หลวงพ่อสิงห์ทอง ธมฺมวโร
การฟังธรรมะทุกท่านทุกคนเคยสดับรับฟังกันมา การฟังธรรมะก็คือการปฏิบัติจิตใจของตัว ระยะเวลาที่ฟังธรรมะ หน้าที่การงานด้านอื่นไม่มี กิจธุระส่วนอื่นเราก็ทอดทิ้ง ไม่ได้เกี่ยวข้อง กายไม่ได้ทำ วาจาไม่ได้พูด จิตก็ห้ามกั้นเอาไว้ไม่ให้ไปนึกคิดถึงสิ่งอื่นนอกจากธรรมะ ฟังไปทำไปเพื่อขับไล่สัญญาอารมณ์กิเลสตัณหาภายใน ให้จิตใจสงบ ให้จิตใจเยือกเย็น นี่คือการฟังธรรมะเพื่อความสุข ความสงบ ความสบายภายใน ไม่ใช่เราฟังเพียงอานิสงส์ คือหวังบุญหวังกุศลจากการฟังเท่านั้น ฟังเพื่อปฏิบัติจิตใจของเราท่านที่มันมืดบอดให้สว่างไสว ให้เข้าใจในธรรมะ ถ้าหากฟังเพียงเป็นพิธี ไม่พิธีพิถัน ตั้งหน้าตั้งหน้ากำหนดรักษาจิตใจของตน มันก็ไม่เกิดผลประโยชน์ให้
ดังนั้นฟังธรรมะสมัยพุทธกาล พวกที่มาฟังหลายท่านหลายคนด้วยกัน ทั้งภิกษุสามเณร ฆราวาสญาติโยม มาฟังก็แล้วแต่สติปัญญาของใคร พระพุทธเจ้าแสดงธรรมออกไป พวกเหล่านั้นก็สดับรับฟัง ค้นคิดติดตามเรื่องต่างๆที่ท่านแสดงออกไป บางท่านบางคนที่มีปัญญาสามารถก็ขับไล่เรื่องกิเลสตัณหาออกไป เป็นพระโสดา สกิทาคา หรือเป็นพระอรหันต์ ในขณะที่ฟังธรรมะอยู่นั้น บางท่านบางคนก็ไม่ได้อะไร นี่หมายถึงความตั้งใจ การสดับรับฟังทั้งๆที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์ ไม่ได้ออกจากที่อื่น คนฟังก็มีหูมีใจที่จะใคร่คิดติดตามเรื่องธรรมะด้วยกัน แต่การขับไล่กิเลสภายในนั้นไม่เหมือนกัน บางท่านบางคนก็ได้ผลได้ประโยชน์มาก บางท่านบางคนก็ได้น้อย แต่ถึงอย่างไรก็ดีการฟังธรรมะไม่ได้เสีย ไม่เกิดโทษ เพราะธรรมะที่พระพุทธเจ้าแสดงออกไปหรืออ่านธรรมะตามตำรับตำราก็ดี ธรรมะนั้นไม่ชักชวนให้คนลุ่มหลง ไม่ชักชวนให้คนมัวเมา เรื่องธรรมะเป็นเรื่องกำจัดปัดเป่าเรื่องกิเลสในใจ ไม่ใช่ให้สะสม
นี่พวกเราเคยได้ยินธรรมะมา บางท่านบางคนก็นับครูนับอาจารย์ไม่ได้ แต่จิตใจก็ยังวุ่นวายก่อกวนเกิดทุกข์ เพราะเราไม่นำธรรมะที่ท่านสอนนั้นมาประพฤติปฏิบัติภายในให้เข้าใจธรรมะ เพียงแต่จดจำตามตำรับตำรา ตามลมปากของครูบาอาจารย์ที่แนะสอน มีแต่สัญญาที่จำมาเท่านั้น แต่การเป็นในจิตในใจ ปฏิบัติเพื่อเกิดปัญญาสามารถจริงจังไม่มี กิเลสจึงไม่กลัวความจำ ถึงจะจำได้มากขนาดไหน กิเลสก็ไม่กลัว ถ้าประพฤติปฏิบัติเกิดปัญญาขึ้นภายใน กิเลสกลัวมาก เพราะปัญญาเป็นสิ่งที่ตัดกระแสของกิเลสตัณหา ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็อาศัยการสังวรณ์ระวังจิต
ทางปริยัติท่านว่าปัญญาเกิดขึ้นจากสมาธิ เมื่อสมาธิดี อบรมสมาธิได้ ปัญญาเกิดขึ้น นี่ปัญญาทางศาสนาท่านสอนอย่างนั้น คือเห็นในจิตในใจของผู้ประพฤติปฏิบัติเอง ไม่ใช่จำมาจากที่อื่น แต่ปัญญามันก็มีหลายขั้น สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการได้สดับรับฟัง การศึกษาเล่าเรียน จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการค้นคิดพินิจพิจารณา นี่สุตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากอบรมภาวนา ปัญญาทั้งสองขั้นคือสุตมยปัญญา จินตามยปัญญานั้นเป็นปัญญาของโลก สามารถที่จะทำอะไรถูกต้องดีงาม ไม่ค่อยพลาดผิด แต่ภาวนามยปัญญาเป็นปัญญาทางธรรม สามารถที่จะแก้ไขจิตใจที่ข้องติดให้หมดออกไป ให้สิ้นออกไป ให้หายสงสัย พูดง่ายๆก็ให้หมดจากกิเลสได้
แต่พวกเราทุกคนก็เคยได้ยินได้ฟัง เคยได้อ่านตำรับตำรา เคยคิดเคยปรุงสิ่งต่างๆนานา การภาวนาก็เคย แต่ปัญญาที่จะเกิดขึ้นเพื่อสังหารกิเลสนั้นยังไม่มี หรือมีก็ยังไม่เพียงพอ กิเลสจึงมีการรบกวน ให้จิตใจฟุ้งปรุง ติดข้องเศร้าหมองอยู่เรื่อยๆ ฉะนั้นเราจึงควรอบรมปัญญาให้แก่กล้าสามารถ ตัดกิเลสขาดออกไปจากใจของเรา ภาวนามยปัญญานั้น หมายถึงเราพินิจพิจารณาด้วยจิตเป็นสมาธิหนักแน่นมั่นคง พิจารณาอะไร พิจารณาไปๆ ปัญญานั้นจะเกิดขึ้น ผุดขึ้น บอกขึ้นในจิตในใจว่าอันนั้นผิด อันนี้ถูก เข้าใจชัดเจนเห็นประจักษ์ในจิตในใจ เมื่อมันรู้เหตุผลทุกสิ่งทุกอย่าง ที่พิจารณาไปนั้น มันก็หายสงสัยในจิตในใจ ถึงสิ่งนั้นจะมีอยู่ทั่วโลก แต่ก็ไม่ข้องติดยึดถือเหมือนแต่เก่าก่อน เพราะปัญญาของเราหยั่งรู้เข้าใจเห็นชัดในสิ่งนั้นๆ สมมุติมันเป็นอย่างนั้น วิมุตติมันเป็นอย่างนี้ ขั้นสมมุติ ขั้นปรมัติมันทราบจากการภาวนา
การอบรมปัญญาทางภาวนาจึงเป็นเรื่องละถอนเรื่องกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในจิตในใจ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะฝึกจะอบรมจิตใจของตนได้ หากเราตั้งใจเห็นว่าเป็นของจำเป็นจริงจัง ไม่ทำก็จะไม่เกิดประโยชน์ เกิดมาไม่ทำภาวนาเลย มันก็แก่ก็ตายเหมือนกัน ผู้ทำภาวนาถึงแก่ถึงตาย จิตใจของท่านไม่มีการหวั่นไหว ไม่มีการเสียดายชีวิต ไม่ถือว่าเกิดมาเป็นโมฆะ ท่านมีความสุข มีความสบายในจิตในใจของท่าน กายมันจะแตกสลายไปเหมือนกัน แต่ทว่าจิตใจของท่านไม่หวั่นไหว ไม่ลุ่มหลง นี่คืออานิสงส์เกิดจากการภาวนา ผู้กระทำบำเพ็ญจะเห็นจะเป็นในตัวของตัวเอง โดยไม่เชื่อคนอื่นเพราะเห็นเพราะเป็นจากการภาวนา จากสติจากปัญญาของตัว
