หลวงพ่อสิงห์ทอง ธมฺมวโร
การฟังธรรมะ การปฏิบัติ คนที่เคยฟังมาแล้วเคยฝึกมาแล้วก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ก็เคยทำ เคยฟังกันมา แต่คนที่ไม่เคยก็ไม่ทราบว่าจะทำแบบไหนการฟังธรรมะจึงจะได้ความสงบสุขทางใจ เพราะยังไม่เคยสดับรับฟัง ไม่เคยฝึก ไม่เคยปฏิบัติ ฉะนั้นการฟังธรรมะ ระยะที่เรานั่งฟัง ธุระหน้าที่เรื่องอื่นไม่มี ให้สังวรณ์ระวังใจของตัว อย่าให้คิดปรุงยุ่งเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่เป็นอดีตผ่านมาแล้วก็ตาม อนาคตยังไม่มาถึงก็ตาม หน้าที่ของตัวให้กำหนดจิตอยู่เฉพาะหน้า
ถ้าหากเรารักษาจิตของเราได้อย่างนั้น ธรรมะที่ท่านแสดงไปสัมผัสกับใจอยู่เรื่อยๆ ผลที่สุดจิตใจก็สงบ จิตใจก็เย็น เกิดความสุขความสบาย เพราะใจสงบ ใจเย็น ถ้าไม่อย่างนั้น มีแต่คิดปรุงยุ่งเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ทั้งๆที่งานด้านนอกไม่มี แต่จิตมันวกคิดไปอดีตที่ผ่านมาอย่างนั้นอย่างนี้ คิดห่วงคิดหวงเรื่องการงานบ้านช่องข้าวของต่างๆ ปล่อยให้จิตคิดปรุง ไม่มีระยะเวลา ไม่รักษาจิตใจของตัว การฟังธรรมะก็เกิดความรำคาญ ใจไม่สงบ ใจไม่เย็น ใจไม่สงบใจไม่เย็น ถึงท่านจะแนะจะสอนอะไร มันไม่ไปสัมผัสกับใจ มันก็เลยเกิดความรำคาญ ถึงระยะที่ท่านเทศน์ไม่ยาวนานก็ตาม แต่จิตของเรามันไม่สัมผัสกับธรรม มันไม่เข้าใจในธรรม มันไม่รับความสุขจากธรรม มันก็เหมือนกับว่าเวลามันยืดยาว จิตใจก็รำคาญ กายก็เจ็บปวด เหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิวต่างๆ เข็ดหลาบ ไม่อยากจะฟังเพราะไม่เพลิดเพลิน เพราะไม่สนุก เพราะไม่สุขไม่สบายให้ นี่คือการฟังธรรมะไม่เป็น รักษาจิตรักษาใจของตัวไม่เย็นไม่สงบ
ฉะนั้นระยะที่เราฟังธรรมะก็ให้ถือว่าเป็นการภาวนาในตัว ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งอดีตอนาคตหักห้ามเอาไว้ ให้ใจอยู่ปัจจุบัน จะกำหนดลมหายใจหรือกำหนดพุทโธ ก็ให้กำหนดได้ ถือว่าธรรมะที่ท่านแสดงไป ท่านไม่แสดงไปที่อื่น คือสอนกายสอนใจของทุกคน ไม่ได้มุ่งแสดงไปนอกเรื่องของกายของใจ ท่านแสดงไปเมื่อท่านแสดงในขอบเขตของธรรมะ ของกายของใจ เราก็มีกายมีใจ นั่งฟังอยู่นี้ก็มีกายมีใจ ผู้แสดงก็เอากายเอาใจเป็นการแสดง เมื่ออย่างนั้นการฟังมันก็เข้าใจง่าย เพราะกายเราก็มี ใจเราก็มี ไม่ใช่ว่าท่านหาเรื่องอันอื่นมาแสดง
กายใจนี้เป็นปัญหาสำคัญ พวกเราท่านครองจิตคิดปรุงกันมากจนภพชาติยืดยาวมาตลอดเวลาก็เพราะการหลงกายหลงใจของตัวเราเอง นอกจากนั้นก็หลงคนอื่น เนื่องจากใจของเราไม่ฉลาด ไม่มีธรรมะ ไม่สามารถที่จะแก้ไขขับไล่กิเลสตัณหาความลุ่มหลงของใจให้ตกออกไป เพราะสมมุติของโลกที่เราเกิดมา เคยได้สดับรับฟังกันมา เคยใกล้ชิดติดตามกันมา เรื่องสมมุติต่างๆนานา มันฝังลึก ไม่สามารถที่จะแก้ไขให้ใจรู้เห็นเป็นจริงในอรรถในธรรมได้ ฉะนั้นการฝึกอบรมจิต การฟังธรรมะจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ใจของเราได้พินิจพิจารณาหาความจริงที่จิตใจข้องติดยุ่งเกี่ยวต่างๆ จิตใจนี้มันยุ่งเกี่ยวลุ่มหลงในเรื่องของกายมากมายจนหลงใหลใฝ่ฝัน ไม่เข้าใจสิ่งนั้นตามเป็นจริงของมัน ทางธรรมะท่านจึงสอนให้พินิจพิจารณาศึกษาหาความจริงในสิ่งนั้นๆ ไม่ให้จิตใจหลงใหลใฝ่ฝันไปตามเรื่องของกิเลสตัณหา
