หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
(ความสงบระงับแห่งสังขารเหล่านั้น เป็นสุข)
ลำดับต่อไปจะได้บรรยายธรรมะพอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาพุทธบริษัททั้งหลาย การทำใจของเราให้เข้าความสงบ เหมือนกับบุคคลผู้ที่มีบ้านมีเรือนก็จำเป็นจะต้องปัดกวาดรักษาทำความสะอาด เช็ดถูบ้านเรือนชำระสิ่งโสโครกสกปรกออกไปจากบ้านจากเรือนก็เป็นสิ่งน่าดูน่างาม เอาหยักไย่แมลงหวี่แมลงวันให้หายไปอย่างนั้น เหมือนกันกับการทำใจของเราในบั้นต้นก็ย่อมเป็นเช่นนั้น
บั้นต้นก็จำเป็นจะต้องสะสางใจของเราที่ยังวุ่นยังวายยังขัดยังข้อง จะภาวนาก็ไม่เป็นอันภาวนาอันนั้น ให้มาระลึกถึงการภาวนาบทใดบทหนึ่งไว้ในใจของเราอย่างนั้น สิ่งเหล่านั้นเองที่เป็นเหตุที่จะให้กำจัด ความวุ่นวายความขัดข้องของใจให้หยุดชะงักอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ไม่ให้ใจของเราไปดิ้นรนกระวนกระวายไปกับสิ่งทั้งปวง นี่ความแก้ไขบั้นต้นก็จำเป็นอย่างนี้ หรือเราจะพุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือความตายอันใดอันหนึ่ง หรือระลึกถึงอัฐิ หรือเกศา โลมา นขา บทใดบทหนึ่ง ไว้ในใจของเราก็ได้ เพื่อประคับประคองใจของเรานั้นไม่ให้ส่ายไปในอารมณ์ต่างๆของใจ นี่บั้นต้นการฝึกหัดก็จำเป็นจะต้องกระทำอย่างนั้น
พิธีอย่างนี้พวกเราทั้งหลายก็ได้ยินได้ฟังกันมากมาย แต่ทำไมไม่กระทำอย่างนั้น ก็เพราะอะไร เพราะใจนั้น เมื่อลำดับจะเข้าไปทำใจอย่างนั้นมันเกิดความเกียจคร้าน ความมักง่าย ความเอาแต่ความสบายอย่างเดียว จึงเป็นเหตุไม่ให้อยากนึกอยากคิดอยากปรุงอยากแต่งสิ่งอันใดของหัวใจ จะปล่อยวางใจให้เป็นธรรมดาอย่างนั้น นี่เป็นอย่างนี้ แล้วก็เป็นเหตุของถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอนเข้ามาครอบงำ อันนี้เองเป็นเหตุที่ไม่แก้ไม่ดัดแปลง เหมือนเรามีผมไม่สระไม่สางไม่ฟอกไม่หวี ก็เป็นสิ่งที่น่าเกลียด มีหน้ามีตาไม่ล้างไม่ขัดไม่สี ก็น่าเกลียด มีลูกนัยน์ตา ขี้ตาเฉอะแฉะ น้ำตาไหลเบอะๆบะๆ ไม่ล้างไม่ขัดก็เป็นสิ่งน่าเกลียด นี่ สรีระร่างกายก็เหมือนกัน ไม่ได้ขัดไม่ได้ถูด้วยสบู่ ไม่ได้ประแป้ง อย่างนี้ก็เป็นสิ่งน่าเกลียด ไม่น่าดูน่ามองน่างาม เข้าไปในที่ใด ก็มีแต่คนรังเกียจ อิดหนาระอาใจว่ายัยนี่เหม็นสาป พระเหม็นสาป เณรเหม็นสาป นี่ เค้าก็ว่า เป็นอย่างนั้น
