หลวงพ่อสิงห์ทอง ธมฺมวโร
การปฏิบัติธรรมะเป็นเรื่องจำเป็นของทุกคนที่เป็นนักบวชจะต้องประพฤติปฏิบัติเอาใจใส่ รักษาใจของตน เพราะนักบวชหากขาดธรรมะก็ไม่มีคุณค่าสาระอะไร นักบวชที่จะเป็นที่เชื่อเลื่อมใส ที่กราบที่ไหว้ของประชาชนก็เพราะจิตใจของตนดีวิเศษ หากจิตใจไม่มีธรรมะ จิตใจจะดีวิเศษไปไม่ได้ เพราะเนื่องด้วยกิเลสตัณหา จะต้องเกี่ยวเกาะพัวพันกับจิต ฉุดลากจิตไปในทางต่ำสม่ำเสมอ ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมะก็คือการปฏิบัติจิตใจของตน ทุกคนที่เกิดมามีกิเลสตัณหาด้วยกันทั้งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนๆกัน ไม่มีอะไรที่จะดีวิเศษกว่ากัน แต่อาศัยการมาประพฤติปฏิบัติ อาศัยการกำจัดความชั่วเสียต่างๆ จึงดีจึงวิเศษขึ้นได้
แม้พระพุทธเจ้าเองถึงจะเกิดเป็นกษัตริย์ สร้างโพธิสมภารมานานนับกัปป์นับกัลป์ไม่ได้ ก็ไม่ดีวิเศษอะไร ราคะตัณหายังเป็นสิ่งที่ครอบงำจิตใจอยู่ตลอดมา ไม่อย่างนั้นก็ไปหลงเพลิดเพลิน มีบุตรภรรยาได้ นี่แสดงว่าท่านยังมีกิเลสตัณหามานะทิฐิเหมือนกันกับพวกเราทั้งหลาย แต่เมื่อท่านทราบว่าเรื่องกิเลสตัณหาหรือแก่ เจ็บ ตาย เป็นทางนำมาซึ่งทุกข์ ท่านจึงได้เสด็จออกภิเนษกรมณ์ คือแสวงหาทางตรัสรู้ ทางออกจากทุกข์ เพราะทุกข์มีทางออกจากทุกข์ก็ต้องมีมืดมีสว่างมี หิวมีอิ่มมี นี่เป็นธรรมคู่กัน เกิดมี ตายมี เมื่อมีตาย ความไม่ตายก็ต้องมี นี่ความรู้ความเห็นของพระองค์ วิ่งเข้าในจุดนี้ ท่านจึงเสด็จออก
การอยู่ฆราวาส การงานทุกด้านยุ่งเหยิง ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องรับผิดชอบมาก ลำบาก แต่มาภาวนาหลับตาพิจารณาจิตใจของตนยาก เป็นผู้น้อยก็ถูกผู้ใหญ่บังคับบัญชา ไม่มีเวลาที่จะเป็นตัวของตัว มันยุ่งทุกอย่างเรื่องของโลก เรื่องของใจเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเรามีโอกาสเวลา โชคดีที่ได้มาบวชเป็นพระเป็นเณร ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาธรรมะ ตั้งหน้าตั้งตารักษาจิตใจของตน สะดวกสบาย ง่าย หากพระเณรผู้มาประพฤติปฏิบัติอรรถธรรมไม่เห็น ไม่เป็น ไม่รู้ในทางธรรมะ ไม่เกิดมรรค เกิดผลขึ้นได้ ประชาชนคนโลกทั่วไปก็ไม่มีทางที่จะประพฤติปฏิบัติได้ เพราะเค้ายุ่งเหยิงในการงานและคิดอ่านเรื่องนอกมากกว่าในเรื่องภายใน คือเรื่องจะชำระจิตใจของตน
ส่วนพวกเราที่จะมาบวชเป็นพระเป็นเณร ไม่ได้คิดอ่านทุกสิ่งทุกอย่างเค้าสนับสนุน ไม่ว่าอาหารการฉัน ไม่ว่าที่อยู่ที่อาศัย ยาแก้โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ไม่ค่อยได้ซื้อได้หา มีโอกาสเวลาเต็มที่ที่จะประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้นอย่านอนใจ ตายใจ เห็นความสุขเพียงแค่ได้กินได้อยู่ก็ถือว่าเป็นความสุข ถ้าไปคิดเพียงแค่นั้น จิตใจจะป่วนปั่นภายหลัง คือกิเลสตัณหามารบกวน มีแต่กินแต่นอนแล้ว อำนาจของกิเลสตัณหาจะผลักดันออกมาอย่างแรงกล้า เพราะไม่ได้มีการงานอะไรที่จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิว ความปรุงของจิตคิดไปต่างๆ มันจะมากขึ้นฟุ้งขึ้น บังคับไม่อยู่ จึงควรสงวนรักษา ระวัง
การระวังจิต สำรวมจิต เป็นทางที่จะพ้นไปจากทุกข์ ก็ไม่มีคนอื่นที่จะสำรวมรักษาให้ นอกจากตัวของเราที่จะสำรวมใจของตัวเอง เพราะตัวเองได้รู้ว่าจิตว่าจิตของเราอยู่ หรือจิตเราไป ไปหาอะไร ไปหาสติปัญญาวิมุตติ หรือไปหาเรื่องกิเลสตัณหา เรื่องมานะทิฐิ เรื่องลุ่มเรื่องหลง เรื่องโลกเรื่องสงสาร ให้พิจารณาคิดอ่านทุกระยะทุกเวลา หากใจสังวรณ์ระวัง สำรวมใจตัวอยู่สม่ำเสมอโดยความไม่ประมาท ไม่ว่าอิริยาบถใด ใจที่แส่ส่ายไปในทางโลกทางผิด มีสติรู้จัก มีปัญญาแนะสอนตัวเอง คนนั้นจะสงบ จะสุข จะสบาย
