Skip to content

การภาวนา ใช้คำบริกรรม เพื่ออะไร

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

| PDF | YouTube | AnyFlip |

บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายแล้วก็มีครูบาอาจารย์ท่านด้วย อาตมาจะได้แสดงธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งอันใดไม่ใช่เป็นนักเทศน์และก็ไม่ใช่นักดูตำรับตำรา เพราะฉะนั้นการพูดการแสดงบางสิ่งบางอย่างมันก็ไม่ค่อยเข้าหลักเข้าเกณฑ์ในตำรับตำรานัก เพราะฉะนั้นจะเข้าใจว่าบรรดาพุทธบริษัททั้งหลายได้เข้ามาอบรมในที่นี้เป็นเวลาเนิ่นช้า เราก็มีจุดอันที่สำคัญที่จะต้องทำใจอันนั้นให้ถึงความสงบอันนี้ แต่สิ่งนี้เราก็ได้ยินได้ฟังกันมาเป็นจำนวนมาก อย่างวัดอโศฯของเราก็มีท่านอาจารย์ต่างๆนานาได้มาบรรยายธรรมะเป็นส่วนมากก็มีท่านผู้สูงผู้รู้ต่างๆนานา อย่างหลวงตานี่มันก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่เข้าใจอะไรมากมาย เพราะฉะนั้นการเทศน์มันก็เป็นสิ่งที่ลำบาก 

อย่างพวกเราทุกคนที่มุ่งหาความสงบ การทำความสงบนี้เป็นสิ่งสำคัญ บรรดาโลกทั้งหลายถ้าเราสังเกตดูอย่างลิเกที่เล่นอยู่อย่างนี้ เอาเสียงหาเงินเพื่อมาเลี้ยงชีพของตัว ตะเบ็งอยู่ได้ทั้งวันทั้งคืน หลายๆคืนหลายๆวันอย่างนี้เป็นต้น เค้ามีอุตสาหะพยายามพากเพียร พวกเราเป็นที่สละกิจการบ้านเรือนอย่างนั้น มุ่งมาดปรารถนาที่จะหาความสงบจริงๆจังๆ นี่ เป็นสิ่งสำคัญของเรา เค้าเล่นลิเกตั้งเวลาอะไร ตั้งหลายๆชั่วโมงอย่างนี้เป็นต้น ก็จะไม่เหน็ดเหนื่อยเท่าไหร่ เค้าก็มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อถึงเวลาที่รบกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เมื่อเราโอปนยิโกน้อมเข้ามาแล้ว ก็เป็นคติที่จะสอนเรา อย่างเรานั่งกรรมฐานอย่างนี้ มันเกิดเจ็บเกิดปวดเกิดเมื่อยขึ้นมาอย่างนี้ เราก็ต้องน้อมสิ่งเหล่านี้ ว่าลิเกนะเค้ารำได้  ทั้งรำทั้งเต้น ทั้งกระโดดโลดเต้นต่างๆนานาได้เป็นเวลาตั้งหลายชั่วโมงทำไมเค้าทำได้ เราจะสร้างความดีความงามให้กับหัวใจของเรา ให้ใจเราเกิดความสงบอย่างเนี้ย เราจะแพ้ได้อย่างไร นี่ต้องคิดอย่างนั้น 