ใจนั้นก็เหมือนกัน ทำไมเราว่าเราทำไม่สงบ เนี่ย เราทำมาตั้งนมตั้งนาน ใจไม่สงบ แน่ะ แล้วมันเป็นเหตุอะไร เพราะใจไม่สงบ มันขี้เกียจใช่มั้ย ขี้เกียจนึก ขี้เกียจคิด ขี้เกียจปรุง ขี้เกียจแม้แต่การบริกรรม ถ้าขี้เกียจอย่างนั้นแล้วมันก็ตกอยู่ในโกสัชชะ ความเกียจคร้าน คนขี้เกียจขี้คร้านมันก็ไม่ได้ดีขึ้นมา แม้แต่ใจที่จะกระทำก็ยังไม่กระทำแล้ว จะดีอย่างไร ก็ดีไปไม่ได้ ใจสงบก็สงบไม่ได้ มันก็มีแต่ไอ้ถีนมิทธะเข้ามาครอบงำใจอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว ใจมันก็จะเป็นสมาธิอย่างไร ตั้งใจกี่วันกี่คืนกี่เดือนกี่ปีมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น เพราะมันขี้เกียจ ไม่อยากกระทำ กิริยาของกายนั้นกระทำจริง แต่หัวใจนั้นไม่ได้กระทำ หัวใจนั้นเต็มไปด้วยความขี้เกียจขี้คร้าน มักง่าย เอาแต่ตามสบายของใจ ไม่อยากต้องคิดนึกปรุงแต่งอะไรทั้งหมด ปล่อยไปตามเรื่องตามราวอย่างนั้น ที่สักแต่ว่าทำก็ทำไปอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นเหมือนบุคคลผู้ที่เคยเห็นเค้ากินระกำ เห็นว่าระกำหวานดี แต่ไม่ทันปอกเปลือก ไม่ทันอะไรทั้งหมด ขย้ำเข้าไปทั้งเม็ดทั้งเปลือก มันก็ติดคอ แล้วก็ต้องคายทิ้ง ไม่รู้รส มีแต่หนามเต็มปากอยู่อย่างนั้น เหมือนกัน ใจเราก็เหมือนกัน ทำตั้งหลายๆเดือน อย่างพวกพระเราอย่างเนี้ย เข้าสองเดือนแล้ว สองเดือนเข้านี่ ขาดอีกวันเดียว บางองค์ไม่สงบเลย อย่าว่าหลวงตาว่านะ ว่าให้ดี นี่ เพราะฉะนั้น ทำไมไม่สงบ เราอย่าเข้าใจว่าเราบวชสามเดือน สามเดือนจะสึกออกไป มีครอบมีครัว อย่าเข้าใจอย่างนั้น บวชมาก็ต้องทำใจให้สงบ เมื่อใจไม่สงบแล้ว บุญไม่เกิดขึ้น บางทีเผลอๆได้บาป กินข้าวชาวบ้านเค้า ไม่ภาวนา แน่ะ ก็บาปสิ เพราะฉะนั้นต้องภาวนาให้ใจสงบ ให้ใจมันเป็นสมาธิ ทำไมคนอื่นทำได้ เราทำไม่ได้ เค้านั่งได้สองชั่วโมง ทำไมเรานั่งไม่ได้ มันเป็นเพราะเหตุอะไร กลัวเจ็บกลัวปวดกลัวเมื่อยเหรอ เอ้อ อย่าไปกลัวซี่ มีแข้งมีขาเหมือนกัน มีหูมีตามีลิ้นมีกายมีใจเหมือนกันหมดทุกอย่าง พระอริยเจ้าสาวกทั้งหลายท่านสามารถประพฤติปฏิบัติได้ เราก็สามารถปฏิบัติได้ บางคนท่านผู้ที่มีความรู้ ฉลาดสั่งสอนพวกเราสืบเนื่องกันมาอย่างนี้ ท่านก็มีหูมีตาอย่างพวกเรา เพราะฉะนั้นเราก็สามารถทำได้ เราต้องแข็งใจนึกอย่างนั้น ต้องมีฉันทะ ความพอใจใคร่ในการประพฤติปฏิบัติ แล้วกำลังใจนั้นก็จะมีเกิดขึ้น เกิดขึ้น…เมื่อกำลังใจเกิดขึ้นอย่างนั้น ความขยันหมั่นเพียรในการกระทำมันก็ย่อมมีขึ้น นี่
