Skip to content

เทศน์งานท่านพ่อลี

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

๒๔ เม.ย. ๒๕๓๕

| PDF | YouTube | AnyFlip |

บุญย่อมเป็นที่พึ่งของสัตวโลกทั้งหลายอย่างวันนี้เป็นต้น พวกท่านพุทธบริษัททั้งหลายได้เข้ามามีเจตนาวิรัติจะมาแสวงหาบุญกุศลที่จะเกื้อกูลหัวใจของเราให้บริสุทธิ์ ไปสบาย มันก็สมกันกับว่า เราได้ตั้งใจบำเพ็ญละความชั่ว ละกิจการบ้านเรือนของเราทุกๆประเภท เข้ามาบำเพ็ญรักษาศีล ๕ ศีล ๘ แล้วก็บำเพ็ญทำใจให้สงบตัวนั้น อันแนวทางอันนี้มันเป็นแนวทางอันที่จะให้เกิดความสงบ เพราะเรามองดูในโลกยิ่งทุกวันนี้ผู้คนมากเข้าเท่าไหร่ ความวุ่นวายทั้งรถทั้งรา ทั้งจะไปไหนมาไหนก็เต็มไปด้วยความขัดข้องวุ่นว่ายนานาประการ แต่ทีนี้สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งภายนอก ส่วนใจของเรานี่สิไม่ค่อยมีคนดูแลรักษา ไม่ค่อยมีคนปฏิบัติปล่อยให้ตามยถากรรม ศีลก็ไม่มี สมาธิก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี มีนักเลงเหล้า มีแต่นักเลงสุรา นักเลงเที่ยวกลางคืนอย่างนี้ มีแต่สิ่งหายนะเข้ามาประจำใจของเราทุกๆคน และความเดือดร้อนวุ่นวาย โลกมันไม่วุ่นวาย มนุษย์เรานี่เป็นผู้ที่ทำให้มันเกิดความวุ่นวายขึ้นมาเพราะเกิดมาจากมนุษย์ ปล้นฆ่าฟันรันแทงก็เกิดจากมนุษย์ ไม่ใช่อาวุธยุทโธปกรณ์นั้นมาฆ่ากันได้ เพราะเกิดจากหัวใจมนุษย์เราเนี่ย 

เพราะฉะนั้นอย่างวันนี้พวกเรามาสร้างบุญสร้างกุศลให้เกิดขึ้นในกับตนของตน ก็ได้พารักษาศีล เจริญภาวนา การเจริญภาวนานี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าใจนั้นเราไม่เคยดูแลไม่เคยรักษา เหมือนอย่างบ้านที่มันสกปรกโสมม เปื้อนไปด้วยฝุ่นละอองทุกประการ ไม่เคยเช็ดไม่เคยถูเลย เพราะฉะนั้นการที่จะขัดเกลาให้สะอาดหมดจดลงไปนั้นก็ต้องใช้เวลาเป็นหลายๆชั่วโมง หรือเป็นเวลาหลายๆวันอย่างนี้ ใจเราก็เหมือนกันจะเข้ามารักษาศีล ๕ แล้วก็ทำสมาธิ ไม่ใช่วัน สองวันจะทำได้ทันที อย่างนั้นก็จะต้องมีความอุตสาหะวิริยะ มีขันติ พากเพียรให้แข็งแรง อย่างนั้นจึงจะเกิดสมาธิได้ ถ้าเราทำเหลาะๆแหละๆ มันก็ไม่ได้ซักอย่าง เหมือนอย่างที่เราจะเช็ดบ้านเช็ดเรือนก็เหมือนกัน ถูโน่นถูนี่ดีแล้ว มันก็ไม่เรียบร้อย ความสะอาดหมดจดก็ไม่เกิดขึ้น 

