Skip to content

ความยืดยาวของภพชาติ

หลวงตามหาบัว ณาณสัมปันโน

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด (๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓)

| PDF | YouTube | AnyFlip |

สิ่งที่เราแก้เราถอดถอนที่เราพยายามซึ่งเรียกว่าความเพียรอยู่เวลานี้ เป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในจิตใจของสัตว์โลกมานานแสนนานนับไม่ถ้วน ในภพชาติหนึ่งๆ ของแต่ละบุคคลและสัตว์ทั่วหน้าเหล่านั้น ไม่มีอันใดยืดยาวยิ่งกว่าภพชาติที่ต่อเนื่องกันมาโดยลำดับ เพราะอำนาจแห่งเชื้อที่ฝังพืชไว้ภายในใจ พอฝังพืชไว้แล้วก็ออกมาเป็นตัวผล คือ ชาติ แล้วก็ ปิ ทุกฺขา เลยละที่นี่ สิ่งนี้ถ้าไม่มีผู้ฉลาดแหลมคมมาแนะนำสั่งสอนอุบายวิธี และชี้บอกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นภัยต่อสัตว์โลกแล้ว จะไม่มีใครทราบได้เลย เพราะเป็นสิ่งที่ละเอียดมากในไตรภพ คือธรรมชาตินี้ละเอียดที่สุด

มีพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์เท่านั้น ที่พยายามขุดค้นบุกเบิกมาโดยลำดับลำดา และได้ตรัสรู้ถ่ายทอดกันมาเรื่อย ๆ คำว่าตรัสรู้ก็คือรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนี้ การพยายามประกอบบำเพ็ญบารมี หรือประกอบความเพียรทุกประโยค ก็เพื่อจะแก้จะถอดถอนสิ่งนี้แต่ยังไม่ชัดเจน ต่อเมื่อได้เข้าบำเพ็ญจวนถึงวาระที่จะผ่านพ้นสิ่งเหล่านี้ไปได้ และได้ผ่านพ้นสิ่งเหล่านี้ไปแล้วโดยสมบูรณ์ เรียกว่าจิตบริสุทธิ์เต็มที่เพราะหมดจากสิ่งเหล่านี้แล้ว จึงสามารถรู้ได้อย่างชัดเจน และทรงบัญญัติตั้งชื่อตั้งนามสิ่งเหล่านี้ว่าคือกิเลสนี่เป็นเรื่องใหญ่ และแยกประเภทออกซึ่งเป็นรากเหง้าเค้ามูลจริงๆ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความหลงแสดงตัวออกมาจากอวิชชา อวิชชาจริง ๆ แล้วไม่ได้หลงตัวเองแต่ทำสัตว์โลกให้ลุ่มหลงได้เพราะอวิชชา นี้ท่านให้ชื่อว่ากิเลส

คำว่ากิเลสนี้ไม่มีที่อยู่นอกจากจิตของสัตว์โลกเท่านั้น อยู่กับจิต ฝังอยู่ภายในจิตอย่างแนบสนิทไม่มีทางทราบได้ ใครจะเรียนวิชาแขนงใด จบไตรเพทมาก็ตาม ในแหล่งโลกธาตุนี้ไม่มีทางที่จะทราบเรื่องเหล่านี้ และไม่มีทางจะทราบวิธีการแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้ นอกจากวิชาธรรมคือพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ท่านทรงดำเนิน วิชาธรรมเท่านั้นที่จะสามารถทราบสิ่งเหล่านี้ ว่าเป็นภัยแก่ตัวเองและสัตว์โลกทั่วๆ ไปได้ และพยายามคุ้ยเขี่ยขุดค้นแยกแยะด้วยอุบายวิธีต่างๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นสำคัญ จนสามารถแยกแยะได้ดังพระพุทธเจ้าของเราองค์ปัจจุบันเป็นตัวอย่าง

ทรงฝึกฝนอบรมพระองค์ทรมานจนถึงขั้นสลบไสล ก็เพื่อแก้หรือปราบปรามสิ่งเหล่านี้ที่เป็นภัยให้ออกจากพระทัย แต่ก็ไม่สามารถเพราะไม่ถูกวิธี ทรงย้อนกลับเข้ามาสู่อานาปานสติอันเป็นวิธีที่ถูกต้อง พร้อมทั้งสมถะและวิปัสสนา ตลอดวิปัสสนาญาณรวมอยู่ในขั้นนี้ทั้งหมด เพราะคำว่าอานาปานสตินี้มีทั้งขั้นสมถะ มีทั้งขั้นวิปัสสนาและวิปัสสนาอย่างละเอียด โดยอาศัยอานาปานสติเป็นรากฐานแห่งสมถะก่อน เมื่อละเอียดเข้าไปจิตใจก็ซึมซาบออกไปเป็นปัญญาพิจารณา จนกลายเป็นวิปัสสนาญาณ

ท่านจึงสอนไว้ว่ากำหนดลมหายใจเข้าออก คือการกำหนดลมเข้าออกในเบื้องต้นก็ทราบเพียงลมเข้าลมออกเท่านั้น ต่อไปเมื่อกำหนดรู้อยู่ด้วยสติ ลมเข้าลมออกก็ค่อยแผ่วเบาลงไปๆ ถึงขั้นละเอียด พอถึงขั้นละเอียดแล้วจิตสงบ ความสงบนี้เป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา พระองค์ก็ทรงถือเอาความสงบนี้เป็นบาทฐานหรือเป็นต้นทุน เป็นที่ก้าวขึ้นสู่ความแยบคาย จึงเคลื่อนไหวทางกิริยาของจิตได้แก่พระปัญญา พิจารณาถึงเรื่องปัจจยาการ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ นี่เข้าสู่กระแสของจิต โดยประสับประสานกันกับส่วนร่างกาย

พอออกจากร่างกายแล้วก็เป็นอานาปานสติส่วนละเอียด ก็พิจารณาถึงเรื่องความเคลื่อนไหวของจิตที่แสดงมาเป็นสังขาร ซึมซาบออกมาเป็นสัญญา ตลอดถึงแย็บออกเป็นวิญญาณ ถอยหน้าถอยหลัง หลายครั้งหลายหนด้วยความสนพระทัย อยากทราบความจริงที่มีอยู่นั้นซึ่งกำลังแสดงความจริงอยู่ตามหลักธรรมชาติของตน ปัญญาย่อมทรงทราบได้เป็นสำดับ ๆ จนสามารถแทงทะลุปรุโปร่งไปหมด จึงเรียกว่าวิปัสสนา

