Skip to content

ปัจจุบันธรรม

หลวงพ่อชา สุภัทโท

| PDF | YouTube | AnyFlip |

พากันตั้งอกตั้งใจฟังธรรม ไอ้ฟังธรรมเนี่ย ไม่ใช่มากหรอก คำสองคำมันก็ไปได้เหมือนกัน แต่ให้เข้าใจในธรรมะอันนั้น อะไรมันเป็นธรรมะ พูดง่ายๆว่าอะไรที่ไม่เป็นธรรม ไม่มี มันมีธรรมทั้งนั้นแหละ เรียกว่าธรรม มันเป็นภาษาธรรมะ เราทุกคนนี่ก็เป็นธรรม จิตใจก็เป็นธรรม ร่างกายก็เป็นธรรม กายวาจาทั้งหมดเป็นธรรมทั้งนั้น มวลหมู่มนุษย์ทั้งหลายที่จะมารวมกันอยู่เป็นหมู่หมวด เป็นกลุ่มก้อน ในความสบาย ในความสะดวกดีนั้น มันก็เหมือนกะต้นไม้ต้นหนึ่ง ต้นไม้ต้นหนึ่งนั้นมันมีโคลน และมันมีลำต้น แล้วก็มีกิ่งก้านสาขา ต้นไม้ต้นนั้นเรียกว่าต้นไม้ จะมีแต่โคลน ไม่มีลำต้น มันก็เป็นไม่ได้ จะมีแต่ลำต้น กิ่งงาสาขามันไม่มี มันก็เป็นไม่ได้ รวมเป็นลำต้น เป็นต้นไม้ ก็คือมีโคลนน่ะ มีลำต้น มีกิ่งก้าน ต้นไม้ทั้งต้นนั้น ถึงแม้จะมีทั้งสามอย่างก็จริง แต่ว่ามันไปรวมอยู่ที่โคลนมันเป็นหลัก ไอ้กิ่งมันก็ดี ไอ้ใบมันก็ดี มันก็อาศัยโคลนเป็นอยู่ เนี่ย อาศัยโคนมันเป็นอยู่

มนุษย์เรานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น มันมีกาย มันมีวาจา แต่ว่ามันอาศัยจิต ซึ่งทำงานทั่วถึงทุกชนิด คือจิต จิตนี่คนชอบมาบ่น ทุกข์นัก แหม จิตมันเป็นทุกข์ อาตมาที่มาอยู่วัดหนองป่าพงเนี่ย นับหลายร้อยราย มากราบหลวงพ่อ อิฉันเป็นทุกข์ใจ เนี่ย สุขมันก็สุขใจ ทุกข์มันก็ทุกข์ใจ ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรยังไงกัน ไอ้ความเป็นจริงไม่น่าจะมีทุกข์นะ พระพุทธเจ้าท่านก็สอนว่าอย่าทุกข์ๆ ทุกข์แล้วไม่สบาย คืออย่าไปทำอย่างนั้นสิ ไปทำอย่างนั้นมันทุกข์ เราก็อยากจะไปทำอย่างนั้น มันก็ทุกข์ การฟังธรรมะ การประพฤติธรรมะ หรือการปฏิบัติธรรมะ นี่ก็เพื่อจะให้พ้นทุกข์ 

อย่างเราทั้งหลายมาทำบุญวันนี้ ก็เหมือนกัน เพื่อจะบรรเทาทุกข์ เพราะว่าทุกข์เท่านั้นแหละ มันเป็นสิ่งที่สำคัญ มันเกิดจากเหตุของมันคือกิเลสทั้งหลาย บางคนก็เห็นว่าไอ้ทุกข์มันประจำอยู่ในใจเนี่ย อยู่นานแล้ว ใครวันนี้ โยมก็ถาม อาตมาก็ตอบว่า โยม มันไม่นอนเนื่องอยู่ในนี้หรอก มันเพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้ แต่อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ มันเลยทุกข์เดี๋ยวเนี้ย เหมือนมะนาว ผลมะนาวนั่นแน่ะ เอาไปทิ้งตรงโน้นน่ะ มันเปรี้ยวมั้ย หือ หรือมะขามเปียกเราเนี่ย เอาไปทิ้งตรงนั้น มันเปรี้ยวมั้ย มันก็ไม่เปรี้ยว เราเอามาแตะลิ้นเดี๋ยวเดียว มันเปรี้ยวขึ้นเดี๋ยวนี้เองน่ะ นี่ มันเป็นไปอย่างนั้นซะ นี่ปัจจุบันธรรมเป็นงี้ ไม่ใช่ว่าไอ้ความเปรี้ยวมันนอนเนื่องอยู่ในมะขามเปียกหรอก นะ ไม่รู้เรื่อง ไอ้สิ่งที่มันไม่รู้ มันเกิดเมื่อมันรู้เดี๋ยวนี้ เอาเข้ามาแตะลิ้น เราก็มันเปรี้ยวเดี๋ยวนี้ เกิดเดี๋ยวนี้ เปรี้ยวไม่ได้อยู่ที่ไหนหรอก มันอยู่ที่สัมผัสถูกต้อง ก็เกิดความไม่ชอบขึ้น เกิดกิเลสเดี๋ยวนี้ นะ กิเลสมันก็ไม่ใช่นอนเนื่องอยู่ในใจเราหรอก มันเกิดเดี๋ยวนี้ 

มิฉะนั้นปัจจุปันนาธรรมา เรื่องปัจจุบันธรรมเนี่ย มันเป็นสิ่งที่สำคัญเหลือเกิน เป็นสิ่งที่สำคัญ ธรรมะ การที่เรามาปฏิบัติธรรมะ การเรามาทำทาน ทำบุญสุนทานวันนี้ ก็ชื่อว่ามาบำรุงพระพุทธศาสนา แต่ว่าให้มารู้จักพระพุทธศาสนา ถ้าเราบำรุงพุทธศาสนาเพื่อเอาบุญกันอย่างเดียวนั้น บางทีมันก็จะไม่ถึงพุทธศาสนา เอาบุญอย่างเดียวนั้น เราถึงชักชวนกันว่า ไปสร้างบุญสร้างกุศลกัน เราต้องฉีกมันออก แยกมันออก บุญมันเป็นยังไง กุศลมันเป็นยังไง บุญคือทำเอาบุญนั้น ก็เรียกว่ามันปราศจากปัญญา คนเราเมื่อไม่มีปัญญาแล้ว มันทำอะไรก็ไม่ได้ มันไม่พ้นทุกข์ มันไม่พ้นทุกข์ ท่านเรียกว่าบุญกุศล บุญก็คือหามารวมไว้ แบกไว้ๆ มันหนักไม่รู้จักทิ้ง มันก็ทับเราตายนั่นแหละ ถ้ามันมีปัญญา เราก็ทิ้งมันซะ มันหนัก อย่างนั้นมันก็เบา นี่เรียกว่ากุศล อันหนึ่งเรียกว่าบุญ รวมเข้ากันเรียกว่า บุญกุศล ทำบุญกุศลเช่นนี้ก็เรียกว่าบำรุงพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ที่ท่านประทานไว้ ที่เรียกว่าพระพุทธเจ้า 

ใครเป็นพระพุทธเจ้า อันนี้บางทีเราก็งงเหมือนกันนะ ไม่รู้ว่าใครเป็นพระพุทธเจ้า หลักของท่านน่ะ ท่านผู้สอนในประชุมชนประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ ที่เรียกว่าพระพุทธศาสนา ชื่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ดูดิ เราดูเถอะ “ท่าน” ไม่รู้ว่าใครเป็นท่าน เรียกว่าท่านทั้งหมดทั้งนั้น ไม่ใช่คนอยู่นี่ มัน “ท่าน” ท่านผู้สอนในประชุมชน ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ ที่เรียกว่าพระพุทธศาสนา ชื่อพระพุทธเจ้า เห็นมั้ย เห็นพระพุทธเจ้ามั้ย นี่ ใครที่สอนในประชุมชน คือธรรมะ ธรรมะ เราถึงฟังธรรมกัน ฟังธรรมเอาความฉลาด แล้วก็เอาความสุข แล้วก็พิจารณารู้จักความสุขนั้น รู้จักใช้ความสุขนั้นให้เกิดประโยชน์ 

เราทำไปเพื่อการปล่อยวาง คือเอาอย่างเดียวมันทุกข์ ไม่มีปัญญา เห็นคนจนมั้ย จนมันก็ทุกข์ มันทุกข์แบบคนจน เห็นคนรวยทุกข์มั้ย เห็น คนรวยก็ทุกข์ มันทุกข์แบบคนรวย เห็นเด็กมันทุกข์มั้ย เห็น มันทุกข์แบบเด็ก เห็นพ่อแม่ของเด็กทุกข์มั้ย มันทุกข์แบบพ่อแม่ของเด็ก ตรงไหนมันเป็นอะไรยังไง มันเป็นเรื่องของอย่างนี้ มิฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงชี้ให้ประพฤติธรรมะ ปฏิบัติธรรมะเพื่อให้เราออกจากทุกข์ ออกจากวัฏสงสารนี่ สังสารวัฏอันนี้ ไม่ใช่ว่าสิ่งทั้งหลายมันผูกเรานะ เราไปผูกมัน บางทีว่า “ฉันทนทุกข์ไม่ได้หรอก” ได้สิ แต่เราไม่ทำมัน แต่เราไม่ทำมัน ต้องพิจารณา ต้องเรียนธรรมะ จะต้องรู้จักธรรมะ 

ทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องมีที่เกิดน่ะ มันมีที่เกิดมาต้องมีที่ดับ มันต้องมีที่เกิด มันมีแดนเกิดทั้งนั้นน่ะ ลองๆดูซิว่า ธรรมทั้งหลายมันเกิดเพราะเหตุ เมื่อไรโยมเป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์เพราะอะไรรู้มั้ย นึกว่าเกิดขึ้นมาลอยๆอย่างนั้นเหรอ เมื่อโยมเป็นสุข มันเกิดมาจากอะไรรู้มั้ย นั่น ที่มันเกิดมา ก่อนทุกข์มันจะลำบาก ไม่ใช่ว่าอะไรหรอก อดีตก็มี ที่เรานั่งอยู่อะไรก็คิด ไอ้คนนั้นก็ดูถูกเรา คนนั้นก็นินทาเรา คนนั้นก็อิจฉาเรา น้ำตาก็ค่อยๆซึมออกมานะ พี่ชายก็อาศัยไม่ได้ น้องชายก็อาศัยไม่ได้ คิดไปก็น้อยใจ น้ำตามันก็ซึมออกมา ขนาดมันทำโทษจนให้น้ำตามันไหล ยังไม่รู้จักว่ามันเกิดมาจากที่ไหน บางทีเรานั่งอยู่คนเดียว หรือเดินไปคนเดียว นึกถึงอารมณ์ที่ชอบใจอะไรต่างๆ บางทีก็ยิ้มออกมาเสีย อย่างเนี้ย อะไร มันเกิดมาแต่ไหน มันยิ้มเองเหรอ นี่ มันยิ้มเองมันหรือเปล่า นั่นธรรมมันเกิดเพราะเหตุอยู่แล้ว มันเป็นแดนเกิด มันเกิดจากเหตุทั้งหลายนั้น ไม่ใช่ว่ามันเกิดมาลอยๆ มันเกิดมาเฉยๆ 

อย่างนั้นพระองค์จึงจ้ำจี้จ้ำไชพวกเราซ้ำๆซากๆ ให้เราเข้าไปเห็นตรงนั้น ตรงนั้น ไม่ใช่ว่ามันเกิดมาลอยๆ สิ่งทั้งปวงในโลกนี่นะ มันจะไม่มีอะไรปรากฏมาให้มนุษย์ทั้งหลายทุกข์ยากลำบาก แต่ว่าเราไปรู้จักมัน อย่างก้อนหินก้อนนั้นมันตั้งอยู่ตรงนั้น มันก็ยังไม่หนักอะไร ถ้าเราเดินผ่านมันไปมา มันก็ไม่หนัก นี่เราไปเกี่ยวข้องกับมันนี่ ถ้าเราไปเกี่ยวข้องกับมัน นึกอยากได้ ไปยกมันขึ้น มันหนักทันทีสิ นี่มันเป็นอย่างนี้ อารมณ์ทุกอย่างก็เหมือนกันเช่นนั้น ถ้าเรารู้เรื่องของมัน ไม่มีน่าจะทุกข์ เหตุมันไม่มี เหตุจะเกิดทุกข์มันไม่มี นี่ นั่น มันไม่มีอย่างนั้น เรื่องทุกข์มันเป็นเรื่องสำคัญที่สุดหละ ถึงมันจน มันก็ทุกข์ ถึงมันรวย มันก็ทุกข์ เป็นเด็กมันก็ทุกข์ แก่แล้วมันก็ทุกข์ ถ้าคนไม่รู้จักทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าให้รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ แต่ว่าเราก็รู้ทุกคนทุกข์ แต่ว่ารู้ไม่ถึง รู้ไม่ถึงทุกข์ รู้ทุกอย่าง แต่มันรู้ไม่ถึง ถ้าเรารู้ถึงมันซะแล้วเป็นต้น มันก็ไม่มีอะไรจะเป็นทุกข์ 

อย่างเราเห็นตน เช่นนี้เป็นต้น ตนที่นั่งอยู่นี่ ก็นึกว่าเห็นตนกันแล้ว คือว่าเราเห็นตน นี่เห็นอยู่นี่ นี่ขาฉัน แขนฉัน นี่เพื่อนฉัน เห็นอยู่ ก็เรียกว่าเห็นตน ไอ้ความจริงที่เรียกว่าเห็นตนนั้นไม่ใช่อย่างนี้ ตามธรรมะ เห็นตนคือเห็นว่า ตนน่ะมิใช่ตน แน่ะ เห็นตนอย่างนั้น อันนี้แขนเรา อันนี้ขาเรา อันนี้ตัวเรา อะไรของเราทั้งนั้นแหละ อันนี้พระพุทธเจ้าท่านไม่ยอมว่าเห็นตน เห็นตนคือมีความรู้สึกเห็นออกจากญาณในใจของเจ้าของนั้นน่ะ รู้ว่าสิ่งทั้งหลายนี้มิใช่ตน ท่านเรียกว่า คนเห็นตน เห็นแล้วไปแบกมัน เห็นงูแล้วไม่จับงู เห็นงูแล้วหนีงู พิษงูก็ไม่ตามเราไป นั่นเรียกว่าคนรู้จักงู ไอ้คนเห็นตน อันนั้นคนนั้น อันนี้คนนี้ นั่นไม่ใช่คนเห็นตน ก็เพราะว่าตนนั่นแหละมันไม่มี จะเอาอะไรมาเห็นมันแล้ว มันไม่มีตน นี่ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าไม่ให้มีตน 

นี่มันฟังยากเหลือเกินนะ มันฟังยาก ไอ้ความเห็นมันกลับกันอย่างนี้หละ มันฟังยาก ดูก็ยาก เช่นว่าคนบ้า คนบ้ากับพระอรหันต์นี่มันแยกกันไม่ออก มันเหมือนกันทั้งนั้นน่ะ ดูๆสิ เพราะว่ามันสูงที่สุด กับมันต่ำที่สุดนี่ ไอ้สูงที่สุดกับต่ำที่สุดน่ะ มันจะอยู่ต่ำก็ช่างมันเถอะ มันอยู่ที่สุด ใช่มั้ย มันจะสูงก็จริง แต่มันสุงที่สุดของสูงน่ะ สองอย่างนี้มารวมเข้ากัน แยกกันไม่ออก เหมือนบ้ากับพระอรหันต์ นี่เหมือนกันทีเดียวแหละ แต่ว่ามันมีลักษณะเหมือนกัน แต่ว่ามีคุณธรรมต่างกัน ท่านอริยเจ้าทั้งหลายท่านถึงที่สุดแล้ว ท่านเห็นถึงอารมณ์ทั้งหลาย ท่านก็ยิ้มอยู่ในใจทั้งนั้นแหละ มันยิ้มในใจของเรา บ้าก็ถูกเค้าว่า ก็ยิ้มเหมือน ยิ้มโดยที่ว่าไม่รู้เรื่อง พระอรหันตเจ้าท่านยิ้มรู้เรื่องอย่างแท้จริง มันคนละอย่างกัน เรียกว่ามันสูงที่สุดกับที่ว่ามันต่ำที่สุด มันเลยเข้ากัน อย่างนั้นบางแห่ง ในปัจจุบันนี้แหละ ยังมีอยู่ ไปกราบบ้าๆบอๆอยู่นั่นแหละ ขึ้นว่าเป็นพระอรหันต์อยู่นั่นแล้ว มันเป็นมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลโน้น มันมีมาอย่างนั้น 

ดังนั้นก็เพราะว่าเราไม่รู้จักธรรมะอันแท้จริง ดังนั้นพระองค์ของเราท่านจึงให้สอนให้รู้จักธรรมะ อย่างให้รู้จักผลไม้ทุกอย่างอย่างแท้จริง ว่าละมุดมันเป็นยังไง มังคุดมันเป็นยังไง ลำไยมันเป็นยังไง อะไรมันเป็นยังไง มาให้รู้จัก รู้จักผลไม้ รู้จักทั้งหมด เมื่อเรารู้จักมาแล้ว ก็เอาผลไม้ทั้งหลายน่ะมารวมกันในตะกร้าอันเดียวกัน เท่านั้นแหละ ให้มันปะปนกันไปหมด ยังไงก็ช่างมันเถอะ เราไม่ลืม ไม่หลงไม่ลืม เพราะเราจะได้แน่นอน จะไปชี้ว่าไอ้ลางสาดมันเป็นลำไย เราก็รู้จัก แต่ว่ามันเยอะไป คนว่าอย่างนั้น แต่ว่าเราเฉยซะ รู้ จะว่าลำไยเป็นมังคุด หรือว่าลำไยเป็นลางสาด ก็รู้จัก แต่ไม่ทวง แต่ไม่ทวง อันนี้เปรียบว่าโลกสมมุติเดี๋ยวเนี้ย เค้าก็พูดกันอย่างนั้น ไอ้คำสอนของโลกเนี่ย ในเมื่อเข้าถึงจิตพระองค์แล้วหละ เป็นของปลอมทั้งนั้นแหละ มันเป็นของปลอมทั้งนั้นแหละ คำสอนของพระอริยบุคคลเมื่อเข้าไปถึงจิตปุถุชนแล้ว ก็เป็นของปลอมเหมือนกัน อย่างนั้นมันจึงบ้าคนละอย่างนะ มันพูดยากเหมือนกันนี่ ไอ้คำสอนของท่าน มันไม่ค่อยเข้ากัน ไม่ค่อยเข้ากัน อย่างนั้นพวกเราเป็นกุลบุตรลูกหลาน จึงพิจารณามันยาก มันพิจารณาลำบากเหลือเกิน 

