Skip to content

การแสวงหาความสงบทางใจ

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

| PDF | YouTube | AnyFlip |

พากันตั้งใจฟังธรรมเป็นวันพระเดือน ๙ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันอุโบสถทั้งของญาติโยมและของพระภิกษุสามเณร ผู้ที่มีความเชื่อมั่นในศีลในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อถึงวันเช่นนี้เข้ามาแล้วก็ทำความยินดีในการที่จะรักษาอุโบสถศีลให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง จึงได้สละบ้านเรือนมารวมกันอยู่ในวัดวาอารามนี้ ก็นับว่าเป็นความคิดที่ดี เป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้าพอสมควรสำหรับผู้ครองเรือน 

สำหรับผู้ครองเรือนแล้ว หากว่าไม่หาเอาเวลาว่างหรือเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้อย่างนี้ ก็เลยไม่มีเวลาที่จะเข้าวัดเข้าวากันเลย ต่างก็อ้างว่ามีการงานมีมากมายหลายประการ ไอ้ผู้ไม่มีงานการอะไรก็ไปเล่นกอล์ฟ ไปเล่นการพนันขันต่ออะไรๆอยู่ในเมืองในนา ก็ถือว่ามีงานแหละ งานของคนไม่มีศรัทธา ไม่เชื่อบุญไม่เชื่อบาป กิเลสมันก็ย่อมผลักดันให้เพลิดเพลินมัวเมาไปในเรื่องที่ไม่เป็นสาระประโยชน์แก่ชีวิตจิตใจอันนี้ มันก็เป็นอย่างนี้แหละ ที่เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายได้เที่ยวเกิดแก่เจ็บตาย อาศัยการเกิดการตายนานไปๆแล้วมันหากบริสุทธิ์ไปเอง อันนี้เป็นความเห็นของคนอีกหมู่หนึ่ง คนหมู่นี้แหละไม่ทำอะไรไม่ทำบุญกุศลอะไร แสวงหาแต่ความสนุกสนานในโลกนี้เท่านั้น ถึงเวลาตายก็ตายไป เมื่อเค้าไม่ได้ทำบุญกุศลอะไรอย่างนี้แล้วเค้าจะได้เกิดเป็นคนอีกหามิได้ นั่นแหละความเข้าใจผิดมิจฉาทิฐิ 

คนมาเกิดเป็นคนนี่ต้องมีบุญน่ะ พระพุทธเจ้ารู้แจ้งแทงตลอดแล้ว เป็นคนมีบุญได้ให้ข้าวน้ำเป็นทานมาแต่ชาติก่อน อานิสงส์ให้ข้าวน้ำเป็นทาน แล้วอานิสงส์ศีลค่าที่ไม่ได้เบียดเบียนบุคคลอื่นและสัตว์อื่น นี่อานิสงส์ศีลนี่ส่วนหนึ่ง แต่ว่าส่วนที่เบียดเบียนบุคคลอื่นและสัตว์อื่นนั้น มันก็ไปเสวยวิบากกรรมแล้ว ได้รับทุกข์ทนทรมานได้เสวยวิบากกรรม หมดเขตของวิบากกรรมอันนั้นแล้ว บุญที่ทำไว้นั้นมันก็นำให้เกิดเป็นคน อย่างนี้นะ เราชอบกันอย่างนี้เหรอ ถามตัวเองดูทุกคนน่ะ เราชอบอย่างนี้เหรอ ทำบาปก็ทำไป ไปเสวยทุกข์นรกในอบายภูมิ อ้าวบุญก็ทำ พ้นจากนรกมาแล้วก็มาเสวยผลบุญ อ้าวบุญนำให้มาเกิดเป็นคน แต่ระลึกชาติหนหลังไม่ได้ มันถึงไม่กลัวนรก นั่นแหละ มันเกิดมาเป็นคนแล้วก็เหมือนกับไม่ได้ไปตกนรกหมกไหม้อะไรแต่ชาติก่อนหนหลัง เห็นว่าบุญตกแต่งมาให้เป็นคนมาแล้วก็นึกว่าสบายแล้ว ถ้าอย่างนี้เนี่ย มีเป็นส่วนมากนะคนเราเนื่องจากไม่มีปัญญาญาณที่จะระลึกชาติหนหลังได้ 