ปัญญานี้หากเราอบรมให้เข้าถึงที่จริงจังแล้ว มันจะสามารถสังหารกิเลสให้ขาดออกไป ไม่ว่ากิเลสประเภทไหนที่เกิดมา ปัญญาจะต้องตามพิจารณาในกิเลสนั้นๆ เพื่อแก้ไขให้กิเลสนั้นๆหายไปจากใจ กิเลสก็คือความเศร้าหมองของใจ ตัณหาก็คือความอยากของใจ ราคะก็คือความกำหนัดยินดีในสิ่งต่างๆ แต่ท่านพูดเป็นศัพท์ทางธรรมะ ศัพท์ของธรรมะออกมาจากบาลี ออกมาจากภาษาอื่น ฉะนั้นเราฟังตามตำรับตำราหรือครูบาอาจารย์ที่ท่านศึกษาด้านปริยัติ เราไม่เคยในเรื่องปริยัติ พอท่านยกบาลีขึ้นเราจึงฟังไม่ค่อย ผู้ประพฤติปฏิบัตินั้นไม่ทราบว่าเป็นบาลีหรืออะไร ต้องพิจารณาในกายในใจของตัวเรื่อยไป เพราะกายใจเป็นที่ตั้งของมรรคของผล
กายใจเป็นที่ตั้งของราคะ โทสะ โมหะ ไม่ใช่ที่อื่นเป็นที่ตั้ง ท่านจึงจับมาพิจารณาอันนี้ มีความอยากใหญ่ใฝ่สูง ไม่มีขอบมีเขต ถึงมีอยู่มีกินเพียงพอบริบูรณ์แล้ว แต่ความอยากมันก็ทวีคูณขึ้น ทับถมขึ้น เมื่อความอยากมันมีมากเท่าไร มันก็ให้ทุกข์ให้โทษแก่ตัวของตัว เพราะความอยากมันเป็นพิษเหมือนกันกับไฟ ความอยากมันไหม้มันเผามันร้อน คนที่มีความอยากอยู่ในใจถึงจะมั่งมี ข้าวของเงินทองขนาดไหนจึงไม่มีความสุขให้ เพราะความอยากมันเป็นภัยแก่ความสงบ ความอยากเป็นเสี้ยนหนามสำหรับทิ่มแทงจิตใจให้เจ็บปวดเดือดร้อน การพิจารณาธรรมะเพื่อแก้ไขความอยากนั้น ก็แล้วแต่สติปัญญาของใครจะนำมาพินิจพิจารณา ถ้าหากมันเกิดขึ้นกับจิตกับใจจริงจังแล้ว มันทราบ มันตัดขาดเรื่องความอยาก ทั้งๆที่ของนั้นมีอยู่ แต่เราอยู่เหนือของ ของไม่ได้มาทับถมจิตใจของเรา โอกาสที่เราจะใช้เราก็ใช้ไปตามสะดวกสบาย แต่ถือว่าของนั้นเป็นของภายนอก ไม่ได้ยึดได้ถือว่าเป็นของของเราจริงๆจังๆ จนเกิดความเสียใจ ร้อนใจ
การพินิจพิจารณาอย่างนี้ ก็พิจารณาถึงว่าคนเกิดมาไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย ไม่มีใครนำสิ่งของมาได้ จะเป็นผ้านุ่งผ้าห่ม เป็นเงินเป็นทองไม่เคยมีใครหอบหิ้วหาบหามมาจากท้องของมารดา มาด้วยตัวเปล่าๆ เมื่อมาแล้วก็แสวงหาตามหน้าที่เพราะร่างกายนี้เป็นอยู่ด้วยอาหาร เป็นอยู่ด้วยปัจจัยทั้ง ๔ เป็นที่พักที่อาศัย จะเป็นนักบวชก็ตาม เป็นฆราวาสก็ตาม ปัจจัยทั้ง ๔ นี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกท่านจำเป็นจะต้องแสวงหาปัจจัยทั้ง ๔ เป็นภาษาของวัดท่านกล่าวเอาไว้ว่า จีวร จีวรหมายถึงผ้า จะเป็นผ้านุ่งผ้าห่ม ผ้าขาว ผ้าเขียว ผ้าแดง ผ้าเหลืองอะไร เรียกว่าจีวรทั้งนั้น จำเป็นที่คนเกิดมาจะต้องอาศัย หนาวมาก็จะต้องนุ่งห่ม ร้อนมาก็จะต้องปกปิดร่างกายเพื่อกันแดดกันเหลือบกันยุงต่างๆ กันความละอาย มนุษย์ทั่วไปเป็นอย่างนั้นไม่ว่าชาติชั้นวรรณะไหนแล้วแต่ เกิดมาแล้วจะต้องแสวงหาจีวรคือผ้ามานุ่งมาห่ม ตอนต้นที่เรายังเป็นเด็กแสวงหาไม่ได้ ก็อาศัยผู้หลักผู้ใหญ่หามาให้ ใหญ่มาเราก็แสวงหาเอง นี่เป็นเรื่องจำเป็นข้อหนึ่งซึ่งเรียกว่าปัจจัยเครื่องอาศัยของมนุษย์
บิณฑบาตข้อที่สอง ก็หมายถึงอาหาร ไม่ว่าชาวบ้านนักบวช ร่างกายอันนี้จะต้องเป็นอยู่ด้วยอาหาร ถ้าขาดอาหารนานเข้ามันก็ตาย เพราะไม่มีกำลังเรี่ยวแรงที่จะแสวงหาทรัพย์สมบัติอะไรได้ อาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่สัตว์จะอยู่ได้ก็อาศัยอาหาร กายอันนี้เติบโตมาได้ก็เพราะอาหาร ฉะนั้นอาหารจึงจะต้องแสวงหา พระไม่ได้ไปทำการทำงาน ทำไร่ทำนาค้าขาย ก็ไปบิณฑบาตก็คือหาอาหารมาเลี้ยงร่างกายนี่เอง พวกญาติโยมก็แสวงหาตามหน้าที่ของตน มีวิชาความรู้แขนงไหนก็ทำไปเพื่อจะได้อาหาร ถึงเราหาเงินหาทองก็เอามาซื้ออาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตัว อาหารจำเป็นข้อหนึ่งซึ่งเรียกว่าปัจจัยเครื่องอาศัยของผู้เกิดมาที่มีชีวิตเป็นอยู่
เสนาสนะหมายถึงที่อยู่อาศัย จะเป็นกุฏิวิหาร ศาลาโรงร้านหรือตึกบ้านต่างๆ เรียกเสนาสนะ นี่ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่มนุษย์เกิดมาจะต้องหา สร้างที่อยู่ที่อาศัย ยาสำหรับแก้โรคภัยไข้เจ็บก็เป็นอีกประเภทหนึ่ง นี่คือปัจจัย ๔ ปัจจัยทั้ง ๔ นี้ไม่ว่านักบวชฆราวาสจะต้องจำเป็นด้วยกันทั้งนั้น แต่นักบวชนั้นมีพระวินัยที่ต้องรักษามากกว่าเพศของฆราวาส ถ้าหากแสวงหาไม่ถูกต้องตามพระวินัยก็เกิดโทษ ท่านปรับอาบัติทางศาสนา มีพระวินัยของพระของเณรประจำตัวอยู่ ฉะนั้นปัจจัยทั้ง ๔ นี้ เราจะต้องแสวงหา แต่ปัจจัยทั้ง ๔ นี้จะแสวงหามาได้มากขนาดไหนก็ไม่สามารถที่จะลบล้างอริยสัจคือคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ เมื่อมีลมหายใจเป็นอยู่ก็ต้องหามาบำรุงรักษา
แต่ทว่าปัจจัยอันนี้มีมากก็ห้ามความแก่ไม่ได้ ห้ามความตายไม่ได้ ถึงกาลถึงเวลาเราก็จะต้องแก่ต้องตายไปตามธรรมดา ถึงจะหึงหวงขนาดไหนก็ไม่มีทางที่จะรักษาไว้ได้ คือเราไม่ตายจากมัน มันก็จะหายจากเรา หน้าที่ของมันเป็นอยู่อย่างนี้ เราโลภขนาดไหน อยากได้ขนาดไหน แสวงหามาได้มากขนาดไหน เมื่อเวลาเราตายไปเล่า เอาไปได้ไหม ไม่เห็นใครในโลกที่เขาหอบหิ้วหาบหามสมบัติออกไปจากโลก สมบัติของโลกเป็นสมบัติของโลกอยู่อย่างนั้น เราที่ลุ่มหลงติดข้อง ไปที่ไหนไม่ได้ ห่วงสิ่งห่วงของ กลัวมันจะวิบัติฉิบหายอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ทำนองเดียวกัน จะหึงจะหวงขนาดไหน หาตำรวจทหารมารักษา หาคนยามมาเฝ้า มันก็มาเอาไปไม่ได้ เวลาตายก็ไปแต่ตัวเปล่า ร่างกายของเราก็เค้าเอาไปฝังตามหน้าที่ ถึงเค้าไม่เผาไม่ฝังมันก็เปื่อยเน่าไปตามธาตุของมัน