การพิจารณาการศึกษานั้น ศึกษากายเป็นเบื้องต้น กายนี้เป็นที่ตั้งของความลุ่มหลง แต่ความจริงกายมันไม่ได้หลง ใจมันหลง มันไม่รู้ ไม่เข้าใจว่ากายอันนี้มีอะไรแน่นอน โดยส่วนใหญ่โลกเขาถือว่าสวย เราก็สมมุติไปตามเขา ติดข้องไปตามเขาว่ามันสวยมันงามอย่างนั้นอย่างนี้ การศึกษาธรรมะ ท่านให้พิจารณาตามเป็นจริง ก็คือพิจารณากายนี้ ตามเป็นจริงของมัน จะพิจารณาเรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ มันก็ถูก เพราะธาตุนั้นท่านกล่าวเอาไว้ ธาตุใหญ่ๆที่สำคัญในกายก็คือธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประกอบกันเข้า เรียกว่ากาย สมมุติอีกว่าหญิงว่าชาย ว่าสัตว์และบุคคล ทับกันไปเรื่อยว่าหนุ่มว่าสาว ว่าแก่ว่าเฒ่า ว่าสวยว่างาม สมมุติทับๆๆเรื่อยไป ผลที่สุดความจริงของกายนั้นเป็นอย่างไร พวกเราท่านไม่เคยวินิจฉัย ไม่เคยพินิจพิจารณา ตัวเองจึงหลงติดสมมุติเรื่อยมาตลอดปัจจุบันทุกวันนี้ เราต้องเพิกสมมุติออกไป เอาอรรถเอาธรรมเข้าส่อง ดูเรื่องของกายให้แยบคาย
พิจารณาทางธาตุ ก็ให้พิจารณาให้มันทราบตามเป็นจริงของมัน ธาตุที่ข้นแข็ง ท่านก็เรียกว่า ธาตุดิน เป็นต้นว่าเกสา คือผมขน โลมา นขา ทันตา เรื่อยลงไปอ้ะ ธาตุดินท่านบอกไว้ในตำรับตำรา ก็มี ๒๐ อย่าง นี่ทางสมมุติ แต่ถึงอย่างไรก็ดีมันก็มีอยู่ในตัวของเรา ธาตุเหล่านี้ เรียกธาตุคือของที่ข้นที่แข็ง ธาตุที่เอือบอาบไหลไปไหลมาได้ ท่านเรียกว่าธาตุน้ำ นี่ก็มีอยู่ในกายของเราอีก ทางตำราท่านแยกเอาไว้ ๑๒ อย่าง นอกจากนั้นก็ธาตุลม ที่พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องล่าง ตลอดถึงลมในท้องในไส้ ลมหายใจเข้าออก ธาตุไฟก็ความอบอุ่นในเนื้อในตัวของเรา เรียกว่าธาตุไฟ
ธาตุเหล่านี้ประกอบกันเข้าเรียกว่าสัตว์ ว่าบุคคล แต่ถ้าแยกแยะออกไปธาตุเหล่านี้มันไม่มีธาตุไหน ไม่มีทรงใดว่ามันเป็นสัตว์ มันเป็นบุคคล แต่สมมุติเค้าเรียกว่าสัตว์ ว่าบุคคล แต่ถ้าหากพิจารณาทางธรรมาธิษฐาน มันไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลอยู่ที่ตรงไหน เราไปถามดูก็พอทราบได้ มันว่ามันเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟันมั้ย มันไม่มีตอบ ธาตุนี้ไม่มีการลุ่มหลงในจิตในใจ เราจะหลงใหลใฝ่ฝันขนาดไหน ธาตุอันนี้หน้าที่ของมันเป็นอย่างไร มันก็เป็นไปตามหน้าที่ของมัน ไม่ได้หลงใหลกับใครทั้งนั้น หน้าที่ของมันเกิดมาก็แปรปรวนไปตามสภาพของมัน ถึงเราจะบำรุงรักษาดิบดีขนาดไหน ธาตุเหล่านี้หน้าที่ของมันเป็นอย่างไร มันก็แปรสภาพของมันไปตามเรื่องของมันไป ผลที่สุดธาตุเหล่านี้ก็แตกสลายจากกัน ดินก็ไปเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ แต่ธาตุลม ธาตุไฟนั้นเป็นธาตุที่ละเอียด เรามองไม่เห็น อาศัยสัมผัสจึงทราบ มันดับไปด้วยกัน แต่มันดับไปที่ไหน เราก็มองเห็นไม่ได้ แต่จะปฏิเสธว่าธาตุไฟ ธาตุลมนั้นมันไม่มี มันก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน มันยังมีอยู่ แต่ว่ามันไปตั้งอยู่ที่ไหน ตอนออกจากกายของเราไป มันก็ไปตามหน้าที่ของมัน นี่ธาตุขันธ์ของสัตว์ของบุคคลเป็นอย่างนั้น
ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้ ความลุ่มหลงของจิตของใจที่ไปสำคัญว่าหญิงว่าชาย ว่าสวยว่างามต่างๆ มันจะค่อยถอนไปหมดไปเพราะสิ่งเหล่านี้มันไม่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา มันเป็นธาตุ นี่พิจารณาในทางธาตุเพื่อแก้ไขขับไล่สมมุติของใจที่ยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ว่าเรา ว่าของเรา ว่าคนนั้นคนนี้ ถ้าหากจะพิจารณาหาทางแก้ไขความกำหนัดยินดีของใจที่ถือว่าสวยว่างามก็พิจารณาในทางตรงกันข้ามกับสมมุติของโลกที่เค้าถือกัน ก็พิจารณากายของเก่านี่แหละ ดูให้ทั่วถึง ให้เข้าใจชัดเจนในความจริงของมัน ธาตุขันธ์อันนี้ ก้อนอันนี้ที่เราลุ่มหลงกันด้วยสมมุติทางโลกว่ามันสวยมันงามอย่างนั้นอย่างนี้
