยลำพัง จิตใจยึดเอาไว้แล้ว มันจึงหุ้มห่อจิตใจให้มัวหมอง อุปมาเหมือนอย่างสีเหลือง สีขาว สีดำ สีแดงต่างๆหมู่นี้นะ สีมันก็เป็นสีอย่างนั้นแหละ แต่ถ้าเราไม่เอามาทาร่างกายอันนี้ มันก็ไม่ติดร่างกายเลย มันก็เป็นสีอยู่อย่างนั้นตามเรื่องมัน มันเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเอามาทาผ้านุ่งผ้าห่มเข้าไป สมมุติว่าสีดำอย่างนี้นะ มันก็ทำผ้าขาวให้ดำไปอย่างนี้นะ ถ้าเราไม่เอามาทา มันก็ไม่ดำนะผ้า ฉันใดกิเลสบาปธรรมทั้งหลายก็เป็นอย่างนั้นแหละ ถ้าหากว่าใจไม่ยึดถือเอามันไว้อย่างนี้นะ มันจะมาเบียดเบียนจิตให้เป็นทุกข์เดือดร้อน เศร้าหมองขุ่นมัวไม่ได้เลย ให้เข้าใจ ดังนั้นการที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราทำใจให้สงบระงับลงไปน่ะ จึงชื่อว่าเป็นการฝึกใจไม่ให้ยึดมั่นในกิเลสนั้น ในบาปธรรมต่างๆ กำหนดใจละอารมณ์อันเป็นบาปอกุศล เป็นกิเลสต่างๆนั้น ให้มันระงับดับไปเรื่อยๆไป เมื่อกิเลสมันระงับดับไปลงไปแล้ว จิตมันก็รวมลงเป็นหนึ่งได้อย่างนี้นะ ให้พากันเข้าใจ 

บางคนก็ไม่รู้ว่าละกิเลส ไปละอย่างไร ไม่ต้องสงสัยหรอก ว่าแต่หมั่นขยันนั่งสมาธิภาวนา เพ่งลมหายใจเข้าออกเข้าไป อย่าไปเพ่งไปอย่างอื่น เพราะว่าจิตนั้นมันอาศัยลมหายใจเข้าออกนี้เป็นอยู่ ถ้าลมหายใจเข้าออกนี่ดับไปแล้ว จิตก็ตั้งอยู่ในกายนี้ไม่ได้เลย นี่เพราะฉะนั้นผู้ที่อยากรู้จักจิตแล้ว ให้ตั้งสติกำหนดเพ่งลมหายใจเข้าออกเข้าไป หายใจเข้าก็สติหยั่งลงไปรู้ว่าจิตคือความรู้อยู่ตรงนี้ อย่างนี้นะ หายใจออกมาก็กำหนดรู้ว่า ความรู้อยู่ตรงนี้ เพราะว่าหายใจเข้าหายใจออกมันก็รู้อยู่ทุกขณะลมหายใจอยู่นี่ ทำไมจะไม่รู้จักจิตหละ จิตก็คือความรู้สึกนั่นแหละ ไม่ใช่หมายเอาอย่างอื่นใดนะ ไม่มีสีสันวรรณะ รูปพรรณสัณฐานอะไร ไม่มีเลย จิตเนี่ยน่ะเป็นธรรมชาติรู้ หรือว่าเป็นธาตุรู้เท่านั้นเองนะ ความคิดทั้งหลายก็ออกมาจากความรู้อันนั้น เมื่อเราเอาสติหยั่งเข้าไปควบคุมความรู้อันนั้น ไม่ให้คิดอย่างนี้ มันก็หยุดคิดเลย ความรู้คือจิตนั้นนะ มันก็หยุดคิดหละ ทันทีหละ การที่มันคิดโน่นคิดนี่ไม่หยุดไม่ยั้งนั้นเพราะว่าสติไม่หยั่งเข้าไปควบคุมความรู้สึกอันนั้น ไอ้สาเหตุที่จิตมันจะคิดไปไม่หยุดไม่ยั้งนั้นน่ะ ให้เข้าใจ 