ถ้าหากคนใดไม่ได้เอาใจใส่ เพียงแต่มาอยู่อาศัยเรื่องของศาสนา จะกินก็กินไป จะนอนก็นอนไป จะใช้สอยอะไรก็ใช้สอยไปโดยไม่ใคร่คิดพินิจพิจารณาอะไร คนนั้นจะไม่มีทางเกิดสติปัญญา เกิดวิชาวิมุตติได้ มีแต่จะทุกข์ยากลำบากเมื่อปลายมือ เพราะเหตุใด เพราะกิเลสตัณหามีกำลังใหญ่จะเผาใจของตน นอกจากนั้นอายุพรรษามากเข้า ผู้คนประชาชนเค้าก็ต้องมาหา โอกาสเวลาที่จะเดินจงกรมภาวนาที่จะเป็นของๆตัว หายาก ระยะที่เราเป็นผู้เล็กเด็กแดง พระหนุ่มเณรน้อยเป็นโอกาาสเวลามากที่สุดที่จะต้องฝึกอบรมจิตใจของตน เพราะไม่ได้รับภาระหน้าที่อะไร ข้อวัตรปฏิบัติกับครูกับอาจารย์ก็นิดๆหน่อยๆ ข้อวัตรภายในวัดส่วนรวมก็มีน้อยไม่มีมาก สิ่งใดที่จำเป็นครูอาจารย์ก็บอกให้ทำเท่านั้น คือหน้าที่ของเราคือระยะเวลาปัดกวาด ตักน้ำ สรงน้ำอะไรก็ทำกันไป ง่ายๆ สบาย โอกาสมีมากที่จะฝึกอบรมกายใจของตน
เมื่อยังเด็กยังหนุ่มอยู่ไม่เอาใจใส่ เมื่อแก่แล้วจะวิ่งเต้นแสวงหาที่วิเวกสงบสงัด แสวงหาการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ยากลำบาก เพราะมันสายเกินไปแล้ว เหมือนไม้แก่ดัดยาก ดัดไม่ถูกก็อาจจะหัก มันอาจจะอ้างว่า อายุแก่มา กำลังวังชาไม่มี จะเดินจงกรมก็เหน็ดก็เหนื่อย จะนั่งภาวนาก็เมื่อยก็หิว ทุกสิ่งทุกสิ่ง กิเลสตัณหามันแก่ไปด้วย ไม่ใช่แก่แค่กายเท่านั้น ระยะเวลาโอกาสอำนวยให้ รีบตั้งใจปฏิบัติสำรวมระวัง ตั้งหน้าภาวนา
การภาวนาก็เคยแนะสอนมา ไม่ใช่ว่าแบบครูอาจารย์องค์เดียวที่เราเคยศึกษา เคยศึกษามาหลายท่านหลายองค์ บางท่านบางองค์ก็สอนอย่างนั้น บางท่านบางองค์ก็สอนอย่างนี้ ตามหน้าที่ของท่านที่จะสอน เราจะประพฤติปฏิบัติถนัดกับโอวาทของใคร แบบไหนที่เราเคยประพฤติปฏิบัติได้ผล คือความสงบวิเวกในจิตในใจของตน ให้เอาแบบนั้น ให้ทำแบบนั้น อย่าไปตะครุบ คนนั้นพูดอย่างนั้น คนนี้พูดอย่างนี้ ตะครุบเรื่อยไป อันนั้นจะดี อันนี้จะวิเศษ เหลาะแหละเหลวไหล จับจด ไม่เอาจริงเอาจังให้ ก็เลยไม่เป็นอะไรให้
กิเลสของใจมันสำคัญ ไม่ใช่ของเล่น ถ้ามันโง่ มันไม่ได้เป็นเจ้าของโลก ไม่ได้นำสัตว์นำบุคคลให้ติดข้องในโลก นี่มันฉลาดยิ่งกว่าสัตว์กว่าบุคคลทั่วไป มันจึงจับสัตว์จับบุคคลขังไว้ในทุกข์ในสมุทัยเรื่อยมา เป็นคุกใหญ่ตารางใหญ่ ขังสัตว์ไว้ โทษตลอดวันตายด้วยอำนาจของกิเลสตัณหากักขังเอาไว้ แต่เราไม่ทราบว่าเราถูกกิเลสกักขังตัวของเรา เลยไม่กลัวกล้าต่อความเกิด ความตายเรื่อยไป เพราะใจไม่เห็นภัย นี่คือเรื่องของกิเลสมันฉลาดแหลมคม แต่ก็ทนต่อสติต่อปัญญาไม่ได้ ถ้าหากผู้มีสติมีปัญญากำหนดรักษาจิตใจสำรวมใจของตัวอยู่สม่ำเสมอ เห็นจิตใจที่เพ่นพ่านออกไป เกี่ยวข้องกับสัญญาอารมณ์ของโลกที่ตักเตือนและแนะสอนตัวเอง ระวังรักษาให้อยู่ในขอบของอรรถของธรรม ไม่ให้ออกไปสู่อารมณ์ภายนอก คนนั้นจิตใจจะได้รับความสงบ จะได้รับความวิเวก จะได้เห็นผลจากการประพฤติปฏิบัติของตน กิเลสทนต่อเรื่องสติปัญญาไม่ได้ ใจที่จะดี จะผ่องใส ใจที่บริสุทธิ์ ต้องอาศัยสติปัญญาเป็นเรื่องสำคัญ
เรื่องศีลคือการรักษากายวาจานั้น เป็นพื้นของภิกษุสามเณรทุกท่านที่จะต้องรักษา ไม่ปล่อยปละละเลยเพราะศีลเป็นเครื่องประดับของสมณะ พระเณรถ้าไม่มีศีล ถึงเพศจะเป็นเพศของสมณะ เพศจะเป็นเพศภิกษุสามเณร แต่ก็เป็นไปไม่ได้ ขาดศีลอย่างเดียวเท่านั้นเสียหายไปหมด ผู้มีศีลบริสุทธิ์ ผู้มีศีลที่ดีวิเศษจึงเป็นที่นับถือกราบไหว้ ไปสถานที่ใดสง่าผ่าเผย ไม่กลัวว่าคนนั้นจะติฉินนินทา ว่ากล่าวอย่างนั้นอย่างนี้ ตำหนิศีลของตน ศีลจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่เป็นนักบวช จะต้องรักษาอย่างเข้มงวดกวดขัน ไม่อย่างน้ัน เสียศีลแล้ว สมาธิปัญญาอย่าไปหวัง เพราะศีลเป็นบันไดขั้นต้น จะต้องไต่ขึ้นไปสู่ขั้นสองขั้นสามต่อไป ถ้าไม่มีขั้นต้น ขั้นสองขั้นสามอย่าไปถามหา จึงควรรักษาให้ดี
