Skip to content

ธรรมและปฏิบัติสมาธิภาวนา

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

เทศน์เมื่อวันที่ ๒๖ พ.ย. ๒๕๓๐

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ต่อนี้ไปจะได้บรรยายธรรมะ คำว่าธรรมะๆ คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนมนุษย์เราทั้งหลาย ธรรมะก็อยู่ที่ตัวของมนุษย์เรานี่เอง อยู่ทั้งหญิงทั้งชาย อย่างทุกข์โศกโสกะปริเทวะ ที่ท่านบัญญัติไว้ ความเกิดแก่เจ็บตายทั้งหลายก็อยู่ที่มนุษย์ ไม่หนีห่างไปจากมนุษย์เรา ความเกิดความแก่ความเจ็บความตายเป็นสัจธรรม เหล่านี้ คนเราก็มีความเกิด ก็มีความเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็มีพยาธิคือความเจ็บไข้ได้ป่วย ผลที่สุดก็แก่ แก่แล้วก็ถึงความตาย นี่ ท่านเรียกว่าอย่างนี้เป็นสัจธรรมชนิดหนึ่งสำหรับให้ผู้ปฏิบัติหรือให้มนุษย์ทั้งหลายเป็นผู้ที่โอปนยิโก น้อมเข้ามาดู ว่าความเปลี่ยนแปลงของชีวิตสังขารเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ย่อมมีความความโยกย้ายเปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ 

เพราะฉะนั้นจึงสอนให้มากำหนดพินิจพิจารณาดูถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะฉะนั้นในตำรับตำราก็มีให้รักษาศีล แล้วก็ให้เจริญทำสมาธิ เจริญปัญญา นี่จึงวางหลักการ ๓ ประการให้พุทธบริษัทเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ แต่เดี๋ยวนี้โลกเรา บุคคลเราทั้งหลายเกิดขึ้นมาในโลกก็มัวเพลิดเพลินกับชีวิตความเป็นอยู่ มีครอบมีครัวมีบ้านมีเรือนอันนี้ การที่จะผันชีวิตเข้ามามองดูถึงการปฏิบัติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มันก็มีแค่ ๕ เปอร์เซ็นต์ บางทียังไม่ค่อยจะถึง เพราะฉะนั้นจะเข้ามาซึ้งกับธรรมะอันแท้จริงเป็นสิ่งที่ยาก นอกจากจะมีบุคคลผู้ใดตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติแล้วทำความให้สงบ หาที่ สถานที่วังเวงที่สงบสงัดได้แล้วก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ หนีจากโลกไปชั่วครั้งชั่วคราวให้ปลีกตนทำจิตทำใจให้เกิดความสงบ 

แต่ทีนี้การทำจิตทำใจให้สงบนี้เรามองดูก็ว่าไม่สุดจะยากเย็นเข็นใจอะไร แต่จะมาทำความจริงลงไปให้เด็ดขาดลงไปจริงๆแล้ว สมมุติเราจะนั่งซักชั่วโมงหรือชั่วโมงครึ่ง ที่บุคคลที่ไม่เคยฝึกไม่เคยประพฤติปฏิบัติจะนั่งไม่ค่อยจะได้เพราะมันมีทุกขเวทนาของกายอีกหนึ่ง แล้วก็มีอุปกิเลสของใจที่ห่วงกังวลในสัมภาระต่างๆ ท่านก็เรียกว่านิวรณธรรมเข้ามาปัดเป่าหัวใจจะให้เข้าความรู้ตัวนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติเมื่อถ้ามีสิ่งเหล่านี้เข้ามาขัดข้องวุ่นวาย ผู้ปฏิบัติจะนั่งไม่ค่อยจะได้ แต่ทีนี้ก็มีพิธีอันหนึ่งที่เราจะต่อสู้ป้องกันกับสิ่งเหล่านี้ ก็มีก็อย่างใน ในแบบก็มีไว้เหมือนกัน แต่ว่าอาตมาก็ไม่ค่อยสะดวกสันทัด ท่านก็เรียกว่ามี ๔๐ ประการ มีกสิณ ๑๐, อสุภะ ๑๐, และก็ พุทธคุณ ธรรมคุณนี่ ๔๐ อย่าง แต่ทีนี้เราเอาง่ายๆ อย่างครูบาอาจารย์ท่านเคยสอนเคยแนะนำมาว่าท่านให้ว่าบริกรรมพุทโธ แล้วอาตมาเทียบดูถึงการบริกรรมว่าพุทโธแล้วอาตมาก็ให้เข้ากับครูบาอาจารย์ มาลองสังเกตด้วยใจของเราเอง รู้สึกว่าเป็นคำสั้นและเป็นคำสบาย เป็นคำสะดวก แบบพูดอย่างนี้ก็จะได้แบบ อาจจะเข้าตัวเอง แต่ทีนี้เมื่อเป็นอย่างนั้นพวกท่านทั้งหลายลองสังเกตดูว่าเป็นอย่างไรในขณะที่เราบริกรรม 