เมื่อจะคิดอย่างนั้นแล้วใจมันก็มีอุตสาหะ มีวิริยะความพากความเพียรเกิดขึ้น เมื่อความพากความเพียรเกิดขึ้นอย่างนั้น แล้วทีนี้จะทำอย่างไรถึงหัวใจที่จะสงบ นี่ อันนี้อย่างครูบาอาจารย์ท่านก็เทศน์มาต่างๆนานา เทศน์กันสอนกันจนได้ยินได้ฟังเนี่ยเป็นเวลามาก จนชินหู ว่าอย่างนั้นเถอะ เพราะฉะนั้น บั้นต้นของการที่จะเข้าสู่ความสงบ อันเนี้ย มันเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญ แต่เราก็มีหลายครูหลายอาจารย์หลายหมู่หลายคณะ ถึงแม้มารวมกันอย่างนี้เป็นเช่นนั้น ต่างคนก็ต่างเห็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่ค่อยอยู่ในจุดเดียวกัน ถึงแม้ว่าครูอาจารย์อันเดียวกันแต่ว่า ได้ศึกษามาต่างๆนานาเป็นเช่นนั้น ถ้าพูดกันถึงหัวใจความจริงแล้ว บุคคลที่ต้องการให้สงบเช่นนั้น การที่จะนึกถึงความสงบให้เข้าถึงความสงบบั้นต้น เราจะต้องทำอย่างไรอันนี้ คือการใช้การบริกรรมนี่เพื่ออะไร แน่ะ มันก็น่าคิด ถึงเมื่อบริกรรมเข้าไปแล้ว มันเป็นอย่างไรใจเรา เราทำมาเวลานานๆแล้วทำไมเราไม่สังเกต นี่ ต้องสังเกตอย่างนี้ เพราะเมื่อเราบริกรรมลงไปตั้งครึ่งชั่วโมง หรือ ๒๐ นาทีหรือชั่วโมงหนึ่งอย่างนี้แล้วมันเกิดสงบมั้ย หรือมันไม่สงบ มันก็ต้องรู้เรา ใครเล่าจะรู้ให้เรา เพราะฉะนั้นการทำใจเนี่ยมันอยู่ตรงนี้ อยู่ที่ความใคร่ครวญพินิจพิจารณาเนี่ยเป็นสิ่งสำคัญ เราสักแต่ว่าหลับหูหลับตาทำไปเฉยๆโดยไม่คิดไม่นึกไม่ตรึกตรองไม่พินิจพิจารณาให้ละเอียดแล้ว วันคืนล่วงไปๆเปล่าๆ ไม่ได้ประโยชน์เท่าไรแต่ยังดีกว่าบุคคลที่ไม่ทำเป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อลงตั้งจิตที่จะต้องการสงบอย่างนั้น เราก็ต้องการใช้การบริกรรมเข้ามากำกับหัวใจ 

การบริกรรมก็อย่างเคยเทศน์อยู่ เพราะต้องการอะไร ต้องการนั้นไม่ให้ใจของเราให้ไปส่ายไปหาอารมณ์ ต้องการให้ใจเราอยู่กับพุทโธแล้วก็มีสติกำกับอยู่อย่างนั้น ยังขนาดนั้นมันยังวิ่งออกไป วิ่งไปนู่น วิ่งไปนี่ ไปสารพัด เพราะจิตนี่มันแห เรียกว่าเหมือนวัวควายที่ยังไม่เคยใช้ ถูกเชือกผูกคอก็อย่างนี้ มันก็ดิ้นรนกระวนกระวาย เชือกขาด เดี๋ยวก็ต้องตามกันวุ่นวายไปหมด เนี่ยเหมือนใจเราถ้าเทียบแล้วเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อเป็นอย่างนั้นเราก็จำเป็นจะต้องเน้นการบริกรรมให้มันเร็วขึ้น นี่ ต้องคิดถึงอุบาย จะทำอย่างไรจะไม่ให้ใจมันส่ายไปอดีต อนาคต แน่ะ เมื่อเราบริกรรมอยู่อย่างนั้นแล้วมันจะไปได้ยังไง นี่ 

เมื่อบริกรรมอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งเป็นนิจอย่างนั้น บางท่านบางองค์มันชักเคยตัว เมื่อการบริกรรมนั้นมีความอ่อนตัวเข้า น้อยเข้า ความรู้สึกน้อยเข้าอย่างนี้ แน่ะ มันก็เกิดมีถีนมิทธะเข้ามาครอบแล้ว เราต้องสังเกตสิ ถ้าไม่สังเกตมันก็ไปเสียตรงถีนมิทธะตรงนี้ มันก็เข้าสมาธิไม่ได้ มันกางกั้นสมาธิ เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิ มันก็เป็นการง่วงเหงาหาวนอน ประโยชน์ที่ได้รับก็ไม่ค่อยมี เพราะฉะนั้นเมื่อเราตั้งใจจริงอย่างนั้น ไอ้ความสัปหงกมันจะมาได้อย่างไร นั่น มันมาไม่ได้ เพราะนี่มันขาดหลัก พอเราบริกรรมไปซักหน่อยอย่างนี้ มันก็ จิตมันก็ค่อยๆอ่อนลงไป การว่านั่นน่ะเบาขึ้นๆๆ เบาจนกระทั่งลืมตัว แน่ะ อย่างนี้ เหตุสำคัญอยู่ตรงนี้ เพราะเราไม่แก้ตรงนี้มันแก้ไม่ตก แล้วถ้านานๆเข้าหลายปีก็ชินเข้า เลยภาวนาก็ไม่เป็นแต่เข้าใจว่าตัวเป็น เข้าใจว่าตัวดี ผลที่สุดภาวนาไม่เป็นเพราะมันติดอะไร องค์ฌาณก็ยังไม่ได้ ก็สัปหงกอยู่นี่แล้วมันจะได้สมาธิแบบไหน สมาธิมันก็ไม่ได้ มันก็ไม่เกิด นี่ เป็นเช่นนั้น นี่ ตรงนี้มันต้องตรึกตรองแก้ไข นักปฏิบัติถ้าไม่แก้ไขตรงนี้แล้วมันไม่หลุด ไปไม่ไหวไปไม่รอด ต้องแก้ตรงนี้ 

