Skip to content

พุทโธอยู่ที่ใจ

หลวงปู่แบน ธนากโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

…แต่ชีวิตของคนที่เกิดมาเราๆท่านๆนี่ หมดไปทุกวัน หมดไปทุกวัน สั้นเข้ามา น้อยลงไป น้อยลงไป ทั้งหมดจะต้องเป็นอย่างนี้ จึงว่าการที่จะรีบเร่งทำความดี ต้องพากันรีบเร่งให้เต็มกำลังเต็มความสามารถ เพราะชีวิตของเราไม่ได้หยุดยั้งในการที่จะหมดไปสิ้นไป หรือชีวิตของเราไม่ได้หยุดพักในการที่จะเดินก้าวไปหาความตาย 

การทำใจของเราให้อยู่กับพุทโธ การทำใจของเราให้อยู่กับธัมโม การทำใจให้เราอยู่กับสังโฆ จึงมีความจำเป็นจะต้องรีบทำ ใจอยู่กับพุทโธ มีความสุข ใจอยู่กับธัมโม ใจมีความสุข ใจอยู่กับสังโฆ ใจก็มีความสุข การกระทำที่จะทำให้ใจของเราอยู่กับพุทโธ​ ธัมโม สังโฆ ต้องร้บทำ ใจของเราอยู่กัยพุทโธ ธัมโม สังโฆมีประโยชน์อย่างไร ขณะใจอยู่กับพุทโธ ใจมีความสุข ขณะใจอยู่กับพุทโธ ความวุ่นวายในใจไม่มี ใจอยู่กับธัมโม ใจมีความสุข ความวุ่นวายไม่มีในขณะใจอยู่กับธัมโม ใจอยู่กับสังโฆ ใจมีความสุข ความวุ่นวายไม่มีในเมื่อใจของเราอยู่กับสังโฆ 

ความวุ่นวายก็คือใจของเราออกไป ออกไปเกี่ยวข้องอะไรต่อมิอะไร เจออะไรของสิ่งนั้นไม่รู้เรื่องรู้ราว ก็ไปชอบใจสิ่งนั้น ชอบใจไม่ชอบใจในสิ่งนั้น คำว่าสิ่งนั้นไม่รู้เรื่องรู้ราว ที่ดินที่ดอนมันจะรู้เรื่องรู้ราวอะไร เรือนชานบ้านช่องก็ไม่รู้เรื่องรู้ราว แม้แต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังก็ไม่รู้เรื่องรู้ราว ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ใจที่ไม่สงบออกไปเกี่ยวข้องแล้วก็ไปว่าเขาดี ว่าเขาไม่ดี ว่าเขาชอบใจ ว่าเขาไม่ชอบใจเรา 

เรื่องของใจไม่อยู่กับพุทโธเป็นอย่างนั้น ใจอยู่กับพุทโธ ใจไม่ออกไปเกี่ยวข้อง ใจไม่ออกไปสมมุติ ใจไม่ออกไปหมายเขาว่าเป็นสิ่งชอบใจ ไม่ชอบใจอะไร ปัจจุบันก็มีความสุข นั่งอยู่ก็สบายใจ นอนอยู่ก็สบายใจ อยู่ตามลำพังคนเดียวก็มีความสุข อยู่กับหมู่กับเพื่อนก็มีความสุข เพราะเรามีพุทโธเป็นธรรมเครื่องอยู่ของใจ ในเมื่อสรีระเขาแตกเขาพังไปตามกฏของสัจธรรม ใจของเราที่มีพุทโธเป็นธรรมเครื่องอยู่ ร่างกายตายแต่พุทโธที่อยู่กับใจไม่ได้เสียหายไปไหน ใจก็ไม่ได้ตายตามร่างกายไป พุทโธที่อยู่กับใจก็ไม่ได้ตายจากจิตจากใจ 