ถ้าหากพิจารณาไปตามธรรมะอย่างนี้ จิตใจที่โลภอยากได้อย่างนั้นอย่างนี้เกินขอบเขต มันก็พอที่จะสงบระงับได้ เพราะตายไปแล้วเอาไปไม่ได้ ถ้าหากเอาไปได้ คนที่เค้าเกิดมาก่อนตายไปก่อน เค้าเอาไปหมด เราไม่มีที่อยู่ที่อาศัยที่ดินไม่ว่าตอนไหนจังหวัดใด มีคนเคยเกิดเคยตายด้วยกันทั้งนั้น เคยมีเจ้าของมาก่อนเราเกิดนับไม่ถ้วน บางทีขุดลงไปลึกๆอย่างบ้านเชียงนี่ ก็ยังไปเห็นกระดูกกองกันอยู่นั่น แสดงว่าเค้าเคยตายมาก่อนเรา เค้าเคยเป็นเจ้าของที่ดินแถวนั้นมาก่อน แต่เค้าเอาไปไม่ได้ เราจึงได้อยู่ได้อาศัย เราที่หึงหวงโลภหลงอยู่นี้ก็ทำนองเดียวกัน เพื่อจะตัดความโลภความอยากได้ในจิตในใจให้เบาบางไป
แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้คนเกียจคร้าน ให้คนขยันหมั่นเพียร อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่นความขยัน จะทำการทำงานอะไรให้ตั้งใจทำ แต่อย่าให้สิ่งของนั้นมาทับถมจิตใจจนเกินไป อยากได้จนเกินขอบเกินเขต คืออยากได้ด้วยการแสวงหาทางสุจริตไม่ได้ ก็โกงเค้า โลภลักขโมยจี้ปล้นเค้า นี่มันเป็นทางผิดศีลธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน พระพุทธเจ้าจึงให้พินิจพิจารณาธรรมะเพื่อชำระใจ อยากได้ขนาดไหน ได้มาแล้วก็เอาไปไม่ได้ เมื่อเราทราบ เราเข้าใจในตัวของตัวจริงจังอย่างนั้น ความอยากที่มันเคยอยาก วุ่นวี่วุ่นวายอยู่ในใจ นอนไม่หลับ อยากอันนั้นอยากอันนี้ เป็นเศรษฐีในเมืองไทยไม่พอ ยังอยากเป็นเศรษฐีของโลก มันก็เลยไม่จบไม่สิ้นให้ เลยเป็นทุกข์ ทั้งๆที่ข้าวของกินตลอดวัน ตายก็ไม่หมด แต่ความอยากมันไม่มีเวลาอีกเหมือนกันกับไฟ เชื้อมีเท่าไร ไหม้เท่านั้น ไฟไม่เคยอิ่มเชื้อ มีมากไหม้มาก นี่ความอยากของจิตของใจก็ทำนองเดียวกัน
ท่านจึงให้มีฝั่งมีฝามีขอบมีเขต มีธรรมะเป็นเครื่องดับเอาไว้ อย่าให้มันเลยขอบเลยเขต เลยเถิดไป ถ้าคนมีธรรมะจะต้องแนะสอนตัวของตัวให้จิตสงบ ให้จิตระงับ ให้จิตรู้แจ้งเข้าใจจริงอย่างนั้น ใจจะไม่โลภ ไม่หลงจนเกินขอบเกินเขตไป นี่หมายถึงผู้ภาวนามีจิตใจมั่นคงในอรรถในธรรม พิจารณาเห็นเข้าใจชัดเจนในตัวเองอย่างนั้น ความโลภอยากได้มักใหญ่ใฝ่สูงก็ค่อยดับไป เบาไป สบายไป
ความโกรธในจิตในใจก็ทำนองเดียวกัน โกรธนี้ไม่เป็นสิ่งที่ดี เผาตัวไหม้ตัว ให้ชั่วให้เสีย คนทั่วไปเค้าไม่นิยมชมชอบ เค้าไม่สรรเสริญ คนโกรธถึงรักกันชอบกันอยู่ เมื่อโกรธขึ้นมา วาจาพูดออกมาก็ไม่น่าฟัง เป็นวาจาที่เน่าวาจาที่เหม็น เป็นวาจาที่เป็นพิษ หน้าตาที่เคยสวยสดงดงาม ก็เป็นหน้าตาเป็นยักษ์เป็นมารขึ้น รักกันชอบกันอยู่ก็รีบหนี เพราะกลัวความโกรธของเขา เขาจะฆ่าจะตีเอา ความโกรธมันเป็นอย่างนี้ ไม่มีใครชอบ ไม่มีใครยินดี ไม่มีใครสรรเสริญ คนอื่นโกรธ เราเห็นเข้าเราก็ไม่ชอบ ไฉนตัวของเราเองจะไปโกรธให้คนอื่น โกรธขึ้นมันมีความสงบมีความสุขมั้ย ก็พิจารณาหาสาเหตุของมัน ถ้ามันเป็นโทษเป็นทุกข์ ไม่เกิดสาระประโยชน์อะไรให้ เราว่าเราเป็นคน เป็นผู้ฉลาด ทำไมจึงเก็บของเน่าของเหม็น ของไม่มีคุณค่าราคา ของไม่มีสาระประโยชน์ ของเป็นโทษเป็นทุกข์เอามาไว้ในจิตในใจของตัว พิจารณาตัวของตัวอย่างนี้ เพื่อแก้ไขขับไล่ความโกรธในจิตในใจ ให้ตกออกไป ให้หลุดออกไป
เมื่อพิจารณามันไม่มีคุณค่าสาระอย่างนั้น เราเข้าใจชัดเจนในจิตในใจ เราก็ปล่อยไป ละไปได้ ถ้าเราไม่เห็นในจิตในใจของตน เห็นคนอื่นโกรธ เราไม่ชอบ แต่ตัวของตัวโกรธ ไม่เห็น นั่นไม่มีทางที่จะแก้ไขจิตใจของตัวให้เยือกเย็นสงบได้ เราต้องดูเรื่องคนอื่น ดูในจิตในใจของตัว สิ่งที่ชั่วคนอื่นทำ เราตำหนิ แต่เมื่อเราทำ เรากลับชอบกลับยินดีอย่างนี้ จะเป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้ประเสริฐวิเศษไม่ได้
พระพุทธเจ้าสอนธรรมนั้น ท่านทำได้ทุกสิ่งทุกประการไป ท่านจึงมาสอนคน ไม่ใช่ท่านทำไม่ได้ ท่านระงับดับได้ทุกอย่างเรื่องโทษทุกข์ ท่านจึงมาสอน จึงเกิดสาระประโยชน์ คนอื่นจะตำหนินินทาว่ากล่าวท่านขนาดไหน ท่านทราบในพระทัยของท่านว่าจิตของเรารับมั้ย ยังเอนเอียงไปตามเรื่องที่เค้าติฉินนินทาหรือไม่ ท่านจะต้องดูในพระทัยของท่าน อันนี้ถ้าหากเราไม่พิจารณา ไม่มีธรรมะ ก็มักอยากจะหยิบเอาฉวยเอา เค้าพูดอะไร สรรเสริญก็ลืมเนื้อลืมตัวว่าเรานี่ดีนี่เด่น เค้าตำหนินินทาว่ากล่าวต่างๆนานาเราก็หยิบก็ฉวยเอา ว่าเค้าพูดอย่างนั้น เค้าตำหนิอย่างนี้ โกรธขึ้นในจิตในใจ ล้วนแต่เป็นทุกข์เป็นโทษทั้งนั้น
ถ้าผู้ที่มีธรรมะไม่เป็นอย่างนั้น เค้าจะสรรเสริญขนาดไหน จิตใจของท่านก็ยังคงเส้นคงวา ไม่บ้าบอไปตามลมปากของคน เค้าจะนินทาขนาดไหนก็เป็นลมปากของเขา เราเป็นอย่างไร บริสุทธิ์หรือไม่ เราจะต้องทราบในจิตในใจของเรา เมื่อเราบริสุทธิ์ เราไม่ไปทำผิด พูดผิด คิดผิด อย่างที่เค้าตำหนินินทาเรา เราจะไปโกรธกับเขานั้น สมควรแล้วหรือ จะต้องดูต้องรู้ในจิตในใจของตัว พระพุทธเจ้าเคยโดนคนด่าคนว่า จึงได้พูดผูกเป็นภาษิตขึ้น นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก จะดีขนาดไหน วิเศษขนาดไหน พระพุทธเจ้าไม่เคยมีกิเลสตัณหาในใจ ไม่เคยทำอะไรให้ผิดความจริง แต่ถึงกระนั้น คนที่ไม่ชอบไม่ยินดีในท่าน เค้าก็ตำหนิ เค้าก็นินทา ด่าไอ้อูฐ ไอ้ลา ไอ้หัวโล้นอย่างนั้นอย่างนี้ เคยมีเคยพบมาพระพุทธเจ้า ตัวของเราก็เป็นคนธรรมดาสามัญ จะไปหลบหลีกปลีกตัวที่ไหน จะไม่ให้คนเค้านินทาตำหนิ จะให้เค้าสรรเสริญเยินยอโดยถ่ายเดียว มันเป็นไปไม่ได้
