Skip to content

เทศน์งานหลวงปู่หลุย

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

เทศน์วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๒๗

| PDF | YouTube | AnyFlip |

บัดนี้จะได้บรรยายธรรมะพอเป็นทัศนะ เป็นเครื่องศึกษาสำหรับหัวใจ คำแสดงว่า อนิจจัง วาตะ สังขารา อย่างหลวงปู่อย่างนี้เป็นต้น ท่านได้สิ้นวาระหมดสิ้นไป ยังเหลือแต่พวกเราเท่านั้นยังมีชีวิตอยู่ เพราะฉะนั้นการอยู่ในโลกก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเลี้ยงชีวิตด้วยข้าวปลาอาหารต่างๆนานา แล้วก็พากันมีครอบมีครัวมีบ้านมีเรือนมีสร้างข้าวของเงินทองสะสมไว้ แล้วเมื่อถึงที่สุดแห่งชีวิตคือความตายอันนี้ไม่ค่อยมีใครคิดถึง มีแต่จะคิดหาเงินหาทองเอามากองไว้ในบ้านในเรือนไว้ในธนาคารต่างๆนานา อันนี้ละก็ทำให้ใจนั้นห่วงอาลัยในชีวิต ตายไปก็ไม่รู้ใครจะปกครอง คิดไปอย่างนั้นอย่างนี้ นี่เรียกว่า ภารา หะเว ปัญจักขันธา ภาระอันนี้แหละเป็นสิ่งที่ว่าน้อมนำใจของเราให้เศร้าหมองขุ่นมัว เพราะฉะนั้น เราเป็นผู้ที่ใคร่ปฏิบัตินับถือครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติธรรมอันนี้ ก็พึงสังวรณ์ แล้วก็มีพระพุทธศาสนา มีครูบาอาจารย์ที่ได้แนะนำพร่ำสอนให้เจริญสมาธิปัญญา เพื่อจะกำจัดมลทินของหัวใจให้คลายออกไปตัวนี้เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของมนุษย์เรา แล้วทุกๆคนนั้นก็จะรู้ทุกคนว่าเงินทองข้าวของนั้นเอาไปไม่ได้เลย แต่ก็ยังมีความห่วงความอาลัย 

แล้วเราก็ไม่ค่อยได้เข้ามาปฏิบัติธรรมะ อันนี้เป็นเหตุบั่นทอนชีวิตของเราที่จะได้เกิดไปในสุคติภพอันสวยงาม เพราะบางท่านบางคนเกิดห่วงใยในสมบัติพัสถานบ้านเรือน ก็มีชาดกยกไว้ให้เป็นอุทาหรณ์ เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เป็นคติ วันหนึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศาสดาของเราทั้งหลายได้ไปบิณฑบาตรในบ้านกุมารคนหนึ่ง แล้วก็บังเอิญมีสุนัขตัวหนึ่ง ก็มาหอนเห่าขึ้นเป็นเช่นนั้น เมื่อหอนเห่าขึ้นเช่นนั้น ตถาคตองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราก็ได้ตรัสว่า ดูก่อนโตเทยยะพราหมณ์เอ้ย นี่ว่าอย่างนั้น มีบุรุษคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของบ้าน เมื่อทรงถามเข้า ว่า อ้าว ทำไมตถาคตหรือเรียกว่าสมณโคดมจึงมาเรียกสุนัขตัวนี้เป็นพ่อข้า เอ้อ นี่นะ ชาดกอย่างเนี้ยจนทุกวันนี้ก็เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ไม่ใช่กาลไม่ใช่เวลาที่จะมาเทศน์มาสอนกัน นี่ แต่หลวงตามันชอบเอาสอนคนเหมือนกันบางที แต่วันนี้มันนึกยังไงออกมาก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นอันนี้ให้เป็นคติคือความห่วงสมบัติพัสถานข้าวของเงินทอง คนเราเกิดมาเป็นมนุษย์แต่ความห่วงความอาลัยของใจที่มีนิวรณ์นั้นอาจจะไปเกิดเป็นสุนัข อย่างองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในชาดกอย่างนี้ 