จึงว่าใจอยู่กับพุทโธ มีชีวิตอยู่ก็มีความสุข ถึงร่วงไปแล้วก็ยังมีความสุขเพราะมีพุทโธเป็นธรรมให้ความสุขแก่จิตแก่ใจ เพราะมีพุทโธ ให้ความร่มเย็นแก่จิตแก่ใจ จึงว่ามีประโยชน์ทั้งในระหว่างมีชีวิตอยู่หรือล่วงลับไปแล้วพุทโธก็ยังเป็นประโยชน์แก่ใจ จึงให้พากันสนใจเอาพุทโธมาเป็นหลักจิตหลักใจ เอาพุทโธมาประจำไว้ในจิตในใจของเรา 

เรามีโอกาสเมื่อไร มีโอกาสขณะไหน มีโอกาส ณ สถานที่ใด ให้นึกขึ้นทันทีว่าพุทโธอยู่ที่ใจ พุทโธอยู่ที่ใจ พุทโธอยู่ที่ใจ แล้วก็บริกรรม พุทโธๆๆ แล้วก็ให้ทำความเข้าใจว่า พุทโธอยู่ที่ใจของเราแค่นี้เอง ไม่ใช่อยู่ที่อื่น นี่เป็นการฝึกหัดจิตใจให้มีธรรมะเป็นธรรมเครื่องอยู่ของใจ เป็นการฝึกหัดใจของเราให้อยู่กับธรรมะ ในเมื่อใจของเรามีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ใจของเราก็มีความสุขในการอยู่ ในเมื่ออยู่ก็มีความสุข ใจก็ไม่เลื่อนลอยไปแสวงหาความสุขข้างนอก 

การที่เลื่อนลอยไปหาความสุขข้างนอกนั้น ส่วนมากเจอแต่ทุกข์ และมีโอกาสจะเจอแต่ทุกข์เท่านั้น ที่พระพุทธเจ้าท่านว่า ความสงบเป็นสุข ความไม่สงบก็เป็นทุกข์ ใจของเราอยู่กับใจ ใจของเราอยู่กับใจอยู่กับพุทโธที่อยู่ในใจ เรียกว่าใจของเราสงบ ใจของเราส่งไป เลื่อนลอยไป เรียกว่าใจของเราไม่สงบ นั่น มันก็เจอแต่ทุกข์ ต้องการไปหาความสุข แต่ผลลัพธ์เจอแต่ทุกข์ สุขไม่อยู่กับการส่งจิตส่งใจไปแสวงหา สุขอยู่กับการพักจิตพักใจ ให้ใจของเราอยู่กับใจ ใจของเราอยู่กับใจ นี่เรียกว่าใจของเราอยู่กับพุทโธ 

ใจของเราก็คือความรู้ ความรู้อยู่กับความรู้ ใจอยู่กับใจ ความรู้อยู่กับความรู้ คำว่าพุทโธ พุทโธ ก็เป็นธรรมชาติใจที่รู้ที่ตื่น พระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นองค์พุทโธ พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ใจของพระพุทธเจ้านั่นเอง ตรัสรู้ใจที่บริสุทธิ์ พระพุทธเจ้ารู้เห็นชัดใจที่บริสุทธิ์ เรียกว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ นับเป็นองค์พุทโธขึ้นมา ใจที่บริสุทธิ์ที่ปรากฏขึ้นชัดเด่นชัดในองค์พระพุทธเจ้า แล้วเรียกว่าได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็ใจดวงที่ไม่บริสุทธิ์นั่นเอง ในเมื่อมีการขัดการเกลา มีการซักการฟอก มีการอบรมด้วยอรรถ ด้วยธรรม ใจที่ไม่บริสุทธิ์ ก็จะกลายเป็นใจที่บริสุทธิ์ขึ้นมา ใจที่บริสุทธิ์ก็คือใจที่ไม่บริสุทธิ์นั่นเอง เรียกว่าใจดวงเดียว 