เมื่อถ้าเราแก้อย่างนั้นได้ให้ใจมันบริกรรม ลักษณะของสมาธิมันอยู่ด้วยการบริกรรมอย่างนั้นอย่างหนึ่ง ใจไม่วอกแวกไปไหนอยู่กับการบริกรรมอย่างนั้น อยู่อย่างนั้น ว่าอยู่อย่างนั้นเป็นเวลาสองสามชั่วโมงก็ได้ จิตมันก็ไม่ไปไหน ไม่คิดไปไหน นี่ อย่างนี้มันรวมอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่รวมไม่ใช่อย่างชนิดอุเบกขา เพราะว่าชำนาญอย่างนั้น จนกระทั่งเมื่อเรามันเข้าได้เป็นเวลานานๆๆอย่างนั้น เราปล่อยอารมณ์คือหมายความว่าปล่อยการบริกรรมนั้นให้จิตมันว่างเปล่าอยู่ แล้วลองอย่างนั้น ซักพักหนึ่งก็กลับเข้ามาอีก กลับเข้ามาอยู่ในตัวเรา มาบริกรรมสู้เข้าไปอีก นี่ เพื่อจะให้จิตมันมีกำลังขึ้นอีก  เพราะได้ทำงาน นี่ มันต่างกัน เมื่อถ้าเราฝึกอย่างนี้จนชำนาญทีนี้ก็ใช้การพิจารณา 

การพิจารณาก็อย่างเคยเทศน์อยู่ ว่าให้ตัดอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง ตัดลงไปอย่างนี้ นึก ต้องนึก เมื่อนึกถึงว่าขาหลุด ขาเราหลุดไปข้างหนึ่ง ไปเน่าอยู่ข้างหน้า เท่านี้พอ แล้วก็เพ่งจิตของเราเนี่ยที่มันสงบตัวนั้นน่ะ เพ่งไปดูสภาพอันนั้น มันจะปรากฏมั้ย นี่ ถ้าไม่ปรากฏก็ไม่เป็นไร  นึกอย่างนั้น แต่ทว่ากำลังสมาธิมันดี บางทีมันก็เกิดปฏิภาคขึ้น ภาพนั้นขาที่เราบอกให้หลุดไปน่ะ มันก็หลุดไปหยุดที่หน้าเห็นชัด เหมือนอย่างดูโทรทัศน์เหมือนอย่างดูหนังญี่ปุ่นอย่างนั้นเลย เนี่ย ลักษณะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงว่าธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นของประเสริฐ เมื่อบุคคลผู้นั้นได้ประสบอย่างนั้นแล้ว ใครจะบอกว่าสมาธิไม่มี เราจะเชื่อมั้ย เราก็ไม่เชื่อสิเพราะมันเกิดขึ้นกับตัวเราเอง มันประจักษ์ ขาเราให้หลุดมันก็หลุดออกไป กำหนดให้มันเปื่อย มันก็เปื่อยออกไป นี่ ให้มันเป็นกระดูกมันก็เป็นกระดูกอยู่อย่างนั้น เอากลับเข้ามาตัวเราก็เข้ามาได้ แล้วทีนี้เอาหัวออกไปบ้าง หัวก็หลุดไปอย่างนั้น นี่ นี่ลักษณะอย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นสมาธิ นี่ยังอยู่ในขั้นลักษณะของสมถะอยู่ ยังไม่ใช่วิปัสสนา เมื่อเล่นอย่างนี้จนชำนิชำนาญคล่องแคล่ว ลักษณะสมาธิอย่างนี้เป็นสมาธิที่มีกำลังแข็งแรง กำลังที่มีความเด็ดเดี่ยวอย่างนี้ เมื่อจะเป็นอย่างนั้น เราก็จำเป็นจะต้องใช้การค้นคว้าพินิจพิจารณา 