เมื่อเค้านินทามา แต่ทว่าเราไม่เป็นไปตามคำนินทาของเขา ตามคำตำหนิของเขา เราจะมีทางเสียหายอะไรให้ตรวจตราพิจารณาดูใจของตัว นี่คือผู้ที่มีธรรมะ อย่าไปรับของเน่าของเหม็น ของไม่เป็นสาระประโยชน์ ถ้าหากว่าตัวฉลาด ตัวรู้ ของไม่มีคุณค่าสาระ เค้าเอาอะไรมาให้ก็จะกำเอา ทั้งๆที่ของนั้นเป็นของเน่าของเหม็น ของปฏิกูล โลภ โกรธ หลงก็เป็นของเน่าของเหม็นของปฏิกูล ผู้ฝึกอบรมภาวนาจึงควรชำระออกจากจิตจากใจของตัว เมื่อเราชำระออกไปได้มากเท่าไร ความเน่าเหม็นของจิตของใจก็เบาบางไปเท่านั้น เราก็สุข เราก็สบาย เราก็สงบ เราก็เยือกเย็น เพราะสิ่งเหล่านั้นที่เน่าที่เหม็นคือความชั่ว ผลของมันก็คือทุกข์ เพราะจิตไม่รู้ตามเป็นจริงจึงไปรับของชั่วของเหม็นของเน่าเอามาไว้ นี่คือการพิจารณาชำระใจของตัว
ผู้พิจารณาผู้มีธรรมะในใจท่านอยู่ในโลกจึงไม่แปดเปื้อนไปด้วยโลก เหมือนกันกับใบบัวอยู่ในน้ำ แต่ทว่าไม่ซึมซาบ ถึงน้ำจะมาตกค้างในใบบัว เดี๋ยวมันก็หลุดก็หล่นออกไป ไหลออกไป ใบบัวไม่เคยซึมในน้ำที่ไปถูกไปต้อง นี่จิตใจของท่านที่มีธรรมะชำระกิเลสตัณหาได้ก็ทำนองเดียวกัน ท่านจึงอยู่ในโลกด้วยความสุขความสบาย ไม่ลุ่มหลงวุ่นวายเหมือนพวกเรา กิเลสในจิตในใจของมนุษย์ มันมีด้วยกันทุกท่านทุกคนแล้วแต่จะน้อยมากต่างกันเท่านั้น บางท่านก็มีความโกรธมาก บางท่านก็มีความโลภมาก บางท่านก็มีความหลงมาก บางท่านก็มีราคะตัณหามาก แต่ทุกสิ่งทุกอย่างธรรมะของพระพุทธเจ้ามีเพื่อจะรักษาโรคประเภทนี้ ถ้าหากนำธรรมะพระพุทธเจ้ามารักษาด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยการพิจารณาจริงจัง โรคที่มีอยู่ในจิตในใจ คือกิเลสตัณหา มานะทิฐิต่างๆ ค่อยจะสะอาดไป ตกไป หลุดไป
การพิจารณาธรรมะ การฝึกจิตฝึกใจ อบรมให้เป็นธรรมะจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราท่านทุกคน ผู้ชอบสงบ ผู้ชอบความสุข ผู้ชอบความเย็นใจสบายใจ จะต้องกระทำบำเพ็ญให้เห็น ให้เป็น ให้รู้ในตัวของตัว ไม่อย่างนั้นจะแก่ขนาดไหน ใจมันก็ยังติดยังข้อง ยังลุ่มยังหลงยังโกรธยังเพลินในโลกเรื่อยไป เพราะไม่มีธรรมะในจิตในใจของตัว ถ้ามีธรรมะ ไม่เป็นอย่างนั้น ถึงสิ่งอื่นมันจะมีอยู่ก็รู้ก็เข้าใจ แต่ไม่ติดไม่ข้องในสิ่งนั้นๆ มีธรรมะมีปัญญาที่จะแก้ไขใจของตัวให้สุขให้สบายให้สะอาด หายจากความวุ่นวายก่อกวนได้ นี่คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนมนุษย์ทั่วไปให้ฝึกอบรมจิตใจของตัว
จิตใจชั่ว จิตใจเสียมันหมดคุณค่าหมดสาระ สมบัติข้าวของภายนอกทางโลกจะมีมากมายขนาดไหน ถ้าหากใจไม่ปกติ ใจวิปริต รักษาไม่ได้ ส่วนสมบัติภายในคือสติปัญญา มันก็หมดไปหายไป นี่คือคนที่จิตวิปริต จิตไม่ฝึกไม่อบรมธรรมะ คนที่มีจิตดีถึงร่างกายจะไม่สวยสดงดงาม ถึงหน้าตาจะไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่จิตใจเยือกเย็น คนเห็นเบื้องต้นก็ไม่ชอบพอเพราะหน้าตาไม่สวยงามให้ แต่เมื่อคบค้าสมาคมนานเข้า รู้จักนิสัยว่ามีจิตใจเยือกเย็น ซื่อสัตย์สุจริต มันก็เกิดคุณค่า มีคนนิยมเชื่อถือ อยากได้เพราะใครไปเกี่ยวข้องก็เกิดความสุขความสบายในจิตในใจ นี่คือคุณค่าของธรรมะทางจิตทางใจซึ่งทุกคนฝึกอบรมได้ เพราะจิตใจเป็นสิ่งที่ฝึกได้ น้อมไปได้ ไม่ใช่มันเหลือวิสัย
ความจริงแล้วถ้าหากเราจับผิดในจิตในใจของเรา เราศึกษาจิตใจของเรา เราจะฉลาด จะรอบรู้ จะเกิดธรรมะธรรมโมให้ จิตใจนี้นับว่าเป็นสิ่งที่พลิกแพลงง่ายที่สุด หลงใหลง่าย ยึดถือง่าย ถ้าหากเราสังเกต ถ้าเราไม่สังเกตก็ไม่เห็นความเป็นอย่างนั้น ทั้งๆที่สิ่งเหล่านั้นไม่มีอยู่ในตัวของเรา เราก็โกรธได้ รักได้ ยินดีได้ เสียใจได้ เพราะเราไม่ตรวจตราพิจารณาภายใน ถ้าเราตรวจตราพิจารณาภายในอย่างที่อธิบายมา เค้าสรรเสริญเยินยอ เราดีอย่างเค้าลมปากเค้าว่าหรือไม่ ถ้าเราไม่ดีเราก็ไม่ควรไปยินดี ควรตั้งหน้าตั้งตาฝึกรักษา ให้สมกับคำที่เขาชมเราว่าเรารู้เราฉลาด เรามีสติ เรามีปัญญา เราเป็นคนที่มีธรรมะ
ถ้าเราไม่ฝึก ไม่อบรมตัวของตัวอย่างนั้น เค้าสรรเสริญแล้วก็ลืมหลงตัวไป ว่าดีว่าเด่นอย่างนั้น มันเกิดทุกข์เกิดโทษในตัวภายหลัง เพราะมันไม่มีอะไร พอเค้าตำหนินินทาให้เราก็จะเสียใจอีก เค้าตำหนินินทาถ้าหากมันไม่มีมูลเหตุ เราก็ไม่ควรจะไปเสียใจ ควรจะสอนตัวว่ามันชั่วมันเสียอย่างเค้าว่า เราควรจะแก้สาเหตุของมัน เค้าตำหนิเราไม่ดีอย่างนั้น เราอย่าไปทำอีก พูดอีกในสิ่งที่ไม่ดี ถ้าเราไปทำอีกพูดอีก เค้าก็จะตำหนิอีก นี่เป็นทางที่จะแก้ไขลมปากภายนอกหากเรามีปัญญา ไม่ว่าทางสรรเสริญหรือนินทา
ถ้าหากเรามีปัญญานำมาสอนจิตมาพินิจพิจารณา มันก็เป็นธรรมะ ถ้าหากเราไม่มีปัญญา ตะครุบเรื่อยไป เค้าว่าอย่างไรก็ตะครุบอย่างนั้น ไม่เกิดผลเกิดประโยชน์ให้ มีแต่จะเกิดความดีใจเสียใจตามคำสรรเสริญนินทาเท่านั้น ผลที่สุดเลยไม่ต้ังมั่นเพราะคนทั่วโลกเค้าจะยินดีเลื่อมใสเต็มใจมาสรรเสริญเรานั้น มันเป็นไปไม่ได้ คนทั่วโลกเค้าจะนินทาว่าทุกข์ว่าโทษต่างๆแก่เรา มันก็เป็นไปไม่ได้ ผู้ที่มันชอบมันก็สรรเสริญ ผู้ที่มันไม่ชอบ มันก็นินทา มันเป็นธรรมดาเรื่องลมปาก เราก็เป็นสัตว์โลกคนหนึ่งตัวหนึ่ง มันจะต้องพบต้องเห็น