เมื่อความขยันหมั่นเพียรมีขึ้น ทางกาย ทางวาจา ทางใจพร้อม ใจก็เพียรพยายามนึกถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆ ให้ประคับประคองใจที่วุ่นวายอยู่อย่างนั้น ให้มาอยู่กับพุทโธอยู่อย่างนั้น ใจนั้นมันก็ค่อยๆละ ห่างไปๆๆ ทีละน้อยๆเข้า นานเข้าๆสิบนาที สิบห้านาที ยี่สิบนาที ใจนั้นอยู่กับพุทโธเรื่อยตลอดอย่างนั้นแล้ว นั่นแหละใจมันจะเริ่มสงบ นี่ เราต้องพยายามตัดอย่างนั้นอย่าให้สิ่งเหล่านั้นมากวน เมื่อเผลอสติระลึกไปอย่างนั้นก็หวนกลับเข้ามา ระลึกไว้ หรือจะเอาความตาย ความตายก็ดี ความตายนี่ก็ดีเหมือนกัน ตายๆๆๆๆๆ เพราะเราต้องตายไม่ว่าหนุ่มแก่สาว ออกไปรถชนปังเดียวก็เสร็จแล้ว คาที่อยู่นั่น คาถนน ตายเป็นผีตายโหงเค้าว่าอย่างนั้น แต่ว่าไม่มีคนอยากตาย เนี่ย เพราะฉะนั้นจึงว่าสิ่งไม่เที่ยง เพราะสิ่งอันใดที่มันกลัว สิ่งอันใดที่มันทำให้ใจกลัวแล้วเอาสิ่งนั้นมานึก นั่นแหละ มันจะทำใจให้เกิดความสงบได้ เพราะฉะนั้นการทำใจต้องอาศัยความเข้มแข็ง ความต่อสู้ของกายใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเราทำเหลาะแหละๆ ไม่ได้เรื่องได้ราว กี่วันกี่เดือนมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น มันก็ได้เท่านั้น ดีเท่านั้น ไม่ดีขึ้นไป นี่ขาดทุน…ก็ไม่ขาด ยังได้กำไรนิดๆ แต่ว่าไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวในการภาวนา ภาวนาใจของชั้นสงบเป็นอย่างไร ก็ไม่รู้ซักที ใจเป็นปกติแบบไหน ใจที่ว่าเป็นสมาธิเป็นแบบไหนก็ไม่รู้ แน่ะ อย่างนี้ แย่
ไหนๆเราก็จะต้องตาย เราก็ต้องเพียรให้มันได้ ท่านเขียนไว้ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เราเรียนแต่ตำรา แต่ไม่กระทำใจให้เป็นเราก็ไม่รู้ สมาธิแบบไหนอ้ะ ท่านว่าไม่มีแล้วมั๊งเดี๋ยวเนี้ย ทำไม่ได้แล้ว ก็เรามันขี้เกียจอ้ะ ไม่ทำอ้ะแล้วจะได้ไง เพราะฉะนั้นต้องเพียรลงไป บริกรรมลงไป นึกอยู่อย่างนั้น อย่าปล่อยมัน ใจให้มันอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เอาให้มันจริง แล้วความง่วงเหงาหาวนอนจะมาที่ไหนอ้ะ นิวรณ์มันก็ขาดออกไปจากใจเรา มันก็ไม่มีมา เมื่อนิวรณ์ขาดไปอย่างนั้นใจมันก็เป็นสมาธิ ใจก็มีกำลัง หรือผู้ที่เพ่งมีกำลังความสงบแล้ว ก็ต้องค้นเพ่งพินิจพิจารณาออกไป สมมุติว่าจะขยายลมอย่างนี้ ขยายแต่เบื้องบน เพ่งจากหัวใจขึ้นไปสู่สมอง จากสมองลงไปปลายตีน ตีนซ้าย ตีนขวา ขึ้นจากปลายตีนซ้าย ขึ้นมาถึงสมอง จากสมองลงไปปลายตีนขวา ขึ้นมาจากปลายตีนขวาขึ้นมาหัวสมอง