สมาธิเป็นขั้นสองจากขั้นของศีล ก็ต้องอาศัยสติ อาศัยปัญญา อาศัยศรัทธา อาศัยความเพียรทำ ไม่ใช่อยู่ดีๆ สมาธิจะเกิดขึ้น สมาธิคือความตั้งมั่นของใจ สมาธิคือความลงรวมของใจ จะเป็นขณิกะ อุปจาระ อัปปนา ต้องอาศัยการศึกษา อาศัยการประพฤติปฏิบัติ อาศัยการกระทำบำเพ็ญ จึงจะเห็นจะรู้ ไม่ทำ ไม่บำเพ็ญ ไม่สำรวมระวังใจของตน สมาธิจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากสมาธิเกิดขึ้นได้ ง่ายดายอย่างนั้น ก็ไม่มีใครที่จะหลงใหล ไม่มีใครที่จะเสียหาย เพราะต่างคนเกิดมา ก็จะต้องมีสมาธิความตั้งมั่นของใจ นี่มันไม่เป็นอย่างนั้น ต้องศึกษาภาวนา ต้องอบรมปัญญาการพิจารณารอบรู้ในกองสังขาร ก็เกิดขึ้นจากจิตที่ตั้งมั่น ถ้าจิตไม่ต้ังมั่น จิตหวั่นไหว จิตเอนเอียงไปตามสัญญาอารมณ์อยู่บ่อย จะพิจารณาเรื่องของสังขารให้ทั่วถึงรอบคอบ เป็นไปไม่ได้ ถึงเป็นไปได้ การละถอนทางจิตทางใจมันละถอนไม่ได้ เพราะไม่มีกำลังทางสมาธิ
สมาธิจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนจะต้องบำเพ็ญ ถึงจะไม่ลงถึงที่จนขาดจากสัญญาอารมณ์ก็ตาม สมาธิคือความตั้งมั่นของใจ สมาธิคือความสงบของใจ ต้องมี ไม่อย่างนั้นจะไม่เห็น การละ การบำเพ็ญ การปลดการปล่อยของจิตของใจว่าหลุดร่วงไปจากห่วงของความติดข้องต่างๆ จะหลงจะใหลมืดมิดเรื่อยไป
หน้าที่ของภิกษุสามเณรไม่มีหน้าที่อื่น ไม่ได้ทำไร่ไถนา ไม่ได้ค้าขาย ไม่ได้ทำราชกิจการอะไร มีแต่ตั้งใจจะประพฤติปฏิบัติสอนตัว เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าหากเราไม่สอนเรา ไม่เอาใจใส่ ไม่ว่างานทางโลก หรืองานของธรรม มันก็เป็นไปไม่ได้ คนอดอยากยากจน ทั้งๆที่เขามีแข้งขาอวัยวะสมบูรณ์ ก็เพราะความเกียจคร้านไม่เอาถ่านในการงานต่างๆ คนขยันหมั่นเพียรจะไปอยู่สถานที่ใด ไม่อดอยากยากจน พอเป็นพอไป พอพึ่งพออาศัย เพราะแสวงหาอยู่ทุกวันทุกเวลาเมื่อมีงาน เอาใจใส่ในงาน ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน เงินมันก็เกิดขึ้นมา สมบัติทุกอย่าง เมื่อมีเงิน เราต้องการก็เราหาซื้อได้สะดวกสบายเพราะเป็นคนเกิดมาตัวเปล่าเหมือนกัน ไม่มีใครหาบหามหอบหิ้ววัตถุอะไรมา แต่ที่มันอดอยากยากจนก็เพราะคนนั้นไม่ได้มีความขยันหมั่นเพียร ไม่ได้มีสติ ไม่ได้มีปัญญา
สติปัญญาไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรมจึงจำเป็นที่จะต้องนำมาพินิจพิจารณา ขาดไม่ได้ คนขาดสติปัญญา เป็นคนทุกข์ยากลำบากอนาถา ท่านจึงว่าไร้ทรัพย์อับปัญญา ทรัพย์ไม่เกิดขึ้นเพราะปัญญาไม่มี ถ้ามีปัญญาพินิจพิจารณาขยันหมั่นเพียร ตั้งหน้าตั้งตาขยันหมั่นเพียร ทรัพย์ก็เกิดขึ้นได้ เรื่องภายในเรื่องจิตใจก็ทำนองเดียวกัน ตั้งหน้าตั้งตาสังวรณ์ระวังรักษา ทำงานภายในคือมีสติรักษากายใจของตน จะทำ จะพูด จะคิด ผิดถูกชั่วดีอย่างไร ต้องตรวจตราพินิจพิจารณา อย่าให้ใจอยากทำอะไรก็ทำไป ด้วยความผลักดันของกิเลสตัณหา ถ้าหากเราพินิจพิจารณารอบคอบเสียก่อน ทำอะไรไปไม่ค่อยผิดพลาด มักถูกต้อง ปัญญาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกท่านจะต้องหมั่นพินิจพิจารณา นี่เป็นปัญญาทางนอก ทางโลก
ปัญญาภายในที่รู้เท่าสังขาร ทันสังขาร ก็หมายถึงปัญญาพิจารณาธาตุขันธ์ภายใน ปัญญานี้เป็นปัญญาละเอียด ปัญญานี้เป็นปัญญาที่จะสังหารกิเลส ความเศร้าหมองติดข้องของใจ เพราะทุกคนเกิดมามีกิเลสตัณหานำหน้า มักชอบติดคิดปรุงไปตามรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ ไม่ว่าผู้หญิง ไม่ว่าผู้ชายเหมือนกันหมดทั่วโลก ทั้งสัตว์ ทั้งมนุษย์เป็นอย่างนั้น ท่านจึงเรียกว่ากามโลก โลกที่ติดข้องอยู่ในกาม กามก็หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เรียกว่ากามโลก คนติดข้องเพลิดเพลินอยู่ในสิ่งเหล่านี้คือคนที่ไม่ใช้สติปัญญาพินิจพิจารณา ติดข้องเรื่อยมา นับภพนับชาติไม่ได้ จะแก่ขนาดไหนก็ยังหลงใหลเพลิดเพลินไปตามเรื่องเหล่านี้ เพราะขาดสติ เพราะขาดปัญญาพิจารณาภายใน
