Skip to content

เที่ยวกรรมฐานในกายนคร

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด (๑๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙)

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ในหลักธรรมท่านว่า “ความยินดีในธรรม ชนะซึ่งความยินดีทั้งปวง รสแห่งธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” คำนี้ออกมาจากท่านผู้ที่เคยได้ยินดีมาแล้ว เคยได้ลิ้มรสพระสัทธรรมมาแล้ว คือพระพุทธเจ้าของเรา เพราะฉะนั้นผู้ที่สนใจฟังตามที่ท่านสั่งสอน ไม่ว่าจะเป็นธรรมบทใด ย่อมซาบซึ้งถึงใจทุกบททุกบาทไป นอกจากจะฟังสักแต่ว่าเป็นกิริยา โดยจิตไม่ได้จดจ่อ และเพลินไปกับสิ่งต่างๆ ตามวิสัยของจิตที่เคยเป็นมาดั้งเดิมเท่านั้นโดยหาสารคุณอะไรไม่ได้

         ศาสนธรรมก็ไม่มีความหมายในจิตประเภทนั้น จนกว่าจิตประเภทนั้นจะหันเข้าสู่หลักธรรม เกิดความสนใจขึ้นภายในตัวเอง แล้วประพฤติปฏิบัติธรรม รสแห่งธรรมที่กล่าวนั้นจึงจะซาบซึ้ง และเป็นเครื่องสนับสนุนจิตใจ และเกิดความเชื่อไปโดยลำดับ เพราะมี “ฐานแห่งธรรม” สืบเนื่องเป็นเครื่องรองรับกันโดยลำดับอยู่แล้วภายในใจ

         เฉพาะอย่างยิ่งการฟังธรรมในภาคปฏิบัติ ถ้าจิตไม่มีพื้นเพทางด้านจิตตภาวนาอยู่บ้างเลย และไม่เคยสนใจกับอรรถกับธรรม ไม่เคยสนใจประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ปรากฏธรรมแม้บทใดเป็นที่สะดุดใจบ้างเลย เวลาฟังเทศน์ทางด้านปฏิบัติ ที่ท่านแสดงเรื่องวิถีจิต การดำเนินของจิต การแก้ไขจิต ระหว่างจิตกับกิเลส หรือระหว่างจิตกับมรรค คือ สติปัญญาหรือความเพียร ดังนี้ ผู้ฟังจะไม่เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจก็เกิดความท้อใจ จิตใจจึงเบนความสนใจไปทางอื่นเสีย บางทีก็ง่วงเหงาหาวนอน อยากหลับอยากนอนอะไรไปเสีย การเทศน์ก็รู้สึกว่าเป็นเวลานาน เพราะเป็นการกดถ่วงกิเลส ไม่ให้ออกมาพลุกพล่านตามความสะดวกสบาย ฉะนั้นในขณะฟังธรรม จำต้องระมัดระวังจิตใจ ความระมัดระวังจิตใจนี้ เป็นเหมือนกับถูกกักถูกขังไว้ในขอบเขต อันเป็นที่ทรมานโดยเฉพาะใจ เลยเกิดความรำคาญขึ้นมา และเกิดความอิดหนาระอาใจไม่อยากฟัง นอกจากหาเรื่องกวนใจมายุ่งตัวเองเปล่าๆ โดยไม่เกิดประโยชน์อะไรในการฟังธรรม

         ต่อเมื่อได้ฟังไปเรื่อย ๆ ด้วยความสนใจ แม้ขณะฟังก็ยังมีภาคปฏิบัติไปด้วย จิตมีความจดจ่อต่อเนื่องกันไปกับกระแสแห่งธรรมที่ท่านแสดงไป จิตเกิดมีความสงบขึ้นมาเพราะความรู้ที่สัมผัสกับธรรมนั้น สืบเนื่องกันไปโดยลำดับ ไม่ขาดวรรคขาดตอน ใจไม่มีโอกาสเล็ดลอดออกไปสู่อารมณ์ต่างๆ ที่เป็นข้าศึกในขณะที่ฟัง เลยทำจิตสงบตัวลงได้

         การที่จิตสงบตัวลงได้บ้าง นั่นแหละเป็นการเริ่มสร้างฐาน หรือขัดเกลาภาชนะคือ ใจ ให้สะอาดขึ้นโดยลำดับ สมควรแก่การรับ “ธรรม” จิตใจจะเริ่มสงบเยือกเย็นขึ้นมา และเห็นคุณค่าแห่งการฟังธรรม ดังที่ท่านแสดงไว้ว่า

         “การฟังธรรม มีอานิสงส์ ๕ ประการ ซึ่งข้อที่ ๕ เป็นข้อสำคัญ คือ จิตผู้ฟังย่อมสงบผ่องใส นี่สำคัญมาก แต่ก็ต้องเป็นแนวทางสืบต่อกันไปแต่เบื้องต้นที่ว่า “ผู้ฟังธรรมย่อมจะได้ยินได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟัง” ซึ่งเป็นบาทฐานไปตั้งแต่นี้ คือไม่เคยได้ฟังทางภาคปฏิบัติ หรือทางใดก็ตาม เมื่อได้ฟังขณะที่ท่านเทศน์นั้น ก็เกิดความเข้าใจขึ้นมา ในสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาเลยเราก็ได้ฟัง ไม่เคยเข้าใจอย่างนั้นเราก็ได้เข้าใจขึ้นมา สิ่งที่ได้เคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้งก็เข้าใจแจ่มแจ้งเข้าไปโดยลำดับ และทำความรู้ความเห็นให้ถูกต้องไปตามแนวทางได้ สุดท้ายก็ไปถึงขั้นที่ว่า “จิตผู้ฟังย่อมผ่องใส และสงบเย็น” เมื่อปรากฏผลขึ้นมาเช่นนี้แล้ว ความยินดีในธรรมก็เริ่มปรากฏขึ้นมาเอง รสของธรรมก็เริ่มปรากฏขึ้นมาในขณะฟัง และขณะจิตสงบตัวฟัง แม้จะยังไม่ชนะรสอื่นใดก็ตาม แต่ก็เป็นรสที่ดื่มด่ำ ทำให้สะดุดจิตสะดุดใจ เป็นความจำไว้ได้นานๆ ไม่ลบเลือนไปอย่างง่ายดายภายในใจของผู้นั้น