การค้นคว้าพินิจพิจารณาก็ต้องพิจารณากายนี่ หรือจะเอาอะไรอันหนึ่งมาพิจารณา เมื่อเราจะพิจารณากายก็ตัดส่วนออกไป เป็นชิ้นๆส่วนๆอย่างนั้น แต่บางทีถ้าสมาธิมันยังกล้าแข็งอยู่มากอย่างนั้น ในลักษณะที่ตัดอย่างนั้นบางทีก็ยังมีส่วนที่ปรากฏเป็นปฏิภาคอยู่ แต่เราอย่าไปเสวยในขณะที่เป็นปฏิภาคอยู่ ให้เริ่มพิจารณาไปให้จิตมันเดินอยู่อย่างนั้น แล้วเมื่อเดินอยู่อย่างนั้นแล้ว ปฏิภาคตัวนั้นจะดับ นี่ เมื่อจะดับอย่างนั้นเราอย่าเข้าใจว่าสมาธิเสื่อม ลักษณะไม่ใช่สมาธิเสื่อม ลักษณะนั้นมันลักษณะของเดินปัญญา ถ้าเดินปัญญาแล้วลักษณะของปฏิภาคจะไม่ปรากฏขึ้น เมื่อเดินมากเท่าไหร่ จิตยิ่งไม่ไปไหน เราจะนึกสิ่งใดก็ได้สมความปรารถนาอย่างนั้นตลอดเวลา เป็นเวลาตั้งชั่วโมงสองชั่วโมงก็พิจารณาได้อย่างนั้น จิตเดินอยู่เฉพาะกายอย่างนั้น เดินขึ้นเดินลง เดินไปเบื้องซ้ายเดินเบื้องขวา ขึ้นจากเบื้องปลายเท้ามาถึงศีรษะ เดินได้ตลอด ตับไตไส้พุงทั่วไปหมดอย่างนั้น นี่ ลักษณะอย่างนี้สติมันควบคุมอยู่ ท่านเรียกว่าปัญญาเข้าไปพิจารณาเป็นอย่างนั้น 

เมื่อจะพิจารณาอย่างนี้แล้วมันก็แจ้งชัด ถ้าเมื่อเราพิจารณาอย่างนั้นชั่วโมงหนึ่ง วางจิตลงไปให้เข้าไปสงบอย่างนั้นเป็นเวลาได้ชั่วโมงหนึ่งเต็มที่ ไม่มีการปรุงไปไหนเลย นั่นใจอย่างนั้น แล้วถีนมิทธะก็ไม่มีมาครอบงำ จิตผ่องใสสว่างสะอาดหมดจดแจ่มใสชื่นเบาหมดอย่างนั้น นี่ สมาธิอย่างนั้นจึงเรียกว่าสมาธิสมควรแก่งานการที่เราจะต้องเข้าไปพิจารณาอย่างนั้น นี่ สมาธิต้องเป็นอย่างนั้น พักตั้งสองชั่วโมงก็ได้ เมื่อเรารู้พักการพักอย่างนั้นมันเข้าไปเสวยความสุข มันไม่ใช่ทำงาน เปรียบเหมือนอย่างคนที่จะทำนา เราไปจองป่าที่จะทำนา จะต้องทำอย่างไร แน่ะ มันก็ต้องขุดถางป่า เผาต้นไม้ให้หมด เมื่อหมดแล้วก็ต้องขุดตอออกให้หมด ขุดตอเสร็จก็ต้องปั้นคันนา นี่ เมื่อปั้นคันนาเสร็จแล้วขังน้ำได้ น้ำลงมาก็ต้องไถหญ้า ไถดินนั้นให้มันพรวนขึ้นมาแล้วต้องคราดเข้าไปอีกนั่นหลายประโยคแท้ๆ เหมือนกัน เรายิ่งภาวนายิ่งละเอียดกว่านั้น นั่นสิ 