นี่เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ต้องให้เจียมเนื้อเจียมตัว ชีวิตที่จะไปสู่สัมปรายภพเบื้องหน้า อย่างหลวงปู่อย่างนี้ท่านก็เป็นผู้ปฏิบัติจนถึงที่สุดแห่งชีวิต เพราะฉะนั้นในทัศนะคืนนี้หลวงตาเทศน์ก็ต้องว่าไปตามบทตามกลอน ไม่ค่อยมีประโยคพยัญชนะ เพราะฉะนั้นจึงว่าอย่างกล่าวชาดกขึ้นมาอย่างนี้ก็เป็นเครื่องสติเตือนใจของบรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย เราอย่าให้ใจลุ่มหลงเกินเหตุเกินการณ์ ถึงกาลถึงเวลาแล้ว ถึงค่ำคืนมาก็ได้พากันไหว้พระสวดมนต์ เจริญภาวนาทำจิตทำใจของเราให้เกิดความสงบตัวนี้เป็นประโยชน์สำหรับในสัมปรายภพคือภพเบื้องหน้าเกิดที่เราจะได้ไปเกิดในสุคติภพ อันนี้นี่เป็นสิ่งที่ดีงาม เพราะฉะนั้นชาดกที่ยกมานี้ก็เพราะจะได้เตือนสติสตังพวกเราทั้งหลาย ให้เร่งรีบการประพฤติปฎิบัติธรรมให้มีขึ้นในใจของเรา 

การปฏิบัติธรรมพวกท่านทั้งหลายก็เคยได้ยินได้ฟังกันมาเป็นจำนวนมาก อาตมาก็ไม่ค่อยเคยเข้าสมาคมการเทศน์คนมากๆ ว่าไปตามบทตามกลอน เพราะฉะนั้นธรรมะคำสั่งสอนเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญามันอยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้ไปหาที่อื่น แต่บางคนก็บอกว่าอยู่ที่วัดที่วาอยู่ที่พระเจ้าพระสงฆ์ จะเข้าใจอย่างนั้น บุญกุศลทั้งหลายเกิดขึ้นที่ใจเรา ไม่ได้เกิดมาจากที่อื่น กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา เรียกว่ากุศลและอกุศลเกิดที่เราต่างหาก ไม่ได้เกิดที่อื่น เพราะฉะนั้นเมื่อเราน้อมใจของเราเข้ามาบำเพ็ญศีล บำเพ็ญสมาธิ บำเพ็ญปัญญาแล้ว เราก็จำเป็นจะต้องฝึกหัดทำใจนั้นให้สงบ 

พิธีทำใจให้สงบนั้นเพื่อประโยชน์อันใด เพื่อจะได้ตัดนิวรณธรรมคืออารมณ์ที่เกี่ยวเกาะกับหัวใจตัวนั้นน่ะ มันทำให้เศร้าหมองบางคนเกิดพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายหรือลูกเต้าหลานเหลนพลัดพรากจากไปอย่างนี้ ร้องไห้เจ็ดวันเจ็ดคืนสองเดือนสามเดือน ไม่มีเวลาแก้ความโศกได้ นี่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่การภาวนานี้ก็ต้องการที่จะประสงค์ขจัดปัดเป่าอันความโศกเศร้าของหัวใจอันนี้ไม่ให้เข้ามาแอบอิงในใจของเรา เพราะฉะนั้นบั้นต้นอันนั้นก็ต้องอาศัยการบริกรรมอย่างครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้ว่า ให้บริกรรมพุทโธ การบริกรรมนั้นก็เปรียบเหมือนอย่างเรือที่เราจะข้ามแม่น้ำ ก็ต้องอาศัยเรือข้ามไป หรือเรียกว่าแพข้ามไป หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งข้ามไปให้ตลอดรอดฝั่ง ใจของเราเมื่อได้กำหนดอารมณ์ให้อยู่กับการบริกรรมอย่างนั้นแล้ว บั้นต้นก็แลขลุกๆขลักๆ ส่ายไปในอดีต ส่ายไปอนาคต ไม่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน อันนี้บางคนก็ท้อถอยว่าทำไมใจหนอใจ ว่ายากสั่งสอนยากจริงๆ นี่ มันเป็นอย่างนั้น ถ้าคนไม่เคยฝึกหัดแล้วมันก็ยาก เห็นเหลือขนาดทีเดียวนั่นแหละ ลองสามวันเจ็ดวันอย่างนี้มันก็ยังไม่ค่อยจะได้ เพราะฉะนั้นการทำใจนี่เป็นสิ่งสำคัญ อันใดๆทรมานไม่ยากเท่าหัวใจของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ทรมานยาก 

