Skip to content

มดแดงไต่ขอบด้ง

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ณ โอกาสนี้เป็นต้นไป เป็นการสดับรับฟังพระธรรมคำสั่งสอนในทางพุทธศาสนา พร้อมกันนี้ก็ให้พากันนั่งสมาธิ นั่งขัดสมาธิเพชรให้ได้กันทุกๆคน การนั่งขัดสมาธิเพชรนี้ให้เอาขาซ้ายขึ้นมาทับขาขวา แล้วก็เอาขาขวาขึ้นมาทับขาซ้าย เอามือข้างขวาวางทับมือข้างซ้าย ตั้งกายให้เที่ยงตรง หลับตานึกภาวนาพุทโธให้ได้ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก ตั้งใจระลึกให้ดีว่าเวลานี้เป็นเวลาปฏิบัติบูชา ไม่ให้จิตใจคิดฟุ้งซ่านไปที่อื่น ให้รวมเข้ามา ให้ทวนกระแสใจเข้ามาภายใน 

ถ้าปล่อยให้ไปตามสังขารจิตปรุงแต่งภายนอกแล้ว ไม่มีที่จบที่สิ้น ถ้าทวนกระแสคือว่าทวนเข้ามาภายใน เหมือนคนเราพายเรือทวนกระแสน้ำขึ้นไปข้างบน น้ำนั้นย่อมมีที่สิ้นสุด คือน้ำมันมาจากยอดภูเขา มันก็สุดแค่นั้น แต่ถ้าว่าไหลตามลำแม่น้ำลำคลองเล็กน้อยใหญ่ ไม่มีที่จบ ลงถึงมหาสมุทรสาคร เรียกว่ากว้างใหญ่ไพศาล มากมายที่สุด จิตใจนี้ก็เหมือนกัน ถ้าปล่อยให้ดิ้นรนไปตามกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตามความอยากความต้องการของใจกิเลสนี้แล้ว เป็นอันว่าไม่จบไม่สิ้น เหมือนสัตว์โลกทั้งหลายที่มาเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในโลก ไม่มีที่สิ้นสุด ก็เพราะว่าตามสังขารมาร ตามกิเลสมาร ตามไปกับกิเลสความโกรธ กิเลสความโลภ กิเลสความหลง 

พระธรรมคำสอนพระพุทธเจ้านั้นถ้าจะว่ากว้างก็เรียกว่าเต็มโลก ทั้งมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก ถ้าว่าน้อยนึงก็คือหัวใจทุกคนนั่นแหละ พุทธะ จิตผู้รู้ ศาสนธรรมคำสั่งสอน คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่มาตรัสรู้ในโลกแล้ว ก็เหมือนกัน หรือว่าที่ยังไม่มาตรัสรู้ในโลก ในอนาคตกาล มันก็เหมือนกัน ไม่มีอะไรแตกต่าง คือพระพุทธเจ้าทั้งหลายโดยย่อท่านก็สอนว่า ให้ละบาป อย่าพากันทำบาป ด้วยกาย ด้วยวาจาคือคำพูด ด้วยใจคือความคิดในสิ่งที่ไม่ดี ท่านให้ละทิ้งบาปอย่าทำ แล้วท่านว่าให้ทำบุญ กาย วาจา จิตของเราให้ระลึกอยู่ในบุญในกุศล ที่ว่าให้ภาวนาพุทโธก็คือให้ใจตั้งอยู่ในบุญ รวมมาเพื่อความสงบ วาจาจะพูดจาปราศรัยอะไรก็ให้สังวรณ์ระวัง คือให้เป็นสุภาษิตวาจา คือวาจาดี วาจาไม่ดุด่าว่าร้ายป้ายสีให้แก่ใคร ไม่ยุแหย่ให้ใครผิดเถียงกัน นี่เรียกว่าวาจาดี เว้นจากมุสาวาทโกหกพกลมเป็นต้น 