         ฉะนั้น นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจึงถือการฟังธรรมเป็นสำคัญ จะเรียกว่า “ติดครูติดอาจารย์” ก็ได้ไม่คัดค้าน พระปฏิบัติทั้งหลายชอบได้ยินได้ฟังเสมอ จากครูจากอาจารย์ อาจารย์องค์ใดเป็นที่เคารพนับถือเลื่อมใสในด้านปฏิบัติ ทั้งในด้านจิตใจ อาจารย์องค์นั้นไปอยู่ในสถานที่ใด ลูกศิษย์ลูกหาจะทยอยไปหาเรื่อยๆ จนแทบไม่มีที่พักอาศัยเพียงพอกัน ยกตัวอย่างเช่น ท่านอาจารย์มั่น เป็นต้น

         ท่านไปอยู่ในสถานที่ใด ลูกศิษย์ลูกหาอยู่ใกล้อยู่ไกล ทยอยไปหาท่านเสมอมิได้ขาด แม้จะอยู่กับท่านโดยเฉพาะในที่แห่งเดียวกันไม่ได้ เพราะสถานที่ไม่เพียงพอกับการอยู่ก็ตาม ก็จะต้องไปหาพักอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ๒-๓-๔ กิโล หรือ ๗-๘ กิโล ท่านก็ยอมไปอยู่ ทั้งนี้เพื่อมาฟังโอวาทท่านได้สะดวก ในวันทำอุโบสถ และวันประชุมธรรม

         ในวันอุโบสถ ฟังปาฏิโมกข์ และฟังโอวาทท่านหลังปาฏิโมกข์แล้ว เวลาสงสัยอรรถธรรมก็มาเล่าถวายให้ท่านแก้ปัญหาให้ พระ เณร จึงมีมากจนเต็มไปหมดในตำบลนั้นๆ ในขณะที่ท่านพักอยู่ มีแต่พระกรรมฐาน ถึงวันอุโบสถฉันจังหันแล้วต่างองค์ต่างมา พอบ่ายโมงท่านก็เริ่มลงอุโบสถ พออุโบสถแล้วท่านจะให้โอวาท ส่วนมากท่านให้โอวาทหลังจากอุโบสถแล้ว นี่เป็นภาคปฏิบัติอันสำคัญกับผู้ที่อยู่กับท่าน ในพรรษาก็ปฏิบัติเช่นนี้ เจ็ดวันประชุมต่อครั้ง นอกพรรษาก็ไม่ใคร่แน่นอนนัก แต่ในพวกเราที่อยู่กับท่าน ส่วนมากท่านทำอย่างนั้น พระกรรมฐานจึงติดครูติดอาจารย์ ด้วยเหตุนี้เองขณะที่ฟังท่านให้โอวาทเป็นสำคัญมาก ได้สติ ได้ปัญญา ทางด้านจิตใจขึ้นมาเป็นระยะๆ ไม่เคยพลาด!

        ในการฟังครั้งหนึ่งๆ องค์ท่านเองก็เป็นเหมือน “แม่เหล็ก” เป็นเครื่องดึงดูดจิตใจของพระเณรให้เกิดความสนใจ ทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นอรรถเป็นธรรมแล้ว จะมีท่านเป็นแรงดึงดูดอันสำคัญ เป็นเครื่องดูดดื่มให้มีความเพลิดเพลิน รื่นเริง ในธรรม ได้พบได้เห็นท่านชั่วระยะหนึ่ง ระยะหนึ่ง ก็เป็นเครื่องดึงดูดจิตใจให้เกิดความปีติยินดี แถมยังได้ยินได้ฟังท่านพูดเรื่อย ๆ จะเป็นการเทศน์ทั่ว ๆ ไปในเวลาอบรมก็ตาม พูดธรรมดาก็ตาม พูดทีเล่นทีจริงก็ตาม เพราะท่านเป็น “ธรรม” หมดทั้งองค์แล้ว การแสดงออกในแง่ต่างๆ ย่อมมีธรรม มีเหตุมีผลที่จะยึดเป็นคติแทรกออกมาเรื่อยๆ ให้ผู้ฟังที่มีความสนใจได้ยึดเป็นคติตลอดไปทุกๆ ครั้งที่ได้ยินได้ฟังจากท่าน เพราะฉะนั้นการอยู่กับครูกับอาจารย์ของพระกรรมฐาน จึงเป็นความสนุกรื่นเริงในธรรมมาก ท่านไปด้วยอัธยาศัยของท่านเอง

เวลาห่างครูห่างอาจารย์ออกไป จิตใจที่ยังไม่สามารถรักษาตนได้ ก็ย่อมมีความว้าเหว่ หรือเกิดข้อขัดข้องอะไรขึ้นมาก็ไม่สามารถแก้ไขได้ จะต้องคิดถึงครู คิดถึงอาจารย์ ถ้าหากไม่สามารถจะคิดค้นแก้ไขได้โดยลำพังตนเอง ก็ต้องรีบมาหาท่านให้ชี้แจงแนะนำ ซึ่งตัดลัดเวลาที่ยืดเยื้อเพราะการแก้ไขด้วยตนเองนั้น ออกไปได้มากมาย เพราะท่านรู้แล้วเห็นแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง เวลาเราเกิดข้อข้องใจอะไรมาหาท่าน เพียงแต่เล่าถวายท่านจบประโยคลงเท่านั้น ท่านจะแก้ไขในทันทีแล้วเข้าใจในขณะนั้น

         นี่แหละการอยู่กับครูกับอาจารย์ที่ท่านรู้จริงเห็นจริงแล้วไม่เนิ่นช้า ไม่เสียเวลาในปัญหาแต่ละข้อ ละข้อ ทั้งเป็นประโยชน์แก่ผู้มาศึกษามากมายไม่ผิดหวัง ความที่ท่านผู้รู้จริงเห็นจริง แสดงให้ฟังผิดกันมากอย่างนี้

         เมื่อตะกี้นี้ได้ยกเรื่องความยินดีในธรรมขึ้นแสดงในเบื้องต้น ก็เหมือนกับที่กล่าวมานี้แหละ ความยินดีในธรรมยินดีไปเรื่อยๆ ด้วยอำนาจแห่งการได้ยินได้ฟังเสมอ และการประพฤติปฏิบัติตนอยู่โดยสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน ผล คือ รสชาติที่ปรากฏจากการปฏิบัติ จะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ มีความแน่นหนามั่นคงขึ้นภายในจิตใจเรื่อย ๆ