การที่บริกรรมเช่นนี้เพื่อต้องการความสงบของใจ นี่ก็เป็นปัญหาหนึ่งเหมือนกัน ตามธรรมดาของการปฏิบัติเพื่อที่ทำสมาธิ หรือจะปฏิบัติเรียกว่าจะบำเพ็ญฌาณ อะไรๆก็แล้วแต่ ก็ยังเป็นบั้นต้น ก็แบบว่าต้องให้มีปฐมฌาณ นี่ ในตำรับตำราก็มีทุติ ตติ ตติยฌาณ จตุยฌาณ ไปจนถึงฌาณสูงๆขึ้นไปเป็นลำดับ บั้นต้นก็จำเป็นจะต้องมีวิตก วิจาร คำว่าวิตก วิจารก็หมายถึงการบริกรรมพุทโธนั่นเอง การว่าพุทโธเพื่อประโยชน์อะไร เราเปรียบอย่างง่ายๆ เหมือนอย่างเราข้ามฝั่งออก มีเรือ หรือมีแพ หรือมีแพต้นกล้วย อันใดอันหนี่งก็ได้ เพียงแต่เราต้องการข้ามฟาก ข้ามไปถึงฝั่งทางโน้น นี่เป็นจุดสำคัญ เหมือนกับใจของเรามันคอยพะว้าพะวง ดิ้นรนกระสับกระส่าย แสวงหาอารมณ์อดีต อนาคต อยู่ตลอดเวลา ทีนี้ก็เมื่อบริกรรมพุทโธอันนี้ก็ไปป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเข้ามา คือเรียกว่าไม่ให้มีอดีตอนาคต ให้ว่าอยู่เฉพาะใจนั้นอยู่เป็นปัจจุบันอันหนึ่งเฉพาะ แต่อย่างนั้นเราก็นึกว่าจะพยายามว่า แต่ได้ซักนาทีเดียว บางทีวิ่งไปตั้ง๑๐นาทีแล้ว แน่ะ นี่อย่างนี้แสดงว่านิวรณ์ทั้งหลายมากวน มาแย่งความเพียร เรียกว่ากิเลสก็ว่างั้น 

นี่แหละเพราะฉะนั้นตัวนี้โดยมากผู้ที่เคยปฏิบัติ นานก็ดี หรือปานกลางก็ดี ช้าก็ดี โดยมากจะมองสิ่งเหล่านี้ข้ามไป เพราะว่าจะเปรียบเทียบอนึ่งก็เหมือนบ้านเรือนเราเนี่ย แต่เราไปดูถูกไม้กวาดหรือผ้าขี้ริ้วซะหรือสิ่งที่เช็ดถูเหล่านั้น ไม่ควรจะต้องเอามาใช้ นี่เราเข้าใจอย่างนั้น แท้ที่จริงเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทำความสะอาดให้แก่ภาชนะหรือที่อยู่ที่หลับที่นอนของเราให้สะอาดหมดจดขึ้นมา ก็ต้องอาศัยสิ่งเหล่านั้น นี่เปรียบเทียบก็ดูจะเป็นหลักการ แต่ทว่าหลักของใจจริงๆแล้ว ถ้าเราไม่มีสิ่งนี้กั้นแล้วเราจะเอาอะไรเป็นสิ่งที่กั้นหัวใจให้เข้าไปอยู่ได้ เพราะเราไม่มีกำลัง เหมือนเด็กน้อยที่ยังเดินไม่ได้ เราจะบังคับให้เดิน เด็กมันก็ต้องล้มขาแข้งหักหัวเหอแตกอยู่เหมือนกัน เหมือนใจเราบั้นต้นการฝึกการปฏิบัติก็ต้องหัดให้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้ประคองใจให้อยู่กับสิ่งเหล่านั้น เมื่อใจนั้นถูกบังคับแล้วจะต้องดิ้นรนกระวนกระวาย เค้าเรียกว่าส่ายไปอดีต อนาคต ไม่ตั้งอยู่ปัจจุบัน นี่ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นอย่างนั้นมันส่ายไปอดีตมั่ง อนาคตมั่ง เรารู้ตัวก็ต้องมาหวนกลับคืนมาบริกรรม ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขบั้นต้นซักประมาณ ๑๐ นาที ๒๐ นาที เพื่อให้ใจนั้นดำเนินงานอยู่กับการบริกรรม บริกรรมหรือสังวัธยายบทใดบทหนึ่งให้อยู่กับใจอย่างนั้นโดยไม่ปล่อยให้ใจวิ่งไปอดีตอนาคต นี่เป็นหลักสำคัญ 