เคลื่อนย้ายจากฐานแห่งสมาธิคือความสงบ แล้วก็แปรสภาพสู่วิปัสสนาญาณ คือความละเอียดแห่งปัญญา จึงกลายเป็นวิปัสสนาญาณหยั่งทราบ สามารถทำลายกิเลสอาสวะ ซึ่งเคยหมักหมมหรือเคยฝังอยู่ภายในพระทัยของพระองค์มาเป็นเวลานาน ให้แตกกระจายในขณะนั้น เช่นเดียวกับความมืดซึ่งเคยมีมาตั้งกัปตั้งกัลป์ก็ตาม แต่พอเปิดไฟฟ้าขึ้นเท่านั้น ความมืดนั้นไม่ได้มีที่อ้างไม่มีที่ยืนยัน ไม่มีที่แข็งข้อได้ว่าข้าพเจ้าได้เคยมืดดำอยู่กับโลกอันนี้มาเป็นเวลานานแล้ว แม้จะเปิดไฟขึ้นมาข้าพเจ้าไม่ยอมหนีจากความมืด ไม่ยอมกลายจากความมืดไปเป็นความสว่าง พอไฟเปิดขึ้นเท่านั้นความมืดทั้งหลายก็กระจายตัวออกไปทันที มีแต่ความสว่างขึ้นในขณะเดียวกัน

นี่เมื่อปัญญาได้หยั่งทราบรอบจิตทุกด้าน ไม่มีมุมใดที่เหลืออยู่เลย แล้วความสว่างจ้า จิตที่บริสุทธิ์ก็แสดงขึ้นมาเต็มที่ นั่นเรียกว่าท่านตรัสรู้ สิ่งที่เคยฝังจมมาพาให้เป็นพืชแห่งความเกิดแก่เจ็บตายมานานแสนนาน ก็ได้พังทลายลงแล้วด้วยวิปัสสนาญาณที่หยั่งทราบละเอียดทั่วถึง สลัดปัดทิ้งไปหมดด้วยพระปัญญา จึงได้ทรงนำธรรมนี้ออกมา แยกประเภททั้งกิเลสประเภทนั้นๆ ทั้งธรรมเครื่องกำจัดกิเลสประเภทนั้นๆ จะควรทำอย่างไรต่อกัน

จึงมีวิธีการมากมายตามแต่จริตนิสัยของนักปฏิบัติหรือพุทธบริษัททั้งหลาย จะชอบในวิธีการใดบรรดาวิธีการทั้งหลายที่ทรงแสดงไว้แล้วนั้นแล้วนำมาประพฤติปฏิบัติ เช่นกรรมฐาน ๔๐ เป็นต้น นี่ยกออกมาแยกออกมาเป็นอาการๆ ซึ่งล้วนแล้วตั้งแต่เป็นวิธีการที่จะทำจิตให้สงบ และก้าวเข้าสู่วิปัสสนาจนกระทั่งถึงความหลุดพ้นได้เช่นเดียวกัน นี่มีพระพุทธเจ้าเท่านั้น และมีวิชาธรรมนี้เท่านั้นที่สามารถทำลายสิ่งที่ลึกลับฝังอยู่ภายในจิต ให้เกิดเป็นพืชเป็นผลสืบเนื่องกันเป็นความทุกข์เหมือนลูกโซ่มาโดยลำดับนี้ ได้ขาดกระจายออกไปจากใจ มีวิชาธรรมเท่านั้น ไม่มีวิชาใดในโลกนี้จะสามารถทำลายสิ่งเหล่านี้ได้นอกจากวิชาธรรม

ในวิชาธรรมทั้งหลายท่านก็สรุปความลง เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติ ย่นเข้ามาว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ย่นเข้าไปจริง ๆ ก็มีสมาธิกับปัญญานี่ซึ่งเป็นหลักใหญ่ เพราะศีลเป็นผู้รักษาอยู่แล้วด้วยดี สมาธิเพื่อตะล่อมจิตเข้ามาสู่ความสงบจะได้มีกำลัง และมีความอิ่มตัวไม่วอกแวกคลอนแคลน ไม่หิวโหยกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่เคยสัมผัสสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลาไม่มีความอิ่มพอในอารมณ์นั้นๆ เมื่อจิตได้รับการบำเพ็ญโดยทางสมถะ จะเป็นวิธีใดบทใดบาทใดแห่งธรรมที่นำมากำกับใจ เพื่อความเป็นสมถะก็ตาม จิตย่อมมีความสงบตัวเข้ามา

เมื่อจิตมีความสงบตัวเข้ามาแล้วย่อมมีพลัง เพราะกระแสของจิตที่ซ่านไปในที่ต่าง ๆ นั้นรวมตัวเข้ามาสู่ความรู้ดวงเดียวคือจิต เมื่อจิตได้รวมกระแสเข้ามาสู่จุดเดียว ย่อมเป็นกำลังและมีความอิ่มตัว ไม่หิวไม่โหยกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่เคยสัมผัสสัมพันธ์ ที่เคยหิวเคยโหยอยู่ตลอดเวลานั้น มีแต่ความอิ่มเอิบความสงบเย็นใจ จากนั้นก็นำจิตที่มีความอิ่มตัวในขั้นนี้ออกพิจารณาทางด้านปัญญา จะพิจารณาเรื่องอสุภะอสุภังความปฏิกูลโสโครกในสิ่งต่างๆ ในร่างกายของตนทั้งภายนอกภายในหมดทั้งร่างนี้ และร่างกายของบุคคลอื่นสัตว์อื่นทั่วแดนโลกธาตุให้เห็นเป็นสภาพเหมือนกันนี้หมด นี่เรียกว่าวิปัสสนาปัญญา

