Skip to content

ความจริงของชีวิต

หลวงปู่แบน ธนากโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

หนึ่งอาทิตย์ก็ถึงวันปวารณาออกพรรษา ก็เรียกว่าพรรษาหนึ่งพรรษา การจำพรรษาผ่านไป การจำพรรษาก็คือการพักอยู่กับที่ ไม่สัญจรไป ณ สถานที่ใด เรียกว่าไปพักแรม หรือไปพักค้างคืนโดยไม่มีเหตุจำเป็นพอ กุฏิที่พักจำพรรษาชำรุดในบริเวณใกล้ๆไม่มีวัสดุที่จะเอามาซ่อมแซม หลีกไปเพื่อหาวัสดุนั้น มาซ่อมแซม ก็คิดว่าจะเป็นยุคเป็นสมัยที่การไปมาไม่สะดวก ล้อเกวียนอาจจะมีการใช้ล้อใช้เกวียนในการบรรทุก รถราคงจะไม่มีในลักษณะเหมือนกับทุกวันนี้ จึงมีการบัญญัติเสนาสนะชำรุด เกี่ยวด้วยลม หรือเกี่ยวในความคร่ำคร่าอะไรก็ช่าง ให้สัตตาหะหลีกไป ไม่ให้เกินเจ็ดวัน เจ็ดวันเป็นอย่างยิ่งแล้วก็กลับมา 

ถ้ามีความจำเป็นไปอีกได้หลังจากกลับมาแล้ว มารดาบิดาป่วยไข้ อุปัชฌายอาจารย์ป่วย ลูกศิษย์ลูกหาป่วย มีความประสงค์จะไปเยี่ยมเยือนเพื่อสงเคราะห์ กิจนิมนต์บำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลบุคคลที่ควรแก่การสงเคราะห์ ส่วนมากก็ไม่ค่อยได้ไปไหน แม้แต่นอกพรรษาก็ไม่ค่อยจะมีกิจอะไร ออกพรรษาแล้วเป็นโอกาส เป็นระยะออกเที่ยววิเวกบำเพ็ญภาวนาตามร่มไม้ เพราะช่วงนั้นอากาศกำลังดี หนาวก็ไม่หนาวมาก ใบไม้ก็ยังไม่ลง กระทั่งตามภูเขา ภาวนาดี 

พรรษาหนึ่งผ่านไป พ.ศ.หนึ่งผ่านไป ความแก่ความคร่ำคร่าก็แก่เพิ่มขึ้น คร่ำคร่าเพิ่มขึ้นหรือว่าชีวิตเหลือน้อยลงไป ปีหนึ่งผ่านไปก็คือชีวิตที่มีค่าเท่าชีวิตผ่านไปหนึ่งปี หนึ่งเดือนผ่านไป ชีวิตจึงมีค่าผ่านไปหมดไปหนึ่งเดือน วันหนึ่งผ่านไป ชีวิตที่มีค่าก็หมดไป หนึ่งวัน ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็หมายถึงว่าชีวิตผ่านไปชั่วขณะลมหายใจเข้าและออก ขณะใดชีวิตของเราๆท่านๆ ไม่ผ่านไป ไม่สิ้นไป ไม่มี เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงทรงเทศนาไว้ไม่ให้ประมาท การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต้องทำอยู่เสมอ 

การทำความเพียรเพื่อความสงบของใจ ต้องทำให้ยิ่งอยู่เสมอ เพราะไม่มีใครซักรายที่จะทราบว่าชีวิตจะหมดไปขณะใด จะหมดไปในวันไหน จะหมดไปในขณะลมหายใจเข้า หรือลมหายใจออก เพราะลมหายใจเข้าแล้วไม่ออก ชีวิตก็หมดไป ลมหายใจออกแล้วไม่เข้า ชีวิตก็หมดไปและหมดได้ทุกวัยด้วย วัยเด็กไม่หายใจก็ตาย วัยหนุ่ม วัยสาว วัยแก่ วัยชรา ไม่หายใจ ตายทั้งนั้น วัยไหนไหนหายใจอยู่ก็เรียกว่าชีวิตยังอยู่ ถึงจะยังอยู่ยังไงก็ช่าง ก็อยู่ขณะที่ยังหายใจอยู่เท่านั้น หมดลมหายใจเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น 