แล้วนี่พอเข้าไปสงบหน่อยก็ไปอยู่อย่างนั้น แล้วจะได้เรื่องอะไร การเข้าไปสงบอย่างนั้นมันไม่ใช่ลักษณะทำงาน มันเป็นลักษณะที่เข้าไปซุกตัวเข้าไปนอนให้สบายเท่านั้น คืนหนึ่งๆก็ผ่านไปอย่างนั้น แรมปีก็ผ่านไปอย่างนั้น มันก็ไม่เกิดประโยชน์สิ การค้นคว้าพินิจพิจารณาอย่างนั้นเพื่อประสงค์อันใด นี่ เมื่อสติเข้าไปจดจ้องกับปัญญาอย่างนั้นแล้ว มันจะเห็นสิ เห็นของที่ว่าเป็นของไม่เที่ยง เพราะอะไร เพราะใจที่ส่ายออกไปอย่างนั้น กำหนดอย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้น เข้าใจว่าสิ่งนี้ขาว สิ่งนี้แดง สิ่งนี้ดำ สิ่งนี้เจ็บป่วย เจ็บที่ข้อเท้าข้อมือ ปวดหลัง ปวดเอวอย่างนั้น อย่างนี้ต่างๆนานาประการ แล้วใครเป็นคนไปว่ามันเจ็บ แน่ะ ตัวนี้ที่ตัวเหตุสำคัญ ไอ้เอว ขา ปวด ใครเป็นคนว่าปวด ปวดมันเกิดที่ไหน นี่ เราต้องตามดูตัวนี้ ดูตัวนี้ อย่าไปดูที่ขา ต้องดูผู้ที่ว่าปวด ปวดหลัง ปวดเอว ดูตรงนี้ ดูตรงนี้ให้ชัดๆ แล้วมันจะมีกิริยาที่แปลกขึ้น ดูให้มากๆ พิจารณาให้มากๆตรงนี้ ดูตรงนี้เอง เนี่ย พิจารณาอย่างนี้ ค้นอยู่อย่างนั้นไม่ต้องถอยมัน เมื่อเวลามันดีแล้วอย่าไปถอย เอากันเร่งเต็มที่เลย จิตมันได้กำลังแล้วต้องพิจารณาอย่านอนใจอยู่ เนี่ยพิจารณาอย่างนั้น ค้นลงไป ใครว่ามันเจ็บ ไอ้ใจนี่ว่าเหรอ ใครว่าใจ ใจมันอยู่ที่ไหน ใครว่าใจ จิต จิต ใครว่าจิต ค้นลงไปสิ พิจารณาลงไปไม่ต้องถอย ค้นลงไปให้มากอย่าไปถอย มันเจ็บก็ยิ่งสู้กัน เรานั่งไม่ได้ให้มันตายให้ขามันหลุดลองดู ลองดูอย่างนี้ มันไม่หลุด ใจมันประเดี๋ยวมันก็ต้องชนะ เพราะใจอันนั้นเมื่อเวลามันเข้าพิจารณามากพอเข้าแล้ว มันลืมการเจ็บการปวดการเมื่อย นั่งสบายเลย จิตเข้าไปสงบอีก นี่ เมื่อเข้าสงบก็ถอยกลับเข้ามาพิจารณาอีกอย่างนั้น 

เมื่อมันสมบูรณ์บริบูรณ์ของมันเต็มที่แล้ว ที่มันจะเห็นแจ่มแจ้งชัดจริงๆขึ้นในหัวใจของผู้ปฏิบัติ เรียกว่าปัญญาอันแท้จริงอันนั้น ก็ต้องเห็นผู้ที่ไปว่าขาเจ็บ มือเจ็บ เอวเจ็บ ขาเจ็บ ผู้นี้เอง ไม่ได้ไปเห็นที่ไหน เห็นผู้ที่ไปตำหนิว่าขาเจ็บมือเจ็บเอวเจ็บ แข้งขาเจ็บตัวนี้เอง ไม่ได้เห็นที่ไหนเลย เห็นที่ตัวไปว่าตัวนี้ เมื่อเห็นตัวนี้แล้ว มันจะต้องมีอะไรหละ มันก็วางสิ เพราะมันประจักษ์ความจริง เพราะตัวนี้เป็นตัวเจ้ามายาสาไถ ตัวเจ้าเล่ห์เจ้ากล ตัวเจ้าหลอกลวงเราต่างๆนานาอันนี้ หัวใจตัวนี้เอง เมื่อเราเห็นชัดอย่างนั้นแล้ว มันก็ต้องวางเองมันหละ เพราะมันชัดอย่างนั้นมันก็วาง 