เมื่อใจของเราได้ดำเนินไปโดยปราศจากอดีตอนาคต มีปัจจุบันคือเรียกว่าระลึกบริกรรมอยู่พุทโธอันเดียว เป็นเวลาตั้ง ๕ นาที เมื่อได้ ๕ นาทีก็เจริญถึง ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐ ขึ้นไปตามลำดับ โดยไม่มีอดีตอนาคตมาคิดเลย ไม่ส่ายไปในที่อื่น มีใจนั้นบริกรรมพุทโธอยู่อันเดียว เอ้อ อย่างนี้ก็แสดงว่าใจของเรานั้นอยู่ในบังคับบัญชาอยู่ในอารมณ์ของการภาวนา เข้าไปอันดับได้อย่างนั้นแล้วนี่แสดงว่าใจก็เริ่ม…ถ้าขึ้นไปถึง ๒๐ ๓๐ นาที บางทีก็จะมีอาการเปลี่ยนแปลง คือเป็นของกายท่านจัดว่าเป็นปีติ ถ้าลงมา ๒๐ นาที ๓๐ ขึ้นไป บางคนที่ไม่เคยกระทำอย่างนี้ เมื่อเป็นอย่างนั้นบางทีเรานั่งอยู่จำนวนมากตัวเรานี่บางทีก็เบาไปหมด ไม่รู้สึก เริ่มไม่ค่อยจะรู้สึกตัวแต่ยังรู้อยู่ ลมหายใจนี้บางทีก็เหมือนไม่มี แล้วรู้สึกว่าเบาขึ้นเป็นลำดับ นี่ ลักษณะของใจที่จะเริ่มเข้าสู่ความสงบ แต่อันนั้นก็เริ่มเป็นเอกัคคตา ยังไม่บรรลุนิพพาน 

เมื่อจะเป็นอย่างนั้นเราอย่าไปตกใจ จะมีการเบาเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ หรือบางทีว่าอยู่ก็ต่อเนื่องกันอยู่ตลอด แล้วว่าตัวเราหรือ ก็ไม่มี อย่างนี้อย่าเพิ่งไปตกใจ ไม่มีอะไร ให้พยายามว่าบริกรรมอยู่อย่างนั้นไปจนกระทั่งถึงครึ่งชั่วโมง แต่ว่ารู้สึกว่าใจนั้นไม่คิดไปอดีตอนาคตแน่วแน่อยู่กับการบริกรรมอันนั้นเป็นอย่างนี้ ถ้าเราจะนั่งซักชั่วโมง บางทีบริกรรมซัก ๔๐ ๕๐ นาที เมื่อรู้สึกว่าใจของเรานี่แน่วแน่อยู่กับพุทโธแล้ว แม้จะลืมตามาดูนาฬิกามันก็ไม่เสียสมาธิ เราอย่าว่าเสียสมาธิเพราะใจนั้น ตาดูแต่ใจนั้นยังรู้ตัวอยู่ ไม่เคลื่อนไปที่ใด แต่ลักษณะที่ไปรู้นาฬิกามันก็มีการเคลื่อนแต่ว่าก็ไม่เสีย อย่างนี้เป็นต้น เนี่ย การบำเพ็ญสมาธิก็ต้องการให้ใจตัวเนี้ยทุกๆครั้งที่เราเข้าบำเพ็ญ เริ่มต้นก็จำเป็นต้องอย่างนี้ 

แต่ทีนี้ผู้ไปทางอื่นก็จะไปคัดค้านกัน เพราะท่านก็ไปป่าไปเปรียญกันแยะในประเทศเรา อาตมาก็เป็นพระป่าพระดงก็ไม่ค่อยรู้ตำรับตำรา แต่พูดกันอย่างโดยมาก นักปฏิบัติชอบจะทำอานาปา ชอบความสบายนี่เป็นจุดสำคัญ การภาวนาเราจะไปเอาสบายไม่ได้ เหมือนเราจะไปปลูกบ้านปลูกเรือนก็จำเป็นต้องไปตัดไม้โค่นไม้ ก็ต้องมีขวานมีเลื่อย ได้ต้นไม้เสร็จก็ต้องรีดกิ่งรีดก้าน ตัดไปเป็นต้นยาวเท่าไหร่ แน่ะ ก็ต้องกะ สามวา สี่วา ก็ต้องไปหาคนมาเลื่อยหรือเราเลื่อยเองก็ต้องเลื่อยให้มันเป็นกระดาน ต้องเปิดปิด เปิดกระพี้ขึ้นไป ไม้หน้าตรงเท่าไหร่ หน้าแปด หน้าสิบ สองคานยาวเท่าไหร่ หน้า ๒ หนา ๘ กว้าง ๘ นิ้ว หนา ๒ นิ้ว นี่ก็ต้องกะให้ได้ ถ้าขึ้นลงมั่งใช้ไม่ได้ เสีย! นี่เหมือนกัน ก็จำเป็นจะต้องออกพละกำลังปรับปรุง เหมือนใจเราที่ไม่ค่อยเคยฝึกหัดแล้ว เหมือนนกที่อยู่ในป่าเอามาส่งในกรง บินจนหัวถลอกปอกเปิดหมด พยายามจะแหวกไอ้กรงเล็บนั่นแหละออกไปให้ได้ หัวนี่เลือดออกปอกเปิดหมด เหมือนกันกับใจเรา ผู้ที่ไม่ค่อยเคยฝึกหัดก็เป็นอย่างนั้น 