นับตั้งแต่เกิดมาตาย เกิดมาตาย มากภพมากชาติ ก็ใจดวงเดียว แล้วพระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็ตรัสรู้ก็ใจดวงเดียว ดวงเก่าดวงเดิมนั่นเอง ท่านจึงว่าจิตเดิม บรรดาเราๆนี่ก็เหมือนกัน จิตของเรามีดวงเดียวเท่านี้ แต่จิตของเรายังไม่สะอาด ยังไม่บริสุทธิ์พอ จะต้องอาศัยธรรมะ ธรรมชาติที่เป็นองค์พุทโธนั่นหละมาหล่อหลอม มาหล่อหลอมจิตใจ มาเป็นธรรมซักฟอกจิตใจ มาเป็นธรรมขัดเกลาจิตใจ ใจของเราที่มืด ใจของเราที่มัว ใจของเราที่ไม่สะอาด ก็จะกลายเป็นใจที่ลดความมืด ลดความเศร้าหมอง เข้าถึงความสว่างและเริ่มเข้าถึงความสว่างยิ่งๆขึ้นไป ความมืดลดน้อย ความมืดลดน้อย ความสว่างก็ค่อยสว่างยิ่งขึ้นไป 

อาศัยธรรมพุทโธ เป็นธรรมเครื่องอบรม ธรรมคือพุทโธ อบรมจิตที่มืดให้เข้าถึงความสว่าง ธรรมที่พุทโธนี่เป็นธรรมชาติที่สว่าง เป็นธรรมชาติที่สว่างไสว ใจของเรามืด ใจของเรามืด เอาพุทโธที่สว่างมาไว้ที่ใจ เอาพุทโธที่สว่างไสวมาประจำไว้ที่ใจ ความมืดก็ลดน้อย และความมืดก็ลดน้อยลงไป ในที่สุดในเมื่อใจของเรากับดวงพุทโธเป็นอันเดียวกัน ใจของเราที่เคยมืดก็จะกลายเป็นใจที่สว่างกระจ่างแจ้งขึ้นมา เนื่องจากว่าใจของเราอาศัยธรรมพุทโธเป็นธรรมที่สว่าง เป็นธรรมเครื่องซักเครื่องฟอก เครื่องขัดเครื่องเกลา ทำลายความมืด กำจัดความมืด ในที่สุดความมืดในจิตในใจก็ลดน้อย และหมดสิ้นไป ตามลำดับของการที่น้อมพุทโธมาใส่จิตใส่ใจได้แค่ไหนเพียงไร 

จึงว่าพุทโธไม่ใช่คำพูด ธรรมชาติพุทโธเป็นธรรมชาติที่สว่างไสว ธรรมชาติพุทโธเป็นธรรมชาติที่สว่างกระจ่างแจ้ง ธรรมชาติเป็นอย่างนั้น ธรรมชาตินั้นจะเรียกว่าพุทโธ หรือจะเรียกว่าธัมโม จะเรียกว่าสังโฆ ธรรมชาตินั้นก็เป็นอันเดียวกันนั่นเอง จึงว่าพุทโธ ธรรมชาติพุทโธไม่ใช่คำพูด เราบริกรรมพุทโธ บริกรรมพุทโธ พุทโธ เราต้องคิดทำความรู้สึก ทำความเข้าใจ ว่าพุทโธอยู่ที่ใจ แล้วก็บริกรรมพุทโธ พุทโธๆๆ บริกรรมไว้ที่ใจ ใจของเราจึงมีโอกาสอยู่สงบอยู่กับใจ ใจของเราจึงมีโอกาสรวมอยู่ที่ใจ 