ออกไปปลายนิ้วเบื้องขวาของมือ ขึ้นมาจากเบื้องปลายนิ้วขึ้นมาสมอง จากสมองลงไปปลายนิ้วซ้าย มือเบื้องซ้าย พุ่งกลับมาอย่างนี้ แล้วอย่างนี้ไม่มีง่วง ไม่มีง่วงหรอก ไม่มีเลย ใสแหนว ยิ่งเพ่งเท่าไร ยิ่งกระจ่างชัด ผุดปรุโปร่งหมด ไม่มีอะไรขัดข้องเลย ลักษณะถ้าเป็นอย่างนั้น เพ่งออกไปซ้าย เพ่งออกไปขวา เพ่งไปหน้า เพ่งไปหลัง เพ่งไปไกล เพ่งไปใกล้ เพ่งได้ทุกชนิดแล้วก็ทวนกลับเข้ามา เรียกว่า ถอยเข้าถอยออกอยู่อย่างนี้ ใจอันนั้นก็ต้องลง ลงแน่นอน ไม่หนีไปไหน ใจถ้าไม่อยู่อย่างนั้นก็เพ่งไปไม่ได้
เพราะฉะนั้นเมื่อเราสงบอยู่ อย่าซุกตัวอยู่อย่างนั้น ความประโยชน์…สมมุติเราไตร่ตรองดู เรากระทำนี่เป็นเวลานานเท่าไหร่ แล้วดีมีผลอันใดที่เราเข้าไปอยู่อย่างนั้น นี่ แก้ให้ถูกเปาะ ถ้าแก้ไม่ถูกเปาะแล้ว การภาวนาจะเป็นไปได้ยากเพราะว่าเราไม่ค่อยมีครูบาอาจารย์ผู้ที่ท่านเฉลียวฉลาดที่จะแนะนำพร่ำสอนเราแล้ว มันห่างเข้าๆทุกที เพราะฉะนั้นก็ต้องเร่งกันเอง พิจารณากันเอง เมื่อขัดข้องอย่างไรแล้วก็ต้องศึกษากันเอง อันนี้เหมือนคนตาบอด หลวงตาก็ไม่ใช่สว่าง ก็ยังบอดอยู่ เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นต้องเร่งลงไป พิจารณาลงไปอย่าได้นิ่งนอนใจ วันเดือนคืนปีนี่ล่วงไปเฉยๆ แต่ชีวิตเรานี่มันแก่ลงไปทุกวันๆ แล้วก็เมื่อใกล้ถึงจะตายแล้วเราจะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง สมาธิมันเสื่อมได้ ทำไมเสื่อม เพราะว่าก็เมื่อมีนิวรณ์เข้ามาทับถมมาก มีกามเข้ามาทับ อย่างนี้ก็เสื่อม เข้าไม่ได้ก็ต้องไปเข้าสมาธิอีก ตั้งต้นอีก ต้องพิจารณา
เมื่อได้สมาธิแล้วอย่าได้นิ่งนอนใจ ค้นคว้าพิจารณาลงไปให้มันแจ้งชัด พิจารณายังไงก็พิจารณาเข้า น้อมอดีตสิ่งที่เคยในนิวรณธรรม สิ่งที่เราชอบ เราเคยคิดเพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านั้น ยินดีอย่างนั้น ก็เอามาค้นคว้าพิจารณาลงไป ทำไมเราจึงยินดีจึงเพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านั้น นี่ กายสัมผัสกาย เรายินดีเราเพลิดเพลิน เราก็ต้องเอามาพิจารณา มันสัมผัสอย่างไรมันจึงเพลิน มันจึงมีลูกมีเต้ามีหลานมีเหลน มันจึงเพลิน เพลินเพราะเหตุอะไร มาค้นลงไปให้มันหายสงสัย โลกมันเป็นอย่างนั้น มันสีกันไปสีกันมา แล้วมันก็เดือดร้อน ออกแว้ๆออกมาอีกแล้ว วุ่นวาย นั่น เอาอันนั้นแหละมาพิจารณาให้มากๆ ให้มันหายเดือดร้อนของใจ อย่าให้ใจไปลุ่มหลง อย่าให้ใจไปกังวล ใจไปดิ้นรนกระวนกระวาย สิ่งเหล่านั้น แล้วมันก็ไม่ค่อยเดือดร้อน นี่ สิ่งนี้พิจารณายิ่งดี ว่าชัดๆก็ต้องเอาอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการบำเพ็ญเมื่อใจสงบแล้วต้องคิดต้องค้น แต่การค้นต้องรู้จักประมาณ ค้นลงไป พิจารณาเข้าไปอย่างนั้น