เพราะฉะนั้นการปราบนิวรณ์ให้ขาดไปจากใจเนี่ยเป็นสิ่งที่ยาก ไม่ใช่ง่ายนัก แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ก็ไม่เหนือความพยายาม ถ้าเราตั้งใจจริงๆแต่การปฏิบัตินี่จะต้องมีสัจจะ มีขันติ มีวิริยะ เรียกว่า บารมีสี่ประการเข้ามาครอบ ครอบใจเรา ครอบความขี้เกียจขี้คร้าน ความมักง่าย และให้ตัดสิ่งเหล่านี้ออกไป หนึ่ง ต้องนั่งได้ ๑ ชั่วโมง ถ้าไม่ได้หนึ่งชั่วโมงก็ต้องขอว่าด้วยอำนาจพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ข้าพเจ้าขอถวายทำสมาธิ ๑ ชั่วโมง แต่ถ้าไม่ได้๑ ชั่วโมงไม่ออก ก็ต้องตั้งสัจจะ แล้วต้องมีอธิษฐาน อธิษฐานะเป็นตัวสำคัญตัวนี้ก็ต้องใช้ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก่อนที่จะได้ตรัสรู้พระอนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณ คืนนั้นสำเร็จไม่สำเร็จ ก็ตั้งสัจจะลงไป ถ้าแม้นคืนนี้ไม่เห็นสำเร็จแล้วก็จะไม่ลุกจากอาสนะที่นั่งอย่างนี้เลย จนตลอดกาลจนกระทั่งตายถ้าไม่ได้สำเร็จ ไม่ลุก แน่ะ เหมือนกัน 

อวัยวะร่างกายก็ต้องมีความเจ็บมีความปวดด้วยกันทุกคน มีธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟเข้าประจำอยู่ก็จำเป็นอยู่ทุกคน แต่ทีนี้ต้องอาศัยสัจจะ ความจริงในที่นั้น ถ้าเราไม่จริงทีแรก ทีสองก็ไม่จริง ทีสามก็ไม่จริง ทีสี่ก็ไม่จริง ก็เสีย การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล ตัวนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะนั่งก็จำเป็นจะต้องอธิษฐาน ให้เอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเข้ามาครอบให้มาช่วยความดีเรา แล้วอย่างนั้นก็จะเป็นไปเพื่อความลุล่วงและความสุขให้เกิดความสงบ นี่แหละเพราะฉะนั้นข้อปฏิบัติตรงนี้พวกโยมจะต้องแก้ไขดัดแปลงเอา เมื่อเราแก้ไขดัดแปลงตรงนี้ได้แล้วความสงบก็ย่อมจะเกิดขึ้น เกิดขึ้นเราก็ต้องอาศัยการบริกรรมบั้นต้น ทำกี่ครั้งกี่ทีก็ต้องบริกรรมอย่างนั้น จนกระทั่งใจนั้นอยู่กับพุทโธ ธัมโม สังโฆ ให้ทั่วถึงแน่วแน่อย่างนั้นเป็นเวลาตั้งครึ่งชั่วโมง เราก็วางใจดูว่าใจเรานี้เวลานี้เปรียบเหมือนตัวเรานี่ขึ้นไปเกาะอยู่ในเรือ แต่เราพยายามอาศัยพายวนเวียนอยู่ในแม่น้ำจะไปขึ้นตลิ่ง เมื่อขึ้นตลิ่งแล้วจะเป็นอย่างไร ตัวเราปราศจากเรือแพแล้วจะเป็นอย่างไร เราต้องวางพุทโธลง นั่นคือใจเป็นเอกเทศ ใจเป็นสมาธิ นิ่งไม่มีความคิด แต่มีสติรู้อยู่เฉพาะใจที่เกิดความสงบสงัด นี่เป็นอย่างนี้ ใจที่สงบเป็นสมาธิเป็นอย่างนี้ หมดความคิดอะไรทั้งหมด พุทโธก็วางขาดไป นี่อย่างนี้เรียกว่าใจเป็นสมาธิ 

เมื่อเป็นอย่างนั้นเราก็พักเหนื่อย ก็เรียกว่าการบริกรรมบางทีก็เหนื่อย เราก็พักประมาณ ซัก ๑๐ นาที ๒๐ นาที แล้วก็ไปสังวัธยาย การว่าพุทโธ เพราะบางทีถ้าเราเสวยนาน ถีนมิทธะ หรือว่า โกสัชชะ ความเกียจคร้าน มันจะเข้ามา มีความสบายเท่าไร โกสัชชะ ความเกียจคร้าน ความอ่อนอกอ่อนใจนั้นจะตามเข้ามา แล้วก็เมื่อสิ่งเหล่านั้นตามเข้ามา ถีนมิทธะความง่วงเหงาหาวนอนก็ตามเข้ามาด้วย นี่ตรงนี้ก็จะต้องแก้เข้ามาอีกจุด แล้วเมื่อเป็นอย่างนั้น เค้าให้เราวางพักได้สบายพอสมควร เราก็ต้องทวนกลับไปบริกรรมให้นานอีกถ้าเรานั่งนานๆ บริกรรมอยู่อย่างนั้น อย่าเพิ่งไปเร่งความสงบ อย่าเพิ่งไปเร่ง อย่าเพิ่งไปปรารถนาอะไรทั้งหมด เพราะเราทำงานตรงนี้ให้เสร็จเสียก่อน เมื่องานตรงนี้เสร็จลงไปซัก ๒๐ ๓๐ นาที เราจะค่อยวางให้เกิดความสงบ ทีนี้จะยิ่งแนบแน่นยิ่งกว่าเดิมอีก ความสงบนั้นจะยืนตัวได้นาน เพราะฉะนั้นก็ต้องสังเกตอย่างนี้เหมือนกัน 

