หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
ณ บัดนี้ถึงกาลเวลา นั่งสมาธิภาวนา การนั่งสมาธิให้พากันนั่งขัดสมาธิเพชร การนั่งขัดสมาธิเพชรนี้ กิเลสมาร สังขารมาร เมื่อมารบกับพระพุทธเจ้า ตอนพระพุทธเจ้านั่งภาวนาใต้ร่มไม้โพธิ์ พอเห็นพระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิเพชรเท่านั้นแหละ พญามารก็ขยาดกลัว นั่งแบบนี้ไม่เคยเห็น ท่าจะสู้พระพุทธเจ้าไม่ได้แล้ว ว่างั้น เพียงพญามารมาเห็นการนั่งสมาธิขัดสมาธิเพชรพระพุทธเจ้า ก็ไม่มีทางสู้แล้ว การนั่งสมาธิขัดสมาธิเพชร คือเป็นการแสดงออกซึ่งความองอาจกล้าหาญทางจิตใจ การนั่งภาวนานั่งขัดสมาธินั้นไม่เพียงแต่ขัดสมาธิเพชร น้ำพระทัยใจพระพุทธเจ้านั้น เป็นเพชรน้ำหนึ่งใจเดียว โดยเฉพาะวันที่พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จิตใจของพระองค์มั่นคง เหมือนแผ่นดิน ดูเถิดแผ่นดินไม่หวั่นไหวได้ง่ายๆ ใครจะทำอะไรๆให้แก่แผ่นดิน แผ่นดินก็ไม่ไหวหวั่นพรั่นพรึง เรียกว่าหนักแน่น
จิตใจพระพุทธเจ้าที่เข้าสมาธิภาวนา ก็มีความหนักแน่นไม่หวั่นไหว แม้ร่างกายสังขารเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา แต่จิตใจพระองค์ก็ข้ามพ้นความแก่ไปได้ ท่านข้ามพ้นความแก่ไปได้อย่างไร คือท่านไม่มายึดถือว่าพระองค์เป็นคนแก่ ความแก่ชรามันเป็นเรื่องของธาตุขันธ์ ธาตุ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลมเขาแก่ชราต่างหาก น้ำพระทัยใจพระพุทธเจ้ามันไม่รู้จักแก่ เพราะใจไม่ใช่รูปร่างกายที่เราเห็น จิตใจนั้นเป็นธาตุนามธรรม ท่านให้ชื่อย่อว่าจิตใจดวงผู้รู้อยู่ จิตใจดวงผู้รู้อยู่นั้น ใครจะไปทำอะไรๆให้ก็ย่อมไม่มีสั่นสะเทือน เพราะใจนั้นเป็นไม่ใช่รูป ไม่ใช่วัตถุ ไฟไหม้ก็ไม่ได้ น้ำก็ท่วมไม่ได้ ภัยอันตรายใดๆในโลก ไปทำลายจิตใจไม่ได้ จิตใจมันเหมือนกับท้องวรรคฟ้าอากาศ มันว่างอยู่
แต่เมื่อมีกิเลส ลาภะ โทสะ โมหะหุ้มห่ออยู่ ใจดวงนี้มันก็ยึดอยู่ในธาตุในขันธ์ ในหน้าในตา ในชื่อในเสียง ในเราในของๆเรา จิตนี้มันยังโง่เขลาเบาปัญญาอยู่ ยังไม่ได้แยกแยะพิจารณาให้ดี ว่ามันเป็นของใคร ธาตุดินเป็นของใคร ถามดูก็รู้ได้ ดินเป็นของใคร ดินไม่ใช่ของใคร ดินภายนอกก็ไม่ใช่ของใคร ดินภายใน ในตัวตนคนเราก็ไม่ใช่ของใคร มันเป็นธาตุดิน ธาตุดินนั้นมันมีอาการข้นแข็ง ธาตุน้ำมีอาการเหลว ธาตุไฟได้แก่ความอบอุ่น ความร้อน ธาตุลมก็เหมือนลมหายใจเข้าออก สูดเอาอากาศเข้าไปเลี้ยงร่างกาย ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ใช่ของใคร จิตคนเราหลงมายึดมาถือเอา ยังว่าถ้าสบายกาย สบายใจ จิตใจมันก็หลงอยู่ในสุขเวทนา คือได้อะไรตามใจหวัง ถูกอกถูกใจมันก็เป็นสุขเวทนา เมื่อผิดหวังไม่เป็นไปตามใจที่คิดไว้หมายไว้ มันก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ทุกขเวทนาเป็นเรื่องของจิตใจหลงทั้งนั้น
