Skip to content

กรรมจำแนกสัตว์

หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ต่อไปก็อยู่ในความสงบคือมีสติสำรวมกายสำรวมใจ เพื่อเทศน์เป็นภาชนะสำหรับรองรับคุณงามความดีที่เรียกว่าบุญ ที่เราทั้งหลายได้มาบำเพ็ญบุญเป็นประจำเพราะบุญนั้นย่อมมีผลให้เกิดควาสุขความเจริญ บุญข้อหนึ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงได้พาประพฤติปฏิบัติและบำเพ็ญมาคือ ธัมมัสวนมัย บุญเกิดขึ้นจากการฟังธรรม ธัมมเทสนามัย บุญเกิดขึ้นจากการแสดงธรรม เพียงแต่เราตั้งใจฟังโดยความเคารพ พระพุทธเจ้าพระองค์ก็ให้ความสำคัญมากจึงจัดเข้าในบุญกิริยาวัตถุ เพราะการฟังธรรมนั้นเป็นเหตุให้เราทำจิตใจของเราให้มีความเห็นถูกต้องตามทางอันเป็นประโยชน์ให้บังเกิดผลความสุขความเจริญ ผู้ที่มีความรู้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงที่สุดคือมรรคผลนิพพานนั้น จะต้องอาศัยการสดับตับฟัง แม้พระสารีบุตรที่พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงยกย่องว่าผู้เลิศด้วยปัญญาแต่ก็ไม่สามารถจะค้นคว้าให้ได้บรรลุมรรคผล ด้วยปัญญาตามลำพังขององค์ท่านเอง จะต้องอาศัยได้ยินได้ฟังจากอริยสาวกจึงได้รู้ธรรมเข้าใจในธรรม เกิดศรัทธาความเลื่อมใส มีความเพียรความพยายามอันชอบเกิดขึ้นในองค์มรรคขึ้นมา 

ความเพียรชอบความพยายามชอบในองค์อริยมรรคก็เป็นคุณธรรมอย่างสำคัญยิ่ง พระพุทธเจ้าจึงจัดความพยายาม ความเพียรนี่เป็นอริยสัจจ์ในมรรคอริยสัจจ์ คือหนทางการปฏิบัติเป็นสายกลางเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา การงานใดๆถ้าขาดกำลังคือความเพียรแล้ว ยากที่จะบรรลุถึงซึ่งความสำเร็จหรือสมบูรณ์บริบูรณ์ได้ เพราะฉะนั้นความเพียรพยายามเป็นคุณธรรมอันหนึ่งสำหรับผู้ที่เดินทางและสำหรับผู้ที่ทำการงานหรือประกอบกิจการงานใดๆไม่ว่าทางโลก ไม่ว่าทางธรรม ไม่ว่าการงานการเรือนในครอบครัว ไม่ว่าการงานส่วนรวม ผลงานได้มาจากความเพียรและพยายามอันชอบ 

ในทางพระพุทธศาสนาพระองค์จัดเข้าในมรรคคือหนทางอันเป็นสายกลางเรียกว่า มัชฌิมา หรือท่านจัดเข้าในโพธิปักขิยธรรม ในสัมมัปปธาน คือเพียรชอบ เข้าในธรรมะที่ผู้ปฏิบัติเจริญให้มากแล้วย่อมบรรลุถึงซึ่งธรรมเบื้องสูง คือที่สุดเรียกว่าตรัสรู้ในทางธรรม เพราะเหตุนั้นความเพียรใคร่อยากให้เราชาวพุทธทั้งหลายควรศึกษาให้เข้าใจชัดว่ามีคุณประโยชน์ต่อตัวเราอย่างสำคัญอย่างไรเพื่อจะได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน 