         เฉพาะอย่างยิ่ง คือ สมาธิ มีความสงบ ร่มเย็น เป็นสุข สะดวกสบาย ไม่คิดส่ายแส่ไปกับเรื่องอะไรภายนอก ประหนึ่งโลกธาตุนี้ไม่มี เพราะไม่มีความรู้สึกไปเกี่ยวข้อง มีแต่อรรถแต่ธรรมที่จะพึงพินิจพิจารณา และปฏิบัติให้มีความเข้มแข็ง เหนียวแน่นขึ้นไปโดยลำดับเท่านั้น

         ถ้าเป็นขั้นปัญญา จะพิจารณาไปกว้างแคบเพียงไร ในบรรดาสภาวธรรมที่มีอยู่ในโลกนี้ ก็เพื่ออรรถเพื่อธรรม เพื่อถอดถอนตนโดยถ่ายเดียวเท่านั้น จึงเป็นความเพลิดเพลินไปทั้งวันทั้งคืน จิตใจของเราเมื่อมุ่งต่ออรรถต่อธรรมอย่างแรงกล้าเพียงไร ย่อมมีความเข้มแข็งอาจหาญเพียงนั้น ไม่มีเยื่อใยในชีวิตจิตใจ ตลอดถึงความเป็นอยู่ปูวายอะไรทั้งสิ้น ไม่มีความกังวลวุ่นวายกับอะไรภายนอก มีแต่เข็มทิศทางเดินแห่งธรรมเท่านั้นเป็นเครื่องพยุงให้จิตใจเป็นไปโดยลำดับ นั่งอยู่ก็เพลิน นอนอยู่ก็เพลิน เพลินด้วยความพากเพียรในการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นสมาธิก็เพลินในความสงบเย็นใจ ถ้าเป็นภาคปัญญาก็เพลินในการคิดค้นอรรถธรรมในแง่ต่างๆ เพื่อการถอดถอนกิเลสเป็นลำดับในขณะที่พิจารณา

         ความผาสุกเย็นใจจึงมีได้ทุกระยะของการประกอบความเพียร อยู่ในที่สงบเงียบเท่าไร ความรู้นี้ยิ่งเด่นดวง แม้ความรู้ทางด้านสมาธิก็เด่นในความรู้สึกตัวเอง และเด่นด้วยความสงบ ทางด้านปัญญาก็เด่นทางความเฉลียวฉลาด ความแยบคายของจิต คิดค้นไม่มีเวลาหยุด นอกจากพักสงบในสมาธิเท่านั้น เหมือนกับน้ำซับน้ำซึมไหลรินอยู่ทั้งหน้าแล้งหน้าฝน

         ตามสภาวธรรมแง่ต่างๆ ที่จะมาสัมผัสสัมพันธ์ หรือสิ่งเหล่านั้นไม่มาสัมผัสสัมพันธ์ จิตใจที่มีนิสัยไปทางด้านปัญญาอยู่แล้ว ย่อมพิจารณาสอดแทรกไปทุกแง่ทุกมุม และเกิดความเข้าอกเข้าใจไปโดยลำดับ ดังที่ท่านว่า “กายคตาสติ” อย่างนี้ พูดอย่างหนึ่งก็รู้สึกเผินๆ เพราะจิตมันเผิน จิตไม่มีหลัก จิตไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีหลักเกณฑ์ คือธรรมเป็นหลักเกณฑ์ของจิต พูดอะไรก็ไม่ค่อยถึงใจ เพราะใจอยู่ลึกใต้ท้องกิเลสโน่น แต่พอจิตมีหลักมีเกณฑ์ มีเหตุมีผลขึ้นภายในตัวแล้ว เอ้า เฉพาะอย่างยิ่งเราอยู่ในที่สงบๆ กำหนดพิจารณาดูร่างกายขณะที่นั่งภาวนาน่ะ มันทะลุปรุโปร่งโล่งไปหมดทั้งร่างกาย เป็นอย่างนั้นจริงๆ ในความรู้สึกของผู้ปฏิบัติธรรมขั้นนี้ มันซาบซึ้งดื่มด่ำมาก จะพิจารณาดูผิวหนังข้างนอก พิจารณาให้เห็นเป็น “อสุภะ อสุภัง” ก็ดี มันก็เห็นอย่างชัด ๆ เพราะธรรมชาติอันนี้เป็นอยู่แล้ว เป็นแต่จิตของเราไม่เดินตามความจริงนั้นเท่านั้น เป็นเหตุให้ขัดแย้งกันอยู่เสมอ

         เมื่อจิตใจมีความสงบ และพิจารณาด้วยปัญญาได้แล้ว เอ้า เราเดินกัมมัฏฐาน คือพาจิตเดินกัมมัฏฐาน ท่องเที่ยวในสกลกาย คือ ขันธ์ห้านี้ เดินขึ้นเบื้องบนถึงศีรษะ เดินลงเบื้องล่าง เบื้องต่ำถึงพื้นเท้า เดินออกมาข้างนอก ถึงผิวหนัง เดินเข้าไปข้างในหนัง ในเนื้อ ในเอ็น ในกระดูก ทุกชิ้นทุกอัน มีความสืบต่อเกี่ยวเนื่องกันอย่างไรบ้างตามธรรมชาติของมัน

         จิตค่อยไตร่ตรองไปตามนั้นโดยลำดับๆ จิตก็เพลินไปด้วยการพิจารณานั้น สุดท้ายทั้งๆ ที่เราพิจารณาร่างกายอยู่นั้นแล แต่ในความรู้สึกนั้นปรากฏเหมือนไม่มีกายเลย จิตมันเบาหวิวไปหมด กายเนื้อนี้หายไป แต่ภาพที่พิจารณานั้น ก็พิจารณาไปโดยลำดับเช่นเดียวกัน ทั้งๆ ที่อาศัยภาพแห่งร่างกายที่มีอยู่นี้แลเป็นเครื่องพิจารณา แต่ส่วนที่ปรากฏร่างอันนี้ เหมือนเริ่มแรกนั้นไม่ปรากฏ หายไปหมดนั้นอย่างหนึ่ง พิจารณาจนกระทั่งมีความละเอียดลออ ในความรู้สึกของจิต จนกระทั่งร่างกายนี้ เราจะพิจารณาให้เป็นความแตก ความสลายลงไปก็เป็นไปโดยลำดับ มีความรู้สึกอยู่กับ “ภาพ” ที่ปรากฏภายในจิตใจโดยทางปัญญา ที่พิจารณาอยู่เท่านั้น และเห็นอย่างชัดเจนเพราะไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องวุ่นวาย