แล้วก็ผู้ที่เชื่อต่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็เห็นแจ้งในบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์หรือไม่ใช่ประโยชน์ เมื่อได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วมาพิจารณาว่า เอ้อ บุญมันมีจริง บาปมันมีจริง แน่นอนทีเดียว ถ้าหากว่าบุญมีอย่างเดียว บาปไม่มี เช่นนี้คนเกิดมาในโลกนี้มันก็เสมอกันหมดซิ ถ้ามีความสุขก็มีความสุขเหมือนกันหมดแหละ ลองคิดดูให้ดี นี่ทำไมมันจึงไม่เป็นอย่างนั้น มันไม่เป็นอย่างนั้นเพราะว่า นั่นแหละ ในชีวิตของคนเรามันมีทั้งบุญและบาป เมื่อคราวใดบุญให้ผลมันก็มีความสุขความเจริญไป ถ้าเมื่อใดบาปให้ผลก็มีความทุกข์ทนทรมานไป อยู่อย่างนั้น 

แล้วคนทั้งหลายน่ะ มันเพลิดเพลินยินดีอยู่ในกามคุณ เมื่อจิตใจร่าเริงอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสอันเป็นที่น่ารักใคร่พอใจแล้ว มันก็ลืมความทุกข์ที่ตนได้รับ ทุกข์ทนทรมานอะไรมาก็ลืมไป ก็ส่งใจไปตามรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆ เหตุนั้นโลกอันนี้น่ะเค้าจึงจัดให้มีมหรสพ ครบงานเต้นรำ ดีด สี ตี เป่า เพื่อให้คนไปดูมันคลายทุกข์ทางใจได้บ้าง เป็นอย่างนี้แหละ ถ้าเป็นคนแปลกหน้า คนชาติอื่นโฆษณาครึกโครมว่าจะมาแสดงคอนเสิร์ทในเมืองไทย อย่างนี้ก็ตื่นกันแล้วคนไทย ทั้งที่เค้าเก็บเงินกันคนละ ๒๕๐๐ บาทไม่เสียดายเลย ก็เสียเงินให้เค้าแล้วก็หัวเราคอหาย กับกิริยาที่เค้าเต้นเร่าๆสู่ให้ดู ถ้าไปถือว่ามีความสุขสนุกสนานลืมทุกข์ลืมญาติไป นี่คนส่วนมากติดอยู่ในความสุขเหล่านี้ เป็นอย่างนั้น เมื่อมันติดอยู่ในความสุขอย่างนั้นมันก็ไม่สนใจทางศีลทางธรรม ทางบุญกุศลแล้ว เค้าถือว่าเค้ามีความสุขพอแล้วนิ เรื่องมันน่ะมันเป็นอย่างนั้น 

สำหรับผู้ที่บุญวาสนาแรงกล้าพอสมควร ได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จึงมาพิจารณาเห็นว่าความสุขในโลกดังกล่าวมานี้ มันเป็นความสุขชั่วคราวไม่ใช่ยั่งยืนอะไร ความสุขอิงอาศัยวัตถุสิ่งของ เมื่อวัตถุสิ่งของนั้นหมดไป ความสุขนั้นก็หมดไปตามกัน ความสุขอาศัยร่างกายอันนี้ เมื่อร่างกายนี้มันยังไม่ชำรุดทรุดโทรม เต้นสามศอกออกสามวาได้ก็ถือว่าตนมีความสุขอย่างนี้แหละ อ้าว พอร่างกายนี้มันทรุดโทรมไปไม่จีรังยั่งยืน ไอ้จิตที่อาศัยในร่างกายนี้ก็ทุรนทุราย เป็นทุกข์เดือดร้อน ก็ชีวิตมนุษย์เราก็หมุนไปตามกรรมอย่างนี้แหละสำหรับผู้ไม่รู้นะ มันเป็นอย่างนั้นเรื่องมันนะ สำหรับผู้รู้ผู้ได้ฟังคำสอนพระพุทธเจ้าแล้ว ก็มาฝึกจิตดวงนี้ให้มันตั้งมั่นลงไป เพราะจิตไม่ตั้งมั่นนั่นแหละมันถึงได้หวั่นไหวไปตามอำนาจของกิเลส หลงใหลไปตามความสุขชั่วคราวนั้น มันมองไม่เห็นความสุขนั้นเป็นของชั่วคราว มองไม่เห็นเลย คำว่าชั่วคราวนั้นหมายความว่า มีความสุขประเดี๋ยวประด๋าวแล้วความสุขนั้นก็หายไปนี่นะ ความทุกข์ก็เกิดมาแทนแล้วก็แสวงหาความสุขกันไปใหม่ 