ใจดี…ใจดีนี่สำคัญมาก ใจจะดีได้ ทำอะไร เอาใจนึกคิดเจริญภาวนา เราจะกำหนดความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ ความตายเป็นทุกข์อะไรได้ทั้งนั้น เมื่อเห็นสิ่งใดจะเป็นคน เป็นสัตว์สิ่งเดรัจฉานก็ตาม เป็นเทวดา อินทร์ พรหมก็ช่าง ก็วนๆอยู่ในโลก อยู่ในวัฏสงสารอันเก่านี่เอง ท่านเปรียบอุปมาเหมือนว่า มดแดงไต่ขอบหม้อขอบไหขอบโอ่ง มันกลม มดแดงนั้นมันก็เข้าใจว่ามันไปไกลที่สุด แท้ที่จริงคนเรามองดู มันก็วนๆอยู่ในขอบวงกลมนั่นแหละ ความอยาก ความต้องการของคนเราในใจมันก็เหมือนกัน คิดไป ปรุงไป แต่งไป ก็เลยลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในเรื่องอันเก่า วนไปเวียนมาอยู่ไม่จบ มันจะจบสิ้นอย่างใด เหมือนมดแดงไต่ขอบด้ง ไต่ขอบหม้อ ขอบโอ่ง หรือว่าวนอยู่ในวงกลม มันก็อยู่อย่างนั้น การเกิดการตายของสัตว์ทั้งหลายจึงว่านับไม่ถ้วน อเนกชาติ นับภพนับชาติ นับกัปป์นับกัลป์ไม่ถ้วน ก็เพราะมันลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในในความโกรธ ในความโลภ ในความหลง 

ทีนี้จะเลิกได้ละได้นั้นอย่างไร ตั้งตัวตั้งใจขึ้นมา เรียกว่าตั้งสัจจะ ตั้งอธิษฐานใจ อย่างเรานั่งสมาธิภาวนา เราจะให้ตัวตรง อย่างนี้เป็นต้น เราจะทำอย่างใด ก็คือจิตใจผู้อยู่ภายในเนี่ยแหละ นั่งยืดเอวขึ้น ตั้งตัวให้ตรง ไม่ให้ก้มนัก ไม่ให้เงยนัก ไม่ให้เอียงไปข้างซ้ายข้างขวา ถ้าเราไหว้พระพุทธรูป ไห้วพระพุทธ ดูพระพุทธ พระพุทธท่านทำไมนั่งตัวตรง ครั้นเราคิดง่ายก็ว่า พระพุทธท่านไม่มีจิตไม่มีใจ ท่านก็นั่งได้ พระพุทธนั้นมันก็ต้องมาจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านเป็นมนุษย์ เป็นคนชั้นสูงสุดในบรรดามนุษย์ แต่ท่านก็ทำได้ แล้วท่านไม่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิวหรือ ก็เนื้อหนังมังสามนุษย์ มันก็เหมือนกันกับพวกเรานั่นแหละ เจ็บมันก็เจ็บได้ แก่มันแก่ได้ ดับขันธ์เข้าสู่นฤพาน ก็คือว่ามันตายได้ แตกได้ 

รูปร่างกายของพระพุทธเจ้า พระอรหันตาเจ้าทั้งหลายมันก็เหมือนกัน คือว่าร่างกายสังขารของมนุษย์คนเรานั้น เอาธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มาประชุมกันเข้า เรียกว่าธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่นาน ภายในร้อยปีมันก็แตกไป ดับไป เป็นธรรมดาของธาตุขันธ์ แล้วก็เรียกว่าคนนั้นตาย พระองค์นั้นตาย เณรองค์นั้นตาย ผ้าขาวนางชีที่นั่นตาย ญาติโยมที่โน่นที่นี่ตาย สวดอภิธรรมกัน บังสุกุลกัน ชักอนิจจากัน ทำบุญทำทาน ก็เพื่อว่าจุดมุ่งหมายคือให้ทุกๆคนจงตั้งอกตั้งใจ รวมจิตรวมใจภาวนาดูให้ดี เกิดเบื้องต้น มันแก่ชรา เจ็บไข้ได้ป่วยทุกข์ยากลำบากรำคาญในท่ามกลาง ดิ้นรนวุ่นวายเหมือนคนสมัยนี้ สมัยหลัง สมัยหน้าก็เหมือนกัน มันก็ทุกข์อยู่เท่าเก่าเนี่ยแหละ แล้วเมื่อหมดกำลัง กุศลเก่าหมดไปแล้ว มันก็แตกไปดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เมื่อย่อก็เป็นอย่างนี้ 