เมื่อพิจารณานิดหน่อย ใจนั้นฟุ้งลงไป ก็ต้องหวนกลับ อย่างเคยว่าอยู่ หวนกลับไปบริกรรม เมื่อมันนานๆเข้า ส่ายไปหลายๆทีเข้าก็ต้องหวนกลับมาบริกรรมให้ใจเป็นปกติ เมื่อใจเป็นปกติแล้วก็ถอยกลับไปพิจารณาอีกอย่างนั้น นี่ ไม่ต้องไปกลัว ใจที่มันกล้าต่อสู้แล้วไม่ต้องกลัว ใจที่มีกำลังแล้วจะพิจารณาเท่าไรยิ่งสว่างยิ่งปลอดโปร่ง ยิ่งแจ่มใส เมื่อหยุดเมื่อไร ใจนั้นปลอดโปร่งแจ่มใสสว่างแจ้งอยู่อย่างนั้น ไม่มีง่วงเหงาหาวนอนเข้ามาทับเลย แจ่มใสผิดปกติ อิ่มเอิบซาบซ่าน นั่งอยู่หรือเดินเริ่มจากไปตรงนี้ยังอิ่มเอิบอยู่อย่างนั้น ใจที่เป็นสมาธิเป็นอย่างนั้น เพราะว่ามันผ่องใส มันปลดเปลื้องสิ่งทั้งปวงในโลก เราไม่เคยเป็นอย่างนั้น เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วใจมันก็เกิดความอิ่มเอิบด้วยกำลังของปีติอันนั้นเอง มาทำให้ปีติเกิดขึ้น นี่ เพราะฉะนั้นจึงว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เราจำเป็นเมื่อใจสงบแล้วเราต้องค้นคว้า อย่าไปเอาความกลัวเข้ามาบังหน้า บางคนจะเจาะลูกตาซักอันก็กลัวจะหลุดออกมา จะตัดหูซักอันก็กลัว กลัวว่าหูจะหลุด มันไม่ตายหรอก ไม่ตาย ตัดให้มันจริงๆ มีดอันไหนเคยใช้ นึกเอามาตัดคอลงไปให้มันขาดเลือดไหลลงไป นั่น ผ่าหน้าอกลงไปมันมีอะไร ตัดหูตัดตาตัดปาก เอาลงไป ตัดแข้งตัดขา เฉือนลงไปเป็นข้อๆเป็นส่วนๆ ตัดลงไปอย่างนี้ อย่าไปกลัวสิ ถ้าใครกลัวแล้วไม่ใช่กล้า ไม่ใช่นักภาวนา ต้องตัดลงไป พิจารณาเข้า
นี่ ลักษณะถ้าพิจารณาอย่างนี้เป็นลักษณะของปัญญา ค้นคว้าปลดเปลื้อง เมื่อยิ่งมองชัดเห็นชัด นั่นยิ่งเกิดความเบื่อความหน่าย การเกิดความเบื่อหน่ายอย่างนั้นก็เพราะอะไร นั่นหละมันจะคลายความกำหนด ไม่ให้ยินดีกับรูปร่างกายของเรา ไม่เห็นเป็นของสะสวย ไม่เป็นของสวยงาม เต็มไปด้วยของไม่เที่ยง แปรปรวนต่างๆนานา นี่ เพราะฉะนั้นเมื่อเราใจมันสงบแล้ว ต้องค้นคว้าพิจารณาลงไปให้มากๆ อย่าไปท้อถอย ฟังดูครูบาอาจารย์ที่มารุ่นหลังๆ ตามท่านอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง อย่างท่านอาจารย์มหาบัวนี้ท่านพูดถึงบางองค์อย่างนี้ ที่มาสุดท้ายภายหลัง