ทางธรรมะที่จะแก้กิเลสตัณหาราคะของใจ ท่านก็ให้พิจารณาทางอสุภะอสุภัง ตามความเป็นจริงของมัน ในธาตุในขันธ์ของพวกเราท่าน ไม่มีอะไรที่น่ายินดีชอบใจ ถ้าหากพิจารณาเห็นจริงประจักษ์ ใจนั้นจะเกิดสังเวชสลดใจ เพราะความลุ่มหลงห่อหุ้มจิตใจ ที่ลุ่มหลงในเรื่องของกาย ว่าชายว่าหญิง ว่าสวยว่างามนั้น มันเป็นมาตลอดระยะเวลา ไม่ทราบสภาพความจริงของมันว่าเป็นอย่างไร ถ้าจิตใจพินิจพิจารณาทางอสุภะ คือพิจารณาความไม่สวยไม่งาม พิจารณาตามเป็นจริงของมัน ไม่ว่าอะไรในตัวของเราท่านมันสกปรก ตกหล่นลงที่ไหนก็ไม่มีใครชอบ ไม่มีใครยินดี ตั้งอยู่ก็ดูแลรักษา เป็นภาระสำคัญ ไม่อย่างนั้นความเน่าเหม็นปฏิกูลของกายมันก็เยิ้มออกมา ไหลออกมา ให้พวกเราท่านได้ทราบ ได้เห็นกันอยู่ ชำระกันอยู่เรื่อยๆ เพราะกายมันสกปรก แต่เราลุ่มหลงงมงาย ถือว่าหญิงว่าชาย ว่าสวยว่างามอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะว่าจิตติดข้องในสมมุติ
ถ้าหากพิจารณาทางด้านธรรมะ เห็นจริงประจักษ์ชัดเจนว่าเป็นของปฏิกูลอสุภะอสุภัง ไม่น่ากำหนด ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลินหลงใหล กำหนดจิตกำหนดใจลงไป หลับตาลงไป แทนที่มันจะอยู่ในเนื้อในหนังรอบนอก มันไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าจิตเป็นอรรถเป็นธรรมจริงจัง มันจะเห็นอสุภะ อสุภัง ความปฏิกูลของกาย คือเกิดอุคหะ ติดตาติดใจได้ มองไปที่ไหน ในกายของตัวก็มีแต่ของชั่วของเน่าของเหม็น ของเป็นปฏิกูลทั้งนั้น ผลที่สุดเนื้อหนังผุพังลงไปเหลือแต่กระดูก ดูกระดูกในเนื้อในตัวของตัวเอง มันสวยมันงามมั้ย มันมีอะไรที่เป็นคุณค่าสาระ ทำให้จิตใจใฝ่ฝันลุ่มหลง ถ้ามันเห็นชัดเจนจริงจังอย่างนั้น มันจะเกิดสลดสังเวชที่จิตไปติดข้องในสมมุติ พอมันเห็นในจิตในใจของตน นี่คือคนที่ประพฤติปฏิบัติฝึกหัดพินิจพิจารณาธรรมะ ไม่ข้องติดในเรื่องของกาย เพราะกายมันเน่ามันเหม็น มันเห็นเป็นของสกปรก ของปฏิกูล
เมื่อจิตของเราฝึกหัดปฏิบัติเกิดอุคหนิมิตติดในใจอย่างนั้น ไปที่ไหนแทนที่มันจะหลงใหลใฝ่ฝันในรูปต่างๆ ไม่ว่ารูปหญิงรูปชายก็ขึ้นมาเป็นกายแล้ว มันเน่ามันเหม็น มันปฏิกูลด้วยกันทั้งนั้น มันเห็นประจักษ์ แล้วมันก็ไม่ติดไม่ข้อง ไม่ยึดไม่ถือ ไม่กำหนด ไม่ยินดีในรูปนั้นๆ เค้าสมมุติอย่างไรก็พูดไปตามโลกของเขา แต่จิตใจของเราจะลุ่มหลงเหมือนเก่าก่อนที่เราไม่เคยฝึกสอน ไม่เคยประพฤติปฏิบัตินั้น มันเป็นไปไม่ได้ พอมันเห็นประจักษ์ชัดเจนในจิตในใจ นี่คือการประพฤติปฏิบัติฝึกหัดพินิจพิจารณาธรรมะ
ใจเมื่อมีธรรมะ ฝึกธรรมะ พิจารณาในทางธรรมะ เรื่องกิเลสตัณหาที่เคยยุ่งเกี่ยวกับจิตกับใจ มันค่อยถอนออกไป ตกออกไป หลุดออกไป ใจไม่ลุ่มหลงมืดบอดเหมือนก่อน ใจไม่วุ่นวายเดือดร้อนเพราะความลุ่มหลงเรื่องกิเลสตัณหาเผาตัว ใจจึงสว่างไสว ใจจึงสงบเย็น อยู่ในสถานที่ใด มีความสุขความสบายทางใจ เพราะการแก้ไขขับไล่เรื่องความลุ่มหลง เรื่องกิเลสของตัวออกไป นี่การพิจารณาศึกษาปฏิบัติธรรมะ เกิดคุณค่าสาระจากการกระทำบำเพ็ญของตน พอเห็นความเย็น ความสงบ ไปสถานที่ใดมีแต่อรรถแต่ธรรมะทั่วไป เห็นอะไรน้อมนำมาพินิจพิจารณาแก้ไขเพื่อให้ใจเกิดปัญญา สามารถละถอนความยึดถือของจิตของใจ
เมื่อเป็นอย่างนั้น ใจสงบได้ ใจสุขได้ ใจมีสติมีปัญญาภายใน ท่านจึงเป็นโลกะวิทู คือรู้แจ้งในตัวของท่าน ว่าธาตุขันธ์อันนี้ไม่ใช่สัตว์บุคคล เป็นแต่ธาตุทั้ง ๔ ผสมกันเข้า ขันธ์ทั้ง ๕ ที่อาศัยอยู่นี้ก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง มันมีด้วยกันทุกคน ไม่ว่าหญิงว่าชาย ไม่ว่าอดีตอนาคต ปัจจุบันเรารู้เราเข้าใจตัวของเราชัดเจนอย่างไร อดีตอนาคตมันก็หมดไป เพราะคนเกิดใหม่เค้าก็จะเป็นไปทำนองเดียวกับเรา ผลที่สุดเค้าจะต้องล้มหายตายไป คนที่ตายไปแล้วในอดีตก็เหมือนกันกับเราในปัจจุบัน ไม่มีอะไรที่จะสงสัยข้องใจอีก นี่คือการพินิจพิจารณาเรื่องของธรรมะ