จิตเมื่อมีความสงบตัวอิ่มตัวแล้วเราพาทำงานแยกแยะพิสูจน์สิ่งต่าง ๆ โดยทางวิปัสสนา ย่อมยอมทำงานให้เราอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่เถลไถลเพราะความหิวโหยฉุดลากไป เพราะฉะนั้นสมาธิจึงเป็นเครื่องหนุนปัญญา ลบล้างกันไปไม่ได้ สมาธิกับปัญญาเป็นคู่เคียงกัน เมื่อปัญญาได้พิจารณาร่างกายส่วนต่าง ๆ ย่อมจะซึมซาบเข้าไปถึงส่วนทั้งหลายที่มีอยู่ภายในร่างนี้ทั่วถึงกัน จะพูดถึงเรื่องอสุภะคือความปฏิกูลโสโครกในร่างกายทั้งภายนอกภายใน เต็มไปทั้งร่างนี้ก็เห็นได้ชัดด้วยปัญญา จะแยกออกไปพิจารณาสิ่งภายนอกให้เป็นอสุภะอสุภังเหมือนกันก็เป็นได้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นสภาพเหมือนกัน

ถ้าพิจารณาถึงไตรลักษณ์ จะเป็นไตรลักษณ์ใดก็ตามไม่สำคัญ ไม่จำเป็นจะต้องพิจารณาทั้ง ๓ ไตรลักษณ์ในเวลาเดียวกัน เรามีความหนักแน่นมีความสนใจมีความถนัดในไตรลักษณ์ใด จิตย่อมสัมผัสสัมพันธ์กับไตรลักษณ์นั้น นำไตรลักษณ์นั้นเข้ามาพิจารณาเทียบเคียง เช่น อนิจฺจํ ความแปรสภาพ เราจะเห็นความแปรสภาพอยู่ทุกขณะของร่างกายและอาการของจิต เป็นที่ซาบซึ้งถึงจิตว่าเป็นความจริงอย่างนั้นแน่นอน ทุกฺขํ ก็เหมือนกัน เรื่องความเป็นทุกข์ มีตรงไหนที่ไม่เป็นทุกข์ มันก็เป็นเหมือนกัน ก็ซึ้งในเรื่องความทุกข์ที่อยู่ในท่ามกลางแห่งความทุกข์แท้ ๆ

จิตของเรานี้อยู่ในท่ามกลางแห่งความทุกข์ความทรมาน  ความบีบคั้นบังคับอยู่ตลอดเวลา ทำไมจึงรื่นเริงบันเทิง จึงว่าจะมีความสุข มีความสุขที่ไหนนอกจากมีแต่ลมแต่แล้ง หลักธรรมชาติแท้ๆ จิตนี้ถูกบีบอยู่ด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา พร้อมทั้งผลของมันที่แสดงออกมาให้เป็นความทุกข์ความทรมานใจ ผลิตออกเป็นร่างกายขึ้นมาเพราะพืชแห่งอวิชชานั้น มันก็คือก้อนแห่งความทุกข์ แน่ะ เราพิจารณาแยกแยะไปอย่างไร มันก็เป็นทุกข์ไปได้ทุกแขนงทุกแง่ทุกมุมตามแต่ความถนัดใจ จนถึงกับซึ้งจริงๆ ภายในจิตใจ จะพิจารณาเป็น อนตฺตา เราจะหาสาระแก่นสาร หาสัตว์หาบุคคล หาเราหาท่าน หาของเราของเขาหาที่ไหน มันเป็นสภาพแห่งความจริงอันหนึ่ง ๆ ที่ปรากฏตัวอยู่เท่านั้น

ธรรมทั้ง ๓ ประเภทคือไตรลักษณ์นี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นแต่เพียงว่าอาการ เหมือนกับข้างหน้าข้างหลัง ข้างซ้ายข้างขวาของบุคคลคนหนึ่งเท่านั้น แต่อาศัยร่างกายนี้เป็นรากฐาน ข้างหน้าข้างหลัง ข้างซ้ายข้างขวาออกจากร่างกายอันนี้ นี่วัตถุหนึ่งๆ อาการหนึ่งๆ นั้นเหมือนกับร่างกาย ไตรลักษณ์ก็อยู่ด้วยกันนั้นทั้ง ๓ เพราะฉะนั้นการพิจารณาไตรลักษณ์ใด จึงสามารถซึมซาบไปถึงไตรลักษณ์ทั้งหลายได้โดยไม่ต้องสงสัย สุดท้ายก็ลงใน ธมฺมา อนตฺตา ไม่นอกเหนือไปจากนี้ได้เลย วิ่งเข้าถึงนั้นทีเดียว นี่การพิจารณาขอจงทำให้จริงให้จัง

ของจริงมีอยู่แล้วในร่างกายและจิตใจของเรา ไม่เคยเสื่อมคลายไม่เคยสูญหายไปไหน ไม่เคยด้อยไม่เคยลดความจริงของตนลงไป พูดถึงเรื่อง อนิจฺจํ ก็ดี ทุกฺขํ ก็ดี อนตฺตา ก็ดี พูดถึงเรื่องความเกิดแก่เจ็บตาย ความสลายพลัดพรากประการต่าง ๆ มันก็มีสมบูรณ์อยู่ที่ร่างกายและจิตใจของเรานี้ คำว่าจิตใจของเรานี้มันมีอวิชชาอยู่ในนั้น เราจึงต้องพูดอย่างนี้ ถ้าบริสุทธิ์แล้วจิตไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่นี้มันไม่บริสุทธิ์ ธรรมชาติซึ่งเป็นสมมุตินี้มันมีอยู่ภายในจิตใจ จึงต้องเรียกถึงร่างกายจิตใจ มันเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ตาม ๆ กันไปหมด เพราะไตรลักษณ์มันก็มีอยู่ภายในใจ ใจมีสมมุติ ใจมีพืช ใจจึงต้องเป็นสมมุติ ใจจึงต้องเป็นไตรลักษณ์ได้ เราต้องแยกต้องแยะให้ถึงเหตุถึงผลถึงหลักถึงฐานของมันถึงจะปลดเปลื้องไปได้