ความเพียรชอบที่พระพุทธเจ้าพระองค์วางหลักไว้โดยย่อๆเพื่อจดจำง่ายและสะดวกในการนำมาใช้ อนุรักขนาปธาน หรือข้อต้น ท่านว่า สังวรปธาน เพียรสำรวมกาย ไม่ให้ใช้กายไปในทางที่ผิดที่ให้เกิดโทษเป็นเวรเป็นภัยแก่เราผู้กระทำ นี่ ให้เพียรสังวรณ์กาย สังวรวาจาในการพูด ไม่ให้ใช้คำพูดไปในทางที่ผิด เรียกว่ามิจฉาวาจาเพื่อให้สังวรณ์ระวัง ละมิจฉาวาจาและเพียรพยายามเจริญสัมมาวาจา เมื่อเราจะพูดแล้วก็พูดไปในทางที่ชอบประกอบไปด้วยประโยชน์ เรียกว่า สังวรปธาน คือเพียรสังวรณ์สำรวม 

ปหานปธาน เพียรละสิ่งที่ไม่ดีที่มีอยู่ประจำกาย ประจำวาจาและประจำจิตใจของเรา ที่เราได้กระทำไว้แต่อดีตเมื่อเรายังไม่รู้ และยังไม่ได้ยินได้ฟัง ยังไม่ได้รู้ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือยังไม่ได้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า หรือไม่ได้ใกล้ชิดบัณฑิต หรือไม่ได้ฟังธรรมของบัณฑิตเราก็ย่อมมีความหลง ความเข้าใจผิดเป็นธรรมดา ได้กระทำสิ่งที่ไม่ดีมาแล้ว อย่าเก็บไว้ในจิตในใจให้เพียรพยายามละ ไม่ให้ระลึกถึงสิ่งที่ไม่ดีที่เคยกระทำแล้ว ทั้งเราและทั้งคนอื่นกระทำให้แก่เรา สิ่งที่ไม่ดีถึงแม้ว่าเป็นอดีตที่ล่วงไปแล้วยาวนานก็ตาม ถ้าเราไม่ละไม่ตัดขาด สิ่งไม่ดีเหล่านั้นก็จะตามให้ผล ให้เกิดวิบากความเศร้าใจความทุกข์ใจขึ้นในจิตใจของเรา ไม่มีที่สิ้นที่สุด ถ้าเราไม่เพียรพยายามตัดออก เพื่อไม่ให้จิตไปยึดมั่นในสิ่งที่ไม่ดีที่ทั้งที่คนอื่นกระทำให้แก่เราหรือเราเคยทำให้แก่คนอื่น เมื่อเราละยังไม่ขาด เราระลึกขึ้นให้สิ่งที่ไม่ดีนั้นมาครอบงำจิตใจของเรา สัมผัสสัมพันธ์ในตัวของเราครั้งใด ใจก็ของเราก็เศร้าหมองเป็นทุกข์ขึ้นมา เสียใจขึ้นมา 

นี่ กรรมไม่ดีที่ให้ผลได้อย่างนี้ กรรมไม่ดีติดตามได้อย่างนี้ สิ่งใดที่เราได้ทำไว้ด้วยจิตใจเหมือนกับเราเขียนไว้ในใจแต่ของเรา ลบได้แต่ยาก เหมือนคอมพิวเตอร์ที่เราป้อนข้อมูลสิ่งใดเข้าไปแล้ว ถ้าเราไม่เอาออก เมื่อกดไปสู่ปุ่มนั้น มันก็จะต้องออกสิ่งที่ไม่ดีมาอยู่ร่ำไป ให้เราได้รู้สึกสัมผัสในสิ่งที่ไม่ดี ทำให้เกิดทุกข์ เกิดความเศร้าหมองอันเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการได้ เนื่องด้วยเหตุนี้ผู้ที่ทำความดีน่ะ ควรจะละความไม่ดีด้วย บางคนชอบทำบุญทำกุศลแต่ไม่ละบาป บางคนชอบแต่สิ่งที่ดีๆ แต่ไม่ละความชั่ว ยังสะสมความชั่วเพราะเหตุที่เข้าใจผิด เพราะเราไม่ได้ศึกษาให้รู้ความจริงว่าความชั่วก็เป็นความชั่วที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอริยสัจธรรม 