ถ้าพิจารณาภายใน ปัญญาภายในที่พระพุทธเจ้าแนะสอนให้พิจารณาเรื่องธาตุขันธ์ ธาตุขันธ์นั้นจะพิจารณาตัวของเราเองก็ได้ ถ้ายังไม่เห็นเด่นชัด จะไปดูคนอื่นสัตว์อื่นก็พอดูได้ แต่ให้ดูด้วยปัญญา อย่าไปดูด้วยกิเลสตัณหา ถ้าดูด้วยกิเลสตัณหา จิตใจจะลุ่มหลง จะเพลิดเพลินติดข้อง รักชอบ เกลียดชังต่างๆ ถ้าหากดูด้วยปัญญา ไม่เป็นอย่างนั้น จะดูคนหนุ่มคนสาวก็เหมือนกัน จะดูคนแก่คนตายก็เหมือนกัน ดูให้เห็นประจักษ์ชัดเจน ดูให้ทั่ว ในอัตภาพร่างกายของหญิงชายนั้นๆ ให้เข้าใจว่าเหมือนกัน เหมือนกันอะไร คือไตรลักษณ์ อนิจจัง ไม่เที่ยง แปรปรวนเปลี่ยนแปลง ทุกขัง จิตยึดมั่นถือมั่น เกิดทุกข์ อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ มันเหมือนกัน ทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งเขาทั้งเรา
นอกจากนั้นจะพิจารณาให้เป็นธาตุ ก็เป็นธาตุอันเดียวกัน หญิงไม่มี ชายไม่มี เป็นธาตุ ๔ คือดิน น้ำ ลม ไฟ เหมือนกัน และที่ใจไปยึดไปถือ ไปมั่นไปหมายตามสมมุติของโลก ว่าหญิงว่าชาย ว่าสวยว่างาม ว่าหนุ่มว่าสาวต่างๆ อันนั้นเป็นเรื่องของสมมุติ ไม่ใช่เรื่องของจริง ของจริงธาตุอันนั้น ขันธ์อันนั้น คนๆนั้นหรือสัตว์คนนั้นมันจะต้องเป็นของจริงอย่างนั้น คือจะเป็นธาตุทั้ง ๔ สิ่งที่ข้นแข็งมันก็จะต้องละลายตายลงไปเป็นดิน เช่นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกเป็นต้น เมื่อมันแตกสลายแล้ว มันจะกลายลงไปเป็นดิน เมื่อมันดินจริงจังแล้ว หญิงอยู่ที่ไหน ชายอยู่ที่ไหน หาไม่ได้ ไม่มีหญิงมีชาย เป็นดินเหมือนกัน
น้ำก็เหมือนกัน ที่อยู่ในเนื้อในตัวของเราท่านหรือคนอื่น มันก็จะต้องเป็นน้ำของมัน ละลายไปเป็นน้ำ หรือออกเป็นไอ ไปเป็นน้ำตามธรรมชาติธาตุขันธ์ของมัน เราขบเราฉัน เราอาบอยู่ทุกวันนี้ ก็อาจไปเป็นน้ำออกจากกายของหญิงของชายของสัตว์ของบุคคลก็เป็นได้ แต่มันซึมซาบลงไปในดิน หรือมันเป็นไอออกไปตามอากาศหรือจับก้อนกันเข้าตกลงมาว่าน้ำฝน แต่ความจริงออกมาจากสัตว์จากบุคคลเนี่ยแหละ เพราะสัตว์ของแต่ละตัว คนแต่ละบุคคล มันมีน้ำเหมือนกัน แต่เราไม่ได้พิจารณาว่าน้ำอันนี้ มันเป็นน้ำออกจากสัตว์ ออกจากบุคคล เลยถือเป็นน้ำเฉยๆ เลยไม่ได้คิดปรุงน่ากลัว น่าเกลียดต่างๆ แต่ความจริงมันออกไปจากนี้
ถ้าพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงของธาตุ จะเป็นธาตุดินก็ตาม ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟก็ตาม มันเหมือน กับหมดหย่างนั้น เราจะหลงใหลใฝ่ฝันทำไม เราอย่างไร เขาก็อย่างนั้น เป็นแต่ธาตุแต่ขันธ์ จะไปหลงใหลกันทำไม ให้ใจรู้ ให้ใจเห็น ให้ใจเข้าถึง ให้ปัญญารอบ จิตจะไม่ยึด จะไม่ถือ ในเรื่องของสมมุติ วิมุตติเป็นอย่างไร เข้าใจอย่างนั้น ไปสถานที่ใด ก็เลยไม่หลงใหล ไปสถานที่ใดก็ไม่ติดข้อง เพราะเข้าใจตัวของตัวอย่างไร สัตว์บุคคลอื่นเป็นไปอย่างนั้น
ข้อสำคัญดูใจของตัว เมื่อรู้เมื่อเห็นอย่างนั้น จิตใจของเราปล่อยวางละถอนหรือไม่ หรือยังติดใจข้องใจอยู่ ว่านี่เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ว่าตั้งแต่สัญญาระลึกได้ จำได้ แต่จิตใจยังข้องติด คิดปรุงชอบ ว่าสวยอย่างนั้นงามอย่างนี้ อยากจูบอยากชม อยากได้มาเป็นของๆตน นั้นไม่ใช่ว่าจิตมันถอดมันถอนเรื่องกิเลสตัณหา มันยังยึดยังข้อง จะต้องพินิจพิจารณาให้ถึงจุดของมัน จุดของมันคือมันหลุด มันไม่ติด เห็นมันก็ไม่ติด ได้ยินมันก็ไม่ติดในสิ่งนั้นๆ นี่คือเรื่องมันรอบในตัวของมัน ถ้ามันรอบจริงๆจังๆ มันปล่อยมันวางมันละมันถอน ขาดจากความยึดความถือที่มีมาก่อน เราเองทราบในตัวของเรา ว่าแต่ก่อนพอเห็นเข้า ได้ยินเข้า มันติดมันคิดมันปรุงในรูปในเสียงต่างๆ ระยะนี้หรือเวลานี้เราประพฤติปฏิบัติรู้อรรถธรรมภายในตัวของเราแล้ว มันเป็นอย่างนั้น เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยินเท่านั้น ไม่มีอะไรที่จะมาทำจิตใจให้ว้าวุ่นขุ่นมัว ไม่มีอะไรที่จะมาทำตัวของเราให้เพลิดเพลินติดข้อง เราทราบภายในตัวของเรา