         จิตก็ไม่หิวโหยอยากวิ่งเต้นออกไปสู่ภายนอกเพลินกับงาน คือ การพิจารณานั้นเท่านั้น ความเข้าใจก็ชัดขึ้นมา ชัดขึ้นมา ความเข้าใจชัดมากเพียงไร ยิ่งทำให้เกิดความสนใจยิ่งขึ้นเป็นลำดับ สุดท้ายก็มีแต่ภาพ หรือธรรมารมณ์อันนั้น กับใจ หรือปัญญานี้เท่านั้น ส่วนร่างกายอันแท้จริงนี้ก็เลยหายไป ไม่ทราบหายไปไหน มันไม่รู้สึกว่ากายมีเวลานั้น ทั้งๆ ที่พิจารณาร่างกายอยู่นั้นแล จนกระทั่งสภาพนี้สลายลงไป เห็นอย่างประจักษ์ภายในจิต สลายลงไปจนกระทั่งกลายเป็นสภาพเดิมของธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ สลายลงไปสู่ธาตุเดิมของเขา จิตหดตัวเข้ามาเหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ

         ที่ว่า “เวทนา” ก็หายหมดในระยะนั้น สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องเลย เพียงแต่ “รู้” อย่างเดียวเท่านั้น มันพอกับความเป็นอยู่ของจิตใจในขณะนั้นแล้ว เข้าสู่ความสงบแน่วไปเลย เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ อย่างเดียว ร่างกายที่เรานั่งอยู่นี้หายหมดอย่างนี้ก็มีในการพิจารณา แต่กรุณาอย่าคาด เป็นแต่เพียง “ฟัง” ให้เป็นความเพลิดเพลินรื่นเริง ในขณะที่ฟัง อันจะเกิดผลประโยชน์ในการฟัง ด้วยความเห็นจริงของตัวเอง

         เวลาเราพิจารณาตามจริตนิสัยของเราแล้ว จะเป็นอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของตัวเอง ที่จะปรากฏขึ้นมาตามจริตนิสัยของตัว เรื่องของคนอื่นถ้าจะให้เราเป็นอย่างนั้น คือ ให้ตัวของเราเป็นอย่างนั้น รู้อย่างนั้น เห็นอย่างท่านนั้นไม่ได้ แล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละคน ละคน ให้เป็นไปตามหลักธรรมชาติของตนเอง ที่ได้พิจารณารู้เห็นอย่างใด นี่เป็นประการหนึ่ง ที่อธิบายมานี้

         ประการที่สอง เวลาพิจารณา กาย เกี่ยวกับเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้น เราจะว่า อนิจจัง หรือ ทุกขัง อนัตตา ก็ตาม เมื่อปัญญาได้สัมผัสสัมพันธ์กับรูปขันธ์นี้โดยชัดเจนแล้ว มันหากรู้ได้ภายในตัวของมันเอง เพราะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่จะพึงปล่อยวาง เป็นสิ่งที่พึงเบื่อหน่ายคลายความยินดีไปโดยลำดับๆ แล้วปล่อยวาง เมื่อจิตพิจารณาเข้าใจเต็มที่แล้ว ก็ปล่อยวางเองโดยไม่ต้องบังคับ เพราะเป็นความจริงอันหนึ่งๆ เท่านั้น ในกาย ในขันธ์ แต่ละส่วน แต่ละชิ้น ที่พิจารณานี้ เวลาพิจารณาลงไปอย่างชัดเจนเช่นนั้นแล้ว จิตก็แยกตัวออกได้โดยอัตโนมัติ เพราะความจริง ถึงความจริง คือ จิตเป็นจิต อาการเหล่านั้นแต่ละอาการก็เป็นอาการของตัวโดยลำพังไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับจิตเลย แม้จิตก็ย้อนมาเห็นโทษของจิตเอง ที่ไปยึดไปถือไว้นั้นว่า “นี่มันหลงจริง ๆ ความจริงมันเป็นอย่างนี้ อย่างนี้” นั่น! นี่เป็นวาระหนึ่ง เมื่อยังไม่ขาดจากกัน คือ จิตยังไม่มีกำลังพอตัว มันรู้เป็นระยะอย่างนี้ไปก่อน

         การพิจารณาคราวหน้าก็รู้อย่างนี้ ซึมซาบ ซึมซาบเข้าไปเรื่อย ๆ จนความรู้ชั้นนี้พอตัวก็ปล่อยวาง เหมือนจอกแหนที่มันหุ้มเข้ามา หุ้มเข้ามาปิดน้ำนั่นเอง เราเบิกเราแหวก จอกแหน ก็หุ้มเข้ามาอีก แหวกมันออกไปอีก ปัญญาเวลาพิจารณาบุกเบิกสิ่งเหล่านี้ หรือคลี่คลายสิ่งเหล่านี้มันก็เป็นอย่างนั้น พอถอยปัญญาออกมา กิเลสส่วนละเอียดมันก็หุบเข้ามา แต่พิจารณาหลายครั้งหลายหนเข้า เรื่องจอกเรื่องแหน คือ กิเลสชนิดต่างๆ ก็เบาบางไป บางไป การพิจารณาในอาการเหล่านี้ ค่อยสะดวกขึ้น สะดวกขึ้น คล่องแคล่วขึ้นไปเรื่อยๆ และมีความละเอียดไปเป็นลำดับๆ จนกระทั่งถึงความพอตัวแล้วก็ถอนตนออกโดยอัตโนมัติ ดังที่อธิบายผ่านมาแล้วนั่นแล