ทีนี้คนเราเมื่อยังเป็นหนุ่มเป็นสาวยังไม่เฒ่าแก่ก็เมาโลกเมาสงสารอยู่ ไม่ค่อยได้น้อมใจเข้ามาระลึกคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าจะมีประโยชน์อย่างไร นี่ เป็นเช่นนั้น พุทธัง ธัมมัง สังฆัง เราเป็นชาวพุทธก็ระลึกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นเป็นสรณะที่พึ่ง สรณะอันอุดม สรณะอันเกษม สรณะอันที่จะได้พ้นจากทุกข์ นี่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อหัวใจของเราจะเกิดความโศกความเศร้าแล้วเราจะเอาสิ่งใดมาระงับดับใจที่มันเดือดร้อนวุ่นวาย นี่ ลองคิดดูซิ ถ้าใจที่มันกำลังเดือดร้อนวุ่นวายคิดถึงคนนั้นคนนี้เข้าไปมันก็ยิ่งเดือดร้อนวุ่นวายมาก เพราะฉะนั้นเมื่อเอาพุทโธ ธัมโม สังโฆ บทใดบทหนึ่งขึ้นมาอยู่ในหัวใจของเรา มีวิริยะความพากความเพียร ท่องสังวัธยายอยู่อย่างนั้น อย่าให้ใจส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ อยู่กับเฉพาะพุทโธ สิบนาทีห้านาทีอย่างนี้ ใจของเราก็จะเริ่มสบาย นี่ เพราะมันได้ลงพัก ใจไม่มีสิ่งพะว้าพะวงอยู่จำเพาะ เป็นเอกะเป็นหนึ่งกับการบริกรรมอย่างนั้น ใจอย่างนี้เรียกว่าใจเป็นสุขเพราะได้ปล่อยวางชั่วขณะ ห้านาที สิบนาทีใจนั้นก็เบาก็สบาย 

เมื่อเรายิ่งประพฤติปฏิบัติมากเข้าๆจนเกิดความสงบ ทำบริกรรมและนั่งสมาธิเป็นเวลาตั้งชั่วโมงสองชั่วโมงอย่างนี้ จนกระทั่งหัวใจนั้นเกิดความสงบ ขั้นต้นก็ว่าพุทโธต่อเนื่องไม่มีอารมณ์ที่เป็นอดีตอนาคตหรือเรียกความคิดนึกปรุงแต่งอย่างภาษาเรา ไม่มีเข้ามาแทรกในการว่าพุทโธนั้นจนเลยซักนิดเดียว มีแต่ใจอันนั้นว่าบริกรรมอยู่กับพุทโธ เอื่อยเย็นสบายต่อไปเรื่อยตลอดอย่างนี้ นั่น ใจจะนึกนั้นเมื่อเราพยายามพากเพียร ว่าลงไป ว่าลงไปมากเข้า มากเข้าๆ ใจนั้นจะเริ่มเบา บางทีก็ส่าย ก็เบาเข้าๆ นั่งอยู่มากๆกันก็เหมือนตัวเราไม่ได้นั่ง เหมือนตัวเราจะลอย สบาย นี่การปฏิบัติธรรมะย่อมเป็นเช่นนั้น เพราะใจของเราไม่เคยได้ปล่อยวางเรื่องโลกเรื่องสงสาร เมื่อถูกธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้าไปแล้ว มันก็เกิดความสบาย เย็นขึ้นๆๆ จนกระทั่งผลที่สุด พุทโธตัวนั้นมันก็ขาดไปเอง โดยกลายเป็นปกติแจ่มใสนิ่งเยือกเย็น นั่งอยู่ก็เหมือนตัวเราไม่ได้นั่งอย่างนี้เป็นต้นการปฏิบัติธรรมนี่ก็ต้องเป็นเช่นนี้ นี่ลำดับการบำเพ็ญบั้นต้นของการฝึกหัดทำจิตทำใจของเราก็ต้องมีอุตสาหะพยายาม แต่ทีนี้คนเราโดยมากไม่ค่อยจะเอาเพราะสนุกด้วยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ มาย้อมใจของเราอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเวลาที่จะหวนกลับเข้ามาประพฤติปฏิบัติ เพราะฉะนั้นนี่แหละอย่างหลวงตาบรรยายธรรมะพอเป็นคติ ก็ได้ยกชาดกมาให้ฟังอีกด้วย เพราะฉะนั้นให้พวกท่านทั้งหลายจงโอปนยิโก น้อมไปพินิจพิจารณา นี่ เตือนให้คิดสักนิดหนึ่ง