เราบริกรรมพุทโธๆไว้ที่ใจ เป็นการน้อมคำบริกรรมมาใส่จิตใส่ใจนั้น ขณะที่เราน้อมคำบริกรรมมาใส่จิตใส่ใจนั้น ใจของเราที่เคยเลื่อนลอยออกไปเกี่ยวข้อง และออกไปเกี่ยวข้องอะไรต่อมิอะไร มันก็มีแต่ที่จะน้อยลงไป น้อยลงไป ในที่สุดออกไปเกี่ยวข้องไม่มี ในเมื่อใจของเราออกไปเกี่ยวข้องไม่มี ใจของเราก็สงบ ใจของเราก็อยู่กับพุทโธคืออยู่กับใจ ใจของเราที่ออกไปเกี่ยวข้องก็คือความคิดความปรุงความแต่งนั่นเอง ถ้าหากว่าเลิก ไม่มีการออกไปเกี่ยวข้อง ความคิด การปรุงการแต่งก็ไม่มี ในเมื่อใจของเราไม่มีความคิด ความปรุง ความแต่ง ใจของเราก็ยังอยู่ แต่ยังอยู่เฉพาะใจ ยังอยู่เฉพาะใจ ใจที่ไม่คิด ใจที่ไม่ปรุง ใจที่ไม่แต่ง เพราะความคิด ความปรุง ความแต่งนั้นได้ดับไปแล้ว แต่ใจไม่ได้ดับ ความคิดที่เกิดจากใจมันหมดไป ใจก็ยังอยู่เหมือนเดิม 

นี่! ใจดวงนี้นี่หละ แสงสว่างจะเกิดขึ้นแสงสว่างจะเกิดขึ้นในใจดวงที่พักความคิดในใจที่ไม่มีความคิด และใจที่ไม่มีความคิดก็คือใจที่ไม่เกี่ยวข้างนอก ใจพักการคิดก็คือใจเข้ามาเกี่ยวข้องกับใจ ธรรมชาติใจเขาเป็นธรรมชาติที่สว่างโดยหลักธรรมชาติ แต่การออกไปเกี่ยวข้องนั้น ก็คือการออกไปรับกระแสความมืดของโลกทั้งหลายเอามาใส่จิตใส่ใจ ออกไปรับเอามากเท่าไหร่ ใจก็ยิ่งมืดมากเท่านั้น ใจก็ยิ่งมืดมากเท่านั้น เราไม่ต้องการให้ใจของเรามืด ก็พักการที่จะเอาไปรับความมืดของโลกนั้น ให้ใจของเราทวนเข้ามาหาใจ ทวนเข้ามาหาใจ 

ถึงเราจะบริกรรมพุทโธ บริกรรมพุทโธ บริกรรมพุทโธ ก็บริกรรมไว้ที่ใจของเรานี้ อันนี้ก็เป็นหลักอุบายอันหนึ่ง ทำให้ใจของเราสงบ พักการที่จะเลื่อนลอยไปหาเกี่ยวข้องอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ทั้งหลายล้วนแล้วแต่ทำให้ใจมืด ในเมื่อใจของเราไม่ไปรับความมืด จะไปรับเอาสิ่งมืดภายนออกเข้ามา ใจของเรามีพุทโธประจำ ใจของเรามีธัมโมเป็นเครื่องอบรม ใจของเราก็มีแต่สว่างกระจ่างแจ้ง เห็นชัดใจของเราขึ้นมาได้ จึงว่าการปฏิบัติธรรมไม่ใช่ปฏิบัติสิ่งอื่น การปฏิบัติธรรมก็คือการปฏิบัติใจ 

คำว่ารู้ธรรม รู้ธรรม ก็คือรู้ใจของเรานี่เอง ใจของเรานี้ถึงเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ด้วยกันทุกคน แต่ยากที่คนใดคนหนึ่งจะเห็นใจของตนเอง ส่วนมากเห็นแต่ความคิด ความปรุง ความแต่ง เห็นแต่สิ่งเรื่องราวที่ชอบใจบ้าง เรื่องราวที่ไม่ชอบใจบ้าง อันนี้ไม่ใช่ใจ เป็นอารมณ์ของใจที่ใจออกไปรับเอา ใจออกไปรับ ใจออกไปหาเก็บ เก็บมาใส่จิตใส่ใจ เราก็พากันมองใจ และก็มีโอกาสจะเห็นใจก็เห็นแต่ความคิด หรือเห็นแต่ความวุ่นวาย ความไม่สงบของใจ เห็นแต่อารมณ์ 