เมื่อเกิดมาในโลก เราต้องตั้งมั่นพิจารณาในธรรมะ ส่วนใดที่ควรละ ส่วนใดที่ควรบำเพ็ญให้เห็นในจิตในใจของตน ว่าสิ่งนี้ควรละ รีบละรีบถอนออกไป เพราะเก็บเอาไว้เป็นพิษเป็นภัย เกิดทุกข์เกิดโทษ สิ่งใดควรบำเพ็ญก็บำเพ็ญเรื่อยไป ให้จิตใจเลื่อมใส ให้จิตใจเยือกเย็น ให้จิตใจเห็นแจ้งในสิ่งนั้นๆ นี่คือการฝึกธรรมะ อบรมธรรมะ แนะสอนธรรมะให้แก่ตัวของตัว ถ้าหากไม่ฝึก ไม่รักษา ไม่เอาธรรมะมาประดับ คนร่างกายเป็นมนุษย์แต่จิตใจมันก็เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสูรกายอยู่ดีๆ ไม่มีอะไรผิดแปลกแตกต่างกับสัตว์เหล่านั้น เพราะราคะตัณหามานะทิฐิทุกอย่าง สัตว์อื่นมันก็มีได้ เป็นไปได้ แต่ด้วยอำนาจของปัญญา ด้วยอำนาจของธรรมะที่ฝึกอบรมรักษาเท่านั้น จึงจะเป็นผู้ดีวิเศษยิ่งกว่าสัตว์
ฉะนั้นทุกคนจึงควรหาธรรมะมาประดับกายวาจาของตัว ผู้ที่มีธรรมะอยู่สถานที่ใด ไปสถานที่ใด เป็นสิริมงคลแก่สถานที่ ไปสถานที่ใด ทำความสุขความสบายความเยือกเย็นให้ ไม่เป็นภัยอันตราย นี่คือคนมีธรรมะ เป็นสุคโต ไปดี มาดี อยู่ดี กินดี นอนดี นั่งดี เพราะจิตของท่านดี จิตของท่านมีธรรมะ ยอมเสียสละเรื่องทิฐิมานะกิเลสตัณหาให้หมดออกไป ตกออกไปจากใจ พระพุทธเจ้าสาวกท่านดีวิเศษได้เพราะท่านฝึกอบรมจิตใจของท่าน เรื่องร่างกายเหมือนกันกับพวกเรา โรคภัยไข้หนาว…มี ไม่อย่างนั้นท่านก็ไม่ปรินิพพาน ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มีเหมือนกัน แต่จิตใจของท่านไม่เคยมีป่าช้า ไม่เคยตาย จะไปเกิดภพใดชาติใดอีก ก็ความจริงอยู่ในจิตมีอะไรที่เป็นพิษเป็นภัยที่จะไปก่อภพก่อชาติอีก ก็ทราบ
นี่คือการปฏิบัติอรรถธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน เห็นประจักษ์ในจิตในใจของตน ในผู้ประพฤติปฏิบัติ ประจักษ์อยู่อย่างนั้น ท่านจึงไม่หลงใหลใฝ่ฝัน ไม่บ้าไม่บอเหมือนพวกเรา เห็นอะไรก็ชอบจิตติดใจง่ายๆ เห็นอะไรก็โกรธง่ายๆ ทั้งๆที่ไม่พิจารณาว่าเป็นทุกข์เป็นโทษอย่างไรในสิ่งนั้นๆ นี่คือคนขาดธรรมะ ขาดสติ ขาดปัญญา ไม่สามารถที่จะแก้ไขใจของตัวให้เยือกเย็น ให้สุข ให้สงบได้ เพราะขาดธรรมะ
ถ้ามีธรรมะก็เหมือนกันกับเรามีอาวุธ ไปสถานที่ใดเมื่อมีอาวุธอยู่ในตัวแล้ว ไม่ค่อยกลัวภัยอันตรายเพราะอาวุธเรามี ถึงมีอุปสรรค มีศัตรูมา เราก็อาศัยอาวุธเราจะต่อสู้ นี่ไม่มีอาวุธอะไร ไม่ว่าตั้งแต่เสืออ้ะยังสัตว์เล็กๆมันก็กลัว อย่างเราไม่มีมุ้ง ไปอยู่ในสถานที่ที่ยุงชุม เราก็กลัว ไม่กล้าจะไปอยู่ ถ้าเรามีมุ้งดีๆหละ มันมาเถอะยุง เรากางมุ้งกั้นเอาไว้ มันก็เข้าไม่ได้ นี่คนมีธรรมะก็ทำนองเดียวกัน ถึงรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสจะมีอยู่ในโลกแต่ท่านก็มีเครื่องรักษาจิตใจของท่าน ไม่ให้หวั่นไหว ไม่ให้เดือดร้อนวุ่นวายไปตามเรื่องนั้นๆ นี่คือคนมีธรรมะในจิตในใจ
ธรรมะที่จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะอาศัยฝึก เพราะอาศัยอบรม เพราะอาศัยกระทำบำเพ็ญ มันจึงจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่มันเกิดขึ้นมาลอยๆ พระพุทธเจ้าสร้างบารมีมา หรือทำทุกรกิริยาเพื่อตรัสรู้ก็คือสร้างเหตุเพื่อจะให้เกิดผล เราทุกคนถ้าทำตามโอวาทที่ท่านสอนเอาไว้ มันง่ายมันสบาย เพราะพระพุทธเจ้าไม่มีครูมีอาจารย์สอน ท่านค้นคิดด้วยตัวของท่านเอง จึงเกิดธรรมะขึ้น นี่เราท่านสอนทุกสิ่งทุกอย่าง อันนั้นเป็นโทษนะ อย่าไปทำ อย่าไปพูด อย่าไปคิด เมื่อพูด เมื่อทำ เมื่อคิดไป สิ่งนั้นจะเป็นภัยคือนำทุกข์นำโทษมาให้ ท่านบอกแล้ว เรารู้จักว่าอันนั้นมันชั่ว มันเสีย มันเกิดทุกข์เกิดโทษ ก็เว้น อย่าไปกระทำ อย่าไปบำเพ็ญ สิ่งนั้นเกิดสุข เกิดประโยชน์ คนใดไปทำ ไปพูด ไปคิด คนนั้นจะมีความสุขความเจริญ ถึงไม่ปรารถนาคำสรรเสริญเยินยอ บัณฑิตทั่วไปเค้าก็สรรเสริญเยินยอให้ เราก็รีบกระทำในสิ่งที่พระพุทธเจ้าแนะนำให้บำเพ็ญ
ละสิ่งที่พระพุทธเจ้าห้ามไม่ให้ทำ ถึงจิตจะชอบจะยินดี ก็ให้ละไป เพราะพระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีพยานภายใน เข้าใจชัดเจน สิ่งใดที่เป็นทุกข์เป็นโทษ เข้าใจจริงจัง จึงมาสั่งสอนมนุษย์ ไม่ใช่ท่านมืดบอดอย่างพวกเรา แต่ท่านถางทางหรือทำถนนให้เราเดินตามถนนที่ท่านทำให้ มันสะดวกสบาย ถ้าหากเราสอนเราประพฤติปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าแนะให้ มันสบาย นี่พระพุทธเจ้าท่านบุกเบิกเบื้องต้นมันลำบาก เหมือนกับตัดถนน มันลำบากกว่าจะเป็นถนนให้ แต่คนมาท่องเที่ยวมันสบายเพราะเป็นถนนแล้ว มันง่าย เราก็ทำนองเดียวกัน พูดถึงสาวก มีหน้าที่ที่จะประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของท่านเท่านั้น สิ่งใดที่ท่านสอนว่าเป็นพิษเป็นภัยก็หลีกไป สิ่งใดที่ท่านสอนให้กระทำบำเพ็ญก็ทำตาม มันง่าย อย่าไปถือว่ามันเหลือวิสัย