หัวใจมนุษย์ยิ่งเป็นสิ่งที่ปราบลำบาก ปราบยาก เพราะฉะนั้น อย่างครูบาอาจารย์สอน ท่านพ่อสอนมาเนี่ยเป็นเวลาตั้งหลายสิบปี มาอยู่ที่วัดอโศการามนี้ ตั้งแต่ ๒๔๐๐กว่า ๙๘มั๊ง จนกระทั่งมามรณภาพลงไป ๒๕๐๒ ก็เป็นเวลาหลายปีอยู่ มองๆดูพวกอุบาสกอุบาสิกาก็อย่าไปว่าเถอะเพราะเป็นผู้ครองเรือนมันเป็นสิ่งที่ยาก การที่จะมาทำสมาธิเจริญกรรมฐานให้ได้เกิดสมาธิปัญญาจริงๆแล้วมันก็เป็นสิ่งที่ยาก แม้แต่พระเราก็ยังหายาก เป็นอย่างนั้น ความไม่เด็ดเดี่ยว ความไม่เอาจริงเอาจัง มันก็เป็นสิ่งที่ยาก สิ่งอันใดที่ทำลงไปแล้วก็ต้องให้มีความเด็ดเดี่ยว ความจริงจัง เพราะฉะนั้นการภาวนาเนี่ยเป็นสิ่งสำคัญ หนึ่ง จะพูดกันมันเป็นสิ่งที่พูดยาก เพราะบางคนอ้างตำรับตำราแต่หัวใจไม่เป็น บางคนมันทำด้วยหัวใจมันไม่มีตำรา อย่างนี้ก็มี ต่างกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่พูดบางที บางสิ่งบางอย่างมันก็ขัดหูกัน บางทีก็จะวางมวยกันก็มี ฆราวาสน่ะเป็นงั้น เพราะฉะนั้นการทำใจเราก็ต้องดูเราเอง ครูบาอาจารย์จะสอนขนาดไหน ถ้าเราไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความเด็ดเดี่ยวแล้ว มันก็สมาธิก็จะไม่เกิดขึ้น 

สมาธิทำอย่างไร อย่างครูบาอาจารย์ท่านก็สอนให้บริกรรมพุทโธอย่างนี้เป็นต้น อย่างครูบาอาจารย์มั่นอย่างเนี้ย ให้บริกรรมพุทโธตัวสำคัญ แล้วก็มีบางหมู่บางคณะก็เอาอานาปาเข้ามา จะว่ากันมันก็จะขัดกัน นะ เพราะฉะนั้นสิ่งอันใดที่เราทำไปประมาณซัก ๑๕ วัน หรือ ๗ วัน เราก็ต้องสังเกตเรามาทำอานาปา มา ๓ ปี ๗ ปี ๑๐ ปี เป็นยังไง ทำสมาธิ ทำพุทโธ ๑๐ ปี ๕ ปี เป็นอย่างไร มันต่างกันขนาดไหนก็ต้องมาชั่งดู นี่ แล้วอันใดที่เกิดประโยชน์ อันใดทำให้ใจสงบ อันใดทำให้เกิดความรู้ความฉลาดตัวนี้ต้องมาชั่งดู ความเจริญของใจดับกิเลสได้ขนาดไหน นี่ตัวนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติพุทธศาสนานี้มีหลักการจะต้องทำใจให้เกิดความสงบตัวนั้น นั่นแหละเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าใจไม่สงบแล้วจะคิดอันใดก็ไม่ได้จะแจ้ง เปรียบเหมือนอย่างบุคคลถูเรือน มีผ้าผืนหนึ่งและตั้งใจถูทุกแผ่นกระดานไม่มีข้ามเลย ทุกร่อง ทุกกระเบียดนิ้ว ถูอย่างนั้นจนกระทั่งบ้านเรือนหลังนั้นเสร็จ บ้านนั้นก็ต้องสะอาด แต่มีบางคนเช็ดแล้ว ข้ามไปสองแผ่นสามแผ่น บางทีห้าแผ่นหกแผ่น เดี๋ยวเดียวเสร็จ บ้านจะสะอาดมั้ย มันก็ไม่สะอาด มันต่างกัน เนี่ย เพราะฉะนั้น การทำใจเนี่ยก็เหมือนกัน สิ่งอันใดถ้าเราลองกระทำดูแม้จะบริกรรมพุทโธก็เหมือนกัน หรือจะทำอานาปาอย่างนี้ อันใดที่เกิดผลดี ต่างกันอย่างไรก็ต้องเอามาชั่งดู เราทำมาตั้ง ๒ปี ๓ปี ๔ปี ๕ ปี ๑๐ปี ก็ยังเท่าอย่างเก่าอยู่ มันก็ต้องคิดเปลี่ยนแปลง เหมือนอย่างบุคคลที่หาเงิน หาท่านี้ไม่ได้ก็ต้องไปหาท่าอื่น หาท่าอื่นแล้วมันรวยขึ้นมา อย่างนี้ก็ต้องเอาอย่างอื่น จะเอาแต่ท่าเดียวก็จนตายไม่มีข้าวจะกินนี่เป็นงั้น เพราะฉะนั้นการภาวนาก็เหมือนกันเราก็จำเป็นจะต้องชั่งใจ เราเข้ามาอยู่วัด ๑๐วัน ๓วัน ๗วัน หรือเดือน ๓เดือนอย่างนี้ เราภาวนาแล้ว มันเกิดความสงบขนาดไหน ใจอยู่ได้เป็นเวลานานเท่าไหร่ ๑๐นาที ๒๐ นาที หรือ ครึ่งชั่วโมง หรือ ๒ชั่วโมง ๓ชั่วโมง มันสงบได้โดยไม่มีความคิดนึกปรุงแต่งในขณะนั้น อย่างนั้นจึงเรียกว่าเป็นสมาธิ ใจเป็นสมาธิ ๒ ชั่วโมงไม่คิดเลยอย่างนั้น ความง่วงเหงาหาวนอน ความสัปหงกสัปเงยก็ไม่มี เที่ยงตรงอย่างนั้น นั่งอยู่อย่างนั้นเลย นั่น เรียกว่าสมาธิแท้ 