จึงว่าการที่จะเห็นใจของเราเห็นได้ด้วยยาก จะต้องอาศัยความเพียรพยายามมากๆ ในเมื่อมีความพยายามพอแล้ว ความคิดมันไม่มี ความคิดมันไม่มีในใจ ความวุ่นวายก็ไม่มีในใจ สิ่งที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ ก็ไม่มี มันจะมีได้ยังไง เพราะจิตใจของเราไม่สร้างขึ้น มันก็ไม่มี ในเมื่อมันไม่มี เรามองเข้าหาใจ ก็สามารถที่จะเห็นใจของเราได้ เพราะใจของเราเปิดเผยอยู่เสมอไม่ได้ปิดบัง 

แต่เราๆนี่ไปหาอะไรมาครอบงำ ไปหาอะไรมาครอบงำ มาปิดบังเอาไว้ เราก็ไม่มีโอกาสที่จะเห็นใจของเรา ในเมื่อเราเอาสิ่งที่เราไปหาเก็บเอามาปิด ไปหาเก็บเอามาครอบ เปิดออกเสียแล้วสลัดทิ้ง ใจของเราก็เปิดเผย ใจของเราก็ปรากฏเด่นชัดให้เราได้รู้ได้เห็น อันนี้ก็เรียกว่าใจของเราเห็นธรรม เห็นธรรมก็คือเห็นใจอันนี้หละ ไม่ใช่เห็นธรรมไปเห็นนรก เห็นสวรรค์ที่ไหน เห็นนรกเห็นสวรรค์อันนั้นมันลักษณะมันฟุ้งซ่าน นี่ รู้เข้าไปข้างนอกมันไม่สุดเป็น ต้องรู้มาภายใน เหมือนกับการที่เราทวนกระแสน้ำ ทวนกระแสน้ำอยู่เสมอก็มีโอกาสที่จะถึงต้นน้ำได้ ถ้าหากว่าเราปล่อยไป ปล่อยไป ปล่อยไป ทะเลมหาสมุทรมันกว้างขวาง มหาสมุทรของโลกมันไม่สุดๆเป็น ในที่สุดตามขนาดไหนมันก็ไม่สุด 

พระพุทธเจ้าท่านจึงไม่ให้ตาม สอนให้น้อมเข้ามา โอปนยิโก น้อมเข้ามาดูธรรม น้อมเข้ามาดูธรรมก็คือดูใจนี่เอง ในเมื่อเราเห็นใจของเราแล้ว ใจของเรานี่มีอยู่ นี่! สามารถที่จะเรียกให้คนอื่นมาดูได้ เพราะใจของเรามีอยู่ ธรรมมีอยู่ ธรรมอันนี้มีอยู่ด้วยกันทุกคน ไม่มีใครซักคนที่ธรรมะจะไม่มีอยู่ ไม่มีใครซักคนที่จะไม่มีใจ จึงให้พากันเข้าใจว่าธรรมะที่เราต้องการพบ ต้องการรู้ ต้องการเห็นนั้น ไม่ใช่สิ่งที่อื่น คือใจของเรานี่เอง ในเมื่อเราเห็นใจของเราแล้ว ใจของเรานี้แหละจะเป็นที่พึ่งแก่เรา 

คำว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ. (ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะจาริง) ผู้ปฏิบัติธรรม พระธรรมย่อมรักษาผู้นั้น ไม่ให้ตกไปที่ชั่ว ผู้ปฏิบัติก็คือปฏิบัติใจ ในเมื่อปฏิบัติใจได้ดีแล้ว ใจที่ปฏิบัติได้ดีนั่นหละมาคุ้มครองรักษาใจ นี่คุ้มครองรักษาได้อย่างดี จะไม่ให้เสียหาย จะตกไปในทางที่ไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม ไปในทางชั่วตกไปไม่ได้ เพราะใจคุ้มครองไว้ดีแล้ว แสดงว่าธรรมคุ้มครองก็คือใจคุ้มครอง ไม่ใช่ธรรมมาจากดินฟ้าอากาศ ธรรมมาจากเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ที่ไหน ธรรมที่เข้าคุ้มครองจิตใจก็คือใจของเรานี่หละสามารถที่จะคุ้มครองเราได้ 