         จิต เมื่อมีกำลังสติปัญญาพอตัวแล้ว มันถอนได้อย่างเด็ดขาด รู้ประจักษ์ใจ โดยไม่ต้องไปถามใครอีกแล้ว ใจมีความเพียงพอในตัวเอง เห็นประจักษ์เป็น “สนฺทิฏฺฐิโก” อย่างเต็มภูมิ ตามธรรมประกาศไว้ ไม่มีปัญหาใดๆ มาขัดแย้ง

         ประการที่สาม เวลาพิจารณาร่างกาย บางทีจิตมีความสัมผัสกับเวทนาก็แยกไปพิจารณาเรื่อง “เวทนา” อีก แล้วแต่จริตของจิต เวลาจะแยกไปพิจารณาเวทนา ใจมันก็ส่งเข้ามาหากายอีกเช่นเดียวกัน เพราะกายกับเวทนาเกี่ยวโยงกัน ที่จำต้องพิจารณาประสานกันไปในขณะเดียวกัน ตามแต่ถนัดในโอกาสใด เวทนาใด และอาการของกายใด พิจารณาเวทนา คำว่า “ทุกข์” ก็สักแต่ว่าทุกข์มันดู มันกำหนด มันซักซ้อม มันปล่อยวางอยู่ตรงนั้นแล้วก็ย้อนเข้ามาหากาย กายก็เป็นกาย เวทนาก็เป็นเวทนา แล้วย้อนเข้ามาหาจิต จิตก็เป็นจิต พิจารณาทดสอบหาความจริง ทั้งกาย ทั้งเวทนา ทั้งจิต ซึ่งเป็นตัวการทั้งสามนั่นแล จนเป็นที่เข้าใจเป็นชิ้นเป็นอัน ว่าต่างอันก็เป็นความจริงด้วยกัน

         เมื่อ “จิต” ถอยออกมาจาก “กาย” และ “เวทนา” เสีย กาย กับ เวทนา ก็ไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ความรู้ล้วน ๆ เมื่อกระแสจิต “แย็บ” ออกไปรู้ เวทนาก็ปรากฏเป็นเวทนาขึ้นมา อาการนั้นๆ ก็เป็นเครื่องส่อให้เห็นว่าอาการใดที่จะปรากฏ ก็เพราะความรู้อันนี้ไปให้ความหมายสิ่งนั้นว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้

         ถ้าจะคิดไปในทางผูกมัดว่า “ตนเอง” คือ ไปในทาง “สมุทัย” ก็ต้องอาศัยความหมายนี้พาไป พายึดพาถือ พาไปสำคัญมั่นหมายต่างๆ ถ้าเป็นไปในทางปัญญาก็อาศัย “ปัญญา” ซึ่งเป็นกระแสของจิตนี่เอง ใช้พิจารณาไตร่ตรองจนเห็นชัดด้วยปัญญาแล้ว ถอนตัวเข้ามาอย่างมีเหตุมีผลเต็มตัว ไม่ใช่ถอยเข้ามาหาแบบขี้เกียจอ่อนแอ หรือแบบยอมแพ้ ชนิดหมอบราบคาบหญ้าหาทางต่อสู้ไม่ได้

         การพิจารณาเวทนา สัญญาแย็บออกมา สติก็รู้ ถ้าพิจารณาเวทนาอย่างละเอียดลออเข้าไปแล้ว เพียงสัญญามันแย็บออกไปก็รู้ สังขารปรุงก็เหมือนกับหิ่งห้อยนั่นเอง แย็บๆ ถ้าสัญญาไม่ไปหมาย หรือรับช่วงต่อ สังขารก็เพียงปรุงแย็บๆ แล้วดับไป ดับไป ไม่ว่าจะปรุงเรื่องใด เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องหยาบ เรื่องละเอียด เรื่องกลางๆ หรือเรื่องอะไรๆ ก็ตาม มันเป็นเพียงความกระเพื่อมของจิตเอง และในขณะที่มีอะไรมาสัมผัสเท่านั้น ถ้าหากไม่มีอะไรมาสัมผัส โดยลำพังตนเอง ท่านเรียกว่า “สังขาร” ถ้ามีอะไรมาสัมผัสท่านเรียกว่า “วิญญาณ”

         นี่เราหมายถึง “สังขาร” ที่ปรุงอยู่โดยลำพังตนเอง ไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้องก็ปรุงขึ้นแย็บๆ และดับไปพร้อม ปรุงขึ้นแย็บดับไปพร้อม เราจะเห็นได้อย่างชัดเจน ขณะที่จิต รวมตัวอย่างสนิทในขั้นสมาธิ และขั้นปัญญาอันละเอียด

         ความสนิทแห่งการรวมตัวของจิตนี้จะไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้องเลย เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ ขณะที่ความรู้ล้วนๆ ทรงตัวอยู่อย่างนั้นเราเห็นประจักษ์ ไม่มีสองกับอะไร? ขณะที่จิตจะถอนตัวออกมาสู่สภาวธรรมทั้งหลาย จะกลายมาเป็นจิตธรรมดา คือ คิดปรุงได้นี้จะมีความกระเพื่อมตัวเอง แย็บทีหนึ่งแล้วดับทันที ว่างอยู่เช่นเดิมอีก ประเดี๋ยวแย็บขึ้นอีก คือจิตปรุง เพียงแย็บปรุง ยังไม่ทันได้เรื่องได้ราวอะไรเวลานั้น เพียงกระเพื่อมเท่านั้น มันก็รู้และดับไปพร้อม พอกระเพื่อมพับ มันรู้ทันเสียเพราะอำนาจของ “สติ ที่ควบคุมอยู่ในขณะนั้น หรือพลังของสมาธิยังไม่คลายตัวก็ได้ ทีนี้พอปรุงสักสองสามครั้งแล้ว จะถี่ขึ้นเรื่อยๆ ประเดี๋ยวก็รู้สึกตัวขึ้นเหมือนเด็กตื่นนอน