การปฏิบัติก็ต้องมีพิธีแยกแยะหลายอย่างหลายพิธี ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่เราจะนึกๆเอาแล้วจะได้ เมื่อเราฝึกอย่างนี้ได้เป็นเวลาหลายๆวัน ทีนี้อย่างที่อาตมายกเป็นภาษิตเมื่อกี๊ว่า “เอกายโน อยังมัคโค สัตตานัง วิสุทธิยา” เอกะ เอกา ก็หมายความว่าเราน้อมเข้ามาพิจารณากายเรา เมื่อเอาใจที่สงบตัวนั้นมานึกถึงอวัยวะมีตามีหูมีจมูกมีลิ้นมีฟันมีผม นึกไปตามร่างกายของเรา หรือนึกตั้งแต่เบื้องบนศีรษะลงไปทุกๆส่วน แต่ทีนี้เราก็ต้องสังเกต ถ้าลักษณะสมาธิที่ดี นึกถึงตาขวาก็อยู่เฉพาะตาขวา นึกถึงตาซ้ายก็อยู่ตาซ้าย นึกถึงคิ้วขวาก็อยู่เฉพาะคิ้วขวา นึกถึงจมูกขวาก็อยู่จมูกขวา นึกถึงจมูกซ้ายก็อยู่เฉพาะจมูกซ้าย ไม่ส่ายไปทื่อๆ ก็อย่างเมื่อกี๊ที่อธิบาย ไม่ส่ายไปอดีต อนาคต แต่ลักษณะถ้าเป็นสมาธิแม่นแล้วก็จะไม่คิดไปในที่อื่น มีแต่การนึกอยู่เฉพาะสิ่งที่เราต้องการ นึกว่าตาขวาก็ขวา ตาซ้ายก็ตาซ้าย แน่ะ เรานึกไป นึกไปอย่างนั้นเราก็นึกซิว่าให้มันหลุดออกไปอย่างนี้ แต่บางท่านบางคนก็จะกลัว วิธีอย่างนี้ท่านให้พิจารณาเพื่อเหมือนการใช้ปัญญา เพราะใจนั้นสงบแล้ว นี่ลักษณะนี้ก็เรียกว่าเป็นปัญญา เพราะฉะนั้นบาลีท่านจึงว่า เอกายโน อยังมัคโค นี่เป็นทางอริยมรรค เข้าสู่อริยมรรค 

เมื่อการที่จะเข้าสู่อริยมรรค เมื่อพิจารณาตัวนี้เข้าแล้ว ก็จะมีพิธีหลายอย่าง เกิดความเบื่อหน่ายในปัญจขันธ์ตัวนี้ นั่นยังไม่เข้าวัด แต่ว่าต้องผ่านทางออกไป เหมือนเราเดินทางก็ต้องมีตอ มีหลุม มีบ่อ เหมือนกันก็ต้องผ่านสิ่งเหล่านี้เข้าไปเป็นตามลำดับ เกิดความเบื่อหน่าย เกิดปีติ เกิดเบื่อหน่ายในสังขาร น้ำหูน้ำตาไหลอย่างนั้น สังเวชสลดใจ นี่ มันต้องผ่านสิ่งเหล่านี้ตามลำดับเข้าไป แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องตกใจ ถ้ามันเป็นอย่างนั้นต้องมีครูบาอาจารย์ที่ท่านให้ทัศนะที่ดี ก็ต้องไปศึกษากับท่าน ทำไมเป็นอย่างนี้ เกิดปีติน้ำหูน้ำตาไหลเกิดความสังเวชสลดใจ แล้วนั่งก็นั่งไม่ได้อย่างนี้ นี่ เพราะเมื่อใจนี่สงบแล้วเราน้อมไปบางอย่าง เออให้สิ่งเหล่านี้แตกหักทำลายร่างกายเรา บางทีมันก็ปรากฏขึ้น ตัวนั้นคือพูดง่ายๆ ตาขวาหลุด เพราะใจตัวนั้นที่สงบมานี่ มันระลึกพรึบ บังเอิญมันสงบ มันหลุดขึ้นมา นี่ คำสอนพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ บางทีเราให้คอขาดก็มันขาดได้ มันเป็นได้เหมือนอย่างเราดูโทรทัศน์หนังโรง มันเป็นสิ่งที่แปลก เพราะฉะนั้นเมื่ออย่างนี้ไม่ต้องกลัว เมื่อเป็นอย่างนั้นก็เพ่งดูเฉยๆเท่านั้นประเดี๋ยวก็ดับ หยุด นี่ แล้วเราก็มานึกใหม่ เอ้า ตรงนั้นเป็นอย่างนั้น ตรงนี้เป็นอย่างนี้ แปลว่าถ้าเรานึกไปมากแห่ง ธาตุตัวนั้นก็จะดับ แต่ว่าถ้าเราต้องการจะหยุดดู เพ่งเฉยอย่างนี้บางทีจะอยู่ได้นาน บางทีก็จะหายเร็ว ก็แล้วแต่โอกาสเหมือนกันเพราะว่า ทว่าใจนั้นสงบแนบแน่นมาก บางทีก็อยู่ได้นาน บางทีเรานึกให้หลุดไปก็อยู่ได้นาน อยู่ข้างนอกห่างไปซักสองวา กายมันหลุดออกไปอย่างนั้น เราก็น้อมเข้ามาใส่ในตัวเรา มันก็ใส่เข้ามา มันเห็นชัด นี่ 