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราดำเนินอยู่เวลานี้ไม่มีอะไรขาดตกบกพร่องหรือด้อยกว่าครั้งพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายท่านทรงบำเพ็ญและดำเนินกันมา ถ้าพูดถึงเรื่องสติปัญญาก็ทรงสอนแบบเดียวกัน การพิจารณาสภาวธรรมต่าง ๆ ด้วยสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ก็ทรงสอนแบบเดียวกันหมด เพราะสิ่งเหล่านี้มีเหมือนกัน สติเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการบำรุงเพื่อความสามารถแก่กล้า ปัญญาเพื่อความเฉลียวฉลาดเช่นเดียวกัน ความขี้เกียจขี้คร้าน ความอ่อนแอ ความเถลไถล เหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสเหมือนกันหมดกับครั้งนั้นครั้งนี้ ใครมีความขยันหมั่นเพียร ใครมีความอุตส่าห์พยายาม ใครเป็นนักใคร่ครวญพินิจพิจารณาทั้งข้างนอกข้างในอยู่โดยสม่ำเสมอ ด้วยความมีสติ ผู้นั้นจะก้าวไปได้เร็วผิดปกติอยู่มาก หลักการดำเนินให้ดำเนินอย่างนี้

เราอย่าคาดอย่าหมายมรรคผลนิพพานว่าจะอยู่ในสถานที่ใด นอกจากจะสนใจขุดค้นลงในวงแห่งสัจธรรมนี้ ให้รู้แจ้งเห็นจริงในความจริงทั้งหลาย ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้เป็นเวลา ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้วว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ทุกข์เป็นสภาพแห่งความจริงอันหนึ่ง สมุทัย อริยสจฺจํ สมุทัยก็เป็นความจริงอันหนึ่ง กิเลสมันก็เป็นความจริงของมัน มคฺค อริยสจฺจํ เครื่องดำเนินเพื่อแก้กิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่าง ๆ ก็เป็นความจริงอันหนึ่ง นิโรธคือความดับสนิทแห่งทุกข์เพราะอำนาจแห่งมรรคทำหน้าที่โดยสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นธรรมของจริงอันหนึ่ง ให้ขุดค้นลงที่ตรงนี้

ไม่มีสิ่งใดที่จะกีดกันมรรคผลนิพพาน กาลสถานที่ไม่มีอำนาจเท่ากิเลสที่มีอยู่ภายในจิตใจของเรา เป็นธรรมชาติที่กีดกั้นมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้นจงฟาดฟันกิเลสทั้งหลายซึ่งเป็นสัจธรรมแต่ละอย่างๆ นั้นลงที่ดวงใจของเรา อันเป็นสถานที่อยู่แห่งกิเลสทั้งหลายนี้ด้วยมรรค คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องของมรรค เอาให้แหลกแตกกระจายลงที่ตรงนี้ คำว่านิโรธคือความดับทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่จะแสดงตัวขึ้นมาตามอำนาจแห่งมรรคที่ทำหน้าที่ได้มากน้อยเพียงไร

ถ้ามรรคมีกำลังเต็มที่ คือ สติปัญญามีความเฉลียวฉลาดสามารถปราบกิเลสได้หมด คือโดยประการทั้งปวงไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว นิโรธคือความดับทุกข์ก็ดับสนิท เพราะกิเลสอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้นดับไปแล้วอย่างสนิท ทุกข์จะออกมาจากไหน จะเกิดมาจากไหน เมื่อต้นเหตุของทุกข์ได้ดับไปแล้ว มันอยู่ที่ตรงนี้คืออยู่ที่กาย รวมลงแล้วอยู่ที่ใจ กายกับใจเป็นสิ่งเกี่ยวเนื่องกัน อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นถือหมด ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะส่วนใดเป็นเรื่องสมุทัยของจิตทั้งนั้น เพราะอำนาจแห่งอุปาทาน อุปาทานสืบเนื่องมาจากความสำคัญผิด ความลุ่มหลง เพราะฉะนั้นจึงต้องแก้กันด้วยสติปัญญา มีศรัทธาหรือความเพียรเป็นเครื่องสนับสนุน ทำให้จริงให้จังอย่าทำเหลาะแหละ

เรามีบกพร่องตรงไหนให้ทราบว่า ความบกพร่องนั้นคือกิเลส อย่าเข้าใจว่าความบกพร่องนั้นเป็นของดี เป็นอรรถเป็นธรรม เช่นความท้อถอยความอ่อนแอ ความโงกง่วง ความขี้เกียจอ่อนแอเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทบริวารของกิเลสทั้งมวล ที่คอยกระซิบกระซาบคอยกล่อมเราให้พลั้งให้เผลอให้เคลิ้มหลับไปทั้งนั่งทั้งที่ทำความเพียรอยู่นั้น ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นอุบายวิธีการของกิเลสทั้งมวล

ไม่ได้อยู่ที่ไหนกิเลส อยู่ที่ใจ ในขณะที่เรากำลังประกอบความพากเพียรอยู่นั้นแล กิเลสก็อยู่ในที่นั่นด้วย ถ้ามีสติสตังตั้งอยู่เมื่อไร เรื่องของกิเลสต่าง ๆ ก็ไม่แสดงความรุนแรงขึ้นมามาก ถ้าจิตแย็บออกจากองค์แห่งความเพียรเมื่อไรแล้ว พึงทราบว่ากิเลสทำหน้าที่แทนความเพียรโดยไม่ต้องสงสัย นี่เป็นสิ่งสำคัญ ผู้ปฏิบัติจงสังเกตอาการของจิตที่คิดปรุงแต่งในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นเรื่องของสติปัญญา หรือเป็นเรื่องของกิเลสในขณะที่ประกอบความเพียร ส่วนมากมักจะเป็นเรื่องของกิเลสออกแสดงตัวเพ่นพ่านอยู่บนเวทีแห่งความเพียรของเรา