แต่ว่าก่อนจะแตกจะดับ ถ้าคนไม่ตั้งอยู่ในทานการกุศล ไม่ตั้งใจอยู่ในการรักษาศีลห้า ศีลแปด ไม่ตั้งใจอยู่ในการสดับรับฟังพระธรรมคำสั่งสอน ไม่ตั้งใจอยู่ในสมาธิภาวนา ไม่ตั้งใจฝึกฝน กาย วาจา จิตของตน บุคคลนั้นมันก็เหมือนกับว่า เป็นต้นไม้ที่ยังไม่ได้เอามาทำอะไร มันเป็นต้นยืน เป็นต้นอยู่ในป่าในดงลึกๆโน่นนะ ยังไม่ได้ตัดต้น สินตาย ยังไม่ได้ลากได้เข็น ยังไม่ได้เข้าโรงเลื่อย โรงทำไม้ อะไรทุกอย่างกว่าจะมากลายเป็นบ้านเป็นเรือน เป็นตึกเป็นราม เป็นกุฏิวิหารที่อยู่อาศัย ยังหลายอย่างอยู่ ทาน ศีล ภาวนาเป็นความรู้ แต่อะไรทั้งหมดนั้นให้ย่อเข้ามา ยอดของธรรมก็คือภาวนา ทำความเพียรละกิเลส ละกิเลสความโกรธ ละกิเลสความโลภ ละกิเลสความหลง 

คำว่าละนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ความคิดละมันจะละได้ หรือพูดว่าละมันจะละได้ ไม่ใช่อย่างนั้น จะเลิกได้ละได้ ตัวเองก็ต้องรู้ว่า สิ่งที่ใจคิด สิ่งที่เราทำมันไม่ดี มองจนเห็นแง่ไม่ดี ได้รับทุกข์ บาปนั้นได้รับทุกข์ บุญนั้นได้รับสุข ต้องมองให้เห็น ให้จิตใจที่สงบระงับตั้งมั่นนี่แหละ จะเห็นเอง ไม่ต้องไปหาที่อื่น แต่ถ้าใจไม่สงบ ไม่ตั้งมั่นเที่ยงตรงแล้ว มีอยู่มันก็ไม่เห็น เหมือนเราเดินไปดีๆ เอาเท้าไปตำใส่ตอ ใส่หลักใส่ตอ ใส่แง่หิน ไปเหยียบแก้วแตกของเขา คือว่าเราไม่เห็น ถ้าเห็น ใครจะไปเหยียบ หรือว่าบางคราวไปเหยียบถ่านไฟแดงหรือของร้อน จึงร้องออกมาลืมตัวไป นี่คือว่ามันไม่เห็นทั้งนั้น จิตที่ตั้งมั่นในบริกรรมภาวนาจนจิตใจนิ่งสงบระงับ มันมองเห็นเอง บาปเป็นอย่างไร บุญเป็นอย่างไร มันให้ผลอย่างไร 

ความจริงบุญบาปมันให้ผลแก่คนเราอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าจิตเราไม่ตั้งมั่น จึงไม่เห็น ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ตามันเห็น หูก็ได้ยิน แต่ว่า จิตมันไม่เห็น จิตนั้นมันจิตไม่แจ่มใส ไม่สงบ ไม่ตั้งมั่น มันเลยมองไม่เห็น มันมองไปอีกแง่หนึ่ง คือว่าแง่บาป เมื่อโกรธให้ใครแล้ว นอกจากความโกรธในใจ ยังมีความอิจฉา พยาบาท อาฆาต จองเวร เมื่อทำให้คนที่เราโกรธไม่ได้ ก็ทำให้ข้าวของของเขาเสียหายไป อันนี้ก็คือว่าไม่เลิกละความโกรธ มันจะเกิดมากน้อยประการใด เราต้องเพียรพยายามละออกไปทีละน้อยๆ มันไม่เหลือความเพียร แต่ว่าถ้าไม่เลิกไม่ละ ส่งเสริมมันไปเท่าไร ก็ยิ่งจะ…เอาหละ…เดือดร้อน 