เมื่อเราทำสมาธิอย่างนั้นได้เกิดความสงบแล้ว เราก็อย่าไปเสวยความสุขมาก ท่านจึงเรียกว่าติดสุข สุขเวทนา เมื่อเข้าไปเสวยสุขเวทนามากเข้าแล้ว มันก็จะเกิด โกสัชชะ ตามมาคือความเกียจคร้านในขณะที่ใจสบายอย่างนั้น ยิ่งสบายมากขึ้นเท่าไหร่ก็เกิดความเกียจคร้าน ใจอันนี้มันให้เกิดกิเลสขึ้นมาเอง เกิดความเกียจคร้าน ไม่อยากนึก ไม่อยากนึก ไม่อยากทำอะไรทั้งหมด นั่งดูเฉยๆอยู่อย่างนั้น นั่น สมาธิเกิดโกสัชชะ ความเกียจคร้าน เมื่อโกสัชชะเกิดขึ้นแล้ว ทีนี้ ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอนมันจะตามขึ้นมา โดยที่เราไม่รู้ตัว มากเข้าๆประเดี๋ยวก็ง่วงนอน สมาธิเสีย นี่ เมื่อสมาธิเสียก็ต้องมาเจริญใหม่ เนี่ย ต้องแก้ตรงนี้ให้ตก การบำเพ็ญอยู่ตรงเนี้ยสำคัญที่สุด 

เมื่อได้สมาธิแล้ว เราก็ต้องไปพิจารณาขันธ์ ๕ มีตาหูจมูกลิ้นกายของเรานี่ อะไรเป็นเรา ถามใจลงไป ไหนตัวเรา แข้งขามือตีน หูตาจมูกลิ้นกาย แล้วก็ถามลงไป ไหนตัวเราอ้ะ พระพุทธเจ้าแสดงว่า เนมะมะ  เนตัง มะมะ นี่ไม่ใช่เรา ถามปัญจวัคคีย์ รูปังอนิจจัง ไม่เที่ยง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เหล่านี้ไม่ใช่ตัวตน แล้วเราก็ต้องเอาคำสอนตัวนี้มาพินิจพิจารณาบ้าง เมื่อใจสงบแล้ว ถามหน่อยว่าตา ไหนตาเรา แล้วก็ต้องดูกลับมาอีกทีหนึ่ง ไม่ใช่ถามตาเรา แล้วก็ว่าแต่ตาเรา มันไม่ได้ ก็ต้องกลับมา ใครเป็นคนว่า “ตา”เรา มันมาไปจากไหน ตัวนั้นน่ะเป็นตัวสำคัญ ตัวที่มันบอกว่า “ตา” แล้วที่มันรู้ตามไปเนี่ย ใครเป็นคนว่า “ตา”ตัวนั้น มันเป็นตัวทัศนะ ตัวนั้นเป็นตัวสำคัญ ต้องจับเอาตัวนั้นไอ้ตัวสำคัญ เพราะฉะนั้นการค้นคว้าพินิจพิจารณาเนี่ยเป็นหลักการใช้ปัญญาค้นคว้า แม้ว่าที่เราจะค้นคว้าพิจารณาขันธ์ ๕ ลงไปอย่างนี้ ใจนั้นก็ต้องนึกไปตามส่วนอวัยวะต่างๆนานาของร่างกายตัวนี้ แล้วเมื่อมันพิจารณาลงไปหมดแล้ว ยังมีอะไร แล้วตัวสุดท้าย ใครว่าไม่มีอะไร คำว่าไม่มีอะไรมันมาจากไหนอ่ะ ลองสังเกตดูสิ ไหนใครว่าไม่มี เวลาที่จิตมันลงไปแล้วทำไมว่าไม่มี แล้วใครรู้หละ ตัวของเรา ใครไปรู้ แล้วสิ่งที่รู้มันจริงหรือเปล่า ต้องถามกลับคืนมาอีกที เนี่ยตัวนี้ 