ดังนั้นการภาวนา จึงให้สำคัญเรื่องสติให้มาก เอ้า สติแปลว่าความระลึกได้ เราไม่ระลึกไปทางอื่นบัดนี้นะ ระลึกเข้าไปหากาย หาจิตนั้น ในสติปัฏฐานพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงไว้แล้ว การเจริญสติปัฏฐานนั่นแหละนับว่าเหมาะสมอยู่กับคนที่มีวาสนาบารมีไม่แก่กล้าเหมือนครั้งพระพุทธเจ้า เพราะว่าเพ่งเข้าไป สติกำหนดรู้กายนี้ว่า สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา อะไรอย่างนี้นะ นี่ใครก็ย่อมรู้ได้นะ ถ้าทำความเพียรเพ่งพินิจเข้าไปนะ แต่ถ้าไม่ทำความเพียรเพ่งพินิจ ก็ไม่รู้แหละ ก็รู้ว่าแต่กายเราอยู่อย่างนั้นแหละ ดังนั้นเมื่อเพ่งเห็นกายทั้งมวลเหล่านี้นะ ไม่ใช่ตัวตนเราเขา อย่างนี้เราก็เพ่งเข้าไปหาจิต ระลึกเข้าไปหาความรู้อันนั้น เมื่อสติหยั่งเข้าไปหาความรู้นั้น ควบคุมความรู้สึกคือดวงจิตนั้นได้แล้ว ก็ถามตัวเองนะ ว่าร่างกายนี้เป็นของเราจริงหรือ หรือไม่ใช่ อย่างนี้นะ จิตจะตอบว่าอย่างไร แน่นอนหละเมื่อมันได้พิจารณามาแล้ว มันก็ตอบว่า ไม่ใช่ของเราแหละ…

อ้าว เมื่อไม่ใช่ของเรา ทำไมยังมาอาศัยอยู่กับมัน…ที่มาอาศัยก็เพราะเหตุว่า มันยังไม่รู้เลยแต่ก่อนมา แต่ชาติก่อนหนหลังโน่นแหละ ไปท่องเที่ยวมาในสงสาร มันยังสำคัญว่าร่างกายนี่เป็นเราเป็นของๆเราอยู่อย่างนั้นแหละ ดังนั้นมันจึงสร้างกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปดขึ้นในจิตใจ กิเลสตัณหานั่นแหละพาดวงจิตนี้ให้ไปก่อภพก่อชาติ เกิดเป็นรูปเป็นนาม เป็นขันธ์ ๕ อันนี้ขึ้นมา สาเหตุที่ดวงจิตนี้จะต้องมาอาศัยอยู่ในร่างกายนี่ ก็เพราะไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริงอย่างว่านี่แหละ มันจึงได้ใช้กาย วาจา ใจอันนี้ทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง มันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่จะทำชั่วตลอดเวลา ไม่ใช่หรอก อ้าว ดีก็ทำ เช่นอย่างว่า เมื่อมีใครคิดการทำบุญทำทานขึ้นมา อ้าว เพื่อนประกาศชักชวนก็เอา ไปทำบุญกับเพื่อน บางทีตัวเองก็คิดทำด้วยตนเอง นี่เรียกว่าจิตนี่มันมีกิเลสทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว เป็นคู่ขนานกันอยู่นี่นะ อันบางคราวก็จิตคิดเป็นอกุศลขึ้นมา เช่นอย่างว่ามีใครมาแสดงกิริยาไม่ดีไม่งามต่อ ตำหนิติเตียน ดุด่าว่าร้ายต่างๆ อย่างนี้มันก็โกรธขึ้นมาเลย อย่างนี้แหละ โกรธขึ้นมาก็เป็นเหตุให้โต้วาทีกัน ทะเลาะวิวาทกัน เมื่อทะเลาะวาจานี่ยุติลงไม่ได้ ก็เอาแล้วบัดนี้ ทะเลาะกันทางกายแล้ว ทุบกันตีกัน ทำลายล้างผลาญชีวิตของกันและกันไป มันก็เป็นกรรมเป็นเวรน่ะ บัดนี้นะ นั่นแหละ 