สิ่งอื่นมันคิดได้ ปรุงได้ มีโอกาส มีเวลา แต่จะมีหลับตาภาวนา สำรวมจิตให้อยู่ในตัว ละวางอารมณ์สัญญาต่างๆที่เคยรบกวนจิตใจ มันถือว่าไม่มีโอกาสเวลา วันนี้เพียบเพลียเหลือเกิน ร้อนเหลือเกิน หนาวเหลือเกิน เหนื่อยเหลือเกิน หิวเหลือเกิน ทำไม่ได้ ดึกแล้ว เช้าอยู่ มันไปแบบนั้น นี่คือเรื่องมารที่มากระซิบจิตใจของพวกเราท่าน ไม่ให้มีโอกาสเวลาจะภาวนาละกิเลส แต่ไปดูหนังฟังเพลง ไปเที่ยวเล่นเที่ยวคุยกันเรื่องนอกๆ มีโอกาสเวลา แต่จะมาภาวนา มันหักมันห้ามเอาไว้
นี่ใจที่มีกิเลสหนาเป็นอย่างนั้นทุกท่านทุกคนไป แต่ก็ต้องฝ่าฝืน อย่าไปเชื่อมัน โอกาสเวลามันมี ถ้าเราจะทำ เพราะการภาวนาไม่ใช่จะนั่งหลับตาเท่านั้นจะทำได้ เดินไปก็ได้ นั่งอยู่ก็ได้ ทำการงานอันอื่นก็ได้ ภาวนาดูจิตดูใจของตัว มันทำไมจะทำไม่ได้ ถ้าหากเราเลื่อมใส เรายินดี เราเต็มใจ เราทำงานอันอื่นยังคิดยังปรุงในรูป ในเสียง ในเรื่องต่างๆได้ ถ้าหากเรานำมาภาวนารูปเสียงที่เราลุ่มหลงติดข้อง ว่ามันสวยมันงามน่ากำหนดยินดี เรามาพิจารณาร่างกายอันนี้มันเต็มไปด้วยของปฏิกูลโสโครกสกปรกจริงๆจังๆ ไม่มีอะไรเป็นของดีของวิเศษ ไม่มีอะไรที่จะหอมหวล มีแต่ของเน่าของเหม็นของปฏิกูล ผ้าผ่อนท่อนสไบเอามาปกคลุมเข้า ถึงสิ่งนั้นจะสวยงามขนาดไหน นานวันเข้ามันก็เศร้าก็หมองก็มีกลิ่นขึ้น มันไหลออกมาจากตา จากหู จากจมูก จากปาก จากทวารไหนก็ตาม ก็ล้วนแต่ของเน่าของเหม็นของปฏิกูลทั้งนั้น ก้อนอันนี้เป็นก้อนปฏิกูล เป็นของปฏิกูล ก้อนอันนี้เป็นก้อนอนิจจัง ก้อนอันนี้เป็นก้อนทุกข์ ก้อนโทษ เราพิจารณาเพื่อจะแก้ไขสัญญาอารมณ์ที่ว่ากำหนดยินดี น่าจูบน่ากอดอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าหากมาพิจารณาในธรรมะของพระพุทธเจ้าตามเป็นจริง มันก็ถอดถอนได้ คลายกำหนัดได้ เพราะมันเห็นเป็นจริงอย่างนั้น ความเป็นจริงของมันเป็นอย่างไร
ถ้าหากคนมีปัญญามีธรรมะ มันจะเห็นจริงอย่างนั้น มันไม่หลงใหลใฝ่ฝัน ไม่ได้บ้าได้บอไปตามสมมุติของโลก เพราะมันทวนสมมุติ ทวนกระแสธรรมะ โลกเค้าว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้นิยมแต่เรื่องของธรรมะจริงจังมันทวนกระแส มันไม่ได้ถือว่าสิ่งนั้นมันดีมันวิเศษ ถ้าหากพิจารณาตามธรรมะ ไม่อย่างนั้นจิตไม่เบื่อเรื่องเกิดเรื่องตายเรื่องโลกเรื่องสงสาร จิตที่จะเบื่อได้ก็เพราะอาศัยพิจารณาทวนกระแส เค้าว่าสวยงาม ความจริงมันเป็นอย่างไร มันเป็นอสุภะอสุภัง เค้าว่าของนั้นยั่งยืน แต่ทางธรรมะถือว่าเป็นอนิจจัง เค้าว่าของนั้นเป็นของตนของตัว เป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขา แต่ธรรมะเค้าถือว่าเป็นอนัตตา คือไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคล ถึงจะลุ่มหลงขนาดไหน สิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่เชื่อฟัง หน้าที่ของมันเป็นอย่างไร มันก็เป็นอย่างนั้น นี่ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน สอนทวนกระแสอย่างนี้
เราผู้ฝึกภาวนาก็พยายามทวนกระแสของใจ อย่าปล่อยไปตามสัญญาอารมณ์ของกิเลสตัณหา เมื่อเราทวนกระแสได้เท่าไร จิตใจก็ยิ่งจะห่างไกลจากความทุกข์ จากความลุ่มหลง จากความเศร้าหมอง จากความขัดข้องเท่านั้น ท่านจึงให้ฝึกให้ภาวนา มันฝึกได้ถ้ามันมีสติ สังขารที่มันปรุงขึ้นอยู่ในจิตในใจ มันทราบทุกขณะทุกเวลาถ้ามันมีสติ ถ้ามันไม่มีสติ มันปล่อยลอยลมไป นั่งภาวนาก็ทำท่า ไม่ทราบว่ามันไปคิดไปนึกเรื่องอะไร จนเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิวเกิดขึ้น มันวกมา อ้าว นั่งนานแล้วนั่น เจ็บแข้งเจ็บขา ปวดหลังปวดเอวแล้ว พอสมควรเอาละ มันเป็นแบบนั้น ไม่ทราบว่า “เอาละ”อะไร เมื่อกินไม่อิ่ม ก็ไม่เห็นว่า “เอาละ” กินแล้ว นอนยังไม่พอก็ “เอาละ” มันนอนไปหลับไปแล้ว ตื่นหนึ่งแล้ว “เอาละ” จะนั่งภาวนามันไม่เห็นว่า มันยังว่าดึกอยู่ เอาอีกซักตื่นเสียก่อน จนสายตื่นมา เอ้อ ภาวนาไม่ได้วันนี้ เพราะหน้าที่การงานมันมี มันสายแล้ว มันเลยไปแบบนั้น วันนั้นก็ผิด วันนี้ก็เลยเถิดเลยแดนไป มันก็เลยเป็นเกลียวหวาน จะทำภาวนาเมื่อไรก็ไปอย่างนั้น มันไม่อยู่ในอรรถในธรรมให้
ถ้าหากมันอยู่ในอรรถในธรรม ไม่ว่าอยู่อิริยาบถใด มีสติอยู่กับใจ มีปัญญาสอนตัว อย่างมันปรุงขึ้นก็ทราบ อะไรมันปรุงขึ้น ดีเป็นชั่วมันทราบ เหมือนกันกับไฟอยู่ในก้านไม้ขีด พอมันกระทบกันเข้า มันเกิดไฟขึ้นเราก็ทราบ แล้วรีบดับมันก็ง่าย ถ้าหากไปจุดบ้านจุดช่องจุดป่าจุดดง จนมันลุกลามไปใหญ่โตแล้ว ดับยาก บางทีก็ดับไม่ได้ จนไหม้ข้าวของเสียหายป่นปี้ นี่ทำนองเดียวกัน คนไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีธรรมะในตัว โกรธก็โกรธจนตาดำตาแดง จนลุ่มหลงจนฆ่าจนแกงกันก็มี แต่กว่าจะทราบว่ามันเป็นทุกข์เป็นโทษมันผิด ที่ไหนได้มันเลยเถิดเลยแดนไปแล้ว มันเลยฝั่งเลยฝาไปแล้ว รักก็เหมือนกัน มันเป็นอย่างนั้น นี่คือมันห่างไกลไปจากสติปัญญา จากธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน
เราต้องน้อมพินิจพิจารณาอยู่สม่ำเสมอ จิตใจปัจจุบันนี้มันคิดมันปรุงอะไร ตายไปขณะนี้จะไปเกิดเป็นอะไร ดูภายในจิตใจของตัวก็ทราบ ถ้าจิตใจของตัวไม่มีอรรถมีธรรม คิดปรุงติดข้องในสิ่งที่ชั่วช้าลามกสกปรก เกิดทุกข์เกิดโทษในจิตในใจ ไม่ผ่องใส ไม่สงบ มันก็ไปในทางชั่วทางเสียนั่นเอง เพราะมันมีทุกข์มีโทษอยู่ มันจะไปดีวิเศษที่ไหนได้ ถ้าจิตของเราผ่องใส จิตของเราสงบ จิตของเราเยือกเย็น เราก็บอกได้ ภพชาติข้างหน้าถ้าเราตายในปัจจุบันทันตาเดี๋ยวนี้ เราจะไปที่ไหน ก็ของดีวิเศษมันดีอยู่ เราก็ไปทางดี เมื่อมันหมดกิเลสก็ทำนองเดียวกัน ให้ดูจิตปัจจุบัน สิ่งใดเป็นพิษเป็นภัยให้ขับไล่ออกไป สิ่งใดที่ทำจิตทำใจให้สงบสุข รีบรักษาเอาไว้ รีบกระทำบำเพ็ญให้มีในจิตในใจของตน นี่คือคนฝึกฝนภาวนาชำระกิเลส
อย่าไปดูที่อื่น ดูภายใน ทำจิตทำใจให้เยือกให้เย็น ให้สุข ให้สบาย เรื่องอื่นภายนอกที่จะมารบกวนตัวของตัว ให้ทุกข์ให้โทษแก่ตัวเอง เท่ากับตัวของตัวนั้นไม่มี เพราะสิ่งอื่นภายนอก มันเห็นมันรู้เป็นบางกาลบางเวลา แต่ส่วนทุกข์โทษกิเลสตัณหาอารมณ์สัญญาในใจนี้ มันอยู่ภายใน มันให้ทุกข์ให้โทษอยู่ทุกกาลทุกสมัย ถึงไม่ได้ไปทำไม่ได้พูด มันก็คิดให้ดีใจเสียใจ ให้ทุกข์ให้โทษแก่ตัวได้ ท่านจึงให้ดูภายใน ชำระภายใน ให้มีธรรมะในใจ คนที่มีธรรมะในใจ จิตใจผ่องใส จิตใจเบิกบาน จิตใจตื่น จิตใจรู้ ท่านว่ามีพุทโธ คือตื่นอยู่ เบิกบานอยู่ ไม่ลุ่มไม่หลง หมายถึงสติ หมายถึงปัญญาในจิตในใจของตัว ดูภายใน ชำระภายใน ให้ใจมันผ่องมันใสมันสงบ
โอกาสเวลาที่เกิดมาเป็นมนุษย์มันหายาก ไม่ใช่จะเกิดง่ายๆ ถึงคนสมัยปัจจุบันเค้าทำหมันกัน เพราะมนุษย์ล้นโลก ไม่มีที่อยู่ที่อาศัย ทำไมว่าเกิดยากมันจึงมากขนาดนี้ บางท่านบางคนก็อาจจะสงสัย มันมาจากที่ไหน มันจึงมาก ให้พิจารณาหาทางสอนใจตัวเอง ถึงมันมาก มนุษย์ที่เป็นมนุษย์สมบูรณ์นั้นมันหายาก มนุษย์เดี๋ยวนี้มันเป็นมนุษย์สัตว์เดรัจฉาโนส่วนมาก คือจิตใจเป็นสัตว์ มันมาจากสัตว์ แต่ก่อนสัตว์น้ำก็ดี สัตว์บกก็ดี มันไม่อดไม่อยาก เดี๋ยวนี้มันหายาก มันตายมาเกิดเป็นมนุษย์ที่โง่เง่าเต่าตุ่น ที่ไม่ทราบอรรถทราบธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนนี่เอง มันจึงยุ่งวุ่นวาย
ผู้ที่พิจารณาหาทางแก้ไขอบรมใจของตัวให้เย็นให้สงบ โอกาสเวลามันมีถ้าหากเราชอบ เรายินดีในธรรมะ จะเดินก็ดี จะนั่งก็ดี จะนอนก็ดี จะไม่หลับเมื่อไรให้มีสติพินิจพิจารณาใจของตัว ชำระชั่วซึ่งเรียกว่ากิเลสตัณหา ให้ตกออกไป ให้หลุดออกไป ให้พิจารณาตามธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ กายของเรานี้เป็นที่ตั้งของสติ เวทนาก็เป็นที่ตั้งของสติ จิตธรรมมันก็อยู่ในนี้ ไม่ได้มีอยู่ที่อื่น นี่คือตัวสติปัฏฐาน ก้อนสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้ารับรองผู้ใดที่พิจารณาตามธรรมะของพระพุทธเจ้า มีสติปัฏฐานพิจารณาเอาสติตั้งไว้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมอยู่ทุกกาลทุกเวลา เอาที่นี้เป็นฐานของที่ตั้งทีสติ พิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงของมัน คนนั้นไม่นานจะมีความสุขความสบายในจิตในใจของตัว อย่างนานไม่เลยเจ็ดปี คนที่หยาบหนาจริงจัง จะต้องมีคติเป็นสอง ไม่ถึงเจ็ดปี เจ็ดเดือน เจ็ดวัน หรือเจ็ดนาทีก็ได้ ถ้าหากมันเป็นให้ พอจิตใจมันพลิกขณะของมัน มันเป็นแพลบเดียวเท่านั้น มันเป็นไปได้ มันละได้ ถอนได้ เข้าใจแยบคายตามเป็นจริงของมัน พระพุทธเจ้าว่าผู้ที่พิจารณาตามหลักสติปัฏฐาน จะมีคติเป็นสอง คือเป็นพระอนาคา เป็นพระอรหันต์
โสดา สกิทาคา หรือปุถุชนคนหนาท่านไม่ได้บอก ถ้าหากตั้งใจพินิจพิจารณา ท่านไม่ได้ถือว่านักบวช ไม่ได้ถือว่าฆราวาส ไม่ถือว่าผู้หญิง ไม่ถือว่าผู้ชาย ถ้าพิจารณาตามธรรมะที่สอนเอาไว้ ตั้งใจกำหนดสติปัฏฐานจริงจังจะเป็นอย่างนั้น คือจะเป็นพระอนาคาและพระอรหันต์ในชาติปัจจุบัน ในการกระทำบำเพ็ญของตน
มันอยู่ที่ไหนเล่ากาย นั่งอยู่ทุกคนนี่ไม่ใช่กายหรือ ตามสมมุติของโลกเค้าเรียกว่ากาย ตั้งสติเอาไว้ในที่นี้ กายนี้เป็นสุขสมหวังหรือไม่ หรือมันเป็นอย่างไร กายนี้น่ายินดีเลื่อมใส น่าสักการะบูชาหรือเป็นเรื่องอะไรกันแน่ ดูให้มันถี่ถ้วน ดูเรื่องของการจะพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก พิจารณาเข้าพิจารณาออกอยู่อย่างนั้น ให้มันอยู่ในนี้ สติ อย่าให้มันออกไปที่อื่น นั่งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิวก็กำหนดเอาที่มันเจ็บมันปวด ออกไปแขวนเอาไว้ ขาเอาไปแขวนไว้นู้น ขานี้เอาแขวนไว้นั้น ลำตัวเอาไว้นั้น คอเอาไว้นี้ เอาแยกกันเหมือนเค้าขายเนื้ออยู่ในตลาด ดูมันอย่างนั้นให้มันเห็น ให้มันเข้าใจชัดเจน มันเจ็บมันปวดมั้ย ที่ไหนมันเจ็บมันปวด ดูมัน แยกมันออกไป
เวลาเดินจงกรมก็สาวไส้ออกมา แขวนคอแล้วลากไปตามทางจงกรม หรือจะกำหนดคนตายกลาดเกลื่อนอยู่ตามถนน เดินจงกรมไปก็เหยียบตั้งแต่ซากผีที่ตายเพื่อจะห้ามจิตไม่ให้คิดออกไปข้างนอก ที่ไปหลงกำหนัดยินดีอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วแต่อุบายพิธีของตัวที่จะนำมาสอนจิตใจของตัว ไม่ให้ไปปรุงชั่วคิดชั่วต่างๆซึ่งเป็นทางกิเลสตัณหา เราคิดวาดภาพเอาเสียก่อน ต่อไปเมื่อพิจารณาเรื่อยๆไป จิตใจมันเกิดภายในของมัน มันเห็น มันเข้าใจชัดเจนอย่างนั้น มันจึงละจึงถอนออกได้