นี่เป็นการละการถอน การเห็นภายใน เป็นปัญญาที่ชำระใจ ถ้าหากเพียงแต่จำมาหรือคิดปรุงเอา เดาเอาเท่านั้น ยังละไม่ได้ รีบพิจารณาให้จิตเห็นตามเป็นจริง จิตย่อมจำนนในอริยสัจ คือของจริงที่พระพุทธเจ้ารู้เห็น ถ้ายังไม่เป็นอริยสัจ มันยังแก้ไม่ได้ เพราะนิโรธมันจะไม่เกิดขึ้น มันจะเกิดเป็นสมุทัยคือความปรุงใจให้อยากในสิ่งนั้นๆ พยายามพินิจพิจารณา พยายามศึกษา พยายามภาวนา เพราะหน้าที่ของภิกษุสามเณร โอกาสเวลามีมาก จะประพฤติปฏิบัติกาลใดเวลาใด ประพฤติปฏิบัติได้ เวลานั่งคุยกัน เวลานั่นทำงานอันอื่น นั่งได้ระยะยาวนาน แต่จะพิจารณาคิดอ่านแก้ไขจิตใจของตน พอนั่งเข้าก็ไปจ้องไปมองแต่นาฬิกา จ้องไปมองแต่วันเวลาว่ามันหมดไป มันหมดนมนามขนาดไหน ใจมันปรุงอยู่ข้างนอก มันไม่เพลิดเพลินในการกระทำบำเพ็ญของตน จิตใจมันไม่เข้าหาอรรถหาธรรม มันออกไปนอก มันก็เลยไม่เป็นผลเป็นประโยชน์อะไร ไม่มีคุณค่า ไม่มีความสงบ ให้มันมีความสงบ
ถ้ามันสงบ มันสุขมันสบาย การฝึกจิตให้สงบก็มีหลายวิธี ที่เคยอธิบายให้ฟังมานับไม่ได้ หรือครูอาจารย์องค์อื่นท่านก็เคยอธิบายมา แล้วแต่ใครที่ถนัดในท่าไหนแบบไหน จะทำใจของตนให้สงบได้ ไม่ผิด ถ้าไม่สงบ คำสอนที่ท่านสอนจะดีวิเศษขนาดไหน มันก็ผิดอยู่ตลอดไป ถ้ามันสงบได้ มันถูก อย่าไปถือว่าครูองค์นั้น อาจารย์องค์นั้น ชื่อเสียงท่านโด่งดัง ท่านเคยสอนธรรมให้คนบรรุลมรรคผลมาจำนวนมาก ควรมีศรัทธาเลื่อมใสในท่าน ท่านพูดแล้วจะถูกของท่านทุกสิ่งทุกอย่างไป องค์นั้นคนไม่เลื่อมใสคนไม่นับถือจะผิด อย่าไปคิดอย่างนั้น คิดดูจิตดูใจของตนเลยถ่ายเดียว
อุบายปัญญาที่จะนำมาสอนจิตให้ได้รับความสงบสงัด ด้วยอุบายใด วิธีใด เราทำได้ เราเห็นผล เราเอาอันนั้นมาทำ เพราะโรคของเรามันชอบแบบนั้น ถูกยาอันนั้น ยาของเขาเป็นยาของเขา ถูกโรคของเขา ยาของเราถูกโรคของเรา เราต้องดื่มต้องทานต้องฉัน สิ่งที่เป็นหยูกเป็นยาที่จะทำให้โรคภัยภายในเหือดหาย สบายไป ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ทำนองเดียวกัน ครูอาจารย์ต่างท่านต่างองค์ต่างคนต่างเคยศึกษา ต่างเคยภาวนามา ท่านเคยทำแบบไหน ใจของท่านได้รับความผ่องใส ใจของท่านได้ละกิเลส ท่านก็ทำไปตามหน้าที่ของท่าน นำมาสอนตามความถนัดใจที่ท่านเคยทำมา แต่ตัวของเราฟังแล้วไปประพฤติปฏิบัติเข้า ไม่เป็นไปตามเรื่องของท่าน เราจะเอาแบบไหนมาสอนใจของเรา ก็ทุกสิ่งทุกอย่างธรรมของพระพุทธเจ้ามันมีมาก ก็เลือกหาได้ที่จะมาแก้ไขใจของเราที่มันดื้อดึงให้สงบสงัด หาอุบายปัญญาแนะสอนตัว
จะพิจารณาเกิดตายๆก็ได้ บริกรรมเกิดตายๆ เดินจงกรมเหมือนกัน เพียงแต่ทำท่ากิริยาเดินไปเดินมาเท่านั้น เค้าเดินกันทั่วโลก ไม่ว่าตั้งแต่เดินธรรมดา หมามันยิ่งเก่งกว่ามนุษย์ วิ่งเร็ว เราสู้ไม่ได้ แต่มันไม่มีสติ ไม่มีปัญญาที่จะสอนใจ มันจึงไม่เป็นอะไรให้ ต้องมีสติ มีปัญญารักษาใจ เดินไปพินิจพิจารณาไป บริกรรมไป อย่าเผลอให้จิตใจออกไปข้างนอก จะกำหนดการเหยียบลงคือเกิด ยกลงคือตายก็ได้ กำหนดให้ได้ทุกระยะทุกเวลา จิตใจจะมีทางสงบระงับ มันมีมากอุบายที่จะสอนใจ หากเรานำมาสอน จะเรื่องคิดปรุงภายนอก ทำไมมันมีปัญญา ทำไมมันแส่ส่าย มันเพลิดเพลินมัวเมาไปได้ ก็เพศของสมณะผู้สงบ ทำไมหาความสงบไม่ได้ เมื่อมันสงบไม่ได้ ความสะดวกสบายมันจะเกิดมาจากที่ไหน อยู่ก็อยู่คนเดียว ไม่มีอะไรมาเกาะเกี่ยว ยุ่งเหยิง นั่งนอนคนเดียว ไม่มีใครที่จะมาพูดจาปราศรัย ไม่มีใครที่จะมารบกวน โอกาสเวลาทั้งกลางวันกลางคืนมันมีมาก หากจะสอนตัว พยายามทำ ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่ใช่คนอื่นจะมาทำให้ เป็นหน้าที่ของเราโดยเฉพาะ