นั่งภาวนาจิตใจหาความสงบไม่ได้ก็เพราะกิเลสทำงาน จิตฟุ้งซ่านรำคาญ ทำให้เผลอไผลอยู่เรื่อยๆ นั่นละกิเลสมันมาตัดมารังควาน มากีดมาขวางให้สติปัญญาขาดวรรคขาดตอน  ผลที่จะพึงได้รับเป็นความสงบจึงไม่ค่อยปรากฏ เพราะกิเลสมาทำการกีดขวาง โดยที่เราไม่รู้สึกตัวอยู่ในขณะที่เราประกอบความเพียร นั่งสมาธิภาวนาอยู่นั้นแล เดินจงกรมก็เหมือนกัน ถ้าจิตเผลอคิดส่งไปไหนและอารมณ์อันใด ร้อยทั้งร้อยเป็นอารมณ์ของสมุทัยคือกิเลสทั้งมวล แล้วเราจะหวังเอาผลคือความสงบเย็นใจหรือความแยบคายมาจากไหน เมื่อมีแต่กิเลสทำหน้าที่ของตนอยู่บนความเพียรในท่าต่าง ๆ ในอิริยาบถต่าง ๆ ของเราแล้ว เราจึงควรคิดให้มากในสิ่งเหล่านี้

ธรรมของพระพุทธเจ้านั้นเราทราบแล้ว และเป็นความจริงเต็มส่วนอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่เหนือกิเลส ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่เหนือกิเลส ไม่เช่นนั้นไม่สามารถจะปราบกิเลสให้อยู่ในเงื้อมมือหรือให้สิ้นซากไปได้ เราจงนำธรรมที่เหนือกิเลสนั้นเข้ามาใช้อยู่เสมอ เช่น สติปัญญา ความเพียรก็ให้เหนือกิเลส ความอดความทนก็ให้เหนือกิเลส สติที่ตั้งรักษาตัวเองก็ให้เหนือกิเลส ปัญญาอุบายแยบคายต่าง ๆ ที่จะปลดเปลื้องสิ่งจอมปลอมคือกิเลสทั้งหลายออกไปนั้นก็ให้เหนือกิเลส เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เราพร้อมมูลไปโดยลำดับเหนือกิเลสอยู่โดยลำดับแล้ว กิเลสจะไม่มาทำงานบนเวทีแห่งความเพียรของเราได้เลย

ส่วนมากมีแต่กิเลสทำงานอยู่บนเวทีแห่งความเพียรของเราโดยที่เราไม่รู้สึก เรามีแต่หมายลมหมายแล้งไปอย่างนั้นว่าเราทำความเพียร เดินจงกรมได้เท่านั้นชั่วโมง นั่งสมาธิภาวนาได้เท่านั้นชั่วโมง ประกอบความเพียรอยู่ในท่าต่าง ๆ ได้เท่านั้นชั่วโมงได้เท่านั้นนาที เป็นแต่เพียงความคาดความหมาย ความคิดเอาลมๆ แล้งๆ หลักธรรมชาติแท้เราหาทราบไม่ว่า เวลาเท่านั้นชั่วโมงเท่านี้ชั่วโมงในความเพียรท่าต่างๆ นั้น มันล้วนแล้วแต่เป็นท่าความเพียรของกิเลสมาทำงานอยู่ในวงแห่งความเพียรของเรา ผลจึงไม่ค่อยปรากฏ นี่เป็นสิ่งที่เราควรจะคิดให้มาก

ผู้ต้องการธรรมให้เหนือกิเลสต้องได้ผลิตขึ้นเสมอ ต้องตั้งสติ ความเพียรหนุนตัวเองเข้าไปเสมอ ความอดความทนต้องให้เหนือกิเลส กิเลสจะทำให้อ่อนแอ จะทำให้ขี้แย จะทำให้อ่อนเปียกไปหมด ความเพียรต้องให้มีความเข้มแข็ง มีความขยัน มีความอดทน มีความเข้มแข็ง นี่แก้กันกับกิเลสประเภทนั้น ๆ ความซึมเซา ความไม่คิดอ่าน ความไม่เอาไหน ล้วนแล้วแต่เป็นโมหะคือกิเลสประเภทครอบงำให้มืดมิดปิดตา

ให้พยายามใช้สติปัญญาสอดส่องพินิจพิจารณาหาเหตุหาผล ทั้งใกล้ทั้งไกลแยกแยะ ด้วยความรู้สึกมีสติเป็นเครื่องกำกับการพิจารณาของตนอยู่เสมอ ชื่อว่าเราทำความเพียรอยู่ในวงความเพียร ไม่ใช่กิเลสมาทำหน้าที่ของเขาอยู่ในวงความเพียร หรือบนเวทีความเพียรของเรา นี่เป็นหลักใหญ่ที่เราทั้งหลายจะพิจารณาให้ถึงใจ

ผู้ต้องการมีความเฉลียวฉลาดเพื่อปราบปรามกิเลสให้อยู่ในเงื้อมมือ ต้องผลิตความเฉลียวฉลาดให้ทันกับกลมายาของกิเลสซึ่งมีความแหลมคมมาก ในโลกธาตุนี้ไม่มีอุบายใดที่จะแหลมคมยิ่งกว่ากลมายาหรืออุบายของกิเลส ซึ่งเคยครองหัวใจสัตว์โลกมาเป็นเวลานาน นี่หัวใจเราก็เต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ฉลาดเหนือหัวใจเรา จึงได้ครองหัวใจเรา

ทีนี้เราพยายามนำสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรอันเป็นฝ่ายธรรมนี้เข้าไปชะล้าง เข้าไปกำจัด เข้าไปปราบปราม เข้าไปทำลาย ให้สิ่งเหล่านั้นสลายหายสูญไปโดยลำดับๆ จนกระทั่งไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่ภายในจิตใจนั้นเลย เหลือแต่ธรรมล้วนๆ เป็นธรรมแท้ธรรมบริสุทธิ์ ธรรมโดยหลักธรรมชาติ เมื่อถึงขั้นนั้นแล้วเรายิ่งรู้เรื่องได้ชัดเจนว่า อ๋อ การที่ความเคลื่อนไหวไปมาของจิตแต่ละอาการ ๆ นี้ ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นเครื่องเชิดของกิเลสทั้งมวล กิเลสอยู่ฉากหลัง