แต่ถ้าภาพของสังขารนี่เราบังคับไม่ได้ แต่มีได้บางครั้งบางคราวสมาธิดี เมื่อเราเข้าไปกำหนดพิจารณามากๆเข้าแล้ว จนเข้าสมาธิให้ละเอียดเข้าไปให้มากๆอย่างนั้น แล้วก็ต้องผ่อนลมเรื่อยลงไปตั้งแต่ท้องขึ้นมาจนกระทั่งถึงลมหายใจเป็นลำดับขึ้นมาเรื่อยอย่างนั้น เวทนายิ่งกล้า สู้กันอย่างนั้น ผ่อนเข้ามาเรื่อยจนกระทั่งมาถึงนาสิกคือที่จมูก เมื่อมาถึงจมูกแล้วก็ต้องค่อยๆผ่อนเรื่อยไป เรื่อยไปจนให้ลมมันหยุดได้ยิ่งดี ก็แล้วแต่ของใครของมันอย่างนี้ ถ้าจนเข้าลมหยุดได้แล้ว เวทนาคือกายนั้นจะไม่รู้สึก อย่างนี้ นี่สมาธิละเอียดอย่างนี้ ละเอียดมาก นี่ลักษณะระงับเวทนา ไม่ใช่ลักษณะของการค้นคว้าพินิจพิจารณา สำหรับระงับเวทนาที่เจ็บปวดเวลาเป็นไข้เป็นอะไรต่างๆนานาอย่างนี้ นี่อีกชนิดหนึ่ง แต่ที่เข้าไปค้นคว้าอย่างนั้นมันเป็นเหตุสำหรับปัจจุบันที่เราพูดเราคุยเราออกมาอย่างนี้ เมื่อสติมันค้นบริบูรณ์สมบูรณ์แล้ว จิตที่มันจะเขวไปที่ใด มันก็ต้องตามทันอยู่ตลอดเวลาอย่างนั้น ก็เรียกว่าปัญญา ทำลายรากฐานตัวนี้แล้วมันก็แจ้งชัดขึ้นมา 

เมื่อแจ้งชัดอย่างนั้นแล้วใครจะว่าอะไรก็ช่างมัน แต่ของเรามันดี แต่ก็ต้องดีให้ถูกหลัก ถ้าไม่ถูกหลักมันก็ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการค้นคว้าพินิจพิจารณานี้เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราไปเมาในสมาธิมันก็แค่สมาธิเท่านั้นเอง วันหนึ่งคืนหนึ่งก็ล่วงไปๆอย่างนั้น แล้วก็ได้ไม่…ผลที่จะได้รับรู้สึกว่าน้อยไป เพราะฉะนั้นการค้นคว้านี่เป็นหลักสำคัญที่สุดของนักปฏิบัติ ถ้าใครยังไม่เข้าเขตในการค้นคว้าแล้ว สมาธิตัวนั้นยังพึ่งตัวเองไม่ได้ พึ่งตัวเองไม่ได้ต้องอาศัยผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ถ้าได้ค้นคว้าพินิจพิจารณาให้มันเห็นชัด เห็นโทษตัวผู้คนนี่ตราบใดละก็ เอ้อ พึ่งตัวเองได้แล้ว ผู้นั้น ชัดขึ้นอย่างนั้นแล้ว พึ่งตัวเองได้ สันทิฏฐิโกเห็นเอง เห็นชัดเลย ใครจะว่าไงก็ชัด เพราะฉะนั้นเนี่ย การบำเพ็ญก็ต้องอาศัยอย่างนี้ ค้นคว้าอย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้ให้มันแจ้งชัด 

เพราะฉะนั้นการแสดงธรรม อาตมาวันนี้รู้สึกว่าเหนื่อยๆไม่ค่อยสบายนัก เจ็บเอวมาก เพราะฉะนั้นก็แสดงพอย่อๆ พอเป็นข้อคิดเอาไปพินิจพิจารณา เมื่อท่านทั้งหลายได้ใคร่ครวญพินิจพิจารณาแล้วน้อมไปประพฤติปฏิบัติ สิ่งอันใดที่เป็นประโยชน์ก็น้อมไปพิจารณา สิ่งอันใดที่ไม่เกิดประโยชน์ก็เอาวางทิ้งไว้ ต่อนั้นไปท่านทั้งหลายก็จะได้พบประสบแต่ความสุขความเจริญงอกงามในศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดังได้แสดงมาก็สมควรด้วยกาลเวลา เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้