ไอ้ส่วนบุญที่ทำมันก็เป็นบุญอยู่ส่วนนึง อย่างนี้นะ ไอ้ส่วนบาปมันก็เป็นบาปอยู่ บัดนี้เวลาจวนจะตาย ส่วนใดมีกำลังมาก มันก็เช่นอย่างว่า บาปมีกำลังมากกว่าบุญอย่างนี้ บาปมันก็ฉุดคร่าเอาดวงจิตนี้ไปสู่นรกอบายภูมิ บาปมันไปตกแต่งรูปร่างของสัตว์นรก ให้ดวงจิตนี้แหละอาศัย นั่นแหละ ธรรมดาของสัตว์นรกนี่เข้าใจว่า คงจะเป็นรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัวแหละ ไม่ใช่สวยงามอะไรเลยแหละ แล้วก็ไปจมอยู่ในน้ำร้อนเดือดพล่านอยู่นั่น น้ำร้อนลวกไฟเผา เป็นจุลๆไปแล้วก็ บาปกรรมยังไม่สิ้นก็เกิดขึ้นมาอีก เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว น้ำร้อนก็ลวก ไฟเผาเข้าไป  ก็ละลายหายสูญไป บาปกรรมยังไม่หมดก็เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอีก อยู่อย่างนี้แหละ นี่พูดตามตำรา ไม่ใช่ใครทำให้ใครนะ บาปกรรมที่ตนทำนั่นแหละ มันบันดาลให้เป็นไปอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้น 

บัดนี้ถ้าหากว่าบุญมีกำลังมากกว่าบาปอย่างนี้ เวลาจวนจะตาย บุญนั้นมันก็เป็นพาหนะรับเอาดวงจิตไปเกิดที่สุขที่สบาย อย่างนี้แหละ เรียกว่าบุญกุศลนี่เป็นชื่อของความสุขก็ว่าได้ มันเป้นอย่างนั้น แน่นอนแหละ เมื่อบุคคลใดเวลาจวนจะตายอย่างนี้นะ มีสติเข้มแข็งแก่กล้า ระลึกถึงบุญถึงคุณได้มาก อย่างนี้ มีจิตชื่นชมยินดี เชื่อมั่นในบุญคุณนี่แหละ จะนำเราให้พ้นทุกข์พ้นภัยไปได้ อธิษฐานใจมั่นต่อบุญต่อคุณอย่างนี้แล้วก็มีสติควบคุมจิต ไม่ให้คิดพุ่งไปทางอื่นเลย ให้กำหนดรู้อยู่ตั้งแต่จิตดวงเดียวเท่านี้ เพราะบุญทั้งหลาย คุณทั้งหลายย่อมรวมอยู่ที่ความรู้นี้หมดแล้ว ไม่ใช่มันไปที่อื่นนะ มันอยู่ที่ความรู้อันเดียวนี้หมดแล้ว เพราะเราเชื่อ เราน้อมเข้ามา อย่างนี้แหละ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว มันก็อดกลั้นทนทานต่อทุกขเวทนาได้ เวลาจวนจะสิ้นชีพทำลายขันธ์น่ะ ธาตุสี่ ขันธ์ห้ามันแปรปรวนหวั่นไหวเต็มที่เลยหละ ก่อนที่มันจะแตกดับลง อ้าว จิตที่มีบุญคุณเป็นที่พึ่งที่ระลึกอยู่แล้วอย่างนี้ มันก็ไม่หวั่นไหวแล้ว มันอดได้ทนได้ ท่านที่ได้พิจารณามาก่อนแล้วว่าร่างกายนี่มันไม่ใช่ของเรา ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มันไม่เที่ยงนั่นน่ะ มันจึงแปรปรวนไปมา มันถึงแตกถึงดับ ถ้ามันเที่ยงมันก็จะไม่แปรปรวน ไม่แตก ไม่ดับ เพราะร่างกายมันไม่ใช่ของเรานั่นแหละ มันจึงบังคับไม่ได้ ถ้าบังคับได้มันก็เป็นของเราซิ ใครจะไปอยากแก่ อยากเจ็บ อยากตาย ไม่มีเลย อย่างนี้ เมื่อใจตั้งมั่นด้วยบุญด้วยคุณแล้วมันก็มีปัญญาสอนตัวเองได้ในขณะนั้นน่ะ 