ล้วนแล้วแต่ผู้ที่ได้สดับตับฟังนั้นก็มีแต่ความค้นคว้าพิจารณาเป็นประมาณ ที่ท่านเล่าสู่กันฟัง มีแต่นักค้นคว้า บางองค์ก็ตั้งหลายๆวันจึงได้รับความรู้ก็มี นี่ เพราะฉะนั้นนี่เป็นคติสำคัญ อย่างเราก็เหมือนกันต้องค้นคว้า ไม่ค้นคว้าไม่ได้ สมาธิก็ได้แค่สมาธิ พอได้สมาธิแล้วก็เสื่อม พวกโยมเราก็ภาวนาดีหลายคน บางคนสังเกตๆดูอย่างนี้ แต่ว่าลำดับของใจชนิดหนึ่งเมื่อเข้าไปอยู่อย่างนั้นแล้ว มันจะมักเกิดความขี้เกียจขี้คร้าน เพราะมันอยากเอาความสบายแค่นั้น นี่เมื่อเอาความสบายแค่นั้นมันก็ได้แค่นั้นนะ ไม่ก้าวขึ้นไป นี่เราต้องเข้าใจอย่างนั้น การที่ก้าวเข้าไปเรียกว่าไปสู่มรรค มรรคาปฏิปทา การที่จะก้าวไปสู่แห่งทุกข์ ก็ต้องอาศัยการค้นคว้าพินิจพิจารณาเป็นหลักสำคัญ
การค้นคว้าก็อย่างที่พูดนี่แหละ พิจารณาเรื่องใด เรื่องมันได้ทุกอย่าง อย่างพิจารณากายก็อย่างเคยบรรยายอยู่ว่าตัดหูตัดแข้งตัดขาตัดมือตัดตีน มีข้อมือข้อตีนข้อนิ้วหัวนิ้วชี้นิ้วกลางนิ้วนางนิ้วก้อย แล้วก็กลับมาตัดแบ่งออกเป็นชิ้นๆส่วนๆแล้วก็มาเสร็จจากแขนขวาก็ไปแขนซ้าย แขนซ้ายก็ลงไปแขนขวา ตีนขวา ตีนขวาเสร็จก็ไปตีนซ้าย นึกไปอย่างนี้ นั่นแหละที่ท่านว่าสติปัฏฐาน กายานุปัสสนา เมื่อใครทำได้อย่างนั้นแล้วมันก็แจ้งชัดหมดสงสัยในเรื่องของกาย
นักภาวนาถ้ายังขาดการค้นคว้าพินิจพิจารณาแล้ว ความละเอียดอ่อนของใจนั้นยังหยาบอยู่ ยังไม่ละเอียดพอ เพราะยังไม่สามารถจะต้านทานกับธรรมารมณ์ของใจได้ ถ้าเมื่อเราเป็นนักค้นคว้าพินิจพิจารณาแล้ว มันสามารถจะต้านทานกับอารมณ์ของใจได้เสมอ ทำไมว่าอย่างนั้น เพราะการค้นคว้าพินิจพิจารณานั้นน่ะต้องนึกถึงอารมณ์ต่างๆเข้ามา ป้อนเข้ามาของใจ เมื่อป้อนเข้ามาเท่าไร สติปัญญามันก็ต้องสอดคล้อง มองเห็นชัดอยู่ตลอดเวลาอย่างนั้น นี่อันนี้เอง เมื่อชำนาญเข้าๆแล้ว มันก็ย่อมทันกับเหตุการณ์ที่เราจะนึกคิดหรือสิ่งที่จะมาปรุงแต่งใจ จะคิดเร็วคิดช้าอย่างไรก็ไม่ต้องกลัว ในการค้นคว้าอย่างนั้นจะเอาเร็วเอาช้าไม่ต้องกลัว ยิ่งเร็วยิ่งดี สติปัญญายิ่งแจ้งชัดลงไปในที่ค้นคว้าอย่างนั้นแล้ว นั่นแหละคือตัวสติปัญญาที่จะตามไปสุดท้ายภายหลัง เหมือนเรานั่งอยู่ธรรมดางานการอยู่อย่างนี้ ทำมือทำไม้ทำงานทำการ แต่ใจมันไม่คิด ใจมันไม่ปรุง แต่โลกทั้งหลายเข้าใจว่าใจนั้นต้องปรุงด้วย คิดด้วย นี่ ต่างกัน