ความโกรธนี้เป็นไฟเผาใจให้ร้อน ใครมีความโกรธอยู่ในใจ ให้พากันภาวนาละ อย่าไปทำไปตาม อย่าพูดไปตาม อย่าคิดไปตาม อย่าไปส่งเสริมให้คนอื่นหลงใหลไปในความโกรธ มันเป็นอยู่ที่ใจ ก็เพียรพยายามดับที่ใจ มันจะแสดงออกมาทางวาจา มันเคยพูดเคยว่า โดยนิสัยของคนที่โกรธ เราก็เพียงระมัดระวัง คือว่าไม่ต้องพูด ถ้าไม่ต้องพูดได้เป็นการดี ถ้าหากว่ายังหลงอยู่ ก็เรียกว่าพูดให้มันเบาๆลงไปหน่อย อย่าให้มันแสดงที่โกรธหน้าดำตาแดงออกมา พูดให้มันเบาๆ หรือเบาลงไปจนพูดในลำคอของเรา ได้ยินแต่คนเดียว อันนั้นสบายเข้ามาแล้ว หรือเลิกได้ ละได้ ความโกรธนี้เป็นของละได้ พระพุทธเจ้าท่านละได้ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ทั้งญาติทั้งโยมสมัยก่อน มันเลิกได้ละได้ ละได้จริงๆด้วย แล้วละแล้วท่านก็เห็นผลด้วยตนเอง ไม่ต้องให้ใครมาชี้แจงแสดงว่าโกรธไม่ดี อย่างนั้นอย่างนี้ อันนั้นเป็นคำสอน คำสอนนั้นมันมีอยู่ประจำ แต่ว่าจิตใจเราจะเลิกได้ละได้ ต้องภาวนา บริกรรมทำใจให้สงบตั้งมั่น 

เมื่อใจสงบตั้งมั่นได้แล้ว ท่านว่า อันที่เราโกรธมันไม่มีสาระประโยชน์อะไร ตัวเองก็เดือดร้อน บุคคลผู้อื่นเมื่อเขาได้ยินได้ฟัง มันก็เดือดร้อนวุ่นวายไปเพราะว่า ปุถุชนคนเรานั้น ท่านเปรียบเหมือนอย่างว่า ไฟ หรือน้ำร้อนอย่างนั้น มันร้อนอยู่แล้ว ไปโดนเข้ามันก็เจ็บ ไฟมันก็มีเชื้อเพลิงตกลงมา แล้วก็ลุก ไฟความโกรธมันมีอยู่ใจจิต แต่มันสีมันไม่แดงเหมือนไฟธรรมดา แต่ว่ามันลุกขึ้นมาได้ สิ่งไม่ดีตกเข้าไป มันลุกฮือขึ้นมา เราก็ว่าความโกรธ ในเวลามันได้เชื้อเพลิงนะ อันนี้เรียกว่าลึกเข้าไปกว่านั้น มันมีอยู่ในจิต เมื่อจิตนั้นยังยึดตัวยึดตน ยึดหน้ายึดตา ยึดชาติยึดตระกูล ยึดเรา ยึดของๆเรา ไม่ยอมปล่อยวาง ไม่มีอโหสิกรรมให้แก่บุคคลผู้ใด ใครล่วงเกินเป็นอันว่าไม่ยอม ตัวนี้แหละตัวสำคัญ 

เราต้องพยายามภาวนาสงบกาย สงบวาจา สงบจิต รวมจิตรวมใจเข้าไปอยู่ภายใน ถ้าจิตอยู่ภายในแล้วเหมือนกับอยู่ในกำแพงเจ็ดชั้น บุคคลผู้ใดไปอยู่ในกำแพงเจ็ดชั้น เจ็ดรอบ ภัยอันตรายย่อมมีน้อย หรือไม่มีเลย แต่ถ้าผู้ใดไม่มีกำแพงกั้น เสียงดังมาก็เข้าหูถึงใจ ตาเห็นรูปก็เข้าตาถึงใจ จมูกดมกลิ่น ก็ถึงใจ ยินดียินร้ายไปตามเรื่อง รสอาหารผ่านลิ้น ยังไม่ผ่าน มันก็ดิ้นรนวุ่นวายไปตามเรื่อง เย็นร้อนอ่อนแข็งมาถูกต้องร่างกาย จิตใจมันก็วุ่นวายไปอยู่อย่างนั้น นอกนั้นแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ผ่านไป มาเป็นธรรมารมณ์อยู่ในจิต ธรรมารมณ์ในจิตนั้นถ้าดับอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นไม่ได้ 