ธรรมะจึงเป็นเครื่องส่องเรื่องโลกต่างๆให้สว่างไสว ให้ประจักษ์ในใจ คนที่ลุ่มหลงโลกเท่าไร อารมณ์มากเท่าไร คนนั้นก็ยุ่งลำบากเท่านั้น เราไม่ค่อยสังวรณ์ระวังใจกัน มีแต่ปล่อยไปตามเรื่องของโลก เรื่องของสมมุติ เราจึงข้องติดคิดแวะในสิ่งต่างๆอยู่เรื่อยๆ ไม่มีความสงบสุขให้ พอมาฝึกอบรมใจของตัว สอนใจของตัว พิจารณาอรรถธรรมชำระใจของตัว สิ่งที่ชั่วเสียต่างๆเคยมารบกวนจิตใจค่อยตกไป ขาดไป เบาไป สบายไป ใจสว่าง ใจไสว ใจสงบ ใจเย็น นี่คือการฝึกการบำเพ็ญในทางธรรมะ ถ้าหากใครฝึกปฏิบัติได้ เข้าใจในเรื่องของธรรมะ โลกอันนี้ก็ไม่มีอะไรที่จะมายั่วยุจิตใจให้ลุ่มหลงติดข้อง เพราะสมมุติต่างๆนั้น ถ้าหากเราพินิจพิจารณาตามธรรมะแล้ว มันแก้ไป หลุดไป การแก้สมมุติไป หลุดจากสมมุติไปด้วยใจของตัวเองนั้นแหละ ท่านเรียกว่าวิมุติคือความพ้นไปจากความข้องจิตในเรื่องสมมุติต่างๆ
แต่ก่อนมันเคยลุ่มเคยหลง ตาเห็นรูปก็เกิดอย่างนั้น เกิดอย่างนี้ ถ้ามันชอบ มันยินดีมันก็เกิดราคะตัณหา ถ้ามันไม่ชอบ ไม่ยินดี มันก็เกิดความไม่พอใจโสมนัส โกรธแค้นในสิ่งเหล่านั้น มันเลยทุกข์ไหม้เผาจิตใจของเราตลอดเวลา เสียงก็เหมือนกัน มันเป็นพิษเป็นภัยใหญ่หลวง ถ้าหากคนไม่มีธรรมะ ลมปากของคนสามารถที่จะทำภัยอันตรายได้มาก ร้อนไหม้ยิ่งกว่าไฟธรรมดาเพราะลมปาก เย็นก็เย็นสนิท ฝังจิตฝังใจของคนเพราะลมปาก ถ้าหากคนมีธรรมะพินิจพิจารณาเรื่องรูปก็ดี เสียงก็ดี สิ่งเหล่านี้มันมีมาก่อนแต่ไหนแต่ไร เราไม่เห็นมันก็มีอยู่แล้ว เราเห็นมันก็มีอยู่อย่างนั้น แล้วสิ่งเหล่านี้มันจะไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างไรกัน เราทราบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีการแปรปรวนและแตกสลาย
เสียงก็เหมือนกัน เขาสรรเสริญเยินยอพูดดีอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้กำหนัดยินดี ทำให้ลุ่มหลงจิตใจ เสียงนั้นดับไประยะยาวนานขนาดไหน แต่สัญญาอารมณ์ความยึดถือของใจมันผูกมัดไว้ ทำให้ใจยินดี ทำให้ใจลุ่มหลงเพลิดเพลินไป ถ้าเค้าด่า เค้าว่าสิ่งที่เราไม่ปรารถนา ไม่ชอบใจแล้ว ก็ทำนองเดียวกัน ทั้งสิ่งเหล่านั้น เสียงเหล่านั้นดับไประยะยาวนาน แต่เราก็นำมาคิดมาอ่านมาปรุงขึ้น ทำให้จิตใจโกรธแค้นเร่าร้อน เป็นไปทำนองนั้นเพราะปัญญาของเราในทางธรรมะไม่มี ไม่สามารถที่จะแก้ไขขับไล่สิ่งเหล่านี้ให้หายออกไปจากใจ ใจจึงลุ่มหลงเรื่อยไป
โลกอันนี้ รูปก็ดี เสียงก็ดี มันมีมาแต่ไหนแต่ไร คนหลงจึงไม่มีความสงบ ไม่มีความสุขให้ เพราะไปที่ไหนก็เจอรูป เจอเสียง เจอกลิ่น เจอรส แต่คนมีธรรมะในจิตในใจนั้น ท่านไม่ได้ลุ่มหลง ท่านพิจารณาตามเป็นจริงแล้วปล่อยวางในสิ่งนั้นๆ รูปมันมีอยู่ก็สักแต่ว่ารูป เราเป็นอย่างไร เค้าก็เป็นอย่างนั้น เสียงก็ทำนองเดียวกัน เค้าจะสรรเสริญเยินยอ มันก็ดับไป เค้าจะติฉินนินทามันก็ดับไป มันไม่มีอะไรที่จะยึดจะถือเอาไว้ มันปล่อยไปวางไป พอพูดจบมันก็ดับ นี่หมายถึงเรื่องผู้ที่มีธรรมะในใจที่แก้ไขตัวเพื่อความสงบ ท่านจึงอยู่สงบ ไม่มีอะไรที่จะมาก่อกวนจิตใจให้ชอบ ให้ยินดี ให้ตำหนิ โกรธแค้นต่างๆ นี่หมายถึงผู้ที่ประพฤติปฏิบัติอรรถธรรม ระวังสังวรณ์ใจภายใน ดูใจของตัวที่มันชอบ มันยินดีในเรื่องต่างๆนั้น มันให้ทุกข์ ให้โทษ หรือมันให้คุณให้ประโยชน์อย่าไร ที่มันตำหนิเขานั้น มันมีความสุขความสบายมั้ย ท่านต้องพินิจพิจารณาเพื่อให้จิตเข้าใจชัดเจนในสิ่งเหล่านั้น เมื่อมันเข้าใจชัดเจนเห็นประจักษ์ มันก็ละได้ ถอนได้ นี่มันไม่เห็น ไม่เป็นในจิตในใจของตัว ไปอยู่สถานที่ใดถึงสถานที่จะสงบ ไม่มีอะไรภายนอกมารบกวน แต่จิตใจก็วุ่นวายว่าคิดอย่างนั้น คิดอย่างนี้ อยู่ในที่สงบก็กลัวอันนั้น กลัวอันนี้ ทั้งๆที่สิ่งที่เรากลัวนั้นมันไม่มี แต่มันก็คิดเอา เดาเอา ปรุงเอาว่ามันจะเกิดขึ้นอย่างนั้น เป็นไปอย่างนี้ คือไปคาดไปฝัน ทำให้จิตใจของตัวเองว้าวุ่นยุ่งเกี่ยว หาความสงบ หาความวิเวกไม่ได้