จึงให้พากันเข้าใจให้แจ่มแจ้ง ให้พากันเข้าใจและไม่ให้ลูบคลำ ไม่ให้ลังเลสงสัย แล้วก็พากันมุ่งมั่นที่จะขัดเกลาจิตใจของเรา สลัดออกสิ่งที่มาครอบงำ สิ่งที่มาปกปิดจิตใจของเรานี่ ความวุ่นวาย ความยุ่ง ความยาก สิ่งที่ชอบใจ ไม่ชอบใจทั้งหลายนี่ก็ละออกไป ละออกไป ปล่อยวางออกไป เปิดออกไปแล้วโยนไปทิ้ง เปิดออกไปแล้วก็สลัดทิ้งออกไป 

ใจของเราที่ถูกปิดมานาน ในเมื่อมีการพยายามเปิดด้วยข้อปฏิบัติด้วยอรรถด้วยธรรม ด้วยอุบายที่แยบคาย สิ่งที่เปิดสิ่งที่ปิดนั้น ถึงจะปิดมานานขนาดไหน เราก็สามารถเปิดได้จนหมดจนสิ้น ในเมื่อเปิดของที่ปิดได้หมดได้สิ้นในขณะใด ใจของเรานี่สว่างกระจ่างแจ้งอยู่ตลอดกาล เหมือนกับดวงพระอาทิตย์อย่างนี้ สว่างกระจ่างแจ้งตลอดกาล กลางคืนอย่างนี้ ดวงพระอาทิตย์ก็สว่างกระจ่างแจ้ง แต่ว่ามันมืดเพราะโลกบัง นี่ก็เหมือนกัน ใจของเรามืด ใจของเรามืดเพราะกระแสของโลก เรื่องของโลกมันปิดบัง ใจของเราจึงมืด 

การที่จะเปิดออก จะสลัดออกสิ่งที่ครอบงำ ต้องเปิดด้วย ศีล เปิดด้วยสมาธิ และเปิดด้วยปัญญา ศีลก็สามารถที่จะเปิดได้ มีความสำรวม มีความสำรวม มีความสำรวมให้มาก นี่ใจของเรา นี่ก็ไม่ออกไปเกี่ยวข้องข้างนอก ไม่ออกไปเกี่ยวข้างนอก ใจของเราก็เริ่มเห็นใจของเราบ้าง เริ่มเห็นใจของเราบ้าง แต่เห็นใจของเรายังเห็นไม่ชัด ยังลูบๆคลำๆอยู่ ถ้าหากว่าใจของเราแน่วแน่เป็นองค์สมาธิขึ้นมา อันนี้เห็นใจชัดจริงๆ เห็นใจชัดมากๆทีเดียว แต่ใจของเราจะสว่างกระจ่างแจ้ง ใจของเราจะเข้าถึงความสะอาดบริสุทธิ์นี่ ต้องอาศัยเปิดด้วยปัญญา 

ในเมื่อสิ่งที่ครอบงำ สิ่งที่แทรกซึมอยู่ในจิตในใจของเรา อาศัยปัญญาเป็นเครื่องขัดเครื่องเกลา เครื่องซักเครื่องฟอกนี่ สิ่งที่มันแทรกซึมอยู่ในจิตในใจ สิ่งที่มันครอบงำและแทรกซึมอยู่ในจิตในใจจะสลายตัวไปด้วยอำนาจของปัญญา ถึงจะละเอียดขนาดไหนเพียงไรก็ช่าง ปัญญายิ่งมีความละเอียดยิ่งกว่าสิ่งที่แทรกซึมเจือปนอยู่ในจิตในใจนั่น ในที่สุดใจก็จะเข้าถึงความบริสุทธิ์สุด สุดส่วนขึ้นมา ด้วยกำลังของศีล สมาธิ และปัญญา 