ต้องตั้งหน้าตั้งตาภาวนารักษา กาย วาจา ใจ ของตน ใจไม่สงบ ไม่มีความสุข ถึงที่อยู่ที่อาศัยจะสมบูรณ์ทุกอย่างแล้ว ใจมันยังมีความอยาก ใจยังดิ้นรนกระวนกระวายไปในสิ่งที่มันชอบมันติด มีอันนี้ ไม่ยินดีในอันนี้ ยินดีในอันใหม่ เพลิดเพลินเรื่อยไป นี่เรื่องใจเป็นอย่างนั้น ไม่มีวันอิ่มวันพอ ไม่ว่า รูป เสียง กลิ่น รส หรือสัมผัส จิตใจจะต้องวิ่งวุ่นเรื่อยไป ถ้าหากพิจารณาจับความชั่วของมัน ความเสียของมัน จับผิดของมัน ก็คราวนั้นเป็นอย่างนั้น คราวนี้เป็นอย่างนี้ ไปเจอรูปนั้น ชอบติดว่ามันสวยมันงาม ไปเจอรูปใหม่ ปล่อยรูปนั้นทิ้ง ไปชอบรูปใหม่ นี่ก็คือใจไม่ปกติ ใจไม่มีวันพอในเรื่องของรูป มีเท่าไหร่มันจะชอบ มันติด จะคิดจะปรุงเรื่อยไป จะเอาความสุขจากรูปจากเสียงนั้นๆ เป็นไปไม่ได้ เพราะรูปเสียงเป็นอนิจจัง รูปเสียงไม่เที่ยง เมื่อมันไม่เที่ยง จิตใจที่ไปอาศัยของไม่เที่ยง มันก็เกิดทุกข์ เพราะไม่ได้ตามปรารถนาของตน แล้วจะไปคิดไปติดไปข้องทำไม
สอนใจของตัว อุบายปัญญาที่จะพิจารณามันมาก อย่าไปวันคืนเดือนไปให้ผ่านไปเสียเปล่า ไปเชื่อจิตของตัวยิ่งกว่าเชื่อธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่มีวันเวลาที่จะสงบสบาย จะเป็นพระเป็นเณรเป็นสมณะได้ มีแต่ว้าวุ่นขุ่นมัววิ่งว่อนอยู่เรื่อยไป อยู่สถานที่นั้น ไปสถานที่นั้นเสียก่อนจึงจะตั้งหนาตั้งตาบำเพ็ญภาวนา พอไปถึงเข้า อันนั้นไม่สะดวก อันนี้ไม่สบาย คิดปรุงไปหาที่ใหม่เรื่อยไป ทั่วโลกมันก็มีที่ไหนที่จะละถอนกิเลสของใจได้ อยู่สถานที่ใดความสงบสงัดหรือปัจจัยเครื่องอาศัยพอเป็นไป ตั้งหน้าตั้งตาภาวนา ตั้งหน้าตั้งตารักษาจิตใจของตน เอาจริงเอาจัง คนนั้นแหละไปอยู่สถานที่ใดจะมีความสุขความสบายภายใน ไม่อย่างนั้นไม่มีวันเวลา ยิ่งอายุแก่เข้ามาเท่าไรก็ยิ่งจะปรุงไปใหญ่ คิดไปใหญ่
เมื่อวัดวาศาสนาไม่มีการมีงานมีเรื่องมีราวอะไรมารบกวน ก็ตัวเองก่อให้ยุ่งให้เหยิงให้เสีย จำเป็นหรือไม่จำเป็นไม่ได้คิด พออยู่ไม่อยู่ พออาศัยไม่อาศัย คิดแต่จะทำอันนั้น คิดแต่จะทำอันนี้เรื่องนอกๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะละจะถอนกิเลสตัณหา มันคิดเก่ง การงานอันนั้นยังมีอยู่ การงานอันนี้ยังมีอยู่ ไม่มีโอกาส ไม่มีเวลาเดินจงกรมภาวนาให้ ก็ใครหละบังคับให้ไปทำแบบนั้น หน้าที่ของเราบวชมา ครูบาอาจารย์สอนอย่างนั้นหรือ ให้มาทำอันนั้น ให้มาทำอันนี้ แต่ถ้ามันจำเป็นจริงจังมันต้องทำ ในทางธรรมะผู้ภาวนาท่านจึงพูดถึงปริโภช คือความกังวล เพียงแต่ซักย้อมผ้า ตัดเล็บ ผมยาวเท่านั้น ท่านก็ว่าเป็นเรื่องกังวล
นี่เราหาการงานยุ่งเหยิงยิ่งกว่านั้นมาทำ มันจะไม่เป็นเรื่องกังวลของใจอย่างไร คนที่มีเรื่องกังวลของใจ มีการปรุงออกไปภายนอก มันจะสงบระงับดับกิเลสได้อย่างไร มีแต่จะติดมีแต่ข้องจะเพลิดจะเพลินจะลุ่มจะหลงเรื่อยไป อย่าไปเอาเรื่องเหล่านั้นมาดับกิเลสตัณหา มันไม่มีวันเวลาหรือไม่มีทางที่จะระงับได้ สอนใจของตน ระวังเอาใจใส่ มันยังมีเวลาเล็ดลอดออกไป เมื่อไปทำงานภายนอก มันก็เปิดประตูให้ตลอดเวลา แล้วใจมันเข้ามันออก มันผิดมันถูกอะไร มันก็ไม่ค่อยได้ดู ดูแต่เรื่องข้างนอก ตั้งใจกำหนดสติมีอยู่ในตัว ปัญญามีอยู่ในตัว
ถ้าหากกำหนดพินิจพิจารณา ระวังรักษาจะทราบดี จิตใจวันนี้มันเบา มันสบาย จิตใจวันนี้มันละมันถอนกิเลสตัณหา จิตใจวันนี้มันฟุ้งมันปรุง รักษายาก มันจะทราบ เพราะเหตุใด เพราะเรามีสติกำหนดอยู่รู้อยู่ เรื่องออกเข้าของมัน ถ้าไม่มีสติปล่อยมันไปตลอดวันตลอดเวลา ก็ภาวนาก็เป็นกิริยา เดินจงกรมก็เป็นกิริยา ไม่ทราบจิตใจมันไหลไป รู้เรื่องของโลกหรือเรื่องของธรรม พอได้เวลาสมควร เหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิว ก็ขึ้น ก็หลับ ก็นอน มันเพียงแค่นั้น ไม่ได้สอบดูว่างานที่เราทำเป็นผลหรือไม่ ได้อะไรมาไม่ได้คิดบวกลบดู ถ้าเป็นอย่างนั้น ทำอยู่เรื่อยไปก็ไม่เห็นผลเรื่อยไป ถ้าหากสอบดูพิจารณาภายในจะต้องเห็นผลเพราะการกำหนดจิตกำหนดใจ การมีสติปัญญา มันไม่เสียผล มันฟุ้งมันปรุง มันนึกมันคิด มันติดมันข้องอะไรก็ทราบ ดึงมันเข้ามา พิจารณาให้มันได้ กำหนดลงไปในจิตในใจของตน อย่าฟุ้งปรุงออกไปข้างนอก