ทีนี้พอกิเลสนั้นสิ้นไปแล้ว อาการใดแสดงออกก็เป็นไปตามหลักธรรมชาติของตน ขันธ์ก็เลยกลายเป็นขันธ์ล้วนๆ เพราะไม่มีสิ่งมาบังคับ นอกจากธรรมซึ่งเป็นเจ้าของ ธรรมเป็นเจ้าของก็ไม่ได้ยึดขันธ์ทั้ง ๕ นี้ว่าเป็นตน เราจึงจะเห็นได้ชัดว่าไม่มีสิ่งใดที่จะก่อกวนหรือยุแหย่ทำลายบีบคั้นให้ได้รับความทุกข์มากน้อย นอกจากกิเลสเท่านั้น เมื่อกิเลสสิ้นลงไปจากจิตใจแล้ว ไม่มีอันใดที่จะมาทำลายเลย ไม่มีอันใดที่จะมาทำจิตให้กระเพื่อมไปด้วยความขุ่นมัวมั่วสุมหรือได้รับความทุกข์ความทรมาน มีแต่ความเป็นอิสระอยู่โดยลำพังตนเองโดยหลักธรรมชาติ เป็นอกาลิกจิต อกาลิกธรรม หากาลสถานที่ไม่ได้ เป็นหลักธรรมชาติอยู่นั้นตลอดอนันตกาล

เพราะฉะนั้นท่านผู้ที่สิ้นจากสิ่งกดขี่บังคับ กลายมาเป็นจิตอิสระแล้วท่านจึงไม่หมายป่าช้า ไม่หมายการเกิดการตาย ไม่หมายสถานที่นั่นที่นี่ สูง ๆ ต่ำ ๆ ภพนั้นชาตินี้อะไรท่านไม่หมาย เพราะท่านเจอความจริงความเหมาะสมความพอดี ความอิ่มพอเต็มหัวใจแล้ว ไม่ได้หิวโหยเหมือนอย่างแต่ก่อน เพราะอำนาจของกิเลสพาให้สัตว์โลกหิวโหยไม่มีความอิ่มพอเลย พอจิตได้เป็นอิสระเต็มที่ด้วยธรรม ธรรมกับจิตกลายเป็นอันเดียวกันแล้วจึงหมดความหิวโหย เป็นความพอตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่คาดโน้นคาดนี้อดีตอนาคต สถานที่นั่นที่นี่ ซึ่งเป็นเรื่องของสมมุติที่เคยหลอกมานาน เป็นอันว่าหมดปัญหาไปโดยสิ้นเชิง เหลือแต่หลักธรรมชาติล้วนๆ นั้นแหละพระขีณาสพทั้งหลายท่านเป็นอย่างนั้น

เวลาธาตุขันธ์สลายลงไปก็เป็นเรื่องของธาตุของขันธ์สลายตัวลงไป โดยที่ท่านทราบไว้รอบคอบหมดแล้ว ทราบไว้ตลอดทั่วถึงแล้วตั้งแต่ตรัสรู้แล้วโน้น บรรลุธรรมแล้วโน้น เมื่อถึงกาลเขาจะทำหน้าที่ตามความสัตย์จริงที่ได้ทราบไว้แล้วก็จะมีปัญหาอะไร ปล่อยลงไปตามสภาพแห่งความสลายเพราะมาจากสิ่งผสม เมื่อผสมกันแล้วก็ต้องสลายจากความผสมนั้นลงไปสู่ธาตุเดิมของตน จิตผู้ไม่มีความบกพร่องต้องการสิ่งใดบรรดาสมมุติที่อยู่ในโลก แม้แต่ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งเป็นต้น ย่อมเป็นจิตที่หายห่วงหายกังวล อนาลโย อยู่ด้วยความพอตัว ไม่ต้องพึ่งพิงอิงอาศัยอันใดอีกแล้ว เพราะทั้งหมดนั้นเป็นสมมุติทั้งมวล จิตนี้เป็นวิมุตติหลุดพ้นแล้ว จึงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ข้องแวะกับบรรดาสมมุติใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะได้รู้แจ้งแทงตลอดหมดแล้ว นี่คือผลแห่งการปฏิบัติทางด้านจิตตภาวนาของผู้มีความพากเพียรเต็มเม็ดเต็มหน่วย

จะไม่คาดไม่หมายถึงเรื่องภพเรื่องชาติว่าจะเกิดในสถานที่ใด พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปนานแล้วหรือไม่นานเพียงใด จะไม่ไปยุ่ง นอกจากทำงานอยู่ในวงสัจธรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้วอันเป็นธรรมของจริงแท้ ของจริงของแท้ ๔ อย่าง ทุกข์ดับไปแล้วเพราะสมุทัยดับไป ด้วยอำนาจของมรรคมีสติปัญญาเป็นสำคัญ นิโรธเป็นกิริยาอันหนึ่งแห่งความดับทุกข์เท่านั้น ผู้ที่รู้ว่าทุกข์ สมุทัย หรือนิโรธทำงานสำเร็จเสร็จสิ้นลงแล้วนั้นคือผู้บริสุทธิ์ ผู้นี้ไม่ใช่สัจธรรม เป็นธรรมชาติที่เหนือสัจธรรมนี้โดยประการทั้งปวง

เพราะสัจธรรมทั้ง ๔ นี้ยังเป็นสมมุติ มรรคคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นสมมุติ แต่เป็นสมมุติฝ่ายแก้ เป็นสมมุติฝ่ายปราบปรามสิ่งที่เป็นข้าศึกคือสมุทัย นิโรธก็เป็นสมมุติ ผู้ที่รู้ว่าทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทำงานเสร็จโดยสมบูรณ์แล้วนั้น คือจิตที่บริสุทธิ์เต็มที่ ผู้นี้แลผู้หมดปัญหา หมดลงที่จิตใจไม่หมดอยู่ที่ไหนนะ หมดอยู่ที่จิตใจนี้เป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นจงพยายามถอดถอน รื้อถอน ปราบปรามสิ่งที่เป็นข้าศึกซึ่งหุ้มห่อปิดบังจิตให้มืดมิดปิดตานี้ออกให้สว่างกระจ่างแจ้ง ด้วยความพากเพียรมีสติปัญญาเป็นสำคัญ ที่จะสามารถทราบหรือสามารถทำลายสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ได้ นี่เป็นจุดสำคัญของผู้บำเพ็ญ