         ทีแรกเด็กก็กระดุกกระดิก หลายครั้งหลายหนประเดี๋ยวก็ลืมตาขึ้นมา จิตก็เหมือนกันมีความสงบ นี่พูดถึงขั้นสมาธิ ปัญญาก็อยู่ด้วยกัน การพิจารณาต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ท่านเรียกว่า “ปัญญา” เมื่อพิจารณาพอตัวแล้ว จิตจะก้าวเข้าสู่ความสงบและปราศจากความปรุง ความแต่ง ความก่อกวนอะไรทั้งหมด ปรากฏอยู่แต่ความรู้ เพียงเท่านี้ก็มีรสมีชาติเต็มภูมิแห่งสมาธิ ที่ควรจะชนะรสทั้งหลายได้อยู่แล้ว ความยินดีในความสงบนี้ก็ไม่เคยอิ่มตัวเลย มีความดูดดื่มในความสงบเย็นใจอยู่เสมอ ไปที่ไหน อยู่ที่ใด จิตก็เป็นรากเป็นฐานกับตัวเองอยู่แล้ว ใจสบาย สงบ เย็น จึงต้องใช้ปัญญา พิจารณาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์

         สำคัญที่ความปรุงของจิต ปรุงขึ้นมาแล้วสัญญาจะหมายทันที เหมือนว่าสังขารนี้ปรุงขึ้นมายื่นให้สัญญา สัญญาเป็นผู้รับช่วงแล้วตีความหมายออกไปในแง่ต่างๆ จนไม่มีสิ้นสุดนั่นแหละที่เราหลง เราหลงความสำคัญมั่นหมายของตัวเอง หลง “เงา”ของตัวเอง ที่ออกวาดภาพไปเป็นเรื่องต่าง ๆ เพลินอยู่ทั้งวันทั้งคืน เพลินเพราะอะไร? โศกเพราะอะไร?

        เพลินก็ดี โศกก็ดี เพราะ “เงา” ของจิตที่แสดงตัวออกเป็นเรื่องเป็นราว เรื่องนั้น เรื่องนี้ เรื่องอดีต เรื่องอนาคต ที่เคยผ่านมาแล้วก็ดี ที่ยังไม่มาถึงก็ดี ยังไม่มีก็ดี มีแต่เรื่องของจิต ออกวาดภาพหลอกตัวเองทั้งสิ้น เราอยู่ด้วยความคิดความปรุง ความวาดภาพต่างๆ ของตัวเอง เพลินและโศกด้วยความคิดปรุง ด้วยความวาดภาพของตัวเองทั้งนั้น ในวันเวลาหนึ่งๆ ไม่มีเวลาว่างจากการวาดมโนภาพหลอกกวนตัวเองเลย ปราชญ์ท่านรู้ทันกลมารยาของขันธ์ท่านจึงไม่หลง

         เวลา “สติปัญญา” หยั่งลงไปจริงๆ แล้ว ย่อมทราบได้ในขณะนั้น ปกติจิตเป็นอย่างนั้นจริงๆ ดังคนไม่เคยภาวนา พอเริ่มภาวนาก็ส่งจิตออกไปนอกลู่นอกทาง ไม่มีหลักยึด เช่น คำบริกรรม มี “พุทโธ” เป็นต้น นั่งอยู่นี่ บางทีตาเหม่อมองอะไรก็ไม่รู้ แต่จิตนั้นคิดและวาดภาพร้อยแปดพรรณนาไม่จบสิ้นลงได้ ใจก็หลงเพลินไปตามนั้น หรือเหม่อไปตามอารมณ์ของตัวที่ปรุงแต่งขึ้นมา หลงอารมณ์ของตัวเองนั้นแล มากกว่าจะตั้งใจภาวนา ฉะนั้นจิตจึงหาความสงบได้ยาก เพราะไม่มีสติควบคุมงานภาวนาพอให้จิตสงบได้บ้าง

         เมื่อได้ใช้สติปัญญาในด้านสมาธิ ในด้านปัญญานี้แล้ว ถึงจะทราบชัดว่า อาการเหล่านั้นเป็นอาการที่ออกไปจากจิตแล้วหลอกจิต ผู้ไม่มีสติปัญญาทันกับเหตุการณ์ หรือทันกับสภาพเหล่านั้นใจให้มีความลุ่มหลงไปตาม จนหาความสงบเย็นใจไม่ได้ ทั้งที่ความมุ่งหมายเดิมตั้งใจภาวนาเพื่อใจสงบ อารมณ์เครื่องหลอกนั้นๆ จึงทำให้เกิดความดีใจ เสียใจ เกิดความรัก ความชัง เกิดความโกรธ ความหงุดหงิดอยู่ไม่ถอย ไม่ว่าผู้ภาวนา หรือผู้ไม่สนใจภาวนาเลย ทั้งนี้เพราะผู้ภาวนาก็ไม่ตั้งสติรักษาใจตัวเอง ผลจึงเป็นบ้าไปตามอารมณ์พอๆ กัน นี้ขรัวตาบัวเคยเป็นมาแล้ว ไม่แกล้งคุยอวดบ้าของตัวกับท่านผู้ใด

         บางทีเรื่องราวผ่านมาแล้วตั้งกี่ปีก็ตาม แต่เผอิญใจดวงที่เหม่อลอยเที่ยวเสาะไปเจอเข้า ก็คิดปรุงเรื่องนั้นขึ้นมาอีก ถ้าเป็นเรื่องที่เคยเสียใจ ก็มาเกิดความเสียใจในเรื่องนั้นเอง กรุ่นขึ้นมาคิดฟื้นขึ้นมา ทั้งๆ ที่เรื่องนั้น ไม่ทราบมันหายไปไหนแล้ว นี่ก็คือเงาของจิตหลอกจิต จนเป็นตนเป็นตัวขึ้นมา เป็นอะไร ก็ตัวโกรธ ตัวโลภ ตัวทุกข์ ตัวร้อน ตัวบ้า ขึ้นมาจาก “เงา” นั้นแล จะเป็นตัวมรรค ตัวผล มาจากไหนกัน มรรคผลแบบนี้มีเกลื่อนโลก จนจะหาทางไปไม่ได้โน่น

         เพราะฉะนั้น การพิจารณาอาการของจิต จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ปัญญาจะต้องสอดแทรกตามให้ทัน เมื่อสติปัญญาตามทันแล้ว จิตคิดปรุงเรื่องอะไรก็ทราบว่าไปจากจิต ซึ่งกำลังจะออกไปวาดภาพหลอกตัวเอง กำลังจะไปสำคัญมั่นหมายกับ รูป เสียง กลิ่น รส นานาชนิด ใจก็รู้ทัน เมื่อรู้ทัน อารมณ์นั้นก็ดับไปทันที ไม่เกิดเป็นตนเป็นตัว เป็นรูปเป็นร่าง เป็นเรื่องเป็นราวอะไรขึ้นมา เพราะสติปัญญาทันมันเรื่องก็สงบไป