เมื่อจิตถูกปัญญาพร่ำสอนเข้าไป อย่างนั้นมันก็รู้ รู้ตัวได้ รับรู้ความจริงจากปัญญาที่สอนนั้น มันก็ปลงวางขันธ์ ๕ นี้ลง ไม่เสียใจ ไม่ดีใจกับมัน ก็มันไม่ใช่ของเรานี่ เราจะไปห่วงมันอยู่ทำไม อย่างนี้นะ ก็ปลงลงได้ แต่ปลงลงอย่างไร ไอ้ความทุกข์นั้นมันก็มีอยู่นั่นแหละ ต้องอดกลั้นทนทานต่อความทุกข์ ไอ้ความรู้เท่าทุกข์ก็หมายเอาความอดกลั้นทนทานต่อทุกขเวทนา ไม่แสดงอาการทุรนทุรายในส่วนจิตใจนี่นะ ส่วนร่างกายนั้นมันห้ามมันไม่ได้ มันก็อาจทุรนทุรายไปตามเรื่องมัน แต่ว่าจิตนี่มีสติ มีปัญญาสอนอยู่ ห้ามอยู่ มีขันติความอดทนอยู่ในใจหละก็ มันก็ตั้งมั่นอยู่ได้ ไม่หวั่นไหวต่อทุกขเวทนา มีสติรู้จิตตัวเองว่าตั้งมั่นต่อบุญต่อคุณอยู่อย่างนี้นะ จนหมดลมหายใจเข้าออกนี่ บุญกุศลเหล่านี้ก็เกิดเป็นยานพาหนะรองรับดวงจิตไป เกิดที่สุขที่สบายได้ บาปกรรมที่บุคคลทำนั้น ไม่ใช่ว่ามันจะระงับไปนะ มันไม่ระงับแล้ว เพราะว่าผู้นั้นมันไม่คิดละมาแต่ก่อน ยึดถือเอามันไว้ แต่มันมีกำลังน้อยกว่าบุญ มันจึงให้ผลทันทียังไม่ได้ แต่มันก็ติดสอยห้อยตามจิตไปอยู่อย่างนั้นแหละ จิตจะไปเกิดที่ไหน บาปกรรมมันก็ติดสอยห้อยตามไปอยู่อย่างนั้นแหละ คอยหาโอกาส เมื่อบุญกุศลที่ทำมานั้นมันหมดอายุลงไปเมื่อใด บาปมันก็ให้ผลเมื่อนั้น นี่มันเป็นอย่างนี้ ร่างกายสังขารชีวิตนี้ก็ถึงความวิบัติ วุ่นวายเดือดร้อนขึ้นมา ได้เสวยทุกขเวทนา นี่เรื่องของบาป มันมีแต่อำนวยผลให้เป็นทุกข์ลูกเดียวน่ะ มันเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นพุทธบริษัททั้งหลายควรพากันพิจารณาให้เห็นลักษณะอาการของบุญของบาปอันนี้ให้มันแจ่มแจ้งด้วยปัญญาของตัวเอง มันถึงจะเชื่อ ก็เพ่งพิจารณาให้มันรู้ ลักษณะของบาป คือมันเป็นของร้อน นี่ ลักษณะของความทุกข์ก็คือความทนอยู่ไม่ได้นั่นแหละ จิตวุ่นวายเดือดร้อน หวั่นไหวไปมา นี่นะ ลักษณะของบาปนะ เพราะฉะนั้นผู้ภาวนาลงไป ถ้าหากว่าจิตมันเดือดร้อนวุ่นวายต่างๆขึ้นมาเนี่ย ให้รู้ได้เลยว่านั่นแหละบาป มันแทรกแซงเข้ามาในจิตใจแล้ว แล้วจะไปถอย อ้าว ลองเพ่งละมันเรื่อยไป ต่อสู้มันเรื่อยไป เมื่อเราเข้มแข็ง จิตใจเข้มแข็ง ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ของบาปนั้นๆแล้วบัดนี้ บาปนั้นมันก็ทนอยู่ไม่ได้ เพราะจิตไม่ส่งเสริมแล้ว จิตเบื่อหน่าย เห็นโทษของบาปแล้ว ไม่ยึดถือเอาบาปแล้ว มีแต่กำหนดละอย่างเดียว บาปก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ก็ต้องดับไป 

นี่ เพราะฉะนั้นอย่าไปย่อท้อ ผู้ใดภาวนาลงไป เมื่อจิตใจฟุ้งซ่านเลื่อนลอยอย่างนี้แล้ว เอ้อ นี่มันบาป มันเกิดขึ้นในใจของเราแล้ว เราจะละมัน เราจะไม่ยึดถือเอามันไว้แล้ว บัดนี้นะ ทำความเพียรเพ่งความรู้สึกอันนี้ อย่าให้มันกังวลไปในเรื่องบาปเรื่องโทษ เรื่องความชั่วต่างๆนานา ไม่ไปเลย อ้าว มีแต่สติควบคุมความรู้สึกนี่ให้ตั้งลงในปัจจุบันนี่ กำหนดละอารมณ์ต่างๆที่มันปั่นจิตให้เร่าร้อนนั่น เรากำหนดนิ่งอยู่ในปัจจุบันนี่ ไม่ยึดถือมันแล้ว อารมณ์เหล่านั้นมันก็ดับไปเองแหละ ไอ้ที่มันไม่ดับนั้นเพราะเหตุว่าใจมันหวั่นไหวไปตามอารมณ์ต่างๆเหล่านั้น เรื่องมันเป็นอย่างนั้น 

คนไม่กล้าหาญ จิตใจไม่กล้า ไม่กล้าเผชิญกับบาปอกุศลต่างๆ พอมันกระทบกระทั่งมาเท่านี้นะ อ่อนพับไปเลยอย่างนี้นะ แล้วมันจะละบาปได้ยังไงอ้ะ นั่นแหละ เพราะบาปมันก็ไม่มีรูปร่างอะไรเช่นเดียวกับบุญเนี่ยแหละ มันเป็นธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิต แต่มันมีลักษณะอาการเร่าร้อน บาปน่ะ ให้ดูว่าถ้าจิตเราเร่าร้อนหละนั่นแหละ บาป  ต้องพยายามระงับความร้อนของจิตให้ได้ เมื่อความร้อนระงับลงไปได้ ก็แสดงว่าบาปมันระงับลงไปจากจิตใจ นี่เราต้องสู้กันอย่างนี้แหละ เรียกว่านักปฏิบัติทั้งหลายนี่อย่าไปเข้าใจว่าเราไม่มีบาปนะ อันนี้เราว่ารักษาศีลมาแล้วอย่างนี้ บาปไม่มีในตัวของเรา อย่าไปเข้าใจอย่างนั้น อันตั้งแต่บาปที่ได้ลุ่มหลงทำมาแต่ก่อนนู่นน่ะ ตนยังละมันไม่ได้นะ ให้เข้าใจ มันก็ติดสอยห้อยตามมาอย่างนั้นแหละ ดังนั้นบุคคลจะละบาปที่ตนลุ่มหลงทำมาแต่ก่อนได้ ต้องละด้วยทางภาวนา คือจิตให้สงบให้ระงับ ให้ตั้งมั่นลงไปในปัจจุบัน ไม่ส่งใจไปในอดีตอนาคตอย่างนี้นะ ก็จึงสามารถที่จะละบาปอกุศลต่างๆได้ 

สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้แจ้งตามเป็นจริงดังนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้นะ เราก็ถือปฏิบัติตามหลักนี้แหละ ถ้าจิตยังไม่ตั้งมั่น เราพยายามให้มันตั้งมั่นลงให้ได้ อย่าเพิ่งพิจารณาอะไรก่อน เพ่งลมหายใจเข้า หายใจออกเข้าไป มีสติควบคุมความรู้สึกอันนั้นเข้าไป ให้มันกระชับเข้าไปเรื่อยๆไปหละบัดนี้ มันจะค่อยหยุดลงแหละ ความคิดความนึกต่างๆนั้นนะ มันเป็นอย่างนั้น ถ้าหากว่าเราไม่เพ่งสติเข้าไปใกล้ชิดกับจิตแล้ว ควบคุมจิตไม่ได้แน่นอนเลย สมัยใดถ้าหากว่าเพ่งระลึกสตินี่เข้าไปถึงความรู้สึกอันนั้น จนรู้ได้ว่า เออ นี่ความรู้อันใด สติก็อันนั้น หรือว่าจิตอันใด สติก็อันนั้น สติอันใดก็จิตอันนั้น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนรู้ชัดในใจอย่างนี้นะ แล้วแน่นอนในขณะนั้น ใจต้องสงบแน่ ใจต้องรวมลงเป็นหนึ่ง มันเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นพุทธบริษัททั้งหลายอย่าพากันนิ่งนอนใจ อย่าว่าเราไม่มีบาป ถ้าอยากรู้จักบาป ต้องภาวนาอย่างที่ว่านั่นแหละ อ้าว อธิษฐานถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เข้าไปแล้วก็เอาเป็นที่พึ่ง แล้วก็นั่งสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ตั้งสติให้แน่วแน่ แล้วก็อธิษฐานจิตถึงคุณพระรัตนตรัยเอาเป็นที่พึ่งดังกล่าวมานั้น แล้วก็ขออำนาจคุณพระรัตนตรัยนี้จงเป็นพละกำลังให้ข้าพเจ้าทำใจให้สงบระงับเป็นสมาธิลงไป แล้วขอให้ข้าพเจ้ามีปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ในธรรมของจริงที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้นั้น เมื่ออธิษฐานจิตอย่างนี้แล้ว ก็ตั้งสติเพ่งความรู้นั้นต่อไปอย่างนี้นะ เพ่งความรู้อันนั้นอยู่อย่างนั้น เมื่อสติมันควบคุมความรู้ได้แล้วบัดนี้ก็ หายใจเข้า กำหนดละบาปธรรมที่มันหมักหมมอยู่ในจิตใจนี่ หายใจออกก็อธิษฐานละบาปธรรมกรรมอันชั่วเหล่านั้น หายใจเข้าก็กำหนดละความชั่วต่างๆที่ยังตกค้างอยู่ในจิตใจ เราทำความเพียรอย่างนี้แหละ กำหนดใจละเรื่อยไปอยู่อย่างเนี้ย เมื่อใจของเราไม่ส่งเสริมบาป ไม่ยึดเอามันแล้ว อธิษฐานใจละมันอยู่อย่างนั้นแล้ว มันจะอยู่ได้อย่างไร บัดนี้นะ เอาไปมันก็ดับไปเท่านั้นเองหละ 