อย่างเรามาทำบุญกันอย่างนี้ อยากจะได้บุญ “แหม ทำบุญหละ ฉันหละเป็นไข้ เป็นโรคไม่หยุด ไม่ค่อยสบายใจ โรคติดต่อกัน บุญฉันก็ไปทำอยู่เรื่อยๆ” ไม่ใช่ว่าจะมาแก้บุญตรงนี้ ไม่ใช่ว่าจะให้มันไม่เจ็บมันปวด มันคนละอย่างกัน แล้วจะทำบุญในบ้านเรานี่ ให้แมวตัวนี้กลายเป็นสุนัข ให้สุนัขกลายไปเป็นแมว มันคนละอย่างกัน มันคนละอย่างกัน ไอ้ร่างกายนี้มันเป็นอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านว่ามันเป็นไปอย่างนี้ มันเป็นไปตามเรื่องของมัน ไม่ใช่ว่าเราทำบุญ ไม่ให้มันเจ็บ มันไข้ ไม่ให้มันอะไรต่ออะไรหลายๆอย่าง มันคนละเรื่องกัน ก็เพราะมันเป็นอย่างนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงไม่ไว้ใจมัน ให้เราผ่านมัน หนีไปซะ อย่างนี้ เราก็ยังเสียดายอยู่นั่นหละ มันเสียดาย มันเสียดายอยู่ มันก็ยังไปไม่ได้อย่างนั้น อันนี้มันเป็นเรื่องของอย่างนี้ อันอย่างไรก็ช่างมันเถอะ ให้เข้าใจว่าการกระทำบุญสุนทานอย่างเนี้ย ทำเพื่ออะไร ทำเพื่อให้มันไม่มีทุกข์ ทำเพื่อไม่ให้มันมีทุกข์ ให้มันบรรเทาทุกข์ ให้มันค่อยๆหมดไป บรรเทาทุกข์ 

ถ้าทำบุญให้บรรเทาทุกข์ มันต้องทำบุญด้วย ทำกุศลธรรมด้วย ถ้าไม่เอากุศลธรรมหละ ไม่มีปัญญา บุญอย่างเดียว มันเนื้อกับปลา มันสดๆ ถ้าทิ้งไว้เฉยๆมันก็เน่าเท่านั้นแหละ อาศัยเกลือเป็นอยู่ เนื้อหรือปลานั้นมีอายุไปนาน หรือว่าเอาเข้าตู้เย็นซะ อย่างนี้มันเป็นซะอย่างนั้น ปัญญานี้ ท่านจึงว่า นัตถิ ปัญญา สมา อาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญา ไม่มี นัตถิ ตัณหา สมา นที แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี คำนี้ยันกันเอง ยันกัน ร้อยเปอร์เซนต์เท่ากันเลย ตรงเนี้ย ก็จริงอย่างนั้น ไอ้ความอยากเนี้ย ไม่มีจบ ไม่มีจบ ตัณหาคือความอยาก ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านว่า การทำก็ทำเถอะ อย่าให้มันเป็นตัณหา การกินก็กินเถอะ อย่าให้มันเป็นตัณหา การดูก็ดูไปเถอะ อย่าให้มันเป็นตัณหา อยู่ในโลกนี้ก็อยู่ไปเถอะ ให้มันรู้จักโลก อย่าให้มันเป็นตัณหา คือทำด้วยการปล่อยวางมันเสีย ก็คืออยู่ตรงนั้นแหละ 

ให้คิดเสมอว่าเรามีช้อนอันหนึ่ง เอาไว้ทำไมช้อน เอาไปตักแกง ซดเข้าไป แต่เราไม่ทานช้อน เห็นมั้ย แต่ว่าเอาช้อนเข้าไปในปาก แต่ไม่ทานช้อนหรอก ทานแกง ทานแล้วก็เก็บช้อนมาอีก ถ้ามีคนมาถามว่าเก็บช้อนไปทำไม เก็บไปซดแกง… “ไม่ใช่ คุณกินช้อนสิ” เค้าจะว่าให้เรา ว่าก็ช่างเค้า แต่ความจริงเรารู้จักว่าช้อนไม่ใช่ของบริโภค อย่างนี้ เรารู้เราอย่างนี้ เค้าจะว่าเราเอาช้อนไปซดแกงอะไร ไม่ทานช้อนอะไรเราก็เฉย สบาย นี่คืออย่างว่าถ้าเรารู้อย่างชัดเจน นี่เรามีอยู่ด้วยการปล่อย นึกว่าเราใช้ช้อนของเราเรื่อยๆไป หรือขันตักน้ำเราเนี่ย โอ่งน้ำอย่างหนึ่ง น้ำอย่างหนึ่ง ขันตักน้ำอย่างหนึ่ง สามอย่าง สี่ก็ตัวเราเนี่ย เราจะต้องดื่มน้ำ ดื่มน้ำก็ต้องเอาขันไปตัก แต่ไม่ใช่ว่าเราไปทานขันนะ แต่เราก็เก็บขันนั้นไว้ โดยการปล่อยวางที่ว่า ไอ้ขันนี่เราทานมันไม่ได้หรอก ไอ้ที่เราจะดื่มมันก็คือน้ำ แล้วก็เก็บไว้ มีคนๆหนึ่งมาว่าให้เราอีกว่า “เก็บขันนี้ไว้ ไม่บริโภคกันนี่” อย่างนี้ เราก็สบายของเราอยู่ ก็เพราะเราไม่เป็นอย่างนั้น 

ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านว่า อาศัยตัวเอง อาศัยตัวเอง คำว่า “ตัวเอง” ก็คือมิใช่ตัวนั่นแหละ ถ้าไปอาศัยตัวเอง จริงๆแล้วเนี่ย เดี๋ยวมันก็ล้มนะ อีกไม่กี่ปีมันก็ล้มนะ อาศัยตัวอันนี้ อันนี้มันเป็นเรื่องสมมุติซ้อนกัน สมมุติมันซ้อนสมมุติกัน ก็ต้องเรียกตามภาษาสมมุติ คนเราเนี่ยท่านว่าเรียกว่า “ตน” ตน เพื่อให้มันเป็นภาษาเฉยๆ ความเป็นจริง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ถ้ามารู้ธรรมะให้มันจบซะแล้ว ไม่มีอะไรจะเหตุ เป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมา อะไรมันเป็นละอย่างๆ ไม่ได้เกี่ยวพันกัน แต่เราจับเข้ามาเกี่ยวพันกันเสีย เราก็ไปยุ่งกับเขาเสีย เราก็ไปยุ่งกับเขาเสีย ไอ้ความเป็นจริง สิ่งทั้งหลาย ไม่ได้ยุ่งอ้ะ 

อย่างที่ว่าก้อนหินก้อนที่มันทิ้งอยู่อย่างนั้น ไม่ยุ่งกับเราหละ มันจะยุ่งกับเราเมื่อเราอยากจะได้ก้อนหินก้อนนั้นเท่านั้นหละ นะ ไอ้ตัวก้อนหินก้อนนั้น มันไม่มีอะไรหรอก มันก็อยู่เป็นธรรมชาติอย่างนั้น นี่ เมื่อความคิดอยากจะได้ก้อนหินก้อนนั้น มันก็ยก มันก็หนักเอาดิ มันหนักก็หนักเดี๋ยวเนี้ย หนักก็เรายกเดี๋ยวเนี้ย แต่ก่อนมันหนักมั้ย ไม่มีหนักอ้ะ ไม่มี ยังไม่เกิด มันไม่เกิดหนัก มันก็อยู่อย่างนั้นแหละ มันไปหนักตรงที่ว่าเราต้องการมัน ไปยุ่งกับมัน มันก็ยุ่งกับเรา ไม่ใช่เรายุ่งเรานี่ อันความจริงมันฝ่ายเดียวเท่านั้นแหละ มันฝ่ายเดียวเท่านั้น 

อย่างเราใช้ถ้วยใบนึง มันแตก ก็เสียดาย ใครผิดหละ ใครเป็นทุกข์ ถ้วยหรือเราเป็นทุกข์ มันไม่เกี่ยวข้องกับเรานั่นนะ ไอ้ถ้วยมันแตก มันก็เฉยๆ หรือมันไม่แตกมันก็เฉยๆอยู่เนี่ย มันไม่น่าจะเป็นทุกข์อย่างนั้นแหละ มันคนละอย่างกัน แต่เราว่ามันถ้วยเราแตก เป็นทุกข์ เพราะอะไร มันเห็นชัดอย่างนี้ ท่านให้แยกออกอย่างนี้ พระพุทธเจ้าของเราน่ะ ถ้าเราเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้น เราไม่ยุ่งกับมัน มันก็ไม่มีอะไรกับเรา มันก็หมดเรื่องกันเท่านั้นแหละ ดังนั้นโยมมีจานมากๆ มีถ้วยมากๆนั่นแหละ อยู่ในบ้านก็ต้องพิจารณาอย่างนั้น แต่ก็บอกลูกน่ะ บอกให้มันระวัง ให้มันเช็ดให้มันสะอาด ให้มันเก็บให้ดี กลัวมันจะแตก สอนลูกต้องสอนอย่างนั้น อย่าไปสอนว่า ช่างมันเถอะลูก มันจะแตกอะไรก็ช่างมันเถอะ ไม่ใช่ของเราหรอก ไม่มีถ้วยใส่แกงนะ มันจะหมดนะ นี่เรื่องสอนคนต้องสอนมันอย่างนี้ มันเป็นคนละเรื่อง จำเป็นจะต้องสอนอย่างนั้น จะต้องสอนอย่างนั้น แล้วพูดว่า ระวังนะลูกนะ เก็บไว้ให้ดี เดี๋ยวมันจะแตกแล้วแน่ะ ดุมันอยู่เรื่อยๆ แต่เราพูดอย่าง ใจอย่าง นะ ถ้ามันแตกเพี๊ยะจริงๆน่ะ เราก็ไม่ต้องว่าอะไรมัน แต่ว่ามันเก็บๆไปเรื่อยๆให้มันระวังไว้ อย่างนั้น ไม่มีเงินที่จะซื้ออะไรมาใช้ มันหมดไป คือบอกให้คนปฏิบัติ มุ่งธรรม มุ่งวินัยอย่างนี้ กลับไปสอนอย่างธรรมะสูงๆอย่างผู้ใหญ่ ก็ถ้วยไม่มีหละในบ้าน  หมด แตกหมด ไม่มีใครล้างมันหรอก นี่ มันเป็นเรื่องของอย่างนี้ 