นักภาวนา นักชำระใจจึงควรแก้ไข ควรพินิจพิจารณาดูสิ่งต่างๆให้เห็นตามเป็นจริงของมัน แต่จิตใจที่จะเห็นเด่นชัดอย่างนั้น ทางศาสนาครูอาจารย์ท่านเคยแนะสอนให้ฝึกสมาธิ คือความสงบของใจเสียก่อน ถ้าหากพิจารณาสุ่มเดาโดยไม่มีความสงบของใจ พิจารณาไปเท่าไหร่มันก็คลาดหมายไป มันไม่ขาด ไม่ตกให้ ความจริงปัญญามันมีทุกคน ความคิดนึกมันมีทุกคนแต่มันนึกคิดไปคนละอย่างละแบบ นึกคิดไปในทางโลก ทางผิด จิตใจก็เดือดร้อน นึกคิดไปในทางธรรมะ จิตใจก็เยือกเย็น ก็ใจจะละจะถอน จะเกิดปัญญาสามารถห้ำหั่นตัดเรื่องของราคะ ตัณหาได้ ต้องอาศัยความสงบของใจคือสมาธิก่อน ท่านจึงสอนให้ฝึกสมาธิ
การฝึกสมาธิคือความสงบของใจนั้นทางศาสนาถือว่า สมถะ คือฝึกเพื่อความสงบ ให้สงบเสียก่อนจึงค่อยพินิจพิจารณาต่อไป การสงบของใจ การฝึกใจนั้น บางท่านบางคนก็ต้องอาศัยการบริกรรม บางท่านบางคนก็อาศัยลมหายใจ บางท่านบางคนก็อาศัยการพินิจพิจารณา พิจารณาไปใจสงบไป แต่บางท่านบางคนถ้าหากส่งให้พิจารณาข้างนอก มันไม่สงบให้ มันเลยเถิดเลยแดนออกไป อย่างนั้นต้องอาศัยการบริกรรม จะบริกรรมพุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือตายๆก็ได้ ให้จิตมันสัมผัสกับคำบริกรรมอยู่นั้น ไม่ปล่อยให้จิตวกคิดไปเรื่องอื่น ถึงเกิดขึ้นผ่านมา อย่าไปติดตามเรื่องต่างๆ ให้ถือว่าคำบริกรรมของเรานั้นเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าสิ่งทั่วไป ถ้าหากเราไปติดในการคิดปรุงของใจ อะไรผ่านมาก็ลืมคำบริกรรมไปเสีย ตามไปนิดๆหน่อยๆก็หายไป กลับมาบริกรรมใหม่อยู่อย่างนั้น มันไม่ทันเหตุการณ์ ต้องผูกใจมั่น บริกรรมอยู่นั้น จนใจของเราอยู่กับคำบริกรรมสัมผัสอยู่นั้น ไม่ได้ออกไปเรื่องอื่น ผลที่สุดเมื่อจิตสัมผัสกับคำบริกรรมของตัวอยู่ เรื่องนอกไม่มายุ่งเกี่ยวอะไร ใจค่อยจะสงบ
ความสงบของใจบางท่านบางคนก็เหมือนตกเหว วูบลงไป บางท่านบางคนก็เหมือนทิ้งก้อนหินก้อนดินลงไปในน้ำ ค่อยจมลงไป จมลงไปจนถึงพื้น นี่คือความสงบ แต่มันจะเกิดขึ้นแบบไหนอย่างไรนั้น อาศัยผู้ประพฤติปฏิบัติจะทราบ จะเข้าใจจากตัวของตัวเอง เพราะตัวเป็นคนทำ ตัวต้องเห็นตัวต้องเป็น เมื่อมันสงบลงถึงที่ของมัน จิตใจไม่ได้คาดได้ฝันกาลเวลา เพราะมันจิตเป็นหนึ่ง ไม่ได้คิดปรุงอะไร มีแต่ความรู้สึกอย่างเดียว กายทั้งกายมันก็ไม่ได้นึกว่ามันนั่ง มันยืน มันนอน มันเดินอยู่ที่ไหน มันวางไปหมดเรื่องนอกจากกายของเราไปไม่ต้องพูด ไอ้เรื่องของกายที่มันอยู่ด้วยกันนี้ มันก็วางไปปล่อยไปหมด จิตมันว่าง มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับรูป กับเสียงอะไร มันอยู่เฉพาะเรื่องของมัน ถ้าหากมันไม่ถอนขึ้นมาเมื่อไร มันอยู่อย่างนั้น มันจะไม่มีการคาดฝันว่านานขนาดไหน มันไม่มีการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิว ไม่มีการเจ็บปวด เพราะใจนั้นไม่มายุ่งเกี่ยวออกมาข้างนอก มันสงบ เรียกว่ามันสงบถึงที่ของมัน พอมันถอนออกมา มันจะมีกำลัง