การบำเพ็ญก็ต้องอาศัยการสังเกตพินิจพิจารณา เรียกว่าให้ใช้ปัญญาค้นคว้า ค้นแล้วเปรียบเหมือนอย่างคนที่ตัดไม้ เมื่อตัดไม้เลื่อยไม้ขาดแล้ว เราอย่าไปแบกไม้อยู่ หรืออย่าไปแบกเลื่อยอยู่ ไปแบกขวานอยู่ แบกมีดอยู่ ถือมีดกำมีดอยู่ เราก็ต้องรู้จักวางมีด วางเลื่อย วางขวานอันนั้น ตัวเราก็ไม่ติดมีดติดขวาน มือเราก็ไม่ติดมีดติดขวาน แล้วทีนี้มันยังเหลืออะไร ก็ต้องมาดูเข้ามาที่ใจเราตัวนั้น ที่มันปล่อยวางตัวนั้นน่ะ มันไม่มีอะไร ตัวนั้นเป็นตัวสำคัญ 

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติมันก็ต้องมีทั้งการเข้าไปสงบ ทั้งการพินิจพิจารณา แต่ว่าถึงหลักการที่สำคัญจริงแล้ว เราพินิจพิจารณากายไปอย่างนี้ ลักษณะของปัญญาที่มันดี มันจะต้องพิจารณาไปได้ตลอดรอดฝั่ง ในขณะที่ดีจริงอย่างนั้นแล้ว นิวรณ์ทั้งหมดไม่มีเข้ามา นิวรณ์อดีต อนาคต ไม่มีทั้งหมด ชั่วโมงหนึ่งก็ไม่เข้า สองชั่วโมงมันก็ไม่เข้า นะ อย่างนั้นจึงเรียกว่าเป็นปัญญา ค้นอยู่อย่างนั้น นั่นน่ะ แล้วจะว่ามันดีหรือไม่ดีมันของปัจจตัง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพยายาม อย่าไปเสวยความสุข ติดนิ่งอยู่อย่างนั้นมันไม่ได้ สมาธิ นั่นมันเป็นสมาธิ มันไม่ใช่ลักษณะของปัญญา นานเข้าๆเท่าไรก็ยิ่งขี้เกียจขี้คร้าน ความสัปหงกสัปเงยง่วงเหงาหาวนอนก็ตามเข้ามาตลอดเวลา สมาธิมันก็ไม่เกิดสมาธิมันก็เสื่อมหมด 

ถ้าพูดอย่างนี้คล้ายๆด่ากันนะ ก็อยากให้หลวงตาเทศน์ ก็ต้องบอกสอนหน่อย มันก็ต้องเป็นงั้น สอนให้รู้สึกตัว เราเป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์เดียวกันก็ต้องเตือนกัน ว่าสิ่งอันที่บกพร่อง หรือสิ่งใดที่มันจะเกิดความเจริญรุ่งเรือง ไม่ใช่ติสิ่งที่ดีแล้ว ติให้มันชั่วลง เป็นอย่างนั้น หน้าที่เทศน์ก็เทศน์เพื่อเหตุเพื่อผลเพื่อความเจริญรุ่งเรืองเพื่อความเป็นบุญกุศลของโยมกับผู้เทศน์ด้วย เพราะฉะนั้นจึงว่าการ บำเพ็ญเนี่ย ตัวนี้เราบำเพ็ญมาก็นมนาน จนกระทั่งท่านพ่อสอนมาจนท่านเสียไปในชีวิตแล้ว ก็มีกุลบุตรผู้สืบต่อมา เป็นอย่างนั้น ท่านเจ้าคุณ เวลานี้ท่านเจ้าคุณก็แก่อีกองค์แล้ว เดี๋ยวก็จะกลับบ้านไปอีกองค์อีก (หัวเราะ) เดี๋ยวก็ต้องทำศพอีกอาตมาว่าน่ะ เดี๋ยวก็อาจารย์ทองอีกองค์แล้ว เห็นฮืดๆๆๆอยู่ ก็จะกลับบ้านเท่านั้นนะแหละ หลวงตาก็จะเอาเหมือนกัน (หัวเราะ) 