อย่างนั้นพระพุทธเจ้า จะฟังธรรมะให้เข้าใจ ผู้รู้จักธรรมะ ไม่ใช่ผู้ที่เกียจคร้าน ต้องเป็นคนฉลาดและเป็นคนขยัน เป็นคนขยันหมั่นเพียร แต่ว่าขยัน ผู้ขยันกระทำ กระทำด้วยการปล่อยวาง ด้วยการปล่อยวาง ทำในความสงบระงับ อย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า ไอ้ทำงานมันก็สบาย ทำโน่นทำนี่มันก็สบาย ที่มันเป็นสัมมาอาชีวะ มันก็สบาย ถึงแม้มันหนักหน่อย มันก็สบาย เพราะโทษตรงนั้นไม่มี อย่างนี้ ทิฐิคือความเห็น มานะคือความไปยึดไว้ สองอย่างนี้มันเกาะกัน ทิฐินี่พระพุทธเจ้า ไม่ต้องอะไรหรอก ดูที่ในใจของเรา เห็นมั้ย ความเห็นวันหนึ่งมันเกิดยังไงมั่งมั้ย ที่มันเกิดขึ้นมาน่ะ เราตามดูทันได้มั้ย นี่ มันเกิดความคิดอย่างหลายๆอย่างนะ แต่ว่ายังไงก็ช่างมันเถิด แต่ว่าไอ้ตัวมานะที่เข้าไปยึด เป็นตัวที่สำคัญมากที่สุด ดีชั่วเราอย่าไปยึดมัน อย่าไปยึดมัน ให้ดูมันเถอะ พระพุทธเจ้าว่าอย่าไปยึดมัน ไอ้ทิฐินี่ท่านแปลว่าความเห็น ถ้าทิฐิไม่ฟังใคร มันก็เป็นมานะเท่านั้นแหละ 

ไอ้ความดีท่านให้ปล่อยวาง ถ้ามนุษย์เรามาคิด แหม ปล่อยวางแล้วเราจะเอาอะไร อย่างนี้เป็นต้น มันก็ลำบาก ยังไม่เข้าใจธรรมะ อย่างพระพุทธองค์ท่านสอนว่า อย่างคนเรานี้ว่า ถ้าหากว่าทำสิ่งที่ไม่ดีนี่ ตายไม่ได้เกิดหรอก เสียใจซะแล้ว ตกใจ กลัวจะไม่ได้เกิด ไอ้ความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่าให้มาเกิดน่ะมันดี ถ้าเราไม่ได้เกิดแล้ว กลัวจะไม่ได้เห็นหน้าลูก หน้าหลาน จะไปอยู่อะไร แหม วุ่นขึ้นมาเลย เราไม่คิดดูว่า ที่มาทุกข์วันนี้เพราะเราเกิดมา เห็นมั้ย เพราะเราเกิดมามันจึงมีทุกข์เกิดขึ้นมานี่ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ เพราะความเกิดมา ถ้าหากว่าคนเราบางคนนะ คิดว่ามันบาป ไม่รู้จักผุดจักเกิดแล้วนี่ มันก็เข้าแง่พระพุทธเจ้าสอนว่าไม่ให้เกิดนะ มันเป็นซะอย่างนั้น ทีนี้ไอ้ความเกิดนี่คือคนมันอยากจะเกิดมา แต่เกิดมาแล้ว ไม่ให้เราเป็นโรคเป็นภัย จะได้อยู่สบาย อายุให้ยืนๆ มันคิดไปซะอย่างนั้น พระพุทธเจ้านั้น ไอ้เหตุตายก็คือเหตุเกิดนั่นแหละ ที่มันเกิดมานั้นแหละ คือสมัครตายแล้ว อย่างเนี้ย 

อย่างวัตถุที่ยังไม่มีมาในมือเราเดี๋ยวนี้ เมื่อเราแสวงหามาได้เป็นต้น ก็เรียกว่านี้แหละมันจะแตกแล้ว มันจะหายแล้ว เพราะอะไร เพราะมันมีอยู่นี่ ที่มันมีนี่ อย่างกระโถนนี่ ถ้าซื้อมาใหม่ๆก็เรียกว่าแตกแล้วนี่ มันแตก ถ้าเห็นว่ากระโถนแตกแล้วนะ แต่เราเห็นว่ากระโถนนี้ไม่แตก นี่ความเห็นต่างกัน คนหนึ่งใช้กระโถนไม่แตก คนหนึ่งใช้กระโถนแตกไปด้วยกัน เอาสิ มันหลุดมือเราวันหนึ่ง เจ้ากระโถนนี้มันแตก มันก็แตกก่อนแล้วไอ้ที่ผู้ว่ามันแตกมาแล้ว ไอ้ผู้ที่ว่ายังไม่แตก เพิ่งแตกเดี๋ยวนี้ ก็ร้องไห้เท่านั้นแหละ อย่างนั้นเห็นก่อนซะ เมื่อมันเกิดมาแล้ว ก็นั่นแหละ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า อยากจะให้มันพ้นจากความเกิดนั่นแหละ แต่ยังไงจะยังไง มันก็อยากจะเกิดขึ้นมาอยู่หละมันอดไม่ได้ ถ้าเกิดขึ้นมาแล้วมีอะไรบ้างมั้ย มีอะไรบ้างมั้ย มันแสนทุกข์แสนยากแสนลำบาก อะไรสารพัดอย่าง เราก็ยังไม่เห็นโทษมันน่ะ ไม่รู้มันว่ามันเป็นยังไงก็ไม่รู้จัก ไม่เห็นโทษมัน ทำไงถึงจะเห็นโทษมันนะ เราจะต้องประพฤติปฏิบัติ พิจารณามันเข้ารูปของธรรมะของพระพุทธเจ้า เดี๋ยวนี้น่ะ 

พุทธบริษัททั้งหลายยังไม่เห็นพร้อมกับพระพุทธเจ้านะ ไม่เห็นพร้อมนะ เทศน์ไปก็ขัดกันไปเรื่อย ขัดใจ อย่างเราตายไม่เกิดอย่างนี้แหละ คือมันไม่ให้เกิดมาแหละ ถ้ามันมี มันเป็นเหตุ คำสอนของท่านที่ที่สุดของท่าน มานะ ความยึดไว้นะ 

เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา อันนี้ก็ไม่ใช่อีก ไม่ถูกนะ เป็นผู้ที่เลิศกว่าเขา เห็นว่าเสมอกับเขานี่ ก็ยังไม่ถูกอีกอ้ะ เป็นผู้ที่เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขานี้ก็ไม่ใช่อีก เป็นผู้ที่เลวกว่าเขา สำคัญตัวเราดีกว่าเขา อันนี้ก็ไม่ใช่อีก 

แต่เป็นผู้ที่เสมอเขา สำคัญตัวว่าดีกว่าเขา นี่ก็ไม่ใช่ เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา อันนี้ก็ยังไม่ใช่ ยังอีก เป็นผู้เสมอกับเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา อันนี้ก็ไม่ใช่อีก 

เป็นผู้ที่เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา อันนี้ก็ไม่ใช่ เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา อันนี้ก็ไม่ใช่ เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา อันนี้ก็ยังไม่ใช่อีก 

เอาอะไรกันมั้ยที่นี่ ตรงไหนที่เราจะเอาไปมั้ย นี่ เรามาดูซะ มาดูซะ เหตุว่าท่านจึงเห็นว่าอันนี้มีไม่มี มีไม่มี จะให้มันมี…มี ให้มันมี…ไม่มี มีมันกลับไม่มี อย่างนี้ ก็เรียกว่ามันหมดนั่นแหละ คือเรียกว่ามันหมด เนี่ยมันหมด มานะ ๙ ทั้งหลาย ท่านให้ทิ้งมันซะ ทิ้งมันซะ เอาอะไร คือไม่มีอะไร ถ้ามีอะไรอยู่ มันก็ยังมีอะไรอยู่นั่นเองแหละ 