บางคนพอถอนขึ้นมาจากนั้นนิดหน่อย ก็ออกรู้สิ่งต่างๆ ท่านเรียกว่าอุปจาระ คือออกรู้ ออกเห็น จะพิจารณาอะไรในเรื่องของกาย มันก็เกิดอุคหะขึ้นได้ คือติดหูติดตา จะพิจารณาเรื่องต่างๆที่เคยข้องใจมาก่อน มันก็จะมีธรรมผุดขึ้นบอก ว่าอันนั้นเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นอย่างนี้ ซึ่งเราไม่เคยคาดฝันมาก่อน มันเป็นขึ้นจากจิตจากใจที่สงบ จากจิตจากใจที่ฝึกปฏิบัติ ความสุขความสบายที่เราเห็นเราเป็นอย่างนั้น เราไม่เคยเห็นเคยเป็นมาก่อนมันก็อัศจรรย์ เพราะความสุขชนิดนี้ไม่มีให้ใครดู ไม่ว่าจะไปที่ไหน มีเงินกี่แสนกี่ล้าน ไปจ้างดูมันก็ไม่เห็น เพราะไม่มีใครที่จะเอาออกลงให้คนดู ออกร้านให้คนดู คนที่ฝึกที่ปฏิบัติเท่านั้นจะเห็นความเย็น ความสุข ความอัศจรรย์ของใจ
เมื่อมันเห็นอย่างนั้น ความเชื่อ ความเลื่อมใสอยากจะกระทำบำเพ็ญมันเกิดขึ้น ศรัทธาความเชื่อมั่นในจิตในใจว่ามรรคผลนั้นยังมีอยู่ เราประพฤติปฏิบัติ เรารู้ เราเห็นความสงบเย็นของใจปราศจากราคะตัณหาชั่วระยะเวลาสั้นๆ เราเห็นแล้ว เราเข้าใจแล้ว เมื่อมันเป็นอย่างนั้นความเพียรพยายามที่จะกระทำให้เห็นให้เป็นอย่างนั้น มันก็มีกำลังทวีขึ้น เพราะทุกคนชอบความสงบ ชอบความสุข ชอบความเย็นของใจ แต่เราไม่เคยเห็นเคยเป็นมา เข้าใจว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้มาแล้วคงจะดี จะสุข จะสบาย เราเคยติดด้านวัตถุ ด้านสมมุติข้างนอกมาพอแล้ว วิ่งวุ่นหา แสวงหา ได้มาแล้วสมปรารถนามั้ย ความสุขของใจที่มันเป็นอย่างนี้มันดีมีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งที่เราเคยได้มา เคยเห็นมามั้ย มันจะทราบได้จากการประพฤติปฏิบัติของตัว
ฉะนั้นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามอรรถธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนจริงจัง เห็นธรรมในจิตในใจ ท่านจึงไม่อัศจรรย์อะไรในโลก เพราะโลกอันนี้ถ้าหากมาเห็นอรรถเห็นธรรมด้วยความประพฤติปฏิบัติแล้ว ไม่มีความหมายอะไรใหญ่โตเท่ากับการประพฤติปฏิบัติธรรม งานอะไรในโลกจะสำคัญเท่าการละกิเลสไม่มี งานเหล่านั้นถึงมีอยู่ทั่วโลกก็ตาม เป็นงานที่ไม่สำคัญ งานสำคัญคือการละกิเลส การบำเพ็ญภาวนา การชำระใจของตัว ท่านจึงไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องอะไรทั้งหมดนอกจากจะพินิจพิจารณาชำระใจของตัว อยู่สถานที่ใดสะดวกในการบำเพ็ญภาวนาชำระกิเลส ท่านอยู่ได้ ถึงที่นั้นจะคับขัน ถึงที่นั้นจะอดอยากยากจน ไม่สะดวกทางกายก็ตาม แต่ใจของท่านสะดวกสบายในการพินิจพิจารณา ท่านอยู่ได้ ท่านไม่ได้ถืองานอื่นเป็นงานสำคัญยิ่งกว่าชำระกิเลสของท่าน นี่คือผู้ประพฤติปฏิบัติ เข้าใจในอรรถในธรรม ท่านไม่อัศจรรย์อะไรนอกจากชำระใจให้หมดจดจากกิเลส มุ่งมั่นภาวนาชำระใจอยู่ตลอดเวลา
เมื่อทำอยู่บ่อย ชำระอยู่บ่อย ใจมันก็สะอาด เมื่อใจมันสะอาดก็สามารถที่จะรู้จะเห็นสิ่งต่างๆนานาที่ตกมาปลิวมาเกาะติดกับจิตกับใจ หมายถึงว่าอารมณ์ต่างๆที่จรมาก็ดี เกิดขึ้นก็ดี ท่านมองเห็นชัดเจนว่าสิ่งนี้เป็นอย่างไร แล้วก็แก้ไขทันท่วงที นี่คือมันสะอาดทางจิตทางใจ เข้าใจสัญญาอารมณ์ นี่เราไม่เป็นอย่างนั้น มันโกรธ ไม่ทราบว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร ทำไมมันถึงโกรธ ถึงไม่ชอบ มันก็ยังโกรธอยู่ มันโลภ มันหลงก็เหมือนกัน เพราะมันไม่สะอาดจิตใจ อะไรตกลงมา ก็ไม่ทราบว่าอันนี้ตกลงมาเมื่อไร เหมือนกันกับป่ามันมืดทึบรกเต็มที่ งูมันอาศัยได้ เสือมันอาศัยได้ ช้างมันก็อยู่ได้ ช้างตัวใหญ่ๆมันมีอะไรปิดบังของมัน ถ้าหากมันสะอาด โล่ง ถ้าหากเป็นของสะอาดจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นของใหญ่โตขนาดนั้น แม้แต่เข็มหรือเส้นผมตกลงไป เราก็มองเห็นได้ว่าอันนี้เป็นเข็ม เป็นเส้นผม ถ้าหากมันไปตกในป่า ไปหาที่ไหนหละมันจะเจอให้ เพราะมันรก