ทีนี้พวกเราประพฤติปฏิบัติธรรมะจนกระทั่งฝึกหัดใจตัวนั้นเกิดความสงบแล้วทีนี้จะทำอย่างไร ทำจนกระทั่งใจนั้นขาดจากอารมณ์นิวรณ์ทั้งหมดแล้ว มีใจรู้อยู่ตัวเดียวไม่มีความไปเกี่ยวเกาะด้วยอารมณ์ทั้งหลาย อันนี้ก็ปัญหาสำหรับนักปฏิบัติของเราทั้งหลายตลอดจนภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ปัญหาใหญ่ตัวนี้บางทีก็ไม่มีใครจะแก้ได้ แต่หลวงตาไม่ใช่จะแก้ให้โยมนะ ก็จำๆครูบาอาจารย์ท่านมา เพราะฉะนั้นก็จะพูดให้เป็นคติพอได้คิดพอได้นำไปพินิจพิจารณา เมื่อใจตัวนั้นเกิดความสงบอย่างนั้นเราจะต้องพิจารณากาย ท่านเรียกว่า กายานุปัสสนา ระลึกถึงส่วนใดส่วนหนึ่งของกาย ระลึกสมมุติว่าเราจะระลึกถึงตั้งแต่เล็บว่าตามลำดับไป เล็บนิ้วหัว เล็บนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย นี่เอาจำเพาะอวัยวะส่วนของกาย เราอย่าเข้าใจว่าการนับเช่นนี้ไม่เป็นปัญญา พระองค์ทรงแสดงว่ากายานุปัสสนา แต่ท่านก็แสดงว่าการพิจารณากาย แต่พิจารณาอย่างไรหละ

หลวงตาก็เคยได้ยินได้ฟัง ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนว่าให้พินิจพิจารณาให้กายา พอแล้วเวลาที่เข้ามาบวชก็ไม่รู้ภาษาอะไรทั้งหมด พอทำลงไปแล้วก็ได้มาพินิจพิจารณาดู เพราะฉะนั้นอย่าพูดไปมากเลย เมื่อทำใจให้ลงไปสงบอย่างนั้น เราก็ต้องถอนความคิดขึ้นมา คำว่าถอนความคิด คือระลึกส่วนใดส่วนหนึ่งของกายให้ตลอดต่อเนื่องไป ทุกๆส่วนอวัยวะอย่างนั้น ในลักษณะเช่นนี้ที่ท่านเรียกว่าปัญญากับสมาธิมันต้องมีความคิดระลึกไปส่วนตามร่างกายนั้นอยู่ตลอดเวลา เพราะเมื่อเวลาที่จะดีจริงอย่างนั้น อารมณ์เป็นอดีตอนาคตไม่มีเข้ามาแทรกแซง ในขณะที่เราพินิจพิจารณาอย่างนั้น เมื่อได้พิจารณาอย่างนั้นไปอยู่ตามลำดับเสมอ ใจนั้นจะเดินตามส่วนอวัยวะของกายอยู่ตลอดเวลา นั่น! ไม่มีอารมณ์อดีตอนาคต มีปัจจุบันที่ระลึก ความระลึกตัวอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา เป็นหนึ่งแน่วอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา คิดอย่างนั้นตลอดเวลา นี่ อย่างนี้เรียกว่าสมาธิกับปัญญา 

ในภาษิตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงในองค์อริยมรรคแสดงว่า สัมมาวายาโม เพียรชอบ นี่ต้องเพียรระลึกอย่างนี้ ระลึกชอบอยู่ในส่วนกาย เพียรชอบระลึกอย่างนี้ตลอด จนกระทั่งเสร็จแขนขวา ก็ต้องมาแขนซ้ายตามอวัยวะส่วนต่างๆตลอดเสร็จหมดแล้ว ก็ต้องมาหู ตา จมูก ลิ้น กาย ทุกส่วนของเบื้องบนคือตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงคอ และจะมาระลึกถึงไหปลาร้า กระดูกซี่โครงด้านหน้า กระดูกซี่โครงด้านหลัง ตับไตไส้พุง นึกไปตลอดอย่างนี้ ใจตัวนั้นพุ่งอยู่จำเพาะการระลึกอยู่อันเดียว ไม่มีอารมณ์อดีตอนาคตเข้ามาแทรก อย่างนั้นจึงเรียกว่ามีกำลัง กำลังของสมาธิ กำลังของปัญญาเข้าไปพินิจพิจารณาอย่างนี้ เมื่อบุคคลใดทำอย่างนี้แล้ว นั่งลงไปสองสามชั่วโมงก็จะนั่งอย่างสบาย เมื่อตลอดถึงหน้าอกก็ลงไปขาขวา เสร็จจากขาขวาก็มาขาซ้าย เสร็จจากขาซ้ายก็ไต่ขึ้นมาตามขาซ้ายตลอด ขึ้นมาตลอดตามอวัยวะ นับตามข้อตามส่วนต่างๆของร่างกายอยู่อย่างนี้ตลอด เสร็จขาซ้ายก็ขึ้นมาขาขวา จากขาขวาก็มาเอว มาตลอดตับไตไส้พุง เสร็จแล้วก็มาถึงเบื้องบน มาหัว แล้วจะมาจรดหูตาจมูกลิ้น ก็นับลงไปในตั้งแต่มือขวาตลอดเสร็จมามือซ้ายตลอดเสร็จ สองสามตลบอย่างนี้ นี่ใจอย่างนี้ต้องสงบอยู่เป็นเวลาตั้งเป็นชั่วโมงๆ สองสามชั่วโมงเมื่อเราเลิกจากการพิจารณาแล้ว ใจจะอยู่นิ่งอย่างนั้นตลอดเวลา ไม่มีอารมณ์ส่ายเข้ามาคิดนึกปรุงแต่ง นี่เป็นอย่างนี้ 

เพราะฉะนั้นศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นน่ะ แต่ว่าอาตมาก็ไม่ค่อยได้เรียนตำรับตำราแต่ก็มานึกคิดเอาเอง แล้วก็มาประพฤติปฏิบัติ แต่รู้สึกว่าถ้าว่าจิตของเราเดินได้อย่างนี้แล้ว กำลังของสมาธิหรืออารมณ์ที่จะเข้ามาไม่ค่อยมี ขาดเป็นเวลาหลายๆชั่วโมงเวลาที่เรากระทำอย่างนั้น นี่แหละจึงเรียกว่าการค้นคว้าพินิจพิจารณากาย แต่จะผิดถูกอย่างไรขอให้ท่านทั้งหลายที่ได้รับการศึกษาเล่าเรียนมามากๆหรือน้อยบ้างจะได้เอาไปไตร่ตรองพินิจพิจารณา เพราะบางทีของหลวงตาก็อาจจะผิด ไม่เข้าในเกณฑ์ตำรับตำราเค้า เพราะว่าไม่ได้จดจำอะไรมา ก็นึกๆคิดตามครูบาอาจารย์ท่าน ได้ยินได้ฟังมาก็ได้มาบรรยายให้ท่านทั้งหลายเพื่อเป็นคติแล้วน้อมนำเอาไปประพฤติปฏิบัติ นี่แหละ เพราะฉะนั้นนี่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมะด้านศีลสมาธิปัญญาก็ต้องอาศัยอย่างนี้ 

เมื่อใจตัวนั้นเข้าไปพินิจพิจารณาหรือเรียกว่าการระลึกถึงส่วนต่างๆ จนกระทั่งถึงความเป็นจริงอย่างนั้น ตัวเนี้ยเป็นส่วนที่ฟังยากฟังเย็น ฟังไม่ค่อยเข้าใจ เปรียบเหมือนดั่งประดุจเครื่องยนต์ที่กำลังวิ่งเต็มที่ คนขับก็พร้อมทั้งน้ำมัน ทั้งคนขับก็สมบูรณ์บริบูรณ์อย่างนั้น เพื่อขณะที่การค้นคว้าพินิจพิจารณาถึงคราวที่จะถึงจุดเต็มที่อย่างนั้น ใจตัวนั้นก็ต้องวางความคิดนึกปรุงแต่ง หรือบางทีก็เราไม่ได้วางเอง บางทีก็วางโดยธรรมชาติ เมื่อวางขาดลงไปอย่างนั้นก็เหลือเฉพาะใจที่บริสุทธิ์ ก็จะมีความรู้อันที่เป็นแจ่มใสอยู่อย่างนั้น นี่แหละ 