อันความสุขตามที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนพุทธบริษัท ให้ลงมือแสวงหากระทำอันนี้น่ะ มันเกี่ยวกับการแสวงหาความสุขทางกาย ทางวาจา ทางใจนี้ อย่างโยมผู้หญิงที่มาจากทางเหนือเนี่ย มาบวชชีเมื่อตะกี้เนี้ย ถามดูทำไมจึงมาบวชชี ก็ต้องการความสุขทางใจ อันนี้เพิ่นก็นับว่าเพิ่นคิดดีอยู่เหมือนกันนะ หมายความว่าอยู่กับบ้านกับช่องนั่นน่ะ มันมีเรื่องกระทบกระเทือนมากมาย คลุกคลีตีโมงอยู่กับคนหมู่มาก ได้รับความกระทบกระทั่งอยู่นั้น จิตใจหาความสงบระงับไม่ได้เลย  โน่นก็เสียใจ โน่นก็ดีใจ โน่นก็คับแค้น โน่นก็โกรธ อะไรต่อะไรอยู่เรื่อยแต่ละวันแต่ละคืน ผู้มีวาสนาอยู่บ้างก็พิจารณาเห็นแหละ โอ้ การที่อยู่อย่างนี้นี่หาความสุขไม่ได้เลย มีแต่ความทุกข์ทนทรมานทางจิตใจอย่างนี้ ถ้าได้หนีไปสู่สถานที่สงบสงัด แล้วอย่างนี้มันน่าจะทำความสงบใจได้ จะได้รับความสุขความสงบทางจิตใจ คิดได้อย่างนี้แล้วจึงได้ร่ำลาลูกหลานญาติพี่น้องมา มาขอบวชชีในวัดนี้ ก็ขอให้แม่ชีทั้งหลายจงมีเมตตาต่อแม่ชีที่มาใหม่ เพื่อนไม่คล่องแคล่วไม่ชำนิชำนาญข้อปฏิบัติอันใดก็ช่วยบอกช่วยแนะนำกันไป อย่างนี้ได้ชื่อว่าเราเป็นผู้มีเมตตา กายกรรมเมตตา วจีกรรมเมตตา มโนกรรมต่อกันและกัน เช่นนี้มันก็เป็นบุญกุศลกันส่วนหนึ่ง 

อันนี้นะ มันเป็นอย่างนั้น หมายความว่าการกระทำอันใดถ้ามันอำนวยผลคือความสุขสบายใจกับผู้อื่น การกระทำนั้นได้ชื่อว่าเป็นบุญกุศล ตรงกันข้าม การทำอะไรพูดอะไรทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน การกระทำอันนั้น การพูดอย่างนั้น ชื่อว่าเป็นบาปอกุศล มันก็ตรงกันข้ามอย่างนี้แหละ คนเราให้พิจารณาดูให้ดี พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ให้สมาทาน ให้รักษาสำรวมระวังก็เพื่อไม่ให้เบียดเบียนซึ่งกันและกันนั้นเอง นั่นแหละ ถ้าไม่สำรวมในสิกขาบทวินัยต่างๆแล้ว มันก็เบียดเบียนกันหละหมู่นี้นะ เมื่อไม่พอใจกันมา ไม่แสดงออกทางกายก็แสดงออกทางวาจา ด่าแช่งพูดหยาบคายกระทบกระแทกผู้ที่ตนเกลียดนั้นให้เค้าเจ็บอกเจ็บใจ ไอ้อย่างนี้แหละความเป็นผู้ที่ไม่มีเมตตาธรรมต่อกันและกันนะ ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันน่ะ อย่างนั้นทุกคนขอให้มีเมตตาพรหมวิหาร มีกรุณาพรหมวิหารอยู่ในใจ ทุกคนผู้ประพฤติธรรมในโลกนี้นะ อย่าไปปล่อยให้คุณธรรมเหล่านี้เหินห่างจากจิตใจ แล้วเราจะอยู่ร่วมกันโดยสันติสุขไม่ได้เลย ถ้าขาดเมตตาธรรมกรุณาธรรมต่อกันและกันแล้ว อยู่ด้วยกันเป็นสุขไม่ได้เลย จะต้องอยู่ด้วยความทุกข์ ความวุ่นวายใจ ความไม่พอใจ อะไรอย่างนั้นอยู่อย่างนั้นน่ะ มันไม่ถูกต้องตามนักบวช ผู้เป็นนักบวชผู้มาประพฤติธรรมจะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม มันก็ไม่ถูกทาง ดังนั้นเราต้องปรับตัวเองเข้าไปให้มันถูกทางสายกลางให้ได้ เมื่อต่างคนต่างปรับตัวเองให้มีเมตตาธรรมกรุณาธรรมต่อกันและกันอย่างนี้แล้ว มันก็ไม่มีปัญหาอะไรอยู่ด้วยกัน แม้จะเป็นผู้อยู่ด้วยกันจำนวนมากก็ตาม มันก็มีความสุขความสบายใจ นั่นแหละขอให้พากันเข้าใจ 