ใจสะอาดจึงเป็นที่ปรารถนาของบัณฑิตทั่วไป ท่านชำระใจของท่านสะอาดแล้ว ราคะ ตัณหา มานะทิฐิต่างๆที่เกิดขึ้น ท่านสามารถที่จะกำจัดปัดเป่าออกไป ไม่ให้เกิดพิษเกิดภัยรบกวนจิตใจของท่าน นี่คือการประพฤติปฏิบัติการชำระใจ ทุกคนมีหน้าที่ที่จะชำระสะสางตัวของตนได้ ไม่ใช่ว่าเป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้า หรือพระอริยเจ้า หรือเป็นหน้าที่ของพระของเณร คนที่ปรารถนาความสุข อย่าไปหาความสุขที่อื่น ให้หาความสุขจากจิตจากใจของตน คือการกำหนดพิจารณา การศึกษา การชำระสิ่งที่ชั่วออกไปจากใจด้วยธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ นำมาแก้ไขขับไล่สิ่งที่ใจข้องติดคิดแวะต่างๆ ให้ตกออกไป ใจจะสงบ ใจจะเย็น จะเห็นความสุข
เมื่อมีความสุขในตัวแล้ว ถึงสิ่งอื่นจะไม่มีขึ้นก็ตาม เพราะความสุขของธรรมนั้นไม่อาศัยวัตถุ มันมีอยู่ภายในของมัน สุขอย่างไรนั้นผู้ประพฤติปฏิบัติจะทราบจะเข้าใจด้วยการประพฤติปฏิบัติของตัว ถึงคนอื่นจะปฏิเสธว่าอันนี้บ้าบอ มรรคผลอะไรจะมี ศาสนาผ่านมาสองพันกว่าปีแล้ว เค้าจะว่าจนปากเค้าฉีกก็ว่าไปเถอะ ถ้าหากเราประพฤติปฏิบัติ รู้เห็นเป็นในจิตในใจของเรา นั่นลมปากของเขา เราไม่ได้หวั่นไหวอะไรกับเค้า เราเข้าใจเชื่อมั่น ธรรมะนั้นเป็นอกาลิโกจริง คือไม่มีกาล มีสมัย ถ้าหากตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติรักษา จะต้องเห็น ต้องเป็น ต้องเย็น ต้องสงบ เพราะเราประพฤติปฏิบัติมา เรารู้เราเห็นชัดเจนในจิตในใจ ใครจะว่าเราบ้าบออย่างไร เป็นเรื่องของเขา เข้าใจผิด นี่คือเราเห็น เราเป็นในจิตในใจของเรา มันมั่นในใจอย่างนั้น ไม่วอกแวกไปตามลมปากของเขา ใครจะสรรเสริญเยินยอหรือติฉินนินทา ด้วยอำนาจปัญญา ด้วยอำนาจจิตปกติ ไม่ได้รับเอาสิ่งเหล่านั้น เมื่อเราไม่รับเอา ใจมันก็ไม่ได้หนักหน่วง ไม่เกิดทุกข์เกิดโทษ
นี่เราว่าเราฉลาด อะไรก็รู้หมด แต่โทษทุกข์ที่มันเผาใจ เราไม่ทราบ เค้าให้ของไม่ดีมา เราก็รับเอา ทั้งที่เป็นของเน่าของเหม็น ของเร่าของร้อนแผดเผาใจของเราให้เกิดทุกข์เกิดโทษขนาดไหน ก็ยังรับเอาอยู่ ปัญญาขี้หมาอะไรจึงจะชำระใจของตัวไม่ได้ มันก็ควรที่จะสอนใจของตัว สิ่งที่ชั่วที่เสียต่างๆ ตาเห็นก็ดี หูได้ยินก็ดี ถ้าหากจิตมีสมาธิ จิตมีปัญญา จะไม่หวั่นไหว สิ่งเหล่านั้น ไม่ดีเราก็ไม่รับเอา ดีมีประโยชน์เราก็รับเอามาพินิจพิจารณา นี่จึงได้ชื่อว่าคนมีปัญญา รู้จักดีชั่วผิดถูก นี่ปัญญาของเราไม่เป็นอย่างนั้น อะไรก็รับเอาหมด มันก็เลยเกิดโทษเกิดทุกข์ในจิตในใจ
ฉะนั้นการปฏิบัติกายใจของตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ ธรรมะสอนพวกเราท่านให้พิจารณากาย พิจารณาใจ พิจารณาอย่างไรใจจึงจะสงบ ใจจึงจะเห็นแจ้ง ละถอนกิเลสตัณหาได้ ก็อย่างที่อธิบายมา กำหนดบทบริกรรมหรือกำหนดลมหายใจให้ใจรวมได้ พักได้เสียก่อน เมื่อถอดถอนมาก็พิจารณาธรรมะ พิจารณาหาความจริงของมันในธาตุในขันธ์ได้ทราบตามเป็นจริงของมัน จิตใจของท่านจะถอดถอนเรื่องราคะตัณหาต่างๆ ไม่หลงใหลใฝ่ฝันในสิ่งเหล่านั้น เพราะตัวของตัวเป็นอย่างไร สัตว์อื่นทั่วไปมันก็เป็นอย่างนั้น เลยทราบทั่วไป รู้แจ้งเป็นโลกะวิทู แจ้งโลก รูปกายของตัวทั่วถึงเท่านั้น โลกทั่วไปมันแจ้งไปหมด ประจักษ์ไปหมด ไม่ต้องไปเที่ยวดูประเทศนั้นประเทศนี้เที่ยวรอบโลก เป็นโลกะวิทู มันจะรู้แจ้งอะไร เพราะใจของตัวไม่แจ้ง ไม่สว่าง ถ้าหากทำจิตทำใจของตัวให้แจ้งให้สว่าง เป็นโลกะวิทู โลกไหนก็ตาม ก็ดิน น้ำ ลม ไฟ ของเก่า โลกเน่าโลกเหม็น โลกทุกข์โลกลำบากเหมือนกัน ไม่มีที่ไหนที่จะสุขจะเย็นให้ถ้าหากใจหลง ใจติดใจข้อง ใจยึดใจถือ เพียงพิจารณาตัวของตัวทั่วถึงเท่านี้ โลกมันก็ทราบไปหมด ทั่วถึงไปหมด เพราะไม่หลงตัวของตัว รู้ตัวของตัวทั่วถึง ก็รู้โลกทั่วถึง