อันนี้พูดถึงที่สูงมันนะ แต่ว่าพูดถึงที่ไอ้คนเราอยากจะมีความสุข อยากจะร่ำจะรวยนะ อันนี้ก็เรียกว่าไม่พ้นทุกข์ คือบุญ อย่างนั้นท่านก็ว่าสร้างบุญไปด้วย คือพิจารณาไปด้วย คือกุศล คือปัญญา นะ ไม่ใช่ทำลาย มันคล้ายๆกับวิธีเลขน่ะ มันมีคูณ มันมีบวก มันมีลบ มันมีหาร มันจึงจะได้จำนวนมันที่เราชอบใจตามจำนวนของเลขนะ อันนี้เราไม่เอาน่ะ เอาที่มีที่คูณอย่างเดียว ไม่มีที่ใส่ เห็นมั้ยหละ วิธีคูณกับวิธีบวกรวมเข้ากันเรื่อย วิธีลบไม่มี วิธีแบ่งก็ไม่ค่อยจะมีซะด้วยนะ ถ้ามีวิธีแบ่งมันก็เบา วิธีลบก็เบาสิ มันมีวิธีบวกกับวิธีคูณ มันก็ยิ่งไปกันใหญ่เท่านั้นแหละ เห็นมั้ย นั่นก็คือว่า กลับมาเป็นคนที่เห็นแก่ตัว มันเป็นซะอย่างนั้น 

ดังนั้นการกระทำบุญกุศลนี้ มันจะมีสองคำ กุศลคือทำไปให้มีความฉลาดขึ้น มีความฉลาดขึ้น ให้มีความรู้รอบคอบในสิ่งที่เราได้มานั้น ให้รู้จัก ที่มากับครอบครัวของเราเนี่ย แล้วได้มากับครอบครัวเนี่ย จะต้องมีปัญญาสามารถที่รักษาครอบครัวของเรานี้ให้มันคุ้ม กลับไปบ้าน ถ้าถามว่าบุญอยู่ที่ไหน ไม่รู้เรื่องกัน ไม่รู้บุญ ถึงไปกราบพระ ยายไปกราบพระ หลานกับแม่กราบพระ พระที่ไหน ตอบหลานไม่ได้ บุญนี่ก็ตอบไม่ได้ ก็เพราะว่าเราไม่รู้จักบุญนั่นเอง ทำไปเพื่อทำกันไปเรื่อยๆไปอย่างนั้น อันนั้นเราเป็นพุทธบริษัทที่ฝึกหัดอันนี้ อย่าให้มันหลง 

เหมือนผลไม้ในตะกร้า หลายๆอย่างก็ช่างมันเถอะ จะไปเทรวมๆกันเป็นกองๆ เราก็ไม่หลงหรอก ผู้ศึกษาในธรรมะของพระพุทธเจ้าของเรา รู้เรื่องตามความเป็นจริงนะ ไม่หลง มันจะเป็นไปยังไงก็ไม่หลง เหมือนเรารู้จักผลไม้นานาชนิด เอารวมตะกร้าเดียวกัน มันจะทับกันอยู่ก็ช่างมันเถอะ เรารู้มันชัดเจนแล้ว ผลอะไรต่ออะไร เรารู้ เราชี้ถูกทั้งนั้นแหละ ถ้าเราเข้าใจธรรมะในหลักพุทธศาสนาแล้วก็อย่างนั้น ใครจะพูดกันไปตรงไหนก็ช่างมันเถอะ นะ เรารู้จักอยู่แล้วในทางพุทธศาสนา มันก็ผลไม้ มันจะทับกันอยู่กี่ชั้นก็ช่างมันเถอะ เรารู้ว่าผลเงาะเป็นเงาะ ลำไยเป็นลำไย ลางสาดมันเป็นลางสาด มันไม่หลงอย่างนั้น 

อันที่สุดธรรมะของพระพุทธเจ้า ท่านสอนว่าเพื่อไม่ให้หลงอย่างนั้น ไม่หลง ถึงแม้ได้ความดีมา ก็ยังไม่หลงดี ไอ้ความชั่วเกิดขึ้นมา ก็ยังไม่หลงชั่วอีก มันรู้ไปถึงขนาดนั้น แต่พระพุทธเจ้าของเราท่านสอนให้รู้จักข้อประพฤติปฏิบัติในใจของเจ้าของ ไอ้ความเป็นจริง การประพฤติปฏิบัตินี่ ความรู้อันเนี้ย ไอ้มันเกิดจากจิตบริสุทธิ์นั่นอย่างหนึ่ง มันเกิดด้วยสัญญาอย่างหนึ่ง มันต่างกันหลาย มันเอาเข้ากันไม่ได้ มันของบริสุทธิ์กับของไม่บริสุทธิ์นี่มันเข้ากันไม่ได้ ปนกันไม่ได้ ไอ้ธรรมะที่มันเกิดมาจากจิตนั่นน่ะ มันก็คล้ายๆกับว่า ตาน้ำ ตาน้ำที่มันซึมซาบมา มันแห้งไม่ได้ เพราะมันไหลของมันอยู่อย่างนั้น ไอ้ความรู้ตามสัญญาของเราที่มา คล้ายๆน้ำในโอ่ง หมดน้ำฝนมันก็แห้งอย่างนี้ นี่ ก็เป็นอย่างนี้ 

ไอ้เรื่องจิตของเราที่รู้ธรรมะ ที่บรรลุธรรมะ แต่ว่าคนเราทุกวันนี้ว่าบรรลุธรรมะนี่ก็กลัวแล้ว เอ้ คำนี้มันสูงไปซะแล้วนะ บรรลุธรรมะนี่มันสูงไปซะแล้ว ไม่ค่อยอยากจะพูดหรอก ถ้าใครพูดก็ตะแคงๆในใจ ธรรมะลองไปพูดสิ ฉันบรรลุธรรมะแล้ว คนตาตะลึงเลยทีเดียว แหม บรรลุธรรมะ ไอ้ความเป็นจริง คำนี้เป็นของสมมุติ ไม่ใช่ว่ามันสูงมันต่ำหรอก อย่างพวกญาติโยมทั้งหลายมาวัดป่าพงวันนี้ก็ บรรลุวัดหนองป่าพงวันนี้ เอ้ย ไม่แปลกอะไรกัน จะมาถึงวัดหนองป่าพงก็ได้ รู้วัดหนองป่าพงก็ได้ ถ้าพูดภาษาธรรมะ บรรลุวัดหนองป่าพงก็ได้นะ ถ้าเราเรียกว่า เรารู้จักว่าอันนี้เป็นบาป เป็นบุญแล้ว ก็รู้จักว่าเราบรรลุธรรมะก็ได้ ถ้าเราว่าบรรลุธรรมะ ตกใจ คนเรานี่แหม มันก็เป็นซะอย่างนั้น อันนี้มันเป็นภาษา มันเป็นภาษาให้รู้ความ ให้เข้าใจกันได้ ภาษาอย่างหนึ่ง พูดไปอย่างหนึ่งเท่านั้นแหละ ไอ้ความเป็นจริงก็เป็นธรรมดาของเรา 

อย่างพระพุทธเจ้าที่อาตมาว่านี่ ใครเป็นพระพุทธเจ้ามั้ย ท่านผู้สอนในประชุมชน ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ ที่เรียกว่าพระพุทธศาสนา ชื่อพระพุทธเจ้า ดูตรงนี้สิ เราก็ว่าเรื่อยทีเดียว แน่ะ ดูไปดิ แต่เราก็เรียกว่า แหม ฉันเกิดเพราะพระพุทธเจ้า ฉันก็จะไปซะละขนาดเนี้ย นึกว่าพระพุทธเจ้าองค์นั้นนิพพานไปแล้วนะ ไอ้ความเป็นจริงสิ่งที่เมื่อเราเห็นธรรมะ ก็เห็นพระพุทธเจ้า อันนี้ก็ฟังยากนะ คนที่ยากนะ เราเห็นพระพุทธเจ้า เราก็เห็นธรรมะ เมื่อได้เห็นธรรมะ เห็นพระธรรม เราก็ได้เห็นพระพุทธ เห็นพระพุทธก็เห็นพระธรรม เห็นพระพุทธ พระธรรม เราก็เห็นพระสงฆ์ อย่างนั้นพระพุทธเจ้าน่ะ ให้พระพุทธอยู่ที่ใจ พระธรรมอยู่ที่ใจ พระสงฆ์อยู่ที่ใจ ให้มันเห็นชัด 

ดังนั้นเรามาจับท่านมายัดไปเฉยๆนี่ ว่าพระพุทธอยู่ที่ใจของข้า พระธรรมอยู่ที่ใจของข้า พระสงฆ์อยู่ที่ใจของข้า แต่การประพฤติมันไม่เรียบร้อย นะ ไม่สมกับว่าพระพุทธอยู่ที่ใจ ไม่สมกับว่าพระธรรมอยู่ที่ใจ พระสงฆ์อยู่ที่ใจ คือจิตมันเป็นคนที่จะรู้จักธรรมะ ท่านเรียกว่า ผู้รู้ พระพุทธองค์ที่ท่านตรัสไปแล้วนั่นน่ะ ก็ตรัสธรรมะ องค์ธรรมตรัสรู้นี่แหละ ตรัสรู้นี่ท่านไม่เอาไปหรอก ท่านก็ทิ้งไว้ในนี้แหละ 

พูดง่ายๆอย่างพวกครูเราน่ะ ครูโรงเรียนนั่นแหละ ไม่ได้เป็นครูมาตั้งแต่กำเนิดหรอก มาเรียนวิชาครู มันถึงมาเป็นครูกัน ได้สอนโรงเรียนซะ ได้รับเงินเดือนซะ อยู่ไปนานๆก็เลยตายไปซะ เลยตายจากครูไปซะ ถ้าพูดอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ครูนั้นยังไม่ตาย ครูนั้นยังไม่ตาย คือคุณธรรมที่ทำครูนั้นให้เป็นครูนั่นยังอยู่ อย่างพระพุทธเจ้าของเราน่ะ สัจธรรมที่ทำให้คนๆนั้นให้เป็นพระพุทธเจ้ายังอยู่ ไม่หนีไปที่ไหน ก็ได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าสององค์นี่ องค์หนึ่งเป็นรูป องค์หนึ่งเป็นนาม ธรรมะที่แท้จริงนั่นแหละ พระพุทธเจ้าท่านถึงสอน อานนท์ ให้ท่านประพฤติไปเถอะ ให้ท่านปฏิบัติไปเถอะ ท่านจะงอกงามในพุทธศาสนา ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นก็เห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นก็เห็นธรรม ไม่รู้ว่าเป็นยังไงถึงเป็นอย่างนั้น 