เมื่อผู้ภาวนามาทำความเพียรเพ่งอยู่ในรูปร่างกาย แม้มันจะเจ็บไข้ได้ป่วยบ้างเป็นธรรมดาก็อย่าไปยึดถือ เป็นเรื่องของสังขาร จะไม่ให้มันเจ็บไข้ได้ป่วยลำบากรำคาญไม่ได้ เพราะว่าสังขารทั้งหลาย มีความไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายนี้เป็นทุกข์ ทนอยู่อย่างนี้ไม่ได้ สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนของบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นของกลางโลกอยู่อย่างนี้ เมื่อใดกิเลสตัณหามานะทิฐิยังปกคลุมจิตใจอยู่ด้วยอำนาจตัณหาเหล่านี้แหละ ก็พาให้จิตใจของคนเรามาเกิด มาลุ่มหลงมัวเมาต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่ตัวประกอบกระทำอยู่ทุกวันเวลาก็ไม่ใช่ของอื่นไกลที่ไหน มันก็หลงวนเวียนอยู่ในอาการอันเก่า ตากับรูป เมื่อตาเห็นรูปก็เกิดความดีใจเสียใจไปตามอาการที่รูปมาผ่าน หูได้ยินกับเสียง กระทบกับเสียง จิตใจก็ยินดียินร้ายไปตามเสียงที่มากระทบ กลิ่นก็เหมือนกัน รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ก็เหมือนกันหมด จิตใจเป็นผู้หลง ธาตุแท้มันไม่ได้หลง ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มันไม่รู้จักรู้จักหลงอะไรแหละ มันเป็นธาตุเป็นของกลางเท่านั้นแหละ
จิตใจที่ภาวนาพุทโธๆอยู่ที่แหละ ผู้นี้จะเป็นผู้รู้ ผู้นี้จะเป็นผู้พิจารณา ผู้นี้จะเป็นผู้ทำให้แจ้ง ผู้นี้จะได้ละ ได้ถอน ได้ปล่อย ได้วาง ได้เห็นทุกข์เห็นโทษเห็นภัยในวัฏสงสารได้ ก็คือจิตใจ จิตใจผู้รู้ผู้เห็นอยู่ภายในนี่เอง จะเป็นผู้เข้าใจในธรรมปฏิบัติ จงรวบรวมจิตใจดวงนี้ให้เข้ามาตั้งภายในจิตใจของตัวเอง จิตใจนั้นท่านมีจุดอยู่ว่า ความรู้สึกนึกคิดอะไร อยู่ที่ไหน ก็ให้รวมกำลังมาตั้งที่นี่ พระองค์ทรงตรัสว่า ปัจจตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชนทั้งหลายพึงรู้แจ้งปัจจตังเฉพาะจิต ปัจจตังเฉพาะจิตก็จิตที่ภาวนาอยู่ พุทโธๆในจิตนั้นเอง ไม่ต้องไปหา ถ้าเกิดหาว่ามันอยู่ที่ไหน ที่นั่นที่นี่ก็ไม่รู้ ยุ่งเหยิงเปล่าๆ เมื่อวางตัณหาความหาเสียทั้งหมด จิตใจมันก็อยู่ที่จิตนั่นแหละ มันไม่ได้ไปที่ไหน มันเกิดขึ้นมาดับไป ดับไปมันก็เกิดขึ้นมา ปรุงแต่งอยู่อย่างนั้น
ผู้ภาวนาจงทำความเพียรเพ่งอยู่ให้รู้แจ้งด้วยปัญญา พระองค์ทรงตรัสไว้ว่าธาตุสี่ ขันธ์ห้า อายตนะทั้งหลาย พึงรู้แจ้งตามความเป็นจริง อย่าได้รู้ไปตามความหลง พระองค์ให้รู้แจ้งตามความเป็นจริง ของจริงมันมีอย่างไรก็ให้ตามรู้ตามเห็นตามความเป็นจริงนั้น มีความเกิดขึ้นมาแล้วก็เจริญขึ้น เมื่อเจริญหมดขีดแล้ว ก็ชำรุดทรุดโทรมแก่แตกดับไป คือว่าเกิดขึ้นก็ดับไป เกิดขึ้นก็ดับไป ทุกภพทุกชาติอย่างนี้แหละ จงตั้งจิตเจตนาดูความเคลื่อนไหวไปมาของธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ธาตุกรรมฐาน อสุภกรรมฐาน รูปขันธ์ร่างกายของมนุษย์คนเรานี้ ท่านว่าเป็นก้อนอสุภะ ก้อนอสุภกรรมฐาน ยังไม่ตายมันก็แสดงความเน่าความเปื่อยขึ้นมา ในรูปขันธ์ร่างกายนี้อยู่เสมอ โรคภัยไข้เจ็บก็เกิดขึ้นได้ทุกเวลา โรคบางอย่างบางประการเจ้าตัวไม่ต้องการมันก็เกิดขึ้นมาได้ มันเป็นไปได้ทุกอย่างทุกประการ จิตใจผู้ภาวนาจงเตรียมละอยู่เสมอ เตรียมวางอยู่เสมอจึงได้ ถ้ามายึดตามอาการเหล่านี้ สบายเราก็ว่าเราสบาย ดีอกดีใจ ทีนี้ถ้าเกิดไม่สบายกายขึ้นมา จิตมันก็ว่าไม่สบาย แท้จริงแล้วจิตใจมันเป็นผู้ไปยึดไปถือต่างหาก จึงเกิดไม่สบายขึ้นมา ถ้าจิตใจดวงผู้รู้อยู่ในใจของตัวเอง ไม่ไปยึดหน้าถือตา ยึดตัวถือตน ไม่ยึดไม่ถืออะไรทั้งนั้น เห็นว่าเมื่อมันเกิดขึ้นมาได้ มันก็แตกดับไปเป็นธรรมดาของเขาอย่างนั้นเอง
จิตใจให้ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง จงเห็นว่าในโลกนี้ สังขารทั้งหลายมันไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายมันเป็นทุกข์ของมันเอง สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนของบุคคลผู้ใด จิตใจมันไปหลงเอา ยึดเอาถือเอา วุ่นวายไปเอง ไม่มีอะไรวุ่นวายในโลก กิเลสราคะมันวุ่นวายเอง กิเลสโทสะมันวุ่นวายเอง กิเลสโมหะมันวุ่นวายเอง จิตใจของผู้ใดเข้าใจผิดคิดหลงไปตามกิเลสเหล่านี้มันก็วุ่นวายเป็นทุกข์ในโลก ไม่รู้แจ้งเห็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ คือทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งคนทั้งสัตว์ทั้งวัตถุธาตุทั้งหลาย ทั้งที่มีวิญญาณครองได้แก่คน สัตว์ ทั้งที่ไม่มีวิญญาณครอง มันก็มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาทั่วไปในโลกนี้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนไปที่ไหน ก็แสดงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอยู่เต็มโลก
แต่เมื่อจิตใจผู้ปฏิบัติภาวนาไม่ตั้งมั่นลงไปได้ จึงได้เกิดความลุ่มหลงมัวเมายึดมั่นถือมั่น ไม่รู้จักละจักวาง ไม่รู้จักสงบระงับ เมื่อไม่รู้จักละจักวาง อะไรเจ็บขึ้นมาก็ว่าเราเจ็บ เมื่อเจ็บขึ้นมาแล้ว ก็อยากจะให้มันหายไป แต่เวลามันเกิดสบายขึ้นมา ชอบใจ เวลาทุกข์ขึ้นมาไม่ชอบใจ นั่นหละคือว่าจิตมันไม่สงบตั้งมั่น ไม่อยู่ในจิตในใจจริงๆ คอยไปยึดไปถืออารมณ์เรื่องราวทั้งหลายแหล่ในโลก ไปยึดไปถือทำไม สิ่งใดไม่เที่ยงไปยึดเข้าก็เป็นทุกข์ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของใครในโลกนี้ ท่านให้รู้ไว้ ของเราตัวเราที่ไหน เป็นของเราตัวเรา บอกได้ว่าฟังที่ไหน ถ้าบอกได้ก็บอกไม่ให้มันเจ็บ เวลาเจ็บก็บอกว่าให้หาย ให้มันหาย ได้ไหม มันไม่ได้ เมื่อไม่ได้ท่านก็ให้ปล่อยวางเสีย อย่ามายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา เป็นของๆเรา ของทั้งหลายไม่ใช่ของใคร มันเป็นของกลางอยู่ในโลกนี้แหละ ทั้งรูป ทั้งนาม ทั้งกาย ทั้งจิต ทั้งเรา ทั้งเขา ทั้งคน สัตว์ วัตถุธาตุทั้งหลาย มันเกิดดับอยู่ตามหน้าที่ของเขาอย่างนี้ จิตใจผู้ภาวนาไม่ควรมาลุ่มหลงมัวเมาอีกต่อไป