เราเข้ามาบวชในพุทธศาสนานี่ ทุกคนก็หวังว่าจะหาความสุขทางจิตใจ นั่นแหละ พอร่างกายนี้จะอยู่ยังไงมันก็ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนอยู่แล้ว จะอยู่ในเพศไหนก็ตามมันก็ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนอย่างนั้นเอง แต่ดวงจิตนี้นะเราสามารถปรับปรุงให้ดีได้ ให้ตั้งมั่นได้ แต่ร่างกายนี่เราจะบำรุงให้ดียังไงมันก็เที่ยงยั่งยืนไม่ได้ พิจารณาดูให้ดี เนี่ย แล้วมีแต่จิตดวงเดียวเนี่ย เราสามารถปรับปรุงให้มั่นตั้งมั่นลงไปได้ ร่างกายมันจะวิบัติแปรผันไปแต่จิตที่ฝึกฝนดีแล้วมันก็ไม่วิบัติไม่แปรปรวนไปตามร่างกาย ความมุ่งหมายต่อการปฏิบัตินี่ขอให้เข้าใจ แต่ส่วนมากไม่เป็นอย่างนั้นนี่ เวลาร่างกายมันเจ็บไข้ได้ป่วยวิบัติไป ใจก็หวั่นไหวไปตามร่างกายเลย กระวนกระวายไปตามร่างกายนั่นแหละ ส่วนมากเป็นอย่างนี้คนเราน่ะ 

ดังนั้นน่ะเมื่อได้รับคำแนะนำตักเตือนเช่นนี้แล้ว ก็ควรจะพากันตื่นตัว ตื่นตัวฝึกจิตนี้ให้ตั้งมั่นในบุญในคุณให้ได้ ฝึกจิตนี้ให้เฉลียดฉลาดมีปัญญา รู้เท่านามธรรม รู้เท่ารูปธรรม อันเรียกว่าขันธ์ ๕ นี้ให้ได้ ก็เพราะความไม่รู้เท่าไม่รู้แจ้งขันธ์ ๕ นี่เอง จิตใจมันจึงได้หวั่นไหวไปตามความไม่เที่ยงของขันธ์ ๕ เมื่อจิตใจหวั่นไหวไปเช่นนั้นน่ะ ทุกคนต้องรู้ดีอยู่แล้วว่ามันไม่มีความสุขเลย จิตใจดวงเดียวนี้หวั่นไหวซะแล้ว ไม่มีความสุข จริงๆ ถ้าฝึกจิตดวงนี้ให้ตั้งมั่นด้วยดี มีปัญญารู้เท่าขันธ์ ๕ ตามเป็นจริงอย่างว่านั่นนะ ไม่ถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา เมื่อขันธ์ ๕ มันแปรปรวนไป เราก็รู้ว่าขันธ์ ๕ มันแปรปรวน มันกำลังจะแตกจะดับ ไม่ได้ถือว่าว่าเราจะแตกจะดับเราจะตาย เราไม่มีอยู่ในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ได้มีอยู่ในเรา ก็ต้องกำหนดรู้ตามเป็นจริงอย่างนี้ แล้วจิตก็ไม่หวั่นไหวตามขันธ์ ๕ แล้วบัดนี้นั้น มันเป็นอย่างนั้น เรื่องมันน่ะ 