เพราะฉะนั้นจึงว่าให้พวกญาติโยมอุตส่าห์นั่งภาวนาให้มันดีๆ ตายก็เป็นธรรมดา เกิดมาก็ต้องตายทุกคน เพราะฉะนั้นก็ต้องให้ตั้งใจภาวนา มันไม่ได้อะไรก็เอาพุทโธตัวเดียวอยู่นั่นน่ะ ว่ามันอย่างนั้น ครึ่งชัวโมง นะ อย่าให้มันไปคิดถึงบ้านถึงเรือนถึงข้าวถึงของถึงเงินถึงทองเรือกสวนไร่นาอย่าให้ไปคิดไปใหม่  ซักเดี๋ยวหัวใจน่ะจะไปไหน ฮะ มึงจะดีกว่ากูเหรอ อย่างนี้มันก็ต้องสงบสิโยม ไม่เอาอย่างนั้น เหลาะๆแหละๆ คิดพุทโธสองที คิดไปถึงบ้านถึงเรือน ถึงไอ้โน่นไอ้นี่ไม่เสร็จ อย่างนั้นอย่างนี้ ใจจะสงบยังไงอ้ะ มันก็ไม่ได้บุญ บุญก็ไม่ได้เลย ขาดบุญ มาอยู่วัดแต่หัวใจไปอยู่ที่บ้าน มันเป็นอย่างนั้นมันก็ยาก เพราะฉะนั้นเวลาเราเข้าวัดเข้าวาก็ต้องตั้งใจจริงๆ บริกรรมพุทโธอยู่อย่างนั้น อย่าให้มันไป มึงไปนะ เจ้าดื้อ เจ้าด้าน เจ้าเสือก ด่ามันเข้า มึงอย่ากลับไปบ้าน นี่กูจะมาอยู่วัด เอ้อ ต้องเอาอย่างนั้น แล้วมันก็ต้องเกิดความสงบซิโยม ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชายก็ต้องเกิดความสงบ อย่างนี้แล้วมันจึงเกิดความสงบ ว่ามันอยู่อย่างนั้น สิบนาที ยี่สิบนาที สามสิบขึ้นไป ครึ่งชั่วโมง สี่สิบ ห้าสิบ ชั่วโมงหนึ่ง บางคืนถือเนสัชชิกต้องนั่ง แต่เราจะนั่งต้องเปลี่ยนอิริยาบถบ้างถึงจะดี 

เพราะฉะนั้นการทำสมาธิเนี่ย มันต้องทำจริงๆจังๆ ใจต้องสู้ ใจต้องเด็ดเดี่ยว นั่งสองชั่วโมงไม่ออก ก็ต้องอธิษฐานต่อคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้สองชั่วโมง สมาธิไม่ออก มือก็ไม่กางออก ถ้าเราไม่ได้สองชั่วโมงให้ฟ้าผ่าตาย แผ่นดินสูบ ไฟไหม้ตายซะ น้ำท่วมตาย แต่ก่อนเราต้องเอาอย่างนี้ พุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ถ้าเราทำไม่ได้อย่างนั้นให้มันตายลงไปเลย! มันต้องอย่างนี้ นั่นแหละ อย่างนี้มันบังคับเรา บังคับให้สร้างความดี สร้างบุญสร้างกุศล สร้างโลกสร้างสงสาร สร้างจนกระทั่งแก่เฒ่าชรา ไม่ได้เอาไปซักแดงตายแล้ว นายชินโสภณมีเงินเป็นหมื่นๆล้าน ไม่ได้เอาไปเลย ตาย ไม่ได้ทำโลงซักอัน เค้าเผาหมด เหมือนกัน เราก็เหมือนกัน หากินหาอยู่จนตาแฉะหลังโก่งหลังแข็ง ทุกอย่างๆ ตายแล้วก็ไม่ได้เอาไปเลย เนี่ยคิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงว่าเมื่อพวกโยมทั้งหลายได้มาบำเพ็ญรักษาศีลอุโบสถ ถือศีล ๕ นุ่งเป็นผ้าขาวแม่ชีชั่วงานนี้ก็ยังดี เรียกว่าเรามาสร้างประกอบการบุญการกุศลให้เกิดขึ้นกับตัวเรา เหมือนเราที่ถูกเหงื่อถูกไคลที่มันสกปรก ก็เอาสบู่สะสางให้ร่างกายสะอาด เหมือนเราเข้าวัดเข้าวาชำระจิตใจให้บริสุทธิ์หมดจดผ่องใส นั่นแหละก็เป็นทางบุญทางกุศลที่ให้เกิดขึ้น และบุญกุศลอันนี้ก็จะนำเราไปสู่ยังปรโลก คือความสุขในสัมปรายภพ เอาหละเท่านี้นะ พอแล้ว