สิ่งทั่วไปถ้าใจไม่หลง ไม่มีอะไรมันจะเป็นพิษเป็นภัยจะลุ่มหลง ถ้าใจรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันปกติดีงามทั้งนั้น เพราะใจวิปริตทุกสิ่งมันผิดไปหมด ของเน่าของเหม็นก็ถือว่าเป็นของหอมของสวยของงามไป เพราะใจมันหลง ของไม่เที่ยงถือว่าเป็นของเที่ยง ของเป็นทุกข์ก็ถือว่าเป็นสุข มันเป็นอย่างนั้น จิตใจของพวกเราท่านเพราะมันไม่ปกติ มันยังไม่ดีไม่สงบ พยายามสอน พยายามฝึก ไม่มีโอกาสเวลาใดที่เหมาะได้ถ้าหากว่าไม่ฝึก ถ้าลองฝึกหละมีโอกาสเหมาะ มีเวลาพอที่จะฝึก เพราะการงานเรื่องอื่นไม่ค่อยมีมาเกี่ยวข้อง เมื่อมีการมีงาน มีผู้มีคนมาเกี่ยวข้อง ก็ถือว่ามีการมีงานภายนอก ทำไม่ได้ เมื่อไม่มีเรื่องภายนอกก็เรื่องของใจผู้ปรุงไม่รักษา มันก็เลยไม่มีโอกาสเวลาตลอดตั้งแต่วันบวชมาจนกระทั่งวันสึกหรือวันตาย
จะให้เชื่อในเรื่องของศาสนา เชื่อในมรรคในผลอย่างไร เพราะตัวของตัวเอง ใจของตัวเองไม่เป็นไม่เห็น มันก็ไม่เชื่อเหมือนตาบอด มันไม่เชื่อว่ามีสี มีแสงอะไรเพราะตามันบอด สีแสงมันไม่เคยเห็น นี่จิตใจของพวกเราท่านก็ทำนองเดียวกัน ถ้ามันไม่เห็น ไม่เป็นในตัว มันไม่เชื่อ ต้องเห็นต้องเป็นในตัว ไม่ต้องบอกมันก็รู้ ความสงบมันเป็นอย่างไร ความละถอนกิเลสตัณหามันเป็นอย่างไร มันจะเข้าใจและอยากจะประพฤติ อยากจะปฏิบัติ เพราะสิ่งที่ดีเรารู้เราเคยเห็นเคยเป็น สิ่งที่ชั่วที่เสียที่เราไม่ต้องการ เราก็เคยเห็นเคยเป็น คนทั่วไปชอบสิ่งที่ดี ไม่ต้องการสิ่งที่ชั่ว มันจึงมีโอกาสอยากได้ มีความเพียรในใจ อยากกระทำ เรื่องชั่วเสียต่างๆ จึงระวังรักษาปัดเป่าออกไป ไม่ให้มายุ่งเหยิงเกี่ยวข้องกับใจ สิ่งใดที่มันสุขมันสบาย มันดีมันวิเศษ ใจมันก็สัมผัส อยากประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น ไม่ต้องบังคับบัญชา ถ้าหากมันเห็นมันเป็นภายใน ความเพียรมันไหลไปเอง
นี่มันไม่เห็นไม่เป็นไม่รู้ อาศัยตั้งแต่ความเชื่อครูเชื่ออาจารย์ แต่ตัวเองยังไม่เป็นไม่เห็นไม่รู้ เชื่อแบบนั้น มันไม่นานวันมันก็ลบเลือนไปเหมือนกันกับของที่มาย้อมใส่สีธรรมชาติของมัน เดี๋ยวมันก็ลอกไป จางไป สีที่ย้อม พยายาทำให้มันเกิดมันเห็นมันรู้เป็นภายในตัว ธรรมะของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ารู้เห็นอย่างไร เราไม่มีทางอื่น จะต้องเป็นอย่างนั้น เหมือนกันหมด ไม่ผิดแปลกแตกต่างกัน การละถอนกิเลสตัณหา การหมดสิ้นเรื่องอาสวะของใจมันเหมือนกันหมด พยายามทำ พยายามบำเพ็ญ ให้มีสมณะสัญญา ว่าตัวเป็นสมณะ ไม่ใช่ฆราวาสธรรมดา เพศก็ผิดแปลกแตกต่างเค้า ที่อยู่ที่อาศัยก็ผิดแปลกแตกต่างกับเค้า จิตใจภายในจะให้เป็นไปอย่างเค้า เพลิดเพลินอย่างเค้า ชั่วเสียอย่างเค้า ไม่สมควรแก่เพศของเรา ควรสอนใจของตัวอยู่อย่างนั้น
รักษาใจของตัวด้วยสติด้วยปัญญา ตั้งหน้ารักษา ตั้งหน้าบำเพ็ญ ความดีที่เราต้องการจะต้องเกิดขึ้น เห็นขึ้น จิตที่เคยดื้อดึงฟุ้งปรุงจะสงบ จิตที่เคยติดข้องจะละถอนเพราะอำนาจปัญญาพิจารณาภายในกายใจอยู่เรื่อยๆ เห็นเรื่องของตัวอย่างไร เรื่องของสัตว์อื่นคนอื่นมันเป็นเหมือนกัน ทั่วโลกมันเป็นเหมือนกัน อดีตผ่านมาไม่ทราบว่ากี่พันกี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านปี มันก็เป็นอย่างนี้ อนาคตยังไม่มาถึงก็ทำนองเดียวกัน เพราะไม่มีอะไรจะผิดแผกแตกต่างกัน เรื่องกิเลสตัณหา เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทำนองเดียวกันหมด มันจึงไม่มีข้างหน้า ไม่มีข้างหลัง ปัจจุบันเป็นอย่างไร อดีตที่ผ่านมา หรืออนาคตจะเป็นไปข้างหน้า มันเหมือนอย่างปัจจุบัน ใจมันเห็นขนาดชัดเจนอย่างนั้น