         สุดท้ายก็มาเห็นโทษซึ่งเกิดมาจากจิตนี้เป็นต้นเหตุโดยถ่ายเดียว ไม่ได้ไปตำหนิติ ชม รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสอะไรทั้งสิ้น ใจย้อนมาเห็นโทษที่เกิดขึ้นภายในจิตนี้ ที่ไปหลอกตัวเองว่า “น่าชมบ้าง น่าตำหนิบ้าง น่าดีใจ น่าเสียใจบ้าง” ว่ามันเกิดขึ้นจากจิตทั้งนั้น จิตนี้เป็นตัวขี้โกง ตัวมายา ตัวหลอกลวงมากทีเดียว ถ้าตามเรียนตามดูด้วยจิตตภาวนา จะทราบเรื่องดี เรื่องชั่ว ต่างๆ ของจิตได้ดี จนอยู่ในเงื้อมมือเราหนีไม่พ้นแน่นอน

         นี่แหละ วิธีพิจารณา “จิต” พิจารณาอย่างนี้

         สุดท้ายสิ่งเหล่านั้นก็ไม่มีความหมาย ไม่มีอะไรสำคัญ มันสำคัญอยู่ที่จิตตัวหลอก ลวงนี้เท่านั้น จึงต้องพิจารณาตัวหลอกนี้ให้ทันกลมารยาของมัน ด้วยสติปัญญา

         การกำหนดต้องทำเหมือนจิตดวงนี้เป็นนักโทษทีเดียว ไปไหนต้องถูกควบคุมด้วยสติปัญญา จะคิดปรุงเรื่องอะไรขึ้นมา สติปัญญาต้องควบคุมให้ทันกับเหตุการณ์ อาการนั้นๆ ก็ดับไปเรื่อยๆ หนัก เบา ใจก็รู้อย่างชัดเจนว่า “ตัวจิตนี้แล เป็นตัวนักโทษ” ไม่ใช่สิ่งอื่นใดทั้งนั้น

         รูป ไม่ใช่โทษ และไม่ใช่สิ่งที่ให้คุณ ไม่ใช่สิ่งที่ให้โทษ เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ไม่ใช่ผู้ให้โทษ ไม่ใช่ผู้ให้คุณ เพราะไม่ใช่ตัวโทษ ไม่ใช่ตัวคุณ จิตนี้เท่านั้นเป็นผู้ไปปรุง เป็นผู้ไปแต่ง ไปหลอกลวงตัวเองให้เกิดความดีใจ เสียใจ ให้เกิดความสุข ความทุกข์ขึ้นมา ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากใจนี้เท่านั้น สติปัญญาเห็นแจ้งเข้าไปโดยลำดับๆ แล้วก็ย้อนเข้ามาเห็นโทษของใจโดยถ่ายเดียว ไม่ตำหนิติชมสิ่งอื่นๆ ดังที่เคยเป็นมาอีกแล้ว สติปัญญาจดจ่ออยู่กับจิตที่กำลังเป็นนักโทษอย่างเดียว ไม่นานเกินกาล ต้องจับตัวนักโทษ คือ จิตได้ และหายห่วงโดยประการทั้งปวง

         เอ้า จะคิดปรุงเรื่องอะไรขึ้นมาก็ตาม นั้นเป็นเรื่องของใจที่ว่า ปรุงเสือ ปรุงช้าง มันเป็น “สังขาร” ออกไปหลอกตัวเองทั้งมวล สติปัญญาก็รู้ทันทุกระยะ ที่นี่กระแสแห่ง “วัฏฏะ” นับวันเวลาแคบเข้ามา สุดท้ายก็จับตัวนักโทษได้ แต่ยังลงโทษมันไม่ได้ กำลังอยู่ในขั้นวินิจฉัยใคร่ครวญเพื่อโทษของมัน จนกว่าจะมีหลักฐานเหตุผลเป็นที่แน่นอน จึงจะลงโทษประหารมันได้ตามกระบิล “ธรรมาภิสมัย” นี่ถึงขั้นของสติปัญญาอันสำคัญแล้ว

         ทีแรก อาศัยธาตุขันธ์เป็นที่พิจารณาซักฟอกจิตใจด้วยธาตุ ด้วยขันธ์ เป็นหินลับสติปัญญา ซักฟอกจิตใจด้วยรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เป็นหินลับปัญญา และซักฟอกจิตใจโดยเฉพาะ ด้วย “สติปัญญาอัตโนมัติ” ขั้นนี้ตามต้อนกันเฉพาะจิตอย่างเดียว ไม่ออกไปเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส เพราะรู้เรื่องรู้ราว และปล่อยวางหมดแล้ว ว่านั่นไม่ใช่ตัวเหตุตัวผล ไม่ใช่ตัวสำคัญยิ่งไปกว่าจิตใจดวงนี้ที่เป็นตัวการสำคัญมาก เป็นนักโทษที่ลือนามในวง “วัฏฏะ” นักก่อกวน นักยุ่งเหยิง วุ่นวายตัวเองอยู่ที่นี้แห่งเดียว

         สติปัญญาค้นเข้ามา แล้วจดจ้องที่ตรงนั้น ไปที่ไหนก็มีแต่จิตดวงนี้แหละเป็นผู้ก่อโทษขึ้นมา คอยดูแต่นักโทษคนนี้จะแสดงตัวอะไรออกมา นอกจากจะระวังนักโทษตัวนี้จะแสดงตัวอะไรออกมาแล้ว ยังต้องมีปัญญาสอดแทรกเข้าไปว่า “อะไรเป็นเครื่องเสี้ยมสอน อะไรเป็นฉากหน้าฉากหลัง ของนักโทษนี้ จึงต้องทำโทษ ทุจริตอยู่ตลอดเวลา คิดปรุงแต่เรื่องราวหลอกลวงอยู่ไม่ขาดวรรคขาดตอน เป็นเพราะอะไร