ฟังยังไง…พระพุทธเจ้าก็เป็นธรรม พระธรรมก็เป็นพระพุทธเจ้า มันสับสนกัน ไอ้ความจริงมันเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าแต่ก่อนก็ยังไม่มี จะได้เรียกชื่อว่า ขนานชื่อของท่านว่าเป็นพระพุทธเจ้า ก็ในเมื่อที่ท่านได้มารู้ธรรมอันนี้เท่านั้นแหละ แต่ก่อนก็เป็นสิทธัตถะราชกุมาร ถ้าพูดมาถึงตรงนี้ก็เหมือนกันกับเรานั่นเองนั่นแหละ เราก็เป็นตาสีตาสาตามีตามาอยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าเรามาบรรลุถึงธรรมอันแท้จริงแล้วนะ มันก็จะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเดียวกันนั่นแหละ ไม่แปลกกันหรอก อย่างนั้นนะญาติโยมทั้งหลายว่า ให้เข้าใจว่าพระพุทธเจ้ายังอยู่นะ เข้าใจซะวันนี้ว่าพระพุทธเจ้ายังอยู่ เราทำที่ไหนๆ คือว่าเป็นสัจธรรมแล้ว เราทำชั่วอยู่ที่นี่ ไม่เป็นไรหรอก ไม่มีใครเห็น อย่าไปว่านะ พระพุทธเจ้าเห็นน่ะ ท่านยังอยู่ทุกวันนี้ ยังคอยจะประคับประคองพวกเรา เดินทางให้มันถูกต้องอยู่เสมอ แต่เราไม่เห็น แต่เราไม่รู้เรื่อง 

อย่างนั้นผู้ประพฤติปฏิบัติแล้วน่ะ จะทำความดีความชั่ว ถึงท่านไม่ได้สงสัยแล้ว ก็ว่าท่านมีพยานอยู่แล้ว ไม่ได้สงสัย จะทำชั่วที่ไหนมันก็มีแหละ ทำไมไม่มี ไม่มีใครเห็น ก็เราน่ะเห็นเรานะ ไปทำชั่วที่ไหน ไม่มีใครเห็น ไม่มีหรอก ก็เราเห็นเราอ้ะ อย่างนี้ อย่างเรื่องทำชั่วที่ไหน ทำดีที่ไหน ไม่พ้นท่านเรียกว่า กรรม มันรู้ตาม ก็ความจริงนะ คือความจริงในการกระทำมันมีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าก็มาตรัสรู้ไอ้ความจริงอันนี้ ไอ้ความจริงอันนี้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในโลกอันนี้ ถ้าใครทุกคนจะมาประพฤติปฏิบัติบรรลุคุณธรรม คือความจริงเช่นนี้ มันก็เปลี่ยนเป็นพระพุทธเจ้า เป็นท่านผู้สอนในประชุมชน ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ ที่เรียกว่าพุทธศาสนา ชื่อพระพุทธเจ้า 

อย่างนั้นพระพุทธเจ้ายังอยู่นะ จงดีใจเถอะ อย่าเสียใจเลย บางคนนึกโมโห แหม ถ้าพระพุทธเจ้ายังอยู่ ฉันไปหละนะ แน่ะ เอากันซะอย่างนั้น นี่ ไอ้ความเป็นจริง ความจริงน่ะมันยังอยู่ ที่เราทำไปนี้มันถูกความจริงหรือผิดความจริง มันก็ถูกก็ผิดของมันอยู่ นั้นก็เรียกว่าพระพุทธเจ้าโดยนามธรรมยังมีอยู่ ฉะนั้นผู้ประพฤติปฏิบัตินั้นท่านจึงเคารพ เคารพทำไม ก็ท่านเห็นพระพุทธเจ้าอยู่นั่นน่ะ นั่งอยู่นี่ก็เหมือนพระพุทธเจ้าอยู่ต่อหน้านี่ เดินก็เหมือนพระพุทธเจ้าต่อหน้านี่ ไปไม่ได้แล้ว ท่านเห็นประจักษ์ในใจของท่าน ท่านจึงเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ สม่ำเสมอไม่จืดจางอย่างนี้ ไม่ได้ละ ก็เพราะท่านเห็นว่าอยู่ในใจของท่านอยู่แล้ว มันเห็นอยู่อย่างนี้ ว่ามันไม่หายไปตรงไหน เห็นอย่างนี้ก็ว่าเห็นธรรมะ เห็นธรรมะก็เห็นพระพุทธเจ้า นี่ มันเป็นอยู่อย่างนี้ 

ฉะนั้นจึงว่า เมื่อเราเห็นพระพุทธเจ้า ก็เห็นธรรมะ เช่นนั้น ไปนั่งที่ไหน ก็ได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้าอยู่ทุกเวลานั่นแหละ เดินอยู่ เราก็ได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้าอยู่ นอน ก็ได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้าอยู่ อันนี้อาตมาศีรษะจะแตก ไปฟังธรรมท่านอาจารย์มั่น “เอ้อ ท่าน ปฏิบัติไปเถอะ ไปฟังธรรมพระพุทธเจ้า นั่งอยู่ใต้ร่มต้นไม้ก็ฟังธรรมท่านอยู่อย่างนั้น นั่ง นอน นอนก็ฟังธรรม นั่งก็ฟังธรรมอะไรอยู่” เอ…อาตมาคิดไม่ได้เลย คือไม่ใช่ของคิดเอา ไม่ใช่ของคิดนะนี่ มันต้องเกิดมาจากความบริสุทธิ์ ไอ้จำคำของท่านนี่ จะพิจารณายังไงไม่ได้ อย่างนี้ ไอ้ความเป็นจริงคือมันเห็นธรรมะนั่นเองน่ะ ไม่ใช่อื่นไกลหรอก มันเป็นธรรมะ จะเป็นต้นไม้ จะเป็นภูเขา จะเป็นสัตว์น้อยสัตว์ใหญ่ มันเป็นธรรมะทุกอย่าง ดังนั้นอาตมาถึงให้ ธรรมะอยู่ที่ไหน ไอ้ธรรมะที่ว่าไม่มีธรรมะน่ะ มันไม่มีน่ะ มันเป็นธรรมะ ธรรมะคือธรรมชาติ มันเป็นอยู่อย่างนั้น ธรรมชาติอันนั้นมันก็เป็นธรรมชาติของมัน เกิดดับของมันอยู่อย่างนั้นนะ 

ถ้าหากเราจะใช้ธรรมชาติน่ะ ฝึกธรรมชาติอันนั้น อย่างกายของเราทุกวันนี่ จิตใจของเรามันเป็นธรรมชาตินี่ มันมีการกิน มันมีการหลับ มันมีการนอน เป็นธรรมดาของมัน เหมือนอย่างกับสัตว์ มันก็อาศัยทั้งนั้นแหละ แต่ว่าสัตว์ทั้งหลายนั้นมันไม่รู้ภาษากัน มันเป็นเพราะประสาทซะ สั่งสอนไม่ได้ มันสมองมันช้าเกินไป ไม่เหมือนมนุษย์เรา มนุษย์เรามันสนอง มันเร็ว มันไว นี่มันไว เมื่อเรามาพูดอันหนึ่ง ท่านจึงจัดว่าเป็นภพสัตว์ควรตรัสรู้ธรรมได้ของเรา อย่างร่างกายหรือจิตใจของเราเนี่ย มันจะเห็นชั่ว เห็นอะไรทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เห็นมา มีครูบาอาจารย์มาสอนนี่ มันก็ค่อยๆเข้าใจ มันไวๆ เข้าใจมันง่าย มันง่ายกว่าสัตว์อย่างอื่น มันง่ายกว่าสัตว์เดรัจฉานนี่ สัตว์ป่า หรือเป็นสัตว์บ้าน เป็นสัตว์มนุษย์ สัตว์มนุษย์นี่มันก็หายากนะ หายาก คำสอนของพระท่านว่าจะเป็นมนุษย์มันก็ยาก นี่ก็คิดยากหน่อย คิดไม่ค่อยถึงหรอก คือยังไม่รู้จักมนุษย์ที่แท้จริง อย่างนี้ ถ้าเรามามอง ฮื้อ มาเป็นมนุษย์จะยากทำไม เกิดทีละสองก็ยังมีเลย เราก็คิดไปอย่างนั้น มันไม่ยากนี่ 

มนุษย์ซึ่งไม่มีคุณธรรมอย่างนั้น มันก็เป็นมนุษย์แบบหนึ่ง มันยังไม่เป็นมนุษย์ เอาชื่อเค้ามาโอนขึ้นมาเป็นมนุษย์เฉย มันเป็นมนุษย์เดรัจฉาโนอย่างหนึ่ง เหมือนกับสัตว์เดรัจฉานอย่างนั้น มนุษย์ที่จะเกิดมานี่คุณธรรมที่เป็นมนุษย์นี่ เราเกิดมาเป็นเด็กนี่เราไม่รู้เรื่องของมนุษย์ ไม่รู้จะประพฤติปฏิบัติอย่างไร ไม่รู้คุณธรรมของมนุษย์ ไม่รู้คุณสมบัติของมนุษย์ เมื่อโตมาแล้ว เราฟังพ่อแม่ของเราสอน ครูบาอาจารย์ของเรา เราก็ค่อยๆรู้ขึ้นมา ก็เลยมีคุณธรรมเกิดขึ้นมา ก็เลยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มันแปลกกันอย่างนั้น เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ก็คือว่า เมื่อมันเกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้นมา เรียกว่ามนุษย์เพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้ แน่ะ นี่มันเกิดยาก ใครจะติดตาม มันเกิดยาก มันเกิดยากอย่างนี้ 