มันไม่มีอะไรหลงใหล ว่ารูป ว่าเสียง ว่ากลิ่น ว่ารส ว่าสัมผัส มันไม่มีอะไรที่จะหลงใหลในจิตใจของตน จิตจึงสงบสบาย ไม่มีอันตราย คือการประพฤติปฏิบัติจะต้องเห็นชัดด้วยตัวเอง ความสุขความสบาย ความละความถอนกิเลสตัณหา มันจะต้องรู้จะต้องเข้าใจ เพราะธรรมะเป็นปัจจตัง รู้เฉพาะตัว เป็นสันทิฏฐิโก เห็นเอง ไม่ใช่คนอื่นจะมาบอกให้เห็นให้ ถ้าหากประพฤติถูกธรรมมันเป็นอย่างนั้น ไม่มีทางสงสัย ถ้าไม่ประพฤติถูกธรรม จะเป็นจะเห็นจะรู้อย่างนั้นไม่ได้ พยายามประพฤติปฏิบัติ พยายามรักษาจิตใจของตน
การสังวรณ์อินทรีย์เป็นทางที่ปฏิบัติไม่ผิด สังวรณ์ตาหูจมูกลิ้นกายใจของตน ไม่ให้ยินดียินร้ายในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสหรืออารมณ์ที่มาเกี่ยวข้อง ถ้ามีสติประคับประคองสอนใจของตัว อันนี้รูป อันนี้เสียง อันนี้กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ จะไปยินดียินร้ายกับมันอะไรมันเคยมีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร สอนใจของตัวให้รู้ให้เข้าใจในอารมณ์อันนั้น มันก็มีวันเป็นพระเป็นเณรได้ เป็นสมณะผู้สงบได้ เป็นผู้ประเสริฐได้ นี่ไม่เคยรักษา ไม่เคยภาวนา อยากจะพ้นทุกข์ มันไม่มีทางที่จะพ้น จะหลุดจากกิเลสไปได้ การสังวรณ์อินทรีย์จึงเป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าหรือผู้รู้ทั่วไปรับรองว่าเป็นทางไม่ผิด
โอกาสเวลาที่ได้มาบวชเป็นโชคดี ประชาชนทั่วไปในโลกนับไม่ได้ เพราะไม่มีโอกาสเวลาที่จะมาเดินจงกรมภาวนา ที่จะมาเป็นพระเป็นเณร ทั้งเค้ามีโอกาสมีเวลาเหมือนกัน แต่ศรัทธาภายในใจ ความเชื่อความเลื่อมใสของเขาไม่มี หรือบางคนก็ไม่มีโอกาสเวลา บางคนก็มีโอกาสเวลาแต่ไม่มีศรัทธา ความพอใจจะทำ นี่ทุกสิ่งทุกอย่างเราพร้อม เพศของเราก็เป็นเพศของสมณะ ที่อยู่ที่อาศัยของเราก็ไม่ใช่บ้าน เป็นวัด เป็นที่ปฏิบัติละกิเลส เราจะมาหลอกลวงตัวของเราเอาเพศประเสริฐมาห่อหุ้มเอาไว้ แต่ใจของเรายังสกปรกโสมมอยู่ สมควรแล้วหรือ พยายามแนะสอนตัว ฝึกตัว ปฏิบัติตัว ผู้ใดใคร่คิดพิจารณาศึกษา มีสติปัญญาแนะสอนตัว คนนั้นแหละ ไม่วันใดก็วันหนึ่งจะถึงที่สุดวิมุตติได้
ถ้าไปตายใจนอนใจ จะเอาเดือนนั้นก่อน วันนั้นก่อน พรรษานั้นก่อนจึงจะทำ ถ้าไปโยนความดีไปข้างหน้าอย่างนั้น มันมีวันมีเวลา มันเคยตัวมันก็จะโยนข้างหน้าเรื่อยไป ไปสถานที่ใดไม่เอาจริงให้ จะเชื่อเรื่องของกิเลสตัณหา ไม่มีโอกาสเวลาจะทำความเพียร ไม่มีโอกาสเวลาที่จะละกิเลส พยายามข่มขี่ แนะสอนตัวเอง การงานส่วนรวมภายในวัดก็ไม่มีอะไรที่จะหนักหนาพอเป็นอุปสรรคขัดข้องในการประพฤติปฏิบัติ รีบเร่งกระทำความพากความเพียร ไม่ว่ากลางวันกลางคืน
อย่าไปเอาความสุขในการหลับการนอน การเล่นการเพลิน ให้เอาความสุขจากความเพียรของตน วันนั้นเราได้ทำอย่างนั้น วันนี้เราได้ทำอย่างนี้ รักษจิตใจของเราอย่างนี้ๆ ถึงจิตใจยังไม่เป็น ไม่เห็น ไม่รู้ภายในคือการละถอนกิเลสของใจจริงจังก็ตาม แต่มาระลึกนึกคิดถึงการรักษาจิตของตน ไม่ปล่อยให้ไป ไหลออกไปสู่โลก สู่ความชั่ว เราก็ยังดีใจ เรื่องของกายไม่ต้องพูด มันหยาบ เรื่องของใจเป็นเรื่องละเอียด จะต้องอาศัยสติ อาศัยปัญญาผู้รักษาใจ ถ้ามีสติปัญญาก็รักษาไม่ยาก หากไม่มีสติปัญญาก็รักษายาก เพราะใจเป็นนามธรรม มันลากจิตปรุงฟุ้งไปตลอดเวลา ไม่ว่าเดิน ยืน หรือ นั่งนอน มันคิดมันปรุงอยู่เรื่อยไป นี่คือใจไม่มีสติรักษา ถ้าใจมีสติ จะอยู่อิริยาบถใดก็กำหนดอยู่เรื่อยไป ใจก็มีทางสงบระงับ ใจมีธรรมเป็นที่อยู่ที่อาศัย ใจจึงสุข ใจจึงสบาย ที่พยายามฝึกอบรม
การอธิบายธรรมะเห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ขอยุติเพียงแค่นี้