การปฏิบัติธรรมก็คือศีลก็เป็นข้อปฏิบัติ สมาธิก็เป็นข้อปฏิบัติ ปัญญาก็เป็นข้อปฏิบัติ ศีลเป็นคำพูด แต่ข้อปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่างด้วยในความสำรวม ด้วยความระมัดระวัง กายของเราเป็นศีล ใจของเราเป็นศีล เพราะกายของเรามีการสำรวมดี ใจของเราก็มีความสำรวมดี กายของเราก็มีความสำรวมดี นี่ ในเมื่อใจของเราก็มีความสำรวม กายของเราก็มีความสำรวม ศีลอยู่กับความสำรวมในกายในใจนี้ ถึงเราจะไม่พูดว่าศีล จะไม่ว่าพูดว่าศีล จะไม่พูดว่ารักษาศีล แต่เรามีการสำรวมใจไว้ดี สำรวมกายของเราไว้ให้ดี นี่ ศีลอยู่ตรงนี้ ศีลคือการสำรวมกาย วาจา ใจ ในเมื่อเราสำรวมกาย วาจา ใจของเราไว้ดี นี่แหละ! ศีลอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวนี้ศีลของเราสมบูรณ์ด้วยกันทุกคน ไม่มีศีลของใครไม่สมบูรณ์ ไม่มีศีลของใครไม่เรียบร้อย กายก็ไม่เรียบร้อย ไม่ไปกระทำการทางที่เป็นโทษ วาจาก็เรียบร้อย ไม่ไปพูดสิ่งที่ไม่เรียบร้อย จิตใจก็เรียบร้อย ไม่ไปคิดในทางที่เป็นโทษ นี่เดี๋ยวนี้เป็นศีลด้วยกันทั้งนั้น แต่จิตใจของเราเรียบร้อย ยังเรียบร้อยยังหยาบอยู่ ก็ต้องทำใจของเราที่เรียบร้อยอยู่ในระดับที่หยาบนี้ ให้มีความเรียบร้อยให้ละเอียดยิ่งขึ้นไป 

ในเมื่อมีความเรียบร้อยละเอียดยิ่งขึ้นไป ก็คือปล่อยวางสิ่งหยาบๆ ปล่อยว่างสิ่งหยาบๆ สิ่งที่หยาบๆทั้งหลายที่มันไม่มีในจิตในใจ ใจของเราก็เป็นสมาธิธรรมขึ้นมา เห็นใจเด่นชัด เห็นใจแจ้งประจักษ์ชัดเจนทีเดียว เพราะไม่มีอะไรที่จะปิดบัง แต่สิ่งที่มันเจือปนอยู่ในจิตในใจ ท่านจึงเรียกว่าอนุสัย อนุสัยเป็นสิ่งแทรกซึมเจือปนที่มีความละเอียดเป็นพิเศษ จะต้องมีการกรองด้วยสติ กรองด้วยปัญญา กรองด้วยมหาสติ กรองด้วยมหาปัญญา สิ่งที่มันแทรกซึมอยู่ในจิตในใจ จึงจะสลายหมดสิ้น ด้วยกำลังของสติและปัญญา จึงให้พากันตั้งอกตั้งใจ ธรรมเหล่านี้ไม่ใช่ของหมดยุคหมดสมัย ธรรมเหล่านี้เมื่อไปปฏิบัติ ธรรมเหล่านี้จะมีโอกาสปรากฏที่จิตที่ใจทั้งนั้น ไม่ใช่หมดยุคหมดสมัย 

เอ้า! ให้พากันนั่งสมาธิต่อไปนะ นั่งสมาธิ ทำใจของเราให้สงบอยู่กับใจ พุทโธอยู่ที่ใจ พุทโธอยู่ที่ใจ นั่งสมาธิกันซะก่อน นั่งยังไงสบายนั่งไปเถอะ นั่งสมาธิ นั่งตามสบาย นั่งอย่างไรสบาย นั่งอย่างนั้น นั่งทำใจให้สบาย นั่งสำรวมใจ ความคิด ความคิด ความคิด บริกรรมความคิด บริกรรมความคิด บริกรามความคิด บริกรรมมากๆ ใจของเราก็ไม่คิด บริกรรมไม่คิด ไม่คิด ไม่คิด ไม่คิด ไม่คิด เราบริกรรมอยู่อย่างนี้ ใจของเราก็ไม่คิด ถ้าหากเราเผลอเมื่อไหร่ ใจของเราคิดทันที เราบริกรรมพุทโธ พุทโธๆๆๆ พุทโธอยู่ที่ใจ พุทโธอยู่ที่ใจ พุทโธอยู่ที่ใจ