ก็พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้แล้วว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นบุญก็ดี เป็นบาปก็ดี ไม่ใช่บุญ ไม่ใช่บาปก็ดี มีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ นี่นะ ให้ถือเอาอันนี้เป็นหลัก ผู้ปฏิบัติธรรมน่ะ ถือเอาพุทธภาษิตนี้เป็นหลัก ก็เมื่อเป็นเช่นนี้น่ะ เราฝึกจิตนี้ให้เข้มแข็งแล้ว จิตนี่มีอำนาจแล้ว จิตก็เป็นใหญ่ในบุญในบาปซิบัดนี้ เราก็เลือกเอาตามประสงค์น่ะ เมื่อเราไม่ชอบบาป เราก็กำหนดละมันทิ้งไป อย่างนี้แหละ เมื่อใจเราเข้มแข็งมีกำลังแล้ว เมื่อเราชอบบุญ เราก็กำหนดบุญไว้ในใจ กำหนดยังไงกำหนดบุญน่ะ กำหนดใจให้ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวต่อความชั่วร้ายต่างๆ ไม่หวั่นไหวต่อสุขต่อทุกข์ต่างๆนี่นะ นี้แหละ เพราะว่าบุญมันไม่มีตัวมีตนอย่างที่ว่ามาแล้วนะแหละ ก็เรารักษาใจดวงเดียวนี้นะ ให้ดีให้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว แล้วก็นั่นแหละบุญน่ะ บุญมันรวมกำลังลงไปสู่จิตนั่นน่ะ จิตมันจึงได้ตั้งมั่น จิตมันจึงมีกำลัง ไม่ยอมปล่อยให้บาปอกุศลมาครอบงำจิตใจ หายใจเข้ากำหนดละบาป หายใจออกกำหนดละบาปเรื่อยไปอย่างนี้นะ มันจะตั้งมั่นอยู่ได้อย่างไรบาปน่ะ มันก็ย่อมระงับดับไป 

แต่ถ้ามันมีบาปหลาย มันก็ต้องเพียรพยายามไปนานหน่อยแหละ เป็นอย่างนั้น อ้าว แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าบาปมันดับไปอ้ะ…ก็รู้ได้อย่างที่พูดให้ฟังนั่นแหละ ยกตัวอย่างเช่นว่า เราผูกโกรธไว้กับคนใดคนหนึ่งอย่างนี้นะ ในใจนั่นนะ เมื่อนึกถึงคนนั้นมา ใจขุ่นขึ้นมาอย่างนี้นะ นั่นแหละเรียกว่าบาปมันเกิดขึ้นในใจ ทีนี้เมื่อเราเห็นว่า เอ๊ะ อารมณ์อย่างนี้ ความคิดอย่างนี้มันเป็นบาปนิ เราจะไปยึดถือมันไว้ทำไม เอ้า เราต้องให้อโหสิกรรมเข้าไปซะ คนที่ตนเกลียดตนชังต่างๆหมู่นั้นนะ เราขออโหสิกรรมให้เลย ไม่ให้เป็นกรรมเป็นเวรผูกพันกันไปแหละ อย่างนี้นะ แล้วเราก็กำหนดละอารมณ์อันนั้นแหละ อารมณ์อันเกลียดชังคนอื่นสัตว์อื่นนั่นน่ะ เมื่ออารมณ์อันนั้นมันดับลงไป จิตเราก็รวมลงเป็นหนึ่งเยือกเย็นสบายขึ้นมาแทนความเร่าร้อนอันนั้นน่ะ นั่นแหละ บุญกุศลมันเกิดขึ้นในใจ 