ในเมื่อหมดลมหายใจแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างหมด ไม่มีอะไรเหลือ สิ่งที่คิดว่าดีๆ สิ่งที่คิดว่าไม่ดี หายไปหมด ไม่มี สิ่งที่คิดว่ามีความสุข สิ่งที่คิดว่ามีความทุกข์ เรื่องทุกข์เรื่องสุขก็ไม่มี โรคภัยไข้เจ็บ จะโรคร้ายหรือโรคธรรมดา ในเมื่อไม่หายใจแล้วก็หมด รูปนั้นนั้นก็หมดสภาพไป จึงว่าสิ่งใดใดยังมีก็เพราะลมหายใจยังมี ในเมื่อลมหายใจไม่มีแล้ว สิ่งใดใดในโลกก็ไม่มี อันนี้เป็นความจริง เราจะคิดถึงเขา หรือไม่คิดถึงเขาอันนี้เราต้องเจอทั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนให้คิดถึงเรื่องเหล่านี้ให้มากๆ ความโลภที่มีอยู่ในจิตในใจ จะไม่ลุกลามมาก ความโกรธมีพยาบาทที่มีอยู่ในจิตในใจก็จะไม่โกรธ​ไม่พยาบาทใคร การระลึกถึงคิดถึงเรื่องเหล่านี้มากๆ ความหลงที่มีอยู่ในจิตใจก็ค่อยเบาบางลงไป 

ในเมื่อความโลภเบาบาง ความโกรธ ความหลงเบาบาง การทำการทำงาน การเกี่ยวข้องกับรูป ก็เกี่ยวข้องกับรูปอย่างที่ว่าไม่ให้ความโลภ ความโกรธ กับความหลงนี่บีบบังคับหรือว่าชักจูงไป การเกี่ยวข้องกับโลก ก็เกี่ยวข้องในลักษณะที่ประกอบด้วยเหตุและผล ไม่เกี่ยวข้องกับโลภ ไม่ประกอบด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลงบัญชา จึงว่าการระลึกถึงความจริง การระลึกถึงสัจธรรม จึงเป็นประโยชน์แก่หัวใจทุกราย ความโลภ ความโกรธ ความหลงจะไม่บีบบังคับรุนแรง 

ถ้าหากว่าไม่ระลึกถึงเสียเลยนี่ เค้าเอาหนักมากๆทีเดียว บางทีอยากได้ เค้าอยากได้ ถ้าไม่ได้ ถึงกับกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เวลาโกรธมากๆถึงกับกินไม่ได้ นอนไม่หลับก็มี เรียกว่าเค้าบีบบังคับหนักมากทีเดียว ถ้าหากว่าเราค ดว่าไม่มีอะไรที่จะเป็นสาระเป็นแก่นสารซักอย่าง หมดลมหายใจก็ตายกันทั้งนั้น ไม่รู้จะโลภเอาอะไรมากมาย หมดลมหายใจก็ตายด้วยกันทั้งนั้น ไม่รู้จะไปโกรธ ไปชัง ไปพยาบาทอาฆาตอะไรกัน จะไปโกรธ ไปพยาบาท ไปอาฆาต ก็หมายถึงการทำลายเจ้าของเท่านั้น 