ความไม่ดีที่เราชอบทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พระพุทธเจ้าไม่ได้จัดว่าทุกข์โดยตรง ความไม่ดีที่พระพุทธเจ้าสอนให้ละนั่น เป็นสมุทัย ถ้าไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า หรือไม่ได้พิจารณาธรรมที่ได้ฟังแล้ว หรือไม่ได้ปฎิบัติตรวจตามแล้ว เราก็จะเห็นว่าสมุทัยเป็นสิ่งที่เราพอใจเราชอบใจให้เกิดความเพลิดเพลินให้เกิดความมัวเมาให้เกิดความอยาก เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เราชอบไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทุกข์ แต่เหมือนกับในผลที่จะเกิดขึ้น เพราะเหตุนั้นจำเป็นจะต้องศึกษาให้รู้เข้าใจว่าทุกข์ มูลเหตุที่ให้เกิดนั่น เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ชั่วร้าย เป็นสิ่งที่ให้เรามองเห็นว่าดี ว่าพอใจ เกิดความความพอใจ แต่ผลที่จะออกมาให้เกิดทุกข์ตามภายหลังมันอยู่คนละช่องและคนละเวลา เพราะฉะนั้นคนไม่มีปัญญากว้างหรือคนไม่มีปัญญายาว จะมองเห็นแคบๆ เพราะฉะนั้นคนจึงหลงทำกรรมที่เห็นว่าดีที่เห็นว่าชอบ เมื่อทำลงไปแล้วภายหลังได้รับความทุกข์ใจเสียใจเป็นเวรเป็นภัยขึ้นมา 

สิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่ในโลกเป็นจำนวนมากนับวันแต่จะทวีขึ้นมา โลกได้รับความกระเทือน ได้รับเวรได้รับภัยอันตรายต่างๆจากปวงชนมนุษย์ด้วยกัน ที่กระทำขึ้นมา ที่สร้างขึ้นมาเพื่อต้องการความดีต้องการความสุขแต่หารู้ว่า ความต้องการที่ตนตั้งใจจะทำนั้นเป็นสมุทัยคือปัจจัยให้ทุกข์เกิด เพราะเหตุนั้นเราชาวพุทธควรเพียรพยายามศึกษาเรื่องสมุทัยเพื่อเราจะได้ละให้มันเด็ดขาดอันเป็นปัจจัยให้ทุกข์เกิด 

เมื่อเราเห็นสมุทัยเป็นปัจจัยให้ทุกข์เกิดชัดตามความเป็นจริงแล้ว ในการปฏิบัตินั้น มาปฏิบัติมาระลึกมองดูที่ทุกข์ให้มาก ที่อันเป็นผลมาจากสมุทัย นี่ เราควรศึกษาให้รู้ในหลักที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าทุกข์ควรกำหนดรู้ จิตของทุกข์ จิตของอริยสัจเราควรรู้ให้ทั่วให้ถึงให้ตามความเป็นจริง ก็รู้ด้วยถึงว่าก็ทุกข์นี้มาจากสมุทัย จึงเรียกว่าตัณหา ตัณหาเราได้รู้จักแต่ชื่อ เวลามันเกิดขึ้นแล้วมักจะไม่รู้จัก ไม่ทัน เพียงแต่จำที่ท่านเรียกไว้ สมุทัยก็สิ่งที่เราเพลิดเพลินด้วยอำนาจแห่งความพอใจด้วยอำนาจแห่งความหลงยึดมั่นสำคัญว่าสิ่งเหล่านั้นจะให้ความสุขแก่เราจริงๆ รูปที่ชอบใจ เสียงที่ชอบใจ กลิ่นที่ชอบใจ รสที่ชอบใจ โผฏฐัพพะที่ชอบใจ นึกว่าจะได้ความสุขแก่เราจริงๆ ยึดมั่นถือมั่นสะสมสิ่งเหล่านี้ แสวงหาประโยชน์สิ่งเหล่านี้ ผลที่สุดผลประโยชน์สิ่งเหล่านี้ขัดกัน นี่ก็จะสร้างเวรสร้างภัยเพราะรูปเหล่านั้นไม่เที่ยง 