เพราะฉะนั้นสาธารณธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่แปลกมหัศจรรย์ อาตมาบวชมาก็มากไม่เคยได้ดูตำรับตำรา แต่มาปฏิบัติแล้วรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ ชอบกล ในชีวิตของมนุษย์เราใครจะอยากเข้ามาอดอยาก ก็ต้องการเสวยโลกด้วยกันทุกๆคน แต่ว่าพอเข้ามาบวชแล้วมาปฏิบัติแล้วก็รู้สึกว่า โอ้ มันเป็นสิ่งที่แปลก เพราะฉะนั้นเนี่ย การปฏิบัติเมื่อเป็นอย่างนั้น ถ้าเมื่อเราจะได้เล่นเรื่องอย่างนี้เรียกว่า ปฏิภาค นี่แสดงว่าใจนั้นสงบแนบแน่นมาก เมื่อจะเป็นอย่างนั้นเราอย่าไปเล่นเลย เราจะลับปัญญา ก็น้อมพิจารณากายไปเรื่อยๆ แต่ก็ต้องมีหยุดพัก เพราะเมื่อสิ่งเหล่านี้ปรากฏแล้วมันจะต้องคอยหยุดพัก หลายวัน บางทีเป็นเดือนๆ แต่ทีนี้ถ้าเป็นอย่างนั้นอย่าได้ส่งออกไปนอกมาก ถ้าน้อมอย่างนี้สิ่งทั้งปวงมันจะไม่ค่อยเกิดขึ้น ลักษณะอย่างนี้เป็นลักษณะของปัญญา เพราะฉะนั้นท่านจึงว่า เอกายโน อยังมัคโค สัตตานัง วิสุทธิยา พอเราน้อมอย่างนี้ลงไปแล้ว ความโสกะปริเทวะทุกข์ เหือดแห้งหายไป ไม่มีในหัวใจของบุคคลผู้นั้นที่กำลังปฏิบัติอย่างนั้นเลย ไม่มี นั่นท่านจึงเรียกว่าเป็น มัคโค แปลว่า เพียงแต่ไปจดจ้องหรือได้กระทำเป็นครั้งแรก ยังไม่เข้าถึงสุดทาง นี่ ก็ต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อต่อไปวันหลังเมื่อเราจะเข้าทำสมาธิ เราก็ต้องเข้าไปบริกรรม เพราะเมื่อใจนั้นอยู่กับพุทโธซักประมาณ ๒๐ นาที เราก็ต้องเข้าไปพิจารณาอีกอย่างนั้น วันรุ่งขึ้นก็เอาอีก อย่างนั้น ทำอย่างนั้นตลอดๆไปอย่างนี้โดยมากไม่ค่อยฟุ้งซ่าน แล้วไม่ค่อยเสียหาย 

แต่มันก็จะต้องมีระยะหนึ่งสำหรับผู้ปฏิบัติที่จริงๆจังๆก็จะต้องมีระยะหนึ่งเหมือนกัน ต้องผ่าน ผ่านอุปสรรค เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส ต้องเข้ามาแทรก แทรกแต่ว่า ถ้าว่ามีอะไรเกิดขึ้นแทรกโดยมากผู้ปฏิบัติเองจะไม่ค่อยรู้ตัว จะต้องคอยไปทักมัน นอกจากว่าไปศึกษาหรือไปให้ทัศนะกับครูบาอาจารย์ที่ท่านเข้าใจ ท่านก็จะเปลื้องให้เราคือให้เปลี่ยนพิธีทำ ตรงนี้สำคัญ เพราะฉะนั้นจึงว่าการค้นคว้าพินิจพิจารณาถึงกายนี้ ท่านจึงจัดว่าเป็นมรรค เอกายโน มัคโค เป็นหนทางที่จะเปลื้องทุกข์ เมื่อถ้าเราได้พิจารณาได้ อยู่ได้เป็นเวลา ๑ ชั่วโมง นึกอยู่ในกายเดี๋ยวนี้ ใจนั้นไม่กระสับกระส่ายไปอนาคต มีอยู่ปัจจุบันคือคิดอยู่แต่เรื่องกาย ตั้งแต่ทุกส่วนของอวัยวะ ตับไตไส้พุงกระดูกสันหลังกระดูกซี่โครง ตับไตไส้พุงตลอดไปจนถึงข้อมือส่วนยาวส่วนเล็ก นึกอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา นี่ นี่ใจถ้าสงบจริงเดินได้ปัญญา แต่ทีนี้ถ้าเราไม่ใช่นักปฏิบัติ เราไม่เข้าใจ ไม่รู้หรอก ทำไมว่าเป็นปัญญา มันเป็นสิ่งที่ยาก ตำรับตำราก็มี มีอธิบายไว้แยะ ตำราก็เหมือนบุคคลที่ไปเรียนทำขนม แต่ทว่าไม่ลงมือปรุง ไม่ลงมือปอก ไม่ลงมือคั้นกะทิ แล้วตำน้ำพริกน้ำแกงแล้ว บุคคลผู้นั้นก็ไม่สามารถได้ชิมรสของขนมตัวนั้นได้ นี่เป็นอย่างนั้น แต่ทีนี้ส่วนบุคคลผู้ไม่ค่อยได้รับการศึกษาแต่รู้จักพิธีทำครัว โดยจดจำว่าแกงก็ต้องใส่ตัวนั้นๆๆ แล้วก็ไปหาเครื่องแกงมาทำ แล้วก็ต้องใส่กะทิหรืออย่างไร อะไรนิดๆหน่อยๆลงไป น้ำปลงน้ำปลาใส่ลงไป ของเค้าก็…แต่เค้าไม่ค่อยรู้จักปรุง ไม่รู้จักพิธี แต่ของเค้าก็ทำแล้ว มันเป็นอย่างนั้น 