ทำลายเจ้าของคือยังไงหละ เจ้าของเป็นทุกข์เดือดร้อน ร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ สังเกตความโกรธมากๆนี่ ตาก็แดง หูก็แดง บางทีถึงกับหัวใจสั่น นั่น! มันเผาถึงขนาดนั้น เพราะอะไร ก็เพราะไม่ระลึกถึงสัจธรรมความจริงให้มากนั้นเอง ไม่รู้จะไปโกรธอะไร โกรธของเกิดมาตาย มันไม่เห็นจะได้ประโยชน์ตรงไหน โกรธก็โกรธธรรม ของเกิดมาตายก็คือก้อนธรรม ก้อนธรรมะ ก้อนสัจธรรมดีๆนี่เอง 

ควรที่จะเมตตาต่อกัน ถ้าหากว่าเรามองเห็นว่าสิ่งที่เกิดมาตายในโลก คนที่มีคนที่อยู่ในโลกก็คือสิ่งที่เกิดมาตาย มีแต่ที่จะเมตตาสงสารต่อกันเท่านั้น เพราะไม่มีใครเอาอะไรมา แล้วก็ไม่มีใครเอาอะไรไป ในเมื่อเป็นตัวเป็นตนเป็นรูปเป็นร่าง เจ้ากิเลสคือความโลภ ความหลง มันก็มาบอกอย่างนั้น มันบัญชาอย่างนี้ อันนั้นก็เป็นของเรา อันนั้นก็เป็นของเรา อันนั้นก็สารพัด มันเสี้ยมสอน ในที่สุดก็ไม่มีใครได้อย่างที่มันบอกมันสอนซักราย ลมหายใจหมดไปแล้ว ตั้งแต่ศีรษะลงไปหาเท้า ที่เราว่าเป็นร่างกายเป็นตัวเป็นตนนั่นหละ ไม่มีค่าไม่มีราคาแม้แต่น้อย เรียกว่ากลายเป็นของทิ้งไปหมด 

ในเมื่อร่างกายอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เกิดก็เป็นของทิ้ง แล้วสิ่งอื่นๆจะเป็นของของตัวของตนได้อย่างไร จะเป็นของเราของเขาได้อย่างไร ในที่สุดก็เป็นของทิ้ง ในที่สุดก็เป็นของโลก ของในโลกทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นของโลกทั้งนั้น ของในโลกทั้งหมด ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เกิดมาใครมีสติปัญญา มีวิชาความรู้ มีความสามารถ เอามาใช้จ่ายให้เป็นประโยชน์ได้ หลังจากหมดลมหายใจไปแล้ว ไม่สามารถที่จะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ คืนเป็นของโลก ส่งคืนเป็นของโลก ไม่มีใครซักรายที่จะฉวยโอกาสเวลาคนเผลอติดไม้ติดมือไป ไม่มี ถึงเค้าจะเอาใส่ไม้ใส่มือให้ก็ไม่สามารถจะเอาไปได้ จึงว่าอันนี้เป็นของจริง อันนี้ก็เป็นสัจธรรม 

สิ่งที่จะติดไม้ติดมือไปได้อันนั้น คือกุศลและอกุศล อกุศลก็คือความเศร้าหมองของใจ ความเศร้าหมองเกิดจากการกระทำที่ไม่เป็นธรรม การกระทำที่ไม่เป็นธรรม ใครจะรู้หรือไม่รู้ ทำแล้วเกิดความเศร้าหมองทั้งนั้น ใจเป็นผู้ที่เศร้าหมอง ใจไม่ใช่เป็นของที่จะแตกจะทำลายเป็น ทำสิ่งที่เป็นอกุศล ใจเป็นผู้ทำ ใจเป็นผู้ที่รับผลของการกระทำนั้น รับผลของการกระทำที่เป็นอกุศลคือความเศร้าหมองในใจ ใจมืด ใจดับ ส่วนกุศลนั้น คือความดี คือความผ่องใสของใจ ทำให้มาก ทำให้มาก ใจมีแต่ที่จะใส ใจมีแต่ที่จะขาว ใจมีแต่ที่จะสว่างไสว 