ขณะที่เราบริกรรมอยู่นี่ ภาวนาอยู่นี่ ใจของเราไม่คิด หยุดภาวนา พักภาวนา ลื้อความตั้งใจมั่น มันคิดทันที พระพุทธเจ้าท่านจึงสอน จะทำสิ่งใด ให้ทำสิ่งนั้นให้ยิ่ง การบริกรรมพัทโธ การทำภาวนา ต้องทำให้จริงๆ ใจของเราจึงสงบ ต้องทำให้จริงๆจึงได้ผลของการกระทำ เดี๋ยวนี้เราไม่มีการไม่มีงานอะไร ถึงเราจะไปคิดการงาน มันก็ไม่ได้ทำ นี่หละใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เดี๋ยวนี้เราว่างด้วยกันทุกคน 

น่าสงสารใจของเรา น่าสงสารใจของเรานี่ การงานก็ว่าง ไม่มีอะไรจะทำ ใจก็ควรที่จะพักจะผ่อนบ้าง แต่ถูกอำนาจของกิเลสมันดึงอยู่เสมอ มันจูงอยู่เสมอ ลากอยู่เสมอ ไม่ให้พักผ่อน ในเมื่อพักผ่อนการงานทางโลก ใจของเราก็ควรจะมีโอกาสได้พักผ่อนบ้าง ทำการงานทางโลก ทำการงานทางโลก มันปล่อยให้ทำอย่างสนุกสนาน การงานทางโลกพัก มันก็ดึงไปทำการทำงานอีกลักษณะหนึ่ง และซ้ำๆซากๆ ไม่ได้เรื่องอะไร สิ่งที่ผ่านมามันก็ดึงไปเกี่ยวข้อง แล้วไปตั้งแต่ไหน คนตายไปแล้วก็มี ก็ยังเอาสิ่งนั้นมาเป็นอารมณ์ เอาใจ ดึงใจเข้าไปเกี่ยวข้อง 

จึงว่าเวลาว่าง ก็ทำใจให้ว่าง ทำใจให้ว่างได้นั่นหละ เรียกว่าใจของเรามีโอกาสได้พัก ถ้าเราว่างการว่างงาน ทำใจให้ว่างไม่ได้ ใจของเราก็ไม่มีโอกาสจะพัผ่อนได้ ไม่มีโอกาสได้พักผ่อนได้ ไม่มีโอกาสได้พักผ่อน มันจะพักยังไง มันคิดอยู่เสมอ การภาวนาจึงทำให้ใจมีโอกาสได้พักผ่อน การภาวนาใจสงบได้เรียกว่าใจมีโอกาสได้พักผ่อน 

ใจมีโอกาสได้พักผ่อน ใจมีกำลังมาก ทำอะไรได้ผลดี ทำอะไรรวดเร็ว ทำอะไรคล่องตัว คนมีกำลังกระโดดมันก็เร็ว วิ่งมันก็เร็ว คนมันจะหมดแรง หมดลมหายใจ มันจะไปเคลื่อนไหวยังไง เข็นแต่ละที เข็นให้เคลื่อนที่แต่ละที คนเข็นมันก็เหนื่อยก่อน นั่น! ใจไม่มีกำลังมันเป็นอย่างนั้น ใจ มีกำลังทำงานได้รวดเร็ว ทำงานได้คล่องแคล่ว และทำงานมีความรอบคอบในการในงานนั้นด้วย ใจมีโอกาสได้พักผ่อน จึงเป็นประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม ถ้าใจไม่มีโอกาสได้พักผ่อนอันนี้ ใจเหน็ดเหนื่อยมาก โรคจิตนับวันที่จะเพิ่มขึ้น เพราะจิตทำงานเกินกำลัง (เทปจบ)