ศีลธรรมนี้ ใครจะต้องไปปฏิบัติ มันปฏิบัติยาก มันถูกแต่ว่าปฏิบัติยาก เช่นง่ายๆ ง่ายๆ เวรทั้ง ๕ ประการนี่ ศีล ๕ ไอ้ที่พวกเราพุทธบริษัททั้งหลายนั่นแหละ สมาทานกันอยู่ ทำกันอยู่เนี่ย อันนี้ก็คือคุณสมบัติของมนุษย์แท้ๆ ถ้าใครมีศีล ๕ ในใจของคน ของตนทุกๆคนอย่างนั้นน่ะ ไม่ต้องมีอะไรแล้ว มันหมด เรียกว่าศีลธรรม ถึงแม้ว่ามันไม่พ้นทุกข์เป็นต้น ก็อยู่ในความสงบระงับ เป็นสัมมาอาชีวะในโลก ก็ยังไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันเนี่ย ถึงมาเป็นมนุษย์อยู่ เป็นสมบัติของมนุษย์ แต่มันจะมีเกิดมีตายก็จริงหรอก แต่ว่าเกิดมาก็อยู่ด้วยความสบาย ตายก็อยู่ด้วยความสบาย มันรู้จักอย่างนี้ ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน อันนั้นเป็นโลกมนุษย์แท้ๆ ที่สมบูรณ์ มันเป็นซะอย่างนั้น มนุษย์ที่มันเป็นมนุษย์สมบูรณ์ มีคุณสมบัติขึ้นมา ที่เราศึกษามานี่ ก็เรียกว่าเราเพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้ เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ 

ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ มันก็มนุษย์นี่หายากนะ ดูสิ คนเราจะมีศีล ๕ ศีล ๕ ประการเนี่ย มันจะเป็นยังไง มันจะมีมั้ย เรากำหนดดูก็ได้ ในบ้านเรา ในเมืองเรา ในชนบทเรา ในกลุ่มเรา มีมั้ย บางคนก็จะตอบว่า ไม่มี บางคนก็มีแต่น้อย อย่างเนี้ย อันนี้มันเป็นรากฐาน แล้วจะมองๆดูก็ได้ว่ามันจะเกิดประโยชน์อย่างไร เรามองดูก็ได้แหละ มันเห็นผลประโยชน์มันทุกส่วนเลยแหละ ศีล ๕ ประการนี้ นี่ ไม่ต้องมาก ไม่ต้องมายอะไร ถ้าใครมีคนมารักษาศีล ๕ ประการให้มีในใจอย่างแจ่มใสของเราเถอะ คนนั้นจะสบาย ไม่มีใครรู้จักก็สบายใจ สว่างไสว นึกไปข้างหลังที่เป็นอดีต ก็สบายใจ เพราะเราไม่ได้ทำอะไรที่ยุ่ง เพราะการกระทำบาปทั้งหลายนี่ ระลึกในที่ไหนก็สบาย จะยืนอยู่นึกขึ้นมาได้ก็สบาย จะนอนอยู่ นึกขึ้นมาได้ก็สบาย จวนจะตาย นึกขึ้นมาได้ ก็สบาย 

กรรมใดที่ทำไปแล้ว ภายหลังนึกไปมันเดือดร้อน กรรมอันนั้นไม่ดี นี่มันติดตามอย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่นวัดหนองป่าพงนี่นะ โยมมานี่หลายคนนี่นะ มีคนใดคนหนึ่งซะนะ มาต่อยเอาเศียรพระวัดป่าพงไปเสียนะ สมมุติ ใครไม่รู้หรอก รู้คนเดียวคือคนที่ทำ วันนี้ก็มาทอดผ้าป่าด้วยกัน ก็มามองเห็นเศียรพระหัก มันก็ไม่สบายอยู่นั่นนะ ไม่สบายคนเดียวเท่านั้นน่ะ คนที่รู้จักกัน คนที่ไม่รู้เค้าก็ไม่เป็นอะไรของเค้า รู้แต่คนที่ทำ ไม่สบายแต่คนที่ทำ นี่แหละ ที่ไอ้กรรมชั่วที่ทำแล้วภายหลังนึกได้เดือดร้อน กรรมนั้นไม่ดีซะแล้ว หรือว่าเอาองค์พระมาถวายวัดป่าพง หรือวัดใดวัดหนึ่ง ด้วยศรัทธาของเราซะ เมื่อมาทำบุญอย่างนี้ มากราบไหว้ เห็นของเราที่ได้สร้างไว้ก็สบายใจแล้ว นี่ ได้ทำมานานภายหลังคิดไปก็ไม่เดือดร้อน สบายใจ อันนี้เราจะรู้เป็นปัจจตัง รู้เฉพาะตัวของเราอย่างนั้น 

การกระทำบุญสุนทานทุกวันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ถึงแม้ว่าบำรุงพุทธศาสนาเป็นเปลือกเป็นผิว อย่างที่มากันวันนี้ก็ดี แต่ว่ามันก็เหมือนต้นไม้ต้นหนึ่งนั่นแหละ บางแห่งไปเรียกว่าการทำบุญสุนทานมันเป็นเปลือกๆ เปลือกมันก็ดีเหมือนกันนะ ไอ้ต้นไม้ถ้าไม่มีเปลือกหุ้ม มันก็ตายเหมือนกันนะ เนี่ยอย่าไปว่ามันน้อยนะ อย่าไปว่ามันน้อย ไม่มีใบมันก็ตาย ไม่มีโคลนมันก็ยิ่งไปกันใหญ่ มันอาศัยสามัคคีซึ่งกันและกันนั่นเองแหละ ไม่ใช่อื่นไกลหรอก มันมีประโยชน์ทุกส่วน ให้เราเข้าใจซะอย่างนั้น ก็เรียกการกระทำบุญกันเสีย กับการกระทำกุศล ให้มันเป็นบุญ ให้เป็นกุศล เพื่อให้มีปัญญา อย่าทำไปโดยโมฆะ ทำไปอย่างเป็นพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้านั่นเอง ให้มีเหตุผล ทำแล้วให้มันได้บุญสิ ให้มันได้บุญ ให้มันได้บุญรู้จักถาม กลับไปบ้าน ไปทอดผ้าป่าได้บุญบ้างมั้ย ติดตรงไหน มันเป็นยังไง ชี้แจงไป บุญมันเป็นอย่างนั้นๆ นี่คือความเข้าใจของเราเช่นนี้ 

ที่การกระทำทั้งหลายมันเป็นอุบายซะอย่างนั้น และการพูดธรรมะทั้งหมดนี่ก็เป็นอุบายทั้งนั้น ให้เข้าใจในที่ตรงนั้น ให้เข้าใจในที่ตรงนั้น เป็นของสมมุติ เป็นอุบาย คือตัวธรรมะจริงๆมันมองเห็นไม่ได้ซะแล้ว แต่ว่ามันมีอยู่ จนยก หยิบยกอันอื่นมาพิจารณากัน เช่นว่าครูโรงเรียนสอนนักเรียน สมมุติว่านาย ก มีเงินเท่านั้นเท่านี้ แต่ว่านาย ก ไม่มีที่นั้น จะทำไงหละ แกต้องเอาชอล์คขึ้นมาเขียนเป็นตัว ก นี่ สมมุติว่านาย ก มันจะเป็นนาย ก มั้ย…เป็น สมมุติ แต่นาย ก วิ่งไม่ได้ เป็นตัว ก ได้ สมมุติว่านาย ก ได้ มันมีเงินเท่านั้นก็ได้ มีเงินเท่านี้ก็ได้ เป็นนาย ก โดยสมมุติ แต่นาย ก คนนี้ สัมฤทธิ์ในการสมมุติ จะใช้นาย ก วิ่งไม่ได้ เพราะมันเป็นตัว ก มันก็เป็นตัว ก ให้เราอยู่งั้น อันนี้เรียกว่าอุบาย ให้เรารู้จักว่านาย ก ไม่มี ต้องเขียนตัว ก ลงไป ให้มันสัมฤทธิ์ประโยชน์อย่างนั้น ดังนั้นภาษาทั้งหลายเนี่ย บางทีเราก็ฟังไม่ได้เหมือนกัน มันปนไป อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น 