ลักษณะกุศลคือใจสว่าง ลักษณะกุศลคือใจใส ใจเย็น คำว่าเย็นนี้หมายถึงว่าเย็นมีความสุข ร้อนก็หมายถึงว่าร้อนมีความทุกข์ กุศลก็คือทำแล้วเกิดความสว่าง เกิดความผ่องใสในใจ อกุศลทำแล้วเกิดความมืด เกิดความเศร้าหมองในใจ พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงเทศนาให้ทำแต่ที่เป็นกุศลเท่านั้น ความดีทั้งหมดเรียกว่ากุศลทั้งนั้น ทำความดีให้มาก ทำกุศลให้มาก ทำแล้วใจผู้ทำนั้นน่ะ ทำให้เกิดความใส เกิดความสว่างเกิดความผ่องใสขึ้นที่ใจ ทำไมจึงว่าใจเป็นผู้ทำ เพราะสิ่งที่ไม่มีใจ ทำอะไรไม่เป็น ต้นไม้ทำอะไรไม่เป็น แผ่นดิน น้ำ ลม ไฟ ทำอะไรไม่เป็น คนตายแล้วมือไม้ตาหูจมูกลิ้นกายมีเหมือนเดิม แต่ใจไม่มี ทำอะไรไม่ได้ จึงว่ามีแต่ใจเท่านั้นทำ ผลของการกระทำทั้งหมด ใจเป็นผู้รับ 

ร่างกายเป็นของเกิดมาตาย ตายแล้วก็ผ่านไป ตายแล้วก็แล้วไป เหมือนกับเครื่องมือเท่านั้น เครื่องมือ! ผลของการกระทำน่ะ มันก็ผู้ที่ใช้เครื่องมือนั้น จะเป็นบุญก็ใช้เครื่องมือ เป็นบาปก็ใช้เครื่องมือ เป็นความดี เป็นความชั่ว นี่ ผู้ใช้เครื่องมือนั้นเป็นผู้ที่จะเป็นเจ้าของผลของการกระทำ ทำเหตุที่เป็นเกิดความเศร้าหมอง ใจก็เป็นผู้ที่ได้รับเป็นเจ้าของ ธรรมใดที่เป็นเหตุให้เกิดความผ่องใส ใจนั่นหละเป็นผู้ที่จะได้รับความผ่องใสซะเอง พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้ทำกุศลให้มากๆ ทำแล้วใจขาว ทำแล้วใจสะอาด ทำมากๆใจผ่องใสขึ้นมาก 

พระพุทธเจ้าเป็นประโยชน์แก่โลก แต่ความโลภ ความโกรธ ความหลงหรือกิเลสนี่ตัวอันตราย ถ้าหากว่าเค้าครอบงำจิตใจรายใด จิตใจรายนั้นไม่เป็นตัวของตัวเลย ความโลภครอบงำกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ความโกรธครอบงำมากๆนี่ตาแดงหูแดง จิตใจว้าวุ่นกระสับกระส่าย ถึงกับว่าสั่นตุ๊บๆๆนั่น ความหลงครอบงำนี่ยิ่งหนัก มืดมนอนธการ มองไม่เห็นทางไป มองไม่เห็นทางมา 

คำสอนของพระพุทธเจ้าสอนให้ฉลาด คำสอนของพระพุทธเจ้าสอนให้ตื่น คือใจของเรามีสติอยู่เสมอ มีสติอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้ความโลภครอบงำ ไม่ปล่อยให้ความโกรธครอบงำ ไม่ปล่อยให้ความหลงครอบงำ มีสติตื่นอยู่เสมอในสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง จะเกี่ยวข้องกับอะไรๆ เป็นผู้ที่มีสติพิจารณาไตร่ตรอง ควรอย่างไร ควรอย่างไรก็ทำและเกี่ยวข้องไปตามที่ควรนั้น ไม่ปล่อยให้กิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลงนี่ชักจูงไปอย่างเดียว ต้องขึ้นอยู่กับเหตุผลที่ควรหรือไม่ควร แล้วก็เกี่ยวข้องไปตามเหตุผลที่ควรนั้น สิ่งที่ไม่ควรนี่จะปฏิเสธทั้งหมด 