นี่เป็นโทษที่พระพุทธเจ้ามองเห็นโทษ ท่านไม่ได้มองที่ดูความที่ใจชอบ ที่ตาเห็น หูได้ยิน สิ่งที่เราเห็นเราชอบใจนั้นมันไม่เที่ยง รูปก็ไม่เที่ยง เสียงก็ไม่เที่ยง กลิ่นก็ไม่เที่ยง รสก็ไม่เที่ยง เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยงแล้วมันกระทบกระเทือนถึงจิตที่เราไปยึดถือเราชอบใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่เราชอบ พลัดจากสิ่งที่แต่เราพอใจเพราะมันหมดไป หมดไปด้วยเหตุปัจจัยอันใด ถ้าหากมีผู้ใดผู้หนึ่งมาเบียดเบียนธาตุเราไป บุคคลผู้นั้นกลายเป็นศัตรูข้าศึกต่อกันอีก เพราะฉะนั้นความสุขที่ได้จากรูปที่เราชอบ จากเสียงที่เราชอบ จากกลิ่นที่เราชอบ จากรสที่เราชอบ    โผฏฐัพพะที่เราชอบ ก็ถูกไม่เที่ยง ความสุขเหล่านั้นก็เปลี่ยนแปลงไปกระทบกระเทือนจิตใจเรา สร้างทุกข์ขึ้นมา นี่ ทุกข์มาจากสมุทัยอย่างนี้ 

เมื่อเราพิจารณาเห็นทุกข์เห็นสมุทัยซึ่งเกี่ยวพันกันแล้ว เราก็เบื่อหน่ายในรูป ไม่ควรยึดมั่น เบื่อหน่ายในเสียง ไม่ควรยึดมั่น ในกลิ่นไม่ควรยึดมั่น ในรสไม่ควรยึดมั่น ในสัมผัสที่ถูกต้องกายไม่ควรยึดมั่น เมื่อมันมีมาแล้วพระพุทธเจ้าก็ให้รักษา คุ้มครองดูแลไม่ให้หลงใหลใช้ไปในทางที่ผิด เอาไว้เป็นครูเครื่องกำหนดที่พระพุทธเจ้าให้ความจำกัดให้เราพิจารณาเดินทางปัญญาให้เห็นว่า ความเกิดนี้ไม่ใช่เพื่อความสุข ความเกิดนี้เป็นทุกข์ในองค์อริยสัจ ทุกขสัจ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บป่วยเป็นทุกข์ ตลอดถึงความตายเป็นทุกข์ เราควรกำหนดรู้ เมื่อเห็นทุกข์ของความแก่ความตายแล้ว ความเกิดเป็นอะไร จะไม่ทุกข์ด้วยเหรอ คนส่วนใหญ่ชอบจะเกิด ชอบสร้างนั่นสร้างนี่ ติดยึดมั่นในภพของตนที่มีอยู่ หาทราบว่าสิ่งที่เรายึดมั่น ภพที่มีอยู่นั่นเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง กามภพที่เรายึดรูป ยึดเสียง ยึดกลิ่น ยึดรสที่มีอยู่นั้นทันไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นทำให้เป็นทุกข์ ถ้าเราไม่มีปัญญา 