เพราะฉะนั้นอย่างเราภาวนานี่เหมือนกัน เมื่อมันสงบก็ต้องคิดนึกปรุงแต่งอย่างนั้นเอง ให้มันทัน ให้ใจมันรู้เท่ารู้ทันพิจารณาลงไป ถอยเข้าถอยออก ขยายไปใกล้ไปไกล พิจารณาในที่ไกลน้อมเข้ามาที่ใกล้ น้อมจากที่ใกล้ออกไปที่ไกล นี่ ต้องมีหลายท่าหลายทางพลิกแพลง การภาวนามันยิ่งเล่ห์เหลี่ยมต้องใช้อุบายพลิกแพลงมากมาย ไม่เหมือนอย่างทางโลก ผิดกันแยะ เพราะฉะนั้นต้องพยายามแก้ไข อย่าให้ใจนั้นเข้าไปสงบแล้วก็สงบอยู่เฉยๆอย่างนั้น ประโยชน์ได้รับก็ได้รับอยู่แค่นั้นเอง แต่วันจะก้าวหน้าขึ้นไปสู่ความแห่งที่จะรู้ความจริงนั้นเป็นสิ่งที่ยาก เพราะฉะนั้นจึงว่าให้พากันตั้งอกตั้งใจพินิจพิจารณาให้มากๆ อย่าได้ถอย
ความเพียรสิ่งเหล่านี้เป็นกำไรของชีวิต การกระทำอย่างนี้เป็นกำไรของชีวิต การมีครอบมีครัว การมีลูกมีหลานมีบ้านมีช่องมีข้าวของเงินทองมากมาย บางคนเข้าใจเป็นกำไรของชีวิต นั่นพระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ ทรงติเตียนว่าตายแล้วจะไปนรก อย่างมีไอ้โตเทยยะพราหมณ์ มีสมบัติมากมายตายไปแล้วมาเกิดเป็นหมานี่ ไปสู่นรกนะ หมานี่ก็เป็นนรก เพราะฉะนั้นอย่าเข้าใจว่ารวยเงินมันดีมาก มันเป็นนิวรณธรรมมาครอบงำใจ เมื่อขณะจะตาย ถ้าใจไปคิดห่วงสมบัติพัสถานอยู่แล้ว ตายไปเป็นงูเหลือมเป็นม่งเป็นหมาเป็นสารพัดต่างๆนานา มันเกิดขึ้นไปได้ อย่างนิทานที่ยกมาอย่างว่า โตเทยยะพราหมณ์เกิดเป็นหมา แน่ะ หลวงตาก็เคยพูดไว้ เนี่ย เหมือนกัน เราก็ต้องพิจารณาอันนี้แก้มัน ถ้าเราไม่มีปัญญาแก้แล้วอารมณ์เหล่านั้นมันก็มาทับหัวใจเรา เมื่อเรามีสติปัญญารู้จักการแก้ไข สิ่งอารมณ์เหล่านั้นก็ไม่มาทับใจเราได้ อยู่ใต้อำนาจเรา เราอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น มีมาก็สักแต่ว่ามีมา แต่ไม่มาทำใจให้กระเทือน ไม่ทำใจให้วุ่นวาย ไม่ให้ใจเป็นทุกข์วุ่นวายกับสิ่งเหล่านั้นเข้ามากวนใจเรา
นี่ ลักษณะของปัญญามีหน้าที่ตัดอย่างนั้น ตัดกระแสของใจที่วุ่นวายเดือดร้อนไม่ให้เดือดร้อนวุ่นวาย นั่นลักษณะของปัญญาแท้ แก้ทุกข์จากใจ นั่น สิ่งเหล่านี้เอง เนี่ยแก้ทุกข์ก็แก้ตรงนี้ แก้ใกล้ๆไม่ได้แก้ไกลๆ แก้ที่หัวใจเรา ใจมันเดือดร้อนมันวุ่นวาย เมื่อเรามีสติปัญญามองดูเฉยๆ สิ่งเรานั้นก็ออกไปแล้ว มันไม่กล้าเข้ามาหาเรา มันกลัวเหมือนมีปืนเอ็ม ๑๖ อยู่ ผู้ร้ายจะกล้าเข้ามารึ ลั่นไกใส่ลูกพร้อม เข้ามาก็หัวแตกหมด นี่ เหมือนใจเรา เมื่อมีสติมีปัญญาตั้งแก่กล้าอยู่อย่างนั้นแล้ว อารมณ์จะป้อนเข้ามาซักเท่าไหร่ก็ไม่มีหวั่นไหว เหมือนศิลาทั้งแท่งที่ปักลงแน่นในดินลึกสามสี่วาอย่างนั้น ลมจะมาในทิศใด ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศตะวันออก เสาศิลานั้นไม่มีเคลื่อนไหวไปไหนเลย อยู่อย่างที่อย่างนั้น ลมสักแต่พัดก็พัดไปธรรมดา เหมือนใจผู้ที่มีสติมีปัญญาแก่กล้าเต็มที่อย่างนั้นแล้ว สิ่งเหล่านั้นเพียงแต่ผ่านเข้ามา ไม่สามารถจะมากวนใจของท่านให้หวั่นไหวไปตามสิ่งเหล่านั้น นี่ นักปฏิบัติก็ต้อง ความมุ่งมาดปรารถนาก็ต้องเป็นอย่างนั้น เสียแรงที่เราเข้ามาประพฤติปฏิบัติก็จำเป็นอย่างยิ่ง ผิดจุดมุ่งหมายปลายทางก็ต้องหวังอันนั้นเป็นจุดสำคัญของชีวิต ถ้าเป็นนักบวชไปแล้วยิ่งจำเป็นที่สุดจะต้องบากบั่นพากเพียรให้รู้เห็นความจริงอันนี้เกิดขึ้นกับตัวเรา แล้วจะได้เป็นประโยชน์แก่พวกพุทธบริษัทต่อไปในวันข้างหน้า
เพราะฉะนั้นนี่มันก็จะได้สองเดือนเข้ามาแล้ว เหลือเวลาอีกเดือนหนึ่ง เรียกว่าอยู่ในไตรมาส ในระหว่างไตรมาสเมื่อออกพรรษาเข้าแล้วต่างคนก็จะต่างไป มีกิจการอันนั้นอันนี้ ทอดกฐินมั่ง ทำบุญที่นั่นที่นี่ก็วุ่นวายเข้าอีกแล้ว เวลาโอกาสที่จะกระทำก็จะมีน้อย ไม่เหมือนไตรมาส เพราะฉะนั้นเมื่อทุกท่านได้สดับตรับฟังธรรมะอย่างหลวงตาบรรยายมาได้แล้ว จงตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญ สิ่งไม่เกิดขึ้นก็ตั้งใจให้มันเกิดขึ้น สิ่งที่ไม่เป็นก็ต้องให้มันเป็นขึ้น อย่าได้ท้อถอย มีความอุตสาหะพากเพียรพยายามเกิดขึ้นแล้ว แล้วก็พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่าชีวิตของเรานี้เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแน่นอน จะต้องแตกดับทำลาย ตายลงไปอย่างยกภาษิตว่า อนิจจา วาตะ สังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วย่อมมีความแปรปรวนไป เหมือนตัวเรามีตาเคยมองสว่างมันก็เกิดมัว เป็นต้อ เป็นตาแดง น้ำตาไหล น้ำตาแฉะ นี่เป็นอย่างนั้นจึงเรียกว่าสังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง แม้แต่ศาลาอย่างนี้ เคยผุมาตั้งยี่สิบกว่าปี มันก็ชักรั่วชักผุชักพังเข้า เหมือนกันอย่างนั้นถ้าน้อมเข้ามา ร่างกายของเราก็เหมือนกัน มันไม่แน่นอน ไม่รู้วันไหนมันก็จะตาย เพราะฉะนั้นเร่งความเพียรให้มันมีขึ้นซะ อย่าให้ได้นอนอกนอนใจ เมื่อท่านทั้งหลายได้สดับตับฟังธรรมะดังได้บรรยายมานี้แล้ว ขอจงโอปนยิโกน้อมไปพินิจพิจารณา เมื่อเห็นดีเห็นชอบแล้วจงเร่งมือประพฤติปฏิบัติ อย่าได้นอนอกนอนใจ ต่อนั้นไปก็จะได้บังเกิดความสุขความเจริญงอกงามในศาสนธรรมคำสั่งสอนดังได้แสดงมาก็สมควรแก่กาลเวลา ต่อนี้ไปจะได้ทำความสงบ