คำว่าศีลๆ ก็คือการทำความดีทางกาย การทำความดีทางกาย ทางวาจาเป็นศีล นี้ก็ทำให้ใจผ่องใสได้ ใจขาว ใจสะอาดขึ้นมาได้ ตามกำลังของศีล ศีลก็เป็นธรรมเครื่องขัดเกลาใจ เป็นธรรมเครื่องซักฟอกใจ สมาธิก็เป็นธรรมเครื่องขัดเกลาใจ เป็นธรรมเครื่องซักฟอกใจ ปัญญาก็เป็นธรรมเครื่องขัดเกลาใจ เป็นธรรมเครื่องซักฟอกใจ ความดีหรือกุศลคือศีล คือสมาธิ ปัญญา สรุปออกมาอย่างนี้ จะทำความดียังไง ทำความดียังไงๆ ก็อยู่ในคำว่าศีล สมาธิ ปัญญา หรือจะเรียกว่าทาน ศีล ภาวนาก็ได้ จะทำอย่างไร ทำอย่างไร ทำอย่างไร ด้วยที่เป็นความดีที่จะเป็นทานเป็นศีลเป็นภาวนา อันนั้นเรียกว่าเป็นกุศล ทำแล้วทำให้เกิดความผ่องใสในใจทั้งนั้น 

หากว่าตรงกันข้าม ศีลก็ไม่มี สมาธิก็ไม่มี ปัญญาก็มืดดับ ปัญญาก็ปัญญาที่ด้วยอำนาจของความโลภมันบีบบังคับให้คิดให้เหล่ ให้นึกไปในลักษณะนั้น ยิ่งเพิ่มพูนความมืด ความดำให้หนาแน่นให้ยิ่งขึ้นไป 

นักปราชญ์พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้รักษาศีล ก็คือการทำความดีทางกายและวาจา ทำความดีทางใจก็หมายความว่าทำจิตใจให้เป็นสมาธิ ทำจิตใจให้เป็นสมาธินี่หมายถึงจะเป็นความดีมากๆทีเดียว ความดีมากๆมายคือยังไงหละ ใจของเรานี่จะพ้นจากความวุ่นวายทั้งหลาย อยู่เหนือความวุ่นวายทั้งหลาย ความวุ่นวายที่จะมีอยู่เต็มโลกก็ช่าง แต่ใจของเราไม่ไปเกี่ยวข้องกับโลก ความวุ่นวายในใจก็ไม่มี 

คำว่าศีลๆนี่จะต้องไปเกี่ยวข้องกับโลกอยู่ แต่เกี่ยวข้องในทางที่ชอบธรรม เกี่ยวข้องในทางที่เป็นธรรม เกี่ยวข้องในทางที่เป็นกุศล แต่ก็ยังมีการเกี่ยวข้องอยู่ ความสุขอย่างนี้ยังมีการเกี่ยวข้องกับโลก ส่วนความสุขอันเกิดจากสมาธิ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของโลกทั้งหลาย ใจหลุดออกจากเรื่องของโลกในขณะที่ใจเป็นสมาธินั้น 