เพราะฉะนั้นศาสนธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าหาราคาสิ่งใดที่จะมาเปรียบ ถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติให้ใจมันลงไปเช่นนั้นแล้ว จะเห็นศาสนธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งที่มีค่ามีราคาหาประมาณไม่ได้ในโลกนี้ ชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่า พุทธศาสนาก็มีค่าอย่างมหาศาล เพราะฉะนั้นศาสนธรรมคำสั่งสอนอาตมาก็ไม่ค่อยจะเข้าใจในแบบแผนตำรับตำรา เพราะฉะนั้นก็ว่าไปตามเพลงตามกลอนอย่างนี้ ก็ได้นำหยิบยกมาบรรยายให้ท่านทั้งหลายฟังเพื่อจะได้เป็นสติเตือนใจเมื่อเราเกิดความสงบแล้วก็จงนำมาน้อมนำมาพินิจพิจารณาอย่างที่บรรยายมา แต่บางท่านเมื่อไม่ถูกอุปนิสัยใจคอแล้วจะเอาอย่างอื่นอย่างใด แต่ข้อสำคัญแล้วก็ต้องให้มีการค้นคว้าพินิจพิจารณา อย่าดูใจที่นิ่งๆอย่างนั้น การดูใจนิ่งๆอย่างนั้นมันดีสำหรับผู้ที่ท่านกินข้าวอิ่มแล้ว อิ่มทุกชนิดอย่างนั้นท่านดูเฉยๆได้ แต่สำหรับพวกเรากำลังกินอยู่อย่างนี้ ไปหยุดอิ่มทันทีไม่ได้ มันจะเกิดหิวอีก นี่ เพราะฉะนั้นจะได้นำคติเตือนใจบรรดาพุทธบริษัทพวกท่านได้ยินได้ฟังเป็นจำนวนมาก ตลอดถึงครูบาชั้นสูง จนกระทั่งถึงชั้นต่ำ หลวงตาก็ไม่ค่อยเคยเข้าสมาคม 

เพราะฉะนั้นวันนี้ก็บรรยายธรรมะพอเป็นสติเตือนใจของพุทธบริษัททั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายได้สดับตับฟังธรรมะที่อาตมาได้บรรยายวันนี้แล้วจงโอปนยิโก น้อมนำไปพินิจพิจารณา เห็นว่าชีวิตของเรานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนแล้วก็จะต้องมีความแตกดับทำลายอย่างหลวงปู่เป็นสักขีพยาน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงว่าให้โอปนยิโก น้อมถึงความตายเข้ามาสู่ตัวเรา อย่ามาแต่จุดท่านเฉยๆ ตัวเรานี้มันก็ต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกันๆ นี่เพราะฉะนั้นเราก็อย่าประมาท เพราะฉะนั้นกลับไปบ้านไปเรือน อย่าไปเข้าใจว่าเรายังหนุ่มยังสาว ไม่ควรจะภาวนาอย่างนี้ นี่แล้วก็จะไม่เสียที เพราะฉะนั้นบรรยายหลวงตาไม่มีคำเทศน์มาก แล้วก็พูดไม่เป็นสละสลวยภาษาเรา หรือเรียกว่าไม่เป็นประโยคประธาน นี่เพราะฉะนั้นศาสนธรรมคำสั่งสอนได้หยิบยกมาแสดงบรรยายพวกโยมทั้งหลายฟัง เพราะฉะนั้นเมื่อได้ฟังแล้วสิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์กับการประพฤติปฏิบัติหรือสิ่งใดที่จำเป็นประโยชน์กับชีวิตก็ต้องโอปนยิโกน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ ต่อนั้นไปก็จะได้เกิดความสุขความเจริญดังได้บรรยายศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้