นี่เราหลงเพราะเราไม่มีธรรม ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ไม่มีวิชาจึงไม่เกิดวิมุตติ เมื่อไม่เกิดวิมุตติ จิตติดสมมุติมันก็นำทุกข์นำโทษมาให้อยู่ตลอดไป ฉะนั้นการพิจารณา การศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรที่พวกเราท่านจะพินิจพิจารณาฝึกอบรมกาย วาจา ใจของตัว เมื่อคนใดตั้งหน้าตั้งตาศึกษาชำระใจของตัว คนนั้นแหละจะเป็นคนที่มีคุณค่า สาระสูงในตัวของตัว ถึงสมบัติพัสถาน สิ่งของ เงินทองจะไม่มีก็ตาม แต่ธรรมะ ความสุข ความสงบ ความเย็นของใจนั้นจะทราบในตัวของตัว หมดอยาก หมดทุกข์ หมดสงสัยว่าจะมีอะไรดีวิเศษดีกว่านี้ ความอยากไม่มี ทุกข์ไม่เกิด ความเห็นของใจที่พ้นออกไปจากสมมุติเป็นอย่างไรก็ไม่สงสัย จะบำเพ็ญอะไรอีก จะละอะไรอีก ท่านก็ทราบ เพราะละมาหมดแล้ว บำเพ็ญก็ได้บำเพ็ญเต็มแล้ว ตายหรืออยู่จึงไม่มีอะไรที่จะหวั่นไหว ดีใจเสียใจกับความเป็นอยู่หรือความตายไป เพราะใจถึงความบริสุทธิ์
นี่คือการประพฤติปฏิบัติตามธรรมะที่พระพุทธเจ้าแนะสอน คนที่ถือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าถือว่างานชำระกิเลสเป็นงานสำคัญยิ่งกว่างานอื่นแล้ว คนนั้นมีโอกาสเวลาที่จะถึงที่สุดวิมุตติได้ ถ้าหากเห็นเรื่องอื่นเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าการชำระใจของตนนั้น คนนั้นไม่มีวันมีเวลาที่จะไปเจอธรรมะความบริสุทธิ์ได้ นี่ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า สอนลงมาสู่กาย สู่วาจา สู่ใจของพวกเรา เราทุกคนก็มีกาย วาจา ใจด้วยกัน ไม่ว่าสมัยก่อนหรือสมัยปัจจุบัน ความหลงก็หลงในสิ่งที่มีอยู่ หลงในกายของตัว ใจของตัวเท่านี้ เมื่อแก้ไขจึงไม่จะไปแก้ไขที่ใหม่ แก้ไขที่กายที่ใจ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ราคะตัณหามีอยู่ที่ไหน ก็พยายามขับไล่ พยายามพินิจพิจาณาเพื่อชำระใจให้เห็นตามเป็นจริงของมัน เมื่อเห็นตามเป็นจริงแล้ว ความสงสัยมันจะไปอยู่ได้อย่างไร เพราะเห็นตามเป็นจริงแล้ว อันนี้เป็นอย่างไรก็เห็นเป็นอย่างนั้น แต่มันไม่ได้สงสัยว่ามันจะเป็นอะไรอีกมั้ย
นี่มันไม่รู้ไม่เข้าใจอย่างนั้น มันจึงสงสัยเรื่อยไป ใจเลยไม่สงบเท่าที่ควรให้ ความสุขจึงไม่เกิดเห็นเป็นในใจ จึงแสวงหาสิ่งใหม่มาเป็นความสุข โดดใส่กิ่งน้น โดดใส่กิ่งนี้ พอถูกกิ่งไม้มันผุ มันก็พังลงเท่านั้น นี่จิตใจของพวกเราท่านที่ผิดหวังทำนองเดียวกัน พอมันโดดใส่อันนั้นว่าจะสุข โดดใส่อันนี้ว่าจะสุข ผลที่สุดมันไม่สมหวังให้ รูปัง อนิจจัง รูปัง อนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ทำนองนั้น คือมันไม่มีอะไรที่จะคงเส้นคงวาอยู่ได้ ไม่มีอะไรที่จะบังคับบัญชาได้ มันเป็นไปตามธรรมชาติธาตุขันธ์ของมัน แต่ก็ยังยึดมั่นถือมั่นหลงใหลใฝ่ฝัน มันจะไม่เกิดทุกข์เกิดโทษอย่างไร เพราะความหลง ไม่เข้าใจตามเป็นจริงของมัน เราหาความร้อนมาเผาตัวของเราเอง ไม่ใช่ว่ารูป เสียง กลิ่น รส มันมาเผาเรา ความหลงของเรา ความยึดของเราเท่านั้นทำให้เราเร่าร้อน ทำให้เราลุ่มหลง ทำให้เราไม่สงบ ท่านจึงสอนให้วกเข้ามาภายใน ดุใจของตัว สังวรณ์ใจของตัว พิจารณาหาหลักฐานแก่นสารเหตุผลจริงจัง แล้วมันจะแก้ตกเรื่องจิตเรื่องใจ
ฉะนั้นขอทุกท่านจงนำไปพินิจพิจารณาศึกษา ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ ก็จะประสบพบเห็นแต่ความสุขความเจริญ การอธิบายธรรมะเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติเพียงเท่านี้ เอวัง