ส่วนปัญญานี่ ความสุขยิ่งละเอียด และเป็นความสุขสม่ำเสมอตลอดกาล เป็นใจจะพ้นจากเรื่องราวของโลก ไม่ใช่ชั่วขณะที่จิตเป็นสมาธิ พ้นตลอดกาล พ้นแล้วไม่มีการที่จะกลับไปเข้าไปเกี่ยวข้อง พ้นแล้ว ไม่มีโอกาส ไม่มีจังหวะที่จะไปสัมผัส ซึมรับยินดียินร้ายในเรื่องโลกๆอีก ไม่มี! เหมือนกับใบบัว ใบบัวอยู่ในน้ำ ก็เป็นใบบัวที่น้ำไม่สามารถที่จะซึม น้ำหมายถึงว่าเรื่องโลกๆทั้งหลาย เรื่องกิเลสตัณหาทั้งหลาย เรื่องลาภ เรื่องยศ เรื่องสรรเสริญ เรื่องโลภ เรื่องโกรธ เรื่องหลง เรื่องกิเลสตัณหาอาสวะทั้งหลายนี่ ใบบัวไม่ซึมน้ำฉันใด จิตใจที่มีการขัดเกลาด้วยสติปัญญาอย่างดีมาแล้วนี่ เรื่องโลกไม่สามารถที่จะซึมซาบเข้าไปในจิตใจที่พ้นจากกระแสโลกด้วยประการทั้งปวงนั้นๆ อันนี้เป็นความสุขที่ละเอียดปราณีต และเป็นความสุขละเอียดปราณีตเสมอต้นเสมอปลาย 

ส่วนสมาธิถึงจะมีความสุขปราณีตแค่ไหนเพียงไรก็ช่าง แต่สมาธิก็เป็นของที่ไม่เที่ยง เป็นสมาธิแล้วพอออกจากสมาธิ ใจก็จะเหมือนกับธรรมดา แต่เหมือนธรรมดา แต่มีสติคอยควบคุม เหมือนธรรมดาแต่ไม่เป็นธรรมดา ถึงจะถอนออกจากสมาธิแต่ก็ยังมีสติควบคุมอยู่ ในลักษณะนี้เรียกว่าศีล เรียกว่าสมาธิ เรียกว่าปัญญา เป็นธรรมเครื่องขัดเกลาจิต ตามกำลังของศีล ตามกำลังของสมาธิ ตามกำลังของปัญญา อันนี้เรียกว่ากุศลทั้งนั้น เรียกว่าเป็นความดีทั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนให้ทำมากๆ 

เราๆเป็นผู้ที่ปรารถนาดีแก่เราด้วยกันทั้งนั้น อะไรเป็นความดีที่จะทำให้ใจของเราผ่องใส ใจของเราขาว ใจของเราสะอาด ต้องพากันทำให้มาก อะไรที่ทำให้ใจของเรามืด ใจของเราดำ ใจของเราเศร้าหมองให้หลีก ทำแล้วมันเป็นจริงๆ เพราะใจเป็นผู้ทำ ทำแล้วเป็นขึ้นมาจริงๆ เพราะใจเป็นผู้ทำ ทำในทางที่เศร้าหมอง ใจนั่นแหละจะเป็นผู้เศร้าหมองเอง ทำในทางที่ผ่องใส ใจนั่นแหละจะเป็นผู้ที่ผ่องใสเสียเอง ความชั่วทั้งหลาย ทำแล้วมืดแล้วดับ ความดีทั้งหลาย ทำแล้วขาว ทำแล้วสะอาด เราต้องการความขาว เราต้องการความสะอาดด้วยกันทุกราย อะไรที่จะเป็นไปเพื่อความขาวความสะอาด กระทำให้ยิ่ง เรียกว่าเราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยความไม่ประมาท 

พระพุทธเจ้าท่านเทศนาสอนให้เตือนตนเอง เราต้องเตือนเราเสมอ เราต้องเตือนเราเสมอ หายใจเข้าหายใจออกนั่นชีวิตของเราหมดไปแล้วชั่วลมหายใจเข้าหายใจออก เดือนนึงผ่านไป สามเดือนผ่านไป พรรษานึงผ่านไป นั่นชีวิตของเราตายไปแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะเอาคืนกลับได้ ปีหนึ่งผ่านไปๆ มาก! นับเป็นชั่วโมง นับเป็นลมหายใจนี้มาก ไม่มีโอกาสที่จะเอาคืนมาได้ จึงว่าการทำความดี ควรทำทุกลมหายใจเข้าและออก เพราะชีวิตของเราเสียไปทุกลมหายใจเข้าหายใจออก การทำความดีนี่ ต้องทำให้เป็นการชดเชยให้มันคุ้มกัน 