ถ้าเปรียบอุปมาเหมือนอย่างว่า เอาหม้อกระทะ หม้อใหญ่ๆใส่น้ำซักครึ่งนึง แล้วก็ดังไฟ จุดไฟข้างล่าง อีกไม่นานพอไฟลุกร้อน น้ำมันจะเดือด น้ำเดือดนั้นไม่รู้ว่าอะไรหละ บุบบับๆ มีทุกอย่างนั่นหละ สิ่งที่ไม่มีมันก็มีขึ้น นี่หละเมื่อมันเดือดแล้ว เมื่อมันโกรธแล้ว มันก็เหมือนน้ำเดือด น้ำในหม้อเดือด พวกแม่ครัวทั้งหลายย่อมรู้ หุงต้มอะไรๆ มันมีเดือดอยู่ในนั้น แม้จะเป็นหม้อไฟฟ้ามันก็เดือดอยู่นั่นหนะ ถ้ามันบ่ร้อน ข้าวก็จะไม่สุก แกงก็ไม่เป็นแกง ฉะนั้นจิตใจนี้ท่านว่าสงบได้เป็นการดี สงบกาย กายไม่ทำบาป มีหลักศีลห้า ศีลแปด สงบวาจา มีหลักศีล สงบใจ หลักสมาธิภาวนา นั่งหลับตานึกพุทโธในใจ ไม่ต้องไปโกรธให้ใคร ปล่อยให้มันตายเองก็ได้ ร้อยปีมันก็ตาย เราก็ไม่ถึงร้อยปีก็ตาย ไปโกรธให้คนโน้นคนนี้ทำไม สอนจิตใจของเราจนมันยอม มันเชื่อเลื่อมใส เห็นได้ด้วยสติปัญญาของตนเอง แล้วมันก็ลดลงไป ละลงไป วางลงไปได้ ไม่ต่อเติมส่งเสริม จิตมันก็สบาย 

นอกจากจิตสบาย กายก็สบาย วาจาก็สบาย อะไรมันสบายไปหมดแหละ ถ้าจิตสบาย อะไรก็สบายหมด อะไรๆมันมาจากจิต จิตเป็นตัวสำคัญ บุญบาปดีชั่วตัวกระทำมาจากจิตใจ เมื่อทำแล้วมันก็ไปล้อมรอบอยู่ในหัวใจ ทำบาป บาปมันก็คอยให้ผลในจิตในใจนั้น แล้วมันก็ให้ผลทางนอกด้วย บุญพอเราทำแล้ว มันก็ไปห้อมล้อมอยู่ในจิตนั่นแหละ เมื่อผลบาปให้จังหวะเมื่อใด บุญมันก็เข้า ทำงานหน้าที่บุญ สลับกันไปอย่างนี้ เวลาภาวนาท่านจะให้นึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พุทโธ พุทโธนั้นพระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญมา ๔ อสงไขย แสนมหากัปป์ พระพุทธเจ้า พระพุทธโธ พระพุทธโธเราไม่ใช่น้อย ท่านยังมีความพาก ความเพียร ความพยายามไม่ท้อไม่ถอย คนอื่นจะเลิกล้มความเพียร พระพุทธเจ้าเราก็ไม่เปลี่ยนแปลง ตั้งใจทำความดีมาเรื่อย จนกระทั่งดีที่สุดได้มาตรัสเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นในโลก ได้ดับขันธ์เข้าสู่นฤพาน ไม่ต้องเดือดร้อนวุ่นวายประการใด 

นี่แหละเราท่านทั้งหลายให้พากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัติภาวนา รวมจิตรวมใจของตนเข้ามาภายใน อันความทุกข์นั้นไม่มีใครปรารถนา แต่มันก็ได้ มันลอยมาเอง เวลาทุกข์บังเกิดขึ้น คนเรามันจะอดทนไม่ได้ เวลาสุขกายสบายใจ อันนั้นไม่ต้องไปอดไปทน มันเป็นที่ชอบใจของจิตใจคนเรา จงหมั่นขยันภาวนาให้ได้ทุกคืนทุกวัน เท่าที่มีโอกาสจะอำนวยให้ แล้วเราท่านทั้งหลายก็จะมีแต่ความสุขความเจริญในทางพุทธศาสนา ดังแสดงมาก็สมควรด้วยกาลเวลา เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้