มันจะว่ามันสำคัญอยู่ที่ฝึกให้ใจเราเข้มแข็ง นั่งภาวนาก็นั่งให้มันนานๆสมควร พยายามข่มจิตนี้ที่มันเลื่อนลอยอยู่ให้มันดิ่งลงไปสู่ภายในหัวใจนู่น ให้มันดิ่งลงไปหาภพที่เกิดของมัน นี่ ดวงจิตนี่มันเข้ามาปฏิสนธิในท้องของมารดา มันเข้าไปอาศัยธาตุของมารดาบิดา แล้วบุญกรรมตกแต่งหทัยวัตถุคือเนื้อหัวใจนี่นะ ให้ดวงจิตนี่ได้อาศัยให้เข้าใจ เมื่อหากว่ามีสติประคับประคองความรู้สึก คือดวงจิตนี้ ให้ตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันลงได้ เรียกว่าตั้งมั่นอยู่ในที่รู้นั่นน่ะ รู้อยู่ตรงไหน มีสติประคองความรู้นั้นให้ตั้งมั่นอยู่ในตรงนั้นน่ะ นั่นน่ะเรียกว่าฝึกจิตให้ตั้งมั่น ขอให้เข้าใจ ไม่ใช่ว่าไอ้จิตนั่นจะหมายเอาอย่างอื่นนะ อย่าไปเข้าใจผิด จิตหมายเอาความรู้ ความรู้อันอยู่ในร่างกายอันนี้นะ หายใจเข้าเราก็รู้อยู่ หายใจออกก็รู้อยู่อย่างนี้ ความรู้อันนี้ไม่หนีไปไหนนะตั้งแต่เกิดมาจนถึงบัดนี้แหละ ถ้าหากว่าความรู้คือจิตนี่มันถอนออกจากหทัยวัตถุคือเนื้อหัวใจนี่แล้ว ตายเลยคนเราอยู่ไม่ได้ เหมือนกับออกจากร่างนี้ออกไปหาที่เกิดใหม่แล้วจิตนี้ ที่ว่าจิตไปนู่นไปนี่นะ ไม่ใช่จิตไปหรอก เจตสิกคือความคิด ความคิดมันก็ออกจากความรู้สึกอันนั้นแหละให้เข้าใจ 

ดังนั้นเมื่อผู้ใดรู้อย่างนี้แล้ว ก็มีสติกำหนดรู้เท่าความคิดนั้นไว้ เผลอๆมันคิดไป อ้าว ความคิดไม่ใช่จิต ก็แล้วไป เราก็มีสติประคองความรู้สึกอันนั้นไว้ ไม่ให้มันคิดต่อไปอีก ให้มันคิดเท่าที่คิดแล้วนั่น เช่นนี้แล้วมันก็หยุดลงได้เลย ความรู้สึกอันนั้นนะหยุดคิดลงได้ ถ้าหากว่าสติไม่หยั่งลงไปใกล้ ความรู้สึกอย่างนั้นน่ะมันจะห้ามจิตนี้ไม่ได้เลย มันจะคิดอยู่อย่างนั้นน่ะ มันยึดถือเรื่องใดมันก็คิดถึงเรื่องนั้นแหละ เอาเรื่องนั้นแหละมาวิจารณ์อยู่นั่นแหละ นี่ให้พากันเข้าใจ นั่งภาวนาอย่าไปนั่งโงกนั่งง่วง อย่าไปนั่งทื่อๆอยู่เฉยๆ ต้องเพ่งลมหายใจเข้าออกนี่ เพ่งความรู้สึกอันนี้นะ สติให้หยั่งเข้าไปหาความรู้สึกอันนี้ เมื่อสติยังลอยอยู่ข้างนอกยังไม่หยั่งเข้าไปถึงความรู้สึกอันนั้น มันไม่หยุดคิดเลยนะจิตนะ มันก็คิดอยู่อย่างนั้นแหละ 

เหตุอันนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้เจริญพระกรรมฐาน เพ่งอวัยวะร่างกายนี้อย่างใดอย่างหนึ่งให้มันเห็น แล้วก็เอาจิตไปจดจ่อในนิมิตอันนั้น เช่นเพ่งเห็นกระดูกอย่างนี้นะ ซี่โครงกระดูกสันหลัง ก็เพ่งอยู่ในกระดูกอันนั้น เอาความรู้สึกไปเพ่งอยู่ในกระดูกอันนั้น เมื่อจิตมันมีเครื่องอยู่อย่างนั้นแล้วมันก็ไม่คิดไปไหนแล้วอย่างนี้นะ มันก็เพ่งรู้อยู่แต่กระดูกนั่นแหละ เพ่งไปเพ่งมาครั้นถ้าหากจิตมันสงบละเอียดเข้าไป กระดูกนั่นมันก็ใสเข้าไปโดยลำดับ มันใสกว่าธรรมชาติเดิมของมัน มันปรากฏในความรู้สึกหมายความว่าอย่างนั้น แต่ที่จริงแล้วกระดูกมันก็เป็นกระดูกอยู่ตามธรรมดานั่นแหละ แต่ความรู้สึกทางจิตใจน่ะ มันต้องมองเห็นกระดูกว่าใสเหมือนแก้ว 