เราเป็นนักปฏิบัติ เป็นพระ มีหน้าที่ที่จะรื้อถอนกิเลสตัณหาอาสวะออกจากจิตใจ ให้ถือว่างานนี้เป็นงานสำคัญสำหรับของพระ เป็นคู่ชีวิตจิตใจของเราแท้คือความเพียรเพื่อถอดถอนกิเลส เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เป็นงานที่ชอบธรรม เป็นงานที่ชอบยิ่ง เป็นงานที่เหมาะสมกับผู้มีความมุ่งมั่นต่อความพ้นทุกข์ นอกจากนั้นเป็นกรณีพิเศษ มิหนำซ้ำยังย้อนเข้ามาเป็นความกังวลและเป็นข้าศึกต่องานอันสำคัญนี้อีกด้วย จึงไม่ควรกังวลกับงานใด

เฉพาะอย่างยิ่งในพรรษาโดยเฉพาะวัดป่าบ้านตาดนี้ ได้เปิดโอกาสให้หมู่คณะประกอบความพากเพียรเต็มสติกำลังความสามารถของตน โดยไม่ให้มีงานใดเข้ามายุ่ง แม้แต่เวลาอื่นๆ เราก็ระมัดระวังมาก งานหยาบอันจะมาทำลายงานละเอียด เช่น มรรคหยาบ เช่นว่าสัมมากัมมันตะ งานหยาบจะมาทำลายสัมมากัมมันตะอันเป็นงานละเอียด งานละเอียดคืองานประกอบความเพียรเพื่อชำระกิเลส งานนอกนั้นจัดนั้นทำนี้ยุ่งไปหมดนั้นเป็นงานกังวล เราจึงไม่ให้มีถ้าไม่จำเป็นที่จะต้องมีจริง ๆ

เพราะงานนี้เป็นงานสาระสำคัญแก่เรามากทีเดียว พระพุทธเจ้าท่านได้หลุดพ้นจากทุกข์เพราะงานนี้ ผลของงานนี้คือความหลุดพ้นของพระพุทธเจ้า ผลของงานนี้คือความหลุดพ้นของสาวกทั้งหลายท่าน งานนี้หมายถึงงานเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ถือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ และอาการ ๓๒ เป็นงานอันสำคัญพินิจพิจารณาคลี่คลายให้เห็นตามหลักความจริงทุกสัดทุกส่วน จะแยกเป็นทางอสุภะอสุภังก็รอบทิศรอบด้านไม่สงสัย จะแยกเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ในขันธ์ทั้ง ๕ นี้เต็มอยู่แล้วด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นของจริงล้วน ๆ เป็นไตรลักษณ์ล้วน ๆ อยู่แล้ว นอกจากปัญญาไม่เกิดหรือปัญญาเซ่ออยู่เท่านั้นจึงไม่มองเห็นความจริงที่มีอยู่

เมื่อปัญญาได้ผลิตตัวขึ้นมาสมควรที่จะทราบความจริงที่มีอยู่แล้วทำไมจะไม่ทราบได้ ต้องทราบได้โดยสมบูรณ์ไม่ต้องสงสัย เมื่อทราบ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ทั้งธาตุทั้งขันธ์ ทั้งสิ่งที่แทรกสิงอยู่ภายในจิตหรือซึมซาบอยู่ภายในจิต ฝังจมอยู่ภายในจิต ว่าเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ด้วยกันแล้ว เป็นสิ่งที่จะควรสลัดปัดทิ้งโดยประการทั้งปวงด้วยกันแล้ว สิ่งเหล่านี้ย่อมจะสลายลงไปด้วยอำนาจของปัญญาเช่นเดียวกันหมด

จึงขอให้ท่านทั้งหลายมีความมั่นใจต่อการประพฤติปฏิบัติ หน้าที่การงานของตนอันเป็นความเหมาะสมแล้วนี้ ให้มีความเจริญด้วยความพากเพียร ด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรของตนอย่าได้ลดละ ให้ถือว่านี้เป็นที่พึ่งของเราแท้ นอกนั้นไม่ใช่ที่พึ่ง แม้แต่ร่างกายยังพึ่งมันไม่ได้ วันหนึ่ง ๆ มันรบกวนเราขนาดไหนเห็นไหม เราไม่สังเกตบ้างเหรอ เดี๋ยวหิวเดี๋ยวกระหายเดี๋ยวเจ็บนั้นปวดนี้ รบกวนตลอดเวลา ทั้งหลับทั้งนอนทั้งกินทั้งขับทั้งถ่าย ล้วนแล้วแต่เป็นการรบกวนของธาตุของขันธ์

ถ้าสติปัญญามีอยู่แล้ว จะทราบความสัมผัสสัมพันธ์แห่งการรบกวนนี้อยู่ตลอดเวลา แล้วไหนจะมาถือว่าเป็นเราเป็นของเรา พอจะภาคภูมิใจกับสิ่งเหล่านี้ นอกจากจิตที่จะถอนตัวออกจากความห่วงใยพัวพันนี้ โดยบริสุทธิ์พุทโธแล้วเป็นเอกสิทธิ์ เป็นอิสรเสรีภายในตนเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นที่เราจะเป็นที่มั่นใจ มีเท่านี้เป็นหลักแห่งความมั่นใจของเรา จึงขอให้ท่านทั้งหลายมีความตั้งอกตั้งใจ

การแสดงธรรมก็หยุดเพียงแค่นี้

พูดท้ายเทศน์

อุบายวิธีการใดที่ได้สอนลงไปนั้นน่ะ เราเป็นที่แน่ใจ สอนด้วยความแน่ใจ ให้ปฏิบัติได้เลย เราไม่สงสัยในการสอนหมู่เพื่อนว่าเห็นจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราแน่ใจทุกบททุกบาท ทุกอุบายวิธีการที่ได้เคยปฏิบัติและได้เคยผ่านมาแล้วประจักษ์ใจนำมาสอนหมู่เพื่อน จึงกล้าพูดได้ตามที่ได้ผ่านมาแล้วนั้น การต่อสู้กับกิเลสถ้าเราไม่ได้ผ่านมาเสียก่อนนี้ลำบากมาก จึงต้องอาศัยผู้ที่ได้ผ่านมา เช่น ครูบาอาจารย์ท่านเคยปฏิบัติเป็นที่เข้าใจมาเรียบร้อยแล้ว ท่านสอนเราจุดไหนถูกๆ ให้เรายึดหลักนั้นไว้อย่าให้เคลื่อนคลาด นี้เป็นหลักสำคัญทีเดียว