นี่เราก็รู้ได้อย่างนี้แหละ รู้ได้ในขณะที่เราละกิเลสบาปธรรมอันนั้น มันระงับลงไป จิตใจเบิกบานขึ้นมา นี่รู้ได้ว่าบุญเกิดขึ้นในใจแล้ว กุศลเกิดขึ้นในใจ ในขณะที่มีเรื่องอะไรกระทบกระทั่งมา จิต ปัญญาสอนใจตัวเอง ให้กำหนดละอารมณ์อันนั้นได้ลงไป จิตใจเบิกบานผ่องใสขึ้นมา นั่นเรียกว่ากุศลมันเกิดขึ้นในใจ ความฉลาดนั้นมันเกิดมีขึ้นในใจ มันถึงละอารมณ์หรือละความชั่วร้ายต่างๆได้ ถ้าความฉลาดไม่มีในใจแล้วก็ละไม่ได้เลย นี่เป็นอย่างนี้ ให้พากันเข้าใจ ทีนี้ความฉลาดมันจะมีได้ก็เพราะว่าทำใจนี่แหละให้มันสงบจากบาปธรรมต่างๆเหล่านั้น นี่นะ เพราะว่าบาปมันก็มีเป็นขั้นๆ อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด อันอย่างหยาบนั่นเรียกว่าเราละมันมาจากศีลแล้ว ไอ้ผู้มีศีลตั้งมั่นอยู่ด้วยดี เคารพต่อศีลจริงๆอย่างนี้นะ ไอ้บาปส่วนหยาบอันนั้นมันก็ระงับไปแหละ คือมันไม่ให้กล้าไปทำบาป มีปาณาติปาตเป็นต้นต่อไป นี่เรียกว่าบาปอย่างหยาบ ม้นจะพาไปสู่นรกอบายภูมิ นั่นมันดับลงไปแล้ว มันเป็นอย่างนั้น 

บัดนี้บาปอย่างกลาง การที่เราภาวนาลงไป ไอ้ความพอใจหรือความไม่พอใจมันเกิดขึ้นมานี่นะ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสบางสิ่งบางอย่าง มันเกิดขึ้นมาวิตก วิจารไป ในอารมณ์ที่น่ารักน่าใคร่ น่าพอใจ ต่างๆอย่างเนี้ย แล้วบางทีก็อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเกิดขึ้นมาก็วิตกวิจารไป แต่ไม่ถึงกับว่าได้ไปทำร้ายผู้อื่น ไม่ถึงกับว่าได้ไปแสวงหาสิ่งที่รักที่ชอบใจนั้นๆ เพียงแต่วิตกอยู่ในใจเฉยๆอย่างนี้นะ อันนี้มันก็เป็นอกุศลวิตกส่วนหนึ่งเรียกว่าส่วนกลาง อย่างนี้แหละ บัดนี้ อ้าว นั่งภาวนาอยู่แล้วมันง่วงเหงาหาวนอนขึ้นมา อันนี้มันก็เป็นบาปอกุศลส่วนหนึ่งนะ เป็นส่วนกลาง อย่าไปว่ามันง่วงธรรมดานะ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้กำจัดมันนั่นแหละ อ้าว การปล่อยจิตให้คิดฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป ไม่มีจุดหมายปลายทางอะไรพวกนี้ มันก็เป็นบาปอกุศลเหมือนกัน แต่ก็อย่างว่านั่นแหละ มันคิดแล้วแต่มันไม่ลงมือทำหรอก ไม่ถึงกับลงมือทำ แต่ทำจิตให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยเศร้าหมองไปด้วยอารมณ์จิปาถะที่จิตมันคิดมันปรุงมันแต่งขึ้นมาน่ะ นั่นน่ะมันก็เป็นบาปขึ้นมา แต่ว่าเป็นบาปอย่างกลาง ไม่ใช่อย่างหยาบ 