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติเนี่ยเป็นสิ่งที่ยาก เราก็ว่าง่ายก็ง่าย แต่มาถึงขั้นยากก็มีส่วนที่จะยาก ก็ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ผู้ที่ท่านเคย หรือท่านผู้ที่มีความรู้ความฉลาดในเรื่องนี้ถึงจะแก้ได้ บางอย่างไปแล้วแก้ไม่ตก พอถึงคราวที่ฟุ้งซ่านเกิดปฏิภาณโมหะ ตรงนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะระยะนั้นจะสำคัญตัวว่าเราเนี้ยสำเร็จ แล้วก็พูดนี่เก่ง ธรรมะไหลเป็นน้ำเป็นฟืนเป็นไฟออกมา ใครฟังนี่ก็ต้องติดใจ ก็ต้องหวัดดีทุกคน เพราะคนตามืดด้วยกันต้องมาดีทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้นการปฏิบัตินี่เป็นสิ่งสำคัญ แต่ว่ามีอันหนึ่งที่จะดับสิ่งเหล่านี้อย่างที่อาตมาอธิบายเมื่อกี้ ขอให้เมื่อใจสงบแล้วให้พยายามพิจารณากายให้มากลงไป อย่าได้ไปสนใจอย่างอื่น ไม่ต้องเอาธรรมะข้อนั้นข้อนี้มาคิด อย่า! ไม่ต้อง ไม่จำเป็น ไม่จำเป็นทั้งหมด ทำไมจึงว่าอย่างนั้น เพราะเมื่อเราค้นกายลงไปมากเท่าไหร่ เมื่อเราวางหยุดการค้น ไม่นึกคิดในส่วนกาย ใจนั้นจะยิ่งสงบลงไปเต็มที่เหมือนสมัยที่เราทำสมาธิครั้งแรกคือบริกรรมพุทโธ แบบเดียวกัน แต่อันนี้ลักษณะมันใช้ปัญญา เมื่อคิดเสร็จลงไปอย่างนั้นจะต้องเกิดความสงบเต็มที่ ยืนตัวอิ่มผ่องใสอยู่ตลอดเวลา นั่ง ๒ ๓ ชั่วโมงอยู่ได้ยังนั่งสบาย นี่ ผิดกัน เพราะฉะนั้นการปฏิบัติตรงนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่สุด 

บั้นต้นก็อย่างที่ได้อธิบายเมื่อกี้เนี่ยแหละ ต้องบริกรรมเนี่ยให้นิวรณ์ขาด เราจะไปเอาธรรมะข้อนั้นมาคิดว่า มัคโค นั่นผลตัวนี้อันนั้นอันนี้ นั่นมันเป็นนิวรณ์ เป็นความเศร้าหมองของใจ ไม่ให้ใจสงบ ไม่มีสมาธิ แต่กว่าบัณฑิตทั้งหลาย ท่านที่ศึกษาถูๆจริงๆแล้ว มันถูแต่เปลือกก็ไม่ถูก ท่านก็ว่าของท่านดี แต่นี้เราพูดอย่างนี้มันกะคล้ายๆเป็นการโจมตีกัน ก็ไม่เหมาะ แต่ว่าถ้าพูดกันจริงเข้าเต็มที่เข้าไปแล้ว ไม่มีหลัก! เพราะฉะนั้นการทำใจก็ต้องให้ใจสงบ ถ้าใจไม่สงบจะไปคิดอะไรออก จะไปว่าแยกรูปแยกนาม การที่จะพิจารณาอย่างที่อาตมาอธิบายอย่างวันนี้ ท่านทั้งหลายลองฟังดู เนี่ยก็เรียกว่าการแยกกาย การดูกาย การที่พิสูจน์ทุกๆของกาย นี่เรียกว่าแยกกาย แยกนาม นามก็ต้องตามดูลักษณะของใจที่ไปนึกถึงเล็บนิ้วหัว นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย ข้อนิ้วหัว นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วก้อยของมือขวานี้มีเท่าไหร่ เสร็จแล้วก็มามือซ้าย มีอีกเท่าไหร่ ใจต้องวิ่งตามลำดับอย่างนี้จนกระทั่งมันพอเต็มที่ ใจเหล่านั้นจะขาดออกจากกันให้ดู ไม่แยกกัน ความระลึกถึงเล็บ นิ้วหัว นิ้วชี้ นิ้วกลาง ข้อส่วนต่างๆตัวนั้นไม่มีอยู่ ขาดออกจากกัน อย่างนั้นจึงจะเรียกว่าถึงซึ่งสันติธรรม คือความสงบสุขเต็มอิ่ม