หากว่าผู้ที่เพ่งไม่หยุดไม่หย่อนนะ จิตใจแน่วแน่ได้เต็มที่แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นน่ะไป ที่ท่านเรียกว่า ปฏิภาคนิมิต ปฏิภาคนิมิตแปลว่านิมิตที่มันพิเศษกว่าธรรมดา หมายความว่าอย่างนั้นคำว่าปฏิภาคนิมิตนี่นะ มันมีความรู้สึกสว่างไสวยิ่งกว่าธรรมดา ความรู้สึกในใจ และความสงบก็แนบเนียนกว่าธรรมดา อย่างนี้นะ แล้วสิ่งที่เห็นน่ะมันก็ผ่องใสยิ่งกว่าธรรมดา นี่ท่านเรียกว่าปฏิภาคนิมิต อุคหนิมิตนั่นเช่นยกตัวอย่างว่าเราเพ่งเข้าไปเห็นกระดูกอย่างนี้ ก็เห็นกระดูกธรรมดาอยู่อย่างนั้น ไม่ใสไม่อะไร ไม่เลื่อมเหมือนแก้วเหมือนอะไรนั่นไม่เป็นอ้ะ เป็นกระดูกอยู่ยังไงก็เป็นเห็นอย่างนั้นมีเลือดมีน้ำเหลืองมีน้ำหนองอะไรอยู่ในนั้นก็เห็นตามธรรมชาติอยู่นั้น อันนี้ท่านเรียกว่าอุคหนิมิต นิมิตติดตา 

เนี่ยการพิจารณาการเจริญพระกรรมฐานนะ เรามีพระกรรมฐานอะไรหนึ่งเป็นอารมณ์อย่างนี้แล้วก็ทำให้ใจสงบได้ เพราะใจนี้เมื่อมันมีที่ยึดเหนี่ยวอยู่ภายในนั้น แล้วมันก็ไม่ส่งไปภายนอก เรื่องมันน่ะ ถ้ามันอยู่เฉยๆไม่มีที่ยึดเหนี่ยวภายในเลย อย่างนี้นี่มันอยู่ไม่ได้ มันต้องคิดส่งไปแล้ว มันเป็นอย่างนั้นเรื่องมันน่ะ ที่พระพุทธเจ้าสอนให้เจริญพระกรรมฐานนะ ก็เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตนี่เองไม่ให้คิดพุ่งไปทางอื่น อย่างนี้นะ ถ้าไม่คิดไม่เพ่งอย่างนั้นก็นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ เอ้อ ความตายนี่คือลมหายใจมันหยุดลง เมื่อลมหายใจมันหยุดลงโลกก็สมมุติว่าตายเท่านั้นเอง ร่างกายก็เคลื่อนไหวไปมาไม่ได้เลย เหมือนกับท่อนกล้วยที่เค้าตัดทิ้งไว้บนดิน คอยแต่จะเน่าจะเปื่อยผุพังไปเท่านั้นเอง นี่ความตายนี่ได้ชื่อว่าเป็นที่หวานหวั่นพรั่นพรึง สะดุ้งกลัวต่อคนธรรมดาสามัญทั่วๆไปตลอดจนสัตว์สิ่งเดรัจฉาน มันก็กลัวตายเหมือนกันอย่างนี้นะ นั่น ฉะนั้นความตายชื่อว่าเป็นมหาภัยอันใหญ่ยิ่ง ทุกคนต้องระลึกไว้เสมอ ไม่ฉะนั้นเมื่อความตายเข้ามาถึงแล้วเป็นทุกข์หลายทีเดียว ตื่นเต้น เศร้าโศกเสียใจ กลัวว่าจะได้พลัดพรากจากของรักของชอบใจในโลกนี้ไป อย่างนี้แหละ ทั้งสะดุ้งหวาดกลัวต่อความเจ็บความปวดความร้อนอะไรๆสารพัดแหละ เมื่อเวลามันจะตายนะธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มันไม่ปรองดองสามัคคีกันแล้ว มันแตกสามัคคีกันมันก็ป่วนปั่นหวั่นไหวไปทั่วเลย เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องพิจารณาความตายไว้เสมอๆ ขอยุติลงเพียงเท่านี้