ในโลกอันนี้ไม่มีอันใดไม่มีสิ่งใดที่จะลำบาก ที่จะต่อสู้ยากยิ่งกว่ากิเลส เพราะกิเลสมันเหนือเราอยู่แล้วโดยปกติ ธรรมเราพึ่งจะมีมาจะไปเหนือกิเลสได้ยังไง จึงต้องผลิตขึ้นเรื่อยๆ ความเพียรผลิตขึ้นจนเหนือกิเลส สติปัญญาผลิตขึ้นให้เหนือกิเลส เมื่อเหนือแล้วกิเลสก็ลดลงไปๆ ทีแรกนี้เดินไปที่ตรงไหนถ้าหากเราเทียบทางด้านวัตถุ มีแต่ขวากแต่หนามเต็มไปหมดจนหาที่เหยียบย่างเท้าลงไปไม่ได้นั่นแหละ มันเต็มไปด้วยขวากด้วยหนามคือกิเลส ความเพียรจะในท่าใดอิริยาบถใดก็ตามมันมีแต่กิเลสซ่องสุมอยู่ตลอดเวลา จนหาที่หยั่งธรรมลงไม่ได้โน่นน่ะ

เราจะทราบได้เมื่อสติปัญญามันทันกัน พอทันกันแล้วเราก็รู้ฤทธิ์ของกันและกัน ทีนี้มันมีวิธีหลบหลีกปลีกตัวและต่อสู้กันด้วยอุบายต่างๆ ได้เป็นลำดับๆ จนกระทั่งถึงสติปัญญาเกรียงไกรแล้วที่นี่กิเลสหมอบ หมอบนั้นไม่ใช่อะไรเป็นอุบายของมันเหมือนกันนะ คือกิเลสหมอบนั้นน่ะ อุบายของมันมันหลบฉาก ไม่ใช่มันหมอบกลัวเรานะ มันหลบฉาก แล้วคุ้ยเขี่ย นี่ก็เป็นงานอันหนึ่งของสติปัญญาขั้นนี้ ขั้นอัตโนมัติ ขั้นหมุนตัวไปเองไม่อยู่เฉยๆ มันหมุนของมัน มันหมุนคุ้ยเขี่ยขุดค้นหา เหมือนกับว่ากิเลสมันสิ้นไปเลยนั่นนะ มันไม่ได้สิ้นนะ

ถ้ายังไม่ประกาศเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ขึ้นเมื่อไรแล้วเราจะลงใจไม่ได้ เรื่องกิเลสแหลมคมขนาดนั้น เฉพาะอย่างยิ่งราคะเป็นสำคัญมาก นี่เคยปฏิบัติมาแล้วหมอบราบทีเดียว จนกระทั่งเกิดความกล้าหาญชาญชัย เอ้า จะให้มีแต่ผู้อย่างสำคัญ ๆ ทั้งนั้นรุมเป็นตับอยู่นี้น่ะ เราจะเดินบุกเข้าไปนี้ไม่ให้มีความกำหนัดยินดีอะไรเลย นู่นน่ะมันอาจหาญขนาดนั้น นั่นไม่ใช่มันหมดนะ ไม่สิ้นนะ มันกล้าหาญ นั่นมันหลบฉากเราไม่รู้ เมื่อเราพลิกไปพลิกมาหาท่าหาทางหลายตลบทบทวนด้วยอุบายปัญญาของเรา มันโผล่ขึ้นมาจนได้ ฟาดกันลงไป เอ้า ถ้ามันลงจริงจังของมันแล้วไปทดลองกันทำไม กล้าหาญไปหาประโยชน์อะไร ความกล้าหาญมันก็ผิด นั่น แต่มันถูกในขั้นนั้น

เวลาผ่านไปแล้วรู้ความกล้าหาญก็เป็นบ้าอันหนึ่งเหมือนกัน บ้ากลัวแล้วก็บ้ากล้า บ้ายินดีแล้วบ้ายินร้าย มันเป็นคู่กันเลย พอมันเต็มที่ของมัน เป็น สนฺทิฏฺฐิโก เต็มตัวแล้วทดลองอะไร นั่นมันถึงตายตัว มันรู้ พระพุทธเจ้าบอกแล้ว ท่านแสดงไว้แล้วว่า สนฺทิฏฺฐิโกๆ ฟังซิ ประจักษ์โดยลำดับๆ ประจักษ์เต็มที่ก็ต้องเต็มที่ ถึงขั้นธรรมเต็มที่ต้องเต็มที่ เอาให้มันจริงมันจังอย่างนั้นซิ ฟาดมันสะบั้นหั่นแหลกลงไป

ปัญญาละสำคัญ ให้ใช้เสมอนะปัญญา ปัญญากับสมาธิเป็นคู่เคียงกันไป อย่าคอยแต่ว่าสมาธิเท่านั้นเท่านี้แล้วถึงจะใช้ปัญญา สมาธิมีเท่าไรก็เป็นสมาธิเท่านั้นไม่เกิดปัญญาได้เลย เราเคยเป็นมาแล้วกล้าพูดเต็มที่ ติดสมาธิมากี่ปี จนจะเอาสมาธิเป็นมรรคผลนิพพานเลย นั่นมันหลงขนาดไหน แต่พอแยกออกมาจากสมาธิมาเดินถึงขั้นปัญญานี้มันหมุนติ้วเลย เพราะมันอิ่มตัวแล้วนี่จิต มันไม่ยุ่งกับอะไร พามันนอนจมอยู่เหมือนหมูเฉย ๆ นี่ พอปัญญาออกแล้วมันก็ก้าวของมันเรื่อย ยิ่งถึงขั้นละเอียดสุดนั้นมันยิ่งละเอียด เหมือนกับน้ำซับน้ำซึมทีเดียว ปัญญาก็แบบนั้น อวิชชามันก็แบบนั้นเหมือนกัน หลบฉากกันอยู่ใกล้ ๆ ไม่ไกลแหละ อยู่ในจิตดวงเดียวกันนั้นแหละ จนมันหลงได้นั่นละ เวลารู้อย่างเต็มที่แล้วอวิชชาก็ดับสลายหายซากไปในขณะนั้น

(ถอดเสียงธรรมโดย www.Luangta.com)