ถ้าหากเราอบรมจิตใจทำให้สมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยความเพียรอันชอบ พยายามอันชอบ สร้างความเห็นชอบตามความเป็นจริงในอริยสัจแล้ว ความเห็นของเราก็ย่อมมั่นคงแน่วแน่ สามารถถอดถอนสมุทัยที่เราเคยหลงใหลแต่ก่อน เพราะมาเห็นทุกข์ชัดแจ้ง จิตเมื่อไม่ต้องการทุกข์ ทุกข์อยู่ในสิ่งอันใด สิ่งนั้นก็ต้องยอมเสียสละ ต้องตัดออก ก็เหมือนนายแพทย์มาตรวจพบโรคร้ายแรงอยู่ในอวัยวะส่วนไหน จะลุกลามเข้าไปใหญ่ถึงส่วนใหญ่ให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ก็ต้องยอมเสียสละส่วนนั้น ตัดทิ้ง ถ้าไม่เป็นอันตรายอย่างอื่น ถ้าให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนใหญ่ ฉันใดก็ดีสมุทัยถึงแม้ว่าจะเป็นรูป จะเป็นของที่ชอบใจ เสียงเป็นสิ่งที่ชอบใจ กลิ่นเป็นสิ่งที่ชอบใจ รสเป็นสิ่งที่ชอบใจ น่ารักน่าปรารถนา โผฏฐัพพะสิ่งที่ชอบใจ แต่เราพิจารณาแล้วถ้าหากว่าเรายึดมั่นถือมั่น มอบจิตมอบใจให้ความสุขในสิ่งเหล่านี้โดยส่วนเดียวแล้วก็เพราะรูปเสียงกลิ่นรสนั่นก็ย่อมไม่เที่ยง ย่อมให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้ยึดธรรม คือปัญญาความเห็นอันตรงถูกต้องแล้วพยายามละสมุทัย ทำความรู้ทุกข์ก็สมบูรณ์บริบูรณ์ ชื่อว่าเราได้ดำเนินมรรคปฏิปทาที่ถูกต้อง 

ขอให้เราทั้งหลายสิ่งเหล่านี้สำเร็จด้วยความเพียรพยายามชอบ การได้ฟังธรรมครั้งเดียวเราก็จดจำได้ ส่วนความเพียรนั้นเราจะต้องพยายามทุกวันทุกเวลา ความเพียรที่จะต่อเนื่องกันนั้นก็ต้องประกอบด้วย สติความระลึกชอบด้วย ด้วยความจิต ด้วยจิตที่ตั้งชอบด้วย คุณธรรมสามอย่าง คือ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตชอบเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่งในมัชฌิมาปฏิปทาซึ่งเป็นอริยสัจ เรียกว่ามรรคสัจ ผู้ใดพยายามศึกษาและปฏิบัติรู้เห็นแจ้งประจักษ์ในธรรมส่วนนี้ แล้วเชื่อตาม รู้ตาม เห็นตาม เกิดความเชื่อตาม ปฏิบัติตาม บุคคลผู้นั้นก็ชื่อว่าเป็นสาวกผู้เชื่อฟังคำสอนพระพุทธเจ้า การดำเนินปฏิบัติด้วยความพยายามอันชอบก็จะได้ถึงจุดหมายปลายทาง ได้ความสงบทั้งปัจจุบันและเบื้องหน้า ก็จะได้สติปัญญาอันชอบยิ่งๆขึ้นไป จะได้ละสมุทัยให้เด็ดขาด จิตใจก็จะได้เข้าถึงซึ่งความบริสุทธิ์หมดจดจากมลทินที่เรียกว่ากิเลสเครื่องเศร้าหมอง 

เราก็ได้ปฏิบัติตามหัวใจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าในสามข้อที่เราทุกคนได้ทราบและได้จำไว้ว่า ละความชั่ว ทำความดี ทำจิตของตนให้ผ่องใส ธรรมเหล่านี้ก็จะได้สมบูรณ์บริบูรณ์แก่ตัวของเรา ชื่อว่าเราได้ตั้งอยู่ในธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสรรเสริญว่าผู้ปฏิบัติชอบย่อมได้รับผลประโยชน์คือเกิดปัญญาวิชชาวิมุตติขึ้นมา พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็มาจดจำไว้ก็ดี ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามก็จะได้ประสบพบเห็นความสุขความเจริญจากนี้ไปตั้งใจรับพร