อันนี้หลักธรรมะที่เราประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรามีสติ มีสัมปะชัญญะ อยู่ตรงไหนก็ช่างมันเถอะ บางคนก็เข้าใจว่า “อิฉันนี่ไม่มีเวลาจะภาวนา” “ทำไม” “ขายของจ้ะ ขายของไม่ได้ภาวนา” “โยมขายของ โยมได้หายใจมั้ย” “หายใจ” “อ้าว ทำไมมีเวลาหละ ทำไมมีโอกาสหายใจหละ ทำไมไม่อึดลมไว้” เนี่ย ไอ้การเรื่องภาวนานี่ มันไม่ใช่เรื่องอื่น มันคือเรื่องความรู้สึกนึกคิด เราคิดว่าจะมานั่งแต่หลับตาอยู่กลางตลาดเท่านั้นแหละ ไม่ได้อย่างนั้น ความรู้สึกนึกคิด การพิจารณานี้ให้รู้จักว่าบัดนี้เราทำอะไรอยู่ เราผิดหรือไม่ หรือถูกมั้ย เราสุขมั้ย หรือเราทุกข์มั้ย หรือเราเป็นอะไร เป็นอยู่เดี๋ยวเนี้ย เรียกว่าภาวนากันรู้เรื่องเหตุผลอย่างนั้น เรียกว่าเราจะทำอะไรอยู่ เราก็ได้ภาวนาอยู่ ได้ปฏิบัติอยู่ เรามีสติอยู่ เราปฏิบัติอยู่อย่างนั้น รู้จักความผิดชอบเราอยู่เสมอนั่นแหละ เรียกว่าการภาวนา วันนี้เราพูดผิดหรือเปล่า วันนี้เราทำผิดหรือเปล่า วันนี้เราคิดผิดหรือเปล่าอย่างนี้ ถ้าเรามีสติอยู่เราก็รู้จักสิ รู้จัก ถ้ามีสติอยู่เสมอแล้วเป็นต้น ก็ต้องรู้จักไอ้ความรู้สึกของเรานั่นอยู่เสมอทีเดียว 

อย่างนั้นโยมทั้งหลายอย่าเพิ่งเข้าใจว่า การปฏิบัตินี่จะมาบวชในวัดอย่างเดียว ไม่ใช่อย่างนั้น การปฏิบัตินั้นก็คือการมีสติทรงตัวอยู่ รู้อยู่ รู้สึกความผิดชอบอยู่เสมอนั่นแหละ แม้จะเย็บจักรอยู่ก็ได้ จะขายของอยู่ก็ได้ จะเขียนหนังสืออยู่ก็ได้ มันก็เท่าๆกับลมหายใจเรานั่นเองแหละปฏิบัติเนี่ย ถึงแม้เราจะอะไรอยู่ หายใจอยู่ เราหายใจอยู่เรื่อย เราจะทานข้าวก็หายใจ เราจะนอนก็หายใจ ถึงได้หลับไปก็หายใจอยู่ ถ้าไม่มีเวลาหายหละ นี่ใช่มั้ย นี่มีเวลาหายใจ ทำไมมันเป็นของจำเป็นเหลือเกินหละนี่ เพราะว่าลมมันเป็นอาหารอย่างละเอียดที่สุด เป็นอาหารอย่างดีมาก แต่คนเราก็ไม่พิจารณาอย่างนั้น คงจะว่าไม่เป็นอาหารก็ได้นะ ไอ้ความเป็นจริงลมมันเป็นอาหารอย่างยอด เราจะไม่ทานอาหารคือลมซักสองนาทีก็ไม่ไหวซะแล้วนะ เอาสิ ขนม ขนมอย่างดีๆ อาหารอย่างดีๆนั่นแหละ อีกซักสามชั่วโมง เราไม่ทานก็ได้นะ วันหนึ่งบางทีก็ได้นะ หกวัน เจ็ดวัน เก้าวันก็ยังได้นะอาหาร แต่ลมนี่ไม่ได้นะ ขนาดนาทีหนึ่งก็เต็มที่ จะไม่ไหวแล้วนี่ อึดใจดูซิ เดินไปซิ ได้กี่เส้นมั้ย นั่นแหละ เราจะว่า โอ ลมมันมีประโยชน์อย่างนี้ มันให้ความเป็นอยู่เราอย่างนี้ 

ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงจับเอาลมหายใจเข้ามาพิจารณา อานาปานสตินี่เป็นมงกุฏกรรมฐาน ท่านจึงภาวนานั่งพิจารณาลมเข้าออก นึกว่าพุทโธๆ คือให้รู้นั่นเอง รู้ว่าลมเข้าออก ร่างกายเราทุกส่วนมันอยู่ด้วยลม ที่เราเดินไปเดินมา ก็เคลื่อนไหวด้วยลม ลมเป็นของที่สำคัญมากที่สุดน่ะลม เป็นอาหารอย่างยอดทีเดียวแหละ ถึงนอนหลับอยู่ก็ยังทานอาหารนี้อยู่เสมอนะ ไม่ทานไม่ได้หละ นอกจากมันตายซะแล้วแหละ เราก็สนใจว่า อันนี้ลมนี้น่ะ มันสำคัญเหมือนกันนะ เรานั่งกำหนดลมหายใจเข้าออกอยู่อย่างนี้ ไอ้ความรู้สึกมันสงบ มันความรู้สึกเกิด อืม ลมนี่นะ ลมมันสำคัญเหลือเกิน มันดีกว่ามีเงินหมื่น เงินแสน มันดีกว่ามีอะไรทั้งนั้นแหละ ดูสิ ถ้ามันออกแล้วไม่เข้ามา ก็ตายเท่านั้นแหละ ถ้ามันเข้าไป ไม่ออก เราก็ตายอยู่เนี้ย แน่ะ เราเห็นใกล้ๆเข้ามาอย่างนี้ มันก็เป็นของที่มีกำลังกว่าอย่างอื่นซะแล้ว เลยสนใจแต่ลม เราก็พิจารณากำหนดลม พิจารณานะ ฉุดเอาเรื่องต่างๆมารวมเป็นลมนี่ มีสติกับลมหายใจเข้าออกเสมอ ไม่มีปัญญาหลายอย่าง จะดูลมอันเดียวเท่านั้นแหละ ท่านจึงว่าลมอานาปนสตินี้เป็นมงกุฏของกรรมฐานทั้งหมดแหละ อย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงยกมาให้เรายกกรรมฐานคือลมหายใจเข้าออก เอาง่ายๆ เพราะว่ามันมีลมทุกคนมานี่ ใช่มั้ย มันมีลมทุกคน พอจะรู้สึกว่าลมเข้าออกเท่านั้น ก็กำหนด จบซะแล้ว จะนอนก็นอนกำหนดไปเถอะ ให้มันมีความรู้สึกจนกว่ามันจะดับไป ไม่ใช่ว่ามันเป็นของยากลำบากถ้าเรารู้จักมันแล้ว 

อย่างนั้นนะให้โยมทั้งหลายรู้ว่าภาวนากันเถอะ ทาน ศีล ภาวนา เรื่องภาวนาเนี่ย มันเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องให้เราพ้นทุกข์ มันติดตรงไหน มันแก้ตรงนั้นน่ะ มันแน่นตรงไหน มันเอาออกตรงนั้นน่ะ มันสกปรกตรงไหน มันทำตรงนั้นให้มันสะอาด ถ้าไม่ภาวนาหละ ไม่เห็นชัด ไม่เห็นชัด การภาวนาน่ะก็ทำให้มันเกิดขึ้น มันมีขึ้น จะต้องอาศัยการภาวนา จึงจะรู้จักธรรมะ มันเป็นซะอย่างนั้น อันนี้แหละให้ญาติโยมทั้งหลายเข้าใจ เข้าใจว่าการภาวนา การทำบุญสุนทาน ให้รู้จักบุญ ให้รู้จักกุศล ให้มันเกิดประโยชน์ ทำไปโดยไม่ต้องสงสัยทั้งนั้นแหละ ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าของเรา ทำอะไร รู้จักทั้งนั้นน่ะ ไม่ใช่ทำปลอมๆไปหรอก 

อย่างนั้นวันนี้ก็ให้พวกญาติโยมทั้งหลายทุกๆท่านที่มาวันนี้ ก็เรียกว่าแสวงบุญกัน แล้วก็เพิ่มกุศลเข้า แสวงกุศลด้วยเพื่อให้พินิจพิจารณาอานาปา นึกถึงธรรมกรรมฐาน กรรมฐานนี่มันควรทำ จะเป็นทางโลกก็จริงจะเป็นทางธรรมก็จริง จะเป็นโยม จะเป็นพระ ทำอันนี้ให้เราสะอาด ให้ใจเราสะอาดได้ ให้ใจเราผ่องใสได้เสมอ เราทำไปๆ มันจะเป็นปัจจตัง รู้จักเฉพาะตัวเองเท่านั้นเองแหละ 

อันนี้นะวันนี้ญาติโยมทั้งหลายก็ได้ฟังธรรมะมาพอสมควร บางทีมันก็จะสู้ไอ้ความง่วงเหงาหาวนอนไม่ได้นะ บัดนี้ก็ได้เทศนามานี้ในที่สุด สุดท้ายแห่งการบรรยายธรรมะมานี้ ขอญาติโยมทั้งหลายจงมีกำลัง พละ คือกำลังกาย กำลังวาจา กำลังใจ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ให้เกิดปัญญา ให้เชี่ยวชาญ รู้ว่าอันนี้เป็นบาป อันนี้เป็นบุญ อันนี้เป็นกุศล แล้วไปประพฤติปฏิบัติตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แนะนำพร่ำสอนมานี้ จิตของญาติโยมทั้งหลายเป็นต้นก็จะกระเตื้องขึ้นจากความมืดหนาสาโล จะเป็นจิตที่ผ่องใส อันนี้ไปทำแล้วจะเป็นปัจจตัง รู้เฉพาะเจ้าของ และผลที่สุดนี้ขอด้วยอำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย จงปกปักษ์รักษาที่ท่านทั้งหลายที่มาแสวงบุญในวันนี้ ให้เป็นผู้มีสุข มีสุข ด้วยการยืนก็ดี การเดินก็ดี การนั่งก็ดี การเดินก็ดี การนอนก็ดี มีสุขๆทุกๆคนเทอญ