พอแยกตัวออกมาก็ต้องรู้ว่าสิ่งที่นึกอยู่ถึงส่วนต่างๆเหล่านั้นเป็นความจริงหรือเปล่า เพราะว่าถึงความจริงเข้าไปแล้ว การที่ว่าเล็บ นิ้วหัว นิ้วชี้ นิ้วกลาง รูปกายตัวนี้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงให้ปัญจวัคคีฟังว่า รูปัง อนิจจัง ก็ถามปัญจวัคคีว่าเที่ยงมั้ย ปัญจวัคคีก็ตอบว่า ไม่เที่ยงเจ้าข้า แล้วเวทนาอนิจจา เวทนาในอดีต อนาคต ปัจจุบันทั้งปวงทั้งหมดจนถึงวิญญาณ เที่ยงหรือเปล่า ใช่ตัวเรามั้ย แล้วมันสมความปรารถนามั้ย มีสิ่งใดเป็นตัวเรา พวกปัญจวัคคีทั้งหลายก็ อามะภันเตๆตลอดเวลา จนกระทั่งที่สุดลงไป เพราะท่านมายกคาถาให้ฟังอีกอันหนึ่ง เอวะเมตัง ยถาภูตัง สัมมัปปัญญายะทัฏฐัพพัง พึงรู้เห็นด้วยปัญญาอันตามความเป็นจริง เมื่อใจอันนั้นวางขาดลงไปอย่างนั้นแล้วก็มีอะไร นั่นท่านจึงเรียกว่าจิต เพราะขาดจากรูปจากนาม เพราะความยึดความนึกความปรุงความแต่งตัวนั้นขาด ไม่มี มีแต่ความรู้สึกเฉยๆ มีธรรมชาติตัวนั้นนั่นก็เรียกว่าแยกออกจากกัน ต้องเป็นอย่างนี้ถึงจะถูก 

แต่ว่าอาตมาก็ว่าถูกของอาตมา โยมก็ต้องฟังแล้วไปพิจารณา มันอาจเข้าตัวคนเรา เข้าตัวเราทุกคน ไม่มีใครที่จะว่ากลางๆหรอก อยากให้เราดีทุกคน เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราก็ต้องฟังดู เราไว้หูหนึ่ง เชื่อหูหนึ่ง เราไว้หูหนึ่งอย่าเพิ่งไปเชื่อหมด ผู้ที่ท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบท่านก็อาจจะมีอยู่มากๆ หลวงตามันก็ไม่ค่อยได้รับการศึกษามากมายเหมือนคนอื่น ตำรับตำราก็ไม่ค่อยดู ก็มีแต่นั่งหลับหูหลับตา เพราะฉะนั้นก็ แล้วก็เป็นคนบ้านนอกคอกนาการศึกษาก็ไม่ค่อยมี ประถม ๔ สมัยนั้นเท่านั้นเอง แล้วก็มายุ่งกับงานการกระทั่งเข้ามาออกบวช เวลาบวชนั้นตาพูดกับรูปก็ยังไม่รู้ อาจารย์สอนให้ทำสมาธิก็ทำไปอย่างนั้น ทำไปๆ เอ๊ะๆๆ มันชอบกลเว้ย มันก็เลยอยู่มาเรื่อยๆ มันเป็นอย่างนี้ 

เพราะฉะนั้นจึงว่าการปฏิบัติธรรมะ เมื่อบุคคลใดทำจริงลงไปแล้ว ใจตัวนั้นต้องเกิดความสงบ แต่ก็ต้องทำให้ถูก คือต้อง ไม่ต้องอะไร เอาบริกรรมตัวนั้นลงไปให้อยู่กับใจให้พอ แล้วคุณไม่ต้องไปรำพึงว่าจะสงบหรือไม่สงบ เมื่อเรางานตัวนั้นเราทำเต็มที่ มันก็ต้องเกิดความสงบให้เรา ผลที่ได้รับคือความสงบ เมื่อใจขาดจากอารมณ์ทั้งหมดแล้วพุทโธอยู่ด้วยกันแน่วแน่ แล้วมันอยู่แน่วแน่อย่างนี้เราก็วางพุทโธไป แล้วนั่นคืออะไร คือใจเราที่มันสงบเต็มที่แล้ว นี่เรียกว่าเป็นสมาธิอย่างนั้น นี่ เนี่ยเพราะฉะนั้นวันนี้ได้บรรยายธรรมะพอเป็นทัศนคติให้พวกท่านทั้งหลายที่ตั้งอกตั้งใจฟังแล้วก็โอปนยิโกน้อมไปพินิจพิจารณา สิ่งที่เกิดประโยชน์กับสิ่งที่เราฟังแล้วไม่มีประโยชน์ สิ่งที่เป็นประโยชน์ก็ควรน้อมไปพินิจพิจารณาและปฏิบัติตาม สิ่งอันใดที่ไม่เป็นสาระไม่เป็นประโยชน์แก่เราก็ต้องทิ้งไว้ที่นี่ เพราะฉะนั้นอาตมาได้กล่าวมาเบื้องต้นจนถึงที่สุดก็ขอยุติลงแต่เพียงเท่านี้