ถ้ามันไม่ละไม่ถอนเมื่อไร ก็เหมือนกันกับเราทานอาหาร ยังไม่อิ่ม ให้ทานไป นี่ธรรมะก็ทำนองเดียวกัน อย่าไปถือว่าอันนี้เราเคยพินิจพิจารณาแล้ว แต่กิเลสตัณหามันตกไปมั้ย หมดไปมั้ย เวลาเดิน ขานี้เราเคยเดินแล้ว จะไปหยุดอยู่มันก็อยู่นั้นหละ มันไม่ได้ไปอีก ขาเรามีสองขา เดินอยู่นี้ตั้งแต่วันเกิด จนกระทั่งวันนี้หรือจนตลอดวันตาย ก็เอาขาสองขานี่เดิน นี่การพิจารณาก็พิจารณากาย พิจารณาใจ พิจารณาธรรมะอย่างเดิมน่ะ มันไม่มีเสียหายอะไร ก็พิจารณาเพื่อขับไล่ของชั่วเสียให้ตกออกไป ไม่ใช่พิจารณาสะสมกิเลส มันถูกทั้งนั้น แล้วแต่อุบายปัญญาที่เราจะนำมาแนะมาสอนตัวของตัวเพื่อละชั่วบำเพ็ญดี
ฉะนั้นเราทุกคนที่เกิดมาได้มาศึกษา มาอบรมภาวนาก็พึงตั้งหน้าตั้งตาศึกษาอบรม ทำจิตทำใจให้ห่างไกลไปจากอารมณ์ที่ชั่วเสียต่างๆ พยายามหาความสงบ หาความสุข ความสบาย ในการกระทำบำเพ็ญให้ได้ ไม่อย่างนั้นเรามาอยู่ในวัดในวา เป็นพระเป็นสงฆ์ก็ดี เป็นฆราวาสก็ดีที่มุ่งมั่นมาปฏิบัติ ถ้าหากเราไม่ตั้งหน้าตั้งตาทำจริงจัง จิตไม่สงบ ไม่เย็น ไม่เห็น ไม่รู้ มันก็ไม่มีความสุข ความสบายให้
เลยอยู่ป่าเพียงแต่สักแต่ว่าอยู่ เหมือนกันกับพวกสัตว์ป่าเค้าอยู่ ไม่ได้รับความวิเวกทางจิตทางใจ คือวิเวกทางใจห่างไกลจากสัญญาอารมณ์ จึงเรียกว่าวิเวก คือเข้าสงบ ไม่อย่างนั้นก็ห่างไกลจากสัญญาอารมณ์ทางโลก มีธรรมะประจำอยู่ทุกโอกาสทุกเวลา คิดอะไรก็คิดไปในด้านธรรมะ พิจารณาอะไรก็พิจารณาไปเพื่อละเพื่อถอน นี่ก็คือจิตวิเวก คือห่างไกลไปจากราคะตัณหา มานะทิฐิต่างๆ ห่างไกลไปจากสมมุติที่เราเคยลุ่มหลงติดข้องมาก่อน จิตวิเวกวังเวงมีความสงบในอรรถในธรรม นี่จึงได้ชื่อว่าผู้มาปฏิบัติ ผู้มาฝึกหัดอบรมตัวของตัว ไม่อย่างนั้นก็จะไม่เห็นผลเห็นประโยชน์ให้ ศาสนาถือว่าเป็นของวิเศษประเสริฐขนาดไหน ถ้าหากใจไม่เห็น ใจไม่เป็น มันก็ไม่ประเสริฐวิเศษให้ ถ้าเราเห็นเราเป็น เราจึงจะทราบว่ามันเป็นของประเสริฐวิเศษจริง ไม่มีอะไรในโลกที่จะเหนือกว่าศาสนา
ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน เป็นของมีคุณค่าสาระมาก หากเราไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ไม่ได้ตรัสสอนเอาไว้ ตัวของเราก็จะลุ่มหลงอยู่เรื่อยไป เมื่อจิตใจเห็น จิตใจเป็นในอรรถในธรรม ยอมกราบยอมไหว้พระพุทธเจ้า และเห็นประจักษ์ว่าพระพุทธเจ้าเข้าใจในอรรถในธรรมจริงจัง ท่านแนะสอนไว้ข้อไหน เราประพฤติปฏิบัติมาเห็นความอัศจรรย์ขนาดไหน มีแล้วในโอวาทที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านผ่านไปก่อนแล้ว จึงเคารพ จึงเลื่อมใส จึงเต็มใจปฏิบัติ เพราะที่ฝึกปฏิบัติมา มันถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเห็น รู้ก่อนแล้ว ท่านจึงได้สอนไว้อย่างนี้ จิตของเราเห็นก็เข้าใจชัดเจนอย่างนั้น
ที่เรายังไม่ถึง ยังไม่รู้ ที่ท่านสอนเอาไว้ เราประพฤติปฏิบัติไปก็จะเห็นจะรู้อีกเหมือนกัน เพราะที่เรามันปฏิบัติมาแล้วก็เห็นก็รู้ตามที่ท่านแนะท่านสอนเอาไว้ จึงเคารพ จึงเลื่อมใส จึงเต็มใจอยากประพฤติปฏิบัติ จิตมันดูดมันดื่ม มันเพลิดมันเพลินในอรรถในธรรม เพลิดเพลินได้เหมือนกันกับคนเพลิดเพลินกับเรื่องของโลก เพลิดเพลินได้ หลงใหลเอาจริงเอาจังเพราะไม่มีธรรมะ ผู้ที่มีธรรมะเพลิดเพลินในสติปัญญาก็ทำนองเดียวกัน เวลามันเพลิดมันเพลิน มันไม่มีเหน็ดมีเหนื่อย มีเมื่อยมีหิวให้ เดินเท่าไรก็ไม่ได้กำหนดกาลเวลา นั่งเท่าไรก็เหมือนกัน ไม่ยอมอยากหลับอยากนอนให้เพราะจิตใจมันเพลิดเพลินกับอรรถกับธรรม เพลินไปได้ เป็นไปได้สำหรับผู้ฝึกจิตอบรมใจ มันสนุก มันเพลินในอรรถในธรรม มันเย็น มันสบาย สังเวชสลดใจ แต่สมัยที่ยังไม่เป็น ไม่เห็นอย่างนี้ มันเที่ยวไปติดไปข้องไปยินดียินร้ายในสิ่งนั้นๆ เพราะเราไม่มีธรรมะในใจ ไม่มีไฟส่องให้เห็นความสว่างของจิตของใจ มันมืด มันจึงไปงมไปติด ไปคิดไปปรุง เมื่อมันสว่างแล้วเราทราบ เราจึงเพลินในธรรมะ การปฏิบัติอรรถธรรมทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเห็นจะเป็นอย่างนั้น
ธรรมะเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเราท่านจะนำมาประดับประดารักษากาย วาจา ใจของเรา ใครมีธรรมะคนนั้นก็มีความสุข จะเป็นฆราวาสก็ตาม จะเป็นภิกษุสามเณร เป็นนักบวชก็ตาม คนที่จนธรรมะถึงจะมีข้าวของบ้านช่องใหญ่โตขนาดไหนก็ทุกข์จิตทุกข์ใจอยู่อย่างนั้น เคยเห็นทั้งที่เค้ามั่งมี ข้าวของเงินทองไม่อดอยากยากจนอะไร มาบ่นทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้ พระเจ้าพระสงฆ์ที่ท่านมีธรรมะในจิตในใจ ท่านไม่มีอะไร มีบริขารเครื่องใช้นิดหน่อยเท่านั้น ท่านก็ไม่เคยบ่นทุกข์อย่างนั้น ลำบากอย่างนี้ ท่านไม่เคยบ่น เพราะท่านมีธรรมะ ธรรมะจึงเป็นของที่มีคุณค่ากว่าเรื่องวัตถุภายนอก
พยายามสร้างธรรมะ ทำธรรมะให้เกิดให้มีเป็นที่พึ่งที่อาศัยของใจแล้ว คนนั้นก็สุขก็สบายได้ ทั้งๆที่ไม่ข้าวของเงินทองภายนอก ถ้าหากขาดธรรมะถึงจะมีสิ่งของมากมายก่ายกองขนาดไหน กิเลสตัณหาย่ำยีวีทาก็เลยไม่มีโอกาสเวลาที่จะสุข จะสงบ จะสบายให้ บ่นทุกข์ บ่นยาก บ่นลำบาก บ่นรำคาญอยู่เรื่อยไป
ฉะนั้นขอทุกท่านจงนำธรรมะไปประดับประดารักษาประพฤติปฏิบัติ ทุกคนก็จะมีความสุข ความเจริญในจิตในใจของตน การอธิบายธรรมะเห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ขอยุติเพียงแค่นี้