เท่าที่ลุ่มหลงมัวเมามาแล้วตั้งแต่อดีตชาติ นับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว จนมาเกิดในภพนี้ชาตินี้ ภพนี้ชาตินี้ก็ให้ภาวนา ภาวนาจนรู้แจ้งรู้จริงด้วยปัญญาอันชอบ ไม่ใช่ว่าฟังธรรมแล้วไม่ภาวนา มันก็ไม่ได้ ต้องภาวนา ต้องพินิจพิจารณาอยู่ทุกวันเวลา ว่าโลกนี้ไม่เที่ยง โลกภายนอกก็ไม่เที่ยง โลกภายในกายใจของคนเรามันก็ไม่เที่ยงไม่แน่นอน จะเอาความเที่ยงแท้แน่นอนในโลกนี้ไม่ได้ ผู้ปฏิบัติธรรมจงเป็นผู้ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ เอาจริงเอาจังในจิตใจของตัวเอง ไม่ให้จิตใจมันอ่อนแอท้อแท้ในหัวใจ ให้เห็นแจ้งในร่างกายสังขารรูปธรรม นามธรรมนี้
กายกับใจเมื่อท่านย่อเข้ามาแล้วว่า นามและรูป นามหมายถึงจิต รูปหมายถึงตัว รูปนามกายใจนี้ มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของเราเลย สัพเพสังขารา อนิจจา ขึ้นชื่อว่าสังขารทั้งหลายมีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน แล้วก็มีอยู่เต็มโลกด้วย ไม่ว่าเรื่องของคน ไม่ว่าเรื่องของสัตว์ ไม่ว่าเรื่องวัตถุธาตุทั้งหลาย มันแสดงอยู่ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือมันไม่เป็นอยู่อย่างที่เป็นอยู่อย่างเราเห็น อีกไม่กี่เวลามันก็เปลี่ยนไปแปลงไปตามหน้าที่ของเขาอย่างนั้นเอง จิตใจผู้รู้ผู้เห็นอยู่ที่ไหนในเวลานี้ ก็ให้รวมกำลังมาตั้งมั่นในจิตใจดวงนี้ให้ได้ เมื่อจิตใจดวงนี้ตั้งมั่นเป็นสมาธิภาวนาลงไปได้แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่นี้อยู่ที่ไหนก็ตาม ก็เป็นภาวนาได้ตลอด ๒๔ชั่วโมง นั่งก็ภาวนานั่ง นอนก็ภาวนานอน ยืนก็ภาวนายืน เดินก็ภาวนาเดิน ทุกอิริยาบถอย่าได้ประมาท
เดี๋ยวนี้คนเรามันประมาทมัวเมา ลุ่มหลง ไม่นึก ไม่พิจารณา เรารอวันตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก แต่ไม่รู้สึกในใจ ยังสำคัญผิดคิดว่าเราจะไม่ตายอยู่นั่นแหละ ทีนี้เมื่อเห็นผิดว่าเราจะไม่ตาย เวลามันจะตายขึ้นมา มันเจ็บปวดทุกขเวทนา จนร้องไห้น้ำตาไหล มันก็ไม่หยุดเจ็บ ฉะนั้นให้เรารู้เท่าทันว่าสิ่งทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนของเรา จิตใจมาอาศัยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นอยู่ชั่วระยะกาลหนึ่งเท่านั้นเอง อีกไม่นานมันก็พลัดพลากจากกันไปเป็นธรรมดาอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมท่านจึงตั้งอกตั้งใจปฏิบัติบูชาภาวนา ไม่ให้จิตใจท้อถอย ตั้งใจปฏิบัติอยู่ทุกขณะ คือร่างกายจะเคลื่อนไหวไปมาที่ไหนเวลาใดก็ตาม มันก็เคลื่อนอยู่ในอิริยาบถทั้งสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน นอนตื่นขึ้นมาก็มานั่ง นั่งก็ยืน ยืนก็เดิน เดินก็วนไปวนมา อันนี้เป็นธรรมดา วัฏสงสารเขาเป็นมา เขาเป็นอยู่ จะเป็นไปในข้างหน้า ส่วนจิตใจผู้ภาวนาจงกำหนดหลักอนิจจัง คือความไม่เที่ยง หลักทุกขัง คือความเป็นทุกข์ หลักอนัตตา สิ่งทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนของเราเลย จิตใจอย่าได้ลุ่มหลงมัวเมาไปในที่ต่างๆ ฉะนั้นโดยอุบายโดยย่นย่อนี้ เมื่อว่าเราท่านทั้งหลายพากันได้ยินได้ฟังแล้วก็ให้กำหนดจดจำนำไปประพฤติปฏิบัติ ก็คงได้รับความสุขความเจริญ เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้