จะอยู่ตรงไหนมีสติในการนั่ง จะนอนอยู่ ณ สถานที่ใด จะนอนในลักษณะยังไงก็ช่างแต่ไม่ใช่นอนหลับ ให้มีสติอยู่ในขณะที่นอนนั้น ในลักษณะนี้เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรมทั้งนั้น เพราะสติเป็นธรรมที่รวมทั้งไว้ศีล ทั้งสมาธิและปัญญา สตินั้นคำพูดว่าสติอันเดียวนั้น รวมไว้ทั้งศีล รวมไว้ทั้งสมาธิ รวมไว้ทั้งปัญญา สติอย่างหยาบนี้ สติอย่างหยาบ ศีลก็หยาบ สมาธิก็หยาบ ปัญญาก็หยาบ สติมีความละเอียด นี่ มีกำลังยิ่งๆขึ้นไป ศีลก็มีกำลัง สมาธิก็มีกำลัง ปัญญาก็มีกำลัง สติมีความละเอียดมีพลังเป็นมหาสติขึ้นมา ศีลนี้ละเอียดถี่ถ้วน ทุกขณะจิตที่จะบกพร่องในศีล ไม่มี สมาธิก็แน่นหนามั่นคง ปัญญาก็เฉียบก็คม จึงว่าขึ้นอยู่กับสติอันเดียวนี้ ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา 

เราจะอยู่ในอิริยาบถใดๆก็ช่าง อยู่ใน ณ สถานที่ใดๆก็ช่าง ให้มีสติระลึกอยู่ในใจของเรา ไม่ต้องไปกำหนดไว้ที่จมูก ไม่ต้องไปกำหนดไว้ที่หน้าอก ไม่ต้องไปหมายตรงนั้นตรงนี้ มีสติอยู่ที่ใจของเรา มีสติอยู่ในความรู้ของเรา และก็สามารถที่จะมีสติ แล้วก็สามารถที่ไปทำการทำงานกับโลกภายนอกได้อย่างสบาย และเป็นประโยชน์ 

ช่วงนี้อากาศก็กำลังเย็นสบาย กลางวันก็ไม่ร้อนมาก กลางคืนก็ไม่หนาวมาก กลางวันก็นั่งภาวนากัน กลางวันก็เดินจงกรมกัน ตามโอกาสที่เราสามารถที่จะปลีกไปเดินจงกรมนั่งสมาธิได้ กลางคืนก็เหมือนกัน ทำให้มาก อย่าเห็นแก่การหลับการนอนมากนัก นอนมากมันมีแต่ที่จะ… นอนก็เวลาต้องการที่หลับจริงๆ แล้วจึงค่อยนอน ถ้าหากนอนเล่นนอนอะไร หลีก! เพราะว่านอนเล่นน่ะ คำว่าเล่นนี่มันเป็นเรื่องของความประมาท ถ้าหากว่านอนเล่น นอนปล่อยจิตปล่อยใจหละ อารมณ์สัญญากิเลสตัณหามันตามขึ้นมา ต้องหลีกไปในการที่ว่าเรียกว่านอนเล่น หากว่าจะนอนก็นอนปฏิบัติ นอนมีสติ นอนระลึกถึงพุทโธๆๆๆอยู่ การนอนก็เป็นการปฏิบัติธรรม 

วันนี้เลิกกันเถอะ รู้สึกว่ายุงมันรบกวน นั่งสมาธิยุงจะกวนมาก นั่งภาวนากันตามสบายนะ