         สติปัญญาขุดค้นเข้าไปที่ตรงนั้น ไม่เพียงแต่จะตะครุบ หรือตีต้อน เฉพาะอาการของมันที่แสดงออกมาเท่านั้น ยังค้นเข้าไปในรวงรังของมันอีก มีอะไรเป็นเครื่องผลักดันอยู่ภายใน? ตัวการสำคัญคืออะไร? ต้องมีสาเหตุ ถ้าไม่มีสาเหตุ ไม่มีปัจจัย เป็นเครื่องหนุนให้จิตแสดงออกมา จิตจะออกมาเฉย ๆ ไม่ได้

         ถ้าแสดงอาการออกมาเฉย ๆ ก็ต้องเป็นขันธ์ล้วน ๆ แต่นี่มันไม่เฉย ๆ นี่ จิตแสดงอาการอะไรออกมา? ปรุงเรื่องอะไรออกมา มันทำให้เกิดความดีใจ เสียใจ ทั้งนั้น แสดงว่ามันไม่ใช่อาการออกมาเฉย ๆ มันมีเหตุมีปัจจัยพาให้ออก ให้เป็นเหตุเป็นผล เป็นสุข เป็นทุกข์ ได้จริง ๆ ในเมื่อหลงมัน

         ค้นเข้าไป ระยะนี้เราเห็นจิตเป็นนักโทษแล้ว เราต้องพิจารณาปล่อยวางสิ่งภายนอกทั้งหมด ภาระน้อยลงไป น้อยลงไป มีแต่เรื่องจิตกับเรื่องความปรุง ความสำคัญมั่นหมายที่เกิดขึ้นจากจิตโดยถ่ายเดียวเท่านั้น สติปัญญาหมุนติ้วๆ อยู่ในนั้น สุดท้ายก็รู้ว่ามีอะไรเป็นสาเหตุที่ให้จิตคิดปรุงขึ้นมา ให้เกิดความรัก ความชัง ความโกรธ ความเกลียด เมื่อมีอะไรมาปรากฏใจก็รู้อันนั้น พอรู้อันนั้นแล้ว “จอมสมมุติ” ที่กลมกลืนกันกับจิตก็สลายไป ทีนี้ทำลาย “วัฎฎะ” ได้แล้วด้วยสติปัญญา จิตก็หมดโทษ กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ ขึ้นมา เมื่อปัญหา “วัฏจักร” สิ้นสุดลงแล้ว จะตำหนิโทษจิตไม่ได้แล้ว ที่ตำหนิได้เพราะโทษยังมีอยู่ในจิต มันซ่อนอยู่ในจิต เหมือนกับโจรผู้ร้ายหรือข้าศึกเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในอุโมงค์ใด ต้องทำลายอุโมงค์นั้นด้วย จะสงวนอุโมงค์เอาไว้ เพราะความเสียดายนั้นไม่ได้

         “อวิชชา” นี้เป็นจอมแห่งไตรภพที่เข้าไปแทรกอยู่ในจิต ฉะนั้นจะต้องพิจารณาทำลายลงให้หมด ถ้าจิตไม่เป็นของจริงแล้วจิตจะสลายไปพร้อม “อวิชชา” สลายตัว ถ้าเป็นของจริงตามธรรมชาติแล้ว จิตนั้นจะกลายเป็นจิต “บริสุทธิ์” ขึ้นมา เป็นของประเสริฐขึ้นมา เพราะสิ่งที่จอมปลอมทั้งหลายได้หลุดลอยไปแล้วด้วยสติปัญญา

         เมื่อสิ่งจอมปลอมอันเป็นสนิมเกาะแน่นอยู่ภายในจิต ได้สลายตัวลงไปด้วยอำนาจของสติปัญญาแล้ว “จิตดวงนั้นแล เป็นธรรมแท้” จะเรียกว่า “จิตแท้” “ธรรมแท้” ก็ไม่ขัดกัน เพราะหมดเรื่องที่จะมาคอยขัด ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสแล้วจะเรียกว่า “รสแห่งธรรมชำนะซึ่งรสทั้งปวง” ก็ได้ ๑๐๐% เมื่อจิตเป็นธรรมล้วนๆ แล้ว ย่อมมีความ “อิ่มพอ”กับสิ่งทั้งหลาย ไม่เกี่ยวข้องกันอะไรทั้งสิ้นแล้ว เป็น “เอกจิต เอกธรรม” มีอันเดียวเท่านั้น ธรรมแท้มีอันเดียว จิตเป็นธรรม ธรรมเป็นจิต พูดได้เท่านั้น

         ขอให้ทุกท่านนำไปพินิจพิจารณา นี่แหละหลักความจริงของศาสนธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมาตั้งแต่ต้น จนถึงวาระสุดท้ายแห่งการปรินิพพาน ความบริสุทธิ์ของพระจิตเป็นธรรมที่ซาบซึ้ง ทรงรู้ทรงเห็นมาอย่างเต็มพระทัย แล้วทรงประกาศธรรมนั้นสอนโลก ด้วยพระเมตตาอย่างเต็มพระทัยเรื่อยมาจนถึงสมัยปัจจุบัน

         ศาสนธรรมนั้น จะเรียกว่า “พระเมตตาธรรมของพระพุทธเจ้า” ก็ไม่น่าจะผิด เพราะทรงสั่งสอนโลกด้วยพระเมตตาจริงๆ เมื่อพวกเรานำธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนนี้ไปประพฤติปฏิบัติอย่างถึงใจแล้ว จะได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น สิ่งที่ไม่เคยรู้ ซึ่งมีอยู่ภายในใจนี้โดยลำดับๆ จนเต็มภูมิของการปฏิบัติ และรู้อย่างเต็มภูมิ พ้นทุกข์อย่างเต็มใจ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องเกาะเกี่ยว เรียกว่า “ล้างป่าช้า” คือ ความเกิด ตายของจิตของกายโดยสิ้นเชิง หายห่วง!

        เมื่อถึงขั้นนี้แล้วก็ไม่ทราบจะพูดอะไรต่อไปอีก เพราะหมดสติปัญญาจะพูดต่อไปได้อีก ท่านนักปฏิบัติก็กรุณาปฏิบัติฝึกหัดคิดค้นธรรมทั้งหลายจนหมดสติปัญญา เหมือนผู้แสดงที่จนตรอกนี้ แม้โง่แสนโง่ก็จะขอชม และอนุโมทนาด้วยอย่างถึงใจ เอวังฯ

(ถอดเสียงธรรมโดย www.luangta.com)