ความสงสัยลังเลในจิตใจอย่างนี้นะ เอ๊ะ เราทำบุญนี่จะได้บุญหรือไม่หนอ เราทำบาป อย่างนี้ ท่านว่าเป็นบาปจะเป็นจริงหรือไม่หนอ ไม่ค่อยเชื่อคำสอนพระพุทธเจ้าเท่าใดนัก ยังสงสัยอยู่เพราะมันไม่เห็นแจ้งในใจของตนเอง ไอ้เช่นนี้นี่ ได้แก่ความสงสัยลังเลในเรื่องบาปบุญคุณโทษ มันก็เป็นบาปส่วนกลาง อย่างกลางแหละ ดังนั้นเมื่อความสงสัยได้เกิดขึ้นมาแล้ว อย่าไปยึดถือเอาไว้ อย่าไปเก็บมันไว้ อารมณ์เช่นนั้นน่ะ ต้องหาทางแก้ไขจนได้ จนหายสงสัย ถ้าตนไม่สามารถจะชี้แจงให้ตนฟังจนหายสงสัยได้ ตนก็จำเอาเรื่องราวที่ตนสงสัยน่ะไปถามผู้รู้ทั้งหลาย ท่านผู้รู้ทั้งหลายท่านจะได้ชี้แจงอธิบายให้ฟัง จนหายข้อข้องใจในเรื่องนั้นๆได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ บาปอย่างกลางคือความสงสัยมันก็ระงับลงไปได้ 

นี่แหละให้พึงพากันเข้าใจ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ละบาปนั่นนะ มันเป็นขั้นเป็นตอนอย่างนี้ บาปอย่างหยาบนี่หละสำคัญมากทีเดียวนะ ขอให้พากันพยายามพิจารณาให้มันเห็นโทษของบาปกรรมอันหยาบช้าลามกที่จะพาไปตกนรกอบายภูมินี่ ต้องใส่ใจให้มากชาวพุทธทั้งหลาย อย่าไปลืม อย่าไปปล่อยปละละเลยตนเอง ให้บาปมันสร้างบ้านสร้างเรือนอยู่ในจิตใจนั้น โดยตนเองไม่ได้เพ่งพิจารณาดูจิตใจเลยว่า มันมีบาปอะไรบ้างหมกมุ่นอยู่ในจิตใจนี้ ก็เมื่อตนไม่ภาวนา ไม่เพ่งดูจิต บาปกรรมมันก็ไปหมักหมมอยู่ในหัวใจนั้นมากมายแล้ว เช่นนี้เมื่อตายไปแล้ว มันจะไปไหนน่ะ ก็บาปกรรมเป็นใหญ่นั้นพาไปสู่ทุกข์ ในอบายภูมิทั้ง ๔ มีนรกเป็นต้น แม้ทำบุญก็ทำลอยๆไปอย่างนั้นแหละ บุญก็เข้าไปถึงจิตใจไม่ได้ เพราะบาปมันเป็นเจ้าเป็นใหญ่อยู่ในหัวใจแล้ว บาปบุญเข้าไปตั้งอยู่ในใจชั่วครู่ชั่วขณะเท่านั้นแหละ แล้วบาปมันก็ผลักดัน บุญหายไป นี่อย่างนี้นะ 

ดังนั้นเราผู้นับถือพุทธศาสนาน่ะ เราได้สละข้าวของเงินทองมาให้เป็นทาน บูชาพุทธศาสนามานี่มากมายนี้แล้วนะ เพราะฉะนั้นอย่าให้บุญที่เราทำมันเสื่อมไป ให้พยายามภาวนากำจัดบาปธรรมกรรมชั่วออกจากจิตใจให้ได้ แล้วเมื่อบาปกรรมมันระงับไปแล้ว บุญที่ทำมานั้นมันก็โผล่ขึ้นมา ทำใจให้สงบระงับเบิกบาน มีสติปัญญารู้จักช่องทางออกจากทุกข์ภัยในวัฏสงสารได้ ดังแสดงมาสมควรแก่เวลา ขอจบลงเพียงเท่านี้